วันนี้มีเณรมาวัดเยอะแยะมากเลยกับลูกชี ไม่ใช่แม่ชี เล็กๆ เรียกลูกชีก็แล้วกัน เยอะเลย โรงเรียนนี้หลวงพ่อเคยไปเทศน์หลายครั้งเหมือนกัน เป็นโรงเรียนวิถีพุทธ สอนเด็ก พัฒนาทางจิตใจด้วย ไม่เฉพาะพัฒนาวิชาการ วิชาการมันเรียนง่าย ไม่ยากหรอก การพัฒนาจิตใจนั้นยาก พัฒนาตั้งแต่เด็กๆ นี้ดีมากเลย โตแล้วพัฒนายาก
ทำไมโตแล้วพัฒนายาก เพราะจิตนั้นมีธรรมชาติไหลไปตามความเคยชิน ตอนโตถ้าไม่ได้อบรมมาแต่เด็ก จิตมันเคยชินที่จะวุ่นวายอยู่กับโลก จะให้มาปฏิบัติอะไรนี้ ทำยาก ยิ่งยุคนี้ยิ่งยากหนักเข้าไปอีก เดินจงกรม กระทั่งพระบางวัด พระอาจารย์อ๊าเพิ่งเล่าให้ฟัง แต่เดิมก็ขยันภาวนา นี้เขามี Wifi มาติดให้ในวัด พระก็เลยเปลี่ยนเป็นควายไปเลย เดินจงกรมแล้วก็ดาวน์โหลดข้อมูลไว้ในมือถือ เดินกลับมาแล้วก็มาดูว่าถึงไหนแล้ว แล้วก็กลับไปกลับมา อย่ามาเดินจงกรมเลย เสียเวลา หลอกตัวเอง หลอกคนอื่นเปล่าๆ พอสิ่งยั่วยุมันเยอะ แล้วก็ไม่ได้ฝึกมาแต่เด็กๆ ใจมันไม่โน้มเอียงที่จะปฏิบัติ
ถ้าสังเกตให้ดี ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ท่านจะมีของเก่าท่าน กระตุ้นเตือนให้ลงมือปฏิบัติ บางองค์ตอนรุ่นๆ วัยรุ่นยังลืม จะไปจีบสาว แล้วก็สติปัญญามันทันขึ้นมา เห็นความไม่สวยไม่งาม อย่างมีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านชอบสาวคนหนึ่งในหมู่บ้านเดียวกัน ก็อยากจีบ คอยตามดูเขาเรื่อยๆ วันหนึ่งไปดูเขาไปขับถ่ายใต้ต้นไม้ ใต้ต้นพุทรา ท่านแอบอยู่บนต้นพุทราพอดี จะดูสาว เห็นผู้หญิงมานั่งขับถ่ายอยู่ข้างล่าง ก็แกล้งเขย่าต้นพุทรา ให้ลูกมันหล่นลงมา ผู้หญิงนี้ก็กระเถิบๆๆ ไป ไปหยิบพุทรามากิน พอเขาไป ท่านก็ลงมา เห็นปฏิกูล เห็นอสุภะ เลยไม่เอาแล้ว ความสวยความงามมันของหลอก
ถ้าเป็นคนซึ่งมันไม่มีบุญเก่า ไม่มีบารมีเก่าแล้ว มันจะไปแอบดูผู้หญิง มันคงดูสนุกไป นี้บุญบารมีท่านสะสมมา ท่านก็รู้สึกมันไม่น่าสนใจอีกต่อไปแล้ว มีครูบาอาจารย์หลายองค์ที่ท่านจะมีประสบการณ์ เห็นโลกนี้ไม่มีสาระแก่นสารอะไร ในรุ่นหลังๆ มา หลวงพ่อก็เคยรู้จักมีองค์หนึ่ง ท่านบอกว่าตอนเด็กๆ ตอนวัยรุ่นไปดูลอยกระทง ก็เพลิดเพลินลืมตัวลืมตัวไป ตอนเขาจุดพลุ ไปยืนอยู่ใกล้ๆ ที่เขาจุดพลุ ไม่ทันระวัง มันเปรี้ยงขึ้นมา ตกใจ พอตกใจแล้วแทนที่จะโวยวายอะไรขึ้นมา เปล่า จิตรวมเลย จิตรวมพรึบเลย สมาธิเกิด จิตตั้งมั่น ขันธ์แยก อย่างนี้คนเคยทำมาแล้ว
ทำตัวให้เป็นตัวอย่างกับลูกกับหลาน
เด็กๆ ส่วนใหญ่ ไม่ใช่ทุกคนอินทรีย์แก่กล้า ถ้าผู้ใหญ่รู้จักป้อนสิ่งที่ดีๆ ให้เขาเรียนรู้ อย่างสมัยก่อนเด็กๆ ยังไม่ได้เรียนหนังสือ ถึงวันพระผู้ใหญ่ก็จะพาไปวัด หลวงพ่อเข้าวัดตั้งแต่ยังไม่ขวบหนึ่ง นอนแบเบาะนี่ล่ะ ผู้ใหญ่พาไปเข้าวัดแล้ว ไปวัดโพธิ์ ไปฟังเทศน์ตลอดพรรษา ก็ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก เราก็นอน เราเด็ก โตขึ้นมาก็คุ้นเคยอยู่กับพระ กับวัด ใจมันก็โน้มเอียง รู้สึกว่าพระศาสนานี้ มีอะไรบางอย่างที่เรายังไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ แต่น่าจะดี เห็นคนที่เขาไปก็ดูมีความสุข คนเฒ่าคนแก่ ในขณะที่คนเฒ่าคนแก่ที่เขาไม่ได้ไปวัด ดูวุ่นวาย ด่ากันไปด่ากันมารอบๆ บ้าน เห็นอยู่
พอใจมันคุ้นเคยกับวัด คุ้นเคยกับพระ โตขึ้นมาหน่อยมันก็คุ้นเคยกับธรรมะ ก็ได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็น เรียนรู้โดยที่ผู้ใหญ่แสดงให้ดู เขาสอน ไม่ต้องพูด แต่เขาทำให้ดู ถึงวันพระเขาไปถือศีล เราก็เห็น เห็นเขาไปฟังเทศน์ ตั้งอกตั้งใจฟัง เราก็เห็น ต่อมาก็เลยฟังเองด้วย เวลาพระเทศน์อะไรสนุกๆ เราก็ฟัง ตอนไหนไม่สนุกเราก็ไปวิ่งเล่น ใจมันคุ้นเคย มันจะไม่หนีออกไปจากพระศาสนา ตอนเรียนประถมปลาย เรียนโรงเรียนวัด มีเวลากลางวัน ร้อน เข้าไปนั่งในโบสถ์ โบสถ์เก่าแล้ว พระประธานก็เก่าเป็นปูนยุ่ยๆ เคยเอานิ้วไปจิ้มหัวเข่าท่าน เป็นรูเลย ทะลุ คือเปื่อยหมดแล้ว
