เรามีสิทธิ์เลือกความสุขของตัวเอง

ภาวนา ตั้งอกตั้งใจทำสม่ำเสมอไปทุกวันๆ ใจเราก็จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เข้าถึงความสงบสุข ในโลกมันมีความสุข แต่ความสุขของโลกมันไม่สงบ ความสุขที่ร้อน ความสุขที่อาศัยคนอื่นอาศัยสิ่งอื่น มันไม่เหมือนการภาวนา มันมีความสุข มีความสงบด้วยอยู่ในตัวเอง ไม่มีความสุขอะไรเปรียบเทียบได้เลย พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่า “ความสุขเสมอด้วยความสงบไม่มี” สงบทางกาย ไม่คลุกคลีวุ่นวาย สงบวาจา ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดเรื่องก่อกวนสร้างปัญหา ที่สำคัญคือสงบใจ

สงบใจก็มี 2 อัน อันหนึ่งสงบด้วยสมาธิ แทนที่เราจะปล่อยจิตใจวุ่นวาย ดิ้นเร่าๆ ไปตามโลก เรามาทำสมาธิ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรือกรรมฐานอะไรสักอย่างหนึ่งก็ได้ ทำแรกๆ ยังไม่เห็นผล ทำใหม่ๆ ทำไม่เป็น ก็ไปบังคับจิตใจ พอบังคับ จิตใจก็เครียด ไม่มีความสุข อย่างใครจะบอกว่า ฝึกสมาธิแล้วมีความสุข หัดใหม่ๆ จะไม่รู้สึกอย่างนั้นหรอก รู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่ อึดอัด อันนั้นยังทำไม่เป็น อดทน ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ สังเกตไป จิตมันสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง มีความสุข มันรู้ มันตื่น มันเบิกบาน มันสดชื่นมากๆ เลย

 

ความสุขของสมาธิ

ความสุขทางโลก มันเป็นจุดเล็กๆ อย่างความสุขทางร่างกาย มีอะไรมาสัมผัสที่นุ่มนวล ก็มีความสุขเฉพาะจุดที่มันสัมผัส ความสุขในสมาธิ มันซาบซ่าน อิ่มเอิบ เบิกบานไปทุกรูขุมขนเลย ตั้งแต่หัวถึงเท้า ดูลงมา มันเย็น มันชื่นใจ นี่ความสุขของสมาธิ สมาธิละเอียดขึ้นๆ ภาระของจิตมันก็ลดลงเรื่อยๆ เริ่มต้นยังมีภาระในการบริกรรมพุทโธ ในการกำหนดลมหายใจ กำหนดมือ เท้า ท้องอะไรอย่างนี้ก็เป็นภาระ จิตมันสงบมากขึ้น มันก็วางภาระเป็น ลำดับๆ ไป

อย่างเคยหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุทหายใจออกโธ นับ 2 พอจิตมันสงบ มันก็เหลือแต่หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ การนับก็หายไป ภาระก็ลดลงไปอันหนึ่ง ภาวนาไปเรื่อยๆ พุทโธก็หายไป เหลือแต่การหายใจ ภาระก็ลดลงอีก ภาวนาต่อไปเรื่อยๆ ลมหายใจค่อยๆ ระงับ สั้นลงๆๆ จนกระทั่งมาหยุดอยู่ที่ปลายจมูก อยู่ตรงนี้ บางคนก็เรียกจะงอยปาก ตรงจุดนี้ พอลมมันละเอียด มันประณีต มันจะกลายเป็นแสงสว่าง ในความรู้สึก เรารู้อยู่กับแสงสว่าง ลมเป็นของหยาบไปแล้ว จิตมันก็สงบมากขึ้นๆ ต่อมามันก็เห็นอีก การที่จิตยังต้องคอยตรึกคอยตรอง เคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่างก็เป็นภาระ จิตก็วางแสงสว่างไป มันก็วางภาระอยู่กับความมีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งของจิต

ภาวนาต่อไปอีก เราก็จะเห็นว่าปีติก็เป็นภาระ ปีติเป็นความหวือหวาของจิตที่ได้สัมผัสกับสมาธิใหม่ๆ มันคล้ายๆ ปลา ฝนตกใหม่ๆ น้ำมาปลามันกระดี๊กระด๊า ดีอกดีใจ อาการของปีติ มันก็เหมือนปลาได้น้ำใหม่ๆ ถ้าเราภาวนาไปเรื่อย เราก็จะเห็นอาการที่จิตมันลิงโลดนั้น มันเป็นภาระอีก จิตก็วางความลิงโลดลงไป มีความสุข อยู่กับความสุขไป ภาวนาไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นอีก การที่จิตไปเคล้าอยู่กับความสุข ติดอกติดใจในความสุข ก็เป็นภาระอีก จิตก็วางเข้ามาเป็นอุเบกขา สงบสบายเป็นหนึ่งอยู่อย่างนั้น

ความสุขของสมาธิมันอิ่มเอิบ มันเบิกบาน มันชื่นอกชื่นใจ ความสุขในโลกสั้นนิดเดียว ความสุขในสมาธิยาว ความสุขในโลก อย่างถูกหวย ดีใจอยู่แป๊บเดียวเอง เดี๋ยวก็เริ่มกลุ้มใจแล้ว อย่างถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ได้เงินหลายสิบล้านอะไรอย่างนี้ ดีใจประเดี๋ยวเดียวเอง เดี๋ยวก็เริ่มกลุ้มใจแล้ว โจรจะมาปล้นไหม คนจะมาไถไหมอะไรอย่างนี้ กังวล ความสุขมีนิดเดียว

