วิธีฝึกสติปัฏฐาน

พวกเราอดทนกับโควิดมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปีนี้ 3 ปีแล้ว ทำสงครามอันนี้เป็นสงครามโรค ก็ต้องใช้ความอดทน ยากลำบากมากมาย กว่าเราจะผ่านสงครามมาจนถึงวันนี้ได้ ถัดจากนี้ก็ต้องอยู่กับมัน มีสติไว้เรื่อยๆ ฉะนั้นต้องยุ่งเกี่ยวกับคนก็ใส่หน้ากากต่อไป รักษาตัวเองไว้

ตอนที่โรคระบาดใหม่ๆ ที่หลวงพ่อเคยบอกพวกเรา เราต้องสู้ด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญาของเรา อย่างคนไม่มีสติ เดี๋ยวก็ถอดหน้ากากแล้ว ลืม บางทีเจอใครก็ชวนคุยกัน กินเลี้ยงเฮฮา มันไม่มีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ อย่างกินเหล้าแก้วเดียวกัน ก็ยังทำกันอยู่ พวกเราที่รอดมาได้ก็อาศัยสติ อย่างเราจะเอามือขึ้นมาป้ายลูกตาเรา เราเคลื่อนไหว เราเคยฝึกสติ ร่างกายเคลื่อนไหวเรารู้สึก มันจะรู้สึกขึ้นก่อนที่จะถึงหน้าเรา จะขยับมันรู้สึกเอง แล้วพอสติมันเกิด สมาธิมันก็เกิด คือจิตใจมันจะอยู่กับตัวเอง หลุดออกจากโลกของความคิดความฝัน

คนที่ขาดสติ จิตมันก็ไปอยู่ในโลกของความคิดความฝันนั่นล่ะ แล้วก็ฝันดีบ้าง ฝันร้ายบ้าง ฝันดีก็มีความสุข ฝันร้ายก็มีความทุกข์ ฝันไปแล้วก็โลภ ก็โกรธ ก็หลง ฝันทั้งๆ ที่ตื่นนี่ล่ะ เพราะฉะนั้นเราพยายามฝึกตัวเอง ฝึกสตินั่นล่ะ จำเป็นมาก แต่ฝึกให้ถูกเรื่องถูกราว สติที่เราจะฝึกเรียกว่าสติปัฏฐาน สติปัฏฐานไม่เหมือนสติธรรมดา สติธรรมดา อย่างเราขับรถไม่ตกถนนก็บอกมีสติ ไม่กินเหล้าก็บอกมีสติ ที่จริงคนไม่กินเหล้ามีสติโลกๆ แต่ไม่ได้มีสติปัฏฐานหรอก คนละเรื่องกัน แล้วสติที่จะพาให้เราพ้นทุกข์มันคือสติปัฏฐาน ไม่ใช่สติธรรมดา

 

ต้องมีฐานที่ตั้งของสติเสียก่อน

ในโลก แค่สติธรรมดามันยังไม่ค่อยจะมีเลย ฉะนั้นเราต้องพยายามฝึกตัวเอง มีวินัยในตัวเอง แล้วก็พยายามฝึกสติปัฏฐาน ทุกวันๆ ต้องฝึก วิธีฝึกสติปัฏฐานก็คือ ต้องมีฐานที่ตั้งของสติเสียก่อน ฐานที่จะทำให้เกิดสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าท่านกำหนดไว้ให้แล้ว คือกาย เวทนา จิต ธรรม กายก็คือร่างกายเรานี้ เราสามารถมองร่างกายได้ในหลายมุม แต่ไม่ว่าจะมองมุมใดมุมหนึ่ง ถ้าเข้าใจกายจากการมองผ่านมุมใดมุมหนึ่ง มันจะเข้าใจกายทั้งหมด อย่างท่านสอนเรา อย่างวิหารธรรมเรื่องกาย มีตั้งหลายอย่าง ตั้ง 5-6 อย่าง บางอย่างมันเป็นสมถะ อย่างการพิจารณาร่างกาย พิจารณาอาหาร เป็นปฏิกูลเป็นอะไร อันนี้เป็นเรื่องของสมถะ

ทำไมต้องมีสมถะปนเข้ามาด้วย บางคนไม่มีกำลังที่จะเจริญสติตรงๆ ก็ไปทำสมถะไว้ก่อน ตามหลักที่ครูบาอาจารย์สอน ทำอะไรไม่ได้ทำสมถะไปก่อน ไม่ใช่ทำอะไรไม่ได้ ไม่ต้องทำอะไรเลย ฉะนั้นถ้าทำอะไรไม่ได้ทำสมถะไปก่อน แต่ถ้าเราทำได้ เราก็มีสติระลึกรู้กาย เราไม่ต้องระลึกกายอะไรมากมาย แค่เราเห็นร่างกายหายใจออก รู้สึก เห็นร่างกายหายใจเข้า รู้สึก แค่นี้ก็พอแล้วไม่ต้องเรื่องมาก ไม่ต้องคิดมาก หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ทำไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปพอจิตเรามันหลงไป มันลืมการหายใจ ลืมระลึกถึงร่างกายที่หายใจ มันหนีไปคิด ส่วนใหญ่ก็คือหนีไปคิด

เราเคยฝึกหายใจเข้า หายใจออก รู้สึกอยู่เรื่อยๆ พอจิตมันหนีไปคิดแวบเดียวเท่านั้น มันก็จะรู้อัตโนมัติขึ้นมาว่าเราขาดสติแล้ว เราลืมรู้ร่างกายที่กำลังหายใจเสียแล้ว หรือรู้ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน อย่างนี้ก็ได้ บางคนบอกว่าร่างกายหายใจ แหม มันรวดเร็วเกินไป หายใจออก หายใจเข้า ดูแล้วหลงง่าย ก็ดูสติเรายังอ่อน สมาธิเรายังอ่อน ดูอิริยาบถ 4 ไป อันนี้หยาบๆ นั่งอยู่ก็รู้สึก เดินอยู่ก็รู้สึก ยืนอยู่ก็รู้สึก นอนอยู่ก็รู้สึก คอยรู้สึกๆ เราจะเห็นว่าตัวสำคัญอยู่ที่ตัวรู้สึก หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ยืน รู้สึก เดิน รู้สึก นั่ง รู้สึก นอน รู้สึก รู้สึกเรื่อยๆ