ในใจตอนนั้นก็นึก ยังเด็ก โอ้ พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว เปื่อยไปหมดแล้ว หันไปมองออกไปนอกโบสถ์ เห็นพระเดินไปเดินมา ใจมันรู้สึกว่านี่ไม่ใช่พระหรอก นี่ก็ชาวบ้านนั่นล่ะแต่ว่าแต่งตัวเป็นพระ ใจมันรู้สึกอย่างนั้นเอง แล้วก็นั่งสมาธิของเราทุกวันๆ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นั่งอยู่ในโบสถ์ ก็ฝึก ใจมันโน้มเอียงอยากปฏิบัติธรรม ยังไม่รู้เลยว่ามันปฏิบัติอย่างไร ก็ไปนั่งหายใจเอา เพราะท่านพ่อลีท่านสอนมา ให้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ใจมันสนใจธรรมะ
ตอนวัยรุ่นก็ลืมเหมือนกัน ก็ลืมธรรมะเหมือนกัน สมัยหลวงพ่อเข้ามหาวิทยาลัย เป็นช่วงใกล้ 14 ตุลาคมแล้ว การเมืองร้อนแรงในมหาวิทยาลัย ก็ไปเดินขบวนไปอะไร หลวงพ่อก็เป็นนักเดินขบวนเหมือนกัน พอหลัง 14 ตุลาคม ออกไปเผยแพร่ประชาธิปไตย ก็เห็นผู้นำนักศึกษา กลางวันไปเจอชาวบ้านพูดเรื่องประชาธิปไตย ค่ำๆ มานั่งคุยกันเอง คุยเรื่องไปเที่ยวผู้หญิงเรื่องอะไร มันไม่ใช่ รู้สึกมันก็ไม่ใช่หรอก นี่มันก็คนธรรมดานั่นล่ะ ใจมันก็รู้สึกอย่างนั้น เราก็ไม่เอาอย่างเขา เรามีเวลาว่างเมื่อไรก็ภาวนา
ช่วงหนึ่งก็จะรู้เลยว่า ลัทธิอุดมการณ์ทั้งหลาย ตั้งกันขึ้นมาดูเหมือนจะดี ดูมีเหตุมีผล ลึกๆ ลงไปมันก็มีคนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ เหนือคนกลุ่มอื่นๆ อีก จะเป็นประชาธิปไตย หรือไม่ประชาธิปไตย ทุกคนไม่เคยเสมอภาคกัน พอเห็นอย่างนี้รู้สึกว่าเขาขาดอะไร ทำไมเขาเป็นผู้นำ แล้วเขาก็ยังทำตัวเหมือนชาวบ้านธรรมดา เหมือนคนทั่วๆ ไป คือตามใจกิเลส พูดถึงอุดมการณ์แต่ลงมือปฏิบัติ ก็ยังแพ้กิเลส ใจมันเฉลียวใจว่า สิ่งที่เขาขาดคือธรรมะ จะลัทธิ จะอุดมการณ์อะไร สิ่งที่ขาดก็คือ ถ้ายังไม่มีธรรมะในจิตใจ ก็พร้อมจะทำชั่ว พร้อมจะเห็นแก่ตัว พร้อมจะเอาอุดมการณ์มาเป็นข้ออ้าง เพื่อจะได้อำนาจ
พอเรียนจบ กำลังเรียนปริญญาโท เรียนปริญญาตรีจบแล้ว เลยไปบวชวัดชลประทานฯ ใจมันโน้มกลับมาหาศาสนาอีก เพราะมันเคยคลุกคลีมาแต่เด็ก เพราะฉะนั้นหลวงพ่อก็ดีใจ เห็นเณรน้อยๆ เห็นลูกชีทั้งหลายมา ถึงจะบวชชั่วคราว แต่ให้มันมีอะไรติดอยู่ในใจสักอย่างหนึ่ง วันหนึ่งข้างหน้าเวลาที่ชีวิตมีปัญหาขึ้นมา อาจจะนึกถึงวันเวลาช่วงหนึ่งที่เคยบวช เคยศึกษาธรรมะ ก็จะพบทางรอด พบทางรอด พบทางออกสำหรับชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นข้อดี เหมือนพวกเรามีลูกมีหลาน พยายามพาเข้าวัด ดีแล้ว แต่เลือกหน่อย พาเข้าวัดแล้วกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็อย่าเข้าเลย อยู่บ้านดีกว่า
อย่างเข้าวัดแล้วก็ไปไหว้ผีสางนางไม้ ไหว้เทวรูป ไหว้อะไรต่ออะไร ไม่รู้จักไตรสรณคมน์ ก็เลือกๆ เอา พาให้เด็กได้รู้ได้เห็นบ้างก็จะดี ที่สำคัญที่สุดเลยที่จะฝึกเด็กได้ดี ก็คือเราทำตัวอย่างให้เขาดู ลำพังการสอนด้วยการพูด ใครๆ มันก็พูดได้ ลองบอกลูกบอกว่าให้รักษาศีล 5 ตกเย็นนั่งกินเหล้า เด็กมันไม่เชื่อหรอก เพราะฉะนั้นการที่พวกเราลงมือปฏิบัติธรรมนั้นล่ะ แล้วเด็กในบ้านเห็น อาจจะชวนเขามานั่งสมาธิ มาไหว้พระ สวดมนต์ แต่อย่าไปเคี่ยวเข็ญมาก เคี่ยวเข็ญมากเดี๋ยวแอนตี้ มันรู้สึกเหนื่อยเกินไป
ค่อยๆ ทำไป ค่อยๆ ปลูกฝังไป ตอนนี้มัน Generation Alpha แล้ว เด็กมันเตลิดหลุดโลกกันแล้วยุคนี้ ฉะนั้นเราทำตัวอย่างให้เขาเห็น เดี๋ยววันหนึ่งเวลาชีวิตเขามีความทุกข์ เขาจะได้นึกถึงว่า ในโลกนี้อาจจะยังมีทางออก นอกเหนือจากการแก่งแย่งชิงดีกัน ทางออกสำหรับชีวิตยังมีอีกสายหนึ่ง ฉะนั้นเราทำตัวให้เป็นตัวอย่างกับลูกกับหลาน อย่าไปนั่งกินเหล้า อย่าไปสูบบุหรี่ อย่าไปคบคนชั่ว ค่อยๆ ฝึกตัวเอง แบ่งเวลาไว้ เจริญสติ ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำให้เขาเห็น ทำให้ดูดีกว่าพูด พูดใครก็พูดได้ แต่ทำให้ดูมันชัดเจนกว่า
สิ่งที่เราต้องทำ 3 อย่าง
