แนวรุกแนวรับในการภาวนา

การภาวนาก็ต้องดูกรรมฐานที่เหมาะกับตัวเราเอง กรรมฐานอะไรที่เราอยู่ด้วยแล้วสติเกิด สมาธิเกิด สังเกตตัวเองเอา หลวงพ่อมีข้อแนะนำอย่างหนึ่งว่า โดยธรรมชาติคนเราพออายุมากขึ้น สมองมันเริ่มเสื่อม ไปนั่งสมาธิหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ บางทีนั่งหลับไปเลย มันทำไม่ไหว ฉะนั้นเราก็ต้องใช้กรรมฐานที่มันหยาบขึ้น อย่าคิดว่าจะต้องดูจิตอย่างเดียว ที่จริงเอาจิตเป็นวิหารธรรมก็ได้ถ้าสมาธิของเราดีพอ สติของเราดีพอ เพราะจิตใจเป็นสิ่งที่ละเอียด รู้ได้ยาก จิตเป็นธรรมชาติที่รู้ได้ยาก ถ้ากำลังของจิตใจเราดีพอ เราก็จะดูได้ หรือบางทีเราดูจิตให้เป็นสมาธิก็ได้ ให้เป็นสมถะก็ทำได้ หรือดูจิตให้เกิดปัญญา เจริญปัญญาก็ทำได้ อันนั้นเราต้องมีกำลังมากพอ แต่ถ้าจิตเรายังไม่มีกำลังพอ นั่งแล้วก็เคลิ้มๆ อะไรอย่างนี้ อย่าไปดูจิตเลย มันดูไม่รู้เรื่อง

หลวงพ่อนั่งสมาธิมาแต่เด็กๆ เพราะฉะนั้นเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนตัดตรงเข้าที่จิตเลย ไม่สอนเรื่องกาย ไม่สอนเรื่องพุทโธ ลมหายใจ ไม่สอนทั้งสิ้น เพราะสิ่งที่ท่านสอนเป็นการต่อยอด เพราะเรามีพื้นฐานของสมาธิอยู่แล้ว พอท่านบอกให้ดูจิตหลวงพ่อก็ดู ในที่สุดก็เห็นจิตมันเกิดดับ มันเปลี่ยนแปลง ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ ดูไปช่วงหนึ่งจิตมันฟุ้งซ่าน มันหมดกำลังที่จะเจริญปัญญา พอจิตหมดกำลัง จิตจะเคลื่อนตัวเข้าไปในช่องว่าง จิตจะไปอยู่ในช่องว่าง ไปอยู่ในความว่าง บางทีก็พักผ่อนอยู่ ช่วงแรกๆ ที่จิตเข้าไปตรงนี้ ดูไม่ทัน สติตามไม่ทัน สมาธิมันล้ำไปแล้ว จิตก็เลยไปติดอยู่ในความว่างอยู่ช่วงหนึ่งเป็นปีเลย มีแต่ความสุข มีแต่ความสงบ โลภ โกรธ หลงอะไรไม่ปรากฏ ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ หลวงตามหาบัวท่านบอก “ที่ดูจิตนั้น ดูไม่ถึงจิตแล้ว” ให้กลับมาพุทโธอะไรอย่างนี้ หลวงพ่อก็กลับมาหายใจเข้าพุทออกโธ ตามที่เราถนัด จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาก็เดินปัญญาต่อได้

 

