สันตติขาด

การปฏิบัติใครก็ทำแทนกันไม่ได้ ต้องทำเอาเอง พอรู้หลักแล้วต้องลงมือทำ ตรวจสอบตัวเอง ที่ทำอยู่มันถูกไหม วิธีวัดว่าถูกหรือเปล่า ดูว่าทำแล้วสติเราเพิ่มขึ้นไหม ศีลเราดีขึ้นไหม สมาธิ จิตใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้นหรือเปล่า เราเห็นความจริงของโลก ความจริงของชีวิตมากขึ้นหรือเปล่า วัดความเจริญกันตรงนี้ ถ้ามีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ที่ไว้ใจได้ก็ตรวจสอบนานๆ ทีหนึ่ง ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ถามครูบาอาจารย์ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของคนมีปัญญา ก็ต้องใช้ปัญญา ใช้ความสังเกตตรวจสอบตัวเองเป็นระยะๆ ไป

เมื่อก่อนหลวงพ่อก็ตรวจสอบ ตรวจสอบทุก 3 เดือน 3 เดือนนี้กับ 3 เดือนก่อนเรามีพัฒนาการทางจิตใจบ้างหรือเปล่า แล้วสิ่งที่ว่าพัฒนาๆ นั้นมันถูกต้องไหม บางทีก็คิดว่ามีพัฒนาการแต่พัฒนาผิด อย่างจิตไปติดในความว่างอะไรอย่างนี้ มันผิด อาศัยความสังเกต ใช้โยนิโสมนสิการ พิจารณาไตร่ตรองอย่างแยบคาย สิ่งที่เรากำลังมี สิ่งที่เรากำลังเป็นอยู่นี้สอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า

หลวงพ่อตอนไปติดความว่างๆ ก็สังเกตจิตของเราทำไมมันเที่ยง สงบอยู่อย่างนั้น สุขอยู่อย่างนั้น สว่างอยู่อย่างนั้น มันควรจะไม่เที่ยงแต่ทำไมมันเที่ยง มันต้องผิดแล้ว มันควรจะเป็นทุกข์คือถูกบีบคั้นให้แตกสลาย นี่มีแต่ความสุข ทรงตัวอยู่อย่างนั้นไม่มีอะไรมาบีบคั้นเลย มันควรจะเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ นี่เราทำได้ กำหนดจิตเข้ามาว่างๆ สบาย โล่งๆ อยู่อย่างนั้น มีความสุข ไม่มีกิเลส

อาศัยพิจารณาแยบคาย ก็คือคำว่าพิจารณาอย่างแยบคายไม่ใช่คิดแบบเจ้าเล่ห์แสนกล พิจารณาอย่างแยบคายหมายถึงพิจารณาว่าสิ่งที่กำลังมี กำลังเป็นนั้นมันสอดคล้อง หรือมันขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างที่หลวงพ่อเล่าให้ฟัง ตัวเองทำผิดเพราะดูแล้วมันขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้า มันควรจะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันกลับกลายเป็นนิจจัง สุขัง อัตตาไป ก็ต้องพยายามสังเกตต่อไปว่าที่ผิดมันผิดอย่างไร

ถ้าสังเกตไม่ออกก็ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ช่วย แต่ว่ายุคที่หลวงพ่อเริ่มเข้าวัด ครูบาอาจารย์ที่ดีมีมาก เยอะแยะเลย ถนนบางสาย โดยเฉพาะทางอิสาน ถนนสายเดียวกันมีครูบาอาจารย์ชั้นเลิศอยู่เรียงกันเป็นแถวเลย เยอะแยะเลย มายุคนี้มันก็เริ่มมีปัญหา คือคนทำกรรมฐาน ครูบาอาจารย์กรรมฐานจริงๆ คงมีน้อยเพราะบ้านเมืองมันเปลี่ยน

 

เราสบายทางร่างกาย แต่ลำบากต่อการพัฒนาจิตใจ

เมื่อก่อนบ้านเมืองเป็นป่าเป็นเขา สิ่งยั่วยุ กิเลสมันน้อย ผู้คนสนใจการปฏิบัติเยอะ ชีวิตเขาเห็นทุกข์กัน เป็นชาวไร่ชาวนา อยู่ป่าอยู่เขาอะไรนี่ ชีวิตมีความทุกข์ ชีวิตมีความล่อแหลม อันตรายเกิดขึ้นได้เสมอ แล้วก็งาน อาชีพก็ไม่มีอะไร ปีหนึ่งก็ทำนาครั้งหนึ่ง ที่เหลือตั้งหลายเดือนก็ว่างๆ อยู่อย่างนั้น ตอนทำนาทีหนึ่งก็เหน็ดเหนื่อยมาก ลำบาก อย่างเกี่ยวข้าวก็คันไปทั้งตัว เวลาเกี่ยวข้าวบางทีใบมันก็บาด อากาศก็หนาว หน้าหนาวข้าวสุก ชีวิตมันเต็มไปด้วยความทุกข์ ท่านเห็นทุกข์กัน ท่านก็ออกภาวนากันเด็ดเดี่ยวเข้มแข็ง

ของเราทุกวันนี้ลำบาก มันสบายทางร่างกายแต่มันลำบากต่อการพัฒนาจิตใจ สิ่งยั่วยุมันเยอะเหลือเกิน แค่โทรศัพท์มือถืออันเดียวก็หายนะแล้วถ้าคุมตัวเองไม่อยู่ จิตมันฟุ้งซ่าน ออกนอก สนใจแต่ของข้างนอกตลอดเวลา บางทีก็ดูโน้นดูนี้ เห็นเขาโฆษณาอย่างนี้ก็อยากได้ๆ อยากไปกิน อยากไปเที่ยว สารพัดเลย จิตใจมันถูกเร้าด้วยกิเลสอย่างรุนแรงอยู่ตลอดเวลา

