ความรู้สึกตัวสำคัญที่สุด

พยายามรู้สึกตัวไว้ ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านก็บอก ท่านไม่เห็นธรรมะอย่างอื่นสำคัญเหมือนความรู้สึกตัว ถ้ารู้สึกตัวได้ก็จะละกิเลสที่มีอยู่ได้ แล้วก็กิเลสใหม่ก็ถูกปิดกั้น เกิดไม่ได้ เวลาที่เรารู้สึกตัวอยู่ กิเลสมันเกิดตอนเผลอเท่านั้นล่ะ แล้วเวลาที่เรารู้สึกตัวอยู่ก็มีสติอยู่ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ตัวนั้นคือกุศล ถ้าเรารู้สึกตัวบ่อยๆ กุศลมันก็เจริญขึ้นมา พัฒนาออกมา งอกงามออกมา เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นวิมุตติ พัฒนาเป็นลำดับไป

ความรู้สึกตัวเป็นของมีค่ามาก แต่คนส่วนใหญ่ก็ละเลย ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ ไปให้ความสำคัญกับคนอื่น กับสิ่งอื่น ละเลยความสำคัญของความรู้สึกตัว ฉะนั้นเราพยายามรู้สึกตัวไว้ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็รู้สึกตัวไว้

ครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านสอนหลวงพ่อ หลวงพ่อพุธ ท่านสอน ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้รู้สึกตัวไว้ หลวงพ่อฟังก็เข้าใจว่าท่านสอนธรรมะสำคัญ คนซึ่งไม่เข้าใจเยอะ สมัยก่อนที่หลวงพ่อพุธสอน คนแอนตี้เยอะเหมือนกันว่าทำไมไม่สอนนั่งสมาธิ คิดว่าหลวงพ่อพุธนั่งสมาธิไม่เป็น

ที่จริงท่านเก่งสมาธิ ตอนหนุ่มๆ ท่านก็ซนไม่ใช่เล่นเหมือนกัน เรื่องสมาธิ อย่างท่านทดลอง ท่านมองต้นไม้ ต้นไม้ขาดเลย กิ่งใหญ่ๆ หักลงมา ครูบาอาจารย์ท่านดุเอาว่ามันอาบัติ พรากของเขียวอะไรอย่างนี้ ท่านชำนาญทางสมาธิ แล้วก็ท่านปัญญามาก ท่านก็สรุปการปฏิบัติออกมาได้ง่ายๆ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด รู้สึกตัวไว้ สำคัญมากตัวนี้ หลวงพ่อไปเรียนกับท่านก็ชื่นมื่น คุยกันรู้เรื่องภาษาเดียวกัน

คนชอบลองดีท่าน คิดว่าท่านทำสมาธิไม่เป็น มีครั้งหนึ่งเขานิมนต์ท่านไปพิธีพุทธาภิเษก พอท่านเข้าไปในงาน พวกกรรมการวัดบางคนก็โวยวายว่าไปนิมนต์องค์นี้มาทำอะไร พระไม่มีสมาธิอะไรอย่างนี้ ก็ไม่ขลัง ท่านบอก แหม ฟังแล้วมันเจ็บใจ คือตอนนั้นท่านยังเจ็บใจเป็น ท่านบอกพอขึ้นนั่งธรรมาสน์ นั่งเสร็จ ท่านกำหนดจิตว่าให้นั่งยังสว่างเลย บอกพอเอามือวาง มือขวาทับมือซ้ายปุ๊บ จิตรวม หมดความรู้สึกไปเลย ดับ เหลือแต่จิตดวงเดียวอยู่อย่างนั้น ไม่มีความคิด ไม่มีโลกธาตุ ไม่มีร่างกาย ตอนที่จิตถอนออกมา สว่างแล้ว คนเขากำลังอุ้มท่าน เอามาวางข้างล่างแล้ว พวกที่แอนตี้ท่านก็ด่าพวกกรรมการที่ไปนิมนต์ท่านมา บอกดูสิ ไปนิมนต์พระภาวนาไม่เป็น ตายไปแล้ว ไม่หายใจแล้ว

ท่านเก่งทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ ไปเจอหน้าทีไร ก็พูดอยู่ประโยคนี้ หลักๆ เลย ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้มีความรู้สึกตัวไว้ พวกเราลองเอาไปทำดูสิ แล้วเราจะพบความเปลี่ยนแปลงในตัวเองอย่างอัศจรรย์มากเลย คนส่วนใหญ่เวลายืน เดิน นั่ง นอน ใจมันก็หนีไปที่อื่น จิตใจไม่อยู่กับตัวเอง เวลากินก็เพลิดเพลินไป บางทีก็พูด เวลาพูดก็ลืมตัวเอง แล้วที่หลงมากที่สุดคือหลงคิด หลงไปในโลกของความคิด

คนเกือบร้อยละ 100 นี่พูดแบบเกรงใจ ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมาก็คือคนทั้งหมดล่ะ เหลืออยู่นิดเดียวจนไม่มีนัยยะ ที่รู้สึกตัวเป็น นอกนั้นมันหลงทั้งวันเลย หลงอยู่ในโลกของความคิด ตื่นขึ้นมา มันตื่นแต่ตัว แต่ใจมันฝันตลอดเวลา อยู่ในโลกของความคิด นั่นล่ะฝันๆ ไปทั้งวัน เรียกฝันกลางวัน นอนกลางคืนก็ฝันกลางคืน ตื่นขึ้นมาแล้วก็ตื่นแต่ร่างกาย ใจมันก็ฝันกลางวัน ฉะนั้นเราต้องพยายามปลุกตัวเองให้ตื่น อยู่ในโลกของความเป็นจริง อยู่ในโลกของความรู้เนื้อรู้ตัว รู้สึกตัว

 

ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็รู้สึกตัวไว้
ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร ให้รู้ทันจิตตัวเองไป

วิธีการ สอนทุกวันอยู่แล้วล่ะ ทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตใจตัวเองไป เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำมันทั้งวัน มีเวลาเมื่อไหร่ก็ทำ ไม่ต้องรอหลงทั้งวันแล้วค่อยไปปฏิบัติตอนก่อนนอน ไม่ได้กินหรอกอย่างนั้น เพราะจิตใจมันคุ้นเคยกับความหลง ถ้าเราฝึกตัวเอง ตั้งอกตั้งใจไป ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ กรรมฐาน แต่เคล็ดลับมันอยู่ตรงที่ว่าเมื่อทำกรรมฐานแล้ว ให้คอยรู้ทันจิตตัวเอง

