ธรรมะที่หลวงพ่อสอนไว้เยอะแยะเลย หลวงพ่อสอนกรรมฐานมาตั้งแต่ปี 2527 ยังไม่ได้บวช ตอนนั้นหลวงพ่อพุธ หลวงพ่อพุธท่านอยู่ที่โคราช ท่านรู้จักกับหลวงพ่อ หลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ แล้วขากลับจากสุรินทร์จะแวะโคราชเสมอ ฉะนั้นท่านคุ้น ท่านรู้ว่าหลวงพ่อภาวนา ท่านก็เลยบอกหลวงพ่อ บอก “คุณไปเผยแพร่ ธรรมะที่คุณปฏิบัติมา มันจะเป็นประโยชน์กับคนอีกจำนวนมาก” แต่เดิมครูบาอาจารย์สอนกรรมฐาน จะสอนให้พุทโธพิจารณากาย แต่หลวงปู่ดูลย์สอนให้หลวงพ่อดูจิต
หลวงพ่อพุธท่านบอกว่า “คนเมือง คนมีการศึกษา ทำงานที่ต้องใช้ความคิด มันเหมาะกับกรรมฐาน คือการดูจิตตัวเอง” ครูบาอาจารย์สั่ง หลวงพ่อก็เลยทำ ท่านให้ไปเผยแพร่ หลวงพ่อก็ใช้วิธีไปเขียนลงหนังสือ มีหนังสือรายเดือน หนังสือโลกทิพย์อะไรพวกนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องประวัติครูบาอาจารย์ เขียนตั้งแต่ปี 2527 เขียนแล้วก็ไม่ลงชื่อ ใช้นามปากกา ไม่อยากให้คนรู้จักหรอก ไม่ได้อยากเผยแพร่ แต่ครูบาอาจารย์สั่งก็ต้องทำ ก็เลยเผยแพร่แบบไม่ให้คนรู้จัก ใช้นามปากกา ถ้าเรายังต้องปฏิบัติของเราอยู่ ถ้ายุ่งกับคนเยอะๆ เดี๋ยวจะเนิ่นช้า คนก็ชอบไปถามหลวงพ่อพุธว่าคนนี้เป็นใคร ท่านก็บอกมาที่วัดท่านบ่อยๆ แต่วันนี้ไม่มา
หลวงพ่อสอนที่เจอตัวกัน สอนยุคแรกๆ พาไปกราบหลวงปู่ดูลย์ ไปหาครูบาอาจารย์ด้วยกัน รุ่นแรกที่สอนก็มี 2 คน ต่อมาก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น คนในที่ทำงาน ตอนหลังถึงได้มาสอนวงกว้าง หลวงพ่อสังเกตอย่าง รุ่นแรกๆ ที่หลวงพ่อสอน สัดส่วนที่เข้าใจธรรมะสูงมาก อย่างสอนมีอยู่กลุ่มหนึ่งประมาณ 10 คน เข้าใจธรรมะ 2 คนก็ 20 เปอร์เซ็นต์ รุ่นแรก จริงๆ 100 เปอร์เซ็นต์ มาหลังๆ นี้คนเรียนเป็นหมื่นเป็นแสน หลวงพ่อจ้ำจี้จำไช ควบคุมใกล้ชิดไม่ได้ คนจำนวนมากที่เข้าใจขึ้นมา คงระดับไม่เกินหลักร้อย
ทำไมทำไม่ค่อยได้กัน เพราะไม่ทำ ไม่ทำ ธรรมะนั้นฟังแล้วไม่ได้เอาไปทำ ไม่เห็นผลหรอก ไม่เข้าใจหรอก แต่ถ้าเราลงมือปฏิบัติ อย่างศีลเรารักษา ทุกวันเราทำในรูปแบบ ให้จิตมีกำลัง แล้วเราก็ ในชีวิตประจำวันเรามีสติ รู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ถ้าเราทำอย่างที่หลวงพ่อบอกนี้ได้ บางคนเดือนหนึ่ง บางคน 2 – 3 เดือนก็เข้าใจแล้ว จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง เราเคยหลงทั้งวันก็รู้สึกตัวได้บ่อยขึ้น เราเคยทุกข์หนักๆ ก็กลายเป็นทุกข์น้อยๆ ทุกข์เบาๆ เคยมีความทุกข์นานๆ กลายเป็นทุกข์สั้นๆ อย่างบางคนทุกข์มาก อกหัก อกหักก็เป็นทุกข์ คนส่วนใหญ่ถ้ารักกันจริงแล้วอกหัก ทุกข์กันเป็นปี
