การภาวนาไม่ยาก

การภาวนาไม่ใช่เรื่องยากอะไร ที่มันยากก็เพราะพวกเราคิดมากเกินไป เราคิดว่าการปฏิบัติจะต้องทำอย่างนั้นจะต้องทำอย่างนี้ ซึ่งมันเกินความจำเป็น เกินธรรมดา คิดว่าปฏิบัติไปแล้วจะได้อะไร สิ่งที่ได้ต้องวิเศษวิโส ผิดมนุษย์มนาเกินธรรมดา คือมันวาดภาพผิดมาตั้งแต่เริ่มต้น วิธีปฏิบัติก็วาดภาพเอาไว้ยุ่งยาก ผลของการปฏิบัติก็วาดเอาไว้ลึกลับ อย่างเราวาดภาพปฏิบัติแล้วถึงนิพพาน นิพพานเหมือนโลกๆ หนึ่ง มีพระพุทธเจ้า มีพระอรหันต์ไปนั่งเข้าแถวอะไรอย่างนี้ อันนี้มันเป็นเรื่องที่เราคิดเอาเอง นิพพานจริงๆ มันคือสภาวะที่เราสิ้นตัณหา สิ้นความอยาก เมื่อใจมันสิ้นความอยาก ใจมันจะสงบสุข มันเท่านั้นล่ะ

วิธีปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เราไปคิดเอามากมาย ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ แล้วก็เริ่มเถียงกัน วิธีไหนดีกว่าวิธีไหน ซึ่งมันไม่มีนัยยะอะไรเท่าไรหรอก จะใช้หายใจเข้าพุทออกโธ หรือจะทำพุทโธแล้วมาพิจารณากาย จะดูท้องพองยุบ จะขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียน หรือจะเจริญวิปัสสนา ทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ สายโกเอนก้าเขาก็ทำอานาปานสติก่อน พอจิตได้ฌานแล้วก็มาดูเวทนาของร่างกาย อันนี้เป็นวิธีการ เป็นกลยุทธ์ที่แต่ละคนก็เลือกใช้วิธีที่เหมาะกับตัวเอง แต่ไม่ว่าเราจะใช้วิธีอะไร หลักปฏิบัติต้องแม่น

 

หลักการทำสมถะ

หลักมีอันเดียวเอง ถ้าจะทำสมถะ เราก็หาอารมณ์กรรมฐานที่เราอยู่ด้วยแล้วสบายใจ อย่างถ้าเราพุทโธแล้วสบายใจ เราก็อยู่กับพุทโธ ถ้าเราหายใจแล้วเราสบายใจ เราก็อยู่กับลมหายใจ หรือเราดูท้องพองยุบแล้วเรามีความสุข เราก็ดูท้องพองยุบไป ทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง สมถกรรมฐานนี่เรื่องง่ายมากเลย เราไปคิดวาดภาพ ต้องหลับหูหลับตา ต้องนั่งจนกระทั่งเงียบไปหมด ความรู้สึกนึกคิดอะไรดับหมดเลย อันนั้นคิดเยอะเกินเหตุไป

ถ้าเราต้องการทำสมถะทำเพื่อให้จิตใจได้พักผ่อน จิตใจจะพักผ่อนได้ จิตใจต้องอยู่กับอารมณ์ที่มีความสุขแล้วอารมณ์นั้นต้องไม่ยั่วกิเลส อย่างถ้าเราเล่นไพ่ หรือเราด่าคนแล้วมีความสุขอย่างนี้ จิตไม่สงบ แต่ถ้าเราชอบหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอย่างนี้ จิตใจเราชอบ เราภาวนาไม่กี่ครั้ง หายใจไม่กี่ครั้ง จิตมันก็สงบแล้ว

ถ้าเปรียบเทียบให้เราเห็นง่ายๆ จิตมันเหมือนเด็ก ธรรมชาติของเด็กมันก็วิ่งซนทั้งวัน วิ่งไปโน้นวิ่งไปนี้ ซน เล่น พอหมดแรงเล่นก็ลงไปหลับ ก็มีอยู่เท่านั้นเอง จิตนี้ก็เหมือนกัน ธรรมดาก็ชอบวิ่งไปเรื่อยๆ หาเรื่องเล่นอะไรไปเรื่อยๆ พอหมดแรงก็ซึมไปเลย หลับ ตกภวังค์ ทีนี้เราจะไม่ให้เด็กซนเราก็หาของที่เด็กชอบมาล่อมัน อย่างเด็กมันชอบกินไอศกรีมอย่างนี้ เราก็เอาไอศกรีมมาให้กิน พอเด็กมันนั่งกินไอศกรีมอยู่ มันก็ไม่หนีไปเที่ยวไหน มีความสุข ยุคนี้เด็กชอบเล่นแท็บเล็ต พ่อแม่บางคนก็มักง่าย เอามาให้ลูกเล่น เล่นทั้งวัน เด็กไม่หนีไปไหน อันนี้เปรียบเทียบให้ฟัง

ถ้าเราไม่อยากให้จิตเราหนีไปไหน หาอารมณ์ที่จิตชอบ ดูเอาเอง ของเราใช้อารมณ์อะไรแล้วจิตชอบ ถ้าจิตเราชอบอารมณ์อันไหน จิตก็จะอยู่กับอารมณ์อันนั้นโดยที่เราไม่ได้บังคับ ฉะนั้นเคล็ดลับของการทำสมาธิให้จิตสงบ อันแรกเลยรู้จักเลือกอารมณ์ อยู่กับอารมณ์ที่มีความสุข พออยู่ไปกับอารมณ์ที่มีความสุข จิตก็ไม่วอกแวกวิ่งไปหาอารมณ์อื่น จิตที่ฟุ้งซ่านก็คือจิตที่มันเปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวคว้าอารมณ์นี้ เดี๋ยวคว้าอารมณ์โน้นไป ก็ฟุ้งซ่าน แต่ถ้ามันอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างมีความสุขอย่างต่อเนื่อง มันจะสงบ สงบโดยอัตโนมัติ