อย่างหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตมันหนีไปคิด จิตมันหนีไปฝัน ให้รู้ทัน มันลืมพุทโธแล้ว ลืมการหายใจแล้ว ลืมร่างกาย แล้วลืมความคิดว่าพุทโธ มันลืมกายลืมใจตัวเอง หรือถนัดดูท้องพองยุบก็ดูไป เห็นท้องพอง เห็นท้องยุบ เดี๋ยวเดียวก็เผลอไปคิดเรื่องอื่น จิตไหลไปอยู่ในโลกของความคิด ให้รู้ทัน หรือดูท้องพอง ดูท้องยุบ จิตไหลลงไปอยู่ที่ท้อง ให้รู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันจะเกิดอะไรขึ้น ก็เป็นสมาธิ เป็นสมถะ จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง อันนั้นคือหลักของสมถะ

ฉะนั้นเกือบร้อยละ 100 ของคนเข้าคอร์สวิปัสสนาอะไร จริงๆ ทำสมถะ มีคอร์สสมถะอยู่อันหนึ่ง แต่อันนั้นท่านชัดเจนว่าเป็นเรื่องของสมาธิ คือคอร์สของหลวงปู่วิริยังค์ คอร์สครูสมาธิอะไรพวกนั้น อันนั้นท่านชัดเจนว่าเป็นเรื่องของการฝึกสมาธิ เพื่อจะให้จิตมีกำลังแล้วก็ไปทำมาหากิน แต่บางทีมาบอกคอร์สวิปัสสนา แต่ว่าทำเข้าจริงมันคือสมถะ อันนั้นมีปัญหาแล้ว

ฉะนั้นเราใช้กรรมฐานอะไรก็ได้ เหมือนๆ กันหมดล่ะ แต่ไม่ว่าเราจะทำกรรมฐานอะไร เราก็ให้รู้ทันจิตตัวเองไป แต่อย่าไปนั่งเฝ้าจิต อย่าไปนั่งจ้องจิต ทำกรรมฐานของเราไปอย่างนี้ แล้วถ้าจิตมันหลงไปคิด เราก็รู้ทัน จิตมันหลงไปเพ่งในอารมณ์กรรมฐานก็รู้ทัน ฝึกอย่างนี้ ไม่เห็นจะยากอะไรเลย ลองทดลองสิ ทดลองของตัวเองตอนนี้เลย ลองทำให้หลวงพ่อชมหน่อย พวกที่อยู่ในห้องนี้ก็โอเคส่วนใหญ่ อย่างเราหายใจอย่างนี้ ใจเราไหลไปคิด เราก็รู้ทัน

มีคราวหนึ่งขึ้นไปกราบหลวงปู่สิม ตอนนั้นเรียนหลักสูตรสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง ขึ้นไป เชียงใหม่กัน ก็พารุ่นเดียวกันหลายคนขึ้นไปกราบหลวงปู่สิม ท่านก็เทศน์ให้ฟัง มีพี่คนหนึ่งแกเป็นหมอโรงพยาบาลกลาง แกฟังหลวงปู่สิมเทศน์ แกก็ โห หลวงปู่เทศน์ดีจังเลย สอนดีจังเลย เสียดาย ลูกไปเรียนอยู่อเมริกา ไม่มีโอกาสได้ฟัง หลวงปู่หยุดทันทีเลย ดุเลย “ฟังเทศน์อยู่ถ้ำผาปล่อง ไปคิดถึงลูกที่อเมริกา เหลวไหล ใช้ไม่ได้”

ตรงนี้ที่เหลวไหลเพราะอะไร เพราะว่าจิตหลงไปในโลกของความคิด เราไม่รู้ ถ้าจิตมันแวบไปถึงลูกแล้วรู้ทันว่าจิตมันแวบไปที่ลูกแล้ว อันนี้ท่านไม่ว่า อันนี้จริงๆ ท่านไม่ได้ว่า ท่านจะสอน ให้รู้ทันจิตที่หลงไปคิดล่ะ ถ้าเรารู้ทันจิตที่หลงไปคิด จิตหลงคิดจะดับ จิตที่รู้ตัวจะเกิดขึ้น จิตใจเราจะอยู่กับเนื้อกับตัว ความรู้สึกตัวจะเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นบางทีครูบาอาจารย์รุ่นเก่า บางทีเหมือนท่านว่า เหมือนท่านดุ เหมือนท่านด่าเอา ที่จริงท่านสอน ถ้าคนฟังเป็นจะรู้ว่าท่านสอนเรา หลวงพ่อก็เคยเจอหลวงปู่บุญจันทร์ ตอนนั้นหลวงพ่อไปทำสมาธิ ไม่เพ่งอารมณ์ที่ถูกรู้ ไม่เพ่งจิตที่เป็นผู้รู้ ไม่เพ่งอะไรเลย จิตก็รวมว่างลงไป ว่าง สว่าง ว่าง แต่ก็รู้ว่าเป็นสมถะ แต่ว่าเล่นอยู่อย่างนั้น

หลวงปู่บุญจันทร์ท่านให้พระมาเรียกหลวงพ่อไปทั้งที่เราไม่รู้จักท่าน ท่านสั่งพระไว้เลย วันนี้จะมีโยมคนหนึ่งมา ให้ไปเรียกตัวมา ท่านไม่ได้อยู่วัดท่านด้วย ตอนนั้นท่านมาอยู่วัดสันติธรรมที่เชียงใหม่ หลวงพ่อจะไปหาอาจารย์ทองอินทร์ พอไปถึงหน้าวัด ก็มีพระมายืนเฝ้าอยู่ แล้วบอก อาจารย์บุญจันทร์มา ให้ไปหาหน่อย หลวงพ่อไม่ไป ไม่รู้จัก หลวงพ่อจะมาหาอาจารย์ทองอินทร์ ก็เข้าไปคุยกับอาจารย์ทองอินทร์จนมืดเลย เย็นเลย อากาศเย็นจัด ออกมาจากห้องอาจารย์ทองอินทร์ พระนั่นยังยืนอยู่ บอกไปหาอาจารย์บุญจันทร์หน่อยเถอะ เรา โอ๊ย ตื๊อจังเลย ยืนตากลมหนาวอยู่เป็นชั่วโมง น่าสงสาร ไปก็ไป

