เคล็ดวิชาการฝึกดูจิตดูใจตนเอง

คนลาวเรียนกรรมฐาน ฟังที่หลวงพ่อเทศน์สะดวก ภาษาเดียวกัน ศาสนาเดียวกัน รากเหง้าอันเดียวกัน เขาสื่อกันง่าย คนชาติอื่นๆ เรียนก็ต้องแปล การแปลบางทีก็มีปัญหา ไม่ว่าแปลเก่งอย่างไร มันจะสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นไปไม่ได้ หลวงพ่อก็มีแปลที่หลวงพ่อเทศน์ แปลทั้งภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนก็คนฟังกว้างขวาง ภาษาอังกฤษก็ไม่เท่าภาษาจีน

เวลาเห็นคนสนใจศึกษาธรรมะ เห็นแล้วหลวงพ่อเกิดความรู้สึกเอ็นดู เห็นอกเห็นใจ นึกถึงสมัยที่ตัวเองแสวงหาธรรมะ อยู่เมืองไทยแท้ๆ เลย กว่าจะแสวงหาธรรมะเจอ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อ่านพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกมีตั้งเยอะตั้งแยะ อ่านแล้วก็จับหลักไม่ได้ ว่าจะลงมือปฏิบัติ จะทำอย่างไร ก็ได้แต่เรื่องทำทาน รักษาศีล ภาวนาก็ได้แต่หายใจเข้าพุทออกโธ ลึกซึ้งกว่านั้นไปไม่ถึง จับหลักไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร รู้ว่าต้องทำสติปัฏฐาน 4 แต่สติปัฏฐานมันตั้ง 4 อย่าง แต่ละอย่างยังแยกย่อยออกไปอีกเยอะแยะเลย จะเริ่มอันไหน จะเริ่มอย่างไร ไม่รู้เลย ขนาดอยู่เมืองไทยยังลำบาก ในการจะแสวงหาธรรมะ บางทีไปหาครูบาอาจารย์ ไปแล้วท่านไม่อยู่บ้างอะไรบ้าง ก็อดทน

ภาวนากับหลวงปู่ดูลย์ จนจับหลักของการปฏิบัติได้ แต่เดิมเราก็รู้ว่าต้องทำศีล สมาธิ ปัญญา แต่มันไม่ได้หลัก ถือศีลมันก็คอยระวังไม่ให้ทำผิดศีล จิตใจก็เคร่งเครียดกลัวผิดศีล จะทำอะไรก็ โอ๊ย เครียดไปหมดเลย เพื่อรักษาศีล นั่งสมาธิก็ได้แต่สงบเฉยๆ ไม่รู้ว่านั่งไปทำอะไร ส่วนเจริญปัญญาก็เจริญไม่เป็น อ่านตำราอย่างเดียว ยังคิดว่าเดี๋ยวคงเจริญปัญญาได้ อ่านเยอะๆ เดี๋ยวคงรู้เรื่อง ทำอย่างนั้นมานาน แล้วก็ไม่ได้ผลอะไร ของจริงไม่ได้ ได้แต่ของเล่น จนมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนเข้ามาที่จิต มาเรียนรู้จิตใจตนเอง จิตเราสุขก็รู้ จิตเราทุกข์ก็รู้ จิตเป็นกุศลก็รู้ จิตเป็นอกุศลก็รู้ อันนี้เป็นการรู้ทันจิตชนิดต่างๆ จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว หัดรู้สภาวะไปเรื่อยๆ ต่อไปก็เห็นจิตสุข มันก็คือความสุขกับจิต จิตทุกข์มันแยกออกไป มันก็เป็นความทุกข์กับจิต สุข ทุกข์ ดีชั่วอะไรไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า แล้วมันก็มาครอบงำจิต

ค่อยฝึกไปเรื่อยๆ การดูจิตดูใจนั้น เราดู 2 อย่าง ดู 2 อย่าง อันแรกเลยดูความรู้สึกทั้งหลาย ที่เกิดร่วมกับจิต อาศัยรู้ความรู้สึกที่เกิดร่วมกับจิต แล้วถึงจุดหนึ่งเราก็จะเห็น จิตสุขก็ไม่เที่ยง จิตทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตเป็นกุศลก็ไม่เที่ยง จิตโลภ โกรธ หลง ก็ไม่เที่ยง จิตสุขเราก็สั่งให้เกิดไม่ได้ เกิดแล้วรักษาไว้ไม่ได้ เป็นอนัตตา จิตทุกข์เราห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วไล่มันก็ไม่ไป มันเป็นอนัตตา จิตที่เป็นกุศลสั่งให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วรักษาไว้ก็ไม่ได้ มันเป็นอนัตตา จิตอกุศล โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย ห้ามมันไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วไล่มันก็ไม่ไป อย่างโกรธอยู่อย่างนี้ จะไปดูให้หายโกรธ ไม่หาย

พอภาวนามากเข้าๆ ทีแรกก็เห็นจิตมันหลากหลาย จิตบางดวงก็สุข จิตบางดวงก็ทุกข์ จิตบางดวงดี จิตบางดวงโลภ บางดวงโกรธ บางดวงหลง เฝ้ารู้เฝ้าดู แล้วเราก็เห็นจิตทุกชนิดเกิดแล้วก็ดับ จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ ทำไมเราไม่สามารถไปดูตัวจิตตรงๆ ได้ เพราะตัวจิตไม่มีอะไรให้ดู ไม่มีอาการหรือความรู้สึกนึกคิดใดๆ ทั้งสิ้น จิตเป็นแค่ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แต่มันประกอบด้วยอวิชชา มันคิดว่านี่คือตัวเราๆ เพราะฉะนั้นการดูจิต เราไปดูตัวจิตตรงๆ ไม่ได้ เราจะไปเห็นจิตเกิดดับ เห็นไม่ได้ เพราะตัวจิตสักดวงหนึ่ง เราก็ไม่เห็นแล้ว เราจะเห็นจิตได้ ก็ต้องเห็นผ่านสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต สิ่งที่เกิดร่วมกับจิต ตำราเขาเรียกว่าเจตสิก ก็พวกความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่วทั้งหลาย

