รูปนามคือตัวทุกข์

ตั้งอกตั้งใจศึกษาปฏิบัติกันนะ หลวงพ่อบางทีก็หลบออกจากวัดเหมือนกัน เจอโยมทุกวันก็ไม่ไหวเหมือนกัน ออกไปหาที่เงียบๆ ตามวัดอื่นๆ ผ่านไปตามวัดโน้นวัดนี้ได้เห็นแต่ละวัดสร้างเทวรูป รูปเคารพอะไรต่ออะไรเยอะแยะไปหมดเลย เป็นช่องทางหารายได้เข้าวัด แข่งกันสร้าง บางวัดมีท้าวเวสสุวรรณองค์เดียวไม่พอ ต้องทำ 2 องค์ คนเข้าวัดไม่รู้ว่าธรรมะอยู่ที่ไหน ไม่รู้ว่าศาสนาพุทธเป็นอย่างไร เข้าไปก็เห็นแต่เรื่องให้ไปกราบไปไหว้ไปขอพรอันโน้นอันนี้ เห็นแล้วเราก็สลดสังเวช พระพุทธเจ้าเหนื่อยยากมากมายกว่าจะค้นพบธรรมะเอามาสอนพวกเรา พวกเรารักษาไว้ไม่ค่อยจะไหว ไม่ได้ศึกษาธรรมะ ไม่ได้ปฏิบัติธรรมะ

คนเข้าวัดก็ไม่ได้คิดจะไปเรียนธรรมะหรอก คิดจะไปหาโชคหาลาภอะไรอย่างนี้ คนเหล่านี้ไม่ใช่ชาวพุทธที่แท้จริง เพราะว่าเขาไม่รู้เลยพระพุทธเจ้าสอนอะไร ถ้าจะได้ยินได้ฟังก็บอกให้ทำบุญทำทานแล้วดี ได้ขึ้นสวรรค์ ได้อะไรอย่างนี้ เดี๋ยวนี้คนใจร้อน ให้ทำบุญแล้วไปขึ้นสวรรค์ไม่ทันใจ ก็เลยขอพรให้รวยเดี๋ยวนี้เลย รวยๆๆ สารพัด มันไม่ได้มีเหตุมีผลอะไรที่คนจะรวยโดยการไปไหว้เทวรูป ไหว้พระพุทธรูปด้วย

พระพุทธเจ้าสอนธรรมะ เรื่องสำคัญคือเรื่องกฎแห่งกรรม ทำกรรมอันใดไว้ก็ต้องได้ผลอย่างนั้น ไม่มีใครอยู่เหนือกรรมได้ อย่างเราเป็นคนหลงอบายมุข ติดการพนัน ติดยาเสพติดอะไรอย่างนี้ ไม่ทำมาหากิน ไปขอพรให้รวย มันรวยไม่ได้ ถ้าอยากรวยก็ต้องทำตามที่พระพุทธเจ้าสอน รู้จักทำมาหากิน รู้จักลงทุน รู้จักเก็บออม ที่สำคัญรู้จักเลือกคบคน ถ้าคบคนไม่ดีก็พาเราล่มจมไปด้วย ทุกวันนี้ก็ชวนกันเล่น เรียกเพราะๆ ว่าลงทุน จริงๆ ก็คือเอาเงินไปให้เขาแล้วหวังว่าจะได้ผลตอบแทนเยอะๆ โดยที่ตัวเองไม่ต้องทำอะไร

คือเราเป็นชาวพุทธ เราอยากจะได้ผลที่ดี เราต้องทำเหตุที่ดี เหตุนั้นต้องตรงกับผลด้วย ทำเหตุดี ผลมันก็ดี ฉะนั้นเราไม่จำเป็นจะต้องไปขอพรใครทั้งสิ้น เราสร้างพร คือความประเสริฐ ให้ตัวเองได้ ตั้งอกตั้งใจรักษาศีล 5 นี่ก็เป็นการให้พรตัวเองแล้ว ถ้าเรามีศีล มีคุณงามความดีในใจ เราไม่ทำตามใจกิเลส ชีวิตเรามันก็จะสะอาดหมดจดมากขึ้นๆ ถ้าเราฝึกอบรมจิตของเราให้สงบ เราก็จะมีความสุขโดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นหรือสิ่งอื่นๆ เรามีความสงบมีความสุขอยู่ด้วยตัวของเราเอง ไม่เห็นต้องร้องขอใครเลย

 

