อย่าทิ้งการรู้ทุกข์

วันนี้หลวงพ่อนิมนต์หลวงปู่สุจินต์ สุจิณฺโณ มา วันคล้ายวันเกิดท่านอายุ 79 ปี พรรษา 50 กว่าแล้ว ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ บวชกับหลวงปู่ดูลย์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 หลวงพ่อเจอท่านปี พ.ศ.2526 ก็เป็นพระที่งดงาม ตั้งใจปฏิบัติตัดตรงไปสู่ความพ้นทุกข์ เป็นตัวอย่างของผู้มีความเพียร ความเพียรของท่านนั้นน่าทึ่ง หลวงพ่อเห็นมาตั้งแต่แรกแล้ว ตั้งแต่หลวงพ่อยังเป็นโยมอยู่ ท่านไปอยู่ในท้องนาแถวปทุมธานี กลางวันแสกๆ ท่านเดินจงกรม ตัวนี้ไหม้หมดเลย ผิวหนังลอกเป็นชั้นๆ ยังเดินอยู่อย่างนั้น อดทนสูง หลวงพ่อไปเห็นท่านทีแรก ก็อุทานด้วยความตกใจ “โอย หลวงพี่ทำไมภาวนาแล้วทุกข์ขนาดนี้” ท่านบอกท่านทุกข์เพื่อจะพ้นทุกข์

ในใจของคนซึ่งใฝ่ในธรรมะจริงๆ จะเป็นอย่างนี้ ยากลำบากแค่ไหนก็มีขันติ มีความอดทน มีอธิษฐานบารมี มุ่งมั่นจะไปสู่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ให้สำเร็จให้ได้ ยากลำบากแค่ไหนก็อดทน มีขันติ มีสิ่งมากระทบกระทั่ง จิตใจต้องต่อสู้ บางทีท่านเคยมีปัญหา ท่านเป็นห่วงแม่ท่าน เป็นลูกคนเดียวมาบวช พอแม่แก่แล้ว จิตใจท่านก็หวั่นไหวขึ้นมาเหมือนกัน สมัยท่านยังหนุ่มๆ อยู่ ท่านก็มีทมะ ความข่มใจ ท่านมีคุณงามความดีมากมาย ถ้าเรามองให้เป็น ก็เป็นแบบอย่างที่ดี

วันนี้ก็เลยนิมนต์ท่านมาเป็นสิริมงคล พระที่หลวงพ่อกราบไหว้ ถ้าพรรษาเยอะกว่าหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ไหว้ทุกองค์ กราบทุกองค์ แต่ที่เราเคารพด้วยใจจริงๆ มีไม่กี่องค์ นี่คือองค์หนึ่งที่น่าเคารพจริงๆ ฉะนั้นเดี๋ยวหลวงพ่อเทศน์เสร็จแล้ว ก็จะขอโอกาสสรงน้ำท่าน มันเป็นบุญของเรา การได้เห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง การได้ประพฤติอ่อนน้อมกับผู้ใหญ่ ก็มีผลดีเยอะ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง ที่พระชอบสวด การเคารพนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ เราก็จะมีอายุ มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุข มีกำลัง กำลังที่สำคัญคือกำลังจิต เราได้กราบไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ดี จิตเราจะมีกำลังขึ้นมา ฉะนั้นวันนี้ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้สร้างคุณงามความดีอีกลักษณะหนึ่ง

 