มันทำให้เราจำแนกได้ ดวงนี้จิตสุข ดวงนี้จิตทุกข์ ดวงนี้จิตเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ดวงนี้จิตเป็นกุศล เป็นกุศลเฉยๆ หรือเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา มันก็ไม่เหมือนกัน เป็นกุศลที่จงใจให้เกิด หรือเป็นกุศลอัตโนมัติ มันก็ไม่เหมือนกัน หรือจิตจะเป็นอกุศล ก็หลากหลาย มีโลภ โกรธ หลง เป็นตัวหลักๆ อกุศล ตัวโลภ แยกแยะออกไปได้เยอะแยะ ความโลภก็มีหลากหลาย อย่างความยึดถือ ตัวความคิดความเห็นของเรา ตัวทิฏฐิ ตัวทิฏฐิก็อยู่ในตระกูลโลภเหมือนกัน อย่างตัวโกรธก็เป็นตระกูลใหญ่เหมือนกัน เช่น หงุดหงิด อิจฉา เบื่อ เซ็ง นี่โกรธทั้งนั้น ตระกูลโทสะ ตระหนี่ หวงแหน ขี้เหนียว ความขี้เหนียวเกิดแล้ว จิตใจไม่มีความสุข ถ้าจิตใจเราไม่มีความสุขเมื่อไร เรารู้ได้ทันทีเลยว่า จิตดวงที่ไม่มีความสุข เป็นจิตที่ประกอบด้วยโทสะเสมอ

 

ทุกอย่างนั้นเกิดแล้วดับทั้งสิ้น

การที่เราเห็นจิต มันเกิดร่วมกับสภาวะต่างๆ มากมาย ทั้งสุข ทุกข์ เฉยๆ ทั้งดี ทั้งชั่ว หลากหลาย มันก็ทำให้เราเห็นว่า จิตทุกอย่างนั้นเกิดแล้วดับทั้งสิ้น จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ ไม่คงทนหรอก จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตดีเกิดแล้วก็ดับ จิตชั่ว โลภ โกรธ หลง แต่ละตัว เกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น มันจะทำให้เราสามารถแยกได้ว่า จิตไม่ได้มีดวงเดียว บางคนคิดว่าจิตมีดวงเดียว ได้ยินหลวงพ่อพูดว่าจิตมีหลายดวง บอกหลวงพ่อสอนผิด พระพุทธเจ้าก็สอนอย่างหลวงพ่อนี่ล่ะ อ้อ พูดผิด หลวงพ่อก็สอนอย่างพระพุทธเจ้า ท่านสอนมาก่อน ท่านบอกจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน เห็นไหมเกิดดับๆ ไปเรื่อย แต่เกิดดับทีละดวง

เพราะฉะนั้นจิตไม่ได้มีดวงเดียว แต่เราไม่สามารถเห็นความเกิดดับของมันได้ ถ้าเราไปดูตัวจิตตรงๆ เพราะเกิดแต่ละที มันก็เป็นธรรมชาติรู้อันเดียวกันหมด เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นว่า ธรรมชาติรู้นี่มันเที่ยง กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิอีก การที่เราจะเห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ได้ ก็เลยต้องเห็นผ่านความรู้สึกทั้งหลาย ที่เกิดร่วมกับจิต เราจะเห็นว่าจิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วดับ จิตชั่วเกิดแล้วดับ จิตสุขบังคับไม่ได้ จิตทุกข์ก็บังคับไม่ได้ จิตไม่สุขไม่ทุกข์ก็บังคับไม่ได้ จิตดีก็ควบคุมบังคับไม่ได้ จิตชั่วก็ควบคุมบังคับไม่ได้ อย่างเราจะสั่งว่าอย่าโกรธ ห้ามไม่ได้ มันจะโกรธ สั่งว่าอย่ารัก ห้ามไม่ได้ มันจะรัก มันเป็นอนัตตา

การที่เราดูจิตดูใจตัวเอง เราจะเห็นลักษณะ สามัญลักษณะที่เด่น 2 อัน สามัญลักษณะมี 3 อันคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังหมายถึงว่า สิ่งซึ่งเคยมีแล้วมันไม่มี ทุกขังหมายถึงสิ่งที่กำลังมี กำลังถูกบีบคั้นให้ไม่มี อนัตตาก็คือการจะมี หรือการจะไม่มี การจะเกิดมา ตั้งอยู่ หรือดับไป เราบังคับไม่ได้ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ อันนี้คือการเห็นอนัตตา แต่การดูจิตดูใจนั้น เราจะเห็นสามัญลักษณะที่เด่นอยู่ 2 ตัว คืออนิจจังกับอนัตตา อย่างเราเห็นจิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตโลภ โกรธ หลง เกิดแล้วดับ อันนี้เห็นอนิจจัง

เราเห็นว่าจิตสุข เราสั่งให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วสั่งให้อยู่ตลอดก็ไม่ได้ อันนี้อนัตตา จิตชั่ว โลภ โกรธ หลง สั่งว่าอย่าโลภ อย่าโกรธ อย่าหลง ก็สั่งไม่ได้ มันโลภ มันโกรธ มันหลงแล้ว สั่งให้มันหายเร็วๆ ก็สั่งไม่ได้ อันนี้เรียกว่าอนัตตา การดูจิตดูใจ เราจะเห็นสามัญลักษณะที่เด่นคืออนิจจลักษณะ ความไม่เที่ยง กับอนัตตลักขณะ ความเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ ดูจิตดูใจจะเห็นสามัญลักษณะที่เด่น 2 ตัว

ส่วนการดูกาย ถ้าเราดูกาย ตัวที่เด่นคือตัวทุกข์ กับตัวอนัตตา ตัวทุกข์ เช่น เรานั่งอยู่ เราก็เห็นนั่งแล้วมันก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ หายใจออกก็ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์ เห็นตัวทุกข์ มันคอยบีบคั้นให้ร่างกายเราต้องเปลี่ยนอิริยาบถ นั่งอยู่เมื่อยๆ มันทุกข์ มันต้องเปลี่ยนอิริยาบถ มันถูกความทุกข์บีบคั้น ดูกายดูง่ายอีกอย่างหนึ่ง ที่แสดงได้ชัดคืออนัตตา อนัตตาของนามธรรมของจิต จะดูในเชิงที่เราบังคับไม่ได้ อนัตตาของกาย ดูลงไป มันเป็นแค่สมบัติของโลก มันเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ ร่างกายนี้มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกทั้งวันทั้งคืน เช่น หายใจเข้าแล้วหายใจออก กินอาหารแล้วก็ขับถ่าย มันเป็นแค่วัตถุธาตุ

