เห็นทุกข์จึงละได้

เรามาศึกษาธรรมะมาปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ เราต้องสาวลงไปให้เห็นเหตุของทุกข์มันคืออะไร เวลาจะละ ละที่เหตุ เหตุของความทุกข์ดับ ความทุกข์ก็ดับ เรียนลงไปที่เหตุ ละลงไปที่เหตุ ผลละไม่ได้ ตัวทุกข์เป็นตัวผล ทำเหตุแล้วก็ต้องมีผล

เหตุมีหลายระดับอย่างตื้นๆ เลยก็คือเรามีความอยากใจก็เกิดความดิ้นรนใจดิ้นรนใจก็ทุกข์ ลึกลงไปอีกทำไมมันอยาก มันอยากเพราะมันไม่รู้ความจริงของกายของใจ มันไม่รู้ว่ากายนี้คือตัวทุกข์ มันก็เลยเกิดความอยากให้กายมีความสุข เกิดความอยากให้กายไม่ทุกข์ มันไม่รู้ความจริงของจิตว่าเป็นตัวทุกข์ มันก็เลยเกิดความอยากให้จิตมีความสุขให้จิตไม่ทุกข์ มีความอยากเกิดขึ้นก็เกิดการดิ้นรนของใจ ใจมันจะดิ้นๆๆ ความดิ้นรนของใจเกิดขึ้นความทุกข์ทางใจก็เกิดขึ้น นี่เป็นใจความย่อๆ ของธรรมะที่ชื่อ ปฏิจจสมุปบาท

เวลาเรียนเราก็ต้องมาดูตัวทุกข์ ละไม่ได้ ในปฏิจจสมุปบาทสิ่งที่เป็นตัวทุกข์ก็คือตัวรูปธรรมขันธ์ 5 วิญญาณ ขันธ์ 5 อายตนะ พวกนี้อยู่ในตัวทุกข์ทั้งนั้น ชาติเป็นทุกข์ ส่วนใหญ่ก็เป็นตัวทุกข์มีตัวสมุทัยก็แค่อวิชชา ตัณหา อุปาทาน มีตัวที่เป็นกรรมอันนั้นเป็นกิเลส อวิชชาตัณหา อุปาทานคือตัวกิเลส ตัวกรรมก็คือตัวสังขาร “อวิชชา ปัจจยา สังขารา” กับตัวภพ นี่คือตัวกรรมที่เหลือเป็นตัววิบาก ตัววิบากแก้ไม่ได้แก้ก็ตัดตัวกิเลสตัวกรรมก็ดับ วิบากเป็นผลของกรรมก็ค่อยๆ ดับไป

ตัวหัวโจกที่ทำให้เราทุกข์คือตัวกิเลสนั่นเอง การภาวนาเพื่อลดละกิเลสไป ถึงวันใดสิ้นกิเลส ก็สิ้นการกระทำกรรม ก็สิ้นวิบากคือสิ้นทุกข์ ศัตรูของเราไม่ใช่ใครอื่น ไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่พรรคอื่น ศัตรูของเราชาวพุทธคือกิเลสของเราเอง การภาวนาถ้าตัดตรงเข้ามาเรียนรู้เข้ามาที่กิเลสของตัวเองได้ก็ไปได้เร็วหน่อย

กิเลสยังไม่ต้องไปเรียนถึงขั้นอวิชชาหรอก เอากิเลสธรรมดาๆ รู้จักราคะไหม ราคะคือใจมันโลภใจมันอยาก อาการของราคะก็คือพอมันเกิดขึ้นมาแล้วมันจะดึงสิ่งต่างๆ เข้าหาตัวเรา อย่างคนเรารักกันมันก็อยากกอดกัน อยากรวบเข้ามา เรารักหมารักแมวอยากอุ้มอยากดึงเข้าหาตัวเรา ชอบมีความรักมีความโลภในเพชรนิลจินดาก็อยากดึงเข้าหาตัวเองเก็บเข้ามาสะสมเข้ามา ตัวราคะเป็นตัวที่ทำให้เราดึงอารมณ์เข้ามาหาจิตหาใจตัวเอง

ตรงข้ามกันก็คือโทสะแห่งกิเลส ตระกูลที่ผลักอารมณ์ออกไปจากจิตให้ไกลที่สุดได้ยิ่งดีที่สุด อย่างเราเกลียดใครสักคนหนึ่ง อยากให้มันไปอยู่ไกลๆ เลย ไปอยู่โลกอื่นได้ตายไปได้ยิ่งดีเลย ให้มันไกลๆ กัน เพราะโทสะเป็นกิเลสที่ผลักออกไป ราคะเป็นกิเลสที่ดึงอารมณ์เข้ามา โทสะเป็นกิเลสที่ผลักอารมณ์ออกไป สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหมดเรียกว่าอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เป็นตัวอารมณ์

อีกตัวหนึ่งตัวโมหะตัวนี้เป็นตัวหลง จับอารมณ์ได้ไม่มั่นคงหรือจับจด จับอันนี้แล้วปล่อยๆ มั่วไปหมดเลย เป็นฟุ้งซ่านอะไรแบบนี้ จับอารมณ์ได้ไม่ชัดเจน ไม่มั่นคงนี้ตัวโมหะ ไม่รู้ว่าจะจับดีหรือจะปล่อยดียังไม่รู้ ถ้าจับมาแล้วสักพักหนึ่งถึงจะดูออกอันนี้ตัวอารมณ์ไม่ดีก็ผลักออก ตัวนี้อารมณ์ดีก็อยากเก็บเอาไว้ กิเลสก็มีอยู่เท่านี้ ไม่ดึงอารมณ์เข้ามาก็ผลักอารมณ์ออกไป ไม่ก็ไม่รู้ว่าอารมณ์เป็นอย่างไร อารมณ์อะไรก็ไม่รู้มั่วไปหมด

เรามาหัดภาวนาไม่ใช่เรื่องยากอะไร ยังไม่ต้องเรียนถึงโมหะหรอก เรียนราคะโทสะเอาก่อน ราคะโทสะไม่ใช่เรื่องยาก พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าโทสะเป็นกิเลสที่มีโทษมากแต่ละง่าย ราคะเป็นกิเลสที่มีโทษน้อยแต่ละยาก โมหะเป็นกิเลสที่มีโทษมากแล้วก็ละยากด้วย โมหะนี่สุดๆ เลย ชนะโมหะได้คือสูงสุดเลยก็คือชนะอวิชชาได้ จบกิจกันตรงนั้นเอง

ราคะท่านบอกว่ามีโทษน้อย โทสะท่านว่ามีโทษมาก โมหะมีโทษมาก ราคะมีโทษน้อยจริงแต่ละยาก อย่างเวลาเราเพลินมีความสุขความสบายอยากละไหม เวลามีความสุขก็พอใจไม่ได้ไปทำชั่วทำร้ายอะไรใคร แหม มันเพลินๆ มีโทษยังไม่มากแต่ว่าละยาก มันดูให้เห็นทุกข์เห็นโทษยาก การที่จิตมันจะละความยึดถือในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ มันต้องเห็นความจริงว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์เป็นโทษ ถ้าเห็นว่ามันเป็นทุกข์เป็นโทษมันถึงจะยอมละ ถ้าไม่เห็นไม่ละ

 