แก่นสารสาระหัวใจของพระพุทธศาสนา

แก่นสารสาระหัวใจของพระพุทธศาสนาจริงๆ พระอินทร์ท่านเคยไปถามพระพุทธเจ้าว่า “ธรรมะที่พระองค์แสดงมากมายนั้น ถ้าจะพูดในประโยคเดียวได้ไหม ที่จะครอบคลุมหัวใจการปฏิบัติทั้งหมดเลย” ขอประโยคเดียว พระพุทธเจ้าบอก “ได้ ให้เทศน์ 3 เดือนก็ได้ ให้เทศน์ประโยคเดียวก็ได้” ท่านเคยเทศน์ 3 เดือน เทศน์ในดาวดึงส์ ประโยคเดียวก็คือ “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่น” คำว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวง” ธรรมะมันมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเขาเรียกว่าธรรมะที่เป็นความปรุงแต่งเรียก สังขตธรรม ธรรมที่มีเหตุให้เกิด สิ่งใดมีเหตุให้เกิด หมดเหตุมันก็ดับ บังคับมันไม่ได้

ธรรมะอีกส่วนหนึ่งเรียก อสังขตธรรม คือพระนิพพาน ไม่มีเหตุให้เกิด เมื่อไม่มีเหตุจะเกิด มันก็ไม่มีทางจะดับ สิ่งใดมีเหตุให้เกิด สิ่งนั้นก็ต้องดับ การพูดว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” พูดง่าย แต่การปฏิบัตินั้นมันไม่ง่าย ทำอย่างไรเราจะไม่ยึดมั่นถือมั่น สิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นมากที่สุด ก็คือสิ่งที่เรียกว่าตัวเราๆ นี่ล่ะ รองจากตัวเราก็ของเรา สิ่งที่เราไปยึดมั่นอยู่ สิ่งที่เรียกว่าตัวเราก็ประกอบด้วยกายกับใจ ของเรามันก็มีตั้งแต่จิตใจของเรา ร่างกายของเรา ครอบครัวของเรา บ้านของเรา ที่ทำงานของเรา ประเทศของเรา โลกของเรา ก้าวไกลออกไปอีกก็จักรวาลของเรา มันขยายความเป็นของเราไปเรื่อยๆ แล้วแต่กำลังของกิเลส

การที่จะละความเป็นตัวเรา ความเป็นของเรา ในความเป็นจริงแล้วตัวเราไม่เคยมีมาตั้งแต่แรก ฟังตรงนี้ให้ดีๆ ตัวเราไม่เคยมี ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว มีแต่ความเห็นผิดว่ามีตัวเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะละ ไม่ใช่ละตัวเรา แต่ละความเห็นผิดว่ามีตัวเรา เรียกว่าสักกายทิฏฐิ นี่เป็นจุดตั้งต้น ถ้าเราสามารถละความเห็นผิดว่ากายนี้ใจนี้เป็นเราได้ เราก็เริ่มเข้าสู่กระแสของธรรมะแล้ว การภาวนาต่อไป เราก็จะต้องเห็นความจริงที่สูงขึ้นไปอีก มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราแล้ว มันเป็นอะไร มันเป็นตัวทุกข์

กายนี้เป็นอะไร กายนี้เป็นตัวทุกข์ เป็นที่ตั้งของความทุกข์ด้วย ตัวมันก็เป็นตัวทุกข์ด้วย ทุกข์เพราะความแก่ เพราะความเจ็บ เพราะความตาย ทุกข์ไม่เที่ยงเพราะความไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา ทุกข์เพราะไม่อยู่ในอำนาจควบคุมบังคับ เราจะเห็นอย่างนี้ เราถึงจะหมดความยึดถือในร่างกาย ส่วนจิตใจก็เหมือนกัน เราภาวนาทีแรก เราเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา นี่เราละความเห็นผิดว่ามันเป็นตัวเราได้ ถัดจากนั้นถึงขั้นละความยึดถือ ความเห็นผิดเรียกว่าทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความยึดถือเรียกว่าอุปาทาน มันคนละองค์ธรรมกัน คนละชนิดกัน

