เนิ่นช้าเพราะภาวนาผิด

การฝึกจิตฝึกใจมีงาน 2 งาน การฝึกสมาธิกับงานเจริญปัญญา งานฝึกสมาธิยาก เพราะพวกเราชอบนั่งสมาธิ นั่งมานาน มันกลายเป็นมิจฉาสมาธิไปหมด ที่จะเป็นสัมมาสมาธิจริงๆ หายาก ตอนหลวงพ่อภาวนาใหม่ๆ กับหลวงปู่ดูลย์ พอภาวนาเป็น พอออกไปดูสำนักโน้นสำนักนี้ เจอปัญหาใหญ่เลยคือเรื่องสมาธิไม่ถูก หรือไม่ก็สมาธิไม่มี ที่มีก็ไม่ถูก บางที่ก็ไม่เอาสมาธิเลย ลงมือเจริญวิปัสสนาไปเลย ที่ทำอยู่มันกลายเป็นสมถะไป มันไม่ใช่วิปัสสนาจริง วิปัสสนาเป็นการเจริญปัญญา สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา อันนั้นไม่เอาสมาธิเลย ไปเดินปัญญา ก็ฟุ้งซ่าน บางทีทำไปๆ นึกว่าทำวิปัสสนาอยู่ กลายเป็นทำสมาธิ ทำสมถะโดยไม่รู้สึกตัว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิด้วยซ้ำไป ทำแล้วก็นิ่งๆ วูบๆ ลืมเนื้อลืมตัวไป ร่างกายก็หายไป จิตใจก็หายไป อันนั้นล้มเหลวสิ้นเชิง ไม่มีกาย ไม่มีใจ จะเอาอะไรไปเจริญวิปัสสนาได้

บางที่เขาก็ทำสมาธิ น้อมจิตให้นิ่ง บังคับจิตให้นิ่ง ก็นิ่งอยู่อย่างนั้น ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านก็บอกให้ทำสมาธิให้มันนิ่งก่อนก็ได้ แล้วค่อยมากระตุ้นให้มันเดินปัญญาคิดพิจารณาค้นคว้าลงไป ตรงที่ค้นคว้าพิจารณาอะไรนี่ ยังไม่เป็นวิปัสสนาจริง แต่มันเป็นการกระตุ้นให้จิตที่ติดสงบ เคลื่อนออกมาเดินปัญญา หัดเดินปัญญา หลวงพ่อพุธท่านบอกว่า การคิดพิจารณา อย่างเช่นพิจารณากายไม่ใช่วิปัสสนาหรอก แต่เป็นการนำร่องให้จิตมันคุ้นเคยที่จะทำวิปัสสนา ไม่อย่างนั้นจิตมันคุ้นเคยทำสมาธิ นิ่งๆ เฉยๆ อยู่ ไม่เดินปัญญา แล้วท่านก็สอนให้กระตุ้นให้เกิดปัญญานำร่อง ให้เกิดปัญญาด้วยการคิดพิจารณา ทำสมาธิเยอะๆ ก็คิดพิจารณาร่างกาย พิจารณาจิตไม่ได้ เพราะจิตมันเฉย มันว่างๆ ไม่มีอะไรให้พิจารณา

 

ที่ภาวนาแล้วใช้เวลานานมาก เพราะภาวนาผิด
ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของกระจอก
ถ้าทำถูกแล้วทำพอ เราจะได้ผลในเวลาอันสั้น
ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะที่ลัดสั้นไปสู่ความพ้นทุกข์

 

ถ้าสมาธิเราไม่ถูกกับสมาธิเราไม่พอ เราเดินปัญญาไม่ได้จริง บางที่มีคอร์สวิปัสสนา ไม่เป็นวิปัสสนา เพราะไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง ฉะนั้น 2 สิ่งนี้เราต้องเรียนให้ดี พระพุทธเจ้าท่านสอน บอกว่า สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเป็นธรรมะ 2 ประการที่เราควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง เจริญด้วยปัญญาอันยิ่งคือเรารู้ว่าเราทำอะไรเพื่ออะไร ทำอย่างไร ทำแล้วมีผลอย่างไร ไม่ใช่ทำไปเรื่อยๆ แล้วแต่เวรแต่กรรม อันนั้นไม่ใช่ เราต้องรู้ อย่างเราจะทำสมาธิทำไปเพื่ออะไร ทำเพื่อให้จิตมันตั้งมั่น ตั้งมั่นไปทำไม ตั้งมั่นเพื่อจะเอาไปเจริญปัญญา ต้องรู้เหตุรู้ผล ทำสมาธิไปเรื่อยก็เคลิ้มๆ ไปบ้าง เครียดๆ ไปบ้าง

