มีสติอยู่กับปัจจุบัน

ปัญหาโควิดค่อยทุเลาหน่อย พอตั้งหลักกันได้รู้จักวิธีปฏิบัติตัวเอง เพราะวัคซีนก็ฉีดกันเยอะขึ้นแล้ว ปัญหาโควิดยังไม่ทันหมดดี ปัญหาน้ำท่วมมาอีกแล้ว ทำไมน้ำท่วม มันต้องท่วมน้ำมันจะไปอยู่ที่ไหน ตั้งแต่เราพัฒนาประเทศกันมากๆ เราไปแย่งพื้นที่ที่น้ำมันเคยเข้าไปอยู่ แย่งพื้นที่ลุ่มๆ เอาไปหมดแล้ว จะมองน้ำว่าเป็นสิ่งมาเบียดเบียนเรา น้ำก็ต้องการที่อยู่ ปีนี้มีลานีญาปีหน้าก็ยังมี อย่างไรฝนก็เยอะ ฝนเยอะน้ำมันก็เยอะ น้ำก็ต้องการที่อยู่ที่ไปเหมือนกัน พอเราไปแย่งที่มัน มันก็ต้องสู้ อย่างคนไทยแต่ก่อนปลูกบ้านใต้ถุนสูง ทำไมปลูกบ้านใต้ถุนสูงข้างล่างโล่งๆ เอาไว้ให้น้ำท่วม อย่างภาคกลางอย่างไรก็ท่วม ยุคนี้เราไปสร้างบ้านติดดินกัน พอน้ำมาเราก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ก็ขึ้นหลังคากัน

เราไม่รู้จักธรรมชาติ ไม่รู้จักสิ่งแวดล้อมจริงๆ แล้ว ห่างไกลธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ พอธรรมชาติทำหน้าที่ของเขา เราก็เลยตกอกตกใจ บางทีไม่รู้จะด่าใครก็ด่ารัฐบาล มันก็ท่วมทุกรัฐบาล ท่วมมากหรือท่วมน้อย ก็ต้องรับชะตากรรมร่วมกัน คนทางภาคกลางอยู่ในที่ลุ่ม เมื่อก่อนเป็นทะเลด้วยซ้ำไป น้ำมันลดลงกลายเป็นแผ่นดิน ช่วงนี้น้ำแข็งละลาย น้ำมันเพิ่มขึ้น น้ำก็เข้ามาในแผ่นดิน ภาคกลางมันคือแผ่นดินใต้น้ำมาก่อน ฉะนั้นมันจะท่วมมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอก อยู่ที่ว่าเราจะดำรงตัวอย่างไร เตรียมรับสถานการณ์อย่างไร มีบทเรียนแล้วเราชอบลืม พอผ่านช่วงเอลนีโญไม่ค่อยมีฝน เราก็เพลินว่าบ้านเราน้ำไม่ท่วม ช่วงลานีญามาน้ำท่วม เราลืม จริงๆ เราไปแย่งที่น้ำอยู่ ตามแม่น้ำตามคลอง เมื่อก่อนพอน้ำมากๆ มันก็กระจายขึ้นมาบนบก กระจายไปตามทุ่ง เดี๋ยวนี้กั้นเขื่อนขึ้นไป กั้นริมแม่น้ำริมคลองไม่ให้น้ำเข้าไปที่แผ่นดิน น้ำจะไปอยู่ที่ไหน ถ้าเรารู้สึกว่ามันธรรมดาก็เตรียมตัว น้ำท่วมก็ไม่ต้องรอให้ใครเขามาช่วยหรอก จะอยู่อย่างไร จะกินอย่างไร จะทำมาหากินได้อย่างไร ก็ต้องเตรียมตัวเอง สะสมประสบการณ์ไป เวลาปีไหนมันไม่ท่วมก็อย่าประมาท สักวันหนึ่งมันก็มาท่วมอีก

 

โลกไม่เคยหมดจากปัญหา

โลกไม่เคยหมดจากปัญหาหรอก ตราบใดยังอยู่กับโลกปัญหาก็มีอยู่เรื่อยๆ โควิดเพิ่งซาไป ก็มีน้ำท่วมอีกแล้ว ถัดจากนั้นจะมีอะไรอีกยังไม่รู้เลย ที่แน่ๆ ก็คือเศรษฐกิจมันแย่ไปทุกประเทศแล้ว หลังโควิดทำอย่างไรจะฟื้นตัว ใครจะฟื้นตัวเร็วกว่าใครเท่านั้นล่ะ แทนที่เราจะทำตัวเป็นก้อนหินแข็งกระด้าง ทำตัวเป็นน้ำบ้าง น้ำไปอยู่ตรงไหน ก็ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมตรงนั้นได้ อยู่ในถ้วยแก้วก็เป็นรูปร่างเหมือนแก้วน้ำ อยู่ในขวดก็มีรูปร่างเหมือนขวด อยู่ในถังก็มีรูปร่างเหมือนถัง มันปรับตัวได้ในทุกๆ สถานการณ์ ฉะนั้นน้ำไม่เคยบ่นอะไรกับใครเขาหรอก ปรับตัวได้ ถ้าเราปรับตัวไม่เป็นทำตัวแข็งกระด้างเป็นก้อนหิน เราก็รู้สึกแย่แล้ว เดี๋ยวมีปัญหานั้น เดี๋ยวมีปัญหานี้ไม่รู้จักจบ ตระหนักไว้อย่างหนึ่ง ในโลกนี้ไม่เคยหมดจากปัญหาหรอก

ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ดู จะรู้ว่าโลกนี้วุ่นวายตลอด ไม่เคยสงบสุขสักที อย่างสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ปัญหาใหญ่ก็คือการรักษาเอกราช รักษาความมั่นคงเอาไว้ก็ฟื้นฟูบ้านเมือง รัชกาลที่ 1 2 3 รัชกาลที่ 3 มองการณ์ไกล ท่านบอกต่อไปศึกพม่าคงไม่มีแล้ว ปัญหาจะมาจากฝรั่ง ท่านมองไกล ถึงรัชกาลที่ 5 เราถูกคุกคาม เสียดินแดนไปเยอะแยะ ถูกคุกคาม เอกราชเกือบจะเสีย ดีว่าบรรพบุรุษเราเก่งปรับตัวได้เหมือนน้ำเลย ก็อยู่รอดมาได้ ต่อมาถึงปลายรัชกาลที่ 6 ในรัชกาลที่ 6 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังสงครามโลกเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก สมัยรัชกาลที่ 7 พอรัชกาลที่ 8 เกิดสงครามโลกอีกแล้ว มารัชกาลที่ 9 ก็พ้นจากยุคสงครามโลก มีสงครามเรื่องลัทธิ ก็มีปัญหาตลอด ในภาคเอกชนก็มีปัญหาเรื่องโจรผู้ร้ายเยอะ บ้านเมืองแต่ก่อนไม่ได้สงบ บ้านเมืองแต่ก่อนจริงๆ โจรผู้ร้ายเยอะแยะเลย คนไม่ได้มีความสงบสุขหรอก พ้นยุคโจรผู้ร้ายรุนแรง มาเจอยุคอันธพาลครองเมือง มาเจอยุคการเมืองวุ่นวาย ดูย้อนไปกี่ร้อยปีก็ตาม โลกไม่เคยว่างจากปัญหาหรอก

เพราะฉะนั้นอย่าไปใฝ่ฝันว่า เราจะอยู่โดยที่ไม่มีปัญหาอะไรที่จะต้องกลุ้มใจเลย ฝึกตัวเองให้อยู่ได้ในทุกสถานการณ์ ก็ฝึกจิตนั่นล่ะ เพราะถ้าจิตเราไม่ทุกข์ก็ไม่มีอะไรจะทุกข์หรอก ความทุกข์ทางร่างกายสูงสุดก็คือตาย หรือทุกข์มากๆ อยู่ไม่ได้ก็สลบไปหรือตายไป ความทุกข์ของจิตไม่มีที่สิ้นสุด มันสืบเนื่องไปเรื่อยๆ ข้ามภพข้ามชาติไปก็ทุกข์ไปเรื่อยๆ ครูบาอาจารย์ท่านบอกระลึกชาติ บางองค์ท่านระลึกได้ ท่านก็บอกไม่เห็นมีอะไร สิ่งที่เกิดทุกข์เกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป ท่านระลึกชาติไปนานแสนนาน แล้วท่านก็เห็นอย่างนี้ เห็นทุกข์

 

ระลึกชาติ

เจ้าชายสิทธัตถะในคืนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ตอนหัวค่ำท่านระลึกชาติไป ท่านอยากรู้ต้นเหตุของชีวิตมันอยู่ที่ไหน ระลึกไป ผ่านวันผ่านเวลาไปมากมาย ไม่มีอะไร ดูไปแล้วไม่มีจุดตั้งต้น หาจุดตั้งต้นไม่เจอ แล้วพบอย่างหนึ่ง สิ่งที่มีอยู่มันคือทุกข์ทั้งนั้นเลย มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของเป็นทุกข์ มีแต่ของที่บังคับไม่ได้ ท่านระลึกชาติแล้ว ท่านมีสติมีปัญญาเห็นความจริง เห็นไตรลักษณ์ เห็นอะไรขึ้นมา ของเรารุ่นนี้กิเลสพาระลึกกัน ระลึกไปคนนี้เคยเป็นผัวเรา คนนี้เป็นเมียเรา นี่ของเรานั่นของเรา แทนที่จะระลึกแล้วเห็นว่าว่างเปล่า ของเคยมีมันก็ไม่มี ของเคยเป็นมันก็ไม่เป็น เจ้าชายสิทธัตถะท่านเห็น ของเราระลึกแล้วล้วนแต่มีแต่เป็น

