ท่องเที่ยวอยู่ในกายในใจ

ช่วงนี้ออกไปเที่ยวข้างนอกไม่ได้ เราก็เที่ยวอยู่ในร่างกายเรา เที่ยวอยู่ในจิตใจเรา ดูลงในร่างกายตั้งแต่หัวถึงเท้า เท้าถึงหัว ดูไปเรื่อยๆ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกอะไรอย่างนี้ เป็นของไม่สวยไม่งาม เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราเป็นแค่วัตถุธาตุอะไรอย่างนี้ ทวนเที่ยวอยู่อย่างนี้ ดีกว่าไปเที่ยวนอกบ้านตอนนี้ หรือสำรวจอยู่ในจิตใจเรา วิธีสำรวจอยู่ในใจเราก็คือรู้สึกตัวสบายๆ เป็นปกติ อย่าไปแต่งจิตให้มันผิดปกติ แล้วคอยรู้ทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตใจไป จิตใจเป็นสุข จิตใจเป็นทุกข์ จิตใจเฉยๆ เราคอยรู้ไว้ จิตใจเป็นกุศลไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง หรือจิตใจเป็นอกุศล โลภ โกรธ หลง คอยรู้ไว้

พอเราดูได้ชำนิชำนาญเราก็จะเห็นจิตมันท่องเที่ยว เราเป็นแค่คนดูแต่จิตมันท่องเที่ยว เรียกมันโคจร โคจรไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไปดูรูป ตัวรูปที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไปรู้ เขาเรียกตัวรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่มากระทบร่างกาย ความรู้สึกเย็น ความรู้สึกร้อน ความอ่อน ความไหว ความตึง ความแข็ง สิ่งเหล่านี้กระทบร่างกาย จิตเราจะเที่ยวไป เดี๋ยวก็เที่ยวไปดูรูป เดี๋ยวก็เที่ยวไปฟังเสียง เดี๋ยวเที่ยวไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสที่กาย ตัวรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เลยจัดเป็นที่โคจรของจิต เขาเรียกโคจรรูป เป็นรูปที่เป็นที่โคจรของจิต

 

จิตเราท่องเที่ยวไปในภพน้อยๆตลอดเวลา

ในทางจิตใจ ธรรมารมณ์ มีที่เที่ยวได้เยอะแยะ เที่ยวไปในทุคติ ในสุคติ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ จิตเราเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดเป็นขณะๆ ไป ขณะไหนจิตใจเราจมอยู่ในความทุกข์ ขณะนั้นจิตเรากำลังเกิดเป็นสัตว์นรกอยู่ เราสังเกตดูจิตเรามันท่องเที่ยวไปในวัฏฏะ ไม่ต้องมองวัฏฏะยาวๆ วัฏฏะใหญ่ๆ ว่าตายแล้วไปเกิดที่ไหนหรอก ดูวัฏฏะย่อยๆ ที่กำลังเกิดในจิตในใจนี้ให้ชำนาญ อีกหน่อยจิตจะไปอยู่ที่ไหนก็รู้หมด ฉะนั้นจิตเราท่องเที่ยวอยู่ภายในตลอดเวลา อย่างเวลามันจมอยู่ในความทุกข์ จิตเราก็เกิดเป็นสัตว์นรก ตัวเป็นคนแต่จิตเป็นสัตว์นรกไป บางทีจิตโลภ จิตมีแต่ความอยากโน้นอยากนี้ไป ตัวเป็นคนแต่จิตเป็นเปรต เราไปเสวยภพของเปรตอยู่

ภพย่อยๆ นี้สำคัญ พวกเราค่อยๆ เรียน ค่อยๆ สังเกตไป จิตเราท่องเที่ยวไปในภพน้อยๆ ตลอดเวลา บางทีเราก็มีความยึดถือความคิดความเห็น เซลฟ์จัด จิตใจที่เซลฟ์จัดไม่แช่มชื่นหรอก เครียด หงุดหงิด เราก็ไปเกิดเป็นอสุรกาย ในขณะนี้ล่ะตัวเป็นคนแต่ใจเป็นอสุรกายได้ หรือเราสบายๆ ใจเราหลงๆ ไป ตัวเราเป็นคนแต่ใจเป็นเดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานมันชอบเหม่อ แล้วมันก็ชอบมีความหลงผิด ความเห็นผิด ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีอะไร อย่างลูกมันก็ปล้ำแม่มันได้อะไรอย่างนี้ พ่อกับลูกอะไรอย่างนี้ เดรัจฉานมันไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ฉะนั้นบางทีจิตเราก็เป็นเดรัจฉานได้ จิตมันมีโมหะ แล้วก็ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี

บางทีจิตเราก็มีศีลมีธรรม เราก็เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ถ้าจิตเรามีความละอาย ละอายใจที่จะทำความชั่ว แล้วเรารู้ว่าเวลาเราทำความชั่ว มันมีผลเป็นความทุกข์ แต่ถ้าเราภาวนาเรื่อยๆ เราจะรู้สึกเลย อย่างเวลาเราปล่อยจิตใจของเราให้ชั่ว อย่างเราโกรธมากๆ หรือฟุ้งซ่านมากๆ ความทุกข์มันตามมาเห็นๆ เลย ใจฟุ้งซ่านๆ พอผ่านจุดที่ฟุ้งซ่านแล้วใจหดหู่ เซื่องซึม หมดเรี่ยวหมดแรง มีผลที่ไม่ดีเกิดขึ้น หรือช่วงไหนเราปล่อยจิตใจให้ราคะรุนแรง พอช่วงราคะรุนแรงผ่านไป จิตจะเต็มไปด้วยโทสะ มันจะเหวี่ยงกลับข้าง จิตไม่มีความสุขหรอก จิตมีโทสะ ถ้าจิตขณะใดมีโทสะขณะนั้นตกนรกตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แล้วพอโทสะนั้นผ่านไป จิตก็กะปลกกะเปลี้ยหมดเรี่ยวหมดแรงไป ใช้พลังงานเกินตัวไป มันมีผล มันเห็นผล ถ้าเราภาวนาเวลาเราตามใจกิเลส มีผลน่ากลัว ผลเป็นความทุกข์

ถ้าเราภาวนาเรื่อยๆ เวลาจะทำผิดศีลผิดธรรม จิตมันจะละอายแก่ใจเรียกว่ามันมีหิริ แล้วเรามีสติปัญญาเรียนรู้จิตใจตัวเองเรื่อยๆ เรารู้เลยทำชั่วแล้วก็มันมีผลน่ากลัว เกรงกลัวต่อผลของความชั่วเรียก โอตตัปปะ ถ้าจิตใจเราพัฒนาขึ้นมาอย่างนี้ เราก็เป็นมนุษย์ ร่างกายยังเป็นมนุษย์ แต่จิตเราเป็นเทวดาแล้ว มีหิริ มีโอตตัปปะ หรือเราฝึกสมาธิจิตใจเราสงบ เราก็เป็นพรหม เรามีภพของพรหมเกิดขึ้นในใจ บางทีก็ทรงอยู่ 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง 3 ชั่วโมงอะไรอย่างนี้ เป็นพรหมชั่วคราว

ฉะนั้นจิตของเราก็ท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ ก็ท่องเที่ยวไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เที่ยวไปเรื่อยๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เที่ยวไปหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาสัมผัส อันไหนพอใจก็ยึดเอาไว้ อันไหนไม่พอใจก็ดิ้นรนอยากหนี ใจเป็นทุกข์ทั้งนั้นเลย ยึดเอาไว้ใจก็เป็นทุกข์ ดิ้นรนหนีใจก็เป็นทุกข์ เพราะว่าจิตก็ยังเที่ยวในภพน้อยภพใหญ่ภายในของเรา ภพน้อยๆ เราจะเห็นว่าถ้าภาวนาไปเรื่อยๆ เราจะเห็นจิตไปอยู่ในภพอะไรก็มีความทุกข์ทั้งสิ้น กระทั่งภพของพรหม ถ้าภาวนาเป็นดีๆ จะรู้เลยจิตไปเข้าฌานก็ยังเป็นภพอันหนึ่ง ยังเป็นทุกข์อันหนึ่ง แต่มันละเอียด คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเห็นได้ หรือเวลาจิตมันมีความสุข มีความเบิกบานด้วยศีลด้วยธรรม มันอยู่ในภพของเทวดา ถ้าเรามีสติมีปัญญาเราจะรู้มันทุกข์อีก มันก็ยังมีความแปรปรวน มีความไม่แน่นอน มันดีอยู่ได้ มันก็ดีชั่วครั้งชั่วคราว อย่างเป็นพรหมก็สงบชั่วครั้งชั่วคราว เป็นเทวดามันก็มีความสุขจากคุณงามความดีชั่วครั้งชั่วคราว เดี๋ยวมันก็หมดไป ทุกสิ่งที่เกิดมาไม่ว่าจะดีแค่ไหน ก็ของชั่วคราวทั้งหมดเลย

 

ภพภูมิใดก็มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น

ฉะนั้นถ้าเราภาวนาเราจะเห็นภพทั้งหมด ทุกข์ ไม่ว่าจิตจะไปเสวยภพอะไรก็ทุกข์ทั้งหมดเลย เราค่อยๆ ภาวนาไป อาศัยช่วงของโควิดเราออกไปเที่ยวไม่ได้ ถ้าเราชำนาญในการพิจารณาร่างกาย เราก็เที่ยวอยู่ในร่างกาย ไม่ให้จิตหนีออกจากกาย ถ้าจิตเที่ยวอยู่ในร่างกายนี้ คอยรู้สึกอยู่ในกายนี้ กิเลสชั่วหยาบทั้งหลายเกิดไม่ได้ มันมีสติเที่ยวอยู่ในกาย แล้วถ้าปัญญามันเกิดมันจะเห็นว่ากายนี้ว่างเปล่า กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตที่ไปรู้กาย เที่ยวอยู่ในกาย สงบ สะอาด สว่าง สบาย จิตที่ดีเที่ยวอยู่ในกายนี้มีความสุข ฉะนั้นเราพิจารณาเที่ยวอยู่ในกาย มีความสุข