อาจารย์บุญจันทร์ท่านไม่สบาย คลุมโปงอยู่ หนาว ยังไม่เข้าห้อง นอนรออยู่ที่ตั่งหน้าระเบียง พอเราขึ้นไปกราบท่าน ท่านก็ลุกขึ้นนั่ง ท่านถาม “ไง ปฏิบัติยังไง” ก็เล่าให้ท่านฟัง ช่วงนี้ผมภาวนา ไม่จับผู้รู้ ไม่จับสิ่งที่ถูกรู้ ท่านตวาดเอา บอก “เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก” ดูเหมือนท่านดุเอา แต่เรารู้เลย ท่านสอนแล้ว

ครูบาอาจารย์แต่ก่อนสอนอย่างนี้ ไม่มาโอ้โลมปฏิโลม เอาอกเอาใจเราหรอก ถ้าทนได้ก็ได้แก่น ถ้าทนไม่ได้ก็กระเจิดกระเจิง พระพุทธเจ้าก็สอนแบบเข้มข้นสำหรับคนที่คิดจะภาวนาจริงๆ ท่านบอก เราจะทุบเธอทุบแล้วทุบอีก เหมือนช่างปั้นหมอที่เขานวดดิน ทุบๆๆ จนดินมันได้ที่เอามาปั้นหม้อได้ ฉะนั้นบางทีครูบาอาจารย์ก็ดุเรา โดยเฉพาะถ้าเราใจลอย โดนดุ โดนทันทีเลย เผลอนิดเดียว โดนแล้ว อยู่กับท่าน

มีช่วงหนึ่งหลวงพ่อไปอยู่วัดหน้าเรือนจำที่สุรินทร์ ตอนนั้นหลวงปู่ดูลย์ไม่อยู่แล้ว ครูบาอาจารย์ที่นั่นชื่อหลวงพ่อคืน หลวงพ่อคืนจิตไวมาก แล้วที่ไวกว่าหลวงพ่อคืน ชื่อหลวงพ่อหรุ่น ลูกศิษย์หลวงพ่อคืนอีกทีหนึ่ง วันนั้นหลวงพ่อกินข้าวเสร็จแล้วตอนเช้า กินกันมื้อเดียวล่ะ อยู่วัด ก็เดินไป ก็เห็นเก้าอี้ม้าหินอยู่ตัวหนึ่งอยู่ใต้ต้นไม้ ตรงนี้ร่มดี เมืองสุรินทร์มันร้อนจัด ไปอยู่ใต้ต้นไม้ ก็ค่อยยังชั่วหน่อย ใจก็คิด จะนั่งที่นี่

แค่คิดอยากจะนั่งเก้าอี้ตัวนี้ จะนั่งภาวนาด้วย ไม่ใช่นั่งเล่น ในใจคิดตรงนี้น่านั่ง หลวงพ่อคืนท่านตะโกนมาบอก “ปราโมทย์ อยากปฏิบัติก็ผิดแล้ว” ตั้งแต่นั้นเราก็เห็นจิตใจตัวเองได้ละเอียดกว่าเก่าเยอะเลย แค่จิตจะนั่งปฏิบัติตรงนี้ อยากนั่งตรงนี้ ถ้าเราไม่เห็นก็คือหลง หลงแล้ว หลงคิด ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด อันนี้หลงคิด เพราะฉะนั้นอยู่กับครูบาอาจารย์ท่านจะเล่นงานมากเลยตอนเราหลง

พระอยู่กับหลวงพ่อเดินผ่านองค์ไหนหลง หลวงพ่อก็จะใช้วิธีชี้หน้า ใหม่ๆ เขาก็ไม่รู้ว่าชี้เขาทำไม หน้าเหลอหลาหนักกว่าเก่าอีก ต้องบอกมันหลงไปแล้ว คิดแล้ว กลับบ้านไปแล้ว ตัวอยู่วัด ใจกลับบ้านอะไรอย่างนี้ หลังๆ เดินผ่าน แค่มองหน้า กำลังหลงๆ อยู่ หายหลงเลย รู้สึกตัว เรียนกรรมฐาน เขาเรียนกันขนาดนี้ เรียนกันเป็นขณะๆๆ ขณะนี้หลง ขณะนี้รู้สึก

เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามฝึกตัวเอง ซอยชีวิตของเราให้เป็นช่วงเล็กๆ แคบๆ เวลาภาวนาอย่ามานั่งนึกว่าปีนี้เป็นอย่างไร ไกลเหลือเกิน หรือเดือนนี้เป็นอย่างไร อาทิตย์นี้เป็นอย่างไร วันนี้เป็นอย่างไร ดู ขณะนี้เป็นอย่างไร ดูให้ละเอียดลงไป แต่ไม่ต้องละเอียดจนเกินกำลัง ถ้ากำลังเรายังไม่พอ เราก็ดูเท่าที่ดูได้ อย่างเริ่มต้นเราก็ดูจิตใจเราแต่ละวันไม่เห็นเหมือนกันเลย วันนี้มีความสุข วันนี้มีความทุกข์อะไรอย่างนี้ อันนี้หยาบมาก แต่ว่าหัดอย่างนี้ก่อนก็ได้

ถ้าเราแยกแยะได้ เฮ้ย จิตวันนี้กับจิตเมื่อวานไม่เหมือนกัน ครูบาอาจารย์มาเห็นท่านก็จะชม เออ ดี เก่ง ฉลาด ทำถูกแล้ว อีกวันหนึ่งเราก็ยังรู้เหมือนเดิมว่า จิตวันนี้กับจิตเมื่อวานไม่เหมือนกัน หลายๆ วันเข้า ถูกดุ ทำไมไม่มีพัฒนาการเลย เหลวไหล ขี้เกียจนี่ เราก็หัดดูได้ละเอียดขึ้น ไม่ใช่จิตวันนี้กับจิตเมื่อวานไม่เหมือนกันหรอก จิตวันเดียวกันนี่ล่ะ ตอนเช้าจิตใจเราก็เป็นอย่างหนึ่ง ตอนสายจิตใจเราก็เป็นอย่างหนึ่ง ตอนกลางวัน ตอนบ่าย ตอนเย็น ตอนค่ำ ตอนดึกอะไรนี่ จิตใจแต่ละช่วงเวลาไม่เหมือนกัน อันนี้ก็ถือว่าดูได้ละเอียดขึ้นแล้ว ใช้ได้ๆ แต่ถ้าดูได้แค่นี้อีก นานๆ ก็ถูกด่าอีกล่ะ พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญความดีที่หยุดนิ่งอยู่กับที่