พระโสดาบันละมิจฉาทิฏฐิได้ โดยเฉพาะละสักกายทิฏฐิได้ ความเป็นตัวเราขาดไปแล้ว มันก็เลยละมิจฉาทิฏฐิตัวอื่นๆ ได้ด้วย มิจฉาทิฏฐิตัวอื่นๆ ก็เช่นตัวเรามีอยู่จริงๆ ในอดีตก็มี ชาติก่อนๆ ก็มี ในอนาคตมันก็คือตัวเรานี่ ชาติหน้าก็เป็นตัวเราตัวเดิมนี่ล่ะ พวกนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิรองลงมา เรียกว่าสัสสตทิฏฐิ ฉะนั้นถ้าเราปัจจุบันไม่มีตัวเราแล้ว มันก็ไม่มีตัวเราที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ มันมีแต่ขันธ์ 5 มีแต่จิตวิญญาณที่เกิดดับสืบเนื่องกันเท่านั้นเอง แล้วต่อมาขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติ มันก็จะลงมาที่จิต เราก็ต้องเห็นแต่แรกแล้วว่า จิตไม่ใช่เรา ในขั้นที่จะได้โสดาบัน ละสักกายทิฏฐิได้ แต่ในขั้นที่จะละความยึดถือจิตนั้น เป็นอีกระดับหนึ่ง เป็นระดับสุดท้ายของการปฏิบัติ

การภาวนานั้นมันจะผ่านกระบวนการ ซึ่งมันวางกายไปก่อน เพราะกายมันเป็นของหยาบ มันดูง่ายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่จิตนั้นเป็นของละเอียด เป็นของประณีต ไม่มีตัวตน แต่มีร่องรอยให้สังเกตได้ คือบางทีมันก็สุข บางทีมันก็ทุกข์ บางทีมันก็ดี บางทีมันก็ชั่ว บางทีมันดูรูป มันฟังเสียง มันดมกลิ่น มันลิ้มรส มันรู้สัมผัสทางกาย มันไปคิดนึกทางใจ มันมีร่องรอยที่มันแสดงออกมา นี้เราเห็นแล้วมันไม่ใช่ตัวเรา แต่ว่าความรัก ความหวงแหนในจิตนั้นยังมีอยู่

เพราะฉะนั้นถึงจะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ความรักในจิตก็ยังมีอยู่ รักอย่างไร อยากให้จิตหลุดพ้นๆ ความรู้สึกตัวนี้มันยังมีอยู่ ตรงที่จิตมันอยากหลุดพ้น อยากหลุดพ้นนั่นล่ะ ก็เพราะมันยังยึดถือจิตอยู่ มันไม่ยอมวาง เวลาเราภาวนาพอเข้ามาถึงจุดนี้ เราเข้ามาที่จิตแล้ว มันจะเห็นจิตเกิดดับหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันเห็นอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืนนั้นล่ะ เห็นมันไม่เที่ยง เห็นมันเป็นทุกข์ เห็นมันเป็นอนัตตา แต่ทำไมมันวางไม่ได้เสียที ทำไมมันปล่อยไม่ได้เสียที เพราะความรักจิตมันยังมีอยู่ อยากให้จิตหลุดพ้น มันแฝงอยู่นิดเดียวเอง มันยังมีโลภเจตนาเจืออยู่ในการปฏิบัติ มันแฝงโลภเจตนา

โลภเจตนาเป็นเจตนาทางใจ เรียกว่ามโนสัญเจตนา มโนสัญเจตนาคือความจงใจ เป็นปัจจัยให้จิตเกิดการกระทำกรรม อย่างเราอยากหลุดพ้นใช่ไหม จิตก็เกิดการกระทำกรรม ดิ้นรนเลย หาทางให้จิตหลุดพ้น เพราะฉะนั้นตัวโลภเจตนานี้ หรือมโนสัญเจตนาตัวนี้ เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำกรรมของจิต เมื่อจิตกระทำกรรมอยู่ จิตก็ยังไม่พ้นจากโลก มันทำกรรม มันทำอยู่ในโลกหรอก ในรูปโลก อรูปโลก ในกามโลก รูปโลก อรูปโลก จิตมันไปทำอยู่

