ที่วัดสัตว์เยอะ ข้างนอกไม่ค่อยมีที่อยู่ มีป่าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ก่อนนี้ก็ยังมีข่าวไปยิงหมูยิงอะไร พวกสัตว์ก็หนีมาอยู่ในวัดกัน ในโลกมันเต็มไปด้วยการกระทบกระทั่ง เบียดเบียน เราไปห้ามคนอื่นไม่ให้มาทำการกระทบกระทั่ง ทำไม่ได้ ตั้งใจไว้อย่างหนึ่งว่า เราไม่ไปทำให้คนอื่น ไม่ทำให้สัตว์อื่นเดือดร้อน ตั้งใจไว้ คนอื่นเป็นอย่างไรก็แล้วแต่เวรแต่กรรม คนไม่ได้ภาวนา ไม่รู้ไม่เห็นว่าสังสารวัฏมันน่ากลัวขนาดไหน คิดว่ามีชีวิตนี้มีอยู่ ชีวิตนี้ชาติเดียว ตายแล้วสูญเลย ฉะนั้นช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ทำอะไรก็ได้ หาความสุขให้มากที่สุด อยากได้ความสุข แต่ไม่รู้จักหรอกว่าความสุขที่ประณีตลึกซึ้งที่สุด มันไม่ได้อยู่ที่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ถ้าเราเคยมีความสุขจากสมาธิ เราจะรู้ว่าความสุขอย่างโลกๆ ด้อยค่ามากเลย
กามสุข ความสุขที่เจือด้วยทุกข์
ความสุขอย่างโลกๆ เรียกว่ากามสุข สุขจากการดูรูป สุขจากการฟังเสียง สุขจากการดมกลิ่น สุขจากการลิ้มรส สุขจากมีสิ่งสัมผัสร่างกายที่พอใจ หรือเผลอๆ เพลินๆ ฟุ้งซ่าน คิดนึกไปเรื่องสนุกสนานอะไรอย่างนี้ ในโลกก็รู้จักสุขอย่างนี้ เขาไม่รู้ว่าตาเราจะเห็นรูป มันไม่ใช่รูปที่เราพอใจเสมอไป มีตาบางทีเราก็เห็นรูปที่พอใจ มันก็มีความสุข บางทีก็เห็นรูปที่ไม่พอใจ ก็มีความทุกข์ขึ้นมา มีหูไปฟังเสียง ฟังเพลง แหม มีความสุขจัง เพราะ ถูกอกถูกใจ มีหูมันฟังได้แต่เสียงที่ดีเสียที่ไหน เสียงที่ไม่ดีมันก็ได้ยินเหมือนกัน เสียงด่า เสียงใส่ร้าย เสียงอย่างโน้นอย่างนี้ หรือเสียงดังเกินไป ไม่มีความสุข
มีตาก็ไม่ได้สามารถเลือกได้ว่าจะเห็นรูปที่ดีหรือรูปที่ไม่ดี มีหูก็ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะฟังเฉพาะเสียงที่ดี เสียงที่ถูกใจ แล้วเสียงที่ไม่ดีไม่ได้ยิน มันเลือกไม่ได้ มีจมูก หาความสุขจากกลิ่นทั้งหลาย หาน้ำหอม หาดอกไม้อะไรมาดม รู้สึกมีความสุข แต่มีจมูกมันก็ไม่ได้ดมได้เฉพาะกลิ่นหอม กลิ่นเหม็นมันก็ได้กลิ่นเหมือนกัน ฉะนั้นความสุขอย่างโลกๆ ความสุขจากการดูรูป จากการฟังเสียง จากการดมกลิ่น จากการลิ้มรส จากการรู้สัมผัสทางกาย หรือคิดนึกไปในกามคุณอารมณ์ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส มันไม่ใช่ว่าจะมีแต่ความสุขเสมอไป มันเป็นสุขที่เจือด้วยทุกข์อยู่เสมอล่ะ
ทำไมบางคนมีผัสสะที่ดีเยอะ บางคนมีผัสสะไม่ดีเยอะ นี้เป็นผลจากกรรม เป็นวิบาก มีวิบากที่ดีให้ผลมา ก็เห็นแต่รูปที่ดีๆ ได้ยินเสียงที่ดีๆ ได้กลิ่นที่ดีๆ อะไรไม่ดีไม่ได้สัมผัส อกุศลให้ผลมา ของดีๆ ก็มีอยู่ ไม่เห็นหรอก แต่ไปเห็นของไม่ดี ไปได้ยินเรื่องไม่ดี ฉะนั้นกรรมมันจำแนกว่าเราจะกระทบอารมณ์ที่พอใจ หรือกระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจ มีตัวอย่าง หลวงพ่อเคยเห็นบางคน อย่างขับรถไป เห็นข้างหน้ารถชนกัน ไม่อยากดูรูป คนถูกรถทับแบนเละเทะอะไรอย่างนี้ ไม่อยากดู หันหน้าไปอีกฝั่งหนึ่ง แล้วคนเขายกศพมาวางไว้ทางนี้เรียบร้อยแล้ว หันไปเห็นเต็มตาเลย เละเทะเลย ไม่อยากดู มันก็เห็น อกุศลจะให้ผล มันก็เห็น
