หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อให้ดูจิต

ขอโอกาส วันนี้เมื่อ 40 ปีก่อน ปี 2526 หลวงพ่อก็มาในสถานที่นี้ในฐานะฆราวาส มางานศพหลวงปู่ดูลย์ 40 ปีพอดี ต่างเดือนไม่เท่าไร วันนี้ก็งานอุปัชฌาย์หลวงพ่อ หลวงปู่ดูลย์ท่านเป็นอาจารย์

เมื่อ 40 ปีก่อนเมืองสุรินทร์เป็นแหล่งที่การปฏิบัติธรรมเข้มแข็งไม่ได้แพ้ที่ไหนเลย คนสุรินทร์ภาวนาดีๆ นับจำนวนไม่ถ้วนเลย ทั้งพระ ทั้งฆราวาส พอผ่านวันผ่านเวลามานาน กระแสของโลกมันแรงขึ้นๆ กระแสของธรรมะก็เริ่มเงียบๆ ลง พวกเราอุตส่าห์มาเข้าวัดทั้งที หลวงพ่อไม่อยากให้เราได้ไปแค่ว่าขอศีล ขอเสร็จแล้วก็คืนไปที่วัดอะไรอย่างนี้ สิ่งที่หลวงพ่อมาจากกรุงเทพฯ เมื่อ 40 กว่าปีก่อน หลวงพ่อมาหาธรรมะ เลยอยากให้พวกเรามาเจอหลวงพ่อ ก็อยากให้รับธรรมะสืบทอดต่อไป

ครั้งแรกที่มากราบหลวงปู่ดูลย์ ท่านก็สอนว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้ให้อ่านจิตตนเอง” สอนเท่านี้ หลวงพ่อก็ลงมือปฏิบัติไม่เคยหยุดสักวันเลย ปฏิบัติตลอด “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง”

 

“อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง”

หลวงปู่ดูลย์เป็นครูบาอาจารย์ที่ไม่ธรรมดา ไม่ได้เป็นรองครูบาอาจารย์องค์ไหนเลย หลวงพ่อเรียนจากครูบาอาจารย์ 30 กว่าองค์ เกือบๆ 40 องค์ พบว่าแต่ละองค์ก็มีดีของแต่ละองค์ แต่ไม่มีองค์ไหนเหมือนหลวงปู่ดูลย์ เวลาเราเข้าไปกราบหลวงปู่ดูลย์ บอกว่าเราอยากปฏิบัติ ท่านไม่สอน ท่านจะนั่งสมาธิของท่านเงียบๆ ไป เกือบๆ ชั่วโมง บางคนชั่วโมงกว่า แล้วลืมตาขึ้นมาท่านถึงจะสอน

คำสอนที่ท่านสอน ถ้าเราเอาไปปฏิบัติเราจะเห็นผลในเวลาอันสั้น แต่ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้ผลอะไร หรือเราไปทำอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ท่านสอน มันก็ไม่ได้ผล จะได้ผลดีตรงที่เราทำอย่างที่ท่านสอน ท่านสอนหลวงพ่อว่า “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” ท่านทราบโดยที่เราไม่ต้องบอกว่าหลวงพ่ออ่านหนังสือธรรมะมาเยอะเลย อ่านพระไตรปิฎก อ่านแล้วอ่านอีก อยากหาวิธีปฏิบัติว่าทำอย่างไรเราจะปฏิบัติได้

ตั้งแต่เด็กๆ ก็ทำแต่สมถกรรมฐาน ทำสมาธิเพื่อความสงบ ไปเรียนกับท่านพ่อลี วัดอโศการาม ไปเรียนทีแรกก็เรียนทำสมาธิ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไปเรื่อยๆ แล้วจิตมันก็สงบ พอจิตสงบแล้วมันก็อยู่แค่นั้น ผ่านมาตั้งหลายปีมันได้แค่ความสงบ ก็รู้ว่ามันยังมีทางที่ปฏิบัติมากกว่านี้อีก

ลำพังการทำสมาธิให้จิตสงบ ยังไม่พ้นทุกข์จริง ยังไม่พ้นกิเลสหรอก หลวงพ่อถึงได้ดิ้นรน เที่ยวอ่านตำรับตำรา พระไตรปิฎก ตั้ง 45 เล่มในตู้ อรรถกถาอีกเยอะแยะ รวมแล้ว 80 เล่ม นั่งอ่าน แต่อ่านได้ไม่หมด อ่านเฉพาะพระสูตร พระวินัยกับพระสูตร อภิธรรมอ่านไม่รู้เรื่อง อ่านแล้วก็ยังจับหลักของการปฏิบัติไม่ได้ ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร สำนักแต่ละแห่งเขาก็สอนไม่เหมือนกันสักที่หนึ่ง เราจะเริ่มใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อันไหนถูก อันไหนไม่ถูก เราตอบไม่ถูก

จนกระทั่งหลวงพ่อมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนหลวงพ่อบอกให้ดูจิตตัวเอง พอหัดดูจิตตัวเองไป ในที่สุดก็เข้าใจ จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นหัวหน้าของธรรมะทั้งปวง ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่มั่นท่านก็สอน “ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ” ได้จิตก็ได้ธรรมะ

ฉะนั้นการปฏิบัติมีรูปแบบมากมาย บางที่ก็ฝึกอานาปานสติ บางที่ฝึกดูท้องพองยุบ บางที่ก็ทำจังหวะขยับมือ บางที่ก็เดินจงกรม เดินท่านั้นท่านี้ เอามือไว้ตรงนั้น เอามือไว้ตรงนี้ หลวงพ่อก็ลองๆ แล้วมันภาวนาไม่ได้ เพราะว่ามันไม่รู้หลัก มันไม่ได้แก่นของการปฏิบัติ

พอมาเรียนกับหลวงปู่ หลวงปู่ท่านให้ดูจิตตัวเอง หลวงพ่อก็หัดดูไปเรื่อยๆ ทีแรกเราก็ไม่รู้ว่าจิตมันอยู่ที่ไหน จิตมันเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จิตอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จะดูอย่างไรก็ไม่รู้ จะเอาอะไรไปดูก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรสักอย่างเลย ยังนึกแปลกใจว่า เอ๊ะ จิตใจมันก็อยู่กับเรามาแต่ไหนแต่ไร ทำไมเราไม่รู้จักมันเลย ต่อไปนี้จะตั้งอกตั้งใจเรียน ให้รู้จักมันให้ได้

