เจริญพร เช้าๆ วันอาทิตย์มาฟังธรรมก็ดี ได้มีแรงเอาไว้สู้กิเลสอีกหลายวัน ธรรมะเป็นของร่มเย็น โลกมันเร่าร้อน เราฝึกปฏิบัติกันไป จิตใจเราร่มเย็นเป็นสุข โลกข้างนอกเราแก้มันไม่ได้ มันวุ่นวายอย่างนี้ ธรรมดาของโลก เรามาฝึกจิตใจของเราเอง ให้อยู่กับโลกได้โดยที่เราไม่ร้อนตามมันไปด้วย ธรรมะเป็นของร่มเย็น เสียดายชาวพุทธเราส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจธรรมะ เป็นพุทธแต่ชื่อ ไม่เคยลิ้มรสเลยว่ารสของธรรมะนั้นวิเศษแค่ไหน เราไปตามวัดตามอะไรอย่างนี้ เห็นพากันไหว้พวกเทวรูปพวกสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกพระพุทธศาสนา ไหว้ต้นตะเคียนไหว้อะไรอย่างนี้ตามวัดเยอะแยะ
วัดที่สอนกรรมฐานจริงๆ คนก็ไม่ค่อยเข้า คนก็ชอบเข้าวัดแบบนั้น มันพอดีกัน พอดีกับสภาพจิตใจ คนที่จะสนใจธรรมะก็ต้องมีบุญมีบารมีสะสมมามากพอ คนส่วนใหญ่อินทรีย์ก็ยังอ่อน เขาก็ต้องการที่พึ่งแบบโลกๆ ไป ทำแล้วเฮง ทำแล้วรวย ทำแล้วได้ผลประโยชน์ มุ่งไปที่ตรงนั้น ถามว่ามันมีประโยชน์ไหม มันก็มีนะ แต่ประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่สูงสุดที่พระพุทธศาสนาจะให้ได้ คนกลับไม่ค่อยเข้าใจไม่ค่อยสนใจ
อยากมีสติในชีวิตประจำวัน
ต้องหัดอ่านใจตัวเองให้ออก
ฉะนั้นเราต้องลงมือศึกษาปฏิบัติให้จริงจัง อย่าทำเป็นเล่น เวลาของแต่ละคนมีไม่มาก เวลาของเราหมดไปทุกวันๆ ครูบาอาจารย์ก็ร่อยหรอลงทุกทีแล้ว เมื่อ 40 กว่าปี 50 ปีก่อน สมัยหลวงพ่อออกศึกษาธรรมะ ครูบาอาจารย์ที่ดีๆ ยังมีเยอะ ยิ่งทางอีสานมีครูบาอาจารย์ดีๆ เต็มไปหมดเลย ถนนสายเดียวนี่วิ่งไปสักพักหนึ่งก็เจอ วัดนี้องค์นี้อยู่ วัดนี้องค์นี้อยู่ เดี๋ยวนี้พอผ่านไป วัดนี้องค์นี้เคยอยู่ ที่วัดนี้องค์นี้ก็เคยอยู่ มีแต่คำว่าเคยอยู่ ท่านไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว
สมัยก่อนหลวงพ่อเลยชอบวันหยุด จะออกไปทางอีสานหรือไม่ก็ขึ้นไปทางเหนือ ไปหาครูบาอาจารย์ทางเชียงใหม่เชียงราย ส่วนใหญ่จะไปทางอีสานครูบาอาจารย์เยอะ ไปแล้วมันมีความสุข ไปกินข้าววัด ไปภาวนาอยู่ในวัด ไปนอนอยู่ในวัด อาหารที่กินก็อาหารชาวบ้านธรรมดา น้ำพริกกับผักอะไรอย่างนี้ กินอาหารอย่างนั้นจริงๆ เราไม่ค่อยคุ้นเคย เราคนเมือง แต่เราไปอยู่อย่างนั้นเรารู้สึกมันไม่มีภาระทางใจ ใจมันสบาย นอนมีกุฏิก็นอน ไม่มีก็ไปผูกกลดอยู่ใต้ต้นไม้ ผ่านเวลากลางคืนออกมาเดินจงกรมใต้แสงเดือนแสงดาว สงบวิเวก มีป่ามีเขา กลางคืนก็มีสัตว์ร้อง มีนกมีแมลงร้อง มันไม่ยั่วกิเลสเรา เราก็ภาวนาร่มเย็นเป็นสุข นี่ฝึกตัวเองมาทุกวัน อยู่ง่าย กินง่าย นอนง่าย แล้วเวลาส่วนใหญ่เอาไว้เจริญสติ ถึงเวลาก็นั่งสมาธิเดินจงกรมไหว้พระสวดมนต์ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน
การเจริญสติในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องสำคัญมากเลย หลวงปู่มั่นท่านเคยสอน หลวงพ่อไม่ทันท่าน แต่ว่าครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ท่านเคยเล่าให้ฟัง อย่างท่านสอนบอกว่าทำสมาธิมากเนิ่นช้า คิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน หัวใจอยู่ตรงนี้ เก่งเฉพาะตอนนั่งสมาธิตอนเดินจงกรมไม่ได้กินหรอก วันหนึ่งจะนั่งเท่าไรจะเดินเท่าไร เวลาส่วนใหญ่ถ้าภาวนาไม่เป็น โอกาสจะได้มรรคผลนิพพานยากเหลือเกิน
หลวงพ่อภาวนาเจริญสติเป็นหลักเลย บางช่วงยังพลาดพลั้งไม่ยอมทำสมาธิ รู้สึกเสียเวลา ขี้เกียจทำสมาธิ พอหลายๆ วันเข้ากำลังสมาธิไม่พอ เดินปัญญาไม่ได้จริง เพราะฉะนั้นสมาธิก็ต้องทำ เวลาส่วนใหญ่ของหลวงพ่อใช้การเจริญสติในชีวิตประจำวัน เพราะหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนหลวงพ่อมาให้อ่านจิตตนเอง การเจริญสติในชีวิตประจำวันกับการอ่านจิตตนเอง มันมารวมเข้าด้วยกันได้ เราสามารถปฏิบัติในชีวิตธรรมดานี่ล่ะ
