การเจริญสติปัฏฐาน

เมื่อวานใครได้ฟังที่หลวงพ่อเทศน์ไหม ใครได้ฟังยกมือให้ดูหน่อย ถ้าไม่ได้ฟังก็กลับไปฟังเสีย มันคือจุดที่พวกเราผิดพลาดมากที่สุดในการปฏิบัติ ตั้งแต่หลวงพ่อภาวนา พอครูบาอาจารย์หลวงปู่ดูลย์ท่านรับรองแล้วว่าเข้าใจการปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อออกไปดูนักปฏิบัติที่โน่นที่นี่ สำนักทั้งหลายอะไร ออกไปดูเยอะเลย หลวงพ่อก็พบว่า บางแห่งครูบาอาจารย์ท่านดี แต่ว่าลูกศิษย์ส่วนใหญ่ทำผิด เดินสมาธิผิด บางที่เห็นนั่งสมาธิกันเป็นร้อยๆ คน ก็นั่งเพ่งเอา ถ้าไม่นั่งเพ่งก็นั่งสะกดจิตตัวเองให้เคลิ้มๆ ไป ตัวนี้ที่เป็นปัญหา ตอนนั้นมองแล้ว โอ้ อย่างนี้เมื่อไรมันจะได้มรรคผล สมาธิไม่ถูก มันเดินปัญญาไม่ได้จริง

เดินปัญญาไม่ได้ บรรลุมรรคผลไม่ได้ เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่ได้ เพราะบุคคลทั้งหลายจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา แล้วปัญญามีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด สัมมาสมาธิก็อาศัยสัมมาสติ ทำสัมมาสติให้มากแล้วสัมมาสมาธิก็จะบริบูรณ์ขึ้นมา เมื่อสัมมาสมาธิบริบูรณ์ สัมมาญาณะคือการเจริญปัญญา ก็จะทำได้ สุดท้ายก็จะเกิดสัมมาวิมุตติ ความหลุดพ้นที่ถูกต้อง เกิดอริยมรรค อริยผลขึ้นมา

ทำไมวิมุตติต้องมีคำว่าสัมมาด้วย เพราะว่าวิมุตติของแต่ละนิกาย แต่ละศาสนาไม่เหมือนกัน จุดสุดยอดของการปฏิบัติแต่ละแห่งมันไม่เหมือนกัน บางที่การได้กลับไปอยู่กับพระเจ้าคือจุดสุดยอดที่เขาต้องการ บางที่ก็ต้องการดับความรู้สึกนึกคิดทั้งหมด ก็เป็นแบบพรหมลูกฟัก ก็ไปอีกแบบหนึ่ง บางคนก็น้อมจิตให้อยู่กับความว่าง ฉะนั้นนิพพานหรือจุดสุดยอดของแต่ละสำนัก แต่ละนิกาย แต่ละศาสนา มันไม่เหมือนกัน

 

เส้นทางของพระพุทธเจ้า

สัมมาวิมุตติของพระพุทธเจ้าคือจิตมันหมดความยึดถือในขันธ์ 5 ในรูปนาม ในกาย ในใจนี้ พอจิตมันหมดความยึดถือในรูปนาม ขันธ์ 5 จิตมันก็เข้าสู่ความสงบสุข ตรงที่มันยังยึดถือกาย มันก็ต้องดิ้นรนวุ่นวายอยู่กับกาย ตรงที่มันยึดถือจิต มันก็ต้องดิ้นรนวุ่นวายอยู่ที่จิต ตรงที่มันหมดความยึดถือ มันก็หมดความดิ้นรนปรุงแต่ง ตัวความดิ้นรนปรุงแต่งนั้นคือคำว่าภพ

ภพ เรามักจะได้ยิน อธิษฐานกัน ขอให้สิ้นภพจบชาติ สิ้นอะไร จบพรหมจรรย์ สิ้นชาติ สิ้นภพ จบพรหมจรรย์อะไรอย่างนี้ อธิษฐานกัน แต่เราไม่รู้ภพคืออะไร ภพก็คือความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตนั่นล่ะ เราต้องเรียนรู้ทำไมมันปรุงแต่ง ที่มันปรุงแต่งขึ้นมาเพราะมันยังไม่เห็นความจริงของกายของใจ ความปรุงแต่งเป็นความดิ้นรน ดิ้นรนเพราะอะไร เพราะอยากให้กายให้ใจเป็นสุข เพราะอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ มีตัณหา ก็เกิดความยึดถือ เกิดความดิ้นรน คือเกิดภพขึ้นมา แล้วมันก็เกิดทุกข์ขึ้นมา

เส้นทางของพระพุทธเจ้าก็จะสอนให้เราเห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริง เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ชาติคือความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์คือการปฏิบัติธรรมเสร็จแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว นี่เส้นทางของพระพุทธเจ้า ต้องเห็นตามความเป็นจริงถึงเบื่อหน่าย คลายความยึดถือแล้วหลุดพ้น เส้นทางเป็นอย่างนี้

เราไม่สามารถเดินในเส้นทางนี้ได้ดี เพราะเราขาดเครื่องมือสำคัญที่สุด คือตัวสติ ถ้าเรามีสติที่ถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิด ถ้าเราไม่มีสติที่ถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องก็ไม่มี การเจริญปัญญาหรือการทำวิปัสสนากรรมฐานก็ทำไม่ได้ มรรคผลก็ไม่มีทางเกิด เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้อย่างหนึ่ง สติสำคัญมาก เป็นธรรมะที่มีอุปการะมาก ท่านยกไว้ 2 ตัว สติกับสัมปชัญญะว่าเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก ที่จะคอยช่วยเหลือคุ้มครองเราจนถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น

สติเป็นตัวรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจเรา ฉะนั้นสติที่รู้กายรู้ใจ เรียกว่าสติปัฏฐาน สติอย่างอื่นไม่เรียกว่าสติปัฏฐาน เขาเรียกว่าเป็นสติเฉยๆ ไม่ใช่สัมมาสติ สิ่งที่เป็นสัมมาสติ คือสติปัฏฐาน จำไว้เลย พระพุทธเจ้าบอกเลยว่าสัมมาสติ อธิบายด้วยสติปัฏฐาน 4 ก็คือให้เราคอยรู้สึกกายในกายเนืองๆ รู้สึกเวทนาในเวทนาเนืองๆ รู้สึกจิตในจิตเนืองๆ รู้สึกธรรมในธรรมเนืองๆ

มันมีศัพท์ที่ทำให้เราสับสน คำว่า ใน กายในกายเป็นอย่างไร คิดว่าเป็นกายทิพย์อยู่ข้างในอย่างนั้นหรือ ไม่ใช่ มันเป็นศัพท์เทคนิค เป็น technical term อย่างเราจะเรียนรู้กาย สิ่งที่เป็นกายเรานี่ โอ้โห มันมีอะไรต่ออะไรตั้งเยอะตั้งแยะ ถ้าจะเรียนให้หมดก็ไปเรียนแบบหมอ กระดูกมีกี่ชิ้น ต้องมีชื่ออย่างนั้นชื่ออย่างนี้ กล้ามเนื้อมีกี่มัด ต้องท่องให้ได้ชื่อให้หมดเลย ระบบนั้นทำอย่างนี้ ระบบนี้ทำอย่างนั้น เส้นเลือดตรงนี้เป็นอย่างนี้ อันนั้นเรียนกายแบบหมอ

จะเรียนอย่างนั้นได้ต้องมีสติไหม มี มีสติจดจ่ออยู่กับการเรียน แต่สติปัฏฐานที่ว่ารู้กายในกาย ให้รู้กายในกายเนืองๆ คำว่า กายในกาย มันหมายถึงว่าให้เราเรียนรู้กายบางอย่าง ถ้าเราเข้าใจกายอันนั้นแล้ว ที่เราเรียนรู้แล้ว ในจุดเดียวนั้น เล็กๆ นั้นล่ะ เราจะเข้าใจกายทั้งหมด แล้วเข้าใจธรรมทั้งหมดได้ด้วย