ฉะนั้นดูจิตดูใจ เห็นจิตเที่ยวไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เห็นจิตสร้างภพน้อยภพใหญ่ทางใจ เห็นแต่ทุกข์ ภาวนาแล้วก็จะรู้แจ้งแทงตลอด ความเกิดมีขึ้นครั้งใด ความทุกข์มีขึ้นเมื่อนั้น ความเกิดเกิดขึ้นเมื่อใด ความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อนั้น ก็เกิดดี เกิดเลว หมุนเวียนอยู่ในจิตเรานี่ล่ะ เห็นอย่างนี้ต่อไปจิตมันก็รู้ว่า ภพทั้งหลายเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ หรืออย่างถ้าเราดูกายมา เราไปเกิดในภพที่มีกายก็ยังมีทุกข์อีก มันรู้ ฉะนั้นไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน มีกายมีจิตอยู่ก็ยังมีทุกข์อยู่

การภาวนา จะค่อยๆ สะสมสติปัญญา เกิดความรู้ถูกความเข้าใจถูกเป็นลำดับๆ เราพาจิตเที่ยวอยู่ในกาย เราก็จะรู้เลยกายนี้ไม่ใช่ของดี กายนี้มีแต่ตัวทุกข์ แต่จิตที่มัน เพลินๆ ดูกายเพลินๆ ไป มันสงบ มีความสุขได้ เราภาวนาไม่มาหยุดอยู่แค่ความสุข ความสงบของจิต เราภาวนาเราสังเกตจิตใจต่อไปอีก จิตใจไม่ได้อยู่เฉย จิตใจสร้างภพตลอด จิตใจเที่ยวไปทางตา หู จมูก ลิ้น กายตลอด ตรงที่จิตมันสร้างภพจิตมันเที่ยวไปทางใจ เที่ยวไปในธรรมารมณ์ต่างๆ ก็เป็นภพดีภพชั่วทั้งหลายขึ้นมา ฉะนั้นจิตท่องเที่ยวไปก็ทุกข์ มีกายอยู่เมื่อใดมีทุกข์อยู่เมื่อนั้น มีจิตอยู่เมื่อใดมีทุกข์อยู่เมื่อนั้น ภาวนาก็จะเห็นอย่างนี้ พอเห็นแล้วมันจะรู้เลยว่า ไม่มีที่ที่จะให้ไปเกิดหรอก

อยากไปเป็นเทวดา เทวดาก็มีร่างกายก็ยังทุกข์ กายของเขาละเอียด รู้สึกดี รู้สึกสบาย แต่ตอนที่ใกล้จะตายกำลังจะสิ้นบุญ กายนี้จะทุกข์ขึ้นมาให้ดูแล้ว จะมีเหงื่อไคลไหลสกปรก รัศมีเศร้าหมอง ที่เคยหอมมันก็ไม่หอมแล้ว มันจะเสื่อมโทรมให้ดู ทุกข์ให้ดู แต่กายเทวดามันละเอียดกว่าจะเห็นทุกข์ได้ ลำบาก กายมนุษย์ดี เราว่ากายเราไม่ดี เดี๋ยวหิว เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวเจ็บป่วย กลัวโควิดอะไร เจ็บป่วย ลำบาก กายมนุษย์นี้ไม่ดีเลย กายมนุษย์ไม่ดีสำหรับพวกที่รักกาย สำหรับคนภาวนาอยากพ้นทุกข์จริงๆ กายมนุษย์นี้ดีที่สุดเลย เพราะกายของมนุษย์มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา หายใจออกเรื่อยๆ ก็ทุกข์ ก็ต้องหายใจเข้าแก้ทุกข์ หายใจเข้าเรื่อยๆ ไปก็ทุกข์ ก็ต้องหายใจออกแก้ทุกข์ มีความทุกข์อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก กายมนุษย์มันดีตรงนี้ มันเห็นทุกข์ง่าย นั่งอยู่นานๆ ก็ทุกข์ ยืนอยู่นานๆ ก็ทุกข์ เดินอยู่นานๆ ก็ทุกข์ นอนอยู่นานๆ ก็ทุกข์ กินอิ่มก็ทุกข์ หิวก็ทุกข์ ร้อนก็ทุกข์ หนาวก็ทุกข์ ปวดอึปวดฉี่ก็ทุกข์ ไม่มีน้ำจะกินก็ทุกข์อีก กินน้ำมากก็ปวดฉี่อีก กายมนุษย์มันดีตรงนี้ คือมันเห็นทุกข์ง่าย

