ถ้าทุกวันภาวนากันได้อย่างนี้ ก็ใช้ได้ ใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ฟุ้งซ่านไป ธรรมะไม่ต้องเรียนเยอะหรอก แต่ภาวนาให้มาก ถ้าเรียนก็ได้แต่จำเอาไว้ ธรรมะที่เข้าสมองสู้กิเลสไม่ได้ ธรรมะที่เข้าใจ เข้าถึงใจจริงๆ ถึงจะล้างกิเลส กิเลสอยู่ในใจเรานี่เอง ฉะนั้นต้องค่อยๆ อบรมสั่งสอนจิตใจของเราทุกวันๆ เดี๋ยววันหนึ่งมันก็เข้าใจ
ศาสนาพุทธ เราลงมือศึกษาปฏิบัติธรรมกันมากมาย เราไม่ได้อะไรมา ไม่ได้เสียอะไรไป มีอย่างเดียวที่เราได้มาคือสัมมาทิฏฐิ ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก สิ่งที่เราเสียไปก็มีอันเดียวคือมิจฉาทิฏฐิ ความเข้าใจผิด ความรู้ผิด ความเข้าใจผิด เราปฏิบัติธรรมไม่ได้มุ่งเอาความสุข ความสงบ ความดี เพราะความสุขเป็นของไม่เที่ยง ความสงบเป็นของไม่เที่ยง ความดีก็เป็นของไม่เที่ยง วันนี้ดี อีกวันอาจจะไม่ดีก็ได้ วันนี้สงบ อีกวันอาจจะฟุ้งก็ได้ เป็นของที่ยังเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยที่แท้จริงไม่ได้
สิ่งที่ได้มาคือตัวสัมมาทิฏฐิ
แต่ถ้าเราลงมือปฏิบัติธรรมจริงๆ ค่อยๆ อบรบจิตใจไป มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา สิ่งที่ได้มาคือตัวสัมมาทิฏฐิ เกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ในโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ ว่าเราแต่ละคนนั้น แสวงหาความทุกข์มาใส่ตัวเอง อย่างเราอยากเกิด เมื่อเกิดแล้ว สิ่งที่ตามมาก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ใครๆ ก็อยากเกิด เวลาถึงวันเกิดทีก็ฉลองกัน ที่จริงมันคือจุดตั้งต้นของความทุกข์ทั้งหลาย เราไม่เข้าใจ เราก็จะไปอยากได้สิ่งนี้ ไม่อยากได้สิ่งนี้ อยากเกิดแต่ไม่อยากตาย ถ้าเราเข้าใจความจริง มันเกิดขึ้นมา มันก็ต้องตายไป สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะ ชั่วคราว แล้วก็ดับ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น
ถ้าเราไม่เข้าใจความจริง เราก็จะดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่ชอบใจ ดิ้นรนหนีสิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็ดิ้นไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น ดิ้นเท่าไรก็ยิ่งทุกข์ กระทั่งอยากปฏิบัติยังผิดเลย อยากปฏิบัติธรรม อยากดี อยากสุข อยากสงบ พวกเราพยายามมาอบรบจิตใจ เรามีศีลเพื่อเป็นพื้นฐานให้จิตใจมีสมาธิ เรามีสมาธิเพื่อเป็นพื้นฐานให้เป็นกำลัง ให้จิตมีความสามารถที่จะเจริญปัญญา ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือเรื่องศีล เรื่องของสมาธิ เรื่องของปัญญานั่นเอง ปัญญาคือความรู้ถูก ความเข้าใจถูก สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ ถ้าจิตมันยอมรับตรงนี้ได้ มันจะไม่หลงยินดีกับความเกิด หรือการได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา มันจะไม่ยินร้ายกับความตาย หรือการสูญเสียสิ่งนั้นสิ่งนี้ จิตใจมันจะเป็นกลาง
เพราะฉะนั้นพอรู้ตามความเป็นจริง ก็จะคลายออกจากโลก โลกนี้มีแต่ของที่เกิดแล้วก็ดับ ไม่เห็นจะน่าประทับใจตรงไหนเลย ดิ้นรนแย่งชิงมาแทบเป็นแทบตาย สุดท้ายก็สูญเสียไป มีแล้วก็ไม่มี พอจิตมันเข้าใจอย่างนี้ มันจะเริ่มเบื่อ เริ่มคลายความยึดถือในโลก สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือรูปนาม กายใจของเรานี้ล่ะ เป็นตัวหัวโจกของโลกเลย จะเห็นความจริงซ้ำแล้วซ้ำอีก กายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ กายนี้มีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตก็ไม่ใช่ของดีของวิเศษ มีแต่ทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ค่อยๆ เห็นไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตมันก็ฉลาดขึ้นมา รู้ เบื้องต้นก็มีปัญญารู้ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา” แล้วปัญญาที่สูงขึ้นไปก็จะรู้เลย สิ่งที่เกิดที่ดับนั้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป อันนี้เป็นปัญญาขั้นสูง ปัญญาเบื้องต้นเราก็เห็นว่า ทุกอย่างที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น พอเห็นซ้ำๆๆ มันจะเริ่มรู้ความจริงว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่เรียกว่าตัวเราถาวรนั้นไม่มีหรอก มันเป็นแค่ความรู้สึกว่ามีตัวเรา
ความรู้สึกนี้มีเหตุมีปัจจัยก็เกิดขึ้น มันเกิดตามหลังความคิดมา ถ้าเราไม่คิดมันก็ไม่มีเราหรอก มันคิดเป็นเรา ที่มันคิดว่าเป็นเรา เพราะมันหมายรู้ผิด มันมีสัญญาที่ผิด มันหมายรู้ผิด เห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง เห็นของเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นของไม่ใช่ตัวเราว่าเป็นตัวเรา อย่างร่างกายเรานี้ มันไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง เป็นสมบัติของโลก เป็นวัตถุธาตุ ถึงวันหนึ่งก็ต้องคืนให้โลกไป ดินไปสู่ดิน น้ำไปสู่น้ำ ลม ไฟ ก็ไปตามสภาพของมัน ต้องคืนเจ้าของ คืนโลก
เพราะฉะนั้นเราภาวนา ค่อยๆ สะสม มีศีลเพื่อให้เกิดสมาธิ มีสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญา มีปัญญาก็จะเห็นความจริงว่า สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ นี่ปัญญาขั้นต้น แล้วเฝ้ารู้เฝ้าดู แล้วจะเห็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่ต้องคิดเอา ไม่ต้องจินตนาการ ไม่ต้องมโนเอา ว่าสิ่งทั้งหลายนี้เกิดแล้วดับจริงหรือ ดูความจริง ดูของจริงเข้าไป ของจริงก็คือกายนี้ ใจนี้ ดูของจริงนี้เข้าไป แล้ววันหนึ่งก็จะเห็นความจริงว่า สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ ร่างกายเกิดแล้ววันหนึ่งร่างกายก็ดับ ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ เกิดแล้วมันก็ดับ ความรู้สึกดี รู้สึกชั่วทั้งหลาย เกิดแล้วก็ดับ ความรับรู้เกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน ความรับรู้ทางตาเกิดแล้วก็ดับ ความรับรู้ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดแล้วก็ดับ
ล้างความเห็นผิด
การที่เราตามรู้ตามเห็น ความเกิดดับของกายของใจ เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน เราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของมัน เกิดๆ ดับๆ ไปเรื่อย บังคับไม่ได้ พอเราเข้าใจความจริง จิตจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น ทำไมจิตไม่รู้จักหลุดพ้นเสียที เพราะจิตไม่ยอมวาง จิตยึดอยู่นั่นล่ะ ก็ต้องอบรมฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ถึงจุดที่จิตมันมีปัญญา มันฉลาด รู้ความจริงของรูปนามกายใจ มันก็วาง ไม่ใช่ของวิเศษ มีแต่ของเกิดแล้วดับ มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป มันเห็นแล้วมันก็วาง
เบื้องต้นตรงที่เราเห็นว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ เราวางความเห็นผิด ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะ ไม่มีตัวตนถาวร อย่างปุถุชนจะรู้สึกว่า ตัวเรามีอยู่อย่างถาวร ตัวเราตอนนี้ กับตัวเราตอนเด็กๆ มันก็คนเดิม ตัวเราตอนนี้กับตอนแก่ มันก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราชาติก่อน มันก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราชาติหน้า มันก็คนเดิม ปุถุชนมันจะเห็นอย่างนี้ มันเห็นว่าตัวเรามีจริงๆ เราพาจิตใจให้มาเรียนรู้ความจริง ซ้ำแล้วซ้ำอีกลงไป มันมีแต่ของที่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีหรอกอะไรที่เป็นอมตะถาวร