จับหลักให้แม่นๆ แล้วลงมือทำ จะได้ไม่พลาด ที่ภาวนาแล้วใช้เวลานานมาก เพราะภาวนาผิด ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของกระจอก ถ้าทำถูกแล้วทำพอ เราจะได้ผลในเวลาอันสั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะที่ลัดสั้นไปสู่ความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ทำกันนาน มองไม่เห็นผล ไม่เห็นฝั่ง ทำไปเรื่อยๆ ไม่รู้เหตุรู้ผล ไม่ใช่ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าจริงๆ หรอก ยิ่งพระพุทธเจ้าเราเป็นปัญญาธิกะ ท่านเดินมาด้วยปัญญา ใช้สังเกตค้นคว้าพิจารณาเอาจนได้หลัก

พระพุทธเจ้าบางองค์ท่านบำเพ็ญทุกรกิริยา 7 วันเอง พระพุทธเจ้าเราทำเกือบ 6 ปี อันนี้ไม่ใช่ว่าท่านไม่ฉลาด แต่ท่านมีบุพกรรมของท่าน ท่านเคยไปกระแนะกระแหนพระปัจเจกพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ไปกระแนะกระแหนว่า ไปอดข้าวอยู่ในป่าเลยได้ธรรมะมาล่ะสิอะไรอย่างนี้ นั่นก็เป็นวิบาก ท่านเลยมาต้องทรมานกายอยู่ 6 ปี ถ้าท่านไม่ติดอกุศลตัวนี้ให้ผล ท่านจะบรรลุเร็วเลย ท่านสร้างบารมีก็เร็ว 4 อสงไขยแสนมหากัปที่ได้รับพยากรณ์ สั้น พระศรีอริยเมตไตรยตั้ง 16 อสงไขยแสนมหากัป 4 เท่าของพระโคดม ระยะเวลาที่สร้างบารมีนับแต่ได้รับพยากรณ์ ก่อนได้รับพยากรณ์นั้นทำมาตั้งนาน พระพุทธเจ้าเราทำบารมีมาทั้งหมด 20 อสงไขยแสนมหากัป แล้วได้รับพยากรณ์เมื่อ 4 อสงไขยแสนมหากัป พระศรีอริยเมตไตรยทำตั้ง 80 อสงไขยแสนมหากัป แล้วเมื่อ 16 อสงไขยแสนมหากัปก่อนได้พยากรณ์ คิวท่านยังหลังพระโคดมเลย

พระพุทธเจ้าเราเดินได้เร็วเพราะว่าท่านเป็นปัญญาธิกะ พระพุทธเจ้าปัญญาธิกะเหมาะกับคนยุคเรา คนยุคเราใช้สติใช้ปัญญามากในการดำรงชีวิต ทำมาหากินใช้ความคิดทั้งนั้น ใครใช้เหตุใช้ผลได้ดีก็ชนะไป ทำมาหากินได้ดีอะไรอย่างนี้ คนไหนงมงายทำมาหากินสู้เขาไม่ได้ ยุคของเราเป็นยุคที่ทำมาหากินโดยใช้สมอง ใช้สติ ใช้ปัญญาทำงาน ไม่ได้ใช้แรงอย่างสมัยก่อน งานใช้แรงเราก็ไปโบ้ยให้คนต่างด้าวมาทำแทน คนไทยไม่ทำ ทั้งๆ ที่บางคนสมองก็ไม่ค่อยมี ยังจะไม่ยอมทำงานระดับล่างไม่เอา อยากรวยๆ นั่งห้องแอร์ ยุคนี้เป็นยุคของคนใช้ความคิด ใช้สมองในการทำมาหากิน ในการดำรงชีวิต มันก็เลยเหมาะกับธรรมะของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ท่านเดินมาด้วยปัญญา

 

สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา

ฉะนั้นเราก็ใช้เหตุใช้ผลในการดำรงชีวิตของเรา ถ้าจะภาวนาเราต้องรู้เราจะภาวนาเพื่ออะไร เราภาวนาเพื่อให้เกิดปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริงในรูปธรรมนามธรรมว่าเป็นไตรลักษณ์ งานหลักจริงๆ ของการทำวิปัสสนาเพื่อให้เกิดปัญญา ปัญญาคือความรู้ถูกความเข้าใจถูกในรูปนามขันธ์ 5 เมื่อรู้ถูกเข้าใจถูก จิตก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนัดแล้วก็ปล่อยวาง เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น เพราะฉะนั้นท่านสอนบุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยสมาธิ ปัญญาเกิดได้อย่างไร ปัญญามีอะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ปัญญามีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด สังเกตให้ดี มันมีคำว่าสัมมา ไม่ใช่สมาธิทุกอย่างทำให้เกิดปัญญา ถ้าสมาธิทุกอย่างทำให้เกิดปัญญา ฤๅษีชีไพรที่เขานั่งสมาธิมาก่อนเจ้าชายสิทธัตถะ เขาคงบรรลุพระอรหันต์ไปหมดแล้ว ต้องสัมมาสมาธิเท่านั้นถึงจะทำให้เกิดปัญญา

ลักษณะของสัมมาสมาธิเป็นสมาธิที่ประกอบด้วยสติ ถ้าสมาธิไม่ประกอบด้วยสติ นั่งแล้วเคลิบเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัวหรือนั่งแล้วเครียดๆ จิตมีโทสะ นั่งแล้วลืมเนื้อลืมตัว จิตมีโมหะ อย่างเช่นฟุ้งซ่านหรือเซื่องซึมอะไรนี่พวกโมหะ สมาธิพวกนั้นไม่เป็นไปเพื่อการเจริญปัญญา ฉะนั้นที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรามากในเรื่องของสมาธิ ต้องฝึกทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งเพื่อเป็นเครื่องสังเกตจิต เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรือยืน เดิน นั่ง นอน คอยรู้สึกไป เป็นเครื่องสังเกตจิตอย่างไร หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปที่อื่น รู้ทัน จิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ รู้ทัน เป็นเครื่องสังเกตจิตเราเอง หรือเรายืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน จิตเป็นคนรู้ พอจิตมันลืมร่างกาย มันหนีไปคิดเรื่องอื่น จิตมันฟุ้งซ่านแล้ว มันลืมกรรมฐาน หรือเห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นท้องพอง เห็นท้องยุบอะไร จิตไหลลงไปอยู่ที่ร่างกาย จิตไหลออกไปอยู่ที่ท้อง อันนั้นเป็นการเพ่งแล้ว ไม่ใช่สัมมาสมาธิตัวจริงแล้ว

เพราะฉะนั้นการฝึกสมาธิให้ถูกต้องสำคัญมาก ถ้าทำตรงนี้ได้ การเจริญปัญญาจะใช้เวลาไม่นาน แต่ถ้าจิตเราไม่มีสัมมาสมาธิ เจริญปัญญาอยู่นั่นล่ะ มันไม่มีปัญญาเกิดขึ้นสักที ใช้เวลานาน ฉะนั้นบางคนเขาปัญญาดีปัญญาถูกต้อง การปฏิบัติเขาก็สั้นนิดเดียว บางคนสมาธิไม่ถูกต้อง ไปเจริญปัญญากลายเป็นฟุ้งซ่านไป หรือไม่ก็นิ่งเฉยๆ อยู่ จิตติดนิ่งติดเฉย ไม่เดินปัญญาจริง

วิธีที่จะฝึกให้เราได้สัมมาสมาธิทำอย่างไร ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งเพื่อเป็นเครื่องสังเกตจิต หลวงพ่อพุธท่านสอนบอกว่า ให้มีเครื่องรู้ของจิต ให้มีเครื่องระลึกของสติ นี่สำนวนท่าน ให้มีเครื่องรู้ของจิต ให้มีเครื่องระลึกของสติ คือทำกรรมฐานอันหนึ่งขึ้นมา เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ท่านพูดถูกเพราะจิตทำหน้าที่รู้ สติทำหน้าที่ระลึกรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นตอนนี้ ฉะนั้นเราจะเริ่มต้นปฏิบัติ เราต้องมีอารมณ์กรรมฐาน ในเบื้องต้นเราจะทำสมถกรรมฐาน ให้จิตมีสมาธิที่ถูกต้อง สมถกรรมฐานไม่เลือกอารมณ์ ใช้อารมณ์บัญญัติก็ได้ เช่น เราคิดพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกอะไรนี่ คิดไปเรื่อยว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อันนี้คิดเอา ได้สมาธิ ได้สมถะ

