การปฏิบัติต้องลงมือทำ

การภาวนามันไม่ใช่เรื่องยุ่งยากซับซ้อนอะไรหรอก มันเป็นสิ่งซึ่งมีเหตุมีผลตลอดสาย เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าสมบูรณ์ด้วยเหตุผล ไม่มีคำว่า ฟลุก ไม่มีคำว่า บังเอิญ มีแต่เรื่องเหตุกับผลทั้งสิ้นเลย ถ้าเรารู้จักทำเหตุให้ดี ผลมันก็ดี ถ้าเราทำเหตุชั่ว ผลมันก็ชั่ว ก็เท่านั้นล่ะ อยากทุกข์ยากลำบาก เราก็ทำเหตุชั่วไป ทำชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วไป

ตัวที่ผลักดันก็คือกิเลส โลภ โกรธ หลง หัวหน้ากิเลสนั้นคือตัวหลง เราอยากดี เราก็พัฒนาจิตใจตัวเองให้มีศีลมีธรรมไป ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ผลมันก็จะดีขึ้นๆ จิตใจมันเป็นเรื่องเหตุผลทั้งสิ้นเลย เป็นเรื่องการกระทำทั้งสิ้นเลย พระพุทธเจ้าถึงเป็นกรรมวาทีสอนเรื่องกรรม ไม่มีใครลิขิตทั้งสิ้น ลิขิตตัวเอง

 

ภาวนามยปัญญา คือการเจริญสติปัฏฐาน

ถ้าเราอยากพ้นทุกข์ เบื้องต้นเราก็มาเรียนรู้วิธี พระพุทธเจ้าสอนอะไรไว้ พระอรหันตสาวกท่านสอนอะไรไว้มีอยู่ในพระไตรปิฎก เราก็ต้องศึกษา ตรงนี้เป็นการสะสมปัญญาเบื้องต้น ชื่อสุตมยปัญญา สุตะจริงๆ แปลว่าฟัง ยุคเราก็มีทั้งการฟังทั้งการอ่าน ตำรับตำรามันเป็นตัวหนังสือมี ก็อยู่ในกลุ่มสุตมยปัญญา เพราะลำพังพวกเราเอง ไม่ใช่ภูมิจิตภูมิธรรมที่จะเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่สามารถรู้ได้ด้วยตัวเอง เราก็ต้องฟังคำสอนของท่าน คำสอนของท่านก็มีเรื่องเหตุกับผลทั้งนั้น เรื่องกรรมเรื่องผลของกรรม เหตุฝ่ายชั่วอะไร ย่อๆ ลงมาก็เป็นตัณหา ผลก็เป็นทุกข์ เหตุฝ่ายดีคือการเจริญมรรคมีองค์ 8 ผลก็เป็นความพ้นทุกข์ หลักๆ เบื้องต้นมีเท่านี้

การปฏิบัติการลงมือทำ เบื้องต้นก็ฟัง ฟังแล้วก็อ่านให้รู้เรื่องให้เข้าใจ หลวงพ่อช่วยเราได้แค่ให้สุตมยปัญญากับพวกเรา ปัญญาจากการฟังหรืออ่าน เป็นปัญญาเบื้องต้นเท่านั้นเอง ไม่มีใครเข้าใจธรรมะได้ด้วยการฟัง ด้วยการอ่านหรอก ปัญญาอีกตัวหนึ่งคือปัญญาจากการคิดพิจารณาไตร่ตรอง ความคิด คิดเรียกจินตามยปัญญา เป็นปัญญาจากการคิด ยังเชื่อถือไม่ได้เพราะจิตใจของเรามันมีกิเลสซ่อนอยู่ เวลาคิดมันก็คิดไปตามอำนาจกิเลส คิดเข้าข้างตัวเอง ฉะนั้นมันเชื่อถือไม่ได้หรอก สิ่งที่เราคิด

ฉะนั้นเรื่องที่เราฟัง อันนั้นเรียนจากภาคปริยัติ เราฟัง เราอ่านมา มันไม่ใช่ปัญญาของเราจริง เป็นปัญญาของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันตสาวกรุ่นเก่าๆ จินตามยปัญญาเป็นปัญญาจากการที่เราเอาคำสอนของท่านมาคิดพิจารณาไตร่ตรองดู ให้เราพิจารณาจนกระทั่งรู้วิธีที่จะลงมือปฏิบัติ พอรู้วิธีลงมือปฏิบัติเราก็ถึงจะสร้างปัญญาตัวแท้ขึ้นมาได้ ที่ล้างกิเลสได้จริง คือภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติเจริญปัญญาถึงจะละกิเลสได้ ปัญญาอื่นๆ กิเลสไม่กระเทือนหรอก

อย่างคนเรียนมากๆ ท่องจำได้มาก รู้เยอะ มานะอัตตายิ่งรุนแรง เซลฟ์จัด ใครพูดอะไรกระทบหูนิดหนึ่ง โหย กระโดดโลดเต้นคับแค้น โมโหโทโสไปเลย หรือพวกคิดมาก ปัญญาคิดมากก็เชื่ออะไรไม่ได้ มโนเอา แล้วแต่จะจินตนาการเอา เช่น นิพพานเป็นอย่างนั้น นิพพานเป็นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่นิพพานไม่มีไม่เป็นหรอก ไม่ได้มีอะไร ไม่ได้เป็นอะไรหรอก เป็นสภาวะที่สงบสันติเท่านั้นล่ะ แล้วก็วาดภาพจินตนาการเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ไป ก็แล้วแต่จิตใจมันจะปรุงไป

ตัวที่จะทำให้เราเข้าใจธรรมะได้แท้จริงคือการลงมือภาวนา หรือลงมือปฏิบัติเจริญสติเจริญปัญญา ถ้าเราภาวนา เบื้องต้นก็ฝึกให้ได้สติ เบื้องปลายก็ฝึกให้ได้ปัญญา กระบวนการในการฝึกฝน อยู่ในหลักธรรมคำสอนเรื่องสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน 4 เป็นเรื่องใหญ่ พวกเราชาวพุทธต้องรู้จัก มันเป็นธรรมะที่อัศจรรย์มากจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านรวบรวมหลักของการปฏิบัติที่สำคัญๆ ลงมาอยู่ในสูตรอันนี้ล่ะที่เราจะปฏิบัติกัน

