เห็นจิตเป็นทุกข์จึงปล่อยวางจิต

การปฏิบัติธรรมมันมีเหตุมีผล มีขั้นตอนเป็นลำดับ อยู่ๆ ก็จะปล่อยวางจิตอะไรอย่างนี้มันทำไม่ได้หรอก มีโยมมาถามหลวงพ่อว่า ภาวนาต้องปล่อยวางจิตใช่ไหม? ใช่ แต่ไม่ใช่ตอนนี้ เบื้องต้นเรายังไม่ต้องพูดเรื่องปล่อยวางจิตหรอก ล้างความเห็นผิดก่อน ว่าตัวเรามีอยู่หรือไม่มีอยู่ เราเห็นผิดว่าตัวเรามีอยู่ ร่างกายนี้เป็นตัวเรา เวลาสุขทุกข์อะไรก็เราสุข เราทุกข์ เราจำได้ เราดี เราชั่ว เราโลภ เราโกรธ เราหลง เราดู เราฟัง เราได้กลิ่น เราได้รส เราสัมผัสทางกาย เราคิด มันมีเราอยู่ทุกหนทุกแห่ง ฉะนั้นเบื้องต้นยังไม่ต้องไปทำลายจิต ต้องมีจิตก่อน มีจิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูก่อน การทำลายผู้รู้ ทำลายจิต มันขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติ ขั้นต้นๆ ถือศีล 5 ไว้ ต้องถือศีล 5 ให้ได้ก่อน ก็ฝึกพัฒนาเครื่องมือที่จะใช้ในการปฏิบัติ พัฒนาสติ พัฒนาสมาธิขึ้นมา แต่ละอย่างๆ ไม่ใช่พัฒนาง่ายๆ สตินี่ พวกเราเคยชินกับการขาดสติ จะพัฒนาจนสติอัตโนมัติเกิด ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝึกกันหนักหนาสาหัส ต้องฝึกเจริญสติปัฏฐาน

การเจริญสติปัฏฐานนั้น เบื้องต้นจะทำให้เราได้สติ เบื้องปลายจะทำให้ได้ปัญญา หัดรู้สภาวะ เช่นร่างกายหายใจออกรู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนรู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึกไป มีความสุข มีความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกายก็รู้สึก มีความสุข มีความทุกข์ มีความไม่สุข ไม่ทุกข์ เกิดขึ้นในจิตใจ ก็รู้ไป ตามรู้ตามเห็นเนืองๆ จิตโลภขึ้นมาก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตรู้ตัวขึ้นมาไม่หลงก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ จิตมีอุปจารสมาธิก็รู้ จิตมีอัปปนาสมาธิก็รู้ แต่ของเรามันไปไม่ถึงตรงนี้ ส่วนใหญ่ก็ได้แค่จิตโลภ ไม่โลภ โกรธ ไม่โกรธ หลง ไม่หลง ฟุ้งซ่าน หดหู่ ส่วนใหญ่ได้เท่านี้

หัดรู้สภาวะเนืองๆ รู้บ่อยๆ ถ้ารู้บ่อยๆ ต่อไปจิตมันจำได้ อย่างเราดูร่างกายหายใจออกรู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก ต่อไปพอเราขาดสติ เราเห็นสาวๆ เดินมา ใจมันเต้นตุ๊มต่อม ราคะมันเกิด จังหวะการหายใจมันเปลี่ยน ตรงที่จังหวะการหายใจเปลี่ยน ถ้าเราเคยฝึกหายใจแล้วรู้สึก หายใจแล้วรู้สึก สติมันจะเกิดขึ้น หรือตรงที่ราคะมันเกิดขึ้น เราเคยฝึกรู้ ราคะเกิดขึ้นเรารู้ ราคะเกิดขึ้นเรารู้ ไปเห็นสาวเข้าราคะเกิดอย่างนี้ มันก็จะรู้อัตโนมัติขึ้นมา

ต้องฝึก อยู่ดีๆ มันทำไม่ได้หรอก จะไปปฏิบัติธรรม ก็ต้องฝึกให้มันมีสติก่อน ถือศีล 5 ไว้ ฝึกสติให้มาก จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน เห็นร่างกายมันยืน ร่างกายมันเดิน ร่างกายมันนั่ง ร่างกายมันนอน ต่อไปพอร่างกายมันขยับ มันเปลี่ยนอิริยาบถอะไรสติเกิดเอง หรือชอบดูนามธรรม นามธรรมที่ดูง่ายคือตัวเวทนา เวทนาทางกายดูยาก อย่างจะดูความเจ็บป่วยในกาย มันเจ็บมากๆ สติมันแตก ถ้าไม่ทรงสมาธิจริงๆ ดูเวทนาทางกายยาก จิตมันทนไม่ไหว แต่ดูเวทนาทางใจ ง่าย เป็นกรรมฐานที่หลวงพ่อดูไปดูมา หลวงพ่อว่ามันง่ายที่สุด เวทนาทางใจมีอยู่ 3 ตัวเอง ถ้าดูสังขารมันมีตั้งเยอะ มีตั้งหลายสิบตัว แต่เวทนาทางใจมันมีนิดเดียว ตัวสังขารมีตั้ง 50 ตัว เวทนาทางใจมีอยู่ 3 ตัวเอง สุข ทุกข์ เฉยๆ

 

การเจริญสติปัฏฐานนั้น เบื้องต้นจะทำให้เราได้สติ เบื้องปลายจะทำให้ได้ปัญญา

 

ฉะนั้นถ้าเราจะภาวนาง่ายๆ เราคอยรู้ทันจิตใจของเรา จิตใจเรามีความสุขก็รู้ จิตใจเรามีความทุกข์ก็รู้ จิตใจเราเฉยๆ ก็รู้ มันหมุนอยู่อย่างนี้ทั้งวันทั้งคืน ดูไปจนกระทั่งมันอัตโนมัติ พอความสุขเกิดขึ้น สติระลึกได้เอง เกิดขึ้นเองเลย ความทุกข์เกิดขึ้นสติระลึกได้เอง ความเฉยๆ เกิดขึ้นสติระลึกได้เอง ตัวนี้ง่ายๆ มันไม่มีอะไรซับซ้อน สุข ทุกข์ เฉยๆ 3 ตัว ที่หมุนอยู่ในใจเราทั้งวันทั้งคืน ดูง่าย ถ้าดูสังขาร มันมีให้ดูเยอะแยะไปหมด โลภ โกรธ หลง ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ฟุ้งซ่าน หดหู่ ดีใจ เสียใจ อิจฉา กลุ้มใจ กังวล กลัวอะไรแบบนี้ สารพัด มีเยอะแยะไปหมดเลย สงบ ไม่สงบ ฉะนั้นดูสังขารมีให้ดูเยอะ แต่ถ้าดูเวทนาทางใจไม่ซับซ้อนอะไร ง่ายๆ ใครๆ ก็ดูได้ อย่างขณะนี้ใจเราสุข หรือใจเราทุกข์ หรือใจเราเฉยๆ ก็แค่นี้ล่ะ คอยรู้คอยดูไป ไม่ต้องรีบสังเกต อย่าพยายามไปสังเกต คอยจ้องๆ จะดูซิตอนนี้มันสุข หรือมันทุกข์ หรือมันเฉยอะไรแบบนี้ มันจะดูอะไรไม่รู้เรื่อง เพราะตอนนั้นสติไม่เกิด โลภะมันเกิด มันอยากรู้ว่าตอนนี้จิตใจเรามีเวทนาตัวไหน

