วิธีเจริญสติในชีวิตประจำวัน

การปฏิบัติฟังอย่างเดียวไม่ได้ ต้องลงมือทำจริงๆ แล้วทำๆ หยุดๆ ก็ไม่ได้ ต้องทำให้ต่อเนื่อง อย่าขาดสาย เหมือนพายเรือทวนน้ำ หยุดพายเมื่อไรเรือก็ถอยหลัง อย่างคนเข้าคอร์สไปภาวนา ต่อเนื่องช่วงหนึ่ง มันจะไม่เหมือนคนทั่วๆ ไป คนทั่วๆ ไปใจไม่มีแรง วอกแวกๆ เข้าคอร์สภาวนากันใช้ได้ ดี ดูแล้วไม่น่ารำคาญ อย่าว่าแต่โยมเลย กระทั่งพระบวชใหม่ๆ เข้าไปอยู่ที่สวนสันติธรรม ตอนเช้าๆ นั่งฉันข้าว พระเก่ากับพระใหม่ไม่เหมือนกัน พระใหม่ยังเป็นฆราวาสนั่นล่ะ ก็ห่มจีวร เพิ่งจะบวชจิตใจมันยังไม่คุ้นเคย เรียกยังไม่มีสมณสัญญา ยังไม่รู้สึกว่าตัวเป็นพระ กิริยาท่าทางอะไรมันก็หลุกหลิกๆ เวลาเข็นถาดอาหารมา ที่วัดหลวงพ่อจะเข็นถาด เลื่อนถาด ถาดยังไม่มาเลย จิตกระโดดไปถาดอื่นแล้ว

ก็ต้องฝึกกันช่วงหนึ่งล่ะ กำลังดีก็ 2 – 3 เดือน ฝึกกันจริงจัง พอลงมือฝึกแล้ว แต่ละคนก็จะบอกเลยว่ามันไม่เหมือนตอนที่เป็นโยม ตอนที่เป็นโยมก็บอก แหม เราก็ขยันภาวนา ทำไมมันไม่เหมือนกัน ธรรมะที่หลวงพ่อสอนก็ประโยคเดียวกัน สอนพระสอนโยม แต่ความเข้าใจ อรรถรสที่ได้ ไม่เหมือนกัน เหมือนคนกินอาหารอย่างเดียวกันแต่เครื่องย่อยไม่ดี กระเพาะไม่ดี ย่อยอาหารได้ไม่ดี อีกคนหนึ่งเขากระเพาะดี เขาย่อยเก่ง เขาก็ได้สารอาหารเยอะ ที่เล่าตรงนี้เพื่อจะบอกว่าพวกเราที่ว่าดีๆ มันดีระดับหนึ่ง ดีกว่าคนไม่ภาวนา

 

ทางสายกลางของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

แต่ถ้าจะเอาดีจริงๆ อยากได้มรรคผลในชีวิตนี้จริงๆ การปฏิบัติมันก็ต้องเข้มข้น เข้มข้นไม่ได้แปลว่านั่งสมาธินานๆ เดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ ถ้านั่งสมาธิแล้วใจวอกแวก หรือใจโอดครวญ ทุกข์เหลือเกินอะไรอย่างนี้ อันนั้นคืออัตตกิลมถานุโยค คนหนึ่งเดินจงกรม สมมติคนหนึ่งเดินจงกรม 6 ชั่วโมง อีกคนหนึ่งเดินครึ่งชั่วโมง คนที่เดิน 6 ชั่วโมง เดินด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว จิตใจตั้งมั่นแยกธาตุแยกขันธ์ได้ เห็นกายมันเดิน ใจมันเป็นคนดู เขากำลังเดินอยู่ในทางสายกลาง อีกคนหนึ่งเดินครึ่งชั่วโมง เดินแล้วก็เครียด ไม่อยากเดิน เดินแล้วก็เครียดมากเลย ถูกบังคับให้เดิน ครึ่งชั่วโมงนั้นก็คืออัตตกิลมถานุโยค ตึง ไม่ใช่ทางสายกลาง

ฉะนั้นตรงทางสายกลางไม่ใช่ว่าปฏิบัติในอิริยาบถไหน ปฏิบัตินานแค่ไหน แต่ปฏิบัติด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ถึงจะเป็นทางสายกลาง ถ้าปฏิบัติแล้วก็กดข่ม บังคับกายบังคับใจ ภายนอกดูดีแต่ภายในก็ใช้ไม่ได้ มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค ทำตัวเองให้ลำบาก หรือบางคนเดินจงกรม เดินสวย จังหวะจะโคนดี งดงามมากเลย แต่ว่าใจมันไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เดินไปใจลอยไป แต่อาศัยฝึกเดินมาชำนาญ เดินด้วยไขสันหลัง เดินถูกเป๊ะเลย แหม สวยงาม อันนั้นกามสุขัลลิกานุโยค ย่อหย่อน ทั้งๆ ที่เดินหามรุ่งหามค่ำ แต่ถ้าใจหนีไปอันนั้นย่อหย่อน ถ้าเดินไม่นาน แต่ว่าเดินด้วยความเคร่งเครียด อันนั้นตึงเกินไป

ครูบาอาจารย์ท่านก็เปรียบเทียบ คล้ายๆ เรื่องฉันอาหาร พระฉันอาหารหรือนอน บางองค์ นอนน้อย 3 วันนอนทีหนึ่ง หรือนอนวันหนึ่ง 2-3 ชั่วโมง อีกองค์หนึ่งนอน 6 ชั่วโมง เราก็จะมองผิวเผินแล้วก็บอกพวกนอนน้อยดีกว่าพวกนอนเยอะ นอนเยอะไม่ดี ขี้เกียจ ที่จริงแล้วทางสายกลางของแต่ละคนไม่เหมือนกันหรอกมันเป็นเรื่องเฉพาะตัว บางคนนอนน้อยสติดี ถ้านอนมากแล้วเซื่องซึม ฉะนั้นการที่เขานอนน้อยเขาเดินในทางสายกลางแล้ว เหมาะกับตัวเอง อีกคนหนึ่งร่างกายต้องการนอน 6 ชั่วโมงแล้วก็ฝืน อันนั้นอัตตกิลมถานุโยค

หรือฉันอาหารก็เหมือนกัน บางคนเขาอดอาหารหลายๆ วัน บางองค์อดตั้ง 40 กว่าวัน อดได้ แต่อดแล้วจิตใจมีเรี่ยวมีแรง สติดี อันนั้นไม่ใช่การทรมานตัวเอง ไม่ใช่อัตตกิลมถานุโยค อีกองค์หนึ่งเห็นคนอื่นเขาอดก็อดบ้าง อดแล้วก็เครียดจัดเลย ท้องร้องจ๊อกๆ ก็เครียด ปวดท้อง ปวดหัว จิตใจเศร้าหมอง อันนั้นถึงจะอดวันเดียวก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค

หลวงพ่อเคยเจอครูบาอาจารย์องค์หนึ่งท่านเล่าให้ฟัง ตอนนี้ท่านยังอยู่ อายุ 90 กว่า เป็นครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่องค์หนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังว่าท่านอดอาหารเก่ง อดข้าวแล้วก็ภาวนาดี แต่อดนอนไม่ได้ ถ้าอดนอนวันหนึ่งท่านจะมึน แล้วต้องนอนชดเชย 3 วัน แล้วท่านก็เล่าถึงครูบาอาจารย์อีกองค์หนึ่ง องค์นี้เอ่ยชื่อได้ เพราะท่านมรณภาพไปแล้ว คือหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นต้องฉันข้าวถึงจะภาวนาดี อดนอนไม่เป็นไร อดข้าวไม่ได้ แต่หลวงปู่องค์นี้ท่านอดข้าวได้แต่อดนอนไม่ได้

ธาตุขันธ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราดูตัวเราเองแต่อย่าตามใจกิเลส ค่อยๆ สังเกตตัวเองว่าเราทำอย่างไรแล้วสติของเราเกิดดี จิตใจของเราตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ถ้าเราสังเกตตัวนี้ออกแล้วเราก็ทำแบบนั้นให้มากๆ ตรงที่สามารถสังเกตตัวเองได้แล้วรู้ว่าตัวเองควรทำอะไร แล้วก็ตั้งอกตั้งใจทำ ไม่ละเลย เรียกว่าสัมปชัญญะ

 

สัมปชัญญะ รู้ว่าอะไรเหมาะกับตัวเอง

เคยได้ยินคำว่าสัมปชัญญะไหม สติกับสัมปชัญญะเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก ถ้ามีสติแต่ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่รู้ว่าอะไรควรแก่ตัวเอง ก็ยังใช้ไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องสังเกตตัวเอง กระทั่งเรื่องการทำสมาธิ บางคนอยากนั่งสมาธิ เห็นคนอื่นเขานั่งก็นั่งบ้าง หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ อะไรก็ตามเขาไป จิตไม่รวม จิตไม่ชอบแบบนั้น จิตชอบอย่างอื่น หรือบางคนร่างกายไม่เหมาะกับกรรมฐานแบบนี้ เห็นคนอื่นทำแล้วได้ดี อยากทำบ้างก็ทำไม่ได้

ยกตัวอย่างพระอาจารย์อ๊า พระอาจารย์อ๊าเวลามาเทศน์ ชอบเอาเรื่องหลวงพ่อมาเล่า วันนี้หลวงพ่อขอแก้แค้นสักครั้งเถอะ พระอาจารย์อ๊ากับหลวงพ่อ นี่ลูกศิษย์ก้นกุฏิเลย อยู่ในกุฏิหลวงพ่อ วันๆ อยู่ในกุฏิหลวงพ่อหลายชั่วโมง รู้ว่าหลวงพ่อทำอานาปานสติ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แต่อาจารย์อ๊าทำอานาปานสติไม่ได้ เพราะเป็นโรคจมูกตัน หายใจไม่ค่อยออก พระอาจารย์อ๊าก็ เอ๊ะ เอาแบบหลวงพ่อไม่ได้ผลเพราะหายใจไม่ออก พระอาจารย์อ๊าเลยใช้วิธีเคลื่อนไหวแล้วรู้สึก ขยับ รู้สึก ขยับ รู้สึก เดินไปก็รู้สึก กวาดวัดก็รู้สึก ฉันอาหารก็รู้สึก เคลื่อนไหวแล้วรู้สึกๆ อย่างนี้เขาเรียกว่ามีสัมปชัญญะ มีปัญญารู้ว่ากรรมฐานอะไรเหมาะกับตัวเองแล้วก็ไม่ละเลย ทำ แต่ละคนไม่เหมือนกัน

หลวงพ่อทำอานาปานสติตั้งแต่เด็ก มีวันหนึ่งไปเยี่ยมญาติที่ศิริราช ตอนนั้นคนไข้เยอะ ก็เห็นพระองค์หนึ่งมานอนอยู่บนทางเดิน นอนบนเปลที่มีล้อเข็นได้ ห้องไม่ว่าง เขาเอาพระมานอนเข็น ใส่สายน้ำเกลือใส่อะไรอยู่ บนทางเดินนั่นล่ะ หน้าตาท่านผ่องใส ใสๆ หลวงพ่อเห็น เดินผ่านทีแรกไม่เห็น พอเดินผ่านแล้วอะไร หันไปดู โอ้ งามมาก ก็เลยเข้าไปคุยกับท่าน หลวงพ่อ หลวงพ่อภาวนาอย่างไร ท่านบอกท่านพุทโธ แล้วโยมล่ะภาวนาอย่างไร บอกผมหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ท่านบอกว่าเคยคิดไหมว่าวันหนึ่งเกิดหายใจไม่ออก จะทำกรรมฐานอย่างไร

ท่านตั้งโจทย์ให้เราคิดเหมือนกัน เพราะว่าเราตอนนั้นทำอย่างเดียวเลย ทำอานาปานสติ หายใจแล้วสบาย สงบ พอตอนท่านถามว่าถ้าเกิดวันหนึ่งถูกใส่ท่อใส่อะไรเข้าไปแล้ว หายใจไม่ได้ แล้วจะภาวนาอย่างไร พอได้ประเด็นนี้มา หลวงพ่อก็เลยภาวนาหลากหลายเลย ทำอย่างโน้นก็ทำ ทำอย่างนี้ก็ทำ แต่ก่อนจะถึงจุดนี้พวกเราต้องทำอันหนึ่งให้ได้ก่อน

ถ้าเราทำอย่างหลวงพ่อทำอานาปานสติ ทำแล้วจิตรวม พอเราย้ายไปทำอย่างอื่นมันก็รวมเหมือนกัน ฉะนั้นเบื้องต้นเอาอันเดียวก่อน พอได้อันหนึ่งชำนิชำนาญแล้ว ค่อยเขยิบไปลองอย่างอื่นดูได้ แต่ถ้าเปลี่ยนรายวัน วันนี้ทำอันนี้ๆ ชาตินี้ไม่ได้ผลหรอก การภาวนาเราดูตัวเอง อะไรที่เหมาะกับตัวเราเราก็เอาอันนั้นล่ะ แล้วเราก็ไม่เลิก ทำตลอดเวลาเท่าที่ทำได้

หลวงพ่อไปกราบครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง แล้วพระอุปัฏฐากเห็นหน้าหลวงพ่อ ท่านจะดีใจ ท่านจะรีบให้หลวงพ่อไปนั่งรอก่อนเลย ให้โยมทั่วๆ ไปเข้าไปกราบครูบาอาจารย์ กราบแล้วออกๆ ไปเลย พอโยมออกหมด ปิดประตู ปิดประตูศาลา ปิดประตูมณฑป หลวงพ่อก็ส่งการบ้านครูบาอาจารย์ ท่านก็นั่งฟัง พอส่งการบ้านเสร็จแล้วก็แยกย้าย ตอนเย็นไปเจอท่านเดินอยู่ข้างนอกมณฑป ท่านถามว่าโยมทำได้อย่างไร โยมภาวนาปีหนึ่ง ปีหนึ่งหลวงพ่อไปกราบหลวงปู่องค์นี้ครั้งหนึ่ง ท่านก็จำได้ โยมทำอย่างไรปีหนึ่งเหมือนพระทำ 10 ปี 20 ปี ยังไม่ได้อย่างนี้เลย หลวงพ่อบอกท่าน ผมทำตลอดเวลา ผมทำตลอดเลย ตั้งแต่ตื่นจนหลับคือการปฏิบัติ ยกเว้นเวลาทำงานที่ต้องคิด