ในขันธ์ 5 นี้ จะเป็นกายหรือจิตใจ เกิดแล้วก็ดับเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้นการที่เราล้างความเห็นผิด ว่ามีตัวมีตนได้ เกิดจากเราเห็นความจริง ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ไม่มีอะไรอมตะ ในขันธ์ 5 นี้ไม่มีอะไรอมตะเลย ในขณะที่ปุถุชนนี้หลงผิด ว่ามีสิ่งหนึ่งอมตะอยู่ สิ่งนี้กระทั่งเวียนว่ายตายเกิดไป ก็ยังเป็นตัวเดิมอยู่ จิตดวงเดิม จิตเราเมื่อ 100 ชาติก่อน กับจิตเราตอนนี้เป็นดวงเดียวกัน มันรู้สึกอย่างนี้
หรือบางคนมันก็คิดไปอีกแบบหนึ่ง พวกหนึ่งมันเห็นว่า ทุกภพทุกชาติมันจิตดวงเดียวกันหมด เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบ อันนี้เป็นของพราหมณ์ฮินดู มีเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด แบบที่ว่าจิตออกจากร่างแล้วก็ไปเกิดในร่างใหม่ อันนั้นไม่ใช่พุทธ แยกแยะให้ออก ของพุทธเราไม่มี จิตที่ออกจากร่างแล้วไปเกิดใหม่ มีแต่จิตที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดจิตอีกดวงหนึ่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป สืบต่อกันไปเหมือนลูกโซ่ เหมือนโซ่ที่เกี่ยวๆๆ กันไปเรื่อยๆ มันจะไม่มีอะไรที่เป็นอมตะถาวร
การที่เรามาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน หรือเจริญปัญญานั้น จะให้เราเห็นสิ่งนี้ เราจะเริ่มเห็นว่าทุกอย่างเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับไป นี้มิจฉาทิฏฐิบางพวกนั้นก็คิดว่า เดี๋ยวนี้ตัวเรามี ในอดีตตัวเราไม่มีหรอก มีขึ้นมาตอนนี้เพราะมันมีร่างกายขึ้นมา มันก็เลยมีความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา พอร่างกายนี้ตายไป จิตก็หายไปเลย จิตก็สูญไปเลย อันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิอีกแบบหนึ่ง มิจฉาทิฏฐิพวกหนึ่งคิดว่าจิตเป็นอมตะ ไม่ตาย แค่ย้ายบ้าน ย้ายจากร่างนี้ไปร่างนี้ นี่ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิอีกชนิดหนึ่ง
ส่วนมิจฉาทิฏฐิอีกพวกหนึ่ง เห็นว่าตอนนี้มีตัวเราอยู่ แต่พอตายแล้วไม่มีตัวเรา จบชีวิต จบสิ้นตรงนั้น พวกที่เห็นว่าเวียนว่ายตายเกิดได้ ยังไม่ค่อยทำชั่วหรอก เพราะกลัวจะไปเกิดที่ไม่ดี แต่พวกที่คิดว่าตายแล้วสูญ ทำชั่วได้เต็มที่เลย คิดว่าต้องเสพสุขให้เต็มที่เลย เพราะชีวิตนี้มีแค่นี้ ตายแล้วไม่มีอะไรอีกแล้ว มิจฉาทิฏฐิพวกนี้มันเกิดจากการที่มันไม่ได้เห็นความจริง
ถ้าเราภาวนาเราจะเห็น ชีวิตเราเกิดดับเป็นขณะๆ ไป ตราบใดที่ยังมีพลังงานสืบต่อไปเรื่อยๆ ชีวิตก็ยังเกิดดับไปเรื่อยๆ มันมีพลังงานจะผลักดัน ให้กระแสของจิตมันทำงานไป จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน สืบเนื่องกันไป แล้วเราต้องเห็นด้วยตัวเอง เราถึงจะเข้าใจ การทำวิปัสสนากรรมฐาน จะเห็นว่ารูปนี้เกิดดับอยู่เสมอ ส่วนจิตใจนั้นเกิดดับอยู่ทุกขณะเลย
เฝ้ารู้อย่างนี้ก็จะล้างความเห็นผิดไป แล้วเราจะพบว่าถ้าจิตใจดวงนี้ทำความไม่ดีไว้ จิตใจดวงถัดๆ ไป มันต้องรับผล มันจะรับผล มันเห็นอย่างนี้เลย ไม่จำเป็นต้องรอชาติหน้าหรอก เอาชาตินี้ล่ะ อย่างถ้าจิตใจเราฟุ้งซ่านมากตอนนี้ เราดูไปเรื่อยๆ พอความฟุ้งซ่านดับ จิตมันจะซึม จะซึมๆ ไป หรือช่วงไหนจิตเรามีราคะมาก จิตดวงต่อไป บางทีโทสะเกิดง่าย ถัดจากราคะ บางทีโทสะมันเกิดง่ายๆ เลย เรานึกว่าสนองราคะไปแล้วจะสบาย จิตยังจะหงุดหงิดง่ายขึ้น