อย่างกลิ่น บางคนได้กลิ่นเหม็น บางคนกลิ่นเหม็นไม่ได้กลิ่น ตัวอย่าง คุณแม่ชี ในวัดมันมีต้นไม้บางต้น กลิ่นมันน่าเกลียดมากเลย กลิ่นมันเหมือนส้วมแตก เวลาออกดอก ดอกสวย แต่กลิ่นเธอเหลือรับประทานเลย คนอื่นเขาเหม็นหมดเลย คุณแม่ไม่เคยได้กลิ่นเลยที่เหม็นๆ ได้แต่กลิ่นหอมๆ นี่กรรมมันจัดสรร เลือกไม่ได้หรอก แต่โดยสรุปก็คือ ความสุขในกามคุณอารมณ์ เป็นความสุขที่เจือด้วยทุกข์ หาความแน่นอนอะไรไม่ได้หรอก กรรมดีให้ผลมาก็สัมผัสอารมณ์ที่ดี กรรมชั่วให้ผลมาก็สัมผัสอารมณ์ที่ไม่ดี เลือกไม่ได้ว่าจะต้องสัมผัสแต่อารมณ์ที่ดีเสมอไป
ฉะนั้นอย่างคนหลงโลกแย่งชิงทุกสิ่งทุกอย่างในโลก แย่งตำแหน่ง แย่งชื่อเสียง แย่งผลประโยชน์นานาชนิดอะไรอย่างนี้ หวังว่าจะมีความสุข แต่สุขอย่างนั้นมันสุขเจือกับความทุกข์อยู่เสมอ บางคนดิ้นรนมีเงินเป็นหมื่นๆ ล้านเลย ก็ไม่ได้อยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ ก็ไปอยู่ในที่ที่ไม่พอใจ ไม่อยากอยู่หรอก เพราะฉะนั้นความสุขในโลกน้อยมาก มีความสุขเล็กน้อย มีความทุกข์มากมาย ได้รับความสุขมา ความสุขก็ไม่ยั่งยืน เดี๋ยวก็ดับไปแล้ว เพราะฉะนั้นเรามีสติ มีปัญญา เราก็รู้กามสุขหาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้เลย เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้จริง
ฌานสุข
เราก็มาลงมือภาวนากัน นั่งสมาธิไป อะไรไป จิตรวม จิตสงบ จิตมีสมาธิขึ้นมา เราเจอความสุขอีกชนิดหนึ่ง เขาเรียกฌานสุข ความสุขจากการเข้าฌาน ความสุขจากการเข้าฌาน มันละเอียด มันประณีต อย่างความสุขในกาม มันเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ อย่างร่างกายเราสัมผัสอากาศที่ดีอะไรนี่ เย็นสบาย มันเย็นสบายนิดๆ หน่อยๆ ในร่างกายเรา บางส่วนก็ร้อน อย่างเรานุ่งผ้าใส่เสื้อเอาไว้อย่างนี้ ข้างนอกเย็น ที่มือเราเย็นสบาย ที่ตัวเรามันไม่สบาย มันเป็นความสุขที่กระพร่องกระแพร่ง แต่ถ้าเราเข้าสมาธิได้ เรียกว่าได้ฌานสุข เวลาสุขแล้วมันสุขจริงๆ มันอิ่มเอิบ มันชุ่มชื่นไปทุกขุมขนเลย ทั้งตัวเลยจะเย็นชื่นฉ่ำ ความสุขมันแตกต่างกัน ความสุขในกามเป็นความสุขที่อาศัยคนอื่น อาศัยสิ่งอื่น ต้องมีอย่างนี้ถึงจะมีความสุข ต้องอยู่กับคนอย่างนี้ถึงมีความสุข แต่ความสุขในฌาน ฌานสุข มันสุขได้ด้วยตัวของตัวเอง ไม่ได้พึ่งคนอื่น
ทุกวันเราก็ฝึกของเรา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไปอย่างนี้ พอจิตเราสงบ ก็มีความสุข ไม่ต้องสนใจว่าจะต้องอยู่กับคนนี้ จะต้องมีสิ่งนี้ ถึงจะมีความสุข การที่เราสามารถมีความสุขด้วยตัวของตัวเองได้ มันดีกว่าความสุขที่อิงอาศัยคนอื่น อิงอาศัยสิ่งอื่น เราค่อยๆ ฝึกของเราไป เราจะสัมผัสความสุขที่ประณีตขึ้นไปเรื่อยๆ