ตอนนั้นมาหาหลวงปู่แล้วก็กราบลาท่าน ขึ้นรถไฟไป ตอนขึ้นรถไฟ นึกถึงที่ท่านบอกให้ดูจิต ตกใจเลย ดูจิตจะดูอย่างไร จะเอาอะไรไปดู ดูอย่างไรก็ไม่รู้ จะเอาอะไรไปดูก็ไม่รู้ จิตอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรสักเรื่อง พอทำอะไรไม่ถูก หลวงพ่อก็ใช้ไม้ตายของการปฏิบัติ พวกเราจำไว้เลย เวลาเราปฏิบัติธรรมแล้วเราทำอะไรไม่ถูก ไม่ใช่เลิก ถ้าทำอะไรไม่ถูก ทำสมาธิไว้ ทำสมถะไว้ก่อน หลวงพ่อก็หันมาทำอานาปานสติที่เคยชิน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไปเรื่อยๆ

พอจิตใจสงบ ปัญญามันก็เกิด จิตจะอยู่ที่ไหน จิตไม่ไปอยู่ที่ต้นไม้ ไม่ไปอยู่ที่ท้องนา จิตต้องอยู่ในร่างกายเรานี้ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้การปฏิบัติเราจะไม่ให้เกินกายออกไป จะเรียนรู้อยู่ภายในร่างกายนี้ล่ะ แล้วไม่นานเราคงจะต้องเจอจิต เพราะจิตมันอยู่ในร่างกาย คล้ายๆ เราหาคนๆ หนึ่งไม่เจอ เราก็ไปเฝ้าที่หน้าบ้านเขา วันหนึ่งเขาก็กลับมาที่บ้าน เราก็เจอ ร่างกายเป็นบ้านของจิต เราหาจิตไม่เจอ เรารู้สึกอยู่ที่ร่างกายไว้

พอรู้สึกอยู่ที่ร่างกาย ต่อมาก็เริ่มเห็นร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายไม่ใช่จิต ร่างกายเป็นของที่ถูกดูอยู่ เราคิดอีก พิจารณาต่อไป แล้วความสุขความทุกข์คือจิตหรือเปล่า ตอนนั้นโง่งมงาย ไม่รู้เลยว่าจิตคืออะไร ก็หาต่อไป แล้วจิตอยู่ในความสุขหรือเปล่า จิตอยู่ในความทุกข์หรือเปล่า ดูอย่างไรก็ไม่เจอ ทำสมาธิให้จิตมีความสุข ดูลงไปในความสุขจนความสุขดับไป ก็ไม่เจอจิต

นั่งนิ่งๆ ไม่กระดุกกระดิก ให้ร่างกายมีความทุกข์แล้วดูลงไปในความทุกข์ของร่างกาย ก็ไม่เจอจิตอีก จิตอยู่ในร่างกายแต่ไม่ได้อยู่ในส่วนใดของร่างกาย จิตมีความรู้สึกสุขทุกข์ แต่สุขทุกข์ก็ไม่ใช่จิต ก็คิดว่า เอ๊ะ หรือว่าจิตมันคือความคิด หลวงพ่อเจตนาคิดเลย คิดพิจารณา คิดบทสวดมนต์ “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดั่งห้วงมหรรณพ” พอคิดบทสวดมนต์ ก็เห็นกระแสของความคิดมันเลื้อยขึ้นมาจากกลางอก มันไหลพรืด เหมือนงูเลื้อยออกมาจากรู ออกมา

พอสติระลึกรู้ กระแสของความคิด ความคิดดับทันทีเลย พอความคิดดับ ความรู้สึกที่แท้จริงคือจิต มันก็ปรากฏขึ้นมา สิ่งที่ปิดบังจิตเราไว้ ทำให้เราหาจิตไม่เจอก็คือความหลงคิดของเรานี่เอง ถ้าเมื่อไรเรามีสติรู้ทัน เวลาจิตมันหลงคิดแล้วเรามีสติรู้ทัน ความหลงคิดก็ดับ จิตไม่หลง จิตก็เกิดความรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา จิตมันตื่นขึ้นมา

พอหลวงพ่อเห็น จิตมันผุดขึ้นมา มันตื่นขึ้นมา โอ๊ย ตัวนี้ เราได้มาตั้งแต่เด็กแล้ว นั่งสมาธิมา ก็เคยเจอจิตชนิดนี้ แต่เราไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไร ตอนนี้รู้แล้วว่าเราจะใช้อะไร เราจะดูมัน เราจะดูมันไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นมาก็คอยดูจิตใจของตัวเอง ตรงนี้เป็นหลักปฏิบัติที่อยากฝากให้พวกเรา การดูจิตๆ ไม่ใช่ไปเพ่งจิต

 

หลักของการดูจิต

การดูจิต เราดูได้ 2 อย่าง อย่างขั้นต้น เราดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิต อย่างจิตขณะนี้สุข เราก็รู้ จิตขณะนี้ทุกข์ เราก็รู้ จิตขณะนี้ดี เราก็รู้ จิตขณะนี้โลภ โกรธ หลง เราก็รู้ หัดรู้ไปเรื่อยๆ ตามรู้ตามดูอารมณ์ทั้งหลาย ความรู้สึกทั้งหลายที่มันหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเข้ามาในจิตใจเรา ต่อไปปัญญามันเกิด มันจะเห็น จิตสุขก็ชั่วคราว จิตทุกข์ก็ชั่วคราว จิตดีก็ชั่วคราว จิตโลภ โกรธ หลงก็ชั่วคราว มีแต่ของชั่วคราว ไม่มีของถาวร

การดูจิตอีกลักษณะหนึ่ง ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก คือเราเห็นความเกิดดับของจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันแรกเราเห็นความเกิดดับของจิตผ่านความรู้สึกทั้งหลาย ความรู้สึกสุขเกิด จิตมันสุข มันอยู่ชั่วคราว มันก็ดับ มันเกิดจิตเฉยๆ อย่างนี้ จิตเฉยๆ อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ

หรือจิตมันโกรธ พวกเราบางคนขี้โมโห ถ้าเราขี้โมโห อย่าไปโมโหตัวเองอีกทีหนึ่ง ถ้าเราขี้โมโห เวลาจิตมันโกรธขึ้นมา ให้รู้ลงไปว่ากำลังโกรธอยู่ ให้เห็นว่าความโกรธเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดูว่าโกรธ จิตกับความโกรธเป็นคนละอันกัน เราก็จะเห็นอีก เอ้อ จิตที่ถูกความโกรธย้อม มันก็เป็นลักษณะอย่างหนึ่ง จิตที่มีสติรู้ทันความโกรธ ความโกรธอยู่ห่างๆ ย้อมจิตไม่ได้ มันเป็นอีกลักษณะหนึ่ง