ถ้าเราไปเป็นเทวดา เป็นพรหม พรหมมี 2 ชนิด พรหมบางพวกมีรูป บางพวกไม่มีร่างกายมีแต่จิต ถ้าเรามีรูปของเทวดา ของพรหม เราจะดูให้เห็นทุกข์ยาก เพราะฉะนั้นมนุษย์ถือว่ามีบุญวาสนามาก มนุษย์เป็นสุคติภูมิของเทพ อย่างพวกเราเวลาจะตาย เราก็อวยพรให้ไปเป็นเทวดา มีใครมาบอกเราว่าญาติเราตายแล้วไปเป็นเทวดา แหม ปลื้มดีใจ พวกเทวดาพอจะตาย เขาอวยพรกันขอให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ ขอให้ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ เพราะเป็นมนุษย์เป็นภูมิที่ภาวนาได้ดีที่สุด ถึงชื่อว่ามนุษย์ สามารถพัฒนาจิตใจให้สูงได้ง่ายที่สุด พระพุทธเจ้าก็เลือกตรัสรู้ในภูมิของมนุษย์

ฉะนั้นเราอย่ากลุ้มใจ โอ๊ย ตายแล้วชีวิตนี้ลำบากเหลือเกิน ลำบากอย่างโน้นลำบากอย่างนี้ ชีวิตของเรามันไม่ดีสำหรับคนซึ่งไม่ได้ปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติเราจะไม่เกลียดชีวิตนี้ ตอนนี้กำลังอยู่ในสุคติที่ดีที่เทวดาปรารถนาอยากเป็นคน ตอนนี้เราเป็นคนแล้ว เราก็ท่องเที่ยวแทนที่จะเที่ยวออกข้างนอกให้เสียเงินหรือให้เสียสุขภาพ เราเที่ยวอยู่ในกาย หรือเที่ยวอยู่ในใจของเรา เที่ยวอยู่ในกายก็ดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ดูตั้งแต่หัวถึงเท้า เท้าถึงหัว มีแต่ของไม่สวยไม่งาม ไม่สะอาด มีแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูไปอย่างนี้เรื่อยๆ จิตมันจะสูงขึ้นๆ ไป วันหนึ่งมันจะรู้แจ้งเห็นจริง กายนี้คือตัวทุกข์ พอกายนี้เป็นทุกข์ การจะไปเกิดในภูมิต่างๆ เกือบทั้งหมดไม่ได้เรื่องแล้ว เพราะในภูมิส่วนใหญ่มันจะมีร่างกาย ก็เมื่อร่างกายเป็นทุกข์แล้วเวลาไปเกิดใหม่ มันก็เอาตัวทุกข์ไปด้วย คือมันมีกาย มันก็คือมันมีตัวทุกข์อยู่ประจำตัว ยิ่งถ้าเราภาวนามาถึงจิตถึงใจ เราเห็นจิตท่องเที่ยวไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เห็นจิตท่องเที่ยวไปทางใจ เที่ยวไปในภพน้อยๆ ต่างๆ เวียนอยู่อย่างนี้ เราจะรู้เลยมีจิตก็มีทุกข์

เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นว่ามีจิตก็มีทุกข์ ไม่มีที่ให้เกิดแล้ว ในภพภูมิทั้งหลาย 31 ภูมิ มีอยู่ภูมิเดียวที่ไม่มีจิต คือภูมิที่เป็นพรหมลูกฟัก มีแต่ร่างกายไม่มีจิตเขาเรียกสัตว์ขันธ์เดียว จิตมันวูบลงไปหมดความรู้สึกเลย เหลือร่างกายนั่งแข็งทื่ออยู่ อันนั้นไม่มีจิตแต่กายมันยังอยู่ กรรมยังหล่อเลี้ยงชีวิตไม่ให้ดับสูญไป พอหมดอำนาจของการเพ่งเอาไว้ หลุดออกมาก็กลับมามีกายมีจิตอย่างเดิมอีก ก็ยังทุกข์อีก ส่วนภพภูมิที่มันไม่มีกายมันก็คืออรูปพรหม อรูปภูมิ 4 พวกพรหมที่มีช่องว่างเป็นอารมณ์ มีจิตวิญญาณเป็นอารมณ์ พวกพรหมที่ไม่เอากาย ไม่เอารูป ไม่เอานาม ไม่เอาอารมณ์ ไม่เอาจิต อยู่กับความไม่เอาอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ก็เป็นพรหมอย่างหนึ่งไม่มีร่างกายเหลือแต่จิต แล้วพรหมอีกชนิดหนึ่งอยู่ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ ใจมันจะเคลิ้มๆ เกือบจะหมดความรู้สึกตัว ยังมีจิตอยู่แต่มันไม่มีกาย พวกนี้พวกอรูปภพมีจิตแต่มันไม่มีกาย

 

ท่องเที่ยวไปในกาย จะเข้าใจกาย
ท่องเที่ยวในจิตใจ จะเข้าใจจิตใจ

 