เมื่อตาเห็นรูปเกิดความรู้สึกแปลกปลอมขึ้นในใจเรา ทีแรกใจเราเฉยๆ พอตาเราเห็นดอกไม้สวยงาม ใจเราเกิดความชอบขึ้นมา ใจเรามีความเปลี่ยนแปลงแล้ว เรามีสติรู้ทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในใจเรา เวลาหูเราได้ยินเสียงเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในใจเรา อย่างมีเสียงคนมาด่าเรา จิตใจเราเกิดโทสะขึ้นมา เรามีสติรู้ทัน จมูกได้กลิ่น ได้กลิ่นหอมใจเราชอบ หรือบางทีได้กลิ่นหอมแล้วใจเราเกิดสงสัย นี่กลิ่นอะไร กลิ่นดอกไม้อะไร พอความสงสัยเกิดขึ้นหลวงพ่อไม่ได้ไปดูดอกไม้ หลวงพ่อดูลงไปที่จิตใจตัวเอง จิตสงสัย เราก็เห็นความสงสัยเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป บางทีได้กลิ่นอย่างนี้เหม็น ใจรำคาญ ใจไม่ชอบ รู้ลงไปที่ใจที่ไม่ชอบ
การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หลักการง่ายๆ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็กระทบสัมผัส มีใจก็คิดนึกไปตามธรรมชาติธรรมดา ไม่ห้าม ใจเราจะคิดดีคิดร้ายอะไร ห้ามได้ที่ไหน จิตมันเป็นอนัตตา บางทีเราอยากคิดแต่เรื่องดีๆ อ้าว มันกลายไปคิดเรื่องชั่วๆ คิดเรื่องกิเลสตัณหาอะไร ทีนี้พอใจมันคิดไปในทางไม่ดี อกุศลเกิด จิตเรามีน้ำหนักขึ้นมา จิตเราเศร้าหมองอึดอัดขัดข้อง เรามีสติรู้ทันจิต โอ้ ตอนนี้จิตเราเศร้าหมองแล้ว หรือเวลาที่จิตเราเป็นกุศล เรามีสติรู้ลงไป
อย่างเวลาเห็นครูบาอาจารย์ บางทีจิตเรามีปีติ ดีใจได้เห็นครูบาอาจารย์มีปีติ เราแทนที่จะไปดูแค่ครูบาอาจารย์ เราก็เห็นจิตใจมีปีติขึ้นมา จิตใจฟังธรรมไป จิตใจเรามีความสุข ไม่ได้มัวแต่นั่งฟังเพลินๆ ไป จิตใจเรามีความสุข รู้ว่ามีความสุข นี่การปฏิบัติจริงๆ สำคัญมากเลยนะตรงนี้ แล้วส่วนใหญ่ก็ละเลยกัน ไม่สนใจ แล้วกำหนดอะไรต่ออะไรสอนอะไรกันแปลกๆ ไป ละเลยการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ซึ่งหลวงปู่มั่นบอกหัวใจของการปฏิบัติเลย การมีสติในชีวิตประจำวัน
ฉะนั้นถ้าเราอยากมีสติในชีวิตประจำวัน เราต้องฝึกตัวเอง หัดอ่านใจตัวเองให้ออก ตาเราเห็นรูปเกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิตใจ อย่างเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล เกิดอกุศล ให้เรามีสติรู้ อย่างเราเห็นผู้หญิงสวยๆ จิตเรามีราคะขึ้นมา ให้มีสติรู้ ไม่ใช่จำเป็นว่าต้องทำเฉยๆ เห็นผู้หญิงสวยๆ ก็กดจิตไว้ เพ่งๆๆ ลงไป ไม่ให้มีความรู้สึกขึ้นมา นั่นไม่ใช่การเจริญสติในชีวิตประจำวัน แต่เป็นการเพ่ง เพ่งอยู่ในชีวิตจริงๆ เลย เพ่งมากๆ ใจก็จะแข็งทื่อๆ ไป เหมือนอย่างพระองค์นี้ ใจก็ทื่อๆ ไป ไปเพ่งเอา
จิตใจเราเป็นอย่างไร คอยรู้ไปอย่างที่มันเป็น
ฉะนั้นเราต้องฝึกหัดอ่านความรู้สึกตัวเอง ตากระทบรูป เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล เกิดอกุศล ให้มีสติรู้ทัน หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศล ให้มีสติรู้ทัน เกิดที่ไหน เกิดที่ใจเรา ถ้าจิตเราคิด เราเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศล ให้มีสติรู้ทัน มันยากไหมที่จะรู้ ไม่ยาก แต่ละเลยที่จะรู้ อย่างเราขับรถอยู่คนมาปาดหน้าเรา ขับรถปาดหน้าเรา เราโกรธ คนที่ไม่ได้ปฏิบัติจะไปมองรถที่ปาดเรา เดี๋ยวจะไปเอาคืน ส่วนเรานักปฏิบัติเจริญสติในชีวิตประจำวัน คนเขาขับรถปาดหน้าเรา เราโกรธ เราเห็นความโกรธเกิดขึ้นที่จิตใจเรา นี่อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าใช้ได้ ลำพังคนปาดหน้าเราแล้วเราก็ไปมองเขาเรียกว่าหลง หลงไปดู เกิดพยาบาทวิตก คิดจะเอาคืน นี่พยาบาทวิตก
ฉะนั้นการภาวนาจะว่ายาก มันไม่ยากเลย เราไม่ได้บังคับตัวเอง กดข่มตัวเอง จิตใจเราเป็นอย่างไร เราก็คอยรู้ไปอย่างที่มันเป็น ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย แต่จะว่าง่ายมันก็ไม่ง่าย เพราะเราไม่เคยชินที่จะรู้ใจตัวเอง มันยากเพราะเราไม่เคยชินที่จะรู้เท่านั้นล่ะ ถ้าหัดฝึกจนเคยชินที่จะรู้ การจะอ่านใจตัวเองไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปเลย
หลวงพ่อไม่ได้ฝึกอะไรมากมาย ตอนเด็กๆ ก็ทำสมาธิก็ได้แต่ความสงบ ก็ออกรู้โน้นรู้นี้ไปเรื่อยๆ หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้ มาเจอหลวงปู่ดูลย์ท่านบอกให้อ่านจิตตัวเอง หลวงพ่อก็ตามรู้ตามเห็นจิตใจ นี่วิธีอ่านจิตตัวเอง ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก ไม่ใช่ไปนั่งจ้องอยู่ที่จิต นั่งเฝ้าจิตดูว่าเมื่อไรจะมีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจเรา นั่งเฝ้าอยู่อย่างนี้ อันนั้นไม่ใช่ ใช้ไม่ได้เลย เมื่อไรเราจงใจไปนั่งเฝ้าเอา จิตจะนิ่งๆ ทื่อๆ แข็งๆ ไป ไม่มีอะไรให้ดูหรอก
ฉะนั้นอย่าไปดักดู ให้ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ แล้วก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาก่อน แล้วค่อยรู้ว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร อย่าไปดักดูไว้ก่อน ถ้าไปดักดูไปรอดู มันจะนิ่งๆ ไม่มีอะไรให้ดูหรอก อันนั้นไม่ใช่การอ่านจิตตนเองแล้ว แต่เป็นการบังคับจิตตนเองให้มันนิ่งๆ ไป ต้องฝึกนะต้องฝึก ถ้าอ่านจิตตัวเองจนชำนาญ เราจะรู้เลยการปฏิบัติไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว เพราะเราได้สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการปฏิบัติแล้ว คือเรารู้จักจิตตัวเอง การปฏิบัติธรรมจริงๆ ก็คือการฝึกจิตนั่นล่ะ ไม่ได้ฝึกกาย
อย่างจะเดินจงกรม บางคนฝึกกายต้องเดินท่านั้นต้องเดินท่านี้ แล้วจริงๆ แล้วมันไม่ใช่หรอก เราไม่ได้ฝึกโยธวาทิต จะเดินอย่างนั้นอย่างนี้ให้สวยงาม ไม่จำเป็นหรอก เคยเดินท่าไหนก็เดินท่านั้นล่ะ แต่ว่าจุดสำคัญหัวใจจริงๆ คือจิตของเรานั่นเอง พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่มั่นท่านก็สอน ได้จิตก็ได้ธรรมะ ไม่ได้จิตไม่ได้ธรรมะหรอก ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ธรรมะเกิดที่จิต ธรรมะมีอะไรบ้าง อกุศลธรรม รู้จักเคยได้ยินไหม เกิดที่ไหน เกิดที่มือที่เท้าที่ท้องหรือเปล่า ไม่ได้เกิด อกุศลธรรมเกิดที่จิต กุศลธรรมล่ะเกิดที่ไหน ไม่ได้เกิดที่มือที่เท้าที่ท้อง ไม่ได้เกิดที่ลมหายใจ เกิดที่จิต มรรคผลล่ะ มรรคผลก็เกิดที่จิต มรรคผลไม่ได้ไปเกิดที่ต้นไม้ที่ภูเขาที่แม่น้ำหรือที่ร่างกาย มรรคผลก็เกิดขึ้นที่จิต
ถ้าเราเฝ้ารู้เฝ้าดูไป รักษาจิต มีสติรักษาจิต ดูจิตไป ดูแลจิตไป จิตเป็นอย่างไรก็ช่างมันเถอะ แต่รู้อย่างที่มันเป็นให้ได้เท่านั้นล่ะ แล้วเราจะพบว่าความรู้สึกของเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเลย เวลาตาเราเห็นรูปความรู้สึกก็เปลี่ยน หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด ความรู้สึกก็เปลี่ยนในจิตใจนี้ สังเกตไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าต้องดี
ภาวนาให้เห็นความจริงว่า
จิตใจของเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ชั่วหรือดี ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งท่านเคยพูด ชั่วหรือดีก็อัปรีย์พอกัน อัปรีย์ไม่ใช่คำหยาบคาย อัปรีย์ตัวนี้เป็นภาษาบาลี “อัปปิยะ” คือไม่น่ารัก ไม่น่าหวงแหน เหมือนๆ กันล่ะ ความชั่วเกิดขึ้นก็อย่าไปรักมัน ความดีเกิดขึ้นก็อย่าไปหลงมัน นี่ท่านสอนถึงขนาดนี้นะ แต่ว่าอันนี้เป็นคำสอนในขั้นการเจริญปัญญา ในขั้นจริยธรรมชั่วกับดีไม่เท่ากัน ชั่วนะอัปรีย์จริง ดีไม่อัปรีย์ ดีๆ ดีก็ปิยะ น่ารัก แต่ในขั้นเจริญปัญญาเราไม่ได้ภาวนาเอาดี เพราะดีก็ไม่เที่ยง เราไม่ได้ภาวนาเอาความสุข เพราะความสุขก็ไม่เที่ยง เราไม่ได้ภาวนาเอาความสงบ เพราะความสงบไม่เที่ยง
