สติ สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติ

พยายามมีสติเอาไว้ตลอดเวลา สติจำเป็นในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนี้ ขาดสติก็คือไม่ได้ปฏิบัติแล้ว ขาดสติเมื่อไร จิตก็ไม่ได้เป็นกุศลแล้ว ไม่ได้ปฏิบัติ ขาดสติก็ไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา สติจำเป็นต้องฝึก อยู่ๆ สติไม่เกิดหรอก ต้องทำเหตุของสติ คือต้องหัดรู้สภาวะไป รู้สภาวะเนืองๆ ไป ในสติปัฏฐานท่านถึงใช้คำว่าให้รู้เนืองๆ รู้เยอะที่สุดเท่าที่รู้ได้

สติที่จะเดินปัญญาต่อไปต้องเป็นสติปัฏฐาน เป็นสติระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจ สติธรรมดาไม่ใช่สติปัฏฐาน เวลาจิตของเราเป็นกุศล จิตมันมีสติ มันเป็นสติธรรมดา ถ้าสติปัฏฐานต้องเป็นสติระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจ รู้รูปรู้นามไป มันถึงจะเกิดปัญญา คือต้องเห็นตัวสภาวะ สภาวธรรม สภาวธรรมก็มีรูปธรรมกับนามธรรม รู้บ่อยๆ พอเรารู้เนืองๆ รู้บ่อยๆ ต่อไปจิตมันจำสภาวะอันนั้นได้ พอสภาวะอันนั้นเกิด สติจะเกิดเอง ฉะนั้นสติที่ใช้ได้จริงๆ เป็นสติอัตโนมัติ เกิดโดยที่เราไม่ได้เจตนาให้เกิด

 

หัดรู้สภาวะ

ฉะนั้นหัดรู้สภาวะเรื่อยๆ ไป ถนัดรู้กายก็รู้กายไป ถนัดรู้เวทนาก็รู้เวทนา ถนัดรู้จิตตสังขารก็รู้ไป ถนัดรู้ทันจิตก็รู้ไป จิต เจตสิก รูป 3 อันนี้ล่ะเป็นสภาวธรรมที่เราจะเรียนรู้ อย่างเรามีสติรู้ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า เรารู้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้มุ่งไปที่ความสุขความสงบ รู้ไป รู้สึกๆๆ ไป พอจิตหนีไปก็รู้ทันเอา แล้วก็ไม่ว่ามัน หนีแล้วก็แล้วไป แล้วก็กลับมารู้สึก เห็นร่างกายหายใจต่อไป หรือจะดูอิริยาบถก็ได้ ร่างกายมันนั่ง ยืน เดิน นั่ง นอนอะไรอย่างนี้ คอยรู้สึกไป รู้ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่งก็ได้ แล้วแต่ความถนัด

ไม่ชอบรู้กายก็รู้เวทนาไป เวทนาที่หลวงพ่อแนะนำให้รู้คือเวทนาทางใจ เวทนาทางกายมันเปลี่ยนแปลงช้า เวทนาทางใจมันเปลี่ยนแปลงเร็ว เวลาเราต่อยอดขึ้นวิปัสสนามันจะทำง่าย แล้วเวทนาทางกายถ้าเราไม่ทรงฌาน ถ้าเจอเวทนาที่รุนแรง ปวดมากเลยๆ เจ็บมากๆ สติสู้ไม่ไหว สมาธิสู้ไม่ไหว ฟุ้งไป ก็ดูเวทนาทางใจของเราไป ง่ายจะตายไป ใจเราสุขก็รู้ ใจเราทุกข์ก็รู้ ใจเราดี ใจเราชั่วก็รู้ไป ถ้าดูสุขดูทุกข์อันนี้ก็เวทนา ถ้าดูใจดีใจชั่วนี่ดูจิตตสังขาร ขึ้นจิตตานุปัสสนา

เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องลึกลับหรอก อย่าไปกลัวคำว่าสติปัฏฐาน ก็แค่มีฐานที่ตั้งของสติไว้สักอันหนึ่ง จะเป็นกายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตตสังขารก็ได้ จิตก็ได้ หัดรู้หัดดูเรื่อยๆ พอจิตมันหนีไปจากฐานที่ตั้ง เราก็รู้ทัน จิตมันไปเพ่งจ้องฐานที่ตั้ง เราก็รู้ทัน ฝึกไปเรื่อยๆ ต่อไปพอจิตมันเคลื่อนจากฐาน เราก็เห็นได้รวดเร็ว สติมันเกิด

หลวงพ่อฝึกเบื้องต้น ฝึกอานาปานสติให้จิตสงบ แล้วหลวงพ่อก็เจริญจิตตานุปัสสนา เห็นจิตเป็นกุศลบ้างอกุศลบ้าง แล้วมันก็เห็นจิตสุขบ้างทุกข์บ้าง เข้ามาที่เวทนานุปัสสนา ดูเรื่อยๆ ในที่สุดก็เห็นปฏิกิริยาของจิต เวลาสุขจิตก็ยินดี เวลาทุกข์จิตก็ยินร้าย เวลาเป็นกุศลจิตก็ยินดี เวลาเป็นอกุศลจิตก็ยินร้าย รู้ทันจิตไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตก็เป็นกลาง จิตก็รู้เวทนาด้วยความเป็นกลาง รู้สังขารด้วยความเป็นกลาง รู้ด้วยความเป็นกลางสำคัญมาก จะทำให้จิตไม่ปรุงแต่งต่อ ถ้ารู้แล้วไม่เป็นกลาง จิตจะปรุงต่อ