 

อารมณ์กรรมฐาน

ใช้อารมณ์บัญญัติ คือใช้เรื่องราวที่คิด หรือเราโกรธใครสักคนหนึ่ง ใจเราเดือด เร่าร้อน เราโกรธมาก เราก็ใช้ความคิดมาช่วยพิจารณาลงไป โกรธเขาทำไม ไม่นานเราก็ตายจากกัน เขาไม่ตายก่อน เราก็ตายก่อน คนสมัยโบราณ อย่างคนอยุธยาฆ่ากันตาย แย่งอำนาจกันอะไรอย่างนี้ สุดท้ายไม่ว่าฝ่ายแพ้หรือฝ่ายชนะก็ตายหมดแล้ว ไม่มีสาระแก่นสารอะไร ค่อยๆ สอนๆ จิตไป อันนี้เป็นอารมณ์บัญญัติ ได้ความสงบเฉยๆ ได้สมาธิชนิดสงบอยู่เฉยๆ

อารมณ์อีกชนิดหนึ่งที่เราใช้ทำสมาธิได้คืออารมณ์รูปนาม เช่น เราเห็นร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด อันนี้เราเอารูปมาทำสมาธิ ทำสมถะ อย่าเข้าใจผิดว่าการดูรูปนามจะเกิดวิปัสสนาเสมอไป เราดูรูปดูนามจนมีวิปัสสนาเกิดขึ้นได้จิตต้องตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ถ้าจิตยังไม่ได้ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ขันธ์มันไม่แยก มันเจริญวิปัสสนาไม่ได้จริง เพราะฉะนั้นอารมณ์รูปนามไม่แน่ว่าเป็นสมถะหรือวิปัสสนา ถ้าจิตเราเข้าไปนิ่ง ไปจม ไปแช่อยู่กับอารมณ์รูป อารมณ์นาม อันนั้นสมถะ กระทั่งดูจิต ดูจิตแล้วก็เพ่งจิตจนนิ่งๆ ว่างๆ อยู่ อันนั้นเป็นสมถะ ไม่ใช่วิปัสสนา ดูกาย เห็นกายหายใจออก หายใจเข้าอะไร แล้วจิตนิ่งลงไป ก็เป็นสมถะ ไม่ใช่วิปัสสนา ฉะนั้นตัวอารมณ์รูปนามไม่เหมือนอารมณ์บัญญัติ อารมณ์บัญญัติคือเรื่องที่คิด เอาไว้ทำสมถกรรมฐานได้อย่างเดียว อารมณ์รูปนามใช้ทำสมถกรรมฐานก็ได้ ทำวิปัสสนากรรมฐานก็ได้

อารมณ์มีอีกชนิดหนึ่งคืออารมณ์นิพพาน อารมณ์นิพพานใช้ทำสมถกรรมฐานได้อย่างเดียว คล้ายๆ อารมณ์บัญญัติ ไม่มีรูปมีนาม นิพพานไม่มีรูปมีนาม ไม่มีไตรลักษณ์ มีเอกลัษณ์เท่านั้น คือมีอนัตตา มันนิจจัง สุขัง มันไม่มีอนิจจัง ทุกขัง มันเป็นอนัตตา ไปดูมันก็จะว่างๆ ไม่มีใครใช้นิพพานมาทำวิปัสสนากรรมฐานหรอก เอาไว้ทำสมถะ เราจะทำสมถะ เราก็ต้องรู้ว่าเราใช้อารมณ์อะไรได้บ้าง

