สติครอบคลุมองค์มรรคทั้งหมด

คนส่วนใหญ่ที่เขาได้มรรคได้ผล ก็คนอย่างพวกเรานี่ล่ะเข้าฌานไม่เป็นตั้งแต่แรก ใจเราวอกแวกๆ ทั้งวัน อาศัยการทำกรรมฐานที่ถูกกับจริตนิสัยของเรา อย่างเบื้องต้นก็มีสมาธิทำสมาธิฝึกให้จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาก่อน

วิธีฝึกให้จิตตั้งมั่นมีตั้งเยอะตั้งแยะ อย่างอนุสติ 10 ไม่เกิดฌาน ส่วนใหญ่ไม่เกิดฌาน ยกเว้นกายคตาสติ กับอานาปานสติ 2 อันนี้ทำให้เกิดฌานได้ อย่างพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ จาคานุสติอะไรอย่างนี้ พวกนี้ไม่ได้ถึงฌาน สมาธิมันก็จะเป็นสมาธิต้นๆ

 

ตรงที่เห็นความจริงนั้นคือการเจริญปัญญา ตรงที่ฝึกให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว คือการฝึกสมาธิที่ถูกต้อง

 

พวกเราก็ต้องฝึกสมาธิอะไรสักอย่างหนึ่งต้องฝึก ทำอะไรไม่ได้ก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป หรือพุทโธเฉยๆ หรือพุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือจะบริกรรมอะไรก็ได้เอาเสียอย่างหนึ่ง พอจิตมันมีเครื่องอยู่ เครื่องระลึกนานๆ จิตมันจะค่อยมีกำลังขึ้นมา มันจะอยู่กับเนื้อกับตัวขึ้นมา พอจิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว เราก็จะเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจตัวเองได้ ตรงที่เห็นความจริงนั้นคือการเจริญปัญญา ตรงที่ฝึกให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว คือการฝึกสมาธิที่ถูกต้อง

เวลาเราเจริญปัญญา เราจะใช้กายก็ได้ ใช้เวทนาก็ได้ ใช้จิตก็ได้ ใช้ธรรมก็ได้ ดูกายก็ดูรูป ใครเป็นคนดู จิตเป็นคนดู ดูเวทนาใครเป็นคนดู จิตก็เป็นคนดูอีก ดูจิตสังขาร จิตตานุปัสสนาเป็นเรื่องจิตสังขาร ใครเป็นคนดู ก็จิตเป็นคนดู ธัมมานุปัสสนา ไปรู้เหตุรู้ผล เรียนเรื่องเหตุเรื่องผลตัวธรรมะ ธัมมานุปัสสนา เช่น นิวรณ์เกิดได้อย่างไร นิวรณ์ไม่เกิดเพราะอะไร โพชฌงค์ 7 เกิดเพราะอะไร ไม่เกิดเพราะอะไร เราจะดูกระบวนการทำงานของมัน รู้เหตุรู้ผลของมัน เข้าใจ เข้าใจลึกซึ้งสูงสุดก็คือเข้าใจปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องเหตุกับผลทั้งสิ้น มีอวิชชาเป็นเหตุ มีสังขารเป็นผลอะไรอย่างนี้ เกี่ยวเนื่องกันไป

สติปัฏฐานทำอันใดอันหนึ่งก็พอแล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เราเจริญกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา หรือธัมมานุปัสสนาอันใดอันหนึ่งก็ได้ เพราะทั้งหมดมันลงมาที่เดียวกัน สุดท้ายคือลงมาที่ถอดถอนความยินดียินร้ายในรูปในนามเสียได้ ในสติปัฏฐาน 4 มันลงที่เดียวกัน ถอนถอนความยินดียินร้าย ถอดถอนที่ไหน ก็ถอนถอนที่จิตผู้ยินดียินร้ายคือจิต

ฉะนั้นเวลาแตกหักเกิดมรรคเกิดผลเกิดที่จิต ไม่เกิดที่อื่นหรอก แต่เวลาปฏิบัติเอาให้มันจริงจังลงไป เจริญปัญญาดูกายก็ดูไป ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรมอะไรก็แล้วแต่จริตนิสัย พวกตัณหาจริตรักสุข รักสบาย รักสวยรักงาม แล้วอินทรีย์ยังอ่อนก็ดูกายไป กายเคลื่อนไหวจิตเป็นคนดู พวกตัณหาจริตรักสุข รักสบาย รักสวยรักงาม ที่อินทรีย์แก่กล้าก็ดูเวทนา เวทนาดูยากกว่ากาย พวกทิฏฐิจริต พวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น ถ้าอินทรีย์ยังไม่แก่กล้าก็ดูจิตไป จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้ ดูไปอย่างนี้แค่นี้พอแล้ว เวลาดูจนมันพอแล้วมันจะรวมลงที่จิต จิตมันรวมลงที่จิต แล้วจะตัดกิเลสกันที่จิตนั่นล่ะ กิเลสมันอยู่ที่จิตมันไม่ได้อยู่ที่กาย ไม่ได้อยู่ที่เวทนา มันอยู่ที่จิตที่เดียว ฉะนั้นเวลาล้างกิเลสต้องลงมาที่จิตทั้งนั้น

 

เริ่มต้นที่สติ

เราค่อยๆ ศึกษาไปในส่วนของสมถะก็ต้องทำ ส่วนของวิปัสสนาก็ต้องทำ พูดอย่างนี้ฟังแล้วมันเยอะเกิน ยังลำบากเกิน คนที่เรียนใหม่ๆ ก็จะสับสนไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สมถะก็มีตั้งเยอะแยะ วิปัสสนาก็มีตั้งหลายทาง จะเริ่มต้นอย่างไรดี เริ่มต้นที่สติ สติสำคัญ ครูบาอาจารย์สอนหลวงพ่อ “สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ” สติเป็นตัวรู้ทันสภาวะ สภาวธรรม บางอาจารย์ท่านก็เรียกสภาพธรรม ภาษา สภาวะกับสภาพมันคำเดียวกัน ตัว ว กับตัว พ มันแผลงกัน เราดูตัวสภาวธรรม รูปธรรมกับนามธรรมเป็นสภาวธรรม