เวทนาเป็นธรรมะ เป็นสภาวธรรมที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง ฉะนั้นเวทนานี้มีในจิตทุกๆ ดวง จิตบางดวงมีแต่อุเบกขา ไม่สุข ไม่ทุกข์ จิตบางดวงมีความสุข จิตบางดวงมีความทุกข์ เอาแน่ไม่ได้ จิตที่เป็นกุศลก็จะมีความสุขกับมีอุเบกขา จิตที่เป็นอกุศลมีความสุขก็ได้ อย่างจิตที่มีราคะมีความสุขได้ จิตที่มีโทสะก็มีความทุกข์ได้ จิตที่มีโมหะ ประกอบอยู่ในจิตที่มีราคะ ประกอบอยู่ในจิตที่มีโทสะ ราคะ โทสะจะเกิดได้ต้องมีโมหะเกิดร่วมด้วย ไม่อย่างนั้นมันเกิดไม่ได้ ถ้าไม่หลงเสียอย่างเดียว มันก็ไม่โลภ ถ้าไม่หลงเสียอย่างหนึ่ง มันก็ไม่โกรธก็เท่านั้นล่ะ มันมีเยอะนะ ฉะนั้นเราคอยรู้คอยดูเวทนาในใจเรา มันไม่ยากเลย มันมี 3 ตัวเอง มันมีความสุขขึ้นมาก็รู้ มันทุกข์ขึ้นมาก็รู้ มันเฉยๆ ก็รู้

เมื่อปี พ.ศ.2547 หลวงพ่อนั่งเล่นๆ อยู่ในกุฏิ จิตมันมีความสุขขึ้นมา เราก็รู้ มีความสุขก็รู้ไปเรื่อย ไม่ได้ทำอะไรนั่งสบายๆ อยู่ๆ ความสุขมันดับวับไป มันมีทุกข์ปรากฏขึ้นแทน เราก็รู้ไป ตัวไหนเกิดก็รู้ตัวนั้น ไม่ต้องเที่ยวแสวงหาว่าตอนนี้สุข หรือทุกข์ หรือเฉย ถ้าแสวงหาจะไม่เจอ ไม่ต้องแสวงหาอะไร ดูง่ายๆ กรรมฐานตัวนี้หลวงพ่อว่ามันง่ายที่สุดแล้ว เวลาสบายใจมีความสุขใจรู้สึกไหม ไม่ยากที่จะรู้ ใครๆ ก็รู้ได้ แต่หาคนที่จะสนใจรู้นั้นไม่ค่อยได้ อย่างเวลาเรามีความสุขเกิดขึ้น เราจะไปสนใจสิ่งที่มาเร้าให้เรามีความสุข อย่างเห็นรูปสวยๆ แล้วมีความสุข แทนที่จะเห็นว่าจิตกำลังมีความสุข มันจะไปสนใจรูปที่ทำให้มีความสุข

อย่างเห็นสาวงามมาแล้วมีความสุข ราคะมันเกิด มันมีความสุขขึ้นมา ตรงที่ราคะเกิด มีอุเบกขาก็ได้ มีความสุขก็ได้ อย่างเราเห็นสาวงามมาอย่างนี้ จิตเรามีความสุข ไม่มีใครมาดูจิตตัวเองหรอก จะต้องรีบดูสาว หรือถ้าผู้หญิง หรือเกย์อะไรนี่เห็นหนุ่มหล่อมา จิตมันพอใจ ไม่มีใครดูว่าจิตตัวเองกำลังพอใจ ก็จะไปดูหนุ่มที่เราชอบ หรือเห็นข้าวของ เครื่องเพชร เครื่องอะไร จิตมันโลภอยากได้ ไม่มีใครดูว่าจิตอยากได้ มีแต่ว่าไปดูของที่อยากได้ มันแค่นี้เองที่ทำให้เราไม่สามารถเห็นสภาวธรรมได้ คือเราไม่ใส่ใจที่จะดู

หลวงปู่ดูลย์ท่านถึงสอนบอกว่า “การปฏิบัติไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” ที่ว่ายากๆ เพราะไม่ได้ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติก็คือจิตมีความสุขก็รู้ จิตมีความทุกข์ก็รู้ จิตเฉยๆ ก็รู้ แค่นี้ก็เรียกว่าปฏิบัติแล้ว เฝ้ารู้เฝ้าดูไป คนทั้งหลายมัวแต่สนใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย หรือในเรื่องราวที่คิด อย่างคิดอะไรเพลินๆ ไป แล้วก็มีความสุขขึ้นมา อย่างคนแก่คิดถึงอดีตมีความสุข เด็กๆ ก็ฝันเฟื่องไปถึงอนาคต แล้วก็มีความสุข โตขึ้นเราจะเป็นนักบินอวกาศ จะเป็นโน่น จะเป็นนี่ เพลินไปมีความสุข มันไม่ได้ย้อนมาดู ว่าตอนนี้จิตสุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ ถ้าย้อนมาสังเกตเรื่อยๆ ต่อไปมันจะเห็นเลย จิตสุขก็ไม่เที่ยง จิตทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตเฉยๆ ก็ไม่เที่ยง

จิตสุข เราก็สั่งให้มันสุขอย่างนี้ตลอดก็ไม่ได้ จิตทุกข์เราห้ามมันทุกข์ก็ไม่ได้ จิตเฉยๆ เราจะไปสั่งให้มันสุข ให้มันทุกข์อะไรขึ้นมา อย่าเฉยนานอะไรอย่างนี้ มันก็ห้ามไม่ได้ เฝ้ารู้เฝ้าดูไปจนเห็นความจริง จิตมันเป็นอนัตตา มันสั่งไม่ได้ มันบังคับไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจของเราที่จะสั่งตามใจชอบ เฝ้าดูไปจะเห็นเลย เฝ้าดูแค่เวทนา 3 ตัวนี้ สุดท้ายมันจะเห็นจิตเอง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ดูไปเรื่อยๆ มันจะเข้าใจธรรมะขึ้นมา

