อุบายของครูบาอาจารย์

เทศน์มานานแล้วหลายสิบปีแล้ว หลวงพ่อเรียนจากครูบาอาจารย์ เรียนไม่มาก ฟังธรรมนิดหน่อย ครูบาอาจารย์ที่ไปเรียนด้วยส่วนมากท่านอายุเยอะ เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นรุ่นโตๆ หน่อย ฉะนั้นท่านพูดไม่มาก ไม่กี่ประโยค เราฟังแล้วเอามาทำเอา พอทำไปช่วงหนึ่งก็ขึ้นไปกราบท่าน ไปรายงานผลการปฏิบัติ “พ่อแม่ครูอาจารย์สอนผมอย่างนี้ ผมไปทำอย่างนี้ มีผลอย่างนี้ ถูกหรือไม่ถูก ถ้าไม่ถูก ก็ขอให้พ่อแม่ครูอาจารย์ช่วยบอกด้วย มันผิดตรงไหน จะแก้ไขอย่างไร ถ้าถูกแล้วพ่อแม่ครูอาจารย์ช่วยบอกด้วย ทำอย่างไรจะเจริญยิ่งกว่านี้อีก แล้วพัฒนาไม่หยุด”

ส่วนใหญ่ก็ไปถามท่านแค่นี้ ท่านก็จะบอกว่าทำถูกแล้วไปทำอีก หลวงพ่อต้องถาม แล้วบางครั้งไม่ได้ถาม บางทีครูบาอาจารย์ท่านก็บอกให้เลย ที่ต้องอาศัยครูบาอาจารย์แก้ปัญหาการปฏิบัติให้ มีทั้งหมด 7 ครั้งเท่านั้น พอเราทำผิดท่านก็แก้ให้ นอกนั้นผิดหรือถูกเราพิจารณาด้วยตัวเอง ใช้โยนิโสมนสิการ สังเกตเอา สิ่งที่เราทำอยู่นี้ มันสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าไหม สอดคล้องกับคำสอนของครูบาอาจารย์หรือเปล่า อย่างเราภาวนาแล้วกิเลสไม่ลดเลย ไม่ใช่ ต้องไม่ถูก ภาวนาแล้วมันต้องลดละกิเลสได้ จิตใจต้องเป็นอิสระมากขึ้นๆ ได้ ปล่อยวางได้

ถ้าภาวนาแล้วจิตใจสว่างไสว สงบร่มเย็นอยู่อย่างนั้นนานๆ ต้องเฉลียวใจ มันคงมีอะไรผิดแล้ว ภาวนาจนจิตสว่างไสว ฟังแล้วดี จิตมีความสุข มีความสงบ ไม่มีกิเลส ดูแล้วดี แต่มันขัด ขัดกับที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านบอกจิตไม่เที่ยง ทำไมจิตเราเที่ยง ท่านบอกจิตมันเป็นทุกข์ ทำไมจิตเราเป็นสุข ท่านบอกว่าจิตเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ทำไมเราบังคับได้ หลวงพ่อใช้วิธีสังเกตเอาแบบนี้ มันต้องมีอะไรผิด ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตไป บางเรื่องเฉลียวใจนิดหนึ่ง ก็เข้าใจแล้วมันผิดตรงนี้ๆ

บางเรื่องใช้เวลาสังเกตนาน อย่างบางครั้งภาวนา เราคิดถึงการปฏิบัติปุ๊บ จิตมันจะไปสร้างภพๆ หนึ่งขึ้นมา คือภพของนักปฏิบัติ พวกเราร้อยละร้อย เวลาภาวนา ปฏิบัติ ก็สร้างภพทั้งนั้น แล้วไม่รู้ว่ามันเป็นภพ ค่อยๆ สังเกตแล้วก็มองไม่ออก ว่าจิตมันไปสร้างภพขึ้นมาตอนไหน รู้แล้วว่าจิตไปติดในภพบางอย่าง มันนิ่ง มันสงบ มันสว่าง มันสบาย มันเหมือนไม่มีกิเลส ก็ใช้ความสังเกตเอา สังเกตที่ดีมากๆ เลย ตอนเราออกจากสมาธิ หรือถ้าเราเข้าสมาธิไม่ได้ ขอแนะนำตอนตื่นนอน

ตอนตื่นนอนอย่ามัวบิดขี้เกียจอยู่ พอตื่นนอนปุ๊บ แล้วเราคิดถึงการปฏิบัติปั๊บ จิตมันจะสร้างภพของนักปฏิบัติทันทีเลย มันจะเคลื่อน มันเคลื่อนไปสร้างความนิ่ง ความสว่าง ความสบาย ความสุขอะไรขึ้นมา แล้วค้างอยู่ตรงนั้น ถ้ามันเข้าไปติดแล้ว ดูยากว่ามันเกิดอะไรขึ้น จะรู้สึกว่า แหม มันสว่างๆ สบายๆ อยู่อย่างนั้น ดูไม่ออกว่ามันเกิดอะไรขึ้น หลวงพ่อสังเกตเอาตั้งแต่ตอนตื่น ตื่นนอนปุ๊บคิดถึงการปฏิบัติ ทันทีที่คิดถึงการปฏิบัติจิตจะทำงานทันทีเลย ไปสร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา แล้วก็ไปตกค้างอยู่ในภพอันนั้น มองไม่ออกแล้ว เพราะมันสร้างเสียจนชิน แต่ตอนที่เราหลับ จิตไม่ได้สร้างภพของนักปฏิบัติ มันสร้างตอนที่เราตื่นขึ้นมา แล้วเราไปคิดว่าเราจะปฏิบัติอย่างไรดี จิตมันจะสร้างภพของนักปฏิบัติทันทีเลย

ส่วนใหญ่หลวงพ่อใช้วิธีสังเกตเอาอย่างนี้ สังเกตว่าจิตมันไปสร้างอะไร มันไปปรุงอะไรขึ้นมาแล้วเรารู้ไม่ทัน จิตก็ไปติดไปข้องอยู่อย่างนั้น บางทีภาวนาไปเรื่อยๆ อาการอย่างโน้นอาการอย่างนี้ เกิดมากมาย บางครั้งเกิดปัญญามากมาย ธรรมะทั้งหลาย มันเหมือนเรานึกถึงเท่านั้นก็เข้าใจขึ้นมาหมดเลย แล้วสามารถเชื่อมโยงธรรมะแต่ละเรื่องๆ มันสามารถเชื่อมโยงเข้ามาอยู่ด้วยกันได้ทั้งหมดเลย รวมลงได้หมดเลย เราก็รู้สึก แหม ดีจังเลย