สติเป็นตัวรู้ รูปธรรมปรากฏขึ้นสติเป็นคนรู้ อย่างรูปที่เคลื่อนอย่างนี้ปรากฏขึ้นสติรู้ รูปขยับสติรู้ รูปแข็งๆ อย่างเราจับลงไปตรงนี้แข็งๆ ตรงนี้นิ่มๆ สติมันรู้ รู้รูปธรรม รู้นามธรรม นามธรรม เช่น ความสุข ความทุกข์ เกิดขึ้นในร่างกายบ้าง เกิดขึ้นในจิตใจบ้าง ก็หมุนๆ ไป สติเป็นตัวรู้ทันมีอะไรเกิดขึ้นในกาย มีอะไรเกิดขึ้นในใจ เวลาหัดทีแรกจะให้มีสติรู้สภาวะทั้งหมดเลย มันทำไม่ได้มันมากเกิน สภาวธรรมที่เรียกรูปธรรม นามธรรมนั้นจริงๆ แล้วมีตั้งเยอะตั้งแยะ รูปธรรมตัวจริงๆ เลยมีตั้ง 18 อย่าง ถ้าละเอียดลงไปมี 28 อย่างเป็นรูปแท้บ้าง รูปไม่แท้บ้าง นามธรรมมีตั้งเยอะตั้งแยะ มีจิต 1 เจตสิกอีก 52 เราเรียนได้ไม่หมดหรอก เรารู้รูปธรรมที่เรารู้ได้ เรารู้นามธรรมที่เรารู้ได้

เบื้องต้นเอาอันใดอันหนึ่งก่อน ฝึกให้สติเกิด เช่น ร่างกายหายใจออกคอยรู้สึก ร่างกายหายใจเข้าคอยรู้สึก ต่อไปพอเราเผลอ พอกิเลสเกิดมันจะรู้สึกขึ้นเอง อย่างเราหายใจๆ ไปอย่างนี้พอเราขาดสติ จิตมันฟุ้งซ่านหนีไปคิดเรื่องอื่น มันจะลืมร่างกายที่กำลังหายใจอยู่ ร่างกายที่หายใจมันคล้ายๆ เป็นเครื่องสังเกต เป็นที่สังเกตเท่านั้นเอง บางคนใช้ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เป็นเครื่องสังเกต ฉะนั้นการที่เรามีกรรมฐานอันใดอันหนึ่งไม่ใช่เพื่อบังคับจิตให้นิ่ง ให้สุข ให้สงบ แต่เพื่อเป็นเครื่องสังเกตจิตใจของเรา หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก พอขาดสติมันจะลืมรู้สึก อย่างเผลอไปคิดเรื่องอื่น ร่างกายหายใจออกหรือหายใจเข้าก็ไม่รู้แล้ว ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในอิริยาบถอะไรก็ไม่รู้แล้ว ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่งอะไรก็ไม่รู้แล้ว

เราเคยรู้สึก ร่างกายหายใจเรารู้สึกบ่อยๆ พอเราขาดสติมันลืมร่างกายไป มันจะนึกได้เร็ว ฉะนั้นการที่เราทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง เพื่อเตือนตัวเองให้สติเกิดเร็วๆ เท่านั้นเอง อย่างหลวงพ่อเทียนท่านสอนขยับมือ เพื่อเป็นเครื่องสังเกต เวลาจิตมันขาดสติมันก็ลืมร่างกายที่ขยับมืออย่างนี้ ขยับไปแล้วใจหนีไป มือมันเคยขยับจนชิน พอเผลอปุ๊บจะขยับเปลี่ยนท่าพิลึกๆ ขึ้นมาอย่างนี้ สติมันจะเกิดเอง ฉะนั้นการที่เราทำกรรมฐาน เพื่อใช้ให้มันเป็นเครื่องสังเกตเท่านั้นเอง ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปสติมันจะเกิดอัตโนมัติ

ฉะนั้นเราพยายามฝึก จุดสำคัญคือสติ นานแล้วหลวงพ่อเคยไปเจอหลวงพ่อคำเขียน หลวงพ่อคำเขียนไม่สบาย พอไปหาท่าน ท่านก็เล่าให้ฟังว่าท่านไปเทศน์ที่แห่งหนึ่ง เขานิมนต์ไปเทศน์ ก็นิมนต์พระหลายสายหลายสำนักไปเทศน์ ท่านก็เป็นองค์หนึ่งที่เขานิมนต์ พอไปเทศน์ท่านก็เทศน์แต่เรื่องสติ ฝึกสติอย่างโน้นอย่างนี้ พอเทศน์เสร็จคนจัดมันก็มาต่อว่าท่าน ว่าทำไมท่านไม่สอนเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา สอนอยู่ได้แต่เรื่องสติ ท่านเล่าให้หลวงพ่อฟังท่านหัวเราะ ท่านไม่ได้ไปหัวเราะให้เขาเห็น ท่านก็เฉยๆ เขาว่าก็เฉยๆ แล้วท่านก็มาเล่าให้หลวงพ่อฟัง แล้วท่านก็นอนหัวเราะ ตอนนั้นท่านไม่สบายนอน เป็นมะเร็งนอน หัวเราะบอกว่า “เขาก็ถูกอย่างของเขา เราก็ถูกอย่างของเรา ถ้ามีสติก็มีศีล มีสติก็มีสมาธิ มีสติมันก็มีปัญญา” ขาดสติเดี๋ยวก็ขาดศีล ขาดสมาธิ ขาดปัญญา ฉะนั้นทำไมมาต่อว่าท่าน ทำไมไม่สอนเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ท่านสอนสิ่งที่ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง คือรากเหง้าที่ทำให้มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา คือตัวสตินี่เอง