พวกเราลองไปทำดู สังเกตไหมจิตใจเราเมื่อเช้าตอนตื่นนอนรู้สึกอย่างไร จะมาวัด รู้สึกลุกลี้ลุกลนไหม กลัวมาไม่ทัน กลัวตื่นไม่ทัน จะเข้าห้องน้ำก็ยังไม่ยอมถ่าย จะนั่งรถมาเลย ก็กลัวมาปวดอึกลางทางอะไรอย่างนี้ แล้วแต่ใจมันกังวล ถ้าเป็นวันทำงาน ขี้เกียจทำงาน ตื่นมา ตอนเช้าตื่นปุ๊บ นึกได้วันนี้วันต้องไปทำงาน เบื่อ ถ้าคนชอบทำงาน นึกได้ว่าวันนี้จะต้องไปทำงานแล้ว จิตใจก็กระปรี้กระเปร่า

 

วัดใจของตัวเองไปเรื่อยๆ

เราก็วัดใจตัวเองไป ตื่นเช้ามาใจเราเป็นอย่างนี้ พอสายๆ ใจเราเป็นอย่างนี้ ออกจากบ้านมาเจอแต่รถติด รถไฟฟ้าคนก็แน่นเหลือเกิน จะขึ้นบ่อยๆ ก็แพง จะไปขึ้นรถเมล์ แน่น ไม่รู้จะไปตอนไหนได้ ใจก็กังวล ตื่นนอนมาอาจจะอารมณ์ดี แล้วออกมาเจอจราจรในกรุงเทพฯ ก็ไม่มีความสุขแล้ว จิตใจไม่สบายแล้ว เราคอยวัดไป ไปถึงที่ทำงาน ไปปั๊มนิ้วมือ ไปตอกบัตรอะไร ทำทัน ดีใจ ไปนั่งทำงาน ถ้าทำงานที่ชอบ ก็มีความสุข ทำงานที่ไม่ชอบ ก็มีความทุกข์ บางคนไม่ชอบยุ่งกับคนอื่น ให้นั่งทำงานคนเดียว มีความสุข ถ้าจำเป็นต้องไปยุ่งกับคนอื่น แล้วก็มีความทุกข์

เราก็วัดใจของตัวเองไปเรื่อยๆ แต่ละช่วงเวลา เราซอยชีวิตเราเป็นช่วงแคบๆ ไม่ใช่ชีวิตเรา ครั้งละ 1 วัน ซอยออกไปเป็นช่วงตอนเช้า ตอนสาย ตอนกลางวัน ตอนบ่าย ตอนเย็น ตอนค่ำ ตอนดึกอะไรอย่างนี้ แล้วต่อไปเราก็ซอยละเอียดลงไปเป็นขณะๆ ถ้าลงถึงขณะนี้ละเอียดที่สุดแล้ว

ตอนตาเราไปเห็นรูป ใจเราเปลี่ยน เรารู้ หูได้ยินเสียง ใจเราเปลี่ยน เรารู้ จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจเราเปลี่ยนแปลง เรารู้ ใจเราหลงไปอยู่ในโลกของความคิดแล้วก็เกิดความเปลี่ยนแปลง คิดเรื่องนี้แล้วโกรธ เราก็เห็นใจเมื่อกี้ไม่โกรธ ใจตอนนี้โกรธ หัดภาวนา ดูง่ายๆ อย่างนี้ล่ะ ค่อยๆ ฝึก

ทีแรกก็ดูเป็นช่วงเวลา แต่ซอยช่วงให้มันแคบหน่อย เช้า สาย กลางวัน บ่าย เย็น ค่ำ ดึกอะไรอย่างนี้ ซอย ต่อไปพอชำนาญขึ้น เราเห็นจิตใจเราเปลี่ยนทั้งวันเลย ตอนเช้าจิตก็เป็นอย่างหนึ่ง ตอนสายจิตเป็นอย่างหนึ่ง ตอนค่ำ ตอนดึกก็เป็นอย่างหนึ่ง อย่างตอนเช้าตื่นมาส่วนใหญ่ โมหะจะเยอะ ซึมๆ งัวเงีย ไม่ก็ฟุ้งอุตลุดเลย ฝันสืบเนื่องมาจากตอนหลับ กลางวันบางทีกระทบกระทั่งกับผู้คนเยอะ โทสะก็ขึ้น ตกเย็น ตกค่ำ ไม่มีอะไรทำ ไม่มีเรื่องต้องกังวล ราคะมักจะขึ้นมา ฉะนั้นเราก็เห็นใจเราเปลี่ยนทั้งวัน

พอเราชำนาญขึ้น เราก็ดูได้ละเอียดขึ้นอีก เราจะเห็นเลย เวลาตาเราไปเห็นรูป ใจเราก็เปลี่ยน หูได้ยินเสียง ใจเราก็เปลี่ยน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด จิตใจของเราก็เปลี่ยนแปลง เดี๋ยวเปลี่ยนเป็นความสุขแล้วก็หายไป เป็นความทุกข์แล้วก็หายไป เฉยๆ แล้วก็หายไป เดี๋ยวก็เป็นกุศล เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง เราวัดใจของเราไปเรื่อยๆ

จิตใจเราเปลี่ยนแปลงตามหลังผัสสะ คือการกระทบอารมณ์ เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติไม่หนีการกระทบอารมณ์ บางคนก็งง ไม่หนีการกระทบอารมณ์ มีอะไรก็กระทบ แล้วทำไมท่านบอกให้สำรวมอินทรีย์ สำรวมอินทรีย์ อินทรีย์ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้สำรวม สำรวมอินทรีย์ไม่ใช่แปลว่ามีตาแล้วก็ไม่ดู มีหูแล้วก็ไม่ฟัง มีใจแล้วก็ไม่คิด ไม่ได้เป็นอย่างนั้น สำรวมอินทรีย์ก็คือ ตาเห็นรูป จิตใจของเราเป็นอย่างไร เรารู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตใจของเราเป็นอย่างไร เรารู้ทัน ใจเราไปคิด จิตใจของเราเป็นอย่างไร เรารู้ทัน

