เราจะปฏิบัติให้พ้นทุกข์ เราอย่าทิ้งเวลาไปเปล่าๆ มีเวลานิดหน่อย 5 นาที 10 นาทีอะไรอย่างนี้ ภาวนา มีสติ แค่หายใจไป รู้สึกตัวไปอะไรอย่างนี้ แค่นี้ก็ดีถมเถไปแล้ว ถ้ามีเวลาว่างๆ อย่างนั่งรอฟังหลวงพ่อเทศน์ นั่งแล้วใจวิ่งไปวิ่งมา เราไม่เห็นเลย อันนั้นก็เสียเวลา ขาดทุนแล้ว ตายเปล่าๆ แล้ว
เวลาของเรามีจำกัด อายุเฉลี่ยก็ประมาณ 75 ปี ประมาณ 30,000 วัน มันก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ละวันๆ ถ้าเราเก็บเล็กเก็บน้อย ว่างๆ 5 นาที 10 นาทีอะไรก็ภาวนา แค่ชั่วโมงหนึ่งเก็บได้ 5 นาที ภาวนาได้ 5 นาที 12 ชั่วโมงก็ได้ชั่วโมงแล้ว เราก็จะมีเวลาสำหรับการปฏิบัติมากพอ ถ้าเราไม่ขยัน เก็บเล็กเก็บน้อย ชั่วโมงที่เราฝึกมันก็น้อย ชั่วโมงที่หลงตามกิเลสมันเยอะ สู้กันไม่ไหว อย่างเวลานั่งรอฟังหลวงพ่อเทศน์ก็รู้สึกไป หายใจเข้าพุทออกโธ อะไรก็ทำไปเถิด ดีกว่าปล่อยให้ใจร่อนเร่ไปเฉยๆ ใจเราพอหนีไป มันก็จะไป หากิเลสหาทุกข์อะไรมาใส่ตัว ฉะนั้นเก็บให้หมดเลยเวลาเล็กๆ น้อยๆ
ภาวนา เราค่อยๆ สังเกตไป มันมีธรรมะอยู่คู่หนึ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ คือเรื่องจิตกับอารมณ์เป็นของคู่กัน จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ อารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ ฉะนั้นเราค่อยๆ ฝึก อยู่ๆ เราจะเห็นจิตใจตัวเอง มันก็เห็นไม่ได้ จะรู้ทันอารมณ์มันก็ไม่ค่อยรู้ ส่วนใหญ่มันถูกอารมณ์ย้อม ถูกอารมณ์ครอบงำ อารมณ์ที่เราจะใช้ในการปฏิบัติก็คือพวกรูปธรรม กับนามธรรม ส่วนอารมณ์บัญญัติคือเรื่องราวที่คิด ใช้อะไรไม่ได้ มันฟุ้งซ่าน แต่ห้ามมันคิดก็ห้ามไม่ได้หรอก ถ้ามันจะคิดเราก็รู้ทัน
จุดสำคัญ รู้รูปธรรมนามธรรม อันนี้เป็นของถูกรู้ แล้วจิตมันเป็นคนรู้ รูปธรรมนามธรรม วิธีที่เราจะรู้อารมณ์ได้ชัดเจน ต้องทำความรู้จักกับมัน
อารมณ์ที่เป็นรูปธรรม
อย่างอารมณ์รูปธรรมอย่างนี้ เราก็ต้องซ้อมที่จะดูมัน อย่างขณะนี้ ร่างกายเรานั่งอยู่ เรารู้สึก แค่รู้สึกเอา รู้สึกว่าร่างกายกำลังนั่งอยู่ รู้สึกว่าร่างกาย กำลังหายใจอยู่ เราจะเห็นว่าร่างกายที่มันนั่งอยู่นี่ มันเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตมันเป็นคนรู้คนดู ตอนนี้ลงมือดู เห็นไหมร่างกายนั่ง เห็นไหมร่างกายหายใจ ร่างกายที่นั่งอยู่ มันถูกรู้ถูกดูอยู่ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มันแค่อารมณ์ที่จิตไปรู้เข้า
หรืออย่างมันนั่งอย่างนี้ มันนิ่งๆ เกินไป ดูยาก เราอาจจะจงใจขยับ เช่น เราขยับมืออย่างนี้ เราเห็นร่างกายมันขยับ รู้สึก รู้สึกว่าร่างกายกำลังขยับอยู่ อย่างมือนี้ขยับ ตอนหลวงพ่อภาวนาใหม่ๆ หลวงพ่อมีพัดประจำตำแหน่ง อยู่อันหนึ่ง จะร้อนหรือจะเย็นก็พัดของเราไปเรื่อยๆ คนก็คิดว่าหลวงพ่อขี้ร้อน ไปไหน ที่โต๊ะทำงานก็มีพัดอะไรอย่างนี้ มีพัดลมอยู่แล้ว เราก็ยังมีพัดอีก เวลาไม่ต้องทำงานที่ต้องคิด เราก็จะขยับอย่างนี้ เราเห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว ใจเป็นคนดู ร่างกายนี้เป็นอารมณ์คือเป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู จิตมันเป็นคนรู้คนดู เป็นธรรมะที่เป็นคู่กันระหว่างจิตคู่กับอารมณ์
เราค่อยๆ ฝึกไป ถ้าเราฝึกเรื่อยๆ สติเราก็จะดีขึ้น สมาธิของเราก็จะดีขึ้น แล้วต่อไปปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นว่าร่างกายที่ขยับอยู่นี่ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นแค่วัตถุธาตุที่เคลื่อนไหวเท่านั้นเอง ต้องฝึกต้องซ้อม หลวงพ่อพูดให้ฟังแล้วเราก็ต้องทำ ลองทำให้หลวงพ่อดูสิ ขยับ รู้สึกไหมๆ หรือคิดตอนนี้อย่างนี้ๆ ถ้านั่งคิดอยู่ ไม่ถูก แค่รู้สึกร่างกายมันเคลื่อนไหวสบายๆ อย่าให้ใจหนักแน่น อย่าให้ใจมันเครียด รู้สึกสบายๆ
เมื่อก่อนหลวงพ่อเคยเห็นเวลาเขามีคอนเสิร์ต คนมันชอบยกมือเชียร์ หรือกระโดดไปกระโดดมา เราเห็นแล้วมัน โอ๊ย มันพลิกนิดเดียวเอง ระหว่างภพภูมิที่หลง เราไม่อยากพูดคำว่าเดรัจฉาน เดี๋ยวกระเทือนใจ ระหว่างภพภูมิที่หลงกับภพภูมิที่รู้นี่ มันต่างกันนิดเดียวเอง จะเต้นแร้งเต้นกาอะไรนี่ มันเห็นรูปเคลื่อนไหวอยู่นี่ มันอาจจะไปนิพพานก็ได้ เต้นๆ แล้วเกิดเหนื่อย หัวใจวายไปอย่างนี้ ในขณะที่ตายเห็นรูปมันล้มลงไป รูปนี้ไม่ใช่เรา นี่จิตปล่อยวาง อาจจะได้ดีก็ได้ เพราะฉะนั้นมันพลิกกันนิดเดียว ระหว่างการปฏิบัติกับการไม่ปฏิบัติ มันมีสติเพิ่มเข้ามานิดเดียวมันก็เป็น การปฏิบัติแล้ว สติที่ถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้อง
