เราหลงโลกที่ว่างเปล่า

ปีใหม่ผ่านมา 9 ชั่วโมงแล้ว ปี 2563 ก็หมดไป ผ่านพ้นมา 9 ชั่วโมง มันกลายเป็นอดีตไปอย่างรวดเร็ว ปีที่แล้วมันก็จริงจัง เวลาเราอยู่ในสภาวะที่มันเป็นปัจจุบัน มันก็ดูมีจริงจังขึ้นมา พอมันผ่านมาไม่กี่ชั่วโมง ก็เหมือนฝันไปแล้ว ปีกลายนี้เหมือนความฝันเท่านั้นเอง ผ่านไปหมดแล้ว เรียกร้องเอาคืนก็ไม่ได้ มันไม่เฉพาะแต่ละปีที่หายไป แค่เดือนธันวาที่ผ่านมา เราก็เรียกร้องเอาคืนไม่ได้แล้ว แค่เมื่อวาน 31 ธันวาคม 63 เราก็เอาคืนไม่ได้แล้ว

เวลาล่วงไปๆ อย่างรวดเร็ว ตอนที่เราอยู่ในสถานการณ์ตอนนั้น ก็ดูเหมือนจริงจังมากเลย แต่พอเหตุการณ์มันผ่านไป มันก็เหมือนฝันไปเท่านั้นเอง ปีนี้ต่อไปมันก็จะเป็นแบบเดียวกับปีก่อน มันหมดไปสิ้นไปเรื่อยๆ มันคล้ายๆ ความฝัน ดูเหมือนจริงจัง แต่พอตื่นขึ้นมา หลุดออกจากโลกของความฝัน พ้นจากระยะเวลาที่ฝัน มันก็ไม่มีอะไรเหลือแล้ว ว่างเปล่า

เวลาเราอยู่กับปรากฏการณ์แต่ละขณะๆ เรารู้สึกจริงจัง มีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง ก็รู้สึกว่าเป็นของจริง แต่พอมันผ่านไปแล้ว มันก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ชีวิตเรา กระทั่งในขณะนี้ มันก็เหมือนเราฝันอยู่ หาสาระแก่นสารอะไรจริงจังไม่ได้ พอคิดว่ามันจริงจัง สภาวะที่กำลังปรากฏอยู่มันก็มามีอิทธิพลเหนือจิตใจเรา จิตใจเราเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

แทนที่เราจะต้องรอจนวันคืนล่วงไปๆ แล้วค่อยเห็นว่าอดีตไม่มีสาระแก่นสาร เรามาฝึกอยู่กับปัจจุบัน จนเห็นว่ากระทั่งปัจจุบันนี้ก็ไม่มีสาระแก่นสารอะไรจริงจัง โลกนี้มันว่างเปล่ามาแต่ไหนแต่ไร เราไปหลงกับมัน เราก็รู้สึกว่ามันมีจริง ไปวุ่นวายกับมัน มันเริ่มตั้งแต่คิดว่า ตัวเรามีอยู่จริงๆ พอตัวเรามีอยู่ สิ่งที่แวดล้อมตัวเราก็มีอยู่ โลกทั้งโลกก็เลยมีอยู่ กลายเป็นของมีจริงไปหมด แต่ถ้าเรามองลงมาในตัวเราเองนี้ เห็นขันธ์ 5 มันว่างเปล่า ไม่มีตัวมีตนอะไรที่แท้จริง สิ่งที่แวดล้อมกายนี้ใจนี้อยู่ ก็หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้ โลกทั้งโลกก็ไม่เห็นมีความหมายอะไรเท่าไหร่ ก็เป็นแค่ปรากฏการณ์ที่เคลื่อนไปเรื่อยๆ มีความเคลื่อนไป ความเคลื่อนไปก็ทำให้เกิดเวลาขึ้นมา

เราก็ภาวนา อยู่กับปัจจุบัน เรียนรู้ความจริงในปัจจุบันนี้บ่อยๆ จะได้เห็นความจริงว่า สิ่งที่เรียกว่าตัวเรานั้น มันมีอยู่จริงหรือไม่จริง มีสติระลึกรู้ลงในร่างกาย มีจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู พอสติระลึกรู้ลงที่กายก็จะเห็นว่า ร่างกายเป็นแค่วัตถุธาตุของโลก มีธาตุไหลเข้ามีธาตุไหลออกตลอดเวลา ไม่ใช่ตัวเราของเราที่แท้จริง มันเป็นของที่ยืมโลกมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ มันก็เกิดขึ้นตอนมีการกระทบอารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆ ก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นมีการกระทบอารมณ์ เขาเรียกว่ามีผัสสะ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา

ในขณะที่ตามองเห็น หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส มันมีเวทนาอันเดียว คือไม่ทุกข์ไม่สุขอะไร เฉยๆ เวลากายกระทบอารมณ์ มันมีเวทนาได้ 2 อัน มีสุข มีทุกข์ได้ แต่เวลาใจของเรากระทบอารมณ์มีเวทนาได้ 3 อัน คือ สุข ทุกข์ เฉยๆ ลำพังตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส มันยังไม่มีความหมายที่จะทำให้จิตใจของเราสุขหรือทุกข์ขึ้นมา อย่างตาเห็นรูป ตอนที่เห็นใจเราก็เฉยๆ ตอนที่หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส ใจเราก็เฉยๆ ตอนที่กายกระทบสิ่งที่มากระทบร่างกาย อย่างความเย็น ความร้อนอะไรพวกนี้ มากระทบร่างกาย มันเย็นเกินไป มันร้อนเกินไป กายมันก็ทุกข์ มันเย็นพอดี มันร้อนพอดี มันก็รู้สึกกายมันสุข แต่ใจมันยังไม่เกี่ยวข้อง ใจมันเข้าไปแทรกแซงเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว มันเกิดตามหลังการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอกระทบแล้วเกิดเวทนาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วมันส่งสัญญาณเข้ามาที่ใจ ใจมันมาคิดพิจารณาว่า สิ่งที่มากระทบนี้มันคืออะไร อาศัยสัญญามาแปลความหมายของสิ่งที่มันกระทบ