เห็นโทษ เห็นทุกข์

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อไปหาหลวงปู่เทสก์ ไปกราบหลวงปู่เทสก์เมื่อปลายๆ ปี 2525 ไปกับน้องคนหนึ่งไปวัดก็ไปด้วยกันตลอด พูดภาษาพระบอกเป็นเพื่อนสหธรรมิกกันเป็นกัลยาณมิตร เขาเห็นกิเลสของเขาตัวหนึ่งคือราคะ ราคะมันเกิดเรื่อยเลย มันก็ธรรมดาใช่ไหม ยังหนุ่มอยู่อายุ 20 ต้นๆ เอง ราคะเกิดก็เห็นไปถามหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ครับผมอยากละกามราคะแต่ใจมันยังอาลัยอาวรณ์อยู่ หลวงปู่ท่านก็อุทานว่า “อ้าว อาลัยอาวรณ์มันก็ละไม่ได้สิ” แล้วท่านก็ขยายความให้ ต้องเห็นโทษ ถ้าเราเห็นโทษของกามก็จะละกามได้

อีกช่วงหนึ่งไปกราบหลวงปู่ดูลย์ไปเล่าให้ท่านฟังว่า หลวงปู่เทสก์บอกว่าต้องเห็นโทษถึงจะละได้ หลวงปู่ดูลย์ท่านพยักหน้าท่านบอก “เอ้อ เห็นโทษก็เห็นทุกข์นั่นล่ะ ถ้าเห็นทุกข์ก็ละได้” หลวงปู่ดูลย์ท่านพูดตรงปริยัติมากกว่า หลวงปู่เทสก์ท่านพูดเอาง่ายๆ ไม่ใช่พระท่านไม่ดี ท่านถูกเป๊ะเลย แต่ภาษาท่านบอกเห็นโทษคือเห็นความไม่ดีไม่งามของมัน หรือเห็นทุกข์ของมันนั่นเองมันเป็นตัวทุกข์

อย่างเราจะละกามได้เราต้องเห็นโทษของกาม เห็นทุกข์ของกาม เวลาราคะเกิดดูทุกข์ออกไหม เวลาราคะเกิดอยากได้ๆ ตัวอยากเป็นราคะที่มีกำลังแรง เวลาอยากถูกหวยทุกข์ไหม อยากเปียแชร์ให้ได้ทุกข์ไหม อยากไปซื้อของเขาลดราคามีจำนวนจำกัด อยากซื้อกลัวซื้อไม่ทันก็ทุกข์ มีอยากทีไรก็ทุกข์ทุกที

ถ้าเราดูราคะยังไม่ออกว่ามันมีทุกข์มีโทษอย่างไร ดูตัณหาไปก่อน ตัณหาคือราคะที่มีกำลังแรง เวลาอยากแล้วทุกข์ใครเห็นตัวนี้บ้างว่าเวลาอยากแล้วก็ทุกข์ ใช้ได้นะ นั่นล่ะเราทำกรรมฐานแล้ว ใจเรามีโลภะเกิดขึ้นมีสติรู้ทัน “โอ้ โลภแล้ว” มันก็ดับไปด้วยสติ เดี๋ยวมันก็เกิดใหม่ จนกระทั่งวันหนึ่งปัญญามันเกิด “โอ้ เข้าไปอยากอะไรเข้ายึดอะไรเข้าไปทุกข์เพราะอันนั้นล่ะ” ปัญญามันเกิดมันก็ละราคะตัวนี้ได้ ราคะที่ละเอียดขึ้นไป ค่อยๆ ละไป

ทีแรกยังไม่ละหรอกแค่รู้ มีราคะก็รู้ มีโทสะก็รู้ มีโมหะก็รู้ หลวงพ่อพูดไปตามลำดับ ราคะ โทสะ โมหะ แต่ว่าเวลาปฏิบัติโทสะดูง่ายกว่า เวลาโกรธขึ้นมามีความสุขไหม ตัวนี้ดูง่ายใช่ไหม แต่ถ้าบอกว่าเวลาโลภขึ้นมามีความทุกข์นี่ดูยากใช่ไหม ดูยากกว่ากัน เวลาโกรธขึ้นมามีความทุกข์ เพราะฉะนั้นเวลาโกรธคนที่ได้รับผลจากความโกรธคนแรกก็คือคนที่โกรธ โกรธคนอื่นเมื่อไรก็ทุกข์เมื่อนั้น

ทุกวันนี้เราดูอินเทอร์เน็ตกันใช่ไหม คนออกความเห็นอะไรเขาก็ด่ากันใหญ่เลยต่างคนต่างก็โกรธไปโกรธมา ทำไมต้องโกรธกัน เพราะยึดในความเห็นที่แตกต่างกัน เพราะยึดในความเห็นเลยโกรธกัน

เวลาความโกรธเกิดขึ้นให้เราสังเกต ไม่ต้องหาทางละ รู้ว่าความโกรธเกิดขึ้นนี่ช็อตที่หนึ่ง ต่อไปสติปัญญาแก่กล้าขึ้นก็เห็นเอง ทุกคราวที่ความโกรธเกิดขึ้นใจไม่มีความสุขดูไปเรื่อยๆ แล้วจะรู้เลยว่าความโกรธไม่ใช่ของดี ทันทีทีเกิดปุ๊บใจไม่มีความสุขแล้ว เพราะว่าโทสะมันมีเวทนา จิตที่มีโทสะมีเวทนาได้อย่างเดียว คือโทมนัส คือความทุกข์ทางใจ

เราจะเห็นทุกข์เห็นโทษของตัวโกรธได้ง่าย ท่านถึงสอนบอกว่าโทสะมีโทษมาก อย่างโกรธขึ้นมาจะไปไล่ฆ่าคนตั้งหมื่นคนพันคนแสนคนอะไรแบบนี้ก็ทำได้ อย่างฮิตเลอร์เกลียดยิวฆ่ายิวไปตั้งหลายล้าน มันมีโทสะเกลียด โทสะมีโทษมากแต่ละไม่ยากละง่าย ในกิเลสทั้งหมดโทสะละง่ายที่สุดเพราะอะไร เพราะทันทีที่โทสะเกิดความทุกข์มันเกิดแล้ว เราอยากทุกข์ไหม เราไม่ได้อยากทุกข์

ต่อไปนี้เวลาโทสะเกิดอย่ามัวดูคนที่ทำให้เราโกรธ อย่าดูสิ่งที่ทำให้เราโกรธให้เข้ามารู้ที่จิตที่ใจของเราเลย เวลาโทสะเกิดขึ้นจิตใจมันมีสุขหรือมันมีทุกข์ ดูเข้าไปตรงนี้เลย มันจะเห็นทุกข์แล้วจะรู้ว่าโทสะไม่ใช่ของดีเลย

