อุดมการณ์ของชาววัดสวนสันติธรรม

พยายามฝึกสติ มีสติไปเรื่อยๆ คอยรู้ทันความเคลื่อนไหวของร่างกาย รู้ทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตใจไป ฝึกบ่อยๆ ดี มีประโยชน์มาก ถ้าคนเราขาดสติเสียอย่างเดียว ทำอะไรก็ได้ที่มันไม่ถูก เมื่อวานหรือวานซืน เห็นข่าวจะไปจอดรถในทางหลวง ในทางด่วน ตำรวจจะจับ ความผิดไปจอดรถตรงนั้นตัด 1 คะแนน ตัดแต้มแล้ว 1 แต้ม หรือไม่ก็ปรับไม่เท่าไหร่ พอตำรวจให้ไปโรงพัก ขึ้นรถได้ขับหนีเลย หลบหนีการจับกุม ความผิดเพิ่มขึ้นแล้ว

จากจะถูกปรับไม่เท่าไร ก็หลบหนี กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา หนีไม่หนีเปล่า เจตนาเบียดรถตำรวจ ตาย อันนั้นความผิดคือ ฆ่าเจ้าพนักงานที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ โทษประหาร จากปรับ 500 บาท 1,000 บาท กลายเป็นประหารได้ เพราะอะไร มันตัดสินใจผิดไปเรื่อยๆ หลบหนีโทษก็แรงขึ้นแล้ว หลบหนีการจับกุม ฆ่าเจ้าพนักงาน อันนี้ประหารแล้ว โทษประหาร ที่ตัดสินใจผิดเพราะมันไม่มีสติ มันไม่สามารถควบคุมจิตใจตัวเองได้ มันคิดแต่จะหนี ก็นึกว่ากูเก่ง กูขับรถเก่ง เป็นครูสอนขับรถ โทษของความไม่มีสติ

 

ศรัทธาก็ยังมีความจำเป็นอยู่

หรือกรณีใช้ความรุนแรงอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ที่มีข่าว ไปยิงเด็กอนุบาลบ้าง ทำไปเพราะมันไม่มีสติ มันไม่รู้ผิดชอบชั่วดี หรือจ่าคลั่งมันไปยิงคนในศูนย์การค้า นี่ล่ะโทษของความไม่มีสติ มีโทษในปัจจุบันทันตาเห็นเลย และโทษในอนาคตคือไปติดคุก หรือตายก็ไปอบาย ความผิดไม่ได้จบลงที่ตาย สังสารวัฏนั้นมันเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ คนไม่เคยภาวนา ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น มันก็คิดว่าตายแล้วสูญ คนจำนวนมาก คิดว่าตายแล้วสูญ ยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงประกาศว่าไม่มีศาสนาแล้ว

ฉะนั้นศาสนาต่างๆ จะเน้นตรงที่ตายแล้วไม่สูญ พอเชื่อว่าตายแล้วสูญ ทำชั่วอะไรก็ได้ มันก็ชีวิตอันเดียวเท่านั้น เราจะว่าเขามันก็ว่าไม่ได้ เขาไม่เห็น ถ้ารู้ถ้าเห็น มันจะไม่ชั่วหรอกคนเรา ฉะนั้นอย่างหลวงพ่อฤาษีลิงดำสอนมโนมยิทธิ ให้เห็นนรก เห็นสวรรค์ ก็เป็นอุบายที่ดี ในการขัดเกลาคนไม่ให้ทำชั่ว ให้พยายามสร้างความดี พอละความชั่วได้ สร้างความดีได้ ต่อไปก็พัฒนาให้เกิดปัญญา ทำวิปัสสนากรรมฐานอีกทีหนึ่ง อย่างนี้ก็ยังดีอยู่ เพราะว่าอย่างน้อยก็ไม่ให้คนทำชั่ว เพราะว่ากลัวผิดศีล เพราะเห็นแล้วว่ามันมีโทษจริงๆ

ถ้าเราภาวนา จิตเราได้สมาธิเป็นหนึ่งแล้ว จิตเป็นหนึ่ง แล้วคลายสมาธิออกมา อยู่ในระดับอุปจารสมาธิ ตรงนี้มันจะออกรู้ออกเห็นอะไรข้างนอกได้ บางทีเราไม่ได้เจตนา อย่างเราชินกับการทำสมาธิ จิตเราสงบตั้งมั่น สงบ เวลามีสิ่งแปลกปลอมเข้ามากระทบ จิตมันเคลื่อนออกมารับรู้ มันลดระดับจากอัปปนาสมาธิ ออกมาอยู่ที่อุปจารสมาธิ

เวลาครูบาอาจารย์ อย่างในประวัติหลวงปู่มั่น กลางค่ำกลางคืนท่านก็ทำฌาน เข้าฌาน อัปปนาสมาธิ แล้วบางทีก่อนจะมืด ก็มี message มา บอกคืนนี้จะมีเทวดากลุ่มนี้ๆ มาขอฟังธรรม คืนอย่างนั้นท่านก็จะไม่หลับ ท่านก็ทรงสมาธิอยู่ ไม่รู้เขาจะมาสักกี่โมง บางทีสงสัยมาหรือยัง ก็ถอยจิตออกจากอัปปนาสมาธิ ออกมาที่อุปจารสมาธิ มาดู ยังไม่มาก็กลับเข้าอัปปนาสมาธิใหม่ พอเขามา จิตมันจะถอนออกมา ก็มาสื่อสารได้ มาแสดงธรรมได้ ตอบปัญหาได้