เหมือนเมื่อก่อนหลวงพ่อรับราชการ เห็นคนเขาชอบเล่นแชร์กัน พวกข้าราชการชอบเล่นแชร์ ตอนเปียกัน เปียได้มีความสุข หลังจากนั้นไม่มีความสุขแล้ว ต้องส่งแชร์ไปเรื่อยๆ ความสุขในโลกมันสั้นนิดเดียว จีบสาวสักคนหนึ่ง พอเขาตกลงยอมเป็นแฟน ก็ดีใจ นานๆ ไป รู้สึกมาอยู่ด้วยกันแล้ว กลายเป็นภาระ เป็นภาระทางใจ ความสุขของโลกๆ มันสั้น มันเป็นความสุขที่เจือด้วยภาระมากมาย ความสุขในสมาธิ จากการที่เราภาวนาปฏิบัติไป มันสงบสุข มันไม่ใช่สุขเฉยๆ คือสงบด้วย สุขด้วย ไม่เร่าร้อน ค่อยๆ ฝึก ทุกวันๆ จิตเราจะมีกำลังเข้มแข็งมากขึ้นๆ จะดีขึ้น สบาย ไม่ต้องพึ่งคนอื่น ไม่ต้องพึ่งสิ่งอื่น จะรวยก็มีความสุข จะจนก็มีความสุข จะแข็งแรงก็มีความสุข จะเจ็บป่วยก็ยังมีความสุขอยู่ได้

ฉะนั้นพวกเราพยายามฝึกทุกวันๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทีแรกทำไม่เป็นก็ยังอึดอัดหน่อย แล้วค่อยๆ สังเกตเอา ที่มันอึดอัดเพราะเราอยาก อยากดี อยากสุข อยากสงบ พอรู้ทันใจที่อยาก ใจเป็นกลาง ไม่อยากแล้ว ทำกรรมฐานไปด้วยใจที่ไม่มีความอยาก สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง พอใจเป็นกลางจริงๆ แป๊บเดียว สงบเลย มันมีความสุข

 

“ความสุขทางโลก เจ้าชายสิทธัตถะท่านผ่านมาแล้วตอนเป็นเจ้าชาย
ความสุขในสมาธิท่านผ่านมาแล้วตอนที่ไปเรียนกับพวกฤๅษี
ท่านก็ยังเห็นว่ามันยังไม่น่าพอใจ มันไม่สุขจริง ยังไม่สงบจริง
ยังแปรปรวนได้อีก เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้
ท่านเลยมาแสวงหาสิ่งซึ่งสูงขึ้นไปอีก
ในที่สุดท่านก็ค้นพบวิธีเจริญปัญญา”

 

ความสุขมันมีอีกอันหนึ่ง ความสุขของสมาธิก็ยังไม่ยั่งยืน ที่ว่าไม่ยั่งยืนอยู่ได้เป็นกัปๆ ถ้าตายไปเป็นพรหม พรหมบางชนิดอยู่ตั้ง 80,000 กัป จักรวาลแตกดับ เกิดดับๆ 80,000 ครั้ง ยังไม่ตายเลย อายุยืน สงบ ว่าง ไม่มีอะไร แต่ก็เสื่อม สุดท้าย สมาธิมันก็ยังเสื่อมได้อีก ฉะนั้นมันยังเป็นของที่เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยจริงๆ ยังไม่ได้ ฝากเป็นฝากตายกับสมาธิยังไม่ได้ เพราะเราไปฝากชีวิตไว้กับของเสื่อม มันก็ยังเชื่อถืออะไรไม่ได้ เหมือนเราไปประกันชีวิต เราคิดว่าชีวิตเรามั่นคง บริษัทที่เราไปประกันด้วย มันไม่มั่นคง เดี๋ยวมันก็เจ๊งไป เสียเงินฟรีไป เรื่องทำสมาธิก็เหมือนกัน จนเราได้สงบถึงฌานถึงอะไรนี่ มีความสุข บริษัทคือฌาน มันก็ยังไม่ยั่งยืน ถึงจุดหนึ่งมันก็เสื่อมอีก เพราะฉะนั้นเราไปฝากเป็นฝากตายไว้กับมันยังไม่ได้ ไว้ใจไม่ได้

มันต้องมีของที่ดีกว่านี้อีก ตรงนี้ล่ะที่เจ้าชายสิทธัตถะท่านเที่ยวแสวงหา ความสุขทางโลก ท่านผ่านมาแล้วตอนเป็นเจ้าชาย ความสุขในสมาธิท่านผ่านมาแล้วตอนที่ไปเรียนกับพวกฤๅษี ท่านก็ยังเห็นว่ามันยังไม่น่าพอใจ มันไม่สุขจริง ยังไม่สงบจริง ยังแปรปรวนได้อีก เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ ท่านเลยมาแสวงหาสิ่งซึ่งสูงขึ้นไปอีก ในที่สุดท่านก็ค้นพบวิธีเจริญปัญญา

 