คราวนี้ก็ดูเราถนัดอารมณ์อะไร ถ้าเราถนัดคิดพิจารณาร่างกาย พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นของไม่สวยไม่งาม เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของเป็นทุกข์ เป็นของไม่ใช่ตัวเรา ยังคิดอยู่ คิดๆๆ ไป อย่างใจเรามีราคะ ฟุ้งซ่านรุนแรงอยู่ เราก็มาคิดพิจารณาร่างกาย เอาร่างกายของคนที่เรารักก็ได้ สาวคนนี้สวยเหลือเกิน พิจารณาลงไป มันสวยตอนไหน มันสวยตอนแต่งหน้าทาปากเรียบร้อยแล้ว ตอนตื่นนอนหน้าเป็นข้าวมันไก่เลย ไม่สวยหรอก ดูไม่ได้น่าเกลียด ตอนอึตอนฉี่อะไรนี่มันสวยตรงไหน อึฉี่มาจากไหน ก็มาจากในร่างกายนี้ ฉะนั้นสิ่งที่หลอกให้เราหลงว่าสาวคนนี้สวย มันคือสิ่งที่อยู่ข้างนอกที่ปรุงแต่งไว้ดีแล้ว ผม ขน เล็บ ฟัน หนังนี้เป็นของที่หุ้มสิ่งโสโครกเอาไว้ข้างใน ถ้าเราคิดอย่างนี้ จิตที่มีราคะมันก็หายไป มีราคะไม่ลงแล้ว รักไม่ไหวแล้ว เรื่องอะไรจะเอาซากศพมาเข้าบ้าน อยากแต่งงานกับผีตายซาก ใครจะอยากอย่างนั้น ใจมันจะละราคะไปได้ ข่มราคะไปได้ชั่วคราว เดี๋ยววันหลัง เผลอตัวขึ้นมา ราคะก็กลับมาอีก นี่อารมณ์บัญญัติ

อารมณ์รูปนาม ถ้าจะทำสมถะ เราก็มีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมที่กำลังปรากฏ ระลึกรู้ไปเรื่อย อะไรเป็นตัวเอกในการรู้ รูปธรรมนามธรรมเป็นตัวเอกที่เราจะรู้ แล้วรูปเคลื่อนไหว เรารู้ รูปหายใจออก รูปหายใจเข้า รูปยืน เดิน นั่ง นอนอย่างนี้ จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว จิตกำลังสุขก็รู้ จิตกำลังทุกข์ก็รู้ จิตว่างๆ ก็รู้ ตรงนี้ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา เรารู้ตัวสภาวะ ตัวรูปธรรม ตัวนามธรรม ถ้าเรารู้ตัวสภาวะของรูปธรรมนามธรรมอันนั้นสมถะ บางอาจารย์ท่านไม่เรียกสภาวธรรม ท่านเรียกสภาพธรรมก็คืออันเดียวกัน สภาพกับสภาวะตัวเดียวกันเป๊ะเลย

 

ดูรูปธรรม-นามธรรมให้เป็นวิปัสสนา

ฉะนั้นรูปธรรมกับนามธรรมดูอย่างไรให้มันเป็นวิปัสสนา ให้เกิดปัญญาอย่างแท้จริง เราไม่ได้เอารูปธรรมนามธรรมเป็นตัวเอกแล้ว เราสังเกตลงไปในรูปธรรม สังเกตลงไปในนามธรรม เราเอาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตามาเป็นตัวเอก แต่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ได้เกิดที่อื่น เกิดที่รูปธรรม ที่นามธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้นเรามีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมอยู่ ตรงนี้เราได้สมาธิ แล้วถ้าจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ขันธ์มันแยกได้ มันจะเห็นว่ารูปนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู รูปมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันจะเห็นเองเลย หรือถ้าเราฝึกสมาธิ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว สติระลึกลงในนามธรรม ความสุขความทุกข์เกิดขึ้น จิตตั้งมั่นเป็นคนดู มันจะเห็นเลย ความสุข ความทุกข์ ไม่ใช่จิตหรอก เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาให้จิตรับรู้ผ่านมา แล้วก็ผ่านไป เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป นี่เราเห็นไตรลักษณ์