เราภาวนาให้เห็นความจริงว่าจิตใจของเรานี่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล ตกอยู่ใต้คำว่าไตรลักษณ์ตลอดเวลา เวลาเราดูจิตดูใจนี่สามัญลักษณะคือลักษณะร่วมของสิ่งที่เป็นความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง หรือเรียกว่าไตรลักษณ์นี่จริงๆ ชื่อจริงๆ ของมันคือสามัญลักษณะ ลักษณะร่วมของสิ่งที่เป็นความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม มี 3 อย่าง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยงก็คือของเคยมีแล้วมันไม่มี ของไม่มีแล้วมันก็มี มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ คือมันถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา อย่างความสุขเกิดขึ้น ความสุขก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย บางทีหลายคนเจอหลวงพ่อ คุยกับหลวงพ่อเลยเกิดปีติ ปีติถ้าเรามีสติรู้ลงไป เราก็เห็นปีติถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ค่อยๆ กร่อนๆๆ ลงไปแล้วก็หายไป แล้วมันก็เป็นอนัตตา จิตเราจะสุขหรือจะทุกข์ จะดีหรือจะชั่ว เราสั่งไม่ได้ เลือกไม่ได้ นี่คือความจริง
สามัญลักษณะ ลักษณะร่วมของสิ่งที่เป็นสังขารทั้งหลาย ก็คือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลายล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งหมด มีสิ่งเดียวที่พ้นจากไตรลักษณ์ไปคือพระนิพพาน นิพพานไม่มีความเกิด เมื่อนิพพานไม่มีความเกิด นิพพานก็ไม่มีความเก่า ไม่มีความตาย ไม่มีความดับ ของนอกนั้นจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม จะเป็นกุศลหรืออกุศล เกิดแล้วดับทั้งสิ้น
เรามีสติตามอ่านความเป็นจริงในจิตในใจของเราเรื่อยๆ ไป แล้ววันหนึ่งเราก็จะเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ของเรา อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับสลายไป นี่ดูไปเรื่อยๆ หลวงพ่อใช้เวลาตรงนี้ หลวงปู่ดูลย์บอกให้อ่านจิตตนเอง หลวงพ่อใช้เวลา 7 เดือนในการอ่านจิตตนเอง แต่ 7 เดือนนี้อ่านผิดไป 3 เดือน อ่านผิดอย่างไร ก็พยายามบังคับจิตให้นิ่ง ไม่ให้จิตคิดนึกปรุงแต่ง ทำได้ไหม ก็ทำได้ ทำสมาธิไป จิตก็ว่างๆ นิ่งๆ สบาย แล้วไปหาหลวงปู่บอกผมดูจิตได้แล้ว
หลวงปู่ถามจิตเป็นอย่างไร บอก โอ้ย จิตมันวิจิตรพิสดาร มันปรุงแต่งได้สารพัดเลย แต่ผมสามารถทำให้มันสงบไม่ปรุงแต่ง ว่างๆ อยู่อย่างนั้น หลวงปู่บอกว่าให้ไปอ่านจิต ไม่ใช่ให้ไปปรุงแต่งจิต ทำผิดแล้ว ไปทำใหม่ นี่ท่านสอนอย่างนี้ หลวงพ่อก็เลยมาทำใหม่ ก็คือมาอ่านจิตตนเองจริงๆ อ่านอย่างไร ก็อ่านอย่างที่เล่าให้ฟังนี่ล่ะ ไม่ได้อ่านแบบพิสดารอะไรทั้งสิ้นเลย อ่านซื่อๆ อ่านสบายๆ นี่ล่ะ อย่างขณะนี้พวกเราฟังหลวงพ่อเทศน์ ลองนึกซิใจเราสุขหรือทุกข์ รู้ไหม รู้ได้ไหมว่าตอนนี้ใจสุขหรือทุกข์ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย
หรืออย่างร่างกายถ้าบางคนดูกาย รู้ไหมร่างกายกำลังนั่งอยู่ ยากไหมที่จะรู้ร่างกายกำลังนั่งอยู่ ถ้ายากก็เพี้ยนแล้ว ไปหาจิตแพทย์ได้เลย นี่ธรรมะจริงๆ เปิดเผยเรียบง่ายตรงไปตรงมาที่สุดเลย ร่างกายหายใจออกร่างกายหายใจเข้ารู้ได้ไหม ต้องทำจิตให้นิ่งก่อนแล้วถึงจะรู้ไหม ไม่ต้อง รู้เฉยๆ การรู้จิตรู้ใจก็รู้แบบเดียวกัน รู้เหมือนที่รู้ร่างกายมันยืนเดินนั่งนอน ร่างกายหายใจออกหายใจเข้านี่ล่ะ รู้เฉยๆ รู้อย่างที่มันเป็น
ตอนนี้ใจเราสุขหรือทุกข์รู้ได้ไหม ตอนนี้ใจเรางงไหม บางคนงง เอะ มันสุขหรือมันทุกข์ หลายคนนะ บางคนบอกไม่งง แต่ว่าอ่านใจไม่ออก ขณะที่บอกไม่งงเลย กำลังหลงอยู่ หลงไปที่อื่นแล้ว ไม่ได้อ่านใจตัวเองแล้ว จิตใจเป็นของละเอียด เป็นของที่ว่องไวที่สุดเลย เราต้องพัฒนาสติของเราให้ไวขึ้นมาเพื่อจะอ่านมันให้ท่าน ไม่ใช่ไปหน่วงความรู้สึกทางใจให้ช้าลง เพื่อสติที่ช้าๆ จะได้อ่านทัน อย่าไปดัดแปลงมัน เหมือนอย่างบางคนเดินจงกรมเดินให้ช้าๆ สติจะได้ตามทัน เดินช้าๆ จิตหนีไปสร้างภพสร้างชาติสร้างทุกข์ไม่รู้กี่ร้อยรอบแล้ว กว่าจะเดินได้แถวตลอดแนวนี่ เพราะฉะนั้นกิเลสมันไม่ช้าด้วยหรอก ถึงเราแกล้งเดินให้ช้ากิเลสมันไม่ช้าด้วย