บางคนบอกว่ารู้สึกอย่างเดียว รู้สึกกายในอิริยาบถ 4 แหม มันหยาบ นั่งนี้ยังไม่ทันเปลี่ยนอิริยาบถเลย จิตหนีไปคิดตั้ง 500 รอบแล้ว เพราะฉะนั้นมันหยาบไป บางคนก็ว่าอย่างนั้น บางคนมันทำละเอียดกว่านั้นไม่ได้ ก็ดูเท่าที่ดูได้ไปก่อน ยืน เดิน นั่ง นอน คอยรู้สึกไว้ บางคนรู้สึกตรงนี้หยาบไป พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้ละเอียดขึ้นอีก เช่น ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก ร่างกายหยุดนิ่งรู้สึก ร่างกายเราเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง พอเคลื่อนแล้วมันก็ต้องหยุด มันไม่เคลื่อนอย่างนี้ตลอดเวลา มันไม่ใช่ลูกตุ้มนาฬิกาแกว่งๆ ทั้งวัน ไม่ใช่ เราคอยรู้สึกอย่างนี้ เรียกว่าเราใช้กายเป็นวิหารธรรม

ถ้าสูงขึ้นไปเป็นเรื่องของธาตุ ดูกายดูให้เห็นเป็นธาตุ อันนี้พวกเราทำไม่ได้หรอก จะทำได้จิตต้องทรงฌาน ไม่อย่างนั้นมันไม่เห็นถึงตัวธาตุหรอก อย่างในผมของเราหนึ่งเส้น ผมเป็นธาตุอะไร ถ้าอย่างหยาบก็บอกเป็นธาตุดิน อย่างละเอียดในผมหนึ่งเส้น มีหมดเลยดิน น้ำ ไฟ ลม มีทั้ง 4 ธาตุเลย ในน้ำลายเราเป็นธาตุอะไร บอกน้ำลายเป็นธาตุน้ำ นี่อย่างหยาบ อย่างละเอียดในน้ำลายก็มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ทั้งหมดเลย เพียงแต่ธาตุน้ำมันเยอะหน่อย ดูธาตุดูยาก ถ้าจิตไม่ทรงฌานจริง ดูไม่ไหวหรอก

ฉะนั้นเราดูเท่าที่เราดูได้ ที่ง่ายๆ สังเกตไหม พระพุทธเจ้าท่านแทรกเรื่องสมถะเอาไว้ ก่อนที่จะไปดูธาตุ ในสติปัฏฐาน ธาตุอยู่หลังๆ เลย ฉะนั้นเรายังไม่ได้ฌานได้อะไร เราดูของง่ายๆ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก หลงไปก็รู้ รู้สึกเอา ยืนรู้สึก นั่งรู้สึก เดินรู้สึก นอนรู้สึก เคลื่อนไหวรู้สึก หยุดนิ่งรู้สึก หลวงพ่อไม่ได้เริ่มต้นด้วย กายานุปัสสนา หลวงพ่อใช้อานาปานสติ แต่ไม่ใช่อานาปานสติในกายานุปัสสนา อานาปานสติที่หลวงพ่อทำแต่แรก มันเป็นเรื่องของสมถะ ยังไม่ได้ขึ้นการเจริญสติปัฏฐาน เราทำจนจิตมันเป็นหนึ่ง ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อันนี้จิตมีสมาธิ แล้วไปเจอหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนให้หลวงพ่อดูจิต

 

“ดูสติปัฏฐานในส่วนที่เราทำได้
ไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมดหรอก”

ฉะนั้นหลวงพ่อดูจิตเป็นวิหารธรรม ในขั้นของการเจริญสติปัฏฐาน จิตมีราคะก็รู้ จิตไม่มีราคะก็รู้ จิตมีโทสะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้ จิตมีโมหะก็รู้ จิตไม่มีโมหะก็รู้ จิตเป็นมหัคตะ อันนี้พวกเราเริ่มไม่รู้เรื่องแล้ว เว้นไป อันนั้นเป็นเรื่องของคนทรงฌาน จิตใหญ่ เวลาจิตเรารวมเข้าถึงอัปปนา มันจะรู้สึกว่าจิตเราใหญ่ กว้างขวางเต็มโลกธาตุเลย อันนั้นก็คือจิตมันทรงสมาธิอยู่ จิตไม่เป็นมหัคตะ ไม่ใหญ่ เป็นจิตธรรมดาอย่างนี้ ก็รู้สึก รู้สึก มีหลายแบบ ถ้าดูจิตดูใจที่ง่ายๆ ก็คือจิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ จิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ จิตมีโมหะรู้ว่ามีโมหะ ดูแค่นี้พอแล้ว

หรือถ้าเราดูจิตๆ เราพบอีก สิ่งที่อยู่กับจิตไม่ใช่มีแค่ราคะ โทสะ โมหะ ไม่ได้มีแค่อโลภะ อโทสะ อโมหะ ยังมีเวทนาอยู่ด้วย บางทีจิตเราก็สุข บางทีจิตเราก็ทุกข์ บางทีจิตเราไม่สุขไม่ทุกข์ ตรงนี้ถ้าเราดูอย่างนี้ เท่ากับเราควบเอาเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่เราทำจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน บางทีมันควบเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเข้ามาโดยอัตโนมัติ จิตเราสุขเราก็รู้ จิตเราทุกข์เราก็รู้ จิตเราเฉยๆ เราก็รู้ จิตมันสุขแล้วเราไม่รู้ ราคะมันก็เกิด จิตมันทุกข์แล้วเราไม่รู้ โทสะมันก็เกิด มันจะแทรกๆ กันมา จิตที่มีความทุกข์กับโทสะจะเกิดด้วยกัน จะเกิดร่วมกันเสมอ

เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนาแล้ว วันนี้จิตเรามีความทุกข์ ให้รู้เลยขณะนั้นจิตต้องมีโทสะซ่อนอยู่ ค่อยๆ ฝึก ใช้วิหารธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านสอน รู้กายเราก็ไม่ต้องรู้กายทั้งหมด เรารู้กายเท่าที่เรารู้ได้ เช่น กายหายใจออก กายหายใจเข้า กายยืน เดิน นั่ง นอน กายเคลื่อนไหว กายหยุดนิ่ง อันนี้ใครๆ ก็รู้ได้ ก็ใช้อย่างนี้ ส่วนท่อนปลายของกายานุปัสสนา มันจะเป็นเรื่องของการทำสมาธิ แล้วก็เป็นเรื่องการเจริญสติปัฏฐานของคนทรงฌาน นี้พวกเราทำไม่ได้ เราก็เอาต้นๆ นี้ล่ะ