จิตที่ถูกกิเลสย้อมนั้นเป็นอกุศลจิต จิตที่ไม่ถูกกิเลสย้อมเป็นอโลภะ ไม่มีความโลภ อโทสะ ไม่มีความโกรธ อโมหะ ไม่มีความหลง อันนั้นคือจิตที่เป็นมหากุศลจิต เพราะฉะนั้นเวลาที่เราปฏิบัติไป จิตมันโกรธขึ้นมา รู้ว่าโกรธ คนไหนขี้โมโหก็ดูไปเรื่อยๆ จิตโกรธแล้วรู้ๆ ไปเรื่อยๆ คนไหนขี้โลภ เจออะไรก็อยากได้หมด จิตโลภขึ้นมาก็รู้ จิตโลภขึ้นมาก็รู้ รู้มันไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปพอชำนิชำนาญขึ้นมันเห็น จิตโกรธอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตโลภอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ

เริ่มต้นเอาอันใดอันหนึ่งที่เราถนัดนั่นล่ะ คนไหนขี้โมโห ดูจิตโกรธไป คนไหนโลภมาก เห็นอะไรก็อยากได้ไปหมด ก็ดูจิตโลภไป ทางใครทางมัน การดูจิตมันกว้างขวาง ไม่ใช่ไปนั่งเพ่งตัวจิต อยู่ๆ ไปนั่งเพ่ง นั่งจ้องจิตจนจิตว่างๆ อันนั้นเป็นการทำสมาธิอีกชนิดหนึ่ง เป็นการเข้าอรูปฌาน ทำจิตให้ว่าง ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ไม่ได้อะไรขึ้นมา มันเป็นเส้นทางที่เจ้าชายสิทธัตถะสรุปมาก่อนแล้วว่าไม่ใช่ทาง

เพราะฉะนั้นเราดูจิต อย่าไปน้อมจิตให้นิ่งๆ ว่างๆ ให้ดูความเปลี่ยนแปลงของจิตไป จิตเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ชั่ว หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เบื้องต้นถ้าชีวิตเรานี้เต็มไปด้วยความสุข เราก็คอยรู้ไป จิตมีความสุข เรารู้ เราก็จะเห็นความสุขที่เกิดขึ้นมันก็ชั่วคราว เดี๋ยวสุขมาก เดี๋ยวสุขน้อย เดี๋ยวก็หายไป ถ้ามันทุกข์มาก ชีวิตเราทุกข์เหลือเกิน เราก็ดูความทุกข์ไป เราก็จะเห็นความทุกข์ก็ไม่คงที่

อย่างบางคนอกหัก เวลาอกหัก มันกลุ้มใจ มันทุกข์แสนสาหัส ชีวิตนี้มืดมนไปหมดแล้ว ถ้าเราภาวนาเป็น เราก็คอยดู จิตมันเศร้าโศกเสียใจแล้ว มันอกหัก เราดู แล้วเราก็จะพบอย่างหนึ่งว่าความเศร้าโศกเสียใจที่เรื่องอกหักอะไรอย่างนี้ มันเกิดเพราะเราหลงคิด พอเราหลงคิดถึงสาวคนที่เรารักแล้วเขาไปรักคนอื่น พอเราคิดเรื่องนี้ปุ๊บ ความเศร้าโศกก็เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นกระทั่งความทุกข์ไม่ใช่เกิดลอยๆ มีเหตุมันก็เกิด หมดเหตุมันก็ดับ บังคับมันไม่ได้ พอจิตมันคิดเรื่องนี้ขึ้นมา มีความสุขให้เรารู้ทัน เราก็จะเห็น จิตที่สุขก็อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับเวลาเราคิดเรื่องนี้ขึ้นมา จิตมีความทุกข์ เราก็รู้ไป จิตมีความทุกข์ อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป

พื้นเดิมของหลวงพ่อเป็นพวกโทสจริต พวกโทสะกับพวกปัญญามันไปด้วยกัน พวกโทสะรวดเร็ว รุนแรง ล้างผลาญ ปัญญาก็มีลักษณะอันเดียวกัน รวดเร็ว รุนแรง ล้างผลาญ แต่โทสะล้างผลาญคุณงามความดี แต่ปัญญาล้างผลาญกิเลส มันลักษณะเดียวกัน พวกที่โทสะแรงๆ มักจะเป็นพวกที่ปัญญากล้า เวลาเราภาวนา เราเฝ้ารู้เฝ้าดูไป

หลวงพ่อขี้โมโห อะไรนิดหนึ่งก็โกรธแล้ว ทีแรกก็โกรธไปพักหนึ่งแล้วถึงจะเห็นจิตมันโกรธขึ้นมา รู้ว่ามันโกรธ แล้วเห็นมันก็ดับ อ๋อ มันโกรธตามหลังความคิด คิดพยาบาท คิดวิตก คิดพยาบาทวิตก คิดไม่ดี คิดในทางลบกับคนอื่นกับสิ่งอื่น โทสะมันก็เกิด พอทีแรกต้องโกรธแรงๆ ก่อนถึงจะรู้ พอหัดรู้หัดดูไปนานๆ แค่ขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว จิตใจรำคาญอะไรขึ้นมานิดเดียวก็เห็นแล้ว

สมมติแมลงวันบินมาหาเรา เรารำคาญ เราเห็นความรำคาญเกิดขึ้นที่จิต อันนี้ก็โทสะ แต่มันละเอียด ทีแรกเราก็เห็นได้หยาบๆ ก่อน แต่หัดดูเรื่อยๆ ต่อไปมันก็ละเอียดขึ้นๆ เราจะรู้เท่าทันกิเลสในจิตในใจของเราได้มากขึ้นๆ ทันทีที่เรารู้ทันกิเลส กิเลสจะดับอัตโนมัติ ไม่ต้องไปดับมัน กิเลสเกิดขึ้นให้รู้ ไม่ใช่ให้ละ ไม่ต้องพยายามละกิเลส เราพยายามละกิเลส มันจะไม่มีวันจบสิ้นเลย

อย่างโทสะเกิด เราอยากให้หายจากโทสะอันนี้ มีความอยากเกิดขึ้น แล้วมันไม่หายอย่างที่อยาก ยิ่งโทสะมากกว่าเก่าอีก อย่างบางคนโกรธคนอื่น เสร็จแล้วก็เลย ทำไมมันขี้โมโหนัก กลับมาโกรธตัวเองต่อ เราไม่ได้ฝึกอย่างนั้น เราฝึกแค่ว่าขณะนี้จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะ รู้ว่าไม่มีโทสะ ง่ายๆ แค่นี้เอง

มันอยู่ในสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าสอน พระพุทธเจ้าท่านสอนพระ ท่านก็บอกว่า “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย เมื่อจิตมีราคะ ให้รู้ว่ามีราคะ เมื่อจิตไม่มีราคะ รู้ว่าไม่มีราคะ เมื่อจิตมีโทสะ ให้รู้ว่ามีโทสะ เมื่อจิตไม่มีโทสะ รู้ว่าไม่มีโทสะ” เมื่อจิตมีโมหะ คือความหลง ก็รู้ว่าหลง จิตไม่หลงก็รู้ว่าไม่หลง เมื่อจิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน เมื่อจิตหดหู่ ก็รู้ว่าหดหู่ ท่านสอนให้เรารู้ ท่านไม่ได้สอนให้เราแก้ไข นี่คือการดูจิต

