ต้องขยันรู้ทันความปรุงแต่งของจิต รู้ทันความปรุงแต่งของจิต ดี จิตมันชอบปรุงแต่ง เราไปปรุงแต่งจิตด้วย จิตมันปรุงแต่งไม่เป็นปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาอยู่คือเราไปปรุงแต่งจิตให้มันนิ่งผิดธรรมดา ตัวที่ผิดอยู่คือตัวนี้
ถ้าจิตไม่ถูกปฏิบัติอย่างไรก็ไม่ถูก ถ้าจิตถูกใช้กรรมฐานอะไร จะรูปธรรมนามธรรม กาย เวทนา จิต ธรรม อะไรก็ถูกไปหมด ถ้าจิตผิดก็ผิดหมด ถ้าจิตถูกแล้วรู้กายรู้ใจก็ถูก
เรื่องที่ยากที่สุดของการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นตรงที่ทำอย่างไรจิตเราจะตื่นขึ้นมาได้ ตัวนี้เป็นเรื่องที่ยากที่สุดของการปฏิบัติ เพราะเราเกิดมากับความหลง เราไม่ได้เกิดมากับความรู้สึก รู้สึกตัวไม่เป็นหรอก อาศัยได้ยินได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านสอนสติปัฏฐานอะไรอย่างนี้ ค่อยเรียน ค่อยรู้ ค่อยฝึกไป จนวันหนึ่งจิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในขณะที่จิตของเราเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง
เวลาเราคิดถึงการปฏิบัติเราก็ไปปรุงแต่งจิตอีก แต่งทำอย่างไรจะสงบ ทำอย่างไรจะมีความสุข ทำอย่างไรจะเกิดปัญญา ในหัวสมองเต็มไปด้วยคำว่าทำ จะทำลูกเดียว ในขณะที่สติปัฏฐานท่านสอนเรื่องคำว่ารู้ หายใจออกก็รู้ หายใจออกยาวก็รู้ หายใจเข้ายาวก็รู้ หายใจออกสั้นก็รู้ หายใจเข้าสั้นก็รู้ ลมหายใจระงับก็รู้ มีแต่คำว่ารู้ มีความสุขก็รู้ มีความทุกข์ก็รู้ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้
ถ้าเมื่อไรจงใจปฏิบัติมันจะเกินรู้ จะเกินรู้แล้ว พวกหนึ่งไปนั่งเพ่งเอาไว้ พวกหนึ่งก็คิดพิจารณาธรรมะวุ่นวายขึ้นมา ไม่ได้เห็นสภาวธรรม การทำวิปัสสนาที่แท้จริงนั้นเราต้องเห็นสภาวธรรม ตอนที่หลวงพ่อหัดภาวนา สภาวธรรมตัวแรกที่หลวงพ่อเห็นคือตัวโกรธ เพราะหลวงพ่อเป็นคนขี้โมโห มันเป็นตัวโกรธ หลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิต ทีแรกหลวงพ่อดูจิตไม่เป็น แต่ทำสมาธิเป็นแบบ นี้หลวงพ่อเก่งมากเลย เก่งกว่านี้อีก นั่งปุ๊บสงบเลย ไปหาหลวงปู่ หลวงปู่บอกว่าให้ดูจิตตัวเอง นี่ท่านสอนกรรมฐานต่อยอดให้ จากการที่เรามีสมถกรรมฐานอยู่แล้ว จิตมีความสงบมีกำลังอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จักที่จะเอาความตั้งมั่นขึ้นมา
ที่จริงจิตตั้งมั่นได้ตั้งแต่ 10 ขวบแล้วแต่ไม่รู้จัก แล้วก็ยังหลงผิดอีกว่าคนทั้งโลกจิตก็เป็นแบบนี้ล่ะ ตอนมาภาวนาหลังๆ นี่ก็สังเกต ไม่ใช่หรอก ในโลกหาคนที่มีจิตตั้งมั่นจิตรู้เนื้อรู้ตัวนี่ยากเต็มทีเลย มีแต่จิตหลง หลงไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เบอร์หนึ่งคือหลงทางใจ หลงทั้งวัน หลงคิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ คิดอดีตคิดอนาคต คิดไปแล้วก็เกิดสุขเกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศล มันไม่เคยเห็นเลย รู้แต่เรื่องราวที่คิด นี่มันหลงอยู่
ทีนี้พอหลวงปู่บอกให้ดูจิต หลวงพ่อก็คิดว่าจะดูจิตต้องไม่มีความคิดนึกปรุงแต่ง ก็น้อมจิตไปอยู่ในความว่างๆ ไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง แล้วคิดว่านี่ดีแล้ว ขึ้นไปกราบหลวงปู่ครั้งที่สองเว้นระยะ 3 เดือนจากการที่ไปนั่งแต่งจิตให้ว่าง ทำอยู่ 3 เดือนแล้ว มีเวลาขึ้นไปกราบหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ผมดูจิตเป็นแล้ว ท่านบอกจิตเป็นอย่างไร บอกจิตมันวิจิตรพิสดารมาก มันทำงานอย่างโน้นอย่างนี้ได้เยอะแยะไปหมดเลย มันปรุงแต่งได้สารพัดเลย แต่ว่าผมสามารถทำให้มันหยุดความปรุงแต่งอยู่กับว่างๆ ได้แล้ว