คล้ายๆ ตอนเราจะนอนหลับ เวลาเรานอนหลับ เราก็คิดอะไรเสียเรื่องหนึ่งที่สบายๆ มีความสบายใจ คิดเดี๋ยวเดียวก็หลับ แต่ถ้าเราคิดเรื่องงาน เรื่องอะไรที่มันยุ่งยาก หรือคิดจบเรื่องงานก็ไปคิดเรื่องอื่น จะไปเที่ยวไหนต่อ จะทะเลาะกับแฟนไหมอะไรอย่างนี้ ไม่หลับหรอก จิตมันไม่สงบ คล้ายๆ กัน ถ้าเราอยากให้จิตสงบ เราก็อยู่กับอารมณ์ที่มีความสุข อย่างหลวงพ่อตั้งแต่เด็ก หลวงพ่อชอบหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำอยู่ หายใจอย่างนี้ไม่กี่ที จิตก็สงบแล้ว อยากพักอยู่ก็อยู่อย่างนี้

สมถะมีประโยชน์มาก อย่านึกว่าไม่สำคัญ สมถะเป็นของจำเป็น เป็นของสำคัญ มีประโยชน์ถ้าเราไม่มีสมาธิที่ดีพอ เราจะเจริญปัญญาไม่ได้จริงหรอก เพราะจิตใจเราวอกแวก จิตใจที่วอกแวกคือจิตใจที่หนีตลอดเวลา เดี๋ยวหลงไปทางตา หลงไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วจิตที่หลงฟุ้งซ่านไปไม่มีทางเห็นความจริงได้ มันเดินปัญญาไม่ได้ จิตที่เจริญปัญญาได้ต้องเป็นจิตใจที่อยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจที่อยู่กับตัวเอง เพราะการเจริญปัญญานั้นคือการเรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้ร่างกายของเรา เรียนรู้จิตใจของเราเอง

 

ทำกรรมฐานเพื่อจะรู้ทันจิตใจของตัวเอง

ถ้าจิตใจเราวอกแวกๆ เดี๋ยวก็คิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ มีกายก็ลืมกาย มีจิตใจก็ลืมจิตใจ เพราะฉะนั้นจุดสำคัญเราจะต้องฝึกให้จิตใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวให้ได้ สภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว นั่นล่ะคือสมาธิที่ดี ไม่ใช่สงบ สงบมีมาก่อนพระพุทธเจ้า ฉะนั้นสมาธิที่แท้จริงเป็นสภาวะที่จิตใจตั้งมั่น คือจิตใจที่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่วอกแวกๆ ไปที่อื่น

พอเรามาฝึก วิธีฝึกง่ายๆ เลย ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วจับหลักให้แม่น กรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด จะหายใจเข้าพุทออกโธก็ได้ จะดูท้องพองยุบก็ได้ จะขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียนก็ได้ แต่หลักนั้นอันเดียวกันคือคอยรู้ทันจิตของตัวเองไว้ อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่ได้มุ่งไปทำจิตให้สงบอยู่เฉยๆ โง่ๆ อยู่อย่างนั้น เราหายใจไปเพื่ออะไร เพื่อคอยรู้เท่าทัน

อย่างเราหายใจอยู่ เรารู้สึกร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายหายใจออก รู้สึก พอจิตใจมันหนีไปคิดเรื่องอื่น เราเคยหายใจแล้วรู้สึกๆ พอจิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่น มันลืมการหายใจ พอมันไปคิดเรื่องอื่น เดี๋ยวก็เกิดกิเลสแล้ว เวลาเราเกิดกิเลส จังหวะการหายใจของเราจะเปลี่ยนไป อย่างเกิดโทสะเราจะหายใจแรงขึ้น เกิดราคะเราก็จะหายใจแรงขึ้น พอลมหายใจมันเปลี่ยนจังหวะ สติมันก็จะเกิด เพราะเราเคยหายใจแล้วรู้สึกๆ ไป

ฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องยากหรอก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตัวเองไว้ หลักมันมีเท่านี้ล่ะ กรรมฐานอะไรไม่สำคัญหรอก ทางใครทางมัน ใช้ได้ทั้งหมดล่ะ แต่ถ้าทำกรรมฐานแล้วไม่ได้รู้ทันจิตตัวเอง มันก็ไม่ได้สาระแก่นสาร เพราะการฝึกสมาธิ พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่าเป็นจิตตสิกขา อธิจิตตสิกขา เรียนเรื่องจิตถึงจะได้สมาธิที่ดีที่ถูกต้อง ถ้าเราละเลยจิตของตัวเอง เราก็ได้สมาธิชนิดเป็นมิจฉาสมาธิ สมาธิโง่ๆ สมาธิเซื่องซึม สมาธิฟุ้งซ่าน เห็นโน่นเห็นนี่อะไร ไม่ใช่ ไม่ใช่ของที่มีประโยชน์

เพราะฉะนั้นเราต้องฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งในเบื้องต้น ถ้าเรายังไม่เคยปฏิบัติเลย อย่าเพิ่งกังวลว่าการปฏิบัติจะต้องทำอะไร ทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง เอาที่เราทำได้ ทำแล้วสบายใจ แล้วก็ไม่ได้ทำเพื่อความสงบ ไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบ ไม่ได้มุ่งไปที่ความสุข ไม่ได้มุ่งไปที่ความดีงามอะไรทั้งสิ้น เราทำกรรมฐานเพื่อจะรู้ทันจิตใจของตัวเอง เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจอยู่ดีๆ หนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว เรารู้ทันว่าจิตหนีไปคิดแล้ว จิตฟุ้งซ่านแล้ว ทันทีที่เรารู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านของจิตจะดับอัตโนมัติ เพราะอะไร เพราะความฟุ้งซ่านเป็นอกุศล เมื่อไรเรารู้ทัน สิ่งที่เราใช้รู้ทันคือมีสติ เมื่อไรมีสติเมื่อนั้นไม่มีกิเลส นี่เป็นกฎของธรรมะ เมื่อไรมีสติเมื่อนั้นไม่มีกิเลส เมื่อไรขาดสติกิเลสถึงจะเกิดได้ เพราะฉะนั้นเราพยายามมีสติ

 