จิตนี้ก็เหมือนกัน ไม่ต้องไปแกล้งทำให้ช้าๆ เอ๋อๆ นิ่งๆ เงียบๆ อะไรอย่างนี้ กิเลสมันไม่ช้าด้วย เพราะฉะนั้นมันเป็นอย่างไรรู้อย่างที่มันเป็นให้ได้ หลวงพ่อฝึกดูอ่านจิตตัวเองได้จริงๆ 4 เดือนเท่านั้น หลวงพ่อก็เข้าใจจิตแล้ว จิตมีธรรมชาติที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของมันไป คราวนี้ไปส่งการบ้านกับหลวงปู่ หลวงปู่บอกว่าอย่างนี้ช่วยตัวเองได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียนที่ไหนแล้ว เรียนที่จิตใจตัวเองนี่ไปได้เอาตัวรอดแล้ว ท่านสอน
ฝึกอ่านใจตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
มีพระมาถามหลวงพ่อ อันนี้อีกวัดหนึ่งอยู่กับครูบาอาจารย์เหมือนกัน พระอุปัฏฐากท่านได้ยินหลวงพ่อส่งการบ้านกับหลวงปู่ครูบาอาจารย์ แล้วหลวงพ่อออกจากหลวงปู่มา หลวงปู่ก็ชมหลวงพ่อใหญ่ พระอุปัฏฐากท่านก็ฟัง ตอนเย็นไปเจอท่าน ท่านก็มาถามหลวงพ่อว่าโยมๆ เป็นฆราวาสแท้ๆ เลย โยมภาวนาอย่างไร โยมทำปีหนึ่ง พระทำ 10 ปี 20 ปี ยังไม่ได้อย่างนี้เลย ท่านถามซื่อๆ เลย บอกพระทำ 10 ปี 20 ปี ยังไม่ได้อย่างที่โยมทำปีหนึ่ง หลวงพ่อก็บอกท่านผมทำทั้งวัน ท่านก็งง ทำทั้งวันแล้วไม่ทำมาหากินหรือ
ตอนนั้นรับราชการ แล้วทำอย่างไรทำทั้งวัน เจริญสติในชีวิตประจำวันนั่นล่ะ เวลาเรามีหน้าที่การงานเราต้องทำงาน สติจดจ่ออยู่กับงาน สมาธิจดจ่ออยู่กับงาน ปัญญาคิดเรื่องงาน อันนั้นไม่ใช่เวลาปฏิบัติ แต่เป็นเวลาทำงาน เวลานอกเหนือจากเวลาที่ทำงานกับเวลาทำงานที่ใช้ความคิด แต่ถ้าทำงานที่ใช้ร่างกายปฏิบัติได้ตลอดเลย อย่างที่สุรินทร์เมื่อก่อนเห็นมีสามล้อถีบเยอะเลย คนถีบสามล้อเข้าใจธรรมะก็มี เขาเก่ง เขาถีบสามล้อไปเขาก็อ่านจิตใจตัวเองไปอ่านร่างกายตัวเองไปเรื่อยๆ
แม่ค้าขายผักอยู่ในตลาดก็ภาวนาดี หน้าใสปิ๊งเลย สว่างสดใส รู้เนื้อรู้ตัว จิตใจกิเลสเบาบาง นี่เขาภาวนาได้อย่างไร เขาไม่มีเวลามานั่งสมาธิทั้งวันหรอก ไม่มีเวลามาเดินจงกรม นั่งขายผัก เขาทำด้วยการเจริญสติ มีสติรู้สึกกายมีสติรู้สึกใจตัวเองไป นั่งขายผักคนมาซื้อ ดีใจรู้ว่าดีใจ ขายตั้งนานแล้วไม่มีใครมาซื้อเลย ผักชักจะเหี่ยวแล้ว เมืองสุรินทร์หน้าร้อนๆ ร้อนจัดเลย ผักนี้ชักจะเหี่ยวพอๆ กับคนขายแล้ว คนขายแก่งั่ก แต่คนขายผ่องใส ผักก็เหี่ยวไปแต่คนขายผักผ่องใส เขาก็เห็นผักมันเหี่ยวก็เรื่องธรรมชาติ ใจของเขากังวลว่าขายไม่ออกเดี๋ยววันนี้ขาดทุน เขาเห็นว่าใจกังวล ใจของเขาก็ได้ทรัพย์สมบัติที่วิเศษไป ได้อริยทรัพย์ ทรัพย์ทางโลกไม่ค่อยมี
อย่างคนสุรินทร์ยุคก่อนสมัยหลายสิบปีก่อนจนมาก จนแต่เขามีอริยทรัพย์กัน เขามีทาน เขามีศีล เขามีสติ เขามีสมาธิ เขาขยันศึกษาทางธรรม สงสัยเขาไต่ถามครูบาอาจารย์ ชีวิตเขาวนเวียนอยู่อย่างนี้ เขาภาวนาดี แต่รุ่นหลังนี่หมดแล้ว ไปดู ก็กลายเป็นเหมือนคนกรุงเทพฯหมดแล้ว พวกหลงโลกทั้งนั้นล่ะ ไปไหนก็เจอแต่พวกหลงโลก
หลวงพ่อภาวนาก็ทำอย่างนี้ล่ะ ตกเย็นตกค่ำก็นั่งสมาธินิดหน่อย เดินจงกรมไม่ค่อยได้เดิน เพราะที่บ้านเป็นบ้านโบราณบ้านไม้ เวลาเดินดังเอี๊ยดๆๆ หนวกหูคนที่อยู่ในบ้านเดียวกัน เขารำคาญ หลวงพ่อก็ใช้วิธีนั่งเอา ฝึกตัวเอง ที่จะฝึกอ่านใจตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนจะนอนก็กินน้ำเยอะๆ กินน้ำมากๆ เพื่ออะไร ปวดฉี่จะได้ตื่น พอตื่นมา มาฉี่เสร็จแล้วก็กินน้ำอีกละ แล้วก็ไปนั่งสมาธิ ถ้าจิตยังมืดมัวอยู่จะไม่นอน ถ้านั่งแล้วจิตไม่ผ่องใสมัวๆ ถูกโมหะครอบ จะไม่นอนต่อ ฝึกตัวเองเข้มงวด
ฝึกไปๆ จนกระทั่งกิเลสมันก็ฉลาด พอเราตื่นปุ๊บ สว่าง ใจเราสว่างผ่องใส อ้าว นอนได้แล้ว กิเลสมันเก่งนะ แหม่มันหลอกเราได้สารพัด กว่าจะรู้ทันมัน เออ สว่างก็ดีแล้วนี่ นั่งต่อเลย นี่ฝึกตัวเองอย่างนี้ ฝึกไป อยากได้ของดีก็ต้องอดทน แต่ต้องอดทนให้ถูกทางถูกหลัก อดทนไม่ถูกหลักก็เหนื่อยเปล่า นักปฏิบัติที่ทำผิดมี 2 อัน กามสุขัลลิกานุโยคกับอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยคก็หลง หลงตามกิเลสไป อัตตกิลมถานุโยคก็คือทำตัวเองให้ลำบาก บังคับกายบังคับใจตัวเอง