ฉะนั้นเราพยายามรู้สึก รู้สึกตัวไว้เรื่อยๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ต้องทำ อยากดีก็ต้องทำ แต่ละคนไปดูว่ากรรมฐานอะไรเหมาะกับเรา อย่างพระมาอยู่กับหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ให้กรรมฐานองค์นี้ดูนี้ องค์นี้ดูนี้แต่ละองค์ก็แตกต่างกันไปบ้าง เพื่อเป็นเครื่องอยู่ เครื่องอยู่ของจิต เครื่องระลึกของสติ หลวงพ่อพุธท่านชอบพูดเรื่อย “ให้จิตมีเครื่องอยู่ ให้สติมีเครื่องระลึก” เครื่องระลึกรู้ อย่างบางองค์ก็ให้ดูกระดูก ดูกระดูกไปเรื่อยๆ เลย พอขาดสติเมื่อใดมันลืมกระดูกแล้ว พอมีสติก็รู้สึกถึงกระดูก มีสติแรงไปจิตมันถลำลงไปเพ่งกระดูกรู้ทันอีก ในที่สุดมันก็ไม่เผลอ มันก็ไม่เพ่ง จิตที่มันไม่เผลอ ไม่เพ่ง มันก็มีสติระลึกรู้สภาวะทั้งหลายอย่างที่เป็นได้ ก็ตอนที่ไม่เผลอไม่เพ่ง จิตมันจะมีสมาธิที่ถูกต้องเกิดขึ้น

 

ทำกรรมฐานเสียอย่างหนึ่ง ไม่ได้ทำเพื่อให้เกิดความสุข ความสงบ ความดีอะไรทั้งสิ้น ทำกรรมฐานเป็นเครื่องระลึกเท่านั้นเอง

 

ฉะนั้นต้องค่อยๆ ฝึก ทำกรรมฐานเสียอย่างหนึ่ง อดทนไป ไม่ได้ทำเพื่อให้เกิดความสุข ความสงบ ความดีอะไรทั้งสิ้น ทำกรรมฐานเป็นเครื่องระลึกเท่านั้นเอง เครื่องระลึกรู้ เช่นหายใจไประลึกรู้ เห็นร่างกายหายใจออกระลึกรู้ เห็นร่างกายหายใจเข้าระลึกรู้ไป พอเราขาดสติมันจะลืมร่างกายหายใจเราลืมไปแล้ว หรือระลึกรู้มากไป มันโลภอยากดี อยากสุข อยากสงบ จิตก็ถลำลงไปเพ่งร่างกาย ก็ให้รู้อีกว่าจิตลงไปเพ่งร่างกายแล้ว ฉะนั้นจิตเผลอก็รู้ จิตเพ่งก็รู้ ตัวนี้ที่หลวงพ่อสอนนักหนาเลยตั้งแต่อยู่สวนโพธิ์แล้ว สอนเรื่องไม่เผลอ ไม่เพ่ง ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย ถ้าเราไม่เผลอ เราไม่เพ่ง จิตมันตั้งมั่นมีสมาธิที่ถูกต้อง จิตมีสมาธิถูกต้องมีอะไรเกิดขึ้นในกายสติระลึกได้เอง มีอะไรเกิดขึ้นในจิตสติระลึกรู้ได้เอง เมื่อเรามีสติว่องไว มีสมาธิถูกต้อง คือจิตมันตั้งมั่นแล้ว ไม่ต้องกลัวปัญญาจะไม่เกิด ทำให้มากๆ ตรงทำให้มากๆ ต่อสู้กิเลสมากๆ ไม่ใช่ทำให้สุข ให้สงบ ให้ดี ปฏิบัติมุ่งสุข มุ่งสงบ มุ่งดี ยังไม่ใช่สัมมาวายามะ

สัมมาวายามะ ปฏิบัติเพื่อลดละกิเลสที่มันมีอยู่ เพื่อปิดกั้นกิเลสใหม่ไม่ให้เกิด เพื่อทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพื่อทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญ สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ถ้าเรามีสติ ทันทีที่เรามีสติอกุศลที่มีอยู่จะดับทันที อกุศลใหม่จะไม่เกิด อย่างเราโกรธอยู่กำลังมีอกุศลอยู่ จิตมันโกรธ เรามีสติรู้ โอ๊ย โกรธ เห็นจิตใจที่โกรธ ความโกรธจะดับทันที แล้วจิตที่ไม่โกรธมันจะเกิดขึ้น จิตที่ไม่โกรธ คืออโทสะ จิตที่เป็นอโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นจิตฝ่ายกุศล จิตที่มีโลภะ โทสะ โมหะเป็นจิตฝ่ายอกุศล จิตเป็นอกุศลเรามีสติรู้ คนไหนขี้โมโหดูจิตโกรธ โกรธแล้วรู้ๆ ฝึกไปจนมันอัตโนมัติ พอโกรธปุ๊บรู้ปั๊บเลย รู้ได้เอง ตัวนั้นล่ะสัมมาวายามะก็เกิด อกุศลมันถูกละไป กุศลมันเจริญ แล้วตรงนั้นสติเกิด แล้วตรงที่รู้ปั๊บนั่นละจิตจะตั้งมั่น สมาธิที่ถูกต้องจะเกิด

ฉะนั้นสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ มันเกิดด้วยกัน แล้วถ้าสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิมันทำงานได้เต็มที่ ไม่ต้องกลัวว่าปัญญาที่แท้จริงจะไม่เกิด สัมมาญาณะ คือตัวปัญญาที่ถูกต้องจะเกิด เมื่อสัมมาญาณะเกิด สัมมาญาณะ คือมีปัญญาที่ถูกต้องเกิดแล้ว สัมมาวิมุตติ วิมุตติที่แท้จริงก็จะเกิด ทำไมมีคำว่าสัมมาด้วย มันมีมิจฉาเหมือนกัน นั่งสมาธิแล้วก็ลืมเนื้อลืมตัว จิตวูบหมดความรู้สึกตัวแล้วบอกบรรลุมรรคผล มันมิจฉาวิมุตติ สัมมาวิมุตติก็คือเกิดอริยมรรค อริยผล ก็อาศัยที่เรามีสติคอยรู้สึกๆ อยู่ในกายในใจเรื่อยๆ ตรงที่เรามีสติคอยรู้สึกอยู่ในกายในใจ สัมมาวายามะก็เกิด สัมมาสติก็เกิด สัมมาสมาธิก็เกิด เกิดอัตโนมัติ ฉะนั้นสติไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

