กรรมใหม่เป็นตัวชี้ขาด

ช่วงนี้คนจีนก็จะกลับบ้านกันแล้ว กลับไปตรุษจีน ไปเยี่ยมพ่อแม่กัน ปกติที่วัดคนจีนเยอะมากเลย น่าสงสาร มาแสวงหาธรรมะ

ธรรมะจะว่าง่ายมันก็ง่าย ยากก็ยาก มันง่ายสำหรับคนซึ่งเคยสะสมมาก่อน เรียกมีบุพเพกตปุญญตา ถ้าเริ่มต้นใหม่เลยก็ยากเหมือนกัน แค่จะรักษาศีลให้ดียังทำยากเลย เราวัดใจตัวเองดูว่า บุญบารมีของเรามากแค่ไหน อินทรีย์เราแก่กล้าแค่ไหน วัดง่ายๆ ยังทำบาปผิดศีลได้หน้าตาเฉย แสดงว่าอ่อนมากเลย วัดใจตัวเอง ถ้าศีลเราดีแสดงว่าก็เคยฝึกอบรมจิตใจมาแล้ว บางคนทำสมาธิแป๊บเดียวก็สงบแล้ว บางคนทำตั้งหลายปียังไม่ยอมสงบเลย อันนี้ก็ไม่ได้สะสมเรื่องสมาธิมา บางคนไม่สามารถเห็นไตรลักษณ์ได้ ภาวนาทำสมาธิได้ แล้วจิตก็เฉยๆ มีความสุข พอใจอยู่แค่นั้น ติดอยู่ในความสุขความสงบของสมาธิ อันนี้ก็ไม่มีบุญบารมีในทางเจริญปัญญา ไม่ได้สะสมมา

 

กรรมใหม่สำคัญที่สุด

ลองวัดใจของเราเองดู บางคนภาวนาไม่กี่วัน ก็อยากได้มรรคได้ผลแล้ว เห็นคนอื่นเขาเร็ว ไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน เขาทำสำเร็จ แล้วอยากสำเร็จบ้าง ลองดูตัวเองก่อน ขั้นแรก ต้นทุนของเรามีแค่ไหน อย่างคนไม่มีต้นทุนในชีวิต ไม่มีเงินทอง ไม่มีความเฉลียวฉลาดที่จะลงทุน กว่าจะหากินได้แต่ละคราว ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ บางคนฉลาดมีเงินมีทอง ต้นทุนไม่ต้องหามาก ก็ทำมาหากินง่าย สะดวกสบาย กำไรดี แต่ทำไปไม่นาน อ้าว เศรษฐกิจโลกเปลี่ยน การเมืองเปลี่ยน เจ๊งเฉยเลย มีบุญแต่ไม่ยั่งยืน ในทางธรรมก็เหมือนกัน บางคนภาวนาปุ๊บปั๊บดีแล้ว จิตตั้งมั่นแล้ว แต่ว่าไม่อยากทำต่อ หลงโลกเพลินไป นี่ต้นทุนทำมาดี แต่ว่ากรรมตัดรอน กลายเป็นคนหลงโลกไป กรรมฐานก็เสื่อม

เราวัดตัวเองได้ว่า ต้นทุนของเรามีสักขนาดไหน ตัวที่ง่ายที่สุดเลย เราทำผิดศีลได้หน้าตาเฉยไหม ถ้าตัวนี้วัดแล้วยังไม่ดี ก็ตั้งใจรักษาศีลให้ดี ลำบากก็ต้องอดทนเอา ถือศีลทีแรก ถือไม่เป็น โอ๊ย เหนื่อย ลำบาก ศีลที่ผิดบ่อยที่สุดคือวาจา สังเกตไหมในองค์มรรค สัมมาวาจานี่เรื่องของศีลมาก่อน ข้อแรกเลยเรื่องสัมมาวาจา ถัดจากนั้นถึงจะสัมมากัมมันตะ ศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 สัมมากัมมันตะนั้น มีความเมตตากรุณา ไม่เบียดเบียนทำร้ายคนอื่นสัตว์อื่น ไม่ลัก ไม่ขโมย ไม่ฉ้อโกง ไม่ประพฤติผิดในกาม ตามหลังสัมมาวาจามาอีกที

ฉะนั้นในองค์มรรคท่านมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก สัมมาสังกัปปะ มีความคิดถูก คิดไปด้วยกำลังของกุศล ไม่ใช่คิดด้วยกำลังของโลภ โกรธ หลง แล้วก็มาสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เพราะฉะนั้นตัวศีลที่บกพร่องง่ายที่สุดเลยคือสัมมาวาจา เรื่องพูดไม่ดีเป็นมิจฉาวาจา ฉะนั้นถ้าเรายังโกหกหน้าตาเฉย แสดงว่าอินทรีย์เรายังอ่อน ค่อยๆ สังเกตเอา หรือชอบทำร้ายคนอื่น ชอบทำร้ายสัตว์อื่น อันนี้เห็นได้ตั้งแต่เด็กเล็กๆ เลย เด็กบางคนเห็นหมา เห็นแมว เห็นอะไร รู้สึกเมตตาสงสาร ไม่ทำร้าย อีกคนหนึ่งเจอหมาก็ตีหมา เจอแมวก็เตะแมว พื้นจิตมันไม่ค่อยจะดีเท่าไร กุศลให้ผลมาเป็นมนุษย์ แต่ความไม่ดีที่สะสมมามันยังมีเยอะ โอกาสที่จะทำผิดมันก็เยอะอีก นี่คือคำตอบ

คำตอบส่วนหนึ่งว่า ทำไมบางคนเขาภาวนาได้ผลเร็ว บางคนได้ผลช้า ต้นทุนเขาดี เขาก็มีโอกาสได้ผลเร็ว หลวงพ่อใช้คำว่ามีโอกาส เพราะไม่ใช่ต้นทุนดีอย่างเดียว แล้วจะต้องดีเสมอไป ต้นทุนทำมาดี กรรมเก่าทำมาดี ตัวชี้ขาดจริงๆ คือกรรมใหม่ กรรมเก่าทำมาดี อย่างทำบุญมาดี รักษาศีลมาดี เกิดมามีรูปงาม แล้วทำกรรมใหม่ไม่ดี ไปเป็นชู้กับเขา เอารูปร่างของตัวเองไปยั่วกิเลสคนอื่นเขา ทำกิเลสคนอื่นที่ยังไม่เกิดให้เกิด นี่ทำกรรมใหม่ที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไรแล้ว หรือร่ำรวย เป็นคนรวย ให้กู้ดอกเบี้ยแพงๆ โหด ยึดที่ ยึดบ้านชาวบ้านเขาหน้าตาเฉย เอารัดเอาเปรียบ ต้นทุนเก่าดี แต่กรรมใหม่ไม่ดี