สำรวมอินทรีย์ไม่ได้สำรวมที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่สำรวมอยู่ที่เดียวที่จิต คอยมีสติดูแลรักษาจิตไป สติจะเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาจิตไม่ให้ตกไปในฝ่ายชั่ว ถ้าเมื่อไรขาดสติ จิตก็ไม่มีเครื่องคุ้มครอง จิตก็มักจะตกไปฝ่ายชั่ว อันนี้ถึงจะเรียกว่าสำรวมอินทรีย์ ฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง ไม่ใช่ไม่สำรวม คนทั่วไปไม่ได้สำรวมเพราะว่ามีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีใจก็คิด แต่ไม่มีสติ

พวกเรานักปฏิบัติมีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัสทางกาย มีใจก็คิดนึกทางใจ ให้มันทำงาน แต่พอทำงานแล้วจิตใจเรามีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น มีสติรู้ทัน สติมันทำหน้าที่อยู่ตรงนี้ ในตำราบอกสติทำหน้าที่อารักขา เหมือนบอดี้การ์ด แต่ไม่ได้เป็นการ์ดของร่างกายธรรมดาหรอก สติคุ้มครองกายได้ไหม ก็ได้เหมือนกันล่ะ เช่น เดินไม่ตกถนน ขับรถไม่ไปชนกับใคร อันนั้นตื้นไป ที่สำคัญที่สุดคือสติมันคุ้มครองจิตใจเรา

ฉะนั้นเวลากระทบอารมณ์แล้ว จิตเรามีราคะขึ้นมา เรารู้ทัน สติคุ้มครองเราแล้ว พอเรารู้ทันปุ๊บ ราคะจะดับ จิตจะกลายเป็นจิตที่ไม่มีราคะ ได้กลิ่น ได้กลิ่นหอม ราคะก็เกิด เรามีจมูก เราห้ามได้ไหม เราสั่งได้ไหมว่าจงได้แต่กลิ่นหอม ห้ามได้กลิ่นเหม็นอะไรอย่างนี้ เราสั่งไม่ได้ จมูกก็เป็นอนัตตา ตาเราเราสั่งได้ไหมว่าจงเห็นแต่รูปที่ดี เห็นแต่รูปที่พอใจ อย่าไปเห็นรูปที่ไม่ดี ไม่สวย ไม่งาม ไม่พอใจ เราสั่งไม่ได้

แต่ว่าเมื่อมันกระทบอารมณ์แล้ว จิตใจเราเกิดความเปลี่ยนแปลง มันกระทบรูปที่สวย จิตเราเกิดราคะ เรามีสติรู้ว่าจิตมีราคะขึ้นมา ทันทีที่สติเกิด ราคะจะไม่มีแล้ว เพราะราคะเป็นอกุศล จะเกิดร่วมกับสติไม่ได้ หรือเราเห็นคนนี้มา เราเกลียดมากเลย เห็นมันแล้วก็โทสะขึ้น เกลียด โทสะมันก็หลากหลายชนิด ไม่ใช่แค่โกรธ เกลียดก็โทสะ เบื่อก็โทสะ เซ็งก็โทสะ ความรู้สึกตระหนี่ขี้เหนียวก็เป็นโทสะ เวลาใจเราขี้เหนียว หวงแหน เรานึกว่าเป็นราคะ เป็นโลภะ แต่ตอนที่ใจเราหวงอะไรขึ้นมา ใจเราไม่มีความสุข ทุกขเวทนาเกิดร่วมกับโทสะๆ ทุกขเวทนาทางใจเกิดร่วมกับโทสะ

ฉะนั้นเวลาเรากระทบอารมณ์แล้ว จิตเราเกิดเซ็งขึ้นมา เบื่อ เอียนอะไรอย่างนี้ มีสติรู้ทัน พอรู้ทัน โทสะมันจะดับทันทีๆ ไม่ต้องดับมัน เราปฏิบัติ ไม่ละกิเลส จำให้ดี เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อละกิเลส ทันทีที่มีสติ ไม่มีกิเลสจะให้ละแล้ว แต่ถ้าไม่มีสติ ก็ละกิเลสไม่ได้ ไม่สามารถละกิเลสได้ ถ้าเราไม่มีสติ กิเลสก็ยิ่งแรงขึ้นๆ แต่ถ้าเรามีสติ เราไม่มีกิเลสจะให้ละ กิเลสดับไปแล้ว ทันทีที่สติเกิด กิเลสดับทันที

 

เรียนกรรมฐาน เขาเรียนกันเป็นขณะๆ
ขณะนี้หลง ขณะนี้รู้สึก

เพราะฉะนั้นการภาวนา ไม่ได้มุ่งลดละกิเลสอะไรทั้งสิ้นเลย ไม่ได้มุ่งเอาดี ไม่ได้มุ่งปฏิเสธชั่ว ไม่ได้มุ่งเอาสุข ไม่ได้มุ่งปฏิเสธทุกข์ ไม่ได้มุ่งเอาความสงบ ไม่ได้เกลียดความฟุ้งซ่าน แต่ว่าจิตสงบขึ้นมา รู้ทัน จิตสงบแล้วราคะแทรก รู้ทัน จิตฟุ้งซ่าน รู้ทัน ฟุ้งซ่านแล้วหงุดหงิด เรียกว่าฟุ้งซ่านรำคาญใจ ฟุ้งซ่านแล้วมักจะต่อว่ารำคาญใจ ฟุ้งซ่านคืออุทธัจจะ รำคาญใจคือกุกกุจจะ มันเกิดอะไรขึ้นมา เราก็คอยรู้ทันมัน นี่ล่ะค่อยสมศักดิ์ศรีของนักปฏิบัติหน่อย ไม่ใช่ปีกลายกับปีนี้ไม่เหมือนกัน นานไป ฝึก ค่อยๆ ฝึกเอา แต่ละเวลา เบื้องต้นเอาแค่เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ดึกอะไร จิตใจเราไม่เหมือนกัน อ่านอย่างนี้ก่อน พอชำนาญแล้วเราก็จะอ่านได้ละเอียดขึ้น

อย่างตอนหลวงพ่อทำงาน ทำงานหนักมากเลย เหนื่อย หัวหมุนติ้วๆๆ เลย ข้อมูลก็เยอะ งานวิเคราะห์ก็เยอะ งานต้องเช็คข้อมูลฝ่ายโน้นฝ่ายนี้อะไร วุ่นวายทั้งวันเลย ทำงานไปช่วงหนึ่ง หลวงพ่อจะเบรกตัวเอง วิธีเบรกตัวเองไม่ใช่ หยุดทำงานแล้วก็มานั่งสมาธิ คนเขาจะว่าบ้า คนมีสติแท้ๆ คนส่วนใหญ่มันจะว่าบ้า เพราะว่าคนส่วนใหญ่มันบ้า