ถ้าเราเคยภาวนามาจนเห็นว่าตัวจิตก็คือตัวทุกข์ มีจิตอยู่ก็ยังมีทุกข์อยู่ จะหาที่เกิดไม่ได้เลย โดยเฉพาะถ้าเรารู้ว่ามีกายยังทุกข์อยู่ มีจิตก็ยังทุกข์อยู่ ถ้าเห็นแจ้งอย่างนี้ไม่มีที่ให้เกิดแล้ว เพราะไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็มีกายมีจิต หรือบางภูมิมีแต่กายไม่มีจิต บางภูมิมีจิตไม่มีกาย แต่ก็ยังเหลือ ยังเหลือกาย หรือเหลือจิตอยู่ มันคือตัวทุกข์ ถ้าเราภาวนาให้มันถ่องแท้ลงมา ท่องเที่ยวอยู่ในกายในจิตของตัวเองเรื่อยๆ ไปจนมันชำนิชำนาญ เกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูก มันจะไม่มีที่ให้เกิดหรอก เพราะไปเกิดในภพภูมิใดก็มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น จิตมันจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ มันจะยุติการท่องเที่ยวเดินทางไกลในวัฏสงสาร ฝึกๆ ไปเรื่อยแล้วมันจะรู้ด้วยตัวเองว่า จิตมันอยากไปเที่ยวในภพภูมิไหน มันยังอยาก ติดอกติดใจ อยู่ในภพภูมิไหน เราภาวนาไปเรื่อยเราจะเห็นด้วยตัวของเราเอง

ฉะนั้นเราฝึกทุกวัน ช่วงนี้อยู่กับบ้านก็มาท่องเที่ยวอยู่ในร่างกาย เรียนรู้ความจริงไป มาท่องเที่ยวอยู่ในจิตใจ ในธรรมารมณ์ พอจิตใจท่องเที่ยวไป คอยรู้คอยเห็นไป สติปัญญาแก่กล้าขึ้นมาจะรู้ กายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือทุกข์ รู้อย่างนี้เรียกว่าล้างอวิชชาได้แล้ว อวิชชาคือการไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้ว่ารูปนามกายใจนี้คือตัวทุกข์ ฉะนั้นดูเรื่อยๆ เดี๋ยวเราเข้าใจมัน ท่องเที่ยวไปในกายก็จะเข้าใจกาย ท่องเที่ยวในจิตใจในโลกภายใน จะเข้าใจจิตใจ มันก็เหมือนเราไปเที่ยวทัศนาจร เราไปที่ไหนบ่อยๆ เราก็ชำนิชำนาญ อย่างเราไปต่างประเทศ ไม่เคยไปประเทศนี้ ไม่เคยไปเมืองนี้ ไปทีแรกก็เงอะๆ งะๆ ดูแผนที่ดูโน้นดูนี้ ถามคนโน้นคนนี้อะไรอย่างนี้ แต่พอเราชำนิชำนาญไม่ต้องถามใคร มันรู้แจ่มแจ้งกับจิตใจ ไปทางนี้แล้วจะต่อไปทางนี้อะไรอย่างนี้

 

ถ้ารู้แจ่มแจ้งแล้ว กายนี้คือตัวทุกข์ ใจนี้คือตัวทุกข์ ตัณหาจะไม่เกิดอีก

ฉะนั้นเราดูกายดูใจของเราให้มันชำนิชำนาญ ดูมากๆ ดูแล้วดูอีกจนมันแจ่มแจ้ง ถ้าแจ่มแจ้งแล้วมันจะรู้กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ ถ้ารู้อย่างนี้เรียกว่าล้างอวิชชาได้ พอไม่มีอวิชชามันก็ไม่มีตัณหา ไม่มีอุปาทาน ไม่มีภพ ไม่มีชาติ ไม่มีทุกข์ จะไม่เกิด เกิดทีไรเป็นทุกข์ทุกที จิตมันก็ไม่เกิดแล้ว เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป มันจะทำลายอวิชชาลงไป แล้วทำลายอวิชชาได้เราเห็นกายนี้ใจนี้คือตัวทุกข์ ตัณหามันจะไม่มีอีกแล้ว ทุกวันนี้ใจเรามีตัณหาเต็มไปหมด เดี๋ยวอยากโน้นเดี๋ยวอยากนี้ ของยังไม่มีก็อยากให้มันมี พอมันมีแล้วถ้าชอบอกชอบใจ ติดอกติดใจ ก็อยากให้มันอยู่นานๆ พอมันมีแล้วไม่ชอบใจ ก็อยากให้มันหมดไปสิ้นไป ใจมีความอยาก พอใจมีความอยาก ใจก็มีความดิ้นรนเกิดขึ้น ปรุงแต่งภายใน ใจที่ดิ้นไปดิ้นมา ใจมีความทุกข์ ความทุกข์ก็เกิดขึ้น

ฉะนั้นถ้าเรารู้แจ่มแจ้งแล้ว กายนี้คือตัวทุกข์ ใจนี้คือตัวทุกข์ ตัณหาจะไม่เกิดอีก มันจะไม่มีความอยากให้ร่างกายเป็นสุข เพราะมันรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ ร่างกายนี้คือตัวทุกข์ มันจะไม่อยากให้ร่างกายนี้พ้นทุกข์ เพราะมันรู้ว่าพ้นไม่ได้ กายนี้มันเป็นตัวทุกข์จะให้มันไม่ทุกข์ก็ไม่ได้ จะให้มันพ้นไปเลยก็ไม่ได้ เราจะเห็นอีกจิตนี้ก็คือตัวทุกข์ ความอยากจะให้จิตมีแต่ความสุขก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างถ้าเรายังมีอวิชชาอยู่ เราไปนั่งสมาธิจิตสงบ สบาย ติดอกติดใจอยู่ แต่พอสติปัญญามากไม่มีอวิชชาแล้ว รู้เลยจิตเทวดา จิตพรหม สุดท้ายก็ยังแตกสลายเสื่อมลงไปอีก ก็ยังไม่พ้นทุกข์หรอก รู้ความจริงลงไปความอยากที่จะให้จิตมีความสุขไม่เกิดขึ้น เพราะรู้ว่าจริงๆ จิตคือตัวทุกข์ ความอยากจะไม่ให้จิตทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะรู้ว่าจิตคือตัวทุกข์ ความอยากให้กายให้ใจเป็นสุขไม่มี ความอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ไม่มี พอความอยากทั้งหลายอย่างนี้ไม่มี ความอยากอีกร้อยเรื่องพันเรื่องก็ไม่มีแล้ว