ดูจิตก็เหมือนกัน ดูจิตมันก็มี 2 ส่วน ส่วนของคนทั่วๆ ไป ไม่ได้ฌาน ก็อย่างหนึ่ง จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ ไม่มีราคะรู้ว่าไม่มีราคะ จิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะรู้ว่าไม่มีโทสะ จิตมีโมหะรู้ว่ามีโมหะ จิตไม่มีโมหะก็รู้ว่าไม่มี แล้วถ้าถัดจากนั้นไป มันจะเป็นเรื่องจิตของคนเล่นสมาธิแล้ว จิตเป็นอุปจารสมาธิก็รู้ จิตไม่เป็นอุปจารสมาธิก็รู้ จิตเป็นอัปปนาสมาธิก็รู้ จิตไม่เป็นอัปปนาสมาธิก็รู้ ค่อยๆ ดูไป อันนั้นเราไม่ต้องเพราะเราทำไม่เป็น เราก็ดูสติปัฏฐานในส่วนที่เราทำได้ ไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมดหรอก

หรืออย่างเวทนานุปัสสนา ท่านก็สอนให้เราดูเวทนา ก็มีความสุขในร่างกาย ความทุกข์ในร่างกาย อันนี้ท่านสอนในฐานะที่ว่า เราเห็นได้อย่างนั้น เราจะเห็นว่าในร่างกายเรามันมีสุขบ้างทุกข์บ้าง ในจิตใจก็มีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง อันนี้ท่านสอนอนุโลมตามพวกเราที่ยังมีกิเลสอยู่ ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานมากๆ เราดูเวทนามากๆ อย่างกายนี้ ตอนหัดใหม่ๆ เราก็รู้สึกกายนี้สุขบ้างทุกข์บ้าง เราภาวนาชำนิชำนาญ เราจะเห็นกายนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่มีหรอกทุกข์กับสุข มีแต่ทุกข์กับทุกข์ ถ้าปัญญามันเกิด มันจะเห็นเป็นทุกข์

จิตนี้ก็เหมือนกัน เราบอก แหม จิตเรามีความสุข จิตอย่างนี้มีความทุกข์ จิตยังมีทางเลือกมีสุขมีทุกข์อยู่ แต่ถ้าเราภาวนาชำนิชำนาญขึ้นไปแล้ว เราจะเห็นจิตนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เวลาทุกข์น้อยเราก็รู้สึกสุข ก็แค่นั้นเอง ร่างกายเวลาทุกข์น้อยเราก็รู้สึกสุข แต่พอเราเจริญสติปัฏฐานจนเกิดปัญญา เราจะเห็นเลย นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป บางคนได้ยินว่าภาวนาแล้วเห็นแต่ทุกข์ๆๆ เห็นทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ เขาก็ไม่อยากภาวนา ไม่รู้ความลับอันหนึ่ง ธรรมชาติของจิตที่แปลกประหลาด ยิ่งเห็นทุกข์จิตยิ่งมีความสุข ยิ่งเห็นทุกข์จิตจะยิ่งมีความสุข

 

ถ้าจิตยอมรับความจริงได้ จิตไม่ทุกข์

ฉะนั้นอย่างเราภาวนาไป เราเห็น โอ้ กายนี้ทุกข์ใจนี้ทุกข์ แต่จิตนั้นมีความสุขมากขึ้นๆ มันอัศจรรย์จริงๆ เลย ยิ่งเห็นทุกข์ก็ยิ่งมีความสุข ไม่ใช่ยิ่งเห็นทุกข์ก็ยิ่งเศร้าโศก กลุ้มอกกลุ้มใจ ไม่ใช่ อันนั้นยังเห็นไม่เป็น ถ้าเราเห็นทุกข์แล้ว ทุกข์เป็นเรื่องธรรมชาติ ทุกข์มันเป็นเรื่องธรรมดา จิตมันยอมรับได้ ตรงที่จิตมันยอมรับได้นั่นล่ะ จิตมันจะมีความสุขเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จิตของเรามีความทุกข์ขึ้นมา เพราะจิตยอมรับความจริงไม่ได้ อย่างเราต้องแก่ จิตยอมรับไม่ได้เราก็ทุกข์ เราต้องเจ็บ จิตยอมรับไม่ได้เราก็ทุกข์ เราต้องตาย จิตยอมรับไม่ได้ เราก็ทุกข์ ถ้าจิตมันยอมรับได้ จิตมันไม่ทุกข์ มันมีความเบิกบาน

เวลาคิดถึงความตาย คนอื่นจะเศร้าหมอง ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ คิดถึงความตายสบายนัก รู้สึกสบาย รู้สึกสงบ รู้สึกมีความสุข หลวงพ่อตั้งแต่เป็นโยมแล้ว งานอื่นไม่ไปหรอก เลี่ยงได้ก็เลี่ยง เลี่ยงไม่ได้ถึงจะยอมไป แต่งานศพไม่เลี่ยงหรอก งานศพชอบไป ไปเห็นศพ เห็นเขาสวดกัน จิตมันก็สงบ จิตมันเบิกบาน กระทั่งตอนเตี่ยหลวงพ่อตาย พ่อตายปุ๊บลงไป ตอนนั้นหลวงพ่อยังไม่ได้บวชหรอกปี 2527 เห็นเตี่ยตายต่อหน้าต่อตา จิตนี้เบิกบาน เบิกบานมากเลย เบิกบานอยู่นานเลย คนอื่นเขาร้องไห้ เราไม่ร้องหรอก จิตมันมีความสุข

ยิ่งเห็นทุกข์ ยิ่งมีความสุข เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวทุกข์หรอก คอยรู้ลงไปในกาย คอยรู้ลงไปในใจ ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนามองโลกแง่ร้าย ถ้าหากพระพุทธเจ้าสอนว่า “ในโลกนี้มีแต่ความทุกข์” แล้วจบคำสอนแค่นี้ นี่พระพุทธเจ้ามองโลกแง่ร้าย นี้ท่านไม่ได้สอนอยู่แค่นั้น ท่านสอนว่า “ในโลกมีแต่ความทุกข์” แต่ท่านสอนวิธีที่เราจะพ้นจากความทุกข์ไปด้วย ท่านสอนอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นไม่ใช่การมองโลกแง่ร้าย แต่เป็นการมองโลกตามความเป็นจริง

ถ้าเราเข้าใจความเป็นจริง จิตมันยอมรับความเป็นจริงของกายของใจแล้ว จิตมันจะไม่ทุกข์ จิตมันจะมีแต่ความสงบ มีแต่ความสุข ไม่ดิ้น ไม่ปรุงแต่ง มีความสุขบอกไม่ถูกเลย เจอความสุขอย่างนี้ครั้งแรก มันสุขปางตาย ในโลกเขารู้จักทุกข์ปางตาย ทุกข์จนจะตายอยู่แล้ว ถ้าเราภาวนาถึงจุดหนึ่ง เราจะรู้จักความสุขที่เกือบตายเลย สุขเสียแทบตายเลย มันมหาศาล ความสุขอันนั้น เพราะฉะนั้นเราพยายามทำสติปัฏฐานไป มีสติรู้กายในส่วนที่เราสามารถรู้ได้ เช่น กายหายใจออก กายหายใจเข้า กายยืน เดิน นั่ง นอน กายเคลื่อนไหว กายหยุดนิ่ง สุขอย่างนั้นเป็นเรื่องของการทำกายานุปัสสนา ของพวกที่เขาเล่นสมาธิ เล่นฌาน