อันนี้เป็นกระบวนการธรรมดาของคนทรงฌาน ความสามารถของคนทรงฌาน เป็นหนึ่งในอจินไตย คิดเอาไม่ได้ ญาณตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นอจินไตย เรื่องของกฎแห่งกรรมเป็นอจินไตย มีหลายอย่าง ความสามารถของคนทรงฌาน ก็เป็นอจินไตย พวกเรานึกไม่ออก นึกไม่ถึง แต่เราฝึกของเราได้ ฝึก ถ้าอยากเห็นผี ไม่ยากหรอก สงบนิดๆ หน่อยๆ ก็เห็น อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตมีแสงสว่างเกิดขึ้น เวลาอะไรผ่านเข้ามาในแสงสว่าง ก็รู้ก็เห็นได้

แต่ว่าถ้ายังไม่ได้เข้าถึงอัปปนาสมาธิ แล้วทำได้แค่อุปจารสมาธิ จิตหลอนได้ ยังหลอนได้อีก ที่เห็นจิตอาจจะปรุงขึ้นมาเอง แต่เข้าถึงอัปปนาสมาธิแล้ว ถอยจิตลงมาอุปจารสมาธิ อันนี้จะแม่น ฉะนั้นอย่างพวกเรานั่งๆ แล้วเคลิ้มๆ เห็นโน่นเห็นนี่ อย่าไปเชื่อ กิเลสหลอก มันต้องได้ฌานจริงๆ ถึงจะเชื่อได้ คนส่วนใหญ่มันไม่เห็น เขาไม่เห็น ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร บอกอย่างไรมันก็ไม่เชื่อ เพราะมันไม่เห็น คนเราเชื่อเฉพาะสิ่งที่ตัวเองเห็น

แต่บางทีไม่เห็นก็เชื่อเหมือนกัน อย่างไวรัสมีจริงไหม ไม่เห็นแต่เชื่อแล้ว เพราะมันตายให้ดูจริงๆ เราไม่สามารถทำคนทุกคนให้เชื่อได้ คนไหนมีศรัทธา เบื้องต้นถึงเริ่มจากศรัทธา เพราะยังไม่มีปัญญา ไม่มีสมาธิ ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ที่จะหยั่งรู้ได้ด้วยตัวเอง เบื้องต้นก็จำเป็นต้องอาศัยศรัทธาไว้ก่อน พอมีศรัทธาแล้ว ก็มาตั้งอกตั้งใจฟังธรรมะศึกษาธรรมะ แล้วก็มีความเพียรลงมือปฏิบัติไป พัฒนาสติขึ้นมา พอได้สติมันก็ได้สมาธิขึ้นมา

พอมีสติ มีสมาธิ มันก็สามารถเจริญปัญญา เกิดความรู้ถูกความเข้าใจถูกได้ ฉะนั้นเรื่องศรัทธา มันก็ยังมีความจำเป็นอยู่ แต่หลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อไม่สนใจเรื่องศรัทธาเลย ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เลย แต่อาศัยเราฝึกสติ ฝึกสมาธิ เราเห็นความจริง ความศรัทธาที่เกิดขึ้นอันนี้ เป็นศรัทธาที่แน่นแฟ้น อย่างศรัทธาเบื้องต้นที่พวกเราศรัทธา เขาเรียกว่าจลศรัทธา ยังจลาจลได้อยู่ ยังเชื่อถืออะไรไม่ได้ เดี๋ยวก็ศรัทธา เดี๋ยวก็เสื่อมศรัทธา

อย่างบางคนมีศรัทธา ยังไม่ได้รู้เหตุรู้ผลอะไรเลย ศรัทธา นั่งสมาธิอยู่ 10 ปี นั่งแล้วก็ไม่ได้ผลอะไร เพราะนั่งไม่เป็น ก็หมดศรัทธา บอกศาสนาพุทธไม่มีจริงหรอก สอนเรื่องสมาธิอะไร ก็ไม่เห็นจะได้สมาธิเลย อย่างนี้เรียกศรัทธาที่กลับกลอก มันไม่ได้เห็นคุณค่าได้ด้วยตัวเอง ฉะนั้นพวกเรา สังเกตไหม หลวงพ่อจะไม่ได้สอนพวกเราเริ่มจากศรัทธาหรอก คนรุ่นนี้เรียกให้ศรัทธา ยาก ส่วนพวกที่ศรัทธาง่ายก็สอนยาก เพราะไม่ยอมเจริญปัญญา มันก็มีจุดอ่อนทั้ง 2 ฝั่ง พวกไม่มีศรัทธาเลยแต่เปิดใจกว้าง ขออย่างเดียวเปิดใจให้กว้าง แล้วฟังธรรมะ แล้วลองปฏิบัติดู แล้วจะรู้ว่าศาสนาพุทธ น่าศรัทธาขนาดไหน

 

หลวงพ่อยังไม่เรียกให้ศรัทธา แต่ท้าให้พิสูจน์

อย่างถ้าเราเปิดใจกว้าง ฟังหลวงพ่อแล้วเปิดใจ หลวงพ่อสอนบอกให้เราคอยรู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว คอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก ทดลองดู หลวงพ่อไม่บอกว่าให้ศรัทธา แต่หลวงพ่อท้าให้พิสูจน์ “เอหิปัสสิโก พึงกล่าวกับผู้อื่นว่ามาลองดูเถิด” ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมะที่ท้าพิสูจน์ได้ ลองมาถือศีล แล้วจะดีขึ้นไหม ลองมาฝึกจิตใจให้มันมีอารมณ์ตั้งมั่น ให้จิตมันตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียวอันนี้ มันจะมีความสุขความสงบเกิดขึ้นไหม

ลองแยกรูปแยกนามดูสิ มันแยกได้ กายก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง เวทนาก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง สังขารก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง มันแยกได้จริงๆ พอแยกได้ชักตื่นเต้นแล้ว ทำไมที่ผ่านมาเราไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น พอแยกได้แล้วก็จะเห็นเลย สภาวะแต่ละตัวๆ ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ มันเป็นไตรลักษณ์จริงๆ เราไม่ต้องคิดเรื่องไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์มีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปนั่งคิดเอา แต่มันเห็นเอา เห็นความจริง