 

 

ดูจิต อันแรกเราอย่าไปบังคับจิต ไปนั่งเพ่ง นั่งจ้อง ทำจิตให้ว่างๆ อันนั้นใช้ไม่ได้ ดูจิตเราดูความเปลี่ยนแปลงของมันไป เดี๋ยวมันสุข เดี๋ยวมันทุกข์ เดี๋ยวมันดี เดี๋ยวมันร้าย อย่าเข้าไปแทรกแซง มันสุขเราก็รู้ มันทุกข์ เราก็รู้ เพราะพระพุทธเจ้าสอนมาอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้ว่าไม่มีราคะ

อย่างเราโลภขึ้นมา เรารู้ว่าโลภ พอเรารู้ ความโลภมันจะดับเอง เพราะตรงที่เรารู้ เรียกว่าเรามีสติ เมื่อใดมีสติเมื่อนั้นไม่มีกิเลส เป็นกฎของธรรมะอย่างนั้นเลย เรียกธรรมนิยาม เป็นกฎของธรรมะ เมื่อไรมีสติ เมื่อนั้นไม่มีกิเลส เมื่อไรมีกิเลส เมื่อนั้นไม่มีสติ

เพราะฉะนั้นเราพยายามพัฒนาสติ รู้ทันจิตตัวเองไป จิตเราโลภขึ้นมา รู้ทัน จิตเราโกรธขึ้นมา รู้ทัน จิตเราหลงไปแล้ว จิตหลง เป็นจิตที่เกิดบ่อยที่สุด เกิดทั้งวัน แล้วจิตหลงมันหลงได้ 6 แบบ หลงไปดูรูป อย่างเราขับรถอยู่ เห็นหมาถูกรถชน จิตเราก็วิ่งไปอยู่ที่หมา วิ่งไปอยู่ที่รูป จิตมันหลงไปทางหู อย่างเราได้ยินเสียง จิตมันวิ่งไปฟังเสียง จิตมันวิ่งไปทางจมูก มันไปดมกลิ่น วิ่งไปที่ลิ้น ไปรู้รส วิ่งไปที่ร่างกาย ไปรู้สัมผัสเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว วิ่งไปที่ใจ ส่วนใหญ่ไปคิด ไปนึก แล้วเราสังเกตให้ดี จิตหลงคิดเกิดบ่อยที่สุด วันหนึ่งหลงคิดนับครั้งไม่ถ้วน

วิธีทดสอบว่าเราหลงคิดบ่อยไหม ลองท่องสวดมนต์ในใจ พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ลองท่องไป แป๊บเดียวไปคิดเรื่องอื่นแล้ว จิตมันหลงไปคิดเรื่องอื่นแล้ว เราขาดสติ จิตก็หลงไปคิด จิตหลงคิดเป็นจิตที่เกิดบ่อยที่สุด พอหลงไปคิดเรื่องนี้ ราคะก็เกิด หลงไปคิดเรื่องนี้ โทสะก็เกิด ราคะและโทสะนั้นจะเกิดไม่ได้ถ้าเราไม่หลง มันเกิดเพราะเราหลง เพราะฉะนั้นเราจะต้องพัฒนาตัวเองให้หลงสั้นลงๆๆ ไม่ใช่หลงตั้งแต่ตื่นจนหลับ หลงตั้งแต่เกิดจนตาย อันนั้นชีวิตสูญเสียเปล่าๆ

อย่างหลวงพ่อมาหัดดูจิต จะเห็นเลย จิตหลงไปคิดแล้วรู้ จิตหลงไปคิดแล้วรู้ ทีแรกก็ยังไม่เห็นตรงนี้ ทีแรกเห็นจิตโกรธแล้วรู้ จิตไม่โกรธแล้วรู้ พอดูไปชำนิชำนาญขึ้น มันจะเห็น ก่อนจะโกรธ มันหลงคิดก่อน เพราะฉะนั้นต่อไปพอจิตหลงคิดปุ๊บ รู้ปั๊บ ความหลงคิดดับ จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา

พอจิตมันตั้งมั่นแล้ว มันหลงอีกรู้อีกๆ ไปเรื่อยๆ ต่อไปปัญญามันจะเกิด สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรกำลังเกิดขึ้นในร่างกายจิตใจ ปัญญาเป็นตัวรู้ความจริงของกายของใจ อย่างเราหัดดูจิต จิตโกรธแล้วรู้ จิตโลภแล้วรู้ จิตหลงแล้วรู้ หัดดูไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งปัญญามันปิ๊งขึ้นมาเองเลยว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตมันหลงก็หลงเอง จิตมันโลภก็โลภเอง จิตมันโกรธ มันก็โกรธได้เอง เราสั่งอะไรมันไม่ได้สักอย่างหนึ่ง

หลวงพ่อเรียนอยู่กับหลวงปู่ดูลย์ มาท่านครั้งแรก 6 กุมภาพันธ์ ปี 2525 แล้วไปภาวนาอยู่ 3 เดือน แล้วกลับมาหาท่านครั้งที่สอง ก็ไปบอกหลวงปู่ บอกผมดูจิตได้แล้วล่ะ ดูมันได้ทั้งวันเลย นิ่งอยู่อย่างนี้ ท่านบอกนั่นยังไม่ได้ดูจิต นั่นเป็นการแทรกแซงอาการของจิต จิตมีธรรมชาติคิดนึก ปรุงแต่ง เราไปทำจนไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ทำผิดแล้ว ไปทำใหม่ หลวงปู่ท่านบอกอย่างนี้

ครูบาอาจารย์รุ่นเก่า โหด โหดมหาโหดจริงๆ ไม่สอนละเอียดหรอก ให้ประโยคหนึ่ง 2 ประโยคแล้วก็ไล่เราไปปฏิบัติเอาเอง ถ้าเราใจเสาะ เราปฏิบัติไม่สำเร็จหรอก ทีนี้หลวงพ่อ พอหลวงปู่บอกว่าทำผิดแล้ว ไปทำจิตให้นิ่งให้ว่างอยู่อย่างนั้น ไม่คิด ไม่นึกอะไร ว่างๆ ท่านบอกนี่คือการแทรกแซงจิต จิตมีธรรมชาติ คิด นึก ปรุงแต่ง ให้ไปดูใหม่