แต่ระดับพระอนาคามีจิตไม่ไปเวียนอยู่ในกามโลก ไม่เวียนไปเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้ว แต่ยังเวียนอยู่ในรูปโลก อรูปโลก รูปฌาน อรูปฌาน อยู่ในรูปฌาน บางทีก็อิ่มอยู่ในความสุข มีความสุข มีปีติ มีความสุข บางทีก็เลื่อนขึ้นไป สูงขึ้นไป ก็เป็นอุเบกขา ในอรูปจิตก็ทรงอุเบกขาอยู่ ในฌานที่ 4 5 6 7 8 จิตทรงอุเบกขาอยู่ ต่ำกว่านั้นจิตทรงในปีติในความสุขอยู่ มันไม่ใช่กาม มันเป็นนามธรรม เป็นความสุขที่เป็นนามธรรม ตราบใดที่ยังอยากหลุดพ้น จิตก็ยังเวียนอยู่ในโลกเหล่านี้อยู่

ถ้าสติปัญญามันแทงตลอดลงในจิตจริงๆ อย่างที่หลวงปู่ดูลย์สอน “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค” อันนี้ท่านสอนแบบเกรงใจ เดี๋ยวคนจะมาว่าท่าน ท่านก็เลยสอนแค่นั้น ในความเป็นจริงก็คือ ถ้าจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งแล้วเป็นอรหัตตมรรค ถ้าจิตเห็นจิตก็จะเห็นว่าไม่ใช่เรา ถ้าจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งก็จะรู้ว่าจิตนั้นคือตัวทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะบังคับไม่ได้ การที่เห็นจิตไม่เที่ยงแล้วหลุดพ้น เรียกอนิมิตตวิโมกข์ ไม่มีเครื่องหมาย เพราะทุกอย่างเกิดแล้วดับหมด

บางท่านที่ทรงฌาน ทรงสมาธิเห็นจิตนี้เป็นทุกข์ เพราะมันถูกบีบคั้นเรียกอัปปณิหิตวิโมกข์ เพราะจิตที่ทรงฌานนั้นมันมีแต่ความสุข แล้ววันหนึ่งสติปัญญาแก่กล้าพอ มันเห็นตัวจิตนี้ล่ะตัวทุกข์ ไม่มีอะไรทุกข์เสมอด้วยจิตเลย พอมันเห็นแจ้งอย่างนี้ หลุดพ้นวางจิตทิ้ง สลัดทิ้งไป วัฏจักรที่หมุนอยู่ในอกเรานี้ ถล่มลงไปตรงนั้นเลย เรียกว่าหลุดพ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ บางท่านเดินด้วยปัญญา สายปัญญา ก็จะเห็นจิตนั้นเป็นอนัตตา มันว่างจากความเป็นตัวเป็นตน ก็ปล่อยวางได้เรียกสุญญตวิโมกข์ จะหลุดพ้นด้วยวิธีใด มันก็เข้าไปสู่ธรรมะอันเดียวกัน

เมื่อหลุดพ้นแล้วก็ต้องทวนดู ต้องทบทวนดู โดยธรรมชาติแล้วเมื่อจิตเกิดอริยมรรคแต่ละชั้นๆ พอกระบวนการแห่งอริยมรรคผ่านไปแล้ว มันจะเกิดญาณทัศนะตัวหนึ่งขึ้นมา มันจะทวนเข้าไปดู ถ้าเป็นขั้นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี จิตมันทวนเข้าไปดูเรียกปัจจเวกขณญาณ เข้าไปดูว่าเมื่อกี้นี้มันเกิดอะไรขึ้น กิเลสอะไรถูกละเด็ดขาดแล้ว กิเลสอะไรยังเหลืออยู่ แต่ขั้นสุดท้ายจะทวนเข้าไปดู มันจะเห็นแต่สุญญตา ว่าง มันไม่มีกิเลส ไม่มีเชื้ออะไรเหลืออยู่แล้ว แล้วเวลาระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระอรหันตสาวกที่ท่านนิพพานไปแล้ว เราจะพบว่า จิตกับพระพุทธเจ้ากลืนเข้าเป็นอันเดียวกัน จิตกับพระอรหันตสาวกทั้งหลายกลืนเข้าเป็นอันเดียวกัน