ฉะนั้นอย่างที่หลวงพ่อสอนพวกเรา หลวงพ่อจะพาให้เห็นก่อน ยังไม่เรียกให้ศรัทธาหรอก แต่ท้าให้พิสูจน์ แน่จริงก็ลองมาปฏิบัติดู ลองมาเจริญสติดู ลองตามอ่านจิตอ่านใจของตัวเองดู จิตใจเราขณะนี้สุข หรือจิตใจเราทุกข์ จิตใจขณะนี้ดี หรือจิตใจเราชั่ว มันโลภ มันโกรธ มันหลงไหม ดูมันลงไป รู้มันลงไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ในเวลาไม่นาน 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน มันก็จะเปลี่ยนให้ดูแล้ว เคยทุกข์นานก็จะทุกข์สั้นลง เคยทุกข์หนักก็จะทุกข์น้อยลง เคยหลงยาวๆ ก็จะตื่น จะรู้จักสภาวะของความที่จิตตื่นขึ้นมา

เพราะฉะนั้นพอลงมือทำ อย่างที่หลวงพ่อบอก แล้วพวกเราจะรู้ด้วยตัวเราเอง ว่าที่หลวงพ่อบอกนี้ หลวงพ่อบอกอย่างซื่อๆ เลย บอกตรงไปตรงมาเลย ไม่ใช่ปริศนาธรรมอะไรทั้งสิ้นเลย สิ่งที่บอกที่สอน เราทดสอบมาแล้ว เพราะหลวงพ่อบอกแล้ว หลวงพ่อเป็นคนที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองก่อน แต่ว่าเราไม่ได้พิสูจน์มั่วๆ เราอยากพิสูจน์ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่จริง เราต้องเรียนว่าท่านสอนอะไรก่อน แล้วลงมือทำตามคำสอนนั้นดู แล้วดูซิความทุกข์เราจะลดลงจริงไหม

ถ้าเราเป็นปัญญาชน ก็จะต้องเดินแบบนี้ ไม่ใช่เชื่ออะไรซึ่งหาสาระแก่นสารไม่ได้เลย ขุดเจอตอไม้ก็ไปไหว้ตอไม้ ไปเจอจอมปลวกก็ไหว้จอมปลวก เจอภูเขาก็ไหว้ภูเขา เจอบ่อน้ำก็ไหว้บ่อน้ำ อันนั้นไม่ใช่ชาวพุทธ ไม่ใช่ชาวพุทธเลย ชาวพุทธเราเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยเท่านั้นเอง อย่างอื่นไม่เอาหรอก ถามว่าผีมีไหม มี เทวดามีไหม มี แต่ทั้งผีทั้งเทวดานั้น ก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ของเราเท่านั้นเอง ยังทุกข์อยู่ด้วยกัน น่าเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน แค่นั้นล่ะ

ส่วนที่จะพาเราพ้นทุกข์จริงๆ ก็คือพระรัตนตรัย ธรรมะ ธรรมะนั้นเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า พอเราลงมือปฏิบัติธรรมะ ใจเราจะกลายเป็นพระสงฆ์ขึ้นมา พอใจเราเป็นพระสงฆ์ เราจะรู้ความจริงเลย ในขณะนั้น พระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมเพื่อความพ้นทุกข์มีจริง พระอริยสงฆ์มีจริง เพราะเราสัมผัสด้วยตัวของเราเอง ไม่ต้องอาศัยความเชื่อใดๆ ทั้งสิ้น แต่เชื่อมั่นแน่นแฟ้นขึ้นมา เพราะเห็นความจริง ศรัทธาอย่างนี้เรียกว่า อจลศรัทธา ศรัทธาที่แน่นแฟ้น ไม่คลอนแคลนอีกต่อไปแล้ว เพราะเห็นจริงด้วยตัวเองแล้ว

ฉะนั้นเรียนกับหลวงพ่อ ไม่ต้องเชื่อหลวงพ่อหรอก แต่หลวงพ่อท้าให้พวกเราลองปฏิบัติดู ลองมีสติรู้กายรู้ใจไปเรื่อยๆ ดูความจริงของกาย ดูความจริงของจิตใจไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองได้ เราเคยทุกข์หนักก็ทุกข์น้อยลง เคยทุกข์นานก็ทุกข์สั้นลง เคยโกรธง่ายก็เริ่มจะโกรธยาก เคยผิดศีลง่ายๆ ก็เริ่มจะละอายใจ ถ้าจะทำผิดศีล ไม่มีใครเห็นแต่ละอายใจ หลายคนไม่ทำผิดศีล เพราะว่ามีคนเห็น อย่างจะไปยิงคน พอดีมีคนอื่นอยู่ด้วย ไม่ยิง บอกว่าไม่ผิดศีล จริงๆ ไม่ได้ถือศีล แต่ไม่มีโอกาสทำชั่ว

อย่างพวกเราจะให้บี้มดสักตัว เรายังละอายใจเลย อย่างนี้มันเป็นผลจากการปฏิบัติ เรารู้ เราเห็นทุกข์เห็นโทษของการตามใจกิเลส ฆ่ามดตัวหนึ่งจิตก็ยังเศร้าหมองเลย เป็นพระคิดถึงสาว จิตก็เศร้าหมอง ไม่ต้องถึงขนาดว่าปาราชิกอะไรหรอก แค่คิดถึงผู้หญิงมันจะเห็นเลย สมาธิมันตกแล้ว เสื่อม ฉะนั้นธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมะที่ทนทานต่อการพิสูจน์ ไม่จำเป็นต้องเชื่อก่อน มาพิสูจน์ดู อย่าปฏิเสธว่าไม่จริง ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้พิสูจน์ ก็แค่นั้นล่ะ