เลือกกรรมฐานที่มันพอเหมาะพอดีกับตัวเรา

ตอนหลังก็เลยรู้มองออก เราดูจิตๆ อยู่ตรงนี้เดินปัญญาอยู่ พอจิตมันเหนื่อย จิตมันจะพลิกไปทำสมาธิของมันเอง เราก็รู้ว่าจิตมันไปทำสมาธิ มันก็เลยไม่ติดสมาธิ ถ้าจิตพลิกไปทำสมถะแล้วเราไม่รู้ เราจะติดสมถะ อย่างเราไปติดในช่องว่าง ติดในอรูป ติดอะไรพวกนี้ ถ้าเรารู้ทันแล้วมันก็ไม่ติด ถ้ารู้ไม่ทันมันก็ติด ฉะนั้นอย่างดูจิต บางทีมันก็เดินปัญญา บางทีมันก็เป็นสมาธิทรงตัวอยู่ บางทีก็พักเฉยๆ อยู่ จิตก็พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ค่อยเห็นความจริงของมันเป็นลำดับๆ ไป พอหลวงพ่อมาดูพวกเรา สมาธิพวกเราไม่ค่อยมีเท่าไร เดี๋ยวนี้มีศัพท์ว่าสมาธิสั้น สั้นจริงๆ สั้นแวบเดียวเดี๋ยวก็หลงอีกแล้ว ยิ่งยุคที่โซเชียลเยอะนี่ยิ่งหลงเก่ง ฉะนั้นจะมาดูจิตๆ บางทีสู้ไม่ไหว ดูแล้วมันเคลิ้ม ดูแล้วมันหลงยาว

เราก็หาอารมณ์กรรมฐานที่หยาบขึ้น เช่น แทนที่จะพุทโธๆ นั่นเป็นแค่ความคิดเฉยๆ อาจจะหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธแล้วก็ยังเคลิ้มอีก ขาดสติอีก ก็ดูให้มันหยาบขึ้นไปอีก เช่น เห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดู ไม่จมลงไปในลม หรือร่างกายนั่งหายใจอยู่ก็ยังเคลิ้มอีก ก็เปลี่ยนอิริยาบถลุกขึ้นยืน ยืน เดิน นั่ง นอนอะไรอย่างนี้ มีสติระลึกรู้ร่างกายยืน ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน จิตเป็นคนรู้คนดู ตั้งอกตั้งใจรู้สึกไว้ แต่ตรงนี้มันจะมีปัญหาคือดูได้พักเดียว มันจะขี้เกียจดู รู้สึกไม่สนุก ก็ต้องอดทนเอา ต้องทนเอา โดยเฉพาะคนที่อายุเยอะๆ ขึ้นมาเกินห้าสิบ ห้าสิบขึ้น ดูจิตล้วนๆ เลย ในขั้นต้นๆ ทำไม่ไหว เอากายมาช่วย บางคนเคยชินกับการเพ่ง บอกให้เอากายไปช่วยก็ไปเดินจงกรม เดินกำหนดไปเรื่อยๆ ก็เพ่งเครียดๆ ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ดีอีก

หลวงพ่อเลยแนะนำบางคนบอกว่า ไม่ต้องไปเดินในรูปแบบอย่างนั้นหรอก หางานทำ กวาดบ้าน ถูบ้าน รดน้ำต้นไม้ อาบน้ำให้หมา ล้างรถอะไรอย่างนี้ หางานทำไป เคลื่อนไหวไปรู้สึกไป เคลื่อนไหวไปรู้สึกไป จิตมันจะค่อยๆ มีกำลังขึ้นมา มันจะมีกำลังขึ้นมา ดีกว่าไปนั่งเคลิ้มๆ ให้โมหะแทรก ใช้ไม่ได้หรอก ฉะนั้นพยายามฝึกตัวเองทุกวันๆ เลือกกรรมฐานที่มันพอเหมาะพอดีกับตัวเรา สังเกตตัวเอง อย่างในวัดนี้ ไม่ใช่พระทุกองค์ดูจิตอย่างที่หลวงพ่อเคยดู มันก็เหมือนอย่างที่หลวงพ่อเห็น ตั้งแต่สมัยหลวงปู่ดูลย์สอนแล้ว ท่านไม่ได้ให้ทุกคนดูจิต คนส่วนหนึ่งค่อนข้างเยอะด้วย กำลังของจิตไม่พอท่านให้ดูกายไปก่อน แต่ดูกายให้ถูก ดูกายให้เป็นแล้วมันจะเห็นจิต