ที่เรามีความอยากนานาชนิด ไปสังเกตดูเถิด ลึกลงไปคืออยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ มันก็มีเท่านี้ ที่อยากดูหนังฟังเพลง อยากมีแฟนหล่อมีแฟนสวย อยากโน้นอยากนี้ มีบ้านใหญ่ มีรถหรูอะไรอย่างนี้ เอาเข้าจริงก็คืออยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ ย่อลงมาตรงนี้เอง ฉะนั้นถ้าเราเรียนรู้ความจริง กายคือทุกข์ ใจคือทุกข์ ล้างอวิชชาได้แล้ว อวิชชา คือการไม่รู้อริยสัจ จะไม่รู้ทุกข์ พอไม่รู้ทุกข์มันก็ละสมุทัยไม่ได้ ถ้ารู้ทุกข์มันก็ละสมุทัย คือละตัณหา ละความอยากได้ มันจะอยากทำไม ความอยากทั้งหลาย มันก็มีแต่อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ มันหมดความอยากเพราะรู้ว่า ความอยากนี้ไร้สาระเป็นไปไม่ได้ กายนี้ใจนี้คือตัวทุกข์แน่นอน

ภาวนาๆ ไปเรื่อย ในที่สุดจิตก็พ้นจากทุกข์ หมดความยึดถือในรูปนามกายใจนี้ จิตก็สบาย เวลาแตกดับ ขันธ์มันแตก ขันธ์มันดับไป เราจะไม่มานั่งคำนึงว่า พระอรหันต์นิพพานแล้วจะไปเกิดที่ไหน เพราะพระอรหันต์ไม่ได้อยากเกิด เราต่างหากอยากเกิด กระทั่งตอนเป็นพระอรหันต์แล้วยังกลัวจะไม่ได้เกิดอีก เราภาวนาเราจะรู้เลย มันแจ่มแจ้งขึ้นแก่ใจว่า ขันธ์ 5 เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป มีแล้วมันก็หายไป คือรูปนามนั่นล่ะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป มีแล้วก็หายไป แค่นี้เองคือจุดคำตอบ ไม่ถามหรอกว่าดับแล้วนิพพานเป็นอย่างไร จิตอยู่ตรงไหน จิตไปอยู่นิพพานได้อย่างไร

มันเป็นเรื่องของธาตุล้วนๆ เลย อย่างร่างกายเราแตกดับ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมยังอยู่ ธาตุบางทีก็แปลงสภาพละเอียดลงไป อย่างตัวรูป ตัวดินอย่างนี้ ตัววัตถุ แปลงสภาพละเอียดออกไป ก็กลายเป็นพลังงาน พลังงานกลายเป็นวัตถุก็ได้ วัตถุเป็นพลังงานก็ได้ นี่เรื่องของธาตุ มันมีธาตุอีกชนิดหนึ่ง คือวิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุพอขันธ์มันแตก ขันธ์มันดับ ธาตุที่บริสุทธิ์มันมีอยู่ มันจะรู้มันจะเห็น ยังไม่ต้องตายหรอกก็รู้ต้องเห็น ภาวนาถึงจุดหนึ่งจะเข้าใจ ตัวนี้มันไม่ตายหรอก แต่มันไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ที่สำคัญไม่ใช่ขันธ์

ค่อยๆ เรียนไป ขอแค่ว่าเห็นความจริงของกายของใจแล้ว ทุกสิ่งที่หลวงพ่อพูดมันจะแจ้งขึ้นมาเอง จิตเราจะได้พ้นการร่อนเร่เสียที ร่อนเร่ไปเรื่อยๆ ทุกข์ ไม่ต้องรอดูว่าตายแล้วไปเกิดที่ไหนหรอก ดูในปัจจุบันนี้ล่ะ จิตก็เปลี่ยนภพอยู่ตลอดเวลาแล้ว เดี๋ยวก็เป็นภพดี เดี๋ยวก็เป็นภพชั่ว เดี๋ยวก็เป็นภพที่มีความสุข เดี๋ยวก็เป็นภพที่มีความทุกข์ ดูไปเรื่อยๆ มันน่าอิดหนาระอาใจ ไม่ว่าภพอะไรก็น่าอิดหนาระอาใจทั้งหมด ค่อยๆ ฝึก ดูกายก็มีแต่ทุกข์ ดูจิตก็มีแต่ทุกข์ รู้แจ่มแจ้งก็ละอวิชชาได้ อวิชชาคือความไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้ว่ารูปนามกายใจเป็นทุกข์ ถ้าละอวิชชาได้ ตัณหาก็ไม่เกิดอีก พอตัณหาไม่เกิด การจะไปสร้างภพสร้างชาติใหม่ไม่มีอีกแล้ว