ลงมือพิสูจน์ รักษาศีลดู ลองถือศีล 5 ไว้ แล้วลงมือปฏิบัติทุกวัน แบ่งเวลาทำในรูปแบบ ถนัดจะทำรูปแบบ แบบไหนก็ทำไปเถอะ แต่เคล็ดลับอยู่ตรงที่ว่า ทำรูปแบบไป แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไป แล้วสมาธิที่แท้จริงมันจะเกิด อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำรูปแบบอย่างนี้ ดูอานาปานสติบวกกับการบริกรรม หายใจเข้าพุทออกโธ เป็นกรรมฐาน 2 อันซ้อนกันอยู่ เราทำไปเรื่อยๆ จิตมันก็ค่อยสงบลงมา คำบริกรรมก็หายไปก่อน ต่อไปลมหายใจก็หายไป กลายเป็นแสงสว่างขึ้นมา ตรงนี้ เหมือนถ้าเรามีสติรักษาสติไว้ เห็นแสงสว่างแล้วมีสติอยู่ ควบคุมรักษาจิตไม่ให้ไหลตามแสงไปได้ ตรงนั้นเรียกว่าวิตก คือจิตมันตรึกอยู่กับแสงสว่าง มันเคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่าง ไม่หลงไปไหน ไม่หลงตามแสงไปเห็นผี เห็นเทวดา

พอเราอยู่ตรงนี้ได้ ปีติมันจะเกิด มันจะมีปีติ บางทีก็ขนลุก บางทีรู้สึกตัวพองๆ ตัวโคลงๆ บางทีรู้สึกตัวลอยๆ ตัวเบาๆ นั่นเป็นอาการของปีติ แล้วจิตมันก็มีความสุข มีปีติ มีความสุขอยู่ เป็นหนึ่ง สงบอยู่อย่างนั้น จิตมันก็จะเข้าสู่ปฐมฌานได้ เสร็จแล้วมันก็ยังเห็นต่อไปอีก การที่จิตยังส่งไปอยู่ที่แสงสว่าง คือตรึกในแสงสว่าง เคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่าง ก็ยังเป็นภาระของจิต จิตก็วางวิตก วางวิจาร แล้วก็ตั้งมั่นขึ้นมา อันนี้เรียกว่าเป็นฌานที่ 2

จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว โดยมันวางวิตก วิจารได้ วางแสงสว่างนั่นล่ะ ไม่ไปเคล้าเคลียอยู่ ทวนกระแสเข้ามาที่ตัวจิตใจ จิตตัวนี้จะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว จะได้จิตผู้รู้เกิดขึ้น แล้วถัดจากนั้นจะเห็นอีก ปีตินั้นเป็นความหวือหวาของจิต ยังหวือหวามากไป เป็นภาระ จิตก็วางปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งอยู่ นี้เป็นฌานที่ 3 ต่อไปมันก็ยังเห็นต่อไปอีก ว่าความสุขนั้นก็ยังเป็นของส่วนเกิน หวือหวาเกินไปอีก ความสุข คนทั่วไปนึกว่าดี แต่พอจิตเราสงบจริงๆ ความสุขเป็นส่วนเกิน จิตมันวางความสุขเข้าไปสู่อุเบกขา เป็นหนึ่ง ทรงตัวเป็นหนึ่ง มีสติอยู่ แล้วก็มีอุเบกขาอยู่ อันนั้นคือฌานที่ 4

ถ้าเราเดินแนวของฌาน พอมาถึงฌานที่ 4 นี้ จิตจะแยกได้ 2 สาย อันหนึ่งถอยจิตออกมา จิตมันถอนออกมาเอง หรือถ้าชำนาญ เราถอนออกมาเมื่อไรก็ได้ ลงมาทรงอยู่ที่อุปจารสมาธิ แล้วก็เจริญปัญญาตรงนี้ก็ได้ หรืออยู่ในอัปปนาสมาธินั่นล่ะ แล้วเห็นความเปลี่ยนแปลงภายในฌาน เห็นความไหวกระเพื่อม ความปรุงแต่งอยู่ภายใน ละเอียดยิบยับๆ อยู่ ข้างใน ไม่มีคำพูด ไม่มีชื่อ ไม่มีความคิดอะไร จะเห็นความไหวยิบยับอยู่ข้างใน เกิดดับๆ ไม่มีคำว่าเกิดดับหรอก แต่มันเห็นความเกิดดับอยู่ อันนี้เราสามารถเจริญปัญญาอยู่ในฌานได้

หรือทรงอยู่ในฌานพอสมควร จิตถอนออกมาสู่อุปจารสมาธิแล้ว จิตยังไม่เดินปัญญา จิตถอนออกมาสู่โลกข้างนอกนี้ จิตที่มันเคยผ่านไปถึงฌานที่ 2 แล้ว มันจะมีกำลังมาก มันจะเหมือนรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ได้หลายวันเลย คราวนี้ เราสามารถใช้ขณิกสมาธิ ที่มันเกิดถี่ยิบต่อเนื่องหลายวัน เอามาเจริญปัญญา อย่างนี้ก็ได้ นี่ลีลาการปฏิบัติมันหลากหลายมากมาย จริตนิสัยของเราเหมาะอย่างไร เราก็เอาอย่างนั้น

หลวงพ่อเทศน์ต้องกว้างๆ อย่างนี้ เพราะว่าพวกเราหลากหลาย บางคนก็ชำนาญสมาธิ ฟังแต่เรื่องขณิกสมาธิ ฟังแล้วเบื่อ บางคนสนใจอยากรู้ เขาเห็นผี เขาเห็นได้อย่างไร เออ เห็นได้อย่างไร มันเห็นในอุปจารสมาธิ คือถ้าเข้าอัปปนาสมาธิ ไม่มีอะไรเข้าไปกระทบง่ายๆ แล้ว แต่ถอยออกมาในอุปจารสมาธิ ครึ่งๆ ครึ่งๆ ระหว่างจิตที่ทรงฌาน กับจิตที่อยู่ข้างนอก อยู่ตรงครึ่งๆ กลางๆ ตรงนั้นล่ะจะออกรู้ออกเห็นได้ แล้วสิ่งที่ออกรู้ออกเห็น ส่วนใหญ่ก็คือจิตเราหลอนขึ้นเอง เราอยากรู้อยากเห็นอะไร จิตก็สร้างภาพให้เราดู เกิดนิมิตขึ้นมา