เจ้าชายสิทธัตถะท่านก็เดินอย่างนี้ ตอนเป็นเจ้าชายท่านก็มีกามสุข มีบ้านหลายหลัง ฤดูร้อนอยู่ปราสาทหลังนี้ ฤดูฝนอยู่หลังนี้ ฤดูหนาวอยู่หลังนี้ ทุกฤดูกาลไม่ร้อนไป ไม่เย็นไป มีแต่สิ่งรื่นรมย์เพราะว่าบุญบารมีท่านเยอะ อย่างพวกเราไม่ได้อย่างท่าน เราลำบากกว่าท่านเยอะ ท่านผ่านจุดสุดยอดมาแล้ว เกิดเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดิน มีทุกสิ่งที่คนในโลกปรารถนา ท่านผ่านมาแล้ว แล้วท่านเห็นว่ามันไม่มีสาระ ท่านเห็นว่าไม่นานพ่อท่านก็ต้องแก่ แม่ท่านตายไปแล้ว บางคนก็เจ็บไข้ ออกไปนอกวังก็เห็นคนเจ็บไข้อะไรอย่างนี้ ก็เลยรู้สึกความสุขของโลกไม่มีสาระแก่นสาร มีความสุขในโลกมากขนาดไหน ได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสที่ดีแค่ไหน ก็หนีความแก่ หนีความเจ็บ หนีความตายไปไม่ได้
บารมีท่านเต็ม ท่านมองตรงนี้ออก ถ้าพวกไม่มีบารมี มีเงินล้านหนึ่ง รู้สึกไม่มั่นคง อยากมีสิบล้าน มีสิบล้านอยากมีร้อยล้านอะไรอย่างนี้ หิว จิตมันหิวตลอดมันไม่อิ่ม มันไม่เต็ม อย่างเจ้าชายสิทธัตถะท่านเต็ม ท่านมีทุกอย่างที่ชาวโลกเขาอยากได้ แล้วท่านเห็นว่ามันไม่มีสาระแก่นสาร มีแก้วแหวนเงินทองมากมาย แต่ตัวเองก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายสักวันหนึ่ง ท่านอยากได้ความสุขที่สูงขึ้นไปอีก ท่านก็ออกจากวัง บางตำราก็บอกว่าท่านหนีออกจากวัง บางตำราไม่หนี ไปลาพ่อท่านออกจากวัง บอกตอนไปลาพ่อท่านน้ำตานองหน้าเลย ออกไป พอออกไปจากวังแล้ว สิ่งที่ไปทำก็ไปหัดนั่งสมาธิ ไปหาสิ่งที่เหนือกว่ากามสุข ไปนั่งสมาธิจนได้รูปฌานที่ 7 รูปฌานที่ 8 เรียนจากฤๅษี 2 ตน อาฬารดาบส อุทกดาบส ได้ฌานที่ 7 ฌานที่ 8
เวลาอยู่ในฌานอย่างนั้นมีความสุขมหาศาล แต่สติปัญญาท่านมาก บารมีท่านสูง ท่านพบว่าตอนออกจากฌานสมาบัติมา จิตใจมันก็กลับมาทุกข์อย่างเดิมอีก แล้วที่หลวงพ่อเคยเห็นนักปฏิบัติหลายคนเข้าฌาน เข้าสมาธิเก่งๆ พอออกจากสมาธิ มันร้ายกว่าคนปกติอีก ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทุกคนหรอก มันติดสมาธิ มันพอใจในความสุข ความสงบในสมาธิ พอออกมากระทบอารมณ์ข้างนอก อย่างกับลูกระเบิดลงมา กลางบ้านเลย หงุดหงิดไปหมดเลย ร้อนไปหมดเลย เพราะอยู่ข้างในมันเย็น โลกธรรมดานี่ร้อน ในขณะที่คนทั่วๆ ไปเขาอยู่กับโลกอย่างนี้เขาไม่ร้อน พวกที่เคยอยู่ในสมาธิมาแล้ว ออกมากระทบโลก ถ้าเป็นพวกติดสมาธิ จะพบว่าโลกนี้อยู่ไม่ไหวเลย น่าเกลียด เร่าร้อน ไม่มีความสุขที่แท้จริง