ตัวชี้ขาดของเราที่ต้องพัฒนาให้ดีเลยคือกรรมใหม่ กรรมเก่ามันแก้อะไรไม่ได้แล้ว มันทำไปแล้ว จบไปแล้ว ถ้ามีกรรมเก่าที่ดีก็รับผลดีไป กรรมเก่าไม่ดีก็รับผลไม่ดีไป ถึงเราได้รับผลที่ไม่ดี เช่น เกิดมาชาตินี้หน้าตาก็ไม่สวย ฐานะก็ไม่ดี ความรู้ก็ไม่ดี ทำกรรมใหม่ที่ดี ตั้งใจรักษาศีล ไม่สวยไม่เป็นไร แต่มีศีลมีธรรม ตั้งใจภาวนา ข้างในมันสวย แต่รูปร่างข้างนอก ผลของกรรมเก่า ไม่สวย แต่ข้างใน จิตใจภายในมันงดงาม ผ่องใส สว่างไสว อย่างนี้ก็มี คือกรรมใหม่เขาดี ฉะนั้นบางคนรูปร่างดูไม่ได้เลย แต่ทำไมคนรักใคร่ คนชอบที่จะอยู่ใกล้ๆ ครูบาอาจารย์บางองค์รูปร่างท่านไม่งาม กิริยาท่าทางก็ไม่งาม แต่ทำไมคนอยากอยู่ใกล้ๆ เทวดาก็อยากอยู่ใกล้ๆ เพราะจิตใจท่านงาม ที่จิตใจท่านงามได้ เพราะกรรมใหม่ท่านดี ตั้งอกตั้งใจทำทาน รักษาศีล ภาวนา ทำทุกวันๆ

เพราะฉะนั้นระหว่างกรรมใหม่กับกรรมเก่า กรรมใหม่สำคัญที่สุด มันอยู่ในปัจจุบัน กรรมเก่าทำไปแล้ว มันแก้ไม่ได้ แก้ไม่ได้ก็ปล่อยมันไป เพียงแต่ว่าเราอย่าไปทำกรรมชั่ว ซ้ำขึ้นในปัจจุบันนี้เท่านั้นล่ะ แล้วพยายามรักษาศีลของเราไว้ให้ดี เจริญสมาธิ ฝึกของเราทุกวัน บางคนไม่เคยฝึกมาก่อน สงบยาก สงบยากก็ช่างมัน ก็ฝึกทุกวัน จะทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่าง หายใจเข้าพุทออกโธ อะไรก็ได้ที่ถนัด ทำไป หรือชอบสวดมนต์ ก็สวดไปเรื่อยๆ วันหนึ่งสวดหลายๆ รอบ พวกเรารู้ไหม วันหนึ่งหลวงพ่อสวดมนต์ 5 รอบ สวดย่อยๆ นับไม่ถูก อยู่เฉยๆ ใจมันก็พุทโธๆ หายใจไปพุทโธไป มันทำ มันเคยชิน ถึงเวลาไหว้พระสวดมนต์ สวดวันหนึ่ง 5 ครั้ง 6 ครั้ง มีเวลายาวๆ ก็สวดมนต์ ก็เป็นการสะสมแต้มของเรา

 

กำลังสมาธิไม่พอ

หัดทีแรกบางคนก็ฝึกยาก หลวงพ่อฝึกง่าย มันชอบภาวนาตั้งแต่เด็กๆ ไปเรียนจากทางวัดอโศการาม ท่านพ่อลี ท่านสอนหายใจเข้าพุทออกโธ ทำ ไม่นานก็สงบแล้ว นี้ดูบางคน โอ้ ทำไมทำสมาธิไม่สงบเสียที จิตมันไม่เคยฝึก ต้นทุนเก่าไม่ดี ต้นทุนเก่าไม่ดีทำอย่างไร ก็สร้างของใหม่ให้ดี ทำกรรมใหม่ให้ดี ทุกวันต้องไหว้พระสวดมนต์ ทุกวันต้องทำในรูปแบบ นั่งสมาธิ เดินจงกรมอะไรต้องทำ ถ้าอยากพ้นทุกข์จริงๆ ต้องทำ จะมาอ้างว่าจะเจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างเดียว ไม่ได้กินหรอก พูดเต็มปากเลยว่าไม่ได้กินหรอก เพราะหลวงพ่อทำสมาธิอยู่ตั้งแต่เด็ก 22 ปี เรื่องสมาธิก็คล่องแคล่วอยู่

พอมาเจริญปัญญา แล้วก็ดูถูกการทำสมาธิ ทอดทิ้งการทำสมาธิ กำลังของสมาธิที่สะสมอยู่ 22 ปี เอามาใช้เจริญปัญญาได้ 2 ปี พอผ่าน 2 ปีไปแล้ว ภาวนา นั่งดูมันไหวขึ้นมา เห็นกิเลสมันผุดขึ้นมา ก็ดูที่ตัวกิเลส กิเลสมันเคลื่อนออกไปข้างนอก โทสะมันเคลื่อนออกไปข้างนอก สติก็จ่อตามโทสะไป จิตก็เคลื่อนตามโทสะไป ออกข้างนอกไป โทสะดับปั๊บลงไป จิตก็สว่างว่างโล่งอยู่ สบาย ไม่มีกิเลส มีแต่ความสุขความสงบอยู่อย่างนั้น ผ่านไปเป็นปีเลย แล้วเฉลียวใจ พระพุทธเจ้าสอนว่าจิตไม่เที่ยง ทำไมจิตเราเที่ยง พระพุทธเจ้าสอนว่าจิตเป็นทุกข์ ทำไมจิตเรามีแต่ความสุข พระพุทธเจ้าสอนว่าจิตเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ทำไมเราบังคับได้ สงบอยู่อย่างไร มีความสุขอย่างไร นานอย่างไรก็อยู่ได้ มันต้องมีอะไรผิดแล้ว ดูอย่างไรก็ดูไม่ออกว่ามันผิดตรงไหน