รู้ตัวทั่วพร้อม

เราฝึกสติของเราโดยการทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตของตนเองเรื่อยๆ ไป จะพุทโธ จะหายใจ จะดูท้องพองยุบก็ได้ อย่างเวลาดูท้องพองยุบ อย่าให้จิตมันจมลงไปอยู่ที่ท้อง เราเห็นร่างกายมันพอง เห็นร่างกายมันยุบ เวลาเราดูลมหายใจก็เหมือนกัน อย่าดูที่ตัวลมหายใจ ถ้าเราดูตัวลมหายใจ มันจะมุ่งไปทางฌาน จะเข้าไปทางฌาน ให้เราสังเกตร่างกายกำลังหายใจ ดูร่างกายหายใจ รู้สึกทั้งตัว รู้ตัวทั่วพร้อม รู้สึกทั้งตัว เห็นร่างกายมันหายใจ รู้สึกไปอย่างนี้ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก เห็นร่างกายหายใจไป แล้วพอเราหลงไปคิดเรื่องอื่น มันจะรู้เอง มันลืมร่างกายของเราแล้ว ร่างกายที่หายใจอยู่ เราลืมไปแล้ว

หรือเราดูท้องพองยุบ อย่าไปดูที่ท้อง ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อม รู้สึกทั้งตัวนี้ แต่เห็นร่างกายมันพอง เห็นร่างกายมันยุบ เวลาเดินจงกรมอย่าไปอยู่ที่เท้า ถ้าเอาจิตไปเพ่งไว้ที่เท้าก็ได้แต่สมาธิชนิดสงบเฉยๆ ถ้าเราอยากได้สมาธิชนิดจิตตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัว จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว เราก็เดินจงกรมไป เราเห็นร่างกายเดิน หลักมันมีอันเดียวง่ายๆ เลย ถ้าเราใช้กายเป็นวิหารธรรม ใช้กายเป็นเครื่องอยู่ เราดูทั้งตัวเลย ไม่ต้องไปดูทีละส่วน เห็นตัวนี้นั่งอยู่ เห็นตัวนี้เดินอยู่ เห็นตัวนี้นอนอยู่ เห็นตัวนี้ยืนอยู่ เห็นทั้งตัว หรือเห็นตัวนี้พยักหน้า เห็นด้วยความรู้สึก ไม่ได้เห็นด้วยตา ใช้ความรู้สึก

พวกเราลองพยักหน้าสิ รู้สึกไหมร่างกายมันเคลื่อนไหว คอยรู้สึก ก็แค่นี้มันจะยากอะไร หรือเราเคลื่อนไหว อย่างเราขยับไม้ขยับมือ ก็แค่รู้สึกๆ เรารู้ตัวทั่วพร้อม แล้วมันมีอะไรเปลี่ยนแปลงขึ้นในร่างกาย เราคอยรู้ทันไว้ เช่น เราเห็นร่างกายพอง เรารู้ เห็นร่างกายยุบเรารู้ เห็นร่างกายหายใจออก เรารู้ เห็นร่างกายหายใจเข้า เรารู้ เห็นร่างกายยืน เห็นร่างกายเดิน เห็นร่างกายนั่ง เห็นร่างกายนอน เราคอยรู้ไว้ รู้บ่อยๆ รู้เสมอ รู้สม่ำเสมอ ทำเนืองๆ

อันนี้จะอยู่ในสติปัฏฐาน ท่านบอกว่า “ภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว” ฟังให้ดี “หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว” ท่านไม่ได้บอกให้ดูที่ลมหายใจ แล้วก็ไม่ได้บอกให้นั่งหลับตาด้วย “ให้คู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติ เฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว” ถ้าเราไปดูที่ตัวลม มันไม่ได้เห็นอย่างที่พระพุทธเจ้าบอก

เพราะฉะนั้นเรารู้ตัวทั่วพร้อม รู้สึกอย่างนี้ แล้วเราเห็นร่างกายหายใจไป แล้วต่อไปเราจะก้าวกระโดดขึ้นสู่ปัญญาได้ พอเราเห็นร่างกายหายใจ จิตใจเราเป็นแค่คนรู้คนดู เป็นแค่ผู้เห็น ไม่นานมันจะเห็นเลย ร่างกายที่หายใจ ร่างกายที่เคลื่อนไหวอะไรนี่เป็นของถูกรู้ถูกดู อะไรที่ถูกรู้ถูกดูมันไม่ใช่ตัวเราอยู่แล้วล่ะ อย่างแก้วน้ำนี้ๆ ถูกรู้ถูกดูอยู่ มีใครจะบ้าเห็นแก้วน้ำเป็นตัวเรา มีไหม ไม่มีหรอก เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไรเราเห็นร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู เราจะเห็นว่ามันไม่ใช่เราหรอก

เวลาเราดู เราก็ดูแบบนี้ง่ายๆ อย่างนี้ล่ะ รู้ตัวไป แล้วร่างกายหายใจ เห็นร่างกายหายใจ ไม่ใช่เห็นลมหายใจ ร่างกายพอง ร่างกายยุบก็เห็นไป ไม่ใช่เห็นท้องพองท้องยุบ ร่างกายเดิน หรือร่างกายนั่ง เห็นร่างกายมันเดิน เห็นร่างกายมันนั่ง ไม่ใช่เห็นเท้า ฉะนั้นรู้ตัว รู้ตัวให้ทั่วพร้อม แล้วต่อไปจิตเราจะตั้งมั่นขึ้นมา มันจะเริ่มมีกำลัง

ทีแรก รู้ทีแรก รู้ได้แป๊บเดียว หนีไปคิดเรื่องอื่น หนีไปคิดเรื่องอื่นก็ไม่ว่า จิตมันจะไปคิดใครจะห้ามมันได้ พอจิตมันหนีไปคิด ให้รู้ทันว่าจิตหนีไปคิด ตรงที่รู้ทันว่าจิตหนีไปคิด ไม่ต้องดึงจิตกลับมา จิตที่หนีไปคิดนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่ต้องไปหวง โยนมันทิ้งไปเลย รู้สึกตัวเอาใหม่ เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ กลับมาอยู่กับกรรมฐานของเราใหม่ ไม่ต้องไปดึงจิตคืนมา บางคนเห็นจิตหลงไปแล้ว ดึงคืนมา มันจะแน่นมากเลย จะอึดอัด จิตไม่ได้มีดวงเดียว จิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเวลาจิตมันหลงไป ช่างมันปะไร หลงไปแล้วเรารู้ทัน จิตที่หลงจะดับ จิตที่รู้จะเกิดขึ้นมา

 

พอจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวได้มากพอแล้ว มันจะเริ่มเจริญปัญญาได้

