ภาวนาเราเข้าใจอย่าง เวลาจิตมันหลงความปรุงแต่ง รู้จักความปรุงแต่งไหม จิตมันคิดนึกปรุงแต่ง ปรุงเรื่องนั้นปรุงเรื่องนี้ บางทีก็ปรุงดี บางทีก็ปรุงชั่ว บางทีก็ปรุงพยายามจะไม่ปรุง ก็เป็นความปรุงแต่งเหมือนกัน พยายามจะไม่ปรุงแต่ง ตัวความปรุงแต่งเกิดขึ้นในใจเราเมื่อไร จะเกิดอาการอันหนึ่งขึ้นมา คือจิตจะเข้าไปหยิบฉวยอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าจิตไม่ปรุงแต่ง จิตจะไม่มีการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ถ้าจิตปรุงแต่งจนเคยชินก็ปรุงเรื่อยๆ ไป
กระบวนการของความปรุงแต่ง
สังเกตดูความทุกข์ในใจเรา มันตามหลังความปรุงแต่งมาทุกที ถ้าเราไม่หลงคิดมันก็ไม่ทุกข์หรอก ความทุกข์ก็มีแต่แค่ร่างกาย ความทุกข์ทางจิตใจตามหลังความคิดมาทุกครั้ง ทีนี้บางคนมองเห็นตรงนี้ก็พยายามที่จะไม่ปรุงแต่ง เพราะรู้ว่าถ้าปรุงแต่งแล้วเดี๋ยวความทุกข์เกิดขึ้น ลูกศิษย์ มีอยู่คนหนึ่ง ไม่ถือว่าลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์หรอก เป็นโยมเข้าไปหาหลวงปู่ดูลย์ ไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ แล้วก็พยายามจะไปขอบวช หลวงปู่ดูลย์ไม่ให้บวชด้วย ตอนนั้นคนก็ไม่เข้าใจทำไมหลวงปู่ไม่ให้คนนี้บวช คนนี้เขาเป็นมิจฉาทิฏฐิร้ายแรง ชอบเล่นไสยศาสตร์ สุดท้ายก็ไปบวชที่อื่น บวชที่อื่นแล้วก็เปิดสำนักสอน บอกว่าสอนแนวของหลวงปู่ดูลย์คือดูจิต วิธีปฏิบัติที่ทำคือเวลาความคิดเกิด พยายามปัดทิ้งให้หมดเลย ไม่คิด พยายามไม่คิด ทำจิตว่างๆ
ทำจิตว่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ทำขึ้นมาเหมือนกัน มีการกระทำหรือพยายามทำจิตว่างๆ ไม่ให้คิดนึกปรุงแต่ง บอกถ้าจิตว่างๆ แล้วจะได้ไม่ทุกข์ พวกเราบางคนเรียนจากหนังสือเซ็น คัมภีร์ของเว่ยหลางของท่านฮวงโปอะไรพวกนี้พูดถึงว่างเหมือนกัน พูดถึงความว่าง ถ้าว่างแล้วไม่ทุกข์ ว่างแล้วไม่ทุกข์จริง แต่ว่างมีหลายแบบ ว่างจอมปลอมคือเจตนาจงใจทำจิตว่างๆ วิธีทำจิตว่างๆ ด้วยการเข้าฌานชนิดหนึ่ง เข้าอรูปฌาน ไม่มีร่างกาย ใจก็สงบนิ่ง ว่างๆ อยู่ ตอนหัดทำเวลาความคิดเกิดก็ตัดทิ้งไป ไม่คิดมัน พอมันจะไปคิดอีกก็ไม่คิดมัน กลับมาทำกรรมฐาน ถึงจุดหนึ่งจิตก็ว่างๆ แต่ว่างอย่างนี้เป็นว่างที่เกิดจากความปรุงแต่ง คือเราแต่งความว่างขึ้นมา ไม่ใช่ว่างที่ท่านเว่ยหลางท่านฮวงโปพูด คนละว่างเลย ว่างอย่างนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นว่างที่เราสร้างขึ้นมาเอง จอมปลอม