อันนี้พูดถึงในส่วนของการฝึกจิต ที่จริงแล้วสติครอบคลุมองค์มรรคทั้งหมดเลย ถ้าเราขาดสติตัวเดียวองค์มรรคไม่มีเหลือเลย อย่างสัมมาทิฏฐิพอเราไม่มีสติประกอบ มันจะพร้อมจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะจิตใจส่วนลึกของเรามันเต็มไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ ปุถุชนไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่มีสัมมาทิฏฐิที่แท้จริง ปุถุชนมีมิจฉาทิฏฐิโดยอัตโนมัติเลย อย่างเราจะรู้สึกพอเผลอเมื่อไหร่ เราอย่างโน้น เราอย่างนี้ โมโหขึ้นมาก็กูอย่างโน้น กูอย่างนี้ มันเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นว่าเรามีจริงๆ

ความเป็นปุถุชนมันไม่มีสัมมาทิฏฐิ มันจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ คิดว่ารูปนาม ขันธ์ 5 กายใจนี้คือตัวเราของเรา มีตัวเราของเราแล้ว ก็ยังฟุ้งซ่านต่อไปอีก เวลาเราตายบางคนก็ว่าจิตออกจากร่างไปเกิดใหม่ จิตนั้นเป็นอมตะ นี่ก็มิจฉาทิฏฐิ เรียกว่าสัสสตทิฏฐิ ว่ามันเที่ยง มีสิ่งบางอย่างเที่ยงอมตะอยู่ บางคนเป็นนักฟิสิกส์ ก็บอกพอตายปุ๊บแล้วทุกอย่างสูญไปหมดเลย นี่ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิชื่ออุจเฉททิฏฐิ อันนี้เป็นส่วนฝ่ายปัจจุบันแล้วไปสู่ผลในอนาคต ไปแล้วสูญบ้าง ไปแล้วคงที่บ้าง มีอยู่ตลอดบ้าง ในส่วนอดีตก็มีมิจฉาทิฏฐิหลายแบบ เหตุที่เราโผล่มาอยู่ตรงนี้บางคนบอกไม่มีเหตุ อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นลอยๆ พ่อแม่ผสมพันธุ์กันแล้วเกิดตัวนี้ขึ้นมา ไม่มีอะไรเชื่อมโยงมาจากอดีต บางคนก็บอกว่าเทวดากำหนดลงมา พระพรหมกำหนดลงมาให้เราต้องเป็นอย่างนี้ ไม่รู้จักกรรม ไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม ไปเชื่ออะไรต่ออะไรไป ที่จริงแล้วกรรมเป็นตัวกำหนด ปุถุชนไม่ค่อยเห็นหรอก

ฉะนั้นโดยธรรมชาติปุถุชนมีมิจฉาทิฏฐิ พวกเราส่วนใหญ่เราเป็นปุถุชน เราก็มีมิจฉาทิฏฐิอยู่แล้ว อาศัยได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า รู้วิธีเจริญสติขึ้นมา พอเรามีสติเราก็เห็น นี่มันไปสำคัญมั่นหมายแล้วว่าร่างกายตัวเรามีอยู่จริง พอมีสติขึ้นมามันเห็นกายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง ร่างกายมันไม่ใช่เราขึ้นมาแล้ว จิตที่เป็นคนรู้มันก็ไม่ใช่เราขึ้นมาแล้ว พอมีสติถูกต้องจิตตั้งมั่นขึ้นมา ขันธ์มันแยกออกมา มันจะเห็นว่าไม่มีตัวเรา

 

 

เราค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ฝึกให้สติเกิด พอมีสติเกิดสัมมาทิฏฐิที่ไม่เคยมีมันจะมี สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา อย่างทุกวันนี้คนมันขาดสติใช่ไหม เล่นเฟซบุ๊ก เล่นไลน์แล้วก็ออกความเห็น ถามว่ามีกี่คนที่ออกความเห็นด้วยการมีสติ ส่วนใหญ่มีอารมณ์ มีอารมณ์ครอบงำ เขาเขียนอย่างนี้สนองกิเลสเรา เราชอบเราก็ โอ้ ดี ชอบมากเลย บางทีเขียนอะไรมางี่เง่า แต่ไอ้คนที่เขียนมันเพื่อนเรา เราต้องกดไลค์ให้มัน ถ้าไม่กดไลค์ให้มันเดี๋ยวมันโกรธอะไรอย่างนี้ เรื่องงี่เง่าทั้งนั้นเลย ไปดู สัมมาวาจาอาจจะไม่ต้องพูดด้วยปาก คีย์ด้วยนิ้วก็เกิดมิจฉาวาจาได้ มันพูดโดยไม่ต้องออกเสียงให้คนได้ยิน พูดด้วยตัวหนังสือ ขาดสติก็เขียนบ้าๆ บอๆ ไป ไม่ตรงความจริง สัมมาวาจาก็ไม่มี สัมมากัมมันตะ การกระทำทางร่างกายก็ผิดศีลผิดธรรมอะไรไป สัมมาอาชีวะมันก็ไม่มี ขาดสติตัวเดียวสัมมาๆ ทั้งหลายหายไปหมดเลย กลายเป็นมิจฉาหมดเลย

ฉะนั้นสติสำคัญมาก ในส่วนของสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นส่วนของตัวปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นส่วนของศีล สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นส่วนของสมาธิ สำคัญนะค่อยๆ ฝึกให้มีสติไป เวลาเราฝึกเราไม่ต้องคำนึงถึงอะไรมากหรอก อ่านใจตัวเองให้ออก มีสติระลึกรู้จิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ มันเผลอเรารู้ มันเพ่งเรารู้ มันเพ่งเพราะมันโลภ มันอยากดี อยากรู้ชัดๆ อยากรู้ตลอดเวลาจิตมันจะไปเพ่ง ถ้ามันเผลอส่วนใหญ่จิตเป็นอกุศล เผลอๆ เพลินๆ ไป

