สติปัฏฐานเป็นทางสายเอก

การปฏิบัตินั้นต้องต่อเนื่อง ต้องทำทุกวัน ในแต่ละวันมีเวลาเมื่อไรก็ทำเมื่อนั้น การปฏิบัติไม่ใช่เรื่องยุ่งยากซับซ้อนอะไร เมื่อไรมีสติเมื่อนั้นมีการปฏิบัติ เมื่อไรขาดสติเมื่อนั้นขาดการปฏิบัติ สติที่พวกเราฝึกกัน ไม่ใช่สติธรรมดาเป็นสติปัฏฐาน สติปัฏฐานต่างกับสติธรรมดา สติธรรมดา เวลาใจเราเป็นบุญเป็นกุศลอะไรนี่ มันก็เกิดอัตโนมัติ อย่างเราอยากฟังเทศน์ ใจเรามีศรัทธามีอะไรอย่างนี้ สติมันก็เกิดร่วมด้วย เป็นสติทั่วๆ ไป แต่สติที่พวกเราต้องฝึกคือสติปัฏฐาน สติปัฏฐานคือมีสติอยู่ในฐานกาย เวทนา จิต ธรรม ฐานใดฐานหนึ่ง กายก็เป็นส่วนของรูปธรรม เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนาเป็นส่วนของนามธรรม ธัมมานุปัสสนานี่กว้างขวางครอบคลุมทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม ทั้งกุศลทั้งอกุศล กว้างกว่ากัน ย่อๆ ลงมาก็คือ ถ้าเมื่อไรไม่มีสติรู้กาย ไม่มีสติรู้ใจ เมื่อนั้นไม่ได้ทำสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าบอกสติปัฏฐานเป็นเอกายนมรรค เป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น

ฉะนั้นอย่างใจเราเป็นบุญเป็นกุศล มีสติเหมือนกันล่ะ ทำบุญ ใส่บาตร ฟังเทศน์ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่าอะไร หล่อพระ ปิดทองพระอะไรได้บุญทั้งนั้น ทำสาธารณประโยชน์ สาธารณกุศล ก็เป็นบุญทั้งนั้น ในขณะที่จิตเป็นกุศลนั้นมีสติเกิดด้วย แต่กุศลอันนั้นมันเป็นสาธารณกุศล กุศลทั่วๆ ไป กุศลทั่วๆ ไปให้ผลเป็นอย่างไร ให้ผลเป็นความสุข เราไปสู่ภพภูมิที่ดี อย่างเมื่อวานถ้าฟังที่หลวงพ่อสอน จิตเราเปลี่ยนภพตลอดเวลา เดี๋ยวภพดี เดี๋ยวภพชั่ว เดี๋ยวภพสุข เดี๋ยวเป็นภพทุกข์อะไร หมุนไปใน 31 ภพ หมุนๆๆ อยู่ ถ้าเราจิตเป็นบุญเป็นกุศลก็อยู่ในภพที่ดี อยู่ในสุคติ จิตชั่วก็ไปทุคติ แค่นั้นเอง ไม่ไปสุคติก็ไปทุคติ ไม่สามารถออกจากภพได้

คำว่าภพกับภูมิไม่เหมือนกัน ภพมันมี 31 อัน เช่น นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดาก็มี 6 พรหม พรหมมีรูปมี 16 พรหมไม่มีรูปมี 4 นี่เป็นภพต่างๆ รวมแล้ว 31 ภพ ใน 31 ภพแบ่งออกไปได้เป็นภูมิๆ กามาวจรภูมิ อย่างพวกสัตว์นรก เปรต อสุรกาย มนุษย์ เทวดา อยู่ใน กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิเป็นพรหม 16 ชั้น อรูปาวจรภูมิเป็นพรหมไม่มีรูป 4 ชั้น ภูมิมี 4 ภูมิ มีกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร แล้วก็โลกุตตรภูมิ โลกุตตรภูมิไม่เรียกว่าภพ ไม่ได้เกิดด้วยตัณหา เกิดด้วยความสิ้นตัณหา จิตจะเข้าถึงความสิ้นตัณหาได้ต้องทำสติปัฏฐาน ไม่มีทางเลือกทางที่สอง เพราะพระพุทธเจ้าบอกสติปัฏฐาน 4 เป็นเอกายนมรรค

 

เอกายนมรรค

เอกายนมรรคคือทางสายเอก ทางสายเดียว ทางของท่านผู้เป็นเอกคือพระพุทธเจ้า ทางที่เป็นหนึ่ง คือไปครั้งเดียวแล้วไม่ต้องไปครั้งที่สอง แล้วก็เป็นเส้นทางเดียวที่จะทำให้ถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น คำว่าเอกายนมรรค แปลได้เยอะแยะเลย หลายแง่หลายมุม ทางของท่านผู้เป็นเอกก็ได้ ถ้าเราเดินแล้ว สุดท้ายเราก็เป็นผู้เป็นเอกเหมือนกัน เป็นเอกมันเป็นอย่างไร เป็นหนึ่ง มันเป็นจิตหนึ่ง จิตหนึ่งก็คือจิตที่ครูบาอาจารย์ท่านเรียกต่างๆ กัน หลวงปู่ดูลย์เรียกจิตหนึ่ง นั่นล่ะตัวธรรมเอก ท่านพุทธทาสท่านเรียกจิตเดิมแท้ หลวงตามหาบัวท่านเรียกว่าธรรมธาตุ สมเด็จพระญาณสังวรฯ ท่านเรียกวิญญาณธาตุ แต่ละองค์ๆ ท่านเรียกไม่เหมือนกัน ท่านพุทธทาสท่านเรียกจิตเดิมแท้ หลวงปู่บุดดาท่านเรียกว่าใจเดียว มันเป็นหนึ่ง อันนั้นมันเป็นจิตที่เราฝึกจนมันถึงโลกุตตระเต็มภูมิแล้วมันก็เจอ ตอนนี้ไม่เจอก็ไม่ต้องไปหา หาอย่างไรก็หาไม่เจอ หลวงปู่ดูลย์บอกใช้จิตแสวงหาจิต อีกกัปหนึ่งก็ไม่เจอ ฉะนั้นเราไม่ต้องไปแสวงหามัน