หลวงปู่สุวัจน์ท่านเคยเล่าให้หลวงพ่อฟัง ว่าท่านเรียนกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นสอนบอกว่า “ดูจิตได้ให้ดูจิต” เริ่มต้นเลย “ถ้าดูจิตได้ให้ดูจิต” ฉะนั้นอย่างที่หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อ ก็ตรงกับที่หลวงปู่มั่นสอนท่าน คือดูจิตได้ให้ดูจิต หลวงปู่สุวัจน์ก็เล่าต่อ หลวงปู่มั่นบอก “ดูจิตได้ให้ดูจิต ถ้าดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย” ฉะนั้นอย่างถ้าเราดูจิตแล้วมันเคลิ้ม มันขาดสติดูร่างกายไว้ ถ้าดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ ให้ทำสมถะเอาไว้ ก็เลือกเอาจะทำสมถะแบบไหน อย่างในวัดนี้พระบางองค์หลวงพ่อก็ให้ดูกาย ดูกระดูกสันหลัง ดูหัวกะโหลก ดูกระดูกทั้งตัว หรือเห็นร่างกายมันทำงาน เบื้องต้นตั้งใจทำอะไรไว้อันหนึ่งก่อน ให้มันเด็ดเดี่ยวลงไป ดูซ้ำๆๆ ลงไปเรื่อยๆ

หรือบางองค์จิตมันชอบคิด มันฟุ้งซ่านมาก แทนที่หลวงพ่อจะบอกว่าให้ไปทำความสงบ มันฟุ้งซ่านมาก หลวงพ่อบอกว่าคิดไปเลย แต่ให้คิดเรื่องของกายตัวเอง วิธีคิดถึงร่างกาย ก็ดูไปร่างกายนี้แต่ละส่วนๆ ไม่สวยไม่งาม ดูไปเรื่อยๆ แต่ลงท้ายต้องลงด้วยไตรลักษณ์ ให้เห็นว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูซ้ำๆๆ อย่างนี้ จิตที่เคยฟุ้งซ่านมันก็จะสงบขึ้นมา มีกำลังขึ้นมา นี่คือวิธีทำสมาธิยังไม่ใช่การเจริญปัญญา พอจิตมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว มีเรี่ยวมีแรงแล้ว มันถึงจะถึงขั้นในการเจริญปัญญาได้

การเจริญปัญญานั้นจะดูกายก็ได้ ดูเวทนาก็ได้ ดูจิตตสังขารก็ได้ หรือดูตัวจิตแท้ๆ เลยก็ยังได้ จะเห็นว่าตัวผู้รู้นั้นเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับอะไรอย่างนี้ จะเห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนไม่ใช่เรา เห็นร่างกายหายใจออก หายใจเข้า ไม่ใช่เรา จิตมันตั้งมั่นขึ้นมามันถึงจะเห็นอย่างนี้ แต่ในเบื้องต้นในขั้นทำให้จิตมีสมาธิ มีกำลัง จะดูจิตให้จิตมีสมาธิก็ทำได้ แต่มันยากหน่อย ฉะนั้นเราก็อาศัยอารมณ์ที่พอดีกับเรา สติสมาธิยังไม่ละเอียดพอก็ดูของหยาบ

 

อย่างคนฟุ้งซ่านมากไม่รู้จะทำอย่างไร ทำอย่างไรก็ไม่สงบ ไม่รวม ไปนั่งสมาธิก็เคลิ้ม ทำไมนั่งสมาธิแล้วเคลิ้ม เพราะตอนที่ฟุ้งซ่านมากจิตเหนื่อย พอไปนั่งในรูปแบบปุ๊บหลับปั๊บเลย เคลิ้มๆ หลับไปเลย เพราะจิตมันเหนื่อยเกินไป แต่ถ้ามันชอบฟุ้งซ่านมากกำหนดหัวข้อให้มันคิด มันอยากคิดนักให้คิดเรื่องร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ดูไปทีละส่วนๆ เป็นของไม่สวยไม่งาม ไม่สะอาด นี้เรากำลังทำสมถะ เพราะฉะนั้นพิจารณาอสุภะก็ได้สมถะ หรือคิดพิจารณาไตรลักษณ์ ร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คิดๆๆ ไป แต่ไม่ได้คิดทั้งวันทั้งคืน ถ้าจิตมันเริ่มวุ่นวายบ้างเราคิดๆๆ ไป เราก็พยายามน้อมจิตเข้าหาอารมณ์อันเดียว ให้มันได้พักบ้าง