เราจะเห็น การที่จิตมันทำงานสืบเนื่องกันไป จิตดวงหนึ่งทำเหตุ แล้วก็ส่งผลไปที่จิตอีกดวงหนึ่ง รับผลไป หรือจิตของเรา ทุกวันๆ เราตั้งอกตั้งใจภาวนา มีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ แล้วก็คอยรู้ทันจิตไป เช่น พุทโธๆ จิตไหลไปแล้วรู้อย่างนี้ พอเราทำไปนานๆ เราจะเห็นผลของการกระทำนั้น ผลของกรรมที่จิตขยันภาวนา มันทำให้จิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา จิตดวงหลังๆ มันจะค่อยเข้มแข็งเด่นดวงขึ้นมา รู้เนื้อรู้ตัวโดยไม่เจตนา มันไม่ใช่จิตดวงเดิม จิตมันเกิดดับสืบเนื่องกันมา
เฝ้ารู้เฝ้าดูของจริงซ้ำแล้วซ้ำอีก เบื้องต้นก็จะรู้ว่า ทุกอย่างเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวเราถาวร ความเป็นตัวเรานั้น เกิดจากการหมายรู้ผิดๆ อย่างเราหมายรู้ว่าร่างกายนี้คือตัวเรา นี้คิดเอาเอง หมายรู้เอาเอง จิตใจนี้คือตัวเรา แล้วก็เป็นอมตะด้วย เที่ยงด้วย พอหมายรู้ผิดมันก็เกิดความคิดผิด พอคิดผิดแล้วมันก็เลยเชื่อผิด เรียกว่าสัญญาวิปลาส หมายรู้ผิด เกิดจิตตวิปลาส คิดผิดๆ เกิดทิฏฐิวิปลาส คือเชื่อผิดๆ ที่เราเชื่อผิดๆ เพราะเราเห็นผิด พอเราคิดผิด เราเห็นผิด
เริ่มต้นหัดหมายรู้ให้ถูก
เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดให้ถูก เห็นให้ถูก มันก็เกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูกขึ้นมา ทำอย่างไรจะเห็นถูก ทำอย่างไรจะคิดถูก ค่อยๆ เรียนเอา เริ่มต้นก็หมายรู้ หัดหมายรู้ให้ถูกเสียก่อน เวลารู้สึกอยู่ที่ร่างกาย รู้สึกอยู่ที่จิตใจ อย่าไปหมายรู้ว่านี้เป็นตัวเรา แค่รู้สึกลงไป ว่ามันเป็นสภาวะอันหนึ่ง เป็นสมบัติของโลก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีตัวตนถาวร ค่อยๆ หมายรู้ความไม่เที่ยง หมายรู้ความเป็นทุกข์ คือการถูกบีบคั้นให้แตกสลาย หมายรู้ความไม่ใช่เรา หัดหมายรู้อย่างนี้ไปก่อน
ที่หลวงพ่อสอนพวกเรา นั่งอยู่นี่หายใจไป เห็นร่างกายมันนั่ง เห็นร่างกายมันหายใจ ไม่ใช่เรานั่ง ไม่ใช่เราหายใจ ทำความรู้สึกขึ้นมา หมายรู้ขึ้นมา หมายรู้ลงไป ร่างกายนี้มันเป็นของถูกรู้ถูกดู เป็นวัตถุอันหนึ่งเท่านั้นเอง จิตเป็นคนไปรู้ไปดูเข้า หัดหมายรู้ไปเรื่อยๆ แล้วความรู้สึกสุขทุกข์เกิดขึ้น เราก็หัดหมายรู้ให้ถูก ความสุข ความทุกข์ มันก็ไม่ใช่ของยั่งยืน ความสุขความทุกข์เป็นอนัตตา เราสั่งไม่ได้ เราเลือกไม่ได้ กุศล อกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้นในจิตใจ ก็เป็นของไม่ยั่งยืน บางทีอยากฟังธรรม บางทีก็ขี้เกียจฟังธรรม บางทีอยากทำทาน บางทีก็ตระหนี่ ไม่อยากทำขึ้นมาแล้ว ตั้งใจจะทำแล้วก็เปลี่ยนใจ ความรู้สึกจะสุข จะทุกข์ จะดี จะชั่ว ก็ไม่ยั่งยืน
ค่อยๆ ดูลงไปให้เห็น มันเป็นของไม่ยั่งยืน ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา หัดรู้สึกอย่างนี้ หัดสร้างสัญญาที่ถูกต้องขึ้นมาบ้าง ถ้าเราคอยมีความรู้สึกลงไปเรื่อยๆ ร่างกายนี้ถูกรู้ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นของไม่เที่ยง มันมีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา สั่งอะไรมันก็ไม่ได้ สั่งว่าอย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย สั่งไม่ได้ คอยหมายรู้อย่างนี้ เรียกว่าเราหมายรู้ถูก หรือเห็นจิตใจทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งดี ทั้งชั่ว หรือตัวจิตเองเดี๋ยวเกิดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เกิดแล้วก็ดับไปเรื่อยๆ