เราเจริญสติปัฏฐานไป มีสติรู้กาย มีสติรู้ใจไป เวลาเรามีสติรู้กาย ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ให้รู้ ไม่ได้ให้เข้าไปแทรกแซง ไม่ให้ไปบังคับ ให้รู้เฉยๆ ไม่ลืม มีสติรู้กาย มีสติรู้ใจไป อย่างรู้กาย ก็เห็นร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก รู้สึกอยู่ในกายอย่างนี้เป็นกายานุปัสสนา เวลาเรารู้สึกอยู่ในกาย บางทีเราจะพบสิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้นในกาย ตัวนี้คือเวทนาทางกาย อย่างนั่งอยู่มีความเจ็บ ความปวด ความเมื่อยเกิดขึ้นในร่างกาย เรามีสติรู้ร่างกายก็ส่วนหนึ่ง ความเจ็บปวดก็ส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนรู้ก็อีกส่วนหนึ่ง ตัวความปวด ความเมื่อยเป็นเวทนาขันธ์ เป็นอีกส่วนหนึ่ง

คำว่าขันธ์ อย่าไปตกใจ อย่าไปกลัวมัน ภาษาไทยคือคำว่าส่วน ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง ความสุขทุกข์อยู่ส่วนหนึ่ง จิตใจอยู่อีกส่วนหนึ่ง อยู่คนละส่วนกัน ถ้าเราจะดูกายก็รู้สึก ร่างกายหายใจ รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก แค่รู้สึก ไม่ได้เพ่ง ไม่ได้จ้อง ไม่ได้บังคับ รู้สึกๆ (หลวงพ่อยกมือขึ้นลงๆ ) ถ้าเพ่งก็ (หลวงพ่อยกมือขึ้นช้าๆ ) นี่เพ่ง ทำอะไรอืดๆ ไป หรือถ้าลืมก็หลงไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ มือขยับแต่ใจหนีไปคิดเรื่องอื่น นี่ไม่ได้ปฏิบัติ ขาดสติ เมื่อไรมีสติ เมื่อนั้นมีการปฏิบัติ เมื่อไรขาดสติ เมื่อนั้นขาดการปฏิบัติ คือสติปัฏฐาน

ฉะนั้นเรารู้สึก รู้สึกร่างกายไปเรื่อยๆ แล้วจิตเราเป็นแค่คนรู้คนดู ไม่นานเราจะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราหรอก ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป ตัวที่สั่งๆ ให้ร่างกายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง คือตัวจิตเป็นคนสั่ง เป็นตัวโปรแกรมให้ร่างกายทำงาน อย่างบางทียุงมากัดเรา จิตมันก็โปรแกรมให้ตบยุง ตบๆๆ ระหว่างที่มือเคลื่อนไป เกิดสติขึ้นมา เราก็ “เฮ้ย หยุด” ปรากฏว่ามือนี่ไม่หยุด มือยังรับออเดอร์ของคำสั่งแรกอยู่ ยังไม่เลิก ก็ลงไปก่อน เพราะอย่างบางทีตบยุง บางทีโมโหตบผัวะเลย ไม่มีสติ บางทีตบแล้วเกิดสติขึ้นมา ระลึกขึ้นมา เฮ้ย อย่าไปตบมัน แต่เบรกไม่อยู่ เคยเป็นไหม เบรกไม่อยู่ ทำไมเบรกไม่อยู่ บอกว่าจิตเป็นคนสั่งกาย แล้วทำไมสั่งไม่ได้ล่ะ ก็ร่างกายมันรับคำสั่งของจิตดวงก่อนไปแล้ว มันยังทำงานไม่เสร็จ มีคำสั่งใหม่มา มันยังวินิจฉัยไม่สำเร็จ มันก็จะทำงานเก่าไปก่อน ตบผัวะลงไป

เราค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดูไป มันเห็นร่างกายมันไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายมันเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอนไม่ใช่เรา ร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่หยุดนิ่งไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้ แล้วก็จิตสั่งให้มันทำอย่างโน้น สั่งให้มันทำอย่างนี้ พอดูเป็น เราก็จะเริ่มถอดถอนความเห็นผิด พอเราเข้าใจร่างกาย เราก็ถอดถอนความเห็นผิดเกี่ยวกับร่างกาย ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายไม่ใช่ของเรา ร่างกายเป็นวัตถุ เป็นสมบัติของโลก เรายืมโลกมาใช้ไม่นาน ไม่นานบางคนก็ 100 ปี บางคนไม่ถึง 100 ปี บางคน 70 กว่าปีอะไรอย่างนี้ 75 ปีคืออายุกัปหนึ่งแล้ว บางคนเกิดมาวันเดียวก็ตายแล้ว บางคนอยู่ในท้อง ยังไม่คลอดก็ตายแล้ว เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มันเป็นสมบัติของโลก เรายืมเขามาใช้

จิตมันเข้ามาเกาะอยู่ในกายนี้ ก็เลยรู้สึกเป็นร่างกายของเรา อย่างรถยนต์ รถยนต์ไม่ใช่ตัวเรา แต่จิตมันไปยึดถือ ไปซื้อมา ผ่อนยังไม่หมดเลย นี่รถยนต์ของเรา จริงๆ รถยนต์ก็ผลิตขึ้นมาเป็นวัตถุของโลก ไม่นานมันก็คืนสภาพให้โลกไป เรื่องรูปมันเป็นอย่างนี้ รูปมีธรรมชาติแตกดับ รูปคือสิ่งซึ่งมีธรรมชาติที่แตกดับ ไม่ยั่งยืน ไม่คงทนหรอก ร้อนไปก็แตกดับ เย็นไปก็แตกดับ อย่างพวกเรา เราว่าร่างกายนี่ตัวเราๆ ไปอยู่ที่เย็นจัดสิ เดี๋ยวก็ตายแล้วแตกดับ ไปอยู่ที่ร้อนจัดก็แตกดับ มันทนอยู่ไม่ได้ เราค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไป

ถ้าสติ สมาธิ เรายังไม่แข็ง เรารู้สึกอยู่ในร่างกาย ร่างกายนี้ดูง่าย เพราะว่ามันหยาบ ไม่ต้องเข้าฌานดูหรอก แต่ตรงที่เดินปัญญาด้วยกาย ต้องเข้าฌานก่อน คนละอย่างกัน อันนี้จะฝึกให้ได้สมาธิ ให้ได้สติเท่านั้นเอง ยังไม่ต้องเข้าฌาน อย่างร่างกายเคลื่อนไหว เรารู้สึกอย่างนี้ ต่อมาพอเราเผลอขาดสติ ร่างกายเราเกิดขยับ สติจะเกิดเองเลย จะรู้สึกขึ้นเองเลย นี่การเจริญสติปัฏฐาน สิ่งที่เราจะได้มาในอันดับแรกเลย คือได้สติ สติจะเกิดเอง

หลวงพ่อเคยไปกราบหลวงพ่อเทียน เห็นท่านสอน ขยับๆ เออ ท่านเก่ง ท่านขยับแล้วท่านตื่น รู้ ตื่น เบิกบาน ขันธ์แยกอะไรอย่างนี้ ลูกศิษย์ขยับตาม ไม่ได้เรื่องเลย พวกหนึ่งคิดว่าจะขยับอย่างไร ท่านี้แล้วจะไปท่าไหน พวกหนึ่งขยับชำนาญ ขยับด้วยไขสันหลัง แหม สวยมากเลย เคลื่อนที่ แต่จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว พวกหนึ่งนั่งคิดว่าท่าต่อไปคืออะไร จิตหลงในความคิด อีกพวกหนึ่งไม่คิด นั่งเพ่งอยู่ที่มือ มือเคลื่อนอย่างไร จิตเกาะอยู่ที่มือเลย บอก โอ้ ไม่ใช่นี่ แต่หลวงพ่อเทียนนี่ใช่ หลวงพ่อเทียนเคลื่อนไหว หลวงพ่อเทียนรู้สึก เพราะฉะนั้นวิธีของท่านก็โอเค หลวงพ่อก็เลยไปนั่งใต้ต้นไม้ ขยับๆ อย่างท่านนี่ล่ะ ขยับ 14 จังหว ขยับอยู่พักหนึ่ง โอ๊ย รำคาญ ยาวเกินไป หลวงพ่อขยับเหลือแค่นี้ (กำมือ-แบมือ) ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว เคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก เคลื่อนไหวแล้วมันก็หยุด แล้วเคลื่อนไหวแล้วก็หยุด รู้สึกเรื่อยๆ

วันหนึ่งขาดสติ เห็นเพื่อนเดินอยู่คนละฝั่งถนน หลวงพ่อจะก้าวไปหาเขา คิดถึงมัน ไม่เจอหลายปีแล้ว พอเท้าเราเคลื่อนที่เท่านั้น สติเกิดพรึบเลย รู้สึกตัวขึ้นมาทันทีจากหลงอยู่ หลงดีใจที่เจอเพื่อนแล้วไม่รู้ว่าดีใจ พอเท้าขยับรู้สึกเลย อันนี้เพราะสติมันเคยเกิดจากการที่เราเคลื่อนไหวร่างกาย เพราะฉะนั้นพอเราขาดสติแล้วร่างกายเราเคลื่อนไหวปุ๊บ สติจะเกิดเองเลย ถ้าสติมันเคยเกิดจากการที่เราเห็นเวทนาเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เราขาดสติ แล้วมันเกิดเวทนาอะไรขึ้นมา แปลกๆ ขึ้นมาปุ๊บ สติเกิดเองเลย หรือเราเคยชำนาญในการเจริญจิตตานุปัสสนา จิตมีราคะก็รู้ จิตไม่มีราคะก็รู้อะไรอย่างนี้ หรือถ้าขี้โมโห จิตมีโทสะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้ รู้อย่างนี้ มันเคยชิน รู้แล้วมีสติๆ ต่อมามันโกรธขึ้นมา ขาดสติแล้วมันโกรธขึ้นมาปุ๊บ สติมันรู้เองเลย สติเกิดอัตโนมัติเลย เฮ้ย โกรธแล้ว ความโกรธก็ดับทันทีเลย จิตผู้รู้ก็เกิด จิตผู้รู้คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้อง เกิดขึ้นอัตโนมัติเลย

 

กิริยาที่ใช้ในการเจริญสติปัฏฐานมีอยู่ตัวเดียวคือ “รู้”

ฉะนั้นเราต้องเจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ จะดูกายก็ได้ ดูกายก็อย่างที่หลวงพ่อสอนเมื่อกี้ ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก แค่รู้สึกไปเรื่อยๆ ไม่เพ่ง ถ้าเพ่งก็ผิด ถ้าลืม ถ้าเผลอไปก็ผิด เผลอก็ผิด เพ่งก็ผิด รู้สึกถึงจะถูก แค่รู้สึกๆ ไป ในสติปัฏฐานท่านก็สอน “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย เมื่อยืนอยู่ก็รู้ชัดว่ายืนอยู่” ก็แค่รู้เท่านั้น รู้ว่ายืนอยู่ เมื่อนั่งอยู่ก็รู้ว่านั่งอยู่ รู้ ถ้าเราไปดูสติปัฏฐานสูตร เราจะพบ verb กิริยาที่ใช้ในการเจริญสติปัฏฐานมีกิริยาอยู่ตัวเดียวคือรู้ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ ยืนก็รู้ เดินก็รู้ นั่งก็รู้ นอนก็รู้ เคลื่อนไหวก็รู้ หยุดนิ่งก็รู้ สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ โลภก็รู้ ไม่โลภก็รู้ โกรธก็รู้ ไม่โกรธก็รู้ หลงก็รู้ ไม่หลงก็รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ หดหู่ก็รู้ มีแต่คำว่ารู้ทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องทำอะไรมากหรอก หัดรู้