 

นิมิตจริงกับนิมิตปลอม

นิมิตมี 2 อย่าง นิมิตที่จริง กับนิมิตที่ปลอม นิมิตจริงอย่างเช่น เราไปเห็นผีจริงๆ เห็นเทวดาจริงๆ เห็นนรกจริงๆ เห็นสวรรค์จริงๆ นิมิตปลอมก็เห็นผี แต่จิตมันหลอนขึ้นเอง เห็นเทวดา เห็นเลข เห็นหวย เห็นโน่น เห็นนี่ เห็นพระพุทธเจ้า เห็นอะไรต่ออะไร อันนั้นจิตมันสร้างขึ้นมา ถ้าเราไม่ชำนาญ จิตไม่เคยตัดเข้าไปถึงอัปปนาสมาธิ ทำสมาธิครึ่งๆ กลางๆ จิตหลอนง่าย บางทีก็ระลึกชาติ เคยเป็นนั้นเคยเป็นนี้ ไม่เห็นเคยเป็นนายดำ นายแดงเลย

ระลึกชาติแต่ละคน ล้วนแต่เป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเท่านั้นเลย เป็นผู้มีชื่อเสียง ทำไมต้องระลึกแบบนั้น ก็รู้จักชื่ออยู่แค่นั้น ไม่รู้จักนายดำ นายแดง อย่างคนระลึกเป็นพระนเรศวร มีเป็นสิบเลย โอ้ ทำไมท่านเยอะนัก จะว่าอวตารมาเกิด อวตารมันก็ไม่ใช่ทฤษฎีของพระพุทธเจ้า มันของฮินดู นี่จิตมันหลอน จุดสำคัญรู้เห็นอะไรข้างนอก ไม่มีความสำคัญหรอก ที่สำคัญที่สุดเลย รู้กายรู้ใจของตัวเอง อันนี้ล่ะของดีของวิเศษ มัวแต่เห็นผีมันจะได้ประโยชน์อะไร ข้างโน้นเป็นผี ข้างในนี้ก็มีผีอยู่ตัวหนึ่ง ตายไปก็เป็นผีอีกตัวหนึ่ง มันก็เป็นผีเจอกับผี เรียกผีตายกับผีเป็น

พวกเรายังเป็นผีเป็นอยู่ อีกหน่อยก็เป็นผีตาย ก็ไม่มีสาระแก่นสารอะไร พยายามมีสติไว้ รู้สึกตัวไว้ ให้จิตตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วเวลาสติระลึกรู้กาย เราจะเห็นร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้วิเศษที่สุดเลย จิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้จิตใจ เห็นจิตใจไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้ถึงจะได้สาระแก่นสารจริงๆ เป็นของดี เป็นของมีประโยชน์ เพราะฉะนั้นหลวงพ่อจะไม่แนะนำพวกเรา ให้ออกรู้ออกเห็นอะไรข้างนอก สิ่งที่เราออกรู้ออกเห็น จริงหรือปลอมไม่แน่ ถ้ากิเลสเรายังแรงอยู่ เชื่อถือไม่ได้หรอก จิตมันปรุงขึ้นมาหลอกลวงเรา

ถ้าเข้าถึงอัปปนาสมาธิ มันข่มกิเลสลงไปราบคาบแล้ว แล้วถอยออกมา อันนั้นเราถึงจะพอเชื่อได้ แต่ถึงจะเชื่อได้ ถามว่ามีประโยชน์ไหม ก็มีประโยชน์เล็กน้อย อย่างเราไปเห็นเทวดา ก็มีประโยชน์เล็กน้อย ก็คือเรารู้ว่า เออ การทำความดีก็มีผล มีผลเป็นความสุข เราไปเห็นสัตว์นรก ก็มีประโยชน์เล็กน้อย รู้ว่าไปทำชั่วแล้วก็มีผลเป็นความทุกข์ ก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน แต่ไม่มาก

ส่วนใหญ่พอไปเห็น แทนที่จะได้ประโยชน์อาจจะได้โทษ ไปเห็นเทวดา ก็เลยไปขอหวย อย่างนี้เห็นแล้วมีโทษขึ้นมาแล้ว กิเลสมันเกิด ทำไปด้วยความโลภแล้ว หรืออยากเป็นเทวดามากเลย อยากจนกระทั่งบ้าบุญ ทำบุญอย่างเดียวเลย ไม่มีเหตุมีผลเลย ทำไปเรื่อยๆ ขอไปเป็นเทวดา อันนี้ดีไหม ก็ดี แต่ดีไม่เต็มที่หรอก สิ่งที่เหนือกว่าเทวดายังมี คือมรรคผลนิพพาน เราไปเอาของพื้นๆ เสียก่อน ของดีเลยยังไม่เอา ก็น่าเสียดายโอกาสที่เกิดมาเป็นชาวพุทธ

เพราะฉะนั้นเวลาเราไปเห็นอะไรต่ออะไร ถึงมันจะเป็นของจริง ประโยชน์มันก็น้อย สู้เห็นกายเห็นใจของตัวเองแสดงไตรลักษณ์ไม่ได้ อันนี้เป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่ขนาดไหน ยิ่งใหญ่ตรงที่จะพาเราพ้นจากสังสารวัฏได้ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด พ้นจากทุกข์ บางคนได้ยินว่าไม่ได้เวียนว่ายตายเกิดแล้ว กลัวอีกแล้ว เพราะอะไร เพราะมันติดอกติดใจในความเกิด ติดอกติดใจในความมีชีวิตอยู่ รู้สึกว่าถ้าไม่มีสิ่งนี้แล้วก็คงจะไม่มีความสุข นิพพานแล้วคงไม่มีความสุขแน่เลย เพราะไม่มีกาย ไม่มีจิต เราไปคิดอย่างนั้น