คราวนี้หลวงพ่อก็เลยมานึกถึงคำว่าดู มันเหมือนเราดูหนัง เหมือนดูละคร เราไม่ใช่คนเขียนบท ไม่ใช่ผู้กำกับ ไม่ใช่นักแสดง ไม่ใช่นักวิจารณ์ เราเป็นแค่คนดู ละครถึงบทเศร้า เราก็รู้ว่าเศร้า ละครถึงบทโกรธ เราก็รู้ว่าโกรธ หลวงพ่อก็หัดดูละคร ละครนี้แสดงอยู่ที่จิตของตัวเองนี้เอง ตัวละครมีอยู่มากมาย ทั้งตัวฝ่ายดีและฝ่ายร้าย ตัวดี เช่น ตัวมีศีลมีธรรม ตัวฝ่ายร้าย เช่น ตัวโลภ ตัวโกรธ ตัวหลง ตัวหงุดหงิดขี้โมโห ตัวขี้อิจฉา ตัวอย่างโน้น ตัวอย่างนี้ ตัวกังวล ตัวกลัว นี่ตัวละครที่มันหมุนเวียนอยู่ในจิตใจเรา

 

 

เราหัดดูจิตตัวเองเหมือนดูละคร อย่าเข้าไปแทรกแซงละคร ไม่ต้องไปนั่งวิจารณ์ ละครในใจเรานี้ เดี๋ยวก็มีบทรัก เดี๋ยวก็มีบทโกรธ เดี๋ยวก็เป็นบทดี เดี๋ยวก็เป็นบทชั่ว เดี๋ยวก็เป็นบทสุข เดี๋ยวก็เป็นบททุกข์ ดูจิตใจตัวเองเหมือนดูละคร แล้วเราจะเห็นว่าความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่ผ่านเข้ามาในจิตใจเรานั้นเป็นของชั่วคราว เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป

หลวงพ่อภาวนาก็มาเห็นจิตมันเกิดดับๆ อยู่อย่างนี้ จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตเป็นกุศลเกิดแล้วดับ จิตโลภ โกรธ หลง เกิดแล้วดับ ดูอยู่ 4 เดือน วันนั้นมันมีพายุเข้าในกรุงเทพฯ เปียกฝนเลย จะกลับบ้าน เปียกฝน แล้วก็เลยหลบเข้าไป หลบฝนอยู่ในวัดใกล้ๆ ที่ทำงาน ไปหลบฝนอยู่แล้วก็ในใจมันก็นึกว่าเราเปียกฝนอย่างนี้ ไม่นานเราก็ต้องป่วย ที่ผ่านมาเปียกฝนทีไรเป็นหวัดทุกทีเลย

พอคิดว่าไม่นานเราจะต้องป่วย ใจนี้มันกังวลขึ้นมา สติที่เราเคยฝึกไว้จนชำนาญ มันเห็นความกังวลที่ผุดขึ้นมา พอเห็นความกังวลเท่านั้น ความกังวลดับเลย ดับทันที เราไม่ต้องไปดับมัน เพราะฉะนั้นกิเลสเกิด ไม่ต้องไปดับมัน กิเลสเกิด ให้รู้อย่างที่มันเป็น พอมันดับปุ๊บแล้วจิตมันรวม โลกธาตุนี้หายไปเลย ฟ้ากำลังผ่าเปรี้ยงๆ หายไป พายุหายไป ร่างกายเราหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว แล้วก็เห็นจิตมันเกิดดับอยู่ภายใน 2 ขณะ เห็นอย่างนั้น ไหวปั๊บ ดับปั๊บ ดับอย่างนี้ แล้วจิตมันก็อุทานขึ้นมาว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา

พอผ่านจุดนี้มาก็ขึ้นมากราบหลวงปู่ มารายงานท่าน ท่านก็บอกว่าทำเป็นแล้ว ปฏิบัติเป็นแล้วล่ะ ช่วยตัวเองได้แล้ว ต่อไปนี้ไม่ต้องมาเรียนกับท่าน ก็ไปได้ด้วยตัวเองแล้ว ท่านบอกอย่างนี้ แต่หลวงพ่อก็ไม่โง่ ท่านยังอยู่ เราก็มาเรียนอยู่เรื่อยล่ะ คอยขึ้นมาเรื่อยๆ ท่านก็สอนอะไรต่ออะไรให้เราดีขึ้นๆ

หลวงพ่อเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดกรุงเทพฯ โตในกรุงเทพฯ เรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ครูบาอาจารย์อยู่สุรินทร์ ยุคก่อนไม่ใช่มาง่ายๆ นั่งรถทัวร์กันทั้งคืนเลย รถทัวร์วิ่งบ้าง หยุดบ้าง เสียบ้างอะไรนี่ วุ่นวายอยู่อย่างนั้น บางทีก็นั่งรถไฟมา อดทนเพื่อจะมาเรียนธรรมะ หลวงปู่บอกว่าให้ดูจิตตัวเอง ก็ดูทุกวัน แล้วก็เห็นจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ ดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันรู้เองล่ะ ไม่ต้องคิด มันรู้ได้ด้วยตัวเอง พอทำมาถึงตรงนี้แล้ว ท่านก็บอกว่าช่วยตัวเองได้ ให้ไปภาวนาต่อเอา ช่วยตัวเอง ภาวนาไป

หลวงพ่อก็มาดูพวกเรารุ่นหลังๆ ทำไมมันทำยากนัก หลวงพ่อบอกดูจิตไปเลย ง่ายๆ จิตโลภ รู้ว่าโลภ จิตโกรธ รู้ว่าโกรธ จิตหลง รู้ว่าหลง จิตสุข รู้ว่าสุข จิตทุกข์ รู้ว่าทุกข์ ง่ายเท่านี้ทำไมทำไม่ได้ หลวงพ่อก็พบอย่างหนึ่ง พวกเราที่ภาวนาไม่ได้สักทีหนึ่ง เพราะสมาธิเราไม่พอ นั่นจุดที่หนึ่ง สมาธิไม่พอ ใจเราวอกแวกๆ ตลอดเวลา ยุคนี้ยิ่งเรียกว่ายุคสมาธิสั้น สั้นมาก แวบหลงๆ ตลอดเลย

เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากได้ดิบได้ดีในทางธรรมะ มีวินัยในตัวเอง แบ่งเวลาไว้เลย ทุกวันต้องทำในรูปแบบ ปฏิบัติในรูปแบบ จะนั่งสมาธิก็ได้ จะหายใจเข้าพุทออกโธ จะดูท้องพองยุบ จะเดินจงกรมยกเท้าย่างเท้า อะไรก็ได้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แต่เคล็ดลับ อันนี้เคล็ดลับเลย ไม่ว่าเราจะทำกรรมฐานอะไร ก็ให้รู้ทันจิตตนเองไว้ มิฉะนั้นไม่ได้กินหรอก เหมือนหลวงพ่อทำอานาปานสติ 22 ปี ไม่เห็นจะได้อะไรขึ้นมา ได้แต่ความสงบ ได้แต่ของเล่น มีแต่ของเล่น ของจริงไม่มี