ปัญหากับความทุกข์ เป็นคนละอันกัน
แต่ถ้าเราภาวนาเป็น เราจะเห็นความทุกข์มันเกิดตอนที่คิดเท่านั้นล่ะ เวลาใจเราหลงไปคิดถึงคนที่เรารัก เขาไม่อยู่แล้ว ความทุกข์ก็เกิดขึ้น พอเรามีสติ เราเห็น เฮ้ย นี่มันหลงคิด ความหลงคิดดับ ความทุกข์มันก็ดับ มันไม่มีอะไร มันเหมือนภาพลวงตา ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจเรา มันเป็นแค่ภาพลวงตาหลอกเรา ฉะนั้นเราเองเป็นคนสร้างความทุกข์ให้ตัวเอง อย่างคนอื่นมาสร้างปัญหาให้เราได้ เช่น มันมาขับรถชนเรา เราขับรถดีๆ แล้วมีคนมาขับรถชนรถเรา หรือบ้านอยู่ใกล้ๆ กัน เลี้ยงหมา กลางคืนเห่าหนวกหู เราจะนอนก็หมามาเห่า คนอื่นสร้างปัญหาให้เราได้ แต่เราสร้างทุกข์ให้ตัวเอง
แยกให้ออกระหว่างปัญหากับความทุกข์ เป็นคนละอันกัน ปัญหานั้นเป็นสิ่งที่มากระทบ เป็นผัสสะมากระทบ คืออารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจ ก็เรียกว่าเป็นปัญหาเกิดขึ้น อย่างทำมาหากินดีๆ เกิดโรคระบาดขึ้นมา ทำมาหากินไม่ได้ เคยรวยก็ไม่รวย เป็นสิ่งที่มากระทบ แต่บางคนถ้าได้เคยฝึกจิตฝึกใจ สิ่งที่มากระทบก็เหมือนๆ กันกับคนอื่น แต่คนหนึ่งทุกข์เยอะ อีกคนหนึ่งทุกข์น้อย ฉะนั้นทุกข์มาก ทุกข์น้อย หรือไม่ทุกข์ อยู่ที่ตัวเอง ความทุกข์เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเอง ความทุกข์ในใจเรา คนอื่นสร้างปัญหาเราได้ หรือบ้านเราก็สร้างปัญหาให้เราได้ เราอยู่ของเราดีๆ ปลวกขึ้นบ้านมากินบ้านเรา นี่เป็นปัญหา หรือลมมาพัดต้นไม้ล้มทับบ้านเรา หลังคาพัง นี้เป็นปัญหา หรือเราอยู่มานาน ร่างกายไม่แข็งแรง เราแก่ เราเจ็บป่วย อันนี้เป็นปัญหา
คนที่ไม่เคยฝึกกรรมฐาน พอมีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะปัญหาที่คนอื่นทำให้ หรือปัญหาจากทรัพย์สินเงินทอง ตำแหน่งหน้าที่ ปัญหาจากร่างกายของตัวเอง คนที่เคยฝึกกรรมฐานมา มันจะไม่เกิดความทุกข์ทางใจ ความทุกข์ทางใจ มันเกิดจากความอยากของตัวเอง อย่างเราแก่ เราอยากไม่แก่ มันก็กลุ้มใจ เราเจ็บป่วย เราอยากไม่ป่วย เราก็กลุ้มใจ เรามีคนรักอยู่ อยากให้เขาอยู่กับเราตลอดไป เขาไม่อยู่ เขาไปอยู่กับคนอื่น เรามีความอยากแล้ว เราก็เลยทุกข์ใจ มีความทุกข์ทางใจเกิดขึ้น ฉะนั้นความทุกข์ทางใจ เกิดจากความอยากของเราเอง ไม่ใช่เกิดจากคนอื่น สิ่งอื่น ไม่ได้เกิดจากสภาพแวดล้อม ไม่ได้เกิดจากความแก่เฒ่าของร่างกาย
