รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของจิต

เมื่อเย็นวาน เสียครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ไปอีกองค์หนึ่ง หลวงปู่หา ปีนี้หลวงปู่แสงไปก่อนหลวงปู่หา ร่อยหรอเต็มทีแล้ว ก็ต้องรีบภาวนา พึ่งตัวเองให้ได้ ก่อนจะไม่มีครูบาอาจารย์ให้พึ่ง กรรมฐานมันอ่อนลงทุกรุ่นๆ ภาวนามันต้องอาศัยบุญเก่า กับความพยายามใหม่ร่วมกัน

บางคนบุญน้อย อยากภาวนา อยากพ้นทุกข์ ก็ไปเจอคนสอนซึ่งไม่เข้าเรื่อง นอกรีตนอกรอย เยอะนะ เมื่อก่อนหลวงพ่ออยู่ที่เมืองกาญจน์ฯ มีโยมคนหนึ่ง ตอนนี้แกตายแล้ว แกมาเล่าให้ฟังว่า แกไปหาครูบาอาจารย์องค์ไหน เคารพองค์ไหนมากๆ ปาราชิกหมดเลย ไม่เคยเจอครูบาอาจารย์ที่ดีๆ เลย หลวงพ่อเลยรีบบอกแกว่า ไม่ต้องมาที่นี่ ไปที่อื่นเถอะ ประวัติไม่ดี เข้าที่ไหนพระปาราชิกไปหมด บางคนมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เข้าที่ไหนก็เจอแต่ของปลอม ถ้ามีบุญเก่ามาดี ก็ไปเจอของดี เราจะเจอสิ่งที่ดี หรือเจอสิ่งที่ไม่ดี อยู่ที่กุศลหรืออกุศลวิบากให้ผลมา

ไม่ว่าเราจะเจอสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม เราเลือกไม่ได้ กรรมมันส่งผลมาให้ เราก็ต้องมาทำกรรมใหม่ที่ดี สมมติว่าเราเจอครูบาอาจารย์ที่ดี เราทำกรรมใหม่ที่ดีเข้าไปอีก มีบุญเก่ามาเจอครูบาอาจารย์ที่ดี ก็ทำกรรมใหม่ที่ดี รักษาศีล ภาวนา ตั้งอกตั้งใจไม่เลิก เราก็ยกระดับจิตใจของเราสูงขึ้นๆ เรามีอกุศลวิบากให้ผลมา เราไปเจอของปลอม ดูดีๆ ดูเหมือนดี เห่อกันเป็นพักๆ เดี๋ยวเห่อตรงนั้น เดี๋ยวเห่อตรงนี้ อันนี้อกุศลให้ผลเรามา เราเจอของปลอม เราก็ต้องภาวนา ถึงอย่างไรก็ภาวนา แต่ว่ามันลำบาก ตรงที่ไปเชื่อคำสอนที่เพี้ยนๆ ไป

ทุกวันนี้มันก็มีอยู่เรื่อยๆ คนที่สอนออกนอกลู่นอกทาง มีมากมาย ถึงขนาดตัดทอนพระไตรปิฎกก็มี อกุศลให้ผล ต้องไปเป็นลูกศิษย์แบบนั้น ทางที่ดีที่สุด เราดูไม่เป็นว่าครูบาอาจารย์องค์ไหนดี องค์ไหนไม่ดี เราก็ต้องมีตัวช่วย อย่างน้อยต้องศึกษา คำสอนพื้นฐานสำหรับการปฏิบัติ คำสอนพื้นฐานของการปฏิบัติก็มีไม่มาก มีเรื่องอริยสัจ 4 เรื่องขันธ์ 5 อายตนะ 6 เรื่องไตรลักษณ์ 3 มีไม่มาก เรื่องสติปัฏฐาน 4 ชักจะเยอะแล้ว ว่ามีไม่มาก

หลวงพ่อมีประสบการณ์ด้วยตัวเอง คือภาวนา ทำแต่สมถะมาตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กๆ พ่อพาไปกราบท่านพ่อลี วัดอโศการาม ท่านก็สอนหายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับหนึ่ง นับเลขไปเรื่อยๆ แต่ท่านสอนนับถึง 10 แล้ว 9 8 7 6 5 หลวงพ่อนับไม่เป็นยังเด็ก ก็นับ 1 ถึง 100 แล้วก็เริ่ม 1 ถึง 100 ใหม่ ตอนนั้นไม่มีปัญญา ไม่รู้เรื่องอะไร ครูบาอาจารย์ให้ทำก็ทำ ก็ได้สมาธิขึ้นมา เด็กๆ ปฏิบัติจะได้สมาธิง่าย เพราะมันไม่คิดมาก ผู้ใหญ่ภาวนามันคิดมาก สมาธิไม่ค่อยเกิด อย่างนั่งภาวนา ก็นั่งนึกทำอย่างไรจะสงบ ทำอย่างนี้น่าจะสงบดี พอทำแล้วก็นั่งลุ้น เมื่อไรจะสงบ หาเรื่องวุ่นวายไปเรื่อยๆ

เด็กไม่เป็น เด็ก ครูบาอาจารย์ให้หายใจก็หายใจ ไม่ได้คิดว่าหายใจแล้วมันจะได้อะไรขึ้นมา แต่ทำไปโดยไม่มีความโลภแทรกอยู่ ใจมันก็สงบง่าย ส่วนใหญ่ก็ชอบพูดกันว่าเด็กเหมือนผ้าขาว พอโตแล้วสกปรก ที่จริงเด็กมันก็มีทั้งสีขาว สีดำ อยู่ในตัวเองนั่นล่ะ มันไม่ได้มีแต่กุศลล้วนๆ แต่การที่เด็กมันภาวนาง่าย เพราะมันไม่คิดมาก ผู้ใหญ่มันภาวนายากเพราะมันคิดมาก หลวงพ่อภาวนาก็ง่ายๆ ตอนนั้นหายใจเข้าพุทออกโธ จิตมันก็สงบ แล้วไปต่อไม่เป็น ไปต่อไม่เป็นก็พยายามหาทาง อ่านพระไตรปิฎก แต่อ่านได้ 2 ปิฎก อ่านวินัยปิฎก กับสุตตันตปิฏก อภิธรรมปิฎกไม่รู้เรื่อง อะไรก็ไม่รู้ “กุสะลาธัมมา อะกุสะลาธัมมา อัพยากะตา ธัมมา” แค่บทแรกก็ไม่รู้เรื่องแล้ว อะไรก็ไม่รู้ ท่องไปแล้วมันจะได้อะไรขึ้นมา ก็เลยอ่านพระวินัย อ่านพระสูตร อ่านแล้วอ่านอีก หาทางปฏิบัติ ก็ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร

 

บททำวัตรเช้า คือเรื่องการดูขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์

ตอนเรียนหนังสือ ตอนนั้นจบปริญญาตรี ระหว่างเรียนปริญญาโท ตอนนั้นยังไม่ได้ทำงาน ไปบวชวัดชลประทานฯ หลวงพ่อปัญญาเป็นพระอุปัชฌาย์ พอไปบวชแล้วก็ได้ทำวัตร ที่วัดชลประทานฯ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ใช้บททำวัตรของสวนโมกข์ เหมือนสวนโมกข์ สวดมนต์แปล เวลาสวดมนต์แปล ตอนเช้าๆ มีบททำวัตรเช้าดีๆ เยอะเลย แต่ตอนนั้นก็สวดไปอย่างนั้น ไม่รู้ว่ามันมีประโยชน์อย่างไร มีเรื่องของขันธ์ 5 เรื่องการดูขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์ อันนี้อยู่ในบททำวัตรเช้า

ส่วนบททำวัตรเย็น หลวงพ่อไม่ค่อยนิยม เป็นบทขี้อ้อน อ้อนโน้นอ้อนนี้ไปเรื่อย ขอโน้นขอนี้ อ้อนพระรัตนตรัยอะไรต่ออะไร ไม่ค่อยชอบ รู้สึกไม่เห็นมีอะไรเลย มันเหมาะกับคนศรัทธา หลวงพ่อไม่ใช่พวกศรัทธา หลวงพ่อเป็นพวกเดินด้วยปัญญา ทำวัตรเช้ามันมีอะไรที่น่าทึ่งมากมาย แต่ก็ยังไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร สวดไปเรื่อยๆ ก็ไม่รู้ รู้แต่คำแปล ก็มาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนให้ดูจิตตัวเอง “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” หลวงพ่อก็เริ่มงงว่าจิตมันอยู่ที่ไหน รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร มันอยู่ที่ไหน จะเอาอะไรไปดู จะดูอย่างไร ไม่รู้เลยสักอย่าง

ตอนนั้นลาหลวงปู่ดูลย์ออกมาแล้ว ท่านสอนเสร็จแล้ว ท่านถาม “เข้าใจไหม” หลวงพ่อกำลังปลื้มก็บอก “เข้าใจ” ท่านบอก “เข้าใจแล้วไปทำ” พอลาท่านมาขึ้นรถไฟ จะมาหาหลวงพ่อพุธที่โคราช พอขึ้นรถไฟมา นึก เอ๊ะ ท่านให้ดูจิต ดูอย่างไร จิตอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จะดูอย่างไรก็ไม่รู้ เอาอะไรไปดูก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรสักอย่าง ทำอะไรไม่ได้ ก็เลยทำสมาธิไว้ก่อน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป พอใจมันสงบก็พิจารณาไตร่ตรอง จิตมันต้องอยู่ในกายนี้ แต่มันอยู่ตรงไหนของกาย ดูตั้งแต่ผม ตั้งแต่ปลายผมจนถึงพื้นเท้า ไล่ขึ้นไล่ลง ดูไปดูมาจิตรวมไป ร่างกายหายไป ยังไม่เห็นตัวจิต ว่ามันจะอยู่ตรงไหนของร่างกาย ฉะนั้นจิตกับร่างกายคนละอันกัน คราวนี้ยิ่งงงหนักกว่าเก่าแล้ว จิตอยู่ในร่างกาย แต่ไม่ได้อยู่ตรงไหนในร่างกาย ทำอย่างไรดี

นึกถึงบททำวัตรเช้าได้ “รูปูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือรูป เวทะนูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือเวทนา สัญญูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือสัญญา สังขารูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือสังขาร วิญญาณูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือวิญญาณ” พิจารณาลงมา พอจิตมันมีสมาธิ มันนึกถึงบทนี้ขึ้นมา ที่ทำวัตรเช้านี่ล่ะถ้าจิตมันไม่ได้อยู่ตรงไหนในตัวรูป หรือมันอยู่ในเวทนา มันก็มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไล่ดู หรือจิตอยู่ในเวทนา

หลวงพ่อก็นั่งสมาธิ อาศัยนั่งมานาน พอนั่งปุ๊บ ต้องการสงบ ต้องการสบายมีความสุขก็มีเลย ไม่ต้องอ้อมค้อม แล้วก็ดูลงไปในความสุข พอความสุขดับไปไม่เห็นจิต ไม่เห็นจิต หรือจิตอยู่ในความทุกข์ กำหนดจิตให้ทุกข์ไม่เป็น เลยดูร่างกาย นั่งนิ่งๆ นานๆ ไป ร่างกายมันทุกข์ ดูลงไปในความทุกข์ก็ไม่มีจิต ก็นั่งนึกต่อไป “สัญญูปาทานักขันโธ สังขารูปาทานักขันโธ” ไล่ดูไป ค่อยๆ แยก ที่จริงมันคือการแยกขันธ์นั่นเอง เวลาที่เราเจริญปัญญา ตัวสำคัญก็เราต้องแยกธาตุแยกขันธ์ได้ บททำวัตรเช้ามันสอนเรื่องแยกขันธ์นั่นล่ะ แยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกเป็นส่วนๆ เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