เมื่อก่อนนี้เราภูมิใจ บางคนโกรธเก่งๆ ภูมิใจ โกรธมากๆ แล้วภูมิใจ กูเก่ง โกรธทีตัวใหญ่เลย มันเหมือนแมว เคยเห็นแมวไหม แมวเวลาโกรธมันตัวใหญ่ขึ้นใช่ไหม พองๆ จริงๆ ไม่ได้โตหรอก มันหลอกเรามันทำขนใหญ่ๆ ทำขนพองๆ โทสะเกิด หืม เอาเรื่องแล้ว ดูลงไปเลย มันมีแต่ทุกข์มันไม่ได้มีของดีของวิเศษอะไรหรอก พอเราเห็นซ้ำๆ ไปเรื่อยเราจะเห็นโทสะเกิดแล้วใจก็ทุกข์ จะโกรธไปหาสวรรค์วิมานอะไรโกรธทีไรก็ทุกข์ทุกที ไม่ทันจะไปเห็นทุกข์เห็นโทษอย่างอื่นเลย คนอื่นเราโกรธเขายังไม่เป็นไร เราคือคนแรกที่ทุกข์ดูอย่างนี้

 

ไม่อยากทุกข์ก็ต้องรู้จักถนอมใจของตัวเอง

ทุกคนรักตัวเอง เพราะฉะนั้นไม่อยากทุกข์หรอก ไม่อยากทุกข์ก็ต้องรู้จักถนอมใจของตัวเอง ถ้าเราไม่รู้จักถนอมใจของเรา ปล่อยให้ใจของเราตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส ปู้ยี่ปู้ยำเอา เจ็บปวดยับเยินตลอดชีวิตซ้ำแล้วซ้ำอีก เวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ เลยก็ทุกข์ไปเรื่อยๆ

สังเกตจิตใจของตัวเองไป โทสะเกิดขึ้นมาก็รู้ ถ้าเราโทสะเยอะๆ ก็ดูโทสะเป็นหลัก บางคนไม่ค่อยโกรธ ถ้าโลภะเกิดขึ้นมา โลภเกิดขึ้นมา อยากเกิดขึ้นมาก็รู้เอา มันไม่โกรธ ทำบุญมาดีกระทบแต่อารมณ์ที่ถูกอกถูกใจ ไม่กระทบของไม่พอใจเลย กระทบแต่อารมณ์ที่พอใจ โทสะก็ไม่เกิด ไม่ใช่ไม่มีโทสะ แต่โทสะยังไม่มีช่องที่จะเกิด

คนบางคนทำบาปมาเยอะกระทบแต่อารมณ์ที่ไม่ถูกใจตลอดเวลาเลย ขนาดจะกินข้าว คนอื่นเขาว่าเจ้านี้อร่อยเราไปกินก็ไม่อร่อย ความรู้สึกของเราไม่ดีตลอด ไอ้โน่นก็ไม่ดีไอ้นี่ก็ไม่ดี ไอ้นั่นไม่สมควรกับเราไอ้นี่ไม่สมควรกับเรา สัมผัสแต่อารมณ์ที่ไม่ชอบใจตลอดเวลา อันนั้นไม่ต้องโทษคนอื่นเลย อกุศลกรรมให้ผลมาได้กระทบอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ คนทำบุญมาดีกระทบแต่อารมณ์ดีๆ เวลาใครเขาด่าไม่ได้ยิน เวลาเสียงอะไรเพราะๆ เสียงลมพัดใบไม้ไหวเสียงเบานิดเดียว เสียงนกร้องแว่วๆ อยู่ไกลๆ ได้ยิน เวลาคนเขาด่ากันล้งเล้งๆ ไม่ได้ยินหรอก ไม่มีอกุศล บางคนก็มีกุศลไม่ได้กลิ่นเหม็น กลิ่นที่คนเขาว่าเหม็นเราไม่รู้เลยแม้แต่กลิ่นหอมๆ

ในวัดนี้มีอยู่คนหนึ่งต้นไม้บางต้นกลิ่นเหมือนอึเลย ดอกจำปาเทศมีกลอนชมว่า จำปาเทศวิเศษกลิ่น มันวิเศษอย่างไรไม่รู้ได้ กลิ่นมันเหม็นเหมือนส้วมแตก มีคนหนึ่งสร้างกุฏิอยู่ติดกับต้นจำปาเทศไม่เคยได้กลิ่นต้นนี้เลย แต่ดอกไม้อื่นหอมๆ ได้กลิ่นหมดเลย ดอกไม้เหม็นไม่ได้กลิ่น ถามว่าจมูกพิการไหม ก็ไม่ได้พิการ กลิ่นอื่นได้กลิ่นหมดไม่ได้กลิ่นเฉพาะกลิ่นเหม็นๆ นี่ก็อยู่ที่บุญให้ผลมา ไม่มีอกุศลให้ผลที่ต้องได้กลิ่นที่ไม่ถูกใจ

เราเลือกได้ไหม บุญกรรมตัวไหนจะให้ผลดีหรือชั่ว แต่ละคนก็สะสมทั้งดีทั้งชั่วมา บางทีอกุศลให้ผลมาเราก็กระทบอารมณ์ที่ไม่ถูกอกถูกใจ เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย อกหักรักคุด อกุศลให้ผลมาพลัดพรากจากสิ่งที่รัก กุศลให้ผลมาเจออารมณ์ที่ชอบอกชอบใจสัมผัสแล้วมีความสุข ตรงที่มีความสุขมันละยาก มันละยากที่สุดเลยเพราะมันไม่เห็นโทษ อย่างเราสบายใจเห็นไหมว่ามันเป็นทุกข์เป็นโทษ เวลาสบายใจไม่เห็นหรอกเห็นยาก

เพราะฉะนั้นคนไหนมีโทสะไม่ต้องเสียใจ นิสัยขี้โมโหไม่ต้องเสียใจควรจะดีใจ ถึงทำกรรมชั่วมาเยอะแต่ว่ามันภาวนาง่าย มันเห็นโทษง่าย-เห็นทุกข์ง่าย เราเฝ้ารู้เฝ้าดูใจเรามีโทสะเกิดขึ้นเรารู้ โทสะเกิดขึ้นแล้วมีความทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจเรารู้ มีราคะเกิดขึ้นเรารู้ ราคะเกิดขึ้น มีความสุขหรือมีอุเบกขาในใจเกิดขึ้น ตัวนี้ดูให้เห็นทุกข์ยาก เราจะต้องฝึกสติจนแก่กล้ากว่านั้นถึงจะเห็น

ฝึกอย่างไรฝึกแล้วเห็นอย่างไร อย่างพอราคะเกิดขึ้นจิตใจมีความสุขเกิดขึ้น ถ้าใจเรามีสมาธิมากพอ มันจะเห็นว่าความสุขนี่เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในใจ มันจะเห็นอย่างนี้ ความสุขเป็นภาระ ความสุขเป็นของแปลกปลอมเข้ามาเติมน้ำหนักให้จิตใจ ใครเคยเห็นตรงนี้บ้างไหม เวลามีความสุขขึ้นมามันเป็นภาระในใจ ความสุขก็เป็นภาระ แต่ดูยากกว่าโทสะ ใครเห็นว่าเวลาได้รับอารมณ์ที่ไม่พอใจโทสะขึ้นแล้วใจไม่สบาย โทสะมันละง่าย ที่มันละง่ายเพราะมันดูง่ายว่ามันเป็นทุกข์เป็นโทษ ราคะเกิดขึ้นจิตมีความสุขหรือจิตเป็นอุเบกขา จะดูความสุขดูอุเบกขาว่ามันมีทุกข์มีโทษดูยาก ต้องสติสมาธิแข็งแรงจริงๆ