ความสุขที่พระพุทธเจ้าท่านผ่านมา เจ้าชายสิทธัตถะผ่านกามสุข ท่านก็ผ่าน ฌานสุขท่านก็ได้ฌานที่สูงที่สุด คือได้เนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นอรูปฌานที่สูงที่สุดแล้ว ท่านก็ยังเห็นว่ามันไม่มีสาระแก่นสาร ไม่มีความสุขที่แท้จริง ท่านก็ลงมือค้นหาเส้นทางของท่าน ในที่สุดท่านก็พบเส้นทางของการเจริญสตินี้ ถ้าเราเจริญสติ เราจะเห็นอะไร เราจะเห็นทุกข์ แปลก อยากได้ความสุข แต่เริ่มต้นต้องเรียนจากทุกข์ก่อน เมื่อไหร่ไม่ทุกข์เมื่อนั้นก็สุขเอง ไม่ต้องหาความสุขหรอก ให้พ้นทุกข์ไปให้ได้ มันก็เจอความสุขเอาเอง
อริยมรรคมีองค์ 8
ฉะนั้นท่านก็มาหาเส้นทางของท่าน ในที่สุดท่านก็พบ เพราะบารมีท่านเต็มแล้ว ท่านหาได้ด้วยตัวของท่านเอง เส้นทางของอริยมรรคมีองค์ 8 ทางสายกลาง อริยมรรคมีองค์ 8 ย่อลงมาก็เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ในส่วนของปัญญา มันมีปัญญาขั้นต้น ปัญญาเบื้องต้น ก่อนที่จะเจอปัญญาในอริยมรรค ก็มีปัญญาขั้นต้น ปัญญาจากการอ่าน ปัญญาจากการฟัง ให้รู้วิธีปฏิบัติ รู้ว่าเราจะต้องฝึกตัวเองให้มีความเห็นถูก ให้มีความคิดถูก เห็นไหมเริ่มมาจากความคิดความเห็น ที่เราจมอยู่ในความทุกข์เพราะความคิดเราไม่ถูก ความเห็นเราไม่ถูก เราฟังธรรม เราก็ได้ความเห็นถูกในทางทฤษฎี เวลาคิดเราก็คิดไปตามทฤษฎี มีความเห็นถูกในทางทฤษฎี มีความคิดถูกในทางทฤษฎี แล้วก็ตั้งอกตั้งใจรักษาศีล
รักษาศีลในองค์มรรคไปสังเกตให้ดี เริ่มจากอะไร สัมมาวาจาๆ ไม่ได้เริ่มจากอย่าฆ่าสัตว์ อย่าลักทรัพย์ อย่าประพฤติผิดในกาม สัมมาวาจามีคำพูดถูก คำพูดนี้จะพูดออกมาให้คนอื่นได้ยิน หรือพูดอยู่ในใจ มันก็คือคำพูด คำพูดที่ประกอบด้วยความเห็นถูก ด้วยความคิดถูก มันก็เป็นคำพูดที่ถูก คำพูดที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ประกอบด้วยความคิดผิด มันก็เป็นคำพูดที่ผิด คำพูดที่ถูกคือตัวสัมมาวาจา มันมาจากสัมมาทิฏฐิความเห็นถูก มาจากสัมมาสังกัปปะ ความคิดถูก ใส่ความคิดความเห็นที่ถูก คำพูดมันก็ถูก
คำพูดถูก การกระทำมันจะถูก บอกแล้วว่าคำพูดมีทั้งที่พูดให้คนได้ยินกับคำพูดในใจ เวลาเราจะไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เห็นไหม ในใจเราคิดขึ้นก่อน มันพูดในใจก่อน อยากฆ่าตัวนี้ อยากขโมยคนนี้ อยากเป็นชู้คนนี้ มันคิดขึ้นมาก่อนในใจ มันพูดขึ้นในใจ อยากทำอย่างนี้ๆๆ เสร็จแล้วมันก็เลยสั่ง จิตมันก็เลยสั่งให้ร่างกายเราทำไปตามที่จิตมันคิดนึกปรุงแต่ง อย่างจิตมันอยากด่าเขา มันปรุงการด่า มันก็สั่งให้ร่างกายด่าออกมา มันโลภ มันก็ปรุงให้ร่างกายไปขโมยเขา หรือมันบ้ากาม จิตมันบ้ากาม มันก็ปรุงให้ร่างกายประพฤติผิดในกาม จะทำมาหากิน ก็คิดแต่เรื่องจะเอาเปรียบเขา
ฉะนั้นถ้าเรามีความเห็นถูก มีความคิดถูก มีคำพูดถูก คำพูดทั้งที่อยู่ในใจ คำพูดข้างนอกถูก การกระทำของเราก็ถูก คือสัมมากัมมันตะ ถ้าสิ่งเหล่านี้ถูก การเลี้ยงชีวิตต้องถูกแน่นอน เพราะเราจะรู้ว่า เราไม่ควรทำมาหากินด้วยการเบียดเบียนตัวเอง ไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่น ฉะนั้นการทำสัมมาอาชีวะจะเกิดขึ้น อาศัยความถูกๆ ทั้งหลายนั่นล่ะเป็นต้นเหตุ เมื่อมีความเห็นถูก มีความคิดถูก นี้เป็นส่วนปัญญาเบื้องต้น มีคำพูดถูก มีการกระทำถูก มีการเลี้ยงชีวิตถูก นี่เป็นการเริ่มฝึกฝนตัวเองแล้ว ถัดจากนั้นก็เป็นเรื่องของการพัฒนาจิต