การเจริญปัญญาของเจ้าชายสิทธัตถะ

การเจริญปัญญาของท่าน ท่านมีจิตที่ทรงสมาธิ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคนดู แล้วท่านก็ดูลงไปในรูปธรรมในนามธรรมของท่านเอง อย่างท่านดูลงมาว่า เพราะอะไรมีอยู่หนอ ความทุกข์ถึงมีอยู่ ท่านเห็น เพราะว่าจิตมันเข้าไปยึดถือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าชาติ การที่จิตไปหยิบฉวยเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา เรียกว่าชาติ พอจิตไปหยิบฉวยตาขึ้นมา ความทุกข์ก็เกิด จิตไปหยิบฉวยหู ความทุกข์ก็เกิด ไปหยิบฉวยจมูก หยิบฉวยลิ้น หยิบฉวยกาย หยิบฉวยจิตขึ้นมา ความทุกข์ก็เกิดอีก มีชาติ มันก็เลยมีทุกข์

ท่านก็ดูความจริงต่อไปอีก ไม่ใช่คิดเอา บางคนไปคิดว่า พระพุทธเจ้าคิดเอา เจ้าชายสิทธัตถะคิดๆ เอา ปฏิจจสมุปบาท ท่านต้องมีสภาวะรองรับอยู่ดีล่ะ ไม่ใช่คิดกลางอากาศ ต้องเห็น ท่านถึงบอกว่าสติปัฏฐานเป็นทางสายเอก ทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ถ้าท่านคิดเอาแล้วท่านหลุดพ้นได้ ก็แสดงว่ามี 2 สาย นี้มีสายเดียว ฉะนั้นท่านไม่ได้ไปนั่งคิดเอาว่าอะไรมีอยู่ ทุกข์ถึงมีอยู่ อะไรมีอยู่ชาติถึงมีอยู่ แต่ท่านเห็น ท่านดูลงมาจริงๆ เลย ทุกข์อยู่ที่กาย ทุกข์อยู่ที่ใจ

ทุกข์ในกายก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความหิว ความกระหาย ความปวดอึปวดฉี่อะไรนี่ มันเป็นทุกข์ในร่างกาย มันมีอยู่ ความทุกข์ในจิตใจก็คือความทุกข์จากการพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ ความทุกข์จากการประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ ความทุกข์ที่เกิดจากการไม่สมอยาก ความเศร้าโศก ร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ สุดท้ายมันรวมลงมาที่ไม่สบายใจ

ท่านรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง แล้วท่านก็เลยสาวลงไปที่สาเหตุของมัน ไล่ไปตามลำดับๆ จนสุดท้ายท่านก็ไปดูเข้าไปจนถึงสาเหตุของมันก็คือตัวตัณหา ตัวอวิชชา เพราะมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ก็เลยเกิดชาติ การที่จิตหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา จิตไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา มาทำงาน จิตก็มีภาระ จิตก็มีทุกข์ขึ้นมา ท่านก็ดูๆๆ ลงไป โห ตัณหานี่ล่ะ ความอยากนี้ล่ะ ที่ทำให้จิตมันดิ้นรนแสวงหา จิตมันเลยยึดถือโน้นยึดถือนี้ จิตมันก็เลยทุกข์ขึ้นมา ดูลงไปอีก ตัณหา มันรากเหง้า มันมาจากไหน รากเหง้ามาจากอวิชชา ท่านค่อยๆ ไล่ๆๆ เป็นลำดับลงมา

หลวงพ่อพูดย่อๆ หรอก พูดละเอียดพวกเราฟังไม่เข้าใจ ฟังแล้วเหนื่อย อย่างย่อๆ เลยก็คือสรุปเลยก็คือ การที่เราไม่รู้ความจริงของกาย ไม่รู้ความจริงของจิตใจนั่นล่ะ คือตัวอวิชชา ถ้าเรารู้ความจริงของร่างกาย ความจริงของจิตใจ อันนั้นเป็นวิชชา มีอวิชชา มันก็เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ เกิดทุกข์ขึ้นมาเป็นลำดับๆ ไป อวิชชาความไม่รู้ทุกข์ คือไม่รู้ความจริงของรูป นาม กาย ใจ ความจริงของรูป นาม กาย ใจก็คือ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่คือความจริง

 

 

เพราะฉะนั้นทำวิปัสสนาถึงต้องดูลงมาให้เห็นถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะไปเห็นแค่กาย เห็นแค่ใจ ยังไม่พอ นั่นเห็นกายเห็นใจเฉยๆ ยังไม่พอ ต้องเห็นว่าความจริงของกายเป็นอย่างไร ความจริงของใจเป็นอย่างไร ต้องเห็นความจริงก็จะเข้าถึงสัจจะ เห็นกายเห็นใจยังเข้าไม่ถึงความจริงแท้ ท่านไม่ได้บอกว่าเห็นกายเห็นใจใช้ได้ ท่านบอกเห็นทุกข์ใช้ได้ อะไรที่มันทุกข์ กายมันทุกข์ ใจมันทุกข์ มันเป็นทุกข์ในลักษณะอย่างไร มันเป็นทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์เพราะมันถูกบีบคั้น เป็นทุกข์เพราะมันบังคับไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจ อย่างนี้เรียกว่าเราเห็นจริงแล้ว รู้แจ้งในกองทุกข์แล้วว่ากองทุกข์คือกายกับใจนี้ มันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ฉะนั้นเวลาที่เรามาหัดภาวนา เราก็ตั้งหลักให้ดีเลย อันแรกเลยเราจะคอยรู้สึกอยู่ในกาย คอยรู้สึกอยู่ในใจ (ของตัวเอง) ดีที่สุด ดูกายดูใจคนอื่น เสี่ยง อย่างพระหนุ่มๆ พระพุทธเจ้าสอนให้สำรวม ไม่แส่ส่ายลูกตาไปเห็น โยมมาวัดก็ดู ดูไป โยมบางคนก็ไม่เรียบร้อย ใส่เสื้อคอลึกๆ นุ่งกางเกงสั้นนิดเดียว ยุคนี้ยังดี ยุคก่อนนุ่งกางเกงน่าเกลียดมากเลย ก้มกราบทีหนึ่ง ความลับรั่วไหลหมดเลย พระหนุ่มๆ ไปเห็นเข้า ใจก็หวั่นไหวอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นอย่างพระ ท่านให้สำรวมอินทรีย์ไว้ก่อน อย่าไปดูมัน ดูคนอื่น กิเลสมันจะเกิด ให้ดูตัวเอง