 

ในสติปัฏฐาน 4 ไม่ว่าจะดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรม ก็ทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

เวลาเราดูกาย กายานุปัสสนา เวลาเข้าใจธรรมะ ก็เข้าใจทั้งกายทั้งจิต เวลาเราดูเวทนาเราก็เข้าใจทั้งกายทั้งจิต จะเห็นไปหมดมันเนื่องกันไปหมด ได้อันหนึ่งก็จะได้อีกอันหนึ่ง อัตโนมัติขึ้นมา คล้ายๆ กสิณเหมือนกัน กสิณมี 10 อย่าง สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว นี่กสิณสี กสิณธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วก็มีช่องว่าง อะไรต่ออะไรมี 10 ตัว กสิณ ถ้าฝึกได้ตัวหนึ่งอีก 9 ตัวไม่ยากแล้ว ตัวแรกฝึกกว่าจะสำเร็จ จะใช้เวลาเป็นปีๆ แต่ตัวหลังๆ จะใช้เวลาสั้นลงๆ แล้วมันจะเกี่ยวเนื่องกันไปหมด มันแบบเดียวกัน ฉะนั้นอย่างเราดูในขันธ์ 5 เรานี่ ถึงเริ่มต้นดูกาย เวลารู้ก็รู้แจ้งทั้งขันธ์ 5 ถึงจะดูจิตมันก็รู้แจ้งทั้งขันธ์ 5 ทำไมดูจิตแล้วรู้ทันว่ารูปไม่ใช่เรา ตามองเห็นจิตเราถึงเปลี่ยน รูปที่ตาเห็น มันบังคับได้ไหม จงเห็นแต่รูปที่ดี จงอย่าเห็นรูปเลว เราสั่งตาเราไม่ได้ว่าจงเห็นแต่ของดี มันเห็นของดีบ้าง เห็นของไม่ดีบ้าง จิตก็เลยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง

เราดูเวทนาเราก็เห็นทั้งกายทั้งจิต ดูจิตที่เป็นกุศล อกุศล เราก็เห็นทั้งกาย เห็นทั้งจิต ฉะนั้นดูธรรมะอันใดอันหนึ่ง สามารถรู้แจ้งแทงตลอด สามารถทำพระนิพพานให้แจ้งได้ ปล่อยวางได้ทั้งกายทั้งจิต บางท่านดูกายเป็นหลักอย่างท่านพระอานนท์ พระอานนท์ท่านดูกายจนถึงวันสุดท้าย คืนสุดท้ายก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ คืนก่อนวันสังคายนา ในพระไตรปิฎกบอกว่า “พระอานนท์ยังราตรีให้ล่วงไป ด้วยกายคตาสติเป็นส่วนมาก” กายคตาสติตัวนี้ไม่ใช่ดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะอะไรอย่างนี้ไม่ใช่ กายคตาสติตัวนี้ ก็คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านดูกายลงไป ตามรู้กายไป อาจจะรู้การหายใจ รู้อิริยาบถ มีสัมปชัญญะรู้ความเคลื่อนไหว ความหยุดนิ่ง หรือเห็นความเป็นธาตุของร่างกาย เป็นวัตถุธาตุ ในคัมภีร์ไม่ได้ระบุละเอียดว่าท่านเห็นกายในบรรพไหน ในส่วนไหน ในแง่มุมไหน พูดแต่ว่าท่านเจริญกายคตาสติเป็นส่วนมาก กายคตาสติตัวนี้ หมายถึงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมันมีหลายบรรพ หลายหมวด แต่บางหมวดไม่ทำให้บรรลุพระอรหันต์หรอก อย่างพิจารณาเป็นปฏิกูลอสุภะอะไรพวกนี้เป็นสมถะ

พระอานนท์ท่านดูกาย ของท่าน แล้วก็ลุ้นพรุ่งนี้เป็นวันสังคายนา ผู้เข้าร่วมสังคายนาควรจะเป็นพระอรหันต์ มีแต่พระอรหันต์ที่เข้าร่วม ท่านไม่เป็นก็พยายามเดินจงกรม นั่งสมาธิอะไรอย่างนี้ ดูกายเป็นส่วนมาก แล้วส่วนน้อยทำอะไร ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติเราจะรู้ ในคัมภีร์ไม่ได้เขียนไว้ แต่ถ้าเราภาวนาเรารู้ ส่วนน้อยก็คือจิตมันรวมลงไป ดูกายเจริญปัญญาอยู่ จิตมันจะพลิกเข้ามาทำสมถะเป็นช่วงๆๆ ไป ท่านกำลังมุ่งเจริญปัญญาอยู่ ท่านไม่ทำสมาธิแล้วแช่อยู่นานๆ เวลาส่วนใหญ่ท่านก็ดูกาย ส่วนน้อยจิตมันก็รวมลงไปพัก เป็นระยะๆ ไป แต่สุดท้ายท่านก็รู้สึกว่าเราทำไม่ได้หรอก เอนตัวลงนอน ท่านนอนบนเตียงแคบๆ ทำไมหลวงพ่อรู้ว่าเตียงแคบๆ หลวงพ่อเคยลองแล้ว อ่านพระไตรปิฎก บอกพระอานนท์ศีรษะไม่ทันถึงหมอน เท้าไม่ทันพ้นจากพื้น ก็บรรลุพระอรหันต์ เท้ายังเหยียบพื้นอยู่เลยเอนลงไป ถ้าเตียงกว้างๆ ทำไม่ได้ เตียงกว้างๆ ต้องปีนขึ้นบนเตียงก่อน เท้าพ้นพื้นไปก่อนแล้ว นี้เตียงแคบๆ หมอนก็อยู่ข้างเตียงนี่เอง แสดงว่ามันไม่ใช่เตียงใหญ่โตอะไร เอนศีรษะลงไปแล้วเท้ายังไม่ทันจะพ้น ตรงนั้นท่านหมดความจงใจ ท่านเดินสติ เดินปัญญามาเต็มเหนี่ยวแล้ว พอรวมลงไปทีเดียวก็ตัด เป็นพระอรหันต์ได้