เมื่อ 2 – 3 วันก่อน มีลูกศิษย์เก่าคนหนึ่ง เก่ามากแล้ว ตั้งแต่หลวงพ่อยังไม่บวช เป็นหมอ มาบอกหลวงพ่อว่า โอ้ ฟังหลวงพ่อมันเหมือนง่าย แต่ลงมือทำจริงๆ ทำไมมันยากนักหนา ที่ยากก็เพราะไม่ยอมรู้ พวกหมอไม่ค่อยยอมรู้หรอก ชอบคิดๆ ชอบท่อง ชอบจำอะไรอย่างนี้ มันถูกฝึกมาอย่างนั้น หาความรู้ด้วยการท่องเอา จำเอา คิดเอา ไม่รู้จักวิธีหาความรู้ด้วยการรู้ เมื่อก่อนหลวงพ่อมีญาติเป็นหมออยู่ 1 โขยง ต้องเรียกโขยง เพราะเยอะเลย เขาคุยกัน หลวงพ่อสอนกรรมฐานให้มาเรียนมาถาม สอนให้แล้วทุกคนก็สรุป ให้รู้นี่เราทำไม่ได้หรอก เราเป็นหมอ เราฉลาด เราต้องคิด นี่เขาเรียกว่ากบในกะลา โลกของเรามีอยู่แค่นี้ วิธีหาความรู้มีแต่เรื่องอ่าน เรื่องฟัง เรื่องคิด ไม่รู้วิธีที่เลยนั้นออกไป

การหาความรู้ด้วยการอ่าน ด้วยการฟัง พระพุทธเจ้าเรียกว่าสุตมยปัญญา การหาความรู้ด้วยการคิดพิจารณา ใช้เหตุใช้ผล ท่านเรียกว่า จินตามยปัญญา 2 อันนี้ทำได้ดีที่สุดก็ได้แค่สมถะ ส่วนจะให้เกิดปัญญาอย่างแท้จริง มีวิธีรู้อันที่สาม เรียกว่าภาวนามยปัญญา ภาวนาแปลว่าเจริญ เจริญอะไร เจริญสติสิ ฉะนั้นเป็นวิธีเจริญสติ สติทำหน้าที่อะไร สติทำหน้าที่รู้ ระลึกรู้ ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของจิตในการระลึกรู้สภาวธรรมที่ปรากฏ นี่หน้าที่ของสติ สติเหมือนยามเฝ้าสำนักงาน เหมือนยามเฝ้าสำนักงาน มีอะไรแปลกปลอมเข้ามา ยามต้องรู้ พอรู้แล้วก็รายงานเจ้านาย เจ้านายก็จะตัดสินใจว่าควรจะต้อนรับคนนี้ หรือควรจะเตะออกไปให้พ้นอะไรอย่างนี้ ตัวที่พิจารณาตัวนี้ ตัวนี้คือตัวปัญญา สติเป็นตัวที่เข้าไปจับอารมณ์ไว้ เป็นตัวจับปุ๊บว่ามีอะไรเกิดขึ้น ปัญญาจะเป็นตัวตัดสินๆ ทำงานอย่างนี้

ฉะนั้นการที่หาความรู้ด้วยการอ่าน ด้วยการฟัง เป็นสุตมยปัญญา การหาความรู้ด้วยการคิดเอาเป็นจินตามยปัญญา เราต้องรู้จักวิธีหาความรู้ด้วยการรู้เอา ที่จริงไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรหรอก นักวิชาการรุ่นหลังๆ ก็เอามาใช้ มันคือหลักของการทำงานวิจัยนั่นเอง การที่เราทำสติปัฏฐานไม่ได้ต่างกับการวิจัย ท่านเลยเรียกว่าธรรมวิจัย เวลาเราทำงานวิจัย เราเลือกตัวอย่างของการศึกษาก่อน เราไม่ได้เรียนทุกสิ่งทุกอย่าง เรียนทุกอย่างไปหมดเลยอะไรอย่างนี้ ไม่จำเป็น เลือกตัวอย่างขึ้นมาเพื่อทำการศึกษา อย่างเราจะเรียนเรื่องเชื้อโรคไวรัส ไม่ต้องไปรู้จักไวรัสทุกชนิด หาไวรัสมาสักกลุ่มหนึ่ง แล้วก็เรียนไวรัสอย่างนี้ ทำงานแบบนี้อย่างนี้ๆ ในที่สุดมันก็จะเข้าใจภาพทั้งหมด เชื้อโรคต่างๆ ก็เหมือนกัน กิเลสก็เหมือนกัน เราไม่ต้องรู้ทุกตัวหรอก ตัวไหนเด่นเราก็เรียนตัวนั้น

อย่างเราขี้โมโห เราก็ใช้โทสะ จิตมีโทสะเรารู้ จิตไม่มีโทสะเราก็รู้ ถ้าเราขี้โลภ เราก็ทำวิจัยด้วยการใช้ตัวอย่างความโลภ จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ หรือเราดูร่างกาย เราไม่ได้เรียนกายวิภาคแบบหมอปีหนึ่ง ท่องกันแทบเป็นแทบตายเลย ท่อง กินข้าวก็ท่อง เดินจากตึกนี้ไปตึกโน้นก็เดินท่องไปเรื่อยๆ น่าสงสารจริงๆ เลยชีวิตหมอ หมอปีหนึ่งนี่น่าสงสาร เราไม่ได้ไปท่องอย่างนั้น เรารู้สึกเอา อย่างร่างกายมันเดิน รู้สึกอยู่ว่าร่างกายมันกำลังเดินอยู่ ใจเราเป็นแค่คนรู้สึก หัดรู้สึกอย่างนี้ ร่างกายเคลื่อนไหว ใจรู้สึก ต่อไปมันก็จะเห็นร่างกายที่เคลื่อนไหวส่วนหนึ่ง ใจเป็นส่วนหนึ่ง นี่ขันธ์มันแยกแล้ว มันจะเริ่มก้าวเข้าไปสู่การเดินปัญญาแล้ว

 