จนวันหนึ่งมีโอกาสพบหลวงตามหาบัว สมัยนั้นคนยังไม่ยุ่งกับท่านมาก คือพระที่ผู้ใหญ่กว่าท่านยังมีอยู่หลายองค์ หลวงตาก็ยังคนไม่ยุ่งเท่าไร มีโอกาสเข้าถึงตัวท่าน เข้าไปถึงก็ถามท่าน “ขอโอกาสครับ” ท่านพยักหน้า “พ่อแม่ครูอาจารย์ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิตอยู่ แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่พัฒนาเลย มันอยู่อย่างนี้” ท่านบอกว่า “ที่ว่าดูจิต ดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรานะ ตรงนี้สำคัญ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” ท่านตอบอย่างนี้ เพราะท่านถนัดบริกรรมพุทโธๆ ท่านบอกไม่มีอะไรสู้บริกรรมพุทโธหรอก ต้องเชื่อท่าน ท่านผ่านมาด้วยตัวเอง ไม่ได้พูดตามตำรา แต่พูดมาจากประสบการณ์จริง

หลวงพ่อก็มา ถอยออกมาจากท่าน ห่างท่านสัก 3 เมตร 4 เมตร ไม่เกิน 3 เมตรกว่าๆ นั่ง ท่านให้บริกรรม ก็เลยบริกรรมพุทโธๆๆๆ จิตไม่ชอบ จิตไม่ชอบบริกรรมพุทโธ เมื่อพิจารณาที่ท่านให้พุทโธ แสดงว่าสมาธิเราไม่พอแล้ว ก็เลยให้พุทโธให้จิตรวมมีสมาธิขึ้นมา หลวงพ่อก็เลย อยู่ใกล้ๆ ท่าน อยู่เยื้องๆ หลังท่านหน่อย หายใจเข้าพุทออกโธเลย ไม่กลัวท่านว่าหรอก เพราะเราเข้าใจแล้วว่าที่ท่านสอน เพราะว่าเราขาดสมาธิ พอหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจไม่กี่ทีจิตก็รวม แทบเขกกระโหลกตัวเองเลย โอ๊ย มันโง่จริงๆ ทอดทิ้งการทำสมาธิ เจริญปัญญารวดไปเลย กำลังสมาธิไม่พอ มันจะเกิดวิปัสสนูปกิเลสตัวหนึ่ง

พวกดูจิตๆ นั่นล่ะ จะเกิดวิปัสสนูปกิเลสชนิดที่เรียกว่าโอภาส จิตมันว่าง สว่าง สบาย สว่างไสว ดูไม่มีกิเลส ดูไม่ทุกข์เลย ที่แท้จิตมันไม่ถึงฐาน จิตมันไปสว่างอยู่ข้างนอก พอเราทำสมาธิ จิตรวมเข้ามา กลับเข้ามา เฮ้ย ตั้งปีหนึ่งนี้ จิตอยู่ข้างนอก ใช้ไม่ได้ ก็เข้าใจ ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ ก็เลยสังเกตตัวเองเอา เราเข้าใจว่าเราขาดสมาธิ เราก็ทำสมาธิ

ถ้าถามหลวงพ่อว่ากรรมฐานอะไรดี หลวงพ่อบอกหายใจเข้าพุทออกโธดี เพราะว่าเราทำอย่างนี้ แต่พอเห็นความหลากหลายของผู้ปฏิบัติ หลวงพ่อก็จะบอกว่า ไม่มีกรรมฐานอะไรดีกว่ากรรมฐานอะไรหรอก กรรมฐานอะไรที่เราทำแล้วมีสติ รู้เนื้อรู้ตัวได้ อันนั้นล่ะดี ดีสำหรับเรา ฉะนั้นกรรมฐานที่ดีสำหรับเรา กับดีสำหรับคนอื่น ไม่เหมือนกัน ไปดูเอาตัวเอง อันไหนเหมาะกับเรากรรมฐานทั้งหลายล้วนแต่มีประโยชน์ มีสาระ แต่อันไหนเหมาะกับเรา อันนี้ต้องสังเกตเอาเอง

ถ้าจะทำสมาธิ กรรมฐานอะไรที่เราทำแล้วมีความสุข เป็นอารมณ์ที่มีความสุข เราน้อมจิตไปอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอันนั้นเลย อยู่ไปสบายๆ จิตก็มีความสุข จิตมีความสุข จิตก็สงบ ทำไมต้องมีความสุขแล้วถึงจะสงบ จิตที่ไม่สงบเพราะมันไม่มีความสุข มันวิ่งพล่านหาความสุข วิ่งไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยากได้ความสุขแต่ว่าไม่เจอ ถ้าเราฉลาด เราก็เอากรรมฐานที่จิตอยู่ด้วยแล้วมีความสุขมาล่อมัน จิตก็ไม่วิ่งพล่านไปที่อื่น มันก็สงบ

พอทำสมาธินาน หลวงพ่อจับเคล็ด เคล็ดลับของการทำสมาธิให้จิตสงบได้ มีเคล็ดลับอยู่ 2 – 3 ข้อ จำเอาไว้ แล้วปัญหาที่ว่าทำอย่างไรก็ไม่สงบสักที มันจะได้หมดไป อันแรกรู้จักเลือกอารมณ์กรรมฐานที่เหมาะกับตัวเราเอง อยู่กับกรรมฐานอะไรแล้วสบายใจ เอาอันนั้นล่ะ แต่กรรมฐานอันนั้นต้องไม่ยั่วให้เกิดกิเลส ถ้าเตะหมา เตะแมว แล้วสบายใจอะไรอย่างนี้ อันนั้นกิเลส ไม่เอา เอากรรมฐานที่มันไม่กระตุ้นกิเลส แล้วพอเรารู้จักอารมณ์กรรมฐานที่เหมาะกับตัวเราเอง อันนี้เหมาะ อย่างหลวงพ่อรู้แล้ว หลวงพ่อหายใจเข้าพุทเหมาะกับตัวเอง พุทโธเฉยๆ ไม่เหมาะ ไม่ชอบ สมัยโน้น สมัยนี้กรรมฐานอะไรก็ได้เหมือนกัน อยู่ที่จิต ถ้ารู้จักวางจิตให้ถูก กรรมฐานอะไรก็เหมือนกัน