ในองค์มรรคนั้น ธรรมะที่ตรงกับการพัฒนาจิตโดยตรงเลยก็คือสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ 3 ตัว สัมมาวายามะเป็นตัวชี้กรอบว่า ที่เราปฏิบัติมาทั้งหมดหรือมุ่งปฏิบัติไป ไม่ใช่มุ่งเอาดี เอาสุข เอาสงบ แต่มุ่งเพื่อลดละอกุศลที่กำลังมี มุ่งปฏิบัติเพื่อปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด ที่ลงมือปฏิบัตินั้นเพื่อให้กุศลที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น เพื่อให้กุศลที่เกิดแล้วเจริญขึ้น ขอย้ำคำว่ากุศลไม่ใช่บุญ บุญกับกุศลยังแตกต่างกัน บุญเป็นการทำความดีทั่วๆ ไป แต่กุศลเป็นการทำความดีโดยรู้ว่าทำไปเพราะอะไร
อย่างเราทำบุญใส่บาตรนี้ เราได้บุญอย่าว่าแต่ให้ข้าวกับพระเลย ให้ข้าวกับหมาก็ยังได้บุญเลย ทำทานก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง ทานมัย เป็นบุญ แต่ถ้าเราใส่บาตรแล้วก็โลภ หวังผลตอบแทน หวังว่าจะถูกหวย หวังอย่างโน้น หวังอย่างนี้ อันนั้นได้บุญ แต่ไม่มีกุศลหรอก เพราะโง่ กุศลแปลว่าฉลาด ฉลาดก็คือรู้เหตุรู้ผล รู้ว่าเราทำอะไรเพราะอะไร ที่เราทำทาน ถือศีล ภาวนา เพื่อลดละกิเลส เพื่อเจริญกุศล ตัวกุศลก็คือตัวศีล ตัวสมาธิ ตัวปัญญานี้ล่ะ เป็นรูปร่างของกุศล ตัวเนื้อแท้ของสิ่งที่เรียกว่ากุศลจริงๆ ก็คือตัวไม่โลภ ตัวไม่โกรธ ตัวไม่หลง
ถ้าเรารู้ตัวสัมมาวายามะ มันรู้ว่าความเพียรชอบ เพียรไปเพื่อลดละกิเลส เพื่อทำกุศลให้ถึงพร้อม แล้วถัดจากนั้น เราก็มาเจริญสติ ทำอะไรแล้วกิเลสที่มีอยู่ดับไป อกุศลที่มีอยู่ดับไป อกุศลใหม่ไม่เกิด ทำอย่างไรกุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิด ทำอย่างไรกุศลที่เกิดแล้วก็เจริญขึ้น ก็คือการเจริญสตินั่นเอง ทันทีที่เรามีสติ อกุศลที่มีอยู่จะดับทันที อกุศลใหม่จะไม่เกิดในขณะที่มีสติ ในขณะที่มีสตินั้น กุศลได้เกิดแล้ว เพราะตัวสติเป็นตัวกุศล แล้วถ้าเราฝึกมีสติเนืองๆ บ่อยๆ กุศลก็เจริญขึ้น เกิดเป็นสมาธิ เป็นปัญญาที่แก่รอบขึ้นมา ในที่สุดก็เกิดวิมุตติ เป็นโลกุตตรกุศล เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเจริญสติ
การเจริญสติไม่ใช่แปลว่าไม่กินเหล้า คนละเรื่องกัน ตามข้างๆ ขวดเหล้าชอบเขียน ดื่มสุราทำให้ขาดสติ สติจริงๆ คือสติปัฏฐาน สิ่งที่เรียกว่าสัมมาสติ พระพุทธเจ้าอธิบายคำว่าสัมมาสติด้วยสติปัฏฐาน คือการมีสติระลึกรู้กาย ระลึกรู้เวทนา ระลึกรู้จิต ระลึกรู้สภาวธรรม รูปธรรม นามธรรม กุศล อกุศลอะไรพวกนี้ ระลึกรู้ รู้เหตุรู้ผลของมัน นี่เรียกว่าเจริญธัมมานุปัสสนา ฉะนั้นถ้าเรามีสติ ขับรถไม่ตกถนน มีสติไหม มี แต่เป็นสติอย่างโลกๆ ถ้าสติอย่างแท้จริงก็คือ รู้สึกกาย รู้สึกใจไว้ นั่นล่ะตัวสัมมาสติ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหว รู้สึก