จิตจะเข้าถึงความว่างจริงๆ เราต้องเจริญสติเจริญปัญญาให้มาก เรียนรู้ความจริงของร่างกายของจิตใจไป อย่างเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วเราก็คอยอ่านจิตใจของเรา จิตใจสุขก็รู้ จิตใจทุกข์ก็รู้ จิตใจดีก็รู้ จิตใจชั่วก็รู้ ตรงนี้จิตมันปรุงดีปรุงชั่ว มีความปรุงแต่ง ปรุงสุขปรุงทุกข์ พอมันปรุงขึ้นมาแล้ว ถ้ามีปรุงสุขจิตก็ปรุงต่อเป็นความยินดีพอใจ ถ้าทุกข์ขึ้นมาจิตก็ปรุงทุกข์ว่าไม่ชอบใจ เกิดความไม่ชอบใจ
เวลาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ จิตจะเกิดความรู้สึก รู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ อันนี้ไม่ใช่ความปรุงแต่ง ตัวเวทนายังไม่ใช่ความปรุงแต่ง อย่างใจเรามีความสุขอย่างนี้ ก็ไม่เรียกว่าใจมีความปรุงแต่ง แต่ตัวความสุขมันเป็นความปรุงแต่งชนิดหนึ่ง แต่เราไม่ได้ปรุงแต่ง มันเป็นกลไกตามธรรมชาติ กระทบอารมณ์ที่ดีก็มีความสุข กระทบอารมณ์ที่ไม่ดีก็มีความทุกข์ ความปรุงแต่งมันเกิดตามหลังมาอีก เวลาเรามีความสุขขึ้นมา เราก็จะเกิดราคะปรุงความชอบอกชอบใจขึ้นมา เวลากระทบอารมณ์ไม่ดีเกิดความทุกข์ เราก็จะปรุงโทสะ เราไม่ชอบขึ้นมา นี่ใจมันจะปรุง มันปรุงไปตามธรรมชาติธรรมดา เราไม่ได้ฝึกที่จะไม่ให้ใจปรุง ให้มันปรุงไปตามธรรมชาติธรรมดา แล้วมีสติตามรู้ไป ตรงนี้ตามทันไหม มันจะมีกระบวนการที่มันจะปรุง
ขั้นต้นมันมีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอกระทบอารมณ์แล้วก็เกิดความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ขึ้นมา ถัดจากนั้นแล้วจะเกิดความปรุงแต่งของจิต เกิดความยินดีพอใจ เกิดความไม่พอใจ เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง อะไรขึ้นมา นี่เป็นตัวสังขารตัวปรุงแต่ง คำว่าปรุงแต่งเลยมีหลายระดับ ถ้าคำอย่างกว้างที่สุดก็คือทั้งกายทั้งใจเรานี่เป็นของที่ปรุงแต่งขึ้นมา แต่ตัวความปรุงแต่งที่ทำให้เกิดทุกข์ในใจเรียกสังขารขันธ์ สังขารขันธ์ ก็ปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่ว นั่นล่ะความปรุงแต่งมี 3 อย่าง
อย่างพอเรามีความสุข เราก็เกิดปรุงแต่ง เกิดราคะ ชอบ อยากให้ความสุขอยู่นานๆ เวลามีความทุกข์เกิดขึ้น เราก็เกิดความปรุงแต่ง อยากให้ความทุกข์หายไป นี่ความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว ปรุงแต่งฝ่ายดีเช่นเราเห็นพระบิณฑบาต ใจเราอยากใส่บาตร ใจเราเป็นบุญเป็นกุศล ความอยากจะใส่บาตรหรืออยากจะภาวนา ความอยากในด้านดีนี่มันมีศัพท์เฉพาะเรียกว่าฉันทะ มีฉันทะเกิดขึ้น เราก็คิดแต่เรื่องดีๆ เราคิดแต่ว่าเราจะไปทำบุญ เราจะไปใส่บาตร เราจะไปช่วยคนยากจนอย่างนี้ อันนี้เป็นปรุงดี ทีนี้บางคนรู้มาก เวลามีความปรุงแต่งเกิดทีไร ความทุกข์มันตามมาทุกทีเลย จิตใจกระเพื่อมหวั่นไหว ไม่มีความสุข ก็เลยพยายามไม่ปรุง พยายามไม่ปรุงก็คือการปรุงแบบหนึ่งเหมือนกัน ไปปรุงใจให้ว่างๆ