หลวงปู่บอกว่าให้ไปอ่านจิตตนเอง ไม่ใช่ให้ไปแต่งจิตตนเอง ไปแต่งจิตตัวเองผิด ไปทำใหม่ ทำผิดแล้วไปทำใหม่ ท่านไม่พูดละเอียดขนาดนี้ ท่านพูดบอกว่าให้ไปอ่านจิตตนเอง ไม่ได้ไปแต่งให้มันว่าง ไปทำใหม่ ทำผิดแล้ว นี่ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าโหดมาก สอน ไม่สอนรายละเอียดอะไรทั้งสิ้น ให้เราคลำเอาเอง ใครทนได้อดทนได้คลำไปก็เข้าใจ คนไหนความอดทนต่ำ งงไปพักเดียวก็เลิกเลย ไม่เอาแล้ว ยุ่งยากเกินไป
หลวงพ่อฝึกแล้วในที่สุดเราก็มารู้ทันความปรุงแต่งของจิต เราไม่ไปปรุงแต่งจิตเสียเอง อย่างเราทำจิตให้ว่าง ทำจิตให้สงบ ทำจิตให้นิ่ง อันนี้เราปรุงแต่งจิต ไปปรุงมันทำไม จิตโดยตัวของมันเอง ธรรมชาติเดิมของมันประภัสสรอยู่แล้ว แต่มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา ฉะนั้นจิตเดิมของเราผ่องใสสว่างสงบโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว มันไม่มีความสว่าง มันมืดไป เพราะความปรุงแต่งมันเข้ามาครอบงำ มันไม่สงบเพราะความปรุงแต่งมันครอบงำ อยากสงบยิ่งไม่สงบ พยายามจะสงบก็ยิ่งไม่สงบ
แล้วทำอย่างไรจิตเราจะกลับไปสู่สภาวะที่เป็นจิตเดิมของมัน คือจิตที่ประภัสสรไม่ปรุงแต่ง เราก็อาศัยสติรู้ทันเวลาจิตไปปรุงอะไร รู้ทันมันเข้าไป อย่างจิตปรุงโลภขึ้นมา รู้ทัน ไม่ได้มุ่งแก้ว่าอย่าโลภ จิตจะโลภก็ไม่ได้ว่าอะไรมัน มันปรุงโลภขึ้นมาเรามีสติรู้ทัน ถ้าพยายามจะไม่โลภอันนี้เราปรุงเองแล้ว ตรงความพยายามเกิดที่ไหนความล้มเหลวอยู่ตรงนั้นเลย ที่หลวงพ่อพูดเรื่อยๆ เมื่อก่อน คนได้ยินแล้วหัวเราะนึกว่าพูดเล่น ที่จริงพูดจริงๆ เพราะความพยายามที่พวกเราพยายามกันไม่ใช่สัมมาวายามะหรอก ความเพียรชอบกับความเพียรอย่างที่เราคิดกันมันคนละเรื่องกัน
ความเพียรชอบ
ความเพียรชอบเพียรลดละกิเลสที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญให้มากขึ้น จะทำได้ก็อาศัยสติ ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย อย่างเรามีกิเลส เรามีสติปุ๊บ กิเลสดับทันทีเลย กิเลสที่มีอยู่ดับ ในขณะที่มีสติอยู่กิเลสใหม่ก็ไม่เกิด เห็นไหมเรามีสัมมาวายามะแล้ว หรือการที่เรามีสติขึ้นมา กุศลได้เกิดเรียบร้อยแล้ว แล้วถ้าสติของเราถี่ยิบขึ้นมา กุศลเราก็จะพัฒนาขึ้นไปเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ถึงจุดหนึ่งวิมุตติก็เกิดขึ้น
ความเพียรจริงๆ เป็นแบบนี้ มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป มันปรุงกิเลสก็รู้ทันไป มันปรุงอะไรก็คอยรู้ไป ในที่สุดจิตก็มีสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ ส่วนที่นั่งสมาธิเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำอะไรแต่ไม่ได้มีสติ อันนั้นไม่ได้มีความเพียร อันนั้นคืออัตตกิลมถานุโยค การทำตัวเองให้ลำบากโดยเปล่าประโยชน์ แต่ถ้าเรามีสติอยู่แล้วเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิหามรุ่งหามค่ำ อันนั้นอนุโมทนา ทำดี แต่ถ้าเราสติไม่มี ฝืนเดินเครียดไปเรื่อยๆ แล้วบอกเราปฏิบัติอยู่ ไม่ใช่สัมมาวายามะ ไม่ใช่ความเพียรชอบ อันนั้นคืออัตตกิลมถานุโยค คือการทรมานตัวเอง
บังคับตัวเองนาทีหนึ่งก็คือทำอัตตกิลมถานุโยคนาทีหนึ่ง ทีนี้นักปฏิบัติจะทำอัตตกิลมถานุโยคคือบังคับตัวเอง คนไม่ปฏิบัติทำกามสุขัลลิกานุโยค มันหลง อะไรเป็นอารมณ์ของกาม ก็รูป เสียง กลิ่น รส โผฐัพพะทั้งหลาย หรือกามธรรม การคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฐัพพะทั้งหลาย อันนี้เรียกว่ากามธรรม สิ่งเหล่านี้ยั่วให้จิตเราไหลออกไปข้างนอก ฉะนั้นคนในโลกก็หลง ไม่เคยฝึกไม่เคยหัด มันก็หลงออกไปดู ไปฟัง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกปรุงแต่งทางใจ หลงไปในกาม