 

สุ่มตัวอย่างมาเรียน

ถ้าพูดแบบภาษาของนักวิจัย มันคือการสุ่มตัวอย่างมาเรียน อย่างเราต้องการรู้ว่าเลือกตั้งคราวนี้พรรคไหนจะชนะอะไรอย่างนี้ เราไม่ต้องถามคนหลายสิบล้านคน ทำอย่างนั้นก็คล้ายๆ เรียนวิชาแพทย์ เรียนมันหมดทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เราจะเรียนแบบทำวิจัย เราก็สร้างกลุ่มตัวอย่างขึ้นมาว่าจะสุ่มคนกลุ่มไหนบ้าง แล้วก็ผลจากการวิจัยอันนี้มันจะสะท้อนให้เห็นภาพรวม

อย่างเราสุ่มคนกรุงเทพฯ คนต่างจังหวัด ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ คนมีฐานะสูง ฐานะกลาง ฐานะต่ำ เพศหญิง เพศชาย คนมีการศึกษามาก การศึกษาน้อย นี่คือกลุ่มตัวอย่าง พอเราศึกษากลุ่มตัวอย่างนี้แล้วเข้าใจ มันคือภาพรวม ภาพรวมของทั้งหมด ก็ตอบได้ว่าเลือกตั้งคราวนี้ใครจะชนะ

กายในกายนี้ก็เหมือนกัน เราเรียนเรื่องกายบางอย่าง ถ้าเข้าใจแล้วเราจะเข้าใจกายทั้งหมด แล้วเข้าใจถึงจิตด้วย พระพุทธเจ้าท่านคัดเลือกมาให้เราแล้ว สุ่มมา ยกตัวอย่างมาให้เราดูแล้ว ที่เราจะต้องศึกษา อย่างกายในกาย ท่านสอนอย่างไร ท่านสอนให้ดูกายเป็น 2 ส่วนเบื้องต้น เรื่องอานาปนสติ ร่างกายนี้ทั้งวันมีแต่หายใจออก ร่างกายนี้ทั้งวันก็มีหายใจออก หายใจเข้า หายใจออก หายใจเข้า ทั้งวันมีอยู่แค่นี้เอง เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องเรียนกายทั้งหมดหรอก เพื่อจะปล่อยวางกายได้

ถ้าเราเห็นว่าร่างกายที่หายใจออกไม่เที่ยง ไม่ทุกข์ เป็นอนัตตา ร่างกายที่หายใจเข้าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าเราเห็นอย่างนี้ก็คือมันไม่มีกายมากกว่านี้แล้ว กายทั้งวันมันก็มีแต่กายที่หายใจออก หายใจเข้า ฉะนั้นเราดูกายที่หายใจออกแล้วไม่ใช่เรา กายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา มันก็ไม่เหลือกายที่เป็นเราแล้ว อันนี้เป็นการสุ่มตัวอย่างมาเรียน เรียกว่ากายในกาย คือเรียนกายบางอย่าง ถ้าเข้าใจแล้ว เข้าใจทั้งหมดเลย กายทั้งหมดไม่ใช่เรา

หรือท่านสอนในกายานุปัสสนา บรรพที่สอง อันที่หนึ่งคืออานาปนสติ อันที่สองคืออิริยาบถ 4 ท่านสอนให้เรามีสติคอยรู้ร่างกายในอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ถ้าเมื่อไรเราเห็นว่าร่างกายที่ยืน ไม่ใช่เรา ร่างกายที่เดินไม่ใช่เรา ร่างกายที่นั่งไม่ใช่เรา ร่างกายที่นอนไม่ใช่เรา มันก็คือร่างกายทั้งหมดไม่ใช่เราแล้ว

หรือบางคนชอบดูละเอียดเข้าไปอีก ท่านสอนกายานุปัสสนาอันที่สาม ชื่อสัมปชัญญบรรพ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก ท่านแยกร่างกายเป็น 2 ส่วน คือร่างกายที่เคลื่อนไหวอันหนึ่ง ร่างกายที่หยุดนิ่งอันหนึ่ง ถ้าเห็นว่าร่างกายที่เคลื่อนไหวไม่ใช่เรา ร่างกายที่หยุดนิ่งไม่ใช่เรา ร่างกายทั้งหมดก็ไม่เป็นเราแล้ว นี่คือคำว่ากายในกาย เราเรียนสุ่มตัวอย่างมาเรียนเท่านั้นเอง แต่การสุ่มนั้นต้องสุ่มอย่างชาญฉลาด อย่างทำงานวิจัย ใครๆ ก็ทำได้ แต่ว่าผลออกมาถูกหรือไม่ถูก เก่งหรือไม่เก่ง สำหรับวิจัย มันเริ่มตั้งแต่การสุ่มตัวอย่างว่าจะสร้างกลุ่มตัวอย่างอะไร

พระพุทธเจ้ากลัวพวกเราจะเรียนกายในกายมั่วซั่ว ท่านก็เลยสอน ในกายานุปัสสนา ที่ง่ายๆ สำหรับคนที่ไม่ทรงฌาน ดูร่างกายที่หายใจออกมันไม่เที่ยง หายใจออกมันไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็หายใจเข้า หายใจเข้าแล้วมันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หายใจออก ทำไมมันหายใจออกแล้วต้องหายใจเข้า เพราะมันทุกข์ หายใจออกไปเรื่อยๆ มันทุกข์ มันก็ต้องหายใจเข้าแก้ทุกข์ หายใจเข้าไปเรื่อยๆ มันทุกข์ มันก็ต้องหายใจออกแก้ทุกข์ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก หรือจะเห็นร่างกายที่หายใจเข้ามีธาตุไหลเข้าไป หายใจออกก็มีธาตุไหลออกไป หายใจเข้าก็มีธาตุไหลเข้า หายใจออกก็มีธาตุไหลออก เราก็เห็นร่างกายนี้เป็นแค่ก้อนธาตุ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นของถูกรู้ถูกดูเท่านั้นเอง

อย่างพวกเรารู้สึกไหมว่าตอนนี้ร่างกายนั่งอยู่ ถ้าเราเห็นร่างกายมันนั่ง รู้สึกไหม มันถูกรู้อยู่ ร่างกายที่นั่งมันถูกรู้อยู่ ร่างกายมันบอกไหมว่ามันคือตัวเรา จิตต่างหากเป็นคนพูดว่า ร่างกายนี้คือตัวเรา ร่างกายไม่เคยบอกเลยว่าร่างกายคือตัวเรา จิตที่โง่ จิตที่ไม่รู้ความจริง จิตที่มีอวิชชา มันก็ไปสำคัญมั่นหมายว่าร่างกายที่นั่งอยู่คือตัวเรา คือของเรา ร่างกายที่เดิน ที่ยืน ที่นอน มันก็คือตัวเรา คือของเรา แต่ถ้าจิตเราตั้งมั่นขึ้นมาจริงๆ แล้ว ดูลงมาที่ร่างกาย

อย่างขณะนี้พวกเราฟังหลวงพ่อเทศน์ เวลาฟังหลวงพ่อเทศน์ สิ่งที่เราจะได้ทันทีเลยคือสมาธิ เพราะเวลาหลวงพ่อเทศน์ หลวงพ่อเทศน์ด้วยกำลังของสมาธิ ไม่ได้เทศน์แบบท่องจำมาพูดให้ฟัง ถ้าหลวงพ่อท่องจำมาพูดให้เราฟัง จิตพวกเราจะวอกแวก แต่หลวงพ่อเทศน์ด้วยการที่จิตเราทรงสมาธิอยู่ แล้วแสดงธรรมให้ฟัง จิตพวกเราก็ซึมซับ