หลวงพ่อใช้วิธีเดินไปห้องน้ำ ลุกขึ้นมา ตอนนั้นหัวหมุน ดูจิตไม่ได้ ดูจิตไม่รู้เรื่องแล้ว ฟุ้งซ่านมาก หลวงพ่อรู้สึกกาย เพราะร่างกายเราไม่เคยฟุ้งซ่าน ขยับจะลุกจากเก้าอี้ มือขยับก่อน พวกเราไม่มีที่เกาะ ถ้าเรามี เรารู้สึกเลย เวลาเราจะลุก เราจะขยับมือก่อน รู้สึกมือขยับแล้ว ตัวก็โยกขึ้นมา ยกตัว เอาขายกตัวขึ้นมา ก็เดิน เห็นร่างกายมันเดินไปห้องน้ำ ไปถึงก็ไปยืนฉี่นั่นล่ะ ช่วงนี้ประมาณ 1 นาที ตรงนั้นจิตมีกำลังแล้ว ยืนฉี่เสร็จ จิตมีความสุข รู้ว่าจิตมีความสุขแล้ว เดินกลับมาทำงาน เห็นคนรู้จักก็ทักทายยิ้มแย้ม เห็นใจมีความสุข กลับมาทำงาน ฝึกตัวเองแบบนี้ ฝึก

จะขึ้นรถเมล์ก็ฝึก รอรถเมล์ ใจทุรนทุราย รถเมล์สมัยหลายสิบปีก่อนแน่นยิ่งกว่าปลากระป๋องอีก ปลากระป๋องมันยังอัดเข้าไปได้ อันนี้ห้อยอยู่ตามกระได ถ้าใครเคยไปเห็นรูปรถเมล์ยุคโบราณ ขา เท้าข้างหนึ่งเหยียบกระได มือข้างหนึ่งเกาะ อีก 2 ข้างอิสระ พร้อมจะโผบิน บางคนก็บินลงมาจริงๆ โอ้ คนแน่นเราขึ้นไม่ได้ ใจเรากังวลอะไรอย่างนี้ รู้แล้ว ได้ปฏิบัติแล้ว พอรถเมล์ไม่มา ใจเราก็ยิ่งทุรนทุรายใหญ่ กลัวไปทำงานสาย เห็นรถเมล์ว่างๆ มา ดีใจ รู้ว่าดีใจ รถเมล์ว่างๆ ที่มันว่างเพราะมันไม่ชอบจอด มันจะเอารอบเฉยๆ มันก็วิ่งไม่ยอมจอดทั้งๆ ที่ว่าง ที่จอดนี่ห้อยมาทั้งนั้นเลย พวกนี้ชอบรับ คนก็แน่น จากดีใจเห็นรถเมล์ว่างมา มันไม่จอด โทสะขึ้นแล้ว เห็นไหม เปลี่ยนตลอดเวลา

นี่เล่าเป็นตัวอย่างให้ฟัง ว่าการดูจิตเขาดูกันอย่างนี้ดูกันเป็นขณะๆๆ ไปเลย ทีแรกดูละเอียดอย่างนี้ไม่ได้ก็ดูเป็นช่วงๆ ช่วงแคบๆ เช้ามืด เช้า สายๆ กลางวัน บ่าย บ่ายแก่ๆ เย็น อย่างตอนบ่ายๆ ช่วงบ่าย จริงๆ เราจะซึมๆ นิดหนึ่ง กินข้าวมาแล้วมันง่วง มันเพลีย มันเหนื่อย อากาศเมืองไทยมันร้อน ก็จะเพลียๆ แต่พอ 4 โมงเย็นอะไรนี่ ราชการมันเลิก 4 โมงครึ่ง 4 โมงเย็นอากาศก็เริ่มคลายตัวแล้ว รู้สึกมีความสุขมากขึ้นแล้ว เดี๋ยวจะได้กลับบ้าน ใจมันก็เปลี่ยนๆๆ ไปเรื่อยๆ ทั้งวัน เราคอยรู้ความเปลี่ยนแปลงของมันไป

ถ้าเราใจลอย ถ้าเราหลง ถ้าเราลืมตัวเอง ถ้าเราไม่รู้สึกตัว นี่หลายภาษา ความหมายอันเดียวกัน คือมันไม่รู้เนื้อรู้ตัวนั่นล่ะ เราก็จะไม่เห็นว่าจิตใจเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทุกคราวที่กระทบอารมณ์ กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตมันก็เปลี่ยน เพราะฉะนั้นหัดรู้ แล้วก็รู้ให้เร็วขึ้นๆ มันรู้เร็วขึ้นเองล่ะ ทีแรกนานๆ จะรู้ทีหนึ่ง เพราะสติไม่ค่อยเกิด เราหัดทุกวันๆๆ แล้วสติมันจะเร็วขึ้นๆ โดยเฉพาะถ้าเรากระทบอารมณ์ที่ไม่ดี จะหัดได้กระปรี้กระเปร่ามากเลย

อย่างเราต้องนั่งทำงานกับคนที่เราเกลียดอย่างนี้ นั่งโต๊ะติดกันอย่างนี้ หันไปทีไรก็หงุดหงิดแล้ว หันทีหนึ่งก็หงุดหงิดแล้ว เรามีเวลาดูได้เยอะ เกิดไปนั่งกับคนที่เราชอบ พาแฟนเราไปนั่ง คุยกันมา 3 ชั่วโมงแล้ว ตาย หมดเวลาแล้ว นึกว่า 5 นาที ยังไม่ได้ดูจิตตัวเองเลย มัวแต่คุยกันเพลิน เพราะฉะนั้นบางทีสิ่งที่เราไม่ชอบ สิ่งที่มันไม่ดี มันกระตุ้นให้เราปฏิบัติได้ active ขยันขันแข็งในการปฏิบัติ