สติปัฏฐานในเบื้องต้นทำให้มีสติ

เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานมี 2 ระดับ ระดับต้นทำให้มีสติ อย่างเราหายใจแล้วรู้สึกๆ พอเราขาดสติ กิเลสเราเกิด อย่างโทสะเกิด ลมหายใจเราจะเปลี่ยนจังหวะ ราคะเกิดลมหายใจก็เปลี่ยนจังหวะ พอลมหายใจเปลี่ยนจังหวะนิดเดียว สติเกิดเองเลย เฮ้ย นี่โกรธแล้ว มันรู้เองเลย เพราะเราเคยฝึก อย่างที่หลวงพ่อขยับมือแล้วรู้สึกอย่างนี้ ต่อมาเท้าขยับก็รู้สึก เรียกว่าเราฝึกสติปัฏฐานจนได้สติแล้ว พอรู้สึกปุ๊บ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นอัตโนมัติ สมาธิมันจะเกิดเป็นขณะๆ พอสติระลึกรู้รูปธรรม นามธรรม จิตตั้งมั่นด้วยกำลังของสมาธิที่ถูกต้อง ตั้งมั่นอยู่ ไม่เครียด ไม่ได้บังคับให้ตั้ง ตั้งเอง จิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้อะไร สิ่งนั้นจะแสดงไตรลักษณ์ทันที ท่านถึงบอกว่าสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา

สัมมาสมาธิก็คือสภาวะที่จิตมันตั้งมั่นนี่เอง ตั้งมั่น เด่นดวงเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ จิตก็ทำหน้าที่ของจิตอย่างแท้จริง หน้าที่ที่บริสุทธิ์ของจิตก็คือหน้าที่รู้ จิตมันถูกกิเลสเย้ายวน แทนที่มันจะทำหน้าที่รู้อย่างเดียว มันทำหน้าที่คิด นึก ปรุง แต่ง ไปด้วย เลยเกิดความวุ่นวายแล้วก็ไปสั่งร่างกายให้ทำอย่างนี้ สั่งวาจาให้เป็นอย่างนี้ สั่งให้จิตใจทำงานอย่างนี้ๆ จิตมันทำงานเกินหน้าที่ที่ควรทำ หน้าที่หลักๆ ของจิตจริงๆ คือรู้ ฉะนั้นถ้าใครเขาถามเราว่าจิตคืออะไร จิตมีลักษณะอย่างไร จิตมีลักษณะรู้อารมณ์ สิ่งที่ถูกรู้เรียกว่าอารมณ์ทั้งหมดเลย ฉะนั้นมีจิตเมื่อไรต้องมีอารมณ์เมื่อนั้น มีอารมณ์เมื่อไร ต้องมีจิตเมื่อนั้น กระทั่งจิตหนึ่งที่ว่าเป็นโลกุตตระ จิตของพระอรหันต์เป็นจิตหนึ่ง เป็นวิญญาณธาตุ รู้อารมณ์นิพพาน มีจิต ต้องมีอารมณ์เสมอ มีอารมณ์ก็ต้องมีจิต เราค่อยๆ ฝึกไป พอจิตเราเคยรู้กายรู้ใจแล้วสติเกิด พอสติเกิดปุ๊บ สมาธิจะเกิด สมาธิเกิดปุ๊บ ขันธ์จะแยกอัตโนมัติ มันจะเห็นว่าร่างกายที่เคลื่อนไหวเป็นของที่จิตไปรู้เข้า แล้วต่อไปปัญญาคือการเห็นไตรลักษณ์จะเกิดขึ้น จิตมันจะเดินอย่างนี้

ทีแรกทวนให้ฟังอีกที อย่างเราฝึกสติ หายใจ รู้สึก เคลื่อนไหว รู้สึกอะไรนี่ ต่อมาพอเราเผลอปุ๊บ ร่างกายขยับปุ๊บ มันรู้สึกเอง สติมันเกิดแล้ว พอสติเกิดโดยไม่เจตนาให้เกิด สมาธิจะเกิดเอง จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้อัตโนมัติ พอจิตเป็นผู้รู้แล้ว ปัญญาจะเกิด ปัญญาขั้นต้น มันจะเห็นว่าร่างกายที่เคลื่อนไหวเป็นของที่จิตรู้ ไม่ใช่จิตหรอก ตรงนี้เป็นปัญญาขั้นแรกเลยเรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณ นามคือตัวจิตนี้ รูปคือร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่นี่คนละอันกัน นามรูปปริจเฉทญาณ

ต่อไปมันก็จะแยกได้ละเอียดขึ้น บางคนแยกละเอียด ตัวรูปก็ยังแยกออกเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศธาตุ มีรูป อากาศธาตุคือช่องว่าง space ที่ดิน น้ำ ไฟ ลม บรรจุอยู่ นี่คือกลุ่มของรูป แยกออกไปได้อีก ในกลุ่มของนามธรรมแยกได้เป็นเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว จิตคือธรรมชาติที่รู้ แยกเป็น 4 เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 4 ร่างกายก็มี 4 ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็มีภาชนะที่ตั้งของมันอยู่ ก็เรียกว่าอากาศ อากาศธาตุ ส่วนทางจิตเป็นส่วนของวิญญาณธาตุ ธาตุเลยมี 6 ธาตุ เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศกลุ่มหนึ่ง แล้ววิญญาณธาตุส่วนหนึ่ง ในส่วนของธาตุทางนามธรรม ก็แยกได้ 4 เวทนาคือความสุขทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์ สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว แล้วก็จิต ฉะนั้นอย่างที่เราท่องขันธ์ 5 ขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปถ้าแยกออกไปก็คือธาตุ 4 เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 4 ตัวนี้เป็นกลุ่มของนามธรรม

