จิตไม่ใช่เรา

การภาวนาไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ยากอะไรหรอก ให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว อย่าให้มันล่องลอย มันล่องลอยไปได้ 6 ทาง หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย หลงไปปรุงแต่งทางใจ จิตมันไหลไป 6 ช่อง ไหลไปเรื่อยๆ เที่ยวไปรวดเร็ว ย้ายบ้านบ่อย เดี๋ยวไปทางตาย้ายไปทางหู ทางจมูก ลิ้น กาย ใจ ห้ามมันไม่ได้ คอยระลึกรู้ไป อย่างเวลาเราดูซีรีส์เราก็ปฏิบัติไปด้วย เดี๋ยวนี้ชอบดูซีรีส์อะไรกัน สังเกตดูเวลาเราดูหนังดูละครอะไรอย่างนี้

เราใช้อายตนะหลักๆ อยู่ 3 ตัว ตามองรูป หูฟังเสียง ใจคิด 3 ตัวนี้ทำงานหลัก ฉะนั้นเวลาเราดูละคร ดูหนัง เราจะเห็นบางทีจิตเราก็วิ่งไปดูรูป ไปดูพระเอกดูนางเอก บางทีจิตเราก็ไปฟังเสียงเขาพูดอะไรกัน ไปดูรูป ไปฟังเสียง แล้วก็คิด คิดว่าแปลความหมายในสิ่งที่เห็น ในสิ่งที่ดู ในสิ่งที่ได้ยิน ก็ไปแปลความหมาย แปลความหมายแล้ว คราวนี้จิตถึงจะปรุงต่อ ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว ฉะนั้นความปรุงแต่งของจิต มันตามหลังผัสสะ คือการกระทบอารมณ์ทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ตัวที่กระทบบ่อยคือกระทบทางตา ทางหู ทางใจ 3 ตัวนี้ตัวหลักเลย ทางใจนี้เป็นเบอร์หนึ่งมากที่สุด ทางตานี้เบอร์สอง ทางหูเบอร์สาม เราค่อยๆ ดู มันออกไปรู้ทางตา ถ้าสติรู้ทันจิตก็ไม่ปรุงต่อ มันออกไปรู้ทางหู ถ้าสติรู้ทันจิตก็ไม่ปรุงต่อ มันไปคิดถ้าสติรู้ทันจิตก็ไม่ปรุงต่อ แต่ส่วนมากมันรู้ไม่ทันก็จะปรุงต่อ ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว ขึ้นมา

 

 

ถ้าเราสังเกตการทำงานของจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ เดี๋ยวถ้าจิตเรามีกำลังพอ จิตมันเป็นคนดูอยู่ แล้วสังเกตการทำงานของมันไป ไม่นานหรอกปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตมันทำงานได้เอง เวลาจะไปดูรูปมันก็ไปดูของมันเอง ไม่ได้บอกให้มันไปดูเสียหน่อย เวลาฟังเสียงมันก็ไปฟังของมันเอง ไม่ได้บอกให้มันฟังเสียหน่อย มันฟังได้เอง เวลามันคิดมันก็คิดได้เอง ไม่ได้สั่งมันก็คิดได้เอง เวลามันปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงสุข ปรุงทุกข์ มันก็ปรุงของมันได้เอง เราคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ มันลัดสั้นมากเลย มันจะเห็นว่าจิตมันทำงานได้เอง จิตไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก ถ้าเห็นอย่างนี้ได้ มันก็จะล้างความเห็นผิดได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อไรเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 มันก็จะไม่เป็นเราโดยอัตโนมัติ ขันธ์ 5 ไม่เป็นเรา โลกมันก็ไม่เป็นเราโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นตัวหัวโจกตัวที่หลงผิดจริงๆ คือตัวจิตเรานี่เอง ไม่อยากหลงผิดก็เรียนรู้มันเข้าไป ทำความรู้จักกับมัน ทำความรู้จักจิตใจตัวเองไป รู้มันไปเรื่อยๆ พอเรารู้จักตัวเอง เราจะรู้เลยว่า โอ๊ย จิตใจเราแต่ละวัน แต่ละเวลาเต็มไปด้วยกิเลส ปรุงโน่น ปรุงนี่ บางทีนึกว่าปรุงดีที่จริงปรุงชั่วก็มีเยอะเลย นึกว่าฉันดี๊ดี ที่แท้ไม่ดีจริงหรอก ลึกๆ ลงไปมันมีกิเลสซ่อนอยู่ เช่นกูเก่งๆๆ อะไรอย่างนี้ พวกเราเห็นบ้างไหมตัวกูเก่ง ตัวนี้ร้าย เราไม่ค่อยกล้าไปดูมันหรอก แล้วก็ไม่ค่อยเห็นมันหรอก พอเราไม่เห็นตัวกูเก่ง คราวนี้ก็ปรุงโน้นปรุงนี้อุตลุด ทำงานอุตลุดไป

ฉะนั้นเราคอยรู้ทันจิตใจของเรา รู้ทัน จิตมันไปทำงานก็รู้ ไปทางตาก็รู้ ไปทางหูก็รู้ ไปคิดก็รู้ รู้บ่อยๆ ไม่ห้ามแต่อย่าหลงยาว ไปดูอะไรตั้งเป็นชั่วโมงแล้วก็ไม่รู้ตัวเลย หลง ถ้าเราเห็นจิตมันทำงานไปเรื่อยๆ จะรู้ทันเลย ไม่มีอะไรหรอก โลกนี้ที่ยิ่งใหญ่ไพศาล มันก็แค่สิ่งที่ตาเห็น แค่สิ่งที่หูได้ยิน แค่สิ่งที่จมูกได้กลิ่น แค่สิ่งที่ลิ้นมันกระทบรส แค่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เท่านั้นเอง สิ่งที่เรียกว่าโลกๆ อันนั้นคือโลกภายนอก คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

โลกภายในของเราคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เป็นโลกภายใน เรียนรู้ลงไปเรื่อยๆ จะเห็นถึงจุดหนึ่ง เราจะเห็นโลกภายนอกก็ไม่เที่ยง รูปทั้งหลายไม่เที่ยง เสียงทั้งหลายไม่เที่ยง โลกภายใน การรับรู้ตัวตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำงาน บางทีก็ทำ บางทีก็ไม่ทำ บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเลย แล้วศูนย์กลางของโลก ศูนย์กลางของจักรวาล ก็คือตัวจิตเรานี่เอง โลกภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ โลกภายในคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นโลก ตัวจิตเป็นศูนย์กลางของโลก เป็นใหญ่ เป็นประธาน

ถ้าไม่มีจิตสักดวงเดียว การรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำงานไม่ได้ ถ้ามันไม่มีจิตดวงเดียวนี้ ฉะนั้นพอตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทำงานไม่ได้ โลกภายนอกมันก็ไม่ปรากฏขึ้น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลาย ก็ไม่มี เราพยายามตัดตรงเข้ามารู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดีก็รู้ จิตชั่วก็รู้ รู้ไปเรื่อยๆ จิตหลงไปดูรูป หลงไปฟังเสียง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย หลงไปคิดนึกทางใจ ก็รู้มันไป ฝึกไปเรื่อยๆ บ่อยๆ ถึงวันหนึ่งเราจะเห็น จิตมันทำงานได้เอง เวลาจะสุขเราสั่งไม่ได้ เวลาจะทุกข์เราห้ามไม่ได้ เวลาจะดีเราก็สั่งให้เกิดไม่ได้ เกิดแล้วรักษาให้ตลอดไปก็ไม่ได้ เวลาจะชั่วห้ามมันก็ไม่ได้ ไล่มันก็ไม่ไป แล้วจิตเองเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง หลงทางทวารทั้ง 6

เห็นไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็แทงตลอด จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตเป็นแค่สภาพธรรมอันหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 เป็นผลผลิตของจิต มันก็ไม่ใช่เรา โลกซึ่งมันปรากฏขึ้นมาได้ก็เพราะเรามีจิต มันก็เลยพลอยไม่ใช่เราไปด้วย ไม่ยากหรอก สังเกตจิตตัวเองไป ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดูไป อย่ารีบร้อน

 

 

ช่วงนี้ก็เดือดร้อนกันทั้งโลก ลำบากกันทุกหนทุกแห่ง ที่จริงก็คือธรรมดา โลกนี้มันก็ทุกข์อย่างนี้ มันแค่เปลี่ยนรูปแบบของความทุกข์ เดี๋ยวเป็นทุกข์เรื่องโน้น ทุกข์เรื่องนี้ แต่ทั้งหมดมันก็คือทุกข์ บางประเทศก็ถึงขนาดล่มจม ล้มละลาย เมืองไทยเราก็เคยโดน แต่เราช่วยกันกอบกู้ขึ้นมาได้ในเวลาแค่ 2-3 ปี อย่างตอนนี้หลายๆ ประเทศเขาลำบากมาก ประเทศศรีลังกาน่าสงสาร โลกไม่มีอะไร โลกมีแต่ทุกข์ ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์บ้าง ก็จะรู้ว่าโลกไม่เคยสงบหรอก มีแต่ความวุ่นวายตลอดเวลา วุ่นวายเพราะผลประโยชน์ขัดกันบ้าง วุ่นวายเพราะความคิดแตกต่างกันบ้าง

ที่โลกวุ่นวายทุกวันนี้ก็เพราะ 2 สิ่งนี้ คือเพราะผลประโยชน์ กับเพราะความคิดเห็นที่แตกต่างกัน มีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน แย่งชิงต่อสู้กัน บางทีบ้านเมืองก็สงบๆ อยู่ แต่มีความคิดเห็นไม่เหมือนกัน ก็ทำความวุ่นวายขึ้นมาได้อีก ธรรมชาติของสัตว์ก็เป็นอย่างนั้น สัตว์เดรัจฉานมันก็แย่งชิงผลประโยชน์กัน เช่น แย่งตัวเมีย แย่งพื้นที่ทำมาหากิน แย่งอาหาร ของมนุษย์นั้นมีปัญหาเรื่องลัทธิ เรื่องอุดมการณ์ เรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ความทุกข์เยอะ ขัดแย้งกันด้วยตัณหาและทิฏฐิ ชีวิตก็ลำบาก

โลกนี้ไม่มีอะไร โลกนี้มีแต่ทุกข์ เพราะมีตัณหา มีทิฏฐิ ก็พยายามต่อสู้แย่งชิงกัน พอได้สิ่งที่พึงพอใจมา ก็ถือว่ามีลาภ ได้ตำแหน่งดีๆ มาก็มียศ มีคำสรรเสริญ มีความสุข สุดท้ายมันก็สลายไปหมด เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ โลกก็มีอยู่แค่นี้ มีสุขแล้วก็มีทุกข์ มีเจริญแล้วก็มีเสื่อมเรียกโลกธรรม พวกเราชาวพุทธก็ทำความเข้าใจมันไป พอเข้าใจแล้ว เวลาเราประสบกับความเสื่อมทั้งหลาย เราจะไม่ทุกข์มาก ไม่ทุกข์มากทุกข์พอทนได้ ค่อยๆ ฝึกทุกวัน อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
16 กรกฎาคม 2565