อย่างตาเรามองเห็น ขณะที่ตาเห็นจริงๆ ใจเฉยๆ ต้องมาแปลสิ่งที่ตาเห็นก่อน นี่ผู้หญิง สวย ตรงสเป็กอะไรอย่างนี้ ใจเราก็จะเกิดชอบ เกิดราคะขึ้นมา หรือหูได้ยินเสียง ได้ยินเสียงไม่เพราะ เสียงด่า เสียงหยาบคาย ตอนที่หูได้ยินเสียง ใจยังเฉยๆ อยู่ ยังไม่ได้แปลความหมาย แต่พอได้ยินเสียง มันจะมีการส่งสัญญาณเข้ามาที่ใจ มาแปลความหมายของเสียงอันนั้น แล้วก็จะเกิดความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ หรือความรู้สึกเฉยๆ ขึ้น ฉะนั้นความรู้สึกของใจมันเกิดตามหลังกระบวนการที่สัญญา ความจำได้หมายรู้เข้าไปแปลความหมาย สังขารมันปรุงต่อ มันก็จะปรุงเป็นกุศล เป็นอกุศลอะไรขึ้นมา กระบวนการเหล่านี้ฟังแล้วยุ่งยาก แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นสิ่งที่เรามีอยู่ เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นการเรียนธรรมะก็แค่เห็นสิ่งที่กำลังมีกำลังเป็น ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร ไม่ใช่เรื่องยากอะไร จิตใจเรามันก็มี process ในการทำงานอย่างนี้อยู่แล้ว เราก็แค่มีสติตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ

อย่างเรารู้สึกชีวิตเรามีอยู่จริงจัง โลกนี้จริงจัง ทุกสิ่งทุกอย่างจริงจังไปหมด มันเกิดจากสัญญาและสังขารเท่านั้นเอง มันเกิดจากสัญญาและสังขารมันปรุง ก็เลยรู้สึกจริงจังขึ้นมา ถ้าเรารู้ทัน สัญญามันทำงาน มันแปลความหมายของข้อมูลที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจมันคิดอะไรขึ้นมานี่ สัญญาไปแปลความหมาย แล้วมันถึงจะเกิดความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ ราคะ โทสะ โมหะก็เกิดหลังจากการแปลความหมายของสัญญา สัญญาณผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือกระแสของความคิดที่ไหลขึ้นมาทางใจ

เมื่อวานหรือ 2-3 วันที่แล้ว มีทีมงานของวัดคนหนึ่ง เป็นแม่ครัวเรานี้ล่ะ มาเล่าให้หลวงพ่อฟังว่าเห็นกระแสอะไรบางอย่างมันผุดขึ้นจากกลางอก มันผุดขึ้นมา ไหลพรืดขึ้นมา แล้วก็หายไป ไม่รู้ว่ามันคืออะไร

หลวงพ่อบอก “นั่นล่ะกระแสของความคิดมันทำงานแล้ว” แต่ทำไมไม่รู้ว่าคืออะไร เพราะสัญญายังไม่ได้เข้าไปแปล พอมีกระแสไหลออกมาจากจิต จิตมันตรึก จิตมันคิดขึ้นมาแล้ว สัญญามันเข้าไปแปล ก็จะเป็นเรื่องราวขึ้นมา พอมีเรื่องราวขึ้นมาแล้ว คราวนี้ก็จะเกิดกุศล อกุศลขึ้นมา สังขารมันทำงานแล้ว เกิดเป็นกุศล เป็นอกุศลขึ้นมา นี่คือกระบวนการที่จิตมันทำงาน

 

ดูให้เห็นของจริง

พวกเราภาวนาเรื่อยๆ เดี๋ยวเราก็เห็น เราอาจจะเรียกชื่อไม่เป็น เรียกชื่อไม่ถูกว่า อันนี้เรียกว่า จักขุวิญญาณจิต นี้โสตวิญญาณจิตอะไรอย่างนี้ เรียกไม่ถูก นี้ปัญจทวาราวัชชน มโนทวาราวัชชน โวฏฐัพพนะ สันตีระณะ ตรงที่มันพิจารณา ตอนมันส่งสัญญาณมาแล้ว ตรงสันตีระณะมันแปลความหมาย มันทำงานของมัน แล้วจิตถึงจะเข้าไปเสวยอารมณ์ทีหลัง เฝ้ารู้เฝ้าดูของจริงแล้วเราจะรู้เลยว่า ความสุข ความทุกข์ หรือสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราไม่ชอบ จริงๆ มันแค่กระบวนการที่จิตมันทำงานขึ้นมาเป็นคราวๆ แล้วก็ดับสูญไป มันไม่มีตัวเราของเรามาตั้งแต่แรก ตัวเราของเรามันก็อาศัยสัญญา อาศัยสังขารสร้างขึ้นมา นี้ถ้าสติปัญญาของเรามากพอ เราจะเห็น ตามองเห็นรูป มันเกิดการแปลความหมาย สติเรารู้ทัน มันจะไม่เกิดความยินดียินร้ายอะไรขึ้นมาหรอก การที่จิตจะเข้าไปยึดไปถือ มันก็ไม่เกิดขึ้น

เฝ้ารู้เฝ้าดูบ่อยๆ ให้เห็นของจริงบ่อยๆ มันเกิดแล้วเกิดอีก ถึงจุดหนึ่งเราก็จะรู้ จริงๆ แล้ว จิตมันทำงานของมันเอง มันเหมือนเรากำลังฝันอยู่ทั้งๆ ที่ลืมตาอยู่นี้ เราเข้าไปควบคุม ไปบังคับ ไปแทรกแซงไม่ได้เลย มันทำงานของมันขึ้นมาเอง สิ่งที่เราทำได้ก็คือการรู้อย่างที่มันเป็น ถ้าเราไม่ได้รู้อย่างที่มันเป็น เราก็หลง ก็แค่นั้นเอง ถ้าหลงแล้วมันก็จะมีเรา-มีเขาขึ้นมา ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วตัวเรามันไม่มีหรอก ขันธ์ 5 มันว่างเปล่า