 

หลงแล้วรู้

พอแยกรูปยังไม่เจอจิต ตอนนั้นแยกเวทนาก็ยังไม่เจอจิต เลยคิด เอ๊ะ หรือว่าจิตอยู่ในความคิด อยู่ในความตรึก ตัววิตก หลวงพ่อก็จงใจคิดบทสวดมนต์ มีบททำวัตรเช้าอีกบทหนึ่ง เพราะ “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดังห้วงมหรรณพ” พอคิดคำว่า “พุทโธ สุสุทโธกะรุณามะหัณณะโว” เห็นกระแสของความคิด มันเลื้อยออกมาจากความว่างที่อยู่กลางอก มันเลื้อยออกมาจากกลางอกขึ้นมา ผุดขึ้นจากความว่าง ผุดขึ้นมาแล้วก็ดับไปในความว่าง พอเห็นกระแสของความคิด ไม่ใช่เรื่องที่คิด มันเป็นกระแสของความคิด เป็นตัววิตก ผุดขึ้นมา พอเห็นจิตมันตรึก พอรู้ปุ๊บมันดับปั๊บ จิตมันก็ดีดผางออกมาเป็นตัวผู้รู้ขึ้นมา

ฉะนั้นอย่างที่ครูบาอาจารย์ท่าน ชอบสอนว่าหลง หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ จิตหลงไปคิดแล้วรู้ คือถ้าจิตมันคิดขึ้นมาเรามีสติรู้ ไม่ใช่รู้เรื่องที่คิด แต่รู้ว่ามันกำลังคิด มันจะดับทันทีเลย แล้วตัวผู้รู้มันจะเด่นดวงขึ้นมา พอบริกรรม “พุทโธ สุสุทโธกะรุณามะหัณณะโว” เห็นกระแสความคิดผุดขึ้นแล้วดับไป จิตเป็นคนรู้คนดู ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา บอก เฮ้ย ตัวนี้ตัวเก่า ทำมาได้ตั้งแต่เด็กแล้ว นั่งสมาธิ นั่งไปเรื่อยๆ แล้วมันมาถึงตัวผู้รู้นี้ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู โอ้ ตัวจิตนี้เอง เราไม่เคยรู้ว่านี่คือตัวจิต แต่เรารู้สึกมันมีตัวหนึ่งเป็นคนรู้ เด็ก ไม่รู้จักภาษา ก็ไม่รู้ว่านี้คือตัวจิต

พอมีตัวรู้แล้ว แต่ก่อนนี้มีตัวรู้ ก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร คราวนี้หลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิต หลวงพ่อก็เลยไปดูตัวผู้รู้นี้ พอจิตมันหลงไป รู้ทัน กลับมาอยู่ที่ตัวผู้รู้นี้ แล้วพยายามจะไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง เพราะรู้แล้วว่า ความคิดนึกปรุงแต่งไม่ใช่จิต ท่านบอกว่าให้ดูจิต นั่นก็คือต้องดูตัวจิตจริงๆ ไม่เอาความคิดนึกปรุงแต่งทั้งหลาย ก็ฝึกไปเรื่อย จิตก็ว่างๆๆ พวกที่ทำจิตว่างจะเป็นแบบนี้ เวลามีความคิดเกิดขึ้นก็ปัดทิ้งไป ในที่สุดจิตก็ว่าง ฝึกอยู่ 3 เดือน จิตว่างๆ

แล้วขึ้นไปกราบหลวงปู่เป็นครั้งที่ 2 ไปรายงานท่านบอก หลวงปู่ครับ ผมดูจิตได้แล้ว”
ท่านมองหน้า ท่านก็รู้แล้วว่าถูกผิด แต่ท่านก็ถาม แกล้งถามนั่นล่ะ จะสอนเราว่า “จิตเป็นอย่างไร”
“โอ๊ย จิตมันพิสดาร วิจิตรพิสดาร มันคิดนึกปรุงแต่งได้สารพัด แต่ผมปัดมันทิ้งได้หมดเลย มาอยู่กับจิตอย่างเดียวเลย เป็นผู้รู้นิ่งๆ ว่างๆ”
หลวงปู่ก็สอน “ดูผิดแล้ว จิตมันเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ไปดูจนมันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง นี่เป็นการไปดัดแปลง เป็นการแทรกแซง ไปวุ่นวายแก้ไขอาการของจิต ทำอย่างนี้ไม่ถูก ไปทำใหม่”

ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าโหดนะ ไม่บอกหรอกว่าผิดอย่างไร ผิดตรงไหน เพราะอะไร จะแก้อย่างไร ไม่บอกเลยสักอย่าง พูดคำเดียว “ให้ไปดูจิต ไม่ได้ให้ไปแก้อาการของจิต ไปทำใหม่” ก็ไปทำ ครูบาอาจารย์ให้ทำก็ทำ ค่อยๆ สังเกตไป แต่เดิมเราพยายามทำจิตให้ว่างๆ เรารู้แล้วว่าไม่ใช่ หลวงปู่บอกว่าทำจิตอย่างนั้น มันเป็นการไปแก้อาการของจิตให้จิตว่างๆ ไม่ถูก จิตมีหน้าที่คิดนึกปรุงแต่ง คราวนี้ปล่อยให้มันคิดนึกปรุงแต่ง แต่มีสติตามรู้ไป ก็เลยเห็นเวลาเกิดความคิดขึ้น บางทีก็เกิดความคิดขึ้นตรงๆ เลย อย่างนั่งอยู่เฉยๆ อยู่ๆ ความคิดก็ผุดขึ้นมาเฉยๆ บางทีก็อาศัยการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างตาเรามองเห็นผู้หญิงสักคนหนึ่ง ทีแรกตามองเห็น ไม่รู้หรือกว่าผู้หญิงผู้ชาย ใจมันแปล สัญญามันแปลนี้ผู้หญิง เริ่มให้ค่า สวย ชอบ เห็นเลยราคะมันเกิด เห็นคนนี้ขึ้นมา