สิ่งที่พวกเราต้องทำก็มี 3 อย่าง อันหนึ่งถือศีล 5 ไว้ ตั้งอกตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ให้ดี ให้เด็กเขาเห็น ถือศีล 5 แล้วมันดี ไม่ใช่ถือศีล 5 แล้วลำบาก งานที่ 2 ก็คือแบ่งเวลาไว้ทำในรูปแบบ ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ทำให้เขาดู ทำให้เขาเห็น อย่าไปบังคับว่าเขาต้องทำตาม ทำให้เขาเห็นไป ที่เหลืองานที่ 3 คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตัวนี้เป็นงานยาก ก็ต้องมีสติกำกับใจของเราอยู่สม่ำเสมอ เวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ กระทบรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางร่างกาย แล้วก็กระทบอารมณ์ทางใจ จิตมันจะเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา เกิดความสุข เกิดความทุกข์ เกิดความไม่สุขไม่ทุกข์ขึ้นมา มันจะเกิดปฏิกิริยาที่เป็นบุญบ้าง เป็นบาปบ้าง โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้น นี่เป็นปฏิกิริยาของจิต ไม่ใช่ตัวจิตหรอก
พวกเราก็คอยมีสติไว้ เรื่องการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็กระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวอะไรมากระทบ มีใจมันก็กระทบความคิดนึกปรุงแต่งทั้งหลาย พอกระทบแล้วจิตมันสะเทือนขึ้นมา มันปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วขึ้นมา ให้เรามีสติรู้อยู่ที่จิต อย่าไปเฝ้ามันไว้ ให้ความรู้สึกมันเกิดแล้วก็ค่อยรู้เอา อย่าไปนั่งจ้องจิตอยู่ ถ้าจ้องจิตทำผิดแล้ว ใช้ไม่ได้ หลวงพ่อก็เคยทำผิด หลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิต หลวงพ่อไปนั่งดูจริงๆ ว่าง สว่าง ไม่มีอะไร สงบ สว่าง แล้วก็โง่อยู่อย่างนั้น หลวงปู่ท่านบอกว่า “ทำผิด ให้ไปดูใหม่ ให้ไปดูจิต ไม่ใช่ให้ไปแทรกแซงบังคับจิตให้มันนิ่ง ให้มันว่าง” ก็เลยหัดดูใหม่ ก็จะเห็นจิตมันเปลี่ยนแปลงไป ทุกคราวที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้ว จิตมันจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เป็นความสุขบ้าง เป็นความทุกข์บ้าง เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง หัดรู้บ่อยๆ รู้ไปเรื่อยๆ
หลวงพ่อแต่เดิมเป็นพวกโทสจริต ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย รวดเร็ว รุนแรง พอมาภาวนาแล้วก็เห็นโทสะมันเกิดทั้งวันเลย ถ้าไม่รู้ทันโทสะมันก็แรง ถ้ารู้ทันมันแค่หงุดหงิดเล็กๆ เราก็เห็นแล้ว ทีแรกต้องรอให้กิเลสแรงๆ ถึงจะเห็น พอเราหัดรู้หัดดูบ่อยๆ จิตมันไหวตัวปรุงกิเลสนิดๆ ขึ้นมา ตัวเล็กๆ ก็เห็นแล้ว อย่างความขัดใจเล็กๆ เกิดขึ้นเราเห็นแล้ว กิเลสก็ไม่มีโอกาสเติบโตขึ้นไปกลายเป็นโทสะรุนแรง กิเลสที่รุนแรงมันก็เริ่มต้นมาจากกิเลสที่เบาๆ กิเลสที่เล็กๆ เหมือนไฟไหม้ ไหม้ทั้งบ้านทั้งเมือง มันก็มาจากจุดเล็กๆ ทั้งนั้น ไม่ได้ไหม้พร้อมกัน อยู่ๆ ก็ไหม้ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมกันได้หรอก
กิเลสจะเกิดขึ้นในใจเรา แล้วเผาใจเราได้ ก็เริ่มจากจุดเล็กๆ พอตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ เราเคยมีกิเลสตัวไหนคุ้นเคย มันก็จะเกิดบ่อย อย่างหลวงพ่อคุ้นเคยกับโทสะ มันเป็นโทสจริต โทสะมันก็เกิดบ่อย พอโทสะเกิดเราทำอย่างไร เราไม่ทำอะไร เราก็แค่รู้ว่านี่โทสะเกิดขึ้น โทสะตั้งอยู่ โทสะดับไป รู้อย่างนี้ ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมันหรอก หรือเวลาราคะเกิดขึ้น ก็ดูไปราคะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ส่วนโมหะดูยาก โมหะ โมหะมันมีหลายเกรด อย่างโมหะ ความฟุ้งซ่านอะไรพวกนี้ยังดูง่าย ใจเราฟุ้งซ่าน เรารู้ ใจเราลังเลสงสัย โลเล งง ก็รู้ อย่างนี้ยังง่าย
