ธรรมะมีหลายระดับ

ธรรมะมีหลายระดับ ระดับต้นๆ ทำให้เราอยู่กับโลกอย่างมีความสุข ระดับสูงขึ้นไปเป็นเรื่องธรรมะเพื่อการพ้นจากโลก พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้คิดว่าทุกคนจะพ้นโลกได้ พ้นโลก เหนือโลกก็คือคำว่าโลกุตตระ ส่วนใหญ่เราก็ยังเวียนว่ายอยู่ในโลกิยะ โลกของโลก โลกธรรมดา โลกของกาม หาความสุขความเจริญ ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นอย่างนั้น น้อยคนที่คิดจะพ้นโลกจริงๆ ไม่ใช่ความผิด แต่เป็นเพราะยังไม่ถึงเวลาของเราจะพ้นจากโลก พระพุทธเจ้าท่านก็เข้าใจเรื่องเหล่านี้ดี ท่านก็สอนธรรมะให้เราอยู่กับโลกอย่างมีความสุข มีความเจริญ

อย่างธรรมะที่ท่านสอนฆราวาส ท่านจะสอนเรื่องการทำทาน การรักษาศีลอะไรพวกนี้ อยู่ในกลุ่มหมวดของธรรมะชื่ออนุปุพพิกถา เรื่องรู้จักทำทาน รักษาศีล ถัดจากนั้นก็มีสัคคกถา คือเรื่องของสวรรค์ สวรรค์ก็คือเรามีความสุขมีความเจริญในทางโลกนั้นล่ะ ยังเป็นๆ อยู่ก็ขึ้นสวรรค์ได้ จิตใจมันมีความสุข มองอีกมุมหนึ่ง ทำไมท่านสอนอย่างนี้ อันแรกก็คือคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้อยากพ้นโลก แต่อยากมีความสุข ท่านก็สอนธรรมะให้ ให้รู้จักทำทาน ให้รักษาศีล

 

อนุปุพพิกถา

ท่านแสดงอนุปุพพิกถาครั้งแรกให้พระยสะฟัง ยสะเป็นลูกเศรษฐีอยู่ที่เมืองพาราณสี ถ้าพวกเราเคยไปพาราณสี คนไทยชอบไป เราจะเห็นเลย ในพาราณสี ที่ริมแม่น้ำคงคามีท่าน้ำเอาไว้เผาศพบ้าง เอาไว้ทำพิธีบวงสรวงไหว้เทวดา ไหว้คงคา ไหว้สุริยเทพ เวลาคนตายก็เอาไปเผาริมแม่น้ำ โยนเถ้ากระดูกลงน้ำไป คนบางกลุ่มเขาจะไม่เผา อย่างพวกนักบวช เขาโยนลงน้ำเลย ที่เผาเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ พวกนักบวชถือว่าบริสุทธิ์อยู่แล้ว ไม่ต้องเผา ทิ้งน้ำไปเลย ทิ้งน้ำเพื่ออะไร จะได้ขึ้นสวรรค์ ยสะเกิดมาในสภาพแวดล้อมอันนั้นกับเพื่อนๆ ทั้งกลุ่ม มีเพื่อนอีก 54 คน อยู่ในสังคมของพราหมณ์ เห็นความสำคัญของแม่น้ำคงคา ถ้าตายริมแม่น้ำ แล้วเผาริมแม่น้ำ แล้วโยนกระดูก เถ้ากระดูกลงน้ำ จะได้ขึ้นสวรรค์

พระพุทธเจ้าท่านต่อต้านคอนเซ็ปต์อันนี้ ความเชื่ออันนี้ ท่านบอกว่าถ้าหากลงไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคาแล้วขึ้นสวรรค์ได้ เต่าปลาในแม่น้ำมันอยู่ในน้ำทั้งวัน ขึ้นสวรรค์ไปหมดแล้ว ไม่มีเต่าปลาอะไรในแม่น้ำที่จะตกนรกสักตัวหนึ่ง ไม่มีเลย ดีกว่าคนอีก คนบางคนก็ตกนรกอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นท่านไม่เห็นด้วย ฉะนั้นเวลายสะมาหาท่าน ท่านก็พยายามล้างทิฏฐิ คือความเห็นผิดๆ ก่อน บอกว่าอยากจะขึ้นสวรรค์ไม่ได้ขึ้นด้วยการอาบน้ำในแม่น้ำหรอก แต่ขึ้นด้วยการทำทาน ด้วยการรักษาศีล

เราไปอินเดีย เราจะเห็นขอทานเยอะ ฉะนั้นยสะใจดี คงทำทานอยู่แล้วล่ะ ก็สอนเรื่องรักษาศีล แล้วสิ่งที่ได้ก็คือความสุขความเจริญ ได้สวรรค์ ถ้าคนทั่วไปก็ต้องการแค่นี้ล่ะ อย่างคนไทยเราเราไม่ได้เชื่อเรื่องอาบน้ำในแม่น้ำแล้วก็ขึ้นสวรรค์ได้ ของเราไม่ได้เชื่อกันอย่างนั้น อิทธิพลศาสนาพุทธเข้ามานาน เราก็เชื่อเรื่องทำทานรักษาศีลแล้วก็ขึ้นสวรรค์ ก็พอใจกันแค่นั้น ชอบมากเลย เรื่องทำทาน ยิ่งกาลทาน ใกล้ๆ ทอดกฐิน ชอบนักเชียว ดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ ทำไปก็เพื่ออยู่กับโลก เพื่อความสุขที่จะเวียนว่ายตายเกิดต่อไปเท่านั้นล่ะ