พอเรามีสติบ่อยๆ อย่างจิตเราไหลไปคิด เรารู้สึก รู้ทัน สติรู้ทันว่าจิตมันไหลไปแล้ว ทันทีที่สติระลึกรู้สภาวธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงตรงปัจจุบัน อย่างจิตไหลไปคิด รู้ว่าจิตไหลไปคิดปุ๊บ จิตที่ไหลไปคิดคือจิตฟุ้งซ่าน เป็นจิตมีโมหะ เรียกอุทธัจจะ เรามีสติรู้ว่าจิตไหลไป คือรู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านจะดับทันที พอมีสติ อกุศลจะดับทันที กุศลจะเกิดทันที ไม่ฟุ้งซ่านเกิดขึ้น คือสมาธิ มันจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ อย่างจิตเราโกรธ เรามีสติรู้ รู้จิตโกรธ ความโกรธจะดับ จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มีสมาธิขึ้นมา
เพราะฉะนั้นอาศัยสติระลึกรู้สภาวธรรม จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ เคลื่อนไหวอย่างนี้ ทีแรกก็เคลื่อนแล้วใจลอย เกิดสติระลึกได้ รูปมันกำลังเคลื่อนไหวอยู่ สมาธิคือความตั้งมั่นจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ ในตำราถึงสอนว่าถ้ามีสัมมาสติบริบูรณ์ สัมมาสมาธิก็จะบริบูรณ์ พอสัมมาสมาธิบริบูรณ์ จิตมันจะเป็นผู้รู้ขึ้นมา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สัมมาสมาธิก็จะทำหน้าที่ของมันต่อไป ถ้าเรามีสัมมาสมาธิ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือสัมมาญาณะ ความหยั่งรู้ที่ถูก หยั่งรู้รูปธรรม หยั่งรู้นามธรรมตามที่มันเป็น ก็จะเห็นมีญาณทัศนะ มีปัญญาเห็นมัน
สัมมาวิมุตติ
คำว่าญาณๆ ไม่ต้องตกใจ ญาณคือชื่อของปัญญา เพราะฉะนั้นการที่เรามีสัมมาสมาธิ มีจิตตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว มีสติระลึกรู้รูปนามที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง สัมมาญาณะก็จะมีขึ้นมา ความรู้ถูก ความเข้าใจถูกก็จะเกิดขึ้น ก็จะเห็นความจริง รูปธรรมนี้ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ นามธรรมก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จะเห็นอย่างนี้ เมื่อเห็นอย่างมากๆ แล้ว สุดท้ายสัมมาวิมุตติก็เกิดขึ้น
ทำไมวิมุตติยังต้องมีคำว่าสัมมา เพราะมิจฉาวิมุตติมี อย่างพวกนั่งสมาธิวูบหมดความรู้สึกตัว บอกว่าบรรลุมรรคผล นั่นมิจฉาวิมุตติ จิตตกไปในภูมิของอสัญญี อสัญญสัตตา หรือนั่งแล้วก็รู้โน่นรู้นี่ รู้เลข รู้หวย รู้อดีต รู้อนาคต รู้โน่นรู้นี่ไป ไม่ได้เห็นความเป็นจริงของรูปนาม กายใจ ไม่มีวิมุตติ เพราะไม่มีสัมมาญาณะ ไม่มีความหยั่งรู้ที่ถูก หยั่งรู้ที่ถูกก็คือ หยั่งรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรมนั่นล่ะ สุดท้ายวิมุตติมันก็เกิดขึ้น มีสัมมาวิมุตติ ความหลุดพ้นที่ถูกต้องคืออริยมรรคอริยผลจะเกิด
