ไม่เผลอ – ไม่เพ่ง

เมื่ออาทิตย์ก่อนมีคอร์สคนจีน หลวงพ่อก็เห็นทีมคนจีนดูเขาตั้งอกตั้งใจกัน ภาวนาดูดี ดูสดชื่น ดูผ่องใส คนไทยเราอยู่ใกล้ศาสนาก็ต้องตั้งอกตั้งใจอย่าให้แพ้เขา วันๆ เอาแต่เรื่องการเมือง เรื่องโน้นเรื่องนี้ที่เคร่งเครียด มันไม่มีประโยชน์อะไร โทษมันเยอะกว่าประโยชน์ ดูข่าวนักการเมืองทำอย่างโน้นอย่างนี้ กลุ่มโน้นกลุ่มนี้ทำเรื่องนี้ บางทีก็ nonsense ดูแล้วหงุดหงิด ดูใจตัวเองไม่ทัน ก็ต้องระมัดระวัง ชีวิตเราไม่ได้ยืนยาวอะไรนักหนา เดี๋ยวก็ผ่านไปปีหนึ่ง เดี๋ยวก็ปีหนึ่ง เอาเวลาไปหมกมุ่นกับเรื่องโลกๆ มากเกินไปก็ไม่ดี เรารู้เท่าที่จำเป็น

อย่างการจะดูข่าวเสพข่าวอะไรนี่ เสพข่าวที่มันจริงจังเป็นทางการหน่อย ข่าวลือ ข่าวคิดเอง ข่าวมโน ข่าวใส่สีตีไข่อะไร เสียเวลา อ่านแล้วจิตเศร้าหมองเปล่าๆ เอาเวลามาดูตัวเอง เราจะเห็นว่าบางทีผู้ร้ายไม่ได้อยู่ที่อื่นหรอก ผู้ร้ายมันอยู่กับเราเอง จิตใจเรามันผู้ร้ายตัวร้ายเลย เดี๋ยวก็ทำอย่างโน้นเดี๋ยวก็ทำอย่างนี้ ปรุงแต่งไปเรื่อยๆ ถ้าเรารู้ไม่ทัน จิตใจเราก็ตกเป็นทาสของกิเลส พยายามรู้สึกตัว ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ ไม่มีอะไรทำก็นั่งหายใจไป หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรือรู้อิริยาบถของเรา รู้ความเคลื่อนไหวของร่างกายอะไรอย่างนี้ คอยรู้สึกไว้ อย่าน้อมใจให้ซึม ให้ใจมันรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา ทำกรรมฐานไปแล้วก็รู้ทันใจของตัวเองไป ใจเราหนีไปคิดเราก็รู้ ใจเราไปเพ่งอยู่เราก็รู้ ตรงที่มันหลงไปกับตรงที่มันเพ่งไว้ ถ้าเราผ่านตรงนี้ได้ จิตเราก็จะทรงสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา

 

กรรมฐานอะไร บอกไม่เผลอกับไม่เพ่ง
ที่จริงมันคือการปรับพื้นฐานของสมาธินั่นเอง

 

อย่างพระมาบวชอยู่กับหลวงพ่อนี้ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปรับพื้นฐานของจิต กว่าจิตจะมีสมาธิที่ถูกต้อง ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ดู โดยไม่เจตนา ก็ใช้เวลาบางทีหลายเดือน พอจิตมันเป็นผู้รู้แล้ว ถึงจะเดินปัญญาได้จริง ถ้าจิตมันไม่ตั้งมั่น มันเดินปัญญาไม่ได้จริงหรอก มันฟุ้งซ่าน ที่หลวงพ่อสอนมาตลอดตั้งแต่อยู่สวนโพธิ์ บอกไม่เผลอกับไม่เพ่ง ฟังแล้วดูตลก กรรมฐานอะไรบอกไม่เผลอกับไม่เพ่ง ที่จริงมันคือการปรับพื้นฐานของสมาธินั่นเอง สมาธิไม่มี ใจฟุ้งซ่าน เผลอไป สมาธิไม่ถูกต้อง เพ่งเอาไว้เคร่งเครียด ตรงที่ใจฟุ้งซ่านนั้นเราไม่สามารถรู้กายรู้ใจได้ ตรงที่เราเพ่งไว้เคร่งเครียด เรารู้กาย เรารู้ใจได้ แต่เราไม่สามารถจะเห็นความจริงของกายของใจได้