เราเลือกอารมณ์กรรมฐานที่เหมาะกับตัวเราเองในข้อที่หนึ่ง ข้อที่สอง กรรมฐานนั้นต้องไม่ส่งเสริมกิเลส ข้อที่สาม ให้เรารู้อารมณ์กรรมฐานนั้นด้วยจิตใจที่ธรรมดาๆ เกือบร้อยละร้อยของคนนั่งสมาธิ ที่มันไม่ยอมสงบ เพราะพอเริ่มนั่งสมาธิก็เริ่มบังคับตัวเองเลย ทำแบบ Over action เราจะได้ดูเป็น จะไปบังคับตัวเองให้สงบ จิตถ้าถูกบังคับ จิตก็ไม่มีความสุข ถ้าจิตไม่มีความสุข จิตก็ไม่มีความสงบ เพราะฉะนั้นให้เราใช้จิตใจธรรมดา จิตใจธรรมดาคือจิตใจตอนนี้ล่ะ พวกเราลองทดลอง ใช้จิตใจอย่างขณะนี้ อย่าไปดัดแปลงมัน แล้วก็ลองทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ลองดู ใช้จิตปกติเลย

หลายคนจิตรวมเข้ามาแล้ว เอ้า ถอยขึ้นมา เอาไปหัดเอาเองที่บ้าน เวลาขับรถอย่าไปหัด เวลาขับรถอย่าไปนั่งทำสมาธิอย่างนี้ จิตรวมลงไป ถอนออกมาอีกที ไปอยู่บนสวรรค์เรียบร้อยแล้ว รถชน รู้จักกาลเทศะ ตอนนี้อยู่ในที่ที่ไม่ปลอดภัย อย่าไปทำสมาธิชนิดสงบ เดี๋ยวจิตรวมลงไป ไม่รู้เรื่องอะไร ลำบาก

ถ้าเราใช้จิตใจธรรมดา จิตใจธรรมดาคือจิตใจขณะนี้ จิตใจที่ยังไม่ได้คิดถึงการปฏิบัติ ใช้จิตใจธรรมดา อย่าไปดัดแปลงมัน แล้วก็รู้อารมณ์กรรมฐาน ที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจไป แป๊บเดียวก็สงบแล้ว บางคนหายใจ หายใจแล้วจิตหงุดหงิดตัวเองแล้ว ไม่สงบเสียที หงุดหงิดๆ เมื่อไรจะสงบ เมื่อไรจะสงบ ไม่มีวันสงบหรอก เพราะจิตถูกบังคับ จิตถูกบีบคั้น จิตไม่มีความสุข จิตก็ไม่สงบ จิตเหมือนเด็ก ถ้าเราอยากให้เด็กไม่ซน ไม่ใช่เอาไม้ไล่ตีมัน ห้ามไปเที่ยว ห้ามออกนอกบ้านไปเที่ยว

แต่เด็กยุคนี้มันไม่ออกนอกบ้าน น่าเป็นห่วง ถ้าเด็กสมัยหลวงพ่อ ผู้ใหญ่เผลอเราก็ออกนอกบ้าน ไปปีนต้นไม้ ไปว่ายน้ำในคลองไปอะไร บ้านก็อยู่ริมคลอง มันออกไปหาความสุขสนุกสนานที่อื่น ถ้าผู้ใหญ่ฉลาด ไม่ใช่ไปห้าม ห้ามโน่นห้ามนี่ บังคับจนเด็กเครียด ก็ใช้วิธีหลอกล่อเด็ก หลอกล่อ เดี๋ยวทำขนมให้กิน มาดูการทำขนม ผู้ใหญ่เขาก็เริ่มทำขนม เราก็นั่งรอกันรอบเตา ไม่ไปซนที่อื่นแล้ว รอกินขนม เขาเอาของที่เราชอบมาล่อเรา เราก็เลยไม่ไปซนที่อื่น กรรมฐานเหมือนกัน เอาอารมณ์ที่จิตมันชอบมาล่อ จิตมันจะได้ไม่ไปซนที่อื่น จิตมันเหมือนเด็ก ถ้ามันไม่มีอารมณ์ที่สบายๆ ที่มีความสุข ที่สนุกสนานอยู่ในบ้าน มันก็วิ่งไปหาความสนุกสนานที่อื่น

 

อุปสรรคของการปฏิบัติสำหรับยุคนี้

ส่วนเด็กเดี๋ยวนี้ ไม่ได้อยู่ในโลกของความเป็นจริงแล้ว อยู่ในโลกของโซเชียล โลกเสมือน ไม่ใช่โลกจริงแล้ว เด็กยุคหลวงพ่ออยู่ในโลกของความจริง เวลาจะเล่นก็ออกไปเล่นกับเพื่อน ไปวิ่งก็ไปวิ่ง ไปว่ายน้ำ ไปขึ้นต้นไม้ ไปจับจิ้งหรีด เมื่อก่อนจับจิ้งหรีดเหมือนกัน ไปอยู่ในโลกที่มันเป็นโลกจริงๆ เด็กเดี๋ยวนี้อยู่ในโลกเสมือน โลกไซเบอร์ มันน่ากลัว มันไปอยู่ในโลกเสมือน แล้วมันอยู่ในโลกของความจริงไม่เป็น คบกับมนุษย์ไม่เป็น คบแต่มนุษย์หลอกๆ ตัวจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ตัวที่เราคุยด้วย หน้าตามันก็สวย รูปที่มันให้ดู ตัวจริงมันอาจจะหน้าตาเหมือนวัวผสมควายก็ได้ มันไม่ได้อยู่ในโลกของความจริง ยิ่งลำบากหนักเข้าไปอีก