มาบวชเป็นพระก็หนีไม่รอด บวชวัดกรรมฐาน อย่างวัดหลวงพ่อ ญาติโยมมาเยอะ ลาภสักการะเยอะ มันอันตรายกับพระ ถ้าพระคุมตัวเองไม่ได้ แต่ที่นี่หลวงพ่อคุมอยู่อีกทีหนึ่ง พระจะเบิกข้าวของอะไรอย่างนี้ ไม่มีความจำเป็น เบิกพร่ำเพรื่อไม่ได้ มีข้าวของมามากเกินที่จะใช้ เราก็ส่งไปช่วยที่พื้นที่ที่เขาขาดแคลนอะไรอย่างนี้ คือต้องคอยควบคุม วัดหลวงพ่อไม่ให้พระเล่นอินเทอร์อินเทอร์เน็ต ไม่ให้เล่น เล่นแล้วฟุ้งซ่าน เล่นแล้วสนองกิเลส กิเลสยิ่งแรงขึ้นๆ

คนยุคเราเดี๋ยวนี้แต่ละบ้านก็ลูกน้อย ไม่อยากให้ลูกบวช แล้วแต่ละคนเรียนหนังสือนาน เรียนจนอายุ 20 กว่าปี แล้วก็จิตใจมันก็คุ้นอยู่กับโลกแล้ว ไม่อยากบวช น้อยคนที่จะอยากบวช พอบวชแล้วก็เอานิสัยของชาวโลกเข้ามาในวัด จะมาเสพสุขโน้นนี้ แล้วก็เรื่องหนึ่งที่คนรุ่นเรามีกันมากคือเรื่องเจ้าความคิดเจ้าความเห็น ยึดถือความคิดความเห็นตัวเอง สมัยหลวงพ่อเข้าไปเรียนกับครูบาอาจารย์มันเริ่มย่อหย่อนแล้วขณะนั้น แต่มันก็ไม่เหมือนยุคนี้ ยุคที่หลวงพ่อเข้าไปเรียน ครูบาอาจารย์สั่งอะไรก็คือคำนั้นเลย ไม่ต้องเถียงเลย ไม่ต้องถามเลย ท่านให้ทำอะไรก็ทำไป เดี๋ยวก็รู้ว่าจะเป็นอย่างไร

ของเรายุคนี้ ครูบาอาจารย์สั่งไม่ได้ โกรธ สอนไม่ได้ โกรธ บางคนภาวนา อันนี้พวกพระอาคันตุกะมี ไม่รู้ไปถามใครมาว่าได้โสดาบันมาแล้ว แล้วจะมาหาหลวงพ่อทำไมไม่รู้ เป็นโสดาบันแล้ว มาถามหลวงพ่อว่าได้หรือยัง หลวงพ่อก็ถามกลับ แล้วเห็นกิเลสไหม เห็นไหมว่ายังมีตัวมีตนไหม เห็นขันธ์ 5 เป็นตนไหม เห็นตนในขันธ์ 5 ไหม ก็บอกอย่างเดียวเลย ไม่เห็นๆๆ บอกไม่เห็น หรือไม่ดู โกรธเลยๆ ยุคนี้คนมันเจ้าความคิดเจ้าความเห็นมาก แล้วมันตามใจกิเลสมาก ฉะนั้นก็ภาวนาเห็นผลยากหน่อย

ธรรมะนั้นไม่เคยเสื่อม สัจธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่เคยเสื่อมเลย ยืนยัน ที่เสื่อมคือพวกเราเอง มันไม่ตั้งอกตั้งใจภาวนา ไม่ตั้งอกตั้งใจที่จะลดละกิเลสตัวเอง ทั้งพระทั้งโยมบางที โยมก็แล้วไปเถอะ แต่บางทีพระเองก็ไม่ได้คิดจะลดละกิเลส บวชไปอย่างนั้นล่ะ สมัยโบราณเขามีบวชตามประเพณี ยุคนี้ไม่ถือว่าผู้ชายทุกคนต้องบวชแล้ว เปลี่ยน ประเพณีนี้ไม่มี เดี๋ยวนี้บวชเป็นอาชีพๆ อันหนึ่ง ถ้าใจมันวางอย่างนี้ ไม่ได้บวชเพื่อจะพ้นทุกข์ เพื่อลดละกิเลส เป้าหมายมันผิดๆ การกระทำมันก็ผิด การกระทำมันผิด ผลของการกระทำมันก็ต่างกันไป ฉะนั้นธรรมะแท้ๆ ไม่เคยเสื่อม ถ้าเราศึกษาแล้วเราลงมือทำให้จริงจัง

การปฏิบัติ ถือศีลไว้ก่อน 5 ข้อ ตั้งใจให้เด็ดเดี่ยว แค่ศีล 5 ข้อก็ถือยากแล้ว อย่างวันๆ เล่นมือถืออยู่ เดี๋ยวออกความเห็นโน้นออกความเห็นนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้ออกความเห็นด้วยการมีสติปัญญาอย่างแท้จริง บางทีก็ออกความเห็นด้วยฉันทาคติ ชอบคนนี้ มันทำอะไรชุ่ยๆ ก็ชมมันก่อน บางทีก็เป็นโทสาคติ ไม่ชอบคนนี้ มันทำดีวิเศษแค่ไหนก็ด่ามัน แล้วคนหนึ่งด่าก็จะมีคนมาประสานเสียง คล้ายๆ หมาเข้าไปทุกที หมาตัวหนึ่งเห่า ตัวอื่นๆ จะช่วยกันเห่าต่อ มันฟุ้งซ่านไปหมด มันไม่มีเหตุมีผลอะไร

 

ฝึกตัวเอง สละความสุขของโลกเสียบ้าง

ฉะนั้นถ้าเราอยากปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ศาสนายังอยู่ ธรรมะยังไม่ได้เสื่อม ไม่เคยเสื่อมด้วย ถึงไม่มีพระพุทธเจ้าธรรมะก็มีอยู่ ธรรมะไม่เคยเสื่อม ไม่เคยหายไปไหนหรอก เพียงแต่คนซึ่งจะมีดวงตามองเห็นนั้นมันไม่มี ที่มันมองไม่เห็นธรรมะเพราะดวงตามันเต็มไปด้วยขี้ฝุ่น เขาเรียกธุลี เต็มไปด้วยขี้ฝุ่นก็คือราคะ โทสะ โมหะ มันรุนแรง