ฉะนั้นหัดรู้สภาวะเนืองๆ ดูจิตไม่ออกก็ดูกายไป จิตมันว่องไว หนีเร็ว สมาธิเราไม่พอ จะดูไม่ทัน มันหนีแวบๆๆ ไปแล้ว แต่ถ้าหัดไปเรื่อย จิตหนีแล้วรู้ๆ ไปเรื่อย ต่อไปสติก็เร็วขึ้น สมาธิก็แข็งแรงขึ้น ก็ดูได้เหมือนกัน แต่ถ้าดูจิตไม่ออก จิตชอบหนีหายไปนานๆ ดูกาย กายหายใจ รู้สึก กายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ดูไปเรื่อยๆ กายเคลื่อนไหว กายหยุดนิ่ง รู้สึกเอา เราจะรู้สึกจนกระทั่งสติเกิดโดยไม่ได้เจตนา

 

ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ แต่ทำให้ต่อเนื่อง

ตอนหลวงพ่อเป็นโยม หลวงพ่อเคยเข้าไปกราบหลวงพ่อเทียนที่วัดสนามใน หลวงพ่อไม่ได้เรียนกับหลวงพ่อเทียน เรียนกับหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ให้หลวงพ่อดูจิต หลวงพ่อก็ไปดูหลวงพ่อเทียน ท่านสอนเรื่องกาย ขยับ 14 จังหวะ ไปดูท่านสอน ท่านขยับไปพูดไป บรรยายไปเรื่อยๆ ลูกศิษย์ก็ขยับตามไป หลวงพ่อเห็น อ๋อ เขาขยับกันอย่างนี้เอง ไม่ไปดูลูกศิษย์หรอก ดูหลวงพ่อเทียน ขยับไปด้วยความรู้สึกตัว ลูกศิษย์ทำไมไม่ไปดู เห็นแวบหนึ่งก็เข้าใจแล้ว บางคนก็นั่งคิด ท่านี้แล้วต่อไปท่าไหนอะไรอย่างนี้ อันนี้พวกหัดใหม่ๆ พวกชำนาญ แหม เคลื่อนไหว เป๊ะๆๆ เลย แต่จิตหนีไปที่อื่น หรือบางคนจิตก็ไปเพ่งอยู่ในมือนิ่งๆ หลวงพ่อเทียนขยับแล้วรู้สึกตัว เราก็ดู โอ วิธีนี้ก็ใช้ได้ เคลื่อนไหวแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา

หลวงพ่อก็ไปนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ในวัดท่านนั่นล่ะ ก็ไปนั่งขยับเล่นบ้าง จำได้ท่านขยับท่านี้ๆๆ 2 มือขยับ ขยับไปขยับมา รำคาญ ตั้ง 14 จังหวะ หลวงพ่อเป็นพวกโทสจริต อะไรที่รุงรังไม่ชอบเลย พอไม่ชอบใจมันรำคาญ พอใจรำคาญเราก็ใช้ไม่ได้หรอก ไม่เหมาะกับเรา มันเหมาะกับท่าน แต่ไม่ได้เหมาะกับเรา ก็เลย apply ที่ท่านสอน เคลื่อนไหวแล้วรู้สึกๆ แค่นี้เอง เคลื่อนไหวแล้วรู้สึก เหลือ 2 จังหวะ กำกับแบแค่นี้เอง สบาย ร่างกายกำมือก็รู้ ร่างกายแบมือก็รู้ รู้สึกๆๆ

เล่นอยู่พักหนึ่ง เรียกว่าเล่น ไม่ได้ทำจริง ทำจริงจะเครียด ทำเล่นๆ ทำเล่นๆ แต่ไม่ใช่เล่นจนเพลิน ขยับอยู่อย่างนี้ กลับมาบ้านก็มาขยับเล่นอยู่อย่างนี้ เออ เข้าท่าดีแฮะ เดินจงกรมเมื่อยจะตายไป ขยับอย่างนี้ไม่ค่อยเมื่อย มือนี้เมื่อยก็ย้ายมามือนี้ ขยับแล้วรู้สึกๆๆ ไป พวกเราไม่ต้องขยับเร็วอย่างหลวงพ่อหรอก หลวงพ่อสติมันเร็วแล้ว แต่ไม่ใช่แกล้งขยับอย่างนี้ กริ๊กๆๆ แหม กว่าจะกำเสร็จ หนีไปคิด 500 เรื่องแล้ว มันใช้ไม่ได้ จังหวะที่เคลื่อนไหวพอดีกับเรา พอดีกับตัวเอง

เล่นอยู่ไม่กี่วัน วันหนึ่งเห็นเพื่อนเดินอยู่คนละฟากถนน อยู่คนละฝั่ง เขาเดินมาก็เห็น เพื่อนคนนี้ไม่เจอนานหลายปีแล้ว ดีใจ ดีใจแล้วไม่เห็นว่าดีใจ แล้วขาดสติ ก็จะข้ามถนน หันซ้ายหันขวา ดูรถก่อน ตรงนี้ก็ยังขาดสติ พอเท้าเคลื่อนจะก้าวข้ามถนน พอเท้าขยับเท่านั้น สติเกิดขึ้นอัตโนมัติเลย เพราะเราเคยฝึกเคลื่อนไหวแล้วรู้สึก ตอนฝึกเราเคลื่อนมือ ตอนสติมันเกิดตอนนั้นเคลื่อนเท้า มันก็รู้สึกเหมือนกัน โอ การภาวนามันไม่ได้ลำบากยากเย็นอะไรหรอก กรรมฐานอะไรก็ใช้ได้ทั้งนั้นล่ะ ทำให้ถูกหลัก