ฉะนั้นพยายามฝึกตัวเอง ทำสติให้มากๆ สมาธิที่ถูกต้องมันเกิดจากสติที่ถูกต้อง ถ้าสมาธิชนิดสงบ สุขอะไรอย่างนี้ เราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข จิตมันก็จะสงบ แต่ถ้าเราอยากได้สมาธิที่จะใช้เดินปัญญา เราทำสมาธิแล้วเรารู้ทันจิตตัวเองไว้ สมาธิที่ถูกต้องเป็นสัมมาสมาธิที่จะใช้เดินปัญญา มันก็จะเกิดขึ้น สัมมาสมาธิก็มี 2 อัน อันหนึ่งทำไปเพื่อความสงบให้จิตมีเรี่ยวมีแรง ถ้าจิตไม่มีกำลังก็ใช้ไม่ได้ อันหนึ่งทำให้จิตตั้งมั่น จะเห็นสภาวะทั้งหลายมันทำงานไป อย่างมีพระอยู่กับหลวงพ่อบางองค์ตั้งหลายปีแล้ว ตั้ง 4-5 ปี ทีแรกท่านก็เพ่งเอาๆ แล้วก็คิดเอาอะไรอย่างนี้ นาน ดูท่านเพิ่งดีขึ้น ว่าท่านเห็นสภาวะจิตมันเป็นคนดูขึ้นมาได้โดยไม่ได้เจตนา ถ้าเราตั้งผู้รู้โดยเจตนาตั้งไว้ มันจะเป็นสมาธิชนิดสงบ เราจับอารมณ์อันเดียว จับตัวผู้รู้ ไม่ดีหรอก

แต่การที่เราไม่เผลอ ไม่เพ่ง จิตเคลื่อนไปเผลอไปเรารู้ทัน ตั้งมั่นขึ้นมา แล้วก็ไม่เพ่งที่จะรักษามาไว้ให้รู้ตัวได้ตลอดเวลา พอจิตมันเป็นตัวรู้ขึ้นมา เราไม่หมายรู้ลงไปที่ตัวจิตผู้รู้ด้วย เรารู้สึกตัวไปสบายๆ พอจิตมันทำงานอะไรขึ้นมา มันเห็นสภาวะที่เกิดขึ้น อย่างเห็นจิตมันไหวตัว ไหวยิบยับๆๆ เมื่อเช้าท่านเพิ่งส่งการบ้านว่า เห็นจิตมันไหวยิบยับๆ แต่ดูออกว่ามันไม่ได้เดินปัญญา เห็นสภาวะที่ไหว นานๆ ก็เห็นมันผุดขึ้นมาเป็นเรื่องๆ เป็นนี้โลภ นี้โกรธ นี้หลง นี้สุข นี้ทุกข์ นานๆ จะผุดขึ้นมา สิ่งที่ยืนพื้นอยู่ก็เป็นความไหวๆ ของจิต ตรงที่เห็นความไหวๆ นั้นเป็นสมาธิ อยู่ในอารมณ์อันเดียว เห็นมันไหวๆ ตรงที่มันผุดขึ้นมา เป็นความรู้สึกที่ชัดเจน ผุดขึ้นมาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ตรงนั้นเป็นการเจริญปัญญา การเจริญปัญญาไม่ได้เกิดตลอดเวลา นานๆ เกิดทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราก็ภาวนา ไม่รีบร้อนว่าจะต้องเกิดปัญญามากมายอะไร รู้เนื้อรู้ตัวไป

เห็นจิตใจเห็นร่างกายมันทำงานไป ถ้าเห็นถึงจิตใจได้ก็เห็นจิตใจไป ตอนนี้ดูจิตใจไม่ออกดูร่างกายไป เห็นร่างกายหายใจ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่งอะไรอย่างนี้ รู้สึกของเราไปอย่างนี้ พอจิตมันมีกำลัง มันเห็น จิตเคลื่อนไหวแล้วก็เห็นแล้ว ปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงสุข ปรุงทุกข์ อะไรเกิดขึ้นก็เห็น พอเห็นแล้วสักพักหนึ่งมันก็ไม่เห็น ก็กลับไปอยู่กับกรรมฐานของเราต่อ