ปฏิบัติแล้วก็เรียนรู้ลงที่กาย ลงที่เวทนา ลงที่จิต เรียนรู้ลงที่สภาวธรรม ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งกุศลธรรม ทั้งอกุศลธรรม จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำไมต้องเรียนอย่างนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ล่ะ เวลามันมารวมตัวกันเราจะรู้สึกว่าตัวเราเกิดขึ้น กายกับใจมาประชุมอยู่ด้วยกัน เราจะรู้สึกนี่ตัวเราๆ ประชุมกันขึ้นมาก็มีตัวมีตน พอมีตัวมีตน มันก็มีที่รองรับความทุกข์ ถ้าไม่มีตัวมีตน ความทุกข์มันจะไปลอยอยู่ในอวกาศที่ไหน มันก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา

ฉะนั้นในสติปัฏฐานท่านประมวลวิธีการปฏิบัติเอาไว้ได้อย่างงดงามมาก ถ้าไม่ใช่พระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เหลือวิสัยที่จะประมวลได้อย่างนั้น เพราะว่าครอบคลุมธรรมะอันมากมายมหาศาลเอาไว้ ในสติปัฏฐานเบื้องต้นถ้าเราเจริญสติปัฏฐาน เบื้องต้นเราจะได้สติ เบื้องปลายเราจะได้ปัญญา เพราะฉะนั้นภาวนามยปัญญามันคือการเจริญสติปัฏฐานนั่นล่ะ ทำสติปัฏฐานเบื้องต้นจะได้สติ เบื้องปลายจะได้ปัญญา

 

สติปัฏฐานเบื้องต้นจะได้สติ

วิธีฝึกทำอย่างไร ท่านสอนให้เรามารู้กาย รู้เวทนาคือความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ รู้สึกถึงจิตตสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วทั้งหลาย แล้วก็รู้จักธัมมานุปัสสนา อันนี้เข้าใจยากนิดหนึ่ง มันกว้างขวางที่สุดครอบคลุมธรรมะตั้งแต่อกุศล ครอบคลุมธรรมะที่เป็นกุศล ครอบคลุมถึงขันธ์ ธาตุอายตนะ ครอบคลุมถึงกระบวนการที่จิตปรุงแต่งความทุกข์ขึ้นมาแล้วก็ครอบคลุมถึงกระบวนการที่จิตดับความทุกข์ลงไป มันกว้างขวาง

เบื้องต้นเรายังไม่ต้องเรียนถึงขนาดนั้น พวกเราเรียนสติปัฏฐานที่ง่ายกว่านั้น เรียนเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต พวกนี้ง่ายๆ ไม่มีอะไรยุ่งยากหรอก เรียนอันใดอันหนึ่งๆ ก็พอแล้วล่ะ อย่างเราเรียนเรื่องกาย เบื้องต้นเราก็จะได้สติ เบื้องปลายเราก็จะได้ปัญญา เราเรียนเรื่องเวทนา สติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เบื้องต้นเราก็ได้สติ เบื้องปลายเราก็ได้ปัญญาเหมือนกัน เรียนเรื่องจิตตานุปัสสนา เบื้องต้นก็ได้สติ เบื้องปลายก็ได้ปัญญา ธัมมานุปัสสนาก็แบบเดียวกัน เบื้องต้นก็มีสติ เบื้องปลายก็มีปัญญา แต่ว่าไม่ว่าเราจะเริ่มต้นอย่างไร สุดท้ายทุกคนมันจะไปลงที่ธัมมานุปัสสนาเหมือนกันหมดล่ะ คือการรู้แจ้งในอริยสัจ อริยสัจจะอยู่ในธัมมานุปัสสนา บรรพสุดท้าย บทเรียนสุดท้ายเลย

ทีนี้คนทั่วไปอินทรีย์ไม่แก่กล้าพอ ท่านก็สอนลดระดับลงมาเรียนเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิตไปก่อน แล้วพอถึงธัมมานุปัสสนา ไม่ใช่เรียนเรื่องกิเลสตรงๆ แล้ว เรียนสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังกิเลสอีกทีหนึ่งคือพวกนิวรณ์ เป็นกิเลสอย่างละเอียดที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใจของเรา พวกนี้มันเกิดเพราะอะไร มันดับเพราะอะไร มันไม่เกิดเพราะอะไร จะเรียนลงไปอย่างนี้ กุศลในธัมมานุปัสสนา เรียนเรื่องโพชฌงค์ 7 มีสติแต่ไม่ใช่สติธรรมดา ถ้าสติธรรมดายังไม่ใช่สติสัมโพชฌงค์

สติสัมโพชฌงค์ต่างกับสติธรรมดาตรงที่ว่ามันเป็นการเจริญสติเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ก็เป็นการทำวิปัสสนาเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น มีวิริยะก็ไม่ใช่ขยันหมั่นเพียรอะไรแต่มีเป้าหมายเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ในตัวโพชฌงค์ 7 ไม่ใช่ความดีเฉยๆ แต่เป็นความดีที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าทำไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น มันลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง มันเข้าใจยาก

ถัดจากนั้นก็เรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะแล้วก็เรื่องปฏิจจสมุปบาท หรืออริยสัจเป็นเรื่องสุดท้าย แต่ไม่ว่าเริ่มต้นอย่างไร สุดท้ายทุกคนจะต้องมาลงที่อริยสัจ ตราบใดที่ไม่แจ่มแจ้ง อริยสัจเราก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่เลิก แต่อยู่ๆ จะมาเรียนรู้อริยสัจบางคนมันทำไม่ไหว พระพุทธเจ้าท่านก็มีพระปัญญามาก ท่านเป็นภควโต ท่านรู้จักจำแนกแจกธรรม จำแนกธรรมะออกมามากมายให้เหมาะกับจริตนิสัย บุญวาสนาบารมีของสัตว์โลกทั้งหลายซึ่งมันไม่เท่าเทียมกัน ท่านแบ่งวิธีปฏิบัติออกมาเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม ธรรมนี่พวกที่ปัญญาเขาแก่กล้าแล้ว

การเจริญสติปัฏฐานทำอย่างไร อันแรกเลยเราต้องมีวิหารธรรม วิหารธรรมคือเครื่องอยู่ของจิต เครื่องระลึกของสติ หลวงพ่อพุธท่านชอบพูดเรื่อยๆ “การจะปฏิบัติธรรมต้องมีเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ” อันนั้นก็คือตัววิหารธรรมนั่นเอง วิหารคือที่อยู่ วิหาร อย่างวิหารเป็นที่ตั้งพระพุทธรูป เป็นที่อยู่ของพระพุทธรูปอะไรอย่างนี้ วิหารธรรมก็คือธรรมะที่จะเป็นเครื่องอยู่ของจิต