พอตายไปธาตุดินก็ต้องคืนโลก ธาตุน้ำก็ต้องคืนให้โลก ธาตุลม ธาตุไฟ ก็คืนให้โลก อย่างน้ำที่เราดื่มกันทุกวัน มียี่ห้อ น้ำอย่างดี มันเคยเป็นน้ำเลือดน้ำหนอง ของคนอื่นมาก่อนก็ได้ มันผลัดกันใช้ เราเห็น โอ้ ร่างกายนี้มันเป็นสมบัติของโลก ผลัดกันใช้ ร่างกายเรานี้เป็นก้อนดิน เป็นธาตุดิน เราเอามาจากไหน เราก็กินสัตว์เข้าไป กินพืชเข้าไป เราก็ได้ก้อนดินก้อนนี้มา ถึงวันหนึ่งตายไปแล้วก็คืนให้โลก คนอื่นก็เอาไปใช้ประโยชน์ ถ้าร่างกายก็จะเห็นทุกข์ เห็นได้ง่าย แล้วก็เห็นอนัตตาในมุมที่ว่า มันไม่ใช่ตัวเราหรอก มันเป็นสมบัติของโลก เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ

ร่างกายนั้นทำไมดูอนิจจังยาก เพราะตัวรูปอายุมันยืนกว่าตัวนามธรรม รูปนี้อายุยืนกว่านามธรรม กว่ารูปจะเปลี่ยนรูปหนึ่ง นามธรรมเปลี่ยนไปตั้ง 17 ครั้งแล้ว 17 รอบแล้ว จิตนั้นเกิดดับไป 17 รอบแล้ว เพื่อจะมีรูป 1 รูป อันนี้เราไม่ต้องเรียนละเอียดหรอก เอาแต่ว่ารูปมันเปลี่ยนแปลงช้า จิตใจมันเปลี่ยนแปลงเร็ว เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ามันเปลี่ยนเร็ว มันเป็นอนิจจัง ในขณะที่รูปมันเปลี่ยนแปลงช้า ดูอนิจจังยาก อย่างเราเห็นหน้าตัวเองทุกวัน ส่องกระจกทุกวัน เราไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง เราต้องไปดูรูปถ่ายของปีกลาย ของเมื่อ 3 ปี ของเมื่อ 5 ปี ของเมื่อ 10 ปี เราถึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลง เพราะมันเปลี่ยนช้า เพราะฉะนั้นการดูรูป แนะนำให้ดูทุกข์กับดูอนัตตา

การดูนามธรรม ดูจิตดูใจ มองลงไปมันไม่เที่ยง มันเป็นอนัตตา หัดรู้หัดดูลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นอย่างถ้าเราเห็นจิตสุขก็ไม่เที่ยง จิตทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตดีจิตชั่วก็ไม่เที่ยง จิตสุขก็บังคับไม่ได้ จิตทุกข์ก็บังคับไม่ได้ จิตดีจิตชั่วก็บังคับไม่ได้ เห็นซ้ำๆๆ ไป ถึงจุดหนึ่งความรู้รวบยอดจะเกิดขึ้น ก็คือจิตมันจะปิ๊งขึ้นมาว่า จิตทุกชนิดไม่ใช่ตัวเราของเราหรอก จิตทุกชนิด สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ อย่างพระปัญจวัคคีย์ตอนบรรลุโสดาบัน ท่านเห็นว่า “ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา”

ทำไมใช้คำว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” ใช้คำว่า Something เพราะว่าทุกอย่าง มันไม่ใช่ว่าเฉพาะความโลภ หรือความโกรธ ความหลง หรือความสุขความทุกข์ ไม่ว่าจิตจะสุข จิตจะทุกข์ จิตจะเฉยๆ เกิดแล้วก็ดับ จิตจะดี หรือจิตจะชั่ว จะโลภ จะโกรธ จะหลง เกิดแล้วก็ดับ แล้วทุกสิ่งทุกอย่าง มันล้วนแต่เกิดแล้วดับทั้งสิ้น ท่านถึงใช้คำว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” สิ่งใดสิ่งหนึ่งพูดไปก็คือทุกอย่างนั่นล่ะ จะเป็นตัวรูป ตัวความสุขความทุกข์ ตัวความดีความชั่ว เกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้นเลย เราเห็นเกิดดับๆ ไปเรื่อย อย่างจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วดับ จิตชั่วเกิดแล้วดับ ถึงจุดหนึ่งจิตมันปิ๊งขึ้นมา จิตทั้งหมดเกิดแล้วดับ จิตทั้งหมดไม่ใช่ตัวเราของเรา ความรู้รวบยอดมันเกิด ไม่ใช่เกิดจากการคิด แต่มันเกิดจากการที่จิตมันเข้าใจ ไม่ใช่เกิดจากเราเข้าใจ

เราขยันเข้าใจ เราเรียนตำรา เรียนปริยัติอะไรแล้วบอกเข้าใจ เราสอบได้แล้ว มีหลักฐานยืนยัน แต่จิตนั้นมันก็ยังโง่ เราก็เรียนว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่จิตมันก็ยังสำคัญมั่นหมายว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือตัวเรา คือของเรา เพราะฉะนั้นเราจะต้องภาวนา ดูความเกิดดับเปลี่ยนแปลงไป ดูที่หลวงพ่อย้ำลงมาตอนนี้เป็นเรื่องดูจิต เราก็เห็นจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วดับ จิตโลภ โกรธ หลง เกิดแล้วดับ ดูเรื่อยๆ ต่อไปพออินทรีย์เราแก่กล้า ปัญญามันเกิดปิ๊งแทงทะลุเลยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ ท่านไม่มานั่งพูดหรอกว่า โลภเกิดแล้วดับ โกรธเกิดแล้วดับ แต่ท่านสรุปเลยว่า “ทุกสิ่งเกิดแล้วดับ” นั่นล่ะเข้าใจธรรมะแล้ว มีดวงตาเห็นธรรมะ พอเข้าใจไหม ไม่ยากหรอก

 