พอยสะเขาเปิดใจได้ว่าอาบน้ำในแม่น้ำไม่ขึ้นสวรรค์ ทำทานรักษาศีลขึ้นสวรรค์ได้ ถัดจากนั้นพระพุทธเจ้าท่านก็ชี้ความไม่แน่นอน โทษของกาม สวรรค์นั้นก็คือประโยชน์ของกาม เป็นกามที่ให้คุณ มีความสุข ได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสที่พอใจ ในสิ่งที่พอใจนั้นมันก็มีความไม่พอใจแทรกอยู่ด้วย เห็นรูปที่พอใจได้ มันก็เห็นรูปที่ไม่พอใจได้ ได้ยินเสียงที่พอใจได้ มันก็ได้ยินเสียงที่ไม่พอใจได้ ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสที่พอใจ มันก็มีกลิ่น รส สัมผัสที่ไม่พอใจได้อีก เพราะฉะนั้นความสุข ที่แสวงหาความสุขในกาม ความสุขของสวรรค์ มันไม่แน่นอนหรอก มันไม่ยั่งยืน

สุดท้ายท่านก็สรุปโทษของกาม โทษ แล้วก็ชี้ไปที่อานิสงส์ ผลประโยชน์ของการออกจากกาม ท่านสอนเพื่อขัดเกลาจิตใจของคนที่ติดอยู่ในโลก แต่ยสะนั้นเริ่มจะไม่ติดในโลกแล้ว บุญบารมีมากพอ เห็นสิ่งรอบๆ ตัวมีแต่ความขัดข้องวุ่นวาย บอกที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ ใจมันนึกอย่างนี้ ถ้าเราไปเห็นพาราณสี เราก็จะอุทานเหมือนกันล่ะ หลายพันปีก็เหมือนเดิม ที่มากกว่าเดิมในยุคนี้ก็คือเสียงแตรรถยนต์ เสียงแตรรถมอเตอร์ไซค์ อินเดียเจี๊ยวจ๊าวไปหมดเลย ขับรถก็กดแตรตลอดเวลา ฉะนั้นถ้ายสะมาเกิดยุคนี้คงรีบออกเร็วเลย กลางคืนก็นอนไม่หลับ หนวกหู

สมัยของท่านมันยังไม่มีแตรรถแต่บุญบารมีท่านเยอะ ท่านเห็นชีวิตมีแต่ความวุ่นวาย สับสนวุ่นวาย ถ้าเราไปเห็นเมืองแขก เมืองพาราณสี มันวุ่นวายตั้งแต่กลางคืนเลย คนแห่มาเต็มบ้านเต็มเมืองเลย จะไปริมแม่น้ำ จะไปไหว้พระอาทิตย์ขึ้นอะไรอย่างนี้ จนตกค่ำก็ทำพิธีไหว้คงคาอะไรต่ออะไร มันวุ่นวายตลอดเวลา ผู้คนแออัด ยสะเห็นแล้วก็เบื่อ อยากพ้นไป มีเวลาไปเดินออกไปนอกเมือง ไปป่าชานเมือง อย่างที่อิสิปตนมฤคทายวัน เดี๋ยวนี้คือสารนาถ อยู่ชานเมืองพาราณสี

เบื่อความวุ่นวาย ออกไปเจอพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ค่อยๆ ปรับทัศนคติ ปรับความคิด อันแรกสอดคล้องอยู่แล้วล่ะ ยสะคงไม่เห็นหรอกว่าแห่กันไปอาบน้ำในแม่น้ำแล้วดีอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นท่านจะไม่รู้สึกว่าน่าเบื่อ ขัดข้องวุ่นวาย ท่านคงเห็นไม่มีสาระแต่ไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ พระพุทธเจ้าท่านสะกิดนิดเดียวเท่านั้น สอนเรื่องการทำทาน การรักษาศีลแล้วผลก็คือได้รับความสุข นั่นคือสวรรค์ ความสุขนั้นมันก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ฉะนั้นการออกจากรสชาติของความสุขในโลก ความสุขในกามอันนั้นมีประโยชน์มากกว่า

พอปรับทัศนคติอย่างนี้ได้แล้ว ปรับความคิดเบื้องต้นได้แล้ว ท่านก็สอนวิธีที่จะออกจากโลก วิธีที่ออกจากโลกก็คือท่านสอนเรื่องของอริยสัจให้ พอใจคิดเบื่อหน่ายอยากจะพ้นจากโลก ท่านสอนอริยสัจ 4 ให้ ของพวกเรา เราเลยขั้นความเชื่อว่าทำอะไรแปลกๆ แล้วจะขึ้นสวรรค์ เราก็รู้จักทำทาน รู้จักรักษาศีลก็ดีแล้วล่ะ แต่สิ่งที่ดีกว่านั้นยังมีอีก ถ้าเราพอใจอยู่แค่นี้ก็ไม่เป็นไร ได้แค่นี้ก็เอาแค่นี้ก่อน ดีกว่าทำชั่ว แต่ถ้าต้องการสิ่งที่เหนือกว่านั้น ความสุขที่ยั่งยืนกว่านั้น เราก็มาหัดเรียนรู้อริยสัจ 4 ให้ดี อริยสัจ 4 ถ้าตราบใดที่เรายังไม่รู้แจ้งแทงตลอด เรายังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิดหรอก ยังหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้นหรอก ต้องเข้าใจอริยสัจถึงจะหยุดวัฏฏะลงได้

 

ต้องเข้าใจอริยสัจถึงจะหยุดวัฏฏะลงได้

วัฏฏะ ดูง่ายๆ เลย มันหมุนจี๋ๆๆ อยู่กลางใจของเรา กลางหน้าอกเรานี้ มันหมุนอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย วุ่นวายไม่รู้จักจบจักสิ้น จิตก็เข้าไปยึดไปถือ ยึดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ ยึดในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ยึด เจออะไรก็ยึดไปหมด พอยึดอยู่ก็ทุกข์อยู่ ทำไมมันยึด เพราะมันไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ

แต่ก่อนหลวงพ่อยังไม่บวช หลวงพ่อก็เคยภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วเราเห็นจิตมันวาง วางจิตลงไป แล้วมันก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก มันวางได้ไม่ตลอด วางแล้วก็หยิบ หยิบแล้วก็วางอยู่อย่างนั้น แต่เราเห็นแล้วว่าต้นตอ ต้นตอของความทุกข์มันอยู่ตรงนี้เอง ตรงที่จิตมันไม่รู้อะไรอย่างหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่ามันไม่รู้อะไร จิตซึ่งมันมีความไม่รู้อยู่มันเป็นต้นตอทำให้เราหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือหยิบฉวยจิตขึ้นมา การที่หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมาคือชาติ คือความเกิด

เพราะฉะนั้นเราเห็น หลวงพ่อตอนนั้นยังเป็นโยม ภาวนาแล้วก็เห็นจิตมันเข้าไปหยิบอะไร แล้วก็ทุกข์ ของอื่นดูง่าย ร่างกาย จิตเข้าไปยึดกาย ดูก็วาง เห็นแล้วกายไม่ใช่เรา ความรู้สึกสุขทุกข์เกิดขึ้น จิตเข้าไปยึด เรามองเห็น จิตก็วาง สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว จิตเข้าไปยึด เราก็เห็นอีก มันไม่ใช่เรา มันก็วาง แต่จิตมันเป็นเราอยู่ มันวางไม่ได้

พอภาวนาแล้วก็เห็นบางทีก็วางแล้วก็หยิบๆ ในใจลึกๆ มันก็พิจารณา ทำไมมันไม่ยอมวางให้เด็ดขาด มันไม่รู้อะไรบางอย่าง รู้อย่างนี้ว่าจิตนี้มันยังไม่รู้อะไรบางอย่าง เพราะฉะนั้นมันวางไม่ได้หรอก เดี๋ยวมันก็วางแล้วก็หยิบๆ ไปเรื่อย อย่างพวกเรามันแทบไม่วางเลย ถ้าไม่ได้ภาวนา มันยึดถืออยู่อย่างนั้น ยกเว้นนอนหลับไป ไม่รู้เรื่อง ตื่นขึ้นมาก็หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมาเป็นตัวกูของกูขึ้นมาอีก

ค่อยภาวนาจนวันหนึ่งก็ค่อยเข้าใจขึ้นมา สิ่งที่จิตมันขาดแล้วทำให้ปล่อยวางจิต ปล่อยวางขันธ์ ปล่อยวางโลกไม่ได้ คือมันไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ 4 ฉะนั้นอริยสัจ 4 เป็นธรรมที่สำคัญที่สุดเลย ครอบคลุมธรรมะทั้งหมดในคำสอนทางพระพุทธศาสนานี้ ทั้งฝ่ายโลกิยะ ทั้งฝ่ายโลกุตตระ อริยสัจ 4 เริ่มจากตัวทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือรูปนาม คือขันธ์ 5 คือกายคือใจของเรานี้เอง อันนี้เรียกว่าตัวทุกข์ หน้าที่ต่อทุกข์คือรู้ ไม่ใช่ละ สิ่งเหล่านี้เราต้องเข้าใจ ถ้าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง เราก็ละสมุทัยได้

ในทางโลกก็มีสมุทัยแล้วก็มันมีทุกข์ แล้วเดี๋ยวก็อยากอีก อยากอีกก็ทุกข์อีกๆ ตัดวงจรอุบาทว์นี้ออกไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นในอริยสัจ มันมีธรรมทั้งฝ่ายเกิด คือตราบใดที่ยังมีตัณหาเป็นตัวสมุทัยเป็นเหตุ ความทุกข์ก็ยังเกิดอีก นี่คือธรรมะฝ่ายโลกิยะ ฝ่ายเกิดในอริยสัจ มีทั้งธรรมะฝ่ายโลกิยะ ธรรมะฝ่ายโลกุตตระ แล้วทั้งโลกิยะ โลกุตตระก็มี 2 อย่าง คือมีเหตุกับผล ในโลกิยะ มันก็มีเหตุคือตัวอยาก มีผลก็คือตัวทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าทุกข์เมื่อกี้บอกแล้ว คือตัวขันธ์ 5 คือตัวรูปตัวนาม ไม่ใช่ความทุกข์อย่างที่เรารู้จักอย่างนี้

ฉะนั้นมีตัณหา มันก็มีรูปมีนามขึ้นมา ยึดถือเอาไว้เป็นตัวเราของเรา พอรูปมันแปรปรวน ใจมันก็ทุกข์ นามมันแปรปรวน ใจก็ทุกข์ ถ้ามีนามที่ไม่พอใจเกิดขึ้น อยากให้มันหายไป ใจก็ทุกข์ หายไปแล้ว กลัวมันจะกลับมาอีก ใจก็ทุกข์อีก หรือนามที่ดีเกิดขึ้นก็อยากให้มันอยู่ตลอด มันจะมีคำว่าอยากแทรกในทุกกระบวนการทำงานในจิตใจของเราเลย ฉะนั้นที่เราแหวกวัฏฏะออกไปไม่ได้เพราะเราไม่เคยเห็นตรงนี้ว่าตัณหาเป็นเหตุ มีความทุกข์เป็นผล เราไม่เห็นหรอกว่ากายนี้เป็นทุกข์ ใจนี้เป็นทุกข์ แค่ทุกข์เรายังไม่รู้เลย เราก็เห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง จิตนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง อันนี้เรียกว่าเรายังไม่รู้ทุกข์เลย