ถ้าสมาธิเราแข็งแรงเราจะเห็นเลยราคะแทรกเข้ามา แล้วความสุขก็แทรกตามเข้ามา มาด้วยกันเลย แล้วใจเราเพลินตรงที่ใจเราเผลอเพลิน เราจะเห็นว่าภาระทางใจได้เกิดขึ้นแล้ว ถ้าเห็นอย่างนี้นะแล้วจะเห็นว่าราคะเกิดมันก็มีทุกข์ ไม่ใช่ของดีแต่ดูยาก ยากกว่าโทสะ พระพุทธเจ้าถึงสอนโทสะถึงจะมีโทษมากแต่ละง่าย ราคะถึงจะมีโทษน้อยแต่ละยาก ละยากเพราะมันเห็นทุกข์เห็นโทษยาก ที่หลวงปู่เทสก์ท่านบอกต้องเห็นโทษ หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกต้องเห็นทุกข์ ถ้าไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นโทษก็ไม่ละ

ทุกข์ตัวนี้ไม่ใช่ทุกข์แบบที่เรารู้จัก ไม่ใช่ปวดแข้งปวดขาเป็นทุกข์ อันนั้นมันธรรมดา ทุกข์ตัวนี้เป็นทุกข์ของจิตที่มันฉลาดจริงๆ ถึงจะเห็น เราเห็นว่ามันมีภาระเกิดขึ้น

อย่างขันธ์ 5 ร่างกายเราไม่ได้เจ็บปวดเลย ไม่ได้ป่วย ไม่ได้ไข้ ไม่ได้หิว ไม่ได้หนาว ไม่ได้ร้อน ไม่ได้กระหาย ไม่ได้ปวดอึปวดฉี่ ร่างกายเรานี่สบายๆ แต่เราเห็นว่ามันมีภาระ ร่างกายเป็นภาระไหม ถ้าเห็นร่างกายมีภาระ ตั้งแต่ตื่นนอนมีภาระไหม ตั้งแต่ตื่นนอนถ้านอนนานๆ เมื่อยไหม ขนาดนอนยังเมื่อยเลยเห็นไหม ร่างกายนี้มันมีแต่ทุกข์แต่โทษ นอนนานๆ ก็เมื่อยตื่นขึ้นมาทำอย่างไรก่อน บิดๆๆๆ เสร็จแล้วต้องทำอะไรอีก ต้องไปเข้าห้องน้ำไปอาบน้ำแปรงฟันขับถ่าย ภาระทั้งนั้นเลย เสร็จแล้วก็ต้องมาแต่งตัว ทาหน้าทาปากทาแป้งหวีผม แต่งตัวเสร็จหาเสื้อผ้ามาใส่ เสื้อผ้าก็ต้องหาเงินไปซื้อมา ซื้อมาแล้วก็ต้องมาซักมารีดถึงจะใช้ได้ ใช้แล้วก็ต้องซักต้องรีดอีกภาระทั้งนั้นเลยที่เนื่องด้วยร่างกาย กินข้าวก็เป็นภาระอีก ตั้งแต่หาเงินไปซื้อข้าวมากินเดินไปซื้อข้าวมากินนั่งกินข้าว

ใครเคยรู้สึกว่าการกินข้าวเป็นภาระบ้างยกมือซิมีไหม โอ้ดีนะแต่เต็มใจรับไหม ไม่กินก็อยู่ไม่ไหว มันเป็นภาระทุกอย่างเลยนะจะออกจากบ้านนั่งรถไปขับรถไปเป็นภาระไหม ทำไมเราต้องขับรถไป มันมีร่างกายถ้ามีแต่จิตไม่ต้องขับรถไปกำหนดทีเดียวก็ไปถึงแล้ว นี่มันมีร่างกายก็เลยมีภาระขึ้นมา ร่างกายมีภาระเยอะแยะเลยนะสารพัดเลยเจ็บป่วยขึ้นมาก็เป็นภาระ เป็นภาระตัวคนเดียวไม่พอเป็นภาระให้คนอื่นด้วย

ตั้งแต่เกิดมาเราก็เป็นภาระของคนอื่นมาตั้งแต่แรกแล้ว เป็นภาระให้พ่อแม่เลี้ยงเราอะไรแบบนี้ นี้พอพ่อแม่แก่พ่อแม่กลับมาเป็นภาระเรา ถ้าเราไม่ยอมรับความจริงตัวนี้นะมันก็อกตัญญู มันก็เหมือนหมาเหมือนแมวอย่างนั้นไปไม่ใช่มนุษย์แล้ว

มนุษย์ถ้าไม่มีความกตัญญูกตเวทีไม่เชิงเป็นมนุษย์หรอกเพราะหมาก็ทำได้ หมาแมวโตขึ้นมาแย่งแม่มันกินข้าวได้ แม่มันจะมากินข้าวมันตบหน้าอีกไล่ไป บางตัวก็ไล่พ่อไล่แม่ไป หมาไม่เท่าไร หมาเป็นสัตว์รวมฝูง แต่แมวนี่มันสัตว์ค่อนข้างโดดเดี่ยวมันไล่ หรืออย่างนก เลี้ยงลูกเหมือนฝรั่ง เลี้ยงลูกพอลูกช่วยเหลือตัวเองได้มันไล่เลยให้ลูกไปที่อื่น ชาตินี้ไม่รู้จักกันอีกแล้ว

เพราะฉะนั้น ถ้าใครไม่รู้จักพ่อรู้จักแม่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเดรัจฉานก็ทำได้ ไม่ได้น่าภูมิใจตรงไหนเลย คนที่อกตัญญูพวกนี้ มนุษย์สูงกว่านั้นมีวัฒนธรรม วัฒนธรรมถูกสร้างขึ้นมา เพื่อว่าทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้ ช่วยเหลือกัน เกื้อกูลกัน ตอนเด็กๆ พ่อแม่ญาติพี่น้องก็เลี้ยง อย่างหลวงพ่อไม่อยากบอกว่ามีความรักให้คนจำนวนมาก เมตตาคนจำนวนมาก ตั้งแต่เด็กหลวงพ่อได้รับความรักมหาศาลเลย หลวงพ่อมีพ่อ 2 คนแม่ 2 คน ไม่ใช่มีชู้กันนะ มีพ่อแม่อยู่พ่อแม่เขารักเรา แต่ว่าตายายไม่มีลูกของตัวเองก็รักหลวงพ่อเป็นลูกด้วย เลี้ยงหลวงพ่อ หลวงพ่อเลยมีพ่อ 2 คนมีแม่ 2 คน ได้รับความรักมากมายมันเต็มมันอิ่ม คนที่มันเต็มมันอิ่มเลยให้คนอื่นได้ คนที่มันขาดมันอยากได้แต่ตัวเองไม่รู้จักเต็ม แล้วพอได้อะไรมาไม่รู้จักให้ เพราะตัวเองมันขาดตลอดชีวิต