อย่างเราจะพุทโธ จะหายใจ จะขยับมือ ดูท้องพองยุบอะไร ถ้าทำแล้วไปเพ่งไปบังคับตัวเอง ก็ผิดหมดล่ะ ทำแล้วรู้สึกเอา ถ้าเดินทางกาย เช่น อานาปานสติ พองยุบ หรือเคลื่อนไหวทำจังหวะอย่างหลวงพ่อเทียนอะไรอย่างนี้ อันนี้อยู่ในกลุ่มของกาย ถ้าทำด้วยความมีสติ เช่น หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึกอย่างนี้ เวลาเราขาดสติ เราเห็นใครสักคน เราขาดสติ เราโกรธขึ้นมา นี่ศัตรูเรา จิตเราโกรธขึ้นมา เราเคยหายใจเข้า รู้สึก หายใจออก รู้สึก พอโกรธจังหวะการหายใจมันเปลี่ยนทันทีเลย จะหายใจแรงขึ้น มันจะเตรียมไปตีกับเขาอย่างนี้ พอจังหวะการหายใจเปลี่ยนปุ๊บ สติเกิดเองเลย จะเห็นร่างกายหายใจที่แรงขึ้นแล้ว หรือเวลาจิตมีราคะใช่ไหม มันก็จะหายใจแรงขึ้น เวลามีกิเลส ร่างกายต้องใช้พลังงานเยอะขึ้น หายใจแรงขึ้น เราเคยรู้ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก พอมันเปลี่ยนจังหวะการหายใจ สติเกิดขึ้นอัตโนมัติเลย

ฉะนั้นทำกรรมฐานอะไรก็ได้ แต่ทำให้มันต่อเนื่องไป แล้วก็ไม่ได้ไปเผลอลืมกรรมฐานของเรา ไม่ได้ไปเพ่งไปจ้องเฝ้าอยู่ที่อารมณ์กรรมฐานไม่ให้คลาดสายตา รู้ไปสบายๆ รู้ไปอย่างสบาย ปลอดโปร่ง หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ฟังเสียงหลวงพ่อ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก (พูดด้วยความเร็วปกติ) ไม่ใช่ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก (พูดช้าๆ) อันนี้ไม่ใช่รู้สึกแล้ว อันนี้ฝึกตัวเองให้เป็นหุ่นยนต์แล้ว รู้สึกไปด้วยจิตใจธรรมดา รู้อารมณ์ทั้งหลายไปตามธรรมดาของมัน รู้ด้วยจิตใจธรรมดา เพื่อวันหนึ่งก็จะเห็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เราจะเห็น

อย่างเรารู้กายหายใจออก หายใจเข้า รู้กาย ยืน เดิน นั่ง นอน รู้ด้วยจิตธรรมดา ถึงจุดหนึ่ง มันจะเห็นธรรมดาของกาย ธรรมดาของกายก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะเห็น แต่ถ้าเราทำใจผิดปกติ ไม่เห็นหรอก อย่างมากก็คิดเอา เพราะฉะนั้นเราต้องใช้ใจที่ปกติ ใจที่ธรรมดา ไปรู้อารมณ์กรรมฐาน รู้อย่างธรรมดา ไม่ไปเพ่งจ้อง บังคับ กดข่ม ไม่ใช่ไปควบคุมอารมณ์ ไม่ได้ไปควบคุมจิต

อย่างเราหายใจ อย่างหลวงพ่อทำอานาปานสติ กว่าจะจับหลักได้ ทีแรกก็เครียดเหมือนกัน เครียดอยู่หลายวันเลยตอนเด็กๆ ต่อมาจับหลักได้ไม่เครียดแล้ว หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้อยากสงบ หัดทีแรกอยากสงบจะเครียด หรืออยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี จิตมันจะเครียด เพราะฉะนั้นเวลาเราทำกรรมฐาน จิตสงบก็รู้เอา จิตฟุ้งซ่านก็รู้เอา ไม่ใช่ทำแล้วจิตต้องสงบ อย่างเราหายใจ จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ รู้ไปเรื่อยๆ รู้ไปธรรมดา สุดท้ายเราก็เห็นธรรมดาของกาย ธรรมดาของใจ

 

รู้ไปธรรมดา สุดท้ายเราก็เห็นธรรมดาของกาย ธรรมดาของใจ

ธรรมดาของร่างกายก็คือมันไม่ใช่ตัวเราหรอก มันไม่เที่ยง มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ธรรมดาของจิตใจก็ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ดูไป พอเห็นธรรมดา เข้าใจธรรมดา ใจก็หมดความดิ้นรน ถ้าใจมันอยากเกินธรรมดา ใจมันก็ดิ้น ใจดิ้นรนไป ใจก็ทุกข์ ดิ้นก็คือความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งเกิดทีไรความทุกข์ก็เกิดทุกที กระทั่งไปปรุงแต่งความไม่ปรุงแต่งก็ทุกข์