ตรงที่เราเห็นไตรลักษณ์ เรียกว่าเราเจริญปัญญาอยู่ ตรงที่เราเห็นตัวสภาวะ ตรงนั้นเรายังได้แต่สมาธิ อย่างบางคนดูท้องพองท้องยุบ บอกทำวิปัสสนา ไม่ทำหรอก ทำไปๆ จิตรวมวูบลงไป บางทีรวมเข้าไปถึงพรหมลูกฟักเลย พรหมลูกฟักเป็นภพที่พระโพธิสัตว์ไม่เข้าไปหา ไม่อยู่ที่นี่ เพราะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง จิตมันดับไป ถ้าเราเห็นท้องพอง เห็นท้องยุบแล้วจิตมันจมอยู่กับท้องเป็นสมถะ รู้เลย ถึงจะแขวนป้ายว่าวิปัสสนาก็ไม่เป็นวิปัสสนาหรอก แต่ถ้าเราเห็นลงไป ท้องที่พองท้องที่ยุบเป็นสักแต่ว่ารูป เป็นของถูกรู้ถูกดูอยู่ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เห็นไม่ใช่คิด ต้องเห็นเอาไม่ใช่คิดเอา ถ้าคิดเอาก็เป็นการใช้อารมณ์บัญญัติ เรื่องที่คิดก็ได้สมาธิชนิดสงบ ถ้าจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา ไม่สงบอย่างเดียว ตั้งมั่นด้วย

วิธีทำจิตให้ตั้งมั่น หลวงพ่อสอนอยู่แทบทุกวัน เจอทีไรก็สอนเรื่อย ให้รู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น แล้วมันตั้งมั่นเอง อย่างจิตเราไหลไป เรารู้ปุ๊บ จิตตั้งมั่นเองเลย ฝึกบ่อยๆ จนมันตั้งมั่นอัตโนมัติ แล้วพอจิตมันตั้งมั่นอัตโนมัติ สติระลึกรู้รูป รูปก็จะแยกออกจากจิต สติระลึกรู้เวทนา เวทนาก็จะแยกออกจากจิต สติระลึกรู้สังขาร สังขารก็แยกออกจากจิต ขันธ์มันแยกออกจากกัน สติระลึกรู้ลงไปที่วิญญาณ คือความรับรู้อารมณ์หรือจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันจะเห็นเลย จิตที่เกิดที่ตา เกิดแล้วก็ดับ จิตที่เกิดที่หู เกิดแล้วก็ดับ จิตที่เกิดที่ใจ อย่างจิตไปคิดอะไรพวกนี้ เกิดแล้วก็ดับ ตรงนี้ล่ะมันเดินวิปัสสนาแล้ว มันเห็นสิ่งซึ่งเคยมีแล้วมันไม่มี

อย่างความสุขมันเคยมีแล้วมันไม่มี ความทุกข์เคยมีแล้วมันไม่มี กุศลเคยมีแล้วมันไม่มี อกุศล โลภ โกรธ หลง เคยมีแล้วไม่มี จิตที่ไปดูมีแล้วก็ไม่มี ดับไป จิตที่ไปฟังมีแล้วก็ดับไป จิตที่ไปคิด มีแล้วก็ดับไป เห็นอย่างนี้มันเห็นไตรลักษณ์ ก็เดินวิปัสสนาได้ แต่ถ้าเห็นจิตอยู่เฉย นิ่งๆ เฉยๆ ดูว่างๆ สว่างอยู่ อันนั้นสมถะ ฉะนั้นถ้าเราเห็นตัวสภาวะนั่นคือสมถะ ถ้าเราเห็นไตรลักษณ์ซึ่งซ้อนอยู่ในตัวสภาวะ อันนั้นเป็นวิปัสสนา

เราค่อยๆ ดู ค่อยๆ ฝึกไป ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งก่อน แล้วพอจิตเราไปสงบอยู่กับอารมณ์กรรมฐานนั้น โดยไม่เจตนาสงบ จะได้สมาธิชนิดสงบเอาไว้พักผ่อน ถ้าเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งอยู่ จิตเคลื่อนไป เรารู้ เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่น อันนี้เอาไว้ทำวิปัสสนา สมาธิชนิดสงบมีประโยชน์ ถ้าจิตไม่เคยทำความสงบเลย จิตจะไม่มีกำลัง ถ้าทำความสงบอย่างเดียว ไม่ตั้งมั่น จิตหลง หลงอยู่ในความสงบ ใช้ไม่ได้ ฉะนั้นสังเกตจิตเราให้ดี บางทีเรามีอารมณ์กรรมฐานอยู่ แล้วจิตเราสงบลงไป ดูง่ายๆ เลย มันสงบลงไป อยู่กับอารมณ์อันเดียว อารมณ์บัญญัติก็ได้ อารมณ์รูปก็ได้ อารมณ์นามก็ได้ ถ้าเป็นพระอริยบุคคลก็อยู่กับอารมณ์นิพพานได้ ถ้าปุถุชนอยู่ไม่ได้ ไม่เคยเห็นนิพพาน จะไปอยู่กับนิพพานได้อย่างไร