เพราะฉะนั้นถ้าเรามีโอกาสแล้ว อยากชวนพวกเราสละความสุขของโลกเสียบ้าง อย่างคนโบราณเขาก็มีอุบาย ถึงวันพระเขาจะถือศีล 8 กัน มันเป็นการฝึกตัวเองอย่างหนึ่ง 7 วันตามใจกิเลสไปในฐานะโยมแต่ไม่ให้ผิดศีล วันพระ ถือศีลที่เข้มข้นมากขึ้น เดี๋ยวนี้เขาถือศีล 8 กัน ก็ปฏิบัติธรรม ไม่เที่ยว ไม่ดูลิเก ไม่ดูละครอะไร ยุคนี้ก็ไม่ต้องดูซีรีส์ ถึงวันพระทำยากเราก็เอาเสาร์หรืออาทิตย์สักวันหนึ่งอย่างนี้ อาทิตย์หนึ่งฝึกเข้มเสียวันหนึ่ง คนโบราณเขาก็มีเรื่องวันพระ มันเป็นการฝึกตัวเอง ให้มันเข้มกว่าปกติสักหน่อยหนึ่ง

พอเราฝึกตัวเองได้ครั้งหนึ่ง ต่อไปมันจะง่ายขึ้นๆ อย่างเราไม่เคยอดข้าวเย็นแล้วเราคิดถึงการอดข้าวเย็น ใจมันกลัว ใจมันขยาดๆ โห จะอดไหวไหม จะปวดท้องไหม จะหิวไหม จะนอนหลับไหมอะไรอย่างนี้ แต่พอตัดสินใจเด็ดขาด ที่จะอดข้าวเย็นแล้ว ตัดสินใจเด็ดขาด จะถือศีล 8 อะไรอย่างนี้ มันไม่หิวหรอก มันเป็นเรื่องแปลก มันไม่หิว

หลวงพ่อตอนเป็นโยม ถือศีล 5 เอง ไม่เคยถือศีล 8 หรอก ถือแค่ศีล 5 วันที่มาบวชนึกว่าจะหิว ไม่หิวแล้วก็ไม่เคยหิวเลย เพราะว่าใจมันมีกำลัง พอมันรู้สึกว่าต้องเด็ดเดี่ยว ต้องสู้ ใจมันก็เข้มแข็ง ไม่เคยหิวเลย ไม่เป็นโรคกระเพาะด้วย แต่ถ้าใจเราอ่อน อดข้าวเย็นสักวัน แล้วก็คอยคิดถึงอยากกินโน้น อยากกินนี้ น้ำย่อยก็ออกมากัดกระเพาะเราเอง มันกินกระเพาะเราเข้าไปแล้ว ฉะนั้นเราต้องค่อยๆ พยายามพัฒนาตัวเอง อย่าอ่อนแอ ธรรมะมันเป็นของคนใจแข็ง ของคนเข้มแข็ง ไม่ใช่ของคนอ่อนแอ พยายามฝึกตัวเอง

อย่างบางคนเจ้าชู้ เลิกเสีย เจ้าชู้ มีแฟนโน้นมีแฟนนี้ไปเรื่อยๆ เปลี่ยนเรื่อยๆ ยุคนี้ทั้งผู้หญิงทั้งผู้ชายมันเจ้าชู้หมดเสมอภาคกัน ที่จริงมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ผู้หญิงไทยเรานี้ที่บอกรักนวลสงวนตัว มันเพิ่งมาเกิดขึ้นทีหลังทฤษฎีนี้ แต่เดิมก็อยู่กินกันไป เบื่อคนนี้ก็ไปเลิกกันไป ไปอยู่กับคนอื่นต่อ ไม่มีใครว่า มันเพิ่งไปรับอิทธิพลของฝรั่งมา สมัยวิกตอเรียเน้นเรื่องพรหมจรรย์อะไรอย่างนี้ พอดีมันสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าพอดี ตอนนี้ยกเลิกแล้ว ไม่เอาแล้ว มันก็เลยวุ่นวาย มันก็ไม่สอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่าห้ามผู้หญิงเจ้าชู้ข้างเดียว ผู้ชายก็ต้องไม่เจ้าชู้ เสมอกัน ให้สันโดษในคู่ของตัวเอง เรียกสทารสันโดษ

ทุกวันนี้สิ่งยั่วยุมันเยอะใช่ไหม เปิดอินเทอร์เน็ตดู ดูเฟซบุ๊ก ดูอะไร เดี๋ยวก็ไปจีบคนนั้น เดี๋ยวก็จีบคนนี้ ชีวิตสับสนวุ่นวาย มีลูกออกมาก็ไม่รู้ลูกของใคร เด็กก็ไม่มีความอบอุ่น พ่อแม่วุ่นวายอยู่ข้างนอก แต่เด็กไม่ได้รับความอบอุ่น เด็กก็ออกไปทางก้าวร้าว สังคมมันก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เราไปแก้สังคมใหญ่ไม่ได้ เราแก้ที่บ้านเราให้ได้ ถ้าบ้านเราปฏิบัติธรรมด้วยกันทั้งสามีทั้งภรรยา วิเศษที่สุดเลย ลูกเห็นตัวอย่าง ลูกก็อยากปฏิบัติบ้าง ต่อไปมันก็จะมีคน 2 กลุ่ม พวกหนึ่งยังมีศีลมีธรรมอยู่ พวกหนึ่งก็สุดเหวี่ยงไปเลย ไม่มีศีลไม่มีธรรมไป ถือว่าการมีศีลธรรมเป็นเรื่องเชย ล้าสมัย

เมื่อก่อนหลวงพ่อเคยเจอผู้หญิงคนหนึ่งมีลูก หลวงพ่อบอกว่าต้องสอนเด็กให้ถือศีล เขาบอกเขาจะไม่สอนลูกให้ถือศีล เดี๋ยวไม่ทันโลก ความคิดอย่างนี้มันมี ความวุ่นวายมันถึงได้มากขึ้นๆ แล้วก็ฆ่ากันเล่นๆ เพราะเคยเล่นเกมส์ไล่ยิงกัน ไล่ฆ่ากัน ออกมาในชีวิตจริงก็เล่นเหมือนเล่นเกมส์ ฆ่าให้เยอะที่สุดอะไรอย่างนี้