อริยสัจแห่งจิต

เมื่อก่อนมี ดูประวัติหลวงปู่ดูลย์ ก่อนที่ท่านจะเจอหลวงปู่มั่น ท่านก็เที่ยวหาทางปฏิบัติ แล้วเข้าสำนักต่างๆ บางที่เขาก็ให้นั่งสมาธิจุดเทียนล้อมรอบตัว 5 เล่ม แล้วก็ท่องขอเชิญปีติทั้ง 5 ให้เกิดขึ้น มันก็เป็นอุบาย ถ้าจิตสงบมันก็เกิดปีติได้ แต่หวังว่าครูบาอาจารย์จะส่งปีติมาให้ มันเป็นไปไม่ได้ พอท่านเจอหลวงปู่มั่น คำสอนหลวงปู่มั่นสมบูรณ์ มีเหตุมีผล ไม่มีความงมงายใดๆ ทั้งสิ้น หลวงปู่มั่นก็สอนให้ท่านพุทโธนั่นล่ะ ครูบาอาจารย์วัดป่าส่วนใหญ่ก็พุทโธเอา แล้วก็จิตสงบเราก็พิจารณากาย หลวงปู่ดูลย์เรียนตรงนี้ แล้วท่านก็ไป แยกตัวออกมาจากหลวงปู่มั่น ไม่ได้ไปเฝ้าหลวงปู่มั่นอยู่หรอก เรียนให้รู้หลักแล้วก็ออกปฏิบัติ

ท่านก็พุทโธพิจารณากาย ในเวลาไม่นานท่านก็กลับมาหาหลวงปู่มั่น มารายงานผลการปฏิบัติ บอกว่าที่ท่านปฏิบัติท่านพบแล้ว กิเลส 4 ระดับ ท่านเรียกกิเลส 4 ส่วน จริงๆ คือ 4 ระดับ ท่านละได้เด็ดขาดแล้ว 1 ส่วน ส่วนที่สองยังละได้ไม่เด็ดขาด หลวงปู่มั่นก็ชมว่าฉลาด รู้เท่าทันกิเลสของตัวเองได้ รู้ว่ากิเลสอะไรละแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ละ รู้ทัน หลวงปู่มั่นก็สอนธรรมะขั้นต่อไปให้หลวงปู่ดูลย์ นี่คือความเก่งของหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นไม่ได้สอนหลวงปู่ดูลย์ดูกายต่อไปแล้ว ได้ธรรมะขั้นต้น ท่านก็สอนบอกว่า สัพเพ สังขารา สัพพะสัญญา อนิจจา สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลาย ไม่เที่ยง สัพเพ สังขารา สัพพะสัญญา อนัตตา สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลาย เป็นอนัตตา สอนอย่างนี้

หลวงปู่ดูลย์ก็ออกไปปฏิบัติ ไปพิจารณาสังขารกับสัญญา ก็เห็นความสัมพันธ์กัน ตัวที่ทำให้สังขารมันเกิดเป็นปัจจัยของจิตตสังขาร คือตัวสัญญา ที่จริงมีอีกตัวหนึ่งคือเวทนา สัญญาและเวทนาเป็นจิตตสังขาร เป็นตัวปรุงจิต ทำให้จิตเป็นกุศลบ้าง จิตโลภ โกรธ หลงบ้าง ท่านไปดูๆ ท่านก็รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวตนไม่มีอะไรเลย ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น ที่มันมีความทุกข์ขึ้นมาเพราะว่าจิตมันปรุงแต่ง จิตมันปรุงแต่งไปตามสัญญาอารมณ์ทั้งหลาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ สัญญาก็ไปแปลความหมาย สังขารก็ปรุง พอสังขารมันปรุงขึ้น จิตมันก็ทุกข์ ท่านดูเข้ามาถึงตัวนี้ได้ แล้วท่านก็รู้แจ้งแทงตลอดในจิตของท่าน

ที่เกิดเป็นคำสอนเรื่องอริยสัจแห่งจิตที่เราเคยได้ยินกันนั่นล่ะ ก็มาจากการที่ท่านทำตามที่หลวงปู่มั่นสอน ว่าสังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลาย ไม่เที่ยง สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลาย เป็นอนัตตา ตรงนี้พวกเราสังเกตอย่างไหม ไม่มีคำว่าทุกขัง มีอนิจจังแล้วโดดขึ้นอนัตตาเลย นี่เป็นความปรีชาสามารถของหลวงปู่มั่นจริงๆ เพราะตัวจิตใจ ตัวนามธรรม ตัวที่เด่นชัดคืออนิจจังกับอนัตตา กระทั่งในพระสูตร เวลาท่านสอนเรื่องขันธ์ 5 ในขันธ์ 5 มีรูปธรรม 1 มีนามธรรม 4 อัน คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นนามธรรม มีรูปธรรม 1 คือตัวรูป ฉะนั้นคำสอนเรื่องขันธ์ 5 จะสอนพวกที่ชอบดูนามธรรม

ถ้าพวกชอบดูรูปธรรม ท่านจะสอนเรื่องอายตนะ 6 ในอายตนะ 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่เป็นรูป ใจเป็นนามธรรมอันเดียว ฉะนั้นน้ำหนักมันจะอยู่ที่รูป ส่วนคำสอนเรื่องขันธ์ 5 น้ำหนักมันอยู่ที่นาม มีรูป 1 มีนาม 4 ในพระสูตรท่านก็สอนไว้ชัดเจน รูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา สัญญา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญาณัง อนิจจัง มาถึงวิญญาณเป็นอนิจจังแล้วกระโดดขึ้นเลย รูปัง อนัตตา เวทนา อนัตตา เห็นไหมจากอนิจจังโดดขึ้นอนัตตาเลย เพราะอย่างถ้าเราดูนามธรรม โดยเฉพาะการดูจิต จะดูจิตให้เห็นว่าจิตเป็นทุกข์ยาก ยากมาก ถ้าไม่ได้ทรงฌานจะไม่เห็นจิตเป็นทุกข์ แต่ตัวที่ดูง่ายสำหรับนามธรรม คืออนิจจัง อนัตตา