เพราะฉะนั้นดูกายก็ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดูเวทนาก็ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ อย่างท่านพระโมคคัลลา พระสารีบุตร ท่านดูเวทนา ดูจิตก็ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ อย่างท่านพระอนุรุทธ ท่านพระอนุรุทธตอนได้โสดาบันแล้ว ท่านก็มาภาวนาแล้ว แล้วท่านก็ชอบที่จะดูสัตว์โลก มีทิพยจักษุเที่ยวดูจักรวาลโน้น จักรวาลนี้อะไรก็ดูได้ ดูสัตว์ทั้งหลายตั้ง 1,000 โลกธาตุเกิดดับในเวลาครู่เดียว ท่านดูๆๆ ไปมันก็เกิดดับๆๆ ทำไมไม่บรรลุพระอรหันต์เสียที เลยมาถามพระสารีบุตรว่า “กระผมมีทิพยจักษุเลิศกว่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย กระผมเห็นโลกธาตุตั้ง 1,000 โลกธาตุ เกิดดับในเวลาครู่เดียว ทำไมกระผมยังไม่บรรลุพระอรหันต์เสียที”

พระสารีบุตรก็สอนบอกว่า ตรงที่ท่านบอกว่าท่านมีทิพยจักษุเลิศกว่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นความถือตัวของท่าน เป็นมานะอย่างยิ่ง เป็นอติมานะ กูแน่กว่าคนอื่น อันนี้เป็นกิเลสตัวที่หนึ่ง ท่านเห็นโลกธาตุตั้ง 1,000 โลกธาตุ เกิดดับในเวลาครู่เดียว นี้ส่งจิตออกนอก จิตฟุ้งซ่านไม่รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน นี่กิเลสตัวที่สอง เสร็จแล้ว “ทำไมผมไม่บรรลุพระอรหันต์เสียที” นี้เรียกว่ารำคาญใจ กุกกุจจะ เป็นกิเลสตัวที่สาม ท่านพระสารีบุตรก็บอกว่า ท่านไปดูกิเลส 3 ตัวนี้ ละเสีย แล้วก็เจริญสติเจริญปัญญาให้ถูกต้อง ท่านพระอนุรุทธก็ดูกิเลสของท่าน สุดท้ายท่านก็เป็นพระอรหันต์

บางท่านก็เจริญธัมมานุปัสสนา อย่างพระพุทธเจ้าเราเจริญธัมมานุปัสสนา ในบรรพสุดท้ายเลย สัจจบรรพ ดูปฏิจจสมุปบาท ดูอริยสัจ ในสติปัฏฐาน 4 ไม่ว่าจะดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรม ก็ทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ในตำราก็สอนไว้ บอกสติปัฏฐาน 4 เหมือนประตูเมือง 4 ทิศเป็นเมืองแบบโบราณ มีกำแพงเมือง มีประตูเมือง 4 ทิศเลย ไม่ว่าเราจะเข้าประตูเมืองทางทิศไหน ก็เข้าเมืองได้ คือเราจะเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันใดอันหนึ่งก็ทำให้ถึงพระนิพพานได้ ฉะนั้นถ้าเราเลือกเอาที่เราถนัด ถนัดดูกายก็ดูกายไป ดูกายทีแรกมันก็ยังเป็นสมาธิ เป็นสมถะอยู่ อย่างเราดูกายหายใจออก ดูกายหายใจเข้า อย่างจิตสงบนี้เป็นสมถะ ดูกระดูก ดูลงไปมันเป็นวัตถุธาตุ เป็นของแข็งๆ ดูลงไปเรื่อยๆ อันนี้ก็ได้สมถะ ดูต่อไปอีก หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ ร่างกายที่มันหายใจอยู่ ไม่ใช่เรานี่ มันตัวอะไรตัวหนึ่งมันหายใจอยู่ มันไม่ใช่เราหายใจแล้ว เราเป็นแค่คนรู้ จิตเป็นแค่คนรู้ หรือร่างกายกระดูกอะไรอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นวัตถุธาตุ พอตายไปก็ต้องเอาวัตถุอันนี้คืนโลก เผาไปเหลือกระดูกก็เอาไปทิ้ง จะใส่เจดีย์ โยนทิ้งแม่น้ำ หรืออะไรก็ตาม มันก็คืนให้สู่โลกทั้งสิ้น ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อย่างนี้เรียกว่ามันเดินปัญญา มันเห็นจริงๆ ร่างกายเป็นอนิจจัง ร่างกายเป็นทุกข์ ร่างกายไม่ใช่เรา

 

ฝึกๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ที่อดทนที่จะทำ

อย่างร่างกายเป็นทุกข์ เช่นเราหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก เราจะรู้เลยที่เราต้องหายใจออก แล้วหายใจเข้า หายใจเข้าแล้วหายใจออกเพื่อหนีทุกข์ หายใจเข้าอย่างเดียวมันทุกข์ ก็ต้องหายใจออก หายใจออกอย่างเดียวก็ทุกข์ ต้องหายใจเข้า หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ร่างกายทำไมต้องยืน เดิน นั่ง นอน เปลี่ยนอิริยาบถ อยู่ในอิริยาบถอันใดอันหนึ่งมันทุกข์ นั่งนานมันทุกข์ เดินนานมันทุกข์ นอนนานมันก็ทุกข์ ยืนนานมันก็ทุกข์ ถึงต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะฉะนั้นร่างกายนี้ ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกๆ อิริยาบถ เวลาเห็นมันเห็น ไม่ใช่คิด มันเห็น มันรู้สึกเอา เออ ร่างกายนี้มันไม่เที่ยงจริง มันทุกข์จริง มันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นวัตถุของโลก อย่างนี้เรียกว่าเราเจริญปัญญา

แต่ทีแรกมันก็ต้องมีสมถะก่อน มีสมาธิก่อน เวลาเราไปดูกายทีแรก เราก็ไปเพ่งกายก็ได้สมถะ อย่างเราไปเพ่งท้อง เราเห็นท้องพอง เห็นท้องยุบนี่คือสมถะ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเห็นว่าท้องที่พอง ท้องที่ยุบไม่ใช่เรา เป็นวัตถุธาตุที่กำลังกระเพื่อมเข้า กระเพื่อมออก ร่างกายนี้เหมือนถุงหนังใบหนึ่ง มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก มีลมเข้าไปลมออกมาอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา อันนี้ต้องเห็น ถ้าคิดเอาก็ยังไม่เป็นวิปัสสนา แต่ถ้าดูท้องพอง ดูท้องยุบเฉยๆ ดูยกเท้า ย่างเท้า ดูหายใจเข้า ดูหายใจออก ดูยืน เดิน นั่ง นอน อันนี้ได้แต่สมถะ ได้แต่สมาธิ ต้องเห็นไตรลักษณ์ถึงจะใช้ได้