คืออย่างเราขยับมืออย่างนี้ เราเห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว ใจเราเป็นแค่คนรู้สึก ทีแรกพอมันขยับอย่างนี้ก็รู้ ขยับอย่างนี้รู้ ตรงนี้เรียกว่าเรามีสติ ใจเราไม่วอกแวกไปที่อื่น เรารู้เห็นร่างกายมันขยับ แต่ไม่ใช่ไหลเข้าไปในมือที่ขยับมืออย่างนี้ ถ้าจิตไหลไปที่มือนี่ สมาธิเราไม่ดีแล้ว จิตมันเคลื่อนแล้ว เพราะฉะนั้นอย่างเราขยับๆ ใจเราเป็นคนดูสบายๆ ไม่ไหลเข้าไป แค่นี้มีสติมีสมาธิแล้วต่อไปปัญญามัน จะเกิด มันจะเห็นว่าตัวที่ขยับนี่เป็นแค่วัตถุ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มันเป็นแค่วัตถุธาตุเท่านั้นเอง
ฉะนั้นอย่างคนเขาไปดูคอนเสิร์ตเต้นแร้งเต้นกา ถ้าเป็นนักปฏิบัติเกิดไปดู เห็นเขาเต้น เราก็เต้นกับเขาบ้างก็ได้ แต่เรามีสติ เราก็เห็นร่างกายมันกำลัง กระโดดโลดเต้นอยู่ นี่คือการปฏิบัติ การปฏิบัติไม่ใช่ว่าจะต้องนั่งสมาธินิ่งๆ นานๆ เดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ การปฏิบัติคือการมีสติรู้กายรู้ใจ อย่างเป็นปัจจุบันไปเรื่อยๆ ร่างกายขยับแล้วรู้สึกอะไรอย่างนี้ จิตใจเคลื่อนไหวแล้วรู้สึก
เรามาหัดรู้สึก ทุกวันแบ่งเวลาไว้เลย จะนั่งสมาธิหรือจะเดินจงกรมอะไร ก็ได้แล้วรู้สึกถึงร่างกาย อย่างขณะนี้ร่างกายนั่งเรารู้สึก ร่างกายหายใจเรารู้สึก ถ้ามันยังรู้ไม่ชัดเราก็ขยับ ร่างกายเคลื่อนไหวเรารู้สึก ฝึกๆๆ ไปเรื่อย สติ สมาธิ มันจะดีขึ้นแล้วปัญญามันจะเกิด ถ้าไม่มีสติ จิตเป็นอกุศล ถ้ามีสติแต่มี สมาธิที่ไม่ถูก เป็นสมาธิเพ่งจ้อง อย่างเราไปนั่งดูลูกแก้วสักลูกหนึ่ง จิตเราไปจมอยู่กับลูกแก้วอย่างนี้ มีสติอยู่กับลูกแก้ว ไม่หนีไปไหนเลย จดจ่อมีสมาธิจดจ่อไปที่ลูกแก้ว จิตมันออกนอก อย่างนี้ไม่เกิดอะไรขึ้นมา นอกจากความสงบเฉยๆ
เราพยายามค่อยๆ ฝึกไป ร่างกายขยับ ร่างกายหันซ้ายหันขวา คอยรู้สึกๆ ไป สติเราก็จะดีขึ้น สมาธิเราก็จะดีขึ้น ถึงจุดหนึ่งปัญญามันจะเกิด จะเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ฝึกรู้อารมณ์ ที่เป็นกาย ฝึกรู้กาย เอากายเป็นอารมณ์ ถ้าฝึกไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นจิต มันก็หมดความยินดียินร้ายในกายไปเอง ถึงจุดสุดท้ายมันจะเห็นมันไม่ใช่เรา เบื้องต้นเห็นมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เบื้องปลายเห็นกายนี้ไม่มีอะไร กายนี้เป็นตัวทุกข์ มีแต่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตก็วาง พอจิตวางกาย จิตก็พ้นความยินดียินร้าย จิตก็เข้าถึง ความเป็นกลาง สงบ สันติ
อารามณ์ที่เป็นนามธรรม
ทีนี้เรามาดูอารมณ์ที่เป็นนามธรรมบ้าง อารมณ์ที่เป็นนามธรรมมีอะไรบ้าง อย่างความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์เป็นนามธรรม เราลองทดสอบตัวเอง ฝึกตัวเองให้รู้ตัวเวทนานี้ ลองขยุ้มตัวเองดู ถ้าแตะนิดๆ หน่อยๆ มันยังไม่รู้สึก กดให้มันแรงๆ ลงหน่อย รู้สึกไหม มันมีความรู้สึกเกิดขึ้นในร่างกาย ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกายนี้เรียกว่าตัวเวทนา ถ้ากดแค่นี้ไม่รู้สึก ลองหยิกมันดูๆ มันจะได้ชัดๆ จะได้ชัดๆ ไม่ถึงขนาดต้องบิดจมูก เดี๋ยวที่ไปฉีดไว้เสียหายแล้วก็จมูกเบี้ยวไป ลองหยิกแขนตัวเองดู รู้สึกไหมๆ มีความรู้สึกเจ็บๆ ใช่ไหม ตัวนี้คือตัวเวทนาทางกาย
ทีแรกเราหัดต้องแรงหน่อยแล้วเรารู้สึก ต่อไปถ้าสติเราชำนิชำนาญขึ้น ในการรู้เวทนาของกาย มีอะไรเกิดขึ้นในกาย สติมันจะระลึกได้อย่างรวดเร็ว เพราะสติเกิดจากการที่จิตจำสภาวะได้แม่น จิตจำเวทนาทางกายได้แม่น พอเกิดเวทนาทางกายปุ๊บสติจะเกิดเอง อย่างพวกเรานั่งอยู่คัน รู้สึกไหมคัน นั่งแล้วก็คันตรงโน้นคันตรงนี้ ตัวคันมันก็เป็นทุกขเวทนาทางกายที่เกิดขึ้น ถ้าคันเรารีบเกาเลย กำลังเพลินๆ เมาท์เพลินๆ อยู่ คันขึ้นมาเกานู่นเกานี่ อะไรอย่างนี้ เราไม่เห็นเวทนา เพราะฉะนั้นอย่างถ้ามันคันขึ้นมาให้รู้ก่อน รู้สึก ตัวเวทนาเกิดขึ้นในกายแล้วมันคันๆ ขึ้นมา ถัดจากนั้นมันจะเกิดตัวสังขาร สังขารก็คือความอยาก โลภะ อยากเกา