ฉะนั้นมีสติไปเรื่อยๆ คอยรู้ทัน จิตใจเราเผลอไปเรารู้ จิตใจเราเพ่งอยู่เรารู้ ฝึกอย่างนี้มากๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเผลอก็รู้ จิตเข้าไปเพ่งกรรมฐานอันนั้นก็รู้ ถนัดกรรมฐานอะไรก็เอาอันนั้น กรรมฐานอะไรก็ใช้ได้หมดเลยขอให้รู้ทันจิตเท่านั้น ถ้าทำกรรมฐานแล้วไม่รู้ทันจิตก็ยังใช้ไม่ได้ เช่นเราจุดเทียนไว้หนึ่งเล่ม เราก็มองไปที่ไฟ จิตเราไหลไปรวมอยู่ที่ไฟเราไม่รู้ ใช้ไม่ได้ ไม่ใช่สัมมาสมาธิแล้ว จิตไม่ได้ตั้งมั่น แต่จิตลงไปตั้งแช่อยู่ที่ไฟ ตั้งมั่นกับตั้งแช่ไม่เหมือนกัน ตั้งแช่ คือมันไหลเข้าไปจมนิ่งๆ อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ตัวนั้นได้สมถะ ได้สมาธิชนิดสงบ ได้ฤทธิ์ ได้อภิญญาอะไรพวกนั้นไป

 

กรรมฐานอะไรก็ใช้ได้หมดเลยขอให้รู้ทันจิตเท่านั้น ถ้าทำกรรมฐานแล้วไม่รู้ทันจิตก็ยังใช้ไม่ได้

 

แต่ถ้าตั้งมั่น คือมันเป็นแค่คนดู มันทำให้จิตเป็นแค่คนดู แล้วสติระลึกรู้อะไร จิตตั้งมั่นอยู่เป็นคนดู มันจะแยกรูปแยกนามได้ แล้วสุดท้ายก็จะเห็นรูปก็แสดงไตรลักษณ์ นามก็แสดงไตรลักษณ์ นี่ตัวปัญญา ตรงปัญญาที่เป็นวิปัสสนาจริงๆ เห็นไตรลักษณ์ อย่างเราสามารถแยกรูปแยกนามได้ ร่างกายหายใจจิตเป็นคนดูตรงนี้ยังไม่เห็นไตรลักษณ์ มันเป็นปัญญาระดับต้นๆ ยังไม่ถึงวิปัสสนาปัญญา อย่างเห็นร่างกายเคลื่อนไหวจิตเป็นคนดู ตรงนี้มีปัญญาไหม มี สามารถแยกรูปนามได้แต่ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา ถ้าขึ้นวิปัสสนาจะเห็นรูปที่เคลื่อนไหวเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตที่เป็นคนรู้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเห็นอย่างนั้นขึ้นวิปัสสนาได้ แต่ขั้นแรกมีสติไว้ อย่างร่างกายรูปมันเคลื่อนไหวรู้สึก ถ้าใจลอยไปรู้สึก ใจไปเพ่งในร่างกาย บางคนเพ่งทั้งตัว บางคนก็เพ่งเป็นที่ๆ อย่างดูท้องก็เพ่งท้อง ขยับมือก็เพ่งมืออะไรอย่างนี้ บางคนเพ่งมันทั้งตัวเลย เหมือนเรามองมาจากข้างบนเห็นร่างกายทั้งร่างกาย แล้วบอกนี้รู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ใช่รู้ตัวทั่วพร้อม นี่เพ่งทั่วพร้อม ไม่ใช่รู้ตัวทั่วพร้อมหรอก

รู้ตัวทั่วพร้อม ธรรมดา อย่างอ้าปากหาวอย่างนี้ ถ้ารู้ตัวทั่วพร้อมจะเห็นร่างกาย ใจมันเป็นคนดูสบายๆ เห็นร่างกายมันหาวก็รู้สึก พวกเรานั่งยิ้มรู้สึกไหม ร่างกายมันยิ้ม รู้สึกนะมันไม่ได้ไปเพ่ง เพ่งอยู่ที่ปากยิ้มแล้วอะไรอย่างนี้ ไอ้นี่เพ่ง ถ้าแค่รู้สึกๆ ทั้งตัว ที่ว่ารู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ใช่เพ่งทั้งตัว แต่มันคือรู้สึก รู้สึกทั้งตัว ไม่ได้จงใจ รู้สึกเอง พอภาวนาไปเรื่อยๆ มันรู้สึกตัวทั่วพร้อมเองอัตโนมัติ จะขยับอะไรมันรู้สึกเองไม่ได้เจตนา ถ้าเจตนา จ้อง อันนี้ไม่ใช่รู้ตัวทั่วพร้อม จิตยังติดเพ่งอยู่

ฉะนั้นสติสำคัญมาก พยายามฝึกไปมีสติ ก่อนจะมีสติได้ทำกรรมฐานสักอันหนึ่ง แล้วคอยรู้เท่าทัน จิตใจหนีไปคิดแล้วรู้ จิตใจลงไปเพ่งในอารมณ์กรรมฐานนั้นรู้ ฝึกตัวนี้ให้เยอะๆ ฝึกให้มากๆ อารมณ์กรรมฐานเป็นรูปธรรมก็ได้ นามธรรมก็ได้ ถ้าชำนาญกระทั่งเพ่งไฟ เพ่งเทียน เพ่งพระพุทธรูปอะไร ยังทำได้เลย อย่างเราดูไฟจิตหนีไปเรารู้ จิตไปเพ่งอยู่ที่ไฟเรารู้ เรารู้ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ถามว่าทำกรรมฐานแล้วรู้อะไร รู้ทันจิตใจตัวเอง ถ้าเรารู้จิตใจตัวเอง จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา สมาธิมันจะเกิด แล้วพอจิตมันขยับเขยื้อนสติมันจะเกิด ขยับอย่างไรก็เห็นหมด หัดใหม่ๆ ไม่เห็น ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะเห็น