ความปรุงแต่งทั้งหลายเป็นแค่ภาพลวงตา
ทีนี้วิธีการที่ดีก็คือ เวลาจิตใจเราปรุงสุขขึ้นมาปรุงทุกข์ขึ้นมา อันนี้เป็นธรรมชาติ จิตไม่ได้ปรุงหรอก แต่ว่าสุขทุกข์เป็นความปรุงแต่งชนิดหนึ่ง มีสุขมีทุกข์ขึ้นมาแล้ว จิตเราปรุงกุศลบ้างอกุศลบ้าง ให้เรามีสติรู้ตัวนี้ อย่างจิตเราโกรธให้รู้ว่าจิตโกรธ จิตเราไม่โกรธรู้ว่าไม่โกรธ จิตโลภรู้ว่าโลภ จิตไม่โลภรู้ว่าไม่โลภ จิตหลงรู้ว่าหลง จิตรู้เนื้อรู้ตัวไม่หลงรู้ว่ารู้ตัวอยู่ไม่หลง จิตฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตหดหู่รู้ว่าหดหู่ ให้เราคอยรู้ทันความปรุงแต่ง ไม่ต้องละ ไม่ต้องพยายามละ อย่างจิตเกิดโทสะ ไม่ต้องพยายามละ ให้รู้เอา ถ้าเรารู้จริงๆ เราไม่คิดนึกปรุงแต่งไปตามอำนาจของโทสะ โทสะก็ไม่มีอาหารกิน โทสะก็หมดแรง โทสะก็ดับ ถ้าเราหลง อย่างเราเห็นคนหนึ่งใจเราไม่ชอบ นี่โทสะเล็กๆ เกิดแล้ว แล้วเราก็คิดต่อ คนนี้เลวอย่างนั้นเลวอย่างนี้ เคยแกล้งเราอย่างนั้นอย่างนี้ ยิ่งคิดโทสะก็ยิ่งแรงขึ้นๆ ความคิดไม่ดีของเราเลยเป็นอาหารหล่อเลี้ยงให้โทสะนี่เติบโตขึ้น
ทางกุศลก็เหมือนกัน สมมติเราเดินอยู่ เราได้ยินเสียงระฆัง ใจมันก็คิดต่อ ก็คิดถึงวัด ฟังแล้วร่มเย็น จิตใจคิดถึง ได้ไปทำบุญที่วัด ได้ไปฟังธรรมที่วัด นี่คิดไปทางดี ก็เป็นอาหารหล่อเลี้ยง ใจยิ่งมีความสุขมากกว่าเก่าอีก ฉะนั้นความคิดของเรานี่เป็นตัวส่งเสริมกำลัง ยิ่งเราปรุงมากเท่าไร กิเลสก็มีกำลังแรง เคยมีคนถามพระพุทธเจ้าว่า พระองค์เป็นพระอรหันต์ พระองค์มีราคะไหม มีกามราคะไหม มีความต้องการทางเพศไหม ท่านตอบว่าท่านไม่มีกามราคะ เพราะท่านไม่มีกามวิตก เห็นไหมวิตกก็คือการคิดเอา ท่านไม่คิด พอท่านไม่คิด ความรู้สึกทางเพศตามธรรมชาติไม่ได้อาหารกิน มันหมดแรง ไม่สามารถปรุงเป็นราคะขึ้นมาได้
เวลาเราภาวนา เราก็คอยรู้ทันความปรุงแต่งของจิตไปเรื่อย ปรุงสุขก็รู้ ปรุงทุกข์ก็รู้ อันนี้เป็นความรู้สึก ยังไม่ใช่ตัวปรุงแต่ง คำว่าปรุงแต่งพูดยากจริงๆ มันมีหลายระดับ ในภาพรวมทุกอย่างที่มีเหตุให้เกิดเรียกความปรุงแต่งหมด ร่างกายก็เป็นความปรุงแต่ง จิตใจก็เป็นความปรุงแต่ง แต่ตัวความปรุงแต่งที่ทำให้เราทุกข์เป็นความปรุงแต่งทางใจ ปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่ว พยายามไม่ปรุงอะไรพวกนี้ เพราะฉะนั้นเวลาจะสุขจะทุกข์ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องห้าม มีความสุขเกิดขึ้นจิตมีราคะตัวนี้รู้ทัน ถ้าไม่รู้ทัน เราจะยิ่งคิดไปตามอำนาจของราคะ ราคะก็จะยิ่งมีกำลังแรง