ฉะนั้นเรามีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรมะแล้วก็รีบลงมือปฏิบัติกัน ศีล 5 รักษาไว้ก่อน ทุกวันทำในรูปแบบ ในรูปแบบอันไหนก็ได้ที่เราถนัด ถนัดพุทโธ เราก็พุทโธๆๆ ของเราไปทั้งวัน ตอนที่เราพุทโธๆ อยู่ จิตเราก็ไม่หนีไปคิดเรื่องอื่น กิเลสมันเกิดตอนหลงคิดเท่านั้น ถ้ามันไม่หลงคิด กิเลสไม่มีช่องให้เกิดหรอก สังเกตดูตอนที่โกรธ เราก็หลงคิดไป คิดเอาว่าคนนี้ไม่ดีแล้วโกรธ คนนี้ทำไม่ถูก เราก็โกรธ หรือเราคิดว่าคนนี้สวย คนนี้ดี หลงคิดอย่างนี้ เราก็ไปชอบเขา ฉะนั้นกิเลสมันเกิดทีเผลอ

บางคนมาภาวนา พุทโธๆๆ ไป แล้วจิตมันเผลอไปคิด รู้ทันมัน ไม่ได้พุทโธแล้วห้ามคิด พุทโธๆ ไปแล้วจิตมันหลงไปคิด รู้ทัน การหลงคิดก็ดับ ความโลภ โกรธ หลงอะไรมันเกิดไม่ได้แล้ว เราก็อยู่กับพุทโธอีก สักพักหนึ่งจิตก็หนีไปคิดอีก เราก็รู้ทันอีก มีสติรู้ทันอีก จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาอีก มันก็จะเกิดสภาวะ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็รู้ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งปัญญามันจะเกิดขึ้น จะเข้าใจจิตนี้มันไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง เราจะเห็นอย่างนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราเคยมีจิตรู้

คนในโลกไม่เคยมีจิตรู้ คนในโลกมีแต่จิตหลง เพราะฉะนั้นมันแยกไม่ออกว่าจิตตรงนี้กับจิตเมื่อกี้ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเราเคยมีจิตรู้ เราจะเห็นตอนนี้รู้ แป๊บเดียวหลง พอหลงเรารู้ทันก็เกิดจิตรู้อีก รู้อีกอยู่ประเดี๋ยวเดียวก็หลงอีก สุดท้ายปัญญามันถึงจะเกิด โอ้ จิตรู้มันก็ไม่เที่ยง จิตหลงมันก็ไม่เที่ยง แต่ถ้าเราไม่เคยมีจิตรู้ มันจะเหมือนจิตหลงเที่ยง ที่จริงคือจิตหลงก็ไม่เที่ยง ไม่เที่ยงเหมือนกัน แต่มันหลงๆ หลงๆๆ ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ มันเลยรู้สึกว่าจิตหลงเที่ยง แต่ถ้าเรามีจิตรู้มาคั่นจิตหลง เราก็จะรู้จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง

 

ฝึกจนได้จิตรู้ เพื่อจะแยกสภาวะให้ขาดออกจากกันให้ได้

ฉะนั้นที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชพวกเราว่าต้องฝึกจนได้จิตรู้เพื่อเราจะแยกสภาวะให้ขาดออกจากกันให้ได้ สันตติคือความสืบเนื่องจะขาดออกจากกัน สิ่งที่เราเห็นความขาดออกจากกันยากมากที่สุดเลยคือจิตนั่นล่ะ เพราะจิตมันเกิดดับต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็วมาก พระพุทธเจ้าท่านบอกว่ามันเร็วมาก ตำราชั้นหลังก็บอกว่าลัดนิ้วมือหนึ่งจิตเกิดดับตั้งแสนโกฏิขณะ ไม่ใช่แสนขณะ แสนโกฏิ โกฏิหนึ่งสิบล้าน ก็คือล้านๆ ขณะ อันนี้พูดแบบสำนวนแขก นับตัวเลขให้มันเยอะไว้ก่อน มันมีการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ คำนวณได้เหมือนกัน ไม่ได้ถึงเป็นล้านขณะหรอก อันนั้นพูดเอาเอง พระพุทธเจ้าก็แค่บอกว่า “จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน” มันรวดเร็วมาก

ถ้าเรามีจิตรู้เราก็จะเห็นเลยจิตรู้ก็เป็นดวงหนึ่ง จิตหลงไปก็เป็นดวงหนึ่ง แล้วถ้าเราเห็นละเอียด เราจะเห็นละเอียดอีก ตรงที่หลงก็มีหลงไปเพ่ง หลงไปเพ่งอารมณ์กับหลงติดอยู่ในโลกของความคิด นี่ลืมอารมณ์ หลงก็มีหลายแบบซอยเข้าไปอีก หลงสารพัดจะหลง หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย หลงไปคิดทางใจ หลงไปเพ่งทางใจ จิตก็มีหลายแบบ เราจะเห็นว่าจิตแต่ละดวงๆ มันเป็นคนละตัวกัน จิตรู้ก็ตัวหนึ่ง เกิดแล้วก็ตายไป จิตหลงก็เป็นอีกตัวหนึ่ง เกิดแล้วก็ตายไป จิตสุขก็เป็นอีกดวงหนึ่ง จิตทุกข์ก็เป็นอีกดวงหนึ่ง จิตดีก็เป็นอีกดวงหนึ่ง จิตโลภ โกรธ หลงก็แยกออกไปเป็นแต่ละดวงๆ

พอเรามีจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาแล้วเราสังเกตจิต เราถึงจะเห็นสันตติของจิตขาด มิฉะนั้นเราจะรู้สึกอยู่ตลอดว่าจิตมีดวงเดียว ปุถุชนจะเห็นว่าจิตมีดวงเดียว ผู้ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่เคยลงมือปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม จะคิดว่าจิตมีดวงเดียวอยู่ในนี้ ดวงนี้เดี๋ยวนี้กับจิตเมื่อวานซืนก็ดวงเดียวกัน จิตวันนี้กับจิตเมื่อชาติก่อนก็ดวงเดียวกัน จิตวันนี้กับจิตชาติหน้าก็ดวงเดียวกัน มันไม่สามารถเห็นสันตติคือความสืบเนื่องของจิตขาด ที่จริงมันเป็นดวงหนึ่งๆ ดวงหนึ่งๆ เกิดดับๆ อย่างนี้ เราจะเห็นสันตติของจิตขาดได้ เราต้องได้จิตรู้ก่อน ต้องมีจิตรู้ขึ้นมา จิตรู้จะเป็นตัวตัดจิตหลงให้ขาดออกเป็นท่อนๆ ส่วนจิตหลงสารพัดจะหลงเลย หลงเยอะแยะ มีมากมายนับไม่ถ้วน

ค่อยๆ ฝึก ที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชพวกเราว่าต้องฝึกจนได้จิตรู้ขึ้นมาเพื่อสันตติจะได้ขาด สันตติขาดนั่นล่ะเราขึ้นวิปัสสนาได้ ถ้าสันตติไม่ขาดทำวิปัสสนาไม่ได้ ในอภิธรรมเขาก็สอนทำนองนี้เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีจิตรู้ เราก็จะมีแต่จิตหลง เดี๋ยวนี้หลง ต่อไปก็หลง ในเมื่อก่อนนี้ก็หลง หลงๆ หลงๆ แล้วมันก็คิดว่าจิตมีดวงเดียว แต่ถ้าเรามีจิตรู้ มันก็จะเห็นจิตหลงเกิดขึ้น แล้วจิตรู้มาแทรก จิตหลงเกิดขึ้น จิตรู้มาแทรก จิตหลงเกิดอีก จิตรู้มาแทรก ก็ขาดเป็นช่วงๆ

จิตหลงทำมืออย่างนี้ (วางแขนเป็นแนวนอน) ทำไมต้องทำมือท่านี้ เพราะมันยาว จิตรู้เอาแค่นี้เอง (ตั้งแขนขึ้น) เพราะมันสั้นนิดเดียว เดี๋ยวรู้ปุ๊บ เดี๋ยวหลงต่อแล้ว หลงอีกยาว แล้วต่อไปมันจะหลงรู้ๆๆ ละเอียด หลงสั้นลงๆๆ รู้ก็ชั่วขณะหนึ่งเหมือนกัน แต่หลง แทนที่จะยาวต่อเนื่อง มีสันตติของความหลงยาวนาน สันตติขาด ก็จะเห็น หลงเป็นขณะๆๆ มันไม่เร็วเหมือนที่เขาเรียนท่องกันอย่างนั้นหรอก จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์

มันมีงานวิจัยที่ฝรั่งทดลอง เขายิงภาพให้มอง มองเป็นตัวเลข ตัวเลขเกิดดับๆ ถี่ยิบเลย แล้วก็วัดความไว ตรงที่อ่านได้ว่านี่เบอร์ 3 แล้วมันผ่านไปอีก 20 ตัวอ่านได้อีกตัวหนึ่ง นี่เบอร์ 1 เขาวัดช่วงที่จิตจับอารมณ์ได้ชัดเจน 1 ครั้งๆ เขาวัดกันละเอียด ตรงที่จับอารมณ์ได้ 1 ครั้งมีจิตเกิดดับ 17 ขณะ ฉะนั้นไม่ถึงหรอกแสนโกฏิขณะ อันนั้นมันตำรารุ่นหลังๆ พระพุทธเจ้าแค่บอกว่ามันเร็วเท่านั้น ลัดนิ้วมือหนึ่งแค่นี้ (ดีดนิ้ว) ดีดนิ้วทีหนึ่งเรียกว่าลัดนิ้วมือหนึ่ง นี่ภาษาโบราณ มายุคนี้ไม่รู้แล้วลัดนิ้วมือ ลัดๆ อย่างไร ลัดอย่างไร ทำไม่ถูก แท้จริงมันคือดีดนิ้วครั้งหนึ่ง เรียกลัดนิ้วมือหนึ่ง บอกจิตเกิดดับแสนโกฏิขณะ อันนี้พูดไปอย่างนั้นล่ะ แต่วิทยาศาสตร์มันเริ่มตามมาทันจุดนี้แล้ว มันพบว่าไม่ใช่ จำไม่ได้ว่าวินาทีหนึ่งเท่าไร หลวงพ่อจำไม่ได้

 

สร้างตัวรู้ด้วยการรู้ทันจิต

ฉะนั้นเราต้องฝึกให้ได้จิตรู้ขึ้นมา แล้วสันตติคือความสืบต่อของจิตจะขาด จิตจะไม่ได้มีดวงเดียวยาวๆ แล้ว แต่จะขาดเป็นช่วงๆๆ แล้วตรงนี้เราจะเห็นแต่ละช่วงไม่เที่ยง จิตรู้ไม่เที่ยง จิตหลงไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง ตรงที่จิตหลง จิตหลงไปดูก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปฟังก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกายก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปคิดก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปเพ่งก็ไม่เที่ยง จิตมีความสุขก็ไม่เที่ยง จิตมีความทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตเฉยๆ ก็ไม่เที่ยง เราจะเห็นทุกดวงมันไม่เที่ยงๆๆ ไป ตรงนั้นล่ะที่เรียกว่าเราเห็นเกิดดับ ถ้าสันตติไม่ขาดไม่เห็นเกิดดับหรอก สันตติจะขาดได้ จิตต้องตั้งมั่น ต้องได้ผู้รู้ขึ้นมาก่อนสันตติถึงจะขาด