วิธีที่จะเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา

ถ้าเราจะภาวนาด้วยการดูจิตดูใจ หลวงพ่อแนะนำ สมาธิของพวกเราส่วนใหญ่ไม่พอ หลวงพ่อตอนเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ท่านให้ดูจิตเลย หลวงพ่อดูได้ เพราะหลวงพ่อทำสมาธิมาตั้งแต่ 7 ขวบ ทำสมาธิ 22 ปี มันก็ชำนาญเรื่องของสมาธิอยู่ แยกแยะได้เลย สมาธิมีกี่อย่าง ทำได้ ฉะนั้นพอหลวงปู่บอกให้ดูจิต สบายมาก ก็เห็นจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีจิตชั่วเกิดแล้วดับไปเรื่อยๆ แล้วดูได้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง เราเห็นจิตเกิดดับ ไม่ใช่เห็นเกิดดับผ่านเจตสิก คือสุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลายเท่านั้น ยังสามารถเห็นได้อีกแบบหนึ่ง คือเห็นการเกิดดับของจิตผ่านอายตนะ

เราเห็นว่าจิตเกิดที่ตา เกิดแล้วดับ จิตเกิดที่หูแล้วดับ จิตเกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย เกิดแล้วดับ จิตเกิดทางใจ เกิดแล้วก็ดับ จิตที่เกิดทางใจ ก็มีจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่วอะไรทั้งหลายนี้ล่ะ เป็นจิตที่เกิดทางใจ แล้วก็เห็นไปเรื่อยๆ ในที่สุดมันก็เข้าใจ จิตทุกชนิดไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เมื่อจิตไม่ใช่เราแล้ว ร่างกายมันก็ไม่ใช่เราหรอก มันดูง่ายอยู่แล้ว คนนอกศาสนาพุทธเขายังเห็นได้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา พระพุทธเจ้าบอกว่า “ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ คือคนทั่วไปที่ไม่เคยได้ยินธรรมะ สามารถเห็นได้ว่า ร่างกายไม่ใช่เรา แต่ไม่สามารถเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา” มีแต่อริยสาวกของท่านถึงจะเห็นว่า “จิตไม่ใช่เรา”

วิธีที่จะเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา เราก็ดูจิตมันเกิดดับ ดูผ่านความรู้สึก ก็เช่น จิตสุข จิตทุกข์ จิตเฉยๆ จิตดี จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตทุกอย่างเกิดแล้วดับ อันนี้ดูผ่านเจตสิก คือพวกความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เกิดร่วมกับจิต

อีกอย่างหนึ่งดูผ่านอายตนะ จิตเดี๋ยวก็ไปดูรูป เดี๋ยวก็ไปฟังเสียง เดี๋ยวก็ไปดมกลิ่น เดี๋ยวก็ไปลิ้มรส เดี๋ยวไปรู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวไปรู้อารมณ์ทางใจ หมุนเวียนไป บางทีก็เป็นทางใจก็อาจจะเป็นจิตผู้รู้ จิตผู้รู้อยู่ชั่วคราว กลายเป็นจิตผู้คิดไปอีกแล้ว หรือจิตผู้รู้อยู่ประเดี๋ยวเดียว กลายเป็นจิตผู้เพ่งอีกแล้ว มันเปลี่ยนแปลง เราก็จะเห็นเลยจิตทุกอย่างเกิดแล้วดับ จิตที่ไปดูรูปเกิดแล้วดับ จิตที่ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปรู้ความรู้สึกธรรมารมณ์อะไรทั้งหลายทางใจ เกิดแล้วดับทั้งสิ้น

จิตจะไปดูรูป เราสั่งให้ดูรูปก็ไม่ได้ เราสั่งไม่ได้ เราควบคุมไม่ได้ อย่างถ้าเราสั่งได้ เราก็สั่ง “ต่อไปนี้จงเห็นแต่รูปที่สวยงาม จงอย่าเห็นรูปที่น่าเกลียดน่ากลัว” สั่งได้ไหม สั่งไม่ได้ๆ “จงได้ยินแต่เสียงที่ดีๆ เสียงที่เพราะๆ จงได้ยินแต่เสียงชม จงอย่าได้ยินเสียงที่น่าเกลียด” สั่งได้ไหม สั่งไม่ได้ เห็นไหม จิตจะไปฟังเสียง เราก็เลือกไม่ได้ว่าจะเสียงนั้นดีหรือไม่ดี เราสั่งได้ไหมว่าความรับรู้ทางจมูกของเรา การได้รับกลิ่น จิตเป็นคนรู้กลิ่น อาศัยประสาทจมูกเป็นเครื่องมือ ไปสัมผัสกับกลิ่น ประสาทจมูกสัมผัสกับกลิ่น มีจิตรับรู้ มีองค์ธรรม 3 อย่างเกิดร่วมกัน ถึงจะเรียกว่าผัสสะ สิ่งที่เรียกว่าผัสสะก็คือ มีการประชุมรวมตัวกัน ทำงานร่วมกันของอายตนะภายใน เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แล้วก็มีจิต ถ้ามี 3 อย่างนี้ ถึงรวมกันขึ้นมาเป็นผัสสะ

อย่างเรามีตา เรามีรูป แต่เราใจลอย เราใจลอยอยู่ คนเดินผ่านหน้าเรา เราไม่รู้เลยว่าใครมา เพราะว่ามันไม่มีจิตที่จะไปดูรูปนั้น จิตมัวแต่ไปคิดเรื่องอื่น จิตเกิดทีละดวง เวลาจิตมันไปคิด มันไม่เห็นหรอก หรือเวลามันเห็น มันก็ไม่ได้คิด เวลามันเห็น มันไม่ได้ยิน จิตมันเกิดดับทีละอย่างๆ ทีละดวง ท่านบอก “ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน” ถ้าเราภาวนาดูจิตดูใจก็ดูได้ 2 ระดับ ถ้าอย่างง่ายเราก็ดูจิตที่มันเกิดดับ ด้วยการเห็นเกิดดับร่วมกับเจตสิก จิตสุขเกิดพร้อมกับความสุข ดับพร้อมกับความสุข จิตทุกข์เกิดพร้อมกับความทุกข์ ดับพร้อมกับความทุกข์ จิตเฉยๆ เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ดับพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ จิตดีจิตชั่วก็เหมือนกัน เกิดพร้อมกับความรู้สึก ดับพร้อมกับความรู้สึก ฉะนั้นจิตกับเจตสิกนั้นเกิดดับด้วยกัน พร้อมๆ กัน