ฉะนั้นความทุกข์ทางใจ กับความทุกข์ทางโลกทั่วๆ ไป มันคนละอันกัน คนส่วนใหญ่พอร่างกายไม่สบาย จิตใจก็เป็นทุกข์ไปด้วย พระพุทธเจ้าท่านเปรียบ คนซึ่งมีปัญหาชีวิตเกิดขึ้น หรือเจ็บป่วย ก็เหมือนถูกยิงด้วยธนูดอกที่หนึ่ง พอความเจ็บปวดเกิดขึ้น อย่างในร่างกายเราไม่สบาย เหมือนโดนธนูดอกแรก แล้วใจของคนที่ไม่เคยฝึก มันจะเจ็บป่วยไปด้วย มันโดนธนูดอกที่สอง คือถูกทำร้ายจิตใจไปด้วย แต่คนที่ฝึกกรรมฐานแล้ว ความทุกข์ทั้งหลายมันอยู่ข้างนอก ปัญหาทั้งหลายที่มากระทบ มันเป็นของข้างนอก กระทั่งร่างกายเราเจ็บป่วย ยังเป็นของข้างนอกเลย เพราะร่างกายกับความเจ็บป่วย ไม่ใช่ตัวเรา เป็นของถูกรู้ถูกเห็นอยู่
ท่านบอกว่าคนทั่วไปเวลามีความทุกข์ครั้งที่หนึ่งแล้ว จะต้องตามมาด้วยความทุกข์ทางใจ ความทุกข์ครั้งที่สอง แต่ถ้าเราฝึกกรรมฐานดี เราจะมีปัญหา มีความทุกข์อะไรอันเดียว ความทุกข์เข้าถึงได้แค่ร่างกาย ไฟไหม้บ้าน สมมติบ้านเราถูกไฟไหม้ เราไม่ได้โดนไฟคลอก ร่างกายเราไม่ได้เจ็บปวดด้วยซ้ำไป แต่ว่าเราเสียดาย เราไม่อยากให้ไฟไหม้บ้าน ใจเราก็เลยมีความอยาก อยากให้ไฟมันไม่ไหม้ ทั้งๆ ที่มันไหม้ไปแล้ว พอความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์ทางใจก็เกิดขึ้น เวลาเราเจ็บป่วยขึ้นมา เราอยากให้มันไม่เจ็บป่วย ความทุกข์ทางใจก็เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึกดีๆ เราจะสามารถแยกได้ อันนี้เป็นปัญหาทางโลกๆ อันนี้เป็นความทุกข์ทางร่างกาย พวกนี้เป็นเรื่องธรรมดา มีทรัพย์สินเงินทอง มันก็มีการสูญเสียได้ มีชื่อเสียงเกียรติยศ มันก็สูญเสียได้ มีความสุขก็สูญเสียได้ มีคนยกย่องสรรเสริญ วันหนึ่งคนก็นินทาได้ นี่เรื่องของโลก เป็นอย่างนั้น เวลาเราสัมผัสกับธรรมะประจำโลก เรียกโลกธรรม 8 ประการ มีลาภกับความเสื่อมลาภ เวลามีลาภเราก็ดีใจ เวลาเสื่อมลาภเราก็เสียใจ มียศ เสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ สุขทุกข์อันนี้ คือสุขทุกข์ทางร่างกายเรานี้