แต่พอหลวงปู่สอนให้ดูจิตตัวเอง แล้วเห็นจิตมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง มันทำงานได้ เวลารู้สึก เวลาหายใจ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ใครเป็นคนหายใจ ร่างกายหายใจ ใครเป็นคนรู้สึก จิตเป็นคนรู้สึก เห็นไหมมีกายกับมีจิต เวลาเราจะดูร่างกาย เดิน ยืน เดิน นั่ง นอน อะไรยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ใครเป็นคนรู้ จิตเป็นคนรู้ หรือเราจะเคลื่อนไหว รู้สึก หยุดนิ่ง รู้สึก ใครเป็นคนรู้สึก จิตรู้สึก ร่างกายเป็นคนเคลื่อนไหว หัดดูไปเรื่อยๆ มีจิตเป็นคนดู

เราคงเคยได้ยิน บางคนไปเข้าคอร์สอะไรมา แล้วก็บอกได้ญาณ ได้ญาณชั้นนั้นชั้นนี้ ญาณที่หนึ่งแล้ว ได้นามรูปปริจเฉทญาณ แยกรูปแยกนามได้ แยกรูปแยกนาม ขันธ์ 5 มี 5 ตัว มีรูป เวทนา คือความสุขทุกข์ สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว วิญญาณ ความรับรู้อารมณ์ หรือจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขันธ์มี 5 ตัว

เวลาเราแยกขันธ์ ไม่ต้องรีบแยกทีเดียว 5 ตัว แยกมากเกินไป ประสาทกิน ทำไม่สำเร็จหรอก ขั้นแรกฝึกจิตตัวเองก่อน ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตหลงไปคิดแล้วรู้ อย่างหลวงพ่อหายใจ ทำอานาปานสติ หายใจไป จิตหลงไปคิดแล้วรู้ จิตถลำไปเพ่งลมหายใจแล้วรู้ รู้ทันจิตไปเรื่อยๆ พอเรารู้ทันจิตไปเรื่อยๆ ต่อไปพอเราเห็นร่างกายหายใจ ร่างกายหายใจนี่เป็นของถูกรู้ ร่างกายกับจิตนี่คนละอันกัน นี่คือการแยกรูปนามแล้ว ไม่ใช่แยก 5 อันแล้วก็แยกไม่ออก

การแยกรูปแยกนามไม่ต้องแยกทั้ง 5 ตัว แยกคู่เดียวพอแล้ว แต่หนึ่งในสองต้องคือตัวจิต อย่างเราจะดูกาย พอเราได้จิตมาแล้ว ดูจิตมาจนเราได้จิตมาแล้ว เราก็เห็นร่างกายเคลื่อนไหว มันเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดู เวลาความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย ความสุขความทุกข์ที่เกิด อย่างนั่งแล้วปวดขาอย่างนี้ ความปวดไม่ใช่ขา ความปวดก็ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ดูไปเรื่อยแล้วมันจะแยกขันธ์ได้มากขึ้นๆ เริ่มจากแยกกายกับจิตออกจากกัน มีเวทนาเกิดขึ้นก็แยกเวทนาคือสุขทุกข์กับจิตแยกออกจากกัน

เวทนาทางร่างกายดูยาก ถ้าไม่ทรงฌาน ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสติแตก เพราะมันเจ็บ แนะนำพวกเราซึ่งมันไม่ได้ฌาน ให้ดูเวทนาทางใจ ใจเราเดี๋ยวก็สุข ใจเราเดี๋ยวก็ทุกข์ ใจเราเดี๋ยวก็เฉยๆ ทั้งวันมันมีอยู่ 3 แบบเท่านี้เอง ใจมีความสุขก็รู้ ใจมีความทุกข์ก็รู้ ใจเฉยๆ ก็รู้ ใครเป็นคนรู้ จิตเป็นคนรู้ เราสามารถแยกจิตกับเวทนาออกจากกันได้ นี่ก็เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้

หรือเราเห็นโลภ โกรธ หลงเกิดขึ้นแต่เดิมเราก็ว่าเราโลภ เราโกรธ เราหลง แต่พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะเห็นเลยโลภ โกรธ หลงเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่จิต จิตเป็นคนไปรู้มันเข้า นี่ก็เรียกว่าเราแยกได้ แยกขันธ์ได้แล้ว แล้วถ้าเราชำนาญการปฏิบัติมากขึ้น เราจะเห็นจิตก็เกิดดับ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

 

“ก่อนจะถึงบทเรียนที่จะเจริญปัญญาได้
เราถึงต้องผ่านบทเรียนที่เรียกว่าจิตตสิกขา
เรียนเรื่องจิตตัวเองจนกระทั่งได้สมาธิที่ถูกต้อง”

 

การดูจิตในขั้นประณีตขึ้นมา เราไม่จำเป็นต้องดูสุข ทุกข์ ดี ชั่วแล้ว เราดูลงเลย จิตไปดู หลงไปดู รู้ทัน จิตหลงไปฟัง รู้ทัน แหม บอกแล้วว่ามันต้องหลงก่อน มันถึงจะเกิดดีเกิดชั่วขึ้นมา เพราะฉะนั้นจิตไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คอยรู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปปัญญามันก็รู้แจ้งแทงตลอดในตัวจิต จิตไม่ใช่เราหรอก มันจะคิดมันก็คิดได้เอง มันจะสุข มันก็สุขได้เอง มันจะทุกข์ มันก็ทุกข์ได้เอง มันจะดี มันก็ดีได้เอง มันจะโลภ โกรธ หลง มันก็โลภ โกรธ หลงได้เอง มันไม่ใช่ตัวเราของเรา

ค่อยแยกๆๆ ออกไป กายกับจิตเป็นคนละอัน เวทนากับจิตเป็นคนละอัน สังขารคือความปรุงดีปรุงชั่วกับจิตก็เป็นคนละอัน จิตเองก็เกิดดับทางทวารทั้ง 6 ถ้าเราหัดอย่างนี้ได้ เรียกว่าเราแยกขันธ์เป็นแล้ว เราจะเห็นไตรลักษณ์ ร่างกายไม่ใช่เรา นี่คือเห็นอนัตตาของกาย สุข ทุกข์ดี ชั่ว เห็นไหม สั่งมันไม่ได้ นี่คือเห็นอนัตตา ค่อยดูไป

หรือจิตจะเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สั่งไม่ได้ นี่คือเห็นอนัตตา หรือจิตที่ไปดูรูปอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตที่ฟังเสียงอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ตรงที่เห็นว่าอยู่ชั่วคราวแล้วดับ นั่นเรียกเห็นอนิจจัง เราเฝ้ารู้อยู่ในกายในใจของเรา