ดูจิตก็เหมือนกัน ดูจิตในส่วนที่เราดูได้ จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตไม่โลภ จิตไม่โกรธ จิตไม่หลง หรือจิตสุข จิตทุกข์อะไรอย่างนี้ ดูได้ อันนี้ไม่ต้องใช้กำลังฌาน ดูได้ ถ้าเรื่องของจิตอัปปนา เรื่องจิตของอุปจาระ พวกเราไม่มี เราก็ไม่ต้องไปดู ดูของที่เรามี นี้เรื่องกาย เราดูกายที่เราดูได้ จิตเราก็ดูส่วนจิตที่เราดูได้ เรื่องเวทนา เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ในร่างกาย ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ในจิตใจ เมื่อกี้พ่วงการดูจิตเข้ากับการดูเวทนาทางใจไปแล้ว เหลือเวทนาทางกาย

 

“ไม่ต้องตะเกียกตะกายทำกรรมฐานซึ่งเกินกำลังของเรา
ถ้าจะเกินกำลังมันทำไม่ได้จริงหรอก”

 

เวทนาทางกายเหมาะกับคนเล่นฌาน เหมาะกับคนที่ทำสมาธิดีๆ ก่อน ถ้าเราสมาธิไม่พอ มันดูเวทนาทางกายเดี๋ยวสติแตก มันทนไม่ไหว มันเจ็บ เพราะฉะนั้นคนที่จะเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในกลุ่มของกาย “ควร” ไม่ใช่ “ควร”“ต้อง” ต้องฝึกสมาธิก่อน พวกเรายุคนี้ฝึกสมาธิยาก หลวงพ่อก็ข้ามไป เรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต ต่อไปก็เหลืออันหนึ่งธัมมานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนามันก็อยู่ในรูปธรรม นามธรรมอีกนั่นล่ะ แต่มันดูละเอียดขึ้นไป ดูลึกลงไป อย่างแทนที่จะดูแค่ราคะ โทสะ โมหะ ก็ดูละเอียดลงไปอีก สิ่งที่อยู่เบื้องลึกลงไป ก็คือพวกนิวรณ์ทั้งหลาย มันกิเลสที่ละเอียดลงไปอีก ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา เราไม่ได้ดูแค่ตัวมัน

ถ้าจิตตานุปัสสนาเราจะดูตัวมัน ราคะเกิดเราก็รู้ โทสะเกิดเราก็รู้ แต่ว่าในธัมมานุปัสสนานั้น ดูลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง เช่น กามฉันทะเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ดูแค่นั้น เราจะรู้ลึกลงไปว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้น อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มันเกิดขึ้น อะไรทำให้มันไม่เกิด อะไรทำให้มันเกิด พยาปาทะ พยาบาท ทำไมมันถึงเกิด ทำไมมันไม่เกิด จะรู้ลึกลงไป เพราะฉะนั้นเล่นยาก อันนี้ส่วนของอกุศล ดูลึกลงไปที่ต้นเหตุของนิวรณ์เลย ถ้าส่วนของกุศล พระพุทธเจ้าท่านยกตัวโพชฌงค์มา อันนี้อยู่ในธัมมานุปัสสนา

ดูโพชฌงค์ก็ไม่ใช่แค่ดูว่า องค์ธรรมตัวไหนกำลังมี กำลังเป็น แต่มองลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ว่าอะไรทำให้องค์ธรรมอันนั้นมี อันนั้นเป็นขึ้นมา อะไรทำให้สติสัมโพชฌงค์เกิด อะไรทำให้วิริยสัมโพชฌงค์เกิด ธัมมวิจยะ อะไรทำให้ธัมมวิจยะเกิด อะไรทำให้วิริยะเกิด อะไรทำให้สติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขาอะไรพวกนี้ ดูละเอียดลงไปอีก พวกเรายังไม่จำเป็นต้องใจร้อน แล้วละเอียดลงไปอีก ก็จะดูเข้าไปที่ขันธ์ ขันธ์มันก็มาจากการที่เรา เบื้องต้นเรารู้กาย รู้เวทนา รู้จิต นั้นล่ะ แต่พอถึงธัมมานุปัสสนา มันจะเห็นขันธ์ทั้งหมดเลย ขันธ์ทั้ง 5 ก็จะเห็นการทำงานของขันธ์ เห็นกระบวนการของมัน เห็นกระบวนการที่จิตเข้าไปยึดถือขันธ์ ตรงที่เห็นกระบวนการที่จิตไปยึดถือขันธ์อะไรนี้ มันจะเข้าไปถึงสัจจบรรพ เข้าไปถึงการเห็นปฏิจจสมุปบาทอะไรต่อไป อันนี้เอาไว้ตอนจะแตกหักแล้วค่อยเห็น

เพราะฉะนั้นในส่วนของธัมมานุปัสสนา ยาก พวกเราอินทรีย์ยังอ่อน เราเว้นไว้ก่อน เราเล่นของง่ายๆ เล่นกาย เวทนา จิต เวทนาก็เล่นเวทนาทางใจ ทำสิ่งที่เราทำได้ ไม่ต้องตะเกียกตะกายทำกรรมฐานซึ่งเกินกำลังของเรา ถ้าจะเกินกำลังมันทำไม่ได้จริงหรอก มันฟุ้งๆ ไป หรือไม่ก็ไปคิดๆ เอา เพราะฉะนั้นตอนนี้ทำอะไรดี นั่งอยู่รู้สึกไหม กำลังนั่งอยู่ เห็นไหมร่างกายมันนั่ง เราแค่รู้สึก เราแค่รู้สึกว่าร่างกายมันนั่ง ลองยิ้มซิ ลองยิ้มหวานๆ ทุกคนลองยิ้มซิ เห็นไหมร่างกายมันยิ้ม เห็นด้วยใจๆ เห็นด้วยความรู้สึก ไม่ใช่เห็นด้วยตา ไม่ต้องส่องกระจก ขยับ ขยับก็เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว

แล้วถ้าเราขยับไม่เป็น พอขยับมือใจมันจะหนักขึ้นมาเลย แต่ถ้าร่างกายเคลื่อนไหว ใจเป็นคนรู้จริงๆ จิตมันจะไม่หนักขึ้นมา มันจะเห็นร่างกายที่เคลื่อนไหวนี้ว่าง ว่าง ไม่ใช่ตัวใช่ตนอะไรหรอก ไม่มีน้ำหนักขึ้นในใจ แล้วจิตที่ไปรู้กายก็ว่าง โลกข้างนอกก็ว่าง ว่างกันหมดเลย ถ้าเราดูชำนิชำนาญ ดูเป็นแล้ว มันจะเห็นความว่างไปหมด ทุกอย่างว่าง กายก็ว่าง จิตก็ว่าง โลกก็ว่าง อะไรๆ ก็ว่างไปหมด ไม่มีน้ำหนัก ภูเขาทั้งลูกก็ไม่มีน้ำหนักที่จะเกิดขึ้นในใจเรา ของเราแค่อะไรนิดหนึ่ง มันก็มีน้ำหนักเกิดขึ้นในใจเราแล้ว อย่างจะหยิบ (ฝาแก้ว) ขึ้นมา พอใจมันรู้สึกนี่ของเราเท่านั้นละ หนักแล้ว

 

เรียนส่วนน้อย เรียนบางอย่าง สุดท้ายจะเข้าใจทั้งหมด

สรุป พวกเราต้องมีสติไว้ แต่สตินั้นเป็นสติปัฏฐาน ระลึกรู้กาย ก็คือรู้สึกกายอย่างที่กายเป็น ระลึกรู้เวทนาอย่างที่เวทนาเป็น ระลึกรู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้อย่างที่มันเป็น การที่จะรู้นั้นไม่ต้องตะเกียกตะกายรู้ๆ บางคนอยากดูจิตก็นั่งคิด เอ๊ะ จิตเราตอนนี้สุขหรือจิตตอนนี้ทุกข์ จิตตอนนี้โลภหรือไม่โลภ โกรธหรือไม่โกรธ หลงหรือไม่หลง อันนี้ใช้ไม่ได้ มันดิ้นรนมากไป เอาไว้เวลาเราไปกระทบอารมณ์แล้ว จิตเรามีความสุขขึ้นมาเรารู้ จิตเรามีความทุกข์เรารู้ เอาไว้เวลาที่กระทบอารมณ์แล้ว จิตมีราคะเรารู้ จิตไม่มีราคะเราก็รู้ หรือกระทบอารมณ์แล้ว จิตมีโทสะเราก็รู้ จิตไม่มีโทสะเราก็รู้ เห็นไหมมันตามหลังการกระทบอารมณ์มา เพราะฉะนั้นเราไม่เลี่ยง

มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีใจก็คิด แต่พอมันกระทบอารมณ์แล้วตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ใจกระทบธัมมารมณ์ พอกระทบแล้วมันเกิดสุขขึ้นในใจเรารู้ เกิดทุกข์ขึ้นในใจเรารู้ เกิดกุศล เกิดอกุศลขึ้นในใจเราก็รู้เอา เพราะฉะนั้นไม่ต้องเที่ยวหาว่า เอ๊ะ ตอนนี้จิตของเราเป็นกุศลหรืออกุศล ตอนนี้จิตของเราสุขหรือทุกข์ ไม่ต้องไปเที่ยวหามัน เราใช้ชีวิตธรรมดา ไม่ซีเรียส ชิลๆ สบายๆ แต่ไม่ใช่เพลิดเพลิน พูดคำว่าสบาย พวกเราก็จะขี้เกียจเสียอีก เอาคำว่า “สบาย” กับ “ขี้เกียจ” ไปเป็นอันเดียวกันขึ้นมาอีก ไม่ใช่

ความรู้สึกอะไรเกิดแล้วรู้เอา ไม่ต้องเที่ยวหา เอ๊ะๆๆๆ แล้วตอนนี้มันคืออะไร อันนี้ทำผิดแล้ว เราก็รู้มันไปตามธรรมดา รู้มันธรรมดา ไม่ใช่รู้แบบเบอร์ 3 เบอร์ 3 รู้เกินธรรมดาแล้ว รู้เหมือนคนติดยาเสพติดแล้ว รู้อย่างนี้ เรารู้ธรรมดา ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานเรื่อยๆ มีวิหารธรรมที่เราทำได้ ที่ทำไม่ไหวก็เว้นไปก่อน ไม่ต้องไปทำ อย่างดูกายก็ดูในส่วนที่ทำได้ ดูจิตก็ดูในส่วนที่ทำได้ แล้วดูเนืองๆ ดูเรื่อยๆ ดูบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในกายบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในจิตบ่อยๆ รู้สึกบ่อยๆ แล้วสติมันจะเข้มแข็งขึ้น พอเรารู้บ่อยๆ จิตมันจะจำสภาวะอันนั้นได้แม่น

อย่างหลวงพ่อ พื้นเดิมของหลวงพ่อเป็นพวกโทสจริตๆ เพราะฉะนั้นใจมันจะโกรธเก่ง หงุดหงิดเก่ง พอมันหงุดหงิดเราก็รู้ หงุดหงิดเราก็รู้ หัดรู้อยู่อย่างนี้ อันนี้ตัวโทสะเป็นพระเอกสำหรับหลวงพ่อเลย ตอนเป็นโยม หงุดหงิดแล้วก็รู้ หงุดหงิดแล้วรู้ไปเรื่อย ถึงจุดหนึ่งไม่ได้เจตนาจะรู้ พอจิตหงุดหงิด จิตก็รู้ของจิตเอง พอเราเห็นอันหนึ่งได้แจ่มชัดแล้ว พอจิตเป็นอย่างอื่นเรารู้ได้เอง จิตมีราคะเกิดขึ้น ไม่ได้เจตนาจะรู้ก็รู้ได้เอง จิตมีความสุขเกิดขึ้น ไม่ได้เจตนาจะรู้ก็รู้ได้เอง มันเริ่มต้นตั้งแต่เจตนาไปก่อน อย่างถ้าเราขี้โกรธ เราก็เจตนาดูไป ถ้าจิตเราโกรธเรารู้ จิตเราหงุดหงิดเรารู้ ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไปจิตมันจำสภาวะได้ จำสภาวะของโทสะได้ พอจิตมีโทสะปุ๊บ มันจะรู้ของมันเอง แล้วพอเราหัดดูจิตได้หนึ่งชนิดแล้ว จิตมีโทสะนี้เรารู้แล้ว ต่อไปมันจะรู้จิตชนิดอื่นได้ด้วยตัวเอง