เราภาวนาแล้วเกิดสติ เกิดปัญญา อย่างนี้น่าจะดี มีปัญญาเยอะ แต่ภาวนาไปแล้วก็เริ่มสังเกต มีปัญญาเยอะ ทำไมจิตใจเรายิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ เครียดขึ้นเรื่อยๆ ต้องมีอะไรผิด ค่อยๆ สังเกตเอา โอ๊ย เราไปยึดถือปัญญา ยินดีพอใจในปัญญา ภาวนาแล้วจิตก็ฟุ้งซ่านในธรรมะ อันนี้เราเจอแทบทุกคน ภาวนา มันจะมีช่วงที่เราเจริญวิปัสสนาแล้ว แล้วกำลังของสมาธิมันตกลง มันเกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้น วิปัสสนูปกิเลสมี 10 อย่างไปถามหลวงพ่อกูเกิลดู มี อย่างตัวที่เล่านี้เป็นตัวปัญญา มันรอบรู้มาก แตกฉานมาก ธรรมะทั้งหลายลิงก์เข้าด้วยกันได้หมดเลย

เราก็สังเกต เอ๊ะ ทำไมเรายิ่งภาวนา จิตใจเรายิ่งหนัก ต้องมีอะไรผิดแล้ว ก็สังเกตไปเรื่อย สุดท้ายก็เข้าใจ เราไปยึดในตัวความรู้ เราภาวนา เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมา เข้าไปยึดถือเอาไว้ ก็ไม่ถูกอีกแล้ว กลายเป็นภาระของจิต ก็เลยมานึกถึงพระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “เราภาวนา ไม่ได้เอาชื่อเสียง ไม่ได้เอาลาภสักการะ” อย่างเป็นพระบวชเข้ามาไม่ได้เพื่อชื่อเสียง เพื่อลาภสักการะ เพื่อตำแหน่งชั้นนั้นชั้นนี้ ไม่ใช่เพื่อความมีศีลที่ดี ไม่ใช่เพื่อความมีสมาธิที่ดี ไม่ใช่เพื่อความมีปัญญา แต่ว่าเป็นไปเพื่อความปล่อยวาง เพื่อวิมุตติความหลุดพ้น

 

ปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น

ฉะนั้นเราภาวนา บางทีเราก็ไปติดอยู่ในขั้นทำทาน บ้าทำทาน มีความสุขอยู่กับการทำทาน เพลินๆ เมื่อก่อนก็มีพวกเราบางคน โอ๊ย ทำบุญทำทาน ทำแล้วก็มีความสุขตาปรอยๆ อยู่อย่างนั้นทั้งวัน นึกทีไรก็มีความสุข ถามว่าดีไหม ก็ดี ดีกว่าคนไม่ทำทาน แต่ถ้าหยุดอยู่แค่นั้น พระพุทธเจ้าบอกไม่ดี ท่านไม่สรรเสริญความดีที่มันหยุดนิ่งอยู่กับที่ บางคนภาวนาก็อยากมีชื่อเสียง ใจมันจะอยากหาบริวาร เที่ยวสอนคนโน้น เที่ยวสอนคนนี้ เขาไม่ได้เรียกให้สอนก็อยากจะสอนเขา เที่ยวไปทักจิตเขาไปอย่างโน้นอย่างนี้ อยากดัง อันนี้พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สรรเสริญ มีชื่อเสียง มีคนนับถือ เป็นภาระ ไม่ใช่เรื่องดี

บางคนก็คลุ้มคลั่งกับการถือศีล ถือศีลแล้วก็ภูมิอกภูมิใจ แต่ละวันก็นั่งนับศีล ฉันมีศีลเท่านั้นเท่านี้ อิ่มอกอิ่มใจที่ได้ถือศีล ถามว่าดีไหม ถือศีล ดี แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นก็จะเครียด จะเดินไปตามถนน บางพวก บางศาสนา เขามีไม้กวาดไว้อันหนึ่ง เวลาเขาจะเดินเขาต้องกวาดพื้นไปก่อน เพื่อไม่ให้เหยียบสัตว์ หารู้ไม่ว่าตอนกวาด สัตว์อาจจะขาหักไปหลายตัวแล้วก็ได้ ตัวเล็กๆ ระวังเรื่องศีลจนกระทั่งเครียดไปหมดเลย จะทำอะไรก็เครียดๆๆๆ กังวลแต่เรื่องศีล

รักษาศีลดีไหม ดี แต่รักษาไม่เป็น มีโทษ รักษาแล้วเครียด ฉะนั้นเราไม่ได้ภาวนา เราไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพื่อจะต้องเอาศีลที่ Perfect แต่ว่าศีลต้องมี แต่ไม่ถือศีลจนกระทั่งกิเลสเกิด เราจะเคยเห็นไหมคนถือศีลแล้วกิเลสแรง กูเก่ง กูดีกว่าคนไม่มีศีล เทียบเขาเทียบเรา นี่มันกิเลส กิเลสชื่อมานะ ฉะนั้นหลายๆ คนถือศีลแล้วก็กูดีกว่าคนอื่น กูเก่งกว่าคนอื่น คนอื่นมันเลว นี้ก็คือกิเลส กิเลสของคนถือศีลที่เราไม่เห็น มันจะเทียบเขาเทียบเรา กูดีกว่าเขา เขาแย่กว่าเราอะไรอย่างนี้

บางคนภาวนาก็เพื่อสมาธิ มุ่งทำจิตให้สงบ ให้จิตสว่างไสว หรือต้องการรู้โน่นรู้นี่ ระลึกชาติได้ รู้อดีต รู้อนาคต รู้ว่าใครตายแล้วไปเกิดที่ไหน รู้ว่าจิตใจของคนอื่นตอนนี้เป็นอย่างไร สนใจแต่เรื่องที่เกิดจากอำนาจของสมาธิพวกนี้ หรือว่าไปเข้าสมาธิแล้วก็สว่างไสว สงบ อยู่อย่างนั้น นาน ออกจากสมาธิมาเดี๋ยวก็รีบกลับเข้าสมาธิใหม่ หลวงพ่อก็เคยเป็น ตอนนั้นจิตมันชอบเข้าสมาธิอยู่ แล้วไปเจอหลวงปู่คำพันธ์ หลวงปู่คำพันธ์ท่านก็สอน สอนดีนะ คนรู้จักท่านในฐานะพระเกจิ ปลุกเสกพระเครื่องเยอะแยะไปหมด

