เลือกชัยภูมิให้เหมาะ

ช่วงนี้ถึงเทศกาลเชงเม้ง แล้วก็ต่อกับสงกรานต์ สงกรานต์ก็เป็นช่วงเดินทางทั่วประเทศ เราก็ต้องระมัดระวังตัวเองให้ดี คนไม่มีวินัยมันเยอะ คนที่หลงอบายมุขมันเยอะในบ้านเมืองเรา จุดตั้งต้นโรคระบาดส่วนใหญ่มันก็มาจากแหล่งอบายมุข แล้วก็กระจายเข้าไปสู่แหล่งชุมชนทั่วๆ ไป

พวกเราสนใจการปฏิบัติ เราก็ไม่ได้ไปยุ่งกับแหล่งอบายมุข แต่ว่าต้องระวังตัว คนใกล้ตัวเราหลงอยู่กับอบายมุขอะไรอย่างนี้ ก็ต้องระวังตัวเอาเอง อย่างราชการเขาอยากให้คนเดินทางเยอะๆ ท่องเที่ยวเยอะๆ กระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียน แล้วขอความร่วมมือให้มีวินัยในการป้องกันโรค คนไม่มีวินัยคนเดียวก็ทำลายอะไรต่ออะไรได้เยอะแล้ว จะให้ทุกคนมีวินัยเป็นไปไม่ได้ แต่มันก็จำเป็น มันได้แค่นี้ จะให้ปิดประเทศไปเรื่อยๆ มันก็ไม่ไหว ก็ต้องพยายามให้มันมีกิจกรรม อยู่ที่ตัวเราแล้วล่ะ ช่วยตัวเองป้องกันตัวเองให้ดี บางประเทศพอฉีดวัคซีนแล้วก็ร่าเริง มีกิจกรรมเผามาสก์ เผาหน้ากาก อีกไม่กี่วันยอดขึ้นมาลิ่วเลย ติดวันหนึ่งตั้งหลายหมื่น 6 หมื่นอะไรอย่างนี้

การที่เรามีศีลมีธรรม อย่างเราไม่ไปกินเหล้า ไม่ไปเที่ยวแหล่งอบายมุข ก็ช่วยป้องกันตัวเราได้ส่วนหนึ่งแล้ว แต่เราไปป้องกันคนข้างตัวเราไม่ได้ มันอาจจะเอาเชื้อมาให้เรา ก็ระวังเอา แล้วแต่เวรแต่กรรมนะขั้นสุดท้าย มาภาวนาของเราดีกว่า สมมุติว่าเราจะต้องเป็นโรคตายอะไรอย่างนี้ เรารีบภาวนาเสียก่อน ก่อนจะเป็นโรคร้ายแรง

อย่างบางคนเคยมี เป็นโรคร้ายแรงเป็นมะเร็งอะไรอย่างนี้ ฝากคนมาถามหลวงพ่อว่าจะภาวนาอย่างไร ตอนแข็งแรงไม่ได้คิดจะภาวนา ตอนใกล้ความตายแล้วคิดถึงการภาวนา ช่วยอะไรไม่ได้หรอก เหมือนคนไม่เคยหัดว่ายน้ำ คิดว่าเราไม่มีวันตกน้ำ วันหนึ่งตกน้ำขึ้นมาจะมาถามหาตำราว่ายน้ำ มันไม่ทันหรอก ก็ต้องเป็นไปตามกรรม

เราก็พยายามภาวนาของเรา รู้จักเลือกอารมณ์กรรมฐานที่เหมาะกับตัวเอง ที่ผ่านมาหลวงพ่อสอนเครื่องมือในการทำกรรมฐาน คือเรื่องของสติ กับเรื่องของสมาธิ มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ มันก็สุดยอดขององค์มรรคแล้ว ทำให้มากเจริญให้มาก เรียกว่าสัมมาวายามะ อันนี้ต่อไปก็จะเกิดมรรคผล เรียกสัมมาวิมุตติ คือสัมมาญาณะ เกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูก เกิดสัมมาวิมุตติ เส้นทางเป็นอย่างนี้ หลวงพ่อสอนเรื่องการพัฒนาสติ สอนมานานแล้ว สอนเรื่องสมาธิ สอนมานานมาก

สมาธิที่เราเรียนกัน มันเป็นมิจฉาสมาธิเสียเป็นส่วนใหญ่ อย่างสัมมาสมาธิเป็นสภาวะที่จิตตั้งมั่น สงบ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ สัมมาสติเป็นเครื่องมือในการรับรู้ความเปลี่ยนแปลง ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปธรรม นามธรรมทั้งหลาย รูปธรรมปรากฏขึ้น สติเป็นตัวระลึกรู้ ว่าตอนนี้ความโลภ หรือความโกรธความหลง ร่างกายหายใจออก หายใจเข้าอะไรอย่างนี้