อย่างจิตของเรา เดี๋ยวจิตสุขอยู่ไม่นานก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ เห็นเกิดดับ จิตที่เป็นกุศล เกิดแล้วก็ดับ จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง เกิดแล้วก็ดับ นี่เห็นอนิจจัง เราก็จะเห็นจิตมันสุข เราสั่งให้สุขก็ไม่ได้ สุขเกิดแล้วเราสั่งให้มันอยู่ถาวรก็ไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ นี่เรียกอนัตตา ความทุกข์ก็เหมือนกัน สั่งไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วไล่มันก็ไม่ไป มันไม่อยู่ในอำนาจบังคับ กุศล อกุศลก็เหมือนกัน สั่งให้กุศลเกิด สั่งห้ามว่าอกุศลอย่าเกิด สั่งไม่ได้ ไม่มีอะไรที่สั่งได้ อันนี้เรียกเห็นอนัตตา เพราะฉะนั้นเวลาเรียนดูจิตแล้วดูนามธรรม จุดสำคัญอยู่ที่การเห็นอนิจจัง อนัตตา เพราะฉะนั้นที่หลวงปู่มั่นสอนหลวงปู่ดูลย์เหมาะสมอย่างยิ่ง งดงามอย่างยิ่งเลย สอนให้เห็นสังขาร สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลายเป็นอนัตตา

เวลาเราฟังครูบาอาจารย์ หรือเราอ่านธรรมะ เราอ่านเพลินๆ บางทีเราไม่เก็ตประเด็น หลวงปู่ดูลย์ใช้เวลาไม่นานก็รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจแห่งจิต ท่านรู้ว่าจิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย จิตที่ส่งออกนอกก็คือจิตที่ตกอยู่ใต้ตัณหา ตัณหาคือความทะยานอยากของจิต มันไม่ใช่อยากเฉยๆ มันมีคำว่าทะยานด้วย เวลาตัณหาเกิดจิตมันจะทะยานออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทะยานออกไปหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี่จิตส่งออกนอก คำว่าจิตส่งออกนอกก็คือจิตที่หลงไปเสพอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อมันหลงออกไป อะไรผลักให้มันทะยานออกไป ตัณหาเป็นตัวผลักดัน ท่านถึงบอกว่าตัวทะยานของจิต ตัวออกนอกของจิตเป็นสมุทัย ตัณหานั่นล่ะคือตัวสมุทัย

พอจิตทะยานออกไปหาอารมณ์ต่างๆ ไปยึดถือ ไปดิ้นรน ไปปรุงแต่ง จิตมันก็มีความทุกข์เกิดขึ้น ตรงนี้ถ้าเราภาวนาได้ละเอียด เห็นด้วยตัวเอง เราจะเห็นว่าเวลาตัณหาอุปาทานเกิดขึ้น อุปาทานก็คือตัณหาที่มีกำลังรุนแรง ถ้าตัณหาอุปาทานเกิดขึ้น จะเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพก็คือ ความปรุงแต่ง ความดิ้นรนของจิต ปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง ปรุงไม่ดีไม่ชั่วบ้าง ภพเป็นปัจจัยของชาติ ชาติคือความเกิด ความเกิดก็คือการได้มา การหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา เพราะฉะนั้นเวลาจิตมันทะยานอยากออกไป มันจะไปหลงอยู่ในโลกของความปรุงแต่ง ถ้ามันไปปรุงแต่งเรื่องราวภายใน จิตมันก็จะไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา จิตหยิบฉวยจิตขึ้นมาแล้ว จิตจะทุกข์ทันทีเลย

ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ ชาติไม่ใช่แค่ชาตินี้เกิดมาเป็นคน อันนั้นหยาบไป ชาติคือการที่จิตเข้าไปหยิบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา หยิบขึ้นมาทำอะไร หยิบขึ้นมาเพื่อไปเสพอารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปเพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ พอจิตมันไปหลง อย่างมันมาหลงรูป มันปรุงอยากดูรูปขึ้นมา จิตก็ไปเกิดที่ตาแล้วก็ไปยึดถือเราต้องดูละเอียดถึงจะเห็น จิตมันจะไปหยิบฉวยตาขึ้นมา แล้วเอาตานั้นไปดูรูป เวลามันจะฟังเสียง จิตมันหยิบฉวยหูขึ้นมา เอาหูไปฟังเสียง ฉะนั้นเราจะรู้สึก จิตจะเกิดดับไล่ตามอายตนะทั้ง 6 ตรงที่จิตไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา เรียกว่าชาติ ความได้มาซึ่งอายตนะ ตำราจะใช้คำว่าการได้มาซึ่งอายตนะ คือชาติ