โมหะละเอียดขึ้นไปคือหลง หลงจริงๆ ไม่ใช่ว่าต้องหลงแล้วฟุ้งซ่าน หลงแล้วสงสัย แค่หลงมันก็โมหะแล้ว หลงเป็นอย่างไร หลงก็คือลืมตัวเอง มีกายลืมกาย มีจิตใจลืมจิตใจ ก็เรียกว่าหลง เช่น เรานั่งทำกรรมฐานของเรา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอยู่ดีๆ แป๊บเดียวหลงไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ยังไม่มีโลภ ไม่มีโกรธเลย แต่จิตหลงแล้ว หลงไปในโลกของความคิดแล้ว เราก็รู้ทันว่านี่จิตหลงไปในความคิดแล้ว หรือเวลาเราเห็นอะไรน่าสนใจ จิตมันพุ่งทะยาน ส่งกระแสทะยานเข้าไป ไปดูรูปที่มันสนใจ เราก็รู้ว่า โอ้ นี่จิตหลงไปดูรูปแล้ว หลงทางตา หรือมันสนใจเสียงอะไร จิตมันก็ส่งกระแสทะยานไปทางหู เราก็มีสติรู้ว่านี่จิตส่งกระแสไปทางหูแล้ว มันก็ดับ จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาอีก
คอยรู้ทันเป็นลำดับๆ ไป เริ่มแต่รู้ทันอย่างง่ายๆ คือรู้ทันว่าตอนนี้จิตสุขหรือจิตทุกข์ หรือจิตไม่สุขไม่ทุกข์ อันนี้ง่ายๆ ที่สุดแล้ว ละเอียดขึ้นมาก็จะเห็นกุศล อกุศล มันเกิดขึ้น ละเอียดขึ้นไปอีก มันก็จะเห็นจิตหลงไปทางทวารทั้ง 6 หลงไปทางตา หลงไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เวลาดูจิตเราดูกันอย่างนี้ ไม่ได้ไปนั่งจ้องอยู่ที่ตัวจิต ทำจิตให้ว่าง ไม่ให้คิด ไม่ให้นึก ไม่ให้ปรุง ไม่ให้แต่ง อันนั้นล่ะกำลังปรุงแต่งเขาเรียกปรุง แต่งอเนญชาภิสังขาร ปรุงแต่งความนิ่ง ความว่าง แล้วไม่รู้ทัน อันนั้นจิตตกอยู่ใต้อวิชชาเต็มร้อยเลย
ฉะนั้นเราจะดูจิตดูใจ ไม่ใช่ไปจ้องตัวจิตอยู่เฉยๆ การดูจิต ให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทำงานไป มันทำงานแล้วมันกระทบอารมณ์แล้ว เกิดความรู้สึกขึ้นที่จิตใจ เราก็รู้ทัน ของหยาบๆ ดูง่ายๆ ก็สุข จิตใจเราตอนนี้มีความสุข จิตใจตอนนี้มีความทุกข์ จิตใจตอนนี้ไม่สุขไม่ทุกข์ ดู 3 อย่างนี้ง่ายๆ ถ้าดูตรงนี้ได้แล้ว ต่อไปก็ดูได้ละเอียดขึ้น เวลามีสุข สิ่งที่ซ่อนอยู่หลังความสุขคือราคะ เวลามีทุกข์ สิ่งที่ซ่อนอยู่หลังความทุกข์ก็คือโทสะ เวลาเฉยๆ สิ่งที่ซ่อนอยู่คือโมหะ ที่จริงโมหะซ่อนอยู่ทุกที่ แต่ว่าตอนมีราคะก็ต้องมีโมหะด้วย มีโทสะก็ต้องมีโมหะเกิดร่วมด้วย ถ้าไม่มีโมหะตัวเดียว ราคะ โทสะ ไม่มีหรอก
กิเลสทั้งหลายเกิดตอนหลง ถ้าไม่หลง มีสติอยู่กิเลสไม่มีหรอก บางทีราคะ โทสะ มันไม่แรง กระทบอารมณ์ที่เพลนๆ จิตมันก็เพลินๆ หลงๆ ไป มีโมหะ ไม่ได้มีราคะ โทสะ อะไร แต่ว่ามีโมหะเดี่ยวๆ โมหะมีลักษณะเฉพาะตัวอย่างหนึ่ง เกิดเดี่ยวๆ ได้ แต่ราคะต้องเกิดร่วมกับโมหะเสมอ โทสะต้องเกิดร่วมกับโมหะเสมอ ถ้าไม่มีโมหะคือไม่หลง ราคะ โทสะ ไม่เกิดหรอก แต่โมหะอยู่ตัวคนเดียวก็เกิดได้ มันเก่งตรงนี้ มันดูยาก เพราะฉะนั้นเราก็หัดดูเท่าที่ดูได้
ถ้าจะดูจิตดูใจตัวเอง ตอนแรกๆ ก็หัดอ่านแค่ว่าจิตใจตอนนี้สุข จิตใจตอนนี้ทุกข์ จิตใจตอนนี้ไม่สุขไม่ทุกข์ ดูแค่นี้ก็พอแล้ว แล้วต่อไปก็จะเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเวทนา เบื้องหลังสุข เบื้องหลังทุกข์ เบื้องหลังไม่สุขไม่ทุกข์ ก็คือตัวโลภ ตัวโกรธ ตัวหลง มันซ่อนอยู่ แล้วดูต่อไปชำนิชำนาญขึ้น ถึงขั้นดูจิตในขั้นละเอียด เราจะเห็นว่าจิตนี้ชอบส่งไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ อย่างพอมันเกิดราคะ มันอยากดูรูปแล้ว มันอยากเห็นรูป จิตมันก็ส่งไปทางตา หรือจิตมันได้ยินเสียงคนมาด่าเรา มีโทสะเกิดขึ้น จิตมันก็ส่งไปทางหู ไปฟังว่าเขาจะด่าอะไร เพราะฉะนั้นจิตมันจะทะยานออกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยอำนาจผลักดันของกิเลสทั้งหลายนั่นล่ะ
เราค่อยๆ ภาวนา มันจะละเอียดขึ้นๆ เบื้องต้นดูง่ายๆ ขณะนี้สุขหรือทุกข์ หรือเฉยๆ ดูแค่นี้ก่อน พอชำนาญแล้วก็จะเห็น ขณะนี้จิตเป็นกุศล หรือจิตโลภ โกรธ หลง พอดูจิตดูใจได้ชำนาญขึ้นก็จะรู้ ขณะนี้จิตเกิดที่ตา หรือที่หู หรือที่จมูก หรือที่ลิ้น หรือที่กาย หรือที่ใจ ทำไมมีคำว่า “หรือ” เพราะจิตเกิดทีละดวง จิตเกิดที่ตาก็ดวงหนึ่ง เกิดแล้วก็ดับ เกิดที่หูก็ดวงหนึ่ง เกิดแล้วก็ดับ ฉะนั้นเลยใช้คำว่า “หรือๆๆ” เพราะมันเกิดทีละอัน มันไม่ได้เกิดที่ตาและหู มันเกิดที่ตามันก็ที่ตา เกิดที่หูมันก็ที่หู คนละอันกัน จิตมันรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว
สมถะและวิปัสสนา
เราค่อยๆ เรียน ต่อไปเราก็เข้าใจจิต จิตจะสุขหรือจิตจะทุกข์ จิตจะดีหรือจิตจะชั่ว จิตจะเกิดที่ตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ ล้วนแต่ไม่เที่ยง ล้วนแต่บังคับไม่ได้ ตรงนี้คือขั้นในการเจริญปัญญาที่เป็นวิปัสสนากรรมฐานแล้ว เริ่มเห็นไตรลักษณ์ของจิตใจ เพราะฉะนั้นการดูจิตดูใจต้องเห็นไตรลักษณ์ ถ้าดูจิตแล้วเห็นจิตอยู่เฉยๆ ว่างๆ ไม่มีอะไร ว่าง อันนั้นเป็นสมถะ ฉะนั้นบางคนบอกดูจิตๆ นั้น ดูจิตจนมันไม่คิดไม่นึกอะไร อันนั้นเป็นสมถกรรมฐาน
แต่ถ้าดูจิตแล้วเห็นจิตมันเกิดดับ เช่น เดี๋ยวจิตก็สุข เดี๋ยวจิตก็ทุกข์ เดี๋ยวจิตก็เฉยๆ เดี๋ยวจิตก็เป็นกุศล เดี๋ยวจิตก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็ไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี้เห็นเลยจิตไม่ว่ามันจะเกิดตรงไหน มันจะมีอารมณ์สุข ทุกข์ หรือดีชั่วอะไร มันก็อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับทั้งสิ้น มันแสดงอนิจจังให้ดู ตรงนี้ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ถ้าเราเห็นแต่ตัวสภาวะเฉยๆ อันนั้นเป็นสมถะ อยู่ในอารมณ์อันเดียว อย่างเราดูจิตให้ว่าง เราไปดูว่าง มีอันเดียวคือว่างๆๆๆ อยู่อย่างนั้น อยู่ได้ทีหนึ่งหลายๆ ชั่วโมง อันนั้นเป็นสมถกรรมฐาน ดูว่าง มันเป็นอรูปฌาน จะเข้าอรูป เรียกว่าอากาสานัญจายตนะ ดูว่าง
ดูว่างไปดูว่างมาก็รู้สึก การดูว่างนี้จิตยังออกนอกอีก ย้อนมาดูผู้รู้ ดูจิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดู มันก็จะเป็นสมถะ ที่เราไปดูตัวผู้รู้เป็นสมถะ เป็นสมถะชื่อวิญญานัญจายตนะ เราไม่ดูทั้ง 2 อัน เราวางทั้ง 2 อัน ก็เป็นสมถะชื่อ อากิญจัญญายตนะ แล้วใจมันก็อ่อนกำลัง สัญญา เวทนา อ่อนลง เคลิ้มลงไป ก็เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะฉะนั้นดูจิตๆ ต้องระวัง ถ้าพลาดนิดเดียวจะไปเป็นอรูปพรหม อรูปพรหมมันเท่ แต่ว่าไปอยู่ตรงนั้นแล้วนานแสนนานเลย พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไปหลายพระองค์แล้ว ยังไม่รู้เรื่องเลย ก็ยังว่างอยู่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้นอย่าไปให้จิตมันติดในความว่าง ถ้าเราต้องการทำสมถะ น้อมจิตให้อยู่ในความว่างได้ แต่รู้ว่านี่คือสมถะ ถ้าจะเดินปัญญาต้องดูความเป็นไตรลักษณ์ของจิตใจ จิตดวงนี้มีความสุขเกิดแล้วดับ จิตดวงนี้มีความทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดวงนี้เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เกิดแล้วดับ จิตดวงนี้เป็นกุศลเกิดแล้วดับ จิตดวงนี้โลภเกิดแล้วดับ จิตดวงนี้โกรธเกิดแล้วดับ จิตดวงนี้หลงเกิดแล้วดับ จิตที่ไปดูรูปเกิดแล้วดับ จิตที่ฟังเสียงเกิดแล้วดับ จิตที่ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ เกิดแล้วก็ดับ อย่างนี้ถือว่าเราเริ่มทำวิปัสสนาแล้ว
บางคนปัญญามันแก่กล้า เป็นพวกชอบเดินปัญญา เห็นแค่อนิจจังไม่สะใจ มันยังไม่สะใจ มันดูลึกลงไปอีก จิตที่สุขเราสั่งไม่ได้ว่าจงสุข มันสุขแล้วเราก็สั่งไม่ได้ ว่าจงสุขตลอดไป จิตที่ทุกข์เราก็ห้ามมันไม่ได้ มันทุกข์ขึ้นมาแล้ว เราไล่มันก็ไม่ไป จงหายทุกข์ ก็ไล่ไม่ได้ จิตที่ดีสั่งให้เกิดก็ไม่ได้ จิตที่ชั่วห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ จิตที่ดีเมื่อเกิดแล้ว สั่งให้อยู่ตลอดไปก็ไม่ได้ อย่างเราบางทีอยากฟังธรรม ฟังไปเรื่อยๆ เราก็เบื่อ จิตที่อยากฟังธรรมมันก็ดับ เกิดจิตที่เบื่อหน่ายขึ้นมา เบื่อตัวนี้เป็นโทสะ เฝ้ารู้เฝ้าดูเราเห็นเลยว่า เราบังคับมันไม่ได้หรอก มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันจะสุข มันจะทุกข์ มันจะดี มันจะชั่ว มันจะไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ เราสั่งไม่ได้