พวกเราทำอย่างหลวงพ่อให้ได้การปฏิบัติไม่ได้เลือกว่าวันหนึ่งจะทำ 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง ถ้าเรายังคิดว่าการปฏิบัติคือทำวันละชั่วโมง หรือทำวันละ 2 ชั่วโมง หรือทำวันละ 6 ชั่วโมง เรายังประมาทมากเลย ย่อหย่อนมากเกินไป ทำอย่างไรเราจะสามารถปฏิบัติได้ทั้งวัน ยกเว้นตอนที่ทำงานที่ต้องคิด ตอนที่ทำงานที่ต้องคิด สติก็ไปจดจ่อที่งาน สมาธิก็จดจ่ออยู่กับงาน ปัญญาก็คิดเรื่องงาน ขณะนั้นไม่ได้รู้กายไม่ได้รู้ใจ เพราะฉะนั้นขณะนั้นทำกรรมฐานไม่ได้ แต่ถ้าเราเคยฝึกที่จะเจริญสติในชีวิตประจำวันได้ เราถึงจะปฏิบัติได้ทั้งวัน ถ้าหากเก่งเฉพาะตอนทำกรรมฐานในห้องกรรมฐาน แต่ยังปฏิบัติในชีวิตประจำวันไม่เป็น ยังห่างไกล

 

ทำสมาธิเนิ่นช้า คิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน

หลวงปู่มั่นท่านเคยสอน หลวงพ่อไม่ทันหลวงปู่มั่นหรอก ท่านมรณภาพปี 2492 หลวงพ่อเกิด 2495 ไม่ทันท่าน แต่ลูกศิษย์ท่านหลวงพ่อเข้าไปเรียนด้วยจำนวนมาก องค์หนึ่งคือหลวงปู่สุวัจน์ สุวัจโจ หลวงปู่สุวัจน์ก็เล่าให้ฟังว่าหลวงปู่มั่นสอนท่านบอก “ทำสมาธิมากเนิ่นช้า คิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติ คือการมีสติในชีวิตประจำวัน” ท่านสอนอย่างนี้

ฉะนั้นอย่างเราจะนั่งสมาธิที 10 ชั่วโมง แล้วก็นิ่งๆ ว่างๆ อะไรอย่างนี้ ท่านบอกเนิ่นช้า มันช้าระดับไหน ถ้าเราเข้าฌานละเอียดจนถึงอรูปฌาน มันเนิ่นช้านับเป็นหมื่นๆ กัป ตายแล้วไปเป็นอรูปพรหมอย่างนี้ ไม่รู้จะภาวนาอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสรู้กี่องค์ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นทำสมาธิมากเนิ่นช้า ยิ่งได้ถึงชั้นพรหมอย่างละเอียด อรูปพรหมอะไรนี่ มันพัฒนายากเลย

แล้วท่านบอกว่าคิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน บางคนไม่ทำสมาธิเลย คิดพิจารณา อย่างคิดถึงร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นของไม่สวยไม่งาม เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเรา แล้วก็เพลิดเพลินอยู่กับการคิด เวลาเราคิดพิจารณา ถึงจุดหนึ่งจิตใจจะมีความสุขๆ มีความสงบเกิดขึ้น อันนี้ใครเคยทำไหม เราพิจารณาธรรมะอะไรสักบทหนึ่ง พอเราเข้าใจธรรมะอันนั้นจิตใจรวมเลย จิตใจมีความสุข ฉะนั้นตรงที่คิดพิจารณายังเป็นการทำสมถะ ยังไม่ใช่วิปัสสนา เพราะยังคิดอยู่ ตราบใดที่ยังคิดอยู่ ไม่ใช่วิปัสสนา

วิปัสสนาต้องเห็น เห็นอะไร เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกาย เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตใจถึงจะเป็นวิปัสสนาถ้ายังคิดอยู่ไม่ใช่ ฉะนั้นถ้าคิดมากๆ คิดไปจนกระทั่งกำลังของจิตหมด มันจะเริ่มฟุ้งซ่าน ฟุ้งอย่างไร ฟุ้งในธรรมะ เคยเจอไหม บางคนพอเห็นหน้าใครก็จะพูดธรรมะอย่างเดียวเลย แล้วพูดธรรมะแล้วก็เบรกตัวเองไม่ได้ พูดๆๆ หลวงพ่อเคยเจอพระ เคยเจอท่านก็เป็นผู้ใหญ่ ก็ไม่เคยรู้จัก ได้ยินแต่ชื่อ เข้าไปกราบ พอเข้าไปกราบ ท่านก็พูดธรรมะเลย ท่านพูดแล้วก็เร็วขึ้นๆๆ ลูกศิษย์ท่านก็ออกมานั่งอยู่ข้างหลัง มายืนรออยู่ข้างหลัง ท่านพูดๆๆ ไป ท่านช็อก หงายหลังไปเลย ไม่สามารถคุมตัวเองได้ จิตมันพูดธรรมะแล้วมันพุ่งทะยาน เอาไม่อยู่เลย

เคยไปที่วัดแห่งหนึ่ง ไปกราบศพพระผู้เฒ่าองค์หนึ่ง มีพระองค์หนึ่งท่านไปเฝ้าอยู่ที่ศาลาที่ตั้งศพ องค์นี้ทำให้คนเขาไม่เข้าวัด เขากลัวเลย พอเจอหน้าใคร ไม่รู้เลยเรื่องอะไร ไม่สนใจใครจะมาทำอะไร จะสอนอย่างเดียวเลย พูดๆ พูดๆ ธรรมะ ไม่มีสติ ฟุ้งซ่านในธรรมะ เพราะฉะนั้นการที่จะคิดพิจารณาธรรมะอะไรให้แตกฉานมากมาย ต้องมีเบรกของตัวเอง ต้องรู้จักควบคุมจิตใจให้อยู่ มิฉะนั้นพูดธรรมะไปแล้วเบรกตัวเองไม่ได้ เหมือนคนบ้า มันเป็นวิปัสสนูปกิเลสชนิดหนึ่ง

เพราะฉะนั้นท่านถึงบอกว่าทำสมาธิมาก ทำจิตให้ว่างๆ อยู่ เนิ่นช้า คิดพิจารณามาก ฟุ้งซ่านๆ ไป ถ้าคิดพิจารณาพอดี จิตรวมได้ จิตสงบได้ แต่ถ้าคิดมากไป คิดพิจารณามาก ก็ฟุ้งซ่าน คิดพิจารณาพอดี ดี ไม่ใช่ไม่ดี ทำสมาธิดี แต่ทำสมาธิมากเกินไป เนิ่นช้า หัวใจสำคัญของการปฏิบัติ ท่านบอกว่าอยู่ที่การเจริญสติในชีวิตประจำวัน หลายคนบอกว่า ไม่ได้นั่งสมาธิ ไม่ได้เดินจงกรม แต่เจริญสติในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลา หลวงพ่อมองหน้าแล้ว เอ็งไม่ได้เจริญสติในชีวิตประจำวันหรอก เอ็งฟุ้งซ่านอยู่แต่ไม่เห็น