เหมือนอย่างพระองค์นี้ท่านสงสัย ท่านจะมาถามหลวงพ่อ อยากถามหลวงพ่อภาวนาตั้งนาน ทำไมไม่เจริญ ท่านติดเพ่งอยู่ ให้ใจนิ่งๆ แต่ตอนนี้ใจท่านไม่เหมือนอย่างเมื่อกี้แล้ว ตอนนั่งฟังใหม่ๆ ใจท่านแน่นอึ้ด แต่ตอนนี้ใจท่านคลายออกแล้ว รู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา อย่างนี้ถึงจะภาวนาได้ ถ้านั่งเพ่งอยู่ กี่ปีมันก็อยู่แค่นั้นล่ะ ไม่มีความเจริญหรอก ฉะนั้นหัดอ่านใจตัวเองบ่อยๆ แล้วเราจะได้ๆ ของดี ของดีก็คือธรรมะนั่นล่ะ
ถ้าเราเข้าใจธรรมะเราจะไม่ตีกับใคร เราจะไม่ทะเลาะกับใคร เอาธรรมะไปเถียงกันอะไรอย่างนี้ ไม่ทำหรอก ธรรมะเป็นของสูงเป็นของร่มเย็น ไม่ได้เรียนเอาไว้ทะเลาะกัน อันนั้นเรียนแล้วกิเลสแรงกว่าเก่า อย่างน้อยเรียนแล้วกูเก่ง กูรู้เยอะกว่าคนอื่นอะไรอย่างนี้ นี่กิเลสทั้งนั้นเลย แล้วพูดธรรมะฉอดๆๆๆ แต่ไม่เห็นกิเลส ใช้ไม่ได้หรอก อ่านจิตตัวเองไม่ออก ฉะนั้นพวกเราหัดอ่านจิตตัวเอง ไม่ใช่เรื่องยากหรอก มันละเลยที่จะอ่าน วันนี้เทศน์ไปเทศน์มา เนื้อหาสาระที่ควรจะบอกๆ หมดแล้ว เอาไปทำเอานะ
สังเกตไหมพอหลวงพ่อบอกว่าเทศน์เสร็จแล้ว ใจของเราเปลี่ยนทันทีเลย รู้สึกไหม เฮ้อ แหม มันออกหน้าออกตามากไป ไม่รู้จักเกรงใจเลย นี่รู้สึกไหมใจขำ เห็นไหมความรู้สึกขำเกิดขึ้น รู้สึกนี่ขำแล้วเอิ๊กๆ อ๊ากๆ เหมือนเด็กทารก เหมือนพระพุทธเจ้าบอกนะอย่างหัวเราะเอิ๊กอ๊ากๆ มันอาการของเด็กทารก ไม่รู้เรื่องไม่มีสติ อย่างที่วัดหลวงพ่อคอยดูพระเรื่อยๆ คุยกันเสียงดังหลวงพ่อยังดุเลย อย่างหัวเราะก๊ากๆ นี่โดนทันทีเลย ถ้าคุยเสียงดังเดี๋ยวว่างๆ แล้วจะเรียกมาดุ แต่ถ้าหัวเราะก๊ากๆ นี่โดนทันทีเลย เพราะว่านักปฏิบัติไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ต้องมีสติ
ถ้ายังมีการเว้นวรรค
การปฏิบัติของเรายังประมาทเกินไป
สนุกได้ไหม ความรู้สึกสนุกเกิดขึ้นได้ไหม ได้ แต่อย่าให้ขาดสติ มีความสุขได้ไหม มีความสุขได้ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าบอกให้รู้ทุกข์ฉะนั้นกูต้องทุกข์อย่างเดียว อันนั้นไม่ใช่นะ คำว่ารู้ทุกข์ก็คือรู้รูปรู้นามรู้กายรู้ใจ ความสุขก็อยู่ในกองทุกข์ ความสุขก็เป็นตัวทุกข์ชนิดหนึ่ง ตัวเวทนาเป็นตัวทุกข์อย่างหนึ่ง ตามรู้ตามเห็น ไม่อยากหรอก
ธรรมะก็ประณีตเป็นลำดับๆ ไป เบื้องต้นนี่อ่านใจตัวเองให้ออก หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนธรรมะสอนสั้นๆ ไม่สอนยาวอย่างหลวงพ่อหรอก ถ้าหลวงพ่อเอาอย่างหลวงปู่ดูลย์สอนสั้นๆ พวกเราไม่รู้เรื่อง เพราะอินทรีย์พวกเราอ่อน ขี้เกียจด้วย ใครยังรู้สึกตัวว่าขี้เกียจบ้าง ไม่ต้องยกๆ ของมันเห็นๆ กันอยู่ ไม่ต้องยกหรอก ถ้ายังมีการเว้นวรรคการปฏิบัติของเรายังประมาทเกินไป ตอนนี้ขอเล่นเกมสักชั่วโมงหนึ่งก่อนอะไรอย่างนี้ นี่ประมาทนะ ระหว่างเล่นเกมอาจจะช็อกตายก็ได้ ดีใจชนะเกม นี่ประมาท ฉะนั้นอย่าให้มีช่องโหว่
ช่องโหว่เล็กนิดเดียวกิเลสลุยทันที กิเลสมันเก่งนะไม่ใช่มันไม่เก่ง ต้องฝึก หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนสั้นๆ อย่างถ้าท่านจะสอนให้จิตเรามีสมาธิตั้งมั่นนี่ ท่านพูดประโยคเดียว “อย่าส่งจิตออกนอก” จิตออกนอกคือจิตไหลไปทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ บอกอย่าส่งไป แต่ถ้าจิตมันส่งไปเอง ห้ามมันไม่ได้นะ แต่เราอย่าส่งไป ส่งไปก็คืออุ้ยสนุกจังเลย ดูละครสัตว์นี่สนุกจังเลย ส่งจิตไปดู ไปดูหมูเด้ง มันเด้งบ้างไม่เด้งบ้าง ส่วนใหญ่มันนอน ก็อุตส่าห์ไปดูกัน ไปดู เวลาไปดูหมูเด้ง เห็นไหมใจไปอยู่ที่หมูเด้ง ถ้าตายไปเราจะต้องแย่งกันไปเป็นฮิปโป แล้วคราวนี้คนอื่นเขาจะมาดูเราเด้งบ้างแล้ว นี่ใจมันไหลออกไป
อย่าส่งจิตออกนอกก็คืออย่ามีโลภะเจตนา เที่ยวแสวงหากามคุณอารมณ์คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย แต่ธรรมชาติของจิตย่อมส่งออกนอก เห็นไหมจิตมันโดยตัวมันชอบส่งออกนอก ไม่ห้าม ถ้าจิตส่งออกนอกแล้วให้มีสติรู้ทัน ตรงนี้สำคัญนะ นี่คำสอนของหลวงปู่ดูลย์ประโยคเดียว แต่พอกระจายออกมา โห มันเป็นหลักการปฏิบัติที่เยอะแยะไปหมดเลย ถ้าจิตเราไม่ส่งออกนอก จิตเราจะเป็นอย่างไร จิตเราจะตั้งมั่น จิตเราจะตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน
หลวงพ่อฝึกได้จิตที่ตั้งมั่นมาตั้งแต่ 10 ขวบ ฉะนั้นเวลาหลวงปู่สอน หลวงปู่ไม่มาบอกหลวงพ่อว่าอย่าส่งจิตออกนอก หลวงปู่ต่อยอดให้เลย “จงทำญาณเห็นจิตให้เหมือนตาเห็นรูป” ท่านสอนตรงนี้ จงทำญาณเห็นจิตให้เหมือนตาเห็นรูป เวลาตาเราเห็นรูปเราจงใจเห็นไหม หลับตาซิ ทุกคนหลับตา แล้วลองหันหน้าไปให้มันเปลี่ยนทิศทาง แล้วลืมตา เราเจตนาเห็นไหม ไม่ได้เจตนา
จงทำญาณเห็นจิตให้เหมือนตาเห็นรูป อันแรกเลยไม่ได้เจตนา มีรูปอย่างไรก็เห็นมันไปอย่างนั้น หันไปแล้วไปเจอสาวสวยก็รู้ รู้รูป หันไปแล้วไปเจอหมาขี้เรือนวิ่งเข้ามาหรือเสือกำลังวิ่งเข้ามาก็รู้ รู้ทัน เหมือนตาเห็นรูป เราไม่เลือกนี่ เราเลือกได้ไหมว่าจะเห็นรูปอะไร เราเลือกไม่ได้ ตาจะเห็นรูปที่ดีหรือรูปที่ไม่ดี ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ เราเลือกไม่ได้ การดูจิตเขาบอก จงทำญาณเห็นจิตให้เหมือนตาเห็นรูป เราไม่เลือกอารมณ์ของจิต อย่างตาก็ไม่เลือกอารมณ์ของตา มีรูปอะไรก็เห็นไปอย่างนั้น จิตนี่เราก็ไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์ที่ดีมาเราก็รู้ อารมณ์ที่ไม่ดีมาเราก็รู้ ตามรู้อย่างที่มันมีอย่างที่มันเป็นไป
มีญาณเห็น ญาณแปลว่าความหยั่งรู้ เป็นลักษณะของปัญญา ฉะนั้นไม่ใช่รู้โง่ๆ ไม่ใช่รู้เอ๋อๆ น้ำลายยืดๆ รู้ ไม่ใช่ รู้ต้องมีปัญญา มีใจที่ตั้งมั่นปัญญาถึงเกิด มันผ่านบทเรียนที่ชื่อว่าอย่าส่งจิตออกนอกมาแล้ว ใจมันตั้งมั่นแล้ว พอใจมันตั้งมั่นแล้วมันถึงจะมีญาณเห็นจิตได้ ญาณเป็นปัญญา ปัญญามีสัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ฉะนั้นที่หลวงพ่อจะจ้ำจี้จำไชพวกเรา เฮ้ย จิตต้องตั้งมั่นนะ จิตต้องถึงฐานนะ เพื่อจะเอาไว้เดินปัญญา
ทำญาณเห็นจิตให้เหมือนตาเห็นรูป
ทำญาณเห็นจิตให้เหมือนตาเห็นรูป หมายถึงว่ามีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นก็สักว่ารู้ว่าเห็นไป รู้เห็นอย่างที่มันมีอย่างที่มันเป็น แล้วไม่ได้รู้โง่ๆ รู้แบบมีปัญญา อันแรกเลยมีสติรู้ว่ามีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นกับจิต เช่นความสุขความทุกข์กุศลอกุศลเกิดขึ้นกับจิต รู้ทัน อันที่สองมีปัญญาซ้ำลงไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตไปรู้เข้าล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
ความสุขก็ไม่เที่ยง ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง กุศลอกุศลก็ไม่เที่ยง หัดดูอย่างนี้ คำว่า “จงทำญาณเห็นจิตให้เหมือนตาเห็นรูป” คืออย่างนี้ ไม่ใช่นั่งจ้องอยู่ที่จิต ถ้าไปนั่งจ้องอยู่ที่จิต ไม่ใช่แล้ว มันก็คล้ายๆ เราเข้าห้องปิดประตู แล้วก็จุดเทียนไว้อันหนึ่ง แล้วก็มองอยู่ที่เทียน ไม่ให้มองอันอื่นเลย ตาก็ต้องเห็นแต่เทียนนี่ล่ะ เห็นอย่างอื่นไม่ได้ ไม่ใช่นะ มีตาก็เห็นอย่างที่มันจะต้องเห็น จิตของเราจะมีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้น ให้มันรู้สึกไปอย่างที่มันมีอย่างที่มันเป็น แล้วเราก็ตามเห็นไป ตอนนี้จิตสุข ตอนนี้จิตทุกข์ ตอนนี้จิตเป็นกุศล ตอนนี้จิตเป็นอกุศล ตามรู้ตามเห็นไป พอตามรู้ตามเห็นไปมากพอ มันจะรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา
ทำไม่ใช้คำว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำไมไม่ใช้ว่าโลภโกรธหลงสุขทุกข์ดีชั่วอะไร ใช้คำว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งหมายถึง Everything ที่เกิด ทั้งหมดนั่นล่ะต้องดับ ฉะนั้นไม่ใช้คำว่าสุขเกิดแล้วสุขดับ ทุกข์เกิดแล้วทุกข์ดับ กุศลเกิดแล้วก็ดับ โลภโกรธหลงเกิดแล้วก็ดับ อย่างตอนที่เราหัดดูใหม่ๆ ใช่ไหม เราก็จะเห็นสุขเกิดแล้วดับ ทุกข์เกิดแล้วดับ กุศลเกิดแล้วดับ โลภโกรธหลงเกิดแล้วดับ เราดูแต่ละอันเกิดแล้วดับ แต่ละอันเกิดแล้วดับ ตรงที่ปัญญาแก่รอบเต็มที่แล้วนี่ มันไม่มานั่งดูทีละอัน มันสรุปรวบยอด ปัญญาในอริยมรรคนี่มันสรุปรวบยอดเลยว่า สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา Everything เกิดแล้วดับ