อย่างหลวงพ่อเบื้องต้น หลวงพ่อจิตหงุดหงิดรู้ๆ จิตหงุดหงิดแล้วรู้ ต่อมาจิตสบายใจ จิตมีความสุขก็รู้ จิตมีราคะเกิดขึ้นมันก็รู้ ไม่ได้เจตนาจะรู้เลย เวลาฝึก ฝึกอันเดียว อย่างจิตมีโทสะกับจิตไม่มีโทสะ ฝึกอยู่คู่เดียว เสร็จแล้วตัวอื่นมันเป็นของแถม อันนี้มันจะเกิดสติขึ้นเอง เราเคยฝึกจิตมีโทสะ ต่อไปจิตมีราคะเราก็รู้ จิตฟุ้งซ่านเราก็รู้ จิตหดหู่เราก็รู้ มันรู้เอง รู้ขึ้นได้เอง ง่ายๆ เอาตัวหนึ่งให้ได้ก่อน ให้เห็นสภาวะอันหนึ่งให้ได้ก่อน อย่างของหลวงพ่อเริ่มต้นด้วยเห็นจิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ เห็นตัวเดียว ต่อไปมันก็เห็นตัวอื่นเนื่องกันไปหมด ได้หนึ่งก็จะได้ทั้งหมดๆ

ทำสมถะก็เหมือนกัน อย่างเราทำกสิณ กสิณมี 10 ชนิด ถ้าเราได้สักชนิดหนึ่งจนได้ถึงปฏิภาคนิมิต อย่างเราทำอานาปานสติ หายใจๆๆ จนกระทั่งลมมันมาอยู่ที่จมูก ลมมันเคลื่อนอยู่ที่ปลายจมูก พอลมระงับไปกลายเป็นแสง จากกสิณลมก็ได้ปฏิภาคนิมิต กลายเป็นดวงสว่างขึ้นมา กำหนดได้ เล็กได้ ใหญ่ได้ ต่อมาเราไม่ได้ใช้ลมหรอก เราก็เห็นลมมันไหลผ่านรูจมูก เราดูรูจมูก ดูช่องว่างที่ลมมันไหลผ่านไปผ่านมา มันเป็นกสิณอีกชนิดหนึ่ง ดูช่องว่าง เรียกอากาศกสิณ ถ้าเราดูลมจนกระทั่งมันได้ปฏิภาค พอมาดูรูจมูกแป๊บเดียวก็จะได้ปฏิภาค

หรือเราจุดเทียนไว้ เราดูไฟจนกระทั่งภาพไฟมันติดตา แล้วจากภาพไฟที่ไหวๆๆๆ กลายเป็นดวงสว่างขึ้นมา พอเราได้ปฏิภาคนิมิตมาอันหนึ่ง เราไปดูน้ำ ดูสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว มันก็จะได้ปฏิภาคอย่างง่ายๆ ฉะนั้นอันแรกที่ยาก อันอื่นจะง่าย เรื่องของกรรมฐานก็เหมือนกัน อันนั้นเรื่องของสมถะ อย่างเราหัดดูจิตดูใจของเรา จิตมีราคะเรารู้ จิตไม่มีราคะเรารู้ ดูอยู่แค่นี้ ต่อไปจิตมีโทสะมันก็รู้เอง จิตมีโมหะ ฟุ้งซ่าน หดหู่ มันก็รู้ของมันเอง จิตสุข จิตทุกข์อะไร มันก็รู้ของมันได้เอง

ค่อยๆ ฝึก เพราะฉะนั้นเบื้องต้นไม่ต้องฝึกเยอะ ฝึกอันเดียว ฝึกอันเดียวก็พอแล้ว ฝึกจุดเดียว เช่น หายใจออกกับหายใจเข้า ยืน เดิน นั่ง นอน นี้ก็เซ็ตหนึ่ง เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง นี่ก็อีกเซ็ตหนึ่ง ฝึกเซ็ตเดียวพอ หรือสุขทุกข์ในใจ สุข ทุกข์ เฉยๆ ในใจ นี้ก็เซ็ตหนึ่ง โลภ ไม่โลภ นี้เซ็ตหนึ่ง โกรธ ไม่โกรธ เซ็ตหนึ่ง หลง ไม่หลง นี้เป็นอีกเซ็ตหนึ่ง ฟุ้งซ่าน หดหู่ นี้เซ็ตหนึ่ง เวลาฝึกเอาอันเดียวก็พอ ไม่ต้องเรียนหมด เรียนส่วนน้อย เรียนบางอย่าง สุดท้ายมันจะเข้าใจทั้งหมด

 

จิตเข้าถึงความเป็นกลางด้วยปัญญาอันยิ่ง

พอเราดูซ้ำๆๆ ไป เช่น ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ดูซ้ำๆๆ ไป ต่อไปมันจะเริ่มเห็นความจริง ร่างกายนี้ไม่มีอะไร ร่างกายมันเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ มันเป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตมันก็เริ่มเข้าสู่ความเป็นกลาง ร่างกายนี้จะแก่ จิตก็ไม่ยินดียินร้าย เพราะมันเป็นธรรมดา อย่างเห็นธรรมดานั่นล่ะร่างกายจะเจ็บ จิตก็ไม่ยินดียินร้าย เพราะความเจ็บนั้นเป็นธรรมดา ร่างกายจะตาย จิตก็ไม่ยินดียินร้าย เพราะความตายเป็นเรื่องธรรมดา

ภาวนา สุดท้ายมันจะมาสู่คำว่าธรรมดา ใจมันจะเป็นกลาง เห็นทุกอย่างธรรมดาไปหมด เจอกับสิ่งที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่รัก ประสบสิ่งที่ไม่รัก สิ่งที่ไม่รักหายไป จิตมันก็เป็นกลาง ทุกอย่างมันธรรมดา พอเราฝึกเรื่อยๆ มันจะเห็นว่าโลกนี้มันธรรมดา กายนี้ธรรมดาเป็นอย่างนี้ จิตนี้ธรรมดาเป็นอย่างนี้ โลกนี้ธรรมดาเป็นอย่างนี้ พอจิตมันยอมรับความเป็นธรรมดา จิตก็ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เป็นกลางกับทุกสิ่งทุกอย่างได้ จิตเข้าถึงความเป็นกลางด้วยปัญญา ปัญญาเกิดจากการที่เราเจริญสติปัฏฐานนี้ล่ะ ดูไปเรื่อยเห็นความจริงของกาย เห็นความจริงของเวทนา เห็นความจริงของจิต เห็นความจริงของรูปธรรมนามธรรมทั้งปวง จิตก็เป็นกลาง ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เพิกถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้

ในสติปัฏฐานใช้คำว่า “วิเนยยะโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง ถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้” มันถอนด้วยปัญญา เราไม่ต้องไปถอนมัน ถ้าเราพยายามจะถอนนั่นล่ะโทสะ ไม่ใช่ปัญญา ฝึกเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราจะพบว่า กายนี้ไม่มีอย่างอื่นมีแต่ทุกข์ จิตนี้ไม่มีอย่างอื่นมีแต่ทุกข์ โลกนี้ไม่มีอย่างอื่นมีแต่ทุกข์ ธรรมดาเป็นอย่างนี้ พอเห็นว่าธรรมดาเป็นอย่างนี้ จิตก็ไม่ยินดี จิตก็ไม่ยินร้าย จิตก็เข้าสู่ความเป็นกลาง อันนี้เรียกว่าจิตได้ปัญญาชั้นยอดเลย เรียกว่าสังขารุเปกขาญาณ จิตเข้าถึงความเป็นกลาง