ทีแรกฝึกไปเรื่อยๆ ทำกรรมฐานแล้วก็รู้ทันจิตไป พอรู้ไปนานๆ นานๆ แล้วเรารู้จักทำกรรมฐานให้ดี อย่างดูกาย ไม่ใช่ไปเพ่งกาย ก็เห็นร่างกายหายใจ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกายเคลื่อนไหว เห็นร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึกแค่นี้ แล้วพอจิตเรามีกำลังขึ้นมา ปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นเลยร่างกายที่หายใจอยู่ไม่ใช่เรา ร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา ที่จริงเห็นแค่นี้มันก็รู้แล้วว่าร่างกายทั้งหมดไม่ใช่เรา เพราะทั้งวันมันก็มีแต่ร่างกายที่หายใจออกกับร่างกายที่หายใจเข้า

เพราะฉะนั้นการเรียนกรรมฐานของพระพุทธเจ้า เราไม่ต้องเรียนอะไรเยอะแยะหรอก เราแค่เห็นร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา เห็นมันอยู่แค่นี้มันก็จะรู้ความจริงได้ กายนี้ไม่ใช่เรา หรือเราดูต่อไป ร่างกาย บางคนไม่ชอบดูร่างกายหายใจ รู้สึกดูแล้วเหนื่อย เพราะว่าดูไม่เป็น ดูแล้วไปเพ่งเอา ก็ดูร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกายมันนั่ง ร่างกายมันเดิน ไม่กำหนดอะไร

กำหนดก็คือ คำว่า กำหนด ไม่ใช่ภาษาไทยด้วย เป็นภาษาเขมร มาจากคำว่ากดๆๆ กดกับกำหนด คำเดียวกัน เหมือนตรวจกับตำรวจ คำเดียวกัน ให้เรารู้ ไม่ใช่ให้เราไปกดมันไว้ คอยรู้เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว รู้สึก เห็นร่างกายมันหายใจ รู้สึก ไม่ไปกดจิตให้นิ่งๆ ไม่บังคับจิตให้แน่นๆ รู้สึกไปสบายๆ

เบื้องต้นทีแรกมันก็ไม่มีอะไรมาก สรุปง่ายๆ ก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วกรรมฐานง่ายๆ ก็คือการรู้สึกในร่างกายเรานี้เอง เพราะร่างกายเราไม่เคยหายไปไหน บางคนจะใช้เริ่มต้นด้วยการดูจิต มันดูยากเพราะจิตนี้หนีเร็ว แป๊บเดียวก็หนีไปร้อยเรื่องพันเรื่องแล้ว คนที่จะเอาจิตเป็นวิหารธรรมได้ สมาธิต้องดีพอ แต่ถ้าสมาธิเรายังวอกแวกๆ อย่างที่พวกเราเป็นอยู่ รู้สึกร่างกายไป แต่รู้สึกกายไม่ใช่เพื่อรู้สึกกาย แต่รู้สึกกายเพื่อจะรู้ทันจิต มันถึงจะได้หลัก ถ้าเราไม่ได้จิต เราไม่มีทางได้ธรรมะเลย

เพราะฉะนั้นเวลาเรารู้กาย ร่างกายหายใจ รู้สึก แต่ว่าพอมันหนีไปที่อื่น เรารู้ทัน จิตมันหนี ร่างกายไม่ได้หนี ไปไหนร่างกายก็ไปกับเราล่ะแต่จิตมันหนี เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานไป หายใจไป หรือยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกไป เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง รู้สึกไป แล้วรู้สึก รู้เท่าทันจิตตนเองไว้ แล้วสมาธิของเราจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น พอจิตหนีไป เราขาดสมาธิ ตรงที่เรารู้ทันว่าจิตหนีไป จิตจะเกิดสมาธิขึ้นมา เกิดทีละนิดๆ เหมือนน้ำหยดทีละหยด หยดไปเรื่อยๆ ไม่หยุด เดี๋ยววันหนึ่งก็เต็มตุ่ม คือเราคอยรู้เป็นขณะๆ ไปอย่างนี้ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ขยับไปๆ ใจหนีไป รู้สึก

ฉะนั้นถ้าใจหนี เราก็รู้ทันใจ ถ้าใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว เราก็เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหวไป แล้วจิตเราจะมีกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ มันจะมีกำลัง ไม่ใช่เหาะได้หรอก แต่มีกำลังคือมันอยู่กับเนื้อกับตัวโดยที่เราไม่ต้องบังคับไว้ อย่างพวกเราจะให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวยากมากเลย เพราะมันหนีอุตลุดเลย เพราะฉะนั้นเราต้องฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตัวเองไป แล้วก็เห็นร่างกายเคลื่อนไหวไป ดูทั้งตัว ร่างกายหายใจ รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก เวลาเผลอ เราจะลืมร่างกาย ร่างกายเรานั่งอยู่อย่างนี้ พอเราใจลอย เราลืมร่างกาย เราก็ไม่รู้ว่าร่างกายกำลังนั่งอยู่ ใจมันหนีไปแล้ว

พอเรารู้ทันใจที่หนี ใจก็จะตั้งมั่นขึ้นมาใหม่ ขึ้นมาเองเลย ไม่ได้ต้องบังคับให้มันกลับมา ถ้าไปพยายามบังคับจิตว่าห้ามหนีจะเครียดจัด เพราะว่ามันฝืนธรรมชาติ ธรรมชาติของจิตมันเที่ยวไปรวดเร็ว เราจะไปบังคับไม่ให้เที่ยว เหนื่อย เราก็เครียด หรือจะบังคับจิตให้สงบก็เครียด แล้วก็จิตจะไม่สงบหรอก ฉะนั้นทำกรรมฐานไปสบายๆ รู้ไปเรื่อยๆ แล้วจิตมันหนี รู้ทัน จิตมันหนี รู้ทัน จิตมันจะค่อยๆ ทรงตัวขึ้นมา มันจะอยู่กับตัวเองขึ้นมา

พอจิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวได้มากพอแล้ว มันจะเริ่มเจริญปัญญาได้ มันจะเริ่มเจริญปัญญา บางคนเจริญปัญญาด้วยการดูกายก็ได้ ถ้าจิตเรามีกำลังพอแล้ว เราก็ดูกายก็ได้ ดูเวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ก็ได้ ดูสังขารที่เป็นกุศล หรืออกุศลก็ได้ ดูจิตมันทำงานก็ได้ จิตมันทำงานก็คือ เดี๋ยวมันไปดูรูป เดี๋ยวมันไปฟังเสียง เดี๋ยวไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ จิตมันทำงานตามช่องทางต่างๆ 6 ช่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ดูอันไหนก็ได้ตรงที่เจริญปัญญา ถนัดอันไหนก่อน เอาอันนั้นล่ะ ถนัดรู้กายก่อน ก็เอากาย ถ้าจะเจริญปัญญาด้วยการดูกาย พอจิตเรามีกำลังแล้ว จิตเราตั้งมั่นแล้ว เราจะเห็นร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่ มันถูกรู้ถูกดูอยู่ มันไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายที่พยักหน้า มันถูกรู้ถูกดูอยู่ มันไม่ใช่ตัวเรา ดูเรื่อยๆ สุดท้ายก็ล้างความเห็นผิดได้ว่ากายนี้คือตัวเรา หรือเราจะเริ่มจากการดูเวทนาก็ได้ ความสุข ความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์ เวทนามี 2 อย่าง เวทนาทางกายกับเวทนาทางใจ เวทนาทางกายจะดู จิตต้องทรงสมาธิจริงๆ ในการเจริญปัญญาถ้าจะดูกายดูเวทนา อาศัยกำลังของสมาธิมาก ต้องใช้เยอะเลย

อย่างเวทนาทางกายใช่ไหม ร่างกายมันเจ็บปวด อย่างคนเป็นมะเร็ง เจ็บ โรคมันกำเริบแล้ว อวัยวะต่างๆ ถูกทำลาย มันเจ็บ ถ้าเราเคยฝึก จิตเราเป็นผู้รู้ผู้ดู จิตเราทรงตัวอยู่ มีสมาธิพอ มันจะเห็นว่าร่างกายนี้เป็นอันหนึ่ง ความเจ็บปวดเป็นอีกอันหนึ่ง ความทุรนทุรายของจิตใจ ความกลัว ความกังวล ความหงุดหงิดเป็นอีกอันหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้คนดูเป็นอีกอันหนึ่ง มันจะค่อยแยกๆๆ ออกไป แต่ถ้ากำลังสมาธิไม่พอ เราเจ็บมากๆ เราสติแตก สติจะแตกคือทนไม่ได้ ทนไม่ได้ก็ต้องใช้กรรมฐานอย่างอื่น

ดูเวทนาที่ง่ายคือเวทนาทางใจ ไม่ต้องใช้สมาธิมาก เวทนาทางใจดูง่ายที่สุดเลย เป็นกรรมฐานที่หลวงพ่อว่ามันง่ายๆ เราแค่รู้ว่าตอนนี้ใจเราสุข หรือใจเราทุกข์ หรือใจเราเฉยๆ ตอบได้ไหม ใจเราตอนนี้สุข หรือใจเราทุกข์ หรือใจเราเฉยๆ ถ้าหลวงพ่อตั้งคำถาม เราก็จะหันไปดูแล้วก็จะตอบเหมือนกันหมด ใจเราเฉย ทำไมมันเฉย ก็เล่นทะลึ่งไปจ้องมัน มันก็นิ่งไปหมดสิ ถ้ารู้สึกธรรมดาอย่างนี้ ใจมันมีความสุขก็รู้ ใจมันมีความทุกข์ก็รู้ ใจมันเฉยๆ ก็รู้ หัดดูไปอย่างนี้มันไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย

 

อ่านจิตตนเอง

หลวงปู่ดูลย์ท่านถึงบอก “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” นี่คือธรรมะอันแรกที่ท่านสอนหลวงพ่อ การปฏิบัติไม่ยาก มันยากที่พวกเราไม่ปฏิบัติ อย่างแทนที่เราจะคอยดูความสุขความทุกข์ในใจเรา ไม่ดู เรามัวไปดูสิ่งอื่น หรือเวลาใจเราโกรธขึ้นมา ใจเราโกรธ เราจะดูอะไร ไม่มีใครย้อนมาดูหรอกว่าใจกำลังโกรธ แต่จะไปดูคนที่ทำให้เราโกรธ หรือหมาตัวนี้ เราขับรถอยู่ หมามาวิ่งตัดหน้าเรา เราก็โกรธหมาบางคน ตอนที่โกรธหมาทำอย่างไร มองหมา ไม่มีใครย้อนมามองว่าจิตกำลังโกรธหรอก มันพลิกกันนิดเดียว นี่มันพลิกแต่มันพลิกแบบนี้ หน้ามือเป็นหลังมือเลย

เวลากระทบอารมณ์ มันจะเกิดความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ พอมีความสุข ราคะ ความยินดีพอใจมักจะแทรกตามเข้ามา เพราะฉะนั้นถ้าเราดูตรงเวทนาไม่ทัน เรามาดูตรงสังขาร จิตตสังขาร ตัวสังขารขันธ์ อย่างพอเรามีความสุข เราไม่เห็นว่าจิตมีความสุข เราก็ไปเห็นตรงที่จิตมันชอบ อย่างเราเห็นสาวสวยคนหนึ่งเดินมา ใจเรามีความสุขที่ได้เห็น ถ้าเราไม่รู้ตรงนี้ ใจมันจะรัก ราคะมันจะเกิด หรือเราเห็นคนนี้ เราเกลียดขี้หน้ามากเลย พอเราเห็นหน้าคนนี้ แทนที่เราจะดูว่าจิตกำลังโกรธ เราไม่ดู เราไปดูคนนั้น แต่ถ้าเราดูเป็น เราจะเห็นเลย เห็นคนนี้ไม่สบายใจ เคยรู้สึกไหม เข้าใกล้คนบางคนไม่สบายใจ พอไม่สบายใจทำอย่างไร ก็หนี ส่วนใหญ่ก็จะหนีไป ถ้าหนีไม่ได้ก็ทนเอา ถ้าทนไม่ได้สติแตกก็ว๊ากออกไป เราจะไม่ทำอย่างนั้นหรอก