ตรงที่จิตเราตั้งมั่นปุ๊บ ขันธ์จะกระจายตัวออก พอสติระลึกรู้รูป เห็นรูปไม่ใช่เรา ตรงนี้ ตรงที่เห็นว่ารูปไม่ใช่เรา ตรงนี้เริ่มเดินปัญญาแล้ว เริ่มเดินวิปัสสนาแล้ว มันเห็นไตรลักษณ์ เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ก่อนที่จะเห็นตรงนี้ มันจะเห็นรูปกับนามแยกออกจากกัน ร่างกายกับจิตมันคนละส่วนกัน สุข ทุกข์ ดี ชั่ว คนละส่วนกับจิต นี่แยกออกไปๆ ตรงนี้เป็นปัญญาขั้นต้น ยังไม่ถึงวิปัสสนา วิปัสสนาเป็นปัญญาระดับสูง ปัญญามีหลายระดับ ระดับที่ยังไม่ถึงวิปัสสนาคือระดับที่เห็นความจริงแต่ไม่เห็นไตรลักษณ์ อย่างเราเห็นว่ากายกับใจมันเป็นคนละอันกัน ยังไม่เป็นวิปัสสนา ตรงที่เป็นวิปัสสนาจะเห็นว่ากายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันเห็นอย่างนี้ เวทนา สัญญา สังขารก็เหมือนกัน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเราเหมือนกัน นี้เป็นปัญญาในขั้นวิปัสสนา

 

สติปัฏฐานในเบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา

ค่อยๆ สะสมไป ทำตรงนี้ได้ก็อาศัยสติปัฏฐานเบื้องต้น คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จะเป็นรูปธรรม นามธรรมอะไรก็ได้ ฝึกไปเรื่อยๆ จนสติมันเกิดบ่อยๆ สติปัฏฐานในเบื้องต้นทำให้เกิดสติ สติปัฏฐานในเบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา ฉะนั้นหน้าที่ของสติปัฏฐานมี 2 อย่าง อันแรกทำให้เกิดสติ อันที่สองทำให้เกิดปัญญา มีสติแล้วก็มีปัญญา จะมีปัญญาได้ต้องมีสัมมาสมาธิ มีสมาธิที่ถูกต้อง ในที่สุดจากวิปัสสนาก็จะกระโดดขึ้นไปสู่ปัญญา จากวิปัสสนาปัญญาจะกระโดดขึ้นไปสู่โลกุตตรปัญญา เป็นปัญญาในโลกุตตระ เป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นปัญญาที่ไม่ได้คิด ไม่ได้นึก เป็นการรู้แจ้งแทงตลอดของจิต

ค่อยฝึก ทำสติปัฏฐานทุกวันๆ มีสติรู้กาย มีสติรู้เวทนา รู้จิตที่เป็นกุศล อกุศล ฝึกทุกวันๆ เอาง่ายๆ อย่างนี้ล่ะ ธัมมานุปัสสนายากไป มันถึงขั้นรู้เหตุรู้ผล เช่น รู้ว่ากิเลสที่ขวางคุณงามความดีของเรา ขวางการไปมรรคผลนิพพานของเราคือนิวรณ์ นิวรณ์เป็นเครื่องกั้นคือเป็นกิเลสที่ขวางคุณงามความดี แต่ไม่ได้รู้อยู่แค่นี้ ถ้าธัมมานุปัสสนาจะรู้เหตุรู้ผลด้วย รู้ว่านิวรณ์เกิดจากอะไร หรือโพชฌงค์ 7 เป็นองค์ธรรมที่จะนำไปสู่การตรัสรู้ แล้วก็จะรู้ลึกลงไปอีก ไม่ได้รู้แค่ตัวองค์ธรรม แต่รู้ว่าองค์ธรรมแต่ละตัวเกิดขึ้นได้อย่างไร รู้เหตุรู้ผล หรือรู้ว่าทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร ความดับทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร คือรู้ปฏิจจสมุปบาท รู้เหตุรู้ผล เพราะฉะนั้นธัมมานุปัสสนาเป็นการเจริญปัญญาระดับสูง ไม่ใช่รู้สภาวะรูปธรรม นามธรรมว่าเป็นไตรลักษณ์เท่านั้น แต่รู้เหตุรู้ผลเข้าไปด้วย ฉะนั้นมันลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ยาก

เอาของง่ายก่อน ยืน เดิน นั่ง นอน กินข้าว ดื่มน้ำ ขับถ่าย มีสติรู้ไป หลวงพ่อพุธท่านสอนบ่อย เมื่อก่อนหลวงพ่อได้ยินทุกครั้งที่ไปเจอท่าน โยมมาหาท่านทีไรท่านก็สอน ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด มีสติ สอนอย่างนี้ทั้งวันเลย ทุกวันที่สอน เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญ ถ้ายืน เดิน นั่ง นอนมีสติ คือเราฝึกสติปัฏฐานแล้ว แล้วต่อไปเขยิบขึ้นไปเห็นร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดู นี่ขึ้นปัญญาขั้นต้นๆ ต่อไปก็เห็นว่าร่างกายนี้มันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตที่เป็นคนไปรู้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ นี่ขึ้นวิปัสสนา ต่อไปก็จะวาง เกิดโลกุตตรปัญญา มันก็จะวางรูป วางนามไป มันจะเกิดอริยมรรคขึ้นมา 4 ครั้ง เรามีโอกาสเกิดอริยมรรค 4 ครั้ง ไม่ต้องรีบเกิดหรอก เดี๋ยวหมด

ค่อยๆ ฝึกไป อย่าใจร้อน ไม่ยากอะไรหรอก มันยากที่คิดไม่เลิก แทนที่จะรู้สึกเอา มัวแต่นั่งคิดเอา นั่งวิเคราะห์เอา อันนั้นคือความฟุ้งซ่าน ฉะนั้นการเรียนด้วยการอ่าน ด้วยการฟัง เป็นการไปเรียนรู้ปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แล้วก็พระสาวก แล้วก็ครูบาอาจารย์ อย่างฟังเทศน์นี่ไม่ใช่ปัญญาของเรา มันเป็นปัญญาของพระพุทธเจ้า เป็นปัญญาของครูบาอาจารย์ ท่านมาเล่าให้ฟัง ไม่ใช่ปัญญาของเรา เพราะฉะนั้นเรายังละกิเลสไม่ได้ การคิดมันเป็นการทำงานของจิต คิดถูกก็มี คิดผิดก็มี เชื่ออะไรมันไม่ได้ ต้องเห็นๆ ความจริง เหมือนเราจะศึกษาวิจัยอะไรสักอย่าง ต้องเห็นความจริง