ทำไมจิตของพวกเราไม่เคยฝึกไม่เคยหัดแล้วมันไหลไปในกาม เพราะเราเกิดในกามาวจรภูมิ ภูมิของเรามันอยู่ในกาม เพราะฉะนั้นมันพร้อมที่จะไหลไปในกามเสมอเลย ทีนี้เราต้องมาฝึกตัวเองใหม่ จิตหลงไปในกามนี่ไม่ใช่ทาง ไม่ใช่ทางสายกลาง เป็นความย่อหย่อน ทีนี้พอเรารู้ว่าจิตหลงไปข้างนอกมันย่อหย่อน นักปฏิบัติก็กลับข้างเลย เพ่งเอาไว้ กลัวจะหลงก็เพ่งเอาๆๆ อันนี้เป็นการทำตัวเองให้ลำบาก เป็นอัตตกิลมถานุโยค
ถ้าเราอยากได้มรรคผลนิพพานจริงๆ เราต้องเดินในทางสายกลางให้ได้ ไม่ใช่กามสุขัลลิกานุโยค แล้วก็ไม่ใช่อัตตกิลมถานุโยค ทางสายกลางคือการรู้สภาวะทั้งหลายตามที่มันเป็น รู้อย่างที่เป็น ไม่ใช่ไปแต่งมันขึ้นมา เคยมีเทวดาไปถามพระพุทธเจ้าบอก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ข้ามโอฆะคือข้ามห้วงน้ำห้วงกิเลสได้อย่างไร ท่านบอกดูก่อนเทวดา เราข้ามโอฆะได้เพราะเราไม่พักอยู่และเราไม่เพียรอยู่
ไม่พักอยู่ฟังแล้วเข้าใจง่าย แต่บอกไม่เพียรอยู่ฟังแปลกแล้ว ไม่เพียรใช้ได้อย่างไร ของเราพอคิดถึงการปฏิบัติมันคิดแต่จะต้องเพียร ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักว่าการเพียรคืออะไร การเพียรคือการมีสติอ่านใจตัวเองให้ออก ถ้าอ่านใจตัวเองออกทันที อกุศลที่มีอยู่ดับทันที กุศลเกิดทันทีเลยในขณะนั้น นั่นล่ะคือความเพียรที่แท้จริง ไม่ใช่ชั่วโมงที่ปฏิบัติ ชั่วโมงที่ปฏิบัติอาจจะปฏิบัติถูกหรืออาจจะปฏิบัติผิดก็ได้ ถ้าไม่มีสติก็ปฏิบัติผิด บังคับตัวเอง บังคับเอาๆ ก็ผิดนั่นล่ะ
ฉะนั้นเราพยายามมาฝึกตัวเอง อย่าหลงไปปรุงแต่งจิต อย่างพอเราคิดถึงการปฏิบัติปุ๊บ แล้วก็เริ่มบังคับกายบังคับใจแล้ว พอคิดถึงการปฏิบัติสังเกตไหม ต้องนั่งท่านี้ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายตรง หายใจเอาเป็นเอาตาย นั่งอย่างหลวงพ่อคูณได้ไหม นั่งได้ นั่งยองๆ ท่านนั่งท่านั้นแล้วท่านสบาย ให้ท่านนั่งเก้าอี้แล้วท่านเมื่อย คนที่นั่งยองๆ จนชิน ถ้าให้ไปนั่งเก้าอี้แล้วเมื่อยเลย ให้หลวงพ่อคูณมานั่งเก้าอี้ภาวนาจะยาก ถ้าท่านนั่งยองๆ ของท่าน สติสมาธิของท่านเกิด
ฉะนั้นมันไม่ได้อยู่ที่กิริยาท่าทางอะไรหรอก ให้เราคอยอ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ ใจเราสุขก็รู้ ใจเราทุกข์ก็รู้ ใจเราเป็นกุศล ใจเราเป็นอกุศล คอยรู้ไปเรื่อยๆ รู้อย่างที่มันเป็น ไม่เข้าไปปรุงแต่งจิต แล้วเราจะเห็นว่าจิตนั้นมันแอบปรุงแต่งตลอดเวลา เราไม่ได้แต่งมัน เราไม่ได้ควบคุมไม่ได้บังคับมัน แต่ว่ามันแอบปรุงแต่ง เดี๋ยวมันก็ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วขึ้นมา ให้เรามีสติรู้ทัน แล้วเราจะเห็นว่าความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่จิตหรอก เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา จิตนั้นโดยตัวมันเองผ่องใสเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ พระจันทร์สว่างผ่องใส แล้วพอเมฆมาใช่ไหม พระจันทร์ก็มืดไป
จิตนี้ก็เหมือนกัน จิตโดยธรรมชาติมันผ่องใสอยู่แล้ว แต่พอกิเลสมันจรมา อยากปฏิบัตินี่โลภะ อยากให้จิตสงบนี่คือโลภะ อย่างบางคนบอกว่านั่งสมาธินี่มีปีติมีความสุข นี่มีโลภะแล้ว อันนั้นก็อยู่ที่ว่าคนนั่งมันนั่งแบบไหน นั่งแบบมีโลภะหรือแบบไม่มีโลภะ อย่างพระพุทธเจ้าท่านนั่งสมาธิไม่มีโลภะ ท่านนั่งพักผ่อน จิตทำงานมากๆ ก็เหนื่อยเหมือนกันล่ะ ท่านก็นั่งพักผ่อน อันนั้นไม่ได้ทำด้วยโลภะ