อย่างศาสนาอื่นเขาก็มี อย่างพวกพราหมณ์ ฮินดูอะไรนี้ เขาภาวนาไป จิตบรรลุโมกษะถือว่าเขานิพพานของเขา นิพพานแบบของเขา มันก็ไม่ใช่ตัวสัมมาวิมุตติ แต่เป็นวิมุตติแบบของเขา เป็นวิมุตติที่ยังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิด เพราะฉะนั้นแต่ละลัทธิ แต่ละศาสนาเขาก็มีเป้าหมายสูงสุดของเขา ตัวนั้น เป้าหมายสูงสุดนั่นล่ะ เป็นตัววิมุตติของเขา แต่มันไม่ใช่ตัวสัมมาวิมุตติ สัมมาวิมุตติก็คือตัวอริยมรรคกับอริยผลเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นถ้าสัมมาญาณะ ความหยั่งรู้ของเราถูกต้อง มากพอ
เพราะฉะนั้นเรามีจิตที่ตั้งมั่น มีสติระลึกรู้รูปนามด้วยจิตที่ตั้งมั่น มีสติระลึกรู้รูปนามเป็นการทำความเพียรอยู่แล้ว เป็นสัมมาวายามะอยู่แล้ว เป็นการพัฒนาสัมมาสติอยู่แล้ว แล้วก็ทำให้สัมมาสมาธิเกิดขึ้น พอเรามีสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ คือตัวปัญญาก็จะเกิดขึ้น มีปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ตัววิมุตติมันก็จะเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าท่านสอน บอกไม่มีใครทำจิตให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ จิตบรรลุมรรคผลนิพพานเองเมื่อปัญญาแก่รอบ
ปัญญาอยู่ๆ ไม่เกิดหรอก อาศัยสติกับสมาธิที่ถูกต้อง ถูกต้องก็คือเป็นสติ เป็นสมาธิเพื่อลดละอกุศล เจริญกุศล เราจะพัฒนาจิตใจในระดับนี้ได้ดี ต้องมีความคิดถูก มีความเห็นถูกในเบื้องต้นก่อน ก็ต้องมีคำพูดที่ถูก มีการกระทำที่ถูกมีการเลี้ยงชีวิตที่ถูก อันนั้นเป็นพื้นฐาน ถ้าคำพูดเราไม่ดี เรามาภาวนา อย่างไรมันก็ไม่ดีหรอก ถ้าการกระทำของเรายังผิดศีลอยู่ มาภาวนาอย่างไรมันก็ไม่ดีขึ้นมาได้หรอก อันนี้ถ้าเป็นโยมอาจจะไม่รู้สึก แต่พระรู้เลย พระพอทำผิดศีลนิดหน่อย ภาวนาไม่ได้เลย จิตเศร้าหมองเลย ไม่มีคนอื่นรู้ ตัวเองรู้เท่านั้นจิตเศร้าหมองทันทีเลย ภาวนาไม่ขึ้น ฉะนั้นพอศีลดี การที่จะมาฝึกจิตฝึกใจ ให้มีสติ มีสมาธิอะไรอย่างนี้ มันก็จะทำได้ดี
ฉะนั้นพวกเรายังฝึกจิตฝึกใจไม่ได้ดี ก็รักษาศีลไว้ให้ดีก่อน แล้วก็พยายามฝึก ฟังธรรมะ ศึกษาธรรมะไป ให้มีความเห็นถูก ให้มีความคิดถูก ความคิดถูกเป็นอย่างไร ความคิดถูกคือความคิดที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่นด้วยอำนาจของราคะ ด้วยอำนาจของโทสะ ด้วยอำนาจของโมหะ คิดไปด้วยอำนาจของราคะ เรียกว่ากามวิตก ตรึกไปด้วยอำนาจของราคะ คิดเลอะเทอะไป คิดไปในทางไม่ดี เรียกว่าพยาบาทวิตก พยาปาทะวิตก แล้วคิดไปด้วยอำนาจโมหะ เบียดเบียนคนอื่นสัตว์อื่นด้วยโมหะ อย่างคิดว่าตายแล้วสูญ เพราะฉะนั้นโกงเขาได้ก็โกง ปล้นเขาได้ก็ปล้น เป็นชู้กับเขาได้ก็เป็น อันนี้เบียดเบียนทั้งตัวเอง เบียดเบียนทั้งผู้อื่นด้วยความเห็นผิด มีวิหิงสาวิตก เบียดเบียนไปด้วยอำนาจของโมหะ