หลวงพ่อไปกราบท่าน ไม่ได้กราบในฐานะพระเกจิ เรารู้ว่าท่านเป็นพระกรรมฐาน ก็ไปนั่งอยู่กับท่าน ภาวนาของเราไปเรื่อยๆ ใจสบาย สบาย อยู่เป็นวันๆ ก็อยู่ได้ คนเขาไปเช่าวัตถุมงคลท่าน แล้วเอามาให้ท่านเสกให้อีก ท่านก็ทำให้ ใครขออะไรก็ให้ ยอม จนกระทั่งคนไม่มีแล้ว ท่านถึงหันมาพูดกับหลวงพ่อ ท่านสอนดี ยังจำได้ ท่านบอกว่า “เราเดินทางไกล เราจะไปสู่แผ่นดินซึ่งอุดมสมบูรณ์ แต่ว่าพอเราเดินทางมา ท่ามกลางทะเลทรายร้อนแรง เราไปเจอแอ่งน้ำเล็กๆ มีต้นไม้ เราก็ยินดีพอใจไปนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ มีน้ำอาบ มีน้ำกิน ไม่ขาดแคลน มีแต่ความสุข แล้วเราไม่เดินต่อ เราไม่ฝ่าทะเลทรายต่อไป ติดอยู่ที่โอเอซิสอย่างนั้น”

ท่านไม่ได้ใช้คำว่าโอเอซิส ท่านบอกว่า “มันเดินไปในที่แห้งแล้งกันดาร ไปเจอที่มีน้ำ มีต้นไม้ร่มเย็น แล้วก็ไปอยู่ตรงนั้น แล้วก็ยินดีพอใจอยู่ตรงนั้น ไม่ยอมเดินต่อ” นี่โดนท่านเข่นเอา เรารู้เลยว่าเอาแต่สมาธิแล้วไม่เดินปัญญา ก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติ ที่จริงหลวงพ่อไม่ชอบสมาธิเท่าไรหรอก ก็ทำสมาธิมาแต่เด็ก ทำอยู่ 22 ปี แล้วไม่ได้อะไร มาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนให้ดูจิตแล้วมันเกิดปัญญาขึ้นมา ก็เลยดูถูกสมาธิ ชื่นชมในปัญญา ชื่นชมปัญญามาก ก็ผิดพลาด โน่นก็รู้ นี่ก็รู้ ไม่รู้อย่างเดียว ตอนนี้กิเลสอะไรกำลังเกิดในใจ ไม่เห็น มีแต่ความรู้ข้างนอก ต่อมาก็สังเกต อือ ต้องทำสมาธิด้วย ก็ทำสมาธิ พอทำสมาธิก็มีความสุข มีความสงบ ติดอยู่อย่างนั้น ว่างๆ สว่าง สบาย

หลวงปู่คำพันธ์ท่านก็พูดเหมือนเล่านิทานให้ฟังว่า “คนมันเดินทางไปท่ามกลางความแห้งแล้ง ไปเจอบ่อน้ำ ไปเจอต้นไม้ ก็ไปนอนอยู่ใต้ต้นไม้ไม่ยอมเดินต่อ” ท่านพูดยิ้มๆ คนอื่นมันฟังก็ไม่เข้าใจหรอก ว่าอยู่ๆ ท่านมาพูดเรื่องอะไร ต้นหมากรากไม้อะไร เราฟังปุ๊บเรารู้แล้ว ท่านสอนเราแล้ว เตือนเราแล้ว อย่าติดสมาธิ สงบ สบาย มีแต่ความสุขอยู่อย่างนั้น ก็นึกถึงที่พระพุทธเจ้าสอน เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อเอาสมาธิ ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อศีล เพื่อสมาธิ เพื่อปัญญา ไม่ได้เอาสักอย่างหนึ่ง

 

“เราจะเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ก็ต้องเห็นความจริง
จนกระทั่งจิตมันหมดความยินดีหมดความยินร้ายในรูปธรรมในนามธรรมทั้งปวง”

 

เราปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นต่างหาก เราจะเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ก็ต้องเห็นความจริง จนกระทั่งจิตมันหมดความยินดีหมดความยินร้าย ในรูปธรรมในนามธรรมทั้งปวง ที่เรายึดๆ ถ้าไม่ยึดรูปธรรมก็ยึดนามธรรม ไม่ยึดนามธรรมก็ไปยึดรูปธรรม ที่จริงก็คือยึดทั้งหมด อะไรปรากฏขึ้นมาก็ยึดอันนั้น ร่างกายปรากฏก็ยึดกาย นามธรรมปรากฏก็ยึดนามธรรม จิตใจเราไปยึดถือ เพราะฉะนั้นเราไม่มีทางพ้นทุกข์ได้หรอก ถ้าเราไปยึดสิ่งต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ไม่เที่ยง ล้วนแต่ทนอยู่ไม่ได้ ล้วนแต่บังคับไม่ได้ เราไปยึดของซึ่งมันเหลวไหลพวกนี้ เพราะฉะนั้นเราจะถึงความสงบสุขที่แท้จริงไม่ได้หรอก

เราจะหมดความยึดถือ เราต้องเห็นความจริง ยึดกายก็เห็นความจริงของกาย ยึดในความสุข เกลียดชังในความทุกข์ เราก็เห็นความจริงของเวทนา ยึดในกุศล เกลียดอกุศล เราก็ต้องเห็นความจริงของสังขาร สังขารขันธ์ ความปรุงดี ความปรุงชั่วทั้งหลาย หรือเราเห็นจิต จิตทำงาน มันทำได้เอง เดี๋ยวมันก็ทำงานไปก็เกิดสุข ทำงานไปก็เกิดทุกข์ ทำงานไปเกิดกุศล ทำงานไปเกิดอกุศล เฝ้ารู้เฝ้าดูไป เห็นไตรลักษณ์ซ้ำๆๆ มันก็วาง ไม่ยินดีในจิตที่มีความสุข เพราะรู้ว่ามันไม่เที่ยง ไม่ยินร้ายในจิตที่มีความทุกข์ เพราะรู้ว่ามันไม่เที่ยง ไม่ยินดีในจิตที่เป็นกุศล เพราะรู้ว่ามันไม่เที่ยง ไม่ยินร้ายในจิตที่เป็นอกุศล เพราะรู้ว่ามันไม่เที่ยง