เราสังเกต ภาวนาไปเรื่อย ดูกายดูใจไปเรื่อย ถึงจุดหนึ่งมันจะรู้ กายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งอย่างนี้ ถึงจะละสมุทัยได้ ถึงจะละตัณหาได้ พอมันรู้ความจริง กายนี้คือตัวทุกข์ เห็นไหม ความอยากให้กายเป็นสุขไม่มี ความอยากให้กายพ้นทุกข์ไม่มี ถ้ามันเห็นว่าจิตเป็นตัวทุกข์ ความอยากให้จิตเป็นสุขก็ไม่มี ความอยากให้จิตไม่ทุกข์ก็ไม่มี

คือตราบใดที่เป็นขันธ์ มันก็ต้องมีทุกข์อยู่อย่างนั้นล่ะ ถ้ามันมีขันธ์อยู่ เพราะว่าจิตมันเข้าไปยึดไปถืออยู่ แล้วการที่เรารู้ทุกข์จนกระทั่งเราละสมุทัยได้ นั่นล่ะคือมรรค การที่เรารู้ทุกข์จนเราละสมุทัยได้ คือตัวมรรค แล้วสิ่งที่ตามมา สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีที่มรรคเกิดก็คือนิโรธ นิพพานจะปรากฏขึ้นทันที นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา สิ้นตัวสมุทัย สมุทัยสิ้นไปเพราะเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง

 

นอกจากการรู้ทุกข์แล้วไม่มีเส้นทางที่สอง

ฉะนั้นท่านถึงสอนให้เราทำวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานทำไปเพื่อให้เห็นความจริงของกายว่าจริงๆ มันคือตัวทุกข์ ทำไปเพื่อให้เห็นความจริงของจิต ว่าจริงๆ แล้วจิตคือตัวทุกข์ที่เราทำวิปัสสนาเพื่อให้เห็นความจริงอย่างนี้ ไม่ใช่สะกดจิตตัวเอง บางคนคิดว่าการทำวิปัสสนาเป็นการสะกดจิตตัวเอง มองอะไรก็มองให้เห็นว่าเป็นทุกข์ๆ ไปเรื่อย ไม่ใช่การสะกดจิต เพราะจริงๆ ขันธ์ 5 เป็นทุกข์อยู่โดยตัวของมันอยู่แล้ว ไม่ใช่เราไปมโนขึ้นมาว่ามันคือตัวทุกข์ แต่เราได้เห็นต่างหาก ได้เห็นความจริงต่างหากว่าขันธ์ 5 หรือรูป นาม กาย ใจของเรานี้ล่ะ มันทุกข์จริงๆ มีแค่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่มีทุกข์กับสุขหรอก

พอเห็นอย่างนี้ ตัณหาก็ละ ทันทีที่ละตัณหา นิโรธก็แจ้งทันทีเลย เพราะนิโรธ หรือนิพพานก็คือความสิ้นตัณหา จิตก็เข้าถึงความสงบ ตราบใดที่มีตัณหาอยู่ มีความอยากอยู่ จิตไม่มีความสงบ อย่างเราอยากจีบผู้หญิงสักคน จิตเราก็วุ่นวาย เราอยากได้มือถือราคาแพงอย่างนี้ จิตก็วุ่นวาย มีแต่เรื่องวุ่นวาย เราอยากให้การเมืองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จิตก็วุ่นวาย อยากรวยๆ ก็วุ่นวายอีก อยากอะไรก็วุ่นวายทุกทีล่ะ

ฉะนั้นงานของเราคือคอยรู้ทุกข์เอาไว้ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น ละสมุทัยเมื่อไร ก็แจ้งนิโรธเมื่อนั้น แจ้งนิโรธเมื่อไร อริยมรรคก็เกิดเมื่อนั้น นี่กระบวนการ คือสุดท้ายมันก็หนีการเรียนรู้อริยสัจไม่ได้ เรียนรู้อริยสัจ ทิ้งไม่ได้ อริยสัจครอบคลุมคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ในฝ่ายโลกิยะก็คือมีตัณหาเป็นเหตุ มีทุกข์เป็นผล ในฝ่ายโลกุตตระก็มีมรรคเป็นเหตุ มีนิโรธเป็นผล เรื่องเหตุกับผลทั้งหมด ทั้งฝ่ายโลกิยะ ทั้งฝ่ายโลกุตตระ

ฟังแล้วเหมือนเยอะ ลงมือทำจริงๆ ไม่เยอะหรอก รู้ทุกข์ไปเรื่อยๆ เมื่อกี้บอกแล้ว รู้ทุกข์เมื่อไร ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น ละสมุทัยเมื่อไรก็แจ้งนิโรธเมื่อนั้น แจ้งนิโรธเมื่อไรก็เกิดอริยมรรคเจริญขึ้นเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นอริยสัจมันเหมือนมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้มากมาย มีกิจที่ต้องทำมากมาย อย่างทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธต้องให้แจ้ง ให้เข้าประจักษ์ ให้เข้าไปประจักษ์ เข้าไปแจ่มแจ้ง มรรคต้องทำให้เจริญ ให้เกิดขึ้น