เหมือนร่างกายเราทำงานหนักเหนื่อย เราก็นอนพักผ่อน ทำงานไปแล้วเราหิว เราก็กินข้าว อันนี้ไม่ใช่โลภะ แต่เป็นความจำเป็นทางร่างกาย อย่างอยากจะไปเข้าส้วมอย่างนี้อยากอึอย่างนี้ เป็นโลภะไหม ไม่เป็น มันเป็นเรื่องของร่างกาย จิตนี้ก็เหมือนกัน ใช้งานมันมากๆ มันเหนื่อย จิตมันก็จะน้อมเข้าหาการพัก ถ้าเราไม่พามันพัก มันก็พักของมันเอง
วิธีที่จิตมันแอบพักของมันเองคือมันแอบหลับ มันจะนั่งไปนั่งปุ๊บหลับไปเลยอย่างนี้ ฉะนั้นจิตมันอยากจะพักแล้ว ฉะนั้นถ้านั่งปุ๊บหลับปั๊บแล้วแก้ไม่ตก ให้มันหลับไป พอมันหลับพอแล้ว พอตอนที่จิตมันถอนออกมามีสติทันทีเลย ตรงนั้นนาทีทองของการปฏิบัติ จิตขึ้นจากภวังค์นี่มีสติเลย จิตโดยตัวของมันประภัสสร แต่มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา
อย่างเราโลภ อยากดี อยากรู้ อยากตื่น อยากปฏิบัติ อยากคือโลภะ ปฏิบัติแล้วไม่ได้อย่างใจ หงุดหงิด อันนั้นคือโทสะ ปฏิบัติไปแล้วก็เคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัว อันนั้นโมหะ กิเลสมันอยู่ตรงนี้ มันไม่ได้อยู่ข้างนอก มันอยู่ที่จิตใจนี่เอง พอจิตใจไม่มีกำลังของสติคุ้มครองรักษา กิเลสก็เข้ามาย่ำยี พอกิเลสเข้ามาก็เหมือนเมฆมาบังพระจันทร์ มันบังตลอดกาลไหม ไม่ กิเลสเกิดได้กิเลสก็ดับได้ ไม่ใช่เรื่องต้องตกใจ เพียงแต่ว่าเราอย่าไปสร้างเมฆขึ้นมาเอง ทำเมฆเทียมยิ่งบังพระจันทร์หนักเข้าไปอีก คิดว่านี่ฉลาดเต็มทีแล้ว เอาไอน้ำมาปล่อย พ่นละอองเข้าไปเต็มฟ้าเลยอย่างนั้น ทำเมฆปลอม มองพระจันทร์ไม่เห็น อันนั้นใช้ไม่ได้
ตอนที่เมฆมาบังพระจันทร์ เราจงใจไหม เราไม่ได้จงใจ ตอนที่กิเลสมันผ่านเข้ามา ให้เรารู้เฉยๆ เราไม่ได้จงใจ แต่ถ้าเราจงใจมีเจตนาเมื่อไร ตัวนั้นคือตัวอวิชชาปัจจยาสังขารา สังขารตัวนี้คือตัวเจตนา ไม่ใช่ตัวอื่นเลย ฉะนั้นเจตนาที่ดีเจตนาที่ชั่วก็คือเจตนา พอเกิดเจตนาก็เกิดความปรุงแต่งจิต เมื่อเกิดความปรุงแต่งจิตกลายเป็นเราเข้าไปปรุงแต่ง เราไม่ได้เห็นว่าจิตมันปรุงแต่ง แต่เราปรุงแต่ง
2 ตัวนี้แตกต่างกันสิ้นเชิง ระหว่างจิตมันปรุงแต่งนี่ไม่เป็นไร เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา แต่ตรงที่เราเข้าไปปรุงแต่งจิต อันนี้เรามีโลภะมีตัณหาซ่อนอยู่ก็เกิดเจตนา ฉะนั้นตัณหาก็เลยเป็นผู้สร้างภพ ภพก็เริ่มตรงที่เจตนานั่นล่ะ รู้ทันจิตตัวเองบ่อยๆ ฝึกเรื่อยๆ ทีแรกนานๆ จะรู้ตัวได้ทีหนึ่ง ไม่แปลก ฝึกเรื่อยๆ แล้วต่อไปก็รู้ได้เร็วขึ้นๆ รู้ได้ถี่ขึ้น
พยายามมีสติอ่านจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ
คราวแรกที่หลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ 6 กุมภาพันธ์ 2525 ไปวันนั้นแล้วไปถ่ายรูปท่านด้วย ท่านนั่งเก้าอี้โยกที่เห็นเอามาเผยแพร่กันหลังๆ รูปที่ท่านนั่งเก้าอี้โยก ไปถ่ายท่านวันที่ 6 แต่ตอนนั้นจำผิด ไปจำว่าวันที่ 23 หลังๆ ไปดูบันทึก เฮ้ย วันที่ 6 ตอนแรกไปพูดว่าวันที่ 23 คนก็เลยไปเขียนในประวัติหลวงปู่ดูลย์ รูปนี้ถ่ายเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ นี่หลวงพ่อจำผิดคลาดเคลื่อน ก็เลยไปพาคนอื่นเข้าใจผิดไปด้วย จริงๆ วันที่ 6 เข้าไปก็ไปเรียน ท่านสอนให้อ่าน ทีแรกก็อ่านผิด ต่อไปอ่านถูก อ่านถูกคือจิตเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น