 

ฝึกในรูปแบบสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

การเจริญสติในชีวิตประจำวันทำอย่างไร เราต้องฝึกมาอย่างดี ขณะที่เราทำในรูปแบบ เราลดอายตนะลง อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลาเราทำในรูปแบบของเรา เราตัดเรื่องรูป เราก็ไม่ไปดูอะไร เสียง เราก็ไม่ได้คิดจะไปฟังอะไร กลิ่น เราก็ไม่คิดจะไปดมอะไร ปากเรา ลิ้นเราก็ไม่ได้คิดจะไปกินอาหารอะไร มันเหลืออายตนะ 2 ตัว คือกายกับใจ อย่างเรานั่งสมาธิอยู่หรือเราเดินจงกรมอยู่ เราก็มีกายกับมีใจ ให้มันมี 2 อย่างนี้ ให้มันมีกายกับใจ ร่างกายเดิน ใจเป็นคนดู ร่างกายนั่ง ใจเป็นคนดู ร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดู ฝึกอย่างนี้

พอเราลดอายตนะลง แล้วเราค่อยสังเกต การสังเกตเราสังเกตที่ไหน ถ้าเราต้องการทำความสงบ ให้เราใส่ใจไปที่อารมณ์กรรมฐาน อย่างหลวงพ่อ ถ้าต้องการทำความสงบ จะใส่ใจไปที่ตัวอารมณ์ คือสิ่งที่ถูกรู้ ได้แก่ลมหายใจ ไปอยู่กับลมหายใจ ลมหายใจเป็นตัวหลัก จิตก็จะสงบ แล้วสมาธิอีกชนิดหนึ่งไม่ได้ใส่ใจที่ตัวอารมณ์ แต่ใส่ใจที่ตัวจิต เวลาเราทำรูปแบบ เราทำ 2 อย่างนี้ล่ะ

ตอนวันไหนฟุ้งซ่านมาก เราก็ให้จิตมันไปพักอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตก็ได้ความสงบ จิตที่สงบจะมีกำลัง แต่วันใดเราทำในรูปแบบ จิตเรามีแรงแล้ว อย่าไปสงบอยู่เฉยๆ ให้โง่ เสียเวลา เราทำสมาธิอีกอย่างหนึ่ง ใช้จิตเป็นตัวหลัก ถ้าอยากสงบ ใช้อารมณ์เป็นตัวหลัก เช่น อยู่กับพุทโธๆ ไม่คิดเรื่องอื่น คอยอยู่แต่กับพุทโธอย่างเดียว จิตก็สงบ แต่ถ้าอยากให้จิตตั้งมั่นตอนที่จิตเราไปพุทโธๆ จิตเราไหลไปอยู่ที่พุทโธแล้วไม่หนีไปที่อื่น อันนั้นจิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง เป็นหลักของสมาธิชนิดสงบ

ถ้าเราเปลี่ยนมุมมอง ไม่ได้มองไปที่ตัวอารมณ์ แต่เราสังเกตที่ตัวจิต อย่าไปเพ่งตัวจิต แค่รู้สึกถึงจิตใจของตัวเองไว้ อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอย่างนี้ จิตเราหนีไปคิด โอ้ รู้ทันว่าจิตหนีไปคิด เราไม่ได้สนใจว่าจะต้องให้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว แต่ว่าเราสังเกตที่จิตเรา หายใจไป จิตหนีไปคิด รู้ว่าหนีไปคิด จิตถลำลงไปเพ่งอารมณ์อันเดียว รู้ว่าจิตถลำลงไปเพ่ง ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไปเราจะรู้เท่าทันจิตตัวเอง จิตหนีไปทางไหนเรารู้หมดเลย จิตไหลไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งก็รู้ จิตไปอดีตไปอนาคต รู้หมด ตรงที่รู้ตัวนี้ล่ะ การที่เรารู้เท่าทันจิตตนเองนี้ล่ะ คือจุดสำคัญที่ว่าเราจะปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้หรือไม่

การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เดินอยู่ริมถนนก็กำหนดยกหนอย่างหนอให้รถเหยียบ ไม่ใช่ การเจริญสติในชีวิตประจำวัน มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัสทางกาย มีใจก็ยังคิดนึกได้ แต่ทุกครั้งที่มีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเกิดปฏิกิริยาขึ้นที่จิต จิตจะกระเพื่อมหวั่นไหว เป็นความสุขบ้าง เป็นความทุกข์บ้าง เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง หลงไปคิดบ้าง หลงไปดูบ้าง หลงไปฟังบ้าง จิตจะทำงาน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตภายหลังการกระทบอารมณ์จะมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ อันหนึ่งคือเรื่องความรู้สึก มีความรู้สึก อย่างเราเห็นผู้หญิงสวย ใจเราเกิดราคะ เราเห็นดอกไม้สวย รู้สึกมีความสุข หรืออากาศเย็นๆ รู้สึกมีความสุข ความสุขที่เกิดขึ้นในใจ เรามีสติรู้ อะไรเกิดขึ้นในจิตใจเรา ความรู้สึกสุขเกิดขึ้น เรารู้ ความรู้สึกทุกข์เกิดขึ้น เรารู้ กุศลเกิดขึ้น เรารู้ อกุศลเกิดขึ้น เรารู้ นี่อย่างหนึ่ง รู้ความรู้สึก

อีกอันหนึ่ง รู้พฤติกรรมของจิต จิตของเราไม่เคยอยู่นิ่ง เดี๋ยวก็ไปทางตา เดี๋ยวก็ไปทางหู ไปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ พระพุทธเจ้าเคยสอนว่าจิตเกิดดับอย่างรวดเร็วเลย ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน จิตนี้เที่ยวไปรวดเร็ว ที่เที่ยวของจิตก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง เที่ยวไปทางตา คือเที่ยวไปดูรูป เที่ยวไปทางหู ก็เที่ยวไปฟังเสียง เที่ยวไปทางจมูก ก็เที่ยวไปดมกลิ่น เที่ยวไปที่ลิ้น ก็เที่ยวไปรู้รส เที่ยวไปทางร่างกายก็รู้สัมผัสทางกาย เที่ยวไปทางใจก็ไปรู้ธรรมารมณ์ทั้งหลาย เช่น เรื่องราวที่คิด จิตมันเที่ยวเก่ง

ถ้าเราฝึก นอกจากเราจะรู้ทันว่าตอนนี้มีความรู้สึกสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่วแล้ว เรายังได้เห็นพฤติกรรมของจิตด้วย จะเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิตก็ใช้ได้จะเห็นพฤติกรรมของจิตที่เกิดดับทางทวารทั้ง 6 ก็ใช้ได้ เราดูจิต เราจะดูกันอย่างนี้