อย่างเรากระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจ เราก็เห็นความทุกข์เกิดขึ้นในใจ เรารู้ หรือจะดูอีกอย่างหนึ่งก็ได้ กระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจแล้วจิตเราหงุดหงิด เรารู้ กระทบอารมณ์ที่พอใจ จิตเรามีความสุข เรารู้ หรืออีกอันหนึ่งกระทบอารมณ์ที่พอใจแล้ว จิตมีราคะ เรารู้ ดูที่จิต การดูจิต มันดูได้ 3 ระดับแล้วแต่ความไวของเรา ถ้าเราฝึกชำนาญจริงๆ เราจะเห็นจิตตั้งแต่ตอนที่มันมีผัสสะกระทบอารมณ์ ตาเห็นรูป เราเห็นเลยจิตหลงไปดูรูป จิตหลงไปฟังเสียง สติเร็ว จะรู้หมดเลย จิตเคลื่อนไหวอยู่ทางอายตนะทั้ง 6 จะรู้อย่างนี้เลยปั๊บๆ ปั๊บๆๆ แต่อันนี้เร็วมาก ต้องฝึกกันนาน

ช้าลงมา รองลงมาก็คือรู้เวทนาทางใจ พอเราเห็นรูป มันก็เกิดสุขเกิดทุกข์ ได้ยินเสียงก็เกิดสุขเกิดทุกข์ ได้กลิ่นก็เกิดสุขเกิดทุกข์ นี่เรารู้ตัวนี้ก็ได้ แล้วถ้าตัวนี้ยังรู้ไม่ได้ ก็ยังรู้ถัดไปอีก ตัวที่หยาบขึ้นไปอีก คือตัวกิเลสทั้งหลาย พอมีความสุข ราคะจะแทรก ตรงที่มีความสุข รู้ไม่ทันก็เห็นราคะแทน อย่างนี้เรามาดู ทีแรกเราเห็นที่ผัสสะ ถ้าเราเร็วพอ เห็นจิตเกิดดับอยู่ทางอายตนะทั้ง 6 ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ตัวนี้ต้องฝึกไปช่วงหนึ่งล่ะถึงจะทำได้ ส่วนใหญ่ก็ไม่ทัน ไปดูแล้วเกิดสุขเกิดทุกข์ รู้ทัน ตัวนี้ก็ยังยาก

ตัวที่ง่ายกว่าตัวนี้ก็คือ พอเราไปกระทบอารมณ์แล้ว ใจเราโกรธ เรารู้ ใจเราไม่โกรธ เรารู้ ใจเราโลภ เรารู้ ใจเราไม่โลภ เรารู้ ใจเราหลง เรารู้ ใจไม่หลง เราก็รู้ ใจฟุ้งซ่าน เราก็รู้ ใจหดหู่ เราก็รู้ รู้อยู่แค่นี้ มี 4 คู่ ถ้าจะหัดดูจิต แต่มันเยอะหน่อย รวมแล้วมัน 8 ตัว จิตมีราคะ รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้ว่าไม่มีราคะ คู่ที่หนึ่ง จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ ไม่มีโทสะ รู้ว่าไม่มีโทสะ จิตมีโมหะคือหลง กับจิตที่มันไม่หลง จิตฟุ้งซ่านกับจิตหดหู่นี่อีกคู่หนึ่ง ฟุ้งมากๆ แล้วก็จะซึมๆ ไปตอนท้าย

ถ้าเราดูจิตได้ช้า เราจะมาดูที่ตัวสังขาร สังขารที่มันปรุง เดี๋ยวมันก็ดี เดี๋ยวมันก็ชั่ว ดูตรงนี้ แต่ถ้าเราภาวนาแล้วเร็วขึ้นๆ เราก็จะเห็นว่าก่อนที่มันจะเกิดราคะ ก่อนมันเกิดโทสะ มันเกิดตามหลังเวทนามา อาศัยเวทนา แล้วกิเลสมันแทรกตามเวทนามาอีกที แล้วเวทนามันมาจากไหน เวทนามันมาจากผัสสะ ฉะนั้นถ้าเราดูได้เร็ว เราเห็นการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราเห็นตรงนี้ กระบวนการทำงานของจิตที่จะปรุงแต่งกิเลส หรือปรุงแต่งความทุกข์ให้เกิดขึ้นในจิตใจของเราจะไม่มี

ฉะนั้นถ้าเราเห็นได้ จิตไปเห็นรูป อย่างที่หลวงพ่อชอบทักพวกเราเรื่อยๆ เอ๊ย หลงไปดูแล้ว สอนอะไรอยู่ สอนให้เรารู้ทันจิตที่หลงไปทางตา หลงไปฟัง นี่หลงไปทางหู หลงไปดมกลิ่น นี่หลงไปทางจมูก หลงไปลิ้มรส นี่หลงไปทางลิ้น หลงไปคิดนึกในใจ ทางใจ ฉะนั้นเวลาถ้าเราภาวนาได้ละเอียดขึ้นมา เราจะเห็นจิตเกิดดับทางทวารทั้ง 6 ทางทวารทั้ง 6 ทีละทวาร จิตไม่รู้อารมณ์ทีละหลายทวาร จะรู้อารมณ์ทีละช่อง ไปสังเกตดูของจริงเป็นอย่างนั้น

ถ้าตัวนี้ไม่ไหว มันยากเกินไป ลดระดับลง ก็ดูเวทนาสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ในใจเรา ถ้าเราตรงนี้ยังดูไม่ทัน ไปดูตอนที่มันเกิดกิเลสแล้วก็ได้ อย่างเราเห็นคนๆ หนึ่ง สติเราไม่ทัน มันโมโหไปแล้ว หรือเราขับรถอยู่คนมาปาดหน้าเรา เราโมโหไปแล้ว เราดูไม่ทันหรอกว่ามันผ่านกระบวนการมาตั้งเยอะกว่ามันจะโกรธขึ้นมาได้ มีผ่านเหตุปัจจัยมาจำนวนมากเลย เราดูเท่าที่ดูได้ ไม่ต้องบังคับกดข่มตัวเองให้ดูอะไรที่ยากเกินไป

ถ้าคนไหนขี้โมโห ก็ดูไป จิตโมโหก็รู้ หายโมโหแล้วก็รู้ คนไหนขี้โลภ เห็นอะไรก็อยากได้ไปหมด ก็คอยรู้เอา จิตโลภก็รู้ จิตมันหาย ไม่อยากแล้ว เบื่อแล้ว ก็รู้เอา จิตเบื่อเป็นโทสะ ไม่ใช่โลภะแล้ว ไม่ใช่โลภแล้ว คอยรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตไป อย่างนี้เราจะเกิดปัญญา เราเห็นว่าจิตเองก็ไม่ใช่ตัวเรา เวทนาเองก็ไม่ใช่ตัวเรา เกิดดับๆ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ สังขารทั้งหลายคือความปรุงดีปรุงชั่วก็ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายเห็นไหม เราดูแต่แรก ร่างกายมันถูกรู้ถูกดู มันไม่ใช่เรา เวทนาก็ไม่ใช่เรา สังขารก็ไม่ใช่เรา จิตมันก็ไม่ใช่เรา จิตมันเกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง 6