ฝึกของเราอย่างนี้เรื่อยๆ กรรมฐานก็ต้องใช้เวลา เพราะพวกเราอินทรีย์ยังอ่อน ไม่ได้แก่กล้าเหมือนคนที่เขาบุญบารมีมาก เขาเจอพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม แล้วเข้าใจในธรรม บางคนบางท่านเข้าใจอย่างรวดเร็วเลยใช้เวลาไม่นาน บางองค์แค่ 7 วันท่านจบแล้ว บางองค์ 15 วันท่านจบแล้ว ของพวกเรา 15 ปี บางทียังไม่ได้จิตผู้รู้ขึ้นมาเลย บุญบารมีไม่เท่ากัน แต่ก็อย่าไปตกอกตกใจ บุญบารมียังน้อยก็ฝึกเอา ท่านที่บุญบารมีสูงนั้น ก่อนที่ท่านจะสูงท่านก็อ่อนปวกเปียกเหมือนพวกเรานี่ล่ะ แต่ว่าอดทนฝึกตัวเองทุกวันๆ ทำกรรมฐานไป แล้วก็รู้ทันจิตใจของตัวเองไป ถ้ารู้จิตใจไม่ได้ ก็รู้สึกร่างกายไป เห็นร่างกายหายใจ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกายเคลื่อนไหว เห็นร่างกายหยุดนิ่งไป ทำซ้ำๆ จิตจะค่อยๆ มีกำลังขึ้น ตรงกำลังของจิตนี่อธิบายยาก อย่างเราภาวนา เราจะรู้เลยว่าช่วงนี้จิตเรามีกำลัง ช่วงนี้จิตเราป้อแป้ล้มเหลว ไม่มีเรี่ยวมีแรง ถ้าเราภาวนาถูกมันก็สลับกันไปอย่างนั้น ถ้าภาวนาไม่ถูกมันก็ป้อแป้ไปเรื่อยๆ เพราะมันฟุ้งซ่านมาก มันก็หมดกำลัง แต่ถ้าเราภาวนาถูก มันก็มีกำลังขึ้นมาเป็นคราวๆ เดี๋ยวก็เสื่อมลงไปอีก เดี๋ยวก็มีขึ้นมาอีก เราไม่ได้ฝึกว่าจะต้องมีกำลังจิตเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา เพราะจิตที่ตั้งมั่นเข้มแข็งจริงๆ มันก็อยู่ได้ชั่วคราว มันไม่เที่ยงเหมือนกัน

เราอาศัยช่วงจังหวะที่ว่าเวลาจิตมันตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาแล้ว รีบเจริญปัญญาไป ดูกายมันทำงาน ดูจิตมันทำงาน เห็นกายมันทำงานมันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นของถูกรู้ถูกดู เหมือนเห็นหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง หรือเหมือนเห็นหมาข้างถนนวิ่งไปวิ่งมา อย่างเราเดินไปเดินมา เหมือนเห็นหมามันเดินอย่างนี้ดูอย่างนั้น มันไม่ใช่ตัวเราเดิน เห็นจิตใจมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงก็เห็นไป เฝ้ารู้เฝ้าดู แล้วเราจะเห็นว่า สภาวะทั้งหลายมันไม่ใช่ตัวเราหรอก ร่างกายที่หายใจอยู่ไม่ใช่เรา ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอนไม่ใช่เรา ร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่หยุดนิ่งไม่ใช่เรา ความรู้สึกสุข ทุกข์ ดี ชั่วอะไร ก็ไม่ใช่เรา เป็นของถูกรู้ถูกดู ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปทั้งหมดทั้งสิ้น ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกจนจิตมันฉลาด ดูจนจิตมันฉลาด

ที่เราภาวนาแทบเป็นแทบตาย สุดท้ายเราจะพบเลยว่าไม่ได้อะไรมา เราไม่ได้เสียอะไรไป สิ่งที่เราได้มาอันเดียว คือตัวสัมมาทิฏฐิ ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก สิ่งที่เราเสียไปก็คือความรู้ผิด ความเข้าใจผิดทั้งหลายนั่นเอง มันรู้ถูกเข้าใจถูกก็ถือว่าเราเป็นคนฉลาดแล้ว จิตเป็นกุศล ฉลาด รู้ผิดเข้าใจผิด สะสมอกุศล มันโง่ เราจะรู้ เกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูกได้ เห็นสภาวะบ่อยๆ เห็นอย่างที่มันเป็น ซ้ำแล้วซ้ำอีกไป จนจิตมันเข้าใจ จิตมันเข้าใจ ไม่ใช่เราเข้าใจ แค่ฟังเลกเชอร์ ฟังหลวงพ่อพูดเรื่อยๆ เราก็เข้าใจได้ จำได้เอาไปเถียงกับคนอื่นได้ แต่ธรรมะไม่ได้อยู่ในใจเราเลย มีแต่เปลือก จำขี้ปากครูบาอาจารย์ไปพูดเท่านั้นเอง เราต้องเห็นของเราเอง ถ้าเห็นสภาวะไม่ได้ ก็ภาวนาไม่ได้จริงหรอก

 

เรื่องที่หลวงพ่อสอน ไม่เผลอ ไม่เพ่งไม่ใช่เรื่องเล็กๆ
ถ้าเราทำตรงนี้ขึ้นมาได้ การภาวนาของเราจะราบรื่น