 

ปฏิกูลอสุภะยังไม่ใช่ความจริงแท้

พวกเราจะภาวนา ถึงเราไม่ได้เป็นพระ เราก็ใช้หลักอันเดียวกัน อย่าไปดูคนอื่นเลย ไปดูพวกดาราอะไรนี่ มันสวยมันหล่อ ดูแล้วเดี๋ยวเกิดกิเลส ดูกายดูใจของเราเองนี่ล่ะ ดูกายดูใจของเรา มันดูได้ 2 อย่าง อันหนึ่งเห็นความไม่สวยไม่งาม ความเป็นปฏิกูลอสุภะ อันนี้ถ้าดูอย่างนี้ จิตจะสงบจากราคะ เป็นสมาธิ เกิดสมาธิขึ้น ถ้าดูอีกอย่างหนึ่ง ก็ดูให้เห็นเลย กายนี้ใจนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราเริ่มเห็นความจริงแล้ว

ตัวอสุภะ ตัวปฏิกูลอสุภะไม่ใช่ความจริงแท้ อย่างเราบอกว่าซากศพเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะใช่ไหม แมลงวันบอกว่า แหม มันหอมชื่นใจ มันเป็นสุภะของแมลงวัน ฉะนั้นวัตถุสิ่งเดียวกันสำหรับบางคน สำหรับบางสัตว์เป็นสุภะ บางคนบางสัตว์เป็นอสุภะ ฉะนั้นยังเป็นของที่ยังไม่แน่นอน ฉะนั้น อสุภะอะไรพวกนี้ ปฏิกูลอสุภะ ยังไม่ใช่ความจริงแท้ ถ้าความจริงแท้ ไม่ว่าใครมาสัมผัสหรือสัตว์ตัวไหนมาสัมผัสก็ต้องรู้สึกอย่างเดียวกัน ฉะนั้นของที่จริงๆ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เพราะฉะนั้นเราภาวนาเราอยากเห็นความจริงของรูป นาม กาย ใจ เรียกรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็ต้องรู้ความจริงของตัวทุกข์ ของตัวขันธ์ 5 ของตัวรูป นาม กาย ใจอย่างนี้ ความจริงของรูปนาม ของกาย สมมติของร่างกาย ความจริงของร่างกาย คือไม่เที่ยง มีร่างกายของคนไหน หรือสัตว์ตัวไหนเที่ยงบ้าง มีไหม ไม่มีเลยเห็นไหม ร่างกายถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา ค่อยๆ ถูกบีบคั้นไปเรื่อยๆ เหมือนโบราณชอบเปรียบหม้อดิน ในพระไตรปิฎกก็ชอบเปรียบ เหมือนเรามีหม้อดิน เดี๋ยวนี้เป็นหม้ออลูมิเนียม หม้อสแตนเลส แต่ก่อนเป็นหม้อดินดูง่าย เปรียบเทียบ หม้อดินปั้นขึ้นมา รักษายาก ท่านเปรียบร่างกายเหมือนหม้อดินอะไรกระทบนิดหนึ่งก็แตกแล้ว อย่างร่างกายเราหนาวเกินไปก็แตกแล้ว ตายแล้ว ร้อนเกินไปก็ตายแล้ว เมื่อไม่กี่วันนี้ที่แคนาดา มีคลื่นความร้อนมา ฝรั่งตายไปตั้งเยอะ ร้อนไปตั้ง 40 กว่าองศา

ร่างกายมันเป็นของที่แตกง่าย มันไม่คงทน มันถูกบีบคั้นให้สลายตัวอยู่ตลอดเวลา มันเป็นทุกข์ แล้วเราบังคับมันไม่ได้ ควบคุมมันไม่ได้ เราสั่งให้มันไม่แก่ มันก็แก่ สั่งให้มันไม่เจ็บ มันก็เจ็บ สั่งให้มันไม่ตาย มันก็ตาย คุมไม่ได้ นี่เรียกเห็นอนัตตา เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นอนัตตา อย่างนี้เราดูร่างกาย เราจะเป็นกายคนไทย กายฝรั่ง กายคนจีน มันก็อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน ฉะนั้นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเลยเป็นความจริง เป็นความจริงแท้ๆ ในขณะที่ปฏิกูลอสุภะ แต่ละคนไม่รู้สึกเหมือนกัน รู้สึกต่างๆ กันไป