จิตสุขรู้ว่าจิตกำลังสุข จิตทุกข์รู้ว่าจิตกำลังทุกข์ จิตเป็นกุศลรู้ว่าเป็นกุศล จิตเป็นอกุศลรู้ว่าเป็นอกุศล ยากไหม ขณะนี้จิตเราสุขหรือทุกข์ ยากไหมที่จะรู้ ถ้ายากปรึกษาจิตแพทย์ ถ้าใครบอกอ่านใจตัวเองไม่ออกว่าตอนนี้สุขหรือทุกข์ ลองถามหมอดู มันผิดปกติ ใจเรามีความสุขเราก็รู้ อย่างขำนี่ใช่ไหม พอเราขำแล้วเราสบายใจ รู้ว่าสบายใจ มันยากไหม ไม่เห็นจะยากเลย ที่มันรู้ไม่ได้เพราะละเลยที่จะรู้ แต่ถ้าไม่ละเลยคอยสังเกตจิตตัวเองเรื่อยๆ จิตมีความสุขขึ้นมา ก็รู้ว่ามีความสุข ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย
เวลามีความทุกข์กลุ้มใจ ใครเคยอกหักไหม มีไหม ไม่มีเลย อนุโมทนา มุสาวาทแต่เช้าเลย อย่างอกหักทุกข์ใช่ไหม ทุกข์ คนส่วนใหญ่พอมันทุกข์มันจมอยู่กับความทุกข์ ไม่รู้ว่าตอนนี้จิตกำลังทุกข์ แค่นี้เอง นักปฏิบัติกับคนไม่ปฏิบัติต่างกันนิดเดียวแค่นี่ล่ะ คนไม่ปฏิบัติมันจมลงไปในอารมณ์ เวลามีความสุขก็จมอยู่กับความสุข เผลอเพลินไป เวลามีความทุกข์ก็จมอยู่กับความทุกข์ ก็เผลอๆ ไปกับความทุกข์นั่นล่ะ
เราก็ฝึกรู้ทันใจตัวเอง จะได้ไม่จมลงไปในอารมณ์ สุขขึ้นมาก็เห็นจิตมันสุข แล้วเราเห็นว่าสุขนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ผ่านไป เวลาทุกข์ ใจเราทุกข์ขึ้นมาเราก็รู้ แล้วเราก็เห็นความทุกข์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ผ่านไป เหมือนเราดูพระจันทร์ เห็นเมฆมาไม่ต้องไปทำอะไร เดี๋ยวเมฆมันก็ไป ความสุขเกิดขึ้นแล้วความสุขก็ไป ไม่มีความสุขอมตะ ความทุกข์เกิดขึ้นแล้วความทุกข์ก็หายไป ไม่มีความทุกข์อมตะ ไม่ต้องไปกังวล ขอให้รู้อย่างที่มันเป็น รู้บ่อยๆ รู้เรื่อยๆ ไป ไม่ยากหรอก
อย่างใจเราโกรธรู้ว่าโกรธ ยากไหม ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย แต่คนส่วนใหญ่ละเลยที่จะรู้ เวลาเราโกรธ สมมติเราโกรธคน เราก็ไปมอง มันจะทำอะไร ยิ่งสนใจมันหนักเข้าไปอีก สังเกตไหม เราไม่ชอบอะไร เราจะสนใจมันมากกว่าปกติ อย่างเราไปซื้อผ้ามาผืนหนึ่ง แล้วเรากลับมาบ้านมาคลี่ดู เราเห็นรอยฉีกขาดเล็กๆ ผ้าทั้งผืนเราไม่ดูแล้ว เราดูแต่รอยขาด ธรรมชาติของจิตชอบอย่างนี้ สนใจออกไปเรื่อยๆ ถ้ามองแบบวงนอกก็จะเห็นผ้าทั้งผืนสวย มีตำหนินิดหนึ่งไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย เวลาไปตัดใช่ไหมก็ตัดส่วนนี้ทิ้งไป ไม่เห็นต้องกลุ้มเลย
ฉะนั้นดู หัดดูตัวเองไป สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ เป็นกุศลก็รู้ โลภโกรธหลงก็รู้ รู้จักโกรธไหม โกรธมีหลายดีกรี ถ้าโกรธน้อยๆ ก็หงุดหงิด เมื่อก่อนมีศัพท์คำหนึ่งคำว่าเซ็ง เดี๋ยวนี้เขาไม่ใช้แล้ว ใครยังรู้จักคำว่าเซ็งไหม นี่โทสะเป็นโทสะอีกตัวหนึ่งอีกชนิดหนึ่ง อิจฉาเป็นโทสะ ตระหนี่เป็นโทสะ ตระหนี่ไม่ใช่โลภะ วิธีดูง่ายๆ ว่าตอนนี้จิตเป็นโทสะหรือเปล่า ดูว่าจิตมีความสุขหรือว่ามีความทุกข์ โทสะจะเกิดร่วมกับจิตที่มีความทุกข์เสมอ
ฉะนั้นตอนไหนที่จิตเราไม่สบายใจ ตรงนั้นคือมีโทสะแล้วล่ะ อย่างเวลาเราหวงของสบายใจไหม เวลาหวงของไม่สบายใจ กลัวมันมาเอา กลัวคนอื่นมาแย่ง ขณะนั้นจิตมีโทสะ ไม่ใช่โลภะ ฉะนั้นเราสังเกตจิตใจของเราไปเรื่อยๆ ทีแรกเราก็จะรู้แต่สภาวะที่หยาบๆ โกรธแรงๆ ถึงจะรู้ ต่อไปขัดใจเล็กๆ ก็รู้ ต่อไปละเอียดเข้าไปอีก แค่ไม่สบายใจ บางทียังไม่รู้เลยว่าไม่สบายใจเรื่องอะไร อันนั้นก็โทสะแล้ว หัดรู้เรื่อยๆ หัดรู้บ่อยๆ แล้วมันจะละเอียดขึ้นๆ ไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่จะทำหรอก พอไหวไหมแบบนี้ นี่คือการปฏิบัติเลย