รูปธรรม นามธรรมทั้งหลาย สติเป็นตัวรู้ มีรูปธรรมอะไรเกิด เช่นหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก นี้เป็นการพัฒนาสติ มีความสุข มีความทุกข์เกิดขึ้นในกายก็รู้สึก มีความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ เกิดขึ้นในจิตก็รู้สึก นี่คือการฝึกสติ จิตเป็นกุศลก็รู้สึก จิตเป็นอกุศล โลภ โกรธ หลงก็รู้สึก นี้เป็นวิธีฝึกสติ คือหัดรู้สภาวะรูปธรรม หรือนามธรรมเนืองๆ รู้บ่อยๆ การที่เราคอยรู้รูปธรรม นามธรรมบ่อยๆ สติมันจะเกิดเองต่อไป แล้วก็สมาธิ คือความตั้งมั่น ถ้าสติเป็นสัมมาสติจริงๆ สมาธิมันก็จะเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมาด้วย อย่างจิตเราเคลื่อนหลงไปคิดอย่างนี้ มันคือจิตฟุ้งซ่าน พอเรามีสติรู้ทันว่าจิตมันเคลื่อนไป จิตที่ฟุ้งซ่านมันก็ดับ เกิดจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมาแทน

 

สนามรบของนักปฏิบัติ

ฉะนั้นการที่ฝึกสติได้ถูกต้อง ก็จะทำให้ได้สมาธิที่ถูกต้องขึ้นมาด้วย อย่างจิตเราโกรธ พอเรารู้ว่าโกรธ ความโกรธก็ดับ จิตก็ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ว่าเมื่อกี้นี้โกรธ เวลาฝึกสติปัฏฐาน หัดรู้ มีสติรู้รูปธรรม นามธรรมไป พอมันรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้ สัมมาสมาธิก็เกิดขึ้น พอมีสติ มีสัมมาสมาธิแล้ว ต่อไปปัญญามันก็เกิด นี่เราพูดถึงเครื่องมือ พูดถึงอาวุธที่เราจะใช้ต่อสู้ ในการเจริญสติปัฏฐาน ต่อสู้กับความหลงผิดของเรา แล้วสนามรบมันอยู่ที่ไหน เรามีอาวุธแล้ว เราก็ต้องรู้จักสนามรบของเราด้วย สนามรบของนักปฏิบัติมีอยู่ 4 แห่ง คือกาย เวทนา จิต ธรรม ทำไมต้องมีตั้ง 4 อย่าง หลวงพ่อภาวนาพิจารณาดู วิหารธรรม 4 อย่างนี้มีความหยาบความละเอียดที่แตกต่างกัน เวลาเราจะทำสงครามเราต้องรู้จักเลือกชัยภูมิ ว่าชัยภูมิอันไหนที่เราได้เปรียบ ไม่ใช่นึกจะรบตรงไหนก็ไปรบ อันนั้นโง่

ชัยภูมิในการรบของเราก็คือกาย เวทนา จิต ธรรมนี้ เราจะเลือกอย่างไร ถ้าสติ สมาธิเดิมของเราหยาบ ไม่ค่อยมีสติ ไม่ค่อยมีสมาธิ เราก็ต้องใช้อารมณ์กรรมฐานที่หยาบ เลือกสมรภูมิที่หยาบๆ ถ้าสติ สมาธิของเรามันสะสมมาดีแล้ว เราก็เลือกสมรภูมิ เลือกชัยภูมิที่ละเอียด คือทำกรรมฐานอย่างละเอียดได้ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นกรรมฐานที่ตั้งแต่หยาบที่สุด จนถึงละเอียดที่สุด อย่างเราขาดสติ ร่างกายมันก็ยังมีอยู่ มันดูง่าย ร่างกายมันไม่เคยหายไปไหนหรอก มันจะดูง่ายมันเป็นของหยาบ เราอย่านึกว่าดูของหยาบแล้วไม่ดี ก็ถ้าเราต้องรบแบบนี้ ในชัยภูมิอย่างนี้ ทำสงครามกองโจร ทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์อะไรทำไม่เป็น ก็ต้องใช้สงครามแบบบ้าระห่ำ ยกพวกตีกัน

ถ้าจิตของเรามีสมาธิ แล้วก็มีสติไม่มากพอ เราเลือกกรรมฐานที่หยาบ คือดูกาย กายนี่เป็นของหยาบที่สุด อย่างขณะนี้เรายืน หรือเราเดิน หรือเรานั่ง หรือเรานอนรู้ไหม ก็แค่รู้เท่านั้นเอง มันยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้นั่งอยู่ ถ้าตอนนี้นั่งอยู่ยังรู้สึกยาก เพี้ยนแล้ว แต่ถามว่าตอนนี้จิตลึกๆ เลย มีกุศล หรืออกุศล ชักยาก ตอบยากแล้ว แต่ขณะนี้หายใจออก ขณะนี้หายใจเข้า ขณะนี้ยืน เดิน นั่ง นอน ขณะนี้เคลื่อนไหว ขณะนี้หยุดนิ่ง มันเป็นของหยาบๆ ถ้าใส่ใจสักนิดหนึ่ง มันก็รู้ได้