อย่างเริ่มต้นง่ายๆ เลย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านบอกให้ใช้กายในกายเป็นวิหารธรรม คำว่ากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ทำไมต้องมีในๆๆ อย่างนี้ด้วย เราเรียนเรื่องกาย เราไม่ได้เรียนทั้งหมดของกาย เราเรียนบางส่วนของกายเท่านั้น พระพุทธเจ้าสอนเราไม่ได้ผิดกับงานวิจัยสักอย่างเดียวเลย ท่านถึงใช้คำว่า ธรรมวิจัย คนรุ่นหลังเอาคำว่า วิจัยมาใช้ ธรรมวิจัย

อย่างเราเรียนเรื่องกาย เราไม่ต้องเรียนกายทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ได้ต้องเรียนกายวิภาคแบบพวกหมอ กระดูกมีเท่านั้น หลอดเลือดมีเท่านี้ เซลล์โน้นเซลล์นี้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องเรียนขนาดนั้น เรียนสุ่มตัวอย่างของกาย เช่น ท่านสอน เบื้องต้นเลยท่านสอนเรื่องอานาปนสติ อานาปนสติที่ท่านสอน ถ้าเป็นเรื่องของสมถกรรมฐาน ท่านก็สอนเต็มยศเลย 16 ขั้น ถ้าอยู่ในสติปัฏฐานท่านสอนแค่ 4 ขั้นเท่านั้นเอง

สอนเรื่องลมหายใจ ท่านไม่ได้บอกให้เราไปดูลมหายใจ ท่านบอกว่า “ภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์” คู้บัลลังก์ก็คือนั่งขัดสมาธิ ทำไมต้องนั่งขัดสมาธิ เพราะคนอินเดียยุคโน้นส่วนใหญ่ไม่ได้มีเก้าอี้นั่ง ถ้าท่านสอนธรรมะที่เมืองจีน ท่านก็บอก ภิกษุทั้งหลายนั่งเก้าอี้ตัวตรงๆ ท่านจะต้องปรับธรรมะให้เข้ากับภูมิประเทศ บุคคล วัฒนธรรม นี่ความเก่ง ถึงจะเป็นภควโตได้ ไม่ใช่ทุกคนจะต้องนั่งขัดสมาธิ บางคนมันนั่งไม่ได้ หรือคนขาด้วนนั่งขัดสมาธิ ไม่มีขาจะขัดอย่างนี้ภาวนาไม่ได้หรือ ไม่ใช่

ท่านบอก “ภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์” คู้บัลลังก์คือนั่งขัดสมาธิ เพราะคนอินเดียส่วนใหญ่นักบวชเขาก็นั่งพื้น นั่งพื้นนั่งพับเพียบนั่งได้ไม่ทน นั่งที่ทนที่สุดคือนั่งขัดสมาธิ ฉะนั้นนั่งขัดสมาธิ “ภิกษุทั้งหลาย ให้คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง” ตั้งกายตรงไม่ใช่ตรงเด๊ะจนกระทั่งเกร็งไปทั้งตัว ไม่ใช่ ไม่ใช่ละครไทยโบราณ ยืดให้สง่างาม ยืดไปยืดมา ปวดหลัง ภาวนาไม่ไหว นั่งตัวตรงๆ หมายถึงไม่คดไม่งอ ไม่ใช่เอียงซ้ายเอียงขวา ซุกไปซุกมา มันขาดสติ นั่งตัวให้มันสบายๆ ตัวตรงๆ

 

ดำรงสติเฉพาะหน้า คืออยู่กับปัจจุบัน

คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ประโยคต่อไปสำคัญ ดำรงสติเฉพาะหน้า บางคนก็แปลความ ดำรงสติเฉพาะหน้าคือเอาสติไว้ที่หน้า ไม่ใช่ เฉพาะหน้าคืออยู่กับปัจจุบัน เอาสติอยู่กับปัจจุบันหมายถึง อะไรปรากฏขึ้นในปัจจุบัน สติก็ระลึกอันนั้น ตั้งกายตรง คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว ท่านไม่ได้บอกว่ารู้ลมหายใจ ท่านบอกว่าหายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว ใครหายใจออกยาว ร่างกายนี้หายใจออกยาว ท่านถึงเรียกกายานุปัสสนา

เห็นร่างกายนี้ล่ะมันหายใจออกยาว เห็นร่างกายนี้หายใจเข้ายาว ไม่ได้ให้ไปเพ่งลม ถ้าเพ่งลมจะกลายเป็นกสิณลม มันจะไม่ได้เดินเข้าแนวของสติปัฏฐาน สติปัฏฐานทำไปเพื่อความมีสติ ทำไปเพื่อความมีปัญญา ถ้าลงไปเล่นกสิณลม มันจะทำไปเพื่ออัปปนาสมาธิเป็นอีกแบบหนึ่ง คนละแบบ คนละสไตล์ ฉะนั้นเวลาเราเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเราใช้ลมหายใจ เราดูร่างกายหายใจ ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ไม่ใช่ไปเพ่งที่ลมหายใจ

ที่หลวงพ่อย้ำนักย้ำหนาตั้งแต่ก่อนจะบวช หลวงพ่อก็สอนมาตลอดเลยว่าเวลาเราจะภาวนา ไม่เผลอกับไม่เพ่ง เผลอนี่ลืมเนื้อลืมตัว เพ่งก็คือจิตมันถลำลงไปจมไปแช่อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน อย่างจะรู้ลมหายใจ จิตก็ไหลไปจมอยู่กับลมหายใจ อันนี้จิตจะไม่ตั้งมั่นขึ้นมา จิตมันจะลงไปนอนแช่นิ่งๆ อยู่ที่ลม เพราะฉะนั้นท่านไม่ได้บอกให้ดูลม ท่านบอกว่า “ภิกษุทั้งหลาย คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว”