จิตที่มันชินที่จะไปคิดพิจารณา มันจะไม่ชอบพัก แล้วมันจะฟุ้งซ่าน มันไม่ชอบพักก็ต้องรู้จักวิธีการที่ให้มันพักได้บ้าง เลือกอารมณ์ที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นไป แต่ถ้าเราอยู่กับอารมณ์อันนั้นแล้วมีความสุขก็จริง แต่อารมณ์นั้นเป็นของข้างนอก นอกจากกายนอกจากใจเราอะไรอย่างนี้ ให้รู้ทันว่าจิตมันไปข้างนอก ตอนหลวงพ่อเป็นโยม ทำงานใช้ความคิดเยอะ ก่อนอยู่สภาความมั่นคงฯ งานมีแต่เรื่องหนักๆ ทั้งนั้น วันๆ จิตเครียดมากเลย กลับมาบ้านจะให้ไปนั่งสมาธิไปอะไรอย่างนี้ จิตมันเตลิดเปิดเปิงมันเอาไม่อยู่ หลวงพ่อก็ไปนั่งอ่านการ์ตูน ยุคนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ตหรอก ซื้อหนังสือการ์ตูนมา ต่วยตูนบ้าง ขายหัวเราะบ้างอะไรพวกนี้ ออกมาซื้อทุกเล่มเลย อ่านๆๆ อ่านพอให้ใจมันเปลี่ยนอารมณ์ อารมณ์ที่มันคิดเรื่องงานชุลมุนวุ่นวาย เปลี่ยนมาเป็นอารมณ์จากการอ่านหนังสือ มันเป็นอารมณ์เดียวแล้ว จิตใจก็สบาย มีกำลังก็ไปภาวนาต่อ

บางช่วงอ่านหนังสือหมดแล้วไม่มีหนังสือจะอ่าน หนังสือยังไม่ออกอะไรอย่างนี้ หลวงพ่อไปดูพระ มีพระเครื่องอยู่กล่องหนึ่ง กล่องแค่นี้เอง ดูองค์นี้ๆ จิตหลวงพ่อมันชอบออกนอก ดูองค์นี้ แหม พลังดี สดชื่น ดูแล้วสดชื่น พระเครื่องก็เหมือนแหล่งพลังงานสำรอง แต่นี้ไม่แนะนำให้เราทำ ถ้าพวกเราทำเราไม่ชำนาญจริงเตลิดเลย เดี๋ยวขยายก็มีองค์นี้แล้วอยากได้เบญจภาคีอะไรอย่างนี้ ประสาทกิน เราไปหาอารมณ์อะไรที่สบายๆ เลี้ยงหมา เลี้ยงแมวอะไรก็ไปเล่นกับแมว ดูแมวมันกระโดดไปกระโดดมาสบายใจ เปลี่ยนอารมณ์จากอารมณ์ที่ทำงานมาเคร่งเครียด เปลี่ยน พอใจมาอยู่ในอารมณ์ที่สบาย มีความสุข เดี๋ยวเราก็ภาวนาใหม่ เริ่มต้นภาวนาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธปุ๊บเดียว สงบแล้ว แต่ถ้าใจกำลังฟุ้งมานั่งหายใจเข้าพุทออกโธ ไม่สงบหรอก

ก็ต้องมีชั้นเชิง มีลีลา รู้จักหลอกล่อจิต จิตมันซนมากก็หลอกล่อมัน ด้วยอารมณ์ที่มันสบายใจ เสร็จแล้วก็ค่อยมาภาวนาให้เข้าที่เข้าทาง หรือเจริญปัญญาไป ไปล้างรถก็ได้ มีรถก็ไปล้างรถ มีงานอะไรที่ใช้ร่างกายทำ ไปทำ แล้วเห็นร่างกายทำงานใจเป็นคนดูอย่างนี้ สมาธิมันก็จะเกิด ดีกว่าไปนั่งแล้วเคลิ้มแล้วเคยตัว โมหะครอบจิตจนเคยตัว ฉะนั้นพยายามกระดุกกระดิก กระดุกกระดิกไป พอจิตมีกำลัง จิตมีกำลังแล้วก็ถึงขั้นเจริญปัญญา