บางทีพระท่านเลยหลอก สร้างนิพพานที่มีกายมีจิตขึ้นมา แล้วบอกดีๆ ตรงนี้ อันนี้หลอกล่อพวกอินทรีย์อ่อนไว้ก่อน พวกเราภาวนาขั้น Advance แล้ว ไม่ต้องหลอกกัน เจริญสติไป มีสติรู้กาย มีสติรู้ใจตามที่มันเป็นจริง คือมันเป็นไตรลักษณ์ กายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา รู้ไปเรื่อยๆ แต่ต้องรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่น ถ้ารู้ด้วยจิตที่ไม่มีสมาธิพอ มันจะหลอน เชื่อไม่ได้ แล้วตั้งมั่นอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องเป็นกลางด้วย

เห็นเทวดาเกิดขึ้น สมมติว่าเห็นเทวดา จิตมันยินดีรู้ว่ายินดี ไม่หลงตามแล้ว เห็นผี จิตยินร้าย รู้ว่ายินร้าย ก็ไม่หลง จิตจะเป็นกลางต่อสุขและทุกข์ ต่อดีและชั่ว ให้เราภาวนาไปเรื่อยๆ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง คือดูไตรลักษณ์ ไม่ใช่ดูอย่างอื่น อย่างบางคนดูกายเป็นปฏิกูลอสุภะ ปฏิกูลอสุภะไม่ใช่ของจริง ไม่ได้มีจริง อย่างเราบอกว่าหมาขี้เรื้อนสกปรก แมลงวันบอกว่าหอมมากเลย ให้ไปตอมหมาขี้เรื้อน แมลงวันชื่นใจ ให้มาตอมเรา ทาน้ำหอมมาอย่างดี แมลงวันไม่เอาแล้ว เหม็น เวียนหัว ทาน้ำหอมอย่างดี เพราะฉะนั้นเหม็น หอม สกปรก สะอาด มันไม่ใช่ปรมัตถธรรม มันจริงบ้างไม่จริงบ้าง สิ่งที่เป็นปรมัตถธรรมนั้น ต้องจริงแท้แน่นอน อย่างความไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง อย่างไรก็ต้องไม่เที่ยง สังขารจะหยาบ สังขารจะละเอียด สังขารจะดี สังขารจะชั่ว ก็ล้วนแต่ไม่เที่ยงทั้งสิ้น สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ คือถูกบีบคั้นให้แตกสลาย

 

สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์
ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

คำว่า “ไม่เที่ยง” ก็คือสิ่งที่เคยมีมันไม่มี สิ่งที่เคยไม่มีมันเกิดมี เรียกมันไม่เที่ยง คำว่า “เป็นทุกข์” หมายถึงว่าสิ่งที่กำลังมี กำลังถูกบีบคั้นให้ไม่มี ให้แตกสลายไป นี่เรียกว่าทุกขัง ทุกขตา ส่วนอนัตตา ก็คือสิ่งทั้งหลายจะมีก็เพราะมีเหตุ ไม่มีเหตุมันก็ไม่มี ไม่ได้เป็นไปตามอำนาจที่เราสั่ง แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่มากำหนด นี่คือหลักของไตรลักษณ์ อย่างร่างกายจิตใจของเรา อันนี้เรียกว่าสังขาร เป็นรูปธรรมบ้าง นามธรรมบ้าง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เราดูสิ ร่างกายเราเที่ยงไหม ตอนแต่ก่อนก็เป็นเด็ก เดี๋ยวนี้เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่ม เป็นสาว ต่อไปก็แก่ ร่างกายนี้ไม่เที่ยง ร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวหิว เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวปวดอึ เดี๋ยวปวดฉี่ หมุนเวียนไป นานๆ ก็ป่วยหนักเสียทีหนึ่ง

พออายุเยอะขึ้นๆ เรื่องนิดเดียวก็ป่วยหนักไปแล้ว ดีไม่ดีตายไปแล้ว แค่หกล้มทีเดียวก็ตายแล้ว ร่างกายมันทนอยู่ไม่ได้ มันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย แล้วก็สังขารนี้เป็นอนัตตาด้วย มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตามที่เราสั่ง เหตุปัจจัยที่เกิดร่างกายของเรา มีกรรมกำหนดมา ให้เราเกิดกับพ่อแม่คนนี้ เราก็เลยได้ยีน ได้พันธุกรรมของพ่อแม่คนนี้มา สิ่งที่เราได้มา เบื้องลึกที่กำหนดให้เราได้พันธุกรรมอย่างนี้ คือกรรม อย่าไปโทษพ่อโทษแม่ กรรมจัดสรรให้เราได้มีพ่อแม่แบบนี้ เช่น พ่อแม่ยากจน หรือบางคนกรรมจัดสรร ให้ได้พ่อแม่ร่ำรวย กรรมของตัวเอง ไม่ใช่กรรมของพ่อแม่ แต่ถ้ามีลูกอกตัญญู นั่นเป็นกรรมของพ่อแม่ พ่อแม่ทำกรรมไม่ดี มีลูกที่ไม่ดีเกิดขึ้น

ร่างกายเรา ชนกกรรมทำให้เกิดมา แล้วอาศัยอะไร อาศัยธาตุของพ่อของแม่ คนละครึ่งเซลล์มารวมกัน ถัดจากนั้นก็อาศัยแม่หล่อเลี้ยงอยู่ในท้อง อาศัยน้ำ อาศัยอากาศ อาศัยอาหาร ผ่านทางรก จนกระทั่งคลอดออกมา คราวนี้ต้องดิ้นรนช่วยตัวเองแล้ว ต้องหายใจเอาเองแล้ว เวลาจะดูดนม ก็ต้องออกแรงดูดเอาเองแล้ว ไม่ใช่ผ่านทางสายรกมาแล้ว แล้วก็อาศัยอาหาร อาศัยน้ำ อาศัยอากาศ ของโลกข้างนอกนี้ เลี้ยงร่างกายนี้โตขึ้นมา พอแตกสลายไป น้ำก็คืนสู่น้ำ ดินก็คืนสู่ดิน ก็สลายตัวไป คนอื่นก็เอาธาตุอันนี้กลับไปใช้อีก