พวกเราลองสั่งดู สั่งตอนนี้ ห้ามคิด สั่งจิตลงไปเลยว่า “ห้ามคิด” คิดไหม เห็นหรือยังว่าห้ามมันไม่ได้ ห้ามมันไม่ได้นั่นล่ะถูกต้องแล้ว ถ้าห้ามได้คือสมถะ ไปเพ่งมันให้นิ่งๆ ตรงที่เราเห็นจิตมันทำงานขึ้นมาได้เอง ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ แล้วเห็นจิตทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไป ตรงนั้นเราขึ้นวิปัสสนาแล้ว ขึ้นวิปัสสนาด้วยการดูนามธรรมแล้ว มันไม่ใช่เรื่องยากหรอก แต่จะทำวิปัสสนาด้วยการดูกาย ค่อนข้างยากหน่อย จะทำได้ดีจะต้องทรงฌาน หรือจะดูเวทนาทางกาย อันนี้ยิ่งจำเป็นใหญ่เลย ถ้าไม่ทรงฌานไปดูเวทนาทางกาย สติแตก จิตมันทนไม่ไหว
แต่ถ้าดูเวทนาทางใจ หรือดูสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว ดูจิตที่เกิดดับทางอายตนะ ดูไปได้เลย ใช้สมาธิ ขณิกสมาธิธรรมดาๆ ตามรู้ตามดูไป แต่ถ้าจะดูกาย ดูเวทนา อย่างต่ำจะต้องมีอุปจารสมาธิ ถ้าเราได้อุปจารสมาธิ เวลาดูลงที่กาย ดูเส้นผมมันจะสลายตัวเลย ดูหนังศีรษะ หนังศีรษะก็สลายเลย ถ้าจิตมีอุปจารสมาธิ มันเป็นนิมิต ดูร่างกายนี้ระเบิดเปรี้ยงเลย ดูกระดูกสลายไปหมด อันนี้เป็นกำลังของสมาธิที่สูงขึ้นไป สูงกว่าขณิกสมาธิ
พวกเรา ถ้าสมาธิเราไม่พอ ก็แนะนำให้ดูจิตดูใจไปเลย จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดีก็รู้ จิตโลภ โกรธ หลงก็รู้ แรกๆ ก็หัดง่ายๆ สุข ทุกข์ เฉยๆ ละเอียดขึ้นมาก็จะเห็นในสุขก็มีราคะ ในทุกข์ก็มีโทสะ ในเฉยๆ ก็มีโมหะ พอมีกิเลสขึ้นมาแล้ว ก็เกิดผลักดันมีตัณหาขึ้นมาสนองกิเลส ตัณหาก็คืออยากสนองกิเลส อยากดูรูป อยากฟังเสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้สัมผัสทางกาย อยากได้อารมณ์ทางใจ พอความอยากเกิด จิตก็ไปทำงาน จิตก็ออกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตรงนี้หลวงปู่ดูลย์เรียกจิตออกนอก จิตมันเคลื่อนออกไปแล้ว แล้วสิ่งที่ตามมาจากจิตออกนอกก็คือทุกข์ ความทุกข์จะเกิดขึ้น
ค่อยๆ ฝึกเป็นลำดับไป อย่ารีบร้อน ถ้าใจร้อนอยู่ๆ จะดูจิตเกิดดับทางอายตนะ ดูไม่ทัน เพราะสติเราไม่ไวพอ สมาธิเราไม่มากพอ ดูไม่ทัน เอาที่ทันๆ แค่ขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิเป็นอย่างไร การที่เรารู้สภาวธรรมถูกต้อง รู้สภาวธรรมที่กำลังมีกำลังเป็น นั่นล่ะเรียกว่าเรามีสติ ทันทีที่สติเกิดสมาธิจะเกิด อย่างที่ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่สอน ให้รู้จิตที่หลงไปคิด ถ้าไปรู้เรื่องที่คิด สัมมาสมาธิไม่เกิด แต่ถ้ารู้ว่าจิตกำลังไปคิดอยู่ จิตที่กำลังคิดนั้นดับทันทีเลย แล้วจิตรู้ก็จะเกิดขึ้น จิตรู้คือจิตที่ทรงสัมมาสมาธิแบบขณิกสมาธิ
ความพ้นทุกข์สิ้นเชิง
ฉะนั้นเราหัดดูสภาวะ เช่น จิตมันโลภก็รู้ จิตมันโกรธก็รู้ จิตมันหลงก็รู้ ถ้ามันกำลังโลภอยู่แล้วเรารู้ว่ามันโลภ ความโลภดับปั๊บ จิตจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเลย จิตมันหลง เช่นมันหลงไปคิด จิตมันหลงได้ 6 ทวาร ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่หลงคิดอยู่ทางใจ เกิดบ่อยที่สุด ครูบาอาจารย์เลยชอบเน้นให้รู้ทันจิตหลงคิด ไม่ใช่รู้เรื่องที่คิด แต่รู้ว่าจิตคิด ทันทีที่รู้ว่าจิตคิด จิตคิดจะดับจิตรู้จะเกิด จิตรู้ก็คือจิตที่ทรงขณิกสมาธินั่นเอง จะเกิดปุ๊บขึ้นมาอัตโนมัติเลย อยู่ชั่วคราวก็คิดใหม่ คิดใหม่ก็เกิดจิตคิดขึ้นมาแทน จิตรู้ดับไป แล้วพอรู้ทัน สติรู้ทันว่าจิตคิด จิตคิดก็ดับ จิตรู้ก็เกิด ก็ได้ขณิกสมาธิอีกอันหนึ่งแล้ว
พอเรารู้ได้ถี่ๆๆ ขณิกสมาธิอันนี้ก็เกิดถี่ยิบขึ้นมา มันเหมือนเราพล็อตจุด จุดทีแรกหัดทำ จุดมันจะห่างๆ แต่ว่าพอเราชำนาญขึ้น มันจะพล็อตได้ถี่ขึ้นๆๆ คือสติมันไวขึ้น เกิดสติตรงนี้แล้วไม่ต้องรอช่วงว่างๆ ปรุงแต่งไปอีก ถ้าแค่นี้เราเกิดสติอีกที พอเราหัดรู้บ่อยๆ มันจะถี่ยิบเลย หลงรู้ๆๆๆ ไปเรื่อยๆ ตรงนั้นล่ะกำลังของสมาธิของเราจะเพิ่มขึ้น มันคล้ายๆ เราเอาดินสอมาลากเส้น มองด้วยตาเปล่านึกว่าเป็นเส้น เอาแว่นขยายไปส่อง เราจะเห็นมันเป็นจุด จุดดำๆ ที่ดูตรงๆ ก็ไม่ตรงทีเดียวหรอก เอียงซ้าย เอียงขวา ยิบยับๆ ไป