เวลาเรากระทบอารมณ์ที่มีความทุกข์ไม่พอใจขึ้นมา ตัวไม่พอใจอยู่ในสังขารขันธ์ เป็นโทสะ ยิ่งเราคิดในทางไม่ดี โทสะก็ยิ่งมีกำลังแรงมากขึ้น เพราะฉะนั้นตัวสังขารขันธ์ตัวนี้ สังขารคือความปรุงของจิตตัวนี้ ยิ่งเราหลงไปคิดตามอำนาจของมัน กิเลสจะยิ่งแรงขึ้นอีก แล้วใจจะยิ่งดิ้นหนักขึ้นอีก ใจก็จะมีความทุกข์มากขึ้นๆ ให้เรามีสติไป รู้ทันไป จิตปรุงโลภขึ้นมารู้ทัน เราก็จะเห็นมันเกิดแล้วมันดับ ทำไมมันดับ เราไม่ได้คิดต่อ ความโกรธเกิด เราไม่ได้ไปคิดอะไรต่อ ก็เห็นแค่ความรู้สึกผุดขึ้นมาแล้วก็จะดับไป
สมมติเราคิดถึงคนๆ หนึ่ง นี่สัญญา คิดถึงคนๆ หนึ่งผุดขึ้นมา แล้วเราคิดต่อ คนนี้เลวอย่างนั้นเลวอย่างนี้ โทสะก็มีกำลังแรงขึ้นมา ทีนี้ถ้าอย่างจิตเราโกรธขึ้นมา เรายังไม่ไปคิดต่อ โกรธคนนี้ขึ้นมาก็ไม่ไปคิดถึงเขาในทางไม่ดี ถ้าคิดก็คิดถึงเขาในทางที่ดี อย่างคนแต่ละคนก็มีทั้งดีและชั่ว ถ้าเราคิดถึงเขาในทางชั่ว เรายิ่งโกรธ ถ้าเราคิดถึงเขาในทางดีเข้าอกเข้าใจ เราก็ไม่โกรธ
เราห้ามความคิดไม่ได้ แต่เรามีสติรู้ทัน จิตโกรธขึ้นมาก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้ จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตไม่หลงก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ จิตเป็นบุญเป็นกุศลก็รู้ รู้ทันเรื่อยๆ แล้วเราจะเกิดปัญญาเห็นว่า ความปรุงแต่งทุกชนิดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ปรุงดีเกิดแล้วก็ดับ ปรุงชั่วเกิดแล้วก็ดับ พอเราเห็นซ้ำๆๆ จิตก็รู้เลย ความปรุงแต่งเหมือนภาพลวงตา เหมือนภาพลวงตาเท่านั้น เหมือนความฝัน ไม่มีจริง เป็นของที่แต่งขึ้นมาปรุงขึ้นมา
ในที่สุดใจก็พ้นจากความปรุงแต่ง เพราะมันรู้ว่าไม่มีสาระ เหมือนๆ ถูกหลอก ทุกวันนี้เราถูกหลอกให้รัก ถูกหลอกให้โกรธ ถูกอะไรหลอก ถูกความปรุงแต่งหลอก หลอกให้รัก หลอกให้โกรธ หลอกให้ชอบอันนั้น หลอกให้เกลียดอันนี้ นี่ความปรุงแต่งมันหลอกเรา แต่ถ้าเราเห็นความปรุงแต่งทุกชนิด ไม่มีสาระแก่นสารอะไร ปรุงดีมันก็อยู่ชั่วคราว เวลาใจเราเป็นบุญเป็นกุศลสังเกตไหม ก็เป็นบุญอยู่ชั่วคราว เดี๋ยวก็เป็นบาปอีกแล้ว หรือใจเราชั่ว ปรุงชั่ว ก็ไม่ต้องไปตกใจ ให้รู้ทัน เราอย่าไปเติมอาหารให้มัน อย่าไปคิดตามมัน เราก็จะเห็นความปรุงชั่วอย่างความโลภโกรธหลงเกิดขึ้นมาก็อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป
ในที่สุดเราก็รู้นะความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นแค่ภาพลวงตา เป็นเหมือนผีหลอกเราเท่านั้นเอง ไม่ใช่ของจริงจังอะไร ความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง จิตมันรู้ทันจิตก็เลยไม่ตกอยู่ใต้อำนาจความปรุงแต่ง ก็พ้นจากความปรุงแต่ง
ว่างที่แท้จริงไม่ใช่ว่างเปล่า
ตรงที่จิตพ้นจากความปรุงแต่ง จิตเข้าถึงความว่างที่แท้จริง ว่างอันนี้เป็นมหาสุญญตา ว่าง ไม่ใช่ความว่างที่เราจงใจทำขึ้นมา ถ้าว่างที่จงใจทำขึ้นมา ว่างด้วยอำนาจกิเลสอีกล่ะ อยากดี อยากสุข อยากสงบ แต่ว่างที่แท้จริงนั้นเกิดจากปัญญารู้แจ้งแทงตลอด ว่าความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นตัวทุกข์
เมื่อก่อนมีพระองค์หนึ่งท่านไปดูเขาเผาศพ ผู้หญิงสวย สวยมาก คนอินเดียตายปุ๊บเผาทันที ไม่เก็บศพไว้หรอก ตอนเอาศพขึ้นไปตั้งบนกองฟอนก็ยังเป็นผู้หญิงสวยอยู่ พอจุดไฟก็เริ่มไม่สวยแล้ว เริ่มร่างกายที่สวยงามแตกสลาย ร่างกายก็เป็นความปรุงแต่งทางด้านวัตถุ แต่ตัวสำคัญคือในใจท่าน ท่านไม่ได้เห็นความปรุงแต่งแค่ร่างกายของผู้หญิง อันนั้นตื้นเกินไป ท่านเห็นความปรุงแต่งในจิตของท่าน ตอนที่ร่างกายเป็นผู้หญิงสวย ใจท่านชอบ พอเผาเสร็จแล้ว ท่านก็เห็นเลยร่างกายนี้ไม่สวยไม่งาม ใจท่านก็หมดความชอบ ตัวชอบตัวไม่ชอบนั่นล่ะคือตัวความปรุงแต่ง พอท่านเห็นแจ้งเห็นจริงอย่างนี้ ท่านก็รู้เลย ตรงที่ชอบตรงที่ไม่ชอบ หรือความปรุงแต่งทางใจทั้งหลายทั้งปวงมันหลอกๆ ไม่ใช่มีของจริงจังอะไร
ความปรุงแต่งทางใจทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับทั้งหมดล่ะถึงจุดหนึ่ง แต่เราไปหลงมันเอง พอมันปรุงโกรธขึ้นมาเราก็ไปโกรธกับมัน มันปรุงโลภขึ้นมาเราก็ไปโลภกับมัน นี่พอท่านเห็นเขาเผาศพ แล้วท่านน้อมกลับมาที่ตัวเอง ที่ใจตัวเอง ใจเมื่อกี้ชอบ ชอบผู้หญิงคนนี้ ใจตอนนี้ไม่เอาแล้ว ความปรุงแต่งนี้ไม่ได้เรื่อง จิตท่านก็เลยพ้นจากความปรุงแต่ง ท่านก็อุทานออกมา บอกว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีแล้วก็หายไป สังขารทั้งหลายสงบเสียได้เป็นสุข
สังขารตัวนี้ไม่ใช่ร่างกาย สังขารคือความปรุงแต่งในจิตของท่านสงบเมื่อไรมีความสุขทันทีเลย คือพ้นทุกข์นั่นล่ะ เห็นไหมว่าท่านพ้นทุกข์พ้นความปรุงแต่งในจิตได้เพราะปัญญา ปัญญาเห็นความจริงว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่น่ายึดถือ พอเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่น่ายึดถือ ใจก็ไม่ดิ้นรนปรุงแต่งที่จะเข้าไปครอบครองหรือเข้าไปผลักไสมัน ใจที่พ้นจากความปรุงแต่งนั่นล่ะเข้าถึงความสงบสุขที่แท้จริง เข้าถึงความว่างที่แท้จริง ว่างตัวนี้ไม่ใช่ว่างเปล่า มันว่างจากความปรุงแต่ง