อย่างพระนเรศวรท่านเป็นคนดัง คนระลึกชาติว่าเคยเป็นพระนเรศวรเยอะแยะเลย ไม่รู้ทำไมเยอะขนาดนั้น เชื่ออะไรไม่ได้นักหนาหรอกเรื่องอย่างนี้ มโนกัน อย่างเจ้าชายสิทธัตถะบารมีท่านเต็มแล้ว ท่านได้ฌาน ได้ถึงฌานที่ 8 แล้ว ฉะนั้นจิตใจท่านเป็นกลาง ท่านระลึกไปก็เลยเป็นของจริง จิตยังมีกิเลสไม่ได้เข้าฌาน ข่มกิเลสลงไปก็ระลึกออกมาทีไร มันก็ระลึกตามกิเลสทุกที อย่าไปเชื่อมัน ท่านระลึกไปไกลแสนไกลท่านก็พบว่าวัฏสงสารไม่มีอะไรหรอก มีแต่เกิดแล้วก็ทุกข์ แล้วก็ตายไป แล้วก็เกิดอีก เวียนอยู่อย่างนี้ ท่านหาจุดตั้งต้นไม่เจอ ท่านก็มองต่อไปข้างหน้า แล้วมองไปสู่อนาคตบ้าง ย้อนอดีตแล้วยังไม่ตอบโจทย์ว่าทำอย่างไรจะไม่เกิด ก็ดูไปอนาคต สัตว์ตัวนี้ตายแล้วไปเกิดที่นี้ ตัวนี้ตายแล้วไปเกิดที่นี้ เป็นยามกลางคืน ยามกลางคืน ยามดึก ตัวสัตว์โลกทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิดไป ตรงนี้มันทุกข์ มันไปเกิดตัวโน้นเดี๋ยวมันก็ทุกข์อีกแล้ว ท่านก็เลยหยุดการแสวงหา

ในยามสุดท้ายท่านมาอยู่กับปัจจุบัน ยามต้นย้อนไปอดีต หาคำตอบไม่ได้ ยามกลางมองไปอนาคต ตายแล้วไปไหนๆ หาคำตอบไม่ได้ ว่าทำอย่างไรจะไม่ทุกข์ พอยามสุดท้ายท่านย้อนมาที่ตัวเองแล้ว ไม่ไปอดีต ไม่ไปอนาคต อยู่กับปัจจุบัน ดูสภาวะลงปัจจุบันไป ทำไมมีทุกข์ มีทุกข์ก็เพราะมันมีชาติ จึงมีความเกิดขึ้นมา เพราะท่านเห็นแล้วเกิดทีไรก็ทุกข์ทุกที ทำไมมันเกิด ท่านก็มองลงไปที่สาเหตุ มันเกิดได้เพราะว่ามันมีภพ ภพนี้ไม่ใช่แค่เป็นโลกๆ หนึ่ง อะไรอย่างนั้น โลกชนิดนั้น โลกชนิดนี้ ภพที่สำคัญก็คือตัวกรรมภพ ภพภายในของตัวเอง ภพภายในใจ

จิตเราเวียนว่ายตายเกิดไปในภพน้อยๆ ตลอดวันตลอดคืน จิตจะไปอยู่ในภพอะไร จิตก็ทุกข์ตรงนั้น ท่านเห็นเลย มันทุกข์เพราะมันมีภพ จิตมันติดภพ ท่านก็ดูต่อไปอีก ภพมันมาจากอะไร ภพมันมาจากตัณหา อุปาทาน ใจมันมีความอยาก ใจมันมีความยึด ใจก็เกิดภพคือเกิดความดิ้นรนของใจ อย่างมีความอยาก อยากมีความสุขอะไรอย่างนี้ จิตใจก็ดิ้นรน อยากไม่ทุกข์ จิตใจก็ดิ้นรน ตัวที่จิตใจมันดิ้นรน จิตใจมันปรุงแต่ง นั่นล่ะตัวภพ ท่านก็ดูต่อไปทำไมมันมีตัณหา ทำไมมันมีความอยากขึ้นมา ความอยากมันเกิดตอนไหน ความอยากเกิดตลอดเวลาหรือเปล่า มีอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า ไม่ได้มีตลอดเวลา ความอยากมันตามหลังเวทนามา ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ พอสัมผัสอารมณ์เวทนาก็มาจากผัสสะ การสัมผัสอารมณ์ พอตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจสัมผัสอารมณ์ที่ชอบใจ มีความสุขขึ้นมา ก็เกิดตัณหา เกิดอยากให้ความสุขนี้อยู่นานๆ แล้วมันก็จำความสุขอันนั้นได้ พอความสุขอันนั้นหายไปมันก็อยากให้ความสุขนั้นกลับมา ของไม่มีอยากให้มี เรียกว่ากามตัณหา ของมีแล้วอยากให้มันอยู่นานๆ เรียกว่าภวตัณหา พอไปกระทบเวทนาที่เป็นทุกข์ ไม่ชอบ ก็เกิดวิภวตัณหา อยากให้มันหมดไปสิ้นไป ไม่ว่าจะอยากมี อยากให้คงอยู่ หรืออยากให้หมดไป ใจก็เกิดการดิ้นรนทั้งนั้น

 

ดูของจริงในปัจจุบัน

ท่านดูของจริง ของจริงอยู่ในปัจจุบันนี้ ดูไปเรื่อยๆ สังเกตไปเรื่อยๆ เวทนามาจากไหน มีเวทนาแล้วก็มีตัณหา มีอุปาทาน มีภพคือการดิ้นรนของจิต มีชาติคือการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ก็มีทุกข์ขึ้นมา ผัสสะ ผัสสะเกิดจากอะไร เกิดจากเรามีตา มีรูป มีแสงสว่างมากพอที่จะเห็น มีความใส่ใจที่จะเห็น สนใจที่จะเห็น อย่างลืมตาอยู่แต่ไม่สนใจที่จะเห็นรูปก็ไม่เห็น อย่างเราลืมตาอย่างนี้ แล้วใจลอยคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ไป มีอะไรผ่านมาต่อหน้าเรา เราไม่เห็นหรอก มันผ่านไปอย่างนั้นล่ะ เพราะไม่มีความใส่ใจที่จะรู้ ไม่มีมนสิการ ฉะนั้นองค์ประกอบจำนวนมากที่ทำให้เราเห็นรูปขึ้นมา มีผัสสะขึ้นมา ท่านดูไปองค์ประกอบจำนวนมาก มันก็มีแต่รูปธรรม นามธรรมทั้งนั้น แสงสว่างก็เป็นรูป สิ่งที่มองเห็นก็สีต่างๆ ก็เป็นรูป ประสาทตาก็เป็นรูป แล้วก็มีนามธรรม มีจิตที่ไปเกิดที่ตา มีมนสิการ นี้ส่วนของนามธรรม ฉะนั้นมีผัสสะได้เพราะอาศัยรูป อาศัยนามนั่นเอง