อย่างพระมาบวชอยู่กับหลวงพ่อที่นี่ หลายองค์หลวงพ่อให้ดูกาย ไม่ใช่ดูจิต ดูจิตมันละเอียดเกินไปยังดูไม่ได้ ดูกายไปก่อน ต่อไปพอเรารบเก่ง ก็คล้ายๆ เราพัฒนาอาวุธของเรา อาวุธก็คือสติ สมาธิมันเข้มแข็งขึ้น เราก็รบในชัยภูมิที่มันละเอียดขึ้นไป ถ้าใจเราไม่มีสมาธิ ใช้วิธีดูกายให้มันเกิดสมาธิ ทีแรกมันยังไม่ขึ้นวิปัสสนาหรอก ร่างกายหายใจออกรู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก หายใจไปนานๆ สมาธิมันก็เกิด แล้วการที่รู้ มีสติรู้ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า มันคือการทำอานาปานสติ หายใจทีแรกก็จะเคร่งเครียด มารู้ลมหายใจทีแรก จิตมันไม่คุ้นเคยที่จะรู้กายรู้ใจตัวเอง มันคุ้นเคยที่จะรู้ออกไปข้างนอก พอต้องย้อนมารู้สึกกายรู้สึกใจทีแรกมันจะอึดอัด เป็นทุกคน มันจะแน่สักแค่ไหน ถ้าไม่ใช่ว่าชาติก่อนภาวนามาดีแล้ว มาเริ่มชาตินี้แล้วก็ ยังไงก็แน่นทุกคน ทีนี้มันแน่นๆ เราก็ค่อยภาวนาไป อย่าอยากหาย ถ้าอยากหายก็ยิ่งดิ้นรนมากขึ้น ดิ้นรนมากขึ้นก็ยิ่งแน่นมากขึ้น อย่างเราหายใจไปแล้วมันอึดอัด รู้ว่ามันอึดอัด ง่ายๆ รู้ไป อยากหายรู้ว่าอยากหายไป หายใจไป พอใจเราหมดความอยาก หมดความดิ้นรน ใจจะค่อยๆ สงบ พอใจสงบลมหายใจมันจะละเอียดอัตโนมัติ

บางคนเคยสังเกตเห็นว่าเวลาจิตมันสงบ ลมมันละเอียด เริ่มต้นก็พยายามทำลมให้ละเอียดเลย เพื่อให้จิตสงบ นี่กลับหัวกลับหาง พยายามจะคุมลมหายใจให้แผ่วที่สุด ยิ่งพยายาม ยิ่งอึดอัด ภาวนาไม่ต้องอยากดีอะไรนักหนาหรอก ให้ภาวนาไปเถอะแล้วมันดีของมันเอง หายใจไปรู้สึกไป หายใจแล้วอึดอัดก็รู้ ช่างมัน อึดอัดก็ช่างมัน เราจะรู้ลมไปเรื่อยๆ รู้ไปสบายๆ เคล็ดลับของการทำสมาธิ คือสบาย ถ้าจิตมีความสุข สมาธิจะเกิด ถ้าจิตเคร่งเครียด สมาธิไม่เกิด เพราะความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ ฉะนั้นถ้าเรากังวลใจเมื่อไหร่จะสงบๆ จิตเคร่งเครียดไม่มีวันสงบหรอก หายใจไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แค่รู้สึกถึงร่างกายที่มันหายใจออก รู้สึกถึงร่างกายหายใจเข้า

ถ้าใช้อิริยาบถก็รู้สึกถึงร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน แค่รู้สึกมันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน แค่ว่าหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึกไป ไม่ได้มีความอยากว่าต้องดี ต้องสุข ต้องสงบ พอเราแค่รู้สึกๆ แล้วก็ไม่ดิ้นรน ไม่ปรุงแต่ง ใจก็ค่อยๆ สงบขึ้น พอใจสงบลมมันจะค่อยๆ ละเอียด มันเป็นอัตโนมัติ เราไม่ต้องเจตนาทำลมให้ละเอียด บางคนบอกว่าได้ถึงขั้นที่ 4 ลมจะระงับไม่หายใจ ของอานาปานสติขั้นที่ 4 ลมหายใจระงับ เราก็กลั้นลมหายใจเลย จะได้เข้าขั้นที่ 4 เลย เข้าขั้นบ้า ไม่ได้เรื่องหรอก ทำผิดแล้ว หายใจไปธรรมดานี่ล่ะ แล้วรู้สึกไป เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้าไป พอใจมันไม่ดิ้นรน ไม่ได้ว่าอยากดี อยากสุข อยากสงบ มันก็หมดความดิ้นรน พอมันหมดความดิ้นรน จิตมันจะค่อยสงบลง

พอจิตสงบลง ร่างกายมันจะใช้พลังงานลดลง การเผาผลาญพลังงานก็จะลดลง ฉะนั้นลมหายใจมันก็จะละเอียดไปด้วย เพราะร่างกายไม่ต้องการออกซิเจนมากอย่างทีแรกแล้ว ทีนี้พอลมมันละเอียดๆๆ เข้า เราจะมีความรู้สึกเวลาเราภาวนา แต่เดิมเราหายใจลงไปถึงท้อง พอลมมันละเอียดๆ ขึ้น มันจะค่อยๆ ตื้นขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาอยู่ที่ปลายจมูก เราก็หายใจไปปกติ ไม่ต้องมาตื่นเต้นว่าอยู่ตรงนี้แล้ว เดี๋ยวมันหยุดหายใจจะตาย ไม่ตาย ตายแหงแก๋เลยอย่างนี้ คือตายจากกรรมฐาน หลุดเลย กลับมาฟุ้งซ่านเหมือนเดิม