ได้มามันไม่ได้อะไรจริงหรอก เพราะมันไม่ใช่เจ้าของ แต่มันเข้าไปหยิบฉวย เข้าไปยึดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา พอไปหยิบ ไปฉวย ไปยึดขึ้นมา ทุกข์ก็เกิดในขณะนั้นเลย เพราะอะไร เพราะในความเป็นจริง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจคือตัวทุกข์ ตา หู จมูก ลิ้น กายก็เป็นส่วนของรูปธรรม ใจก็ส่วนของนามธรรม ฉะนั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้าเราเข้าไปหยิบฉวย ไปยึดถือขึ้นมาเมื่อไร ความทุกข์ก็เกิดทันที เพราะตัวมันคือตัวทุกข์เลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พูดอีกมุมหนึ่งก็คือขันธ์ 5 รูปนาม แล้วแต่จะจำแนกว่าจำแนกด้วยอายตนะ หรือจำแนกด้วยขันธ์ 5 อะไรอย่างนี้ แล้วแต่จะจำแนก แต่ใจความก็คือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลายทั้งปวง

 

คืนกายให้โลก

ถ้าเราภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง เราจะเห็นความทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย ทุกข์ที่แท้จริงหรือทุกขสัจ ทุกข์ที่แปลกปลอมเข้ามาในร่างกายเราชั่วครั้งชั่วคราว เดี๋ยวมาแล้วก็ไป เรียกว่าทุกขเวทนา ความทุกข์ที่แทรกเข้ามาในจิตใจก็เป็นทุกขเวทนาทางใจ มีศัพท์เฉพาะของพวกอภิธรรม เขาเรียกว่าโทมนัสเวทนา ความทุกข์อย่างนี้เห็นไม่ยาก แต่เดิมหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อก็คิดว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าเราไม่ไปยึดไปถือ เราก็ไม่ทุกข์ด้วย มันทุกข์เพราะเราไปยึดขันธ์ 5 ถ้าเราไม่ยึดขันธ์ 5 เราก็ไม่ทุกข์ พอภาวนาละเอียดขึ้นไปพบว่าไม่ใช่ ที่คิดว่าใช่มันไม่ใช่เสียแล้ว เดิมคิดว่าขันธ์ 5 มันเป็นตัวกลางๆ แต่พอจิตเราเข้าไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา จิตเลยทุกข์

พอภาวนามากๆ พบว่าไม่ใช่ จิตจะเข้าไปหยิบฉวยรูปนาม ขันธ์ 5 อายตนะ 6 หรือไม่ มีหลายแง่มุม หมายถึงจำแนกได้หลายแบบ ย่อๆ คือรูปนาม จำแนกเป็นขันธ์ 5 ก็ได้ อายตนะ 6 ก็ได้ ที่จริงยังจำแนกได้อย่างอื่นอีก จำแนกเป็นธาตุ 18 ก็ได้ อินทรีย์ 22 ก็ได้ แต่อันนั้นมันเยอะไป เรียนแล้วเวียนหัว เอาแค่ขันธ์ 5 อายตนะ 6 พวกนี้ รูปนาม เอาแค่นี้ก็พอแล้ว

พอภาวนาไปเรื่อยๆ ก็เห็นความจริง รูปนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ทุกข์โดยตัวของมันเอง เราจะเข้าไปยึดถือหรือไม่ยึดถือ รูปก็คือตัวทุกข์ นามธรรมก็คือจิตเรานี้ เราจะยึดถือหรือไม่ยึดถือ จิตนั้นก็คือตัวทุกข์ พอรู้แจ้งเห็นจริงว่ารูปคือตัวทุกข์ จิตถึงจะปล่อยวางรูป เรียกรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็ละสมุทัยได้ ถ้าเราเห็นความจริง กายนี้คือตัวทุกข์ล้วนๆ เลย ทุกข์โดยตัวของมันเองเลย ไม่ต้องรอให้ความทุกข์เข้ามาหรอก มันทุกข์อยู่ขณะนี้ มันทุกข์อยู่แล้ว ถ้ามันเห็นตรงนี้ได้ จิตมันจะไม่ไปหยิบฉวย ไปยึด ไปถือเอากายนี้ขึ้นมา จิตมันจะสลัดคืนกายให้โลกไป

ทำไมเรียกว่าคืนกายให้โลก เพราะกายนี้มันเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นสมบัติของโลก เราไปยืมมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว แล้วเรานึกว่าเป็นของดีของวิเศษ วันหนึ่งสติปัญญาแก่รอบ เรารู้ว่ากายนี้คือตัวทุกข์ ท่านเปรียบบอกว่าเหมือนถ่านไฟแดงๆ ติดไฟร้อนๆ แดงๆ ถ้าเราเป็นเด็กไร้เดียงสา เราไม่รู้ว่าถ่านที่ติดไฟมันอันตราย เราก็ไปหยิบ รู้สึกมันสวยดี แต่พอเราไปหยิบถ่านไฟที่ติดไฟแดงๆ อยู่ ที่ว่าสวยๆ พอหยิบเข้าไป โอ๊ย มันไหม้เอา มันร้อน มันเผามือเอา เราก็จะสลัดทั้งทันที เพราะเรารู้แล้วตัวนี้เป็นก้อนทุกข์