เวลาคันแล้วอยากเกาไหม คนทั่วๆ ไปพอมันคันปุ๊บเกาปั๊บ ไม่ทันเห็นอะไร ไม่ทันเห็นว่ามีความคันเกิดขึ้น ไม่เห็นเวทนา ไม่เห็นความอยากขจัดเวทนานี้ ไม่ชอบมันอยากขจัดมันไป นี่เราไม่ได้ เห็นสภาวะ เพราะฉะนั้นอย่างแค่มันคัน เรารู้ทัน โอ้ มีเวทนาเกิดขึ้นในกายแล้ว เราก็เกา อยากเกาเรารู้ เกาๆ แล้วรู้สึก หายคัน เวทนาตัวนั้นดับไป เกิดความสุขความพอใจ หายคันแล้วพอใจ เราก็รู้ใช่ไหม
ดูเวทนาเราก็จะเชื่อมเข้ามาที่สังขารได้ง่ายๆ เลย ค่อยๆ ฝึกไป ฝึกไปแล้วเราจะเห็นอะไร เราจะเห็นว่าเวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สังขารก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างความคันมันเที่ยงไหม ความคันก็ไม่เที่ยง แต่ถ้าใจเราแข็งๆ มันคัน ลองนั่งดูมันไป อย่าเพิ่งไปเกามัน ดูสิ ความคันนี้เที่ยงไหม เราจะเห็นว่าความคันเดี๋ยวก็มากขึ้นๆ เดี๋ยวก็ลดลง เดี๋ยวก็มากขึ้น ลดลง เดี๋ยวบางทีก็หายไปเองเลย ไม่ทันจะต้องทำอะไร เฝ้ารู้ไป หรือร่างกายมันจะเกิดความคันขึ้นมาเราห้ามไม่ได้ ตรงที่ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้เรียกว่าอนัตตา เราหัดรู้สิ่งที่เป็นนามธรรม หัดรู้กันอย่างนี้
หรือเวทนาทางใจ เราหัดรู้เวทนาทางใจ อย่างขณะนี้ใจเราสุข หรือใจเราทุกข์ หรือใจเราเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ หัดรู้บ่อยๆ การที่เราหัดรู้บ่อยๆ นั้น ต่อไปจิตมันจำสภาวะความสุขความทุกข์ความเฉยๆ ทางใจได้ พอเกิดความสุขในใจ สติระลึกได้เอง เกิดความทุกข์ในใจ สติก็ระลึกได้เอง เกิดความเฉยๆ ในใจ สติระลึกได้เอง แต่ตรงทุกข์ในใจระลึกง่าย เป็นของหยาบ สุขในใจมักจะเผลอเพลิน ดูยากกว่าทุกข์อีก ส่วนไม่สุขไม่ทุกข์นี่ดูยากที่สุดเลย มันเบาๆ มันเผลอๆ เพลินๆ ไปเลย ลืมดูไป
เพราะฉะนั้นในใจเรา ในความเป็นจริงแล้วมีเวทนาเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่สุขก็ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เฉยๆ อันใดอันหนึ่งจาก 3 อันนี้หมุนเวียนอยู่ ทั้งวันในใจเรา เพราะฉะนั้นถ้าหัดดูเวทนาในใจ เราก็แค่สังเกตเอา ใจเราสุข เราก็รู้ ใจเราทุกข์ เราก็รู้ ใจมันเฉยๆ เราก็รู้ หัดรู้มันไปเรื่อยๆ ต่อไปมันก็จะเห็นเวทนาในใจเป็นของไม่เที่ยง อย่างมีความสุขในใจ มีความสุขอยู่ดีๆ ไปคิดเรื่องอื่นปุ๊บเลยกลายเป็นทุกข์ไปเฉยๆ อย่างนี้ สุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง เฉยๆ ก็ไม่เที่ยง อย่างอุตส่าห์ฝึกจิตจนว่างๆ นิ่งๆ เฉยๆ พอมีอารมณ์มากระทบนิดเดียวมันก็เปลี่ยนไปเป็นสุขเป็นทุกข์ได้แล้ว
หัดรู้หัดดูให้ชำนิชำนาญจนกระทั่งต่อไปมันรู้โดยอัตโนมัติ มีความสุข เกิดขึ้นในจิต สติรู้อัตโนมัติ มีความทุกข์เกิดขึ้นในจิต สติรู้โดยอัตโนมัติ เฉยๆ ตัวนี้ดูยากแล้ว ตอนเฉยๆ ไม่ค่อยรู้ จะหลงๆ ตรงที่เราหลงๆ มันจะนำไปสู่ ภพภูมิอันหนึ่ง จะไปเป็นสัตว์ เราจะเห็นว่าสัตว์เยอะ คนมีน้อย คนมีตั้ง 7 พันล้านอะไรอย่างนี้ แต่จริงๆ สัตว์มีเยอะกว่า แล้วสัตว์น้ำมีเยอะกว่าสัตว์บก มีเยอะแยะไปหมดเลยตัวเล็กตัวน้อย ทำไมสัตว์มันเยอะเหลือเกิน เพราะว่าจิตวิญญาณส่วนใหญ่มันเต็มไปด้วยโมหะ เพราะฉะนั้นต้องฝึกตัวเอง อย่านั่งหลงทั้งวัน
เคยเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวไหม เลี้ยงหมาเลี้ยงแมวเวลามันไม่มีอะไร มากระทบมัน มันก็จะนั่งเหม่อๆ หลงๆ อะไรของมันไป ไม่ก็หลับๆ ไป ถ้าเราฝึกตัวเองปล่อยตัวเองหลงทั้งวัน เราก็คือฝึกตัวเองให้คุ้นเคย ที่จะเป็นสัตว์นั่นล่ะ ฉะนั้นเราคอยรู้สึกไว้ จิตใจเป็นสุขเราก็รู้ จิตใจเป็นทุกข์เราก็รู้ จิตใจเฉยๆ เราก็รู้ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป แล้วนานๆ ไปเราจะเห็นเวทนาทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เวทนาทางกายนี่ยังลำบากหน่อย มันดูยากกว่าเวทนาในใจอีก เวทนาทางกายนี่ถ้าไม่เจ็บแรงๆ ไม่ค่อยรู้สึก หรือบางทีอย่างลมมันพัดมา เราร้อนๆ อย่างนี้ ลมมันโชยมา มีความสุขในร่างกาย ก็ไม่ค่อยเห็น มันเพลินไปเลย สบายๆ ก็จะเพลิน เวลาจิตก็เหมือนกัน ถ้ามันสบายๆ มันก็จะเพลินง่าย ตรงที่มันหลงเพลินตรงนี้เป็นกิเลสตัวหนึ่ง เป็นตระกูลราคะ เรียกนันทิราคะ ความเผลอเพลิน ในทางกายนี่ดูความเปลี่ยนแปลงของมัน ลำบากกว่าทางจิต อย่างความเจ็บปวดทางกาย อย่างเรามีแผล ตรงที่มันเป็นแผลกว่ามันจะหายเจ็บใช้เวลา แต่เวทนาทางใจนี่เปลี่ยน อย่างรวดเร็วเลย ถ้าเรามีสติรู้เวทนาทางใจเราจะเห็นไตรลักษณ์ได้ เร็วเลยแป๊บๆๆ เปลี่ยนตลอดเวลา หัดรู้หัดดู