อย่างคนไทยไม่อาบน้ำ รู้สึกทนไม่ได้ ฝรั่งไม่อาบน้ำตั้งหลายๆ วัน รู้สึกปกติ เราผ่านมา รู้สึกเหม็นสาบ เขาก็ใช้น้ำหอมกลบกลิ่นไว้ หรือคนไทยใช่ไหม ขับถ่ายแล้วก็ต้องล้างก้น ต้องมีน้ำ ฝรั่งไม่มีอย่างนี้ แต่ละชาติมันมีระดับที่โอเค ที่ยอมรับได้ ไม่เหมือนกัน เรื่องตรงไหนสะอาด ตรงไหนสกปรก ไม่เหมือนกัน อย่างคนไทยเข้าบ้านต้องถอดรองเท้า ถ้าดีกว่านั้นก็ล้างเท้าด้วย ขึ้นเตียงนอน แล้วไปเที่ยวมา ยังไม่ถอดรองเท้า แล้วขึ้นเตียงนอน ถ้าเป็นเด็กๆ จะถูกเคาะตาตุ่มเลย ถูกไล่ให้ลุกไปอาบน้ำ ถอดรองเท้าถุงเท้าอะไรอย่างนี้

เพราะฉะนั้นเรื่องอสุภะ แค่ไหนอสุภะ มันไม่เหมือนกัน แต่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ว่าที่ไหนก็เหมือนกันหมดคนไทย คนจีน คนฝรั่ง คนแขกร่างกายมันก็แก่ มันก็เจ็บ มันก็ตาย เหมือนๆ กัน ถูกความทุกข์บีบคั้นเหมือนๆ กัน ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ เหมือนๆ กัน บางคนก็พยายามต่อสู้ หน้าเหี่ยวหน้าย่นก็ไปดึง ฉีดโบท็อกซ์ ไปผ่าตัดดึงหนัง ดึงไปเรื่อยๆ หวังว่าจะดูไม่แก่ แต่ข้างในมันแก่ สุดท้ายหน้ายังสาวอยู่เลย อายุเยอะแล้ว แล้วก็ตาย ยั่งยืนอยู่ไม่ได้จริงหรอก เพราะฉะนั้นเวลาเราดูความจริงของกาย ดูความจริงของจิตใจ ดูให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วิปัสสนากรรมฐานถึงต้องดูให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของรูป นาม กาย ใจ

ปฏิกูลอสุภะนั้นทำได้แล้วมีประโยชน์ไหม มี ทำให้จิตสงบ อย่างจิตเรามีราคะมากๆ อย่างนี้ เราพิจารณาปฏิกูลอสุภะ ร่างกายนี้จริงๆ เป็นหนัง มีหนังหุ้มอยู่รอบๆ ข้างในมีเนื้อหนัง มีเนื้อ มีเอ็น มีกระดูก มีเลือด น้ำเลือด น้ำหนอง มีอึ มีฉี่อะไรอยู่ข้างใน ไม่สวยไม่งาม พอดูแล้วใจมันก็สลดสังเวช ราคะที่มี มันก็สลด ลดลงไป หรือบางท่านบารมีท่านสูง ท่านดูพิจารณาอสุภะที่คนอื่น อันนี้มีครูบาอาจารย์หลายองค์เลย ประวัติของท่าน ท่านพิจารณาปฏิกูลอสุภะของคนอื่น หลวงพ่อไม่อยากแนะนำ พวกเราอินทรีย์เราอ่อน บารมีเราน้อย ไปดูคนอื่น เดี๋ยวกิเลสมันฟู มันมองไม่เห็นอสุภะ มันเห็นแต่สุภะไปหมด

 

อย่างมีครูบาอาจารย์บางองค์ ท่านลังเลใจว่าจะบวชตลอดดีไหม หรือจะสึก หรือจะอย่างไรดีกับชีวิต จะไปมีเมีย หรืออย่างไรดี มีองค์หนึ่ง ท่านชอบผู้หญิงคนหนึ่งมากเลย ท่านก็พิจารณา บารมีท่านสูง ท่านก็พิจารณา เราชอบเขาเพราะอะไร เพราะเขาสวย เขาสวยตลอดเวลาไหม ท่านบอก เออ เท่าที่เห็นก็สวยตลอด แต่บางเวลาที่ท่านไม่เห็น ไม่รู้สวยหรือเปล่า เวลาไหนที่ไม่เห็น คนโบราณเขาขับถ่ายกันตามท้องไร่ท้องนาอะไรอย่างนี้ ท่านก็แอบย่องไป ตามไปดูผู้หญิงไปอึในท้องนา ท่านก็ไปดู ดูห่างๆ ไม่ใช่ดูใกล้ๆ พอผู้หญิงนั้นขับถ่ายเสร็จลุกไปแล้ว ท่านก็เข้าไปดู ท่านเห็นอึของเขา มันไม่สวย มันไม่งาม มีหนอนมีพยาธิยุกยิกๆ อยู่ ท่านรู้สึกไม่ไหวแล้ว ร่างกายที่ดูสวยดูงาม มันหลอกตาเท่านั้น ข้างในจริงๆ มันสกปรก บารมีท่านสูง ท่านไม่เอาแล้ว

บางองค์อย่างหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ท่านจะบวช ท่านก็สงสัย ท่านไม่เคยถูกตัวผู้หญิง เห็นผู้ชายทั้งหลายมันชอบหน้าอกผู้หญิงมากเลย มันหลงใหลหน้าอกผู้หญิง ก่อนท่านจะบวช ท่านก็ไปคุยกับสาวที่ท่านรู้จัก รู้สึกจะลูกพี่ลูกน้องกัน บอกขอจับหน้าอกสักทีหนึ่งได้ไหม อยากรู้ว่าทำไม คนมันหลงกันทั่วโลกเลย ผู้หญิงคนนี้ก็บารมีสูง เอ้า ลองดู จะบวชแล้ว ท่านลองจับหน้าอกเขาดู สัมผัส โอ แบบนี้ แล้วลองมาจับที่น่องตัวเองดู เออ มันเหมือนกัน เราจะไปบ้าอะไร เลยไม่สึกเลย อย่างนี้บารมีท่านสูง ท่านดูคนอื่นได้ แต่หลวงพ่อไม่แนะนำพวกเราหรอก พวกเรายอมรับความจริงเถอะ บารมีเรายังไม่มาก อินทรีย์เรายังอ่อน ฉะนั้นถ้าจะดูปฏิกูล ดูอสุภะ ดูของตัวเอง ปลอดภัยกว่า ยิ่งพวกพระไม่ให้ไปดูคนอื่น เดี๋ยวสึกไป