อย่างพวกเราว่ารังเกียจซากศพ ร่างกายเราประกอบด้วยซากศพจำนวนมาก เมื่อเช้านี้ใครกินเนื้อสัตว์บ้าง นั่นล่ะเรากินศพ เพียงแต่เราไม่เรียกว่าศพ เราเรียกว่าไก่ย่างอะไรอย่างนี้ ไม่เรียกว่าศพเท่านั้นเอง จริงๆ ก็คือศพ จากสิ่งที่เคยเป็นเนื้อเป็นหนังของสัตว์ มาเป็นเนื้อเป็นหนังของเรา พอเราตายลงก็ไปเป็นอาหารของตัวอื่นต่อไป กลายเป็นปุ๋ย กลายเป็นดิน ต้นไม้เอาไปกิน สัตว์ไปกินต้นไม้ เพราะฉะนั้นธาตุที่เป็นร่างกายเรานี้ ไม่ใช่ของใหม่ เป็นสมบัติดั้งเดิมของโลก เลือดเราทุกหยดในตัวเรานี้ น้ำทุกๆ หยดในตัวเรา มันมีอยู่มาก่อนที่เราจะเกิดอยู่แล้ว เราไปแค่อาศัยหยิบยืมเขามาใช้ ถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องคืนเจ้าของ สังขารมันไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ของเรา มันเป็นของที่เราหยิบยืมโลกมาใช้

เราเฝ้ารู้เฝ้าดูความจริง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี้ในเรื่องไตรลักษณ์ ท่านจะมีคำที่น่าสังเกตอันหนึ่ง ท่านบอก “สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารคือความปรุงแต่งทั้งหลาย รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ไม่เที่ยง” “สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขารคือความปรุงแต่งทั้งหลาย ทั้งรูปธรรมนามธรรม เป็นทุกข์” คือถูกบีบคั้นให้แตกสลาย “สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา” ทำไมใช้คำต่างกัน อันแรกใช้ “สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์” พอถึงอนัตตา ท่านใช้คำว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา”

สังขารมันเป็นส่วนหนึ่งของธรรม ธรรมะมี 2 ส่วน ธรรมะที่เป็นสังขาร กับธรรมะที่ไม่ใช่สังขาร ธรรมะที่ไม่ใช่สังขาร อย่างมรรคผล นิพพาน ไม่ใช่สังขาร เป็นธรรมะที่พ้นจากความเป็นสังขาร ในขณะที่ขันธ์ 5 ของเรานี้ ส่วนใหญ่มันก็จะไปอยู่ในกองของสังขาร ฉะนั้นสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ แต่ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถึงจุดนี้เราจะตอบได้ นิพพานเป็นอนัตตา นิพพานเที่ยงไหม นิพพานเที่ยง เพราะไม่ใช่สังขาร นิพพานเป็นทุกข์ไหม ไม่เป็น เพราะไม่ใช่สังขาร แต่นิพพานเป็นอนัตตา ไม่มีเจ้าของ เป็นของกลาง

ฉะนั้นพระพุทธเจ้านิพพาน พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ก็ไม่ได้เอานิพพานไปด้วย นิพพานก็ยังคงอยู่ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเรา เราปฏิบัติธรรมไปเรื่อย รู้ทุกข์ไป รู้กายรู้ใจไป จนกระทั่งรู้แจ้ง กายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือทุกข์ มันก็ละสมุทัย ละความอยาก หมดความอยากที่จะให้กายให้ใจเป็นสุข หมดความอยากที่จะให้กายให้ใจพ้นทุกข์ ทันทีที่จิตหมดความอยากนั่นล่ะ นิพพานคือสภาวะที่สิ้นความอยาก ก็จะปรากฏขึ้นต่อหน้าเรา นิพพานไม่ใช่ของที่เกิดขึ้นใหม่ นิพพานมีอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยเห็น เพราะจิตของเรามีกิเลสตัณหาขวางอยู่

 

สันติธรรม

เราภาวนาจนเราลดละ ทำลายกิเลสตัณหาออกไปแล้ว เราก็จะเห็นพระนิพพานปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตา นิพพานไม่มีการเข้า ไม่มีการออก ไม่ใช่กำหนดจิตเข้าพระนิพพาน กำหนดจิตออกจากพระนิพพาน อันนั้นไม่ใช่ นิพพานไม่มีเข้า ไม่มีออกหรอก เพราะไม่มีขอบ ไม่มีเขต สิ่งที่เราจะเข้าจะออกได้ ต้องมีขอบเขต อย่างเข้าศาลานี้ เข้ามาได้ ออกจากศาลาได้ เพราะอะไร เพราะศาลานี้มีขอบเขตอยู่ นิพพานไม่มีขอบ ไม่มีเขต เพราะฉะนั้นไม่มีใครเข้า ไม่มีใครออกนิพพานหรอก