ดูเวทนาก็แบบเดียวกัน จะเห็นเลยความสุข ความทุกข์ ความไม่สุข ไม่ทุกข์ เราสั่งไม่ได้ ตรงที่เราเห็นว่าเราสั่งไม่ได้นี่ เรียกว่าเห็นอนัตตา เพราะความสุขเกิดขึ้นในใจเรา อยู่ชั่วคราวก็หายไป ความทุกข์ในใจเรา อยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป ความเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เกิดขึ้นในจิตใจ อยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป ตัวนี้แสดงความไม่เที่ยง เฝ้ารู้เฝ้าดูนะจะเห็นเลย ของไม่เที่ยง ตัวเวทนานี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา จิตที่เป็นผู้ไปรู้เวทนานี้ เกิดร่วมอยู่กับเวทนา มันก็พลอยไม่เที่ยงไปด้วย จะรู้ทั้งกาย รู้ทั้งจิต รู้ทั้งเวทนา รู้ไปหมด มันเนื่องกันไปหมด ค่อยๆ ฝึกไป นี้ก็ง่ายที่สุดแล้ว ตอนนี้สุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ แค่รู้อย่างนี้ รู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปพอรู้ชำนาญขึ้นมันจะละเอียดขึ้น มันจะรู้เลยว่าไอ้สุขไอ้ทุกข์นี่ ภาษาแขกเรียกมีอามิสหรือไม่มีอามิส มีสิ่งเร้าหรือไม่มีสิ่งเร้า มีสิ่งเร้าก็คือ มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่สัมผัสกาย มันเป็นสิ่งเร้า หรือมีกามธรรม การคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เรียกว่ากามธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งเร้า อย่างเราคิดถึงความสุขในอดีต ตอนนี้ใจมันก็พลอยมีความสุขไปด้วย หรือว่าคิดถึงบางเรื่อง คิดไปแล้วใจมันเศร้า มีความทุกข์ขึ้นมา สุขทุกข์แบบนี้มีสิ่งเร้า ก็รู้ทันว่านี่สุขแบบมีสิ่งเร้า ทุกข์แบบมีสิ่งเร้า เฝ้ารู้เฝ้าดูไป อันนี้มันเห็นเอง ละเอียดขึ้นมาเอง ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เห็นไป

สุขไม่มีสิ่งเร้าก็มี อุเบกขาไม่มีสิ่งเร้าก็มี อย่างเวลาเราภาวนาของเรา เราเดินกวาดวัดเราอยู่ดีๆ อยู่ๆ ความสุขมันผุดขึ้นมา ผุดขึ้นมาจากกลางอก ผุดปุ๊บขึ้นมา อันนี้ไม่มีสิ่งเร้า สิ่งเร้าหมายถึงกามคุณอารมณ์ ถ้าเป็นเรื่องฌานสมาบัติ เรื่องสมาธิ ถือว่าไม่มีสิ่งเร้า อย่างที่พวกเราอยู่เฉยๆ แล้วความสุขมันผุดขึ้นมา เป็นความสุขที่ไม่มีสิ่งเร้า จิตมันมีสมาธิขึ้นมา อย่างคนทั่วๆ ไปบางทีก็มีอุปจารสมาธิ บางทีก็มีขณิกสมาธิ ส่วนใหญ่ก็แค่ขณิกสมาธิ อยู่ๆ ใจมันรู้สึกตัวขึ้นแวบนึง แล้วมีความสุขผุดขึ้นมา นี่ขึ้นด้วยขณิกสมาธิ บางทีก็มีอุปจารสมาธิ ใจมันอยู่กับปฏิภาคนิมิตอะไรอย่างนี้ แต่สมาธิบางอย่างถึงจะเป็นอัปปนาสมาธิ ก็ไม่ผ่านปฏิภาคนิมิต

อย่างเราเจริญเมตตา แผ่เมตตาไปเรื่อยๆ ถึงสัตว์ทั้งหลาย ไม่ต้องมานั่งท่องอะไรยาวหรอก ตอนแรกๆ ยังแผ่ไม่เป็นก็ท่องไปก่อน ท่องไปจนกระทั่งใจมันเคยชิน ที่จะรู้สึกเป็นมิตรกับสัตว์อื่น ตรงที่ใจมันรู้สึกเป็นมิตรนั่นล่ะเรียกว่ามันมีเมตตา พอมีเมตตาก็แผ่ความรู้สึกของความเมตตานี้ออกไป ครอบโลกธาตุ แผ่กว้างขวางไม่มีประมาณ ถึงเทวโลก ถึงพรหมโลก อันนี้เรียกว่า เมตตาอัปปมัญญา ไม่มีขอบเขต ไม่มีเป้าหมาย แต่ถ้าเราจะแผ่ให้คนนี้ เห็นหมาตัวนี้ หมาตัวนี้ไม่สบายถูกรถชน เราก็แผ่เมตตาอะไรไป ทำความรู้สึกเมตตา เป็นการช่วยตัวเอง ไม่ได้ช่วยหมาหรอก ช่วยตัวเองไม่ให้เศร้าโศก เวลาเราเห็นหมาถูกรถชน ใจเราเศร้า เสียใจ เศร้าโศก เจริญเมตตาไปประกอบด้วยอุเบกขา สัตว์โลกมีกรรมของตัวเอง ใจเราก็ไม่เศร้าหมอง

ค่อยๆ ฝึกๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ที่อดทนที่จะทำ ทำให้มันจริงไม่ใช่ทำเล่นๆ ธรรมะมันของจริง คนทำเล่นๆ ทำไม่ได้ ต้องทำจริงๆ แต่ทำจริงๆ ก็ทำอย่างมีสติปัญญา ไม่ได้ทำแบบโลภ อยากอย่างโน้น อยากอย่างนี้ ไม่ได้ธรรมะหรอก นั่งสมาธิ เดินจงกรมก็เมื่อไหร่จะบรรลุสักที บางคนแย่กว่านั้นอีก เดินจงกรมอยู่เมื่อไหร่จะหมดเวลาสักที อย่างนี้ไม่ได้เรื่อง อย่าไปเดินเลยเสียเวลา มันหลอกตัวเอง หลอกคนอื่น ไม่ได้เรื่องหรอก ของเก๊ ภาวนาให้มันมีสติไป ทุกก้าวที่เดิน มันคือการปฏิบัติทั้งหมดเลย ถ้าเราดูกาย ก็ดูกายมันเคลื่อนไหวไป ใจมันเป็นคนรู้ ถ้าดูเวทนาก็เห็นเวทนาเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป มีสิ่งเร้าบ้าง ไม่มีสิ่งเร้าบ้าง ใจเป็นคนรู้ ของง่ายๆ