ค่อยๆ ฝึก ลมมันจะมา คล้ายๆ มันมากระดิกอยู่นิดเดียวที่ปลายจมูก หายใจตื้นๆ นิดเดียว แต่ร่างกายไม่ขาดออกซิเจนหรอก เพราะตอนนั้นร่างกายไม่ได้ทำงานอะไร แค่ให้หัวใจเต้นแค่เราอยู่นิดหน่อยเท่านั้นเอง ใจก็จะค่อยสงบเข้ามา มีความสุข แล้วใจมันก็สงบ แค่ไม่มีความสุขใจมันก็ไม่สงบ ทีนี้พอดูไปๆ มันก็จะกลายเป็นแสงสว่าง ลมหายใจมันดับ เกิดเป็นแสงสว่างขึ้นแทน อย่างเวลาเราภาวนา บางทีลมยังไม่ดับเลย เราจะรู้สึกแล้วข้างหน้าเราเริ่มสว่างขึ้น แต่ถ้าลมมาหยุดอยู่ตรงนี้ แสงสว่างมันจะเกิดขึ้นตรงจมูกนี่ สว่างเป็นดวงเล็กๆ ก่อน รู้สึกไปเรื่อย มันก็ใหญ่ๆๆ ขึ้น ใหญ่อย่างเดียวยังไม่พอ เราก็ฝึกมันย่อก็ได้ใหญ่ก็ได้ ตรงที่เราฝึกจนกระทั่งดวงนิมิตนี้เล็กได้ใหญ่ได้ตามใจชอบ นี้เราได้ปฏิภาคนิมิต ได้อุปจารสมาธิ ใจก็มีสมาธิขึ้นมา

เราภาวนา ค่อยๆ ฝึกไป ขนาดลมละเอียดยิบลงไป บางทีละเอียดถึงขนาดลมหายใจหายไป ร่างกายหายไป โลกนี้หายไป เหลือแต่จิตรู้อยู่ดวงเดียว ยังไม่ขาดสติเลย สติที่เราฝึกไปเรื่อยๆ กระทั่งโลกธาตุดับ ร่างกายดับไป อะไรๆ ที่เป็นวัตถุหายหมดเลย เหลือแต่จิตดวงเดียว ยังไม่ขาดสติเลย สติเราแข็งแกร่งมากแล้ว แต่ฟังหลวงพ่อพูดนี่ไม่ต้องตกใจ ว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ทุกคน บางคนไม่เป็นหรอก อันนั้นจิตมันเข้าถึงอรูปฌาน ถ้ามันยังเข้าไม่ถึงอรูปมันยังมีร่างกายอยู่ เราไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องฝึก จนกระทั่งสติแข็งแกร่ง อยู่ในอรูปก็ยังมีสติอยู่อะไรอย่างนี้

 

 

ค่อยๆ ฝึกแล้วก็เดินปัญญาอย่างที่หลวงพ่อบอก ทีแรกเราก็ใช้ของหยาบ อย่างเช่นเราใช้ร่างกายที่หายใจเป็นของหยาบ พอมันละเอียดๆๆ เข้าไปมีความสุขขึ้นมา ถ้าเราใช้อารมณ์ของความสุขอันนั้น มันก็เป็นเวทนา ตัวเวทนามันละเอียดกว่าตัวกาย แล้วสุดท้ายมันก็เข้าไปที่ตัวจิต ตัวจิตละเอียดกว่าตัวเวทนา เหลืออีกตัวเดียว ตัวธรรม ตัวนี้ละเอียดที่สุด เราก็ฝึก

ถ้าอินทรีย์เราแก่กล้ามาแต่ชาติปางก่อน เราก็ตัดเข้าตรงกรรมฐานที่เราทำได้ไปเลย ดูจิตได้ก็ดูจิตไปเลย ถ้าดูจิตไม่รู้เรื่อง ดูเวทนา ดูเวทนายังไม่รู้เรื่องอีก ดูกายไป ร่างกายหายใจออกรู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ต่อไปสติสมาธิละเอียดขึ้น มันก็ไปเห็นเวทนา มันก็ไปเห็นจิตเอง ฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านถึงสอนว่า ดูกายเพื่อให้เห็นจิต ดูกายพอจิตมันละเอียดขึ้นไป มันก็ไปเห็นอารมณ์ที่ละเอียด