พอเราเห็นไตรลักษณ์ซ้ำๆๆ ในที่สุดจิตก็หมดความยินดียินร้าย จิตก็เป็นกลาง พอจิตมันไม่ยินดี ไม่ยินร้าย มันเป็นกลาง มันก็ไม่ดิ้นรน จิตที่มันไม่ดิ้นรน ไม่มีความอยาก ไม่มีความดิ้นรนเกิดขึ้น มันก็เข้าถึงสันติสุข มันมีความสงบ พระนิพพานไม่ใช่สิ่งอื่นหรอก พระนิพพานคือความสงบ อย่าไปวาดนิพพานเป็นเมืองๆ หนึ่ง อันนั้นอาจจะเป็นนิมิต บางคนภาวนาแล้วก็เห็นโลกพระนิพพาน อันนั้นเป็นนิมิต บางท่านท่านเข้าใจความจริง อย่างบางองค์ท่านภาวนาดี แต่ท่านชอบพูดถึงโลกนิพพาน อันนั้นเป็นอุบาย เป็นอุบายให้เราอยากได้นิพพานไปก่อน แล้วพอเราเจริญสติปัฏฐานมากๆ เราไม่ยึดรูป ไม่ยึดนาม ก็รู้จักนิพพานตัวจริงได้ เป็นอุบายของท่าน บางองค์

 

อุบายเพื่อปลุกเร้าให้เราก้าวไปข้างหน้า

เมื่อก่อนหลวงพ่อหัดภาวนาใหม่ๆ หลวงพ่อนึกปรามาสครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง คือหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ นึกปรามาสท่าน พอภาวนาเข้าใจแล้ว โอ้ ต้องกราบท่านเลย ครูบาอาจารย์ท่านก็เตือน ครูบาอาจารย์ท่านมีฤทธิ์เยอะ อย่างหลวงปู่สิม ท่านเคยเตือน เราไม่ได้พูดกับท่านเรื่องหลวงพ่อฤๅษีเลย อยู่ๆ ท่านก็พูดขึ้นมาเองเลย อย่าไปดูถูกหลวงพ่อฤๅษีนะ ท่านว่าอย่างนี้ เราก็เฉลียวใจ เอ๊ะ ทำไมท่านสอนนิพพานมีพระพุทธเจ้ามานั่งเข้าแถว มันก็มีรูปธรรม มีนามธรรม แต่เดิมท่านสอนสติปัฏฐาน ยุคแรกๆ แล้วท่านพบว่าคนส่วนใหญ่มันรับไม่ได้

คนส่วนใหญ่มันยังติดในวัตถุ ในรูปธรรมในนามธรรมอยู่ ท่านก็เอาสิ่งเหล่านี้มาหลอกมาล่อ อย่างสอนเรื่องให้เราเห็นนรก เห็นสวรรค์ ตรงนี้ถ้าเราเห็น ศีลเราจะดีขึ้น นี่เป็นเรื่องอุบายทั้งนั้น หรือนิพพานมันเป็นโลก พระพุทธเจ้าอยู่ตรงนี้ๆ อะไรอย่างนี้ ที่จริงนิพพานก็คือสันติ ความสงบ นิพพานมีสันติลักษณะ พระพุทธเจ้าก็บอก ในนิพพานไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีอากาศ ไม่มีวิญญาณ ไม่มีอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน ไม่มีพระอาทิตย์ ไม่มีพระจันทร์

ถ้ามันไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม มันก็มีรูปไม่ได้ รูปนี้มันก็อาศัยดิน น้ำ ไฟ ลม เกิดขึ้นมา ก็ไม่ได้มีรูป หรือรูปนิมิต ไม่ได้อาศัยดิน น้ำ ไฟ ลม แต่อาศัยสมาธิสร้างรูปนิมิตขึ้นมา มันก็เป็นของไม่เที่ยงอยู่ดี เพราะมันมีเหตุเกิด เหตุของรูปนิมิตก็คือการทำสมาธิ ก็สร้างรูปนิมิตขึ้นมา สิ่งใดเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับสิ่งนั้นก็ดับ ที่พระอัสสชิท่านสอน “ธรรมใดเกิดจากเหตุ พระตถาคตเจ้าแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น และแสดงความดับไปแห่งธรรมนั้น พระตถาคตเจ้ามีปกติกล่าวอย่างนี้ สอนอย่างนี้ “

เพราะฉะนั้นถ้ายังมีรูปอยู่ พระพุทธเจ้าบอกมันไม่มี แต่ว่าคนซึ่งมันติดรูป อยู่ๆ ไปสอนถึงนิพพานตัวจริง ไม่มีใครเอาหรอก มันไม่สนุก มันรู้สึกอย่างนั้น มันติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ มันเคยติด ติดในรูปธรรม ติดในนามธรรม อยู่ๆ จะไปสอนให้วางรูปวางนาม มันไม่เอา ก็ต้องหลอกไว้ก่อน คล้ายๆ ครูบาอาจารย์ทำวัตถุมงคล หลอกพวกเราให้ถือศีล แจกวัตถุมงคลแล้วก็บอกต้องรักษาศีล ถ้าไม่รักษาศีลแล้วมันเสื่อม มันจะเสื่อมได้อย่างไร รูปพระพุทธเจ้า เรานึกถึงพระพุทธเจ้าไม่ต้องมีรูปเลย เราก็ยังมีคุณงามความดีเกิดขึ้นในใจเราได้ มันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่ท่านก็หลอกล่อ มันเป็นอุบายของท่าน ให้คนติดวัตถุไว้ก่อนๆ แล้วพอมีสติมีปัญญามากขึ้นก็วาง

อย่างหลวงปู่ดู่ บอกให้ติดวัตถุมงคลไปก่อน ดีกว่าติดสิ่งอัปมงคล อุบายของท่าน ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ก็มีอุบาย ถ้าสอนตรงไปตรงมาบางทีรับไม่ไหว อย่างหลวงพ่อสอน หลวงพ่อไม่เกรงใจ หลวงพ่อสอนตรงไปตรงมา รับได้ก็ได้ รับไม่ได้ก็ช่าง กรรมของสัตว์ ใครจะไปอุ้มใครไปนิพพานได้ ก็ต้องไปด้วยตัวเอง สอนอย่างตรงไปตรงมาให้ นิพพานไม่ใช่โลกๆ หนึ่ง นิพพานไม่มีรูปธรรม นิพพานไม่มีนามธรรม นิพพานก็คือนิพพาน