 

จิตเปลี่ยนแปลงตามหลังการกระทบอารมณ์

เมื่อก่อนหลวงพ่อมีหัวหน้าคนหนึ่ง หัวหน้าแผนก หัวหน้ากอง ทำงานด้วยกันมาตลอด แกเป็นคนที่เครียดจัด แล้วก็เป็นคนซึ่งไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เวลาทำงาน ทำแล้วทำอีก แก้แล้วแก้อีก อยู่เรื่องเดียวนั่นล่ะ แก้มัน 10 รอบ 20 รอบ แก้จน สมัยนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ เด็กพิมพ์ดีด มันพิมพ์จนกระทั่งมันกลับบ้านไม่ถูกเลย มันไปสลบ หลับอยู่กลางทาง ตอนที่ได้ยินเสียง แกอยู่คนละห้อง แต่ประตูมันเปิดอยู่ พอได้ยินเสียงแกขยับเก้าอี้ดังเอี๊ยด เก้าอี้แกดัง ใจนี้สะเทือนเลย

นี่หูได้ยินเสียง ใจสะเทือน ยายนี่มันจะมาอีกแล้ว เราจะทำงานก็มาวุ่นวาย ทำให้เราทำงานลำบาก มาจุกจิกๆ เรื่องหยุมหยิม เช่น ตรงนี้ทำไมไม่ใช้คำว่ากับ แก่ แต่ ต่อ และ ที่ ซึ่ง อัน จะแก้แต่เรื่องพวกนี้ ไม่รู้จะวุ่นวายอะไรนักหนา กับ แก่ แต่ ต่อ และ ที่ ซึ่ง อัน ตัวเชื่อมทั้งหลาย แก้อยู่แค่นี้ ไม่ใช่แก้เรื่องคอนเซ็ปต์ เราก็รำคาญ พอได้ยินเสียงเก้าอี้ขยับเท่านั้นล่ะ โทสะขึ้นแล้ว ได้ยินเสียงรองเท้าเดิน โทสะขึ้น มีรุ่นน้องนั่งทำงานด้วยกัน พอมันได้ยินเสียงรองเท้า ใจมันจะเป็นบ้าแล้ว มันหงุดหงิดโมโหแล้ว นี่หูได้ยินเสียง แล้วจิตมันก็ทำงานขึ้นมา

ตาเห็นรูป จิตก็ทำงาน หูได้ยินเสียง จิตก็ทำงาน จมูกได้กลิ่น จิตก็ทำงาน อย่างถ้าเราอยู่ในบ้าน แล้วอยู่ๆ เราได้กลิ่นเน่าๆ อะไรขึ้นมา เราก็สงสัย เอ๊ะ หนูมาตายในบ้านหรือเปล่า หรือจิ้งจก ตุ๊กแก มาตายอยู่ในบ้านหรือเปล่า กลิ่นอย่างเดียวกัน เวลาไปภาวนาในวัด นั่งอยู่ในป่า ได้กลิ่นเน่าๆ มา ไม่คิดถึงว่าหนูตายไหม คิดว่าผีมาหรือเปล่า กลิ่นอันเดียวกัน จิตยังแปลความหมายไม่เหมือนกันเลย ตรงที่คิดว่าหนูตายในบ้านไหม จิตก็กังวล จะไปหามัน ต้องไปหามันแล้ว เดี๋ยวมันเหม็นกว่านี้อีก ได้กลิ่นอย่างเดียวกัน ตอนไปนั่งสมาธิอยู่ในวัด ในป่า กลิ่นเน่าๆ มา ผีมาหรือเปล่า มันกลัว ความรู้สึกเห็นไหม ขนาดกลิ่นอย่างเดียวกัน แต่การแปลความหมายไม่เหมือนกัน เพราะบริบทต่างกัน ความรู้สึกยังไม่เท่ากันเลย ไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นขณะที่ตาเห็นรูป จิตเกิดความเปลี่ยนแปลง รู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตเกิดความเปลี่ยนแปลง รู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส จิตเกิดความเปลี่ยนแปลงให้รู้ทัน อย่างขณะนี้อากาศเย็น คนไทยมันอยู่เมืองร้อน มันร้อนทั้งปี แล้วก็ไม่ใช่ร้อนสบายด้วย มันร้อนเปียกๆ เรียกร้อนชื้น บางประเทศมันร้อนแต่ตัวมันแห้ง มันจะไม่อึดอัดเหนียวเหนอะหนะเหมือนพวกเรา ฉะนั้นมันเลยไม่ค่อยอาบน้ำหรอก แต่พวกเราไม่อาบน้ำไม่ได้ ร่างกายทนไม่ไหว เหนียวเหนอะหนะไปหมด พอมันกระทบร่างกาย อากาศเย็นมากระทบปุ๊บ มันสบายใจ รู้สึกไหม พวกเราพออากาศเย็นมากระทบ มีความสุขแล้ว

ถ้าคนที่เขาไม่มีผ้าหนาๆ เด็กชนบท เด็กอะไร หนาวๆ มา มือแตก มือแตกนี้แตกจริงๆ แตกเลือดออกเลย ผิวหนังแตก เท้าแตก มือแตก หน้าแตก เขาไม่ได้ชอบ ลมหนาวอย่างเดียวกัน มากระทบคนในเมือง ก็รู้สึกไปอย่างหนึ่ง ให้ค่าไปอีกแบบหนึ่ง กระทบคนยากจน ก็รู้สึกไปอีกอย่างหนึ่ง ความรู้สึกมันเปลี่ยนจากการกระทบอารมณ์ แล้วมีการให้ค่า กระทบเฉยๆ ยังไม่เท่าไร กระทบแล้วมันมีการให้ค่า เป็นธรรมชาติก็ต้องมีการตีความ อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี แล้วจิตมันก็จะปรุงต่อ เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตมันจะเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงตามหลังการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอารมณ์ เป็นอารมณ์ข้างนอก กระทบแล้วจิตมีความเปลี่ยนแปลง ตีค่า แล้วก็เกิดยินดียินร้าย เกิดพอใจไม่พอใจขึ้นมา