อย่างพยายามแต่งจิตไม่ให้คิดอะไรอย่างนี้ อันนี้ไม่ใช่วิธี บางคนเขาสอนกรรมฐานกัน สอนไม่ให้คิด จิตมีหน้าที่คิด ไปห้ามมันทำไม จิตมีหน้าที่รู้ จะไปห้ามมันทำไม เราดูมันทำงานไปตามธรรมดาของมันล่ะ ไม่ต้องกลัวว่าจะโง่ ภาวนาซื่อๆ ไป รู้ซื่อๆ รู้อย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งมันก็แจ้งขึ้นมาเอง

บางคนก็พยายามทำจิตให้ว่าง ฝึกจิตให้ว่าง ไม่ให้คิดอะไรอย่างนี้ อันนั้นเรียกว่าอเนญชาภิสังขาร เป็นความปรุงแต่งอย่างหนึ่ง รากเหง้าของมันก็คืออวิชชานั่นล่ะ ทำไมต้องไปทำจิตให้ไม่คิด เพราะคิดว่าจิตคือตัวเรา อยากให้มันดี อยากให้มันสุข อยากให้มันสงบ ก็เลยไปทำให้มันไม่คิด เห็นไหมมันโง่ตั้งแต่เห็นว่าจิตเป็นเราแล้ว แล้วพยายามจะเข้าไปแทรกแซง เพราะฉะนั้นรู้ซื่อๆ เวลาไม่ซื่อมันจะเกิดอะไร มันจะเกิดความปรุงแต่ง บางทีก็ปรุงดี บางทีก็ปรุงชั่ว บางทีก็ปรุงความไม่ปรุง ทำใจว่างๆ อะไรอย่างนี้ ก็ความปรุงแต่งทั้งหมดล่ะ รากเหง้าก็อวิชชาอันเดียวกัน ฉะนั้นเราไม่ไปปรุงแต่งจิต ไม่ไปปรุงแต่งกายด้วย ดูมันไปอย่างที่มันเป็นนั่นล่ะ รู้ไปเรื่อยๆ ก็เห็นลมหายใจเป็นตัวไปปรุงแต่งกาย สัญญา เวทนาไปปรุงแต่งจิต ค่อยไปเห็นเอาเอง ง่ายๆ

กรรมฐานที่พวกเรารู้สึกยากเพราะเราพยายามทำ มีความโลภเป็นพื้นฐาน อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี อยากบรรลุมรรคผล พอมีความโลภเป็นพื้นฐานก็เริ่มบังคับกาย บังคับใจ ตื่นนอนมาก็คิดแล้ว วันนี้จะปฏิบัติแบบไหนดี แบบไหนถูก แบบไหนไม่ถูก คิดอุตลุดเลยว่าจะทำอย่างไรถึงจะถูก ทำอย่างไรมันจะไม่ผิดอีกอะไรอย่างนี้ อย่างนั้นฟุ้งซ่าน กลัวอะไรกับถูกหรือผิด ที่ผิด เราผิดมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ในสังสารวัฏผิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ผิดอีกนิดหน่อยจะเป็นไรไป

เพราะฉะนั้นจิตมันฟุ้งซ่าน รู้ว่ามันฟุ้งซ่าน ไม่ต้องพยายามทำให้มันสงบ จิตมันมีราคะรู้ว่ามันมีราคะ ไม่ต้องพยายามละราคะ จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ ไม่ต้องไปพยายามละโทสะ รู้ไป รู้ซื่อๆ รู้มันอย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ ถ้าสามารถรู้ซื่อๆ ได้ ไม่นานมันก็จะเห็นไตรลักษณ์หรอก จิตจะสุขหรือจิตจะทุกข์เราเลือกไม่ได้ จิตสุขก็ชั่วคราว จิตทุกข์ก็ชั่วคราว มันไม่เที่ยง จิตจะเป็นกุศลหรืออกุศล เราก็เลือกไม่ได้ บังคับไม่ได้ จิตเป็นกุศลก็อยู่ชั่วคราว จิตเป็นอกุศลก็อยู่ชั่วคราว จิตสงบก็ชั่วคราว จิตฟุ้งซ่านก็ชั่วคราว ดูให้เห็นอย่างนี้ ไม่ใช่ไปทำจิตให้ว่างๆ

หลวงพ่อเคยทำผิด ไม่ใช่อะไรหรอก ถึงพูดเต็มปากเต็มคำ ไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ท่านให้ดูจิต 3 เดือนแรกไปดูผิด ไปดูเพื่อให้จิตมันนิ่งๆ ว่างๆ ไม่คิด ไม่นึก แล้วบอกว่าดูจิต หลวงปู่ท่านฟันธงเลย ทำผิด เป็นการไปแทรกแซงอาการของจิต เราไปแทรกแซง ให้เรารู้อย่างที่มันเป็น รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น รู้อันไหนได้เอาอันนั้น