 

ทีนี้จะหัดเห็นสภาวะได้ จิตต้องไม่เผลอ จิตต้องไม่เพ่ง ถึงจะเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงได้ ฉะนั้นเรื่องที่หลวงพ่อสอน ไม่เผลอ ไม่เพ่งไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ถ้าเราทำตรงนี้ขึ้นมาได้ การภาวนาของเราจะราบรื่นมากเลย หลวงพ่อไม่ได้มโนลอยๆ ขึ้นมา คิดว่าต้องทำอย่างนี้ๆ แต่ว่าอาศัยได้ศึกษา ได้ปฏิบัติมา รู้ว่าจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้อง มันไม่เผลอและมันไม่เพ่ง หันไปดูนักปฏิบัติส่วนใหญ่คือนักเพ่ง เดินปัญญาไม่ได้จริง เพ่งๆ นิ่งๆ ไปเฉยๆ พวกที่ไม่เคยฝึกก็เผลออย่างเดียวเลย ไม่รู้จักที่จะรู้เนื้อรู้ตัว ถ้าเทียบระหว่างเผลอกับเพ่ง เพ่งดีกว่า เผลอนี่ไปทุคติ เพ่งไปสุคติได้เพราะตอนที่เพ่งไม่ไปทำชั่วอะไร แต่ตอนเผลอนี่ทำชั่วได้ตลอดเวลาเลย ฉะนั้นระหว่างเผลอกับเพ่ง เผลอมันแย่กว่าอันตรายกว่า เราเพ่งไว้เราไม่ได้มรรคผล แต่เราไม่ชั่ว

แต่ถ้าเราอยากได้มรรคผล เราก็รู้ทันไว้ ตรงที่เราเพ่งนี่เราเห็นสภาวะได้ แต่เราไม่เห็นไตรลักษณ์ อย่างเราเพ่งกาย เราจะไม่รู้สึกหรอกว่ากายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะรู้สึกมันเป็นอะไรอย่างหนึ่ง ที่มันรู้อยู่เฉยๆ อย่างนั้นมันก็ไม่ตกนรก แต่ว่าไม่เกิดปัญญา ไม่เกิดมรรคเกิดผลอะไรขึ้นมาหรอก ฉะนั้นต้องพยายามสังเกตจิตใจไป ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งขึ้นมา อะไรก็ได้กรรมฐาน เอาที่เราถนัด ไม่มีกรรมฐานอะไรดีกว่ากรรมฐานอะไรหรอก ไม่มีสายไหนดีกว่าสายไหนหรอก ถนัดพุทโธ เราก็พุทโธ ถนัดอานาปานสติ เราก็อานาปานสติ ทำพุทโธอย่างเดียวเบาไป อานาปานสติอย่างเดียวเบาไป ก็ทำหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เอาพุทโธคำบริกรรมบวกเข้าไปกับการหายใจอานาปานสติ อย่างนี้ก็ได้

เราจะดูท้องพองยุบ หรือจะบริกรรมอย่างอื่น ไม่บริกรรมพุทโธก็ได้ มันเหมือนกันหมด มันแค่เป็นเครื่องสังเกตจิตเท่านั้นเอง คำบริกรรมหรือกรรมฐานทั้งหลาย ทำไปเพื่อเป็นเครื่องสังเกตจิต จิตเราเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่มีเครื่องอยู่ ไม่มีกรรมฐาน จิตเราอาจจะหนีไปตั้งนาน ยังไม่รู้เลยว่ามันหนีไป แต่ถ้าจิตมันมีเครื่องอยู่ พอมันหนีปั๊บเดียว เราะจะรู้สึกอย่างรวดเร็วเลย เครื่องอยู่นั้นทำไป จะช่วยให้เรามีสติที่ว่องไวขึ้น พอสติเราถูก จิตมันก็จะตั้งมั่น มีสมาธิที่ถูกขึ้นมา สติเป็นตัวรู้สภาวะ ถ้าเรารู้สภาวะที่ถูกต้อง กำลังเป็นอยู่อย่างนั้น ตัวผู้รู้มันก็จะเกิด สมาธิมันจะเกิด ตัวผู้รู้ไม่ใช่ตัวสมาธิ ตัวผู้รู้คือจิตที่มีสมาธิ ต้องแยกให้ออก สิ่งที่เป็นธรรมชาติรู้คือจิต จิตมันวิจิตรพิสดารมีหลายแบบ ที่เป็นโลกิยะมีตั้ง 81 แบบ เราไม่ได้รู้ทั้งหมดหรอก จิตบางดวงอย่างจิตในรูปฌาน ในอรูปฌาน พวกเราไม่รู้จัก เราก็มีจิตในกามาวจรนี้ล่ะ เฝ้ารู้เฝ้าดู เท่าที่มันมีเท่าที่มันเป็น