ฉะนั้นมีลูกกลับบ้านไป หมายถึงลูกที่เล็กๆ หน่อย กลับบ้านกอดลูกให้เยอะๆ ไว้ กอดลูกบ่อยๆ หน่อย อย่าให้เด็กมันขาด พอเด็กมันขาดโตขึ้นมา ก็เลยมาประกาศทฤษฎีพ่อแม่ผสมพันธุ์กันเพราะว่ามีราคะมีตัณหา ผสมพันธุ์กันเองมันไม่ได้ลงชื่อมาเกิดสักหน่อย เพราะมันโง่ มันไม่รู้ว่ากรรมของตัวเองจัดสรรให้มาเกิด ไม่ได้คิดว่าไม่ได้สมัครใจเกิดพ่อแม่ทำให้มันเกิด เพราะฉะนั้นไม่ได้มีบุญคุณ ทำให้มันเกิดแล้วต้องเลี้ยงมันเป็นหน้าที่ต้องเลี้ยง บางคนมันด่าพ่อด่าแม่ว่า ทำไมตอนหนุ่มสาวไม่เก็บเงินเอาไว้เลี้ยงตัวเองตอนแก่ จะมาคิดว่าลูกจะต้องเลี้ยงนี่เห็นแก่ตัว ถ้าหลวงพ่อเป็นพ่อเป็นแม่จะตอบว่าหลวงพ่อมันโง่ ตอนหนุ่มสาวหลวงพ่อหาเงินได้ก็ส่งควายเรียนหนังสือ ไม่มีเวลาเก็บเงินให้ตัวเอง สังคมมันจะอยู่ไม่ได้ มันขาดไปหมดเลย ขาดมาจากใจของเราลึกๆ

 

กิเลสเกิดทีไรก็มีทุกข์

เราพยายามฝึก กิเลสอะไรเกิดขึ้นเรารู้ทัน ตัวที่ทำให้ใจเราขาดตัวหิวนั่นเอง มันไม่เต็มมันอยากได้เยอะๆ แต่ได้ไม่เต็มมันขาดตลอดชีวิต เราภาวนาไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เห็นไปมีกิเลสทีไรก็มีทุกข์ มีกิเลสทีไรก็เห็นโทษ มีกิเลสขึ้นมาก็เกิดภาระทางใจ เพราะมีกิเลสก็เกิดการกระทำกรรม กรรมนั่นล่ะคือภาระของจิต การกระทำกรรมเช่นอยากถูกหวยใจดิ้นรนไหม ดิ้นรนตั้งแต่เบอร์อะไรจะถูก หาเบอร์ที่ควรจะถูก ถามเจ้าพ่อโน้นเจ้าแม่นี้ขูดต้นไม้ต้นนั้นต้นนี้ไปหาเบอร์มา หาเบอร์เสร็จแล้วจะไปซื้อ ซื้อไม่ทันอีกอย่างนี้ก็ทุกข์หนัก อุตส่าห์หาแล้ว จะทุกข์ที่สุดตรงที่เบอร์นั้นออกแต่ซื้อไม่ทัน ถ้าซื้อทันก็นั่งลุ้นไปเมื่อไหร่หวยจะออก

วันหวยออกสังเกตไหมบ้านเมืองจะเงียบกลางวันจะเงียบหมดเลย ตอนที่หวยออกทุกคนอยู่ในความสงบ จิตมีเอกัคคตาจดจ่อรอฟังหวยจะออกเบอร์อะไร ตอนที่ลุ้นใจดิ้นรน พอหวยออกแล้วยิ่งดิ้นหนักกว่าเก่าอีกนึกถึงเย็นนี้จะกินอะไรมาม่าหมดหรือยัง ก่อนจะซื้อหวยซื้อของกินมาตุนไว้ก่อน เหลือแล้วค่อยซื้อหวย ซื้อหวยตลอดแล้วก็ไม่มีจะกินลำบาก

ไปดูให้ดีกิเลสเกิดทีไรจิตก็ดิ้นรนทุกที ราคะเกิดจิตก็อยากได้ดิ้นรนอยากได้ อยากรักษาเอาไว้ โทสะเกิดจิตอยากผลักออกไป ส่วนโมหะยังดูยากใจมันหลงอะไรอย่างนี้ดูยากหน่อย เรียนราคะ โทสะให้แตกฉานก่อน เรียนของง่ายก่อน ของยากเดี๋ยวค่อยตามมา ดูลงไปมีราคะเกิดก็มีทุกข์มีภาระ มีโทสะเกิดก็มีทุกข์มีภาระของใจ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป แล้วจะเหมือนอย่างที่หลวงปู่เทสก์ท่านบอกว่ามันละได้เพราะว่าเห็นโทษ เหมือนอย่างหลวงปู่ดูลย์บอกมันละได้เพราะมันเห็นทุกข์

พระพุทธเจ้าท่านสอนขันธ์ทั้ง 5 เป็นภาระ “บุคคลแบกภาระไว้ก็ไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง พระอริยเจ้าคือพระอรหันต์วางภาระลงแล้ว แล้วก็ไม่หยิบฉวยภาระอันใหม่ขึ้นมาอีก ก็พ้นจากทุกข์ทั้งปวง”

พยายามฝึกนะฝึกตัวเองให้ดีๆ ไม่ใช่เพื่อคนอื่นหรอก ขั้นแรกสิ่งที่คนแรกที่ได้ประโยชน์คือตัวเราเอง ตัวเราเองดีแล้วฝึกดีแล้วใจก็จะร่มเย็นเป็นสุข จะเกิดความเมตตา กรุณา ก็อยากช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป ใจมันเต็มเสียอย่างก็อยากให้คนอื่นเขามีความสุขด้วย ถ้าใจมันยังขาดอยู่นะมันอยากมีความสุขคนเดียว อยากให้คนอื่นทุกข์ไปก็ช่างมัน ใจมันจะเปลี่ยนไป ค่อยๆ ฝึก

 

 

คำถาม 1: ใช้กรรมฐานตามดูลมหายใจค่ะ หายใจยาวไปถึงท้องพอตื้นขึ้นลมกระทบอยู่แถวจมูกจะเกิดแสงขึ้นตรงหน้าค่ะ ส่วนใหญ่สว่างแช่บางทีเคลื่อนที่จิตจะไปดูแสงคลอเคลียไปเรื่อยๆ จนบางทีก็มีความสุขขึ้นมาค่ะ แช่อยู่สักพักเหมือนจะหายไปเกิดความสุขเบาๆ ขึ้นอีกตัวหนึ่ง ตรงนี้เห็นความคิดเกิดดับ และมีตรงที่ไม่เกิดไม่ดับค่ะ บางทีไปแช่อยู่ตรงนั้น ทำแบบนี้ทุกวันต้องทำอย่างไรต่อ ขอหลวงพ่อเมตตาขัดเกลาด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: ทำอย่างนี้ล่ะ ทำอย่างที่ทำนี่ล่ะแต่ตอนจิตเข้าไปแช่รู้ทันมันไวๆ หน่อย ตอนที่ไปแช่มันก็เป็นราคะมันจมอยู่ในราคะที่หลวงพ่อสอนเมื่อกี้ มันละยาก เราไม่เห็นว่ามันเป็นโทษมันเป็นทุกข์ นี้ถ้าจิตมันจมลงไปสังเกตสิมันเป็นภาระ เวลาจิตแช่ลงไปมันเป็นภาระสังเกตตรงนี้พอมีกำลังมันก็เลิกแช่ไปเอง ดี ภาวนาใช้ได้ ถูกแล้ว เวลาหายใจทีแรกหายใจยาวใช่ไหม แล้วค่อยๆ ตื้นๆ แล้วค่อยกลายเป็นแสง พอเป็นแสงถ้าจิตไหลไปในแสงก็จะไปเที่ยวรอบโลกได้เลย ดูนรกดูสวรรค์อะไรก็ได้ หรือเป็นแสงแล้วก็มีความสุขอิ่มอยู่ตรงนั้น มีปีติมีความสุขขึ้นมาก็ได้ พอเห็นแล้วต่อไปปีติสุขก็ดับไปก็เป็นอุเบกขา จิตก็เคลื่อนขึ้นเคลื่อนลงอยู่ตรงนี้เดี๋ยวก็มีปีติ เดี๋ยวก็ไม่มีปีติ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ไม่มีความสุข เดี๋ยวเป็นอุเบกขา เดี๋ยวไม่เป็นอุเบกขา หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงมีแต่ของไม่เที่ยงดูออกไหม เข้าไปตรงนี้มีแต่ของไม่เที่ยง ดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ดีแล้ว เวลามันแช่รู้เอาก็แล้วกันมันเป็นภาระ