แต่ว่าการกระทบอารมณ์มันมีอีกแบบหนึ่ง คือกระทบด้วยใจโดยตรง ไม่ได้กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่กระทบด้วยจิตโดยตรงก็มี อย่างเวลาเรานั่งอยู่ดีๆ เราไปนึกถึงคนที่เราเกลียด พอนึกถึงปุ๊บโทสะขึ้นเลย นางนี่ร้าย มันแย่งผัวเราไป อยู่ๆ ก็คิดถึงขึ้นมา ไม่ได้เจตนา มันผุดขึ้นมาเอง สัญญามันผุดขึ้นมา ไม่มีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่กระทบเข้าทางใจโดยตรงเลย จิตก็เกิดความปรุงแต่งต่อ เกิดชอบ เกิดไม่ชอบ เกิดราคะ โทสะ โมหะอะไรขึ้นมา แล้วเราก็มีสติรู้ทัน

 

ตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเอง

เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วจิตเปลี่ยนแปลง เราก็รู้ทัน มีการกระทบทางใจขึ้นโดยตรง ไม่ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตก็เกิดการความเปลี่ยนแปลง ให้เรามีสติรู้ทัน อย่างเรานั่งอยู่ เรานึก อยู่ๆ มันก็นึกถึง นึกถึงคนที่เราชอบ ใจเราก็มีความสุขขึ้นมา แล้วก็นึกต่อไปอีกช็อตหนึ่ง ตอนนี้ไปตกระกำลำบากอยู่ที่ไหน เป็นห่วงแล้ว จากจิตที่ชอบ จิตที่มีความสุขที่ได้นึกถึงคนที่เรารัก แล้วคนที่เรารักตอนนี้ไปอยู่ที่อื่น ช็อตต่อมา มันไม่ใช่รู้สึกมีความสุข มันรู้สึกกังวลว่าเขาจะอยู่อย่างไร เขาจะกินอย่างไร จะนอกใจเราไปหรือยังอะไรอย่างนี้ ใจมันปรุงต่อ ให้เราตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไป

มันจะปรุงอะไรก็ตามเถอะ ปรุงสุขก็รู้ ปรุงทุกข์ก็รู้ ปรุงดีปรุงชั่วก็รู้ แต่ตรงปรุงสุขปรุงทุกข์ มันปรุงอัตโนมัติ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล อย่างตาเราเห็นดอกไม้สวย เรามีความสุข ความสุขนี้ไม่ใช่กุศลอกุศล แต่พอมีความสุขแล้วเราก็ชอบ ยินดีพอใจ ยินดีพอใจมันเป็นโลภะ เป็นราคะ อันนี้เป็นกิเลสแล้ว ตรงที่จิตใจเรากระทบอารมณ์แล้ว มีความสุขหรือความทุกข์อะไรนี้ เป็นวิบาก ถ้าเราทำกรรมดีมา ก็กระทบอารมณ์ที่พอใจ จิตใจเราก็มีความสุข ร่างกายก็มีความสุข อันนี้เป็นวิบากที่ดีให้ผล พอวิบากไม่ดีให้ผลมา พอมากระทบตัวนี้ปุ๊บ จิตไม่ชอบ ไม่ชอบใจ มีความทุกข์ทางใจเกิดขึ้น ตรงที่จิตมีความชอบขึ้นมา

ตรงนี้ยังไม่มีกิเลส ตรงที่มันมีความสุข มันยังไม่มีกิเลส แล้วก็กิเลสมันตามหลังมา แทรกเข้ามา ที่จริงมันเกิดด้วยกัน เกิดเร็ว มีความสุขปุ๊บราคะแทรกเลย เพราะเราไม่มีสติ เวลามีความทุกข์เกิดขึ้น โทสะมันก็แทรก เวลาที่จิตมีความสุข จิตอาจจะเป็นกุศลก็ได้ อาจจะเป็นอกุศลก็ได้ อย่างเวลาเราคิดถึงครูบาอาจารย์ จิตเรามีความสุข อันนี้เป็นความสุข แต่จิตดวงนั้นเป็นกุศล บางทีจิตเรามีความโลภเกิดขึ้น มีความสุข แต่ว่ามันเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นตรงที่จิตมีความสุข จิตอาจจะเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลก็ได้ แต่ตอนที่จิตมีความทุกข์ อกุศลร้อยเปอร์เซ็นต์ จิตดวงนั้นมีโทสะประกอบด้วยเสมอ ตรงนี้เราไม่ต้องท่องจำ เราค่อยรู้ค่อยดู ค่อยเรียนของจริงไปเรื่อย แล้วเราก็เข้าใจเองล่ะ

เพราะฉะนั้นตัวความสุขทางจิตใจ มันเกิดได้กับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ จิตที่มีโลภะก็ได้ หรือความทุกข์ทางจิตใจ เกิดร่วมกับโทสะเสมอ แล้วจะเห็นมันปรุงขึ้นมาได้เอง ตอนที่มันปรุงสุขปรุงทุกข์ ตรงนั้นกิเลสยังไม่เกิด แต่กิเลสมันแทรกตัวตามอย่างรวดเร็วเลย พอสุขแล้วเราไม่มีสติ ราคะก็แทรกเข้ามา แล้วตอนที่ทุกข์ โทสะมันแทรกอยู่แล้ว ทุกข์ทางใจ ถ้าทุกข์ทางร่างกายไม่เกี่ยว ทุกข์ทางร่างกายไม่ใช่กิเลส ไม่มีกิเลสแทรก แต่ทุกข์ทางใจ เกิดร่วมกับกิเลสทันทีร่วมกับโทสะเลย