เมื่อก่อนหลวงพ่อยังไม่บวช หลวงพ่อภาวนา แล้ววันหนึ่งก็นึกถึงคำครูบาอาจารย์ ท่านให้เดินทางสายกลาง ก็กำหนดจิตลงไป พอสติเคลื่อนไป จะไปจับที่อารมณ์ หลวงพ่อก็ไม่จับ ถ้าจับอารมณ์ก็สุดโต่งไปข้างอันหนึ่ง ทวนกระแสของจิตกลับเข้ามาที่ผู้รู้ แล้วก็ไม่ให้จับที่ผู้รู้ ถ้าจับที่ผู้รู้ก็สุดโต่งมาอีกข้างหนึ่ง จิตกับอารมณ์เป็นของคู่กัน เรายึดจิต หรือเรายึดอารมณ์ มันก็คือยึดนั่นล่ะ หลวงพ่อเลยกำหนดไปเรื่อย เคลื่อนไปหาอารมณ์ แล้วก็ไม่จับ เคลื่อนเข้ามาที่ผู้รู้ แล้วก็ไม่จับ เคลื่อนไป เคลื่อนมา ในที่สุดจิตรวมปุ๊บลงไป หมดความคิดนึกปรุงแต่ง ว่าง สว่าง ไม่มีเวลา ขณะนั้นไม่มีความรู้สึกว่าเป็นกี่โมงกี่ยาม เหลือแต่ธาตุรู้อยู่อันเดียวนั้นล่ะ

พอเล่นตรงนี้ เล่นตรงนี้ไปอยู่ช่วงหนึ่ง คิดว่า เออ เราเห็นพระนิพพานแล้ว ว่างๆ เราก็เข้ามาดูพระนิพพานทีหนึ่ง แล้วต่อมาก็สังเกตว่า นี่มันเรื่องของสมาธิ มันไม่ใช่นิพพานจริงหรอก เป็นสมาธิ แล้วพอดีไปเจอครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ชื่อหลวงปู่บุญจันทร์ หลวงพ่อไม่รู้จักท่าน แต่ท่านมีฤทธิ์เยอะ ท่านรู้จักหลวงพ่อ ท่านให้พระมาเรียกหลวงพ่อไปหา แล้วท่านก็ถามว่า หลวงพ่อภาวนาอย่างไร ก็กราบเรียนท่านว่า “ไม่จับผู้รู้ ไม่จับสิ่งที่ถูกรู้ ว่าง สว่าง ไม่มีความคิดนึกปรุงแต่ง ไม่มีเวลา” ท่านตวาดเอาบอก “เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก” ท่านตวาดเอา

หลวงพ่อก็เลยเลิกเล่น รู้แล้วว่าเล่นอย่างนี้ ไม่นิพพานหรอก มัวแต่เล่น ใช้ไม่ได้ มันเหมือนๆ นิพพานแต่มันไม่ใช่ มันยังมีการเข้า ยังมีการออก นิพพานที่ยังเข้าได้ออกได้ เป็นนิพพานแคบๆ นิพพานปลอม มีขอบ มีเขต มีจุด มีดวง มีที่ตั้ง มีการไป มีการมา เมื่อมีสิ่งเหล่านี้ มันก็มีจุติ มีอุบัติ คือมีตายมีเกิดอีก ใช้ไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นพวกเรามีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ทำไปเรื่อยๆ แล้วถ้าดูกายหรือดูจิตไม่ได้ ก็ทำสมถะสลับไป เพื่อเป็นการชาร์จจิตให้มีพลัง

พอจิตมันมีพลังตั้งมั่น สงบ ตั้งมั่นดีแล้ว เราก็เดินปัญญา ดูกายอย่างที่กายเป็น ดูจิตอย่างที่จิตเป็น โดยใช้หลัก “มีสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ทำไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งมันรู้ความจริง กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ พอรู้ความจริงอย่างนี้มันจะหมดสมุทัย มันจะปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิต มันจะไปอยากอะไรอีก มันปล่อยทิ้งแล้ว ทันทีที่รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยเป็นอันถูกละ ในขณะนั้นนิโรธคือนิพพานปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาแล้ว

ใช้คำว่า “ปรากฏ” ไม่ใช่ “เกิด” มันมีอยู่แล้วแต่เราไม่เห็น ตอนที่เราหมดตัณหานั่นล่ะ นิพพานคือความสิ้นตัณหา บางทีท่านก็ใช้คำว่า “นิพพาน คือสภาวะที่สิ้นตัณหา” พอสิ้นตัณหาแล้วมันเป็นอย่างไร มันสงบ มันสันติ นิพพานมีสันติลักษณะ คือมันสงบ อย่างวัดนี้ชื่อวัดสวนสันติธรรม สิ่งที่เรียกว่า “สันติธรรม” คือนิพพาน แปลให้ออก ถ้าใครเขาถามว่า ลูกศิษย์วัดสวนสันติธรรม “สันติธรรม” คืออะไร คือพระนิพพาน นี่คืออุดมการณ์ของพวกเราชาววัดสวนสันติธรรม เราจะต้องนิพพานให้ได้ ไม่ชาตินี้ก็ชาติต่อๆ ไป นี่เป็นอุดมการณ์ที่เราตั้งวัดนี้ขึ้นมา

ให้มีสติรู้กายรู้ใจไป แล้วเราจะไม่ทำอะไรผิดพลาด เหมือนคนนั้น แค่จอดรถผิด โทษโดนปรับ กลายเป็นโทษประหาร เพราะไปฆ่าเจ้าพนักงาน อย่างหลวงพ่อนี่เป็นเจ้าพนักงาน เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายเหมือนกัน มี หน้าที่ปกครองดูแลวัด ใครมาทำความไม่สงบ ความวุ่นวายในวัด หลวงพ่อมีอำนาจไล่ได้ สมมติว่าใครมาเอะอะโวยวาย ห้ามไม่ฟังก็ไล่ ไล่ไม่ไป มีความผิดแล้ว ความผิด 2 ข้อ ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานที่ชอบด้วยกฎหมาย อันนี้แรงหน่อย อีกข้อหนึ่งคือบุกรุก ฉะนั้นอย่างใครจะมาทำอะไรที่นี่ ต้องระวัง เพราะหลวงพ่อรู้กฎหมาย แล้วเราไม่ปล่อยคนชั่วให้ลอยนวล

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
25 กุมภาพันธ์ 2566