 

คำถาม 2: ในการปฏิบัติเราต้องฝืนกิเลส เช่น กินอาหารก็ไม่ปรุงเมื่อไม่ตามใจกิเลส หรือให้กินตามปกติแต่ใช้สติรู้

หลวงพ่อ: ถามกระทั่งเรื่องกินละเอียดลออเหลือเกิน มันแล้วแต่คน อันนี้แล้วแต่ความถนัดของเรา อย่างพระบางทีฉันข้าวอาหารทุกอย่างปนกันหมดเลย มีแต่รสแต่ไม่รู้รสอะไรเลยอย่างนั้นก็ได้ หรือบางท่านใช้กินไปตามลำดับกินไปเรื่อยๆ ใจชอบก็รู้ ใจไม่ชอบก็รู้ แล้วแต่ความต้องการของเรา

การที่จะไปห้ามมันไปทรมานมันตลอดเวลามันไม่ได้ลดละกิเลสอะไรหรอก มันจะรู้สึกว่ากูเก่งกูแน่ซะด้วยซ้ำไป แต่นานๆ ทำทีก็ดี ไม่ตามใจกิเลส แต่ไม่ใช่ไม่ตามใจกิเลสจนเครียด อันนั้นไม่ตามใจกิเลสด้วยอำนาจของตัณหาอยู่ดี อยากดีก็เลยแกล้งอยากกินไม่กิน อยากนอนไม่นอน อยากสบายก็ทำให้มันลำบาก ไม่ค่อยได้ประโยชน์เท่าไหร่หรอก แต่ถ้ากิเลสเราแรง อย่างกามมันแรงก็ทรมานมันเป็นครั้งเป็นคราว อันนั้นทำได้ แต่เวลาใช้ชีวิตปกติกิเลสไม่ได้รุนแรง ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ แล้วมีสติตามรู้ไปสบายกว่า ถ้าเครียดตลอดเวลาโน่นก็ไม่ได้นี่ก็ไม่ได้ ภาวนาแล้วไม่มีความสุขสมาธิจริงๆ จะไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่มีสมาธิปัญญาก็ไม่มีมันสืบเนื่องกันไป

ได้คำตอบไหม ในคราวที่จำเป็นเราก็ทำเข้มงวดอย่างนั้นได้ ในเวลาปกติเราไม่ไปเข้มงวดกับตัวเองเครียดเกินไป อย่างครูบาอาจารย์บางองค์ท่านก็อดนอนผ่อนอาหาร บางองค์อดนอนอย่างเดียวอาหารฉันปกติ บางคนนอนปกติแต่ฉันอาหารลดลงหรือไม่ฉันอาหารเลย อย่างท่านไม่ฉันอาหารท่านก็ไม่ได้อดอาหารตลอดปีอดเป็นช่วงๆ ไม่นอนก็ไม่นอนเท่าที่ร่างกายมันทนได้ แต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก จะให้หลวงพ่อตอบว่าแค่ไหนถูกแค่ไหนผิด ตอบไม่ได้ต้องไปดูตัวเอง แต่การทรมานใจตัวเองตลอดเวลานั้นไม่ได้ผลดีเท่าไหร่หรอก

 

คำถาม 3: กำลังและอินทรีย์ดูจะยังไม่เข้มแข็งพอ มานะอัตตายังเยอะอยู่เหมือนจะเข้าใจหลักแต่พอลงมือปฏิบัติก็ยังจะเพ่งอยู่ กราบขอคำแนะนำครับ

หลวงพ่อ: ฝึกมาถูกแล้วนะ มีแต่ทำต่อไปอีกทำไปเรื่อยๆ สังเกตสิ่งที่บกพร่องไปเรื่อยๆ ไม่ได้มุ่งเอาดี จิตเปลี่ยนไปเยอะแล้วล่ะ มันเบา มันโล่ง มันสบายขึ้นเป็นธรรมดามากขึ้น เมื่อก่อนนี้ไม่เคยธรรมดาเลยรู้สึกไหม? เออ นั่นล่ะมันพัฒนาขึ้นแล้ว ธรรมดามากขึ้นแล้ว ดีไปทำอีก

 

คำถาม 4: ส่งการบ้านครั้งสุดท้ายเมื่อกุมภาพันธ์ 2561 หลวงพ่อบอกให้อดทนก็ปฏิบัติภาวนาโดยทำรูปแบบสวดมนต์ เดินจงกรมวันละประมาณ 30 นาทีอย่างต่อเนื่องไม่แน่ใจว่าทำถูกต้องหรือยัง ขอหลวงพ่อช่วยชี้แนะ และขอการบ้านเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป ขอถวายการปฏิบัติแด่พระพุทธเจ้าและหลวงพ่อค่ะ

หลวงพ่อ: อนุโมทนา ทำแล้วมันดีขึ้นแล้ว ดีขึ้นแล้วรู้สึกไปเรื่อยๆ ดูไปสบายๆ ไปเรื่อยๆ มันมีเพ่งเป็นระยะๆ อันนั้นก็เรื่องปกติเพ่งก็รู้ว่าเพ่ง ทำไมต้องเพ่งเพราะอยากดี อยากรู้ชัด อยากรู้ตลอดเวลามันเพ่งก็เพราะอยาก พอรู้ทันการเพ่งก็คลาย ตอนนี้มันคลายออก ดูออกไหม ใจมันคลายกว่าแต่ก่อนเยอะเลยมันสบายกว่าเก่าเยอะเลย เราภาวนาอย่างที่ทำอยู่นี่ถูกแล้ว แล้วจิตไปยึดไปถือไปติดไปข้องอะไรก็มีสติรู้ทันเอา ดีไปฝึกอีก

ทำทุกวันสมาธิมันจะเพิ่มของหนูสมาธิมันเพิ่มขึ้น รู้สึกไหม ทำให้ได้ทุกวันๆ ดีแล้ว มีเวลามีโอกาสมันจะเพิ่มเอง เพราะปฏิบัติแล้วมีความสุขไม่ใช่แค่ครึ่งชั่วโมงตลอดชีวิตหรอก มันจะเพิ่มเอง เพราะมันทำแล้วมีความสุข ดีแล้วล่ะที่ฝึก แต่จิตยังไม่ตั้งมั่นตรงนี้ดูออกไหม? จิตส่ายไปส่ายมา อยู่กับกรรมฐานของเราไปแล้วจิตส่ายไปส่ายมาก็รู้ บางทีก็ส่ายไปดูอะไรดี อะไรอย่างนี้ก็รู้ทันมัน ทำกรรมฐานไปจิตมันส่ายไปส่ายมาก็รู้ทัน จิตมันอยากสงบก็รู้ทัน จิตมันอยากรู้ตลอดเวลาก็รู้ทัน ฝึกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ดีขึ้นเยอะแล้ว