อย่างพวกเราเป็นพวกคิดมาก เราสังเกตสิ จิตเราทำงานทั้งวัน จิตขณะนี้สุข หรือจิตขณะนี้ทุกข์ รู้ได้ไหม หรือจิตขณะนี้เฉยๆ มันยากอะไรนักหนา มันไม่รู้เพราะไม่สนใจจะรู้ต่างหาก ถ้าสนใจจะรู้ไม่เห็นจะยากเลย จิตตอนนี้สุข หรือจิตตอนนี้ทุกข์ หรือจิตตอนนี้เฉยๆ ก็มีอยู่แค่นี้เอง หรือจิตตอนนี้โลภ จิตตอนนี้โกรธ จิตตอนนี้หลง จิตตอนนี้สงบ จิตตอนนี้ฟุ้งซ่าน จิตตอนนี้หดหู่อะไรอย่างนี้ จะยากอะไร มันรู้ได้ทุกคนล่ะ แต่คนทั่วไปมันละเลยที่จะรู้

อย่างเราเจอสาวงามสักคน จิตเรามีราคะ เราชอบ เราก็มัวแต่ชะเง้อมองสาว ไม่มองใจตัวเองที่กำลังชอบ เราเจอใครสักคนที่เป็นศัตรูเรา เราเกลียด พอใจเราเกลียด เราก็ไปดูคนที่เราเกลียด คอยจับสังเกต มันจะมาไม้ไหน มันจะทำอะไร คอยสนใจมัน เราละเลยที่จะรู้ว่าใจกำลังโกรธอยู่ ใจกำลังเกลียดอยู่ ฉะนั้นถ้าจะรู้ รู้ไม่ยาก แต่เราละเลยที่จะรู้ เพราะฉะนั้นการภาวนาไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย แค่ไม่ละเลยที่จะคอยสังเกตตัวเอง สังเกตกายหรือสังเกตจิตก็ได้ จิตเราสุข หรือจิตเราทุกข์ ก็รู้เอา จิตเราดี หรือจิตเราชั่วก็รู้เอา รู้ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่มุ่งเอาดี เอาสุข เอาสงบ

พอเรารู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปมันจะเห็นความจริง ตัวนั้นตัวปัญญา ปัญญาเป็นตัวเห็นความจริง ทีแรกเราเห็นตัวสภาวะก่อน จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ อันนี้เราเห็นตัวสภาวะ ต่อไปปัญญามันเห็นความจริงขึ้นมา จิตจะสุขหรือจิตจะทุกข์ จิตจะดีหรือจิตจะชั่ว เราสั่งไม่ได้ เราบังคับไม่ได้ เราควบคุมไม่ได้ จิตจะสุขหรือจิตจะทุกข์ จิตจะดี หรือจิตจะชั่ว ล้วนแต่ไม่เที่ยง สุขก็ไม่นาน ทุกข์ก็ไม่นาน ดีก็ไม่นาน ชั่วก็ไม่นาน เกิดดับเปลี่ยนแปลง นี่เป็นตัวปัญญาให้เห็นไตรลักษณ์

 

เบื้องต้นต้องตั้งใจฝึก เบื้องปลายทุกอย่างจะอัตโนมัติ

สติเป็นตัวเห็นสภาวะ เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม ปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ เป็นหน้าที่คนละอันกัน ปัญญาเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างสติกับสมาธิ สติมันรู้กาย สติมันรู้ใจ แต่ถ้าขณะที่สติรู้กายรู้ใจ จิตตั้งมั่นอยู่ จิตตั้งมั่นแล้วมีสติรู้กาย มันจะสามารถเห็นไตรลักษณ์ของกาย จิตตั้งมั่นแล้วสติระลึกรู้ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย มันก็จะเห็นไตรลักษณ์ของจิต ของความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ฉะนั้นตัวปัญญาอาศัยสติกับสมาธิที่ถูกต้อง

ในตำราจะสอนไว้ สัมมาสติเมื่อเจริญให้มากก็ทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ สัมมาสมาธิบริบูรณ์ก็ทำให้สัมมาญาณะ ตัวปัญญาของเราบริบูรณ์ขึ้นมา ปัญญาบริบูรณ์ขึ้นมา สัมมาวิมุตติก็เกิดขึ้น ฉะนั้นไม่มีใครทำจิตให้บรรลุมรรคผลได้ ทำวิมุตติให้เกิด ไม่มีใครทำได้ จิตบรรลุมรรคผลเอง เมื่อจิตมีปัญญาสมบูรณ์แล้ว ปัญญานี้เห็นไตรลักษณ์ จิตจะมีปัญญาได้เพราะอาศัยสมาธิ จิตตั้งมั่น เป็นคนรู้คนดู เป็นคนเห็น จิตจะตั้งมั่นได้ต้องอาศัยสติมาเกื้อกูล

ฉะนั้นเราฝึกกรรมฐานสักอย่างแล้วจิตมันหนีไปเรารู้ จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นอัตโนมัติ ตรงที่เรารู้ทันจิตที่ไหลนั่นล่ะ เรามีสติรู้ ทันทีที่เรามีสติรู้ สมาธิก็เกิด จิตก็จะตั้งมั่นอัตโนมัติ พอจิตตั้งมั่นได้ดีแล้ว สติระลึกรู้อะไรก็จะเห็นไตรลักษณ์ของสิ่งนั้น เป็นอัตโนมัติ นี่เป็นกระบวนการของมัน ต้องฝึก ทีแรกก็ฝึกสติไว้ให้ดีก่อน ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตเราไปทำอะไรเราคอยรู้ แต่ถ้าเราดูจิตไม่ได้ ไม่ต้องไปดิ้นรนที่จะดูจิต ดูกายเข้าไปเลย จิตมันหนีเก่ง ถ้าเราไม่ชำนาญ แป๊บเดียวมันหนีไปแล้ว มันหนีไปแล้วไม่ต้องไปเที่ยวตามหามัน รู้สึกลงในร่างกาย ร่างกายไม่เคยหนีไปไหนเลย เห็นร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ดูไปสักพักเดียวจิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาอีกแล้ว หรือเห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นสักพักหนึ่ง เห็นสบายๆ นั่นล่ะ เดี๋ยวจิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา อาศัยสติมาสร้างสมาธิ อาศัยสมาธิไปสร้างปัญญา ใช้สติสมาธิไปสร้างปัญญา แล้วปัญญานั่นล่ะจะทำให้จิตเราหลุดพ้นอัตโนมัติ