ตรงนี้เราจะเข้าใจธรรมะ ก็ได้โสดาบันตรงนี้ ถัดจากนั้นก็ภาวนาของเราแบบเดิมนั่นล่ะ แต่ศีลของเราเต็มที่อยู่แล้วล่ะ สมาธิก็จะแก่กล้าขึ้น แล้วก็เจริญปัญญาไป พระสกทาคาพระโสดาบันศีลบริบูรณ์ สมาธิเล็กน้อย ปัญญาเล็กน้อย สมาธิเล็กน้อยคือใจเราวอกแวกๆ ไม่ได้ต่างกับชาวบ้านธรรมดาหรอก พระโสดาบันปัญญาเล็กน้อย เห็นไตรลักษณ์เป็นคราวๆ ไม่ได้เห็นได้ตลอดหรอก
พระสกทาคามีศีลบริบูรณ์ อันนี้บริบูรณ์ตั้งแต่โสดาบันแล้ว สมาธิปานกลาง ปัญญาเล็กน้อย ปัญญาเล็กน้อยก็ยังไม่ได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจอะไร ปัญญาเล็กน้อยก็แค่สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ แต่จิตมีกำลังตั้งมั่นมากขึ้น สมาธิปานกลาง สมาธิปานกลางก็คือถ้าจะหลง หลงแวบเดียว ฟุ้งไปก็ฟุ้งสั้นๆ ไม่ฟุ้งยาว ถ้าฟุ้งเป็นชั่วโมงไม่ใช่แล้วล่ะ แสดงว่าสมาธิอ่อนเหลือเกิน แล้วถ้าภาวนาต่อไป รู้แจ้งแทงตลอดในตัวร่างกายในรูปนี่ ว่าไม่ใช่อย่างอื่นมีแต่ทุกข์ รู้แจ้งแทงตลอดอย่างนี้จิตมันวางกาย
พอมันวางร่างกาย มันก็จะวางตาหูจมูกลิ้นกายใจ มันก็จะพลอยวางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไปด้วย ตัวที่ทำให้จิตเราฟุ้งซ่านก็คือกามนั่นล่ะ พอเป็นพระอนาคามีมันวางตาหูจมูกลิ้นกายลงไปได้ แล้วก็วางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไปด้วย ความยินดีพอใจในรูปไม่มี ความยินร้ายในรูปไม่มี ใจก็ไม่วิ่งแส่ส่ายออกไปทางตาหูจมูกลิ้นกาย นี่สมาธิมันบริบูรณ์เพราะเหตุนี้ เพราะว่าจิตไม่ไหลตามกามออกไป ไม่ไหลไปทางตาหูจมูกลิ้นกาย มันตั้งมั่นเด่นดวงอยู่กับตัวเองนี่ ถึงบอกพระอนาคามีมีสมาธิบริบูรณ์ มีปัญญาปานกลาง
โสดาบัน สกทาคามี เห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็ดับไป ไม่มีตัวเรา พระอนาคามีมีปัญญาปานกลาง คือเห็นว่ารูปทั้งหลายร่างกายนี่ไม่มีอย่างอื่นนอกจากทุกข์ ไม่มีอย่างอื่นเลย เห็นมีแต่ทุกข์ล้วนๆ เลย นี่เป็นปัญญาปานกลาง แต่ทำไมปัญญานี้ยังไม่สิ้นสุด พระอนาคามียังหลงผิดอยู่ว่าตัวจิตที่ฝึกดีแล้วนี่มีความสุข ฉะนั้นจะมุ่งไปหาความสุขของสมาธิ จะไปติดในรูปราคะอรูปราคะ ทีนี้ภาวนาไปเรื่อยก็จะรู้เลย รูปราคะอรูปราคะ จิตเข้าไปติดไปยึดจิตก็ทุกข์อีก
แล้วต่อไปปัญญาแก่รอบจริงๆ จะรู้ว่าจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ มันจะแตกหัก วัฏจักรจะล่มลงก็ตรงที่มันรู้แจ้งแทงตลอดว่าจิตคือตัวทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้างอย่างที่เคยเห็นแล้ว ตัวนี้คือปัญญาขั้นสุดท้ายเลย ก็จะรู้แจ้งแทงตลอดปฏิจจสมุปบาทล้างอวิชชา
อวิชชาคืออะไร คือความไม่รู้ทุกข์ ไม่สามารถรู้ทุกข์ได้ ไม่สามารถละสมุทัย ไม่สามารถแจ้งนิโรธ ไม่สามารถเจริญอริยมรรคได้ แต่ตรงที่มันรู้แจ้งแทงตลอดว่าจิตนั้นล่ะคือตัวทุกข์ นี่คือขันธ์ตัวสุดท้ายที่เราจะสามารถเห็นได้ว่ามันคือตัวทุกข์ ตัวกายดูง่ายว่าเป็นตัวทุกข์ แต่พอถึงตัวจิตจะให้ดูว่ากระทั่งจิตที่ทรงฌานก็คือตัวทุกข์ ไม่ใช่ง่าย อันนี้เลยเป็นปัญญาอย่างยิ่ง รู้แจ้งแทงตลอดในกองทุกข์ ก็รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจนั่นล่ะ กว่าจะถึงจุดนี้ก็ต้องสู้
จุดเริ่มต้นของการสู้ทำอย่างที่หลวงพ่อบอกนั่นล่ะ ถือศีล 5 ไว้ ทุกวันทำในรูปแบบไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิเดินจงกรม จิตจะได้มีกำลัง หัวใจของการปฏิบัตินั้นคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ถ้าเราทำอย่างนี้ได้มรรคผลไม่ใช่เรื่องไกล ถ้าเก่งเฉพาะตอนนั่งสมาธิยังอีกไกล เพราะอยู่ในชีวิตจริงเราล้มเหลว เพราะฉะนั้นฝึกนะที่หลวงพ่อบอกให้วันนี้ เป็นแก่นสารสาระในการฝึกกรรมฐานเลย เหมือนที่หลวงปู่มั่นบอก ทำสมาธิมากเนิ่นช้า คิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติคือการมีสติในชีวิตประจำวัน
บ้านจิตสบาย
24 พฤศจิกายน 2567