นิพพานมีลักษณะอย่างไร นิพพานมีลักษณะสงบ สันติ สงบเพราะอะไร สงบเพราะไม่มีกิเลส สงบเพราะไม่มีตัณหา สงบเพราะไม่มีความดิ้นรนปรุงแต่ง เมื่อไม่มีความดิ้นรนปรุงแต่ง มันจะมีรูปมีนามขึ้นมาได้อย่างไร นามรูปมันเกิดจากความปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นไม่มีความปรุงแต่งก็ไม่มีรูป ไม่มีนาม แล้วมันมีความสุขอย่างไร ก็มันไม่ถูกเสียดแทงอีกต่อไป มันเป็นสันติสุขจริงๆ ไม่มีอะไรมากระทบกระทั่ง ไม่มีอะไรมาเสียดแทง พระพุทธเจ้าท่านบอกตรงไปตรงมาที่สุดเลย แล้วพวกเรารับไม่ค่อยได้

ท่านบอก “นิพพานไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีอากาศ ไม่มีช่องว่าง ไม่มีวิญญาณ ไม่มีความไม่มีอะไรเลย ไม่มีพระอาทิตย์ ไม่มีพระจันทร์ ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน” ฟังแล้วไม่น่าอยู่เลย กลางวันก็ไม่มี กลางคืนก็ไม่มี มันอยู่ใน Twilight Zone หรืออย่างไร มันคิดแต่จะอยู่ มันไม่เคยรู้จักสิ่งซึ่งเหนือรูปธรรมนามธรรมขึ้นไป พอฟังแล้วมันรับไม่ได้ ครูบาอาจารย์รุ่นหลังๆ ก็เลยหลอกๆ เอา สร้างอะไรที่ปลุกเร้าให้ก้าวไปข้างหน้า อย่างทำวัตถุมงคลมาเพื่อให้เรารักษาศีล เพื่อให้เรานั่งสมาธิ แล้วก็สอนโน่นสอนนี่ เห็นนรก เห็นสวรรค์ เพื่อเราจะได้ไม่ได้ทำผิดศีล เป็นอุบายมากมาย

 

วิธีลัดสั้นที่สุดก็คือเรียนรู้เข้ามาที่จิต

ถ้าเรามัวแต่ติดอุบาย เราก็ไปไหนไม่ได้หรอก แหวกอุบายไม่ออก ถ้าแหวกออกก็จะเข้าใจร้อง โอ๊ย สติปัญญาครูบาอาจารย์ไม่ธรรมดา สอนคนโง่ๆ อย่างเราให้ก้าวหน้าขึ้นมาได้ ด้วยอุบายวิธีของท่านมากมาย สอน แต่พอเราเข้าใจแล้ว มันมีวิธีที่ลัดสั้นที่สุดเลย ไม่เห็นจะต้องอ้อมค้อมมาไกลแสนไกล ลัดสั้นเลยก็คือเรียนรู้เข้ามาที่จิตเลย กุศลเกิดที่จิต อกุศลเกิดที่จิต มรรคผลเกิดที่จิต ไม่ได้ที่อื่นหรอก มรรคผลไม่ได้เกิดที่ดิน น้ำ ไฟ ลม กุศลไม่ได้เกิดที่ดิน น้ำ ไฟ ลม อกุศลก็ไม่ได้เกิดที่ดิน น้ำ ไฟ ลม มันเกิดที่จิตนี้ล่ะ

ฉะนั้นถ้าเราภาวนา สุดท้ายมันจะตัดตรงเข้ามาที่จิต ครูบาอาจารย์หลายองค์ ตอนหนุ่มๆ เวลาท่านสอน ไปฟังธรรมะที่เขาบันทึกไว้ สมัยท่านหนุ่มๆ ถ้าสายวัดป่า ท่านจะสอนพุทโธพิจารณากายกัน พอสอนพุทโธไป พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธกันทีหนึ่งหลายๆ ปีเลย จนจิตสงบ พอจิตสงบแล้วก็ไม่ยอมทำอะไร นอนอยู่ใต้ต้นไม้ในโอเอซิสก็ไม่ไปไหนแล้ว ท่านก็ไล่ให้ออกมาเจริญปัญญา ออกมาพิจารณา พิจารณาอะไร ให้พิจารณาจิต มันไม่มีอะไรให้พิจารณา จิตที่ทรงสมาธิมันว่างสว่าง สบาย สงบอยู่อย่างนั้นเป็นปีก็ได้

เพราะฉะนั้นท่านเลยให้พิจารณาร่างกาย ท่านฉลาด พอทำสมาธิเสร็จแล้วก็มาพิจารณากาย พอพิจารณากายทีแรกก็ใช้การคิดพิจารณาไป ยังไม่ขึ้นวิปัสสนาหรอก พิจารณาไปช่วงหนึ่งพอจิตเริ่มฟุ้งซ่านกลับมาทำสมาธิ แล้วต่อไปจิตมันเห็นไตรลักษณ์ของร่างกายได้เอง แล้วต่อไปก็จิตมันก็เห็นไตรลักษณ์ของจิตได้เอง ท่านเดินมาอย่างนี้ ฉะนั้นตอนสมัยท่านหนุ่มๆ ท่านจะสอนเหมือนกันหมด เข้าวัดไหนก็มีแต่พุทโธพิจารณากาย

ตอนหลวงพ่อเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ปี พ.ศ.2525 เราเข้าใจจิตแล้ว เข้าใจจิตว่าจิตไม่ใช่ตัวใช่ตนอะไรของเราหรอก หลวงปู่ก็บอกว่าหลวงพ่อพึ่งตัวเองได้แล้ว เราก็ออกไปดู ไปสำนักโน้นสำนักนี้ สำนักครูบาอาจารย์บ้าง นอกสายวัดป่าบ้าง ไปหมดล่ะ สำนักอะไรที่ดังๆ ไปดูๆ ดูไปๆ มีแต่กายทั้งนั้นเลย อย่างพุทโธแล้วก็มาพิจารณากายนี่วัดป่าทั้งหมดเลย สายโกเอนก้าท่านก็ทำอานาปานสติ แล้วก็มาพิจารณากาย สายหลวงพ่อพุทธทาส อานาปานสติ 16 ขั้นมันก็กาย สายหลวงพ่อเทียนทำจังหวะขยับมือมันก็กาย สายพองยุบ ท้องพอง ท้องยุบ ยกเท้า ย่างเท้า มันก็กายอีก หันไปทางไหนมีแต่กายๆๆ ทั้งนั้นเลย