เมื่อก่อนหลวงพ่อยังไม่บวช มีพระองค์หนึ่งท่านภาวนาเก่ง ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์เหมือนกัน ท่านก็ภาวนาดี ท่านบอกในเมืองสุรินทร์ ท่านสิ้นหลวงปู่แล้ว ท่านไม่รู้จะพึ่งใครแล้ว ไม่มีใครจิตไวเท่าท่าน ท่านมาหาหลวงพ่อ เคยประลองวิทยายุทธ์กัน ก็จิตว่องไว ท่านว่าอย่างนั้น ท่านก็บอก ท่านภาวนา ท่านจบแล้ว หลวงพ่อก็ถามท่าน เราไม่ได้มีฤทธิ์มีเดชอะไร เราก็ใช้ถามเอาว่าท่านยังยึดถือจิตอยู่ไหม ท่านบอกไม่ยึดๆ ไอ้นั่นก็ไม่ยึด ไอ้นี่ก็ไม่ยึด หลวงพ่อก็เลยบอกท่านบอกว่า “หลวงพ่อผมสงสัยจังเลย อาฬารดาบสกับอุทกดาบสตอนนี้อยู่ที่ไหน” ท่านก็ถาม “หา ดาบสอะไรนะ ชื่ออะไร” บอกให้ท่านฟัง ท่าน “เออ จำได้แล้ว” เดี๋ยวคืนนี้ท่านจะไปดู

พอเช้ามาเจอท่าน ท่านก็บอก “ปราโมทย์เราผิดแล้ว จิตเราเหมือนดาบสพวกนั้น” บอก “จิตเหมือนดาบสพวกนั้นเป็นอย่างไร” บอก “โห อยู่ไกลมากเลย ไกลมากเลย ตามไปดูแสนไกล แล้วอีกนานเลยกว่าจะกลับมาสู่โลกได้ ไม่รู้อีกกี่พระพุทธเจ้าจะได้กลับมาอีก” จิตท่านไปเสมอกับดาบส พอท่านเห็นของท่านเอง ไม่ใช่หลวงพ่อเห็น แค่แกล้งถามท่านให้ท่านไปสังเกตเอา ท่านรู้ว่าจิตท่านอย่างนี้ ยังเกิดได้อีก ก็ไปภาวนาต่อ

 

อธิจิตตสิกขา

ฉะนั้นการภาวนา ตั้งอกตั้งใจ ถือศีล 5 ไว้ ทุกวันทำในรูปแบบ ทำในรูปแบบก็คือเราต้องมีวิหารธรรม มีเครื่องอยู่ แล้วก็คอยรู้ทันจิตตัวเองไป จะหายใจ จะพุทโธก็ได้ แล้วจิตหนีแล้วรู้ จิตไปเพ่งแล้วรู้ จะดูท้องพองยุบ จิตหนีแล้วรู้ จิตเพ่งแล้วรู้ จะทำจังหวะขยับมือ จิตหนีแล้วรู้ จิตไปเพ่งมือแล้วก็รู้ ใช้หลักเดียวกัน จับหลักอันนี้ให้แม่นๆ รู้ทันจิตตัวเองไว้แล้วสมาธิที่ดีจะเกิด