กระบวนการทั้งหมดเบื้องต้นต้องตั้งใจฝึก เบื้องปลายทุกอย่างจะอัตโนมัติ เบื้องต้นเราฝึกสติ เราก็ตั้งใจฝึกไป มีกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปแล้วจิตหนีไป เรารู้ ไปเพ่งอะไร เรารู้ รู้ทันจิตไปเรื่อยๆ สติเราก็จะดี หรือดูตรงนี้ไม่ออก ก็เห็นร่างกายหายใจออกก็รู้ ร่างกายหายใจเข้าก็รู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนก็รู้อะไรอย่างนี้ สติมันก็จะดีขึ้นๆ สติปัฏฐานทำให้สติเกิดในเบื้องต้น ทำให้ปัญญาเกิดในเบื้องปลาย ฉะนั้นเราทำสติปัฏฐาน รู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปไม่เจตนาจะรู้มันรู้ได้เอง ตรงนี้อัตโนมัติแล้ว

อย่างที่หลวงพ่อเล่าเมื่อกี้ ที่หลวงพ่อเห็นเพื่อนแล้วหลวงพ่อจะเดินไปทัก แค่เท้าเราเคลื่อน สติอัตโนมัติมันเกิด รู้เลยว่าเมื่อกี้หลงไปๆ พอรู้สึกปุ๊บจิตก็ตื่นขึ้นมาเลย สมาธิก็เกิดเลย จิตใจกลับมาตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ฉะนั้นสติที่ถูกต้องก็ทำให้สมาธิที่ถูกต้องเกิดขึ้น พอจิตมันตั้งมั่น สติระลึกรู้ลงไป มันก็จะเห็นเลย ตัวเราก็ว่างเปล่า เพื่อนเราก็ว่างเปล่า ถนนก็ว่างเปล่า ว่างเปล่าไม่ใช่แปลว่าถนนไม่มีรถ ก็มี แต่ว่าไม่มีอะไร ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกันหมด ทั้งธรรมภายใน ทั้งธรรมภายนอก ทั้งธรรมหยาบ ธรรมละเอียด ธรรมในที่ใกล้ ในใจเรา ธรรมในที่ไกล ข้างนอกอะไรอย่างนี้ เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ฉะนั้นเราต้องฝึกจนได้สติอัตโนมัติ

หัดรู้สภาวะไป แล้วจิตพรากออกจากสภาวะเมื่อไร หรือจิตไปเพ่งสภาวะเมื่อไร รู้เอา แล้วสติอัตโนมัติจะเกิดขึ้น แล้วทันทีที่สติอัตโนมัติเกิดขึ้น สมาธิอัตโนมัติก็จะเกิดขึ้น มันจะเกิดแถมเข้ามาทันทีเลย ฉะนั้นอย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิด เรารู้ว่าจิตหนีไปคิด เรียกสติเป็นคนรู้ หัดใหม่ๆ ตั้งนานกว่าจะรู้ทันว่าจิตหนีไปคิด เพราะสติไม่เกิด พอหัดดูไปเรื่อยๆๆ จิตหนีไปคิดแล้วรู้ๆ ทีแรก 3 วันถึงจะรู้ทีหนึ่ง ต่อมาวันหนึ่งก็รู้ได้ ต่อไปนาทีหนึ่งก็รู้ได้ ต่อไปขณะหนึ่งก็รู้ได้ จะเร็วขึ้นๆ สติมันจะอัตโนมัติ แล้วพอสติเกิดปุ๊บ สมาธิจะเกิด จิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติ

 

พัฒนาสติอัตโนมัติขึ้นมาด้วยการหัดรู้รูปรู้นาม

อย่างเรารู้ว่าจิตหลงไปคิด ทันทีที่รู้ว่าจิตหลงไปคิด เรียกว่าเรามีสติรู้ จิตก็หยุดการหลงคิด แล้วก็รู้ ตื่น เบิกบาน ตั้งมั่นขึ้นมา มีสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา พอเราฝึกให้ชำนิชำนาญ จิตทรงสมาธิ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ต่อไปสติระลึกรู้อะไร อันนั้นจะแสดงไตรลักษณ์ รู้กายก็เห็นกายไม่ใช่เรา รู้เวทนา เวทนาก็ไม่ใช่เรา รู้สังขาร สังขารก็ไม่ใช่เรา รู้จิตก็เห็นจิตเกิดดับอยู่ทางอายตนะทั้ง 6 ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่ใช่เราอีก ปัญญามันจะเกิดอย่างนี้ ถ้าจิตเราไม่มีสติ สมาธิที่ถูกต้องก็ไม่เกิด ปัญญาก็ไม่เกิด ถ้ามีสติถูกต้อง เป็นสติที่เราไม่ได้เจตนาให้เกิด สมาธิที่ถูกต้อง ที่เราไม่ได้เจตนาให้เกิด มันก็เกิด