อย่างจิตเราโกรธเรารู้ว่าโกรธ รู้ไปเรื่อยๆๆ จะเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เต็มไปด้วยความทุกข์ คือสภาวะจิตนะถึงจะวิเศษวิโสแค่ไหน จิตเราทรงสมาธิมีความสุขอย่างนี้ ความสุขอันนั้นมันกำลังถูกบีบคั้นให้หมดไปสิ้นไป ตรงนี้เรียกว่าทุกขัง ทุกขตา แล้วก็มันจะมีอยู่ หรือมันจะดับไป เราเลือกไม่ได้ เราสั่งไม่ได้ ตรงนี้เรียกว่าอนัตตตา เฝ้ารู้อย่างนี้ ความรู้ถูกความเข้าใจถูกมันก็จะเกิด พอรู้ถูกเข้าใจถูก ใจมันก็จะค่อยๆ คลายออก ทีแรกมันยังไม่คลาย อย่างเราดูกายดูใจของเราไปเรื่อยๆ ผ่านไปช่วงหนึ่งมันจะรู้สึกว่า กายนี้ใจนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร เต็มไปด้วยทุกข์ เต็มไปด้วยโทษ ไม่ดี ไม่ใช่ของดี น่าเบื่อ เป็นของที่น่าเบื่อ น่าอิดหนาระอาใจ อย่างจิตเรานี้เราฝึกสมาธิ จิตเราสุขสงบ ไม่นานมันก็เสื่อม โอ้ มันน่าเบื่อ น่าอิดหนาระอาใจ

 

หมดอยาก หมดยึด หมดทุกข์

เฝ้าดูไปเรื่อย ทีแรกมันก็ผ่านความรู้สึกแบบนี้ไป ความรู้สึกในเชิงที่เห็นว่า สภาวธรรมทั้งหลายไม่ดี พอมันเห็นสภาวะทั้งหลายมันไม่ดี จิตใจมันก็อยากจะพ้นไป ดิ้นรนอยากจะพ้นจากสภาวะอันนี้ เราก็ให้รู้ทันอีก จิตมันอยากพ้น ถ้าไม่รู้ทันสมาธิจะตก แล้วจิตจะดิ้นรนวุ่นวายใหญ่ ทำอย่างไรจะพ้นออกไป ทำอย่างไรจะพ้นออกไป ในหัวสมองมันมีแต่คำว่าจะทำอย่างไร มันไม่สามารถรู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น มันอยากจะพ้น มันเกลียดชัง ตรงนี้จิตมันไม่เป็นกลาง ให้รู้ทันเข้าไป มันไม่เป็นกลางก็รู้ทันมันเข้าไป ดูไปเรื่อยๆ เราจะพบว่า ถึงเราอยากจะพ้นมันไป เราก็พ้นมันไม่ได้ อย่างเราเริ่มเห็นความจริง ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราอยากพ้นจากมันไป เราก็พ้นไม่ได้ ไปไหนมันก็เอากายไปด้วย มันจะเห็นจิตใจไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราอยากจะพ้นไปก็พ้นไม่ได้ ไปไหนเราก็เอาจิตใจไปด้วย ไม่มีที่หนี ดูตรงนี้ ดูๆๆๆ ไปเรื่อย จนกระทั่งมันรู้ว่าไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่กับอันนี้

เราสมมติเหมือนเราแต่งงาน สามีเรานี้ไม่ได้เรื่องเลย เราอยากจะพ้นไปแต่ก็ยังพ้นไม่ได้ อะไรอย่างนี้ หรือภรรยาเราไม่ได้เรื่องเลย เราอยากพ้นไปก็ยังพ้นไม่ได้ ต้องอยู่กับมัน อยู่กับมันอย่างไรให้มันไม่ทุกข์ ก็ค่อยๆ ดูไป หนีไม่ได้ก็อยู่กับมัน สังเกตมันไป ทุกข์ขึ้นมาเพราะใจเข้าไปหยิบไปฉวย ใจเข้าไปยึดไปถือ ถ้าใจไม่เข้าไปยึดไปถือ ก็ไม่ทุกข์อะไร ใจมันก็เลยค่อยๆ ฉลาดขึ้น เออ อยากเมื่อไร ยึดเมื่อไรก็ทุกข์เมื่อนั้น หมดอยาก หมดยึด มันก็หมดทุกข์ ใจมันจะค่อยๆ เห็น พอเห็น ใจมันจะค่อยๆ เข้าสู่ความเป็นกลาง อยากขึ้นมาเรารู้ มันยึดขึ้นมาเรารู้ ใจก็หมดอยาก หมดยึด เป็นกลาง เห็นทุกอย่างนี้เสมอกัน สุขหรือทุกข์ เกิดขึ้นแล้วดับไปเสมอกัน ดีหรือชั่วเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มันเสมอกันอยู่