หลวงพ่อก็กลับมาหาหลวงปู่ดูลย์ บอกว่า “หลวงปู่ครับ ผมไปที่ไหน ครูบาอาจารย์แต่ละที่ๆ ท่านก็สอนแต่เรื่องกายทั้งนั้น ผมจะต้องย้อนกลับไปดูกายใหม่ไหม” หลวงปู่ดูลย์ท่านมองหลวงพ่อแบบสายตาท่านสังเวช เราเห็นแล้วเรารู้เลย ท่านมองแบบสลดใจ สังเวช สงสาร ทำไมมันโง่ได้ที่ขนาดนี้ ท่านก็สอนให้บอกว่า “เขาดูกายเพื่อให้เห็นจิต เมื่อเข้าถึงจิตแล้ว เอาอะไรกับกาย กายเป็นของทิ้ง” ท่านสอนอย่างนี้ พอหลวงปู่บอกอย่างนี้ หลวงพ่อก็ อือ ฉะนั้นเราไม่ต้องพิจารณากายใหม่แล้ว

คราวนี้เวลาเข้าไปหาครูบาอาจารย์ พยายามเข้าไปถึงตัวท่านเลย แต่ละองค์ๆ ที่ท่านสอนทั่วๆ ไป สอนพุทโธพิจารณากาย หลวงพ่อพอเข้าถึงตัวท่าน ท่านไม่สอนอย่างนั้นเลย สอนหลวงพ่อเข้ามาดูที่จิตทั้งนั้นเลย เพราะเราไม่จำเป็นต้องไปดูตรงนั้นแล้ว มันตัดเข้ามาที่จิตได้แล้ว ที่เขาดูกายเพื่อให้เห็นจิต ดูจิตเพื่อให้เห็นธรรม เมื่อกี้บอกแล้วธรรมะมันแสดงอยู่ที่จิต โลกียธรรมทั้งหลาย ก็คือกุศลธรรมเกิดที่จิต อกุศลธรรมเกิดที่จิต โลกุตตรธรรมคือมรรคผลก็เกิดที่จิต เพราะฉะนั้นถ้าเราตัดตรงเข้ามาที่จิตแล้ว มันก็จบตรงนั้น มันไม่มีอะไรต่อแล้ว ถ้าไม่ยึดจิตก็ไม่ยึดรูปธรรมนามธรรม เพราะรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย อาศัยจิตสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น

ที่ในพระสูตรจะสอน “วิญญาณะ ปัจจะยา นามะรูปัง วิญญาณคือตัวจิต เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป” นี้เราเข้าใจลงมาถึงตัวจิต วางตัวจิต มันก็ไม่มีนามรูปขึ้นมาให้ยึด ให้ถือ ให้ต้องดูแลอะไรต่อ ถ้ายังมาไม่ได้ก็ต้องไต่เต้ามาตามลำดับ ทำสมถะขึ้นมา ดูจิตไม่ได้ดูกายไป หลวงปู่สุวัจน์ท่านก็เคยเล่า หลวงพ่อเคยไปเรียนกับท่าน ท่านเล่าสมัยที่ท่านไปเรียนกับหลวงปู่มั่น ท่านบอกหลวงปู่มั่นสอนท่านว่า “ถ้าดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ดูจิตไม่ได้ ดูกายไม่ได้ ก็ให้ทำสมถะ” ทำสมถะเพื่อให้มีกำลังกลับมาดูจิต กลับมาดูกาย ให้มีกำลัง

ฉะนั้นสมถะทำไปเพื่อให้เกิดกำลังที่จะมาเดินปัญญา นี่คือที่เราต้องเข้าใจ ไม่ทำได้ไหม ไม่ได้ ถ้าเราทิ้งสมาธิจิตจะไม่มีกำลัง เพราะฉะนั้นจิตจะต้องมีกำลัง ฉะนั้นอย่าดูถูกสมาธิ แต่ก็อย่าติดสมาธิ อย่าดูถูกศีล แต่อย่าไปติดอยู่ที่ศีล อย่าดูถูกทาน อย่าไปติดอยู่ที่ทาน แล้วก็อย่าไปหลงใหลกับปัญญา ปัญญาไม่ค่อยเห็นใครดูถูก พวกเจริญปัญญา โอ๊ย จะอิ่มอกอิ่มใจ เวลาเกิดความรู้ความเข้าใจอะไรสักอย่าง จิตใจจะมีความสุขขึ้นมา ก็เลยติดในรสของความสุขจากการเจริญปัญญา ก็ไปไหนไม่รอดหรอก มันยินดีในปัญญา

ฉะนั้นเราภาวนา ค่อยเรียนรู้ลงที่กาย เรียนรู้ลงที่จิตใจของเรา ซ้ำแล้วซ้ำอีกไป เรียนรู้จนเห็นกายนี้ก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตใจก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นกายมันจะทุกข์ขึ้นมา เป็นเรื่องธรรมดา ความสุขมันไม่เที่ยงเดี๋ยวมันก็ทุกข์ ทุกข์มันก็ไม่เที่ยง ไม่ต้องไปเกลียดมันหรอก ไล่มันก็ไม่ไป มันเป็นอนัตตา เราเฝ้ารู้เฝ้าดู ดูกาย ดูเวทนา ดูจิตใจของเราไป ก็เห็นแต่ไตรลักษณ์ เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงจุดหนึ่งเราก็หมดความยินดียินร้าย ไม่ยินดีในความสุข ไม่ยินร้ายในความทุกข์ ไม่ยินดีกระทั่งในกุศล ไม่ยินร้ายกระทั่งอกุศล ใจเข้าถึงความเป็นกลาง

 

สติปัฏฐานเบื้องต้นต้องมีวิหารธรรม มีความเพียรแผดเผากิเลส
มีความรู้สึกตัว มีสติ แล้วก็เจริญปัญญาไปเรื่อย

การที่เราเจริญปัญญาสติปัฏฐาน เจริญสติปัฏฐานหลวงพ่อพูดอยู่เรื่อยๆ เราต้องมีวิหารธรรม ใช้กาย หรือเวทนา หรือจิตของเราเป็นวิหารธรรมไป แล้วก็มีสติระลึกรู้อยู่ที่วิหารธรรมนั้น ถ้าจิตหนีไปจากวิหารธรรมนั้น รู้ทัน จิตไปจดจ้องอยู่กับวิหารธรรม รู้ทัน เผลอไปก็รู้ ไปเพ่งอยู่ก็รู้ แล้วสิ่งที่เราจะได้ขึ้นมา จากการที่เราทำสติปัฏฐาน ในเบื้องต้นก็คือเราจะได้สติและสมาธิที่ถูกต้อง

เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานเบื้องต้นได้สติ ได้สมาธิที่ถูกต้อง เราทำต่อไปอีก เรามีจิตตั้งมั่นขึ้นมาเป็นคนรู้คนเห็นแล้ว มีสติระลึกรู้ในรูปธรรมทั้งหลาย ก็เห็นแต่ไตรลักษณ์ มีสติระลึกรู้นามธรรมทั้งหลาย ก็เห็นแต่ไตรลักษณ์ มีสติระลึกรู้จิตทั้งหลาย ก็เห็นไตรลักษณ์ ทำไมจิตทั้งหลายด้วย จิตไม่ได้มีดวงเดียว จิตเกิดดับตลอดเวลา เดี๋ยวเกิดที่ตาแล้วก็ดับที่ตา เกิดที่หูแล้วดับที่หู เกิดที่จมูกดับที่จมูก เกิดที่ลิ้นดับที่ลิ้น เกิดที่กายดับที่กาย เกิดที่ใจก็ดับที่ใจ จิตมันจะเกิดดับอยู่อย่างนี้ เราเลือกอะไรไม่ได้ ฉะนั้นสั่งไม่ได้ว่าจงเกิดจิตที่ตา อย่าเกิดจิตที่หู สั่งไม่ได้ หรือจงรู้แต่จิตที่ใจ สั่งไม่ได้ มันเป็นอนัตตา

พอเราเรียนรู้ความจริงของกาย ของเวทนา ของจิตใจไปเรื่อย ของสังขาร ของจิตใจ ซ้ำๆๆๆ เราจะเห็นเลย ทุกอย่างมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา เสมอกันหมด ความสุขก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เสมอกับความทุกข์ เพราะความทุกข์ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกัน กุศลก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เสมอกับอกุศล เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหลายเสมอกันไปหมดด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ตรงนี้จิตใจมันจะราบเรียบ ครูบาอาจารย์ยุคก่อนท่านบอก มันราบเหมือนหน้ากลอง ยุคของเราไม่รู้จักกลองแล้ว ไม่ค่อยรู้อะไรเท่าไร ต้องบอกมันราบเรียบเหมือนหน้าจอไอแพด หน้ากลองไม่รู้จักแล้ว ราบเรียบเหมือนหน้าจอมือถือ เรียบ ลื่นๆ เรียบๆ นี่จิตที่มันไม่ยินดี ไม่ยินร้าย

ฉะนั้นถ้าไปดูในสติปัฏฐาน ท่านสอนไว้ เบื้องต้นมีวิหารธรรม มีความเพียรแผดเผากิเลส มีความรู้สึกตัว มีสติ แล้วก็เจริญปัญญาไปเรื่อย สุดท้ายก็จะมาถึงประโยคเด็ด “ถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้ วิเนยยะ โลเกอภิชฌา โทมนัสสัง” “ถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้” โลกก็บอกแล้วก็คือรูปธรรมนามธรรมนั่นล่ะ ก็คือตัวขันธ์ 5 จิตมันหมดความยินดียินร้ายในรูปธรรม ในนามธรรม หมดความยินดียินร้ายในขันธ์ 5 เมื่อมันไม่ยินดี มันไม่ยินร้าย มันก็ราบเรียบ เสมอกันไปหมด จิตก็ไม่กระเพื่อม ไม่เหมือนน้ำทะเลกระเพื่อมทั้งวัน แต่นี่มันเหมือนหน้าจอแท็บเล็ต หน้าจอมือถือเรา เลี่ยนๆ อย่างนี้ มันก็ราบ ไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง

ฉะนั้นภาวนา สุดท้ายจิตจะหมดความยินดียินร้ายในรูปนาม เมื่อไม่ยินดี ไม่ยินร้ายแล้ว มันก็ไม่เข้าไปแทรกแซง ถ้ามันยินดียินร้าย มันก็จะแทรกแซงในรูปธรรมในนามธรรม ความทุกข์เกิดขึ้นมาก็หาทางละ ความสุขเกิดขึ้นมาก็หาทางรักษา นี่แทรกแซง กุศลเกิดขึ้นก็หาทางรักษาไว้ อกุศลเกิดขึ้นก็หาทางละ มันจะแทรกแซง แต่ถ้ามันเห็นทุกอย่างเท่าเทียมกัน มันก็ไม่เข้าไปแทรกแซงแล้ว ไม่มีความอยาก ไม่มีการแทรกแซง ก็ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจอีกต่อไป จิตใจเข้าถึงความสงบ เหมือนความสงบที่ราบเรียบเสมอกันไปหมด

ค่อยๆ ฝึก วันหนึ่งก็จะเห็นอย่างนี้ เจริญสติปัฏฐานไป แล้วก็จะเห็นอย่างที่หลวงพ่อบอก เห็นมาเป็นลำดับๆ แต่ต้องรู้อย่างหนึ่ง ต้องลงมือปฏิบัติ ธรรมะรู้ไม่ได้ด้วยการฟัง ด้วยการอ่าน ธรรมะรู้ไม่ได้ด้วยการคิด ธรรมะรู้ไม่ได้ด้วยการนั่งเพ่งนั่งจ้องให้นิ่งๆ รู้ได้ด้วยการเห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นใจอย่างที่ใจเป็น เห็นไตรลักษณ์ของกายของใจไป แล้วจะเข้าใจ เข้าใจก็วาง พอวางแล้วมันก็หมดภาระ อย่างถ้าเรายึดในกายอยู่มันก็จะเห็นแต่ภาระ ถ้าเรายึดจิตอยู่เราก็จะเห็นแต่ภาระ มีภาระเยอะ ร่างกายเราก็มีภาระ ต้องบำรุงรักษาเลี้ยงดูอะไรมากมาย แต่มันมีขึ้นมาแล้วก็ต้องดูแลรักษามันไป เพื่ออะไร เพื่อเอาร่างกายนี้ไว้ปฏิบัติธรรม แล้วก็เพื่อเอาร่างกายนี้ไว้ทำประโยชน์ สงเคราะห์ผู้อื่น สงเคราะห์สัตว์อื่นไป