 

ต้องภาวนา ความรู้ถูกความเข้าใจถูกจะแจ่มแจ้งขึ้นมาเป็นลำดับๆ

ภาวนาทุกวันๆ เรียนซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่ตรงนี้ แล้วชีวิตมันจะดีขึ้น อย่างน้อยมันก็ไม่เลวลง ความดีทั้งหลายมันมีหลายระดับ บุญทั้งหลายจะให้ความสุข กุศลจะให้ความพ้นทุกข์ คนละระดับกัน มีบุญอย่างเราทำความดีทั้งหลาย ทำทานอะไรต่ออะไร สร้างความดีก็มีผลดี มีความสุข แต่ถ้าจิตเป็นกุศล กุศลแปลว่าฉลาด จิตรู้เหตุรู้ผล ภาวนาเรื่อยจิตฉลาดขึ้นมา จะรู้เลยว่าภพที่ว่าดีวิเศษ อันเป็นผลของบุญก็หาสาระไม่ได้ แล้วใจมันจะพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ก็พ้นจากวัฏฏะ พ้นจากทุกข์ วัฏฏะไม่ต้องมองที่ไหนไกล วัฏฏะหมุนอยู่กลางอกนี้ล่ะทั้งวันทั้งคืน คอยรู้อย่างนี้ วัฏฏะหมุนอยู่นี่เอง เดี๋ยวก็เป็นภพดี เดี๋ยวก็เป็นภพชั่ว ภาวนาไปบางทีแน่นอึ๊ดเลย บางทีก็โปร่งสว่างไสว มีความสุข มีความสดชื่น บางทีก็มีความสุขอยู่เฉยๆ แต่ไม่เดินปัญญา บางทีมีความสงบ มีความสุขด้วย เจริญปัญญาด้วย เห็นความจริงของกายของใจไปด้วย วัฏฏะมันหมุนอยู่นี่

ศีล สมาธิ ปัญญาทั้งหลายก็เกิดในภพ หมุนอยู่อย่างนี้ ศีล สมาธิ ปัญญา สะสมไป ก็สะสมอยู่ในภพ พอถึงจุดหนึ่งซึ่งมันอิ่ม มันเต็ม มันพอ แล้วมันเข้าใจ เกิดความรู้ถูกเข้าใจถูก ในรูปนาม ขันธ์ 5 ในกาย ในใจ ว่าคือตัวทุกข์ล้วนๆ จิตมันก็สลัดตัวเองออกจากภพ วัฏฏะถล่มทลายออกไป ไม่มีขึ้นมาอีกแล้ว ถ้าภาวนาถึงจุดหนึ่งวัฏฏะที่หมุนๆ อยู่แตกดับไปแล้ว เหลือแต่ขันธ์ 5 ยังอยู่ ก็อยู่มีชีวิตอยู่ไปจนขันธ์ 5 แตกดับไป ไม่ได้ปรารถนาว่าจะไปเข้าโลกพระนิพพานที่ไหน ถ้านิพพานยังมีเข้ามีออก ไม่ใช่นิพพานจริง

หลวงพ่อก็เคยภาวนาพลาด หลวงพ่อตอนนั้นภาวนา เราเห็นว่าครูบาอาจารย์บอกให้เป็นกลาง มันมีกลางหลายอย่าง กลางอย่างโน้น กลางอย่างนี้ ก็ไปเจอกลางอันหนึ่ง กลางระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ก็คือกลางระหว่างจิตกับอารมณ์ หลวงพ่อก็ภาวนาอย่างเรารู้ลมหายใจอยู่ พอจิตจะเคลื่อนไปที่แสงสว่าง หายใจแล้วมันเป็นแสง พอจิตจะเคลื่อนไปหาแสงให้มันเคลื่อนไป แล้วพอมันจะจับเข้าที่แสง เราไม่ให้จับเราทวนกระแสกลับเข้ามาหาตัวผู้รู้ พอมันจะมาจับตัวผู้รู้ เราไม่จับเราทวนกลับไปหาสิ่งที่ถูกรู้ หาอารมณ์คือแสงสว่างอีก ทวนไปทวนมา จิตรวมพรึบลงไปตรงกลาง ตรงนี้ไม่มีอะไรเลย มีแต่ธาตุรู้ล้วนๆ เลย เหลือแต่ธาตุรู้ล้วนๆ ก็ฝึกอยู่ตรงนี้ โอ้ตรงนี้ท่าจะดี ถ้าฝึกอยู่อย่างนี้จิตจะได้คุ้นกับนิพพาน เดี๋ยวจะแวบไปนิพพาน