อย่างมีในทีมแม่ครัวของหลวงพ่อ มีทีมแม่ครัว ในแม่ครัวนี้มีพ่อครัวอยู่เหมือนกัน ฝึกมานานหลายปีแล้ว เรียนกับหลวงพ่อมานานมากเลย วันหนึ่งเขาพร้อมหลวงพ่อก็ชี้ให้ดู “จิตมันสว่างสบายเพลินๆ มีแต่ความสุขเห็นไหม จิตมันอยู่ข้างนอก” พอเขาเห็นว่าจิตไปข้างนอก จิตมันตั้งมั่นอัตโนมัติเลย แล้วต่อไปพอจิตมันเคลื่อนออกข้างนอกปุ๊บ เห็นเองไม่ได้เจตนา ตรงนี้สติอัตโนมัติเกิดแล้ว ทันทีที่สติอัตโนมัติเกิดจิตเคลื่อนแล้วเห็นปุ๊บ สมาธิอัตโนมัติเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้จงใจเลย สติก็อัตโนมัติ สมาธิก็อัตโนมัติ ก็รู้เนืองๆ รู้บ่อยๆ นั่นล่ะเป็นสัมมาวายามะ เป็นความเพียรอัตโนมัติ ความเพียรอัตโนมัติฝึกมากๆ ไป มีสติรู้กายรู้ใจไปเดี๋ยวปัญญาแท้ๆ มันจะเกิดขึ้น เห็นไตรลักษณ์ของรูปของนาม เห็นไตรลักษณ์ของรูปมันก็วางรูป เห็นไตรลักษณ์ของนามมันก็วางนาม

 

 

เส้นทางเดินที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเดินก็เดินกันอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรเลย ฉะนั้นเบื้องต้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตใจตัวเองไว้ ไม่ใช่ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งแล้วก็รู้ที่กรรมฐานอันนั้น อันนั้นจิตถลำลงไป อย่างดูท้อง ท้องขยับๆ แล้วไม่เผลอไปไหนเลยจ้องอยู่ที่ท้องอย่างนี้ จิตมันไหลลงไปที่ท้องแล้วไม่เห็นตรงนี้เป็นสมถะ สมถะชนิดสงบอยู่เฉยๆ จิตไม่ฟุ้งไปที่อื่น แต่จิตไม่ได้ตั้งมั่นไม่สามารถแยกรูปนามได้จริง ฉะนั้นพยายามฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตเคลื่อนไปแล้วรู้ๆ จิตที่เคลื่อนไปก็ไป 2 ลักษณะเท่านั้น เคลื่อนไปคิด หลงไปคิด หรือหลงไปดู หลงไปฟังอะไรออกไปข้างนอกโน่น อีกอันหนึ่งคือหลงลงไปจ้องไปเพ่งที่อารมณ์กรรมฐานนั้น รู้ทันจิตอย่างนี้จิตหลงไปก็รู้ จิตเพ่งอยู่ก็รู้ ที่หลวงพ่อสอนเรื่องเผลอ กับเพ่ง ไม่ใช่พูดเล่นๆ สอนทีแรกคนหัวเราะเลย หลวงพ่อภาวนามาแต่เด็กแล้วพอเรียนจากหลวงปู่ดูลย์พอเข้าใจแล้ว เราจับหลักได้ ออกไปดูผู้ปฏิบัติท่านอื่นๆ ที่อื่นๆ รู้เลยว่าผู้ที่ท่านปฏิบัติได้ จิตท่านตั้งมั่นมีสติอยู่อัตโนมัติ สมาธิท่านอัตโนมัติ ประเภทนั่งเพ่งนั่งจ้อง หรือนั่งแล้วเคลิบเคลิ้มเห็นโน่นเห็นนี่อะไร ไม่ได้กินหรอก

นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อย มันไม่มีสติที่ถูกต้อง มันไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง ไม่ต้องมาพูดเรื่องมรรคเรื่องผลอะไรหรอก องค์มรรคยังเดินไม่ถูก ความยากมันอยู่ที่ต้องฝึก อย่างสติอัตโนมัติขึ้นมา สมาธิอัตโนมัติขึ้นมา นักปฏิบัติบางท่านภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วท่านก็คิดว่า ควรจะเร่งความเพียรให้มากกว่านี้ บางท่านก็คิดจะต้องเร่งความเพียรให้มากกว่านี้ ยังไม่จบกิจยังเหลือกิเลสอยู่ แต่ไม่รู้จะเร่งอย่างไร เพราะสติอัตโนมัติอย่างร่างกายขยับรู้สึกอยู่แล้ว จิตใจเคลื่อนไหวรู้สึกอยู่แล้ว ไม่สามารถจะมีสติมากกว่านี้ได้แล้ว เพราะมันเต็มแล้ว สมาธิหรือจิตมันก็ตั้งมั่นอัตโนมัติอยู่แล้ว ไม่สามารถจะตั้งมั่นมากกว่านี้ จะให้ตั้งแรงกว่านี้ก็กลายเป็นเพ่ง

เราจะต้องฝึกจนกระทั่งมันถึงจุดที่สติอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ตรงนั้นที่มันจะล้างกิเลสได้ แต่อัตโนมัติในภูมิธรรมแต่ละขั้น ความเข้มข้นไม่เท่ากัน อย่างพวกเราปุถุชนจะขึ้นเป็นพระโสดาบัน ก็มีสติอัตโนมัติในระดับหนึ่ง มีสมาธิอัตโนมัติระดับหนึ่ง มีจิตตั้งมั่นโดยไม่ต้องรักษา ไม่ได้มีได้ตลอดเวลา แต่ถ้าภูมิจิตภูมิธรรมถึงระดับพระอนาคามี ในตำราจะบอกพระอนาคามี มีสมาธิบริบูรณ์ สมาธิบริบูรณ์ไม่ใช่ฌานบริบูรณ์ ปุถุชนบางคนได้ฌานที่แปด พระอนาคามีบางองค์ได้แค่ปฐมฌาน ไม่ได้ฌานที่แปด แต่ทำไมบอกว่าสมาธิบริบูรณ์ สมาธิตัวนี้คือสมาธิชนิดตั้งมั่น