หลวงพ่อไม่ได้เริ่มบอกปฏิบัติให้นั่งสมาธิเดินจงกรม แต่สอนให้เรามีสติรู้เท่าทันจิตเราก่อน แล้วเราจะไปนั่งสมาธิจะไปเดินจงกรม อันนั้นเราจะปฏิบัติถูกทันทีเลย แต่ถ้าจิตเราไม่มีสติ นั่งสมาธิเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน มันกลายเป็นอัตตกิลมถานุโยคทันทีเลย เพราะฉะนั้นนั่งอย่างไรก็ไม่ได้หรอกมรรคผลนิพพานอะไร เพราะฉะนั้นพยายามมีสติอ่านจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ
โทสะบอกแล้วมันเป็นความไม่แช่มชื่นใจ ตระกูลโทสะนี่ ตัวโลภะนี่ไม่เหมือนโทสะ โลภะนี่จิตมีความสุขได้ ฉะนั้นบางคนบอกว่าเวลาจิตมีกิเลสแล้วจิตจะไม่มีความสุข อันนี้ไม่จริง จิตมีกิเลสแล้วไม่มีความสุขเฉพาะจิตที่มีโทสะ แต่ถ้าเป็นจิตที่มีโลภะนี่มีความสุขได้ บางทีก็เฉยๆ ไม่ทุกข์ อย่างเวลาเราไปเดินชมดอกไม้สวยงาม ไม่ทุกข์แต่ว่ามันเพลิน มันเผลอเพลินมีนันทิราคะ ความเผลอเพลิน อันนั้นเป็นราคะเป็นโลภะ
เพราะฉะนั้นตัวเวลาจิตมีโลภะนี่ บางทีมีความสุข บางทีก็เป็นอุเบกขา ส่วนจิตมีโมหะนี่ครอบคลุมจักรวาลเลย โมหะเป็นสภาวะที่เกิดร่วมกับโทสะก็ได้ เกิดร่วมกับราคะก็ได้ เพราะฉะนั้นมันเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่กิเลสเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตมีโมหะ จิตอาจจะมีความสุข จิตอาจจะมีความทุกข์ จิตอาจจะเฉยๆ ก็ได้ นี่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเราอยากดูจิตใจของเราก็ค่อยๆ สังเกตไป
ทีนี้จิตที่เป็นกุศลล่ะ จิตที่เป็นกุศลก็มีเวทนา 2 อย่าง มีความสุขกับมีอุเบกขา ถ้าไม่มีความสุขเมื่อไรเป็นอกุศลทันที แต่ถ้าวันนี้เรานั่งสมาธิแล้วจิตเรามีความสุข อย่าเพิ่งสรุปว่าจิตเราเป็นกุศล บอกแล้วว่าราคะมันก็มีความสุขได้ อย่างเรานั่งสมาธิแล้วเรามีความสุข นั่งสมาธิแล้ว แหม มันมีความสุขมันพอใจ นี่ตัวโลภะ ตัวโลภะเกิดแล้วก็มีความสุขด้วย แล้วก็ติดใจ เพราะฉะนั้นจะชอบ มีเวลาเมื่อไรรีบไปนั่ง หลวงพ่อทำไม่ค่อยเป็นแล้วแบบนี้
หัดดูกิเลสเรื่อยๆ รู้ทันไปเรื่อยๆ
สิ่งที่จะได้มาโดยอัตโนมัติคือสติ
จิตขณะนี้ติดอารมณ์อยู่รู้ไหม ต้องหัดรู้อย่างนี้ ไม่ใช่ลงมือปฏิบัติก็ไปแต่ง มันติดอารมณ์อยู่ เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตเรามีความสุขสังเกตให้ดี อาจจะเป็นจิตที่เป็นกุศลก็ได้ เป็นจิตที่มีโลภะก็ได้ มีได้ 2 อย่างเลย เพราะฉะนั้นอย่างนั่งสมาธิแล้วมีความสุข บอก แหม วันนี้ได้บุญเยอะ อาจจะไม่ได้บุญ เธอกำลังนั่งสร้างพัฒนาโลภะให้ชำนิชำนาญมากขึ้นๆ
ทำอย่างไรจะเป็นบุญจริง ทำอย่างไรจะเป็นกุศลจริง มีสติหรือเปล่า ถ้ามีสติถึงจะเป็นกุศล ถ้าไม่มีสติเป็นอกุศลแน่นอน สติเป็นตัวรู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น ถ้าเราไปแต่งจิตให้นิ่งๆ อย่างนี้ แล้วบอกเรารู้ลมหายใจ เราไม่เห็นว่าเรากำลังแต่งจิต เราไม่เห็นสภาวะที่แท้จริง ขณะนั้นจิตกำลังถูกโลภะครอบอยู่ เราไม่เห็นต่างหาก เราก็คิดว่าตรงนี้เราปฏิบัติอยู่ ที่จริงคือเราสนองกิเลสอยู่
ค่อยๆ สังเกตจิตใจตัวเอง ทีแรกจะเห็นแต่กิเลสหยาบๆ ต่อมาพอเราหัดดูบ่อยๆ เราก็จะเห็นกิเลสที่ละเอียดขึ้นๆ เป็นลำดับๆ ไป แล้วการที่เราหัดดูกิเลสเรื่อยๆ รู้ทันไปเรื่อยๆ สิ่งที่จะได้มาโดยอัตโนมัติคือสติ แล้วทันทีที่สติเกิด อกุศลดับทันที กุศลเจริญขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าเมื่อไรจะมีสติ คอยอ่านจิตตัวเองเรื่อยๆ เดี๋ยวสติเกิดเองล่ะ เพราะฉะนั้นจิตมีความสุขก็รู้ จิตมีความทุกข์ก็รู้ ไม่ใช่มัวแต่รู้สิ่งที่ทำให้จิตมีความสุข ไม่ใช่มัวแต่รู้สิ่งที่ทำให้เรามีความทุกข์ แต่ดูจิตมันสุข จิตมันทุกข์ จิตมันเป็นกุศล จิตมันโลภ มันโกรธ มันหลง ทีแรกก็รู้ได้หยาบๆ ไม่แปลก ต่อไปก็จะรู้ได้ละเอียดขึ้นรู้ได้เร็วขึ้น