เราดูทางอายตนะก็เหมือนกัน เราเห็น เดี๋ยวก็จิตรู้อารมณ์ทางใจ เดี๋ยวก็จิตไปดูรูป เดี๋ยวจิตไปฟังเสียง ถ้าอยากรู้อาการที่จิตไปทำงานทางอายตนะ หลวงพ่อแนะนำให้เราลองไปดูโทรทัศน์ เดี๋ยวนี้เขาไม่เรียกโทรทัศน์แล้วใช่ไหม เขาเรียกอะไร เรียกทีวี ไม่มีคำว่าโทรทัศน์แล้ว คนรุ่นหลังๆ ไม่รู้จัก โทรทัศน์เป็นภาษาของคุณลุงคุณป้า เราไปดูทีวี หลวงพ่อทันสมัยเหมือนกัน ไปดูทีวีแล้วสังเกตให้ดีเถอะ อย่าเอาแต่สนุก อย่าเอาแต่เพลินกับเนื้อหาของมัน อย่างดูซีรีส์สักเรื่องหนึ่ง สังเกตให้ดี ขณะที่ตาเราเห็นภาพในจอ ขณะนั้นเสียงที่ได้ยินจะไม่ชัดเจนเลย แล้วขณะที่ตาเห็นภาพในจอชัดเจน ขณะนั้นไม่ได้คิดหรอก

ฉะนั้นที่เราดูซีรีส์ ดูอะไรรู้เรื่อง เราอาศัยอายตนะหลายตัวทำงาน สลับสับเปลี่ยนกันอย่างรวดเร็ว เช่น ตาเห็นพระเอก เห็นนางเอก พอตาเห็นปุ๊บแล้วพอเขาเริ่มพูด ความสนใจของเราไปจับอยู่ที่คำพูด ว่าเขาพูดอะไร ในขณะนั้นพระเอก นางเอกจะขยับตัวอะไร เราจะไม่เห็นไม่ชัดแล้ว เพราะเราใส่ใจในเสียงที่จะได้ยิน พอเราฟังคำพูดเขาแล้ว เราก็มาแปลความหมาย ตรงที่จิตมันแปลความหมาย ตรงนั้นไม่เห็นรูป ไม่ได้ยินเสียงแล้ว แต่เราแปลความหมายทางใจ หัดทีแรกยังรู้สึกว่า เฮ้อ มันอันเดียวกัน มันพร้อมๆ กัน ตามองเห็น พร้อมกับหูได้ยินเสียง พร้อมกับใจรู้เรื่อง

ถ้าเราค่อยๆ ไปสังเกต ไปดูซีรีส์อย่าเอาแต่สนุก ค่อยๆ สังเกตการทำงานของจิต เราจะเห็นว่า เราเห็นรูปชัดประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วก็หันไปสนใจเรื่องเสียง พอสนใจเรื่องเสียงเสร็จแล้ว จิตมันก็มาคิดสรุป รูปอย่างนี้ เสียงอย่างนี้ มันหมายถึงอะไร อันนี้เป็นการทำงานทางใจแล้ว อ๋อ พระเอกกับนางเอกกำลังทะเลาะกัน หรือกำลังจีบกัน เราจะเห็นจิตมันเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทีละดวง ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน แล้วอย่างนี้เราจะเห็นอะไรง่าย เกิดดับนั้นเห็นอย่างถี่ยิบเลย จนกระทั่งดูแทบไม่ทันเลย จิตเห็นรูป เห็นชั่วขณะจิตเดียว แป๊บเดียวเอง ได้ยินเสียงก็ได้ยินทีละแวบ จะได้ยินยาวๆ ก็ต้องได้ยินหลายครั้งต่อกัน ได้ยินแล้วก็รู้สึก ได้ยินแล้วก็รู้สึกไป ถึงจะรู้เรื่อง

ค่อยๆ ดู แต่ตัวที่ดูง่าย ถ้าเราหัดดูจิตโดยการเห็นเกิดดับทางอายตนะ เราดูที่ตัวจิตไปเลย เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตคิด เดี๋ยวก็เป็นจิตเพ่ง เดี๋ยวก็จิตหลงไปดูรูป เดี๋ยวจิตหลงไปฟังเสียง เดี๋ยวจิตหลงไปดมกลิ่น เดี๋ยวจิตหลงไปรู้รส เดี๋ยวจิตหลงไปรู้สัมผัสทางร่างกาย เดี๋ยวจิตก็หลงไปรู้อารมณ์ทางใจ เราเห็นอย่างนี้ก็ได้ แต่อันนี้ละเอียดมันจะดูยาก เพราะฉะนั้นหลวงพ่อแนะนำ ถ้าหัดใหม่ ไปดูจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว อันนั้นดูง่าย แต่ถ้าจะดูละเอียดขึ้นมา จนเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะ ดูยากกว่า เพราะมันเร็วมาก จิตเกิดที่ตานั้นเกิดทีละขณะ จิตเกิดที่หูก็เกิดทีละขณะ เกิดแวบเดียวก็จบ แวบเดียวก็จบเลย ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เกิดเป็นขณะๆ ไป ส่วนจิตที่เกิดทางใจ ที่เราจะรู้เรื่องอะไรได้ มีจิตจำนวนมากเกิดดับสืบเนื่องกัน ทำงานต่อเนื่องกัน เราถึงเกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ

เพราะฉะนั้นตัวการเห็นจิตทำงานผ่านอายตนะ จะยากกว่าการเห็นจิตเกิดดับทำงานผ่านเจตสิก คือสุข ทุกข์ ดี ชั่ว เพราะฉะนั้นตอนนี้หัดดูของง่ายๆ ที่ทำง่ายๆ ไปสังเกตให้ดี พระพุทธเจ้าสอนให้เราดูของที่ดูง่ายๆ อย่างดูจิต จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้ ดูของง่ายๆ นี่คือจิตที่เกิดดับร่วมกับอารมณ์ ส่วนการจะเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะอะไรนั้น มันอยู่ในธัมมานุปัสสนาแล้ว สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง สติ สมาธิ ปัญญาของเรา ต้องแข็งแรงพอ เราถึงจะเห็น ถ้าไม่แข็งแรงพอ ดูแวบเดียวหลงไปนานเลย ไม่เชื่อลองไปดูทีวีวันนี้ แล้วจะรู้เลยว่ารู้ทันได้แวบเดียว ก็หลงยาวเลย