อย่างตอนนี้เต็มไปด้วยความเชื่อเยอะแยะไปหมดเลย อย่างเชื่อว่าฉีดวัคซีนให้ตัวเลขภูมิต้านทานสูงๆ ดี เพราะฉะนั้นยิ่งฉีดจำนวนมาก ยิ่งดี ไปๆ มาๆ ก็เริ่มมีคนท้วง บอกตัวเลขสูงมาก อาจจะเป็นมะเร็งเลือด เป็นมะเร็งกลุ่มมะเร็งน้ำ มะเร็งเลือด ตกลงใครถูกตกลงใครผิดยังไม่รู้ เพราะยังไม่มีใครวิจัยจริงจัง ยังไม่มีผู้เห็นจริงๆ มีแต่ผู้สันนิษฐาน อย่างนี้น่าจะดีอย่างนี้น่าจะไม่ดี สันนิษฐานจากข้อมูลเดิมที่เคยมี หรืออย่างทุกวันนี้ เฟคนิวส์เยอะแยะเลย เราไปอ่านไปฟัง จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ เราเอาไปคิดเอาเอง จริงหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นการอ่านการฟังอาจจะไม่ได้ความจริง

กระทั่งอ่านหรือฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน แล้วเราบอกเข้าใจๆ หลวงพ่อกล้าท้าเลยว่าที่เข้าใจเข้าใจคนละเรื่องกับที่ท่านสอน ธรรมะเป็นของอัศจรรย์จริงๆ ฟังครูบาอาจารย์แล้วบอกเข้าใจๆ ก็เข้าใจเหมือนกัน แต่เข้าใจคนละระดับกัน หลวงพ่อตอนบวชพรรษาแรก ออกพรรษาแล้วหลวงพ่อรีบขึ้นไปกราบหลวงปู่สุวัจน์ที่วัดป่าเขาน้อย ตอนนี้ไม่มีอะไรแล้ว พระอะไรก็ไม่ค่อยมีแล้ว เมื่อก่อนท่านอยู่ โยมก็เยอะพระก็เยอะ ขึ้นไปกราบท่าน แล้วท่านก็สอนหลวงพ่อว่า “สกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ ก็เห็นธรรมะอันเดียวกันล่ะ แต่ความรู้ความเข้าใจมันไม่เท่ากัน ไม่มีอะไรแล้ว วางให้หมดเลย” ท่านบอกอย่างนี้ “วางทิ้งให้หมดไปเลย” ใจเราบอกเราวางไม่ได้หรอก เรายังรู้ไม่หมดยังรู้ไม่ถ่องแท้ ฟังครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์บอกว่ามันหมดตรงนี้ล่ะวางเลย ใจเราไม่รู้สึก

 

โยนิโสมนสิการ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้เรื่องจากครูบาอาจารย์แล้วเรามาลงมือทำ มักจะทำไปคนละเรื่อง เราถึงมีการต้องตรวจสอบ ตรวจสอบตัวเองด้วยหลักวิชาที่เรียนมา เขาเรียกว่าโยนิโสมนสิการ สิ่งที่เราทำอยู่นี่มันสอดคล้องกันจริงไหมกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน สอดคล้องกันจริงไหมกับสิ่งที่พระอรหันต์สาวกที่ทำสังคายนาสอน สอดคล้องกันไหมกับที่ครูบาอาจารย์สอน แต่ตรงที่ครูบาอาจารย์สอนต้องระวัง ครูบาอาจารย์ที่รู้แจ้งแทงตลอดจริงมีนับองค์ได้เลย นอกนั้นไม่ใช่หรอก เพราะฉะนั้นดูพระไตรปิฎกเป็นหลักไว้ คำสอนใดแม้กระทั่งจะเป็นคำสอนของครูบาอาจารย์ของเรา ท่านพวกนี้เป็นอาจารย์ ควรเชื่อ พระพุทธเจ้าบอกแล้วอย่าเชื่อเพราะว่าเป็นอาจารย์ของเรา ไปดูว่าพระไตรปิฎกจริงๆ สอนอย่างไรเป็นหลักเอาไว้ อย่าทิ้งพระไตรปิฎก อย่าแก้พระไตรปิฎก แล้วก็อย่าเติมพระไตรปิฎก จะช่วยเราในเรื่องการใช้โยนิโสมนสิการ ตรวจสอบการปฏิบัติของตัวเอง

ถ้าตรวจสอบ โยนิโสมนสิการใช้เป็นหลักเลย แล้วถ้าเรามีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ ลองถามดูๆ ครูบาอาจารย์ที่ท่านภาวนาได้จริงๆ ก็เป็นกัลยาณมิตร แต่ไม่ใช่ทุกคนเป็นกัลยาณมิตร บางคนบางท่านภาวนามาแบบนี้ คนละแนวทางกับเรา เราภาวนาอย่างนี้ เราเกิดข้อขัดข้องสงสัย เราไปถามท่าน ท่านก็ตอบไปในแนวที่ท่านเคยทำ ยกเว้นครูบาอาจารย์ที่แบบสุดยอดไปแล้ว ขึ้นยอดเขาแล้ว พอท่านภาวนาถึงระดับขึ้นอยู่บนยอดภูเขาแล้ว คือเป็นพระอรหันต์ ท่านจะมองไปรอบทิศทาง 360 องศา ท่านจะพบทางขึ้นเขาเต็มไปหมดเลย ทางขึ้นเขาไม่ใช่มีทางเดียวที่ท่านขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราภาวนามาอย่างนี้เราไปถามท่าน ท่านตอบตามจริตของเราได้ ตามนิสัยของเราได้ อย่างหลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ กระทั่งครูบาอาจารย์ที่มีปกติสอนพุทโธพิจารณากาย หลวงพ่อเข้าไปเรียน ท่านก็สอนดูจิต เพราะจริตนิสัยเราเป็นอย่างนี้ แล้วท่านภาวนาสุดยอดแล้ว ท่านรู้ว่าดูจิตมาก็ได้เหมือนกัน แต่ละองค์ๆ เพราะฉะนั้นบางทีฟังแล้วสับสน หลวงพ่อเลยไม่ค่อยสนับสนุนหรอกว่าพวกเราภาวนาแล้วก็วิ่งเข้าวัดโน้นทีวิ่งเข้าวัดนี้ที สับสน อาศัยโยนิโสมนสิการให้มากไว้