ทีนี้เราต้องมาทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานแล้วคอยรู้เท่าทันจิตตัวเอง อย่างเรานั่งกรรมฐานไปนานๆ แล้วเกิดร้อน ในห้องเราร้อน เหงื่อตก ใจเราหงุดหงิด เราก็รู้ ความหงุดหงิดเกิดขึ้นแล้ว รู้ทัน กำลังร้อนๆ อยู่มีลมโชยเข้ามาเย็นสบาย รู้สึกมีความสุข เราก็รู้ว่าจิตมีความสุข หัด หัดจริงๆ หรือเรานั่งสมาธิ นั่งอยู่อย่างนี้ จิตฟุ้งซ่านไม่ยอมรวมเลย เราหงุดหงิด หงุดหงิดเรารู้ทันว่าจิตหงุดหงิด นั่งสมาธิไป จิตรวมสบาย มีความสุข รู้ว่าจิตมีความสุข รู้ว่าชอบที่จิตรวม รู้ว่าชอบที่จิตมีความสุข

การทำในรูปแบบ เราจะมาหัดรู้เท่าทันจิต คือรู้ทันความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิตกับรู้ทันพฤติกรรมของจิต พฤติกรรมของจิต เช่น เรานั่งหายใจเข้าพุท หายใจออกโธดีๆ หนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว จิตมันหลงไปทางใจ หลงไปคิดแล้ว หัดรู้พฤติกรรมของจิต ตอนที่เราทำในรูปแบบ แล้วเรามาหัดรู้จิตใจตัวเอง จิตเราจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นคนดูด้วย จะเป็นคนดู แล้วจะเห็นเลยว่าความสุข ความทุกข์ กุศล อกุศลอะไร เป็นของถูกรู้ถูกดูไม่ใช่จิต ตัวจิตเองที่ไปเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นของไม่เที่ยงแล้วก็เป็นของที่บังคับไม่ได้

 

การที่จะเจริญสติในชีวิตประจำวันได้ ต้องมีสติรู้เท่าทันจิตตนเอง

พอเราฝึกในรูปแบบชำนิชำนาญ เราก็ออกมาสู้กับโลกข้างนอกได้ คล้ายๆ เราซ้อมมวยมาดีแล้วถึงเวลาเราก็ขึ้นสังเวียนชกเสียที ซ้อมเก่งอย่างเดียวแล้วไม่เคยขึ้นชก ไม่ได้แชมป์ เหมือนเก่งแต่ในห้องกรรมฐาน ออกมาข้างนอกแล้วล้มเหลว ไม่ได้แชมป์ คือไม่ได้มรรคผลอะไรหรอก ฉะนั้นเราต้องฝึกในห้องกรรมฐานของเราให้ดีก่อน ฝึก 2 อย่าง จำได้ไหม วันไหนจิตฟุ้งซ่าน น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ใช้อารมณ์เป็นตัวหลัก จิตจะได้พักผ่อน มีแรง ถ้าจิตมีแรงแล้ว ใช้จิตเป็นตัวหลัก ทำกรรมฐานไปแล้วจิตเราสุข ทุกข์ ดี ชั่วให้รู้ทัน จิตไปคิด ไปนึก ไปปรุง ไปแต่งอะไร รู้ทัน

พอเราชำนิชำนาญในการอ่านจิตตนเองได้แล้ว พอเรามาอยู่ในชีวิตจริง เราไม่ได้ใช้อายตนะแค่กายกับใจ แต่เราใช้ 6 อายตนะเลย เวลาอยู่ในชีวิตจริง มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใช้มันทุกอันเลย แล้วไม่ได้เจตนาว่าจะใช้อันไหน จิตมันเลือกใช้ของมันเอง บางทีมันก็ดู บางทีมันก็ฟัง บางทีมันก็ไปดมกลิ่น บางทีก็ไปรู้รส บางทีก็รู้สัมผัสทางกาย บางทีก็ไปคิดนึกทางใจ จิตทำงานของเขาเอง เราคอยรู้ทันไปเรื่อยๆ ตากระทบรูป เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต มีสติรู้ทัน หูได้ยินเสียง เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต มีสติรู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต มีสติรู้ทัน ใจกระทบความคิด เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต มีสติรู้ทัน

เห็นไหม จะอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่พอตาเห็นรูปก็กำหนด เห็นหนอๆ นั่นมันสมถะทั้งหมดเลย ไปกำหนด ไปบริกรรม หรือหูได้ยินเสียง ก็ได้ยินหนอๆ มันยังไม่ใช่วิปัสสนาหรอก แล้วไม่ใช่การเจริญสติในชีวิตประจำวันด้วย จะข้ามถนนก็เดิน โอ๊ย ยกเท้า ย่างเท้า รถเหยียบแล้ว ยังไม่ทันจะถึงฝั่งเลย อันนั้นไม่ใช่การเจริญสติในชีวิตประจำวัน การเจริญสติในชีวิตประจำวันใช้ชีวิตอย่างนี้ล่ะ แต่อ่านใจตัวเองให้ออก มีตาก็เห็นรูป มีหูก็ได้ยินเสียง มีจมูกก็ได้กลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัส มีใจก็ไม่ได้ห้ามมัน มันจะคิด จะนึก จะปรุง จะแต่ง จะดี จะชั่ว จะสุข จะทุกข์อะไร ไม่ห้าม แต่มีสติรู้ทัน

เพราะฉะนั้นการที่จะเจริญสติในชีวิตประจำวันได้ ต้องมีสติรู้เท่าทันจิตตนเอง จิตสุขเกิดขึ้นภายหลังการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ก็รู้ จิตทุกข์เกิดขึ้นภายหลังการกระทบอารมณ์ก็รู้ จิตเป็นกุศลภายหลังการกระทบอารมณ์ก็รู้ จิตเป็นอกุศลภายหลังการกระทบอารมณ์ก็รู้ จิตมีพฤติกรรมหลงไปในอดีต หลงไปในอนาคตก็รู้ จิตมีพฤติกรรมถลำลงไปเพ่ง เพ่งลมหายใจ เพ่งมือ เพ่งเท้า เพ่งท้อง รู้ว่าจิตมีพฤติกรรมถลำลงไปเพ่ง จิตมีพฤติกรรมหนีไปคิด รู้ ต้องรู้เท่าทันจิตถึงจะเจริญสติในชีวิตประจำวันได้ ถ้ารู้เท่าทันจิตไม่ได้ยังเจริญสติในชีวิตประจำวันไม่ได้จริงหรอก ได้แต่ทำอัตตกิลมถานุโยค คือบังคับตัวเองไปเรื่อยๆ ตลอดวันแล้วบอกได้ปฏิบัติทั้งวัน ไม่ได้ปฏิบัติหรอก

ที่หลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อฝึกมาอย่างนี้เลย ฝึกอ่านจิตตัวเองเลย ตื่นนอนมา ตอนที่จิตจะขึ้นจากภวังค์ ถ้าไปดูกระบวนการที่ตื่นนอน จิตมันขึ้นจากภวังค์ก่อน แล้วมันยังไม่รู้ว่าจะไปรู้อารมณ์อะไร มันขึ้นมาก่อนแล้วก็เกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา แล้วอีกช็อตหนึ่งมันจะขยายความรู้สึก เข้ามากระทบร่างกาย ก็จะพบร่างกายนอนอยู่ในท่าไหน นอนอ้าปาก หรือนอนพลิกซ้าย พลิกขวา ตะแคงซ้าย ตะแคงขวา มันจะเห็นทันทีเลย