เพราะฉะนั้นเอาของง่ายๆ ดูจิตเกิดดับผ่านทางเจตสิก สุข ทุกข์ ดี ชั่ว พอเข้าใจไหม ง่ายๆ ถ้าจะดูกายทำอย่างไร ดูอย่างดูจิตเห็นไหม เราเห็นว่าจิตเป็นคนรู้ สุข ทุกข์ ดี ชั่ว เป็นของถูกรู้ อย่างนี้ หรือดูผ่านอายตนะแล้วก็เห็นว่า จิตรู้อันหนึ่ง จิตที่ดูรูปอันหนึ่ง จิตที่ฟังเสียงอันหนึ่ง อันนี้เห็นจิตเกิดดับโดยตรงเลย ละเอียดยิบเลย ดูยากนิดหนึ่ง แล้วจิตเป็นผู้รู้ แล้วก็จิตผู้รู้ดับ เกิดจิตผู้หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วสติเกิด ก็เกิดจิตผู้รู้ สลับกัน ดูลำบากนิดหนึ่ง ดูยาก ฝึกไปช่วงหนึ่งก็จะดูได้ ใหม่ๆ ก็ดูจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่วไป

คนไหนขี้โกรธ ก็ดูไป เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หายโกรธ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หายโกรธ คนไหนขี้โลภ เจออะไรก็อยากได้ ก็ดูไป เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็หายโลภ ดูไป บางคนฟุ้งซ่าน เวลาฟุ้งซ่านอยู่ๆ ไปดูจิตฟุ้งซ่านลำบาก ก็ต้องมีเครื่องช่วย ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตแอบไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน อย่างนี้ทำง่ายขึ้น เป็นเครื่องช่วย ค่อยๆ ฝึกเอา ไม่ยากเกินไป เพราะธรรมะที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ มันพอดีสำหรับคนธรรมดาอย่างพวกเราจะปฏิบัติได้ ของธรรมดานี่ล่ะ คนธรรมดานี่ล่ะ คนไม่ธรรมดาปฏิบัติยาก เพราะธรรมะมันเรื่องธรรมดา เราก็ไปคิดว่ามันต้องยากๆ กลายเป็นไม่ธรรมดาขึ้นมา

 

การปฏิบัติในรูปแบบ กับการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ให้การบ้าน สรุปเลย ต้องถือศีล 5 ไม่มีศีลจิตจะฟุ้งซ่าน ทุกวันต้องทำในรูปแบบ วันไหนจิตฟุ้งซ่านทำความสงบ วันไหนจิตสงบมีกำลังแล้วเจริญปัญญาไปในระหว่างทำในรูปแบบ เวลาที่เหลือปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ถ้าเราหัดดูจิตดูใจ การปฏิบัติในชีวิตประจำวันจะง่าย อย่างถ้าเราจะมารู้กาย ร่างกายหันซ้าย รู้สึก หันขวา รู้สึก ขืนไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันรถทับตาย กว่าจะหันทีหนึ่ง ไปไหนแล้วก็ไม่รู้ ไปไหนรู้ไหม ไปยมโลก ไม่ใช่ยมราช ไปยมโลก แต่ดูจิตอยู่ในชีวิตประจำวันง่ายที่สุดเลย มองเห็นสาวสวย จิตมีราคะ รู้ว่าจิตมีราคะ เห็นศัตรูเดินมา จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ นั่งอยู่เฉยๆ คิดถึงคนที่เราชอบ จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ นั่งเฉยๆ คิดถึงคนที่เราเกลียด จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ ดูไปง่ายๆ อย่างนี้ ในชีวิตจริงๆ

การปฏิบัติในรูปแบบ กับการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ต่างกันนิดหน่อย เวลาทำในรูปแบบ เราลดอายตนะลง อย่างเราอยู่ในบ้านเรา อยู่ในห้องนอนเรา ห้องพระเรา ในขณะนั้นเราตัดอายตนะไปได้หลายตัวเลย ตัวที่ยังใช้งานอยู่ก็ร่างกาย สมมติเรานั่งสมาธิอยู่ในบ้าน ก็มีร่างกาย มีความรู้สึกสุขทุกข์อะไรอย่างนี้ มี อันนี้รู้ด้วยร่างกายบ้าง รู้ด้วยจิตใจบ้าง ความรู้สึกดีชั่วทั้งหลาย อันนี้เกิดในใจ เพราะฉะนั้นเราจะใช้อะไรบ้าง เราใช้กายกับใช้ใจเป็นหลัก เวลาทำในรูปแบบ เราใช้กายกับใจของเราเป็นหลัก จมูกเราก็ไม่ได้ไปเที่ยวดมอะไร เพราะอยู่ในบ้าน เราเคยชินกับกลิ่นแล้ว ไม่มีกลิ่นแปลกปลอม จิตก็ไม่สนใจจะดม ในขณะนั้นไม่ได้นั่งกินขนมไปภาวนาไป ลิ้นก็ไม่ได้ทำงาน ตัดอายตนะออกไปได้บางตัว

ขณะนั้นเหลือแต่ร่างกาย นั่งแล้วมันร้อน นั่งแล้วยุงมันกัด อันนี้มันมีอายตนะคือกายกับใจที่เป็นคนรู้ เราลดอายตนะจาก 6 เวลาทำในรูปแบบมันเหลือ 2 มันก็ดูง่ายหน่อย อะไรเกิดขึ้นในกายก็รู้ง่าย อะไรเกิดขึ้นในใจมันก็รู้ง่าย เช่น เรานั่งหายใจเข้าพุทออกโธ ร่างกายเราหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก หรือนั่งหายใจเข้าพุทออกโธ จิตหนีไปคิด รู้สึก จิตไปเพ่งลมหายใจ รู้สึก รู้สึกกาย รู้สึกใจไป แล้วค่อยๆ ฝึกไป จนกระทั่งเราชำนิชำนาญ โดยเฉพาะการรู้เท่าทันจิตใจตนเอง ถ้าเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทุกวันทำในรูปแบบ จิตหนีไปคิดแล้วรู้ จิตถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานแล้วรู้ ถ้าเราดูจิตตรงนี้ชำนิชำนาญ เราจะปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ง่าย ถ้ารู้แต่กายไม่รู้จิต มันปฏิบัติในชีวิตประจำวันยาก