รู้สึกไหม จิตเราขณะนี้ไม่เหมือนตอนก่อนที่หลวงพ่อจะเริ่มเทศน์ ดูออกไหมตรงนี้ จิตเรามีสมาธิแล้วลองรู้สึกลงไปสิ ร่างกายนี้ที่นั่งอยู่ ร่างกายนี้ถูกรู้ จริงหรือไม่จริง ร่างกายที่หายใจออก หายใจเข้า มันเป็นของถูกรู้ จริงหรือไม่จริง หัดดูอย่างนี้ พอจิตเรามีกำลังตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว เราก็มาเจริญปัญญา ดูลงไปเลย ร่างกายมันเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดูซ้ำๆๆ ไป สุดท้าย จิตมันก็ยอมรับความจริง เออ จริงๆ ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นสมบัติของโลก เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ เรายืมโลกมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่นานเราก็ต้องคืนให้โลกไป บางคนก็คืนเร็ว เกิดวันเดียวก็ตาย บางคนคืนช้าหน่อย เกิดร้อยปีก็ตาย แต่สุดท้ายทุกคนต้องคืนให้โลก

พอเราดูอย่างนี้เรื่อยๆ มันก็จะเห็นกายนี้ไม่น่ายึดถือเลย เป็นของที่เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้จริง ไม่เที่ยง แล้วก็ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา หิวก็ทุกข์ อิ่มเกินไปก็ทุกข์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินมากก็ทุกข์ กินแล้วไม่ได้ขับถ่ายก็ทุกข์ ขับถ่ายไม่เลิกก็ทุกข์ มีแต่เรื่องทุกข์ทั้งนั้นเลย ถ้าเรามีสติคอยรู้กายเราไปเรื่อยๆ รู้ด้วยใจธรรมดา ใช้ใจที่ปกติ ทรงสมาธิอยู่

ที่หลวงพ่อบอกใจปกติ เราต้องไปฟังที่หลวงพ่อเทศน์เมื่อวาน หลวงพ่อเทศน์ถึงจิตที่ปกติ จิตเดิมๆ ถ้าบอกว่าเดิม ไม่ใช่จิตเดิม เดิม จิตประภัสสร แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา จิตของเราถ้าไม่ไปยุ่งกับมัน มันผ่องใสอยู่แล้ว มันผ่องใสอยู่โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว จิตที่เศร้าหมอง เพราะกิเลสมันเข้ามา

อย่างเราจะนั่งสมาธิ อย่างที่เทศน์ให้ฟังเมื่อวาน พอนั่งสมาธิก็เกิดความโลภ อยากสงบ บางทีก็อยากรู้อยากเห็นโน่นนี่ อยากบรรลุมรรคผลนิพพานอะไร ตัวอยากคือตัวโลภะ ตัวโลภ นั่นล่ะ กิเลสจรมาเรียบร้อยแล้ว ยังไม่ทันจะนั่งเลย เตรียมจะนั่งเท่านั้น กิเลสจรมาเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อก็เคยเป็น ตอนนั้นภาวนาชำนาญแล้วด้วยซ้ำไป แต่หลวงปู่ดูลย์สิ้นไปแล้ว ไปภาวนาในวัดสาขาท่าน ครูบาอาจารย์องค์นั้นท่านชื่อหลวงพ่อคืน หลวงพ่อคืนเป็นพระที่จิตไว อย่างโยม 50 คน มองปร๊าด อ่านจิตได้ครบแล้ว 50 คน

วันนั้นหลวงพ่อกินข้าวเช้าแล้วก็เดินออกมา ไปเจอเก้าอี้ตัวหนึ่งอยู่ใต้ต้นไม้ เมืองสุรินทร์มันร้อน ไปเจอเก้าอี้อยู่ใต้ต้นไม้ คิดขึ้นมาในใจว่า วันนี้เราจะนั่งภาวนาตรงนี้ล่ะ หลวงพ่อคืนตะโกนไล่หลังมาเลย “ปราโมทย์ อยากภาวนาก็ผิดแล้ว” สะดุ้งเลย อยากภาวนาก็ผิดหรือ ทำไมผิด เพราะมันมีโลภะ มันอยาก

พอมันมีโลภะ พอเริ่มภาวนาก็จะเริ่มแทรกแซงจิต ทำอย่างไรจิตจะสงบ หาทางบังคับจิตแล้ว บางทีก็น้อมจิตให้ซึมๆ ลงไป ซึมๆ ครึ่งหลับครึ่งตื่นแล้วรู้สึกสงบดี อันนั้นจิตมีโมหะ จิตมีโมหะเข้ามา จิตก็ไม่ประภัสสร ไม่ผ่องใส จิตมีโลภะมาก็ไม่ผ่องใส นั่งไปแล้วก็ไม่สงบสักที ก็โมโห หงุดหงิด ทำไมไม่สงบสักที จิตมีโทสะ จิตก็ไม่ผ่องใส

 

เริ่มต้นภาวนาก็อย่าไปสะสมกิเลส
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งเพื่อเป็นเครื่องสังเกตจิต

เพราะฉะนั้นเราจะฝึกจิตให้มันตั้งมั่น ให้มันผ่องใสขึ้นมา คอยรู้ทันจิต ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องสังเกตจิต ไม่ใช่เพื่อบังคับจิต เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอย่างนี้ แล้วพอจิตเราแอบไปคิดเรื่องอื่น เรารู้ทัน ไม่ห้าม ห้ามไม่ได้ ถ้าห้ามแล้วจะกลับข้างเลยกลายเป็นบังคับจิต เวลาเราทำสมาธิ สิ่งที่ผิดมี 2 อันเท่านั้น อันหนึ่งคือขาดสติหลงลืมไป อีกอันหนึ่ง มีสติอย่างรุนแรง ไปเพ่งจ้อง เป็นมิจฉาสติแล้ว ไม่ใช่รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น ไม่ใช่สติปัฏฐาน นั่งจ้องร่างกาย นั่งจ้องจิตเอาไว้ จิตก็ซื่อบื้อ เครียดๆ อยู่อย่างนั้น เห็นไหม สมาธิไม่เกิดหรอก

เพราะฉะนั้นอยากให้สมาธิเกิด จิตปกติของเรานี่ล่ะ มันมีสมาธิ เพียงแต่ว่ามันหลงเร็ว เราก็ทำกรรมฐานอันหนึ่ง จิตหลงแล้วรู้ๆ ไปเรื่อยๆ ต่อไปมันจะหลงสั้นลงๆๆ จิตที่ผ่องใสก็จะมีกำลังตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา พอมีกำลังอย่างนี้ล่ะ เอาไปเดินวิปัสสนาได้ อย่างขณะนี้พวกเรามีสมาธิระดับหนึ่ง เป็นสมาธิที่ฟังที่หลวงพ่อเทศน์อยู่ จิตมีสมาธิ เราลองน้อมจิตดวงนี้ลงไปดูสิ เห็นไหม ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดูอยู่ ลองสังเกตดู ร่างกายไม่เคยพูดสักคำหนึ่งว่าร่างกายคือตัวกูของกู ไม่เคยเลย จิตมันคิดเอาเอง

ลองพยักหน้าสิ เห็นไหมร่างกายเคลื่อนไหว แค่รู้สึก จิตเราตั้งมั่นอยู่ ร่างกายเคลื่อนไหว แค่รู้สึก ร่างกายหายใจก็แค่รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ก็แค่รู้สึก แล้วต่อไปปัญญามันจะเกิด ตรงที่เรามีสติคอยระลึกรู้กาย แล้วเห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของมันได้ นั่นเรียกว่าเราทำสติปัฏฐาน แต่ถ้าเราไปเพ่งกายแล้วนิ่งอยู่ที่กาย อันนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน อันนั้นคือการทำฌาน การเพ่งรูป ได้รูปฌาน