 

ความจริงคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ความสวยของคนหนึ่งกับความสวยของคนหนึ่งก็ไม่เหมือนกันใช่ไหม ผู้หญิงคนเดียวกัน ผู้ชายคนหนึ่งว่าสวย คนหนึ่งว่าไม่สวย ฉะนั้นสวยไม่สวย สะอาดไม่สะอาด ไม่ใช่ความจริงแท้ บางคน เราดูหน้าตาพิลึก มีคนเขาชอบ เขาบอกอย่างนี้สวยของเขา อย่างนี้เรียกว่ามันเป็นเรื่องบัญญัติ ไม่ใช่เรื่องจริง แต่ความจริงคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างร่างกาย เล่าให้เราฟังแล้วเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เวลาเราภาวนาเข้ามาที่จิตใจ อย่าเอาแต่ความสงบอยู่เฉยๆ ถ้าภาวนาแล้วก็สงบ นิ่ง ว่าง สบายอยู่อย่างนั้น ติดอยู่ในความสุข คล้ายๆ เราติดอยู่ในสิ่งซึ่งเป็นสุภะ ในสิ่งที่ดีที่งาม เพลิดเพลินไป มันยังไม่ใช่ความจริง เพราะมันยังแปรปรวนได้ สงบได้ เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่านได้ มีสุขได้ เดี๋ยวก็มีทุกข์ได้อีก เราก็ดูความจริงของจิตใจ ความจริงของจิตใจก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน

จิตใจเป็นอนิจจังอย่างไร จิตใจสุขอยู่ชั่วคราว แล้วก็ดับ จิตใจทุกข์อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตเป็นกุศลอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตโลภ โกรธ หลงอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ เฝ้าดูของจริงไป เฝ้ารู้เฝ้าดูไป เห็นแต่ของเกิดแล้วดับ อย่างนี้เรียกเห็นอนิจจัง แล้วเห็นจิตถูกบีบคั้น จิตที่ถูกบีบคั้น จะเห็นเฉพาะคนที่ทรงสมาธิ คนที่ไม่ได้ทรงฌานอะไรอย่างนี้จิตมันเกิดดับรวดเร็ว ยังไม่ทันจะถูกบีบคั้นมันดับไปเสียก่อนแล้ว มันเกิดดับๆ ไปรวดเร็วมาก แต่จิตที่ของคนทรงฌาน พอเข้าสมาธิ มีปีติ มีความสุข มีอุเบกขาอะไรนี่ ทรงอยู่ได้นาน บางทีอยู่ตั้งหลายวัน เข้าสมาธิอยู่จิตสงบสบาย มีความสุขอย่างนี้ จะไปดูให้เห็นทุกขังดูยากสำหรับคนทั่วไป

สำหรับคนทรงฌานดูได้ มันจะเห็นว่า พอจิตเราเข้าถึงฌานสงบ มันกำลังถูกบีบคั้นให้ออกจากฌาน มันถูกบีบคั้นให้ถอยๆๆ ออกมา เข้าไปถึงฌานที่ 8 เดี๋ยวมันก็ถูกบีบคั้นให้ถอยๆ ลงมาเรื่อยๆ จนมาถึงฌานที่ 1 แล้วหลุดออกมาเลย บางทีลงมาถึงฌาน 4 ก็กระเด็นหลุดออกมาเลยก็มี เพราะฉะนั้นคนที่จะเห็นทุกขังของจิตได้ว่า จิตนี้จิตที่เป็นปฐมฌานถูกบีบคั้นให้แตกสลายอย่างนี้ ก็ต้องเป็นคนที่ได้ปฐมฌาน จิตของคนที่ได้ฌาน 2 ถูกบีบคั้นให้สูญเสียความเป็นฌาน 2 ไป ต้องได้ฌานมันจะเห็นทุกขังง่าย

เพราะฉะนั้นคนที่ท่านบรรลุพระอรหันต์ท่านหลุดพ้น ถ้าเป็นพวกที่ทรงฌาน ส่วนใหญ่จะหลุดพ้นด้วยการเห็นทุกข์ เห็นความถูกบีบคั้น อย่างจิตมันทรงฌาน แหม มันมีแต่ความสุข ถ้าบุญบารมีพอ กำลังทรงฌาน มีความสุขมีความสงบ อยู่ๆ จิตมันพลิกตัวทีเดียว จากความสุขความสงบ กลายเป็นความทุกข์ที่มหาศาล เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ในที่สุดก็รู้เลย จิตมันทุกข์จริงๆ ในโลกนี้ไม่มีอะไรทุกข์เท่าตัวจิตผู้รู้นี่ล่ะ ตัวทุกข์ที่สุด หัวโจกของทุกข์อยู่ตรงนี้เลย