ในชีวิตประจำวันทำอย่างไร เราใช้ 6 อายตนะ ตอนทำในรูปแบบเหลือ 2 ฝึกจนกระทั่งจิตใจขยับเขยื้อนอะไรเรารู้หมดเลย ร่างกายขยับอะไรเรารู้หมดเลย รู้กายรู้ใจได้ พอมาอยู่ในชีวิตจริง ตาเห็นรูป เห็นเพื่อนเรามา ใจมันดีใจ บางคนไม่เห็นว่ากำลังดีใจ แต่หน้ามันยิ้ม หน้ามันยิ้มขึ้นมา แล้วเราเคยรู้สึก เราเคยหัดในรูปแบบ ร่างกายขยับ เรารู้สึก ขยับ รู้สึก พอหน้าเรายิ้มปุ๊บ สติเกิดเองเลย อย่างนี้ก็ได้ หลวงพ่อก็เคยขยับแบบหลวงพ่อเทียน ทำเล่น แล้ววันหนึ่งเห็นเพื่อนแล้วดีใจ ไม่เห็นว่าดีใจ ช้าไปช็อตหนึ่งแล้ว ก็ก้าวเท้าจะเดินเข้าไปหาเพื่อน พอเท้าขยับเท่านั้น สติเกิดเลย เฮ้ย เมื่อกี้หลงอยู่

อยู่ในชีวิตประจำวัน ตาเห็นรูป ร่างกายเราเป็นอย่างไร จิตใจเราเป็นอย่างไร หูได้ยินเสียง ร่างกายเป็นอย่างไร จิตใจเป็นอย่างไร จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด ร่างกายเราเป็นอย่างไร จิตใจเราเป็นอย่างไร ถ้ารู้จิตใจได้ รู้จิตใจไปเลย ถ้าตอนไหนรู้จิตไม่ไหว ก็ดูกายไป นี่หลักของการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เราใช้อายตนะ 6 ตัว ตากระทบ ร่างกายจิตใจเปลี่ยนแปลง รู้ หูกระทบเสียง ร่างกายเปลี่ยนแปลง จิตใจเปลี่ยนแปลง รู้ ใจกระทบความคิด ร่างกายเปลี่ยนแปลง จิตใจเปลี่ยนแปลง รู้ รู้กาย รู้ใจ รู้กาย รู้ใจ แต่ไม่ต้องรู้ทั้ง 2 อย่าง ถ้ารู้ใจได้ รู้จิตใจได้ ให้รู้จิตไปเลย ถ้าตอนไหนดูจิตไม่ได้ ค่อยดูกายเอา ใช้หลักอันนี้ จับหลักให้แม่น

ที่หลวงพ่อสอนให้วันนี้ มันเป็นครีม เป็นครีมสำหรับการฝึกดูจิตดูใจของตัวเอง เอาไปทำเอา วันนี้ที่สอนละเอียด เพราะว่าพี่น้องชาวลาว มาเรียนเป็นจำนวนไม่ใช่น้อยเลย เยอะ จับหลักที่หลวงพ่อสอนแล้วเอาไปทำ ธรรมะก็เป็นมรดกตกทอด บรรพชนรับพระพุทธศาสนามา แล้วก็รักษาสืบทอดจนถึงรุ่นเรา เราก็เอามาปฏิบัติให้เข้าใจ แล้วเราก็ช่วยกันสืบทอดต่อไป ถ่ายทอดให้ลูกหลาน ให้เพื่อนฝูง ค่อยๆ ขยายออกไป ก็จะได้รักษาสมบัติที่มีคุณค่าที่สุดเลยกับมนุษยชาติ สิ่งอื่นมีประโยชน์กับมนุษยชาติชั่วครั้งชั่วคราว แต่ธรรมะมีประโยชน์กับมนุษยชาติ ไม่ใช่ชาติใดชาติหนึ่ง

 

 

หลวงพ่อไปสุรินทร์มารอบนี้ เลยรู้สึกเจียมสังขารมากขึ้น ไปเจอพระอนุสาวนาจารย์ ท่านก็เรียก เอ้า โยมมากราบหลวงปู่ปราโมทย์ โห แต่ไม่เจ็บหรอก ไม่เจ็บ ผู้หญิงถูกเขาเรียกป้าก็เจ็บแล้วใช่ไหม หลวงพ่อเขาเรียกปู่ ออกจากวัดบูรพาราม ไปที่ลำปลายมาศ ไปกราบกรรมวาจา ก็คุยกันอย่างสดชื่น เสร็จแล้ว อ้าว โยมมาถ่ายรูปกับหลวงปู่ ให้หลวงปู่เทศน์ให้ฟัง ฟังแล้ว อืม แก่ได้ที่แล้ว ใครจะเรียกหลวงปู่ หลวงพ่ออะไรก็เรียกเถอะ อย่าถึงขนาดเรียกหลวงน้องก็แล้วกัน

ตอนนี้ขอจอให้คอร์สลาว เห็นหน้าแล้ว ชาวลาวเราใจยังฟุ้งอยู่ ส่วนมากจิตใจยังฟุ้งอยู่ เพราะฉะนั้นเราต้องทำในรูปแบบ ทุกวันต้องทำกรรมฐาน จะหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ได้ แล้วรู้ทันจิตตนเอง จิตมันฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตสงบรู้ว่าสงบ ไม่ได้หายใจเพื่อให้สงบ เราไม่ได้ทำกรรมฐานเพื่อความสงบ เพราะความสงบเป็นของไม่ยั่งยืน เราทำกรรมฐานไปเพื่อจะให้เห็นจิตใจมันทำงานได้เอง เดี๋ยวมันสุข เดี๋ยวมันทุกข์ เดี๋ยวมันดี เดี๋ยวมันชั่ว ต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ จะอยู่กับลมหายใจ อยู่กับพุทโธก็ได้ แล้วรู้ทันจิตไว้ ต่อไปปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นความจริงของจิตใจ จิตใจไม่เที่ยง จิตใจเป็นอนัตตา