อย่างพวกเราบางคนดูกาย แล้วใจไม่ชอบอย่างนี้ก็มี สติ สมาธิก็ยังไม่ดี แต่ดูกายแล้วใจมันไม่เอาเลย ตามใจมันนิดหน่อย ลองมาดูเวทนาดู เปลี่ยนดู อย่างหายใจออก หายใจเข้า หงุดหงิดไปหมดเลย ใจไม่มีความสุข ใจไม่มีความสุขดูเวทนาไปเลย ดูใจมันไม่มีความสุข ใจมันทุกข์รู้มันไปเลย หรือหายใจไปแล้วจิตใจมีความสุขขึ้นมา ก็รู้ว่าใจมันมีความสุข ค่อยฝึกๆๆ ไป ต่อไปใจมันเป็นกลาง มันก็ดูกายได้สบายๆ แถมรู้เวทนาได้ด้วย เวทนาอะไรเกิดขึ้นในกายก็รู้สึก ยากไหมเวทนาในกาย ลองหยิกตัวเองดู ทดสอบ ลองหยิกสิรู้สึกไหม เจ็บ ไม่ต้องหยิกจนเนื้อหลุดหรอก แค่นี้มันก็มีเวทนาแล้ว นิดเดียวก็มีเวทนา ความรู้สึกทางกายนั่นล่ะตัวเวทนา ถ้าสังเกตง่ายๆ มันรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ทางกาย มีผัสสะ – การกระทบ วัตถุมากระทบร่างกายเกิดเวทนาขึ้นมา ฉะนั้นเวลาเราดูกาย ก็จะเห็นเวทนาในกาย

พอจะเขยิบขึ้นไปก็เห็นเวทนาในจิต ถ้าเราดูจิต อย่างเวทนาของจิตมี 3 ตัว สุข ทุกข์ เฉยๆ แต่ตัวสังขารของจิตมีเยอะแยะตั้ง 50 ตัวอะไรอย่างนี้ เยอะแยะไปหมดเลย โลภ โกรธ หลง ฝ่ายดีก็มีศรัทธา วิริยะ สติ ปัญญา อะไรนี้เยอะแยะ ฝ่ายชั่วตัวพ่อตัวแม่มันก็โลภ โกรธ หลง ตัวลูกหลานของมันก็มีอีกเยอะแยะ ฝ่ายไม่ดี ไม่ชั่ว ก็เป็นสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต เป็นเจตสิก เราก็เฝ้ารู้เฝ้าดู พอมาดูจิต แล้วถ้าจะดูเข้าไปที่สังขาร จิตสังขารนั้นมีจำนวนมาก มันมีเยอะ แต่ถ้าเราดูเวทนาในจิตมีแค่ 3 ตัวเอง นี้จะดูจิตสังขารมันเยอะแยะจะทำอย่างไรดี พระพุทธเจ้าท่านก็สงเคราะห์เอา ดูคู่เดียวก่อน จิตเราขี้โลภ เราก็ดูจิตทั้งวัน เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็ไม่โลภ เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็ไม่โลภ จิตเราขี้โกรธ เราก็ดูทั้งวัน เดี๋ยวก็จิตโกรธ เดี๋ยวก็จิตไม่โกรธ

บางคนก็ใจลอยเก่ง แล้วรู้ทันว่าใจลอย เดี๋ยวจิตก็หลง เดี๋ยวจิตก็ไม่หลง เริ่มต้นจะดูจิตสังขารทั้งหมดเลย มันดูไม่ไหวมันเยอะแยะไปหมด ที่สำคัญจิตสังขารบางอย่างพวกเราไม่มี เพราะเราไม่ได้ทรงฌาน มันไม่มีความละเอียดยิบลงไปอะไรอย่างนี้ มันไม่ถึง ฉะนั้นเราดูเท่าที่เรามี

อย่างเราเข้าสมาธิไม่เป็นเลย อยากดูว่าอากาสานัญจายตนะเป็นอย่างไร วิญญาณัญจายตนะเป็นอย่างไร อากิญจัญญายตนะเป็นอย่างไร หรือเนวสัญญานาสัญญายตนะเป็นอย่างไร ไม่ต้องหาเพราะไม่มี ไม่เคยเกิดเลยสำหรับเรา เราดูของที่เรามี ฉะนั้นดูสังขาร จริงๆ แล้วมันเยอะมากเลย ทั้งๆ ที่บางอย่างเราไม่มี แต่เท่าที่เรามีก็เยอะแยะแล้ว เฝ้ารู้เฝ้าดูของที่เราดูได้เท่าที่เราดูได้

อย่างดูร่างกายไม่เห็นจะยากอะไรเลย ร่างกายหายใจออกก็รู้สึก ร่างกายหายใจเข้าก็รู้สึก ร่างกายยืนอยู่ก็รู้ชัดว่ายืนอยู่ ร่างกายนั่ง ร่างกายเดิน ร่างกายนอนก็รู้ชัดว่าร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนอะไรก็รู้สึกไปอย่างที่มันเป็น อย่างขณะนี้รู้ว่าร่างกายนั่ง ไม่เห็นยากตรงไหนเลย รู้ว่ากำลังนั่งอยู่ กำลังนั่ง ถ้าดูจิตละก็โกรธแล้ว โลภแล้ว หลงแล้ว แต่ถ้าร่างกายแล้ว ร่างกายกำลังนั่ง ร่างกายกำลังหายใจ ร่างกายกำลังยืน กำลังเดิน กำลังนอนอะไรนี่ รู้สึกไป ของหยาบๆ นี่ล่ะ อย่านึกว่าดูของหยาบแล้วจะไม่ได้มรรคผล ดูกายบรรลุมรรคผลเยอะแยะเลย พวกที่ก้าวไปดูจิต เริ่มต้นก็ดูจิตเลยมีไม่มากหรอก เพราะมันดูไม่เป็น ไม่รู้จะดูอย่างไร แล้วมีของเก่ามา เริ่มต้นดูจิตเลยก็ได้ ไม่มีใครเขาห้ามหรอก

หลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ไม่สอนอย่างอื่น สอนเข้ามาที่จิตเลย พอท่านสอนเราก็ไปทำ ก็ทำได้ไม่ยากอะไร ดูกายก็ไม่เห็นมันจะยากตรงไหน ดูจนกายระเบิดไป หรือร่างกายหายไปหมดอะไรอย่างนี้ ดูเวทนา อันนี้ถ้าจิตไม่ทรงสมาธิอยู่ ไปดูเวทนาทางกาย ทุกขเวทนา จิตใจมันจะทนไม่ค่อยไหว หรือดูเวทนาทางใจเหมือนกัน ถ้าใจเราสมาธิไม่พอยังมีความกลุ้มใจเกิดขึ้น มันทุกข์ใจเกิดขึ้นไปดูยิ่งหงุดหงิด อยากให้หาย แต่ถ้าสมาธิพอก็เห็นเลย โทมนัสเวทนา ความทุกข์ทางใจ เรียกโทมนัสเวทนาเกิดขึ้น ก็สักว่ารู้ว่าเห็น ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ก็เป็นตัวเจตสิกอันหนึ่ง เป็นเวทนา ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์

 

ก็ดูไป ดูตัวไหนได้เอาตัวนั้น ไม่ต้องดิ้นรนเกินสถานะของเรา ดูได้แต่ของหยาบก็ดูหยาบๆ ไป ยังรบด้วยหอก ด้วยดาบอะไรก็รบไป จำเป็นต้องรบ แล้วค่อยๆ พัฒนาเครื่องมือ อาวุธของเราให้มันดีขึ้นๆ ต่อไปเวลารบนั่งอยู่ที่บ้านนี่ล่ะ ก็ไปขับโดรนรบกับประเทศอื่นได้ ตอนนี้มันพัฒนามาตรงนี้แล้ว คือมันกลัวคนของตัวเองตาย ก็พัฒนาเทคโนโลยีมาเพื่อจะไปฆ่าคนอื่น โดยที่ตัวเองไม่ต้องออกจากบ้าน อันนั้นคล้ายๆ อาวุธของมันดีแล้ว

กรรมฐานก็เหมือนกัน ตอนนี้เรายังไม่ต้องตะเกียกตะกาย ว่าทำอย่างไรเราจะส่งโดรนไปโจมตีประเทศอื่นได้ มันทำไม่ได้ ของเรามีแต่ว่าวปักเป้า ว่าวจุฬาทำได้แค่นี้ อย่างมากก็ยิงบั้งไฟ ใช้สิ่งที่เรามี เรายังจนอยู่ เราก็ต่อสู้แบบจนๆ เราสะสมสติ สมาธิได้เข้มแข็งขึ้น ก็คล้ายๆ เรารวยขึ้นแล้ว รวยในธรรมะแล้ว สติเรามากขึ้น สมาธิเรามากขึ้น ร่ำรวยแล้ว เราก็ทำสงครามที่มันสบายมากขึ้น สบาย

ดูกายลำบาก ในตำราจะบอกว่า การดูกาย ดูเวทนานี่ลำบาก ถ้าเข้าสมาธิทรงฌานได้เสียก่อน แล้วไปดูก็จะพอสบาย แต่ถ้าพวกเราเข้าฌานไม่เป็น ดูมันไปเลย ทนๆ เอาหน่อย ก็จนมาก จนมากก็ภาวนาแบบยากจนสุดขีดนี่ล่ะ หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ยืน เดิน นั่ง นอนรู้สึกไป ก็สะสม ต่อไปสติมันก็ดีขึ้น สมาธิมันก็ดีขึ้น มันก็จะเริ่มเห็นว่าร่างกายไม่ใช่มีแต่ร่างกาย แต่มันมีเวทนาซ่อนอยู่ในร่างกายด้วย มันจะเริ่มเห็นละเอียดขึ้น แต่เดิมมองเวทนาในกายดูไม่ค่อยออก ดูกายไปก่อน ดูกายเนืองๆ ไป ต่อไปเวทนาในกายเกิดขึ้นตรงไหนมันก็รู้สึก ยุงมากัดแปร๊บๆ ก็รู้สึกขึ้นมา เจ็บขึ้นมา ลมพัดมามีความสุข ลมมากระทบกาย ชื่นอกชื่นใจเวลาหน้าร้อน ใจก็มีความสุขเกิดขึ้น

 

เราเจริญสติ เจริญปัญญา ต่อไปไม่ใช่แค่กุศลเกิด
จะเป็นกุศลซึ่งเกื้อกูลต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน
เรียกว่าโพชฌงค์ องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้

 