ตรงที่จิตเข้าถึงความเป็นกลางด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว จิตจะมีทางเลือก 3 ทาง อันหนึ่งการปฏิบัติของเราย่อหย่อน มันก็เสื่อม ปัญญาอันนี้ยังเสื่อมได้ อีกอันหนึ่งอินทรีย์ของเราแก่กล้า มันก็จะเกิดอริยมรรค เกิดอริยผล อีกอันหนึ่งก็คือเป็นเส้นทางของพระโพธิสัตว์ ถ้าภาวนาจนกระทั่งจิตเข้าถึงสังขารุเปกขาแล้ว เป็นกลางกับความปรุงแต่งทั้งปวงแล้ว แล้วได้พบพระพุทธเจ้า ได้สร้างคุณงามความดียิ่งใหญ่กับพระพุทธเจ้า แล้วตั้งความปรารถนา วันหนึ่งข้างหน้าขอให้ข้าพเจ้าได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าสักองค์หนึ่ง เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ สืบทอดภารกิจของพระองค์ต่อไป

ถ้าเราไม่ได้สังขารุเปกขา พระพุทธเจ้าจะไม่พยากรณ์ให้ เพราะอะไร เพราะเรายังทนความทุกข์ไม่ได้จริง เรายังยินดีพอใจในความสุข ยินร้ายในความทุกข์อยู่ ไม่สามารถอดทนเดินเส้นทางของพระโพธิสัตว์ได้ เส้นทางของพระโพธิสัตว์ ต้องใช้ความอดทนสูงมาก สูงกว่าที่พวกเราเผชิญนี้มากมาย ต้องกล้าหาญมากมาย เพราะฉะนั้นการที่เราฝึกสติปัฏฐาน ทุกคนควรจะฝึก ถึงจะเดินเส้นพุทธภูมิก็ต้องฝึก ถ้าไม่ยอมฝึกสติปัฏฐาน แล้วบอกว่าหวังพุทธภูมิ ถ้าไปเจอพระศรีอาริย์เข้า แล้วไปตั้งความปรารถนา ท่านคงส่ายหน้า ยังไม่พยากรณ์ให้หรอก ยังไม่แน่นอน เดี๋ยวเธอเจอความสุข เธอก็วิ่งตามไป เดี๋ยวเธอเจอความทุกข์ เธอก็ทุรนทุรายไป รับไม่ได้

เพราะฉะนั้นการที่เราหัดเจริญสติของเราเรื่อย รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ใจของเราไปเรื่อยๆ สุดท้ายจิตมันจะเข้าสู่ความเป็นกลาง ตรงนั้นถ้าบุญบารมีเราพอ เราก็ได้มรรคได้ผลในชีวิตนี้ คนอื่นทำไมเขาทำได้ เราก็น่าจะทำได้ คนที่เขาได้มรรคได้ผล แต่เดิมเขาก็เหมือนเรา เขาก็มีกิเลส อย่าว่าแต่พวกเราเลย พระพุทธเจ้าเองก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ตกนรกมาแล้ว ท่านก็มีกิเลสมาแล้ว ทำไมท่านทำได้ ท่านอดทนๆ ตั้งใจมั่น มีอธิษฐานบารมี ตั้งใจต่อสู้เด็ดเดี่ยว ของเราไม่ถึงขนาดตั้งใจเป็นพระพุทธเจ้า เราตั้งใจไว้แค่ว่าเราจะต้องพ้นทุกข์ให้ได้ ตั้งใจไว้อย่างนี้ก็พอ

 

ตั้งใจไว้แค่ว่าเราจะต้องพ้นทุกข์ให้ได้ ตั้งใจไว้อย่างนี้

อย่างหลวงพ่อภาวนา ตอนเด็กๆ ไม่ได้รู้เรื่องหรอก นิพพานอะไร ใจมันอยากภาวนา ภาวนาไปถึงช่วงหนึ่งมันเห็น จิตนี้ถูกอะไรบางอย่างห่อหุ้มอยู่ ไม่รู้หรอกว่าที่มาหุ้มจิตอยู่คืออะไร แต่รู้แล้วว่าจิตนี้เหมือนคนติดคุก ใจมันรู้สึก เราเกิดมาอยู่ในคุกนี่นา แล้วเราก็มีชีวิตอยู่ตลอดเวลาอยู่ในคุกนี้ ถ้าเราจะต้องตายในคุกนี้อีก แล้วจะไปเกิดอยู่ในคุกอีก เรายอมไม่ได้ ใจมันก็มีความเด็ดเดี่ยว ที่จะแหกคุกอันนี้ออกมาให้ได้ ภาวนาเรื่อยๆ ก็จะรู้เลย คุกที่ขังเราไว้คือตัวอาสวกิเลส อาสวกิเลสเป็นตัวที่มาคุมขังเรา อาสวะเกิดจากอะไร อาสวะเกิดจากอวิชชา ไม่รู้แจ้งอริยสัจ อวิชชาเกิดจากอะไร อวิชชามีอาสวะเป็นปัจจัย

อาสวะกับอวิชชา มันหล่อเลี้ยงซึ่งกันและกัน ฉะนั้นวัฏฏะนี้ยาวไม่มีที่สุดเลย มันหล่อเลี้ยงกันอยู่ ฉะนั้นต้องอดทนกว่าจะแหวกวงล้อมของกิเลสออกไปได้ ต้องสู้ ยอมลำบากเสียตั้งแต่ตอนนี้ ดีกว่าลำบากทีหลัง ลำบากตั้งแต่ยังมีกำลัง ดีกว่าไปลำบากตอนแก่ ตอนเจ็บ ตอนจะตาย ถึงตอนนั้นไม่มีกำลังจะสู้แล้ว พอใกล้จะตายมาให้ลูกหลาน เอาผ้าไตร เอาบาตร มาให้หลวงพ่อ ขอให้รอด มันรอดไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องรอให้คนเขามาชักบังสุกุลให้เรา ทำความดีด้วยตัวของเราเอง พึ่งตัวเองให้ได้