ฉะนั้นสติที่แท้จริงต้องเป็นสติปัฏฐาน เห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นใจอย่างที่ใจเป็น ไม่ได้ไปบังคับให้มันผิดธรรมชาติ ตัวจิตเองก็เป็นธรรมดาๆ เราไม่ได้ไปแต่งจิตให้ประภัสสรขึ้นมา ถ้าแต่งเมื่อไรไม่ประภัสสรเมื่อนั้น เพราะว่ากำลังของความโลภ โกรธ หลง มันจะเข้ามาแล้วมันก็จะทำให้จิตประภัสสรนั้นหายไป เดิมจิตนั้นประภัสสรอยู่แล้ว แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา

ฉะนั้นเริ่มต้นภาวนาก็อย่าไปสะสมกิเลส ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตเราหนีไปคิด ทำไมจิตมันหนีไป เพราะจิตมีความฟุ้งซ่าน นั่นคือกิเลส ตระกูลโมหะ หรือนั่งไปแล้วจิตหดหู่ เซื่องซึม นั่นเป็นโมหะอีกอย่างหนึ่ง ชื่อถีนมิทธะ นั่งไปแล้วก็นั่งลุ้นเมื่อไรจะสงบ อยากสงบ อยากดี นั่นโลภะ นั่งแล้วไม่สงบสักที หงุดหงิดใจ เครียด นั่นโทสะ ฉะนั้นเราจะไม่ได้จิตที่ประภัสสรสักที

ไปฟังที่เทศน์เมื่อวานให้ดี ไปฟังอีก ฟังแล้วฟังอีกก็ได้ ถ้าเราได้จิตที่ประภัสสร ก็คือตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะ ครูบาอาจารย์ก็เรียกว่าจิตผู้รู้ แต่หลวงตามหาบัวท่านเรียก จิตผู้รู้นั่นล่ะคือจิตประภัสสร จิตที่ผ่องใส สว่างไสว ผ่องใส แต่จิตที่ผ่องใสกับจิตที่บริสุทธิ์คนละอันกัน พวกเรา พอจิตเราไม่ถูกกิเลสครอบงำมา จิตเราผ่องใสแต่ไม่บริสุทธิ์ เพราะประเดี๋ยวกิเลสก็มาได้อีก

ตัวที่ทำให้จิตเราผ่องใสคือตัวสมาธิที่ถูกต้อง ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก ทำกรรมฐานไปแล้ว จิตหนีไปก็รู้ จิตถลำไปเพ่งก็รู้ แล้วเราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง หลวงพ่อฝึกสมาธิมาตั้งแต่ 7 ขวบ ฝึกสมาธิ 22 ปี ใครจะอึดเท่าหลวงพ่อ ก็มีล่ะ แต่ว่ายุคนี้คงหายาก ไม่ทนพอ ทำอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งจับหลักของสมาธิได้ อยากทำสมาธิให้จิตประภัสสร ให้จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็สงบด้วย ทำอย่างไร อาศัยสติๆ อ่านจิตตัวเองให้ออก

อย่างเราทำกรรมฐานไปแล้วจิตเราไหลไปคิด เรารู้ จิตถลำไปเพ่ง เรารู้ นี่คือการทำสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ ฉะนั้นสมาธิไม่ได้เกิดจากอะไรต่ออะไรวุ่นวาย เกิดจากการน้อมจิตอย่างนั้น แต่งจิตอย่างนี้ อันนั้นมิจฉาสมาธิ สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิเกิดจากสติ สติคอยรู้เท่าทัน ทำกรรมฐานไปแล้ว จิตมันไหลไปแล้วรู้ จิตถลำไปเพ่งแล้วรู้ จิตก็จะตื่นขึ้นมา ผ่องใสไม่มีกิเลส เป็นจิตประภัสสร ผ่องใส กิเลสหยาบไม่มี เหลือแต่พวกอนุสัยกิเลสซึ่งยังไม่ทำงานขึ้นมา มันตกตะกอนซ่อนอยู่ข้างใน

พวกอนุสัยต้องมีผัสสะกระตุ้น มันเหมือนตะกอนที่อยู่ก้นตุ่มน้ำ ก้นถังน้ำ ถ้าเราไม่ไปแกว่งน้ำ ไม่ไปกวนน้ำ ตะกอนก็ยังนอนนิ่งๆ เราก็น้ำนี้ใสดี แต่เราเอามือไปแกว่งๆ ใส่น้ำ เดี๋ยวตะกอนก็ขึ้นมา อันนั้นล่ะกิเลสมันจรมาแล้ว กิเลสมันซ่อนอยู่ คือตัวอนุสัยกิเลสทั้งหลาย ตัวอนุสัยกิเลส ตัวที่จะฆ่ามันคืออริยมรรค ตัวอื่นฆ่าไม่ได้ ไม่ตายหรอก อริยมรรคเกิดจากการที่เราเดินปัญญาได้เต็มที่แล้ว เราเดินปัญญาได้เพราะว่าจิตเราตั้งมั่น จิตเราตั้งมั่นเพราะเราเจริญสติปัฏฐาน มันมีขั้นมีตอน มี process ของมันที่เราจะต้องฝึก

ฉะนั้นไปทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ไม่ทำเพื่อสงบ ไปฟังที่หลวงพ่อเทศน์เมื่อวาน แล้วจิตฟุ้งไปก็รู้ จิตไปเพ่งก็รู้ จิตโลภ จิตโกรธอะไรขึ้นมาก็คอยรู้ไว้ พอกิเลสไม่มา จิตประภัสสร จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอัตโนมัติ พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมาได้แล้ว มีสมาธิขึ้นมาแล้ว เราก็น้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ

 

“หลวงพ่อสอนขณิกสมาธิ จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ รู้ทีละขณะๆ
แต่พอทำไปสักเดือน 2 เดือน 3 เดือน เราจะพบว่าเราเป็นคนใหม่ไปโดยไม่รู้ตัวแล้ว
จิตเราตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา ตื่นขึ้นมา จะรู้เลยว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยตื่น พอตื่นขึ้นมาแล้ว เราก็เดินปัญญาแล้ว”

 

พระพุทธเจ้าท่านก็สอน ถ้าเต็มสูตรของการปฏิบัติจริง เราจะต้องเข้าฌานที่สี่ ฌานที่สี่ จิตรวมลงไปจนเป็นอุเบกขา ตัดความรับรู้โลกข้างนอกไปแล้ว แล้วน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ ก็จะเห็นความเกิดดับอยู่ภายใน จิตที่ทรงฌานที่สี่ก็ยังมีการเกิดดับ บางทีก็มีความสุขผุดขึ้นมาแล้วก็ดับ เป็นอุเบกขา อุเบกขาผุดขึ้นมา เกิดแล้วก็ดับ ทำไมต้องเป็นอุเบกขา จิตจะเป็นกลาง ถึงจะมีกำลังมากที่สุด ถ้าจิตไม่เป็นกลาง ยังไม่มีกำลัง อันนั้นเต็มภูมิเลยสำหรับคนที่เดินสายฌาน

พวกเราทำไม่ได้ง่ายๆ หรอก เราใช้ที่หลวงพ่อสอน มันคือขณิกสมาธิ จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ รู้ทีละขณะๆ แต่พอทำไปสักเดือน 2 เดือน 3 เดือน เราจะพบว่าเราเป็นคนใหม่ไปโดยไม่รู้ตัวแล้ว จิตเราตั้งมั่น มันรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา มันตื่นขึ้นมา มันรู้เลยว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยตื่น พอมันตื่นขึ้นมาแล้ว เราก็เดินปัญญาแล้ว