เราค่อยๆ ดูไป ที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนหลวงพ่อ “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” อ่านไปเรื่อยแล้วก็เข้าใจมากขึ้นๆ เราเห็นจิตนี้เกิดดับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หยาบๆ มันก็เปลี่ยนตามการกระทบอารมณ์ภายนอก ละเอียดขึ้นมามันก็เปลี่ยนอยู่ภายใน การปรุงแต่งอยู่ภายในเป็นช็อตๆๆ ไป ก็เห็นมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

พอดูจนชำนิชำนาญ เราจะเห็นตั้งแต่จิตขึ้นจากภวังค์ขึ้นมา อย่างเวลาเราเข้าสมาธิลึกๆ หรือเวลาเราหลับ เวลานอนหลับ เอานอนหลับก็แล้วกัน เพราะว่าเราเข้าสมาธิไม่เป็น เวลานอนหลับเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย ตอนที่มันเริ่มตื่น จิตมันจะขึ้นจากภวังค์ ขึ้นมารับอารมณ์ พอมันขึ้นมา เราเลือกไม่ได้ว่าจิตจะออกไปรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย เลือกไม่ได้ แต่อันแรกมันขึ้นมา มันเป็นอารมณ์ทางใจขึ้นมาแล้ว

ถ้าสติเราดี เราจะเห็นอารมณ์ทางใจมันผุดขึ้นมา มันผุดเอง มันผุดขึ้นมาเองจากภวังค์ จิตขึ้นจากภวังค์ ขึ้นเอง ไม่ได้เจตนา ไม่มีกุศลอกุศลอะไรตรงนั้น ตัวนี้เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่เราเคยสร้างมา ชีวิตเรายังไม่แตกดับ กรรมยังหล่อเลี้ยงอยู่ เรายังไม่ตาย พอจิตลงภวังค์ตอนนั้น มันขึ้นจากภวังค์ มันก็ขึ้นมาทำงานขึ้นมา เสร็จแล้วมันจะมากระทบตัวความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย มันกระทบปุ๊บ มันก็เกิดจิต ถ้าเราฝึกชำนาญ จะเกิดจิตผู้รู้ขึ้นทันทีเลย ร่างกายยังไม่มี แต่ถ้าเรายังฝึกไม่ชำนาญ มันผุดขึ้นมาปุ๊บ กลายเป็นเราไปเรียบร้อยแล้ว แล้วจะผุดขึ้นมา แล้วจากที่รู้นามธรรม เหมือนมันขยายความรับรู้ออกไปอีกช็อตหนึ่ง ขยายออกไป กระทบเข้ากับร่างกาย ร่างกายก็ปรากฎขึ้น

ตอนที่ขึ้นจากภวังค์ ความรู้สึกนามธรรม มันเกิดร่วมกับจิตที่ขึ้นมา มีขึ้นมาทันทีเลย เรามีสติก็เห็น แล้วถ้าอีกช็อตหนึ่งต่อมา ขยายออกมารู้สึกร่างกาย ตรงนี้ก็ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล ก็เป็นวิบากอยู่ดี ตรงนี้เราก็ห้ามไม่ได้ แล้วตาเราจะเห็นรูป หูจะได้ยินเสียงอะไร เราก็เลือกไม่ได้ พอตาจะเห็นรูป หรือหูจะได้ยินเสียง หรือจมูกจะได้กลิ่น หรือลิ้นกระทบรส มีคำว่าหรือๆๆ ทำไมต้องมีคำว่า “หรือ” เพราะการกระทบอารมณ์นั้น กระทบทีละทวาร เราไม่ใช่กระทบทางตาพร้อมกับหูหรอก ไม่ใช่กระทบทางตาพร้อมกับใจหรอก กระทบทีละอัน

ฉะนั้นจิตเกิดทีละดวงๆ ทีแรกจิตเกิดทางใจก่อน ผุดขึ้นมาจากภวังค์ เป็นจิตทางใจ เสร็จแล้วมันก็เกิดการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายขึ้นมา ทางใจรับรู้ขึ้นมาก่อนแล้ว พอมันรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ตรงนี้ก็สักแต่ว่ารับรู้ ไม่เป็นกุศลอกุศล เป็นวิบากเฉยๆ ฉะนั้นตรงที่มีผัสสะ ผัสสะเป็นวิบาก ถ้าเราทำกุศลมา กุศลวิบากให้ผล ผัสสะนั้นเราก็กระทบอารมณ์ที่ถูกอกถูกใจ ถ้าอกุศลให้ผลมา เราก็ไปกระทบอารมณ์ที่ไม่ถูกอกถูกใจ เป็นอย่างนี้

 

กรรมใหม่ที่ดีเลิศ

มีเคสที่เคยเล่าให้ฟังเยอะแยะเลย มันเป็นเรื่องของวิบาก อย่างคุณแม่เขาจะไม่ได้กลิ่นเหม็น จะได้แต่กลิ่นหอม เมื่อก่อนปลูกต้นไม้ไว้ ต้นไม้ ต้นจำปาเทศ มีกลอนชม “จำปาเทศวิเศษกลิ่น” โห คงจะวิเศษมากเลย ที่จริงวิเศษตัวนี้แปลว่าพิเศษ กลิ่นเหมือนอึ เราได้ยินชื่อจำปาเทศวิเศษกลิ่น ไปปลูกเอาไว้ เหม็นไปตั้งไกล คุณแม่ไม่ได้กลิ่นเลย อยู่ข้างกุฏิแท้ๆ ไม่ได้กลิ่น คนอื่นได้กลิ่น การที่เราจะได้กลิ่นที่ถูกใจ กลิ่นที่ไม่ถูกใจ อยู่ที่วิบากอีก