อย่างหลวงพ่อไปหัดกับหลวงปู่ทีแรกก็มาทำสมาธิ แล้วก็ดูจิตมันปรุงแต่ง แล้วจิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา ตอนนั้นเจตนาปรุงแต่งบทสวดมนต์ “พุทโธสุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว” เรารู้ว่าเราแต่งคำพูดนี้ขึ้นมาในใจ สติรู้ทันความปรุงแต่งปั๊บ บทสวดมนต์นี้อันตรธานทันที จิตก็ดีดผางขึ้นมาเป็นผู้รู้ทันทีเลย นี่มันเกิดอัตโนมัติ ไม่ใช่จงใจทำขึ้นมาได้ แล้วมันเป็นผู้รู้อยู่ชั่วขณะเดียว จิตก็ถลำลงไปจมกับอารมณ์อีกแล้ว
อารมณ์อะไร เฮ้ย ตัวนี้ต้องทำให้ได้บ่อยๆ เห็นไหมโลภะเกิดแล้ว จงใจจะทำให้มีจิตผู้รู้ จงใจทำอยู่ 7 วัน จิตก็ดีดตัวขึ้นมาเป็นผู้รู้อีกทีหนึ่ง คราวนี้อยู่ได้นานหลายนาที แล้วก็จมลงไปในอารมณ์อีก เราก็ทำไป แล้วอีก 3 วัน ดีดขึ้นมา คราวนี้อยู่ได้ชั่วโมงหนึ่ง ถี่ขึ้นๆ แล้วจิตจะมีกำลังตั้งมั่นได้นานขึ้นๆ ด้วย นี่ฝึกเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งหลวงพ่อก็เฉลียวใจ เอ๊ะ การที่เรามีสติรู้สภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น แล้วจิตผู้รู้เกิดขึ้นมานี่ ตัวผู้รู้นี่เราเห็นมาแต่เด็กแล้ว ตั้งแต่ 10 ขวบแล้ว แต่ตอนนั้นได้มาด้วยการนั่งสมาธิ นั่งสมาธิแบบมีสติ ไม่ใช่นั่งข่มตัวเอง นั่งแบบมีสติคอยรู้สึกไป
ตอนแรกไปนั่งสมาธิ เด็กๆ ไม่มีสติจริง นั่งไปแล้วลมหายใจระงับกลายเป็นแสง เราก็มัวดูที่แสง อันนี้จิตส่งออกนอกแล้ว ไปดูที่แสง คราวนี้อยากรู้อยากเห็นอะไรมันก็ออกรู้ออกเห็นไปแล้ว เป็นนิมิตนานาชนิดเกิดขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่มีสาระแก่นสารเลย แล้วต่อมาหลวงพ่อรู้ เอ อย่างนี้นิมิต เห็นเทวดาได้ เดี๋ยวมันจะไปเห็นผี กลัวผี ต่อไปนี้ไม่ให้มันไหลออกไปแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาภาวนา พอสว่างขึ้นมาจิตจะไหลไปที่แสง หลวงพ่อมีสติรู้ทันจิตที่จะเคลื่อนเข้าไปที่แสง จิตก็ไม่เคลื่อนแล้ว ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ละความสนใจในปฏิภาคนิมิตลงไป จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา
สมาธิตัวนี้ได้มาจากการนั่งสมาธิ แล้วมันแสดงตัวขึ้นมาครั้งแรกตอนไฟไหม้ใกล้ๆ บ้าน พอไฟไหม้เราตกใจ เราก็จะวิ่งไปบอกพ่อ ก้าวที่หนึ่ง ตกใจ ก้าวที่สอง ตกใจ ก้าวที่สาม สติระลึกปั๊บเข้ามาเห็นความตกใจ ความตกใจขาดสะบั้นไป จิตก็กลายเป็นผู้รู้ขึ้นมา ทรงตัวเด่นดวง ทีนี้ทำไมตอนมาเจอหลวงปู่ดูลย์แล้วต้องมาพัฒนาใหม่ เพราะเราคิดว่ากรรมฐานมันมีอะไรลึกลับกว่าที่เราเคยเรียน ที่จริงมันธรรมดานั่นเอง ถ้าต่อยอดจากของที่เคยทำ ก็ไม่ยากแล้ว เพราะเรามีจิตที่เป็นผู้รู้อยู่แล้ว
ทีนี้เราคิดว่าการปฏิบัติต้องมีอะไรที่วิจิตรพิสดารมากมายกว่าปกติ ความคิดอันนี้ล่ะที่มันหลอกให้ดิ้นรนแสวงหา ความไม่รู้หลอกให้ดิ้นรน ขนาดเจอครูบาอาจารย์ชั้นยอดท่านบอกให้อ่านจิตตนเอง เรากลับไปแต่งจิตตนเอง ถ้าท่านบอกให้อ่านจิตตนเอง ท่านเห็นอยู่แล้วว่าเรามีจิตผู้รู้อยู่แล้ว เราก็คอยอ่านการทำงานของมันไปเลย มันก็ง่ายนิดเดียว
ทีนี้เราไปดิ้นรนเพื่อจะกลับมามีจิตผู้รู้ใหม่ เลยเสียเวลาไป 3 เดือน ยังดีว่าแค่ 3 เดือน ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์บอก คงตะลุมบอนกับมันเยอะเลย ฉะนั้นบุญนักหนาที่ได้เจอครูบาอาจารย์ท่านแก้กรรมฐานให้ หลวงพ่อไม่ใช่คนที่กลัวครูบาอาจารย์ แต่หลวงพ่อรักแล้วก็เคารพ ไม่กลัว ครูบาอาจารย์ขึ้นชื่อดุแค่ไหนก็ไม่กลัว อย่างหลวงตามหาบัว อยู่ห่างๆ ท่านกลัว แต่พอเข้าใกล้ไม่กลัวแล้ว ลุยเลย อยากเข้าใจธรรมะแล้ว อยากเรียนแก้ไขจุดที่เราผิดพลาด ไม่กลัว อย่างมากท่านก็ด่า ท่านคงไม่มาฆ่าเราหรอก ท่านด่าเราเป็นสิริมงคล ด่าแล้วเป็นสิริมงคลเพราะเรารู้ว่าเราผิดที่ไหน เราจะได้ไม่ผิดอีก นี่เป็นข้อดีของการอยู่กับครูบาอาจารย์