ถ้าจะทำวิปัสสนาก็สังเกตก่อน อารมณ์ที่ไว้ใช้ทำวิปัสสนาต้องเป็นอารมณ์รูปนาม อารมณ์บัญญัติไม่มีไตรลักษณ์ อารมณ์นิพพานมีเอกลักษณ์ มีแต่อนัตตลักษณะไม่มีอนิจจัง ทุกขัง อารมณ์ที่มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็คืออารมณ์รูปนาม ฉะนั้นถ้าจะทำวิปัสสนาก็มีสติระลึกรู้รูปนาม มีจิตตั้งมั่นเป็นคนดู ก็จะเห็นว่ารูปมันแยกออกจากจิต นามทั้งหลายมันแยกออกจากจิต มันเป็นของถูกรู้ถูกดู เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้เดินวิปัสสนา บางทีเดินวิปัสสนาอยู่ดีๆ จิตหมดกำลัง ความตั้งมั่นหมดไปแล้ว อย่างเราเห็นจิตมันทำงาน แล้วจิตมันก็ว่างไปเลย แล้วเราไปค้างอยู่ในความว่าง นี่จิตทำสมถะแล้ว ไม่ได้ทำวิปัสสนาแล้ว ก็ต้องระวัง ดูจิตๆ ไม่ใช่วิปัสสนาตลอด ดูกายก็ไม่ใช่วิปัสสนาตลอด มันเป็นได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา

 

การเดินปัญญา ต้องมีจิตที่มีลักขณูปนิชฌาน เป็นผู้รู้ผู้ดู

ที่หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังวันนี้ ไปรีรันฟังหลายๆ รอบ ฟังแล้วฟังอีก เราสังเกตเอา ถ้าเราจับหลักตรงนี้ได้ เราจะคลำเส้นทางนี้ไปได้อย่างรวดเร็ว จับหลักไม่ได้ก็งมอยู่นั่นล่ะ ส่วนใหญ่ก็ไปหลงมิจฉาสมาธิเสียเกือบหมด บางทีหลวงพ่อไปเห็นนั่งสมาธิ หลวงพ่อก็ไม่กล้าพูด บางทีไปสำนักครูบาอาจารย์ไปเยี่ยมท่านอะไรอย่างนี้ เห็นเขานั่งสมาธิกันอยู่ เราพูดไม่ได้ บอก โห มันนั่งอย่างนี้ อีกกี่ภพกี่ชาติจะตื่นขึ้นมา นั่งแล้วก็มัวซัวมืดตึ๊ดตื๋อไปหมด จิตไม่ได้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา แล้วจะเอาอะไรไปเดินวิปัสสนา

ถ้าจิตเราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ขันธ์มันจะแยกได้ การที่เราแยกขันธ์ได้ เราเริ่มเดินปัญญาแล้ว ต่อมาเราเห็นขันธ์แต่ละขันธ์ที่แยกออกมา รูปแต่ละรูปที่แยกออกมา นามแต่ละนามที่แยกออกมา มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนั้นขึ้นวิปัสสนาตัวจริงแล้ว ถ้าจิตถูกต้อง เวลาที่จะทำวิปัสสนาจะไม่นานหรอก เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ท่านบอกเลยเป็นธรรมะที่ไม่เนิ่นช้า ฉะนั้นทำ 20 – 30 ปี แล้วก็ยังนิ่งเฉยๆ อยู่อย่างนั้น ทำไม่ถูกแล้วล่ะ ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่เนิ่นช้าถ้าทำให้ถูกแล้วทำให้พอ บางคนทำผิดอันนี้เนิ่นช้า แทนที่จะมีจิตเป็นผู้รู้ ก็มีจิตเป็นผู้แสดงเสียเอง เป็นผู้หลงคิด นึกปรุงแต่งไป ไม่ได้อะไรขึ้นมา เนิ่นช้า ถ้าจิตมันเป็นผู้รู้ ไม่เนิ่นช้าหรอก มันเห็นไตรลักษณ์ในเวลาแป๊บเดียวเลย