ธรรมะจริงๆ ไม่ใช่เรื่องยาก มันยากเพราะเราไม่ทำ ทำบ้างไม่ทำบ้าง หรือทำผิด ทำเพราะโลภ แทนที่จะไปเห็นสภาวะตามความเป็นจริง ก็ไปนั่งเพ่งเอา ไปจ้องเพ่งกายเพ่งจิต มีเวทนาสงสัยว่าตอนนี้มีเวทนาอะไร เที่ยวหาใหญ่ ตอนนี้จิตเรามีเวทนาอะไร หาๆๆ หาไม่เจอ เพราะจิตมันเป็นอกุศล จิตมันฟุ้งซ่าน มันไม่มีสติ มันดูไม่ออกหรอกว่าจิตตอนนี้ สุขหรือทุกข์ หรือเฉย ใช้จิตของคนธรรมดานี่ล่ะมันรู้ได้ ไม่ต้องมารยาเป็นนักปฏิบัติ ทำวางฟอร์มเคร่งๆ ขรึมๆ อะไรอย่างนั้นไม่ได้กินหรอก จิตที่ดีคือจิตธรรมดา จิตที่ประภัสสรคือจิตธรรมดา ไม่ได้ย้อมแมวขาย เรียกย้อมแมวขาย แกล้งทำวางฟอร์มขรึมๆ เป็นนักปฏิบัติ จิตอย่างนั้นเอาไปทำอะไรไม่ได้ นอกจากนำความทุกข์มาให้ตัวเอง หรือเอาไว้หลอกคนอื่น จิตที่ดีคือจิตธรรมดานี่ล่ะ ธรรมดาอย่างขณะนี้ใจเราสุข หรือใจเราทุกข์ หรือใจเราเฉยๆ จะไปยากอะไร ก็ง่ายๆ

ฉะนั้นเบื้องต้นฝึกให้ได้สติ ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ดูกาย ดูเวทนา ดูจิตอะไรอย่างนี้ ดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็จะรู้แจ้งแทงตลอด ว่าขันธ์ 5 นี้ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ที่ประกอบกันเป็นตัวเรา ไม่ใช่ตัวเราของเรา ตัวเราไม่มี นี่เราได้ปัญญาขั้นที่ 1 แล้ว ปัญญาขั้นต้น แล้วก็เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจของเราต่อไป ทำกรรมฐานอย่างเดิมนั่นล่ะ แล้วเวลารู้แจ้งมันจะมาแจ่มแจ้ง มันจะวางกายได้ก่อน จะเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก กายนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะวางกายได้ ตรงที่มีปัญญาเห็นความจริงของกายว่าเป็นตัวทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะเป็นอนัตตา ตัวนั้นเป็นปัญญาขั้นกลาง เสร็จแล้วจิตมันถึงจะรวมลงที่จิต พอมันผ่านกายแล้ว มันวางของหยาบไปแล้ว มันก็จะเหลือแต่ของละเอียด ก็คือเข้ามาที่นามธรรมทั้งหลาย มาภาวนาเรียนรู้นามธรรมทั้งหลายลงไป จะเห็น มันจะมีสังโยชน์ซ่อนอยู่ที่นามธรรมตัวนี้ตั้ง 5 ตัว มีรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มี 5 ตัวนี้ มีตั้ง 5 ตัว เวลาขาดจะขาดพร้อมกัน ขาดไปด้วยกันเลย

 

จิตปล่อยวางจิต

หลวงปู่ดูลย์ท่านก็เคยสอนหลวงพ่อ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2526 บอก “พบผู้รู้ ให้ทำลายผู้รู้ พบจิต ให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” นี่ท่านสอนล่วงหน้าไว้ เพราะท่านจะไม่อยู่แล้ว ท่านก็เลยทิ้งมรดก ร่องรอยเอาไว้ให้เราเดินต่อ แล้วท่านก็ถามว่า “เข้าใจไหม?” หลวงพ่อบอก “ไม่เข้าใจครับ แต่ผมจะจำไว้” ท่านบอก “จำไว้นะ ตรงนี้สำคัญนะ จำไว้” ท่านกลัวเราลืม

วันรุ่งขึ้นหลวงพ่อก็กลับกรุงเทพฯ แต่ว่าแวะโคราช แวะไปหาหลวงพ่อพุธ (ฐานิโย) หลวงพ่อพุธเห็นหน้าหลวงพ่อ ท่านก็บอก “ไงนักปฏิบัติ รอบนี้หลวงปู่สอนอะไร” บอกหลวงปู่สอนบอก “พบผู้รู้ ให้ทำลายผู้รู้ พบจิต ให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” หลวงพ่อพุธท่านก็พยักหน้า ท่านบอก “พบผู้รู้ ให้ทำลายผู้รู้ พบจิต ให้ทำลายจิต” คือจุดสุดยอดของกรรมฐาน ตัวนี้จุดสุดยอดของกรรมฐาน แล้วท่านก็บอกว่า “ทำลายจิตนี่ ไม่ใช่เราไปทำลายมันโดยตรงนะ เราเจริญสติ เจริญปัญญาของเราไปนี่ล่ะ เดี๋ยวมันก็ทำลายของมันได้” แล้วท่านก็บอกอีกว่า ท่านไปหาหลวงปู่ดูลย์มาเมื่อ 7 วันก่อนหน้านั้น ก่อนที่หลวงพ่อจะไป หลวงปู่ก็สอนท่านบอกว่า “เจ้าคุณฯ การปฏิบัติจะยากอะไร พบผู้รู้ ให้ทำลายผู้รู้ พบจิต ให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” ท่านก็เล่าอย่างนี้

ท่านก็บอก คุณกับอาตมามาตกลงกัน ใครทำลายได้ก่อนให้มาบอกกัน เราก็รู้แล้วว่าท่านพูดเป็นอุบายท่านเป็นผู้ใหญ่ หลวงพ่อเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ อยู่ๆ ท่านบอกท่านอยากสอนหลวงพ่อนี่มันเสียมารยาท ท่านก็เลยเป็นอุบายของท่าน ท่านก็รู้เราไม่มีทางทำได้ อย่างที่ท่านว่าหรอก ไม่มีทางทำได้เร็วกว่าท่านหรอก ท่านก็เมตตา ผ่านวันเวลามานานเกือบๆ ปีพ.ศ.2540 ใกล้ๆ ที่ท่านจะมรณภาพแล้ว ท่านไปเทศน์ที่ทีโอที ท่านเทศน์เสร็จ หลวงพ่อเข้าไปกราบท่านบอก “หลวงพ่อครับ ผมไม่เจอหลวงพ่อนานแล้ว” ท่านบอก “หลวงพ่อจำได้ นักปฏิบัติมีไม่มากหรอก” กราบเรียนท่าน “หลวงพ่อครับ ผมยังทำลายผู้รู้ไม่ได้เลย” พอพูดประโยคนี้ จิตท่านนี้ดีดผางขึ้นมาเลย สง่าผ่าเผย สว่างไสวขึ้นมาทันทีเลย