 

ศิลปะในการภาวนา

เจริญปัญญา ถนัดที่จะเห็นกายแสดงไตรลักษณ์ก็ใช้กาย ถนัดที่จะเห็นเวทนาแสดงไตรลักษณ์ก็ใช้เวทนา ถนัดที่จะเห็นจิตตสังขาร กุศล อกุศลทั้งหลายแสดงไตรลักษณ์ ก็ใช้กุศล อกุศล หรือถ้าชำนิชำนาญเรื่องของจิตพอ เราก็ใช้จิตนั่นล่ะมาทำกรรมฐาน เห็นว่าจิตนี้เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้ไปดูรูป เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้ไปฟังเสียง เฝ้ารู้ความเปลี่ยนแปลงของจิต อย่างนี้ก็เดินปัญญาได้ การเจริญปัญญาถ้าว่าดูกาย หรือดูเวทนา หรือดูจิตตสังขารอะไรก็ตาม สุดท้ายมันก็เข้ามาที่จิตทั้งหมด เข้ามาถึงจิตถึงใจจริงๆ ฉะนั้นครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ท่านจะสอนว่า ภาวนาในขั้นแตกหักมาแตกหักลงที่จิต แตกหักลงที่จิต ไม่ได้แตกหักลงที่อื่นหรอก ฉะนั้นเราภาวนาค่อยๆ ทำไป ค่อยๆ รู้สึก ค่อยๆ รู้สึกไป

เบื้องต้นถ้าจิตยังไม่มีสมาธิพอ ก็ฝึกให้มีสมาธิ อยู่กับอารมณ์ที่ทำแล้วไม่โมหะครอบ ไม่ถูกโมหะครอบ หรือไม่ทำแล้วเคร่งเครียด ถ้าเคร่งเครียดโทสะครอบ หรือทำแล้วเพลิดเพลินลืมไปเลย อย่างนั้นก็ไม่ดี อย่างบางคนชอบเลี้ยงนก เลี้ยงนกแก้วสวยๆ ไปดูนกมันบินไปบินมาอยู่ในกรง ดูแล้วเพลินเลยลืมตัวเอง อันนั้นไม่ดี แต่ถ้าดูนก หรือดูหมา ดูแมว ดูต้นไม้ ดูไปแล้วจิตเกิดกุศลรู้ทัน จิตเกิดอกุศลรู้ทัน อย่างดูต้นไม้จิตสงบ เบิกบาน รู้ว่าจิตสงบ เบิกบาน รู้เนื้อรู้ตัว อย่างนี้ก็ดี หรือดูต้นไม้อยู่ แหม หนอนมันมากินต้นไม้เรา โทสะเกิดแล้ว รู้ว่ามีโทสะ อย่างนี้เราก็เจริญปัญญาได้แล้ว

ฉะนั้นการภาวนา ไม่ทำสมถะก็ทำวิปัสสนา มีศิลปะประจำตัว รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา จิตเราเหนื่อยเกินไปก็ไม่ตะบี้ตะบัน ไปนั่งจะให้สงบ มันไม่สงบ หาอะไรที่ผ่อนคลายให้มันเสียหน่อยหนึ่ง มันเหมือนร่างกายทำงานมาเหนื่อยๆ แล้วก็จะใช้มันทำงานต่อ หรือจิตใจเราทำงานมาเหนื่อยๆ แล้วก็จะใช้มันทำงานต่อ ทำงานมาทั้งวัน เหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจ จะมาทำกรรมฐานต่อก็เหนื่อยกาย เหนื่อยใจหนักเข้าไปอีก อย่างนี้ไม่ไหว ร่างกายมันเหนื่อยก็ให้มันพักหน่อย หาขนมให้มันกิน ให้มันอาบน้ำให้ตัวเย็นๆ สบาย ผ่อนคลายก่อน นี้เปรียบเทียบ ไม่ใช่ให้ไปอาบน้ำทำกรรมฐาน เปรียบเทียบให้ฟัง