เวลาที่จิตมันสลัดกายทิ้ง เพราะว่ามันเห็นแจ้งตัวกายนี้คือก้อนทุกข์ กายพอจำแนกรายละเอียด ถ้าจำแนกในมุมของธาตุก็คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม จำแนกในมุมของอายตนะก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย มันคือตัวทุกข์ พอเห็นอย่างนี้จิตจะปล่อยวางกาย พอจิตวางกาย วางตา หู จมูก ลิ้น กายได้ เวลาตา หู จมูก ลิ้น กายกระทบอารมณ์ กระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จิตมันจะไม่หลงยินดี ไม่หลงยินร้าย

มันคล้ายๆ สมมติเหมือนผิวหนังเรานี้ ตอนนี้ผิวหนังเราดีๆ เอาน้ำหอมอะไรนี่มาพรมๆ สดชื่น แหม เดี๋ยวนี้เขาเรียกอะไร จำไม่ได้ ทาแล้วเย็นๆ สดชื่น ร้อนๆ ก็มีสเปรย์ฉีดหน้า แหม ชื่นใจ เย็นดีอะไรอย่างนี้ แต่ถ้าหนังมันถลอกๆ เอาสเปรย์ไปฉีดหรือเอาน้ำไปถูกเข้า แสบ ตรงที่สติปัญญามันแก่รอบ มันเห็นร่างกายนี้มันตัวทุกข์ มันจะไปกระทบอารมณ์อะไร มันก็ทุกข์ทั้งนั้นล่ะ ตาก็ทุกข์ รูปที่ตาเห็นก็ทุกข์ จมูกก็ทุกข์ กลิ่นก็ทุกข์ จับคู่ของความทุกข์ไป ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีแต่ทุกข์ทั้งหมดเลย

พอภาวนาแล้วเราเห็น ไม่เห็นมีอะไรเลย มีแต่ทุกข์ล้วนๆ เลย จิตก็วางกาย พอวางกายมันก็ไม่หลงยินดี ไม่หลงยินร้ายใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไปยินดีกับมันทำไม มันมาสัมผัสก็ไม่เห็นว่ามีอะไรดีขึ้น เพราะตัวที่รับสัมผัสคือตา หู จมูก ลิ้น กาย มันเป็นตัวทุกข์ไปเสียแล้ว มันจะไปกระทบสัมผัส อายตนะข้างนอก รูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ แล้วมันจะเกิดสุขได้ไหม ไม่เกิดหรอก จิตมันรู้อย่างนี้

มันเหมือนร่างกายเราเป็นแผล หนังลอกไปหมดแล้ว โดนอะไรเข้าหน่อยก็แสบแล้วแสบอีก จะนอน อย่างคนแต่ก่อนเป็นฝีดาษ ตัวเป็นฝีทั้งตัวเลย แตกหนอง นอนบนที่นอนนุ่มๆ นอนไม่ได้ หนองมันติดที่นอน พอมันแห้ง คราวนี้มันติดเนื้อเข้าไปอีก มันทุกข์ไปหมดเลย เขานอนบนใบตอง มันลื่นๆ ไม่ติด ร่างกายเรามันคือตัวทุกข์ แต่เราไม่เห็น ฉะนั้นถ้าภาวนาเรื่อยๆ เราเห็นร่างกายคือตัวทุกข์ มันจะหมดความยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไปด้วย พอไม่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เรียกว่าเราละกามราคะได้ เราไม่ยินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เราละปฏิฆะได้

ผู้ที่ละกามราคะได้กับปฏิฆะได้คือภูมิจิตภูมิธรรมของพระอนาคามี ฉะนั้นเราจะปล่อยวางกายได้ก็คือพระอนาคามี แล้วถัดจากนั้นการปฏิบัติมันจะบีบวงเข้ามาที่จิต เพราะมันรู้แจ้งในกายแล้ว มันเรียนหนังสือตัวนี้จบแล้ว คล้ายๆ จบหลักสูตรของกาย มันจะเข้ามาเรียนอยู่ที่จิต ปกติจิตของคนภาวนาโดยเฉพาะจิตระดับพระอนาคามี มันมีสมาธิทรงตัวอัตโนมัติ มันมีแต่ความสุข ความสงบ สบายอยู่ได้เป็นวันเป็นคืน ถ้าตายไปไปเป็นพระพรหม อยู่ได้เป็นกัปๆ จนจักรวาลแตกแล้วจักรวาลแตกอีก ก็ยังทรงตัวมีความสุขความสงบอยู่ได้ ทีนี้การที่จะมาภาวนาให้หลุดพ้นจากตรงนี้ได้ไม่ง่ายเลยๆ เหมือนต้อนช้างเข้ารูเข็ม ยาก แต่ไม่เหนือความพยายามของมนุษย์หรอก หัดตามรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตใจไป

 