เรานั่งรถไปเห็นรถชนกัน ดูเละเทะไปหมด น่าจะมีคนตาย เราไม่อยากเห็นศพเละเทะ กลัว เราหันหน้าหนีไปอีก หลบไปอยู่ มองไปทางข้างถนนแทน กะจะเลี่ยง ปรากฎเขายกศพมาตั้งไว้แล้ว หนีแล้วก็ไปเจอ ถ้าไม่หนีไม่เจอ ฉะนั้นบางคนก็เห็นสิ่งที่ถูกใจ บางคนก็เห็นสิ่งที่ไม่ถูกใจ เลือกไม่ได้ด้วย อันนี้เป็นเรื่องของวิบาก กุศลวิบากหรืออกุศลวิบากให้ผลมา อันนี้เป็นเรื่องของกรรมเก่า สร้างวิบากขึ้นมา แต่ตอนที่กระทบแล้ว สมมติเรากระทบอารมณ์ที่ไม่ดี จิตเราเกิดโทสะ โทสะเป็นกิเลสแล้ว

ถ้าจิตมีโทสะแล้วเราไม่มีสติรู้ทัน โทสะครอบงำจิต อกุศลวิบากให้ผลมา เราก็ยังทำอกุศลใหม่ คือจิตถูกโทสะครอบงำ ของเก่าก็ไม่ดี ของใหม่ก็ไม่ดี ก็เลวเต็มที่เลย ไม่มีพัฒนาการแล้ว แต่ถ้ากระทบอารมณ์ไม่ดี อกุศลวิบากให้ผล เราต้องกระทบอารมณ์ที่ไม่ดี เราเห็นโทสะผุดขึ้นมา เรารู้ โทสะดับ จิตไม่มีโทสะแล้ว ตรงนี้จิตเราเป็นกุศลเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ที่เรามีสติรู้ทัน ของเก่าไม่ดี แต่ของใหม่ดี กรรมใหม่ที่เกิดขึ้นมันดี เพราะเรามีสติ

เพราะฉะนั้นเราอย่าไปคร่ำครวญถึงอดีต อดีตจะเป็นอย่างไรก็ช่างมันเถอะ กรรมเก่าให้ผลมา เราก็ต้องเจอกับปรากฎการณ์อย่างนี้ เจอกับเรื่องราวเหล่านี้ ที่ถูกใจบ้าง ที่ไม่ถูกใจบ้าง แล้วแต่เวรแต่กรรม แต่ไม่ว่าเราจะกระทบอารมณ์ที่ดี หรือกระทบอารมณ์ไม่ดี ปัจจุบันนี้เราจะต้องดี จะต้องมีสติ สมมติว่ากุศลให้ผลเรา เราเห็นดอกไม้สวย เห็นไหมได้อารมณ์ที่ดีแล้ว กุศลให้ผลมา จิตมีราคะเราไม่เห็น อยากได้ดอกไม้เราไปเด็ดมา ของใครก็ไม่รู้เอาไว้ก่อน คนไม่เห็นแล้วไปเด็ดมา เห็นไหม ของเก่าดี แต่กรรมใหม่ชั่วไปแล้ว เพราะว่าไม่มีสติ ถูกกิเลสใหม่ครอบงำเอา

บางทีของเก่าก็ดี อย่างเราเห็นดอกไม้สวย ใจเราชอบ เรามีสติรู้ว่าใจเราชอบ มันเดินปัญญาต่อ มีสติ มีปัญญา เห็นความชอบเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของเก่าเราก็ทำมาดี ของใหม่เราก็ทำดี อย่างนี้ดีเยี่ยมเลย หรือบางทีของเก่าทำมาไม่ดี อกุศลวิบากให้ผล เราต้องพลัดพราก อย่างพ่อแม่เราตาย คนที่เรารักตาย อกุศลให้ผลแล้ว เราเห็นจิตเศร้าหมอง จิตเราเศร้าหมอง พอเราเห็นจิตเศร้าหมอง สติรู้ทัน ความเศร้าหมองดับ ทันทีที่มีสติ จิตจะไม่มีโทสะ จิตที่เศร้าหมองเป็นจิตมีโทสะ จิตที่เศร้า มีโทสะ ฉะนั้นอย่างพ่อแม่เราตาย อกุศลให้ผลมาตัดรอนเราแล้ว เราต้องพลัดพรากจากคนที่เรารักแล้ว แล้วกรรมใหม่ของเราดี เราเห็นเลยว่าความเศร้าโศกผุดขึ้นแล้วก็ดับไป อกุศลให้ผลมา แต่ว่ากรรมใหม่ของเราดี

บางคนอกุศลให้ผลมา กรรมใหม่ก็ชั่วเสียอีก อันนี้ของเก่าก็ชั่ว ของใหม่ก็ชั่ว ฉะนั้นเราค่อยๆ สังเกต ตรงที่เรากระทบอารมณ์ กระทบอารมณ์ที่ชอบ อารมณ์ที่ไม่ชอบ เป็นกรรมเก่า แต่พอกระทบแล้ว ใจเราปรุงกุศล ปรุงอกุศลขึ้นมา ตรงนี้เป็นกรรมใหม่ ให้เรามีสติรู้ทันเข้าไป มันจะเป็นกรรมใหม่ที่ดีเลิศเลย

ฉะนั้นอย่างบางทีเห็นเขาเรี่ยไรกัน เขาจะปิดทองพระ จะทำเจดีย์ปิดทองอะไรอย่างนี้ ได้ยินเรื่องเดียวกัน บางคนแปลไปในทางดี บางคนแปลไปทางไม่ดี แปลไปในทางดีก็ โอ๊ย น่าปลื้มใจ ยังมีคนนับถือศาสนาอยู่ ปลื้มใจว่าศาสนายังไม่สูญ อีกคนบอกไปทำมันทำไม ไร้สาระ เอาศาสนาไปไว้กับอิฐกับปูน กับเงินกับทอง แหม มันห่างไกลความจริงเหลือเกิน ใจตำหนิติเตียนเขา โทสะขึ้นแล้วไม่เห็น เห็นของที่ดี แต่ว่าจิตกลายเป็นอกุศลก็ได้

 