เวลาดูกาย เราก็สุ่มตัวอย่างกายมาเรียน กายหายใจออกไม่ใช่เรา กายหายใจเข้าไม่ใช่เรา กายหายใจออกก็ไม่เที่ยง หายใจเข้าก็ไม่เที่ยง หายใจออกก็ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์ อันนี้เดินปัญญา หรือจะเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ ดูเวทนา ถ้าเราไม่ได้ทรงฌาน หลวงพ่อแนะนำให้ดูเวทนาทางใจ เวทนาทางกายเอาไว้ให้พวกทรงฌานเขาดูกัน มิฉะนั้นสติแตก สู้ไม่ไหวเวลาเจ็บมากๆ จะทุรนทุราย ตั้งหลักไม่อยู่เลย สมาธิแตกหมด

ถ้าเรามีสมาธิสั้นๆ เป็นขณะๆ อะไรที่เกิดดับเป็นขณะ จิตเกิดดับเป็นขณะ เราดู จิตนี้เวลามันเกิดมันดับ เราดูตัวมันเกิดดับไม่เห็น เราดูจิตอย่างนี้ จิตที่มีความสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตที่มีความทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ เราไม่ต้องเรียนเวทนาตั้งมากมาย เช่น มีความสุข เพราะมีอามิส มีความสุขเพราะไม่มีอามิส อะไรก็ไม่รู้ยุ่งวุ่นวาย

 

ดูธรรมะที่เป็นคู่ๆ

เราดูซื่อๆ ง่ายๆ ขณะนี้ใจเราสุข เรารู้ ขณะนี้ใจเราทุกข์ เรารู้ ขณะนี้ใจเราเฉยๆ เรารู้ นี่สุ่มตัวอย่างมาเรียน เอาง่ายๆ แค่นี้ แล้วทั้งวันจิตเรามีอยู่แค่นั้น ทั้งวันถ้าจิตไม่สุขก็ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็เฉย ทั้งวันมีอยู่แค่นี้ เพราะฉะนั้นถ้าเรียนตัวนี้ สุ่มตัวอย่างตัวนี้มาเรียน ก็จะเข้าใจจิตทั้งหมดได้ด้วย จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตเฉยๆ เกิดแล้วก็ดับ ดูอย่างนี้ง่ายๆ อันนี้สำหรับคนที่ไม่ได้เล่นฌาน

ถ้าเล่นฌาน จิตถอยออกมาจากฌาน แล้วดูลงไป เห็นกายอยู่ส่วนหนึ่ง เวทนาอยู่ส่วนหนึ่ง แล้วเวทนาก็จะเกิดดับ ทุกข์อย่างไรก็จิตใจไม่หวั่นไหวเลย อย่างนั่งจนแข้งขาจะหัก ร่างกายมันเห็นกายกับความเจ็บปวดมันคนละอันกัน ความเจ็บปวดกับจิตก็คนละอันกัน กายกับจิตก็คนละอันกัน อันนี้เอาไว้ให้คนเล่นฌานเขาเล่น ของเราเจียมเนื้อเจียมตัว สมาธิเราน้อย เราก็ใช้กรรมฐานที่ง่ายกว่านั้น ดูไป จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตเฉยๆ ก็รู้ ทั้งวันมันก็มีอยู่ 3 อย่างเท่านี้เอง

หรือจะดูจิตตานุปัสสนา เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จะดูสุ่มตัวอย่าง ถ้าเราขี้โมโห ท่านก็สุ่มตัวอย่างให้ จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะ รู้ว่าไม่มีโทสะ ทั้งวันจิตมีอยู่แค่นี้ล่ะ จิตจะมีกี่แสนโกฏิดวง มันก็มีอยู่แค่นี้ล่ะ คือจิตที่มีโทสะกับไม่มีโทสะ จิตที่โกรธกับจิตที่ไม่โกรธ ก็มีอยู่แค่นั้นเอง ไม่ต้องเรียนจิตตั้งเยอะแยะ ตั้ง 80 กว่าดวง 120 กว่าดวง ไม่ต้องเรียนขนาดนั้น เรียนแค่ว่าจิตมีโทสะกับจิตไม่มีโทสะแค่นี้ก็ได้

ทีนี้บางคนไม่ค่อยโกรธแต่ว่าขี้โลภ รักสุขรักสบาย รักสวยรักงามอะไรพวกนี้ เห็นอะไรก็อยากได้ไปหมดเลย มีมือถืออยู่แล้ว เห็นอีกก็อยากได้อีก ของเก่าก็ยังใช้ได้ก็ยังอยากได้ของใหม่อีก นี่พวกขี้โลภ มีเมียอยู่แล้ว เห็นผู้หญิงอื่นก็ยังอยากได้อีก นี่พวกขี้โลภ ให้เราดูลงไปเลย จิตมีโลภะ พระพุทธเจ้าบอก “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ” ราคะกับโลภะมันตัวเดียวกัน “จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ ก็รู้ว่าไม่มีราคะ”

พวกขี้โลภ ทั้งวันจิตมี 2 ชนิดเอง คือจิตโลภกับจิตที่ไม่โลภ จิตที่ไม่โลภอาจจะเป็นจิตโกรธก็ได้ เป็นจิตหลงก็ได้ เป็นจิตที่เป็นกุศลก็ได้ ทั้งวันมันก็มีอยู่แค่นี้ โลภกับไม่โลภ แล้วถ้าเราฟุ้งซ่านเก่ง เราก็ดูจิตฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านก็รู้ พอฟุ้งซ่านไปช่วงหนึ่งก็ซึม จิตหดหู่ก็รู้ ดู ท่านสุ่มตัวอย่างมาให้ดูเป็นคู่ๆ

ไปสังเกตให้ดี ตัวอย่างที่ท่านสุ่มมาล้วนแต่เป็นคู่ๆ ทั้งนั้น เช่น ร่างกายหายใจออกกับร่างกายหายใจเข้า เข้าคู่กันได้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เราบอก เอ๊ะ นี่มัน 4 ตัวไม่เป็นคู่ ไม่ใช่ คำว่าคู่คือเป็นภาคี หมายถึงมีการเทียบเคียงได้ ให้เห็นว่าสภาวะ 2 อันนั้นไม่เหมือนกัน ร่างกายยืนมันเหมือนร่างกายเดินไหม มันไม่เหมือนใช่ไหม เหมือนร่างกายนั่งไหม ไม่เหมือน ฉะนั้นมันไปเรียนธรรมะที่เป็นคู่ๆ ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า นี่ก็เซ็ทหนึ่ง ถ้าพูดภาษายุคนี้คือ มันเป็นเซ็ทหนึ่ง ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนนี่อีกเซ็ทหนึ่ง เวลาเรียนกรรมฐาน ที่จะเจริญปัญญา เรียนเซ็ทเดียวพอแล้ว นี่ล่ะคือคำว่าใน

อย่างถ้าเราใจลอยเก่ง เราก็ดูไป ทั้งวันมีแต่ใจลอยกับรู้สึกว่าใจลอย ใจลอยแล้วรู้ๆ ฝึกอย่างนี้ ทำไมต้องเป็นคู่ ถ้ามีอันเดียวมันไม่เห็นไตรลักษณ์หรอก พอมีคู่ใช่ไหม comparative ขึ้นมา มันจะเห็นเลย มันเปลี่ยนแปลงตลอด หายใจออก เปลี่ยนมาเป็นหายใจเข้า หายใจเข้าเปลี่ยนมาเป็นหายใจออก ยืน เดิน นั่ง นอน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา นี่เซ็ทหนึ่ง เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง นี่เซ็ทหนึ่ง สุขกับไม่สุข ทุกข์กับไม่ทุกข์ เฉยๆ กับไม่เฉยๆ ถ้าดูซอยย่อยๆ แต่หลวงพ่อยังไม่แนะนำ มันละเอียดไป พวกเราดูง่ายๆ สุข ทุกข์ เฉยๆ นี่เซ็ทหนึ่ง ทั้งวันมีอยู่แค่นี้ล่ะ