อย่างคนที่เรียนตำราเยอะๆ ไม่ได้เคล็ดลับตรงนี้ ไม่รู้จักจิตผู้รู้คือจิตที่ทรงสัมมาสมาธิ ไม่รู้จัก มันก็ไม่สามารถทำสันตติให้ขาดได้ แต่ถ้าฝึกจิตเรื่อยๆ วิธีฝึกก็ง่ายๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตหลงแล้วรู้ๆ ไป แล้วต่อไปจิตรู้มันจะเด่นดวงขึ้นมา เด่นดวงขึ้นมาหมายถึงมันชัดเจน ไม่ได้แปลว่ามันอายุยืน มันก็เกิดดับทีละขณะๆ แต่มันเกิดบ่อย จะเห็น รู้ๆ รู้ๆๆ หลง รู้ๆ รู้ๆ หลง

ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นจิตทุกอย่าง จิตทั้งจิตสุข ทั้งจิตทุกข์ ทั้งจิตดี ทั้งจิตชั่ว ทั้งจิตที่ไม่ดีไม่ชั่ว จิตแบบไหนไม่ดีไม่ชั่วบ้าง จิตที่เห็นรูปไม่มีดีไม่มีชั่ว อย่างขณะที่ตาเห็น ไม่มีกุศล อกุศล กุศล อกุศลมาเกิดตามหลังการเห็นแล้วมันมาคิดต่อ มันถึงจะเกิดกุศล อกุศล เพราะฉะนั้นตรงที่จิตที่ไปเห็นรูป เขาเลยเรียกว่าเป็นวิบากจิต ไม่มีดีไม่มีชั่ว จิตที่ได้ยินเสียง จิตที่ได้กลิ่น จิตที่ลิ้มรส จิตที่รู้สัมผัสทางร่างกายอะไรนี่ไม่มีดี ไม่มีชั่วหรอก จิตที่มีดีมีชั่ว คือจิตที่ทำงานทางใจ แอบมาคิดนั่นล่ะถึงมีดีมีชั่วขึ้นมา

ค่อยฝึก เอาอันแรกเลยต้องได้ตัวรู้ขึ้นมาก่อน จะได้ตัวรู้ก็คือต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัดแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง ที่หลวงพ่อเคยพูดทุกวันเรื่องนี้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง จะหายใจเข้าพุท หายใจออกโธก็ได้ หายใจอย่างเดียวก็ได้ พุทโธอย่างเดียวก็ได้ จะดูท้องพองยุบก็ได้ จะขยับมือทำจังหวะก็ได้ จะดูเท้า ยกเท้า ย่างเท้าอะไร ร่างกายเดิน ร่างกายยืน ร่างกายนั่ง นอนอะไรได้หมด เหมือนกันหมด

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แต่เคล็ดลับของการทำกรรมฐานก็คือ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิต เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ทำไปเรื่อยๆ มันจะมุ่งไปสู่สมถะ สมมติไปดูท้องพองยุบ ดูไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ จิตแนบลงไปอยู่ที่ท้อง การที่จิตลงไปแนบ ไปนิ่ง ไปสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว อันนั้นคือการทำสมถะ ไม่ได้ทำให้เกิดปัญญาอะไรหรอก หรือเราหายใจเข้า หายใจออก หรือท่องพุทโธๆ ไป จิตสงบอยู่กับลมหายใจ จิตสงบอยู่กับการบริกรรมพุทโธอย่างนี้ อันนั้นคือสมถะ

เพราะฉะนั้นไม่ว่ากรรมฐานอะไรมันเสมอกันหมด มันไม่มีดี ไม่มีเลวกว่ากัน จะท่องนะ มะ พะ ทะ จะท่องนะโม พุทธายะ จะท่องสัมมา อรหัง มันก็เหมือนกันหมด แต่ถ้าเมื่อไรเราทำกรรมฐาน แล้วเราคอยรู้ทันจิตตัวเอง เราจะได้จิตผู้รู้ขึ้นมา เช่น เราหายใจอยู่แล้วจิตหลงไปคิด เรารู้ว่าจิตหลงไปคิด จิตหลงคิดดับจะเกิดจิตรู้ขึ้นมาแทน

ฝึกเรื่อยๆ เรื่อยๆ ต่อไปชำนิชำนาญ จิตรู้เกิดถี่ๆ ขึ้นมา เราก็จะเริ่มเข้าใจจิตรู้แล้ว แล้วต่อไปเราก็จะเห็นจิตรู้กับจิตหลงมันคนละดวงกัน จิตสุขกับจิตทุกข์ก็คนละดวง จิตโลภกับจิตไม่โลภก็คนละดวง จิตโกรธกับจิตไม่โกรธก็คนละดวง จิตหลงกับจิตไม่หลงก็คนละดวง จิตฟุ้งซ่านกับจิตหดหู่ก็คนละดวงกัน จะหัดดูจิตก็ต้องทำอย่างนี้ บางคนก็นึกว่าดูจิตก็ดูๆๆ เอาอะไรไปดู ไม่มี ไม่มีเครื่องมือสำคัญคือไม่มีสมาธิ ไม่มีสติที่ถูกต้อง ถ้ามีสติ มีสมาธิที่ถูกต้อง เราจะเกิดตัวรู้ขึ้นมา

หลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ใช้เวลาไม่นานก็เข้าใจแล้วๆ เห็นทุกอย่างมันเกิดแล้วมันก็ดับไป ทำไมเข้าใจเร็ว เพราะหลวงพ่อได้ตัวรู้มาตั้งแต่เด็กแล้ว ได้ตั้งแต่ 10 ขวบแล้ว เริ่มต้นก็ไม่ได้มีตัวรู้หรอก แต่ก็หายใจไปเรื่อยๆ หายใจๆ ทำอานาปนสติไปเรื่อย จิตรวมลงไป จิตวางแสงสว่าง ทวนกระแสเข้ามา มีผู้รู้เกิดขึ้น นั่นเป็นอีกวิธีหนึ่ง แล้วก็ยังไม่รู้ ยังไม่รู้จักมัน ไม่เข้าใจมัน มันเกิดขึ้นเป็นระยะๆ