 

คำถาม 5: พอจิตเคลื่อนแล้วตามไปรู้ตามไปดูอยู่เนืองๆ เห็นกายกำลังทำอะไรใจกำลังคิดอะไรรู้สึกอย่างไร แต่เหมือนการตามไปดูนี้ขัดจังหวะการทำงานโดยปกติของตัวเองที่ทำสิ่งต่างๆ ไปโดยอัตโนมัติ เช่นเคยทำงานเป็น step (ขั้นตอน) 1 2 3 4 5 พอตามไปดูใน step 3 ก็ลืมทำ step 4 ตอนแรกๆ เป็นบ่อย แต่ตอนนี้ดีขึ้นเพราะใช้จิตไปเตือนตัวเองไม่ให้ลืม 4 หรือ 5 อยากรู้ว่ามาถูกทางหรือทำถูกต้องหรือยังคะ

หลวงพ่อ: ทำแบบนี้ก็เหนื่อยที่คอยเตือนตัวเองไปเรื่อยๆ ก็เหนื่อย พยายามอย่างนี้เวลาทำงานที่ต้องใช้ความคิดไม่ต้องปฏิบัติ ตั้งอกตั้งใจ สติ สมาธิ ปัญญาอยู่กับงาน เวลาทำงานที่ไม่ต้องใช้ความคิดรู้สึกกายรู้สึกใจไป ถ้าเราทำงานที่ต้องคิดมีขั้นตอนเยอะๆ อย่างนี้ แล้วไปรู้ ความจำได้หมายรู้มันดับหมด ความคิดมันดับ มันทำงานไม่ได้จริง คุณภาพงานมันจะตก พยายามแยกตอนนี้ทำงานที่ต้องใช้ความคิดเยอะก็ตั้งใจทำงานไป หรือไม่ก็มีตัวช่วย มีกระดาษไว้สักแผ่นหนึ่งโน้ตไว้ขั้นตอนนี้ๆ ไม่ต้องใช้กำลังใจไปช่วยจำ มันเหนื่อย

ภาวนามันไม่ได้ยุ่งยากขนาดนั้นหรอก ไม่ได้ยุ่งยากว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้มันทำให้เครียด ภาวนาก็แค่รู้สึกตัวอยู่กับปัจจุบันไป แต่ทุกวันทำในรูปแบบจิตจะได้มีกำลัง ต้องอย่างโน้นต้องอย่างนี้มันเหนื่อย

 

คำถาม 6: ขอเรียนสอบถามหลวงพ่อ ตอนนี้หนูภาวนาในรูปแบบทุกวัน พยายามให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง หนูมีสิ่งใดต้องปรับพัฒนาต่อไปคะ

หลวงพ่อ: ทำรูปแบบก็ทำด้วยความมีสติ ไม่ได้ทำแล้วก็บังคับตัวเองตลอดเวลา แบบนั้นไม่ดี ทำแล้วสบายๆ ไป แต่ทำในรูปแบบแล้วใจมันหนีไป มันหลงไป มันเผลอไปก็รู้เอา ของหนูมันยังหลงเก่ง อย่างภาวนาอยู่เดี๋ยวหลงไปคิดอะไรแบบนี้ ยังหลงเก่งอยู่ พยายามอยู่กับกรรมฐานของเราไปพอจิตมันหลงเราก็รู้ๆ อย่างตอนนี้มันหลงคิดแล้ว จิตมันหลงคิดก็รู้ แต่ถ้าเราไม่มีกรรมฐานเป็นเครื่องอยู่เลย เวลาหลงคิดมันจะหลงนาน ของหนูมันยังช่างหลงอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาทำกรรมฐานแล้วจิตหลงให้รู้ทันว่าจิตหลง รู้บ่อยๆ ต่อไปสติมันจะเกิดพอหลงปุ๊บมันจะรู้ปั๊บเลย รู้ได้อัตโนมัติค่อยๆ ฝึกไป ใจยังไม่ค่อยมีแรง ฝึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวกำลังมันเพิ่มเอง

 

คำถาม 7: หลวงพ่อเคยให้การบ้านไปดูใจที่หงุดหงิด เพิ่งจะรู้สึกว่าดูได้ดีขึ้นในปีนี้ ตอนเช้าเดินจงกรมประมาณ 1 ชั่วโมง และสวดมนต์อีกครึ่งชั่วโมง ตอนเดินจงกรมจะท่องพุทโธ และดูกายที่เคลื่อนไหว เมื่อรู้ว่าเผลอจะกลับมาดูที่กาย เวลาสวดมนต์จะมีอาการง่วง และเคลิ้มถี่มาก จะหลงไปเข้าไปในเรื่องที่ไหลเข้ามา และจะรู้สึกตัวได้ต่อเมื่อไหลเข้าไปในเรื่องนั้นๆ แล้ว จึงลืมตาขึ้นและสวดมนต์ก็จะดีขึ้นมากค่ะ ระหว่างวันจะพยายามท่องพุทโธ และดูกายที่เคลื่อนไหว แต่จะทำไม่ค่อยได้จะหลงนาน จะรู้ตัวดีต่อเมื่อเวลาเศร้าหมองเสียใจ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ไม่เศร้าหมองก็จะเผลอยาว หนูมีอะไรที่ต้องปรับปรุง ขอความเมตตาหลวงพ่อชี้แนะด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: ที่พูดมาก็ปกตินะ อย่างเวลาเศร้าหมองจิตมันมีโทสะมันก็ดูง่าย เวลามันสบายจิตมันมีราคะก็ดูยาก อย่างที่หลวงพ่อสอนเมื่อกี้ ทีนี้มันอยู่ที่ชั่วโมงบินของเรา แต่อย่าทำด้วยความโลภ ทำกรรมฐานถือว่าปฏิบัติเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ไม่ได้ภาวนาเพื่อเอาอะไรทั้งสิ้น

ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้าไป แล้วก็เคลื่อนไหวใช้ร่างกายช่วย ดูจิตอย่างเดียวไม่พอ จิตมันจะหลงง่าย หากรรมฐานที่ใช้ร่างกายกระดุกกระดิก กวาดบ้าน ถูบ้าน ทำงานอะไรแบบนี้เคลื่อนไหวไป เห็นร่างกายมันทำงานใจเป็นคนรู้ไปมันจะได้ไม่หลงยาว ถ้าไปใช้กรรมฐานที่ละเอียดอย่างสมมติใช้ลมอย่างนี้ เวลาหลงนี่หลงนานเลยมันละเอียดไป เพราะฉะนั้นใช้ร่างกายมาช่วยเคลื่อนไหวร่างกายแล้วรู้สึกไปเรื่อยๆ นั่งขยับไปก็ได้ ร้อนๆ นั่งพัดรู้สึกไปพอพัดแล้วมันเผลอเพลิน ก็เตือนตัวเอง เฮ้ย หลงแล้วนี่หว่า มาพัดต่อสบายๆ แล้วมีสติรู้ เวลาพัดอย่างนี้เราจะเห็นกระทั่งธาตุได้ถ้าสติเราเร็ว เวลาเราพัดอย่างนี้มันรู้สึกเย็นใช่ไหม พอพัดมันผ่านไปแป๊บหนึ่งลมมันหยุดมันร้อนขึ้นมาอีกแล้ว เห็นธาตุมันเปลี่ยนแปลง ธาตุไฟเดี๋ยวมากเดี๋ยวน้อย เดี๋ยวมากเดี๋ยวน้อย แต่อันนี้ทำยาก หนูแค่ว่าเคลื่อนไหวแล้วก็รู้สึกๆ ไป ใช้ร่างกายเป็นหลักเลย เอาจิตเป็นหลักยังดูไม่ไหวมันละเอียดเกิน