จิตมันตั้งมั่นไม่ใช่สมาธิชนิดจิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตมันตั้งมั่น ถ้าจิตมันตั้งมั่นเต็มที่แล้ว อย่าง ถ้าเป็นพระอนาคามีแล้วอินทรีย์แก่กล้ามากๆ จะเร่งความเพียร ไม่สามารถจะเร่งได้ สติมันก็อัตโนมัติ สมาธิมันก็อัตโนมัติแล้ว จะทำให้มากกว่านี้มันก็ทำไม่ได้แล้ว ตรงนี้ก็อยู่ที่อินทรีย์แก่กล้าสุดขีดเมื่อใด จิตมันก็จะก้าวกระโดดไปเอง ไม่มีใครทำมรรคผลนิพพานให้เกิดได้ ตั้งแต่ขั้นที่หนึ่ง โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล จนถึงอรหัตตมรรค อรหัตตผล ไม่มีใครทำให้เกิดได้ ตัวมรรคตัวผลมันเกิดเมื่ออินทรีย์ของเราแก่กล้า ศีล สมาธิ ปัญญาของเราบริบูรณ์ตามชั้นตามภูมิของเรา

แต่ว่าในขั้นที่สติของเราก็ไม่ดี สมาธิของเราก็ยังไม่ดี ต้องฝึก ฝึกไปเรื่อยๆๆ มันคล้ายๆ เราทดน้ำ ถ้าทดน้ำกั้นน้ำไว้สูงแค่นี้น้ำไหลเข้าคลองอันนี้ กั้นสูงกว่านั้นอีกน้ำสูงขึ้นไปเข้าคลองที่สูงขึ้นไปอีก สูงสุดเลยก็เข้ากระจายได้กว้างขวาง ตั้งแต่คลองที่อยู่สูงๆ ถึงคลองที่อยู่ต่ำๆ กระจายได้ทั่วถึง การปฏิบัติก็เหมือนกัน กำลังที่เราสะสมมันคล้ายๆ เราสร้างเขื่อนที่ค่อยๆ สูงขึ้นๆ มันจะทดน้ำได้กว้างขวางขึ้น ค่อยๆ ฝึก จงใจจะให้เกิดมรรคเกิดผล ไม่เกิดหรอก แต่ถ้าไม่ฝึกสติอย่างไรก็ไม่เกิด ถ้าฝึกสติ อดทนมีสัมมาวายามะมีความพากเพียรไป พากเพียรไม่ได้สู้กับอะไรเลย สู้กับกิเลสตัวเอง อย่างอยากบรรลุมรรคผลนิพพาน คือกิเลส ให้รู้ทันเลย โอ๊ยภาวนาแล้วก็อยากๆๆ จิตหาความสุขความสงบไม่ได้เลย ใช้ไม่ได้หรอก จิตมันจะฟุ้งซ่าน

 

ความเพียรชอบ

ฉะนั้นเรามีสติ ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง รู้ทันจิตใจตัวเองไป จิตเผลอก็รู้ จิตเพ่งก็รู้ ต่อไปจิตมันเกิดอะไรขึ้นมันจะเห็น สติมันจะถี่ยิบขึ้นมา สติจะคุ้มครองรักษาจิต จะทำให้สัมมาวายามะบริบูรณ์ คือทันทีที่สติเกิด จิตจะได้รับความคุ้มครอง จิตดวงนั้นถ้ามีอกุศลอยู่อกุศลจะดับ จิตที่มีสติคุ้มครองอกุศลใหม่จะไม่เกิด จิตที่มีสติคือจิตที่มีกุศล แล้วถ้าเรามีสติเนืองๆ ไปกุศลก็เจริญขึ้น มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีวิมุตติ ก็จะเกิดขึ้นเป็นลำดับๆ ไป มีสติก็คือมีความเพียรชอบ หลวงปู่มั่นพูดถูกเป๊ะเลย บอก “มีสติ คือมีความเพียร ขาดสติ คือขาดความเพียร” ท่านพูดมาสะใจจริงๆ ตรงเป๊ะเลย ขาดสติคือขาดความเพียร นั่งสมาธิโต้รุ่งก็ไม่ได้มีความเพียร เดินจงกรมโต้รุ่งก็ไม่ได้มีความเพียร ถ้ามีสติถึงจะมีความเพียร มีสตินั่งอย่างนี้ก็มีความเพียรอยู่ นั่งยองๆ อย่างหลวงพ่อคูณก็มีความเพียรอยู่ มันไม่ใช่อยู่ที่กระบวนท่า มันอยู่ที่จิตต่างหาก

ฉะนั้นการที่เรามีสติคอยรู้เท่าทันจิตตนเอง เรามีความเพียรชอบแล้ว มีอะไรเกิดขึ้นในจิตในใจรู้ทัน ตัวนั้นสัมมาสติ ตรงที่รู้ทันแล้วเห็นสภาวะทั้งหลายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตตั้งมั่นอยู่ ตรงที่จิตเป็นคนดูอยู่ คือตัวสัมมาสมาธิ เสร็จแล้วปัญญาจะเกิด เห็นตัวที่เคลื่อนไหวมันก็ไม่ใช่เรา ตัวที่รู้ก็ไม่ใช่เรา ปัญญามันก็จะเกิด สุดท้ายวิมุตติก็เกิด มันรู้ว่าตัวเราไม่มี มีแต่ว่าสิ่งใดเกิดสิ่งนั้นดับ เป็นพระโสดาบัน ต่อไปภาวนาละเอียดๆ ขึ้นไป จะเห็นเลยในขั้นโสดาบัน สกทาคามี เห็นว่าตัวเราไม่มี พระสกทาคามีสติจะเร็วๆ ขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นกิเลสจะเบาบางลงไม่รุนแรง แต่ในขั้นพระอนาคามีจะเห็นความจริงเลย ตัวกายเราเห็นมานานแล้วว่ากายไม่ใช่ตัวเรา แล้วมันเป็นตัวอะไร มันเป็นตัวทุกข์ มันจะเห็นเอง มันคือตัวทุกข์ แล้วจิตก็สลัดคืนกายให้โลกไป แล้วการภาวนาก็จะบีบวงลงมาที่จิต