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป มันจะเห็นแต่ความว่างเปล่า ว่างเปล่าไม่ได้แปลว่าไม่มีอะไร มันมีเมื่อมันมีเหตุ มันดับไปเมื่อเหตุมันดับ มันเป็นของที่บังคับตามใจอยากไม่ได้ มันว่าง ว่างแบบนี้ไม่ใช่ว่างแบบไม่มีอะไรเลย ฉะนั้นบางทีเราได้ยินคำว่าจิตว่างๆ หมายถึงจิตว่างจากกิเลสตัณหา ว่างจากความเป็นตัวเป็นตน พอสติสมาธิปัญญาของเราดี เราเห็นแล้ว ทุกอย่างมันเหมือนความฝัน ขันธ์ 5 เหมือนความฝัน เหมือนภาพลวงตาทำงานขึ้นมาแล้วก็สลายไป ถ้าเราเห็นเราก็จะรู้ว่าจริงๆ แล้ว โลกนี้ว่างเปล่าจากความเป็นตัวเป็นตน

ถ้าจะพูดเรื่องจิตว่าง โลกว่าง เดี๋ยวพูดลอยๆ ต้องบอกก่อนว่าว่างจากอะไร ไม่ใช่จิตไม่มี ร่างกายไม่มี มีแต่มีเพราะมีเหตุ ถ้าเหตุดับมันดับ ขันธ์ 5 มีอยู่ไหม มี แต่มีแบบจับต้องไม่ได้จริง ประเดี๋ยวเดียวพอหมดเหตุมันก็ดับ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว มันว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน มันว่างเปล่า ไม่มีตัวมีตนอะไร แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับอะไรของใคร

ดูของจริงจนเห็นความจริง ของจริงก็คือขันธ์ 5 ของเรา รูป นาม กาย ใจนี้ เรียกว่าของจริง มีจริงๆ ไม่ใช่ไม่มี แต่มันมีแบบลวงๆ มีแบบหลอกลวง มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ที่เราจะเป็นเจ้าของมันได้ ดูไปเรื่อยๆ มันจะเห็นเหมือนที่หลวงพ่อบอกนี้ ทีนี้พวกเราบางคนได้ยินคำว่าว่างๆ ก็คิดว่าว่างแบบสูญไปหมด ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรเลย อันนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ ว่างแบบสูญไปหมด มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ คำว่าว่างนี้ หมายถึงว่า มีเหตุมันเกิด หมดเหตุมันดับ เราบังคับมันไม่ได้ มันไม่ใช่ตัวเราของเรา นี่ว่างจากความเป็นตัวเป็นตน

 

เรียนลงมาในกายในใจ

ถึงปีใหม่แล้วก็มาเรียนธรรมะ มาดูของจริงในตัวเอง กี่ปีๆ ก็เรียนอย่างนี้ 2,500 – 2,600 ปีก่อน ก็เรียนอย่างนี้ ตั้งแต่สมัยพุทธกาลก็เรียนลงมาในขันธ์ 5 เรียนลงมาในกายในใจนี้ เรียนจนเห็นว่าไม่มีตัวเราหรอก มันว่างเปล่าจากความเป็นตัวเรา เราบังคับมันไม่ได้ เวลาเราลงมือภาวนาจริงๆ ขั้นแรกเลยถือศีล 5 ไว้ แล้วก็ฝึกจิตใจให้มันตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดู พอจิตใจมันเป็นผู้รู้ผู้ดู มันจะถอดถอนตัวเองออกจากปรากฏการณ์ทั้งหลาย ปรากฏการณ์ของรูปธรรม ปรากฏการณ์ของนามธรรม จิตมันถอดถอนตัวเองออกมาเป็นแค่คนรู้คนดู แล้วมันถึงจะเห็นความจริงของรูปธรรม นามธรรม ดูของจริง แต่ดูให้เป็น ดูแบบคนวงนอกแล้วจะเห็นความจริง

พอเห็นความจริง ดูแล้วดูอีกๆ ตัวของจริงนั้น มันมีเหตุก็เกิดหมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ ขันธ์ 5 มันมีอยู่จริง มีอยู่จริง ภาษาปริยัติเรียกว่า มันเป็นปรมัตถธรรม มันมี ไม่ใช่มันไม่มี แต่มันไม่ใช่ตัวตน การที่เราเห็นของจริง เห็นปรมัตถธรรม เห็นรูปธรรม นามธรรม ต่อไปเราจะเห็นความจริง ความจริงเป็นตัวสัจจะ ความจริงนี้ไม่ตาย กี่ยุคกี่สมัยขันธ์ 5 ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฉะนั้นเราเห็นของจริงที่มีอยู่นี้ คือเห็นปรมัตถธรรม รูป นาม กาย ใจของเรานี้ แล้วก็รู้ความจริงของมันว่า จริงๆ แล้ว มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเคลื่อนผ่าน เคลื่อนผ่านความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เราไม่สามารถทวงคืนได้ วัยล่วงไป ชีวิตเปลี่ยนไป ความเป็นหนุ่มเป็นสาวอะไรนี่หมดไปสิ้นไป ต่อไปก็ชีวิตก็หมดไป

ถ้าเฝ้ารู้เฝ้าดูอย่างนี้ มีสติ สมาธิ ปัญญาแก่กล้าขึ้นมา มันก็จะเห็นความจริงที่ประณีตลึกซึ้งเข้าไป การที่เห็นความจริงนั้นเรียกว่าเราได้ปัญญา เป็นปัญญาที่แท้จริง ปัญญาที่แท้จริงมันก็มี 3 ระดับ ระดับที่ 1 นี่มันจะเห็นว่า กายนี้ ใจนี้ รูป นาม ขันธ์ 5 อะไรพวกนี้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นสมบัติของโลกที่เรายืมโลกมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว นี่เป็นปัญญาขั้นต้นจากการปฏิบัติ ไม่ใช่คิดเอา แต่ต้องเห็นเอา เห็นของจริงไปเรื่อยๆ เห็นของจริงคือ เห็นกายเห็นใจมันทำงานไปเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายมันจะเห็นความจริง ความจริงก็คือ กายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเราของเราหรอก ถ้าเราเห็นอย่างนี้ได้ เรียกว่า เรามีปัญญาขั้นต้นแล้ว