 

“ปฏิบัติธรรม ไม่ได้ทำลายความเป็นตัวตน
เพราะความเป็นตัวตนไม่เคยมีมาแต่ไหนแต่ไร
มีแต่ความหลงผิดว่ามีตัวมีตน”

 

เมื่อ 2 – 3 วันนี้มีพระมาถามหลวงพ่อองค์หนึ่ง มีพระองค์หนึ่งมาถามหลวงพ่อ บอกว่าผมเห็นหมดแล้วล่ะว่ารูป เวทนา สัญญา สังขารไม่ใช่เรา แต่มันยังมีจิตเป็นเราอยู่ ทำอย่างไรผมจะทำลายความเป็นเราของจิตได้ ทำอย่างไรจะสามารถเห็นว่าจิตมันไม่ใช่เราได้ คิดว่าต้องสู้กับอะไรสักอย่างหนึ่งถึงจะรู้ว่าจิตไม่ใช่เรา ทำลายความเป็นเราของจิต ท่านใช้คำนี้ ทำอย่างไรจะทำลายความเป็นตัวเราของจิตได้ หลวงพ่อตอบว่าไม่มีใครทำได้หรอก เพราะความเป็นตัวเราของจิตไม่เคยมีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว มีแต่ความหลงผิดว่าจิตเป็นเรา

ในความเป็นจริงมันไม่ใช่เรามาตั้งแต่แรกแล้ว แล้วจะไปทำลายความเป็นเราได้อย่างไร สิ่งที่เราจะทำลายคือความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา ฉะนั้นที่เราทำลายสักกายทิฏฐิได้ เราทำลายทิฏฐิ ทำลายความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร จิตใจ หรือวิญญาณคือตัวเราของเรา ทำอย่างไรจะหายจากความเห็นผิด ก็เห็นให้ถูกเสียสิ หลักมันมีแค่นี้เอง ความเห็นผิดก็คือตัวอวิชชา ความเห็นถูกก็คือตัววิชชา

เราอยากเห็นถูก เราก็หัดรู้ไป หัดรู้กายอย่างที่กายเป็น หัดรู้ใจอย่างที่ใจมันเป็น รู้มันไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งมันก็จะเห็นร่างกายไม่ใช่เรา มันจะเห็นกาย มันดูง่าย มันหยาบ ร่างกายไม่ใช่เรา ความสุขทุกข์ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลไม่ใช่เรา ตรงจิต วิธีดูให้เห็นว่าจิตไม่ใช่เรา เราต้องเห็นจิตมันเกิดดับ จิตเกิดที่ตาแล้วดับ เกิดที่หูแล้วดับ เกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เกิดที่ไหนดับที่นั่น จิตไม่ได้มีดวงเดียว

ในขณะที่ปุถุชนทั้งหลายรู้สึกว่าจิตมีอยู่ดวงเดียว แล้วจิตดวงนี้ไปรับความสุขบ้าง ไปรับความทุกข์บ้าง ไปรับกุศลบ้าง รับอกุศลบ้าง วิ่งไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ คิดว่าจิตมีดวงเดียว อันนั้นไม่มีทางเห็นหรอกว่าจิตไม่ใช่เรา มันรู้สึกแน่นแฟ้นเลยว่าจิตนี้คือตัวเรา

ในความเป็นจริงแล้ว จิตไม่ได้มีดวงเดียว จิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน ฉะนั้นเราหัดดูจิตมีความสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตมีความทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธ จิตหลงเกิดแล้วก็ดับ จิตไปดูรูป จิตไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ มีแต่เกิดแล้วดับ ถ้าเห็นอย่างนี้ ซ้ำๆๆ ถึงวันหนึ่งมันจะปิ๊งขึ้นมาเลย จิตนี้ไม่ใช่เราหรอก จะเห็นความจริงแล้ว ไม่ได้ทำลายความเป็นตัวตนของจิต

เราปฏิบัติธรรม ไม่ได้ทำลายความเป็นตัวตน ของกายก็ไม่ได้ทำลาย ของจิตก็ไม่ได้ทำลาย เพราะความเป็นตัวตนไม่เคยมีมาแต่ไหนแต่ไร มีแต่ความหลงผิดว่ามีตัวมีตน จะทำลายความหลงผิดก็เห็นถูก เห็นกายอย่างที่กายเป็น ก็คือมันไม่ใช่ตัวเรา เห็นเวทนาอย่างที่เวทนาเป็น มันก็ไม่ใช่เรา อย่างสุขทุกข์เราสั่งได้ที่ไหน ถ้าสั่งได้ทุกคนสั่งมีความสุขหมดแล้ว อันนี้เราสั่งไม่ได้ กุศลอกุศลมันก็ไม่ใช่เราเพราะเราสั่งมันไม่ได้ จิตเองเราก็สั่งมันไม่ได้ สั่งให้ดูรูปอย่างเดียว ห้ามฟังเสียงก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตจะไปเกิดทางอายตนะอันไหน เราสั่งไม่ได้ เราเลือกไม่ได้

เฝ้ารู้เฝ้าดูไปถึงจุดหนึ่งก็จะเห็นจิตก็ไม่ใช่เรา ถ้าเมื่อไรเราภาวนาจนเห็นร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ความสุขทุกข์ไม่ใช่เรา ความดีความชั่วไม่ใช่เรา จิตใจก็ไม่ใช่เรา นั่นล่ะเราจะได้โสดาบัน พระโสดาบันจะรู้ว่าขันธ์ทั้ง 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก จะเห็นอย่างนี้ มันไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการนั่งสมาธินานๆ นั่งแล้วก็เงียบไม่รู้สึก รู้เหนือรู้ใต้ คนละเรื่องกันเลย ถ้านั่งสมาธิแล้วบรรลุมรรคผล พวกฤๅษีบรรลุก่อนพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้าท่านมาฝึกจนกระทั่งจิตมันเดินเข้าสู่ทางสายกลางได้