การพึ่งตัวเองสำคัญมาก ยิ่งนานวันยิ่งสำคัญมากเลย คนแต่ก่อนมีลูกมีหลานก็หวังพึ่งลูกหลาน ต่อไปนี้พึ่งไม่ได้แล้ว มันหมดยุคแล้ว ลูกศิษย์กับครู ลูกศิษย์ ครู มันก็ไม่นับถือ พ่อแม่มันก็ไม่นับถือ ไม่รู้สึกมีบุญคุณอะไร โลกของสัตว์เดรัจฉานอย่างนี้ มันเยอะ สัตว์ในนรกมันขึ้นมาเยอะ มันจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราอย่าไปหวังพึ่งลูกพึ่งหลานอะไรเลย ต้องพึ่งตัวเองให้ได้ สังคมของเราเมื่อก่อนหน้านี้ หลังสงครามโลก เด็กเกิดเยอะ แล้วบ้านเมืองยากลำบาก พวกเราเติบโตมาท่ามกลางความยากลำบาก สร้างบ้านสร้างเมืองเจริญขึ้นมาอย่างนี้ รุ่นลูกรุ่นหลานเรามันสบาย มันไม่เคยผ่านความลำบากมาก่อน มันก็เป็นคนอีกชนิดหนึ่งขึ้นมาแล้ว มันพอใจแต่เรื่องความสุข มันไม่พอใจที่จะต่อสู้ชีวิตอะไรเท่าไรแล้ว ก็เพ้อๆ ฝันๆ ไป

ต่อไปเด็กมันมีจำนวนน้อยแล้ว คนแก่มันเยอะ หวังให้เด็กมันเลี้ยงคนแก่ เป็นไปไม่ได้แล้ว ต่อไปคอยดู กระทั่งจะเสียภาษี มันก็จะเริ่มตั้งคำถามแล้ว ที่มันเสียภาษีแล้วมันได้อะไร ทำไมเอาภาษีของมันไปเลี้ยงคนแก่ มันลืมไปว่า พวกคนแก่สร้างบ้านสร้างเมืองมาให้มันอยู่ มันลืมไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นอย่างในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไปดูเถอะคนแก่ถูกทิ้งทั้งนั้น เรากำลังเดินเข้าสู่จุดนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าตกใจ เข้าใจความเป็นจริง โลกมันเป็นอย่างนี้ คำว่าบุญคุณไม่มีแล้ว มีแต่เรื่องผลประโยชน์ ฉะนั้นเราต้องพึ่งตัวเองให้ได้ ทำมาหากินอะไร ก็รู้จักที่จะดูแลตัวเองไว้ อย่าเพ้ออย่าฝันอะไร อยู่ให้ได้ให้นานที่สุด เลี้ยงตัวเองให้นานที่สุด ถึงจุดที่ต้องเป็นอย่างนี้แล้ว ต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้นานที่สุด

อย่างหลวงพ่อเคยไปบางประเทศ เห็นคนอายุตั้งแปดสิบกว่า กวาดอยู่ในสนามบิน ก็ต้องกวาด ต้องทำงานจนกระทั่งวันหนึ่งหมดกำลัง ทำอะไรไม่ได้เขาก็นอนตายไป ก็จะเป็นแบบนั้นบ้านเมือง ไม่ต้องตกใจ มันเป็นอย่างนี้ล่ะ ตนเป็นที่พึ่งของตน วางแผนชีวิตของเราให้ดีว่าจะอยู่อย่างไร ไม่ได้พูดให้กลัว จะกลัวหรือไม่กลัววันหนึ่งต้องเจอ ไหนๆ ต้องเจอแล้ว ต้องเจออย่างลูกพระพุทธเจ้า องอาจกล้าหาญ เผชิญความจริงให้ได้

 

 

พวกเรามานั่งในศาลา อุตส่าห์มา ต่อไปวันไหนจะมาฟังเทศน์ที่วัด ตื่นนอนก็มีสติไว้เลย ตื่นนอนแล้วจิตใจมันตื่นเต้น มันจะรีบ มันกลัวมาไม่ทัน รู้ว่ามันตื่นเต้น รู้ว่ามันรีบ รู้ว่ามันกังวล การปฏิบัติ ปฏิบัติตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเราหลับไป ฝึกอย่างนี้ทุกวันๆ แล้วก็อยู่กับโลก ไม่ต้องหนีโลก นักปฏิบัติเข้าใจโลก ไม่ได้หนีโลกหรอก ถ้าเราหนีโลกยังไม่ใช่นักปฏิบัติตัวจริง อยู่กับโลกแต่ว่าใจไม่ปนเปื้อน ใจอยู่อย่างมีความสุข มีความสงบ

ตอนเริ่มใหม่ๆ เราอาจจะไม่เห็น ว่าที่เราทำอยู่นี้มันมีผลอย่างไร แต่พอเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ต่อไปเราจะเริ่มสังเกตเห็นความต่างที่เกิดขึ้น ระหว่างเราที่ขยันภาวนาต่อเนื่องยาวนาน กับคนที่เขาไม่ได้ปฏิบัติ เราจะเห็นมันไม่เหมือนกันหรอก อย่างหลวงพ่อนั่งรถไป ผ่านไปเห็นคนข้างถนน ดูปั๊บเราก็รู้คนไหนปฏิบัติ คนไหนไม่ปฏิบัติ มันไม่เหมือนกันหรอก ระหว่างคนปฏิบัติกับคนไม่ปฏิบัติ คนไม่ปฏิบัติมันก็มอมแมมไป คนปฏิบัติก็มีอีก 2 แบบ ปฏิบัติถูกกับปฏิบัติไม่ถูก ถ้าปฏิบัติไม่ถูกก็จะเป็นพวกเพ่ง ไปไหนก็บังคับตัวเองไปเรื่อยๆ เครียดๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ปฏิบัติก็พวกหลง หลงไปเรื่อยๆ ถ้าปฏิบัติถูก หลงแล้วรู้ๆ ไม่ใช่ไม่หลง

ฉะนั้นเราพยายามฝึกตัวเอง หลงแล้วรู้ๆ ไป แต่ต้องมีเครื่องอยู่ ถ้าไม่มีเครื่องอยู่มันจะหลงยาว ความจริงจังไม่ใช่เรื่องดีหรอก จริงจังแบบบางคนทำอยู่ มันหาความทุกข์ให้ตัวเอง รู้สึกกายอย่างที่กายเป็นไป รู้สึกใจอย่างที่ใจเป็นไป กล้าๆ หน่อย แค่รู้สึก ร่างกายหายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายหายใจเข้าไม่ใช่เรา แค่นี้พอแล้ว ไม่ต้องฉลาดรอบรู้อะไรมากมายนักหรอก ความฉลาดรอบรู้เป็นเครื่องมือของมารที่จะผูกเราไว้ มันคืออภิสังขารมาร เอาอันเดียวเลย ร่างกายหายใจออกก็รู้ ร่างกายหายใจเข้าก็รู้ คนอื่นไม่เกี่ยวนะ พวกเราเคยทำกรรมฐานอะไรเราก็ทำไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 กันยายน 2565