ของที่ยังเจตนาให้เกิดยังเจือโลภเจตนาอยู่ เจือความโลภอยู่ ส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 100 ของคนปฏิบัติ ทำด้วยความโลภทั้งนั้น มันถึงไม่ได้มรรคได้ผลสักที เพราะอะไร เพราะกำลังบำรุงเลี้ยงกิเลสอยู่แต่ไม่เห็น ทำไมต้องอยากปฏิบัติ ทำไมต้องอยากดี ทำไมอยากให้จิตสงบ จิตสุข ก็เพราะเห็นว่ากายนี้ใจนี้คือตัวเราของเรา ก็รู้ซื่อๆ ไป แล้ววันหนึ่งก็ล้างความเห็นผิด กายไม่ใช่เรา จิตก็ไม่ใช่เรา เราไม่มี ค่อยเห็นเอง

เมื่อเราไม่มีก็ไม่มีที่ตั้งของความทุกข์แล้ว กายมันทุกข์ แต่ไม่ใช่เราทุกข์ เราตัวนี้เป็นเราโดยโวหาร มันไม่มีความรู้สึกเป็นเราหรอก แต่ว่าพูดเพื่อสื่อความหมาย กายมันทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ จิตมันทุกข์ก็ไม่ใช่เราทุกข์ กายไม่ใช่เรา จิตไม่ใช่เรา ไม่มีเราที่ไหนด้วย ค่อยฝึก ปัญญามันเกิด ปัญญาเกิด ปัญญาสมบูรณ์ วิมุตติก็จะเกิด เกิดมรรคเกิดผล เพราะฉะนั้นทำความเพียรไป ลดละกิเลส เจริญกุศลไปตามลำดับๆ ก็พัฒนาสติอัตโนมัติขึ้นมาด้วยการหัดรู้สภาวะ สิ่งที่เรียกว่าสภาวะก็คือรูปนาม รู้รูปรู้นามไป

 

“จิตคิดอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่เรารู้ว่าจิตมันไปคิด”

 

อย่างเมื่อ 2 – 3 วันนี้ก็มีคนมาถามหลวงพ่อว่า เขาภาวนา เขารู้ว่าจิตคิดเรื่องอะไร อันนี้เขาเจริญสติหรือเปล่า มีสติหรือเปล่า ไม่มี จิตจะคิดเรื่องอะไรไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญที่เราต้องรู้คือรู้ว่าจิตกำลังคิด คิดเรื่องอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่รู้ว่าจิตคิด จำประโยคนี้ให้ดี จิตคิดอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่เรารู้ว่าจิตมันไปคิด อย่างนี้ถึงจะใช้ได้ ถ้าเราไปรู้เรื่องที่คิด เรื่องราวที่คิดไม่ใช่รูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม ไม่ใช่สภาวธรรม เรื่องราวที่คิดเป็นอารมณ์บัญญัติ เป็นเรื่องที่มโนขึ้น มโน สมัยนี้เขาชอบเรียกมโน ไม่ได้มีจริง สิ่งที่มีจริงคือรูปธรรมนามธรรมนี้ต่างหาก

ฉะนั้นอย่างจิตเป็นนามธรรม เรารู้ว่าจิตคิดก็เท่ากับเรารู้เท่าทันนามธรรม แต่รู้เรื่องราวที่จิตคิด รู้อารมณ์บัญญัติ คิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ ไม่มีสาระหรอก เพราะจิตมันคิดทั้งวันอยู่แล้ว อันนี้ค่อยๆ สังเกต จิตคิดอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่รู้ว่าจิตคิด ฉะนั้นไม่ต้องกลัวโง่ รู้ซื่อๆ ไปเรื่อยๆ บางคน รู้สึกถ้าไม่คิดเดี๋ยวไม่เข้าใจ เข้าใจเป็นหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่หน้าที่ของเรา ถ้าปัญญามันเกิด มันก็เข้าใจเอง ไม่ต้องพยายามไปช่วยมันเข้าใจหรอก หัดมีสติ หัดมีสมาธิที่ถูกต้องไปเรื่อยๆ เดี๋ยวปัญญามันเกิดเอง มันเข้าใจเอง

ถ้าเราไปช่วยเมื่อไร ไม่ใช่วิปัสสนาปัญญาแล้ว เป็นปัญญาที่เจือการคิดทันทีเลย ปัญญาที่เจือการคิด กิเลสไม่กลัว กิเลสยังไม่กลัว ล้างกิเลสไม่ได้หรอก อย่างเราคิดเรื่องร่างกายเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะอะไรนี่ ก็ข่มราคะได้ชั่วคราว พอเลิกคิดเรื่องนี้ ไปคิดเรื่องสุภะแทน คนนั้นสวย คนนี้สวยอะไร เดี๋ยวราคะก็เกิดอีก มันไม่ได้ล้างจริงหรอก อันนั้นต้องเห็นสภาวะจริงๆ แล้วก็เห็นไตรลักษณ์ ค่อยรู้ค่อยดูไป เรื่องราวที่คิด ปัญญาที่เกิดจากคิดอะไรนี่ข่มกิเลสได้ แต่ล้างกิเลสไม่ได้ ได้แค่ข่ม อย่างจิตเรามีราคะ เราก็พิจารณาปฏิกูลอสุภะ เราข่มราคะได้ ถ้าเราไปมองผู้หญิงให้มันสวยขึ้นมาอีก ราคะมันก็เกิดอีก มันไม่ขาด ไม่เด็ดขาด