เราก็หมายรู้ให้ถูก ความสุข ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา กุศล อกุศล ก็ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา จิตใจก็ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ ไม่ใช่เราเหมือนกัน ขั้นแรกหัดหมายรู้ไปก่อน ถ้าไม่มีการหมายรู้ที่ถูก ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง พระสารีบุตรท่านสอนไว้อันหนึ่งว่า “ถ้าตราบใดที่ยังเป็นสัญญาสมาบัติอยู่ สามารถทำวิปัสสนาได้” ถ้าไม่มีสัญญาทำไม่ได้ วิปัสสนา นี้เรามักจะได้ยินบางท่าน ท่านจะสอน “สัญญากับปัญญา เป็นศัตรูกัน” พอสัญญามันหลอกลวง ปัญญานั้นฉลาด พ้นจากการหลอกลวง ที่จริงปัญญามันอาศัยสัญญาที่ถูกต้องเกิดขึ้น
สัญญามี 2 อย่าง สัญญาที่ผิด ที่เรียกสัญญาวิปลาส มี 4 ชนิด ของไม่สวยไม่งาม หมายรู้ว่าสวยว่างาม อย่างร่างกายเรานี้ไม่สวยไม่งาม เรารู้สึกมันสวยมันงาม ของไม่เที่ยงหมายรู้ว่าเที่ยง ของเป็นทุกข์หมายรู้ว่าเป็นสุข ของไม่ใช่ตัวเราหมายรู้ว่าเป็นเราอย่างนี้ รู้สึกนี่คือเราๆ นึกทีไรมันก็คือเรา มองไปที่มือนี่ก็เรา มองไปที่แขน ที่นิ้ว ก็เป็นเราไปหมดเลย ถ้าเราหัดหมายรู้ให้ถูก เราจะรู้สึก ลองสัมผัสดูก็ได้ สัมผัสดู มันบอกไหม มือมันบอกไหมว่าเป็นเรา ลองดู มือมันพูดไหมว่ามันคือตัวเรา ลองสัมผัสดู ถาม มันไม่เคยพูดเลยว่ามันเป็นตัวเรา จิตต่างหากหมายรู้ผิด ว่านี่คือมือของเรา นี่คือตัวของเรา
เพราะฉะนั้นหัดหมายรู้ให้ถูก อย่าปล่อยใจให้มันเคยชิน ไปตามความเคยชินที่จะหมายรู้ผิดๆ โน่นก็เรา นี่ก็เรา นี่ตัวเรา นี่ของเรา หมายรู้อย่างนี้เรื่อยๆ เวลาคิดทีไรมันก็มีเราทุกที คิดไปคิดมาก็เลยเชื่อว่ามีเรา เกิดเป็นทิฏฐิคือความเชื่อ ความเห็นผิดเรียกมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้นจะทำลายมิจฉาทิฏฐิ หัดหมายรู้ให้ถูกเสียก่อน นั่งอยู่อย่างนี้รู้สึกลงไป ร่างกายมันนั่ง จิตมันเป็นคนรู้คนดูอยู่ ร่างกายมันเป็นวัตถุ มันเป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ตัวเราตรงไหนเลย ร่างกายเคยบอกไหมว่าเป็นเรา มันไม่เคยบอกเลยว่ามันเป็นเรา มันไปหมายรู้ผิดเอาเอง รู้สึกลงไปอย่างนี้ รู้สึกไป แต่อย่าไปนั่งเพ่ง นั่งเพ่งจะเป็นกสิณ เพ่งร่างกายเป็นกสิณดิน เพ่งก้อนดินลงไป เพ่งลมก็ได้กสิณลม เพ่งความร้อนความเย็นก็เป็นกสิณไฟ ไม่ได้ปัญญา ได้ความสงบ
ฉะนั้นเราแค่หมายรู้ ไม่เพ่ง แค่หมายรู้ร่างกายมันกำลังนั่งอยู่ รู้สึกไหม ทุกคนลองยิ้มหวาน ยิ้มอยู่ในหน้ากากนั่นล่ะ ยิ้ม เห็นไหมร่างกายมันยิ้ม ร่างกายมันไม่เคยบอกเลยว่ามันคือตัวเรา แต่มันหมายรู้ผิดว่ามันเป็นตัวเรา เพราะฉะนั้นเราก็ฝึกที่จะหมายรู้ให้ถูกเสีย ถ้าหมายรู้ถูก เวลาต่อไป เวลาคิดมันก็จะคิดถูก อะไรเคลื่อนไหว รูปมันเคลื่อนไหว มันไม่ใช่เราเคลื่อนไหวแล้ว นี่เริ่มคิดถูกแล้ว ต่อไปมันก็เห็นถูก มันรู้ความจริง นี่ไม่ใช่เรา กายนี้ไม่ใช่เรา สุขทุกข์ไม่ใช่เรา ดีชั่วไม่ใช่เรา จิตใจก็ไม่ใช่เรา
ฉะนั้นนี้คือเส้นทางที่เราจะภาวนา พอเราเห็นว่าตัวเราไม่มี อันนี้เราจะพ้นจากทุกข์แล้ว เพราะจิตมันจะวาง จิตมันทุกข์เพราะมันเข้าไปยึดถือ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวเราบ้าง เป็นของเราบ้าง ถ้ามันไม่ยึดถือก็ไม่ทุกข์ อย่างเราเห็นคนอื่นตาย เราไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย เราทุกข์ไหม ก็เฉยๆ แต่ถ้าคนที่เรารักตาย นี่ของเราแล้ว นี่พ่อเรา แม่เรา สามีภรรยาเรา นี่ลูกเรา มันก็เริ่มทุกข์แล้ว ทุกข์เยอะ แล้วตัวเองแก่ ตัวเองเจ็บ ก็ทุกข์อีกแล้ว เราแก่ เราเจ็บ ฉะนั้นถ้าถอดถอนความเห็นผิดว่าเป็นเราได้ ความทุกข์ก็จะหายไปครึ่งหนึ่ง แล้วต่อไปถอดถอนความยึดถือได้ ก็จะไม่ทุกข์กับมันอีกแล้ว