ตรงที่มันเห็นสภาวะทั้งหลายที่เป็นคู่ๆ สุข ทุกข์ ดี ชั่วอะไรนี่ เป็นคู่ๆ โกรธ – ไม่โกรธ โลภ – ไม่โลภ หลง – ไม่หลง อะไรนี้ของเป็นคู่ๆ ฟุ้งซ่านหดหู่เป็นคู่ๆ กัน พอเราเห็นๆ ซ้ำๆ จนจิตมันเข้าใจความจริง เรียนสิ่งที่เป็นคู่จนรู้ความจริงเลยว่า ทั้ง 2 ด้าน ทั้งด้านบวกด้านลบ บวกกับลบนั้นอยู่ด้วยกันตลอด สุขกับทุกข์มันก็อยู่ด้วยกัน ดีกับชั่วมันก็อยู่ด้วยกัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สุขเกิดแล้วก็ดับ เดี๋ยวก็ทุกข์ขึ้นมา ทุกข์เกิดก็ดับเดี๋ยวก็สุขขึ้นมา กุศลเกิดแล้วก็ดับ เดี๋ยวอกุศลก็เกิด อกุศลเกิดแล้วอกุศลก็ดับอีก เกิดดับสลับกันไปเรื่อยๆ ถ้าเรามีสติ ถ้าเราไม่มีสติ อกุศลมันก็ครองพื้นที่ในใจเราไปหมด ครองเวลาในใจของเรา เอาเป็นจิตที่ชั่วๆ เกิดซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าเรามีสติอยู่เราจะเห็นเลย กุศลเกิดก็ดับ อกุศลเกิดแล้วดับ จิตมันจะเป็นกลางกับทั้งกุศลทั้งอกุศล

เวลาจิตมันมีสมาธิ มีความสงบ มีความตั้งมั่น มีสติว่องไว บางวันก็เป็นอย่างนี้ บางวันจับอะไรไม่ได้เลย เคลิ้มๆ หลงๆ เลอะเทอะ ฟุ้งซ่านไปหมดเลย ทั้งๆ ที่ก็ภาวนาเหมือนเดิม ค่อยภาวนาๆ นานๆ ไปจะเห็น มันเหมือนกัน ด้านหัวหรือด้านก้อย ด้านบวกหรือด้านลบ เกิดแล้วก็ดับเหมือนกันนั่นล่ะ พอจิตเห็นตรงนี้ จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางที่แท้จริงด้วยปัญญา ตรงที่จิตมันเป็นกลางด้วยปัญญาสำคัญมาก มันเป็นจุดสูงสุดของวิปัสสนาญาณในฝ่ายโลกิยะ ถัดจากนั้นฝ่ายโลกุตตระมันจะเกิดขึ้นแล้ว นี้เป็นฝ่ายโลกิยะ ยังเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อมไปเรื่อยๆ พอฝึกมากๆ ต่อไปจิตมันก็เข้าสู่ความเป็นกลาง มันจะเข้าใจคำว่าสักว่ารู้ว่าเห็น ความสุขเกิดขึ้นสักว่ารู้ว่าเห็น ไม่หลงยินดี ความทุกข์เกิดขึ้นสักว่ารู้ว่าเห็น ไม่หลงยินร้าย กุศลเกิดขึ้นก็สักว่ารู้ว่าเห็น อกุศลเกิดขึ้นก็สักว่ารู้ว่าเห็น

จิตมันจะไม่ดิ้นรนต่อ ไม่ปรุงแต่งต่อ สุดท้ายจิตมันก็รวม มันก็รวมสติ สมาธิ มันเต็มที่แล้ว มันก็รวมลงไป แล้วถ้าปัญญามันเต็มที่แล้วอริยมรรคมันจะเกิดขึ้น ลำพังมีสติ สมาธิเต็มที่ ปัญญายังไม่เต็ม อริยมรรคยังไม่เกิด แต่คำว่าเต็มๆ นี่มันเต็มตามชั้นตามภูมิ ระดับพระโสดาบันมีสมาธิเล็กน้อยอะไรอย่างนี้ ยังมีเล็กน้อย ปัญญาก็ยังเล็กน้อย แต่ศีลนั้นดีแล้ว การเต็มของแต่ละชั้น แต่ละภูมิไม่เหมือนกัน