หลวงตามหาบัวท่านพูดดีมากๆ อยู่ประโยคหนึ่ง จริงๆ พูดดีหลายประโยค แต่ที่จะยกมาให้ฟังตรงนี้ 1 ประโยค ท่านบอกว่า “ถ้าแยกธาตุแยกขันธ์ไม่เป็น อย่ามาคุยอวดเรานะว่าเจริญปัญญา” แยกธาตุแยกขันธ์ ต้องแยกอย่างที่หลวงพ่อบอก ถ้าพยายามแยกกาย นี่มือเคลื่อนไหวกับมืออันนี้คนละอัน อย่างนี้ไม่ใช่ การแยกบอกแล้วว่าต้องมีจิตแล้วก็มีกาย มีเวทนา มีสังขาร มีอะไร อย่างน้อยต้องมีจิตอยู่ ถ้าไม่มีจิตไม่มีทางปฏิบัติธรรมเลย เพราะฉะนั้นก่อนจะถึงบทเรียนที่จะเจริญปัญญาได้ เราถึงต้องผ่านบทเรียนที่เรียกว่าจิตตสิกขา เรียนเรื่องจิตตัวเองจนกระทั่งมันได้สมาธิที่ถูกต้อง

หลวงพ่อ พอหลวงปู่ท่านบอกว่าหลวงพ่อภาวนาเป็น หลวงพ่อออกตระเวนดูเลย สำนักต่างๆ ส่วนใหญ่ก็คือมันมีสมาธิที่ไม่ถูกต้อง บางพวกก็นั่งเพ่ง เครียดๆ นิ่งๆ อยู่อย่างนี้ ใช้ไม่ได้ บางพวกก็ไม่ทำสมาธิเลยบางที่ บางที่ทำสมาธิ แต่ก็ไปเพ่งจ้อง บางคนได้ทำสมาธิ แต่แต่งให้จิตเคลิ้มๆ เหมือนคนติดยาเสพติด ทำจิตเคลิ้มๆ มันใช้ไม่ได้

สมาธิไม่ได้แปลว่าสงบ จำไว้เลยเราชาวพุทธ สมาธิแปลว่าความตั้งมั่นของจิต สมาธิคือความตั้งมั่น เพราะฉะนั้นเราจะอยู่ในท่ามกลางความวุ่นวายแค่ไหนก็ได้ ถ้าจิตเราตั้งมั่นก็เรียกว่าเรามีสมาธิอยู่ เราสงบอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายได้

เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานไปอย่างที่หลวงพ่อบอก ถนัดกรรมฐานอะไรก็ทำไป แต่เคล็ดลับอยู่ที่ว่าทำแล้วรู้ทันจิตตนเองไว้ เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งลมหายใจก็รู้ ดูท้องพองยุบ จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งท้องก็รู้ ขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียน จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งใส่มือก็รู้ หัดรู้อย่างนี้เรื่อยๆ ไป รู้ทันจิตตัวเองไปในที่สุดจิตจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา

พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมาได้ งานต่อไปคือแยกขันธ์ เราเห็นว่าร่างกายนี้มันของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ สุขทุกข์เป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ ดี ชั่ว เป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ หัดดูมันไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปเราจะเห็น จิตนั่นล่ะก็เกิดดับ จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน ไม่มีอมตะ ไม่ใช่จิตเป็นอมตะ จิตก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่เรายังไม่เห็นว่าจิตเกิดดับได้ ยังไม่ได้ธรรมะหรอก

เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านสอนปัญจวัคคีย์ ท่านถาม รูปเที่ยง ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นสุข หรือทุกข์ สิ่งที่มันเป็นทุกข์ มันเป็นตัวเรา ควรจะเห็นว่าเป็นตัวเราไหม ปัญจวัคคีย์บอกไม่ควร จนถึงจิต อันที่ห้า ขั้นที่ห้าก็คือจิต วิญญาณเที่ยงไหม วิญญาณคือความรับรู้ ก็คือจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ปัญจวัคคีย์ตอบ ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ท่านถามต่อ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า สิ่งที่เป็นทุกข์นั้นควรยึดถือเป็นตัวเราของเราไหม ไม่ควร พระเจ้าข้า พอท่านฟังถึงตรงนี้ ท่านบรรลุพระอรหันต์กัน เพราะรู้แจ้งแทงตลอดลงมาจนถึงตัวจิตเห็นไหม ไล่ลงมาจนถึงตัวจิตแล้ว

ถ้าเราเห็นร่างกายไม่ใช่เรา เห็นสุข ทุกข์ ดี ชั่วไม่ใช่เรา แต่จิตยังเป็นเราอยู่ก็ยังเป็นปุถุชนอยู่ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าปุถุชนที่ไม่ได้สดับ หมายถึงคนที่ไม่เคยได้ยินธรรมะเลย สามารถเห็นได้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา แต่ไม่สามารถเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา มีแต่สาวกของพระพุทธเจ้าถึงจะเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา แล้วถ้าเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา ความเป็นเราไม่มี ตรงนั้นคือพระโสดาบัน แล้ววันใดที่หมดความยึดถือจิต เพราะรู้แจ้งแทงตลอดจิตว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตรงนั้นคือที่สุดแห่งทุกข์

 

หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิต เป็นการสอนที่ลัดสั้นที่สุด

เพราะฉะนั้นเริ่มต้นฝึกให้เรามีจิตที่อยู่กับเนื้อกับตัวก่อน ทำกรรมฐานไป จิตหลงไปเพ่งก็รู้ จิตหลงไปคิดก็รู้ เวลาทำกรรมฐานแล้วจิตหลง 2 แบบเท่านั้นล่ะ หลงไปคิดเรื่องอื่นกับหลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน เช่น รู้ลมหายใจก็เพ่งลมอะไรอย่างนี้ อันนี้สุดโต่ง 2 ฝั่ง ยังไม่เข้าทางสายกลาง

ตรงที่หลงไปคิดนั้น เรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยค ตามใจกิเลส ตรงที่ลงมาเพ่งอารมณ์กรรมฐานนั้น เรียกว่าอัตตกิลมถานุโยค ทำตัวเองให้ลำบาก เวลาเรานั่งสมาธิ รู้สึกไหม อึดอัด นั่งแล้วเครียด นั่งแล้วอึดอัด เพราะนั่งไม่เป็น นั่งแล้วไปบังคับตัวเอง มันเลยกลายเป็นอัตตกิลมถานุโยค เราเดินสู่ทางสายกลาง

เราฝึกเอา ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดแล้วรู้ จิตหลงไปเพ่งแล้วรู้ ไปทำตัวนี้ให้ชำนาญๆ แล้วต่อไปเราจะเห็นว่าจิตมันจะค่อยๆ มีกำลัง ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันจะตั้งมั่นอยู่ได้ในทุกๆ สถานการณ์เลย เกิดสงครามยิงกันโครมคราม จิตเราก็ยังตั้งมั่นได้ ฝนตก ฟ้าผ่า จิตก็ยังตั้งมั่นอยู่ได้