อย่างเรานั่งอยู่ตรงนี้ เราไม่ได้คู้บัลลังก์ เรานั่งเก้าอี้ รู้ไหมร่างกายหายใจอยู่ รู้ไหม ถ้าไม่รู้คือใจลอย ถ้าเห็นลมหายใจ ถลำลงไปจ้องลมหายใจคือเพ่ง ถ้าไม่รู้คือเผลอ ถ้าถลำลงไปจ้องคือเพ่ง ตัวนี้ล่ะที่ทำให้เราไม่เข้าสู่ทางสายกลางสักที ตรงที่เราใจลอยไปเผลอไปเป็นกามสุขัลลิกานุโยค ย่อหย่อนเกินไป ตามใจกิเลส คิดอะไรเพลินๆ ไป ตรงที่เรานั่งเพ่งนั่งจ้อง กายก็เครียด ใจก็เครียด เป็นอัตตกิลมถานุโยค 2 ตัวนี้ต่างหากที่ขัดขวางเรา ทำให้เราไม่มีจิตที่ตั้งมั่น ไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง

ความยากของการปฏิบัติมันอยู่ตรงนี้ล่ะ ยากสุดตรงนี้เลย คือตรงที่ทำอย่างไรใจของเราจะมีสมาธิที่ถูกต้อง ใจของเราจะตั้งมั่น สามารถเดินปัญญาได้จริง วิธีฝึกก็อาศัยสติเป็นเครื่องมือ หายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้า รู้สึกตัวไป เห็นร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก หรือดูร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนก็ได้ ร่างกายนั่งอยู่ก็รู้สึก ร่างกายยืน รู้สึก ร่างกายเดิน รู้สึก ร่างกายนอน รู้สึก เห็นไหม คำสำคัญอยู่คือรู้มัน รู้สึกมัน รู้สึกอะไร รู้สึกกาย รู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกาย

ที่หลวงพ่อบอกรู้สึกๆ มี 2 อัน รู้สึกถึงความมีอยู่ของมัน ของกายของใจ รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ เรารู้สึกเรื่อยๆ พอเราขาดสติ เราเผลอเมื่อไร มันจะหลงไปอยู่ในโลกของความคิด มีกายลืมกาย มีจิตลืมจิต เพราะฉะนั้นอย่างเราทำกายานุปัสสนา เราเห็นร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก พอเราหลงไปอยู่ในโลกของความคิด เราลืมกาย ทีนี้เราเคยหายใจจนชิน มันลืมไม่นาน เดี๋ยวมันจะระลึกขึ้นได้ เอ๊ะ ลืมตัวไปแล้ว เพราะฉะนั้นมันจะทำให้สติของเราเร็วขึ้น

ทีแรกลืมทีหนึ่งยาว เผลอยาว เรารู้ทัน เผลอแล้ว เรามาหายใจต่อ หายใจแล้วก็เผลออีก เผลออีกรู้อีกๆ การเผลอจะสั้นลงๆ สั้นลงเรื่อยๆ แล้วก็สติมันก็จะเกิดถี่ขึ้นๆๆ นี่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน สิ่งที่เราได้คือสติที่ว่องไว แล้วสิ่งที่ควบมากับสติที่ถูกต้องว่องไวก็คือสมาธิที่ถูกต้องมันจะมาเกิดร่วมกันเลย เพราะฉะนั้นตัวนี้เราจะต้องฝึก ต้องทำสติปัฏฐาน ถ้าอยากพ้นทุกข์ สติพวกเรายังอ่อน เราก็ต้องทำสติปัฏฐาน มีเครื่องอยู่ของจิต ถ้าเป็นอย่างหลวงพ่อ หลวงพ่อแต่แรกเลยเรียนกับท่านพ่อลี หลวงพ่อหายใจเอา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เป็นเครื่องอยู่ของจิต เครื่องระลึกของสติ

พอหายใจไปก็จะเห็น ทีแรกทำผิด ไปเพ่งลมหายใจ ไปดูที่ตัวลมหายใจ แล้วลมก็ค่อยสั้นๆ สั้นๆ ขึ้นมาอยู่ที่ปลายจมูก สุดท้ายลมระงับกลายเป็นแสง ตัวลมหายใจเรียกว่าบริกรรมนิมิต ตอนที่ลมระงับลงไปกลายเป็นแสงสว่าง เรียกว่าอุคคหนิมิต เป็นดวงสว่างว่างๆ นิ่งๆ ขึ้นมา สว่างๆ ถัดจากนั้นสมาธิเราชำนาญขึ้น เกิดเป็นปฏิภาคนิมิต เรากำหนดแสงสว่างให้ใหญ่ก็ได้ ให้เล็กก็ได้ ให้มันส่องไปทางไหนก็ได้ ส่องไปอดีตก็ได้ ส่องไปอนาคตก็ได้ ส่องไปสำรวจจิตใจคนอื่นก็ได้ ส่องไปสวรรค์ก็ได้ ส่องไปนรกก็ได้ มันมาจากตรงนี้ทั้งนั้นล่ะ แล้วถัดจากนั้นไปจิตก็จะเข้าฌาน มีปีติ มีความสุข

การที่จิตจับอยู่ที่แสงเรียกว่าวิตก การที่จิตมันเคล้าเคลียอยู่กับแสงโดยไม่หนีไปไหน เรียกว่าวิจาร ก็เกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความเป็นหนึ่งขึ้น ก็เข้าปฐมฌาน อันนั้นเป็นอีกเส้นหนึ่ง เดินเส้นนั้นก็ได้ ทำฌานก่อนแล้วออกจากฌานแล้วมาเจริญปัญญา หรือทำฌานไป แล้วไปเจริญปัญญาในฌานซึ่งพวกเรายุคนี้ทำฌานไม่ค่อยเป็นหรอก หลวงพ่อถึงสอนอันที่สาม ใช้ปัญญานำสมาธิ เราทำสมาธิพอสมควรที่จะเจริญปัญญาได้ เราเจริญไปเลย แล้วสมาธิมันจะค่อยแก่กล้าขึ้น

เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง มีเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ เช่น เห็นร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกายเคลื่อนไหว เห็นร่างกายหยุดนิ่ง เห็นไปเรื่อยๆ แล้วจิตเผลอไปก็รู้ จิตถลำลงไปเพ่งก็รู้ รู้ตรงนี้ รู้ทันจิตไว้ แล้วต่อไปมันจะรู้ได้เร็วขึ้นๆๆ ตัวอะไรเป็นตัวที่รู้ว่าจิตหลงไป ตัวอะไรเป็นตัวที่รู้ว่าจิตไปเพ่ง ตัวสติ เพราะฉะนั้นยิ่งเรารู้บ่อย สติก็เกิดบ่อย สติเกิดบ่อยจิตใจก็ยิ่งชำนาญขึ้นๆ สตินั้นเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น