การภาวนาถัดจากนั้นก็จะประณีต ละเอียด จิตใจของเรานี่มีแนวโน้มที่จะไปสู่พระนิพพาน มันจะเดินไปสู่พระนิพพาน แบบไม่มีอะไรมาขวางได้แล้ว ถ้าเทียบแบบโบราณ เหมือนท่อนไม้ลอยในน้ำ มันตกเข้ามาตรงร่องน้ำแล้ว มันก็จะพุ่งดิ่งลงทะเลไป แต่ถ้าใจยังไม่เห็นความจริงว่า ตัวเราไม่มี ประเดี๋ยวมันก็ติดข้างซ้าย เดี๋ยวมันก็ติดฝั่งข้างขวา เดี๋ยวก็ไปเกยตื้น เดี๋ยวก็ถูกน้ำวนดูดเอาไว้ สารพัดที่จะถ่วงไม่ให้ไม้ท่อนนี้ลอยไปถึงทะเล แต่ถ้าเมื่อไหร่เราภาวนา จนเห็นความจริงแล้วว่า กายนี้ ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา ของเรา มันเหมือนจิต เหมือนท่อนไม้นี่ ตกอยู่กลางร่องน้ำที่ถูกต้องแล้ว มันจะไหลอย่างรวดเร็วลงไปสู่ทะเล

ความรวดเร็วนี้ รวดเร็วแค่ไหน ก็ในเวลาไม่เกิน 7 ชาติ มันจะถึงพระนิพพาน จิตที่มันเข้าใจธรรมะขั้นต้นนี้แล้ว ไม่เกิน 7 ชาติก็จะถึงพระนิพพาน แต่คนที่เข้าใจธรรมะขั้นต้นแล้ว ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเกิดอีก 7 ชาติ ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก ถ้ามีปัญญาแก่กล้า อาจจะเกิด 3 ชาติ หรือชาติเดียวก็ได้ หรือบางคนถ้าแก่กล้าจริงๆ ก็จบในชีวิตนี้ล่ะ ไม่ต้องไปเกิดอีกแล้ว สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นไปสู่มรรคผลที่สูงขึ้นไป ฉะนั้นตรงที่การเรียนรู้ของจริงจนเห็นความจริงนี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ มันทำให้วัฏฏะของเรานี่สั้นลง วัฏฏะซึ่งเคยยืดเยื้อ ยาวนาน ไม่มีที่สิ้นสุด พอเราเห็นความจริงว่าตัวเราไม่มีหรอก วัฏฏะนี้จะสั้นลง อย่างมากก็ไม่เกิน 7 ชาติ อย่างเร็วก็คือจบในชาตินี้ แต่หมายถึงต้องภาวนาต่อไปจนได้

ถ้าเราภาวนาจนเราเห็น เราดูไปเรื่อยๆ เบื้องต้นมันจะเห็นร่างกายไม่ใช่เรา มันดูง่ายที่สุด ร่างกายเป็นของหยาบ มันจะดูง่ายๆ เลยว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา อย่างเวลาเรานั่งอยู่อย่างนี้ เรารู้สึกลงไป ร่างกายมันนั่ง ใจเราเป็นคนดู หรือขยับมืออย่างนี้ ร่างกายมันเคลื่อนไหว ใจเป็นคนดู เวลามันหายใจ ร่างกายมันหายใจ ใจเป็นคนดู นี่ทำอย่างนี้เรื่อยๆ ให้มันมีใจเป็นคนดู แล้วมันจะเห็นเอง ร่างกายไม่ใช่ตัวเราหรอก เป็นของถูกรู้ถูกดู แต่เห็นตรงนี้ยังไม่เป็นพระโสดาบันหรอก

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ หมายถึง ปุถุชนซึ่งไม่เคยได้ยินธรรมะเลย บางคนก็สามารถเห็นได้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เพราะร่างกายนี้มันหยาบ มันแสดงความแก่ ความเจ็บ ความตายให้ดูง่าย บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้จริง สั่งไม่ให้หิวมันก็หิว ไม่ให้ปวดอึปวดฉี่ มันก็ปวดอึปวดฉี่อะไรนี่ มันเห็น นั่งอยู่นานๆ ก็เมื่อย สั่งว่าอย่าเมื่อย มันก็ไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นคนซึ่งไม่เคยเรียนธรรมะ ไม่เคยได้ยินธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ สามารถเห็นได้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา แต่มีแต่ธรรมะของพระพุทธเจ้าเท่านั้น คนที่ได้ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า ถึงจะสามารถเห็นได้ว่าจิตใจไม่ใช่ตัวเรา

เบื้องต้นเราหัดดู สมมติเราดูเข้ามาที่จิตไม่ได้ เราดูที่กายก่อน รูปมันนั่ง จิตเราเป็นคนดู รูปมันหายใจออก หายใจเข้า จิตเราเป็นคนดู มันยืน มันเดิน มันนั่ง มันนอน จิตเป็นคนรู้คนดูเรื่อยๆ ฝึกรู้ฝึกดู มีจิตเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่อย่างนี้ ต่อไปมันก็จะเห็นก่อนว่าร่างกายไม่ใช่เรา แล้วพอเราฝึกชำนิชำนาญขึ้น เราจะเห็นเลยว่า ความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นในร่างกายก็เป็นของถูกรู้ถูกดู อย่างความปวดความเมื่อยเกิดขึ้น เราก็ต้องขยับแก้ปวด ความปวดความเมื่อยเป็นสิ่งซึ่งเราบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ อย่างนั่งอยู่นี่ สั่งไม่ให้ปวดนี่มันทำไม่ได้ มันปวดขึ้นมา เราสั่งให้หายก็สั่งไม่ได้ นี่เราเริ่มเห็นความจริงที่ประณีตขึ้นไปแล้ว