หลวงพ่อพูดจากประสบการณ์เลย หลวงพ่อช่วยตัวเองมาโดยใช้โยนิโสมนสิการเป็นหลัก เราเป็นคนกรุงเทพฯ ในขณะที่ครูบาอาจารย์อยู่อีสาน อยู่ภาคเหนือ อยู่ตั้งไกล จะไปหาก็ไม่ได้ไปได้บ่อยๆ ไปทีก็ตั้งหลายวันใช่ไหม เอาวันลาที่ไหนไป แล้วเราอยู่บ้านทุกวัน เราภาวนาทุกวัน มีอะไรที่ให้สงสัยได้ทุกวันๆ ทำอย่างไร รอถามครูบาอาจารย์หรือ ไม่รอหรอก สำรวจเอา ลองผิดลองถูกดู สังเกตเอา อย่างวันนี้จิตมันสว่างว่างขึ้นมา เรารู้สึกดี อีกวันก็สว่างอีก อีกวันก็สว่างอีก เราชักเอะใจแล้ว พระพุทธเจ้าสอน บอกจิตไม่เที่ยง ทำไมมันเที่ยงวะ ท่านบอกว่าจิตเป็นทุกข์ ทำไมมันสุขวะ ท่านบอกว่าบังคับไม่ได้ เป็นอนัตตา ทำไมบังคับได้ เห็นไหม โยนิโสมนสิการ เอ๊ะ ต้องมีอะไรผิดแล้วล่ะ ทำไมมันขัดแย้งกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน

ขันธ์ 5 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขันธ์ 4 ตัวแรก เราเห็นแล้วเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่จิต เราฝึกไปดีๆ จิตชำนาญในสมาธิ มันจะเหมือนเที่ยง คือมันคงที่อยู่ได้นานๆ เลย อยู่ได้ทีหนึ่งหลายๆ วันเลย แล้วก็มีความสุข ไม่ใช่เป็นทุกข์ แล้วก็บังคับได้ นึกอยากสงบเมื่อไรก็สงบได้ นี่จิตกลายเป็นจิตเป็นอัตตาไปแล้ว ก็เฉลียวใจ ไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนนี่ ต้องผิดตรงไหน ค่อยๆ สังเกตเอา แล้วจิตมันเดิน ปล่อยให้มันเดินตามที่มันชิน มันจะกลับเข้ามาตรงนี้ อย่างตรงที่มันเข้าไปว่าง สว่างเข้ามา มันเคยชิน จะมาตรงนี้ มันเข้าไปปุ๊บ พอเข้าไปปุ๊บตรงนี้ โอ๊ย ตรงนี้นี่ มันแสดงความเที่ยง ความสุข ความเป็นอัตตาขึ้นมาแล้ว มันพลาดตรงไหน พลาดตั้งแต่มันเคลื่อนแล้วไม่เห็น เมื่อมีจิตที่เคลื่อนไปได้ มันก็มีจิตที่เคลื่อนมาทางนี้ได้ เคลื่อนไปทางนี้ได้ จิตยังเวียนว่ายตายเกิดได้ ไม่ใช่แล้วๆ รู้เลยว่าผิดแล้วที่ทำอยู่

หลักวิธีโยนิโสมนสิการ ค่อยๆ สังเกตตัวเองอย่างนี้ สังเกตว่าสิ่งที่เป็นอยู่ สิ่งที่ทำอยู่ มีผลสอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้าสอนไหม สอดคล้องกับพระไตรปิฎกไหม ทำไมหลวงพ่อยังแยกคำสอนของพระพุทธเจ้ากับพระไตรปิฎก เพราะพระไตรปิฎกไม่ได้มีเฉพาะคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่มีคำสอนของพระอรหันต์จำนวนมากอยู่ด้วย ถามว่าถูกไหม ไม่ผิดหรอก คนรุ่นเรานี่ล่ะภูมิจิตภูมิธรรมมันไม่ถึง มันก็เลยคิดว่าคำสอนของพระอรหันต์รุ่นโน้นใช้ไม่ได้ ที่จริงตัวเองเป็นปุถุชน แล้วไปตีความว่าคำสอนของพระอรหันต์อื่นใช้ไม่ได้ ต้องคำสอนของพระพุทธเจ้าองค์เดียวอะไรอย่างนี้ ในพระไตรปิฎกมีคำสอนของพระพุทธเจ้าไหม ไม่มี พระไตรปิฎกทั้งหมดเกิดจากการประชุมรวบรวมกันขึ้นมาของพระสาวกทั้งหลาย พระอรหันต์นั่นล่ะมารวบรวมประมวลขึ้นมา ฉะนั้นพระไตรปิฎกคือสิ่งซึ่งประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้า ประมวลกับคำสอนของพระสาวก หลายบทที่พระสาวกแสดงธรรมโดยพระพุทธเจ้าใช้ให้แสดง พระพุทธเจ้าท่านชราแล้ว ท่านเหนื่อยแล้ว ท่านบอกท่านจะเอนหลังพักผ่อนให้แสดงธรรมไป แล้วท่านก็นอนฟัง ท่านก็ฟังของท่านไป พักผ่อน เมื่อยหลังแล้ว เทศน์จบแล้วท่านก็ลุกขึ้นมาอนุโมทนา ธรรมะแบบนี้ก็มีเยอะ อนุโมทนาคือท่านแสตมป์แล้ว นี่ใช้ได้แน่นอน แล้วคนที่ท่านใช้ให้เทศน์ก็ต้องไม่ธรรมดาล่ะ

ฉะนั้นสรุปฝึกสติปัฏฐานไว้ มีสติรู้กายเนืองๆ รู้จิตใจเนืองๆ ต่อไปปัญญาเกิดก็แยกขันธ์ได้ วิปัสสนาปัญญาเกิดก็จะเห็นไตรลักษณ์ของแต่ละขันธ์ สุดท้ายโลกุตตรปัญญาเกิด ก็ตัดกระแสเข้ามา เข้าไปสู่ธรรมแท้.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
8 สิงหาคม 2564