แล้วถ้าดูกุศล อกุศล คือจิตตานุปัสสนา ก็เป็นคู่ๆ จิตมีราคะกับจิตไม่มีราคะ จิตที่ไม่มีราคะ อาจจะมีโทสะก็ได้ อาจจะเป็นจิตที่เป็นกุศลก็ได้ อาจจะเป็นจิตหลงเฉยๆ ก็ได้ จิตมีโทสะกับจิตไม่มีโทสะ ทั้งวันมันมีอยู่แค่นี้ เรียนคู่เดียว ถ้าเข้าใจแล้วเข้าใจทั้งหมด เพราะทั้งวันจิตก็มีอยู่แค่นี้ล่ะ ถ้าเราขี้โลภก็จิตเดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็ไม่โลภ เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็ไม่โลภ ทั้งวันมีอยู่แค่นี้ เราจะเห็นเลย จิตจะโลภหรือจิตจะไม่โลภ เราสั่งไม่ได้ มันเป็นอนัตตา เราสั่งมันไม่ได้ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวไม่โลภ เดี๋ยวอยากฟังเทศน์ เดี๋ยวเบื่อแล้วอยากกลับบ้านอะไรอย่างนี้ จิตใจมันแกว่งๆๆ ดูความเปลี่ยนแปลงของมันไปเรื่อยๆ

อยากฟังธรรมเป็นความอยาก แต่ว่าเขาเรียกให้โก้ว่าเป็นฉันทะ ความอยากที่ดี ที่ถูกต้อง ทำนองคลองธรรม เขาเรียกว่าฉันทะ ความอยากที่ไม่ดีเรียกว่าตัณหา แต่ถ้าเราภาวนาเข้าจริงๆ ชั่วหรือดีมันก็พอๆ กันล่ะ ก็หลอกให้เราปรุงแต่งได้เหมือนๆ กันล่ะ หลวงพ่อเลยตีความเรียกตัณหา ในปฏิจจสมุปบาท มีแต่คำว่าตัณหา ไม่มีฉันทะ พอละเอียดขึ้นมา มันกลายเป็นตัณหาหมด กระทั่งอยากดีก็เป็นตัณหา แต่ถ้าพูดในทางจริยธรรม อยากดีเรียกว่าเป็นฉันทะ เอาใจไว้หน่อย จะได้สบายใจ ถ้าบอกตัณหาจัด โห โกรธเลย ถ้าบอก มีฉันทะ ปลื้ม มันก็แค่ภาษาเท่านั้น คือใจอยาก

เราสังเกต พอจิตเราตั้งมั่นได้แล้ว เราเจริญปัญญาไป ใช้กรรมฐานเป็นคู่ๆ ถ้าเราเห็นว่าร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา ร่างกายทั้งหมดไม่ใช่เรา จิตมันเป็นคนรู้ร่างกาย แล้วถ้าเวทนาเราก็เห็นเวทนา สุขกับเวทนาไม่ใช่เรา ทุกข์ไม่ใช่เรา อุเบกขา เฉยๆ ไม่ใช่เรา จิตที่เกิดร่วมกับเวทนา มันก็พลอยเกิดดับไปด้วย เดี๋ยวก็เป็นจิตสุข เดี๋ยวก็เป็นจิตทุกข์ เดี๋ยวก็เป็นจิตเฉย จิตเองก็เกิดดับ เวทนาก็เกิดดับ ค่อยๆ ดูไป หรือจิตโลภ โกรธ หลง โลภ โกรธ หลงเกิดแล้วก็ดับ จิตที่เกิดร่วมกับโลภ โกรธ หลง เกิดแล้วก็ดับ

เวลาเรารู้กาย ใครเป็นคนรู้ จิตเป็นคนรู้ เวลาเราลืมกาย ใครเป็นคนลืม จิตก็เป็นคนลืม ถ้าเราดูกายเรื่อยๆ ก็เห็นจิตชัด เห็นจิตชัดขึ้นมาด้วย ทีนี้บางคนทำสมาธิอะไรก็ไม่สำเร็จ หลวงพ่อบอก รู้สึกกายไป ร่างกายขยับ รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึกไว้ พอคอยรู้สึก ร่างกายขยับไปขยับมา รู้สึก ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย ร่างกายขยับแล้วรู้ๆ แต่ไม่ใช่ไปแกล้งขยับ บางคนไปแกล้งขยับ ขยับแล้วโทรศัพท์ยังได้เลย มือยังขยับอยู่เลย อย่างนี้ไม่ได้เรื่อง ไม่มีสติ ต้องมีสติไว้

บางคน กระทั่งพระในวัดก็มี บางองค์ทำอย่างอื่นไม่ได้ รู้สึกกายไป ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก รู้สึกไปเรื่อยๆ ต่อไป จิตมันจะมีกำลัง เมื่อไรสติระลึกรู้สภาวธรรมได้ถูกต้อง นั่นคือตัวสัมมาสติ รู้สภาวะคือรู้รูปนาม รู้ ไม่ใช่เพ่ง ถ้ารู้ สิ่งที่ได้คือสมาธิ รู้เป็นขณะๆ สมาธิที่เกิดขึ้นก็เป็นขณิกสมาธิ แต่ขณิกสมาธิ สะสมให้มาก จะมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาได้

ตัวนี้เอาไปเดินปัญญาได้ จะเห็น ดูธรรมะที่เป็นคู่ๆ อย่างที่บอก รูปธรรมที่เป็นคู่ นามธรรมที่เป็นคู่ๆ ดูไป แล้ววันหนึ่งปัญญามันเกิด กายนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ของที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตนี้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ของที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันวางความยึดถือ ในรูปนาม ในขันธ์ 5 ที่เรายึด เราก็ยึดกายยึดใจของตัวเองล่ะ

 

มิจฉาวิมุตติ

เราบอกเรายึดบ้าน ทำไมเรายึดบ้าน มันเป็นที่อยู่ของร่างกาย แล้วเรามีบ้าน เรารู้สึกสบายใจ เพราะว่าจริงๆ เราอยากให้จิตใจเราสบาย อยากให้ร่างกายสบาย ที่ยึดโน่นยึดนี่ออกไปข้างนอก จริงๆ คืออยากให้ตัวเองสบายนั่นล่ะ อยากให้กายสบาย อยากให้จิตสบาย นี่มีรถของเรา มีรถไปทำไม อยากให้ร่างกายสบาย ไปไหนนั่งรถไป อยากให้ใจสบาย หูย ถ้ามีรถหรูๆ สบายใจอะไรอย่างนี้ มันเป็นเรื่องอย่างนี้

เพราะฉะนั้นสังเกตไปเรื่อยๆ ต่อไปก็เห็นความจริง ร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา เป็นอนัตตา ไม่ยึดถือ จิตใจก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ยึดถือ ถ้าเราภาวนาจนถึงจุดที่ไม่ยึดถือกายยึดถือใจได้ จิตจะวางโลกทั้งโลกเลย ถ้าเราไม่ยึดถือร่างกาย จิตจะวางโลกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า กามาวจรภูมิ วางโลก

อย่างมนุษย์อย่างนี้อยู่ในกามาวจร วางความเป็นเทวดา เทวดาก็อยู่ในกามาวจร ทำไมเทวดา ต้องมีรูปสวยๆ มีเสียงเพราะๆ เห็นไหม เขาติดใจแล้วเขาติดใจ แต่เขาสร้างความดี บุญก็ให้ผลได้รับอารมณ์ที่ถูกใจ ฉะนั้นเป็นเทวดารูปสวย รูปหล่อ มีเสียงดี มีอาหารดีอะไรอย่างนี้ ทำไมต้องไปอยู่ตรงนั้น ก็เพราะยังติดใจในตัวรูป ยังมีความติดใจในตัวร่างกาย เลยจัดอยู่ในกามาวจรภูมิ