ขันธ์ 5 เป็นทุกข์แต่เราไม่ทุกข์ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านก็เห็นขันธ์ 5 เป็นทุกข์ แล้วท่านก็วางมันลงไป แล้วก็ไม่หยิบฉวยมันขึ้นมาอีก พวกเราค่อยๆ ภาวนา แล้ววันหนึ่งเราก็จะเห็น จิตมันสามารถวางขันธ์ได้ จิตวางขันธ์ไม่ใช่ถอดจิตออกจากร่าง อันนั้นเป็นเรื่องของสมาธิ จิตวางขันธ์ได้ มันเห็นร่างกายนี้มันไม่ใช่ตัวเรา นี้มันวางกายได้ มันเป็นแต่ตัวทุกข์ มันก็ไม่เอาแล้วกายนี้ กายจะแก่ก็คือตัวทุกข์มันแก่ กายจะเจ็บก็คือตัวทุกข์มันเจ็บ กายจะตายก็คือตัวทุกข์มันตาย ตัวทุกข์ตายเสียใจไหม ไม่เสียใจหรอก แต่ถ้าเป็นตัวเราจะตายนี้เสียใจ
หมายรู้ผิดก็คิดผิด
เพราะฉะนั้นเราค่อยๆ เรียน แล้วจะถอดถอนความเห็นผิด จากมีตัวเรากลายเป็นมีแต่ตัวทุกข์ ถ้าเห็นตรงนั้นก็ไม่ยึดถือ ทีแรกมันจะไม่ยึดถือกายก่อน แล้วต่อไปมันจะไม่ยึดถือจิต มันจะวางจิตได้ นี้หัดภาวนา ถ้ามันยังไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ 4 มันวางจิตได้เหมือนกัน แล้วก็เดี๋ยวเดียวก็หยิบขึ้นมาอีกแล้ว หยิบฉวยขึ้นมาอีก สั่งอย่างไรมันก็ไม่ยอมวาง ภาวนาไปเรื่อยๆๆๆๆ อ้าว วางลงไปอีกแล้ว วางแล้วก็หยิบอีก
ในบทสวดมนต์ก็มีบอกว่า “ขันธ์ทั้ง 5 เป็นภาระ บุคคลแบกภาระไว้ก็ไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง พระอริยเจ้าคือพระอรหันต์ วางภาระลงแล้ว แล้วก็ไม่หยิบฉวยขึ้นมาอีก” เพราะฉะนั้นการวาง ยังมีวางแบบ วางแล้วหยิบ วางแล้วหยิบได้อีก ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์เท่านั้น ที่จะวางลงไปแล้วไม่หยิบขึ้นมาอีก ก็จะพ้นจากทุกข์ ที่วางได้เพราะเห็นความจริง เห็นทุกข์ กายนี้ไม่มีอะไร กายนี้มีแต่ของเกิดแล้วก็ดับ สิ่งที่มีอยู่ก็คือทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เห็นอย่างนี้ถึงจะวาง
อย่างทีแรกพอเห็นกายมันเกิดดับๆ มันวางความเห็นผิดว่ากายเที่ยง กายเป็นตัวเรา วางได้แต่ยังยึดถืออยู่ ทั้งๆ ที่เห็นว่ากายนี้จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ก็ยังยึดถืออยู่ เพราะฉะนั้นความเห็นผิดมันมีอยู่ เรียกว่าอยู่ในขั้นของทิฏฐิ เรียกสักกายทิฏฐิ ส่วนความยึดถือนั้นอยู่ในขั้นระดับของอุปาทาน เวลาจะล้างก็ต้อง มันคนละระดับกัน แต่ว่าวิธีปฏิบัติก็เหมือนกัน ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นล่ะ ปัญญาจะเกิดต้องหมายรู้ให้ถูก หัดนะ เห็นไหมตัวอะไรนั่งอยู่ ถ้าบอกว่าร่างกายนั่ง ก็ถามต่อไปเลย ร่างกายมันบอกหรือว่ามันนั่ง เราคิดเอาเองต่างหากว่านี่ตัวเรา
เมื่อก่อนเคยขึ้นไปกราบหลวงปู่สิม พาเพื่อนไปกลุ่มหนึ่ง ท่านก็ให้นั่งขัดสมาธิเพชร ภาวนาไป แล้วท่านก็เทศน์ไปเรื่อยๆ เกือบชั่วโมง บางคนนั่ง 5 นาทีไม่เอาแล้ว ถอยออกมานั่งพับเพียบแทน มีพี่คนหนึ่งแกอดทน ภาวนามานานแล้ว แกนั่งได้ตลอด นั่งขัดเพชร 2 คนกับหลวงพ่อนั่งอยู่ตลอด เสร็จแล้วหลวงปู่สิมก็บอกว่า “เป็นอย่างไร” พี่คนนี้แกก็ตอบหลวงปู่ “โห เมื่อยมากเลยครับ แต่ผมทนเอา ปวดมากเลย ขานี้ปวดมาก” หลวงปู่ก็ถาม “ขามันบอกหรือว่ามันปวด”
หลวงพ่อฟังหลวงพ่อเข้าใจ ขามันไม่เคยบอกว่ามันปวด เหมือนที่หลวงพ่อบอกพวกเราที่นั่งอยู่นี่ ร่างกายมันไม่เคยบอกเลยว่านี่มันคือตัวเรา ร่างกายไม่เคยบอกเลยว่ามันเจ็บ มันปวด จิตมันเป็นคนพูดทั้งนั้น หรือร่างกายไม่เคยบอกว่ามันคือตัวเรา จิตต่างหากมันคิดว่าเป็นตัวเรา หลวงปู่ท่านก็ถาม “ว่าอย่างไร ปวดไหม” แกก็บอกว่า “ปวดครับ” หลวงปู่ก็พูดต่อ “ขามันบอกว่าปวดหรือ” ท่านสอนธรรมะ แต่พี่นั้นแกยังไม่เข้าใจ แกก็ไปบอกหลวงปู่ “ปวดจริงๆ ครับ ผมไม่หลอกหลวงปู่หรอก ขามันปวดจริงๆ” หลวงปู่ก็ยิ้มหวาน ไปกันหลายคน มีหลวงพ่อฟังท่านรู้เรื่อง นอกนั้นส่วนใหญ่ก็ไม่รู้เรื่อง เห็นว่าขานี้เป็นตัวเรา ขามันเป็นตัวเรา