อย่างหลวงพ่อไปดูการ์ตูน ร่างกายเหนื่อยๆ ยังไม่รีบไปภาวนาหรอก ไปนั่งดูการ์ตูน ใจเราก็เครียดทำงานมา ดูการ์ตูนขำๆ อะไรอย่างนี้ ใจสบายแล้วก็ค่อยภาวนาต่อ ค่อยดูกาย ค่อยดูใจไป ทำความสงบปุ๊บจิตก็ตั้งมั่นแล้ว พอจิตตั้งมั่นแล้วก็แยกขันธ์ไป แล้วก็ดูกาย ดูใจ ดูธาตุ ดูขันธ์ แต่ละอย่างเขาแสดงไตรลักษณ์ไป ดูไปๆ จิตเหนื่อย ฉะนั้นเวลาเดินปัญญาจิตก็เหนื่อยได้ พอจิตมันเหนื่อยเราก็ไม่ฝืนที่จะดูไตรลักษณ์หรอก เราก็ให้จิตมันพัก จะพักกับอะไร ก็พักกับอารมณ์กรรมฐานที่เราถนัดนั่นล่ะ

ถ้าวันไหนหลวงพ่อจิตยังมีกำลังเหลืออยู่ หลวงพ่อก็พักอยู่กับจิตเลย พักเข้าที่จิตเลย ถ้าวันไหนกำลังมันตกมาก หลวงพ่อก็หายใจ หายใจ 2 ทีก็ขนลุกแล้ว ขนลุก ใจสว่าง ใจสบาย พอใจมีกำลังแล้วก็กลับมาเดินปัญญาอีก การปฏิบัติรู้จักแนวรุกแนวรับ ไม่ใช่ฝืนบังคับตัวเองตลอดเวลาแล้วก็เครียด เครียดแล้วก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ได้แต่ความทุกข์ ถ้าฝืนมากบังคับมาก เรียกอัตตกิลมถานุโยค ถ้าตามใจกิเลสไม่รู้จักฝืนเลย ไม่รู้จักบังคับเลย เรียกกามสุขัลลิกานุโยค ก็ย่อหย่อนตามกิเลสไปเหมือนกัน ตัวสำคัญที่จะช่วยเราในการปฏิบัติได้ คือความช่างสังเกตของเรา โยนิโสมนสิการ สังเกตเอา เวลานี้ควรทำให้จิตใจผ่อนคลายก็ทำ เวลานี้ควรทำสมถะก็ทำ เวลานี้ควรเจริญปัญญาก็เจริญปัญญา รู้จักแนวรุกแนวรับของเรา

ทำอะไรไม่ได้จริงๆ หลวงพ่อดูการ์ตูนด้วยซ้ำไปแต่ก่อนนี้ ฟังแล้วเหมือนไม่ใช่กรรมฐาน แต่ตอนนั้นเป็นโยมทำได้ พระไม่มีการ์ตูนให้ดู พูดอย่างนี้ไม่ต้องเอาการ์ตูนมาถวายพระนะ การ์ตูนเดี๋ยวนี้ค่อนข้างลามก ไม่ต้องเอามาถวาย แล้วพระก็มีอย่างอื่นทำ ทำงานในวัดนี่ล่ะก็เป็นการเปลี่ยนอารมณ์ ไม่ให้หมกมุ่น ไม่ใช่นั่งสมาธิอย่างหมกมุ่น ไม่ดี เดินปัญญาอย่างหมกมุ่น ไม่ดี ในวัดก็มีมาตรการเปลี่ยนอารมณ์ ถึงเวลาออกมากวาดวัด ไปปลูกป่า ไปช่วยกันปลูกป่า ต่อไปสัตว์มันได้อาศัย เพิ่มพื้นที่สีเขียว

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
20 พฤศจิกายน 2564