เพราะฉะนั้นหลักของการทำสมาธิ บทเรียนในการทำสมาธิ ท่านถึงชื่อว่าอธิจิตตสิกขา ทำสมาธิไม่ใช่นั่งซื่อบื้อไปเรื่อยๆ ทำไม่ถูกเสียเวลา จะทำสมาธิ ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตัวเอง ตรงที่เรารู้ทันจิตตัวเองนั่นล่ะ เช่นจิตหลงไปคิดแล้วรู้ สมาธิจะเกิดขึ้นทันทีเลย ทำบ่อยๆ จิตก็ทรงสมาธิ ตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ได้ทั้งวัน โดยไม่ต้องเข้าฌาน ตอนหลวงพ่อเป็นโยม งานยุ่งไม่ได้แพ้พวกเราหรอก งานวุ่นวายทั้งวันเลย เครียดหนัก แต่จิตหลวงพ่อเป็นผู้รู้ เพราะกลางคืนเราก็ทำสมาธิ กลางวันเราก็เจริญสติ จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ

ครูบาอาจารย์อย่างหลวงปู่สิม ท่านไม่รู้จักชื่อหลวงพ่อ ท่านเรียกหลวงพ่อว่า “ผู้รู้” มันเป็นฉายาที่ท่านตั้งให้ ผู้รู้ๆ ผู้รู้ทำอย่างนี้ ผู้รู้อย่าทำอย่างนี้ ท่านจะสอนอย่างนี้ พวกเราทำได้ไหม ทำได้ถ้าพวกเราทำ เพราะหลวงพ่อไม่ได้เก่งกว่าพวกเราหรอก แต่หลวงพ่ออึด หลวงพ่อทนในการฝึกตัวเอง เพราะฉะนั้นเราต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ให้จิตมีเครื่องอยู่ไว้ แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไป แล้วสมาธิเราจะค่อยแข็งแรงขึ้น พอจิตเราตั้งมั่นดีแล้ว ไม่โคลงเคลง คลอนแคลน ฟุ้งซ่านแล้ว แล้วก็ไม่ซื่อบื้อ เซื่องซึมหงอยๆ นั่นมันมิจฉาสมาธิ แล้วก็ไม่ต้องสนใจแสงสว่างเห็นโน่นเห็นนี่ นั่นมันนิมิต ให้รู้ทันจิตใจตัวเองไว้ แล้วสมาธิดีขึ้นแล้ว จิตตั้งมั่นแล้วก็ถึงขึ้นในการเจริญปัญญา

เจริญปัญญาในเบื้องต้น ก็เห็นทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดแล้วมันก็ดับไป มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดูอย่างนี้ มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ร่างกายที่นั่งอยู่นี้ มันถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ร่างกายที่หายใจ มันถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ร่างกายที่เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง ยืน เดิน นั่ง นอน มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันถูกรู้อยู่ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ที่เกิดขึ้นในร่างกายเป็นของถูกรู้ อะไรมันถูกรู้ อันนั้นมันไม่ใช่ตัวเราหรอก หัดอย่างนี้เรื่อยๆ เลย เห็นนั่นก็ถูกรู้นี่ก็ถูกรู้ แยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกมาเป็นส่วนๆ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า วิภัชชวิธี

วิภัชชวิธีเป็นวิธีการของพระพุทธเจ้า แปลว่าแยกส่วน แยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกเป็นส่วนๆ เป็นรูป เป็นเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว แล้วก็วิญญาณก็คือจิตนานาชนิด แยกส่วนมันออกมา ถ้าจิตเราตั้งมั่น มีสมาธิที่ถูกต้องแล้ว เราถึงจะแยกส่วนได้ ถ้าจิตเราไม่มีสมาธิพอ มันรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน มันเป็นตัวเดียว มันคือตัวเรา แต่ถ้าจิตเราทรงสมาธิขึ้นมาแล้ว เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ขึ้นมาแล้ว ขันธ์มันจะแยกออกมา นั่งอยู่นี่ตัวนี้กระดุกระดิก มันเห็นเลย ตัวนี้ถูกรู้ตัวนี้ไม่ใช่เรา ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ในกาย ความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ในใจ เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่เรา ความจำได้ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำสัมผัสได้ หรือจำเรื่องราวได้ เป็นของถูกรู้ มันไม่ใช่ตัวเรา