พวกเราลองภาวนา คอยรู้สึกลงในร่างกาย ดูสิ ร่างกายไม่เคยบอกว่าเป็นเรา จิตคิดเอาเองทั้งนั้น มันหมายรู้ผิดมันก็คิดผิด เพราะฉะนั้นก็หมายรู้ให้ถูกเสีย พยายามมองร่างกาย มองความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ให้เห็นถึงความเป็นไตรลักษณ์ หัดมอง หัดมองหัดหมายรู้ให้ถูก มันเป็นมุมมองของจิต ตัวสัญญานี้ จิตมันจะไปมองผิดก็ได้ มองถูกก็ได้ แล้วแต่มุมมอง สัญญาที่ถูกต้องก็เหมือนจิตมีมุมมองที่ถูกต้อง แทนที่จะมองว่านี่เป็นตัวเรา ก็ให้เห็นว่ามันก็เป็นวัตถุอันหนึ่งเท่านั้น
ความรู้สึกนึกคิด แทนที่จะไปมองให้ผิดในมุมว่า นี่คือความรู้สึกสุขทุกข์ของเรา ดีชั่วของเรา จิตของเรา หัดหมายรู้ไป สุขทุกข์มันก็เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลมันก็ของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เรา จิตใจนี้เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็รู้สึกตัว เดี๋ยวก็หลง หลงไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มันก็ทำงานของมันอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน ไม่เห็นมันเป็นเราตรงไหนเลย ถ้าเป็นเรา เราก็สั่งได้
หัดหมายรู้ให้ถูก ถ้าหมายรู้ถูกแล้ว ต่อไปเวลาเราคิดทีไร มันไม่ใช่เราแล้ว ร่างกายมันเดินไม่เห็นหรือรูปมันเดิน ไม่ใช่เราเดิน จิตใจมันสุขมันทุกข์ มันก็เห็น ความสุขความทุกข์มันก็เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลก็ถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มีตรงไหนเลย แล้วต่อไปก็ดูลึกลงไปอีก ตัวเราไม่มี แล้วสิ่งที่มีมันมีอะไร มีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย กายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ถ้าเห็นถึงตรงนี้ ถึงจะวาง เป็นขั้นที่วาง ตรงที่วางได้เพราะเห็นทุกข์ แต่ตรงที่เห็นความจริงว่ามันไม่ใช่เราๆ อันนี้ยังไม่วาง แค่ล้างความเห็นผิด ล้างมิจฉาทิฏฐิ ล้างสักกายทิฏฐิได้ ความเห็นผิดว่ามีตัวเรา ได้ธรรมะเบื้องต้น คนที่ล้างความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นตัวเราได้ คือพระโสดาบัน
จะหมายรู้ได้จิตต้องมีพลังพอ จิตต้องตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู
เพราะฉะนั้นการที่หลวงพ่อ สอนพวกเราว่าหัดหมายรู้ให้ถูก หัดหมายรู้ให้ถูก รูปมันนั่งจิตเป็นคนรู้ รูปมันยืน รูปมันเดิน รูปมันนอน จิตเป็นคนรู้ รูปหายใจออก รูปหายใจเข้า ก็เป็นตัวรูปมันทำงาน จิตเป็นคนรู้ หัดหมายรู้ไปเรื่อยๆ ความสุขความทุกข์เกิดขึ้น ก็รู้ว่ามันก็แค่ความรู้สึกเท่านั้นที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวเรา กุศลอกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น ก็แค่รู้ว่ามันเป็นความรู้สึกที่ดี ความรู้สึกที่ชั่วที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา หัดหมายรู้ไปเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่คิด คิดเป็นการตรึกเอา เรียกว่าวิตก
สัญญาเป็นการหมายรู้ พูดภาษามนุษย์เข้าใจยาก มันคือมุมมองของจิต แทนที่ไปมองว่ามันคือตัวเรา ก็หัดมองอีกมุมหนึ่ง เรียกมองต่างมุม มองให้เห็นว่าจริงๆ มันเป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา หัดมองอย่างนี้ เป็นความรู้สึก หลวงพ่อก็ไม่รู้ จนปัญญาเหมือนกันที่จะพูดให้เข้าใจ มันเป็นความรู้สึก การหมายรู้ไม่ใช่เรื่องคิดเอา อย่างพวกเรา ถ้าเราคิดเอา ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายไม่ใช่ของเรา ร่างกายเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ อันนี้คิดเอา