อย่างร่างกายเราเป็นสุข ร่างกายเราเป็นทุกข์ ร่างกายไม่สบายเป็นทุกข์ ในโลกมันหนีไม่ได้ มีสมบัติก็จะให้มันอยู่กับเราตลอดไป เป็นไปไม่ได้ สมบัติที่เราเก็บไว้ ถึงวันหนึ่งเรารักษาหวงแหน ไม่มีใครมาปล้น ไม่มีใครมาขโมย ถึงวันหนึ่งมันก็เป็นของคนอื่น บ้านเรา เราสร้างมา ถึงวันหนึ่งถ้าไฟไม่ไหม้ไปก่อน พายุไม่พัดพังไปก่อน ถึงวันหนึ่งมันก็เป็นของคนอื่น เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง มันเป็นของประจำโลก ผลัดกันใช้ ตอนได้มา ถ้าเราไม่เคยฝึกกรรมฐาน เราก็หลงยินดี คิดว่ามันจะอยู่กับเราถาวร ตอนเสียไป เราไม่เคยฝึกกรรมฐาน เราก็เศร้าโศกเสียใจ
หรือบางทีเรายังไม่ได้มา เราอยากได้มา ความอยากเกิดขึ้นเมื่อไร ความทุกข์เกิดทันทีเลย อย่างเราชอบผู้หญิงสักคนหนึ่ง อยากได้มาเป็นเมียเรา ฉะนั้นก็ทุรนทุรายในใจ อยาก รักเขามากเลย คนไทยมีประเภทรักผู้หญิง สมัยก่อนนะเดี๋ยวนี้ไม่เป็นแล้ว เมื่อก่อนรักผู้หญิง แต่ว่าผู้หญิงเขาอยู่ใต้ปกครองของพ่อแม่เขา ผู้หญิงไทยแต่ก่อนพ่อแม่ปกครอง หนุ่มจะไปจีบก็กลัวพ่อแม่เขา ไปหาเขาไม่ได้ ไปด้อมๆ มองๆ อยู่ข้างบ้านเขา เผื่อจะเห็นหน้าสักแวบหนึ่ง ประเภทไม่ได้เห็นตัว เห็นหลังคาบ้านก็ยังดี ถามว่ามีความสุขหรือมีความทุกข์ ทำไมต้องลำบากขนาดนั้น เพราะมีความอยากเกิดขึ้น
ความอยากเกิดทีไร ความทุกข์เกิดทุกที
เพราะฉะนั้นเราเรียนธรรมะของพระพุทธเจ้า หัดสังเกตที่ใจของเราเอง ทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้น จริงหรือไม่จริง ไม่ต้องเชื่อ พระพุทธเจ้าบอกว่า “อย่าเชื่อ เพราะว่าเป็นคำสอนของเรา” ท่านไม่ได้ให้เชื่อท่าน แต่ท่านท้าให้เราพิสูจน์ ว่าสิ่งที่ท่านสอนจริงหรือไม่จริง พิสูจน์เอา หลวงพ่อก็ขอท้าพวกเราทุกคนให้พิสูจน์ ว่าเวลาความอยากเกิดขึ้นในใจเรา ความทุกข์เกิดขึ้นจริงหรือไม่จริง ไปดูด้วยตัวเอง ที่จริงแล้วความอยากเกิดทั้งวัน บางทีนอนอยู่ได้ยินเสียง สงสัยว่ามันเสียงอะไร อยากรู้ นี่ก็อยากแล้ว กำลังนอนสบายๆ ได้ยินเสียงอะไรก๊อกแก๊กๆ นึกว่าขโมยเข้าบ้าน อยากดู ก็ต้องลุกจากที่นอนที่แสนสบาย ลุกไปชะโงกดู ไปดูก็กลัวด้วย เผื่อเป็นผู้ร้ายไปดูมัน เดี๋ยวมันทำร้ายเอา