ส่วนที่ความสุข ความสบาย ความถูกอกถูกใจ มันทำให้เราเผลอเพลิน ความเผลอเพลิน เรียก นันทิราคะ เพลินไปในสิ่งที่ชอบ เป็นกุศลหรืออกุศล เป็นอกุศล ฉะนั้นเวลาเราไปนั่งจีบสาวสักคน เราก็มีความสุขเพลิน ให้รู้ว่าจิตกำลังเป็นอกุศลอยู่ พอรู้หลายๆ ทีก็ต่างคนต่างไป ไปด้วยกันไม่ได้แล้ว เพราะเจอหน้าเธอทีไร อกุศลขึ้นทุกทีเลย ใจมันรักกุศล ไม่เอาแล้ว เจอยายคนนี้ทีไร ไม่ได้ภาวนา หมดเวลาไปทุกวันๆ ขนาดเจอกันวันหนึ่ง 2 – 3 ชั่วโมง ยังเสียเวลา 2 – 3 ชั่วโมง ถ้าแต่งแล้วมาอยู่ด้วยกัน ก็คงเสียเวลาทั้งชาติเลย ไม่คุ้ม

ฉะนั้นหลวงพ่อถึงบอกพวกพระหลวงพ่อ ถ้าไม่แต่งได้ก็ดี ผู้หญิงก็เหมือนกัน แต่งแล้วก็ต้องไปทำมาหากิน เลี้ยงผู้ชาย ยุคนี้ผู้ชายไม่ค่อยทำมาหากินแล้ว เพราะฉะนั้นเราเป็นโสดก็สบายดี บางคนกลัวเป็นโสดแล้วเดี๋ยวไม่มีลูก แก่ๆ แล้วลูกไม่เลี้ยง มันหมดยุคที่ลูกเลี้ยงพ่อแม่แล้ว ต้องหาทางช่วยตัวเองให้ได้ ผู้ใหญ่มันต้องเลี้ยงเด็ก แล้วเด็กของเราไม่เคยโตเป็นผู้ใหญ่สักทีเลย ก็เป็นเด็กทั้งชาติ ไม่ต้องไปหวังหรอก

ฉะนั้นเราเป็นโสดได้เราก็สบาย ถ้าเราพลาดพลั้งมีคู่ไปแล้ว ก็อย่าไปมีลูกๆ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า บัณฑิตๆ ไม่ปรารถนาบุตร ไม่ใช่มีลูกเยอะๆ แล้วดี อันนี้ท่าน contrast กับคำสอนของพราหมณ์ยุคก่อน พราหมณ์นี้จะต้องมีลูกชายเพื่อจะได้เอาไว้ทำพิธี ทำยัญกรรมบวงสรวงอะไรอย่างนี้ เวลาตายจะได้ขึ้นสวรรค์ ถ้าไม่มีลูกจะตกนรกขุมหนึ่ง ชื่อนรกปุตตะ ปุตตะก็คือลูกชายนั่นล่ะ พระพุทธเจ้าบอกว่า ถ้ามีลูกก็ตกนรกขุมปุตตะ มีลูกแล้วเหมือนตกนรกทั้งเป็นเลย จะกินก็กินไม่ลง ต้องแบ่งไปให้ลูกกินก่อน จะนอนก็นอนไม่สบาย เดี๋ยวลูกมันก็ร้อง เราก็ต้องตื่น ตกนรกทั้งเป็นแล้ว

ฉะนั้นไม่แต่งงานได้ก็ดี ไม่มีคู่ได้ก็ดี ถ้ามีแล้วก็อย่ามีลูก บางคนก็เจ้าเล่ห์ บอกพระพุทธเจ้าบอก บัณฑิตไม่ปรารถนาบุตร ถ้าอย่างนั้นบัณฑิตต้องปรารถนาธิดา อยากมีลูกสาว ไม่ใช่ บุตร ตัวนี้คลุมทั้งลูกหญิง ลูกชาย มันเจ้าเล่ห์ ถ้ามี มันมีแล้วทำอย่างไร มีแล้ว มีหน้าที่ เอามาปล่อยไม่ได้ เอาหมาเอาแมวไปปล่อยวัดอะไรอย่างนี้ เอาลูกไปปล่อยวัดนี่ไปกันใหญ่ หรือเอาลูกไปทำแท้ง อย่าทำ

ทำแท้งบาปที่สุดเลย ฆ่าสัตว์ซึ่งสัตว์ตัวนั้นยังไม่ได้มีความผิดในชีวิตนี้ แต่มันมีความผิดในอดีต มันถึงถูกฆ่า แต่เราไม่มีสิทธิ์ไปทำให้สัตว์นั้นตาย แต่ถ้าฆ่าไปแล้ว ทำแท้งไปแล้วจะทำอย่างไร ก็อย่าทำอีกๆ รู้ว่ามันไม่ถูก ตั้งใจทำบุญทำกุศล อุทิศส่วนกุศลไป อดีตแก้ไขไม่ได้แล้ว ทำปัจจุบันให้ดี นี่บอกทางหนีทีไล่ไว้ให้เยอะเลย ที่สำคัญก็คืออยู่กับปัจจุบันนี่ล่ะ รู้เนื้อรู้ตัวไป อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป ถ้าอ่านได้ถี่ๆ แล้ว ต่อไปเราจะไม่ทำชั่ว ศีลอัตโนมัติจะเกิด

เวลาเราคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง พอมันคิดไปด้วยราคะ เราก็รู้ มันคิดไปด้วยโทสะ เราก็รู้ มันคิดไปด้วยความหลง เราก็รู้ ความหลง เช่น หลง ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี เกิดจากความหลงผิด เกิดจากโมหะ เป็นวิหิงสาวิตก อย่างเมื่อก่อนมีประเทศหนึ่งเขานับถือพระศิวะ มีชนเผ่าหนึ่ง นับถือพระศิวะแล้ววิธีที่จะบวงสรวงพระศิวะ ไม่ใช่แค่ฆ่าแพะฆ่าแกะอะไร ต้องฆ่าลูกชายคนโต ตัดหัวถวายพระศิวะ

พระศิวะคงไม่ได้อยากได้ แต่พวกนี้มันมีโมหะครอบงำ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี เอาเด็กผู้ชายคนโต พออายุ 12 ขวบเอาไปฆ่า ถึงปีที่จะต้องฆ่าเด็กผู้ชายที่เป็นลูกคนแรกเพื่อถวายพระศิวะ ถ้าหลวงพ่อเป็นพระศิวะจะต้องสาปแช่งเลย ทำไมมันโง่อย่างนั้น เขาบอกว่าที่ฆ่าลูกแล้วไปถวายพระศิวะ เป็นการบูชาที่สูงที่สุด คือบูชาในสิ่งที่ตัวเองหวงแหนที่สุด รักที่สุด อันนี้มันเข้าใจผิดแล้ว สิ่งที่คนเรารักที่สุด ไม่ใช่ลูกชาย สิ่งที่ตัวเรารักที่สุด คือตัวเราเอง