แล้วภาวนาไปเรื่อยๆ สังเกตนี้ไม่ใช่นี่ยังไม่ใช่หรอก เราสร้างขึ้นมา นิพพานอันนี้เราสร้างขึ้นมา มันยังเป็นภพๆ หนึ่ง พอสังเกตเห็นตรงนี้ ขึ้นไปกราบครูบาอาจารย์ กราบหลวงปู่เทสก์ ไปเล่าให้ท่านฟังแล้วบอก
“ผมสงสัยว่า มันจะเป็นสมาธิชนิดหนึ่ง”
หลวงปู่บอก “ใช่ มันเป็นสมาธิอย่างหนึ่ง แต่เล่นไว้เถอะ ฝึกไว้ให้ชำนิชำนาญ”

คือท่านอยากให้ฝึกสมาธิไว้หลากหลาย จะได้มีคนสืบทอดรู้สมาธิชนิดต่างๆ ไว้อะไรอย่างนี้ พอท่านบอกหลวงพ่อโอ้ดีใจ ครูบาอาจารย์สนับสนุนให้ทำต่อ
แต่ก็บอกท่าน “ผมกลัวติด”
ท่านบอก “ไม่ต้องกลัว ถ้าติดอาตมาจะแก้ให้เอง” ท่านว่าอย่างนี้

เล่นอยู่พักหนึ่ง วันหนึ่งขึ้นไปเชียงใหม่ กลางคืนจะไปหาอาจารย์ทองอินทร์ที่วัดสันติธรรม ไปเยี่ยมท่านรู้จักท่านอยู่ ท่านภาวนาดี ลูกศิษย์หลวงปู่สิม ไปถึงมีพระมาดักอยู่ ไปตอนกลางคืน กลางวันทำงานอยู่ กลางคืนว่างแล้วเข้าวัด ไม่ได้เที่ยวผับเที่ยวบาร์กับใครเขาหรอก มีพระมาดักอยู่หน้าวัด บอกว่าให้ไปหาอาจารย์บุญจันทร์ อาจารย์บุญจันทร์มาจากถ้ำผาผึ้ง หลวงพ่อบอกไม่ไปหรอกไม่รู้จัก แล้วมันไม่ใช่กาลเทศะมันมืดแล้ว เราไม่คุ้นกับท่านอยู่ๆ ไปหาท่านได้อย่างไร ท่านมีธุระอะไรของท่านอยู่เราไม่รู้ หลวงพ่อก็ยืนยันไม่ไป หลวงพ่อก็ไปคุยกับท่านอาจารย์ทองอินทร์อยู่สักชั่วโมง

ออกมาพระองค์นี้มาดักอยู่หน้ากุฏิอาจารย์ทองอินทร์ อากาศก็หนาวจัดเลย มืดตึ๊ดตื๋อเลย หนาวเยือกเลย ท่านรบเร้าจนกระทั่งหลวงพ่อ เฮ้อ องค์นี้ตื๊อชิบเป๋งเลย ก็ขึ้นไปหาอาจารย์บุญจันทร์ เจอหน้าท่านชี้เลย ชี้หน้า “ไง จะภาวนาอย่างไร” ก็เล่าให้ท่านฟัง โดนท่านตวาดเอา “เฮ้ย นิพพานอะไร มีเข้ามีออก” ประโยคนี้จำไว้เลย “นิพพานอะไร มีเข้ามีออก” ถ้าภาวนาแล้วบอกเข้านิพพาน นิพพานเก๊ ส่งจิตไปพระนิพพาน นิพพานปลอม พอภาวนาจริงๆ แล้ว สภาวะที่สิ้นตัณหา จิตวางรูปวางนามหมดแล้ว นิพพานอยู่ต่อหน้านี่ไม่ต้องไปไหนหรอก ไม่ต้องเที่ยวแสวงหา นิพพานอยู่ตรงโน้น นิพพานอยู่ตรงนี้อะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ นั่นเรื่องของนิมิต ไม่ใช่นิพพาน ถ้านิพพานยังมีขันธ์อยู่ ถ้าเราภาวนาเรารู้ขันธ์เป็นทุกข์ใช่ไหม นิพพานแล้วมีขันธ์อยู่มันก็ยังทุกข์อีก ไม่ใช่นิพพานหรอก

ฉะนั้นเราก็ต้องภาวนา เดี๋ยวความรู้ถูกความเข้าใจถูก มันก็จะแจ่มแจ้งขึ้นมาเป็นลำดับๆ ไป สนุกนะภาวนา ยิ่งสนุกยิ่งภาวนา ของไม่เคยรู้ได้รู้ ของไม่เคยเห็นได้เห็น ของไม่เคยเข้าใจได้เข้าใจ พอเข้าใจแล้วของไม่เคยวางก็จะวางได้ ของที่ไม่นึกว่าจะวางได้ก็วางได้ แล้วจะรู้ว่าความพ้นทุกข์จริงๆ หรือนิพพานจริงๆ เป็นอย่างไร ไม่ต้องรอตายแล้วไปนิพพาน นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตานี่ล่ะ สิ้นตัณหาตอนไหนก็เห็นตอนนั้น วันนี้สมควรแก่เวลา.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
7 สิงหาคม 2564