ความทุกข์มันเกิดขึ้นตลอดเวลาเลย เพราะความอยากมันเกิดขึ้นทั้งวันเลย เวลาความอยากเกิดขึ้น คนทั่วๆ ไปเขาพยายามสนองความอยาก แต่ความอยากมันมีธรรมชาติอันหนึ่ง สนองอันหนึ่งผ่านไปแล้ว มันก็มาอีก ความอยากอันใหม่ก็มาทันที เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหา ด้วยการตอบสนองความอยาก มันไม่ยั่งยืนหรอก เหนื่อยไม่เลิก เหนื่อยตลอดชีวิต เพราะความอยากมันเกิดตลอดชีวิต แต่ถ้าเรามาหัดทำกรรมฐานแล้วสังเกตไป ความอยากเกิดทีไร ความทุกข์เกิดทุกที ไปหัดดูตัวนี้ไว้ แล้วเราจะรู้เลยว่า ไม่มีใครมาทำให้ใจเราทุกข์ได้ เราทุกข์เองเพราะอำนาจของความอยาก
ส่วนปัญหาทางโลกๆ มีปัญหาก็แก้ไป ใช้สติ ใช้ปัญญา ไม่ใช่ใช้ความอยาก อย่างเราค้าขายไม่ดี เคยขายดีแล้วก็ขายไม่ดีขึ้นมา เราก็ต้องใช้เหตุผลไปดูว่าทำไมคนไม่เข้าร้านเรา แต่เดิมเข้า มันอาจจะมีร้านอื่นที่น่าสนใจกว่า คนก็ไป นี่คือปัญหา ไปดูว่าปัญหามีสาเหตุที่ไหนก็ไปแก้ที่นั้น เราก็จะแก้ป้ญหาทางโลกได้ ส่วนทางจิตใจเรา ตัวทุกข์นั้นเป็นปัญหาใหญ่ของเรา เราก็ดูอะไรเป็นเหตุของทุกข์ ก็คือตัวตัณหา ตัวความอยาก ถ้าเรารู้ทัน ความอยากดับ ความทุกข์มันก็ดับ
เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาเกิดขึ้น จะปัญหาในจิตใจเราเอง หรือปัญหาข้างนอกก็ตาม ปัญหาในชีวิตก็ตาม เวลาแก้ปัญหา ให้ไปพิจารณาให้ดี สาเหตุของปัญหาอยู่ที่ไหนแก้ที่นั่น แก้ที่ตัวสาเหตุ ตั้งแต่เรื่องโลกๆ แก้ที่สาเหตุ อย่างเราปลูกข้าว ข้าวเราเหี่ยวแห้ง เราก็ไปดูทำไมข้าวเราเหี่ยวแห้ง น้ำไม่พอ รู้สาเหตุก็ไปหาน้ำมาใส่ให้ต้นข้าว ต้นข้าวก็ฟื้นขึ้นมา เวลามีปัญหาชีวิตเกิดขึ้น อย่าเอาแต่เพ้อฝัน อย่าเอาแต่เรียกร้องให้เทวดาช่วย อย่าเอาแต่ขอพรให้พระช่วย ไปดูว่าสาเหตุของปัญหาอยู่ที่ไหน แล้วแก้ที่สาเหตุ บางอย่างก็แก้ได้ บางอย่างก็เกินกำลังที่จะแก้
อย่างเราไม่สบาย เพราะว่าร่างกายไม่แข็งแรง หรือโดนเชื้อโรคด้วย พักผ่อนไม่พอด้วย ก็หาหมอรักษา แต่ถ้าเรายังทำนิสัยเหมือนเดิม พอหมอรักษาหายแล้วเราก็เที่ยวตะลอนๆ ทั้งวันทั้งคืน กินเหล้าเมายาเหมือนเดิม เดี๋ยวมันก็ป่วยอีก มันไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุของความเจ็บป่วย หมอก็ช่วยแก้ปัญหาปลายทาง ปะทะปะทังไปวันๆ แต่เราสร้างความเจ็บป่วยให้ตัวเอง อันนี้ถ้าเราวิเคราะห์แล้ว ปัญหาอยู่ตรงนี้ เราก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ บางอย่างกรรมให้ผลแรง เราไม่ได้ทำอะไรไม่ดีเลย เช่นเรามีกรรมพันธ์จะเป็นมะเร็ง ถึงอายุช่วงหนึ่งเราก็เป็นมะเร็งขึ้นมา เราไม่ได้ทำอะไร อันนี้เป็นผลของกรรมเก่า ซึ่งตัวนี้เราแก้ไม่ได้ เราก็รักษาไป รักษาไปตามสภาพ