ทีแรกเราเห็นเฉพาะความจริงของร่างกาย ไม่ใช่ตัวเราของเรา แต่ต่อมาก็พัฒนาขึ้นมาเห็นสิ่งที่ละเอียดขึ้นไปอีก คือความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ในร่างกายมันไม่ใช่ตัวเราของเราเหมือนกัน มันเป็นของถูกรู้ถูกดูเหมือนกัน ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ในใจ ก็เป็นของถูกรู้ถูกดู หัดสังเกตไปเรื่อยๆ มันจะประณีตๆ แนบเนียนขึ้นเรื่อยๆ อย่างทีแรก รู้กาย รู้เวทนาของกาย แล้วก็เขยิบขึ้นมารู้เวทนาของใจ ยกระดับขึ้นมา เราก็จะเห็นเลยความสุขในจิตใจก็เป็นของถูกรู้ถูกดู เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่แล้วก็ดับไปหายไป ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ ความทุกข์ในจิตใจ หรือความเฉยๆ ในจิตใจก็ตกอยู่ในลักษณะอันเดียวกัน เป็นของถูกรู้ถูกดู เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ห้ามไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้จริง นี่เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ มันก็จะค่อยๆ ประณีตๆ ขึ้น

พอเราดูต่อไปอีก บางทีเราก็เห็นเวลามีความสุขเกิดขึ้นในใจ มันมีราคะแทรกเข้ามา เราเริ่มขึ้นจิตตานุปัสสนาแล้ว ทีแรกเราดูกาย แล้วเขยิบขึ้นมาดูเวทนา แล้วเขยิบขึ้นมาดูจิต ดูจิตตานุปัสสนาเราก็จะเห็นเลย มีสุขเวทนาเกิดขึ้น ใจมันมีความสุขเกิดขึ้นอย่างนี้ ราคะ ความยินดีพอใจ มันจะแทรกเข้ามา เวลามันมีความทุกข์เกิดขึ้น ความไม่พอใจคือ โทสะ มันก็จะแทรกเข้ามา ฉะนั้นถ้าเราภาวนา เราจะเห็น เอ้อ จิตมันมีราคะขึ้นมาแล้ว หรือจิตมันมีโทสะขึ้นมาแล้ว เฝ้ารู้เฝ้าดูมันลงไป หรือบางทีอารมณ์นั้นไม่ชัดเจน ใจไม่สุขไม่ทุกข์อะไร พอใจมันไม่สุขไม่ทุกข์ บางทีก็เผลอๆ รู้สึกไม่มีความหมายอะไร อารมณ์อันนี้ อารมณ์ไหนมีความทุกข์ เราก็สนใจ อารมณ์ไหนมีความสุข เราก็สนใจ อารมณ์ไม่สุขไม่ทุกข์ เราไม่ค่อยสนใจ เพราะฉะนั้นเราจะเผลอเพลิน เราจะทิ้งอารมณ์นั้นไป หลงไปแสวงหาอารมณ์อื่นๆ ไป นี่คือตัวโมหะ ดูสภาวะไม่ออก เราก็ฟุ้งซ่าน เที่ยวแสวงหาอารมณ์ไปเรื่อยๆ

ฉะนั้นราคะ โทสะ โมหะ มันก็ตามหลังเวทนาทางใจมา เราค่อยๆ ดู ค่อยประณีตๆๆ ขึ้นไป เริ่มดูกาย จนเห็นกายไม่ใช่เรา เห็นเวทนาในร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เห็นเวทนาทางใจไม่ใช่เรา ทีนี้พอมันทำงานละเอียดขึ้น มันจะเห็นเลย จิตโลภ มันเกิดขึ้นเอง เวลาใจเรามีความสุข จิตโลภก็เกิด เวลาใจเรามีความทุกข์ จิตโกรธก็เกิด เวลาใจไม่สุขไม่ทุกข์ จิตหลงๆ ก็เกิด จิตจะสุข จิตจะทุกข์ จิตจะเฉยๆ หรือจิตจะดี จิตจะโลภ จิตจะโกรธ จิตจะหลง ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้ดูจากของจริง ไม่ใช่คิดเอา

อย่างเราเห็นเลย ความโกรธ เราไปกระทบอารมณ์ก่อน ตามองเห็นรูป เห็นทีแรกยังไม่โกรธ ส่งสัญญาณมาที่ใจ มีการแปลความหมาย นี่ศัตรูของเรา มันเคยแย่งแฟนเรา พอความจำได้หมายรู้อย่างนี้เกิด จิตมันจะทำงานต่อเลย มันไม่ชอบใจ มันหงุดหงิดใจ ไม่ชอบ นี่มันจะค่อยๆ ปรุงๆๆ ขึ้นมา สุดท้ายความโกรธก็เกิดขึ้น แต่ก่อนที่จะโกรธ มันมีขั้นตอนละเอียดๆ ลงไป ไม่จำเป็นต้องรู้หรอก รู้เท่าที่เห็นเท่านั้น ไม่ต้องรู้มากกว่าที่เห็นจริง เพราะฉะนั้นถ้าเห็นจริงๆ เราไม่ได้เห็นขั้นตอนละเอียด อย่างที่หลวงพ่อบอก ก็ไม่เป็นไร แค่ว่าพอเห็นหน้าคนนี้แล้ว แหม มันโกรธอย่างนี้ รู้ตรงที่จิตมันโกรธเลยก็ได้ ไม่ต้องรู้ว่า แหม มันผ่านกระบวนการมาตั้งหลายขั้นตอนกว่าจะโกรธ อันนั้นสำหรับพวกที่ชอบเล่นอะไรที่ยุ่งยาก

 