แล้วท่านบอกว่า “จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่แล้ว มันจะทำลายเปลือกออกมาเอง” มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ ไข่มันมีเปลือกใช่ไหม จิตเราก็มีเปลือก ถ้าเราภาวนาจะเรารู้สึกเลย จิตเราถูกขังอยู่ มีสิ่งห่อหุ้มอยู่ อาสวกิเลสห่อหุ้มอยู่ จิตเหมือนนักโทษ ถูกขังไว้ตั้งแต่เกิดเลย มันเกิดในคุก มันเลยไม่รู้ว่ามันถูกขัง เหมือนอย่างคนถูกจับไปปล่อยเกาะ ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่ เกิดมาก็เกิดอยู่ในเกาะ ก็คิดว่าโลกมันมีอยู่แค่นี้ ก็ไม่ถูกขังแล้ว อิสระแล้ว จิตของเรา มันถูกอาสวะกิเลสห่อหุ้มอยู่ เหมือนเปลือกไข่ ท่านบอกลูกไก่โตเต็มที่ มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง พอเราได้ยิน เราก็ใจก็โล่งเลยสบาย ก่อนหน้านี้เราคิดหาทางเจาะเปลือก แล้วมันเจาะไม่ได้ทำอย่างไรก็เจาะไม่ได้ ก็รอเวลาว่าให้มันเจาะเอง ภาวนาไปเรื่อย ภาวนาไปๆ ก็จะเห็น โอ้ จิตนี้บางทีมันก็ปล่อยวางจิต บางทีมันก็หยิบฉวยจิต อันนี้เห็นมาตั้งแต่เป็นโยม

 

เห็นจิตตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ มันถึงจะวาง
ถ้าอยู่ๆ วางจิต อยู่ๆ ทำลายจิต บ้าแน่นอน ภาวนาเพี้ยน

 

ไปถามหลวงปู่สุวัจน์ (สุวโจ) หลวงปู่สุวัจน์ท่านก็บอก ไม่ได้ถามหรอก คิดจะถามก็เข้าไปกราบท่าน จิตมันวางอยู่แล้ว รีบเอาไปให้ท่านดู ไปถามท่านว่าทำอย่างไรมันจะวางตลอด ไปหาท่านที่สวนทิพย์ ในซอยวัดกู้ พอถึงเวลาพระก็เข็นรถเข็นท่านออกมา ท่านเป็นอัมพาต เราก็กราบ คนไปกันเยอะเหมือนกัน ท่านก็ยิ้มไปยิ้มมาแล้วท่านก็พูดบอกว่า “จิตนะบางทีมันก็ปล่อยวางจิต พอปล่อยวางจิตแล้วมันก็หยิบจิตขึ้นมาอีก ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่ยอมวาง จนเห็นจิตมันเป็นไตรลักษณ์ มันก็วางของมันเอง” ท่านตอบให้อย่างนี้ เราก็ โอ้ เราก็ต้องเห็นไตรลักษณ์ของจิต

เพราะฉะนั้นที่โยมถามว่า ทำอย่างไรจะปล่อยวางจิตได้? จะต้องปล่อยวางจิตไหม? ต้องปล่อย แต่ไม่ใช่ตอนนี้ ก็ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ตัวเองเยอะแยะเลย เริ่มตั้งแต่ต้องถือศีล ต้องฝึกสติ ต้องฝึกสมาธิที่ดี ต้องฝึกการเจริญปัญญาให้เข้มข้น ขยัน ถึงเวลาก็จะเกิดปัญญาเป็นลำดับๆ ไป ปัญญาขั้นแรกเห็นว่าตัวเราไม่มี ปัญญาขั้นที่ 2 เห็นว่าร่างกายที่เราเคยเห็นว่าเป็นตัวเรา แต่เดี๋ยวนี้เห็นว่าไม่ใช่เรา จริงๆ แล้วมันเป็นตัวทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะว่าบังคับไม่ได้ เห็นตรงนี้แล้วมันจะเข้ามาที่จิต แล้วก็จะเห็นตัวจิตนั่นล่ะก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ พอเห็นว่าจิตก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตก็จะปล่อยวางจิตได้ หลวงปู่ดูลย์ถึงใช้คำบอกว่า “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค” อันนี้ท่านพูดแบบเกรงใจ เดี๋ยวคนมันจะหาเรื่องท่าน ถ้าจะพูดเต็มยศเลยเต็มภูมิเลยก็คือ “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นอรหัตตมรรค” มันถึงขั้นอรหัตตมรรคเลย เห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เห็นว่าจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์นั่นล่ะ เห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง

ฉะนั้นเราคอยรู้ คอยดู ทีแรกต้องฝึกให้ได้จิตก่อน อยู่ๆ จะไปทำลายผู้รู้ ก็บ้าเลย เมื่อก่อนหลวงพ่ออยู่ที่กาญจนบุรี ก็มีพระองค์หนึ่งมาหา เอ๋อ มาเลย เดินน้ำลายยืดมาเลยบอก “ผมทำลายจิตไปแล้ว” หลวงพ่อบอก “ใจเย็นๆ ครับ ใจเย็นๆ นิมนต์นั่งก่อน หายใจแรงๆ ไว้ครับ” จริงๆ ท่านไม่ได้ทำลายจิตหรอก ท่านทำลายสติ ท่านเพี้ยนไปแล้ว เอ๋อไปแล้ว ภาวนาผิด ภาวนาข้ามขั้น อยู่ๆ ไปทำลายจิตก็บ้าเท่านั้นล่ะ ตอนนี้ต้องพัฒนาจิตต่างหาก หาจิตให้เจอด้วยการเห็นเลยว่า กายก็ของถูกรู้ เวทนาถูกรู้ กุศล อกุศลนี่ก็ของถูกรู้ ยังมีจิตเป็นคนรู้ขึ้นมา แล้วก็เรียนรู้ไปเรื่อยจนวางกาย วางอะไรต่ออะไรไปหมดแล้ว มันก็เข้ามาที่จิตเอง มันจะเห็นจิตตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ มันถึงจะวาง ถ้าอยู่ๆ วางจิต อยู่ๆ ทำลายจิต บ้าแน่นอน ภาวนาเพี้ยน

 

 