อย่ากลัวทุกข์
เมื่อก่อนที่สุรินทร์มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านชอบสอนอะไร ศัตรูเป็นยากำลัง เออ “ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยาชูกำลัง” ท่านชอบสอนอย่างนี้ เราฟังแล้ว อะไรไม่เห็นเกี่ยวกับกรรมฐานเลย แล้วผ่านมาช่วงหนึ่ง ตอนนั้นมี ขบวนการโจมตีหลวงพ่อ นัดกันพร้อมๆ กันทั่วประเทศเลย สารพัด เยอะจัง เราก็นึกนี่มันคล้ายๆ สงคราม 9 ทัพ มันมาทุกทิศทุกทางเลย ก็นึกถึงครูบาอาจารย์องค์นี้ชื่อหลวงตาผนึก ท่านเคยเตือนไว้แล้ว บอก ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูเป็นยาชูกำลัง เออ กำลังเราจะเยอะแล้วต่อไปนี้ เพราะศัตรูเยอะเหลือเกิน
แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เวลาที่เราผ่านวิกฤต ผ่านปัญหา ผ่านความยุ่งยากมาได้แต่ละคราว จิตใจของเราจะแข็งแรงเติบโตขึ้น เพราะฉะนั้นอย่ากลัวทุกข์เลย ชีวิตของทุกคนมีความทุกข์ ไม่ต้องกลัวมันหรอก มีสติไว้ ต่อสู้ไป รู้เท่าทันจิตใจตัวเอง จิตใจเราเข้มแข็ง แล้วก็ผ่านวิกฤตต่างๆ ไป แล้วทุกครั้งที่ผ่านวิกฤตไป เราจะเติบโตมากขึ้นๆ มีแต่ผลดีไม่ใช่ผลเสีย บางคนชีวิตมีปัญหาเยอะ เลยท้อแท้เลยฆ่าตัวตาย ฆ่าตัวตายแล้วไม่หายทุกข์ ขอยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์เลย ฆ่าตัวตายแล้วทุกข์นานกว่าเก่าอีก ฉะนั้นอย่าไปฆ่าตัวตาย
วันนี้เทศน์ให้ฟังแค่นี้พอ พวกเราก็จะเจอยาชูกำลังมากมาย ตั้งแต่บนถนน คู่ต่อสู้บนถนนก็เยอะ ในกรุงเทพขับรถเหมือนคนบ้าเยอะเลย ปาดไปปาดมา ในที่ทำงานเราก็มี อย่าง นี้ยาชูกำลังอยู่ในครอบครัว อย่ากลัวมัน ถ้าเวลาเราผ่านไปด้วยสติด้วยปัญญาได้ เราจะเติบโต เราจะเข้าใจโลกเข้าใจชีวิตมากขึ้น ฉะนั้นอย่ากลัวชีวิตมีปัญหา มีสติ มีจิตใจตั้งมั่น แล้วปัญญามันจะเกิด จะรู้ว่าควรแก้อย่างไร
ปัญหาบางอย่างแก้ไม่ได้ แก้ไม่ได้แขวนไว้ก่อน มีไหมปัญหาที่แก้ไม่ได้ เยอะแยะไป ปัญหาบางอย่างแก้ได้ก็แก้ไป อันไหนแก้ได้ก็แก้ อันไหนแก้ไม่ได้แขวนเอาไว้ก่อน เดี๋ยวปัญหามันจะแก้ตัวของมันเอง เพราะว่าปัญหาทั้งหลายก็ไม่เที่ยงหรอก ไม่ต้องไปกลัวมันมากหรอก ทุกอย่างมันมาแล้วมันก็ไปหมด เราลูกพระพุทธเจ้า จิตใจเราต้องฮึกเหิมต้องกล้าหาญ อย่ากลัวทุกข์ ทุกข์คือครูของเรา ทุกข์เป็นครู เราจะเรียนรู้ทุกข์จนกระทั่งเราเข้าใจมัน แล้วจิตมันวางได้
แต่ก่อนจะเรียนรู้ทุกข์ ต้องฝึกจิตให้ตั้งมั่น จิตรู้ตื่นขึ้นมาให้ได้ก่อน เป็นพระจันทร์วันเพ็ญก่อน พระจันทร์สะอาดไหมพระจันทร์ พระจันทร์เต็มไปด้วยขี้ฝุ่น จิตที่ว่าประภัสสร จิตของพวกเราก็เต็มไปด้วยฝุ่น ฝุ่นละอองในจิตของเราก็คือตัวอวิชชาตัวอาสวกิเลสทั้งหลาย ฉะนั้นที่เรามาภาวนา เราทำสมถะเพื่อให้จิตของเราสว่างขึ้นมา สงบสว่าง แล้วเราเจริญวิปัสสนา สู้จนกระทั่งจิตเราสะอาดไม่มีกิเลส ฉะนั้นสมถะทำให้จิตสงบทำให้จิตสว่าง วิปัสสนาจะทำให้จิตเราสะอาด ฉะนั้นคนละระดับกัน ค่อยๆ ฝึกไป
ฉะนั้นก่อนที่จะทำจิตให้สะอาดได้ จิตต้องสงบก่อน จิตต้องสว่างก่อน ถ้าจิตเคร่งเครียด อย่ามาคุยเลยว่าจะเจริญปัญญา เจริญไม่ได้ มันได้แต่คิดฟุ้งๆ ไป คิดธรรมะ ไม่ใช่เจริญธรรมะ มันคิดเอา
บ้านจิตสบาย
27 ตุลาคม 2567