ตัวสังขารก็เป็นนามธรรมอีกตัวหนึ่ง ตัวนามธรรมนั้นก็จะมีตัวเวทนา กับตัวสังขารที่หัดดูง่ายๆ ตัวสัญญาเอาไว้ก่อนเรียนยาก ถ้าสัญญานี่ถ้าเข้าไป แทรกแซงมัน ไปยุ่งกับมันมากๆ เดี๋ยวบ้าได้ หลวงพ่อเคยเห็นบางคนจะบ้าเอา เราดูตัวเวทนาไม่มีอะไรซับซ้อน มันสุขมันทุกข์ทางกายเราก็รู้ มันสุข มันทุกข์ มันเฉยๆ ทางใจเราก็รู้ไป หัดรู้บ่อยๆ จนมันชินที่จะรู้ พอมันชินที่จะรู้ แล้วมันจะรู้โดยไม่ต้องเจตนา ตรงที่รู้โดยไม่เจตนาตรงนั้นล่ะสำคัญ คือจิตที่เป็นกุศลนี่มันจะมีกำลังกล้า เมื่อมันเป็นกุศลโดยเราไม่ได้เจตนา ถ้าเราจงใจพยายามทำบิลด์ให้มันเป็นกุศลอะไรอย่างนี้ มันเป็นกุศลที่มี กำลังอ่อน ฉะนั้นเราฝึกจนกระทั่งมันเป็นกุศลที่มีกำลังกล้า
ศรัทธา วิริยะ สติ ปัญญา
ตัวนามธรรมที่เป็นตัวอารมณ์ที่เรารู้ ตัวเวทนาตัวหนึ่ง อีกตัวหนึ่งคือ ตัวสังขาร สังขารมันมีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว และฝ่ายกลางๆ ฝ่ายดี เช่น มีศรัทธา ศรัทธาไม่ใช่งมงาย ไปจุดธูปไหว้โน้นไหว้นี้แล้วก็อย่างนี้เรียกว่าศรัทธา อันนั้นไม่ใช่ศรัทธาในความหมายของศาสนาพุทธ ศรัทธาในศาสนาพุทธ ศรัทธาในพระรัตนตรัย ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ในปัญญาตรัสรู้ของท่าน ในความกรุณาของท่าน ศรัทธาอย่างนี้ ในความบริสุทธิ์ของท่าน ศรัทธาในพระธรรม เชื่อมั่นแน่นแฟ้นว่าธรรมะนี่ช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้ ศรัทธาในพระอริยสงฆ์ เชื่อมั่นว่าคนธรรมดา อย่างเราเห็นครูบาอาจารย์ที่ว่าดีๆ ก่อนที่ท่านจะดี ท่านก็แย่เหมือนพวกเรานี่ล่ะ ท่านก็มีกิเลสมาแล้ว แต่อาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้าขัดเกลา สามารถพัฒนาจิตใจให้ดีได้ ให้สะอาดหมดจดได้
พระสงฆ์ก็ไม่มีอะไร พระสงฆ์ก็คือท่านผู้ขัดเกลาจิตใจด้วยธรรมะ ของพระพุทธเจ้าจนเข้าถึงความบริสุทธิ์หมดจดขึ้นมา เราภาวนาเราจะรู้เลย ว่าพระสงฆ์มีจริงๆ ถ้าใจของเราภาวนาดีพอ ถ้าใจอย่างปุถุชนนี่ ใจยังลอกแลกโลเล เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง วันนี้ศรัทธาพระพุทธเจ้า อีกวันไม่ศรัทธาแล้ว วันนี้ศรัทธาในพระธรรม อีกวันไม่ศรัทธาแล้ว หรือว่าบางทีก็คิดว่าพระสงฆ์ก็ไม่น่าศรัทธา มีแต่ข่าวเสียหายทุกวันๆ เลยพระสงฆ์ เดี๋ยวทำเรื่องโน้นเดี๋ยวทำเรื่องนี้ อันนั้นสมมติสงฆ์ ไม่ใช่พระสงฆ์ที่เป็นหนึ่งในพระรัตนตรัย พระสงฆ์ที่เป็นหนึ่งในพระรัตนตรัยนี่ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ส่วนพระทั่วๆ ไปอย่างหลวงพ่ออย่างนี้ ก็เป็นลูกตาสีตาสาอย่างนี้ มีบาตรมีจีวรก็เข้าไปหาอุปัชฌาย์บวชมาก็เป็น พระสงฆ์ อย่างนี้เรียกว่าสมมติสงฆ์ พระสงฆ์จริงๆ ไม่ต้องใส่จีวรก็ได้ ฆราวาสก็เป็นได้ ถ้าใจยอมรับในพระธรรมอย่างแน่นแฟ้นแล้ว ไม่คลอนแคลนในธรรมะ
ถ้าใจเรามีศรัทธาขึ้นมา ดูให้ดี ศรัทธาในพระรัตนตรัยหรือศรัทธางมงาย ศรัทธางมงายไม่ใช่ศรัทธา มันเป็นความงมงาย เราไปเรียกเสียโก้เลย เราศรัทธา ที่จริงคืองมงาย แยกให้ออก ถ้าจิตมันเกิดศรัทธาใน พระพุทธเจ้าขึ้นมาก็รู้ ศรัทธาในพระธรรม ศรัทธาในพระสงฆ์อะไรก็รู้ ถ้าภาวนามันถึงจุดหนึ่ง มันไหว้ได้กระทั่งตัวเอง ถ้าใจเราสะอาดพอ เรารู้สึกก็น่ากราบน่าไหว้ แต่เราจะไม่รู้สึกว่าใจดวงสะอาดนี่คือตัวเรา จะไม่รู้สึกหรอก มันจะรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัยไป
หรืออย่างวิริยะเป็นความปรุงแต่ง เป็นสังขารฝ่ายดี วิริยะไม่ใช่แปลว่า ขยันทำมาหากิน คำว่าวิริยะในศาสนาพุทธก็มีความหมายของตัวเอง อย่างเหมือนคำว่าศรัทธา ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศรัทธาในภูตผีเทวดา ต้นหมากรากไม้ภูเขาอะไรอย่างนี้ อันนั้นงมงาย ไม่ใช่ศรัทธา วิริยะก็เหมือนกัน อย่างโจรพากเพียรมากเลยจะเข้าปล้นที่โน่นที่นี่ บอกมีวิริยะ ไม่ใช่