ท่านมองลงไปจากของจริง แทนที่จะไปค้นว่าชาติก่อนเป็นอะไร ชาติโน้นเป็นอะไร ไม่เอา ท่านดูของปัจจุบันนี้ทุกข์มันมาได้อย่างไร ท่านค่อยๆ สังเกตไปเรื่อยๆ ทวนๆ เข้าหาต้นตอของมัน ก็เห็นมันเกิดจากวิญญาณ เกิดจากจิตหยั่งลงไป รูปธรรม นามธรรม ก็ปรากฏขึ้น ตรงนี้คิดเอาไม่ได้ ก็ไปนั่งสมาธิเอาให้จิตรวมลงไปเลย รวมลึกลงไปให้จิตเข้าภวังค์ไปเลย แล้วตอนจิตถอนขึ้นจากภวังค์ขึ้นมาสู่วิถี ขึ้นสู่ความรับรู้อารมณ์ มีสติตามสังเกตไปเรื่อยๆ ตรงนี้มันเห็นเอง อาศัยการฝึกจิตของเราให้ชำนิชำนาญ อย่างเวลาจิตมันลงภวังค์ เราดับความรับรู้ทั้งหมดลงไป ตอนมันไหวตัวขึ้นจากภวังค์เรียก ภวังคจลนะ มันเริ่มเคลื่อนแล้ว แล้วมันเคลื่อนขึ้นจากภวังค์ ความรับรู้มันจะรับรู้ขึ้นมาที่จิตก่อน ขึ้นมาที่นามก่อน พอความรับรู้ขึ้นที่นามแล้ว เราจะรู้สึกมีจิตมีใจ มีความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้น แล้วถัดจากนั้นความรับรู้มันขยายตัวอีกช็อตหนึ่ง มันเหมือนแสงสว่าง ช็อตแรกมันสว่างขึ้นมา มันทำให้เรามองเห็นจิต มองเห็นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ความสว่างกระจายตัวมากขึ้น มองเห็นเปลือกที่ห่อหุ้มจิตอยู่ ร่างกายเหมือนถ้ำเหมือนเปลือกที่จิตอาศัยอยู่ ฉะนั้นมันรู้ขึ้นมาจากนามธรรม แล้วขยายความรับรู้ออกไป ก็ไปเจอเอาร่างกายนี้เข้ามา ขยายอีกช็อตหนึ่งโลกข้างนอกนี้ปรากฏขึ้นมา ตำรามีหรือเปล่าหลวงพ่อไม่รู้ หลวงพ่อปฏิบัติเอาแล้วเห็นมาอย่างนี้ก็เล่าให้ฟัง

แล้วทำไมวิญญาณนั้นมันเกิดขึ้น วิญญาณนี้ยังเกิดขึ้น ตรงนี้ละเอียดแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะท่านค้นพบว่าเพราะสังขารมีอยู่ วิญญาณความรับรู้นี้ถึงมีอยู่ สังขารมีอยู่เพราะอะไร เพราะอวิชชามีอยู่สังขารถึงมีอยู่ เพราะไม่รู้แจ้งเห็นจริงในรูปนาม ขันธ์ 5 ก็เกิดความดิ้นรน ปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง ปรุงความว่างบ้าง ทุกครั้งที่ความปรุงแต่งเกิดขึ้น วิญญาณคือจิตก็เกิดขึ้น ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นมา ตรงที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น มีจิต ก็คือมีสัตว์ขึ้นมาแล้ว มีชีวิตเกิดขึ้น ตรงนี้ธรรมะกับกฎหมายไม่เหมือนกัน กฎหมายบอกว่าการเป็นคนเกิดขึ้นตอนที่คลอดออกมาแล้วไม่ตาย คลอดออกมาแล้วมีชีวิตถึงจะเรียกว่าเป็นคน ถ้าใครไปทำตรงนี้ให้ตาย เรียกฆ่าคนตาย ไปทำแท้งกฎหมายยังไม่ถือว่าฆ่าคนตาย ถือว่ายังไม่เกิด ไม่มีคน ไม่เหมือนธรรมะ ธรรมะนี่แค่มีปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เชื้อของพ่อของแม่ผสมกันเกิดปฏิสนธิจิตขึ้น ตรงนั้นถือว่ามีชีวิต มีความเป็นสัตว์เกิดขึ้นแล้ว