เพราะฉะนั้นเวลาเราฝึกให้ดีตั้งแต่จิตขึ้นจากภวังค์มา เรารู้แล้ว พอขึ้นมา ถ้าไปกระทบความคิด ถ้าขึ้นมาเฉยๆ ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ต้องไปมีผัสสะก่อน เกิดขึ้นมา เรานึกได้ วันนี้วันจันทร์ พอนึกได้ว่าวันนี้วันจันทร์ เฮ้อ เซ็ง ถึงเวลาต้องเบียดเสียดกับผู้คน เดินทางไปทำงานอีกแล้ว ใจมันเบื่อ ใจมันเบื่อหน่าย รู้สึกเซ็ง สติระลึกทันทีเลย ใจเบื่อแล้ว แค่ตื่นนอนๆ แล้วพอนึกได้ว่าวันนี้วันจันทร์ เบื่อแล้ว พอนึกได้ว่าวันนี้วันพฤหัสบดี มีความสุข พอถึงวันศุกร์กระดี๊กระด๊าแล้ว ใครเป็นบ้างไหม อ่านตัวเองได้ไหมตรงนี้ ยากเกินไปไหมที่จะอ่าน ไม่ยากหรอก ถ้ายากหลวงพ่อทำไม่ได้หรอก

หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่งหรอก แต่หลวงพ่อเป็นคนที่อดทน สังเกตเอาๆ ไม่ยอมเชื่อง่าย เพราะฉะนั้นสายมูกับหลวงพ่อคนละโยชน์เลย เพราะหลวงพ่อเป็นคนที่ไม่เชื่อ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ หรอก แต่สายมูในเมืองไทยเยอะ เขาสำรวจมา ไม่รู้สำรวจแบบไหน บอกคนไทยเป็นสายมู 74 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นสายไม่มู สายไม่มูก็อาจจะไม่ใช่พุทธก็ได้ เป็นสายอย่างอื่น

 

ตั้งแต่ตื่นจนหลับคือการปฏิบัติ ยกเว้นเวลาทำงานที่ต้องคิด

สังเกตดูตื่นนอนมาจิตเราเป็นอย่างไร ร่างกายเราเป็นอย่างไร รู้สึก ลุกขึ้นมาต้องไปอาบน้ำ หน้าหนาวอย่างนี้จะต้องอาบน้ำตอนเช้า ใจสยอง สมัยโบราณไม่ได้มีน้ำร้อนอะไรหรอก เครื่องทำน้ำอุ่นน้ำร้อนไม่มี มีแต่น้ำในตุ่ม พวกเราใครเคยอาบน้ำในตุ่ม ยกมือให้หลวงพ่อดูสิ แก่ เชื่อไหม แก่ เด็กเดี๋ยวนี้ไม่เป็นแล้ว เวลาเราหนาวๆ เราเห็นน้ำในตุ่ม กลัว สยอง ขันที่หนึ่งน่ากลัวที่สุด พอถึงขันที่สิบเริ่มไม่กลัวแล้ว ขันสุดท้ายดีใจ เสร็จแล้วเช็ดตัว จากสยองจนกระทั่งเฉยๆ พอเช็ดตัวร่างกายอบอุ่น มีความสุขแล้ว ยินดีพอใจแล้ว

เห็นไหม จิตเปลี่ยนอย่างนี้เลย แค่การอาบน้ำ จิตยังเปลี่ยนไปตั้งเยอะเลย ก่อนจะอาบ ตามองเห็นตุ่มน้ำในฤดูหนาว ใจสยอง อาบๆ ด้วยความกลัว สยดสยอง อาบไปๆ ใกล้จะเสร็จแล้วก็เริ่มดีใจ พออาบเสร็จ เช็ดตัวแห้งแล้ว ใส่เสื้อผ้าตัวอุ่นเชียว หนาวๆ เวลาอาบน้ำเสร็จแล้วตัวอุ่นรู้สึกไหม มีความสุขไหม มีความสุข อ่านได้ ใจตอนนี้มีความสุข

เวลาหลวงพ่อกินข้าว ตอนนั้นยังเป็นโยมอยู่ เราก็เดินร้านอาหารในที่ทำงาน มีหลายร้าน เดินไปๆ เห็นเจ้านี้ เหมือนเมื่อวาน นี่ก็เหมือนเมื่อวาน ที่จริงคือเหมือนทั้งปีล่ะ มันเคยขายอะไรมันก็ขายอย่างเดิมล่ะ ไม่เคยขายอย่างอื่นหรอก เห็นแล้วก็เอียน เบื่อๆๆ ไป เบื่อจนไม่มีทางเลือกแล้ว อันนี้ก็แล้วกัน คำที่หนี่ง อันนี้เป็นของที่เราชอบที่สุดแล้วเท่าที่มี คำที่หนึ่ง แหม อร่อย พอคำต่อไปๆ ความรู้สึกชอบอกชอบใจจะลดดีกรีลง

อย่าว่าแต่กินข้าวเลย สมมติว่าถ้าเราชอบกินทุเรียน ชอบทุเรียนหมอนทองมาก แล้วมีเยอะเลย มีเป็นถาดเลย คำแรกอร่อยที่สุดเลย ชอบใจมากที่สุด คำที่ยี่สิบจะอ้วกแล้ว ไม่อร่อยแล้ว ความรู้สึกมันเปลี่ยน ดีกรีมันเปลี่ยนไปเรื่อย จากชอบกลายเป็นไม่ชอบ จากไม่ชอบกลายเป็นชอบ มันเปลี่ยนตลอดเวลา

เรามีสติตามรู้ตามเห็นไป คือกินข้าวก็ปฏิบัติได้ อาบน้ำก็ปฏิบัติได้ จะขับถ่ายก็ปฏิบัติได้ วันนี้ท้องผูก สบายใจไหมท้องผูก ไม่สบายใจ ท้องผูกแล้วเกิดถ่ายได้ ดีใจไหม ดีใจ เห็นไหม หัดอ่านไปเลย มันยากที่ไหน หรือเราขับรถอยู่ รถติด เห็นรถเยอะๆ รถติดไฟแดง ของเราคันที่ยี่สิบ ยอมรับได้ ถ้าเราติดคันที่หนึ่ง เจ็บที่สุดเลย รู้สึกไหม ถ้าขับรถไปติดคันแรก โอ๊ย เจ็บปวดๆ มาก โมโหคันที่มันหลุดไป เสือกวิ่งช้า ทำให้เราตามไม่ทัน ไปโน่นแล้ว

เป็นใช่ไหม เออ นี่ล่ะกรรมฐานเข้าใจไหม กรรมฐานไม่ใช่หลับหูหลับตาอะไร อย่างนี้ล่ะคือตัวกรรมฐานตัวจริงที่ว่าการเจริญสติในชีวิตประจำวัน แค่เห็นไฟเขียวก็ดีใจแล้ว เห็นไฟเขียวแล้วเราเป็นคนที่ห้าสิบ จะได้ไม่ได้ จะผ่านไม่ผ่าน เคยรู้สึกไหม อ้อ พอใกล้ๆ หืย ข้างหน้าเร็วๆ เร็วๆ พอไฟเหลืองรีบหนีเลย รีบไปเลย นี่การเจริญสติในชีวิตประจำวัน ฝึกให้ดี ถ้าเราทำได้ วันหนึ่งๆ เรามีชั่วโมงของการปฏิบัติมากมายเหลือเกิน มีชั่วโมงปฏิบัติเยอะมากเลย มันมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งสำหรับพวกที่อยู่ออฟฟิศ ก็คือวันหนึ่งๆ ที่บอกว่า โอ๊ย ทำงาน 10 ชั่วโมง 12 ชั่วโมง เวลาที่ทำงานจริง 4 ชั่วโมง เวลาที่เหลือไว้ใจลอย คิดโน่นคิดนี่ ไม่เกี่ยวกับงาน เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ถ้าเราไม่เอาเวลาไปใจลอยเสีย วันหนึ่งๆ เรามีเวลาภาวนาเยอะมากเลย เวลาที่ต้องคิดงาน 4 ชั่วโมง