ถ้าเราวางกายลงไปแล้ว ต่อไปนี้ภูมิที่จิตมันเดิน มันจะเหลืออยู่ 3 ภูมิ รูปาวจร อรูปาวจร แล้วก็โลกุตตรภูมิ ตรงที่ภาวนากัน แล้วจิตไปติดฌานสมาบัติ นั่นก็ไปติดอยู่ในรูปาวจร ติดรูปฌาน บางคนเห็นว่าการกำหนดอยู่ในรูปฌานยังเป็นภาระ ก็กำหนดอรูป เช่น กำหนดช่องว่าง สเปซ หรือกำหนดจับไปที่ตัวจิตผู้รู้ อันนี้ไม่แนะนำให้ทำ อันตรายมากเลย ไปจับผู้รู้แล้ว เดินปัญญายากเลย

หรือวางทั้งอารมณ์ ช่องว่างถูกรู้ วางทิ้ง ตัววิญญาณ ตัวจิต ก็วางทิ้ง ไม่เอาทั้งวิญญาณ ไม่เอาทั้งจิต กลายเป็นอรูปฌาน อันที่สาม ชื่ออากิญจัญญายตนะ ไม่ยึดอะไรสักอย่าง ไม่เอาอะไรสักอย่าง อยู่ว่างๆ เฉยๆ ไม่มีภาระที่จะต้องไปจับที่แสง ไม่มีภาระที่จะจับช่องว่าง ไม่มีภาระที่จะจับที่จิต ก็เป็นอรูปฌาน ชนิดที่สาม ถัดจากนั้นสัญญามันจะอ่อนตัวลง มันจะเคลิ้มลงไป เหมือนจะหลับ แต่ไม่ขาดสติ รู้สึกอยู่อย่างนั้นตลอดสายแต่ไม่มีคำพูดหรอก พูดไม่เป็น ไม่มีความคิดอะไรแล้ว อยู่อย่างนั้น

ส่วนใหญ่ถ้ามาถึงตัวนี้ จะคิดว่านิพพานแล้ว ตัวนี้เลยเป็นมิจฉาวิมุตติ ไม่ใช่สัมมาวิมุตติ ไม่ใช่มรรคผลจริง ถ้าภาวนาเรื่อยๆ ในที่สุด เราปล่อยวางจิตได้ ปล่อยวางกายได้ เราก็พ้นจากกามาวจร ถ้าปล่อยวางจิตได้ ก็จะพ้นรูปาวจร อรูปาวจร ที่เราเข้าฌานมันก็เพื่อให้จิตมีความสุข หมดความยึดถือจิตแล้วฌานสมาบัติทั้งหลายเป็นภาระของจิต ของวิเศษนั้นล่ะคือตัวภาระ เกือบร้อยละ 100 เสร็จตัวนี้หมดเลย

หลวงปู่ดูลย์เคยสอนหลวงพ่อ บอกว่าท่านพิจารณาแล้ว คนที่ว่าภาวนาดีๆ มีชื่อเสียงอะไร เกือบทั้งหมดเป็นผีใหญ่ คือเป็นพรหม คือติดอยู่ตรงนี้เป็นพรหม ไม่ได้พ้นทุกข์จริง เพราะยังยึดถือจิตอยู่ แล้วไม่เห็นว่ายึดถือจิต ไปสร้างโลกที่ละเอียดประณีต แล้วพาจิตเข้าไปอยู่ในโลกของพรหม แล้วบอกว่านี่พ้นทุกข์ ยังยึดจิตอยู่ ถึงได้ต้องพาจิตเข้าไปตรงนั้น

นิพพานจริงๆ ไม่มีการเข้า ไม่มีการออก นิพพานเข้า นิพพานออก ยังไม่ใช่ของจริง หลวงพ่อเคยโดนอาจารย์บุญจันทร์ท่านอบรมมา ตอนนั้นหลวงพ่อทำสมาธิ ไม่จับอารมณ์ ไม่จับจิต แล้วว่างลงไปเลย ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่งอะไร ตัวนั้นไม่มีเวลา ไม่มีอะไรทั้งสิ้นเลย พอจิตถอยออกมา เราก็ทำกลับเข้าไปได้อีก เข้าออกๆ อย่างนี้

ทีแรกก็นึกว่าทำอย่างนี้แล้วจะนิพพานง่าย ต่อมาก็เฉลียวใจว่านี่เราทำขึ้นมา อันนั้นเป็นสมถะ ไปบอกหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่เทสก์ท่านก็บอกฝึกไว้เถอะ ยุคนี้ไม่มีใครเล่นอย่างนี้แล้ว ฝึกให้รู้ไว้ ความรู้อันนี้มันได้ไม่ขาดช่วงไป หลวงพ่อก็ทำ ยังบอกท่านเลยว่าผมกลัวติด เพราะมันเป็นสมาธิ ท่านบอกไม่ต้องกลัว ถ้าติดอาตมาจะแก้ให้เอง ท่านห้าวหาญอย่างนั้นเลย ท่านบอกถ้าติดจะแก้ให้

วันหนึ่งไปเจออาจารย์บุญจันทร์ ท่านให้พระมาเรียกหลวงพ่อไปหา เราไม่รู้จักท่าน แต่ท่านรู้จักเรา ตอนนั้นยังเป็นโยมอยู่ หลวงพ่อจะไปวัดสันติธรรม ไปหาอาจารย์ทองอินทร์ มีพระมาดักอยู่หน้าวัด บอกว่าอาจารย์บุญจันทร์มาอยู่ที่นี่ ท่านเป็นพระอาคันตุกะมาจากที่อื่น ให้ไปหาหน่อย หลวงพ่อบอกไม่รู้จัก ไม่ไป ก็ไปคุยกับอาจารย์ทองอินทร์ชั่วโมงหนึ่ง ออกมามืดแล้ว ดึก หนาวจัดเลย พระนั่นยังยืนทนหนาวอยู่ ท่านก็รบเร้า ไปหน่อยสิๆ เอ้า ไปก็ไป พระอะไรวะตื๊อชะมัดเลย รู้สึกอย่างนี้เลย สงสาร ไปก็ไป ใจอ่อน ก็ไป

อาจารย์บุญจันทร์ไม่สบายๆ คลุมโปงอยู่ที่ระเบียง ไม่เข้าห้อง รออยู่อย่างนั้น พอขึ้นไปกราบปุ๊บ ท่านลุกขึ้นนั่ง เอาผ้าที่คลุมโปงออก ชี้หน้าเลย “ไง ภาวนายังไง” ก็เล่าให้ท่านฟัง ผมภาวนา ผมไม่ยึดสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ยึดผู้รู้ ท่านตวาดเอา “เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก” นิพพานที่เข้าออกไม่ใช่นิพพาน มันคือมิจฉาวิมุตตินั่นล่ะ มีเข้ามีออก นิพพานไม่มีเข้า ไม่มีมีออก ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ

ฉะนั้นทีแรกเราก็ค่อยภาวนาไปตามขั้นตอน วันที่เราวางกายได้ ทีแรกเราวางความเห็นผิดว่ากายนี้ใจนี้คือตัวเรา ตรงนี้คือพระโสดาบัน ต่อมาเราก็เห็นกายที่ไม่ใช่ตัวเรามันเป็นตัวอะไร มันเป็นตัวทุกข์ พอเห็นกายเป็นตัวทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะบังคับไม่ได้ จิตวางกาย อันนั้นได้พระอนาคามี แล้วขั้นสุดท้ายจิตจะปล่อยวางจิต ถ้าจิตปล่อยวางจิตแล้วจะไม่มานั่งถาม พระอรหันต์นิพพานแล้วไปเกิดที่ไหน ไปอยู่ตรงไหน อันนั้นสำหรับคนที่ยังยึดจิตอยู่ ถึงยังจะหาที่ให้จิตอยู่