ฉะนั้นการทำแท้งโทษไม่รุนแรง ทางกฎหมายยังไม่แรงมาก แต่ในทางธรรมะคือการฆ่าคน ฆ่ามนุษย์แล้ว รู้ว่าเขามีชีวิตแล้ว ต้องการให้เขาตาย ลงมือกระทำแล้วเขาตาย องค์ประกอบของปาณาติบาตครบ เป็นบาปรุนแรง ฉะนั้นพวกเราระมัดระวังไว้ ประมาทพลาดพลั้งไปท้องขึ้นมา พยายามแก้ปัญหาไปอย่าไปทำแท้ง ทำแท้งตำรวจไม่รู้ก็ไม่มีความผิดอะไร ถึงมีความผิดก็ไม่ถึงขั้นลงโทษประหารชีวิต เพราะฆ่าคนตายโดยเจตนา ไม่ถึง แต่ทางธรรมถึง ฉะนั้นระมัดระวังไว้ ชีวิตมันเริ่มต้นตั้งแต่มีปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิจิตเข้าไปจับในรูปธรรม ในเชื้อเกิดของพ่อของแม่ ชีวิตเริ่มต้นขึ้นตรงนั้น เจ้าชายสิทธัตถะท่านลึกลงไปอีก ทำไมมันมาเกิดตรงนี้ ลึกลงไปถึงที่สุดก็เพราะว่าอวิชชา ไม่รู้แจ้งเห็นจริง

 

ทำลายอวิชชาลงไปได้ก็เกิดวิชชา

ถ้าภาวนาถึงจุดที่ทำลายอวิชชาลงไปได้ก็เกิดวิชชา รู้ความจริงแล้วรูปธรรมนามธรรมคืออะไร รูปธรรมนามธรรมคือทุกข์ ไม่ใช่คืออย่างอื่นเลย ฉะนั้นรูปธรรมนามธรรมเกิดขึ้น ก็คือทุกข์เกิดขึ้น รูปธรรมนามธรรม ตั้งอยู่ ก็คือทุกข์ตั้งอยู่ รูปธรรมนามธรรมแตกดับไป ก็คือทุกข์มันดับไป ฉะนั้นท่านจึงสรุปได้ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ แล้วก็ทำลายอวิชชาได้ รูปธรรมไม่ใช่เรา รูปธรรมคือตัวทุกข์ นามธรรมไม่ใช่เรา นามธรรมคือตัวทุกข์ ตรงนี้ถ้ายังภาวนาไม่สุดขีดจะไม่เห็น เราจะเห็นว่ารูปธรรมอย่างร่ายกายเรา มันทุกข์บ้างสุขบ้าง เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็สุข แต่ถ้าล้างอวิชชาได้ รู้นะมันมีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่มีทุกข์กับสุข รูปทั้งหมดเป็นตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย นามธรรม ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ความรับรู้ทั้งหลาย ของเราก็จะรู้สึกว่า จิตใจเรานี้เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวสบายใจ เดี๋ยวกลุ้มใจ เราเห็นอย่างนี้ กระทั่งพระอนาคามียังเห็นอย่างนี้เลย

ถ้าภาวนามากๆ มันเห็นความจริงของจิตลงไปอีกทีหนึ่ง กระทั่งตัวจิตเองก็คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เหมือนกับร่างกายนั่นล่ะ ตอนที่เราเห็นร่างกายเป็นตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตจะปล่อยวางกาย เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามี ตรงที่ปัญญามันแทงทะลุลงไป เห็นว่าจิตนั้นคือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตก็ปล่อยวางจิต ที่สุดแห่งทุกข์อยู่ตรงนี้เอง ล้างอวิชชาได้แล้ว คือรู้ความจริงของทุกข์แล้ว ว่ากายนี้ใจนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่มีทุกข์กับสุข เจ้าชายสิทธัตถะ พอท่านเห็นตรงนี้ท่านก็บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา เป็นพระสัมมาสัมพุทธะขึ้นมา พอท่านบรรลุขึ้นมาปุ๊บ ท่านนึกถึงคนอื่น สัตว์อื่น ท่านเกิดความท้อใจ ธรรมะขนาดนี้ ลึกซึ้งขนาดนี้ จะไปสอนใครได้ พูดไปก็คงเหนื่อยเปล่า อยู่ของเราคนเดียวในป่าอย่างนี้ล่ะ เสวยความสุขจากการหลุดพ้น อยู่ลำพังสบาย เสร็จแล้วใจของท่านที่เราสร้างสัญลักษณ์ มี Symbolic ขึ้นมา สร้างสัญลักษณ์ขึ้นมา ว่าพระพรหมมาอาราธนาให้แสดงธรรม พระพรหมก็คือความกรุณาในใจของท่านเอง พรหมคืออะไร คือสภาวะของความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา พรหมมาอาราธนาท่าน ท่านนึกเมื่อก่อนเราก็ทุกข์อย่างคนอื่น ทำไมเราพ้นได้ คนอื่นถ้าเขาได้ยิน ได้ฟังธรรมะ บางคนเขาก็พ้นได้เหมือนกัน ไม่ใช่พ้นได้เฉพาะท่านองค์เดียว พอใจท่านเกิดความกรุณาขึ้นมา ท่านก็เลยออกมาสอน

 