ดู มีตั้ง 4 งาน 4 งานนี้เราทำเสร็จในขณะจิตเดียว รู้ทุกข์เมื่อไรเมื่อนั้นละสมุทัย ละสมุทัยเมื่อไร เมื่อนั้นแจ้งนิโรธ แจ้งนิโรธเมื่อไร เมื่อนั้นมรรคเจริญขึ้นแล้ว เกิดอริยมรรคแล้ว ฉะนั้นกิจของอริยสัจ 4 มี 4 งาน สำเร็จได้ในขณะจิตเดียว เพราะฉะนั้นวิธีปฏิบัติ รู้กายอย่างที่กายเป็นไป รู้จิตอย่างที่จิตเป็นไป ไม่มีเส้นทางที่สอง นอกจากการรู้ทุกข์แล้วไม่มีเส้นทางที่สอง สิ่งที่เรียกว่าทุกข์คือกายกับใจ คือรูปนาม ไม่ใช่ความทุกข์ ความทุกข์มันแค่เวทนา

ต้นพุทธกาลก่อนเข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชา โกณฑัญญะได้เป็นโสดาบัน ก็ขอบวช ก็เป็นพระโกณฑัญญะ 5 องค์ ก็บวช แล้วพระพุทธเจ้าเข้าพรรษาแล้ว ท่านก็แสดงธรรมอันเดิมนั่นล่ะ แสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร แล้วสุดท้ายท่านก็สอนจนกระทั่งปัญจวัคคีย์เห็นไตรลักษณ์ ของขันธ์ 5 เห็นอนัตตา อนัตตลักขณสูตร การที่ท่านสอนอนัตตากับปัญจวัคคีย์สะท้อนอะไรรู้ไหม สะท้อนว่าปัญจวัคคีย์เป็นพวกที่มีปัญญาแก่กล้ามาก ท่านเลยสอนอย่างนี้ แล้วหลังจากนั้นก็ไปสอนพระยสะ สอนอนุปุพพิกถาแล้วก็ต่อด้วยอริยสัจ

เวลาท่านสอนชฎิล พวกบูชาไฟ 1 พันรูป ท่านก็สอนเรื่องไฟ ความร้อน อะไรที่เป็นของร้อน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นของร้อน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เป็นของร้อน การที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบรูป เสียง กลิ่น รส เกิดความรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตัวความรับรู้ทางอายตนะ ตัวจิตเป็นของร้อน เป็นของไม่ดี ท่านสอน แต่ละองค์ท่านสอนแตกต่างกัน จริตนิสัยแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายท่านจะชี้ลงมาเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะสอนองค์ไหน ก็คือลงมาที่ต้องรู้ทุกข์ รู้ถึงความไม่เที่ยง ความถูกบีบคั้น การบังคับไม่ได้ของรูปนามขันธ์ 5 ของกายของใจ

ท่านสอนปัญจวัคคีย์ ท่านชี้ลงมาความเป็นอนัตตาของกายของใจ เห็นไตรลักษณ์ สอนพระยสะ สอนให้รู้อริยสัจ พอรู้ทุกข์แจ้งก็ละสมุทัย เกิดนิโรธ เกิดอริยมรรค สอนชฎิล ท่านก็สอนให้เห็นความไม่ดีของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นไม่มีสาระแก่นสาร จิตกระทบอารมณ์ทีไร มีแต่ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที

ตรงนี้ถ้าพวกเราภาวนา ดูจิตให้ชำนาญแล้วจะเห็น ทุกครั้งที่จิตกระทบอารมณ์ มันจะเกิดความไหว ความสะเทือนขึ้น ในกลางอกเรานี้สะเทือนขึ้นมา ตาเห็นรูปก็เกิดความสั่นสะเทือน หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ก็เกิดแต่ความสั่นสะเทือน ไม่มีความสงบสุขอะไรเลยในวัฏฏะนี้ เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป ก็เห็นนอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป

เห็นแล้วมันก็วาง มันทิ้งจิตไป จิตปล่อยวางจิต จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอรหัตมรรค จิตก็ปล่อยวางจิตไป คราวนี้จิตไม่ใช่จิตแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ไม่ใช่จิต หลวงปู่ดูลย์ท่านพูดตรงไปตรงมา คนไม่เข้าใจ คิดว่าท่านพูดปรัชญาธรรมอันลึกซึ้ง ไม่ใช่ปรัชญาอะไรทั้งสิ้น คือความจริงทนโท่ต่อหน้าต่อตา เราไม่เห็นเราก็นึกว่าปรัชญา ท่านสอนความจริงเลย

 

ทำความดีด้วยจิตใจที่สะอาด

เทศน์ให้ฟังหลายแง่หลายมุม พวกเราก็เลือกเอา ถ้าเลือกจะอยู่กับโลกอย่างมีความสุข เราก็ทำทาน รักษาศีลไว้ ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น ตั้งใจไว้อย่างนี้ เราจะมีชีวิตที่สะอาดหมดจดอยู่โดยไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น ช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเหลือสัตว์อื่น เมื่อมีโอกาส เมื่อทำได้ อย่างให้อาหาร ให้เสื้อผ้า กระทั่งให้ความรู้ ความเข้าใจในการทำมาหากิน นี่คือทานทั้งสิ้นๆ เลย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไป คนที่ให้มีความสุขมากกว่าคนที่อยากได้ คนที่อยากให้มันจะมีความสุขมากกว่าคนที่อยากได้

อย่างเราทำทาน สังเกตง่ายๆ อย่างเราไปตามวัด วัดบางทีเขาจะมีแม่น้ำ มีคลอง มีปลามาอยู่เยอะแยะ เราก็ไปซื้ออาหารเลี้ยงปลา เห็นปลามากินอาหาร เราก็มีความสุขแล้ว ทำทาน ถามว่าเราหวังผลตอบแทนจากปลาไหม เราไม่ได้หวังผลอะไรเลย ตอนที่เราให้อาหารปลา ไปซื้อเป็นถุงๆ มา ก็โยนให้ปลากิน เราไม่ได้คาดหวังว่าเราจะต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ ปลานี้จะต้องตอบแทนบุญคุณเรา อันนี้เป็นการทำทานที่บริสุทธิ์จริงๆ ไม่ได้หวังผล