ฉะนั้นนิพพานจริงๆ ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีเข้า ไม่มีออก อยู่ข้างหน้าเรานี่ล่ะ มันคือสภาวะที่สิ้นตัณหา ถ้าอยากลิ้มรสนิพพานเล็กๆ นิพพานตัวอย่าง คล้ายๆ สินค้าตัวอย่าง สังเกตใจเรา เวลาใจเราดิ้นรนปรุงแต่งขึ้นมา มันสุขหรือมันทุกข์ มันอยากฟังเทศน์ ใจมันดิ้นๆ สุขหรือทุกข์ ดู ถ้าเห็นความปรุงแต่ง จิตนี้สร้างภพตลอดเวลาเลย ภพก็คือตัวความปรุงแต่ง ถ้าเราเห็นว่าจิตสร้างภพทีไร จิตก็ทุกข์ทุกที มีภพทีไรก็มีทุกข์เกิดขึ้นทุกที เพราะฉะนั้นภพจะดีจะวิเศษแค่ไหน พระพุทธเจ้าบอกเหมือนก้อนขี้ ก้อนเล็กหรือก้อนใหญ่ก็ไม่น่ารับประทาน ท่านบอกขนาดนั้น เพราะฉะนั้นภพของพรหมของเทพอะไรก็คือภพ

 

 

ฉะนั้นพวกเราค่อยๆ ภาวนา ฝึกไป เรียนรู้ความจริงของกายของใจ แต่ก่อนจะเรียนรู้ได้ ฝึกให้จิตมันประภัสสร ตื่นขึ้นมาก่อนแล้วตรงที่เราเดินปัญญานั่นล่ะ จิตจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ ถ้าจิตเข้าถึงความบริสุทธิ์ ก็คือจิตรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ไม่หลงแล้ว ไม่โง่แล้ว จิตก็บริสุทธิ์หลุดพ้น จิตมันเป็นเอง ไม่มีใครสั่งจิตให้บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ จิตเป็นเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญาจะสมบูรณ์ได้ มีสติรักษาจิตเอาไว้เถอะแล้วดีเอง

แต่ที่เทศน์ให้ฟัง ไม่ใช่พวกเราจะเข้าใจในวันนี้ทั้งหมดทุกคน ธรรมะบางอย่างที่หลวงพ่อเรียนจากครูบาอาจารย์ บางอย่างกว่าหลวงพ่อจะเข้าใจใช้เวลา 22 ปี การบ้านบางข้อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่บอกให้พวกเราฟัง บางคนจะได้ใช้เร็วๆ นี้ บางคนก็ใช้อีกนานหน่อย บางคนก็อาจจะใช้ชาติต่อๆ ไปอะไรอย่างนี้ แต่ได้ใช้แน่ ถ้าเราไม่ทิ้งการปฏิบัติที่ถูกต้องเสีย ถ้าเรายังเจริญสติปัฏฐานอยู่ วันหนึ่งจะได้ใช้ธรรมะที่หลวงพ่อบอกแน่นอน เพราะตราบใดที่ยังมีการเจริญสติปัฏฐาน การบรรลุพระอรหันต์ยังมีความเป็นไปได้

วันนี้หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังเท่านี้ พอสมควรแก่เวลา ขอให้พวกเราตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ หลวงพ่อก็แก่ลงทุกวันแล้ว เคี่ยวเข็ญพวกเราได้ไม่นานก็จะหมดเรี่ยวหมดแรง ได้แต่นั่งให้พวกเรามองเฉยๆ ต่อไป แบบครูบาอาจารย์ทั้งหลาย พอแก่ๆ คนเขาก็เข็นออกมา ให้กราบให้ไหว้ ที่จะมาจ้ำจี้จ้ำไช ไล่ทุบไล่ตี มันทำไม่ไหว ฉะนั้นเราต้องพยายามทุบตัวเองให้ได้ สอนตัวเอง เตือนตัวเองให้ได้ ช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุด

ชาวพุทธเราไม่พึ่งสิ่งอื่น เราพึ่งตัวเอง สิ่งที่เราเอาเป็นที่พึ่งสำหรับตัวเราเอง คือสติสัมปชัญญะ สติปัญญานั่นล่ะ คอยรู้สึกกาย คอยรู้สึกใจไป คอยดูความจริงของกาย คอยดูความจริงของจิตใจไป รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ตัวนี้ตัวสัมปชัญญะ อย่างเอาเวลาไปเล่นมือถือเยอะๆ เล่นเน็ตเยอะๆ ถ้าเรามีสัมปชัญญะ เราก็รู้ไม่ควรเพราะอะไร เราไปเล่นแล้วสติเราหายหมดเลย หรือกิเลสที่ยังไม่เกิดก็เกิด กิเลสที่เกิดแล้วก็แรงขึ้น กุศลที่เคยมีก็หายไป กุศลใหม่ก็ไม่เกิด

เพราะฉะนั้นเราพึ่งตัวเอง ตรวจสอบตัวเองเป็นระยะๆ ไป มีสติรู้กายรู้ใจต้องรู้อยู่ให้มากที่สุด แล้วก็มีสัมปชัญญะกำกับว่า สิ่งที่เราปฏิบัติอยู่ อยู่ในร่องในรอยที่ถูกต้องไหม หรือเถลไถลออกไปแล้ว หลายคนภาวนามาหลายปี แล้วบอกไม่ได้ๆ ไปดูตัวเอง ทำไมมันไม่ได้เสียที มันเอาเวลาไปไถลเสียเยอะเลย ขอเล่นโน่นหน่อย ขอเล่นนี่หน่อย หมดเวลาไปวันหนึ่งๆ

พยายามช่วยตัวเองให้มาก เอาอย่างหลวงพ่อให้ได้สิ เราเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อ หลวงพ่อเรียนจากท่านพ่อลี ท่านบอกว่าให้หายใจเข้าพุทออกโธ หลวงพ่อทำอย่างนั้น 22 ปีไม่เลิกเลย ไม่ต้องมาสั่งซ้ำเลย หลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิต หลวงพ่อดูจิตทุกวันเลย ไม่เลิก ไม่ต้องมีใครมาสั่ง ดูตลอดเลย

ฉะนั้นมันไม่แปลกหรอกว่า ทำไมบางคนปฏิบัติแล้วได้ผลเร็ว บางคนปฏิบัติแล้วได้ผลช้า ที่ว่าได้ผลช้า ส่วนใหญ่คือไม่ได้ปฏิบัติ เอาเวลาไปหลงอยู่ในโลกของความคิด ไปเพลิดเพลิน ไปเล่นอะไรเพลินๆ ไป หลวงปู่ดูลย์ท่านถึงบอกว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” ที่ท่านสอนหลวงพ่อ ประโยคนี้เท่านั้น แล้วหลวงพ่อก็ปฏิบัติเข้าใจคำสอนอันนี้ขึ้นมา

ขอให้พวกเราเป็นคนดี มีศีลมีธรรม มีสติรักษาจิตใจไป รู้อะไรควร อะไรไม่ควร ขอให้เจริญในธรรม ถ้าทำอย่างที่หลวงพ่อบอกก็เจริญในธรรมล่ะ วันนี้คุยกันเท่านี้ก็แล้วกัน เดี๋ยวหลวงพ่อต้องกลับวัด หมอมารอจะถวายวัคซีนอีกแล้ว

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
บ้านจิตสบาย
23 เมษายน 2566