จิตแปรสภาพไปสู่ความเป็นธาตุ

การดูจิตใจเราจะเห็น 2 อย่าง หนึ่ง เห็นความรู้สึกทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับจิตแล้วมันก็จะย้อนเข้ามาเห็นจิตชนิดต่างๆ อย่างเวลาความสุขเกิดขึ้น มันก็เกิดร่วมกับจิตที่มีความสุข ความทุกข์ก็เกิดร่วมกับจิตที่มีความทุกข์ ความโลภก็เกิดร่วมกับจิตที่มีความโลภครอบงำอยู่ ความโกรธก็เกิดร่วมกับจิตที่มีความโกรธครอบงำอยู่ มันเกิดด้วยกัน

ภาวนาเรื่อยๆ เราก็เห็นจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตกุศลเกิดแล้วดับ จิตโลภ โกรธ หลงเกิดแล้วดับ เราเห็นตัวจิตเกิดดับ ไม่ใช่เห็นสุข ทุกข์ กุศล อกุศลเกิดดับ ตรงที่เราเห็นสุขทุกข์เกิดดับ เรียกว่าเรายังรู้เวทนาอยู่ ตรงที่เราเห็นกุศลอกุศลเกิดดับ เรายังรู้สังขารอยู่ แต่การภาวนาพอถึงขั้นละเอียด มันจะเห็นความเกิดดับของจิต แต่การเกิดดับของจิตแสดงตัวผ่านธรรมะที่เกิดร่วมกับจิต เรียกเจตสิก จิตสุข จิตที่สุขเกิดแล้วดับ จิตที่ทุกข์เกิดแล้วดับ จิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วดับ จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลงเกิดแล้วดับ อันนี้เราเห็นจิตเกิดดับผ่านเจตสิก

อีกอันหนึ่งเราเห็นพฤติกรรมของจิต อันแรกเราเห็นจิตที่มีอารมณ์ชนิดต่างๆ ทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งดีทั้งชั่ว ประณีตขึ้นไปเราเห็นพฤติกรรมของจิต จิตที่ไปดูรูปเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปฟังเสียงเกิดแล้วก็ดับ อันนี้เราดูจิตมันเกิดดับทางอายตนะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเกิดดับๆ เกิดที่ตาแล้วก็ดับที่ตา เกิดที่หูแล้วดับที่หู เกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เกิดที่ไหนดับที่นั่น ต้องเห็น ภาวนาอย่างนี้ แล้วเห็นจิตเกิดดับ ถ้าเรายังภาวนาไม่ละเอียด เราจะเห็นว่าจิตเที่ยง

เราจะรู้สึกว่าเดี๋ยวจิตก็วิ่งไปทางตาแล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปทางหู พอรู้ว่าจิตหลงไปทางหู ก็วิ่งกลับมา ถ้ามันไม่กลับมาก็ดึงมันกลับมา แล้วจิตก็แน่นๆ เดี๋ยวจิตก็หลงไปดมกลิ่น ไปเกิดที่จมูก พอเรามีสติรู้ว่าจิตหลงไปดมกลิ่น จิตที่หลงไปดมกลิ่นก็ดับ จิตที่รู้ก็เกิดขึ้นแทน พอจิตหลงไปในความคิด เรารู้ทัน สติระลึกรู้ทันว่าจิตหลงไปในความคิด จิตที่หลงในความคิดก็ดับ จิตที่รู้ก็เกิดขึ้นมาแทน ฉะนั้นจิตรู้สำคัญ คนทั่วไปมันภาวนาไม่ได้ ไม่มีวันเห็นสันตติขาด มันเห็นว่าจิตมีดวงเดียว เพราะไม่เคยมีจิตรู้ ถ้าเรามีจิตรู้มาคั่นจิตทุกๆ ดวงไป เราจะเห็นว่าจิตทุกๆ ดวงเกิดดับ กระทั่งจิตรู้เองก็เกิดดับ

ตรงนี้ฟังยากหน่อย หลวงพ่อเทศน์ๆ เอาไว้ วันข้างหน้าเราภาวนาเราก็จะได้เห็น จิตมันเกิดดับทางอายตนะ จิตไม่ได้มีดวงเดียว

ความเกิดไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ความเกิดทีไรเป็นทุกข์ทุกที จะเห็น กระทั่งจิตผู้รู้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จะเห็นอย่างนี้ เฝ้ารู้ๆๆ ไป สุดท้ายมันก็ยึดถืออะไรไม่ได้ จิตผู้รู้ที่เป็นของดีของวิเศษ เป็นจิตที่เลอเลิศที่สุดในโลกิยธรรม มันก็ยังตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ยังเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ จิตมันก็วางจิต อันนี้มันเห็นจิตไม่เที่ยงบ้าง จิตเป็นอนัตตาบ้างก็วาง