ขั้นแรกมันแยกรูปแยกนามได้แล้ว มันจะเห็นรูปแต่ละรูป นามแต่ละนามนั่นล่ะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ ตรงนั้นล่ะ มันขึ้นวิปัสสนาไปแล้ว แล้วตรงนี้ ถ้าเห็นซ้ำๆๆ ไป ในเวลาไม่มากหรอก มรรคผลก็จะเกิดขึ้น ที่ยืดเยื้อยาวนาน มรรคผลไม่เกิด เพราะจิตมันไม่ถูก จิตมันทรงสมาธิไม่ถูก สมาธิที่ถูกมี 2 อัน สมาธิที่จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว อันนี้ใช้ทำสมถะให้ได้แรง แล้วก็สมาธิ ชนิดที่จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้อารมณ์เห็นไตรลักษณ์ได้ ตำราเขาเรียก ลักขณูปนิชฌาน ที่เพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว เขาเรียกอารัมมณูปนิชฌาน อารัมมะคืออารมณ์ จิตมันเพ่งอยู่ในตัวอารมณ์ ถ้าลักขณูปนิชฌาน จิตมันเพ่งเล็งไปเห็นไตรลักษณ์ ลักขณะคือตัวไตรลักษณ์นั่นล่ะ ฉะนั้นจิตต้องถูกเสียก่อน

ตอนที่เราจะเดินปัญญา ต้องมีจิตที่มีลักขณูปนิชฌาน เป็นผู้รู้ผู้ดู ดูไปพักหนึ่งก็ต้องพักผ่อน จิตหมดกำลัง ก็สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวเรียกว่าอารัมมณูปนิชฌาน อารัมมะก็คืออารมณ์ ลักขณูปนิชฌาน ลักขณะก็คือไตรลักษณ์นั่นล่ะ ฉะนั้นสมาธิมี 2 ชนิดที่ถูก ถูกทั้งคู่ สมาธิ มิจฉาสมาธิ มันไม่มีสติ มันเคลิ้มๆ หรือเครียดๆ เครียดๆ มีโทสะเคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัว มันมีโมหะ หรือสบาย แหม หยาดเยิ้มสบาย อันนั้นมีราคะ ฉะนั้นต้องระมัดระวังถ้ารู้ทันจิตถูกต้องขึ้นมา การเดินปัญญาจะใช้เวลาไม่มากหรอกจะบรรลุมรรคผลได้ แต่คนที่จะก้าวเข้ามาสู่จุดที่จิตถูกต้องได้ ต้องพากเพียรไม่ใช่น้อยเลย ยากที่สุดเหมือนกัน แต่ตรงเดินวิปัสสนา ไม่ยากแล้ว ยากตรงที่ทำจิตให้พร้อมจะเดินวิปัสสนาได้

จิตที่จะเดินวิปัสสนาได้ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วก็มีกำลัง กำลังเกิดจากการทำอารัมมณูปนิชฌาน สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้วได้แรง เพราะฉะนั้น 2 ตัวนี้มีประโยชน์ทั้งคู่ ทั้งสมาธิชนิดที่สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว กับสมาธิที่จิตตั้งมั่นเห็นไตรลักษณ์ ดีทั้งคู่ บางท่านทำสมาธิชนิดอารัมมณูปนิชฌานลึกซึ้ง เข้าฌานได้อะไรอย่างนี้ แล้วมาเจริญปัญญาไป บรรลุพระอรหันต์บางทีก็เป็นพวกวิชชา 3 อภิญญา 6 อะไรพวกนี้ บางองค์มีสมาธิดีแล้วเจริญปัญญามาก ท่านก็ได้ปฏิสัมภิทา ในตำรารุ่นหลังๆ เขียนกันขึ้นมา ปฏิสัมภิทาปุถุชนก็มี ปุถุชนที่เรียนสอบได้เยอะๆ มีปฏิสัมภิทา มันสู้กิเลสไม่ได้จริง

ถ้าเข้าใจแล้ว การเจริญวิปัสสนาจะสั้นนิดเดียวเลย จะใช้เวลาไม่มากแล้ว ที่ทำมากก็เพราะสมาธิมันไม่ถูก จิตมันไม่ถูก จิตไม่มีความพร้อมจะเดินปัญญาแล้วไปเดินปัญญาเข้า ใช้ไม่ได้.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
19 กันยายน 2564