“การหมายรู้” หมายรู้ว่านี่เที่ยงนี่ไม่เที่ยง หมายรู้ถูกบ้างผิดบ้าง เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา สังขารคือความปรุงดีปรุงชั่ว เช่น ปรุงโลภ โกรธ หลง ปรุงศีล สมาธิ ปัญญาอะไรขึ้นมา ปรุงที่ดีๆ ขึ้นมา ศีล สัมมาสมาธิ ปัญญา นี้เป็นองค์ธรรมฝ่ายดี ถ้าสมาธิเฉยๆ เป็นธรรมะกลางๆ จิตชั่วๆ ก็มีสมาธิได้ แต่สติ ปัญญา วิริยะ ขันติ ธรรมะนี้เป็นฝ่ายดีทั้งนั้น ฝ่ายชั่วก็โลภ โกรธ หลงนั่นหัวโจกมัน เวลาโลภเกิดขึ้นก็ดูไป โลภถูกรู้ โลภไม่ใช่เรา โกรธถูกรู้ โกรธไม่ใช่เรา หัดดูอย่างนี้เรื่อยๆ ไป

แล้วถึงจุดหนึ่งมันจะตะล่อมเข้ามาที่จิตแล้ว มันจะเห็นเลยจิตเองก็ไม่ใช่เรา จิตเองก็บังคับมันไม่ได้ เดี๋ยวมันก็คิดดี เดี๋ยวมันก็คิดร้าย เดี๋ยวมันก็สุข เดี๋ยวมันก็ทุกข์ เดี๋ยวมันก็ดี เดี๋ยวมันก็ชั่ว เดี๋ยวก็ดู เดี๋ยวก็ฟัง เดี๋ยวก็คิด เห็นมันทำงานไปเรื่อยๆ พอเห็นไปเรื่อยๆ ต่อไปก็รู้มันไม่ใช่เราหรอก พอเราเห็นว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ไม่มีเราในขันธ์ 5 มันจะรู้เลยในโลกธาตุนี้ ก็ไม่มีเราอยู่ที่ไหนเลย ตรงนั้นเราจะได้ธรรมะขั้นต้น ได้โสดาบัน ถัดจากนั้นเราก็ดูกายดูใจของเราต่อ มีสติรู้กายรู้ใจด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางต่อไป พอปัญญามันแก่กล้าขึ้น ในระดับกลางเราจะเห็นความจริง กายนี้ไม่มีดีเลย กายนี้คือทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตก็วางกาย

 

การภาวนาอย่าทิ้งอริยสัจ อย่าทิ้งการรู้ทุกข์

พอปัญญาขั้นสูงเราจะเห็นเลย จิตนั้นล่ะคือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ตรงที่เห็นทุกข์นั่นล่ะถึงจะวาง ตราบใดที่ไม่เห็นทุกข์ ไม่มีทางปล่อยวางได้ ที่บอกไม่ยึดถือๆ โดยไม่ผ่านกระบวนการเห็นทุกข์ อันนั้นไม่ยึดถือแต่ปาก จิตยังยึดอยู่ ถ้าผ่านกระบวนการเห็นทุกข์ ทำไมต้องผ่านกระบวนการอันนี้ เพราะการเห็นทุกข์นั้นมันจะละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรคขึ้นมา นั้นคือการเจริญอริยสัจ 4 พ้นจากอริยสัจ 4 แล้ว ไม่มีเส้นทางที่สองเลยที่จะหลุดพ้น ถึงจะเห็นจิตเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ไม่เห็นอริยสัจของจิต ก็ไม่ปล่อยวางจิต ที่เราปล่อยวางสิ่งทั้งหลายได้นั้น เพราะเราเข้าใจอริยสัจ เข้าใจทุกข์