สุดท้ายจะเห็นตัวจิตนี้เห็นแล้วไม่ใช่ตัวเรามาตั้งแต่แรก ตั้งแต่เป็นพระโสดาบันเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา ตอนท้ายจะเห็นจิตเป็นตัวอะไร มันไม่ใช่ตัวเรา จิตมันเป็นตัวทุกข์ ฉะนั้นก็จะรู้ว่ารูปเป็นทุกข์ นามเป็นทุกข์ การที่เห็นรูปนามเป็นทุกข์เรียกว่ารู้ทุกขสัจจะ รู้รูป รู้นามว่าเป็นตัวทุกข์ หัดภาวนาทีแรกเราเห็นว่ารูปนามไม่ใช่ตัวทุกข์ อย่างที่พวกเราหัดเราไม่เห็นหรอก เราจะเห็นว่าร่างกายเราทุกข์บ้างสุขบ้าง จิตใจเราทุกข์บ้างสุขบ้าง ไม่เห็นหรอกว่ากายนี้เป็นทุกข์ จิตเป็นทุกข์ แล้วภาวนาถ้าถึงขึ้นพระอนาคามีจะเห็นกายนี้ทุกข์ล้วนๆ เลย แล้วมันวางกาย แล้วถึงขั้นที่สุดจะเห็นจิตนี้ทุกข์ล้วนๆ เลย แล้วมันก็ปล่อยวางจิต

ฉะนั้นการที่จะเห็นรูปเห็นนามเป็นทุกข์ เรียกว่ารู้แจ้งในทุกขสัจ ตรงที่รู้แจ้งในทุกขสัจมันก็จะละสมุทัย ละอัตโนมัติหมดความอยากที่จะให้กายให้ใจเป็นสุข หมดความอยากที่จะให้กายให้ใจพ้นทุกข์ เพราะมันรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ กายกับใจเป็นตัวทุกข์จะไปอยากให้มันไม่ทุกข์เป็นไปไม่ได้ กายกับใจเป็นทุกข์จะไปอยากให้มันเป็นสุขเป็นไปไม่ได้ มันเป็นความอยากที่โง่เขลา คืออวิชชาพาอยาก ฉะนั้นเรารู้ความจริงของทุกข์ มันก็จะละสมุทัยอัตโนมัติ ทันทีที่จิตหมดความอยาก นิโรธคือนิพพานก็จะปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาเรา นิพพานไม่ได้เกิดขึ้น นิพพานแค่ปรากฏขึ้นให้เรารู้เราเห็น เมื่อจิตเรามีคุณภาพพอ แล้วในขณะนั้นอริยมรรคเกิดขึ้น ฉะนั้นการที่เรามีสติในเบื้องต้นมีสติไปเรื่อยๆ ศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดวิมุตติ มันก็เกิดขึ้นเป็นลำดับๆ ขั้นสุดท้ายเลยก็คือจะเห็นกายนี้ใจนี้คือทุกข์ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป จะเห็นถึงขนาดนี้จิตก็จะคลายตัว วาง วางโลกทิ้งไป พ้นจากโลก

 

 

สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ครูบาอาจารย์สอนหลวงพ่อมา ฉะนั้นพวกเราก็เอาไปทำ ฝึกสติให้ดี ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งรู้ทันจิตไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสติดีเอง ทำไมหลวงพ่อไม่เน้นมาที่กาย กายเคลื่อนไหวต้องมีจิตเป็นคนรู้ ไม่อย่างนั้นเดินปัญญาต่อไม่ได้หรอก มันไปจ้องอยู่ที่ร่างกายจิตมันถลำไปจ้องกาย ได้แต่สมถะสงบเฉยๆ ไม่สามารถเดินปัญญาต่อไปได้ แต่ถ้าทำอย่างที่หลวงพ่อบอก ทำกรรมฐานจิตหลงไปคิดแล้วรู้ จิตหลงไปเพ่งแล้วรู้ พอรู้ทันจิต จิตจะตั้งมั่นขึ้นมา รูปนามมันจะแยก แล้วมันจะเห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม เห็นไตรลักษณ์ของรูปนามแจ่มแจ้ง มรรคผลมันก็เกิดเป็นลำดับๆ ไป

เส้นทางนี้ลัดสั้นที่สุดแล้ว ไม่รู้ว่าจะสั้นกว่านี้อย่างไรแล้ว คือสอนเข้ามาที่ตัวสตินี่สำคัญมาก พระพุทธเจ้าท่านถึงบอก ให้เจริญสติปัฏฐานไป บางคนที่อินทรีย์แก่กล้าเจริญสติปัฏฐานวันเดียวก็บรรลุพระอรหันต์แล้ว บางคนก็ 7 เดือน 7 ปี บางคนยังไม่ถึงขั้นพระอรหันต์ก็ได้พระอนาคามี เป็นเรื่องของการเจริญสติ ถ้าเรายังเจริญสติปัฏฐานอยู่ โลกไม่ว่างจากพระอริยะหรอก ถ้าเราไม่ได้เจริญสติปัฏฐานให้ถูก ไม่มีพระอริยะแน่นอน เพราะสติปัฏฐานเป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียว เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น สติปัฏฐาน คือมีสติรู้กาย มีสติรู้ใจ ไม่ใช่สติอย่างอื่น ไม่ใช่สติข้างขวดเหล้า “ดื่มสุรา ทำให้ขาดสติ” สตินั้นไม่ได้ทำให้เกิดมรรคผลอะไรหรอก เขียนไว้ตามที่กฎหมายกำหนด รวมแล้วกินเหล้าแล้วขาดสติเหมือนเดิม ฉะนั้นสติจริงๆ อยู่ที่ใจ ฝึกเข้ามาให้ได้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
26 มิถุนายน 2564