ถ้าภาวนาทรงฌาน เวลาหลุดพ้น มักจะหลุดพ้นด้วยการเห็นทุกข์ ถ้าเป็นพวกปัญญาแก่กล้า มักจะเห็นสุญญตา เห็นอนัตตา เพราะฉะนั้นจะเห็นอนิจจังก็ได้ เห็นทุกขัง เห็นอนัตตาก็ได้ เวลาภาวนา ถ้าดูจิตใจก็เห็นจิตใจไม่เที่ยง เกิดดับๆ ไป แต่ถ้าเราไม่ได้ทรงฌาน เราก็เห็นจิตนี้เป็นอนัตตา เห็นอนิจจัง เห็นอนัตตา ทุกขังเว้นไว้ก่อน ทุกขังเอาไว้ให้พวกที่เขาเล่นฌานเขาดูกัน

อย่างจิตเราเป็นอนิจจัง เช่น สุขแล้วก็ดับ ทุกข์แล้วก็ดับ เป็นอนัตตา ในแง่ที่ว่าเราสั่งให้มันสุขไม่ได้ สั่งว่าจงมีความสุขเกิดขึ้น สั่งไม่ได้ สั่งว่าความสุขจงอยู่นานๆ สั่งไม่ได้ สั่งว่าความทุกข์ จงอย่าเกิดขึ้น สั่งไม่ได้ ความทุกข์เกิดแล้ว สั่งให้ดับทันที สั่งไม่ได้ มันไม่อยู่ในอำนาจบังคับ สั่งจิตว่าอย่าโลภ อย่าโกรธ อย่าหลง สั่งไม่ได้ สั่งว่าจิตจงดีตลอด สั่งไม่ได้ ตรงที่เห็นว่าสั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ เขาเรียกว่าเห็นอนัตตา

ฉะนั้นถ้าเราดูจิตดูใจโดยที่เราไม่ได้ฌาน แนะนำให้ดูอนิจจัง อนัตตาไป แต่ถ้าเราเข้าสมาธิเก่งชำนิชำนาญ เวลามันจะปล่อยวางจะต้องเห็นทุกข์ เพราะว่าจิตนี้ แหม มันบรมสุขเลย จิตที่ทรงสมาธิอยู่ มีความสุขเยอะ ให้ปล่อยวางไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ว่าปัญญาแก่กล้า เห็นว่าจิตนั้นคือตัวทุกข์ ทุกข์ที่สุดเลย ทุกข์ยิ่งกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง จิตถึงจะยอมวาง

เพราะฉะนั้นเวลาบรรลุมรรคผลนิพพาน ท่านถึงจำแนกไว้ 3 ชนิด บางท่านบรรลุด้วยการเห็นความเกิดดับ เห็นอนิจจัง เรียกว่า อนิมิตตวิโมกข์ ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีอะไรที่จะสังเกต เกิดแล้วหายไปหมดเลย บางท่านบรรลุด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ ด้วยการเห็นทุกข์ อันนี้สำหรับผู้ทรงฌาน ไม่ได้ทรงฌาน ไม่เห็นหรอก เพราะว่าจิตเกิดแล้วดับปั๊บเลย ยังไม่ทันดูว่ามันถูกบีบคั้นหรอก แล้วก็พวกที่ปัญญากล้า เขาจะหลุดพ้นด้วยสุญญตวิโมกข์ เห็นสุญญตา เห็นอนัตตา แต่ละคนก็มีลีลาของตัวเอง

 

บรมสุข

แล้วเราภาวนา พอเราเกิดมรรคเกิดผล เป็นผลจากการที่เราเจริญสติเจริญปัญญาแล้ว ได้มรรคได้ผล จิตปล่อยวาง ทีแรกก็ปล่อยวางความเห็นผิดไป เราก็ไม่ทุกข์เพราะความเห็นผิดอีกต่อไป ต่อมาเราก็ปล่อยวางความยึดถือในกายได้ เราก็ไม่ทุกข์เพราะความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของกาย ก็ปล่อยวางกายได้ ก็ไม่ทุกข์เพราะกายอีกต่อไป สุดท้ายปล่อยวางจิตได้ ก็ไม่ทุกข์เพราะจิตอีกต่อไป ก็ไม่มีอะไรจะให้ทุกข์อีกต่อไปแล้ว จิตเข้าถึงความสุข ความสงบ มันเป็นอมตะ มันคงตัวอยู่อย่างนั้นล่ะ ทรงตัวอยู่ มีความสุข มีความสงบ

ครูบาอาจารย์ท่านเล่าว่าท่านมาถึงตรงนี้ ท่านน้ำตาร่วงเลย โห มันมีความสุขอย่างนี้ ก็มีอยู่ในโลกด้วย พวกเราเคยได้ยินแต่มีความทุกข์จนน้ำตาตกใช่ไหม ท่านสัมผัสความสุขจนน้ำตาตกเลย มันสุขมหาศาล ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง อย่างหลวงปู่ พูดได้แล้ว ท่านไม่อยู่แล้ว ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ท่านภาวนาอยู่ แล้วท่านก็ดูๆๆ ลงมา วางกาย เข้ามาที่จิต สุดท้ายท่านก็หยิบจิตขึ้นมาแล้วขว้างทิ้งไปเลย หยิบจิตผู้รู้ขึ้นมาแล้วขว้างทิ้งไปเลย ท่านบอกมีอาการเหมือนกับท่านเอามือรวบไปที่กอหญ้า แล้วกระชากหญ้าขึ้นมาทั้งกอเลย แล้วก็ขว้างหญ้าที่ดึงขึ้นมาแล้วลงเหวไปเลย ไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอีกต่อไปแล้ว ท่านบอกว่าถึงตรงนี้ โห มีความสุข เรามีความสุขอยู่ปีกว่าๆ ท่านว่าอย่างนี้ แล้วถัดจากนั้น จิตเราก็เป็นอุเบกขา ไม่มี ไม่เป็น เราก็อยู่ของเราอย่างนี้ล่ะ ท่านก็เล่าให้ฟังอย่างนี้