ฉะนั้นถ้าจะถวายสิ่งที่ตัวเองรักที่สุดก็ไปฆ่าตัวตายไปสิ อันนี้เอาลูกไปฆ่า ทำไมเอาลูกไปฆ่า พระศิวะจะได้ชอบตัวเอง เห็นไหมมันทำด้วยกิเลสล้วนๆ เลย ด้วยโมหะ อย่างนี้ที่เรียกว่าวิหิงสาวิตก หรือพวกลัทธิอุดมการณ์ทั้งหลาย จะเป็นประชาธิปไตย จะเป็นคอมมิวนิสต์อะไรอย่างนี้ ใครเห็นต่างก็ไปไล่ฆ่าเขา อันนี้เบียดเบียนด้วยความหลง เราชาวพุทธจะต้องฉลาด ไม่หลงกับกิเลสพวกนี้

 

โลกุตตระอาศัยตั้งต้นในการคอยหมั่นสังเกตจิตใจของตัวเอง

เพราะฉะนั้นเรามีสติ รู้เนื้อรู้ตัว อ่านจิตอ่านใจไปเรื่อยๆ ความคิดของเราก็จะถูกต้อง เมื่อความคิดของเราถูกต้องแล้ว การกระทำของเราก็ถูกต้อง ความคิดถูกต้องก็คือ สมเหตุสมผล ไม่คิดด้วยอำนาจของราคะ โทสะ โมหะ พอความคิดเราถูก คำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตก็จะถูก แล้วชีวิตเราจะสะอาดหมดจดมากขึ้นๆ อกุศลที่มีอยู่จะถูกละไป อกุศลใหม่จะไม่เกิดในขณะที่เรารู้สึกตัวอยู่ กุศลที่ยังไม่เกิดจะเกิด เกิดอย่างไร ตรงที่มีสตินั่นล่ะ คือกุศล แล้วกุศลที่เกิดแล้วก็จะเจริญยิ่งขึ้นๆ ก็จะได้ศีล ได้สมาธิที่ดี ได้ปัญญา สุดท้ายจะได้ถึงโลกุตตระ ได้โลกุตตระ อาศัยการตั้งต้นในการคอยหมั่นสังเกตจิตใจของตัวเองนี่ล่ะ

เพราะฉะนั้นสังเกตไป จิตใจเราเปลี่ยนแปลงตามการกระทบอารมณ์ เกิดราคะ โทสะ โมหะบ้าง เกิดกุศลบ้าง คอยรู้ๆๆ ไปเรื่อยๆ ต่อไปความคิด คำพูด การกระทำของเราก็จะดี อกุศล มันก็จะเสื่อมไป กุศลมันก็จะเจริญขึ้น สติ สมาธิของเราก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นๆ จิตไม่มีสมาธิก็เพราะถูกกิเลส มันลากไป ถูกนิวรณ์มันลากเอาไป กิเลส นิวรณ์ก็กิเลสนั่นล่ะ สมาธิก็เสีย ถ้าเรามีสติอยู่ กิเลสมันเข้ามาไม่ได้ สมาธิ มันก็มีอัตโนมัติแล้ว สติ เรารู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ก็มีสติอยู่แล้ว ในที่สุดสติก็อัตโนมัติ สมาธิก็อัตโนมัติ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว รู้สึกตัวอยู่ ปัญญามันก็จะเกิด มันจะเห็นความจริง กายนี้ไม่ใช่เรา ใจนี้ไม่ใช่เรา มีแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอรู้แจ้งเห็นจริงตรงนี้แล้ว จิตก็ล้างกิเลส เกิดอริยมรรค เกิดอริยผลขึ้นมา

เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญของการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าบอก ท่านไม่เห็นอะไรสำคัญเท่าตัวนี้เลย ที่จะเป็นจุดตั้งต้น ที่จะทำให้อกุศลดับไป กุศลจะเจริญขึ้น จนบรรลุมรรคผล ทำให้อริยมรรคสมบูรณ์ขึ้นมา ฉะนั้นพวกเราจะต้องหัดรู้สึกตัว ฝึกไป ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ถ้าใจเราหลงไป เวลายืน เดิน นั่ง นอน แล้วใจก็ล่องลอยไปที่อื่น เรารู้ทันว่าจิตล่องลอย เวลาเรากิน จิตใจเมามัน ก็รู้ว่าเมามัน กินไป ก็คิดเรื่องอื่นไป รู้ว่าจิตใจหลงไปแล้ว ปากเคี้ยวไปแล้ว แต่ไม่รู้รสเลย ใจมันหนีไปที่อื่น

กระทั่งขับถ่าย จะไปนั่งส้วม เวลาท้องผูก จิตใจไม่สบาย รู้ว่าไม่สบาย พอขับถ่ายได้แล้วสบายใจ รู้ว่าสบายใจ ถ่ายแล้วถ่ายอีกๆ กลุ้มใจอีกแล้ว รู้ว่ากลุ้มใจ เห็นไหมกระทั่งเข้าส้วมก็ภาวนา ไม่มีช่องว่าง ไม่อย่างนั้นเกิดไปตายในส้วมจะทำอย่างไร ไม่ยอมเจริญสติตอนเข้าส้วม บางคนบอกอย่าไปภาวนาในส้วม บาป พระพุทธเจ้าไม่เคยสอน พูดเอาเอง จะบาปอะไร มีสติอยู่ บาปมันเกิดได้ไหม ไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นเข้าส้วมก็ต้องมีสติ เกิดล้มหัวฟาดพื้น หัวแตกตายอะไรอย่างนี้

หรือบางทีอาบน้ำอากาศเย็นๆ อาบน้ำ เอาน้ำรดหัวซู่เลย เส้นเลือดในสมองมันต้องโป่ง ขยายตัว เพื่อให้เลือดขึ้นไปเลี้ยง ฉะนั้นหัวเย็นเกินไปอันตราย ปรากฏเส้นเลือดขยายมากไป แตก ตาย อยู่ในห้องน้ำก็ตายได้ ฉะนั้นอยู่ตรงไหน ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ขับถ่าย แถมให้ ก็ต้องรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวสำคัญที่สุด

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
4 ธันวาคม 2565