พอไปอยู่ในโลกเสมือน สามารถรู้กายรู้ใจได้ไหม ไม่ได้แล้ว เพราะโลกเสมือนเป็นโลกของความคิดทั้งนั้นเลย ไม่ใช่โลกของความจริง โอกาสที่จะหลุดออกจากโลกเสมือน มาอยู่ในโลกของความจริง ยาก เด็กแต่ก่อนอยู่ในโลกของความจริง ไปวิ่งเล่นหกล้มหัวเข่าแตก เลือดไหล เจ็บ ร้องไห้ แล้วมันจะฝึกกรรมฐานก็ไม่ยาก เจ็บมันรู้ว่าเจ็บ ถ้าเคยฝึก หรือตกใจมันรู้ว่าตกใจอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นยิ่งนานวันโอกาสจะศึกษาธรรมะ ยิ่งยากลงเรื่อยๆ เพราะมันไม่ได้อยู่ในโลกของความเป็นจริง เพราะฉะนั้นมีลูกมีหลาน พยายามดึงมันออกมา อยู่กับโลกของความเป็นจริงบ้าง อย่าปล่อยมันอยู่ในโลกของความฝันอย่างนั้นตลอดเวลา แล้วมันจะเข้ากับมนุษย์ไม่เป็น

คนรุ่นนี้เข้ากับสังคมไม่เป็น เข้ามาแล้วก็หยาบคาย บางทีรุนแรง เพราะอยู่ในโลกเสมือน หยาบคายอย่างไรก็ได้ รุนแรงอย่างไรก็ได้ เวลาเขียนข้อความตอบโต้กัน ก็เขียนหยาบๆ ไม่เป็นไร เพราะมันหยาบด้วยกัน พออยู่ในโลกของความเป็นจริง ไม่ได้ ทำอย่างไรล่ะคราวนี้ พอจำเป็นจะต้องมาอยู่ในโลกของความเป็นจริง อยู่ไม่ได้ สุดท้ายก็เป็นโรคทางจิตใจ ทุกวันนี้คนเป็นโรคทางจิตใจมากมายมหาศาล

เมื่อก่อนคนแก่ๆ เหงาๆ จิตใจเศร้าหมอง เป็นโรคซึมเศร้า ต่อมาต้องแย่งกันทำมาหากิน คนในวัยทำงานก็เป็นโรคเครียด โรคซึมเศร้า โรคจิต โรคประสาท เดี๋ยวนี้เด็กๆ เด็กเป็นเยอะ ไปดูลูกดูหลานไว้ให้ดี เด็กเป็นโรคทางจิตใจเยอะมาก ทุกวันนี้ เพราะว่ามันไม่ได้อยู่ในโลกของมนุษย์ ไปอยู่ในโลกของอมนุษย์ โลกอมนุษย์คือโลกที่ไม่ใช่ของมนุษย์ มันไปอยู่ในโลกเสมือนหมดแล้ว ของอมนุษย์ ฉะนั้นพยายาม พวกเราพยายามอยู่ในโลกของความเป็นจริง อย่าหลงไปอยู่ในโลกของความคิดฝัน มีร่างกายรู้สึกมัน มีจิตใจก็รู้สึกมัน

สิ่งแวดล้อมในยุคนี้ มันค่อนข้างเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติมากๆ เลย ฉะนั้นมันจะไม่แปลก ถ้าคนจะบรรลุมรรคผลนิพพานยากขึ้น สมัยครูบาอาจารย์ท่านอยู่ในโลกของความเป็นจริง ฝนตก น้ำท่วม ฝนแล้ง อดน้ำ เรื่องของจริงๆ ไม่ใช่เรื่องฝันเอา ปลูกข้าวทำนาปีนี้ได้ข้าวก็ดีใจ ปีนี้ไม่ได้ข้าวเสียใจ เรื่องของจริงๆ ทั้งนั้น คนยุคนี้ไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน ฝันอย่างไรก็ได้ แต่มันไม่ใช่ความจริง เพราะฉะนั้นเราพยายามปลุกตัวเอง ออกมาจากโลกของความคิดความฝัน มาอยู่ในโลกของความเป็นจริงนี้ให้ได้

มีกายรู้สึกกาย มีจิตใจรู้สึกจิตใจไว้ มีตาเห็นรูป มีหูได้ยินเสียง มีจมูกกระทบกลิ่น มีลิ้นกระทบรส มีกายกระทบสัมผัสทางกาย มีจิตใจก็กระทบอารมณ์ทางใจ พอมันกระทบแล้ว เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ เช่นเราได้ยินคนเขาด่า จิตใจเราโกรธขึ้นมา เราก็รู้ทันว่าใจเราโกรธ นี่ของจริงของเรา บางคนดูจิตใจไม่เป็น โกรธขึ้นมาไม่รู้ว่าโกรธ ยกมือจะชกหน้าเขาแล้ว มือเคลื่อนไหว รู้สึกร่างกายเคลื่อนไหว สติเกิดแล้วอย่างนี้ รู้สึกกายรู้สึกใจไว้ รู้สึกจิตใจได้ รู้สึกไปเลย ถ้ารู้สึกจิตใจไม่ได้ รู้สึกกายไว้

อย่างเวลาเราอารมณ์ดี ใครเขาเล่าเรื่องตลกให้เราฟังแล้วเราขำ ถ้าจิตใจเรามีสติเร็ว เราจะเห็นจิตมันขำ ถ้ามันช้า มันจะเห็นร่างกายมันหัวเราะไปแล้ว หรือเจออารมณ์ที่ชอบใจ ร่างกายมันก็ยิ้มไปแล้ว ก็เห็นร่างกายมันหัวเราะ เห็นร่างกายมันยิ้ม อย่างนี้ก็ยังดี ถ้าไม่รู้เลย ร่างกายหัวเราะเอิ๊กอ๊ากๆ ก็ไม่รู้ อันนั้นน่าสมเพชแล้ว น่าสงสาร โดยเฉพาะถ้าเป็นพระ เป็นพระแล้วเอิ๊กๆ อ๊ากๆ น่าสังเวช นั่นไปอีกระดับหนึ่ง น่าสังเวช เพราะว่าควรจะมีสติ ถ้าขาดสติเอิ๊กๆ อ๊ากๆ ไป เพลินๆ ไป อันนั้นน่าสลดสังเวช ถ้าเป็นฆราวาสหัวเราะเอิ๊กอ๊ากๆ ก็ดูธรรมดา แต่ถามว่าถ้าเป็นนักปฏิบัติ หัวเราะเอิ๊กอ๊ากแล้วไม่รู้ตัว นั่นคือคนหลง

ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติยังมีเรื่องขำๆ อย่างนี้ ใจเราขำขึ้นมา ไม่ต้องห้าม ไม่ใช่ขำหนอๆ ให้หายไป ไม่ใช่ ขำรู้ว่าขำ ถ้าขำแรงๆ หน้ามันยิ้มขึ้นมา ก็รู้ว่าหน้ามันยิ้ม หรือมันจะหัวเราะ จิตมันขำ เราไม่เห็นตอนที่มันขำ หน้า ร่างกายมันหัวเราะ รู้ว่าร่างกายหัวเราะ ได้อย่างนี้ก็ยังดี ถือว่ายังใช้ได้ ยังรู้สึกกาย รู้สึกกาย อย่างขั้นต่ำเรารู้สึกกายไว้ ถ้าประณีตขึ้นมา มันก็รู้สึกได้ถึงจิตใจตัวเองได้

 

ถ้าไม่มีจิตที่ตั้งมั่น การเจริญวิปัสสนาปัญญาเป็นไปไม่ได้

ต้องฝึก ทีแรกจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเลย ก็หัดทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง กรรมฐานอะไรก็ได้ที่ทำแล้วมีความสุข แล้วก็ใช้จิตใจธรรมดาไปอยู่กับกรรมฐานอันนั้น แล้วถ้ามันเกิดความไม่ธรรมดาขึ้นมา ให้รู้ทัน อย่างเราหายใจ สมมติเราหายใจอยู่ที่จมูก จิตมันเกิดไม่ธรรมดา มันหลงไปที่อื่น รู้ทัน จิตมันถลำลงไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน นี่ไม่ธรรมดาแล้ว จิตไหลเข้าไปอยู่ที่ลมก็ไม่ธรรมดาแล้ว ดูท้องพองยุบจิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตถลำลงไปที่ท้อง รู้ทัน ก็ใช้ได้ กรรมฐานอะไรก็ได้ ที่มันเกี่ยวกับกายกับใจของเรานี้ฝึกไว้ แล้วก็คอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ ถ้าเรารู้ทันจิต สมาธิจะเกิดอย่างรวดเร็วเลย เพราะบทเรียนที่ทำให้เกิดสมาธิชื่อว่าอธิจิตตสิกขา มีสีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา เห็นไหมไม่มีคำว่าสมาธิสิกขา แต่มีคำว่าจิตตสิกขา

สีลสิกขา เรียนวิธีทำให้เกิดศีล เบื้องต้นตั้งใจรักษาศีลไว้ก่อน มีกี่ข้อก็ตั้งใจรักษาไว้ ต่อไปก็พัฒนาการรักษาศีลให้สูงขึ้น มีสติคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองไว้ กิเลสอะไรเกิดแล้วรู้ทันไว้ เราจะมีศีลอัตโนมัติขึ้นมา เป็นศีลที่ฝึกจากการที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ แล้วเรามีสติรู้ทัน มันจะเป็นศีลที่เรียกว่าอินทรียสังวรศีล เป็นศีลที่ละเอียดประณีตกว่า แล้วในขั้นที่จะทำกรรมฐานจริงๆ ต้องใช้ศีลตัวนี้ ถ้าจะทำวิปัสสนาแล้ว ต้องมานั่งนับศีลทีละข้อ ไม่ได้กินหรอก จิตกับศีลต้องรวมกันได้เลยอัตโนมัติ ก็ต้องฝึก ฝึกให้มีศีล แล้วมีสติรักษาจิตไป กิเลสมารู้ทันแล้วศีลมันจะเกิด

ถ้าต้องการทำสมาธิ เขาเรียกอธิจิตตสิกขา เรียนเรื่องจิต ตอนที่หลวงพ่อสอนใหม่ๆ บางคนต่อต้านบอก เฮ้ย ต้องหายใจเข้าพุทออกโธก่อน จะมาพูดเรื่องจิตก่อนได้อย่างไร หายใจเข้าพุท ออกโธแทบร้อยละร้อย ไม่ได้เกิดสมาธิที่ดีหรอก มันเกิดมิจฉาสมาธิ เพราะอะไร เพราะจิตมันไม่ได้ตั้งมั่น สมาธิจริงๆ ไม่ได้แปลว่าจิตสงบ สมาธิแปลว่าความตั้งมั่น ไม่ใช่ความสงบ คนละเรื่องกัน พอมั่วๆ คิดว่าทำจิตสงบคือสมาธิ นั่นมิจฉาสมาธิ จิตสงบโง่ๆ ไปอย่างนั้น หรือออกรู้ออกเห็นอะไรต่ออะไร

ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ มีสติกำกับอยู่ที่จิตอีกล่ะ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตถลำไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน รู้ทันจิตไว้ แล้วสมาธิที่ดีมันจะเกิดขึ้น จิตมันจะรวมลงไป มันตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวเด่นดวงอยู่ ไม่ได้เคลิบเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัวหรอก สงบ บางครั้งสงบถึงขนาดร่างกายหายไป โลกธาตุทั้งโลกหายไป ฟ้ากำลังผ่าเปรี้ยงๆ อะไร ไม่มีเหลือเลย ข้างนอกมันก็ผ่า แต่จิตมันตัดการรับรู้ เหลือที่จิตดวงเดียว มีสติกำกับอยู่ที่จิต กำกับอยู่โดยที่เราไม่ได้เจตนาเลย

ฉะนั้นเราต้องฝึก อยากได้สมาธิก็ทำกรรมฐานอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเองไป แล้วจิตมันหนีไปจากอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน จิตมันไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน แล้วจิตมันจะสงบ ถ้าอยากได้ปัญญา เขาเรียกอธิปัญญาสิกขา ใช้จิตที่สงบแล้ว จิตที่ตั้งมั่นแล้ว สงบไม่พอต้องตั้งมั่น จิตที่สงบอาจจะไม่ตั้งมั่น เช่น เราดูท้องพองยุบ จิตสงบอยู่ที่ท้อง อันนี้สงบเฉยๆ ไม่ได้ตั้งมั่น ถ้าตั้งมั่น จิตจะถอนตัวออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดู

เพราะฉะนั้นจิตที่สงบอาจจะไม่ตั้งมั่น แต่จิตที่ตั้งมั่นสงบอัตโนมัติอยู่ในตัวเอง เพราะฉะนั้นจิตที่ตั้งมั่น ทั้งสงบ ทั้งตั้งมั่น แต่จิตที่สงบอาจจะไม่ตั้งมั่นก็ได้ ลงไปตั้งแช่ ไปตั้งแช่อยู่กับอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ออกไปข้างนอก ไปแช่ๆ ไว้ หรือเพ่งเข้ามาข้างใน แล้วไปแช่อยู่ข้างใน ไหลออกไปแช่ข้างนอกก็ผิด ไหลเข้ามาแช่อยู่ข้างในก็ผิด แต่ถ้าตั้งมั่น จิตมันจะถอนตัวขึ้นมาจากปรากฏการณ์ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายเป็นแค่ปรากฏการณ์ จิตเป็นแค่คนเห็นปรากฏการณ์ของรูปธรรม รูปมันเคลื่อนไหว จิตมันเป็นแค่คนรู้คนดู มันเห็นว่ารูปนี้เคลื่อนไหวอยู่ ความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในกาย จิตเป็นคนรู้ ก็แค่ความสุขความทุกข์เป็นของแปลกปลอมเข้ามา เกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น ร่างกายเคลื่อนไหวอยู่นี้ไม่ใช่เรา เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ

นี่จิตมันตั้งมั่น ปัญญามันถึงจะเกิด ถ้าไม่มีจิตที่ตั้งมั่น ปัญญาจะไม่เกิดแน่นอน จำหลักนี้เลย ถ้าไม่มีจิตที่ตั้งมั่น ก็คือถ้าไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง ไม่มีสัมมาสมาธิ การเจริญวิปัสสนาปัญญาเป็นไปไม่ได้ จิตจะต้องตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นแล้วขันธ์จะแตกตัวออก การที่ขันธ์มันแยกตัวออกนั่นล่ะ คือการเจริญปัญญาขั้นที่หนึ่ง แยกขันธ์ออกมาได้ อย่างขณะนี้เราฟังธรรมะของหลวงพ่อ จิตมันจะมีแรง เราเห็นไหมร่างกายที่นั่งอยู่นี่ มันเป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายเป็นของถูกรู้เท่านั้น มันไม่ใช่จิต จิตเป็นคนรู้คนดู

เราสามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้ นี่เป็นปัญญาขั้นต้น ปัญญาขั้นต้นจะแยกรูปนามได้ แล้วก็เห็นรูปนามมันเปลี่ยนแปลงไป แต่มันยังเจือการคิดอยู่ ถ้าจิตเราตั้งมั่นจริงๆ จิตจะทำตัวเป็นแค่ผู้เห็น ไม่ใช่ผู้คิด ถ้าจิตเป็นผู้เห็นแล้วก็ รูปธรรมใดปรากฏ นามธรรมใดปรากฏ มันก็แค่ปรากฏการณ์ที่ผ่านมาให้จิตรู้ชั่วคราว ผ่านมาแล้วผ่านไปทั้งสิ้นนั่น เรียกอนิจจัง ปรากฏการณ์ทั้งหลายที่กำลังมีอยู่ กำลังถูกผลักดันให้แตกสลายไป เรียกว่าทุกขัง ปรากฏการณ์ทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เรียกว่าอนัตตา อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าขึ้นวิปัสสนา ไม่ใช่คิด อย่างขณะที่หลวงพ่อพาพวกเราดู บอกเราจิตเราตั้งมั่นแล้ว เห็นไหมร่างกายยังนั่งอยู่ นี่เจือการคิดอยู่ มันเป็นปัญญาขั้นต้น ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา แยกรูปแยกนามยังไม่ขึ้นวิปัสสนา

ต่อเมื่อเห็นรูปธรรมนามธรรมเป็นแค่ปรากฏการณ์ ไหลผ่านไป จิตเป็นคนรู้คนดู เวลามันไหลผ่านไป เหมือนเราอยู่อย่างนี้ ปรากฏการณ์มันไหลผ่าน หรือเหมือนเราอยู่บนตึกริมถนน เห็นรถมันวิ่งไปวิ่งมา เราไม่โดดลงไปที่ถนน เหมือนเราอยู่ริมแม่น้ำ เห็นเรือวิ่งไปวิ่งมา เราไม่ตกลงไปในน้ำ เราไม่ได้ไปนั่งอยู่ในเรือ เราอยู่บนบก เห็นปรากฏการณ์มันเคลื่อนไหว อย่างนี้มันถึงจะเจริญปัญญาได้ ถ้าเราตกลงไปอยู่ในน้ำ แล้วก็เห็นไม้ท่อนหนึ่งลอยอยู่ข้างๆ กัน เราก็ลอยตามน้ำไปด้วยกับไม้ เราจะเห็นไม้นี้เที่ยง ไม้นี้เที่ยง ไม่เคยไปไหนเลย ก็อยู่ด้วยกันตลอดจนถึงทะเล แล้วจมลงไปตายด้วยกัน ฉะนั้นจิตต้องถอนตัวออกมาเป็นผู้รู้ผู้เห็น ไม่เข้าไปคลุกวงใน ถึงจะเจริญปัญญาได้ ถึงจะเห็นไตรลักษณ์

อย่างเราอยู่บนบก เห็นไม้ลอยมา เราอยู่บนบก ไม้ลอยมาแล้วไม้ก็ลอยไป ไม่เที่ยง ไม้ลอยมาแล้วไม้จะไป เราสั่งไม่ได้ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน คือน้ำมันพาไป หรือลมพาไป ไม่ใช่เราสั่ง เราเป็นแค่คนเห็น เวลาเราทำวิปัสสนา เราทำตัวอย่างนี้ เราต้องฝึกจนจิตเราถอนตัวออกมาเป็นผู้รู้ ผู้ดู ผู้เห็น แล้วก็เห็นปรากฏการณ์ของรูปธรรม ของนามธรรม เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นไตรลักษณ์ ถ้าอย่างนั้นเรียกว่าการเจริญวิปัสสนาจริงๆ แล้ว ก็จะเห็นรูปธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นามธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วพอจิตเราตั้งมั่น ถึงจุดหนึ่งมันจะย้อน มันเห็นรูปธรรมเกิดแล้วดับ นามธรรมเกิดแล้วดับ แล้วมันจะย้อนมาที่ตัวผู้รู้นี้ ตัวผู้รู้เองก็เกิดแล้วดับ ต้องให้มันย้อนเอง อย่าจงใจย้อน ถ้าจงใจย้อนจะกลายเป็นสมาธิชนิดที่เป็นอรูปฌานทันทีเลย คือถ้าจงใจไปจับเอาตัวผู้รู้มา มันเป็นวิญญานัญจายตนะ วิญญาณเป็นอนันต์ ไม่มีที่สิ้นสุดเลย ก็จะไปอยู่ที่ตัวจิต จะเห็นจิตเป็นตัวผู้รู้อยู่อย่างนั้น ดับลงไปแล้วผู้รู้อีกตัวหนึ่งก็เกิด แต่ถ้าเห็นผู้รู้เกิดดับเป็นวิปัสสนา แต่ส่วนใหญ่ที่เข้าไปจับเอาตัวผู้รู้ จะไม่เห็นเกิดดับของผู้รู้หรอก ตรงนี้เป็นการติดสมถะที่แก้ยากมาก แก้ยากมากๆ เลย เพราะฉะนั้นอย่าจงใจไปจ้องใส่ตัวรู้