วันหนึ่งตอน 10 ขวบ ไฟไหม้ข้างบ้าน เห็นไฟไหม้ ตกใจ ก็วิ่งจะไปบอกพ่อ วิ่งก้าวที่หนึ่ง ตกใจ ก้าวที่สอง ตกใจ ก้าวที่สาม เห็นว่ากำลังตกใจ ความตกใจก็ขาดสะบั้นไป ผู้รู้ก็เด่นขึ้นมา คราวนี้ผู้รู้ทรงอยู่พักใหญ่เลย ก็เห็นคนอื่นเขาตกใจกัน เราไม่ตกใจ เราเป็นแค่คนเห็น แล้วตั้งแต่นั้นรู้สึกว่าโลกมันแปลกๆ โลกมันห่างๆ ออกไป แต่เราเป็นเด็ก เราไม่รู้จักอะไร เราก็คิดว่าทุกคนก็เป็นเหมือนเรา จนมาภาวนาเข้าใจขึ้นมาแล้วถึงรู้ ในโลกไม่มีคนรู้ตัว ในโลกมันมีแต่คนหลง คนรู้ตัวมีน้อยจริงๆ

 

รู้ทันจิตที่หลง

มาดูพวกเราส่วนใหญ่ จะสร้างตัวรู้ด้วยการทำสมาธิเห็นจะยาก ก็นึกถึงที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอน ท่านสอนให้เราคอยรู้ทันจิตตัวเอง พอรู้ทันจิตมันก็จะได้ตัวรู้ขึ้นมาเหมือนกันถ้ารู้ถูกวิธี ถ้าจะไปดูจิตแล้วก็ไปนั่งจ้องจิตไว้อย่างนี้จะไม่มีตัวรู้ จิตจะจมลงไปในตัวที่เราจ้องแล้วเรานึกว่ามันเป็นจิต ไม่เกิดตัวรู้หรอก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัดแล้วคอยรู้ทันจิตใจตนเอง จิตหลงไปคิดแล้วรู้ๆ จิตหลงไปเพ่งแล้วรู้

หลงมี 2 กลุ่มใหญ่ หลงไปคิดกับหลงไปเพ่ง หลงไปเพ่งก็ไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานต่างๆ ตั้งแต่อารมณ์บัญญัติ เช่น เพ่งคำว่าพุทโธ เพ่งรูป เพ่งลมหายใจ เพ่งนาม เช่น เพ่งความว่าง เพ่งก็เพ่งหลายแบบ หลงก็มีหลายแบบ มีหลงไปทางทวารทั้ง 6 หลงไปทางตา หลงไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี่หลงไปแบบเดี่ยว หลงทางใจ อันนี้วิจิตรพิสดาร หลงได้เยอะแยะหลายแบบ หลงทางใจ เช่น หลงไปในความสุข หลงไปในความทุกข์ หลงไปในความไม่สุขไม่ทุกข์ หลงไปกับปีติที่เกิดขึ้น หลงกับความสุขที่เกิดขึ้น หลงกับความสงบที่เกิดขึ้น นี่ก็หลงทั้งนั้น หลงกับความว่าง หลงกับการเพ่งเข้าไปที่ตัวผู้รู้ หลงกับการเพ่งความไม่มีอะไรเลย ไม่มีทั้งความว่าง ไม่มีทั้งตัวรู้ นี่ก็หลง ฉะนั้นหลงนี่มีเยอะแยะเลย

ส่วนหลงคิดก็มีมากมาย หลงคิดไปอดีต หลงคิดไปอนาคต มีไหมหลงคิดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็หลงคิดอดีต หลงคิดอนาคต ส่วนปัจจุบันก็ขาดสติแล้วก็หลงนั่นล่ะ ร่างกายมีอยู่ไม่รู้ว่าร่างกายมีอยู่ ก็เรียกว่าหลง ความสุขทุกข์มีอยู่ไม่รู้ว่ามีอยู่ ก็เรียกว่าหลง กุศลอกุศลมีอยู่ไม่รู้ว่ามีอยู่ ก็เรียกว่าหลง ถ้าละเอียดขึ้นไปจะเห็นจิตมันทำงานสืบเนื่องกันตลอดเวลา พอไม่เห็นตรงนี้เขาเรียกหลงเหมือนกัน อันนั้นละเอียดมากๆ เลย

เวลาฝึก ฝึกทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตที่มันหลง หลงไปคิดหรือหลงไปเพ่งอะไรก็ได้ รู้ว่ามันหลงไป รู้ว่ามันเคลื่อนไป อย่าไปบังคับว่าไม่ให้เคลื่อน ถ้าบังคับแล้วจะแน่น มันเคลื่อนแล้วรู้ๆ ไป แล้วต่อไปไม่นาน เราจะได้จิตรู้ขึ้นมา เมื่อได้จิตรู้แล้วเราก็เดินปัญญา ถ้าจะเดินปัญญาด้วยการดูกาย เราก็เห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน ร่างกายมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แสดงความไม่เที่ยง ร่างกายมันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ร่างกายมันเป็นแค่วัตถุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกอยู่ตลอดเวลา เช่น หายใจเข้า หายใจออก กินอาหารแล้วก็ขับถ่าย ดื่มน้ำแล้วปัสสาวะ หรือเป็นเหงื่อซึมออกมาอะไรอย่างนี้ นี่ธาตุมันไหล ร่างกายเป็นแค่วัตถุธาตุ ไม่ใช่คน สัตว์ เรา เขา นี่เรียกว่าเห็นอนัตตา