วิริยะหมายถึงมีความเพียรที่จะลดละกิเลสที่มีอยู่แล้วให้มันหมดไปสิ้นไป มีความพากเพียรที่จะปิดกั้นกิเลสใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น วิธีปิดกั้นกิเลสใหม่ ไม่ให้เกิดขึ้น ก็มีสตินั่นล่ะ รู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป จิตใจมีกิเลสอยู่ เรารู้ทันปุ๊บ มันจะดับไปเลยกิเลส มันเกิดเป็นจิตที่เป็นกุศล รู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา แล้วการที่เรามีสติรู้ ตื่น เบิกบานอยู่นั้น ในขณะนั้นกิเลสใหม่จะเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรามีสตินั่นล่ะถึงจะเรียกว่ามีวิริยะ เพราะฉะนั้นมีสติ รักษาจิตไว้ แล้ววิริยะจะเกิดเอง
เพราะฉะนั้นวิริยะไม่ได้แปลว่านั่งสมาธิโต้รุ่ง เดินจงกรมโต้รุ่ง ถ้าไม่มีสติ อันนั้นคืออัตตกิลมถานุโยค คือการบังคับกายบังคับใจ ทำกายให้ลำบาก ทำใจให้ลำบาก เพราะฉะนั้นจุดสำคัญก็ต้องมีสติ ฉะนั้นวิริยะไม่ใช่ แปลว่าอดทนมากๆ พากเพียรเรื่องโลกๆ วิริยะในความหมาย ของนักปฏิบัติเราคือเพียรลดละกิเลสที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นกิเลส อกุศลใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพียรทำกุศล ที่เกิดแล้วให้เจริญขึ้น นี่เป็น 4 นัยยะ คำว่าวิริยะ ทำลายอกุศลที่มีอยู่ ปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด ทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด ทำกุศลที่ เกิดแล้วให้เจริญ อันนี้ถึงจะเรียกวิริยะ ประเภทนั่งสวดมนต์โต้รุ่งไป หวังว่าจะถูกหวย อันนี้ไม่ใช่วิริยะ อันนั้นทำไปด้วยความไม่ฉลาด ถูกหวยมันไม่เกี่ยวกับการไปนั่งสวดมนต์ทั้งวันทั้งคืน มันเป็นเรื่องของป๊อบ (probability- ความน่าจะเป็น) มันเป็นเรื่องของป๊อบเท่านั้นเอง
ศรัทธา วิริยะ สติ ปัญญา สิ่งเหล่านี้เป็นความปรุงแต่งฝ่ายกุศล อย่างถ้าเราภาวนา จิตเราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน บางทีมันเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่เฉยๆ บางทีมันประกอบด้วยปัญญาด้วย มันเดินปัญญาได้ด้วย ฉะนั้นบางทีจิตรู้ตัวอยู่เฉยๆ อะไรอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน ดีกว่าจิตชั่ว แต่ว่าไม่เป็นไปเพื่อมรรคผลหรอก มันไม่ได้เดินปัญญาจริง ฉะนั้นเวลาจิต มันไปติดนิ่งติดเฉยอะไรนี่ อย่าปล่อยให้มันนิ่งๆ เฉยๆ อยู่ ถ้ามันนิ่ง มันเฉย มันได้พักผ่อนพอสมควรแล้ว ต้องเดินปัญญา
เดินปัญญาก็คือดูอารมณ์ของเรานั้นทั้งหลายนั้น ให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างดูกาย เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูเวทนาก็เห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูสังขาร ความดี ความชั่วทั้งหลาย โลภ โกรธ หลงทั้งหลายให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างนี้เรียกว่าเดินปัญญา เดินปัญญาไม่ใช่แปลว่านั่งคิด เพราะฉะนั้นการเจริญปัญญา โดยเฉพาะปัญญาในขั้นวิปัสสนากรรมฐาน นี่เห็นสภาวะมันแสดงไตรลักษณ์ เห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะถึงจะเรียกว่าเดินปัญญา
จิตที่เป็นผู้รู้บางดวงมันยอมดูกายดูใจเป็นไตรลักษณ์ บางดวงมันรู้ ตื่น เบิกบานอยู่เฉยๆ อันนั้นไม่ได้เดินปัญญา แต่ถามว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ก็เป็นกุศล แต่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา เราพยายามฝึกตัวเองไป เป็นอย่างไร จิตเดินปัญญาอยู่ก็รู้ จิตไม่ได้เดินปัญญาอยู่ก็รู้ คอยรู้ทันมัน สังขารนี่ฝ่ายดี ฝ่ายชั่วยิ่งดูง่ายหนักเข้าไปอีก อย่างใจเราโกรธอย่างนี้ดูง่าย อันนี้ง่ายที่สุดเลย ในบรรดาสังขารทั้งหลายที่หลวงพ่อสังเกตมา ความโกรธเป็นสังขาร ที่ดูง่ายที่สุด เพราะหยาบที่สุด เผ็ดร้อนที่สุด มีโทษมาก เผ็ดร้อนเลยดูง่าย แล้วก็หยาบ ราคะนี่มันละเอียดกว่าโทสะ มีโทษน้อย เวลาราคะเกิด บางทีมีความสุขด้วยซ้ำไป แต่โทสะเกิดนี่จิตใจไม่มีความสุข ฉะนั้นจิตใจมัน ทุรนทุรายอะไร ดิ้นไปดิ้นมาอย่างนี้ มันดูง่าย ตอนนี้จิตมันหงุดหงิดแล้ว จิตมันโกรธแล้ว ความโกรธก็เป็นตัวสังขาร