มีจิตเป็นผู้รู้ผู้ดู แล้วก็เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตเป็นแค่คนเห็น ถ้าจิตถลำลงไปคลุกอยู่ในรูปธรรมนามธรรม ให้รู้ทัน ถ้าจิตหลงไปคิดเรื่องอื่น ลืมรูปธรรมนามธรรมที่กำลังปรากฏ ให้รู้ทัน แค่นี้ล่ะ แล้วพอจิตมันมีกำลัง มันเห็นรูปธรรมเกิดดับไปเรื่อยๆ ต่อไปมันทวน มันทวนเข้ามาที่ตัวผู้รู้ แล้วก็เห็นผู้รู้เกิดดับได้ นี้จิตจะทวนเข้าหาผู้รู้ได้ เราต้องทำในรูปแบบทุกวัน ให้จิตสงบ ให้จิตตั้งมั่น เลยต้องซ้อมไว้ ไม่อย่างนั้นมันจะออกไปทำผิด อย่างที่หลวงพ่อเคยเสียเวลาไปเป็นปี จิตไม่ตั้งมั่น จิตไปว่างอยู่ข้างนอก จิตไปอยู่ในช่องว่างก็เป็นอากาสานัญจายตนะ เป็นอรูปอย่างหนึ่ง ถ้าย้อนทวนเข้ามาดูที่ตัวจิตตรงๆ ก็จะเป็นวิญญานัญจายตนะ

ถ้าปล่อยทั้งอารมณ์คือความว่าง ปล่อยทั้งจิตไม่เอาอะไรสักอย่าง ไม่เอาจิต ไม่เอาอารมณ์ ก็จะเป็นอรูปชนิดที่ 3 ชื่ออากิญจัญญายตนะ เสร็จแล้วจิตมันจะเคลิ้มตัวลงไป เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะ อันนั้นไปทางอรูป ทางอรูปฌาน เดินปัญญายาก แต่จะเดินวิปัสสนาในอรูปฌานได้ สำหรับคนที่ชำนาญในอรูปฌาน และชำนาญในการดูจิต ถ้าชำนาญในการดูจิต ไปเจริญวิปัสสนาในอรูปฌานได้ ถ้าไม่ชำนาญก็เดินไม่ได้ ส่วนใหญ่เข้าไปถึงตรงนั้นมันละเอียด จนกระทั่งมันไม่ตั้งมั่นแล้ว ลืมเนื้อลืมตัว

 

 

เอ้า เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ไปพัฒนาตัวเองเอา ต้นทุนเก่าต่ำไม่เป็นไร ที่สำคัญคือต้นทุนใหม่ต้องทำ ถ้าต้นทุนเก่าน้อย มาเริ่มทำใหม่ก็ลำบากนิดหนึ่ง เหมือนคนเกิดมายากจนไม่มีต้นทุน ไม่มีการศึกษา ไม่มีเงิน กว่าจะตั้งตัวได้ ใช้เวลา แต่ตั้งตัวได้ไหม ได้ เมื่อก่อนคนจีนมาเมืองไทย เป็นยุคเขาเรียกเสื่อผืนหมอนใบ เขายังเป็นเจ้าสัวขึ้นมาได้ เพราะว่าเขาอดทน เขารู้จักทำมาหากิน รู้จักประมาณตัวเอง รู้จักคบคนที่ควรคบ ไม่หลงอบายมุข สุดท้ายเขาก็ตั้งตัวได้

กรรมฐานก็เหมือนกัน ยุคที่เรายังเป็นพวกเสื่อผืนหมอนใบ แล้วยังทำเหลวไหลอีก ตกเย็นกินเหล้า บางทีก็เฮฮาปาร์ตี้อะไรไปเรื่อยๆ มันก็จนตลอดชาตินั่นล่ะ คือไม่ได้กรรมฐาน ไม่ได้อะไรดีติดตัวไป มามืดแล้วก็ไปมืดอย่างเดิม ถ้ามามืด ต้นทุนเดิมไม่ดี มามืด ก็ทำทุนใหม่ให้ดี ก็ไปสว่างได้ ฉะนั้นสะสมเอา ช่วยตัวเอง ไม่มีใครช่วยได้หรอก

ช่วยตัวเองให้เยอะ หลวงพ่อแก่แล้ว ไม่มีแรงจะช่วยพวกเรามากมาย กรรมฐานต้องช่วยตัวเองให้ได้ หลวงพ่อบอกพวกคนจีนว่า ไปเมืองจีน ธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ธรรมะไม่ได้อยู่ที่วัด ธรรมะอยู่ที่ตัวเอง ช่วยตัวเองด้วยการรู้สึกตัว ดูกายทำงาน ดูใจมันทำงานไป ถึงเวลาไหว้พระสวดมนต์ ทำความสงบเข้ามาบ้าง ทำอย่างนี้ ศีลต้องรักษาเอาไว้ ทำได้อย่างนี้ก็เจริญ อยู่ตรงไหนก็เหมือนอยู่กับหลวงพ่อตลอด จะรู้สึกเหมือนหลวงพ่ออยู่ใกล้ๆ จะไม่รู้สึกว่าอยู่คนละประเทศหรอก

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
6 มกราคม 2567