การวางจิตสำหรับคนทรงฌานมันจะไปอีกรูปแบบหนึ่ง อย่างเราภาวนา จิตใจมีแต่ความสุข ถึงไม่ภาวนาจิตก็มีแต่ความสุขความสงบ จิตไม่ยอมปล่อยวางจิต พออินทรีย์แก่กล้าพอ บุญบารมีแก่กล้าพอ ปัญญามากพอแล้ว อยู่ๆ จิตมันพลิกตัวจากจิตที่เป็นบรมสุขฉับพลันนั้นกลายเป็นจิตบรมทุกข์เลย พวกที่ทรงฌาน จิตจะมีแต่ความสุข สุขแบบมีโสมนัส มีความสุขจริงๆ หรือเป็นอุเบกขา อุเบกขาสูงกว่าสุข เป็นสุขที่ประณีตยิ่งกว่าความสุขหวือๆ หวาๆ คนทรงฌาน จิตจะมีแต่ความสุข หรือไม่ก็อุเบกขาซึ่งเป็นความสุขที่ยิ่งกว่าความสุข

พอบุญบารมีมากพอ จิตมันพลิกตัวทีเดียว มันเห็นจิตนั้นคือตัวทุกข์ ไม่มีอะไรในโลกนี้จะทุกข์มากกว่าตัวจิตอีกต่อไปแล้ว ถ้าเห็นอย่างนี้ มันจะรู้สึกเหมือนจิตมันจะระเบิด พอคิดว่าจิตมันจะระเบิด ก็รู้อีกถ้าระเบิดเมื่อไรก็ตายเมื่อนั้น ถ้าไม่ตายก็บ้า จิตมันรู้เลยว่าใกล้จะระเบิดแล้ว ถ้าอินทรีย์แก่กล้าจริง กล้าสละชีวิตเพื่อธรรมะจริง เอาวะ ตายก็ตาย บ้าก็บ้า ขอตามดู ขอตามดูมันจนถึงขณะจิตสุดท้ายเลยที่มันจะตาย สุดท้ายมันตายจริงๆ คือจิตผู้รู้มันตาย มันขาดเปรี้ยงลงไป

ตัวจิตผู้รู้มันก็เป็นวิญญาณขันธ์นั่นล่ะ เป็นวิญญาณ อยู่ในขันธ์ 5 เรานึกว่าเป็นของดีของวิเศษ ที่จริงก็ไม่ใช่ของดีของวิเศษ ก็คือตัวทุกข์นั่นล่ะ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ทุกข์เพราะไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาในไตรลักษณ์ พอเห็นตัวผู้รู้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ของที่ดีที่สุดในสังสารวัฏก็ยังตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตมันสลัดขันธ์ทิ้ง สลัดจิตทิ้ง มันก็คือสลัดขันธ์ทิ้ง เพราะขันธ์ 5 นั้นเกิดจากวิญญาณขันธ์ดวงเดียว วิญญาณจิตดวงเดียวเท่านั้นเอง

พอจิตมันสลัดวิญญาณแล้วสลัดขันธ์ 5 ทิ้ง มันก็แปรสภาพไปสู่ความเป็นธาตุ อย่างร่างกายเราถึงที่สุดแล้วมันก็กลายเป็นธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม บรรจุอยู่ในช่องว่างคืออากาศธาตุ ธาตุดินทุกข์ไหม ธาตุดินทุกข์โดยการที่มันแปรสภาพ แต่ถามว่ามันรู้สึกทุกข์ไหม มันไม่รู้สึกทุกข์ ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มันก็ไม่ได้มีสุขมีทุกข์อะไรในตัวของมัน มันแค่ไม่คงที่ แค่แปรสภาพไป วิญญาณธาตุพอสลัดคืนออกไปแล้วมันเป็นธาตุแล้ว พอทิ้งวิญญาณขันธ์ แปรสภาพเป็นวิญญาณธาตุ มันก็พ้นจากทุกข์ บางทีท่านก็เรียกธรรมธาตุ สภาพจิตซึ่งพ้นเด็ดขาดจากความทุกข์ สภาพจิตที่พ้นเด็ดขาดจากตัณหา สภาพจิตที่พ้นเด็ดขาดจากความปรุงแต่ง นั่นล่ะคือจิตที่หลุดพ้นเป็นจิตที่สัมผัสพระนิพพาน

ตราบใดมีจิตตราบนั้นต้องมีอารมณ์ จิตที่มันเป็นวิญญาณธาตุ มันไม่ได้เสพอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแบบที่เราเคยเสพด้วยรูปนามขันธ์ 5 แต่มันเป็นธาตุรู้ขึ้นมาแล้ว อารมณ์ของมันคือพระนิพพาน นิพพานมีลักษณะว่าง สงบ สันติ ไม่มีความปรุงแต่ง ไม่เกิดไม่ดับ จิตที่เข้าไปเห็นตัวนี้มันทรงพระนิพพานอยู่ มันพ้นความเกิด แก่ เจ็บ ตายทั้งหมดทั้งสิ้น เพราะมันไม่ใช่ขันธ์ ตัวที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย มันคือตัวขันธ์ 5 แต่ตัวธาตุ เหมือนธาตุดิน แปรสภาพไปอย่างไร มันก็ไม่ทุกข์ขึ้นมาอีกแล้ว ไฟ มันก็ไม่มีความทุกข์ขึ้นมาอีกแล้ว ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ มันก็ไม่ตั้งความทุกข์ขึ้นมาอีกแล้ว

 

 