ฉะนั้นดูกาย พอสติสมาธิเราดีขึ้น มันก็จะเขยิบมาดูเวทนาในกายได้ พอร่างกายเราสบาย มันก็ส่งทอดมาที่จิต คราวนี้มันเกิดเวทนาที่จิตแล้ว พอร่างกายสบาย ใจก็สบายไปด้วย เวลาร่างกายไม่สบาย ใจก็กลุ้มไปด้วย ฉะนั้นเวลาเราดูเวทนาของกาย ถ้าสติสมาธิเราค่อยๆ แก่กล้าขึ้น เราก็จะไปเห็นเวทนาของจิต อย่างลมร้อนๆ อย่างนี้ ลมพัดมาถูกกาย ร่างกายสบาย พอร่างกายสบายจิตใจก็มีความสุขด้วย มันเข้ามาที่เวทนาทางใจแล้ว พอจิตใจมีความสุขด้วย คราวนี้สังขารมันทำงาน เพลิดเพลิน โอ้ สบาย ลืมเนื้อลืมตัวเลย ตรงนี้จิตสังขารมันทำงานแล้ว มันจะค่อยๆ ละเอียดๆๆๆ เข้าไป จนเห็นเลยเดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง

พอละเอียดขึ้นไปอีก มันเห็นสิ่งซึ่งอยู่ใต้โลภ โกรธ หลงเราไปอีก คือนิวรณ์ มันรู้ว่านิวรณ์เกิดได้อย่างไร ทำอย่างไรนิวรณ์เกิด ทำอย่างไรนิวรณ์ไม่เกิด มันจะเห็นเอง อันนั้นขึ้นสู่ ธัมมานุปัสสนาแล้ว เห็นไหมมันละเอียดลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ไม่ใช่ดูแค่โลภ โกรธ หลง ไม่ใช่ดูแค่จิตเป็นกุศล แต่ดูละเอียดลงไปเลยว่าโลภ โกรธ หลง มันก็มาจากไหน มาจากพวกนิวง นิวรณ์อะไรนี้มันทำงานขึ้นมา อนุสัยทั้งหลายมันทำงานขึ้นมา เห็นละเอียดลึกๆๆ ลงไป

เวลาเราเจริญสติ เจริญปัญญา ต่อไปไม่ใช่แค่กุศลเกิด มันเป็นกุศลซึ่งเกื้อกูลต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน กุศลที่เกื้อกูลต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน เรียกว่า โพชฌงค์ โพชฌงค์เป็นองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ ฉะนั้นสติสัมโพชฌงค์ ก็ยังไม่เหมือนสติปัฏฐานธรรมดาที่เราฝึกมาแต่แรก ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวรู้สึก อันนี้เป็นสติปัฏฐาน ตรงที่เป็นสติสัมโพชฌงค์ มันมีเป้าหมายของจิตที่ชัดเจน เป็นไปเพื่อลดละกิเลส เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น

เวลามีวิริยะเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่วิริยะธรรมดา เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ เป็นวิริยะที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น สมาธิก็เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น อุเบกขาอะไรก็เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ไม่ใช่เพื่อพักผ่อน มันลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง อันนั้นอยู่ในธัมมานุปัสสนา ละเอียดที่สุดเลย ก็คือการเห็นอริยสัจ การเจริญถึงสัจจบรรพ อันนั้นไม่ต้องห่วง วันหนึ่งไม่ว่าเราจะเดินมาทางกาย หรือทางเวทนา หรือทางจิตก็ตาม ตอนที่จะแตกหักจริงๆ มันจะเข้ามาสัจจบรรพ มาแตกหักตรงที่เห็นอริยสัจ มาตรงนี้ทั้งหมด เพราะตราบใดที่ยังไม่รู้อริยสัจ ก็ยังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิด

 

 

ฉะนั้นกรรมฐานของเราค่อยๆ ฝึกไป ไม่ต้องโลภมาก อย่างได้ยินว่าหลวงพ่อดูจิต จะต้องมาดูจิตอย่างหลวงพ่อ สมาธิเราไม่เหมือนหลวงพ่อ สติเราไม่ไวอย่างหลวงพ่อ อย่างหลวงพ่อนอนอยู่ พลิกซ้ายพลิกขวา หลวงพ่อรู้หมด พวกเราจิตรวมวูบเดียวสว่างแล้ว ทำอะไรก็ไม่รู้เลย บางทีละเมอเดินออกมานอกกุฏิ ฉะนั้นเราดู เขาเรียกว่าประมาณตนเอง กำลังเรามีแค่นี้ ก็เลือกชัยภูมิที่เราจะทำสงครามได้

อย่างพระนเรศวรทำไมรบเก่ง พระนเรศวรมีอาวุธแค่ไหนท่านรู้ มีกำลังแค่ไหนท่านรู้ ท่านก็เลือกชัยภูมิ กำลังน้อยกว่าก็ซุ่มอยู่ เอากำลังนิดๆ หน่อยๆ ไปล่อให้ข้าศึกไล่เข้ามา แล้วก็ตีกระหนาบซ้ายขวาเข้ามาเลย ข้าศึกนึกว่าซุ่มอยู่เยอะ ที่จริงไม่เยอะหรอก ใจมันฝ่อไปซะก่อน รู้จักเลือกชัยภูมิ กำลังน้อยก็รู้จักเลือก มีกำลังมากขึ้น ประณีตมากขึ้น ก็ยิ่งรบยิ่งสบาย มันเหมือนใช้โดรนไปรบ ไม่ต้องไปขับเครื่องบินเสี่ยงถูกยิงตายอะไรอย่างนี้ เครื่องยนต์มันจะตกก็สร้างเอาใหม่ได้