ตัดตรงมาดูจิต

ฉะนั้นถ้าจะตัดตรงก็มาดูเลย จิตโลภก็รู้ว่าโลภ จิตไม่โลภ เราก็รู้ว่ามันไม่โลภ จิตโกรธแล้วก็รู้ว่าโกรธ จิตไม่โกรธก็รู้ว่ามันไม่โกรธ จิตหลงไป ฟุ้งซ่านไป รู้ว่ามันหลงไป รู้ว่ามันฟุ้งซ่านไป จิตไม่หลง จิตไม่ฟุ้งซ่าน จิตตั้งมั่นขึ้นมาก็รู้ รู้อย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป เราก็จะเห็นเลย จิตจะโกรธ หรือจิตจะโลภ จิตจะหลง เราเลือกไม่ได้ จิตมันจัดการของมันเอง มันเลือกของมันเอง ปริยัติเขาบอกมันมีตัวหนึ่งเป็นตัวกำหนด มีจิตดวงหนึ่งเป็นตัวกำหนด เรียก โวฏฐัพพนะจิต เราไม่จำเป็นต้องรู้ชื่อมันหรอก แต่ว่าไม่ใช่เรากำหนดว่า ต่อไปนี้จะโกรธดี หรือจะโลภดี หรือจะหลงดี มันมีจิตตัวหนึ่งเป็นผู้กำหนด แล้วจิตตัวนั้นก็ดับไปแล้วเกิดจิตโลภขึ้นมาแทน เกิดจิตโกรธ จิตหลงขึ้นมาแทน

จิตมีทีละดวง มีทีละดวงไม่ใช่มีทีหนึ่งหลายๆ ดวง อย่างพอมีจิตโกรธอยู่ ก็ไม่มีจิตโลภ พอมีจิตโลภก็ไม่มีจิตโกรธ แต่ตอนที่มีจิตโกรธ จิตดวงที่เป็นจิตโกรธได้ต้องหลงด้วย ตอนที่โลภอยู่ก็ต้องหลงด้วย ถ้าไม่หลงจะไม่โกรธ ถ้าไม่หลงจะไม่โลภ ความโกรธ ความโลภอะไรนี่มันเกิดตอนหลง เพราะฉะนั้นตัวจิตที่มีโมหะ มันเป็นตัวพ่อตัวแม่ของกิเลสทั้งหลาย ของจิตที่เป็นกิเลสทั้งหลาย ตัวโมหะมันจะเกิดประกอบกับจิตทุกดวงที่เป็นอกุศล มันก็เหมือนสติ เป็นตัวที่ประกอบกับจิตที่เป็นกุศลทุกๆ ตัว ปัญญาอย่างนี้ เกิดกับจิตที่เป็นกุศล แต่ว่าปัญญานี่ไม่เกิดกับจิตที่เป็นกุศลทุกตัว ไม่เหมือนสติ จิตที่เป็นกุศลบางตัวไม่มีปัญญาหรอก ดีเฉยๆ รู้ๆ อยู่ แต่รู้อยู่เฉยๆ รู้ไม่มีปัญญา สติเกิดเมื่อไหร่ เป็นกุศลแน่นอน ถ้าปัญญาเกิดก็เป็นกุศลแน่นอน แต่ตอนที่จิตเป็นกุศลนี่อาจจะมีปัญญาหรือไม่มีปัญญาก็ยังได้ ไม่เหมือนกันหรอก แต่ถ้าหลงเกิดขึ้น อย่างไรก็เป็นอกุศลแน่นอน

สิ่งเหล่านี้เราไม่ต้องท่องจำ เราเรียนรู้จากของจริงที่เราเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งมันสรุปออกมาได้เอง เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆ แล้วจะเข้าใจขึ้นมา จิตจะเป็นกุศล หรือจิตจะเป็นอกุศล เราสั่งไม่ได้ เมื่อเป็นกุศลแล้ว เรารักษาไว้ก็ไม่ได้ จิตจะเป็นอกุศลเราก็ห้ามไม่ได้ เมื่อเป็นอกุศลแล้ว เราไล่ มันก็ไม่ได้ ทุกอย่างมาจากเหตุ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ นี่เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป จนมันถึงจิตถึงใจเลย เห็นเลย จิตที่เป็นกุศล หรือจิตที่เป็นอกุศล หรือจิตทุกๆ ชนิด มันไม่ใช่ตัวเราของเรา นี่เรียนเข้ามาถึงตัวนี้เลย จนมันมาถึงกระทั่งตัวจิตเองก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา บางคนต้องดูละเอียดกว่านี้อีก ดูแค่จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ดูแค่นี้ มันยังไม่ตัดสินความรู้ว่าจิตไม่ใช่เรา

ดูละเอียดเข้าไปอีก ละเอียดเข้าไปก็ดูไปถึงอายตนะ เราจะเห็นเลย จิตที่วิ่งไปเกิดที่ตาก็ดวงหนึ่ง จิตที่เกิดที่หูก็ดวงหนึ่ง จิตที่เกิดที่จมูกที่ลิ้นที่กายที่ใจ เป็นคนละดวงๆ กัน เพราะฉะนั้นจิตแต่ละดวงๆ นี่เกิดดับ สลับกันไปเรื่อยๆ เราห้ามไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ บางคนต้องเห็นมาละเอียดถึงขนาดนี้ ถึงจะยอม บางคนจิตมันยอมรับง่าย มันเห็นแค่จิตโลภไม่ใช่เรา จิตโกรธไม่ใช่เรา จิตหลงไม่ใช่เรา จิตทั้งหมดไม่ใช่เราแล้ว บางคนต้องดูละเอียดลงไปอีก ดูลงไปถึงอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ตัวเราของเรา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไม่ใช่ตัวเรา ของเรา ความรับรู้คือจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ตัวเราของเรา

เห็นละเอียดลงไป อันนี้เรียกว่าเห็นเข้าไปถึงสิ่งที่เรียกว่าธาตุ ธาตุ 18 ธาตุ อันนี้ขึ้นมาสู่ธัมมานุปัสสนาแล้ว ส่วนใหญ่มาไม่ตรงนี้หรอก มาไม่ถึงขนาดนี้หรอก ตื้นๆ ก็ผ่านง่ายๆ แล้ว ยกเว้นพวกซึ่งสะสมชอบปัญญามากๆ มันถึงจะเห็นละเอียดขึ้นถึงธัมมานุปัสสนา แต่ถ้าคนทั่วๆ ไป บางคนดูกายไปเรื่อยๆ ก็เห็น กายไม่ใช่เรา ใจยอมรับความจริง โลกนี้ไม่มีเราแล้ว บางคนเห็นกายไม่พอ ต้องเห็นเวทนาทางกายด้วย ถึงจะยอมรับความจริงว่า โลกนี้ไม่มีตัวเรา ตัวเราไม่มี บางคนก็เห็นถึงเวทนาทางใจ ถึงจะยอมรับ บางคนก็เห็นสังขารที่จิตที่ใจของเรานี้ เดี๋ยวจิตมันก็ดี เดี๋ยวจิตมันก็ไม่ดี เกิดดับสลับไปอย่างนี้ บางคนเห็นตรงนี้ก็ยอมรับ บางคนต้องเห็นไปถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะอะไรพวกนี้ พวกนี้พวกปัญญาแก่กล้าจริงๆ