หรือถ้าเราดูจิตดูใจ ก็อย่างที่หลวงพ่อเล่าเมื่อกี้ เราเห็นว่าจิตดวงหนึ่งกับจิตอีกดวงหนึ่งมันคนละดวงกัน อันนี้เห็นละเอียด ถ้าหยาบๆ ขึ้นมา เราก็จะเห็นว่าจิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตดีเกิดแล้วก็ดับ จิตชั่ว ชั่วก็มีเยอะ จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลงอะไรอย่างนี้เกิดแล้วดับทั้งหมดเลย จิตอิจฉา จิตอิจฉาพยาบาท อะไรต่ออะไรสารพัดจะเกิด เราก็คอยรู้ไป จิตอิจฉาก็อยู่ชั่วคราว เดี๋ยวก็ดับ ไม่มีใครอิจฉาได้ตลอดเวลา หรือจิตเศร้า บางคนอกหัก โอ๊ย โลกมืดมนไปหมด เศร้ามาก คิดว่าความเศร้าจะเที่ยงหรือ สุดท้ายมันก็ไม่เที่ยง ถึงเราไม่ไปทำอะไรมัน ทุกข์ที่มีอยู่มันก็ไม่เที่ยง ถึงอย่างไรมันก็ต้องผ่านไป แต่ถ้าเรารอให้ความทุกข์ผ่านไปตามธรรมชาติ เราจะไม่ได้ปัญญาขึ้นมา

สมมติเราอกหัก เราก็ทุกข์ๆ เราทำอะไรไม่ได้ ไปไหว้พระสวดมนต์ ไปรดน้ำมนต์ ไปโน่นไปนี่อะไรเรื่อยๆ ที่จริงไม่ต้องทำเลย อยู่ไปเรื่อยๆ มันก็หายเองล่ะ ปีสองปีก็หายถ้าอกหักครั้งแรก ถ้าอกหักครั้งที่ยี่สิบ ชั่วโมงเดียวก็หายแล้ว นี่หายไป เห็นความทุกข์เกิดดับ อันนี้ไม่เรียกว่าเห็นเกิดดับหรอก ไม่ได้ปัญญา จะได้ปัญญาจิตต้องตั้งมั่น เห็นเลยความทุกข์มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วมันก็ดับ เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับ เดี๋ยวก็ทุกข์มาก เดี๋ยวก็ทุกข์น้อย เดี๋ยวก็หายไป เดี๋ยวก็กลับมาทุกข์อีก ต่อไปก็จะเห็นเลย มันทุกข์ขึ้นมาตอนไหน ตอนคิดนั่นล่ะ ถ้าไม่คิดไม่ทุกข์หรอกทางใจ

จะห้ามใจไม่ให้คิด ห้ามไม่ได้อีก ใจมันจะคิด ห้ามมันไม่ได้อีก เพราะมันเป็นอนัตตา สั่งมันไม่ได้ แต่เราเรียนรู้มันไป เห็นจิต จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตสุขเกิดแล้ว ดูไปเรื่อยๆ ต่อไปความรู้รวบยอดจะเกิดขึ้น มันจะรู้ว่าจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น จิตทุกชนิดไม่ใช่ตัวเรา พอจิตไม่ใช่เราแล้ว ขันธ์ 5 มันก็ไม่เป็นเรา ขันธ์ 5 มันปรากฏขึ้นมาเพราะว่าจิตมันไปรู้เข้า โลกทั้งโลกก็ไม่มีความหมายอะไร ไม่มีตัวเรา มันเป็นโลกของเรา เพราะจิตมันไปสำคัญมั่นหมาย ประเทศของเรา บ้านของเรา รถยนต์ของเรา ลูกของเรา เมียของเรา มันเกิดจากจิตเข้าไปสำคัญมั่นหมายทั้งหมด

ฉะนั้นเราค่อยๆ ฝึก ฝึกไป ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ วิธีทำในรูปแบบก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ ต่อไปสันตติจะขาด จิตผู้รู้จะเกิดขึ้น สันตติก็จะขาด แล้วถัดจากนั้นเราจะทำวิปัสสนาได้จริงๆ คือเราจะเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วดับๆ ไม่ต้องมานั่งคิดว่าเกิดแล้วดับจริงหรือเปล่า แล้วก็ไม่ต้องไปรอว่าอะไรจะเกิดอะไรจะดับ

 

 

ยากไหม ถ้าไม่เคยได้ยินไม่เคยได้ฟัง ยากโคตรๆ เลย ยากมากที่เราจะแสวงหาทางนี้ด้วยตัวเราเอง แต่อาศัยพระพุทธเจ้าสอนไว้ อาศัยครูบาอาจารย์ปฏิบัตินำร่องมา ที่บางคนภาวนาได้เร็ว เพราะจิตมีสมาธิที่ถูกต้องมากพอ จิตจะเป็นผู้รู้ ไม่ใช่สมาธิชนิดสงบซื่อบื้ออยู่ ไม่ใช่สมาธิชนิดเห็นนิมิตโน้นนิมิตนี้ฟุ้งซ่าน ยังใช้ไม่ได้ ฝึกจนจิตเป็นผู้รู้แล้วดูสภาวะไป สันตติมันจะขาด สันตติขาดแล้ว นั่นล่ะทำวิปัสสนาอยู่

ทำไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งจิตมันก็สรุปรวบยอด ความรู้รวบยอดเกิดในขณะของอริยมรรค เกิดเอง ไม่มีใครสั่งให้มรรคผลเกิดได้หรอก มันเกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญานั้นสมบูรณ์แล้ว ปัญญาที่สมบูรณ์คือปัญญาที่มันเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปนั่นล่ะ สภาวะที่เห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะคือสภาวะที่มีปัญญา เราจะเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดดับได้ จิตต้องตั้งมั่น ทรงสัมมาสมาธิ ที่หลวงพ่อเรียกว่าเป็นจิตผู้รู้นั่นล่ะ คือจิตที่ทรงสมาธิอยู่ จิตเราจะทรงสมาธิได้เข้มแข็ง ถ้าศีลของเราดี แต่ถ้าศีลเราด่างพร้อย สมาธิจะอ่อนยวบยาบเลย สมาธิไม่มีกำลังล่ะก็จิตก็ไม่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้หรอก มันเดินปัญญาไม่ได้จริงหรอก

วันนี้เทศน์ให้ฟังฉลองฤดูหนาว เทศน์เสียละเอียดเลย ละเอียดไหม ละเอียดสิ เพราะเรื่องจิตดวงหนึ่งเล็กนิดเดียว ละเอียดมากเลย

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 ตุลาคม 2565