เพราะฉะนั้นไปฝึก ฝึกจิตฝึกใจของเราไว้ ฉะนั้นที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิต เป็นการสอนที่ลัดสั้นที่สุด หลวงปู่สุวัจน์ก็เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ท่านก็เคยบอกหลวงพ่อ ท่านบอกว่าตอนท่านไปเรียนกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็สอนบอกว่า “ดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ดูจิตไม่ได้ ดูกายไม่ได้ ให้ทำสมถะ” ทำสมถะเพื่อให้มีกำลังกลับมาดูจิตได้ ดูกายเพื่ออะไร เพื่อให้เกิดกำลังไปเห็นจิต ดูจิตเพื่ออะไร เพื่อให้เห็นธรรม ธรรมะเป็นอย่างไร ก็ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั่นล่ะคือตัวธรรมะ เราดูลงไปเลย จิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เพราะฉะนั้นสิ่งที่หลวงปู่ดูลย์สอน เป็นทางที่ลัดสั้นที่สุดแล้ว ถ้าเราสามารถตัดตรงเข้ามาที่จิตเรา การปฏิบัติจะเหลือนิดเดียวเลย แต่ถ้าเรายังเข้ามาที่จิตไม่ได้ เราก็อ้อมๆ ไปก่อน ไปดูกาย ดูเวทนา ดูสังขารอะไรไป แต่ถ้าตัดตรงเข้ามาเห็นจิตได้ เห็นจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วดับ จิตโลภ โกรธ หลงเกิดแล้วดับ อย่างนี้ดูจิตไปเลย วันไหนดูไม่ไหว จิตไม่มีกำลัง ไปดูกาย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ทำไป จิตมันมีกำลังขึ้นมา มันก็จะเข้ามาดูจิตได้เอง นี่เส้นทางที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนหลวงพ่อมา แล้วหลวงพ่อก็เอามาทำ ใช้เวลาไม่มาก

ฆราวาสขาด 2 อย่าง หนึ่ง ขาดสมาธิ ข้อที่สอง อันแรกเลย ทำสมาธิไม่ถูก อันที่สอง ทำบ้างไม่ทำบ้าง ทำๆ หยุดๆ มันถึงเอาดีไม่ได้สักที ถ้าเราตั้งใจเด็ดเดี่ยว ทุกวันเราทำในรูปแบบ จะได้อะไรไม่ได้อะไรก็ช่างมันเถอะ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ รู้ทันจิตตัวเองไป หรือดูท้องพองยุบแล้วรู้ทันจิตตัวเองไป ต่อไปสมาธิมันจะตั้งมั่นขึ้นมา จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา แล้วถัดจากนั้นค่อยแยกธาตุแยกขันธ์เจริญปัญญาไป นี่คือเส้นทางที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนมา

อยากให้พวกเรารับช่วงต่อจากหลวงพ่อ หลวงพ่อก็แก่แล้ว ตอนที่หลวงพ่อมาเรียนจากหลวงปู่ อุปัชฌาย์หลวงพ่อตอนนั้นยังหนุ่มอยู่เลย ตอนนี้ 90 กว่า สิ้นไป หลวงปู่ 90 กว่า ทีนี้หลวงพ่อยังไม่ถึง 90 70 กว่า พวกเราก็รีบภาวนา มีข้อติดขัดอะไรหลวงพ่อยังช่วยทัน ถ้าต่อไปไม่มีใครสอนลำบาก มันผิดแล้วมันผิดยาว

สรุป สรุปเลย ถือศีล 5 ไว้ ทุกวันทำในรูปแบบ กรรมฐานอะไรก็ได้ ขอให้รู้ทันจิตตัวเอง กรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด แต่ทำแล้วรู้ทันจิตตัวเอง เช่น ดูท้องพองยุบ จิตหนีไปคิด รู้ จิตไปเพ่ง รู้ หัดดูแค่นี้ล่ะ จิตเผลอกับจิตเพ่ง 2 อันนี้พอแล้ว ไม่ต้องรู้เยอะ พอดูบ่อยๆ บ่อยๆ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นเอง มีสมาธิขึ้นมา พอมีสมาธิแล้วก็เดินปัญญา

การเดินปัญญาจะเริ่มจากการแยกธาตุแยกขันธ์ กายอยู่ส่วนกาย จิตเป็นคนดู เวทนาคือสุขทุกข์ในกาย จิตเป็นคนดู เวทนาคือสุข ทุกข์ เฉยๆ ในจิต จิตเป็นคนดู กุศล อกุศลทั้งหลาย จิตเป็นคนดู เฝ้ารู้เฝ้าดู ต่อไปจิตเองก็เกิดดับ เรามีจิตดวงใหม่ รู้จิตดวงเก่าที่ดับไปสดๆ ร้อนๆ

จิตเห็นจิต เคยได้ยินประโยคนี้ไหม จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค หลวงปู่ดูลย์สอน แต่อันนี้ จริงๆ เป็นไม้ตายของท่าน ท่านขยักคำพูดของท่านไว้นิดหนึ่ง ท่านบอกว่า “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ” ถ้าพูดแบบไม่ออม ไม่เกรงใจใคร ก็จะต้องอย่างนี้ “จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอรหัตตมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งก็คือนิโรธ” คือนิพพาน คืออรหัตตมรรค

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติไม่ว่าเราจะเดินสายกาย สายเวทนา สายดูสังขารเกิดดับหรืออะไร สุดท้ายมันจะลงมาที่จิต มาแตกหักลงที่จิต ถ้าจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ถ้าเบื้องต้นจิตเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา นี่ได้โสดาปัตติมรรค ภาวนาไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่ง มันเห็นว่าจิตไม่ใช่แค่ว่าไม่ใช่เรา จิตนี้คือตัวทุกข์

มันเป็นทุกข์เพราะอะไร เพราะไม่เที่ยง บางท่านเห็นว่ามันทุกข์เพราะไม่เที่ยง บางท่านเห็นว่ามันเป็นทุกข์เพราะว่าถูกบีบคั้น บางท่านเห็นว่าเป็นทุกข์เพราะเป็นอนัตตา เรียกว่าการหลุดพ้นของพระอรหันต์ จะมี 3 สไตล์ หลุดพ้นเพราะเห็นความไม่เที่ยง เพราะเห็นทุกข์ คือความบีบคั้น เพราะเห็นความไม่ใช่ตัวตน หลุดพ้นเพราะเห็นไม่ใช่ตัวตนเรียกสุญญตวิโมกข์ มันมีวิโมกข์ 3 ตัว ก็คืออนิจจัง เห็นอนิจจังแล้วก็วาง เห็นทุกขังแล้วก็วาง เห็นจิตแล้วก็วาง วางอะไร วางจิต นั่นล่ะคือจุดแตกหักของการปฏิบัติ จะแตกหักกันตรงนี้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดบูรพาราม
11 มิถุนายน 2566