ที่หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังวันนี้ จงใจจะให้คนลาวฟังนั่นล่ะ ทีแรกเขาก็ขึ้นจอให้ดูรูปเล็กๆ ก็เห็น ไม่เห็นหน้า เห็นเป็นกลุ่ม อย่างนี้มองเห็นหน้าแล้ว รู้สึกๆๆ ไป เวลาจิตเราไหลมาอยู่ในจอ เห็นไหมมาจ้องจออย่างนี้ รู้ว่าจิตเราไปที่จอแล้ว นี่จิตหลงไปทางตา หลงไปดูรูป ฉะนั้นทำกรรมฐานแล้วจิตเราหลงไป เรารู้ ส่วนใหญ่ก็หลงไปคิด เวลานั่งดูในจอ ก็หลงไปดูรูป หลงไปฟังเสียง แล้วก็หลงไปคิด สลับกันไปเรื่อยๆ คอยรู้ คอยดูเรื่อยๆ

คนลาว หลวงพ่อชอบมาก เพราะคนลาวพื้นของจิตสุภาพ อ่อนโยน พื้นจิตใจดี เหมาะที่จะรองรับธรรมะ จิตใจที่กระด้าง เจ้าความคิดเจ้าความเห็น รับธรรมะไม่ได้หรอก คนไทยรุ่นหลังๆ ก็กระด้างมากขึ้น กระด้างมากขึ้น เพราะมีวัตถุมาก แต่จิตใจนั้นมันหลงโลกเยอะ หลงแรง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน คนไทยที่จะสนใจปฏิบัติ สนใจภาวนา ก็ยังเยอะอยู่ ส่วนคนลาวที่หลวงพ่อเห็น เป็นคนลาวที่สนใจภาวนา มาเข้าคอร์ส

ตั้งใจของเราไว้ ชีวิตเป็นของไม่ยืนยาว อย่าไปหวั่นไหวอะไรกับโลกข้างนอก ในชีวิตเรา แต่ละคนเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ มันหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอย่างนี้เสมอ ไม่มีใครสั่งให้มีความสุขได้ตลอดกาลหรอก เวลาเรากระทบอารมณ์ที่ไม่ดี ไม่ถูกใจ ใจเรามีความทุกข์ ให้เราเรียนรู้ไว้ ใจมันมีความทุกข์ก็ให้รู้ไป ดูสิความทุกข์กับใจ มันเป็นคนละอันกันเห็นไหม หรือความกังวลใจเกิดขึ้น เราก็หัดดูไปเรื่อย เห็นไหม ความกังวลกับจิตใจ มันก็คนละอันกัน

ในสภาวะที่บ้านเมืองที่สังคมมันลำบาก แต่ละบ้านเมืองแต่ละชาติมันก็มีเจริญ มีเสื่อม มีสุข มีทุกข์ มีสงบ มีวุ่นวาย เป็นธรรมชาติอย่างนั้นเสมอ เราก็มาฝึกจิตฝึกใจของเรา เวลาบ้านเมืองสบาย เราก็ไม่หลงเพลิน เวลาบ้านเมืองลำบาก เราก็ไม่ทุกข์ เราก็จะได้มีจิตใจที่มั่นคงแข็งแรง ต่อสู้กับชีวิตต่อไป สร้างบ้านแปงเมืองต่อไป ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นในชีวิต อย่าท้อถอยๆ มันก็แค่ผัสสะอันหนึ่ง เป็นผัสสะที่ดีบ้าง ผัสสะที่ไม่ดีบ้าง พอมีผัสสะที่ดีกระทบ ใจเราฟูขึ้นมา เราก็รู้ทัน ผัสสะที่ไม่ดีมากระทบ ใจเราแฟ่บลงไป เราก็รู้ทัน ต่อไปเราก็จะเห็นเลย จิตใจมันของบังคับไม่ได้ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ กระทั่งจิตใจเรายังเอาแน่เอานอนไม่ได้เลย แล้วโลกข้างนอกมันจะแน่นอนได้อย่างไร กระทั่งจิตใจเรายังไม่มั่นคง ยังไม่แน่นอน เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว โลกข้างนอกมันก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน มันก็อันเดียวกันนั่นล่ะ

ถ้าภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง เราจะรู้ว่าจิตใจของเรากับโลกข้างนอก มันก็เหมือนกัน เกิดดับ เปลี่ยนแปลง อยู่ในกองทุกข์เหมือนๆ กัน ผู้ที่รู้ความจริงว่าโลกนี้คือตัวทุกข์ ใจมันก็จะคลายออกจากโลก ผู้รู้ความจริงว่ากายนี้ทุกข์ ความยึดถือกายก็ลดลง คนที่เห็นว่าจิตใจมันก็ยึดถืออะไรไม่ได้ ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน ก็ไม่ค่อยยึดถือจิตใจ อะไรเกิดขึ้น อะไรผ่านมา ก็เห็นแค่ว่า สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็ดับไป ดูอย่างนี้ ชีวิตเรามีชั่วคราวเท่านั้น หาสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดให้กับตนเอง สะสมสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ไว้ มีคุณค่ามาก ธรรมะ

วันนี้หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังเท่านี้ สังเกตไหมจิตใจเราแข็งแรงขึ้น จิตใจเราแช่มชื่นขึ้น มองโลกให้มันเป็นธรรมะ แล้วเราอยู่กับโลกแบบทุกข์น้อยๆ มันทุกข์น้อยเอง เพราะมันฉลาด ไม่เข้าไปยึดถือมาก ถ้าเราคิดว่านี่บ้านเมืองเรา นี่สมบัติเรา นี่ๆ ของเรา ทุกข์ตายเลย ถ้าเข้าใจ ทุกอย่างมันสมบัติผลัดกันชม ร่างกายเรา เมื่อกี้หลวงพ่อก็พูดแล้ว กระทั่งร่างกายเราก็สมบัติผลัดกันชม เราก็ไปยืมเลือดเนื้อของสัตว์มา ของอาหาร ของพืชมา ถึงวันหนึ่งเราก็ต้องคืนให้พืช ให้สัตว์อื่น ให้คนอื่นใช้ประโยชน์จากวัตถุธาตุก้อนนี้เหมือนกัน

กระทั่งร่างกายเรายังเป็นของที่ยืมโลกมา แล้วสิ่งอื่นมันยิ่งไกลออกไปอีก อย่าหวั่นไหวกับมัน ฝึกจิตให้แข็งแรงไว้ เผชิญกับทุกอย่างด้วยความเข้มแข็ง องอาจ สมกับเราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เราเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต แล้วเราไม่ทุกข์มาก

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
17 มิถุนายน 2566