ถ้าหมายรู้เอา รู้สึกลงไป รู้สึกลงไปในร่างกาย รู้สึกลงไปในความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว รู้สึกลงไปในจิตใจ รู้สึกลงไป ที่จริงมันไม่เป็นเราตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่มันไปหมายรู้ผิดว่าเป็นเรา ร่างกายไม่เคยบอกเลยว่าเป็นเรา สุขทุกข์ก็ไม่เคยบอกเลยว่าเป็นเรา ดีชั่วมันก็ไม่เคยบอกว่าเป็นเรา มีแต่การหมายรู้ผิด คิดผิด เชื่อผิดๆ มันยาก เรื่องสัญญา ไม่ใช่คิด ไม่ใช่คิดเอา แต่รู้สึกเอา รู้สึกแล้วมันมีมุมมองของจิตที่จะรู้สึก ไม่ใช่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายเฉยๆ ตัวที่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย เรียกว่าสติ แต่มันมีสัญญาที่ถูกต้อง เป็นมุมมองของจิต มันหัดมองเข้าไปในมุมของไตรลักษณ์ มองกายก็ในมุมของไตรลักษณ์ ไม่ใช่คิดเรื่องไตรลักษณ์ มองจิตก็มองในมุมของไตรลักษณ์ ไม่ใช่คิดเรื่องไตรลักษณ์
ภาษามนุษย์มันคงสื่อได้แค่นี้ พวกเราก็ไปหัดดูเอาเอง ทำทีแรกมันก็คงคิดเอาบ้าง ไม่แปลกหรอก แต่ก็ให้รู้ทันว่านี่คิดแล้ว มันก็มีครูบาอาจารย์รุ่นก่อนมีอยู่องค์หนึ่ง ท่านมรณภาพไปแล้ว ลูกศิษย์สายวัดป่าเหมือนกัน ท่านก็มีชื่อเสียงมาก แต่ท่านสอนลูกศิษย์ให้คิดเอา ไม่ทำสมาธิ ไม่มีอะไรเลย ให้คิดเรื่องไตรลักษณ์อย่างเดียว คิดถึงร่างกายว่าเป็นไตรลักษณ์อย่างเดียวเลย อันนั้นคิด ไม่ใช่หมายรู้ จะหมายรู้ได้จิตต้องมีพลังพอ จิตต้องตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู แล้วมันดูลงมาในกาย มันจะหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกายได้ ถ้าจิตมันตั้งมั่นอยู่ มันจะหมายรู้ในความเป็นไตรลักษณ์ของจิตใจได้
เพราะฉะนั้นที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไช จิตต้องตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นแล้วไม่ตั้งเฉยๆ ใช้จิตที่ตั้งมั่นหมายรู้ลงไป สติระลึกรู้กาย หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย คือมองกายในมุมของไตรลักษณ์ จิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้สุขทุกข์ ก็หมายรู้ว่าสุขทุกข์นั้นก็เป็นไตรลักษณ์ จิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้กุศลอกุศลที่กำลังมี ก็หมายรู้ว่ากุศลอกุศลทั้งหลายก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ มันคนละอันกัน มันเป็นองค์ธรรมคนละตัวกัน ถ้าภาษามนุษย์ เข้าใจยาก พูดยาก ไม่ใช่เรื่องคิดเอา แต่เรื่องเห็นเอา รู้สึกเอา เพราะฉะนั้นค่อยๆ ฝึกเอา ทำผิดไม่เป็นไร ทำไปก่อน แล้วค่อยๆ สังเกตเอา นี่คิดเอาหรือรู้สึกเอา ถ้าคิดเอาจะได้ความสงบ ถ้ารู้สึกเอาจะได้ปัญญา จะไม่เหมือนกันหรอก
ยากไปหรือเปล่า ที่จริงมันไม่ยาก มันไม่ยากหรอก แต่ภาษามนุษย์มันไม่สื่อ ถ้าภาษาของจิต สอนกันด้วยจิตต่อจิตจริงๆ ตัวต่อตัว มันก็เข้าใจง่าย เช่น อยู่กับครูบาอาจารย์เราไปคิดปุ๊บ ครูบาอาจารย์ก็ชี้หน้า “เฮ้ย หลงไปในโลกของความคิดแล้ว ไม่ใช่รู้สึกแล้ว” แป๊บเดียวก็จะเข้าใจแล้ว รู้สึกมันเป็นอย่างไร แต่ไม่ต้องท้อใจ ได้ฟังธรรมะอย่างนี้ก็ดีนักหนาแล้ว มันจะเป็นทางที่เราจะเดินคลำทางต่อไปได้ ถ้ามีสติระลึกอยู่ที่กาย สมถะ สติระลึกอยู่ที่จิตก็สมถะ ถ้าสติระลึกรู้กาย จิตตั้งมั่นอยู่ แล้วก็มันไปมองกายในมุมของไตรลักษณ์ อันนั้นล่ะเรียกมันมีสัญญาที่ถูกต้อง พอมีสัญญาที่ถูกต้อง ต่อไปคิดถูก เรียกว่ามีสัญญาที่ถูก มีความคิดถูก ก็มีความเห็นถูกเกิดขึ้น มีความเห็นถูกแล้ว มันจะไม่ยึดถือ จะปล่อยวาง อยู่ๆ ไปสั่งจิตให้ปล่อยวางไม่ได้
วัดสวนสันติธรรม
17 ธันวาคม 2565