อยู่กับปัจจุบัน ดูกายมันทำงาน ดูใจมันทำงาน

พวกเราก็ได้อาศัยสิ่งที่ท่านสอน มาพัฒนาใจตัวเอง อยู่กับปัจจุบันไป ดูกายมันทำงาน ดูใจมันทำงานไป ไม่ให้ใจฟุ้งซ่าน ลืมกายลืมใจไปเรื่อย พอลืมกายลืมใจแล้วจิตมันไปไหน จิตมันไปอดีต ไประลึกชาติ เช่น เมื่อปีกลายเราเป็นอย่างนี้ เมื่อปีโน้นเราเป็นอย่างนี้ เรารู้จักคนโน้นคนนี้ ตอนนี้หายไปไหนหมดแล้ว ตายไปหมดแล้วอะไรอย่างนี้ จิตไม่อยู่กับปัจจุบัน จิตมัวแต่ระลึกชาติ คิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่เคยผ่านมาแล้ว หรือจิตคำนึงไปถึงอนาคต กังวลในอนาคตจะทำอย่างไรๆ กลัวความทุกข์ในอนาคต หรืออยากมีความสุขในอนาคต จนลืมกลัวความทุกข์ในปัจจุบัน ลืมที่จะรู้จักความสุขในปัจจุบัน ห่วงอนาคตจนทิ้งปัจจุบัน อนาคตมันเหมือนความฝัน ปัจจุบันมันเป็นความจริง มัวแต่ห่วงความฝันแล้วทิ้งความจริง ไม่จัดว่าฉลาด

วางแผนอนาคตได้ไหม ได้ พระพุทธเจ้าก็วาง อย่างแต่ละวันท่านจะพิจารณาเลย วันนี้ท่านจะไปสอนใคร นี้คือการวางแผน เป็นการวางแผนที่ดีด้วย จะไปสอนใคร จะสอนที่ไหน จะสอนอย่างไร จะสอนเรื่องอะไร สอนแล้วจะมีผลเป็นอย่างไร ท่านพิจารณา ท่านรู้ล่วงหน้า คิดพิจารณาล่วงหน้า วางแผนการทำงานแต่ละวันๆ ช่วงนี้จะอยู่ในเมืองนี้ ช่วงนี้จะไปอยู่เมืองนี้ ท่านก็วางแผน ฉะนั้นการวางแผนอนาคตทำได้ ควรจะทำด้วย แต่ไม่ใช่กังวลถึงอนาคต ฟุ้งซ่านถึงอนาคต มโน วางแผนกับมโนเอาไม่เหมือนกัน มโนเอามันเพ้อฝันเลื่อนๆ ลอยๆ วางแผนมันดูจากความเป็นจริงที่เป็นไปได้ อย่างเรามีทรัพยากรอย่างนี้ เรามีขีดความสามารถอย่างนี้ เรามีเวลาอย่างนี้ เรามีผู้คนที่จะสนับสนุนเราอย่างนี้ เรามีอุปสรรคอย่างนี้ คิดได้ แล้วก็วางแผนการทำงานที่ดีออกมาได้ ไม่ใช่กังวล กลัวไปหมด กลุ้มไปหมด นอนก็กลุ้ม ตื่นก็กลุ้ม ไม่ใช่คนฉลาดเลย เราทิ้งสิ่งที่สำคัญที่สุด คือปัจจุบัน ลองมีสติอยู่กับปัจจุบัน มีจิตตั้งมั่นอยู่ เป็นผู้รู้ผู้ดูสภาวะทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

เครื่องมือในการรู้สภาวะคือตัวสติ ตัวที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันได้ ก็คือตัวสมาธิที่ถูกต้อง 2 ตัวนี้เป็นเครื่องมือใหญ่ในการปฏิบัติ ถ้าเรามีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ นั่นคือองค์มรรคที่ 7 กับที่ 8 แล้ว สำคัญมาก แล้วมีสติระลึกไป มีสมาธิขึ้นมาฝึกขึ้นมา มีกรอบ ตัวชี้กรอบ ตัวที่เป็นกรอบ ให้เรารู้ว่าเรามีสติเพื่ออะไร เรามีสมาธิเพื่ออะไร ตัวนั้นคือตัวสัมมาวายามะ ฉะนั้นในการฝึกจิตจะมีองค์ธรรม 3 ตัว สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาวายามะเป็นตัวชี้เป้าว่า ความเพียรที่เราจะทำ ทำไปเพื่อละกิเลสที่มีอยู่ เพื่อปิดกั้นกิเลสใหม่ อกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เรามีความเพียรเพื่อทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพื่อทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญ ท่านใช้คำว่ากุศล ไม่ใช่บุญ บุญกับกุศลไม่เหมือนกัน บุญเป็นการทำความดีต่างๆ กุศลต้องรู้เหตุรู้ผล เรียกว่ามีความฉลาดถึงจะเป็นกุศล รู้เหตุรู้ผล

 