ฉะนั้นภาวนาค่อยๆ ภาวนาไป ไม่รีบร้อน ภาวนารีบร้อนแล้วก็เสีย ไม่ได้อะไรขึ้นมาหรอก ได้แต่ความหลงผิด บางทีก็กระทบกระเทือนถึงร่างกาย บางที่ก็ภาวนาคนเป็นบ้าเยอะเลย หลวงพ่อรู้จักจิตแพทย์หลายคน ไม่ได้ไปหาหมอ ไม่ได้ไปหาจิตแพทย์หรอก เพราะยังไม่ป่วย ถ้าป่วยจะไปหา จิตแพทย์ก็จำเป็น ไม่ใช่ว่า โอ้ ใครไปหาจิตแพทย์ก็แย่แล้ว คนไทยเชื่ออะไรผิดๆ ไม่กล้าไปหาจิตแพทย์ เอะอะมีอะไรก็มาหาพระ กลุ้มใจก็มาเล่าให้พระฟัง เมื่อก่อนมีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ชื่อหลวงพ่อมหาวิบูลย์อยู่ที่แม่สอด ท่านเข้ามากรุงเทพฯ มาอยู่ที่วัดอินทารามบ่อยๆ คนนะชอบไปเล่าสารพัดปัญหาให้ท่านฟัง แต่ละคนเรื่องเครียดๆ ทั้งนั้นเลย ลูกศิษย์ท่านก็ถามว่า “หลวงพ่อฟังมากๆ แล้วเป็นอย่างไรครับ” ท่านบอกว่า “ปวดหัว” “ปวดศีรษะแล้วหลวงพ่อทำอย่างไร?” “ฉันพารา” เพราะฉะนั้นอย่ามากวนพระ มีปัญหาทางจิตทางใจก็ไปหาจิตแพทย์ เขาเรียนมาโดยตรง

ฉะนั้นภาวนา ค่อยๆ ทำไปอย่ารีบ แต่อย่าขี้เกียจ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ รู้ไป ทุกวันๆ ถึงเวลามันก็จะผ่านไปเอง มันจะเห็นขันธ์ 5 นี้ไม่ใช่เรา ไม่มีเราในขันธ์ 5 นี้ ไม่มีเราที่ไหนเลย ต่อไปมันก็จะเห็นรูปธรรมทั้งหลาย ซึ่งมันก็ครอบคลุมทั้งรูปภายใน รูปภายนอกด้วย ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ใจก็หมดความยินดียินร้ายในรูป กาม และปฏิฆะก็ขาด พ้นจากกาม พ้นจากปฏิฆะ แล้วภาวนาต่อไป จนกระทั่งเห็นแจ้งออกมาที่ตัวจิต เห็นจิตมันเกิดดับ จิตไม่มีรูปร่าง ไม่มีร่องรอย เราเห็นความเกิดดับของจิต เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตได้ อาศัยสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต อย่างเราอาศัยเวทนาเกิดร่วมกับจิต เราก็จะเห็นว่าจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตเฉยๆ เกิดแล้วดับ หรืออาศัยกุศล อกุศลเกิดร่วมกับจิต เช่นจิตมีราคะ มันเกิดแล้วก็ดับ จิตไม่มีราคะ เกิดแล้วก็ดับ จิตมีโทสะ เกิดแล้วก็ดับ จิตไม่มีโทสะ เกิดแล้วก็ดับ นี่ก็อาศัยโทสะ

ฉะนั้นตัวจิตนี่ดูตรงๆ ไม่ได้ เราจะเห็นจิตเกิดดับได้ ต้องมีตัวอื่นมาประกอบ ทำให้เราเห็นจิตแต่ละดวงๆ ไม่เหมือนกัน ที่จริงจิตทุกดวงก็เหมือนกัน คือจิตเป็นธรรมชาติรู้ แต่ว่ามันเจือปนด้วยสิ่งอื่นเข้ามา มันทำให้จิตแต่ละดวง แสดงอาการที่แตกต่างกันออกมา อย่างจิตสุขกับทุกข์ มันมีอาการไม่เหมือนกัน จิตดี จิตชั่ว ก็อาการไม่เหมือนกัน จิตโลภ โกรธ หลง ก็อาการไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเราจะเห็นจิตมันวิจิตร คือมันพัฒนาเปลี่ยนแปลงมากมาย วิจิตรพิสดารมากมาย อาศัยสิ่งที่เกิดร่วมกับจิตที่เรียกว่า เจตสิก หรือถ้าเราดูละเอียดขึ้นไป เราอาศัยอายตนะก็ได้ อย่างจิตที่ไปดูก็ดวงหนึ่ง จิตที่รู้ก็ดวงหนึ่ง จิตที่ไปฟังก็ดวงหนึ่ง จิตที่รู้ก็ดวงหนึ่ง จิตที่ไปดมกลิ่นก็ดวงหนึ่ง จิตที่รู้ก็ดวงหนึ่ง จิตที่คิดก็ดวงหนึ่ง จิตที่รู้ก็ดวงหนึ่ง อย่างนี้เราก็จะเห็นจิตเกิดดับ แต่อาศัยการเห็นจิตเกิดดับ ผ่านทางอายตนะ

จะผ่านทางเจตสิกคือองค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิตก็ได้ จะดูผ่านอายตนะที่เกิดของจิตก็ได้ จิตเกิดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ถ้าถามว่าจิตมันเกิดที่ไหน ก็ต้องตอบได้ มันเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราจะเห็นจิตที่ตาก็ไม่เที่ยง จิตที่หูก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหนๆ ก็ไม่เที่ยง ดูอย่างนี้ก็ได้ แต่ตัวนี้ดูยากนิดหนึ่ง ดูจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว อะไรพวกนี้ดูง่ายกว่า ดูง่ายดูยากไม่สำคัญหรอก สุดท้ายมันก็เข้าใจธรรมะอันเดียวกัน คือจิตทุกชนิดไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตทุกชนิดเป็นตัวทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น อย่างจิตที่มีความสุข ก็ถูกบีบคั้นให้หมดไปสิ้นไป ทุกข์เพราะว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เรียกว่าอนัตตา

ฉะนั้นคำว่าเห็นทุกข์ๆ คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่าเห็นทุกข์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาที่ขันธ์ 5 รูปนาม เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปก็จะเข้าใจ ขันธ์ 5 มันตัวทุกข์ จิตมันก็อยู่ในตัวขันธ์ 5 อยู่ในวิญญาณขันธ์ ก็จะเห็นมันก็ทุกข์ทั้งหมดเลย เห็นแล้วมันก็จะวาง ขั้นสุดท้ายก็จะวาง จิตก็เป็นอิสระขึ้นมา

ค่อยๆ ฝึกไป ไม่รีบแต่ไม่ขี้เกียจ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
27 กุมภาพันธ์ 2564