 

คำถาม 8: ขอการบ้านที่เป็นแนวทางของตัวเอง เพราะเพิ่งเริ่มปฏิบัติ เป็นคนฟุ้งบ่อยๆ และมีโทสะค่ะ

หลวงพ่อ: บริกรรมไปนะ “เมตตา คุณณัง อรหัง เมตตา” จำได้ไหม บริกรรมไปเรื่อยๆ สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่าง บริกรรมไปเรื่อยๆ จำได้ไหม ไปทำแล้วสมาธิมันจะเกิด ใจมันจะร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา พอใจเรามีความสุขมีสติรู้ว่าใจมีความสุขใจ ใจมีโทสะขึ้นมารู้ว่ามันมีโทสะ มันมีโทสะแล้วมันมีความทุกข์ขึ้นมารู้ว่ามีความทุกข์ มีความทุกข์แล้วอยากให้หายรู้ว่าอยากให้หาย ดูเป็นช็อตๆๆ บริกรรมไปจะได้ไม่หลงยาวจิตจะได้มีพลัง

 

 

ฝึกนะ ไม่ใช่ว่าพอเลิกเรียนออกไปจากหลวงพ่อแล้วก็ปล่อยใจฟุ้งซ่าน กี่ปีมันก็ไม่พัฒนาหรอก หลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์หลวงพ่อไม่เคยหยุดภาวนาทำตลอด มันถึงพัฒนาได้ นานๆ ทำทีไม่พัฒนาหรอก สละชีวิตของเราถวายพระพุทธเจ้า ไม่ใช่บอกให้เราไปตาย หมายถึงเตือนตัวเองว่า ชีวิตนี้เราเกิดมาเพื่อยกระดับใจตัวเองไปสู่ความพ้นทุกข์ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้รู้เป้าหมายของชีวิตเรา เราก็จะไม่เอ้อระเหย ไม่ประมาท ไม่หลงลืมงานหลักของเรา

งานหลักของพวกเราชาวพุทธก็คือการฝึกอบรมจิตใจไปสู่ความพ้นทุกข์ งานรองของเราคือการทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว ทำหน้าที่พลเมืองอะไรแบบนี้ไป แยกให้ออกงานอะไรเป็นเครื่องอาศัยอยู่กับโลก งานอะไรเป็นงานที่สำคัญที่สุดที่จะพาเราพ้นโลกไป พ้นจากทุกข์ไป โลกไม่มีอะไรโลกมีแต่ทุกข์ ค่อยฝึกไปพอเราเตือนตัวเองรู้หน้าที่ของตัวเองแล้ว มันจะไม่ขี้เกียจ ละเลยการปฏิบัติ พวกละเลยการปฏิบัติก็คือพวกประมาท บางคนรอจนแก่ คิดว่าแก่แล้วจะมาภาวนา แก่แล้วภาวนายาก จะเดินจงกรมก็เดินไม่ไหว จะนั่งสมาธิก็ปวดหลังปวดไหล่ จะทำอะไรก็ไม่สะดวก จะดูจิตก็เคลิ้มง่ายนั่งปุ๊บหลับปั๊บ อย่ารอจนแก่

ชีวิตตอนนี้ยังมีแรงอยู่รีบภาวนาก่อน เมื่อก่อนหลวงพ่อเคยเจอครูบาอาจารย์องค์หนึ่งท่านเล่าให้ฟังว่าตอนท่านหนุ่มๆ ท่านก็มาบวช ทีแรกกะบวชชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เสร็จแล้วก็อยากสึก เวลาอยากสึกท่านใช้แบบต่ออายุราชการต่ออีกปีหนึ่งต่ออีก 2 ปี อย่างนี้อยู่มาเรื่อยๆ ท่านค่อยๆ ฝึกตัวเอง ก็ยากลำบากไม่ได้ต่างกับพวกเรา ฝึกตัวเองไปเรื่อยๆ อดทน สุดท้ายก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ใจก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าเราปล่อยเวลาให้หมดไปสิ้นไปถึงเวลาแก่นี่ลำบาก ครูบาอาจารย์องค์นั้นท่านบอกทีแรกท่านก็คิดว่าอายุเยอะๆ แล้วค่อยบวช เสร็จแล้วท่านนึกได้ว่าเวลาเราจะถวายของกับพระ เราก็ควรจะเลือกของที่ดีที่สุดไปถวาย ถ้าเราจะถวายการปฏิบัติเราถวายเวลาที่ดีที่สุด เวลาที่ดีที่สุดของเราก็คือเวลาที่ยังแข็งแรงอยู่ เป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ ถ้ารอว่าเดี๋ยวแก่แล้วค่อยภาวนาคล้าย ๆ เอาของเหลือของใกล้เน่าแล้วมาถวายพระได้บุญน้อย ท่านก็ช่างคิดของท่าน

เพราะฉะนั้นเราถวายตั้งแต่ยังแข็งแรง ถวายพระก็คือตั้งใจปฏิบัติเป็นพุทธบูชาทุกวัน ปฏิบัติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปๆ ทุกวันๆ ผ่านวันผ่านเวลาไป กำลังของเราจะยิ่งตกการภาวนาจะยิ่งยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ มันเหมือนคนปีนภูเขา หรือพายเรือทวนน้ำพายๆ ไปยังแข็งแรงอยู่ ตอนนี้แวะชมดอกไม้ริมทางก่อน ชมอยู่นานแล้วค่อยไปพายต่อ มันเหมือนตอนหนุ่มสาวมีแรงมันต้องจ้ำขึ้นไปต้นน้ำให้ได้เลย ไม่ใช่รอจนแก่หมดเรี่ยวหมดแรงแล้วจะลุยไปให้ถึงต้นน้ำมันไปไม่ถึงกำลังไม่พอ ถ้าเรายังคิดว่ารอแก่แล้วค่อยภาวนาเราประมาทอย่างยิ่งเลย พวกหนึ่งไม่ได้แก่ พวกหนึ่งได้แก่แต่ไม่มีแรงแล้ว เอาตั้งแต่ตอนที่ยังแข็งแรงอย่างนี้ ถวายของที่ดีที่สุดให้พระพุทธเจ้า เอาความเป็นหนุ่มสาวที่แข็งแรงนี้เอาพลังของเรามาพัฒนาตัวเองไม่ใช่เอาพลังของเราไปหลงโลก

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
12 กันยายน 2563