แต่อย่างเราช่วยเหลือใครสักคนหนึ่ง แล้วเราหวังผลว่าเขาจะต้องดีกับเรา อันนี้ทานของเราไม่บริสุทธิ์แล้ว มีอะไรแอบแฝงอยู่แล้ว ลองไปสังเกตดู อย่างเราไปให้อาหารปลาแล้วมีความสุข มีความสุขตั้งแต่คิดจะทำ มีความสุขระหว่างทำ โยนไปให้มันกินแล้วเราก็เห็นแล้วยังมีความสุขอีก นึกถึงเราก็มีความสุข อย่างนี้บุญของเราสมบูรณ์ ฉะนั้นจะทำทานก็ต้องมีสติปัญญารู้เท่าทันจิตใจตัวเอง

อย่างบางคนทอดกฐิน ตอนนี้ใกล้เทศกาลทอดกฐินแล้ว แต่ละวัดหรือแต่ละเจ้าภาพ ก็พยายามโฆษณา ทอดกฐินแล้วดีอย่างนั้น ทอดกฐินแล้วดีอย่างนี้ จะไม่ตกนรก ถ้าทอดได้ 7 ครั้ง จะได้พบพระศรีอริยเมตไตรยอะไรอย่างนี้ เราก็ทำไปด้วยความอยาก บุญของเราเจือด้วยความสกปรก ทำแล้วหวังผล ทำด้วยความโลภ

ถ้าเราทำด้วยใจที่เปิดจริงๆ ทำด้วยความเสียสละจริงๆ บุญของเราใหญ่ เพราะใจเราไม่เปื้อนกิเลส ถ้าใจเราปนเปื้อนกับกิเลส บริจาคเงินสักล้านหนึ่งแล้วใจเปื้อนกิเลส ก็สู้คนที่เขาบริจาคบาทเดียวไม่ได้ เขาทำโดยไม่หวังผลอะไร แล้วความสุขมันไม่เท่ากัน ถ้าทำโดยไม่หวังผล ทำโดยคิดแต่จะให้ จิตใจมันมีความสุข ทำแล้วคิดจะเอา มาใส่บาตรแล้วก็ขอให้ถูกหวยอะไรอย่างนี้ แหม ซื้อของมาใส่บาตร 10 บาทเอง อยากถูกหวยเป็นล้านอะไรอย่างนี้ อันนี้มันการลงทุน ไม่ใช่การทำบุญ เป็นการลงทุนซึ่งไม่มีเหตุผลอะไร

เพราะฉะนั้นถ้าจะทำทาน ทำด้วยใจที่สะอาดจริงๆ ด้วยใจที่เสียสละจริงๆ มันจะเป็นพื้นฐาน วันข้างหน้าเวลาเราภาวนา มันจะภาวนาง่าย เพราะเราเคยฝึกที่จะไม่เห็นแก่ตัว ถ้าเราฝึกที่จะเห็นแก่ตัว มาภาวนาก็จะภาวนาอยากโน้นอยากนี้ไปเรื่อย กระทั่งอยากได้มรรคอยากได้ผล อยากได้นิพพาน อยากได้ปฏิสัมภิทา อยากได้อภิญญา อยากได้วิชชา 3 วิชชา 8 อะไรอย่างนี้ ก็เต็มไปด้วยความอยาก กระพร่องกระแพร่ง ไม่ดีหรอก

ถ้าจะทำทานทำด้วยใจที่บริสุทธิ์จริงๆ เสียสละจริงๆ ให้อาหารหมาอย่างนี้ ได้บุญไหม ได้ ให้อาหารแมวอะไรอย่างนี้ สัตว์มันลำบาก ช่วยเหลือสงเคราะห์มัน ได้บุญไหม ได้บุญ ทำแล้วจิตใจมีความสุข แต่พอให้อาหารแมว แล้วก็เป็นห่วงแล้ว คราวนี้จากเมตตากลายเป็นราคะ เอ๊ะ แมวตัวนี้เราเคยให้อาหารทุกวัน วันนี้มันหายไปไหน กลุ้มใจแล้ว ทำไมกลุ้มใจ เพราะมันเป็นแมวของเราขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาทำความดี ก็สังเกตจิตใจของเราให้ดี แล้วมันถึงจะดีจริง มีอานิสงส์มาก มีผลมากในทางที่จะลดละกิเลส ความดีใด ถ้าทำไปแล้วส่งผลในทางช่วยลดละกิเลสได้ อันนั้นดีเลิศ ถ้าทำความดีใดๆ แล้วส่งเสริมในทางเพิ่มพูนกิเลส อันนั้นไม่ดีจริง

ฉะนั้นจะทำทาน หรือรักษาศีลก็เหมือนกัน แต่รักษาศีล รักษาศีลก็คือเราตั้งใจไว้ เราจะไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น แล้วก็ไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่รังแกชีวิตร่างกายเขา นี่ศีลข้อที่หนึ่ง ไม่รังแก เบียดเบียน แย่งชิงทรัพย์สมบัติของเขา หรืออย่างอาหาร หมามันกินอาหารอยู่ ก็ไปแย่งมัน แย่งสนุกๆ อะไรอย่างนี้ หมากำลังแทะอาหารอยู่ ก็ไปไล่มันอะไรอย่างนี้ อย่างนี้ก็เบียดเบียน