แต่จุดสำคัญรักษาใจของเราให้ได้ อย่าปล่อยให้ความอยากมากดขี่บังคับเรา ความอยากมันก็ อยากเห็นรูป อยากได้ยินเสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้สิ่งสัมผัสร่างกาย อยากได้อารมณ์ทางใจที่ดี ที่สนุกสนานเพลิดเพลิน ความอยากก็มีอย่างนี้ ก็อยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อยากในอารมณ์ทั้ง 6 แล้วแต่ละอารมณ์มีลีลา สไตล์ของความอยากได้อีก 3 แบบ เรายังไม่เห็นรูป เราอยากเห็นรูป พอเห็นรูปแล้วว่ารูปนี้ชอบใจ เราอยากให้รูปนี้คงอยู่ รูปนี้ไม่ชอบใจ เราอยากให้หายไป ได้ยินเสียง เรายังไม่ได้ยิน อย่างเราคิดถึงคนที่เรารัก เราอยากได้ยินเสียงเขา ยังไม่ได้มา อยากได้มา อยากได้เสียง พอได้เสียงแล้ว ก็อยากให้เสียงนั้นอยู่กับเรานานๆ ถ้าเกิดเป็นเสียงที่เราไม่ชอบ เราก็อยากให้มันหมดไปเร็วๆ
แม้แต่กลิ่น รส สัมผัสทางกาย หรืออารมณ์ทางใจ ก็มีความอยากได้อย่างละ 3 อัน อยากได้มา อยากให้คงอยู่ อยากให้หมดไป ความอยากนั้นเกิดทางอายตนะทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 6 อย่าง แต่ละอย่างเกิดได้ 3 แบบ ฉะนั้นตัณหานี้แจกแจงแยกแยะออกไปเลย มี 18 แบบ มี 18 อย่าง เราไม่ต้องเรียนเยอะขนาดนั้น เอาแค่ว่าใจเราอยากขึ้นมา เราคอยรู้ จะอยากดู อยากฟัง อยากได้กลิ่น อยากได้รสอย่างนี้ ได้กลิ่นอาหาร อยากกิน ก็รู้ว่าอยาก คอยรู้ทันความอยากในใจของตัวเองบ่อยๆ ถ้ารู้ทันความอยาก สติรู้ที่ความอยาก ความอยากมันเป็นกิเลส เป็นตัวโลภะ สติรู้เมื่อไรมันดับเมื่อนั้น
เมื่อความอยากอันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ดับ ความทุกข์มันก็อยู่ไม่ได้ มันไม่มีเหตุ มันก็ดับ อย่างเรากลุ้มใจ เราอยากให้หายกลุ้มใจ ไม่มีใครสั่งได้ แต่ถ้าเรารู้ทัน มันกลุ้มใจเพราะความอยาก ความอยากดับ ความกลุ้มใจมันก็ดับ เพราะฉะนั้นความทุกข์ในใจเรามันดับ เพราะตัณหามันดับ หลวงพ่อขอท้าพิสูจน์ ไปลองดูว่าจริงหรือไม่จริง เวลาความอยากเกิดขึ้น แล้วความทุกข์มันเกิด จริงหรือไม่จริง ไปดูอันนี้
เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ไปทำนะ บอกแล้วว่าธรรมะฟังเฉยๆ ไม่ได้ ต้องลงมือปฏิบัติ
วันสวนสันติธรรม
5 มิถุนายน 2566