เจริญสติอย่างรู้เหตุรู้ผล

เราเจริญสติก็รู้เหตุรู้ผลของการเจริญสติ ไม่ใช่เจริญเพราะว่าควร เห็นคนอื่นเขาเจริญเราก็เอาอย่างเขาบ้างอะไรอย่างนี้ อย่างนั้นทำโดยไม่รู้เหตุรู้ผล ถ้าเราเจริญสติอย่างรู้เหตุรู้ผล เราก็รู้เลยที่เรามีสติอยู่ เป็นไปเพื่อลดละอกุศล เพื่อเจริญกุศล ที่เรามีสมาธิไม่ใช่เพื่อเสพสุข ไม่ใช่เพื่อมีอิทธิฤทธิ์ ไม่ใช่เพื่อจะรู้โน่นรู้นี่ รู้อดีต รู้อนาคต รู้ใจคนอื่น อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นทำไปเพื่อพอกพูนกิเลส สมาธิที่ถูกต้องก็ทำไปเพื่อลดละกิเลส เพื่อลดละอกุศล เพื่อเจริญกุศล สมาธิที่จะเจริญกุศลได้จริงๆ คือทำให้เกิดปัญญาได้จริงๆ กุศลสูงสุดคือปัญญา สมาธิที่จะทำให้เกิดปัญญาคือตัวสัมมาสมาธิ คือสมาธิที่จิตตั้งมั่น สมาธิที่เป็นความตั้งมั่นของจิต สมาธิไม่ใช่จิต ต้องบอกว่าสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ไม่ใช่คือจิตที่ตั้งมั่น จิตไม่ใช่ตัวสมาธิ จิตเป็นตัวรู้ แต่ตัวรู้ตัวนี้มีสมาธิที่ถูกต้อง ก็หล่อเลี้ยงตัวรู้ ตั้งมั่น

อย่างพวกเราภาวนา อย่างเรารู้ลมหายใจ แป๊บเดียวเรามีสติอยู่กับลมหายใจ แป๊บเดียวจิตไหลลงไปอยู่ที่ลมหายใจแล้ว อันนี้จิตไม่ตั้งมั่น จิตถึงถลำลงไปรู้อารมณ์กรรมฐาน หรือดูท้องพอง ดูท้องยุบ จิตไม่ตั้งมั่น จิตไหลลงไปอยู่ที่ท้อง อันนี้ใช้ไม่ได้แล้ว มีสติแต่ไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง มีสติเพ่งไปเรื่อยๆ ได้อะไร ได้สมถะ จะได้สมถะเฉยๆ แต่ถ้ามีสมาธิที่ถูกต้อง มันจะได้ปัญญา ในตำราถึงสอนบอก “สัมมาสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา” ไม่ใช่สัมมาสติ ลำพังมีสติไม่เกิดปัญญาหรอก ต้องมีจิตตั้งมั่นด้วย สติระลึกรู้รูปธรรม นามธรรม ที่กำลังปรากฏ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง ตรงจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง มันเกิดจากจิตมีสัมมาสมาธิ ตรงที่จิตมันรู้รูปธรรม นามธรรมที่ปรากฏ เรียกว่ามันมีสติ ถ้ารู้รูปธรรม นามธรรม ที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง มันจะเห็นความเป็นจริงของรูปธรรม นามธรรม นั่นคือตัวปัญญา

 

มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

หลวงพ่อย่อลงมาตรงนี้บอกว่าให้เรา “มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” รู้ตามความเป็นจริง คือมีอะไรเกิดขึ้นในกาย รู้สึก มีอะไรเกิดขึ้นในจิต รู้สึก รู้ตามความเป็นจริงไป ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ไม่นาน ถ้าเราทำได้ไม่นานปัญญาจะเกิด เราจะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ สติระลึกรู้กาย จิตตั้งมั่นและเป็นกลาง สติรู้อย่างเป็นกลาง สติไม่เข้าไปแทรกแซง จิตก็เป็นกลาง เราก็จะเห็นความจริงของร่างกาย ร่างกายนี้ไม่ใช่สิ่งใดอื่นเลย ร่างกายนี้ก็คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย อาศัยมีสติระลึกรู้ร่างกาย ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง กายเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น รู้ตามความเป็นจริงไป สุดท้ายก็จะเห็นความจริง กายนี้ไม่ใช่อะไรอื่น กายนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย

ถ้าสติระลึกรู้ถึงจิต ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเกิดปัญญาเห็นเอง จิตนี้ไม่ใช่อะไรอื่น จิตนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ตรงที่เห็นตัวทุกข์ บางทีก็เห็นเพราะว่ามันทุกข์เพราะเป็นอนิจจัง มันทุกข์เพราะมันถูกบีบคั้นเป็นทุกขัง มันทุกข์เพราะเราควบคุมบังคับไม่ได้ เรียกว่าเป็นอนัตตา ตรงที่เห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ เรียกว่าเรารู้ทุกข์ ค่อยรู้ๆๆๆ ลงไปจนมันแจ่มแจ้ง ตรงที่แจ่มแจ้งก็คือรู้ว่า รูปนี้ไม่มีอะไรอื่นนอกจากทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย นามธรรมไม่มีอะไรอื่นนอกจากทุกข์ มีแต่ทุกข์มากและทุกข์น้อย พอเห็นอย่างนี้จิตก็วาง ไม่ดิ้นรนต่อ อย่างไปเห็นปฏิกูล อสุภะอะไรยังไม่พอ ยังไม่ได้เห็นไตรลักษณ์ ปฏิกูล อสุภะ เป็นบัญญัติไม่ใช่ของจริง อย่างเรารู้สึกว่าขี้หมาเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ ไม่สวยไม่งาม ทำไมแมลงวันมันบอกหอมชื่นใจ มันไม่จริง