แต่ถ้าเรามองลงไป ทุกอย่างเกิดแล้วดับๆ สุดท้ายมันก็รู้สึกทุกอย่างมันว่างเปล่า มันเหมือนเรากำลังฝันอยู่ ฝันว่าเราเป็นคน ฝันว่าเราเป็นผู้หญิง ฝันว่าเราเป็นผู้ชาย ฝันว่าเราเด็ก ฝันว่าเราเป็นคนหนุ่มคนสาว ฝันว่าเราเป็นคนแก่ ฝันว่าเราจน ฝันว่าเรารวย ฝันว่าเราแข็งแรง ฝันว่าเราเป็นโรค ฝันว่าครอบครัวเราดี ฝันว่าครอบครัวเราร้าย ฝันว่างานการของเราดี ฝันว่างานของเราร้าย งานไม่ดีอะไรอย่างนี้ มันจะรู้สึกโลกมันเหมือนฝันอยู่ตลอดเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างมันเหมือนความฝันทั้งนั้นเลย เป็นมายาทั้งสิ้นเลย ใจมันก็หลุดออกจากโลก ไม่อิงอาศัยโลก ค่อยฝึกก็จะดีขึ้นๆ

 

 

คนมันทำชั่วได้เพราะมันคิดว่าตัวมันมีจริงๆ อย่างโกงเขาหวังว่าจะรวยเยอะๆ รวยไม่มีที่สิ้นสุดอะไรอย่างนี้ มันไม่เข้าใจธรรมะ ไม่รู้ว่าตัวเราไม่ได้มีจริงหรอก มันว่างเปล่า แต่คิดว่าตัวเรามีก็เลยต้องสนองกิเลสมากมาย พอมีความโลภมากมายก็เริ่มไปเบียดเบียนกระทบกระทั่งคนอื่น เพราะผลประโยชน์ในทางโลกมีข้อจำกัด มันมีจำกัด เราจะเอามาก มันก็ไปดึงมาจากคนอื่น ไม่เหมือนผลประโยชน์ในทางธรรม มีไม่จำกัด ใครทำคนนั้นได้ ไม่ได้ไปแย่งของคนอื่นมา

ในทางโลกเราอยากมีทองคำเยอะๆ อย่างนี้ ทองคำในโลกมันมีจำกัด ก็เหมือนเราไปดึงทองคำมาจากคนอื่น เราถึงจะมีเยอะ ของในโลกมันจำกัด แต่ในธรรมะไม่มีจำกัดหรอก เราจะพัฒนาอกุศลของเราเท่าไรก็ทำได้ เราจะพัฒนากุศลของเราเท่าไรก็ทำได้ ไม่ได้ไปแย่งชิงกุศลหรืออกุศลของคนอื่นมาเลย แต่ทางโลกนี้มันแย่งกัน จีบสาวยังต้องแย่งกันเลย หรือจีบหนุ่มก็ต้องแย่งกัน คนไหนที่มีคนแย่งเยอะ เราก็อยากแย่งด้วยอะไรอย่างนี้ คนไหนไม่มีใครสนใจ เราก็ไม่สนใจด้วย ส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้นเลยหาแฟนไม่ได้เสียที เพราะมันไปแย่งของที่คนอื่นเขาอยากแย่ง ของที่เขาไม่สนใจก็ไม่เอา รู้สึกไม่ดี

ฉะนั้นในทางโลกข้อจำกัดเยอะ ความทุกข์เยอะ ความอยากไม่มีวันเต็มไม่มีวันอิ่ม ในทางธรรมะมันเต็มมันอิ่ม ค่อยภาวนา มันอิ่ม มันอิ่มจริงๆ ใจเราอิ่มเอิบ เบิกบาน มีความสุข มีความสงบ ไม่มีอะไรเหมือนเลย สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี สุขของโลกไม่ใช่สุขสงบ ในโลกไม่เคยสงบ ลองดูสิ โลกมันเคยสงบไหม มีความวุ่นวายเกิดขึ้นทุกวันในโลกนี้ รอบตัวเราบ้างห่างตัวเราบ้าง มีแต่วุ่นวาย โลกไม่เคยสงบ

ถ้าเราวุ่นวายอยู่กับโลก เราก็ไม่สงบ พยายามยุ่งกับโลกเท่าที่จำเป็น ให้เวลาในการเจริญสติ รู้กายรู้ใจของตัวเองไปมากๆ แล้วใจเราจะเข้าถึงความสุขความสงบมากขึ้นๆ เป็นลำดับไป แล้วมันจะเต็ม มันจะอิ่ม ความสุขในโลกไม่เคยอิ่มหรอก ได้อันนี้ก็อยากได้อันโน้น ได้อันโน้นก็อยากได้อันโน้นต่อไปอีก ไม่รู้จักเต็ม ไม่รู้จักอิ่มหรอก

 

หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
17 กรกฎาคม 2565