ปล่อยวางกายได้เพราะเข้าใจทุกข์ ก็คือกายนี้คือทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ปล่อยวางจิตได้ก็เพราะเข้าใจทุกข์ จิตนี้มีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อยเท่านั้นเอง ถึงจะวางได้ นี่คือเส้นทางที่จะนำเราไปสู่คำว่า “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” ที่ไม่ยึดมั่นเพราะว่าเห็นทุกข์ ไม่ใช่ไม่ยึดมั่นเพราะทรงสมาธิอยู่เฉยๆ ต้องระมัดระวัง หลักของการปฏิบัติ ศีลต้องรักษา การทำในรูปแบบต้องทำ รูปแบบก็คือทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วก็คอยรู้ทันจิตตัวเอง เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวันนี่ล่ะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในกาย รู้สึก มีความเปลี่ยนแปลงขึ้นในจิต รู้สึก แล้วต่อไปปัญญามันจะแก่กล้าขึ้นเป็นลำดับๆ จนกระทั่งวางลงได้

ไม่มีเส้นทางที่สองเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ต้องทำสติปัฏฐาน จนวันหนึ่งรู้แจ้งอริยสัจ 4 นั่นล่ะ ตราบใดไม่รู้แจ้งอริยสัจ 4 ยังไม่พ้นหรอก ท่านพระอานนท์รู้มาก เรียนมาก ท่านไปทูลพระพุทธเจ้าบอก “ข้าพระองค์เห็นว่าปฏิจจสมุปบาท ที่พระองค์ว่าลึกซึ้งนั้น ข้าพระองค์เห็นเป็นของตื้น” พระอานนท์บอก “ปฏิจจสมุปบาท ใครๆ ว่าลึกซึ้ง” ท่านเห็นว่ามันตื้นๆ ปฏิจจสมุปบาทก็คืออริยสัจ แต่แจกแจงรายละเอียดปลีกย่อยลงไป พระพุทธเจ้าท่านตอบว่า “อย่าพูดอย่างนั้นอานนท์ ปฏิจจสมุปบาท หรืออริยสัจนี่ลึกซึ้งนัก ตราบใดที่สัตว์ยังไม่เข้าใจ สัตว์โลกทั้งหลายยังไม่เข้าใจอริยสัจ ไม่เข้าใจปฏิจจสมุปบาท ยังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิดหรอก”

เพราะฉะนั้นเราจะภาวนา อย่าทิ้งอริยสัจ อย่าทิ้งการรู้ทุกข์ ดูลงไปขันธ์นั่นล่ะทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร มันจะละสมุทัย จะแจ้งพระนิพพานขึ้นมาเอง ไม่ต้องหา ไม่ต้องหาทำอย่างไรจิตเราจะถึงพระนิพพาน ทำอย่างไรจิตจะถึงพระนิพพาน เห็นไหมมันมีโลภเจตนาอยู่ ดูความจริงของมันเรื่อยๆ ไปจนจิตมันแจ้งขึ้นมา จิตนี้คือทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะเป็นความว่าง เป็นสุญญตา เป็นอนัตตา แล้วมันก็วางของมันเอง ไม่มีใครวางได้หรอก มันวางของมันเอง พอวางแล้ว พอเวลาเรานึกถึงพระพุทธเจ้า จิตกับพระพุทธเจ้ากลืนเป็นอันเดียวกันเลย จิตกับพระธรรมก็กลืนเป็นอันเดียวกัน จิตกับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็กลืนเป็นอันเดียวกัน

ทำไมเทศน์ยากมาก เพราะว่าวันนี้มีท่านที่ภาวนาดีเยอะเลย มีผู้ภาวนาดีมากมายที่มาในวันนี้ พวกเราก็ฟังเอาไว้ วันหนึ่งเราจะเข้าใจ วันนี้ไม่เข้าใจไม่เป็นไร ให้มันฝังลงไปในจิตในใจเรา วันหนึ่งแล้วมันได้ใช้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
5 พฤศจิกายน 2565