เราต้องฝึกมีความคิดก็ถูก มีความเห็นถูก มีความคิดถูก มีคำพูดถูก มีการกระทำถูก มีการเลี้ยงชีวิตถูก แล้วก็ลงมือภาวนา มีเป้าหมายที่ถูก ลดละกิเลสเจริญกุศล จะลดละกิเลสเจริญกุศลได้ ต้องมีสติ ระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจไป พอมีสติถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องหรือตัวผู้รู้ จิตที่เป็นผู้รู้คือจิตที่มีสมาธิที่ถูกต้องมันจะเกิดขึ้นเอง โกรธแล้วรู้ว่าโกรธ ความโกรธดับ ตัวรู้จะเกิด โลภรู้ว่าโลภ ความโลภดับ ตัวรู้จะเกิดอัตโนมัติเลย ฟุ้งซ่านใจลอย รู้ว่าฟุ้งซ่าน รู้ว่าใจลอย ความฟุ้งซ่านใจลอยดับ ผู้รู้เกิด จิตตั้งมั่นทันที ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึกขึ้นมา จิตตั้งมั่นทันที
ฉะนั้นอาศัยสติที่บริบูรณ์ จะทำให้สัมมาสมาธิเจริญขึ้นมาบริบูรณ์ได้ พอจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว สติระลึกรู้รูป รู้นามอะไรนี่ จะเห็นแต่ไตรลักษณ์ ไม่ได้เห็นเรื่องอื่นหรอก พอเห็นอย่างแท้จริง เรียกว่าเราเจริญในญาณทัศนะที่ถูกแล้ว ทำวิปัสสนาญาณอยู่ถูกต้องเรียกสัมมาญาณะ ตัววิปัสสนาญาณนั่นล่ะ สุดท้ายอริยมรรคอริยผลมันก็เกิด สัมมาวิมุตติเกิดขึ้น นี่คือเส้นทาง
อันนี้เล่าตั้งแต่ข้างต้นเลยจนถึงสัมมาวิมุตติ หลังจากนั้นมันไม่มีคำพูดแล้ว หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยสอนว่า คนที่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เขาไม่รู้สึกหรอกว่าเขาบรรลุอะไร ไม่ได้รู้สึกว่าฉันเป็นพระอรหันต์ ถ้ายังรู้สึกฉันเป็นพระอรหันต์ เธอไม่ใช่พระอรหันต์ ถ้ารู้สึกอย่างนั้นไม่ใช่หรอก เห็นอะไร มันก็เห็นรูปธรรม มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้ นามธรรมทั้งหลายมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ ไม่มีตัวเราไม่มีของเรา มันว่าง มันว่างเปล่า
พูดถึงคำว่าว่างๆ เมื่อก่อนหลวงพ่อพุทธทาสท่านพูดเรื่องว่างๆ เยอะ พวกที่เรียนตำรามากโจมตีท่านใหญ่เลย จิตว่างไม่มี จิตไม่เคยว่างหรอก จิตจะต้องมีอารมณ์ ท่านไม่เคยเถียงด้วยเลย เพราะท่านรู้ว่าเถียงไปก็ไร้ประโยชน์ เรื่องมีจิตก็ต้องมีอารมณ์นั้น ท่านก็รู้ ทำไมท่านจะไม่รู้ แต่ท่านพูดถึงจิตว่าง มันว่างอีกระดับหนึ่ง ถ้าเราภาวนา เราจะเห็นเลย จิตมันว่างจริงๆ ว่างจริงๆ เมื่อไหร่จิตพ้นจากความปรุงแต่ง เราก็จะเห็นจิตว่างนั่นล่ะ ถ้าจิตยังหลงอยู่ในความปรุงแต่ง จิตก็ไม่ว่าง ทำไมจิตยังปรุงแต่งอยู่ เพราะจิตมีตัณหา ทำไมจิตมีตัณหา เพราะจิตยังโง่อยู่ มันยังมีอวิชชาอยู่ ฉะนั้นท่านพูดเรื่องว่างๆ ก็ถูกของท่าน ถูก แต่มันว่างคนละแบบกับที่คนทั่วๆ ไปเขารู้จัก ถ้าเราภาวนา เราไปดู มันอัศจรรย์ธรรมะ มันพูดไม่ออก มันไม่มีคำพูดหรอก ค่อยๆ ภาวนาไป.
วัดสวนสันติธรรม
10 ตุลาคม 2564