อย่างเราทำกรรมฐาน หายใจอยู่แล้วจิตหนีไปคิด เรารู้ จิตไปเพ่ง เรารู้ ต่อไปจิตมันจำได้ว่าการหนีไปคิดเป็นอย่างนี้ การเพ่งเป็นอย่างนี้ ต่อไปพอมันหนีไปคิดปุ๊บ สติจะเกิดเองเลย เพราะจิตมันจำได้แล้วว่า เอ๊ย นี่หลงไปคิดแล้ว นี่หลงไปเพ่งแล้ว แล้วสติจะเกิด การทำสติปัฏฐานเพื่อให้เกิดสติเขาทำกันอย่างนี้ ไม่ใช่นั่งเคลิ้มๆ ซื่อบื้อไปแล้วก็อะไรต่ออะไรวุ่นวาย

 

สติปัฎฐานเบื้องปลายให้เกิดปัญญา

แล้วทำอย่างไรจะเกิดปัญญา บอกแล้วสติปัฏฐานมี 2 ขั้น ขั้นเบื้องต้นทำให้มีสติ ขั้นที่สองจะมีปัญญา พอเรามีสติเนืองๆๆ ไป ต่อไปมันจะเริ่มเห็นความจริง เอ๊ะ จิตมันหนีไปคิดได้เอง จิตมันถลำไปเพ่งด้วยความเคยชินได้เอง จิตมันทำงานเอง มันไม่ใช่ตัวเรา เห็นเข้ามาที่จิตเลยก็ได้ พอสติเรามีแล้ว ไม่จำเป็นหรอกว่าจะรู้แต่กาย สมมติว่าเริ่มต้นจากการมีสติรู้กาย ทำกายานุปัสสนา เดี๋ยวสติคล่องแคล่วขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่ว่าต้องกายเคลื่อนไหวเท่านั้นถึงจะรู้ จิตเคลื่อนไหว มันก็รู้ได้

หรือหลวงพ่อ หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนหลวงพ่อดูจิต หลวงพ่อดูจิตจนชำนาญ จิตขยับกริ๊กๆ เดียวนี่เห็นแล้ว พอร่างกายเคลื่อนไหวมันรู้เอง ไม่ได้ฝึกดูกาย แต่กายขยับเขยื้อนอะไรนี่รู้หมดเลย นอนหลับอยู่ พลิกซ้ายพลิกขวายังรู้เลย เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเริ่มต้นที่กายแล้วจะรู้แต่กาย เริ่มต้นที่จิตแล้วจะรู้แต่จิต ไม่ใช่ สติเกิดเมื่อไร เราไม่มีปัญญาจะไปกำหนดหรอกให้สติรู้เฉพาะกาย หรือสติรู้เฉพาะจิต สั่งไม่ได้ สติก็เป็นอนัตตา

เราพัฒนาสติขึ้นมา ต่อไปอะไรเด่น ถ้าร่างกายเด่นขึ้นมา ความเคลื่อนไหวทางกายมันโดดเด่นขึ้นมา เราจะรู้สึก สติมันจะระลึกได้ จิตใจเรามีความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้นมา สติมันจะระลึกได้ ฉะนั้นเบื้องต้นอะไรก็ได้ สติปัฏฐาน 4 อะไรก็ได้ มันทำให้เกิดสติเหมือนกัน แล้วพอเกิดสติ รูปปรากฏ อะไรเด่นชัดขึ้นมาสติก็ระลึก เวทนาเด่นชัดขึ้นมา สติก็ระลึก สังขารคือความปรุงดีชั่วทั่งหลาย กิเลสทั้งหลายเกิดขึ้น สติก็ระลึกได้ ไม่ใช่ว่าดูกายแล้วกิเลสเกิดแล้วมองไม่เห็น อันนั้นเพ่งกายหรอก กิเลสเกิดแล้วถึงไม่เห็น เพ่งอย่างเดียว ปัญญาไม่เกิด ไม่เห็นอะไรหรอก สติก็ไม่มีจริง

ถ้าเข้าใจหลักของการปฏิบัติ เราก็ไปดูเอา ถนัดทางไหนก็เอาทางนั้น หลวงพ่อทำอานาปานสติ ในครั้งแรกเรียนกับท่านพ่อลีเป็นสมถะ อานาปานสติชนิดที่เป็นสมถะ พอมาเจอหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนให้หลวงพ่อดูจิตเลย ท่านไม่ได้สอนดูกาย ท่านสอนหลวงพ่อเข้าที่จิตเลย เพราะหลวงพ่อเคยไปดูกายแล้ว ได้ยินครูบาอาจารย์อื่นๆ ท่านพูดถึงกาย องค์นั้นกาย องค์นี้ก็กายดูแล้วมันจืด มันไม่สมใจ กายมันคับแคบ รู้สึกอย่างนี้ กายมันมีไม่มาก ดูไปแค่นี้ ใจมันรู้สึกจืดชืด

พอหลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต จิตทำไมมันพิสดาร ชอบดูจิต หลวงพ่อก็เลยเจริญจิตตานุปัสสนา มีจิตในจิตเป็นวิหารธรรม จิตในจิตเป็นอย่างไร เราไม่ได้เรียนจิตทั้ง 89 ชนิด 121 ชนิด ไม่ได้เรียนอย่างนั้นหรอก เราเรียนจิตที่มันเกิดบ่อยๆ อย่างหลวงพ่อพื้นจิตเดิมเป็นพวกขี้โมโห พวกโทสะ เพราะฉะนั้นทำอะไรรวดเร็ว ไม่มายืดๆ ยาดๆ อะไรไม่ทำหรอก แล้วก็ใครจะมาส่งการบ้าน มาพูดยาวๆ โอ๊ย น่าเบื่อๆ ไม่ฟังหรอก เสียเวลา