แต่ไม่ว่าเราจะเดินระดับไหน แค่เห็นกายไม่ใช่เราอะไรอย่างนี้ ฝึกไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็เข้าสู่ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกคนจะขึ้นมาสู่ธัมมานุปัสสนาในขั้นสุดท้าย คือมันจะเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นทุกคนล่ะ แต่จะเห็นแล้วแตกฉาน กว้างขวางแค่ไหนไม่เท่ากัน องค์ที่เห็นอริยสัจแตกฉานกว้างขวางที่สุดเลยในบรรดาสาวกก็คือ พระสารีบุตร พระที่มีปัญญาแก่กล้านี่มีหลายองค์ แต่องค์ที่รู้อริยสัจช่ำชอง รู้ปฏิจจสมุปบาทช่ำชองที่สุด คือพระสารีบุตร ถึงเป็นเลิศ เป็นอัครสาวกในด้านมีปัญญามาก องค์อื่นท่านก็มีปัญญาอย่างพระอานนท์ ท่านก็มีปัญญาของท่าน พระมหากัจจายนะอย่างนี้ ท่านก็มีปัญญาของท่าน พระมหาปันถกอย่างนี้ก็มีปัญญาของท่าน แต่ปัญญาที่จะรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจนี่ สูงสุดเลย แตกฉานที่สุด ก็คือพระสารีบุตร รองจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น

พวกเราไม่จำเป็นต้องรู้ถึงขนาดนี้ พอเราเห็นไปเรื่อยๆ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตที่เป็นกุศล อกุศล มันทำงานไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งมันก็รู้เองว่า โลกนี้ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน ตัวเราไม่มี มันว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน ร่างกาย ความสุขทุกข์ เวทนา ความดีชั่วของสังขารทั้งหลาย จิตที่เป็นคนรู้คนดู นี้คือความจริง เอ้ย คือของจริง แล้วเราเรียนซ้ำแล้วซ้ำอีก เราก็เห็นความจริงว่า สิ่งเหล่านี้ไม่มีตัวเรา ตรงนี้เราจะได้ธรรมะขั้นต้นและได้เป็นพระโสดาบัน

พอได้ตรงนี้แล้ว มันก็เหมือนจิตตกเข้ากลางกระแสน้ำแล้ว ตกร่องน้ำลึกแล้ว น้ำไหลเชี่ยว ไหลแรง ตัดตรงไปสู่มหาสมุทร ฉะนั้นจิตที่มันได้ธรรมะในขั้นต้นแล้วนี่ มันจะตรงไปสู่พระนิพพาน แต่บางคนมันก็ตั้งความปรารถนาไว้ บารมีเยอะ แต่อยากเกิด 7 ชาติก็มี อย่างนางวิสาขานี่ก็จะเกิด 7 ชาติ ก็ตั้งใจไว้อย่างนั้น ทำบุญมาเยอะ สร้างบารมีมาเยอะ เขาก็เลือกของเขา บางคนก็ไม่ต้องการ อยากพ้นทุกข์เร็วๆ มันก็เร็วกว่านั้น จะเร็วหรือจะช้า จริงๆ อยู่ที่ตัวปัญญา มีปัญญาแก่กล้ามันก็จบเร็ว ปัญญาไม่แก้กล้า มีความเพียรแก่กล้า ก็จบช้าหน่อย มีสมาธิแก่กล้าก็จบเร็วขึ้นนิดหนึ่ง แต่ละตัวๆ มันก็แตกต่างกัน

ค่อยๆ ฝึกไป แล้วต่อไปพอได้ปัญญาขั้นต้น ก็ฝึกดูอย่างเดิมนั่นเอง ดูกาย ดูเวทนา ดูจิตไป ฝึกมากเข้าๆ ในที่สุดก็เห็นความจริงที่ละเอียดประณีตขึ้น ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราของเรา นี้เห็นมาแต่แรกแล้ว ต่อไปมันจะเห็นลึกซึ้งขึ้น ร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา แล้วมันเป็นอะไร มันเป็นตัวทุกข์ นี่รู้ทุกขสัจ ได้ระดับกลางแล้ว เห็นร่างกายเป็นตัวทุกข์แล้ว พอเห็นร่างกายเป็นตัวทุกข์ มันจะปล่อยวางกาย การปฏิบัติที่เหลือนี่มันจะมาแตกหักกันลงที่จิต ภาวนาไปจนถึงขั้นที่เห็นตัวจิตคือตัวทุกข์ แล้วปล่อยวางจิตได้ นี้เป็นปัญญาขั้นสูง ปัญญาขั้นแรกเห็นว่า ตัวเราไม่มี ปัญญาขั้นกลางก็จะเห็นว่า ร่างกายนี้คือตัวทุกข์ ปัญญาขั้นสูงก็จะเห็นว่า จิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ถ้าจิตเป็นตัวทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นตัวสุขอีกแล้ว เพราะตัวจิตมันเป็นตัวที่รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ตัวมันเองเป็นทุกข์เสียแล้ว ไม่มีอะไรเหลือให้เป็นสุขอีกต่อไปแล้ว

 