อย่างเวลาเราภาวนา อย่างจิตเราเข้าใจธรรมะขึ้นมา พอเข้าใจไปแล้ว คล้ายๆ เราใช้พลังงานไปเยอะแล้ว เราก็สะสมเริ่มต้นใหม่ สะสมแยกรูป แยกนามไป ดูธาตุ ดูขันธ์มันทำงานไป ช่วงไหนฟุ้งซ่านทำความสงบเข้ามาใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งมันเต็มรอบต่อไป มันคล้ายๆ เราทดน้ำ ทดน้ำทีแรกทดแค่นี้ สูงแค่นี้น้ำไหลเข้าคลองนี้ได้ ต้องทดให้สูงกว่านั้นอีก น้ำถึงจะไหลเข้าไปอีกคลองหนึ่งได้ คลองที่มันสูงขึ้นไป ต้องฝึก อดทนแล้วก็พากเพียรของเราไปเรื่อยๆ ไม่ท้อถอย ถ้าเราท้อถอยตั้งแต่ตอนนี้ อนาคตของเราลำบากแน่นอน

 

 

คิดดูโลกนี้น่าอภิรมย์เสียที่ไหน มีแต่เรื่องวุ่นวาย คนรุ่นเราข้อมูลข่าวสารมันเยอะ ความเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเลย ชีวิตมันก็ต้องเปลี่ยน การที่ชีวิตเราจะต้องเปลี่ยน การดำรงชีวิตนั้นต้องปรับตัวอย่างโน้น ต้องปรับตัวอย่างนี้ มันเหนื่อย ถึงจุดหนึ่งก็ปรับตัวไม่ทัน ปรับตัวไม่ทันก็ตกประวัติศาสตร์ไป ชีวิตสู้เขาไม่ได้แล้ว อยู่ในความลำบากยากแค้น อย่างคนรุ่นเก่าๆ ทำมาหากิน ทำงานอะไรก็ทำอยู่อย่างนั้น ไม่ค่อยมีงานให้เปลี่ยนหรอก คนเดี๋ยวนี้ทำงานเปลี่ยนเร็ว หากินทางนี้ได้ปุ๊บ แหม รวยเลย รวยอยู่ได้ไม่นานมันเปลี่ยนอีกแล้ว ปรับตัวไม่ทัน ที่เคยรวยก็ไม่รวยแล้ว ชีวิตดิ้นๆๆ ไป ลำบากมาก

เรื่องอะไรเราต้องอยู่กับมันตลอดไป เราอยู่กับมันเป็นแค่เครื่องอาศัยเท่านั้น อย่าไปหลงกับมันมาก ใครมันหลงก็ให้มันหลงไป มันก็ทุกข์ของมันไป มันก็วิ่งๆๆ ไปเรื่อยๆ คล้ายๆ อยากเข้าเส้นชัย แต่เส้นชัยนั้นมันเลื่อนออกไปเรื่อยๆ วันนี้ทำอย่างนี้เข้าเส้นชัยได้ วันต่อไปทำแบบเดิมไม่เข้าเส้นชัยแล้ว คนอื่นเขานำไปอีกแล้ว การแข่งขันมันสูงมาก แค่เทคโนโลยีเปลี่ยน ระบบการผลิตก็เปลี่ยน วิถีชีวิตก็เปลี่ยน อย่างคนไทยเราแต่ก่อน ตกงานจะกลัวอะไร ตกงานเราก็กลับบ้านนอก ไปทำไร่ทำนา ปลูกผัก จับปลาอะไรเราก็อยู่ได้ เดี๋ยวนี้ไม่มีที่จะไป

อย่างคนในเมืองกรุงเทพฯ คนตั้ง 10 ล้าน ถ้าถูกปิดเมือง อดตายเลยทั้งเมือง ไม่สามารถพึ่งตัวเองได้อย่างคนสมัยก่อนแล้ว จะไปคร่ำครวญว่าอยากให้บ้านเมือง กลับไปเหมือนสมัยก่อน อันนั้นเป็นความไร้เดียงสาอีกแล้ว ก็แบบเก่าๆ มันหมดไปแล้ว หมดยุคไปแล้ว จะไปร่ำร้องให้มันกลับคืนมา มันไม่มาหรอก อย่างบางคนคิดถึงอดีต โอ๊ย บ้านเมืองดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ ไม่จริง ก็คือไม่เห็นความจริงของในยุคก่อนๆ ยุคก่อนๆ เขาก็ทุกข์แบบของเขา ไม่ใช่เขามีความสุขเมื่อไร เกิดมาไม่ว่าเกิดชาติไหนมันก็ทุกข์ทุกชาติ เราก็นึกว่าตอนเราเด็กๆ เราไม่ต้องรับภาระอะไรเลย มีปัญหาอะไรพ่อแม่เรารับแทนหมดแล้ว เราก็รู้สึก แหม โลกในอดีตมันดีจังเลยสบาย ชีวิตวันนี้ทำไมต้องต่อสู้เหน็ดเหนื่อย บางคนแข็งแรงมีความรู้ความสามารถ สู้แล้วชนะ มันชนะจะยั่งยืนไปสักแค่ไหน วันหนึ่งก็แพ้ เพราะว่าสังคมมันเปลี่ยนเร็วมาก