มีสติไว้ให้มากๆ แล้วศีล สมาธิ ปัญญาจะบริบูรณ์ขึ้นมา

เพราะฉะนั้นเราเห็นของอันเดียวกัน กรรมใหม่ของเราอาจจะดีหรือชั่ว แตกต่างกันไป แต่ละคนไม่เหมือนกัน กรรมเก่าไม่สำคัญ มันแก้อะไรไม่ได้แล้ว กรรมใหม่ที่ดี พยายามมีสติไว้ ถ้าเมื่อไรมีสติ จิตเราจะเป็นกุศล ถ้าขาดสติจิตมันจะเป็นอกุศลไป เพราะฉะนั้นพยายามมีสติ สติเป็นตัวรู้ทัน จิตใจเราเป็นอย่างไร เราคอยรู้ทันไว้ ที่หลวงปู่ดูลย์บอกให้อ่านจิตตนเอง อ่านจิตตนเอง ก็คือคอยรู้ทันจิตตัวเองไป ไม่ได้ไปบังคับ ไม่ได้ไปแทรกแซง ไม่ได้ไปดัดแปลงมัน มันเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้นไป

ตรงที่เรามีสติรู้ทันนั้น จิตเราเป็นกุศลเรียบร้อยแล้ว แล้วพอมีกุศลมากๆ เข้า มันจะพัฒนาขึ้นเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา พอศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์ มันจะเกิดวิมุตติ วิมุตติคือเกิดอริยมรรค อริยผล ไม่มีใครทำจิตให้บรรลุมรรคผลได้ จิตบรรลุมรรคผลของจิตเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาบริบูรณ์ เพราะฉะนั้นที่เราจะทำได้ คือมีสติไว้ให้มากๆ แล้วศีล สมาธิ ปัญญา มันจะบริบูรณ์ขึ้นมา ขาดสติอันเดียว ไม่มีหรอกศีล สมาธิ ปัญญา จิตจะเป็นอกุศล

กรรมเก่าจะทำมาดีหรือชั่วก็ตาม แต่ของใหม่กำลังทำอกุศล อย่างนี้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้แล้ว ของเก่าจะดีหรือชั่วทำมา ไม่เป็นไร ปัจจุบันมีสติไว้นั้นดีที่สุดเลย อดีตก็ส่วนอดีตจบไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้ แต่ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด คือมีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไว้ แล้ววันหนึ่งมรรคผลนิพพานก็จะมาถึงเราจนได้ พอเข้าใจไหม วันนี้เทศน์ง่ายๆ ง่ายๆ ง่ายมาก แต่บางคนก็บอกง่ายของหลวงพ่อ มันยากของเรา แรกๆ มันก็ยากทุกคน ไม่ว่าอะไร หัดใหม่ๆ มันก็ยากทั้งนั้น พอเกิดบ่อยๆ ชำนิชำนาญ มันก็ง่าย

เมื่อก่อนหลวงพ่อพูดเรื่อยๆ โอ๊ย การปฏิบัติมันง่าย เรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เพราะหลวงพ่อทำรู้สึกง่าย ที่มันง่ายก็เพราะว่า เราฝึกสมาธิมาเยอะ จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่แล้ว หลวงปู่สิมท่านเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ คำว่า “ผู้รู้” เลยกลายเป็นฉายาที่หลวงปู่ท่านเรียก หลวงพ่อพุธท่านจะเรียกหลวงพ่อว่านักปฏิบัติ ท่านไม่รู้ชื่อ ท่านก็ตั้งฉายาให้ พวกนี้ฉายา เพราะเรามีจิตที่เป็นผู้รู้แล้ว เราก็ใช้จิตผู้รู้นี้ ไปเรียนรู้ความจริงของกายของใจ คอยรู้ทัน มีสติรู้ทันความเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตผู้รู้มันตั้งมั่นและเป็นกลาง

เพราะฉะนั้นที่หลวงพ่อบอก มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงคือไตรลักษณ์ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ถ้ารู้กายรู้ใจ แล้วดูไตรลักษณ์ แต่จิตไม่ตั้งมั่น จะเจือความคิด ไม่ใช่วิปัสสนาจริง เพราะฉะนั้นตรงที่จิตตั้งมั่นนี้สำคัญมาก ต้องฝึกตัวนี้ คอยรู้ทันเวลาจิตมันหลงมันไหลไป คอยรู้ไว้เรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็ตั้งเอง ไปสั่งให้มันตั้งก็ไม่ได้ มันตั้งขึ้นเอง เราทำกรรมฐานไป แล้วจิตไหลไปคิดเรารู้ทัน จิตหลงไปดู รู้ทัน จิตหลงไปฟัง รู้ทัน จิตหลงไปรู้รส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปรู้กลิ่น

รู้ทันไปเรื่อยๆ รู้ว่าจิตมันไปทำงานที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็รู้ไปเรื่อยๆ ถ้าตรงนี้รู้ไม่ทัน มันก็จะปรุงดีปรุงชั่วขึ้นมา ถ้ารู้ทันมันก็เป็นกุศลเลย ปรุงกุศลขึ้นมา กุศลทั้งหลายก็เป็นความปรุงแต่ง แต่เป็นความปรุงแต่งที่เป็นฝ่ายดี อกุศลทั้งหลายก็เป็นความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว ความพยายามจะไม่ปรุงแต่ง ก็เป็นความปรุงแต่งอีกชนิดหนึ่ง ชนิดที่ 3 ฉะนั้นให้มันปรุงไป ไม่ต้องไปแทรกแซงให้มันว่างๆ ทีแรกที่หลวงพ่อไปทำ ทำจิตให้ว่างๆ นี่ปรุงแต่งชนิดที่ 3 เรียกอเนญชาภิสังขาร ที่หลวงปู่บอกผิดแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าใครบอกเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ แต่สอนให้ทำจิตให้ว่าง ต้องรู้เลยว่าผิดแล้ว ใช้ไม่ได้หรอก

ให้ดูอย่างที่มันเป็น มันปรุงดีก็รู้ มันปรุงชั่วก็รู้ มันอยากจะไม่ปรุงก็รู้ รู้ทันมันอย่างนี้ แล้วในที่สุดเราก็จะเข้าใจ จิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 พฤศจิกายน 2566