ทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์

การปฏิบัติจริงๆ นั้น พูดทีไรก็บอกไม่ยาก จิตใต้สำนึกหลวงพ่อมันบอกอย่างนั้น แต่ดูพวกเรามันก็ยาก สมาธิมันไม่พอ ที่จริงเราเจริญสติปัฏฐานไป ขั้นเบื้องต้นถือศีล 5 แล้วก็ทำสติปัฏฐานเรื่อยๆ ไป ทำทั้งในรูปแบบ ทั้งในชีวิตประจำวัน ก่อนจะทำในชีวิตประจำวันได้ชำนาญ ฝึกในรูปแบบ แล้วต้องทำทุกวัน ในรูปแบบจะทำให้เรามีกำลัง ถ้าทำบ้าง ไม่ทำบ้าง จิตไม่มีแรง ไปเจริญสติในชีวิตประจำวันไม่ไหว

ส่วนใหญ่เวลาคนทั่วๆ ไป คิดถึงการปฏิบัติ คิดว่าจะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรม นั่งแบบไหนถึงจะถูก ต้องขัดสมาธิเพชรไหม หรือนั่งขัดสมาธิธรรมดา มือต้องวางตรงไหน กำหนดลมหายใจจะกำหนดอย่างไร ลมจะกระทบกี่ฐาน แต่ละสำนักก็แตกต่างกัน หรือเดินจงกรม จะเอามือไว้ตรงไหน มือไขว้หลัง หรือเอามือไว้ข้างหน้า เวลาเดินจะกำหนดอย่างไร จะดูที่เท้า หรือดูตัวทั้งตัว หรือรู้สึกว่าพื้นที่เราเหยียบลงไปนี้ มันแข็งหรือมันอ่อน มันนุ่มไหม หรือว่ามันเย็น มันร้อน หลากหลายคำสอน ในรูปแบบของการปฏิบัติ

 

ถ้ามีสติ มีสมาธิ ก็มีการปฏิบัติ

เมื่อวานหลวงพ่อสอนคนไต้หวัน บอกการปฏิบัติแต่ละที่ มีรูปแบบแตกต่างกัน เราไปเรียน ไปฟังหลายๆ ที่ เราก็สับสนว่าอันไหนถูก เพราะทุกคนบอกว่าของตัวเองถูก แต่ลงมือทำแล้วมันงงไปหมด ไม่รู้อันไหนถูก หลวงพ่อบอก หลวงพ่อไม่ได้สอนว่านั่งอย่างไร หรือเดินอย่างไร ท่าไหน หลวงพ่อไม่ได้สอนเรื่องพวกนั้น หลวงพ่อสอนว่าเราต้องพัฒนาเครื่องมือ 2 ตัวขึ้นมา คือสัมมาสติกับสัมมาสมาธิ ถ้ามีเครื่องมือ 2 ตัวนี้ นั่งอยู่ จะนั่งขัดสมาธิ หรือนั่งเก้าอี้ หรือจะนั่งห้อยขาอะไรก็ตาม ถ้ามีสติ มีสมาธิ นั่นก็มีการปฏิบัติ

บางคนนั่งสมาธิแล้วมันไม่ชอบ ไปนั่งบนกิ่งต้นไม้ห้อยขาได้ แกว่งขาเล่น แกว่งขาไป ทำด้วยความมีสติ เห็นรูปมันเคลื่อนไหว จิตใจตั้งมั่นเป็นคนรู้คนดู นั่นล่ะกำลังปฏิบัติอยู่ หลวงพ่อบอกคนจีนเมื่อวานว่า ถ้าเทียบกับเรื่องกำลังภายใน หลวงพ่อไม่ได้สอนกระบวนท่า หลวงพ่อสอนว่าจิตของเราแบบไหนจะถูก เรียกว่ากระบี่อยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่กระบวนท่า กระบวนท่าวิเศษแค่ไหน ก็ยังต้องมีจุดอ่อนแน่นอน แต่ถ้าใจเราถูก ไม่ว่าจะขยับซ้าย ขยับขวา มันก็ถูกหมด