เราค่อยๆ หัดสังเกตไป เวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเรากระทบอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ โทสะมันก็เกิด เราก็จะเห็น เออ โทสะนี่ก็ไม่ใช่ลอยๆ มา มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ ตัวนี้คือเห็นอนัตตาของโทสะ หรืออย่างความโกรธเกิดขึ้นแล้วเราก็นั่งรู้ไป รู้สึกไปๆ ลืมคิดถึงเรื่องที่ทำให้โกรธ พอลืมคิดถึงเรื่องที่ทำให้โกรธ เชื้อของความโกรธมันจะดับ ไฟของความโกรธมันจะดับเพราะว่า เราไม่ได้เติมเชื้อ คือไม่ได้คิดเพิ่ม มันจะโกรธได้ มันต้องคิดไปในทางไม่ดี คิดไปในทางพยาบาทวิตก
อย่างสมมติว่าใจเราโกรธอย่างนี้ คนทั่วๆ ไปในโลก พอใจมันโกรธ มันก็มุ่งไปหาสิ่งที่ทำให้โกรธ อย่างหมามันมาเห่าหนวกหูอะไรอย่างนี้ จิตมันจะวิ่งไปหาหมา หรือเห็นคนนี้เราไม่ชอบหน้ามัน ยิ่งไม่ชอบหน้ามัน ยิ่งสนใจมัน อย่างบางคนไม่ชอบนักการเมืองคนนี้ แต่คอยตามข่าว นักการเมืองคนนี้ไปทำอะไร ตามตลอดเลย อย่างนี้เติมเชื้อไฟให้ตัวเอง มันก็จะโกรธไปเรื่อยๆ แต่พอเราภาวนาไปเรื่อยๆ เราจะเห็น โอ้ ความโกรธมันก็มีเหตุ มันไปกระทบอารมณ์ที่ไม่ถูกอกถูกใจ แล้วมันก็คิดไป ในทางไม่ดีต่ออารมณ์อันนั้น ความโกรธมันก็เกิดขึ้นมา ฉะนั้นความโกรธ มีเหตุมันก็เกิด หมดเหตุมันก็ดับ บังคับมันไม่ได้
ความโกรธก็ไม่เที่ยง ประเดี๋ยวโกรธแรง ประเดี๋ยวโกรธเบาๆ อย่างบางทีเราน้อยใจ สมมติน้อยใจสามีเรา ไม่เอาไหนเลย สนใจแต่คนอื่น ไม่สนใจเราอะไรอย่างนี้ ความน้อยใจนี่ถ้าเรามีสติดูลงไปเราจะเห็นเลย ความน้อยใจนี้ไม่เที่ยงขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวน้อยใจมาก เดี๋ยวน้อยใจน้อย แล้วเราสั่งมันได้ไหมว่าอย่าน้อยใจ ก็ห้ามไม่ได้ ตรงห้ามไม่ได้คืออนัตตา ตรงที่เห็นมันแกว่งขึ้นแกว่งลง เดี๋ยวมา เดี๋ยวไป บางทีกำลังน้อยใจอยู่ ไปคิดเรื่องอื่นปุ๊บ ความน้อยใจนั้นดับไปแล้ว เราจะเห็นเลยว่า มันเต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เต็มไปด้วยการบังคับไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจ
โทสะ ราคะ โมหะ
เฝ้ารู้ไป ตัวโกรธ น้อยอกน้อยใจ เสียใจ แค้นใจอะไร อิจฉาอะไรพวกนี้ พวกนี้เป็นตระกูลโทสะทั้งนั้นเลย เป็นกิเลสที่ดูง่ายที่สุด ราคะนี่เป็น ความรักใคร่ผูกพัน ฉะนั้นมันจะละเอียดประณีตขึ้นกว่าโทสะ ดูยากขึ้น อย่างเรารักตัวเองอย่างนี้ บางทีไม่ค่อยดู ไม่ค่อยเห็น ไม่ค่อยเห็นว่า เรารักตัวเองอยู่ ถ้าไม่สังเกต ไม่รู้หรอกว่าของที่เรารักที่สุดในโลก ก็คือตัวเองนั่นล่ะ เราก็คิดว่าเรารักอันโน้นที่สุดในโลก รักอันนี้ที่สุดในโลก จริงๆ คือรักตัวเองที่สุดในโลก ไม่มีอะไรที่เรารักมากเท่าตัวเองหรอก นี้ถ้าสติปัญญา เราแหลมคมเราเห็น อุ๊ย นี่มันรักตัวเองเหลือเกินนี่ เฝ้ารู้อย่างนี้ รู้ทันมันไปมันก็จะเห็นราคะนี้มันไม่เที่ยง มันทนอยู่ไม่ได้นานหรอก พอเราเลิกคิดเรื่องนี้มันก็เปลี่ยน ราคะมันก็ดับไป แล้วราคะจะมีหรือราคะจะไม่มี เกิดจากเหตุ ไม่ใช่เกิดที่เราสั่ง
เราก็จะดู ตัวโมหะเอง ตัวหลงอีกตัวหนึ่ง ตัวหัวโจกเลย ตัวหลงดูยากที่สุด โทสะดูง่ายที่สุด ราคะรองลงมา โมหะดูยากที่สุด ทำไมโมหะดูยากที่สุด ก็มันมีโมหะเสียแล้ว มันจะดูอะไรได้ เราค่อยๆ สังเกตให้ดี จริงๆ แล้วโมหะเกิดร่วมกับกิเลสทุกตัว ราคะจะมีได้ ก็ต้องมีโมหะประกอบ โทสะจะมีได้ก็ต้องมีโมหะประกอบอยู่ โมหะเดี่ยวๆ ก็อยู่ของมันตัวคนเดียวก็ได้ด้วย เพราะฉะนั้นมันเก่งมากเลย มันแทรกไป ทุกหนทุกแห่งเลย
การจะรู้เท่าทันโมหะ มันก็เลยยากชั้นเชิงมันสูง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่าโทสะมีโทษมาก ละง่าย ละง่ายเพราะเรารู้ง่ายแล้วก็เห็น ทุกข์เห็นโทษง่าย พอเห็นทุกข์เห็นโทษเราก็วาง ราคะมีโทษน้อย อันนี้หลวงพ่อไม่ได้พูดเอง พระพุทธเจ้าท่านสอน ราคะมีโทษน้อยแต่ละยาก รู้สึกไหมราคะความรักความผูกพันในสิ่งต่างๆ นี่ละยาก แต่เราไม่รู้สึกว่า มันจะเป็นโทษตรงไหนเลย อย่างเรามีลูก เรารักลูกเรานี่ไม่เห็นมันจะเป็น โทษตรงไหนเลย ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แต่โทสะนี่มันเห็นเลยว่า เป็นโทษแน่ๆ ฉะนั้นตรงที่เราไม่เห็นว่ามันเป็นโทษ มันละยาก
เมื่อสักปี 2526 หลวงพ่อไปกราบหลวงปู่เทสก์ ปลายๆ ปี 2525 ไม่ใช่ 2526 ปลายๆ ปี 2525 ขึ้นไปกราบหลวงปู่เทสก์ ก็ไปกับน้องคนหนึ่ง น้องคนนั้นก็ไปถามหลวงปู่บอก “หลวงปู่ครับ ผมอยากจะละราคะ แต่ผมเห็นว่ามันยังอาลัยอาวรณ์อยู่” หลวงปู่ก็อุทาน “อ้าว อาลัยอาวรณ์มัน ก็ละไม่ได้สิ” เห็นไหมว่าราคะละยาก แล้วหลวงปู่ท่านก็ขยายความต่อ “เราจะละได้ต้องเห็นโทษ” เห็นโทษก็คือเห็นทุกข์นั่นเอง