ขนาดไปหาครูบาอาจารย์เดินทางไปทั้งคืน กลางวันเดินทางต่อไปถึงท่านไปถามส่งการบ้านอะไร 5 นาที 10 นาที จบแล้วกลับแล้ว ไม่รอแล้ว เสียเวลา นิสัยใจคอเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเป็นพวกรวดเร็ว รุนแรง พวกโทสะ โทสะกับตัวหนึ่งที่คู่กัน มักจะอยู่ด้วยกันคือปัญญา พวกที่ปัญญากล้ากับพวกโทสะกล้า บางทีมักจะเป็นคนเดียวกัน พวกปัญญามีลักษณะอันเดียวกับโทสะ รวดเร็ว รุนแรง ล้างผลาญ โทสะนั้นล้างผลาญคุณงามความดีแต่ปัญญาล้างผลาญกิเลส ความรุนแรง

หลวงปู่ดูลย์ท่านดูแล้ว ให้หลวงพ่อดูจิตเข้าไปเลย หลวงพ่อก็นั่งดู พื้นจิตของหลวงพ่อมันขี้โมโห มันก็เห็น เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หาย ต่อไปมันก็เห็นมากขึ้น เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หาย อ้าว เดี๋ยวโลภขึ้นมาแล้วก็หาย ดูไปๆ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็รู้ มันเริ่มดูได้ละเอียดๆ ขึ้น เริ่มมาตั้งแต่สิ่งที่เราชำนาญมากเลยคือโทสะ พอเราเห็นตัวหนึ่งได้ชัด เราเห็นโทสะได้ชัด ต่อไปราคะเกิด มันก็เห็น ถ้าโทสะเกิด เราเห็น ราคะเกิด เราเห็น ต่อไปโมหะเกิด เราก็เห็น อย่างที่เราใจลอยนี่ล่ะ ตัวโมหะล่ะ ตัวฟุ้งซ่าน หนีไปคิดเรื่องโน้นหนีไปคิดเรื่องนี้

หัดรู้ไปเรื่อยๆ มีวิธีฝึกสารพัดจะฝึก วิธีการ รายละเอียดมันเยอะแยะ จริตนิสัยคนต่างกัน พระพุทธเจ้าเลยสอนเอาไว้เยอะแยะ แต่สุดท้ายมันไปลงที่เดียวกัน เจริญกายานุปัสสนาเบื้องต้นได้สติ เบื้องปลายได้ปัญญา ปัญญาเกิดจากอะไร ปัญญาจะมีได้ ต้องมีสัมมาสมาธิและสติควบกัน เพราะฉะนั้นในอริยมรรคมีองค์ 8 องค์ที่เจ็ดคือสัมมาสติ องค์ที่แปดคือสัมมาสมาธิ องค์มรรคจะลงท้ายด้วยสติกับสมาธิ ถ้าเราเจริญสติปัฏฐาน เราก็จะได้สติกับสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา เพราะฉะนั้นที่เราทำสติปัฏฐานให้ได้สติได้สมาธิ แล้วพอได้สมาธิแล้ว ปัญญาถึงจะเกิด สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา

สัมมาสมาธิคือสมาธิที่จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวโดยไม่ได้บังคับไว้ จิตใจไม่เผลอไป จิตใจไม่ถลำลงไปเพ่งไว้ นั่นล่ะคือตัวสัมมาสมาธิ ถ้าเราฝึกสติปัฏฐาน นอกจากเราจะได้สติ ได้สัมมาสติแล้ว เรายังได้สัมมาสมาธิควบมาด้วย อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไปแล้วจิตเราหนีไปคิด สติระลึกได้ว่าจิตหลงไปคิด จิตจะตั้งมั่นขึ้นอัตโนมัติเลย สมาธิอัตโนมัติจะเกิดขึ้น หลงไป สติรู้ทัน ตรงสติรู้ทัน หลงดับแล้ว เพราะหลงกับสติไม่เกิดด้วยกันหรอก ทันใดที่เกิดสติ ขณะนั้นความหลงนั้นขาดสะบั้นไปแล้ว แล้วขณะที่สติตัวแท้เกิด สมาธิก็เกิดขึ้นด้วย

พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนบอกว่า สัมมาสติ เมื่อเราทำให้มากเจริญให้มากจะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ สิ่งที่เรียกว่าสัมมาสติ ท่านอธิบายชัดเจนเลยว่าคือสติปัฏฐาน 4 ฉะนั้นเราทำหมวดใดก็ได้ บรรพใดก็ได้ที่เราถนัด ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานได้บริบูรณ์ ได้ดีขึ้น ได้ต่อเนื่องได้มากๆ ท่านถึงสอนสัมมาสติเมื่อทำให้มากเจริญให้มากแล้วจะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ เพราะฉะนั้นจิตไหลปุ๊บ สติรู้ปั๊บ สมาธิเกิด ไหลปุ๊บ รู้ปั๊บ สมาธิเกิด เพ่งปุ๊บ รู้ปั๊บ สมาธิเกิด ในที่สุดทั้งสติทั้งสมาธิจะเข้มแข็งขึ้นมา อาศัยสติและสมาธินี่ล่ะปัญญาถึงจะเกิด

อาศัยสัมมาสติ สัมมาสมาธิจะทำให้เกิดสัมมาญาณะ คือการหยั่งรู้ที่ถูกต้องจะเกิดขึ้น ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่มีสัมมาสมาธิ แล้วสติไม่ไประลึกรู้รูปธรรมนามธรรม ปัญญาไม่เกิด บางคนรู้ตัวอยู่ แต่ว่าสติไม่ยอมระลึกรู้กาย ไม่ยอมระลึกรู้จิต มีแต่สมาธิทรงตัวเด่นดวงอยู่เฉยๆ ปัญญาไม่เกิด 2 ตัวที่จะช่วยให้เราเกิดปัญญาได้คือสัมมาสติกับสัมมาสมาธิ

สัมมาสตินี่ล่ะ เราฝึกสติปัฏฐาน เคลื่อนแล้วรู้ๆๆ ไป แล้วทุกครั้งที่รู้สมาธิก็จะเพิ่มพูนขึ้น ฉะนั้นสัมมาสติเมื่อทำให้มากก็จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ สัมมาสมาธิเมื่อเราเจริญให้มาก สัมมาญาณะ ความหยั่งรู้ก็จะเจริญขึ้น จะบริบูรณ์ขึ้น หยั่งรู้อะไร หยั่งรู้รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ว่าเป็นไตรลักษณ์ นั่นล่ะคือการเจริญปัญญา อย่างหลวงพ่อมีสติ จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆๆ สมาธิก็มี แล้วถึงจุดหนึ่งปัญญามันปิ๊งขึ้นมาเลย จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตเป็นธรรมชาติอันหนึ่งเท่านั้นเอง เป็นขันธ์ๆ หนึ่ง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง

 

ภาวนาเข้าไปสุดขีดแล้ว จิตก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งเท่านั้นเอง

จิตเป็นธาตุอย่างหนึ่ง ธาตุมันมี 6 ธาตุ คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศธาตุคือ space ที่บรรจุดิน น้ำ ไฟ ลมเอาไว้ แล้วก็วิญญาณธาตุ จิตมันก็เป็นแค่ธาตุๆ หนึ่ง เหมือนดิน เหมือนน้ำ เหมือนไฟ เหมือนลมก็เป็นธาตุๆ หนึ่งเท่านั้นเอง เรายังมีกิเลส จิตเราก็เลยไม่เป็นธาตุจริง แต่เป็นทาสกิเลส ทาส ไม่ใช่ธาตุ ที่จริงจิตแล้วมันก็เป็นธาตุๆ หนึ่งล่ะถ้าภาวนาเข้าไปสุดขีด

ครั้งหนึ่งท่านพระสารีบุตร ท่านจะไปจาริกท่านก็ออกจากวัดพวกพระก็เคารพนับถือท่าน ตามไปส่งท่านเดิน พระก็เข้าแถวรอท่านก็เดินทักทายไปทีละองค์ๆ มีองค์หนึ่งท่านไม่ได้ทัก ท่านเดินผ่านไป ชายผ้าท่านไปกระทบถูกพระองค์นั้นเข้า พระองค์นั้นเซล์ฟจัด พระสารีบุตรทักคนนี้มาๆ เดี๋ยวต้องมาทักเรา ปรากฏว่าพระสารีบุตรไม่ได้ทักทาย เดี๋ยวผมจะไปแล้ว ไม่พูดด้วย ท่านเดินไป พระเยอะ ท่านจะมาพูดทุกคนไม่ไหว แต่ว่าชายผ้าท่านไปถูกพระองค์นี้เข้า

พระองค์นี้โกรธมากเลย เสียหน้า รีบไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเลย บอกว่าพระสารีบุตรทำร้ายข้าพระองค์ บาลีใช้ประหาร ประหารคือไปตีเอา พระสารีบุตรมาทำร้ายข้าพระองค์ พระพุทธเจ้าก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ พระสารีบุตรหรือจะไปทำร้ายใคร แต่ท่านต้องการให้พระสงฆ์ทั้งหลายเห็นคุณงามความดี ความยิ่งใหญ่ของพระสารีบุตร ท่านก็เลยให้พระไปตามพระสารีบุตรกลับมาแล้วก็ขึ้นศาลสอบสวน บอกองค์นี้เขาฟ้องท่านว่าไปทำร้ายเขา จริงหรือไม่จริง เห็นไหม ถาม รู้อยู่แล้วล่ะ เป็นไปไม่ได้ที่พระสารีบุตรจะไปทำร้ายใคร

พระสารีบุตรท่านก็ตอบบอกว่า ท่านไม่ได้มีจิตคิดประทุษร้ายใครเลย อย่างชายผ้าท่านมันไปกระทบเข้าอะไรนี่มันเป็นวาสนาของท่าน พระสารีบุตรมีกิริยาอาการหลุกหลิก ว่องไว พรึบพับๆ ไม่ได้มาอ้อยสร้อย เซื่องๆ เรียบร้อยอะไรหรอก พระสารีบุตร เห็นคูน้ำแคบๆ อยู่จะเดินข้าม องค์อื่นอาจจะหาไม้กระดานมาพาดแล้วค่อยๆ เดิน พระสารีบุตรกระโดดเลย กระโดดข้ามไปเลย นิสัยท่านเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการที่เคลื่อนไหวพรึบพับๆ ชายผ้าก็เลยไปโดนเขาเข้า

พระสารีบุตรท่านบอกว่า จิตของท่านมันเสมอด้วยแผ่นดิน เห็นไหมจิตก็เป็นวิญญาณธาตุของท่าน มันเสมอด้วยธาตุดิน คุณสมบัติของธาตุดินก็คือไม่ว่าคนจะเอาของสะอาดไปเทใส่ ธาตุดินก็ไม่ได้ยินดี เอาของสกปรกไปทิ้งลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่ได้ยินดี ท่านบอกว่าจิตของท่านเหมือนธาตุน้ำ ธาตุน้ำไปชำระล้างของหอม มีน้ำหอมมีอะไรมา น้ำก็ไม่ได้ดีใจ ไปเจอของสกปรกอย่างพวกเราเอาน้ำล้างก้น น้ำก็ไม่เสียใจ

ท่านพูดให้ฟัง จิตของท่านเหมือนลมพัดผ่านไปในที่หอมๆ พัดผ่านดอกไม้ จิตก็ไม่ได้ยินดี ลมไม่ได้ยินดี ก็เหมือนจิตท่าน พัดไปในกองขยะ ลมก็ไม่ได้ยินร้าย ก็เหมือนจิตของท่าน จิตของท่านก็เหมือนธาตุไฟ จะเผาซากศพ หรือจะเผาไม้หอม ไฟก็ทำหน้าที่เสมอกัน ไม่ได้ยินดีไม่ได้ยินร้าย บอกจิตของข้าพระองค์เป็นอย่างนี้ ท่านบันลือสีหนาท พระทั้งหลายได้ยินได้ฟัง สาธุ อนุโมทนาสาธุ องค์ที่ไปกล่าวโทษพระสารีบุตรสั่นไปทั้งตัวเลยๆ ทรุดลงที่พื้น ขอขมาทันทีเลย ไปใส่ร้ายท่านผู้บริสุทธิ์เข้า

ฉะนั้นจิตจริงๆ ก็เป็นธาตุอันหนึ่ง เป็นวิญญาณธาตุ แต่ถ้าวิญญาณธาตุของพวกเรามันปนเปื้อนกิเลส ถ้าเราเจริญสติปัฏฐาน มีสติมีสมาธิจนกระทั่งเกิดปัญญา เห็นความจริงของธาตุของขันธ์ มันก็ค่อยๆ คลายกิเลสออก ล้างกิเลสออกไปเป็นลำดับๆ ในที่สุดจิตก็เข้าถึงความเป็นธาตุเรียกว่าวิญญาณธาตุ

ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ท่านเรียกต่างกัน สมเด็จพระญาณสังวรท่านเรียนหนังสือเยอะ ท่านเรียกถูกต้อง ท่านเรียกวิญญาณธาตุๆ อันเดียวกับที่ท่านพระสารีบุตรพูดถึงนั่นล่ะ บางองค์ท่านเรียกธรรมธาตุ หลวงตามหาบัวเรียกว่าธรรมธาตุ หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกว่าจิตหนึ่ง เข้าถึงจิตหนึ่ง หลวงปู่บุดดาท่านเรียกจิตเดียว หลวงปู่เทสก์ท่านเรียกใจ อันนี้ความหมายนัยยะอันเดียวกัน ก็คือตัววิญญาณธาตุ หรือธรรมธาตุนั่นเอง

จิตของเรานั้นโดยธรรมชาติมันผ่องใส มันสว่าง มันมีความสุข มันสว่าง มันสงบ โดยธรรมชาติของมัน มันสงบ สว่าง แต่มันไม่สะอาด มันสงบ มันสว่างแต่มันไม่สะอาดเพราะมันมีกิเลสซ่อนอยู่ ฉะนั้นบางทีพอกิเลสมันรุนแรงขึ้นมา ความสงบก็หายไป ความสว่างก็หายไป จิตมืด จิตมัวขึ้นมา ถ้าเราเจริญสติ เจริญปัญญามากๆ มีปัญญาค่อยๆ ล้างกิเลสไป จิตเราจะยิ่งผ่องใสเป็นลำดับๆ ไป สว่างแจ่มใส ครอบโลกธาตุได้

 

 

พอเราภาวนาวันหนึ่งใจเราก็มีความสุขมีความสงบ เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริง สงบ สว่างแล้วก็สะอาด ก็อาศัยการเจริญสติปัฏฐานนั่นล่ะ อย่างที่เล่าให้ฟัง ถ้าฟังรอบเดียวไม่รู้เรื่องก็ไปฟังซ้ำ ไปฟังซ้ำๆ ที่จริงธรรมะที่หลวงพ่อสอนแต่ละวัน ถ้าเอาไปทำ พอ พอที่จะไปสู่ทางพ้นทุกข์ได้ เพราะเวลาที่หลวงพ่อเรียนจากครูบาอาจารย์ หลวงพ่อเรียนอยู่ไม่กี่ประโยคหรอก หลวงพ่อก็มาทำเอา

เรียนกับหลวงปู่ดูลย์ เรียนนิดเดียว ท่านบอก “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” ครั้งแรกเรียนเท่านี้ล่ะ ครั้งสุดท้ายที่ไปเรียนกับท่าน ท่านบอกว่า “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิตจึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” ธรรมะอันนี้ท่านสอนไว้ 2 คน ท่านแรกคือหลวงพ่อพุธ ต่อมาคือหลวงพ่อ ท่านสอนอยู่ 2 คน หลังๆ ก็เริ่มเอาไปอ้างอิงกัน ลอกต่อๆๆ ไป เยอะแยะไปหมดเลย นี่เรียนไม่มาก ไม่กี่ประโยคหรอก หลายๆ ครูบาอาจารย์ ไปเรียนด้วย ไม่ยาว

อย่างไปเรียนกับหลวงปู่สิม ท่านก็พูดสั้นๆ “ผู้รู้ๆ ออกมาอยู่ข้างนอกนี่ กิเลสไม่ได้อยู่ในนั้นหรอก” เราลงไปอย่างนี้ เรียนกับหลวงตามหาบัว ท่านสอน “ที่ว่าดูจิตนั้น ดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรา ตรงนี้สำคัญ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรก็สู้บริกรรมไม่ได้” เวลาครูบาอาจารย์สอน ไม่มีเทป แต่มันฟังแล้วมันฝังเข้าไปในใจ จำเป๊ะๆๆ เลย ท่านสอนสั้นๆ มันเป็นเคล็ดวิชาที่เราเอามาลงมือทำ พอลงมือทำความรู้ความเข้าใจก็กว้างขวางเข้ามา ท่านไม่ได้ให้ปัญญาเรา แต่ท่านให้เครื่องมือที่จะใช้ในการเจริญปัญญา

เหมือนท่านไม่ได้มาช่วยเราถางป่า คือกิเลสของเรา แต่ท่านให้มีดให้พร้าเรามา มีดพร้าก็คือคำสอนของท่าน แล้วหลวงพ่อก็มาถางกิเลสของตัวเองทุกวันๆ กิเลสมันเคยมากเคยหนาทึบเหมือนหลงในป่าทึบ เราถางมันทุกวันก็โล่งขึ้นมาๆ ออกมาสู่ที่โล่งที่แจ้งสบายขึ้นๆ เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ให้อะไรมา ให้มีดให้พร้าเอาไว้ถางป่าคือกิเลสของเรานั่นล่ะ ฉะนั้นจะไปหวังพึ่งว่าครูบาอาจารย์จะมาช่วยถางกิเลสให้เรา เข้าใจผิดอย่างร้ายแรงเลย ไม่มีใครล้างกิเลสให้ใครได้หรอก ต้องล้างของเราเองถึงจะสำเร็จ

เทศน์ให้ฟังอย่างนี้พอรู้เรื่องไหม เหมือนหลวงพ่อ หลวงปู่ถามเข้าใจไหม เข้าใจครับ เข้าใจแล้วอะไรวะ ภาวนาอีกนานเลยกว่าคำว่าเข้าใจมันจะเกิดขึ้น อย่างพบผู้รู้ทำลายผู้รู้ ท่านสอนเมื่อปี 2526 หลวงพ่อกว่าจะเข้าใจตั้งปี 2547 21 ปี ใช้เวลา ธรรมะที่ครูบาอาจารย์ให้แต่ละครั้งๆ ใช้เวลา สู้เอา กิเลสของใครคนนั้นก็ต้องละ ครูบาอาจารย์ให้แค่เครื่องมือคือสอนเราให้รู้วิธีการ อย่าว่าแต่ครูบาอาจารย์กระจอกๆ อย่างหลวงพ่อเลย ระดับพระพุทธเจ้าท่านยังบอกว่าท่านเป็นผู้บอกทาง เราจะต้องเดินทางด้วยตัวของเราเอง ไม่มีใครเขาอุ้มไปหรอก ต้องไปเอง ต้องสู้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
6 พฤศจิกายน 2565