ทางสายกลางก็คือไม่ตามใจกิเลส คือหลงตามโลกตามอารมณ์ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือคิดอะไรฟุ้งซ่านไป แล้วก็ไม่สุดโต่งมาข้างบังคับกาย บังคับใจ นักปฏิบัติร้อยละ 100 บังคับกาย บังคับใจ เวลาคิดถึงการปฏิบัติ ใจมันจะอึดอัด จะแน่นๆ ขึ้นมา บางคนแน่นจนชินเลยรู้สึกไม่แน่น พวกนี้อาการหนักหน่อย

 

คิดมากยากนาน

ธรรมะไม่ว่าจะฟังมากแค่ไหน อ่านมากแค่ไหน ก็ไม่ได้ช่วยให้เราลดละกิเลสได้ เราต้องรู้ทันกิเลส กิเลสอะไรเกิดขึ้นในจิตใจของเรา คอยรู้ทันไว้ อย่างของคนเมื่อกี้ หลวงพ่อบอกว่าจิตมันโลภ มันมีความอยากเกิดขึ้นให้รู้ นี่ก็คือการรู้ทันกิเลส อีกคนหนึ่งถัดมา ใจมันชอบหงุดหงิด หลวงพ่อบอกจิตมันหงุดหงิดก็ให้รู้ จิตไม่หงุดหงิดก็รู้ มันคู่เดียวเอง กรรมฐานสำหรับคนๆ หนึ่งไม่เยอะหรอก ถ้ายิ่งทำกรรมฐานเยอะ จับหลักไม่ได้เสียที

อย่างง่ายๆ เราเห็นร่างกายหายใจ แล้วจิตเราสงบอยู่กับการที่เห็นร่างกายหายใจ อันนี้ได้สมถะ แต่ถ้าเราเห็นว่าร่างกายที่หายใจออกไม่เที่ยง ร่างกายที่หายใจเข้าไม่เที่ยง หรือร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายทั้งหมดก็จะไม่ใช่เรา เห็นอยู่แค่นี้ก็พอ เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานไม่ใช่เรื่องวุ่นวายมากมาย ยิ่งคิดมาก ยิ่งยากนาน ตรงนี้ถูกเป๊ะเลย คิดมากยากนานจริงๆ ของง่ายก็เลยยาก ง่ายจะตายไป

ตรงนี้หลวงพ่อขำ หลวงพ่อภาวนาเรียนจากครูบาอาจารย์ หลวงพ่อรู้สึกง่ายๆ หลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิต เราก็ดูๆๆ ไป เราก็เข้าใจมัน พอมาสอนพวกเรา หลวงพ่อก็บอกการปฏิบัติง่ายที่สุดเลย หลวงปู่ทุยท่านบอกลูกศิษย์ท่าน ท่านอ่านหนังสือหลวงพ่อด้วย ท่านบอกท่านเห็นด้วยกับอาจารย์ปราโมทย์ทุกเรื่อง ไม่เห็นด้วยอยู่เรื่องเดียว คือมันยาก เรารู้สึกง่าย ก็เราทำ เรารู้สึกง่าย พอหลวงพ่อสอนมานานๆ อือ ท่านถูกแหะ ก็พวกเราทำไมมันยากเหลือเกิน พวกเรามันคิดมาก คิดมากยากนาน รู้เอาสิ แทนที่จะคิดเอาๆ ก็รู้เอา

นั่งอยู่รู้ไหม ยากไหมจะรู้ว่านั่ง หายใจอยู่รู้ไหม ยากไหมที่จะรู้ว่าหายใจ ไม่เห็นยากเลย แต่ชอบลืม โลภอยู่รู้ไหม อยากโน้นอยากนี้ รู้ได้ไหม ไม่เห็นจะยากเลยที่จะรู้ว่ากำลังอยาก โกรธ รู้ไหม ไม่เห็นจะยากเลยที่จะรู้ว่ากำลังโกรธ ใจลอยรู้ไหม ก็หัดรู้ไปสิ ไม่รู้ก็หัดรู้ไป มันไม่ได้ยากอะไรหรอก มันยากเพราะเราไม่ยอมทำ ไม่ยอมปฏิบัติ มัวแต่คิดมาก ต้องทำอย่างไรดี ทำอย่างไรจะเจริญ ทำอย่างไรจะได้มรรคได้ผล บอกเลย อยากเท่าไรก็ไม่มีทางได้ผลหรอก ได้ผล ได้มรรคได้ผล ไม่มีทางหรอก จะได้ผลก็คือได้ความทุกข์ไป อยากแล้วก็ทุกข์ๆ ไป

อาจารย์นั่งอยู่นี่ ตอนหลวงพ่อยังไม่บวช ใกล้ๆ จะบวชแล้ว แกถามอะไรหลวงพ่อสักข้อหนึ่ง หลวงพ่อลืมแล้วล่ะ แต่หลวงพ่อตอบว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มันไม่ใช่เหตุให้พ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นอย่างเรารู้ทันกิเลสของเรา กิเลสมันก็ดับไป ใจเราก็ไม่ดิ้นรนไปตามกิเลส ใจเราก็สงบสุข นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นตัณหา ไม่ใช่เป็นโลกลึกลับอะไร ไม่ใช่ นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา สิ้นความดิ้นรนปรุงแต่ง คือไม่เป็นภพ ความดิ้นรนของจิตคือคำว่าภพ เพราะฉะนั้นไม่มีภพ ไม่มีชาติ ชาติคือการที่จิตหยิบฉวยเอาจิตขึ้นมา หรือหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กายขึ้นมา เป็นตัวกูของกู

ถ้าภาวนาถึงจุดหนึ่ง จิตมันจะวางจิต ตรงนี้พวกเรายังไม่เป็น จิตมันวางจิตไป ทำไมมันวาง ก็เพราะว่ามันเห็นว่าจิตก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ มันก็วาง มันไม่มีอะไรหรอก มันง่ายๆ อย่างนั้นล่ะ ดูสิกลับมายืนยันว่าง่ายอีกแล้ว แต่พอมองหน้าพวกเรา มันยากจริง ยากเหมือนเข็นควายขึ้นภูเขา ก็ไปทำเอา ใครทำก็ได้ ใครไม่ทำก็เวียนว่ายตายเกิดไป ยุติธรรมแล้วล่ะ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
บ้านจิตสบาย
18 กันยายน 2565