เราค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ศึกษาไป มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ทีแรกมันก็รู้ความจริงถึงเราจะดูจิตๆ แต่ตอนที่วางวางกายก่อน มันจะวางกายก่อน เพราะกายมันของหยาบ มันดูง่ายว่าเป็นตัวทุกข์ จิตเป็นของละเอียด มันดูยากว่าเป็นตัวทุกข์ ฉะนั้นมันวางยากกว่า เวลาภาวนาจะไล่มา ดูสิ รูป รูปดูง่ายไหม รูป รูปก็ดูง่ายๆ เวทนาก็ดูง่ายๆ สัญญา ความจำได้หมายรู้ก็ไม่ยากอะไร บางทีอย่างมันไม่เที่ยง บางทีเราก็จำได้ บางทีก็จำไม่ได้ คนนี้ชื่ออะไร บางทีก็จำได้ บางทีก็จำไม่ได้ อย่างหลวงพ่อจำชื่อคนไม่ค่อยได้ อย่างเพื่อนๆ หลวงพ่อ หลวงพ่อจำชื่อไม่ได้ จำได้แต่ชื่อพ่อมัน เพราะตอนแต่ก่อนเรียกแต่ชื่อพ่อมัน ไม่เรียกชื่อตัว สมัยหลวงพ่อถ้าเป็นเพื่อนกันจริง เขาไม่เรียกชื่อตัวกัน เป็นการไม่เคารพกัน เรียกชื่อพ่อกัน สัญญามันจำไม่ได้ๆ

เคยทดลอง อยากรู้ว่าสัญญามันเป็นไตรลักษณ์อย่างไร วันหนึ่งกลับจากที่ทำงาน นั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาจากเทเวศร์ นั่งมาขึ้นที่ท่าน้ำเมืองนนท์ บ้านอยู่เมืองนนท์ ก็ขึ้นจากท่าน้ำ ตอนอยู่ในเรือจิตมันสงสัยว่าสัญญามันเกิดดับแล้วมันเป็นอนัตตาอย่างไรหนอ ไม่เข้าใจ เข้าใจได้ด้วยการคิด ด้วยการอนุมาน ไม่เคยเห็น พอเดินขึ้นที่ท่าเรือ เดินมาไม่กี่ก้าวเลย สัญญาดับปั๊บลงไปเลย สัญญาดับ เสร็จแล้วเราก็ยืนอยู่อย่างนั้น เราไม่รู้ว่าเราเป็นใคร เราไม่รู้ว่าเราจะไปไหน เออ จำอะไรไม่ได้เลย มันพิสูจน์ให้ดูว่าความจำไม่เที่ยง เป็นอนัตตา จำไม่ได้ว่าเราชื่ออะไร ก็จำไม่ได้ เราเป็นใครก็จำไม่ได้ เรากำลังจะไปไหนก็จำไม่ได้ ตกใจไหม ไม่ตกใจ จำอะไรไม่ได้ก็ไม่ต้องจำ ไม่เค้น ไม่คิด ยืนเฉยๆ

เสร็จแล้วสัญญามันก็ผุดขึ้นมา ก็จำขึ้นมาได้ เออ สัญญามันก็เกิดดับได้จริงๆ ชัวร์ เชื่อมั่น 100 เปอร์เซ็นต์เลย แล้วมันเป็นอนัตตา มันจะเกิดหรือมันจะดับสั่งมันไม่ได้ มันเป็นอนัตตา สังขารเอง ความปรุงดีปรุงชั่ว โลภ โกรธ หลง ก็เห็นง่าย เกิดดับ แล้ววิญญาณก็คือการที่จิตที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าวิญญาณ พอพ้นจากวิญญาณไป ปล่อยวางวิญญาณจิตได้ มันก็เข้ามาสู่ความเป็นวิญญาณธาตุๆ บางทีครูบาอาจารย์ท่านเรียกอมตธาตุ อมตธรรม อมตธาตุก็คือตัววิญญาณธาตุ อมตธรรมก็คือพระนิพพาน มันสัมผัสกัน

เทศน์ให้ฟังเท่านี้ก็แล้วกัน เห็นตาแป๋วๆ ฟังเอาไว้ ไม่มีใครเขาสอนหรอก ฟังประดับความรู้ไว้ก่อน มีสำนวนเขาบอกเก็บใส่กระเป๋าความรู้ไว้ก่อน แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาภาวนาไป

ขั้นต้นถือศีล 5 แล้วก็ทำในรูปแบบทุกวันเพื่อให้จิตมีกำลัง เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ ให้มันกระทบ กระทบแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงในกายในใจ มีสติรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางไปแล้วทุกอย่างที่หลวงพ่อบอกวันหนึ่งมันจะแจ่มแจ้งกับพวกเราเอง จะจำไว้หรือจะไม่จำไว้ก็ไม่สำคัญหรอก จิตมันเคยได้ยินแล้ว ถึงวันหนึ่งมันจะขึ้นมาเองล่ะ จะลืมไปเลยก็ได้ แล้วไปภาวนาเอา แล้วถึงวันหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้ธรรมะอันนี้ ธรรมะอันนี้ก็จะขึ้นมาให้ฟัง

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
7 มกราคม 2567