เวลาเรารักใคร่ผูกพันสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สังเกตให้ดีเราสุขหรือเราทุกข์ เวลาเรารักสิ่งต่างๆ นี่ พอเรารักเข้าไปทีไร เราจะเห็นทุกข์ รัก สมมติว่า เรารักหมาของเรานี่เราก็ทุกข์ เรารักสามีเราเราก็ทุกข์ พอเราเห็นว่า ความรักมันนำความทุกข์มาให้อย่างนี้ พอเห็นอย่างนี้ใจมันจะค่อยคลายออกๆ ฉะนั้นหลวงปู่เทสก์ท่านเลยสอนว่าต้องเห็นโทษ ราคะนี่ถ้าไม่เห็นโทษ มันละไม่ได้หรอก หลวงปู่ดูลย์ท่านมาขยายความคำว่าเห็นโทษ ท่านบอกเห็นโทษมันก็คือเห็นทุกข์นั่นล่ะ เราดูเอา อย่างเรารักอะไร เราก็เห็นทุกข์เพราะความรักอันนั้น ความผูกพันอันนั้น สังเกตไปเรื่อยๆ ใจมันจะค่อยคลายออก สู้ยาก มันละเอียด มันดูเหมือนไม่มีพิษมีภัย
ส่วนโมหะ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่ามีโทษมากแล้วก็ละยาก โทสะมีโทษมาก ละง่าย ราคะมีโทษน้อย ละยาก โมหะมีโทษมากแล้วก็ละยาก โมหะนี่เป็นตัวสร้างโลกทั้งโลกเลย สร้างวัฏฏะให้เรา หมุนเวียนอยู่ทุกวันๆ นี้ก็ด้วยอำนาจของโมหะ หัวหน้าโมหะชื่อว่าอวิชชา ซ่อนอยู่ในจิตใจของเรา พวกนักปฏิบัติชั้นดีทั้งหลายนี้ล่ะ เพราะมีโมหะคือตัวอวิชชาซ่อนอยู่ ใจก็ดิ้นๆ
ทำอย่างไรใจเราจะหลุดพ้น ทำอย่างไรเราจะหลุดพ้น เพราะยังมีตัณหา มีความอยากอะไรขึ้นมาไม่เห็น ใจกำลังหลงอยู่ ทำไมอยากหลุดพ้น ก็มันยังรักในตัวเองอยู่ อยากให้ตัวเองพ้นไป พ้นทุกข์ไปอะไรอย่างนี้ ดูลำบาก ค่อยๆ รู้สึกไป เอาโมหะง่ายๆ ก่อน ยังไม่ต้องสู้อวิชชา โมหะที่หยาบๆ ก็เช่น ใจลอย เวลาเราใจลอย เห็นไหม มีกายลืมกาย มีจิตลืมจิต ฉะนั้นโมหะเวลาเกิดขึ้น เราจะไม่เห็นสภาวธรรมที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่ ฝึกอย่างนี้ ค่อยๆ สังเกตไปเรื่อยๆ ทีแรกก็นานๆ จะสังเกตได้ที เห็นก็ของหยาบๆ ก่อน เห็นโทสะ เห็นราคะอะไรอย่างนี้ แล้วค่อยมา เห็นโมหะได้ ก็จะรู้ได้เร็วขึ้นๆ
จิตที่เป็นตัวรู้
สภาวธรรมเมื่อกี้พูดไปแล้ว มีกาย มีเวทนาทางกาย เวทนาทางใจ มีสังขาร สภาวธรรมหัวโจกอีกตัวหนึ่งเลย ตัวใหญ่เลยก็คือตัวจิตที่เป็นตัวรู้ เมื่อกี้หลวงพ่อแยกมางแต่แรกที่เทศน์ว่ามีสภาวธรรม 2 กลุ่ม ตัวหนึ่งเป็น ตัวรู้คือจิต ตัวหนึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้เรียกว่าอารมณ์ อารมณ์ที่จะใช้ทำกรรมฐาน ก็เป็นรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย สอนวิธีรู้รูปธรรมไปแล้ว สอนวิธีรู้นามธรรม ทั้งตัวเวทนา ทั้งตัวสังขารไปแล้ว
จิตนี่เราจะรู้อาการของมันได้อย่างไร ตัวนี้ต้องใช้ความสังเกต เริ่มต้นเราไม่เห็นหรอกว่าจิตหลงไปหลงมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตรงที่เราเห็นว่าจิตหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตรงนี้ที่ว่าเก่งแล้ว ถึงจะเห็น แต่ยังเห็นผิดอยู่ แท้จริงแล้วจิตเกิดที่ตาก็ดับที่ตา จิตเกิดที่หูก็ดับที่หู จิตเกิดที่จมูกก็ดับที่จมูก จิตเกิดที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น จิตไม่ได้มีดวงเดียว วิ่งไปที่ตาแล้ววิ่งกลับมา วิ่งไปที่หูแล้วก็วิ่งกลับมา ถ้าเราเห็นว่าจิตมีดวงเดียววิ่งไปวิ่งมา เรียกสันตติไม่ขาด เราถูกภาพลวงตาหลอก เหมือนเราเห็นว่าตัวการ์ตูนมีจริงๆ เคลื่อนไหวได้จริงๆ ทั้งๆ ที่ตัวการ์ตูนไม่เคยเคลื่อนไหวเลย มันเป็นรูปจำนวนมากมาต่อๆๆ กัน มันก็เลยเห็น เกิดภาพลวงตาว่ามันเคลื่อนไหว นี้เราจะรู้เท่าทัน ความเคลื่อนไหวของจิตนี่แรกๆ รู้ยาก มันเคลื่อนไหวเร็ว แล้วก็มันไปแบบ ไม่มีร่องรอย เราดูยาก ฉะนั้นเราฝึก
วิธีฝึกทำอย่างไร เราลองทำใจให้สบายก่อน ขั้นแรกต้องทำใจ ให้สบายก่อน ฮ้า (หายใจออกแรงๆ) นี่วิธีทำใจให้สบาย เวลาคนเรากลุ้มใจ ใจไม่สบายชอบถอนใจรู้สึกไหม ฮ้า อย่างนี้แล้วมันจะสบาย ลองถอนใจสิ ฮ้า รู้สึกไหมใจมันคลายออก แต่ถ้าหายใจเข้าไป มันจะแน่นขึ้นมา อย่างนี้มันอึดอัดแต่ ฮ้า อย่างนี้ ลองถอนใจ ใจมันจะคลายออก พอใจเราสบายๆ แล้ว เราสังเกตเอา ส่งจิตไปเลย ธรรมชาติจิตชอบวิ่งไปวิ่งมาแล้วเราไม่เห็น