อย่างครูบาอาจารย์แก่เฒ่า อุตส่าห์สอนอุตส่าห์อะไร ท่านไม่ได้ผลประโยชน์อะไรของท่านอีกต่อไปแล้ว แต่ท่านทำไปเพื่อสงเคราะห์โลก อาศัยร่างกายส่วนที่ยังเหลืออยู่ ช่วงเวลาที่ยังเหลืออยู่นี้ ทำประโยชน์ให้คนซึ่งตามมาทีหลัง เขาตั้งใจกันแค่นั้นเอง ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเข้าตัวเองหรอก มีแต่เรื่องเหนื่อย ใช้ขันธ์ทำงานทั้งวัน ไม่ใช่สนุก เหน็ดเหนื่อย หรือจิตใจก็เหมือนกัน ถ้าเราภาวนาแล้วเห็น จิตใจมีแต่ภาระ เดี๋ยวก็กระเพื่อมขึ้น เดี๋ยวก็กระเพื่อมลง เดี๋ยวกระทบอารมณ์ดี เดี๋ยวกระทบอารมณ์ร้าย แกว่งไปแกว่งมา เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ แกว่งตลอดเวลาเลย เป็นภาระ

เฝ้ารู้เฝ้าดู เราจะเห็นมันกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา จิตเราเป็นคนรู้คนดู เราจะเห็นทุกครั้งที่มีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบมันจะกระเทือนเข้ามาที่นี่ กระเทือนเข้ามา จะสะเทือน ไหวสะเทือนขึ้นกลางอกนี้ล่ะ ภาวนาดูไปเรื่อยมีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย กระทบแล้วก็กระเทือน กระเทือนแล้วนั่นล่ะทุกข์ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ไม่เห็นมีอย่างอื่น มีแต่ทุกข์ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป เฝ้ารู้ไปเรื่อย จะเห็นมีแต่ทุกข์จริงๆ ถึงจุดหนึ่งจิตมันก็ปล่อยวางจิต มันสลัดทุกข์ทิ้ง มันสลัดขันธ์ทิ้งไป จิตมันเป็นอิสระขึ้นมา ก็ว่าง

หลวงพ่อเทศน์มาเยอะแล้ว ขอย้ำ ต้องเอาไปทำ ถ้าไม่ทำจะไม่เข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อบอกหรอก เพราะหลวงพ่อก็ฟังจากครูบาอาจารย์มา ฟังไม่มากด้วย แต่หลวงพ่อทำมาก ปฏิบัติเอา แล้วสังเกตเอา ผิดก็รู้ ถูกก็รู้ นานๆ ก็ไปให้ครูบาอาจารย์เช็คทีหนึ่งว่าโอเคไหม ส่วนใหญ่ก็คือช่วยตัวเอง ดูตัวเอง สังเกตตัวเองไป ที่พัฒนาขึ้นมาได้ก็เพราะได้ยินได้ฟังธรรมะที่ดี หลวงพ่ออ่านพระไตรปิฎก ไม่ใช่ไม่อ่าน อ่านตั้งหลายรอบพระไตรปิฎก เดี๋ยวคนจะบอกหลวงพ่อไม่รู้ปริยัติ ไม่ใช่นะ เข้าใจผิดแล้ว

บางคนบอกว่าหลวงพ่อไม่ทำสมาธิ เข้าใจผิดแล้ว เราทำมาตั้งแต่ 7 ขวบแล้ว แต่เราเรียนไปเรื่อยมันเข้าใจ เรียนให้เข้าใจไม่ใช่เข้าสมอง ไม่ใช่เข้าหูซ้ายออกหูขวา เพราะฉะนั้นฟังที่หลวงพ่อเทศน์แล้ว ไปดูของจริง ถ้าไม่ไปดูของจริง ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก ทุกวันนี้ธรรมะเต็มอินเทอร์เน็ตเลย ครูบาอาจารย์สอนอะไรต่ออะไรเยอะแยะไปหมดเลย แต่ละองค์มีมากมาย ถูกบ้างผิดบ้าง อะไรก็มีสารพัด แล้วแต่เวรแต่กรรม ก็ภาวนาเอา ถ้าไม่ภาวนามันก็โง่ไปเรื่อยๆ มันไม่เข้าใจหรอก

 

 

พวกเราก็เตรียมตัวนะอยู่กรุงเทพฯ น้ำท่ามันก็คงเยอะหรอก จะไม่ให้มันเยอะก็ไม่ได้หรอก วิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมถนน ก็คือทำถนนให้สูงขึ้น ให้น้ำไปท่วมบ้าน วิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมบ้าน ก็ยกบ้านให้สูงขึ้น ให้น้ำไปท่วมถนน ที่ผ่านมาทำอย่างนี้มาตลอดเลย มันบรรเจิดเหลือเกิน ก็วนอยู่อย่างนี้ ระหว่างถนนกับบ้านผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ไม่รู้ คิดภาพรวมไม่ออก คิดไม่ออกก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป น้ำท่วมถนนก็ทำถนนให้สูงขึ้น เลยรู้สึกท่อระบายน้ำอยู่ลึกแล้ว ที่แท้มันก็เท่าเดิม แต่ถนนมันสูงขึ้นท่อข้างถนนก็เลยดูลึกลงไป น้ำก็มาเข้าบ้าน

สอนลูกสอนหลานไว้ อยู่ภาคกลางทำบ้านใต้ถุนสูงๆ ไว้ หาเรือไว้ลำหนึ่ง วันหนึ่งได้ใช้ เราต้องอยู่กับมัน เราจะย้ายหนีไปไหนไม่ได้ ก็ต้องอยู่อย่างนี้ อยู่กับมันก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับมัน คนแต่ก่อนเขาก็อยู่บ้านใต้ถุนสูง หน้าน้ำก็ขึ้นไปอยู่บนบ้าน ก็ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ ทุกวันนี้พยายามเอาชนะธรรมชาติ แต่มันก็ยิ่งผิดธรรมชาติไปเรื่อยๆ ก็เดือดร้อน ก็ด่ากันไปด่ากันมา

นักปฏิบัติไม่เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตเรา เราก็เห็นมันมีแต่ยินดีกับยินร้ายเกิดขึ้น สภาวะอันนี้เกิดขึ้นยินดี สภาวะอันนี้เกิดขึ้นยินร้าย ยินดียินร้ายมันก็มาจากเราอยาก อยากให้เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นมันก็ยินร้าย อยากให้ไม่มีอย่างนี้ มันมีขึ้นมา หรือมันหายไป สิ่งที่เราไม่ชอบหายไป มันก็ยินดี ใจเราทั้งวันมีแต่ยินดีกับยินร้าย คอยรู้ทันมันเรื่อยๆ ไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
17 กันยายน 2565