ขณิกสมาธิเกิดทีละจุด แต่ว่าเกิดบ่อยๆ มันก็เหมือนเป็นเส้น มันเหมือนสมาธิมีกำลังต่อเนื่องได้ พอเรามีสมาธิอย่างนี้แล้ว เราจะเดินปัญญาได้จริงแล้ว ถ้าไม่มีสมาธิเดินปัญญาไม่ได้ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา แต่ถ้ามีมิจฉาสมาธิก็ไม่เดินปัญญา เช่น นั่งสมาธิแล้วไปดูจิตแล้วทำจิตให้ว่าง อันนั้นไม่เดินปัญญา สงบเฉยๆ แล้วถ้าไปหลงว่าตรงนี้ดี ก็เป็นวิมุตติเหมือนกัน แต่เป็นมิจฉาวิมุตติ ไม่ใช่สัมมาวิมุตติ มิจฉาวิมุตติก็คือนิพพานแบบที่ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า
ศาสนาอื่นเขาก็มีนิพพานแบบของเขา บางทีเขาก็เรียกโมกษะ เรียกศัพท์ต่างกันไป บางทีก็เรียกนิรวาณ เรียกสารพัดจะเรียก บางทีก็เรียกว่าอาตมันของเรา รวมเข้ากับปรมาตมันของพระเป็นเจ้า ก็เป็นโมกษะของเขา แต่โมกษะคือนิพพานของพุทธเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น อันนั้นยังไม่ยั่งยืน ของยังเกิดดับอยู่ สังเกตไหมลองไปดูคัมภีร์ของเขาดู พระเจ้าอวตารออกมาได้ หรือสร้างมนุษย์สร้างอะไร ก็ภาวนาแล้วกลับมารวมเข้ากับพระเจ้า ถึงจุดหนึ่งก็ดีดตัวออกมากระโดดโลดเต้น เวียนว่ายอีก มันไม่ใช่สัมมาวิมุตติ ก็ดีอย่างของเขา คือคนทำอย่างนั้นได้ก็ไม่ใช่คนชั่ว เป็นคนดี มีศีล มีธรรมอยู่
แต่ว่าของเราชาวพุทธมันเป็นอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นเราหัดให้ถูก สติก็ต้องเป็นสัมมาสติ สมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ การเจริญปัญญาเป็นสัมมาญาณะ เดินปัญญาอย่างถูกต้องคือเห็นไตรลักษณ์ ถ้าไม่ได้เห็นไตรลักษณ์ ไม่เรียกว่าสัมมาญาณะหรอก อย่างเราไปนั่งคิดว่าร่างกายเราไม่เที่ยง เป็นปฏิกูล อสุภะ อันนั้นยังไม่ใช่ ยังคิดอยู่ ยังเจือการคิดอยู่ ไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนาไม่ใช่การคิดเอา แต่เป็นการเห็นเอา เห็นความจริง เห็นความจริงของกาย เห็นความจริงของจิตใจว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ต้องเห็น
พอเห็นๆๆ ตรงนั้นเป็นสัมมาญาณะ เห็นจนแจ้ง มันรู้ความจริงแล้ว กายนี้ไม่ใช่เรา จิตนี้ไม่ใช่เรา ก็เกิดสัมมาวิมุตติขึ้นมา ขั้นที่ 1 ได้โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลขึ้น แล้วรู้ต่อไป ภาวนาต่อไป สติว่องไว สมาธิเข้มแข็งขึ้น โอกาสที่กิเลสจะรุนแรงไม่มี พอกิเลสไหวตัวนิดหนึ่งเห็นแล้ว ขาดสะบั้นเลย เพราะฉะนั้นกิเลสจะเบาบางลง เพราะสติสมาธิเข้มแข็งขึ้น อันนั้นภูมิธรรมของพระสกทาคามี ต่อมาปัญญามันแก่กล้ายิ่งขึ้น มันเห็นตัวรูปทั้งหลายนี้ ไม่ใช่ของดีของวิเศษ มันคือตัวทุกข์ รูปนี้ ร่างกายนี้ คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่ทุกข์กับสุข
อย่างพวกเราจะเห็นว่าร่างกายเรา เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็สุข อันนั้นเพราะเรายังหลงอยู่ แต่ถ้าเราสติปัญญาเราพอ จะเห็นร่างกายนี้ไม่มีอย่างอื่น มีแต่ทุกข์ล้วนๆ เลย ทุกข์มากกับทุกข์น้อยเท่านั้น พอเห็นอย่างนี้ใจมันจะวางกาย ไม่ยึดกายแล้ว แต่ถ้ายังเห็นว่ากายนี้ทุกข์บ้าง สุขบ้าง มันจะดิ้นรนหาความสุข ดิ้นรนหนีความทุกข์ ใจยังดิ้นไม่เลิกหรอก กับความรักใคร่ผูกพันในกายในรูปนี้ แต่ถ้าเห็นจริงแล้วมันคือทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตมันจะวาง ตรงที่จิตมันวางกาย มันจะรู้สึก มันจะแปลกออกไปอีกอย่างหนึ่ง มันเหมือนโลกนี้เข้ามากระทบไม่ถึงจิตแล้ว เพราะโลกที่เรารู้จักก็คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลายนั่นเอง มันคือโลกอยู่ตรงนั้น เรียกว่ากามโลก เพราะว่าอาศัยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี้เป็นกามคุณอารมณ์