อย่างเดินจงกรม ถ้าเดินแล้วก็เคร่งเครียดอยู่อย่างนั้น กำหนดไปเรื่อยๆ เครียด บังคับจิตใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน อันนั้นไม่ใช่การปฏิบัติ อันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค บังคับกาย บังคับใจ ทำตัวเองให้ลำบาก ทุกก้าวที่เดินด้วยความมีสติ แล้วจิตใจมันจะอยู่กับเนื้อกับตัวขึ้นมา สัมมาสติ ถ้าเราทำให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ เพราะฉะนั้นตัวสัมมาสมาธิ อาศัยสัมมาสตินี่ล่ะ ฝึกให้มาก ไม่ใช่นั่งสมาธิได้นานกี่ชั่วโมง มีเหตุให้นั่งก็นั่ง มีธุระจะต้องเดินก็เดิน เคลื่อนไหวไปมา

อย่างเราต้องทำงานบ้าน ต้องซักผ้า ต้องหุงข้าว กวาดบ้าน ถูบ้าน ถ้าเราทำด้วยความมีสติ ขณะนั้นเราปฏิบัติธรรมอยู่ ฉะนั้นเราจับหลักตัวนี้ให้ดี เราจะต้องพัฒนาสติที่ถูกต้องขึ้นมา แล้วสิ่งที่จะได้แถมมา ก็คือสมาธิที่ถูกต้อง เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “สัมมาสติ เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์” พอเรามีสัมมาสมาธิแล้ว การเจริญปัญญาถึงจะทำได้ เพราะสัมมาสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา เห็นไหมว่าทุกอย่าง คำสอนของพระพุทธเจ้ามีเหตุมีผล

เจริญสติให้มาก สมาธิก็จะเจริญ มีสมาธิสมบูรณ์ มีสติดี ปัญญาก็จะเกิด เห็นความจริงของกายของใจ พอเห็นความจริงของกายของใจได้ เพราะเห็นตามความเป็นจริง เห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริง จึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น พอหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว มันมีกระบวนการของมัน

สัมมาสติ ทำอย่างไรจะเกิด ก็เจริญสติปัฏฐานนั่นล่ะ จะทำให้สัมมาสติเกิด การเจริญสติปัฏฐาน เริ่มต้นก็ต้องมีวิหารธรรม มีเครื่องอยู่ ให้จิตรู้ หลวงพ่อพุธท่านบอก “ให้มีเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ” จะต้องรู้อย่างนี้ เรียกว่ามีวิหารธรรม แล้วการที่เรามีเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม ไม่ได้รู้เพื่อจะรู้ ไม่ใช่รู้เฉยๆ งี่เง่า

ในสติปัฏฐานคีย์เวิร์ดตัวต่อไป “อาตาปี” มีความเพียรแผดเผากิเลส เพราะฉะนั้นการที่เรามีสติรู้กายรู้ใจ คอยรู้กาย คอยรู้ใจ เพื่อแผดเผากิเลส มันมีองค์ธรรมอยู่ตัวหนึ่ง คือสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ ความเพียรชอบไม่ใช่นั่งสมาธินาน ไม่ใช่เดินจงกรมนาน ความเพียรชอบก็คือ เพียรละอกุศลที่มีอยู่ให้ดับไป เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญขึ้น อันนี้ล่ะกิเลสมันจะเร่าร้อน ฉะนั้นคำว่า “อาตาปี” มันเชื่อมโยงมาถึงเรื่องสัมมาวายามะ

 

อาตาปี เชื่อมโยงมาถึงสัมมาวายามะ

กิเลสอยู่ที่ไหน กิเลสไม่ได้อยู่ที่ขาแน่ กิเลสไม่ได้อยู่ที่ลมหายใจแน่ กิเลสไม่ได้อยู่ที่มือ กิเลสอยู่ที่จิต ที่เดียวที่กิเลสอยู่คือที่จิต ฉะนั้นหลวงพ่อถึงจ้ำจี้จำไชพวกเราว่า อย่างไรเราก็ทิ้งจิตไม่ได้ เราจะปฏิบัติธรรมอย่าทิ้งจิต ถ้าเราทิ้งจิตไปมันก็หลง เพราะฉะนั้นเราก็ทำสติปัฏฐาน โดยมีจิตเป็นผู้กระทำ เช่น เราเห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า ใครเป็นคนเห็น จิตเป็นคนเห็น เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ใครเป็นคนยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน แต่จิตเป็นคนเห็น เวลาจิตมันเห็นร่างกายหายใจ จิตมันเห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด บางทีเห็นแล้วก็รำคาญ เมื่อไรจิตจะรวมเสียที อันนี้อะไรเกิดขึ้น อันนี้โลภะเกิดขึ้น ถ้าเรารู้ไม่เท่าทันจิตตัวเอง ทั้งๆ ที่เราปฏิบัติอยู่นั่นล่ะ กิเลสเราจะงอกขึ้นมา