ภาวนาไปเรื่อยๆ ชีวิตจะไม่ว่างเปล่า

ฉะนั้นภาวนา ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ซ้อมของเราไปเรื่อยๆ ชีวิตจะได้ไม่ว่างเปล่า ไม่ว่างเปล่าอย่างปีกลายที่ผ่านมา ปี 2563 เราเขียนตั้งหลายหน 2563 สุดท้ายก็ว่างเปล่า ไม่มีอะไรแล้ว พอมาปี 2564 เราก็คิดว่าตัวเรามีจริงๆ อีกแล้ว ก็บ้าคลั่ง กระโดดโลดเต้นอยู่อย่างนั้น พอถึงปีใหม่ 2565 แล้วก็ย้อนมาดู เมื่อปี 2564 ไม่เห็นมีอะไรเลย ก็ว่างเปล่าจากความเป็นตัวเป็นตนอีก เหมือนฝันไปเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องรอให้หมดไปก่อนปีหนึ่งๆ แล้วค่อยเห็นว่า ชีวิตเหมือนความฝัน มาเฝ้ารู้ลงที่กายที่ใจในปัจจุบันนี้ จนเห็นว่าปัจจุบันนี้ก็เหมือนฝันอยู่ ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราของเรา เวทนาคือความสุขทุกข์ในกาย หรือความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ในใจก็ว่างเปล่า ไม่ใช่ตัวเราของเรา จิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศลก็ว่างเปล่า ไม่ใช่ตัวเราของเรา

ฝึกรู้ฝึกดูซ้ำแล้วซ้ำอีกลงไป แต่ไม่ใช่คิดเอา รู้สึกเอา คอยรู้สึกอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จิตมันก็จะค่อยๆ ฉลาดขึ้นๆ สิ่งที่เรียกว่าความฉลาดของเราก็คือ ตัวสัมมาทิฏฐินั่นเอง ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ปฏิบัติแทบเป็นแทบตาย ไม่ได้อะไรมาไม่เสียอะไรไป สิ่งที่ได้มามีอย่างเดียวคือ สัมมาทิฏฐิ สิ่งที่เสียไปมีอย่างเดียวคือ มิจฉาทิฏฐิ แค่นั้นล่ะ ที่ฝึกกันแทบตาย นอกนั้นไม่มีอะไรหรอก ไม่ใช่ว่าจะได้ขันธ์ 5 ที่วิเศษมา ได้โลก ได้ภพภูมิที่ประเสริฐเลิศโลกดีที่สุด ไม่มีวันตาย ไม่ใช่ ไม่ได้อะไรหรอก นอกจากได้สัมมาทิฏฐิ ไม่ได้สูญเสียอะไรไป

อย่างดูไปๆ บางคนบอก ไม่ได้หรอก ร่างกายเป็นของเรา แล้วดูให้เห็นว่าไม่ใช่เรานี่ เป็นความสูญเสีย นั่นเพราะไม่มีปัญญา จริงๆ มันไม่ใช่ตัวเราของเรามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่เสียไปคือ ความโง่ สิ่งที่ได้มาก็คือ ตัวสัมมาทิฏฐิ ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ศึกษาธรรมะมาแทบเป็นแทบตายเพื่อสิ่งนี้เอง แต่ว่าไม่ได้จบตรงนี้ มีสัมมาทิฏฐิขึ้นมานี่อย่างแท้จริงแล้วนี่ เราไม่ได้ยึดตัวสัมมาทิฏฐิไว้ เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อเอาปัญญา มันมีสิ่งที่สูงกว่านั้นอีกก็คือ ตัววิมุตติ

แต่ตัววิมุตติ มันเกิดได้ด้วยมีสัมมาทิฏฐิอยู่ในตัวมันเอง นี้พอมันหลุดพ้นแล้ว จริงๆ เราไม่ได้เกาะปัญญาความรู้อะไรไว้มากมายหรอก สิ่งที่เราภาวนาไปเพื่อจะเข้าถึงพระนิพพาน ความดับสนิทแห่งตัณหา ความดับสนิทแห่งทุกข์ มันจะดับสนิทแห่งตัณหา ดับสนิทแห่งทุกข์ได้ก็ด้วยมีปัญญา สัมมาทิฏฐินั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไหร่ปัญญา สัมมาทิฏฐิของเราแก่รอบ เต็มที่แล้ว มรรคผลก็เกิดขึ้นเอง มันเกิดขึ้นเอง ปัญญาที่เกิดขึ้นในมรรคนั่นล่ะเป็นตัวสัมมาทิฏฐิที่แท้จริง ส่วนปัญญาที่ยังไม่ได้เกิดมรรคนี่มันเป็นแค่ปัญญาเบื้องต้น อนุโลมเอาว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ แต่สัมมาทิฏฐิจริงๆ เกิดตอนบรรลุโสดาปัตติมรรค

 

ค่อยๆ ฝึกไป ฟังแล้วยุ่งยาก จะไม่ยุ่งยากก็ได้ รู้สึกกาย รู้สึกใจตามที่มันเป็นไปเรื่อยๆ ฟังแค่นี้ ไม่ยุ่งยากแล้ว ยิ้ม รู้ว่ายิ้ม ไม่จำเป็นต้องมีชื่อ ไม่ใช่อาการนี้เรียกว่ายิ้ม หรือเรียกว่า smile อะไรอย่างนี้ ไม่จำเป็น คำพูดไม่มีความหมายอะไร คำพูดไม่ใช่ของจริง คำพูดเป็นอารมณ์บัญญัติ เป็นเรื่องที่บัญญัติขึ้นมา แต่ว่าของจริงคือรูปธรรมคือนามธรรม แล้วของจริงนี่มันแสดงความจริงคือไตรลักษณ์อยู่ พอเราเห็นขันธ์ 5 มันเป็นไตรลักษณ์ พอรู้ตามความเป็นจริงก็เบื่อหน่าย พอเบื่อหน่ายก็คลายความยึดถือ พอคลายความยึดถือก็หลุดพ้น ฉะนั้นเราหลุดพ้นได้ก็ด้วยสัมมาทิฏฐิ ด้วยปัญญาที่เราสะสมไปเรื่อยๆ ศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์เมื่อไหร่ อริยมรรคก็เกิดเมื่อนั้น

ง่ายๆ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหว รู้สึก ไม่ใช่ร่างกายคนอื่นเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจคนอื่นเคลื่อนไหว รู้สึก ใช้ไม่ได้หรอก ดูของตัวเอง ดูแล้วดูอีกไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
วันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 2564