จิตที่มันเห็นความจริง นี่คือตัวทุกข์ล้วนๆ มันจะไม่ยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทำไมไม่ยินดียินร้าย ก็ขนาดตามันยังเห็นเลย ตานี้มีแต่ทุกข์ เมื่อตามันเป็นทุกข์ รูปมันจะดีได้อย่างไร เมื่อหูมันเป็นทุกข์ เสียงมันจะดีได้อย่างไร เมื่อจมูกมันเป็นทุกข์ กลิ่นมันจะดีได้อย่างไร เมื่อลิ้นเป็นทุกข์ รสมันจะดีได้อย่างไร เมื่อกายสัมผัสนี้ ประสาททางกาย ประสาทะ กายประสาทเป็นทุกข์ โผฏฐัพพะทั้งหลาย ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความตึง ความไหว ธาตุดิน ไฟ ลม มันจะเป็นสุขขึ้นมาได้อย่างไร มันก็เป็นทุกข์ไปหมด
เพราะฉะนั้นจิตมันจะสลัดตัวออกจากกามคุณอารมณ์ เพราะมันไม่ยึดในตา หู จมูก ลิ้น กายแล้ว มันก็ทิ้งกามคุณอารมณ์ ซึ่งสัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อมันทิ้งได้ มันจะรู้สึกเป็นอีกแบบหนึ่ง คือจิตกับโลกนี้ขาด โลกที่เรารู้จักขาดจากกันเด็ดขาดแล้ว มันจะไปอยู่ในโลกภายใน โลกของรูปฌาน โลกของอรูปฌาน อันนั้นต้องภาวนาต่อไปอีก จนเห็นว่าตัวจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ถ้าวันใดที่เห็นว่าตัวจิตคือตัวทุกข์ ไม่ใช่จิตนี้ทุกข์บ้างสุขบ้าง แต่คือทุกข์ล้วนๆ ทุกข์มากกับทุกข์น้อยเท่านั้น มันก็ไม่ยึดถือจิต
เมื่อมันไม่ยึดถือจิต มันก็ไม่หิวโหยว่าจะต้องพาจิตไปอยู่ในรูปโลก ในรูปพรหม หรือจะพาจิตไปอยู่ในอรูปภพ ไม่คิดว่าจะพาจิตไปตรงไหนแล้วจะมีความสุขได้ เพราะจิตนี้คือตัวทุกข์ จะพามันไปเกิดที่ไหน มันก็ทุกข์ที่นั้น ความเกิด เกิดขึ้นทีไร ทุกข์เกิดขึ้นทุกทีเลย จิตจะเห็นอย่างนี้ ความเกิดจะไม่มีอีกต่อไปแล้ว เพราะมันเห็นความจริงแล้ว จิตนั้นคือตัวทุกข์ ถ้าจะไปเกิดอีก ก็คือเอาจิตนี้ไปเกิดอีก ไปเกิดตรงไหนมันก็ทุกข์อีก ฉะนั้นจิตไม่แสวงหาที่เกิดอีกต่อไปแล้ว เพราะรู้แจ้งแล้ว ไม่ต้องไปหาว่าโลกไหนจะมีความสุข ก็ตัวเองล่ะมันคือตัวทุกข์ ยังจะพาตัวทุกข์ไปอยู่ตรงไหน แล้วมันจะมีความสุข มันเป็นไปไม่ได้ สติปัญญามันแหลมคม มองทะลุเข้ามาเห็นตรงนี้ได้ มันก็วางจิต พอวางจิตได้มันก็วางโลกทั้งสิ้นได้ ความพ้นทุกข์สิ้นเชิงมันก็อยู่ตรงนั้นล่ะ
สรุป ถือศีล 5 ไว้ ทุกวันแบ่งเวลาทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ไหว้พระ สวดมนต์ก่อน เหมือนไหว้ครูก่อนชกมวย แล้วก็ทำกรรมฐานไป แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ หายใจเข้าพุทออกโธอะไร จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งก็รู้ จนกระทั่งจิตมันค่อยมีกำลัง จิตหลงไปคิดแล้วรู้ปั๊บ สมาธิเกิดแล้วได้ขณิกสมาธิ หลงอีกรู้อีก หลงอีกรู้อีก ในที่สุดจิตมันจะมีแรง มันตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตมันตั้งมั่นแล้วดูลงไปเลย รูปนี้กับจิตนี้คนละอันกัน รูปมันนั่ง รูปมันยืน รูปมันเดิน รูปมันนอน จิตเป็นคนรู้ แล้วต่อไปก็เห็นสุข ทุกข์ อะไรทางใจเกิดขึ้นก็คอยรู้เอา
ทีแรกยังดูสุขทุกข์ในใจไม่ได้ ก็ดูร่างกายเคลื่อนไหวไว้ จิตเป็นคนดู ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เห็น ความสุข ความทุกข์ กุศล อกุศลอะไรมันจะเกิดขึ้นที่จิต คอยรู้ มันจะรู้ได้ มีกำลังพอ แล้วก็เห็นจิตเกิดดับทางอายตนะ ต่อไปมันก็จะเห็น จิตหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ทุกข์ จิตหลงไปในภพใดก็ทุกข์ทั้งสิ้นเลย จิตนั้นคือตัวทุกข์ ไม่ยากหรอก ทำอย่างนี้เรื่อยๆ ไป งาน 3 งาน ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ จิตจะได้มีสมาธิ ที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้ว จิตเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดเฉยๆ รู้ จิตเกิดกุศล อกุศล รู้ ต่อไปชำนาญขึ้นจะเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะ ก็รู้ แล้วต่อไปก็เห็นแจ้ง จิตนี้ไม่เที่ยง จิตนี้เป็นทุกข์ จิตนี้เป็นอนัตตา พอเห็นจริงอย่างนี้เรียกว่ารู้ทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ทุกข์เพราะไม่อยู่ในอำนาจบังคับ จิตก็จะวางจิต จิตปล่อยวางจิตได้ ก็ไม่มีอะไรให้ทำอีกแล้ว ความพ้นทุกข์สิ้นเชิงมันอยู่ตรงนั้นล่ะ
วัดสวนสันติธรรม
10 ธันวาคม 2565