เราตั้งหลักไม่ได้ เรายอมรับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราก็ทุกข์ แต่ถ้าเราเห็นความจริง มันก็อย่างนี้ โลกมันก็อย่างนี้ ไม่เป็นไปตามใจอยาก แต่เราก็อยู่กับมัน เราหนีมันไม่ได้ก็อยู่กับมัน แต่อยู่แบบมีความสุข ไม่ถูกข้อมูลข่าวสารอะไรต่ออะไรทำร้ายให้เราบอบช้ำ ทุกวันเหน็ดเหนื่อยมากเลยกับการฟังข่าว กับการตามทุกสิ่งทุกอย่าง ตามเทคโนโลยี ตามอะไรต่ออะไร เอาแค่พออยู่ พอกิน พอเพียง มีชีวิตอยู่ได้ มีชีวิตอยู่ได้แล้วก็พัฒนาใจของเรา ให้มันสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เราจะได้ที่พึ่งที่ถาวรที่ยั่งยืน แล้วจะรู้ว่าโลกนี้ไม่มีอะไร โลกนี้มันหลอกได้แต่คนหลง คนไม่หลงอยู่กับมัน รู้ทันมัน ไม่บอบช้ำไปกับมัน อย่างบางคน เขาคิดว่าสังคมควรจะเป็นอย่างนี้ ควรจะเป็นอย่างนี้ คำว่า ควรจะเป็น ทำไมต้องมีคำว่า ควรจะเป็น เพราะมันไม่เป็น ถึงคิดว่าควรจะเป็น ถ้ามันเป็นอย่างนี้ก็เรื่องธรรมดา ก็ไม่ต้องคิดอยากให้มันเป็นแล้ว ฉะนั้นใจเราก็หวังฝันไปเรื่อยๆ ใจหาความสงบ หาความสุขไม่ได้

 

 

ค่อยฝึกนะ แล้ววันหนึ่งเราจะได้ลิ้มรสชาติของความสุขความสงบ ความสุขความสงบอันนี้เอาเงินซื้อไม่ได้ ขอใครก็ไม่ได้ ต้องพัฒนาของเราเอง รู้ว่าอะไรมีสาระ อะไรไม่มีสาระ รู้อะไรมีประโยชน์ อะไรไม่มีประโยชน์ รู้อะไรสมควรเหมาะสมกับเรา อะไรไม่เหมาะสม รู้จักวาง อย่างเราสมัยที่เราแข็งแรง เราบงการทุกอย่างได้ อย่างบริษัทเรานี่เราสั่งได้ทุกอย่าง อยู่ไปๆ มันสั่งอะไรไม่ค่อยจะได้แล้ว อำนาจมันลดทอนลงไป หรือบริษัทเราเคยรุ่งเรือง มาถึงวันหนึ่งมันก็ล้มเหลวลงไป คนอื่นเขาก็ช่วงชิงชัยชนะไปได้ ไม่มีใครชนะตลอดกาล อย่างเราดิ้นๆๆ ไป เป้าหมายของเรามันก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ทีแรกต้องการแค่นี้ พอได้แค่นี้ก็อยากได้ถัดไปอีก พอได้เยอะๆ แล้วก็กลัวมันสูญเสียอีกแล้ว ชีวิตไม่ได้มีความสุขเลย

เอาวันนี้เอาเท่านี้แล้วกัน ธรรมะอยู่ที่เราต้องทำเอาเองแล้ว ไลฟ์แค่นี้ก็พอแล้ว ไปทำเอา อ่านจิตอ่านใจตัวเอง ดูกายดูใจไป ทำอะไรไม่ได้ก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง หายใจเข้าพุท ออกโธ หรือรู้ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนอะไรก็ทำไปเถอะ แล้วก็อย่าให้จิตมันเผลอลืมกรรมฐานของเราไป แล้วก็อย่าไปนั่งเพ่งนั่งจ้องกรรมฐานของเรา แค่นั้นล่ะ เดี๋ยวมันก็เจริญ มันใช้เวลา

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
8 พฤษภาคม 2564