ฉะนั้นตัวปฏิกูลตัวอสุภะอะไรนี้ เป็นแค่เครื่องมือข่มราคะชั่วครั้งชั่วคราว อย่างดูกายเห็นร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะอะไรอย่างนี้ แล้วก็ไม่อยากยึดถือแล้ว พอไปเจอกายของเทพเข้า กายของเทพ ของพรหม มันไม่เห็นปฏิกูลอสุภะแล้ว คราวนี้ไปยึดกายเทพ กายพรหมต่ออีกแล้ว ฉะนั้นยังล้างกิเลสไม่ได้ แต่ถ้าเราเห็นไตรลักษณ์ กายนี้มีแต่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไรตั้งอยู่ ไม่มีอะไรดับไป มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เห็นอย่างนี้ จะเป็นกายมนุษย์ กายหมา กายแมว กายผี เปรต สัตว์นรก กายเทพ กายพรหม มันก็อาการเดียวกัน คือตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกัน ตกอยู่ใต้กองทุกข์อย่างเดียวกันนั่นเอง

ฉะนั้นเห็นไตรลักษณ์ถึงจะเดินปัญญาอย่างแท้จริง ถ้าเห็นแค่ปฏิกูลอสุภะข่มราคะได้ ถามว่ามีประโยชน์ไหม มี มีมากๆ ด้วย เหมาะกับพระ พระหนุ่มๆ มาบวชราคะแรงอะไรอย่างนี้ หลวงพ่อก็ให้ดูกายเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เป็นอุบายข่มราคะไป ส่วนจะเดินสติ เดินปัญญาจริงๆ ก็ดูไตรลักษณ์ เห็นกายแสดงไตรลักษณ์ไป บางองค์ก็เห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ไป แล้วแต่จริตนิสัย แล้วแต่ความชำนิชำนาญที่เคยฝึกมาหลายภพหลายชาติ มันก็เป็นอย่างนั้นล่ะ สะสมมา ยากไปไหมวันนี้ ไม่ห่วงอาลัยถึงอดีต ไม่กังวลถึงอนาคต มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่น อยู่กับปัจจุบันนี้ล่ะ แล้วเราจะได้ของดี ของวิเศษ ต่อไปวันข้างหน้าร่างกายนี้แก่ ร่างกายนี้เจ็บ ร่างกายนี้ตาย จิตมันก็เป็นกลาง มันก็ไม่ทุกข์

เหมือนอย่างน้ำท่วม ถ้าจิตมันรู้สึกว่าน้ำท่วมเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมดา ยอมรับได้ เตรียมพร้อมไว้แล้ว น้ำท่วมก็ไม่ทุกข์เท่าไร คนไทยเก่ง คนโบราณ ปลูกบ้านใต้ถุนสูง บ้านอยู่ริมคลองทั้งนั้น หน้าแล้งก็ลงไปอยู่ใต้ถุนบ้าน มันร้อน กลายเป็นบ้าน 2 ชั้น ชั้นบนบังแดด ชั้นล่างโล่งๆ แหมสบาย มาทอผ้า มาทำอะไรอยู่ใต้ถุนบ้าน พอน้ำมาก็ขึ้นไปอยู่ชั้นบน ไปไหนก็พายเรือไป ไม่เห็นจะเดือดร้อนเลย พายเรือเปล่าๆ ชักจะขี้เกียจ ชักจะเซ็ง หาเรื่องสนุกจนได้ เล่นเพลงเรือมันซะเลย น้ำท่วม เห็นไหมเขาปรับตัวได้ น้ำท่วมไม่ทุกข์หรอก กูจะเล่นเพลงเรือแล้ว ถ้าเราทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม เราทุกข์ไม่เลิกหรอก เพราะโลกนี้ไม่สมอยาก โลกนี้มีแต่ปัญหา แต่ถ้าเราสามารถปรับตัวอยู่กับมันได้ มีความสุขได้ สบายใจได้ คนไทยเก่งเรื่องพวกการปรับตัว พยายามปรับตัวให้ดี อย่าเที่ยวโทษโน้นโทษนี้ อย่างจำได้ไหมตอนที่ต้องใส่มาสก์ใหม่ๆ บางคนกลุ้มใจ ใส่มาสก์ใหม่ๆ ก็ต้องหาทางทำอย่างไรจะใส่ให้มันมีความสุข ให้มันสนุก ก็เขียนบนมาสก์ ใส่เข้าไปแล้วเหมือนหมาเลย เคยเห็นไหม ใส่มาสก์แล้วเหมือนปากหมา เห็นแล้วก็มีความสุขแล้ว รู้จักปรับตัว สามารถอยู่ได้ในทุกๆ สถานการณ์

คนที่ปรับตัวได้ก็คือทำตัวเหมือนน้ำ เปลี่ยนแปลงตัวเองเข้ากับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่พยายามเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเอง ทุกวันนี้ชอบเรียกร้อง เรียกร้องคนอื่น เรียกร้องรัฐบาล เรียกร้องอะไร จะให้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้เข้ากับตัวเอง ไม่มีวันหมดปัญหาหรอก ฉะนั้นปรับตัวเองให้เหมือนน้ำ อยู่ตรงไหนก็อยู่ได้ ปรับตัวไปเรื่อยๆ แต่ว่าปรับแบบมีหลัก ไม่ใช่ถูกกิเลสลากไปเรื่อยๆ มีสติอยู่กับปัจจุบันไปนี่ล่ะ แล้วจะได้ของดี.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
9 ตุลาคม 2564