เพราะฉะนั้นมันมีความสุขสูงสุดเลยคือสุขในพระนิพพาน นิพพานเป็นบรมสุข นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นบรมสุข แล้วทำไมเมื่อกี้หลวงพ่อพูดว่า พระพุทธเจ้าสอนว่า “สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี” แล้วนิพพานหรือความสงบแน่ที่เป็นความสุข ก็ความสงบสูงสุดนั่นล่ะคือพระนิพพาน ลักษณะของพระนิพพาน คือสันติ มีสันติลักษณะ ฉะนั้นสันติก็คือสงบนั่นล่ะ ฉะนั้นถ้าเราเข้าถึงความสงบระดับพระนิพพาน ก็เรียกว่าไม่มีความสุขอื่นยิ่งกว่านี้อีกแล้ว มันพ้นจากความเสียดแทงทั้งปวง พ้นจากภาระทั้งปวง

 

 

คราวนี้ก็อยู่ที่พวกเราแล้ว หลวงพ่อเล่าให้ฟัง ความสุขทั้ง 3 ชนิดแล้ว ความสุขอย่างโลกๆ วันๆ ก็วิ่งหาของกินอร่อย วิ่งเล่นเที่ยวโน้นเที่ยวนี้ ทำโน้นทำนี้ จีบคนโน้น หลอกคนนี้ หาเงิน บางคนมีความสุขกับการนับตัวเลขในบัญชี ตัวเลขยาวๆ ไม่ใช่เลขหนี้สิน เป็นเลขทรัพย์สินยาว มีความสุข เห็นตัวเลข เหนื่อยแทบตาย ก็ยังมีความสุขอยู่ ความสุขอย่างโลกๆ มันเจือทุกข์ เราจะเลือกอย่างนี้ พอใจอยู่แค่นี้ หลวงพ่อก็ไม่ว่า ก็แล้วแต่พวกเรา ทุกคนมีอิสระ

เรามีอิสระที่จะทำกรรม เราพอใจที่จะหาความสุขในโลกิยธรรม ความสุขอย่างโลกๆ ก็หาไปเถอะ หลวงพ่อไม่ว่าอะไรหรอก หลวงพ่อแค่บอกว่า มันมีความสุขที่เหนือกว่านี้อีก 2 อย่าง คือความสุขของสมาธิ กับความสุขของการเจริญปัญญาจนเกิดมรรคเกิดผลนิพพานขึ้นมา เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ เป็นลำดับไป ความสุขของฌาน เทียบกับความสุขของโลก คนที่เข้าฌานได้จะมีความรู้สึกว่า ความสุขอย่างโลกๆ เหมือนความสุขแบบเด็กเล่นดินเล่นทราย สกปรก ขุดไส้เดือน ขุดอะไรเล่น เล่นของสกปรก ในสายตาของผู้ทรงฌาน พวกความสุขในโลกิยะเป็นความสุขที่สกปรก เป็นความสุขที่ไม่ดีจริง ถ้าในสายตาของท่านที่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ไปแล้ว ก็เห็นว่าความสุขของสมาธิยังไม่ยั่งยืน มีความสุขที่ยั่งยืนกว่านั้นอีก

เราก็มีสิทธิที่จะเลือก ว่าเรามีเป้าหมายในชีวิตเรา ต้องการความสุขระดับไหน ที่จริงทุกคนต้องการความสุข ความสุขที่เราต้องการจะเป็นระดับไหน ก็แล้วแต่พวกเราทุกคนมีอิสระที่จะเลือกเส้นทางในชีวิตของตัวเอง อย่างหลวงพ่อหรือพระที่มาบวช พระอาจารย์อ๊าอะไรพวกนี้ ไม่คิดจะสึก พวกที่ไม่คิดจะสึก เพราะไม่คิดจะไปหาความสุขในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความสุขในโลกแล้ว รู้สึกไม่มีสาระแก่นสาร อยากได้ความสุขที่สูงขึ้นไปอีก

แต่ละคนก็มีทางเดิน มีอิสระที่จะเดินของตัวเอง นี่ล่ะกฎแห่งกรรมมันยุติธรรม ถ้าเราพอใจแค่นี้ เราก็ดำรงชีวิตอยู่แค่นี้ เราก็ได้แค่นี้ ถ้าเราปรารถนาสิ่งที่สูงขึ้นไป สิ่งที่ยั่งยืนขึ้นไป เราก็ต้องอดทนพากเพียร ทำกรรมที่สูงขึ้นไปอีก กรรมระดับสูงคือกรรมฐาน ถ้าเอาความสงบก็เรียกทำสมถกรรมฐาน เห็นไหมมีทำกรรม ถ้าเราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มุ่งไปสู่มรรคผลนิพพาน ก็จะได้พ้นทุกข์เด็ดขาด ก็เป็นเรื่องของกรรมทั้งนั้น ก็เลือกเอา จะทำอะไรก็เอา เป็นเสรีภาพเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ว่ากัน.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
14 พฤศจิกายน 2564