เราภาวนาพอถึงขั้นละเอียด มันรู้สึกว่าอยู่ในที่ปลอดภัย ทำสงครามในที่ปลอดภัยแล้ว ยิ่งภาวนาไปมากๆๆ ถึงยังไม่จบแต่มันปลอดภัย คือไม่มีทางไปอบายอีกต่อไปแล้ว สงครามของเราไม่มีวันแพ้ เพียงแต่ว่าเมื่อไหร่จะชนะเท่านั้นเอง อย่างถ้าเราภาวนาจนเราได้ธรรมะขั้นต้น เป็นสงครามที่ไม่มีวันแพ้แล้ว ก็แค่รอวัน วันหนึ่งจะเผด็จศึก ข้าศึกใหญ่ก็คือตัวอวิชชา วันหนึ่งมันตายแน่ อย่างถ้าเราได้ธรรมะขั้นต้น วันหนึ่งเราก็จะชนะกิเลส วันนี้ยังไม่ชนะไม่เป็นไร จะปีหน้า จะชาติหน้าอาจจะไม่เกิน 7 ชาติ ฝึกเท่าที่เราทำได้ไม่ต้องรีบร้อน อดทนต่อความโลภของตัวเอง อยากดีเร็วๆ ต้องทน ใจมันโลภ ดูจิตไม่ได้ ดูเวทนาเอา ดูเวทนาก็ไม่ได้ ก็ดูกายไป หลังจากนั้นไม่มีแล้ว ไม่มีชัยภูมิแล้ว

กาย เวทนา จิต ธรรมไม่เอาสักอันหนึ่ง จะไปรบกับหมาที่ไหน ไม่มีชัยภูมิแล้ว รบแบบอนาถาไปเรื่อยๆ ไม่มีวันชนะ เพราะฉะนั้นนอกจากฝึกสติให้ดี ฝึกสมาธิให้ดี รู้จักเลือกชัยภูมิที่เหมาะกับตัวเอง ดูจิตได้ก็ดูจิต ดูจิตไม่ได้จะดูเวทนา ดูเวทนาก็ไม่ได้ ดูจิตก็ไม่ได้ ก็ดูกาย ทำอะไรไม่ได้เลย ทำอย่างไรดี เลิกปฏิบัติดีไหม นั่นโง่ที่สุดแล้ว ถ้ากาย เวทนา จิต ธรรมไม่ได้สักอย่าง สวดมนต์ไปเรื่อยๆ รักษาศีล 5 ให้ดี สะสมของเราไป คล้ายๆ สะสมแต้ม ต่อไปจิตใจที่มันเป็นบุญเป็นกุศลอะไรนี่ สมาธิมันก็เกิดง่าย อย่างใส่บาตรทุกวันๆ เรานึกถึง โอ้ เราเคยใส่บาตรทุกวันเลย วันละองค์เดียว แล้วก็ใส่ข้าวเปล่า เรายากจน ใส่ข้าวเปล่าช้อนเดียวอะไรอย่างนี้ นึกถึงไปเรื่อยๆ ว่าทุกวันเราได้สร้างความดี จิตมีความสุข สมาธิเกิด อันนั้นเรียกว่า จาคานุสติ อยู่ในอนุสติ 10

รักษาศีลให้ดี อย่ามัวแต่บ้าเข้าผับ เข้าบาร์ เดี๋ยวนี้มันบริโภคสูง ไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์ เที่ยวที่นี่หน่อยหนึ่งเดี๋ยวไปเที่ยวที่อื่นต่อ ต้องเที่ยวหลายๆ แห่งจะเป็นการใช้ชีวิตที่คุ้มค่า เอาเชื้อโรคไปแพร่ตั้งหลายที่ รับจากที่หนึ่งไปแพร่ที่หนึ่ง เหมือนแมลงวันเดี๋ยวก็ตอมขี้ เดี๋ยวก็ตอมหมาเน่า เดี๋ยวไปตอมกับข้าวของคนอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นกิเลสมันแรง เราก็อย่าไปเอาอย่าง เอาเวลาซึ่งมีจำกัด มายกระดับจิตใจของเราเองให้มันสูงขึ้น ไม่ได้สูงขึ้นเพื่อไปบลัฟคนอื่นหรอก สูงขึ้นเพื่อมันจะได้ทุกข์น้อยลง ตั้งเป้าของเราเอง ปฏิบัติไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่น แต่เพื่อความพ้นทุกข์ ตั้งเป้าให้ดี ไม่ใช่เพื่อใหญ่ เพื่อเก่ง เพื่อดัง ให้คนนับถือเยอะๆ อะไรอย่างนี้เหลวไหลที่สุดเลย ค่อยๆ สะสมไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
3 เมษายน 2564