เราจะฝึกวิ่งไปวิ่งมาโดยเห็น นึกถึงผม เอามือจับด้วยก็ได้ จับผมลองดู ให้ความรู้สึก concentrate ลงไปที่ผม ให้ความรู้สึกมันไปอยู่ที่ผมเลย ไม่ต้องสนใจอย่างอื่นเลย โลกนี้ไม่มีแล้ว โลกนี้มีแต่ผม ลองจับๆ สักพักหนึ่งแล้วเราค่อยๆ สังเกต อ้าว ความรู้สึกเราไปอยู่ที่ผมเราแล้ว ตัวที่รู้สึกนั่นล่ะคือตัวจิต เป็นจิตเกิดทางกาย เกิดที่ผม เป็นจิตที่ไปเกิดที่กาย พอเรารู้สึกแล้ว จิตมันเคลื่อนไปอยู่ที่ผม เรารู้แล้ว เราก็เปลี่ยนมาอยู่ที่จมูก ลองมาแตะที่จมูกแทน แตะๆๆ จนกระทั่งจิตมัน concentrate ลงไป มันจดจ่อลงไปที่จมูก พอจิตมันไปอยู่ที่จมูก เรารู้ว่า โอ้ ตอนนี้จิตไปอยู่ที่จมูกแล้ว ก็ย้าย นี่ในร่างกายเราก็ย้ายไปเรื่อยๆ ทีละจุด ไปหลายจุดแล้วเวียนหัวตาย ทีละจุดไล่ตั้งแต่หัวถึงเท้า ไล่ขึ้นไล่ลง ฝึกซ้อม จิตเราไปอยู่ที่หัวแม่โป้ง รู้ทัน จิตไปอยู่ที่หัวแม่เท้า รู้ทัน คอยรู้ทัน
ตอนนี้จิตมันไปอยู่ที่ไหนๆ ซ้อมอยู่ในกาย ไม่ต้องไปซ้อมนอกกาย เดี๋ยวมันไปแล้วไม่กลับ ซ้อมไล่อยู่ในร่างกายทีละส่วนๆ ไล่ๆๆๆ ไป ต่อไปพอเราเห็นสภาวะที่จิตมันไปอยู่ที่นั้นที่นี้ชำนิชำนาญ ต่อไปเราจะเห็น โดยไม่เจตนา จิตไหลไปคิดเราจะรู้ จิตไหลไปดู เราจะรู้จิตไหลไปฟังเราจะรู้ อาศัยเริ่มต้นรู้การที่จิตไหลอยู่ในกายนี้ จงใจไหลๆ แล้วเราจะได้รู้ว่าตอนนี้ ไปอยู่ที่จมูกแล้ว ตอนนี้ไปอยู่ที่หูแล้ว ตอนนี้ไปอยู่ที่ไหล่แล้วอะไรอย่างนี้ นี่ค่อยๆ ฝึก ซ้อมๆๆ เรื่อยๆ แล้วต่อไปเราจะเห็น พอชำนาญขึ้นมา มันเห็นได้เองแล้วต่อไป จิตมันไหลไปดู เราจะรู้ จิตมันไหลไปฟัง เราจะรู้
ทีแรกก็จะเห็นว่าจิตมันไหลไปทางโน้นไหลไปทางนี้ก่อน จะเห็นอย่างนี้ ก่อนแล้วต่อไปสติ สมาธิของเราดีขึ้น เราจะเห็นจิตไม่ได้ไหลไปหรอก แต่จิตมันไปเกิดที่ตา ไปรับรู้อารมณ์แล้วมันก็ดับที่ตา มันเกิดที่หู ไปรับรู้อารมณ์แล้วมันก็ดับ ไปเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่นเลย จิตมีจำนวนนับไม่ถ้วน จิตไม่ได้มีดวงเดียว อันนี้ต้องค่อยๆ ฝึก ตัวนี้ดูยากนิดหนึ่ง เอาแค่ว่าจิตมันไหลไปดูแล้วรู้ จิตมันไหลไปฟังก็รู้ มันคันหัว อย่างหมอเอ็ดคันหัว นี่จิตไหลมาอยู่ที่หัวแล้ว เราก็รู้อะไรอย่างนี้ คอยรู้สึกอย่างนี้ คอยรู้สึก จิตเป็นตัวรู้สึก ความรู้สึกเราอยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั่นล่ะ คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ
ต่อไปเราก็จะเห็นจิตนี้ก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ไปรู้ทางตา เดี๋ยวก็ไปรู้ทางหู เดี๋ยวรู้ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตนี้เป็นอนัตตา จะไปรู้ทางไหนเราไม่ได้เลือกเลย มันไปรู้ทางนั้นเอง อย่างมันจะเห็น บางทีเรานั่งเหม่อๆ เราคิดอะไรเพลินๆ มีอะไรผ่านมาเรายังไม่เห็นเลย ถ้าจิตมันเกิดตื่นตัวสนใจจะไปดู จิตที่หลงอยู่ในความคิดก็ดับ ไปเกิดจิตที่ดูขึ้นมาแทน ทีแรกเราก็คิดว่า เอ้อ เมื่อกี้จิตมันคิดอยู่ ตอนนี้มันวิ่งไปโน่น อันนี้เห็นยังไม่ละเอียด แต่ถ้าเห็นละเอียด เรานั่งคิดอยู่นี่ ตาเราก็ลืมอยู่ เราเห็นอะไรไหวๆ เราไม่สนใจ มันคิดเรื่องนี้อยู่ คิดๆ อยู่แล้วเกิดเอะใจขึ้นมา อะไรมันเดินมา พอใจมันมีมนสิการ มันใส่ใจ จิตที่คิดมันก็ดับ มันก็เกิดจิตที่เห็นขึ้นมาแทน นี่เราจะเห็นเลยจิต มันเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทั้งวัน
ค่อยๆ ฝึกเห็นสภาวะทั้งหลายทั้งที่เป็นตัวอารมณ์ ทั้งที่เป็นตัวจิต ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนๆ กันหมดเลย ฝึกไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งจะรู้ว่าตัวเราไม่มี ขันธ์ 5 นี้ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เห็นอย่างนี้เราจะเป็นพระโสดาบัน
ฝึกไปเรื่อยๆ แต่การจะเห็นได้ต้องมีสมาธิพอ ฉะนั้นทุกวันต้องแบ่งเวลา ทำในรูปแบบให้จิตได้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว จะได้มีเรี่ยวมีแรง แล้วก็พอจิตมีแรงแล้วก็สังเกตจิตที่เคลื่อนไปเคลื่อนมา จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ขึ้นมาแล้วเราก็จะเห็นอารมณ์ทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญญามันจะเกิด ตรงที่จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูได้แล้ว.
วัดสวนสันติธรรม
9 พฤษภาคม 2564