ถ้าเราได้ยินคำว่าว่างๆ อย่านึกว่าว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย ไม่ใช่ มันว่างจากความปรุงแต่ง จิตมันพ้นจากความปรุงแต่ง แล้วจิตมันเป็นอย่างไร จิตก็เข้าถึงบรมสุข นิพพานคือสภาวะที่สิ้นความปรุงแต่ง ภาษาบาลีเรียกว่าวิสังขาร นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นความรักใคร่ผูกพันยึดถือเรียกว่าวิราคะ นิพพานนั้นไม่ยึดถือรูปนาม ปล่อยทิ้งหมด เป็นวิมุตติ ไม่เกาะเกี่ยวสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วจิตที่พ้นจากความปรุงแต่งนั่นล่ะมันมีความสุข เพราะสังขารทั้งหลายดับเสียได้เป็นสุข สังขารคือความปรุงแต่งในใจเรานี่ดับเสียได้เป็นสุข
ฉะนั้นที่เราภาวนา เรียนรู้ความจริงของจิตใจตัวเองไปเลย ใจเราสุขขึ้นมารู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันก็จะเกิดรักเกิดโลภ ใจเราทุกข์ขึ้นมารู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันจะเกิดโกรธ คอยรู้ทันไปเรื่อยๆ สุดท้ายเราจะเห็น ปัญญามันจะเกิด เราจะเห็นว่าทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในใจเราเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ดูให้เห็นอย่างนี้ ใจจะหมดความยึดถือในความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง จะเลิกปรุง เลิกปรุงแล้วความคิดมีไหม มี พระอรหันต์ก็มีความคิดเหมือนพวกเราล่ะ แต่จิตไม่เข้าไปยึดถือเลย จิตว่างสบาย มีความสุข อะไรจะเกิดขึ้นในร่างกาย อะไรจะเกิดขึ้นในโลก จิตใจก็ยังว่างสบาย ไม่ถูกอะไรปรุงแต่ง ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่ฟูขึ้นมา ไม่แฟบลงไป ใจของเราเดี๋ยวก็ฟูเดี๋ยวก็แฟบ รู้สึกไหม เพราะมันยังติดอยู่ในความปรุงแต่ง
ฉะนั้นคอยอ่านจิตอ่านใจตัวเอง ใจโลภขึ้นมาก็รู้ ใจไม่โลภแล้วก็รู้ ใจโกรธเราก็รู้ ใจไม่โกรธก็รู้ ใจหลงไปก็รู้ ฟุ้งซ่านใจหดหู่ รู้ทันไปเรื่อยๆ จนเห็นว่าทุกอย่างคือความปรุงแต่งทุกอย่าง เกิดแล้วดับหมด ปรุงดีเกิดแล้วก็ดับ ปรุงชั่วเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ต้องพยายามไม่ปรุง จิตมันไม่ปรุงเอง ถ้าพยายามไม่ปรุงก็คือความปรุงแต่ง ใช้ไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องพยายามไม่ปรุงแต่ง ให้เห็นความปรุงแต่งทุกอย่างเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ถึงจุดหนึ่งจิตมันวางความปรุงแต่ง ก็เข้าถึงสุญญตา เข้าถึงพระนิพพาน
วัดสวนสันติธรรม
20 พฤศจิกายน 2566