เขาจ้างมาทำงาน เขาไม่ได้จ้างมาปฏิบัติ เมื่อก่อนหลวงพ่อรู้จักผู้หญิงคนหนึ่ง เขามาขอให้หลวงพ่อช่วยผลักดันให้เป็นหัวหน้ากอง แกเป็นผู้อำนวยการกอง หลวงพ่อบอกว่าหลวงพ่อยังผลักดันไม่ได้ ไปทำงานก่อน ถ้าทำงานนึกไม่ออกว่าจะทำอะไร เดี๋ยวจะช่วยคิดโพรเจกต์ให้ทำ โอ๊ย โมโหเรา คนอะไรใจร้าย เขาจะปฏิบัติ จะมาหางานให้ทำ บอกก็เขาจ้างมาทำงาน เขาไม่ได้จ้างมาปฏิบัติ เรียกไม่รู้หน้าที่ ไม่รู้หน้าที่ก็คือคอร์รัปชั่นๆ

 

อ่านพฤติกรรมจิตใจตัวเองชำนาญ
แล้วการปฏิบัติในชีวิตประจำวันจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ยากสำหรับคนทั่วไปที่อ่านจิตตัวเองไม่ออก ไม่ยากเลยสำหรับคนที่อ่านจิตตัวเองออก วิธีที่เราจะอ่านจิตตัวเองได้ออกรวดเร็ว ก็คือทำในรูปแบบนี่ล่ะ แล้วคอยอ่านจิตตัวเอง ไปทำกรรมฐานที่เราถนัดสักอย่างหนึ่ง ถ้าอยากสงบก็น้อมจิตไปอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ไม่วอกแวกไปที่อื่น อันนี้สงบ ถ้าอยากจะเจริญปัญญาได้ให้จิตตั้งมั่น สังเกตที่จิตตัวเอง แต่อย่าไปจ้องมัน จิตถ้าไปจ้องมัน มันนิ่งๆ เลย มันไม่ให้ดูหรอกว่ามันทำอะไร ว่างๆ ไป

ถ้าเราอยากฝึก เราก็อ่านจิตตัวเองไป เราทำกรรมฐาน วันนี้จิตฟุ้งซ่าน เราก็หงุดหงิด จิตไม่สงบเลย เราก็หงุดหงิด รู้ว่าหงุดหงิด หัดอ่านตัวเองไป วันนี้จิตสงบ แหม สบาย มีความสุข รู้ว่ามีความสุข รู้ว่าชอบอกชอบใจ ติดอกติดใจในความสุข หัดอ่านอย่างนี้ นั่งสมาธิ เดินจงกรม จิตหนีไปคิด รู้ว่าจิตหนีไปแล้ว อันนี้พฤติกรรมที่ไม่ดี พฤติกรรมของจิตที่หนีไปแล้ว หัดอ่านไป อ่านความรู้สึกกับอ่านพฤติกรรมของจิตใจตัวเอง

พอเราอ่านตัวนี้ได้ชำนาญ การปฏิบัติในชีวิตประจำวันจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ไม่ใช่อัตตกิลมถานุโยค เห็นไหมเราไม่ได้บังคับตัวเองเลย มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง ไม่ใช่เดินก้มหน้า ดูไส้เดือน กิ้งกืออย่างเดียวที่ไหนล่ะ อยู่ตรงไหน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ ไม่เป็นไร แต่กระทบแล้ว เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต มีสติรู้ทันไว้ นี่ล่ะแค่นี้ มันจะยากอะไรนักหนา แล้วพอเราดูอย่างนี้ทั้งวัน จิตเราจะเริ่มมีแรง มีกำลัง เพราะมันมีสติเป็นระยะๆๆ ไปเรื่อย

เวลาที่เราเจริญสติไปเรื่อยๆ บางทีจิตก็พลิกตัวรวมเข้าไปนิ่งว่างๆ สงบ สงบชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็ถอยออกมา มารู้ความเปลี่ยนแปลงตอนกระทบอารมณ์ต่อ รู้ความเปลี่ยนแปลงตอนกระทบอารมณ์ไปช่วงหนึ่ง จิตก็พลิกกลับมาทำความสงบของจิตเอง มันพลิกไปพลิกมาระหว่างสมาธิชนิดสงบกับสมาธิตั้งมั่นแล้วเดินปัญญา ไม่มีใครหรอกที่เจริญปัญญาทีละหลายๆ ชั่วโมง ไม่มีหรอก จิตมันพลิกไปพลิกมาอย่างนั้นตลอดล่ะ เวลาเจริญปัญญาจริงๆ ไม่มากหรอก แต่ขอให้จิตเราถูกต้องเท่านั้น

แล้วพอเจริญปัญญา บางทีไม่ทันจะตั้งใจดู ไม่ทันตั้งใจเจริญปัญญา มันเกิดสติระลึกปั๊บ จิตมันตั้งมั่นอยู่ เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมาเลย กายนี้เป็นไตรลักษณ์ ร่างกายเป็นไตรลักษณ์ จิตใจเป็นไตรลักษณ์อะไรอย่างนี้ เกิดรู้ขึ้นมา แล้วจิตก็จะมีปีติ มีความสุขเกิดขึ้น หรือบางทีจิตก็สว่างไสวอยู่เป็นอาทิตย์เลย มีความสุข อย่างหลวงพ่อไม่ค่อยชอบนั่งสมาธิ นิสัยไม่ดีอันนี้ ตอนหลังๆ นี้นั่งแล้ว เมื่อก่อนดูถูก เพราะว่านั่งสมาธิตั้งแต่เด็กแล้วรู้สึกไม่ได้อะไร พอมาเดินปัญญาแล้วรู้สึกได้อะไรเยอะแยะ เราเดินไปช่วงหนึ่ง กำลังสมาธิไม่พอ ก็ต้องกลับไปทำ ถ้าไม่ทำ จิตจะไม่มีกำลัง ใช้ไม่ได้

ค่อยๆ ฝึกทุกวันๆ แล้วเราก็จะก้าวไปในเส้นทางนี้แบบราบรื่น ไม่สะดุดหกล้มเสียก่อน หลายคนพอเดินๆ ไป เขาพลัดตกข้างทาง คนจำนวนมากเดินแล้วพลัดตกข้างทางไป น่าสงสาร อยากดี แต่ใจมันไม่ถึง อยากดี แต่ว่ามันรักสุข รักสบาย หลงโลกอะไรอย่างนี้ ถูกโลกดึงดูดไป น่าสงสาร โลกมันดูดไป ก็นึกว่ามีความสุข มีความสนุกสนานอะไร ประเดี๋ยวหนึ่งก็ไม่ได้เรื่องแล้ว อย่างยังหนุ่มยังสาวบอก โอ้ เอาไว้แก่แล้วค่อยภาวนา แก่แล้วภาวนายาก ไปนั่งสมาธิก็ปวดหลัง เดินจงกรมก็เมื่อยขา ทำอะไรก็ไม่ค่อยจะไหว