ถ้าเราไม่เบียดเบียนชีวิตร่างกายเขา ไม่เบียดเบียนทรัพย์สินของเขา ไม่เบียดเบียนสิ่งที่เขารัก คนที่เขารัก ไม่เบียดเบียนเขาด้วยคำพูดที่หลอกลวง 3 ข้อแรกเป็นการเบียดเบียนด้วยการกระทำทางร่างกาย ข้อสี่เป็นการเบียดเบียนด้วยการกระทำทางวาจา ข้อห้าเป็นการเบียดเบียนตัวเองทางใจ กินเหล้าเมายาทำให้เราขาดสติ เราขาดสติ เราไม่รู้ผิดชอบชั่วดี เราก็ผิดศีลข้อหนึ่ง ข้อสอง ข้อสาม ข้อสี่ได้ง่าย เพราะฉะนั้นศีลมันเป็นเรื่องที่เราจะไม่เบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่นแล้วก็ไม่เบียดเบียนตัวเราเองด้วย ทำตัวเองให้ขาดสติสัมปชัญญะคือการเบียดเบียนตัวเองอย่างร้ายแรงที่สุดเลย พัฒนาตัวเองให้เกิดสติสัมปชัญญะนั่นล่ะเป็นกุศลอย่างแรง

ถ้าเราทำอย่างที่หลวงพ่อบอกได้ เราทำทานด้วยใจที่บริสุทธิ์ เรารักษาศีลด้วยใจที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่รักษาเพื่อจะโก้เก๋ บางคนก็ถือศีลแล้วก็อยากให้คนเขาดู ถ่ายคลิป มีไลฟ์สด วันนี้มาถือศีลที่วัดนี้ ไม่ได้กินข้าวเย็น กินแต่มาม่า ไม่ได้กินข้าวเย็น อวด อันนี้ไม่ได้สะอาดจริง ปนเปื้อน บางคนไปไหว้พระตามวัด เห็นท่ามืออย่างนี้ อีกมือมันหายไปไหน อ๋อ มันถือกล้องอยู่ สวดมนต์ให้คนดู โอ๊ย ทุเรศ มันหลอกลวง อย่างนั้นไม่มีประโยชน์อะไร มันไม่ได้ลดละกิเลสอะไรเลย

เพราะฉะนั้นทำทาน จะรักษาศีล หรือการสวดมนต์ไหว้พระ คือการทำสมาธิเบื้องต้น ทำไปด้วยความสะอาด ด้วยความบริสุทธิ์จริงๆ อย่าให้มันปนเปื้อนกิเลส สวดมนต์เก่งก็ไม่ใช่ว่าเป็นคนดี สวดมนต์ไม่เป็นเลย รู้แต่พุทโธคำเดียว เขาอาจจะเป็นพระอริยะก็ได้ บางทีสวดได้ยาวๆ อาจจะไม่เป็นอะไรเลย สวดเก่ง

เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง ทำไปก็ทำไปด้วยจิตใจที่มันสะอาดหน่อย สะสมไปแล้วชีวิตเราจะมีความสุข ทำความดี ก่อนทำก็มีความสุข ระหว่างทำก็มีความสุข ทำแล้วนึกถึงคราวใดก็มีความสุข อันนี้ถึงจะใช้ได้ อย่างนี้เราก็ขึ้นสวรรค์แล้ว เราขึ้นสวรรค์ตั้งแต่ยังไม่ตาย ถ้าตายไป จิตมันคุ้นเคยกับสวรรค์อยู่แล้ว มันก็ขึ้นสวรรค์ ฉะนั้นที่บอกสวรรค์ในอกนรกในใจ ก็ถูกส่วนหนึ่ง

 

สะสมนิสัยที่จะไม่ตามใจกิเลส

ฉะนั้นเวลาเราสร้างความดี ใจเรามีความสุข เราขึ้นสวรรค์ทั้งเป็นแล้ว เวลาเราทำชั่ว ใจเรามีความทุกข์ เราก็ตกนรกทั้งเป็นแล้ว ถ้าใจมันเคยชินกับความชั่ว ตกนรกก็ตอนเป็นๆ ตอนตายมันก็ตกนรกอีก จิตมันคุ้นเคยอยู่กับความดี มันก็ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น ตายแล้วมันก็ขึ้นสวรรค์อีก เพราะจิตมันเคยชิน ธรรมชาติของจิตไหลไปตามความเคยชิน

เพราะฉะนั้นถ้าเราประเมินแล้ว เรายังไม่ได้มรรคผลในชีวิตนี้ เราก็สร้างความดีไป ทำทานรักษาศีลไป ทำสมาธิตามสมควร เช่น การที่ทุกวันมีวินัย ไหว้พระสวดมนต์ทุกวัน ทำไม่เลิก ไม่จำเป็นต้องทำวันละครั้งด้วย บางคนตื่นนอนมาก็เริ่มสวดแล้ว กินข้าวกลางวันก็ไปสวดมนต์ ตอนเย็น ตอนค่ำ ก่อนนอน ก็ไหว้พระสวดมนต์ จิตมันก็สงบ ก็ได้สมาธิขึ้นมา ก็เป็นเรื่องดี ค่อยๆ สะสมเป็นนิสัย นิสัยที่จะไม่ตามใจกิเลส นิสัยที่จะเสียสละความเห็นแก่ตัว

การไหว้พระสวดมนต์ก็ต้องสละความเห็นแก่ตัว บางทีเราก็ขี้เกียจ มีไหมจะสวดมนต์แล้วขี้เกียจ ก็ต้องเสียสละ สละอะไร สละความขี้เกียจ มีใจตั้งมั่น ตั้งใจมั่นเลยว่าต้องไหว้พระต้องสวดมนต์ทุกวัน หรือจะนั่งสมาธิด้วย เดินจงกรมด้วย ก็ดี สะสมเอาไว้ ไม่ต้องหวังจะได้มรรคได้ผลอะไร หรอก เราจะได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น แล้วถ้าตายไป ยังไม่บรรลุพระอรหันต์ เราก็ยังไปสุคติได้อีก

ถ้าเราทำอย่างที่หลวงพ่อบอก มีโอกาสทำทานก็ทำ ศีลรักษาจนเคยชิน ให้เป็นเรื่องปกติของเราเลยที่จะมีศีล ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น เป็นธรรมชาติ ธรรมดาของเราอย่างนี้เลย แล้วก็ภาวนา ที่ท่านสอนโยม ทาน ศีล ภาวนา ถ้าสอนคนที่อยากพ้นโลก ท่านสอนศีล สมาธิ ปัญญา ของพวกเรายังไม่อยากพ้นโลก เราก็ทำทาน ถือศีลแล้วก็ภาวนา แค่ทำทานถือศีลอย่างเดียวไม่พอ ยังไม่ครบ เพราะท่านสอนให้ภาวนาด้วย

ภาวนาก็เช่นเราไหว้พระสวดมนต์ ทำทุกวันๆ มีเวลาบ้าง เราก็ลองเล่นๆ ซ้อมเล่นๆ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำมันทุกวันๆ ว่างเมื่อไรก็ทำเข้าไป แล้วต่อไปก็ค่อยๆ หัดสังเกต อะไรที่มันประณีตมากขึ้น สังเกตใจเรานี้ล่ะ ใจเราเดี๋ยวก็สุข ใจเราเดี๋ยวก็ทุกข์ ใจเราเดี๋ยวก็ดี ใจเราเดี๋ยวก็ร้าย อันนี้เป็นการเริ่มสะสมการเจริญปัญญา ค่อยๆ สะสมไป ฉะนั้นไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรมไป รู้เท่าทันจิตใจไป เราจะค่อยๆ พัฒนาปัญญา ต่อไปมันก็จะเห็นกายนี้ไม่ใช่เราหรอก จิตนี้ไม่ใช่เราหรอก ถ้าเห็นอย่างนี้ ใจก็เข้าโลกุตตระ

เราไม่รู้ว่าของเก่าเราทำมามากแค่ไหน เราก็อย่าประมาทตัวเอง อย่าดูถูกตัวเองด้วย แล้วก็อย่าประมาท เราอาจจะทำมาน้อย ชาตินี้ก็รีบภาวนาต่อ ทำทาน รักษาศีล ภาวนาไป หรือเราไม่แน่ เราอาจจะมีบารมีเก่าเยอะแล้ว แต่ว่าเกิดมาแล้วมันลืม เราก็มาทำทาน มารักษาศีล มาภาวนาไป ถ้าจิตมันเคยภาวนามาแต่ชาติก่อนๆ แป๊บเดียวมันไปได้เลย มันไปได้เองเลย ง่ายๆ เลย ไม่ใช่เรื่องยากเลย

เด็กบางคน แค่มีอะไรให้ตกใจ มีอะไรทำให้ตกใจเท่านั้น จิตผู้รู้ดีดผางขึ้นมาเลย แสดงว่ามันเคยภาวนามาแล้วล่ะ พวกเราไม่รู้ว่าของเก่าของเรามีเท่าไร เราก็ไม่ประมาทแล้วก็ไม่ดูถูกตัวเองด้วย เราคงเลวทรามไม่มีทางได้ดี อย่างนี้ดูถูกตัวเอง หรือหลงตัวเองว่าเรานี้บุญบารมีเยอะเหลือเกิน เกิดมารวย อาจจะทำทานมาเยอะ เกิดมารวย แต่ไม่เคยภาวนาก็โง่

 

 

ฉะนั้นเราทำให้ครบ ทำทาน ถือศีล ภาวนา ทำทานแล้วก็จะมีสมบัติร่ำรวย มีศีลเราก็จะมีรูปที่งามขึ้น ภาวนาเราก็จะมีปัญญา สิ่งที่คนเราอยากได้ อยากรวย อันแรกเลยอยากรวย อยากหล่ออยากสวย อยากเก่ง อยากฉลาด ก็ทำเหตุของมันไป แล้วพอสวย รวย เก่งขึ้นมาแล้วก็อย่าประมาท ใช้ความสวย รวย เก่ง ไปสร้างความชั่วได้ ได้ฉกาจฉกรรจ์มากเลย ใช้ความสวยไปหลอกคนอย่างนี้ หรือใช้ความหล่อไปหลอกคน มีเงินแล้วก็ข่มเหงรังแกผู้คนได้ง่าย มีความฉลาด เจ้าเล่ห์แสนกล เบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่นได้มาก เบียดเบียนธรรมชาติอะไรอย่างนี้ มีสมบัติเก่าดี แต่ว่าทำสิ่งซึ่งไม่ดี มันก็กินบุญเก่าไป ไม่นานมันก็หมด

เพราะฉะนั้นเราตั้งอกตั้งใจ มีทาน มีศีล มีภาวนา ทำไว้สำหรับฆราวาส สำหรับฆราวาสและพระที่ต้องการพ้นทุกข์ ก็มีศีล มีสมาธิ และเจริญปัญญาด้วย เจริญปัญญาคือการเห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตอย่างที่จิตเป็น มันเป็นอย่างไร มันเป็นไตรลักษณ์ นี่เรียกว่าเจริญปัญญา ไปเลือกเอา ชีวิตเรา อยากสุข อยากสบาย ก็ทาน ศีล ภาวนา อยากพ้นทุกข์ อยากมีความสุขก็ทาน ศีล ภาวนา อยากพ้นทุกข์ก็ ศีล สมาธิ ปัญญา ตัวที่ทำให้พ้นทุกข์ คือปัญญา

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กันยายน 2565