ตอนหนุ่มสาวก็โดนโลกมันลากออกไป วันๆ ก็เล่นแต่เรื่องสนุก เพลิดเพลินนู่นนี่ไป พอถึงเวลา แก่แล้วคิดจะปฏิบัติ ไม่ได้กินหรอก จิตใจมันโดนกิเลสย้อมไปเสียนานแล้ว สกปรกมาก คล้ายๆ คราบสกปรกซึมลึก กว่าจะซักให้สะอาดไม่ใช่ง่ายเลย เพราะฉะนั้นฝึกตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาวดีที่สุด คราบสกปรกยังไม่มาก มีไหม มี เดี๋ยวเราส่งการบ้านเราจะรู้เลยว่าคราบสกปรกมีแค่ไหน

 

วิธีรักษาพระศาสนา

เดี๋ยวนี้ที่วัดแต่ละวันคนจีนเยอะมากเลย คนจีนมาจากหลายประเทศๆ เกือบร้อยวันๆ หนึ่ง คนไทยที่เคยเยอะๆ ตอนนี้ถอยออกไปจนหลังติดผนังห้องแล้ว เรียกว่าเราถอยไม่ได้อีกแล้ว ถอยอีกทีก็คือออกนอกศาลาแล้ว ถามว่าหลวงพ่อเห็นแล้วรู้สึกอย่างไร หลวงพ่อเห็นแล้วสงสาร คือเมื่อศาสนาสูญไป การที่จะต้องออกไปต่างประเทศเพื่อไปเอาศาสนากลับมาไม่ใช่เรื่องง่าย อุปสรรคอันหนึ่ง เรื่องเดินทางก็ยาก ค่าใช้จ่ายก็มี อุปสรรคที่ร้ายมากเลยคือภาษา ฉะนั้นอุปสรรคจะมีมากมาย เราพยายามรักษาพระศาสนาเอาไว้ เรียนให้เข้าใจ ลงมือทำให้เข้าใจแล้วเราจะรักษาศาสนาเอาไว้ ต่อไปคนที่เขาสนใจ เราก็บอกเขาได้ แต่ถ้าเราก็ไม่รู้ ก็น่าอาย ขายหน้าคนต่างชาติ

วัดหลวงพ่อตอนนี้แทบจะเปลี่ยนเป็นวัดอินเตอร์แล้ว สารพัดประเทศเลยมา ทั้งแขก ทั้งฝรั่ง ทั้งจีน เยอะแยะไปหมด ธรรมะมันไม่ได้เป็นของใครหรอก เป็นของกลาง เพียงแต่ว่าเขามาเรียน เขายากลำบาก พวกเราเรียนได้ง่าย อย่าประมาท สมัยหลวงพ่อออกไปเรียนกับครูบาอาจารย์ ก็ยากแล้ว สมัยครูบาอาจารย์ยิ่งยากกว่า ท่านเดินธุดงค์ข้ามป่าข้ามเขา เป็นไข้ป่า มรณภาพไปก็เยอะ เสือมา ช้างมา งูมาอะไรอย่างนี้ ลำบาก รุ่นหลวงพ่อก็แค่นั่งรถไฟ นั่งรถทัวร์ไป ปัญหาของท่านกับปัญหาของคนรุ่นหลวงพ่อก็ต่างกัน ปัญหารุ่นหลวงพ่อก็คือเดินทางสะดวก อันนี้ไม่ใช่ปัญหา เป็นปัญหารุ่นก่อน ปัญหาคือลางานยาก ในขณะที่ท่านไม่ต้องลางาน ท่านอยากจะไป ท่านก็ไปเลย

แต่ละยุคแต่ละสมัยมันก็มีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน มาถึงยุคนี้จะเรียนธรรมะง่ายๆ เปิดยูทูปก็เจอแล้ว เปิดเฟซบุ๊ก Dhamma.com ต้องมีชื่อด้วย มิฉะนั้นเดี๋ยวไปเปิดอย่างอื่น ก็เจอธรรมะแล้ว พอเราเจอง่าย เอาไว้ก่อนก็แล้วกัน เดี๋ยวว่างๆ แล้วจะมาดู มันน่าสงสารตรงนี้ แล้วเมื่อไรมันจะรู้เรื่อง

มีคนจำนวนมากเลยเขาสอนธรรมะกัน แล้วคนไปเรียนจะมาเล่าให้หลวงพ่อฟังเนืองๆ สอนเหมือนหลวงพ่อเปี๊ยบเลย หลวงพ่อก็ไม่ว่าอะไร สอนเหมือนหลวงพ่อ แต่ทำไมจิตของเธอไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย ไม่ได้มีสติ ไม่ได้มีสมาธิ ไม่ได้มีปัญญาอะไรสักอย่างเลย คำพูดที่เหมือนกัน ไม่จำเป็นว่าถ่ายทอดออกไปแล้ว คนฟังจะเข้าใจเหมือนกัน

คำพูดอันเดียวกัน อย่างพูดสติปัฏฐาน ใครก็พูดมาจากพระไตรปิฎกเล่มเดียวกัน ใครก็พูด แต่ว่าจิตจริงๆ มันเป็นไม่เป็น เท่าที่พบก็คือยังไม่เคยเห็นเลย ยังไม่เคยเห็นที่ว่าสอนเหมือนหลวงพ่อๆ เหมือนด้วยคำพูด แต่เนื้อในมันไม่เหมือนหรอก เราพูดเรื่องนี้เยอะๆ มันก็ไม่ดี

พวกเราลองฟังหลวงพ่อให้เยอะขึ้น แล้วลงมือปฏิบัติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไป ดูกาย ดูใจ ตอนไหนดูจิตได้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ดูกาย ดูจิตไม่ได้ ดูกายไม่ได้ ทำความสงบ ทำไปเรื่อยๆ ศีล 5 ต้องรักษายืนพื้นไว้ บางคนไม่ถือศีล ไม่สอนเรื่องศีล แต่สอนให้นั่งสมาธิ ให้เดินประหลาดๆ อะไรต่ออะไร วุ่นวายไปหมด พาให้ฟุ้งซ่าน แล้วคนที่ทำมันก็ได้อะไร ได้ไหม ได้ ได้ความสุข ทำแล้วมีความสุขเผลอๆ เพลินๆ ไปวันๆ หนึ่ง น่าสงสารมากกว่าๆ น่าอนุโมทนา

ฉะนั้นไปฟังหลวงพ่อ ไม่มีใครฟังหลวงพ่อรู้เรื่องหรอก เพราะธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการฟัง ฟังเพื่อเป็นแนวทางที่จะไปลงมือปฏิบัติ ดูกายดูใจตัวเอง ถ้าดูกายดูใจตัวเองได้แล้ว ถึงจะเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อบอก

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
บ้านจิตสบาย
19 พฤศจิกายน 2566