เพราะฉะนั้นถึงเราเจริญสติปัฏฐานอยู่ เราก็ต้องคอยสังเกตจิตใจตัวเอง ที่เราดูกาย ดูเวทนา ดูจิตอยู่นี้ กิเลสจะบรรเทาลงไหม ลดละกิเลสไหม กุศลจะเจริญไหม อย่างถ้านั่งหายใจไปเรื่อยๆ จิตใจสงบ สว่าง ว่างไปหมด มีแต่ความสุข แล้วก็ยินดีพอใจ เพลินในความสุขของการนั่งสมาธิ อันนั้นมีกิเลสชื่อนันทิราคะ เป็นราคะชนิดหนึ่ง เผลอเพลิน นั่งแล้วก็เพลิน นั่งได้ตั้งหลายๆ ชั่วโมง นั่งสมาธิเก่ง นั่งได้หลายๆ ชั่วโมง แต่ใจมันเผลอเพลิน เพราะไม่มีสติกำกับอยู่ อันนั้นกำลังนั่งพัฒนากิเลสอยู่ ยิ่งนั่งมาก กิเลสยิ่งเยอะ

จะมีปรากฏการณ์อย่างนี้ เยอะแยะเลยที่เราเห็นตัวอย่าง คนนั่งสมาธิมากๆ ออกจากสมาธิมาแล้วอารมณ์ร้าย ขี้โมโห หงุดหงิด เพราะอะไร เพราะตอนที่นั่งสมาธิอยู่ สติตามไม่ทันจิตตัวเอง มันมีความสุขแล้วมันก็เผลอเพลิน สบายอกสบายใจ พอจิตถอนออกจากสมาธิ มากระทบโลกข้างนอก เหมือนดินปืนมาเจอกับไฟเข้า ก็ระเบิดเปรี้ยงเลย ขี้โมโห อารมณ์ร้ายยิ่งกว่าคนปกติอีก เพราะมันไปเสพความสงบ จนกระทั่งคุ้นเคย เคยตัว มีราคะแล้วก็ไม่รู้ว่ามีราคะ

เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐาน นอกจากการมีเครื่องอยู่ของจิตแล้ว จะต้องคอยสังเกตว่าเราแผดเผากิเลส หรือเราถูกกิเลสแผดเผา นั่นคือ “อาตาปี” “สัมปชาโน” คือตัวสัมปชัญญะ นี้เป็นองค์ธรรมสำคัญอีกตัวหนึ่งคู่กับสติ มีสติแต่ว่าขาดสัมปชัญญะ ก็เป็นคนดีได้ สงบได้ แต่ไม่เจริญปัญญา สัมปชัญญะเป็นชื่อของปัญญาชนิดหนึ่ง เป็นปัญญาที่จะตีกรอบให้เรารู้ ว่าเราจะทำอะไร จะทำเพื่ออะไร จะทำอย่างไร แล้วก็ไม่หลงลืมการปฏิบัติอันนั้น

เราปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพื่อความสุขความสงบอะไรทั้งสิ้น ไม่ใช่เพื่อความดีงามอะไรหรอก เราปฏิบัติธรรมเพื่อแผดเผากิเลส เพื่อเจริญกุศลในจิตใจของเรา ในเบื้องต้นจะเป็นอย่างนั้น ในเบื้องปลายก็เพื่อให้เห็นความจริงของกายของใจ พอเห็นความจริงได้ ก็เบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น แล้วก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว เพราะฉะนั้นเราปฏิบัติธรรม จุดหมายปลายทางก็คือความหลุดพ้น จะหลุดพ้นได้ จิตก็ต้องเข้าถึงความบริสุทธิ์

อะไรทำให้จิตไม่บริสุทธิ์ ก็กิเลสเรานั่นล่ะ ถ้าเราภาวนา สติของเราเข้มแข็ง สมาธิของเราดี ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำตัดตรง เข้ามาเจริญสติปัฏฐานที่จิตเลย บางคนตัดตรงเข้ามาที่จิตไม่ได้ ท่านก็ลดลงมาดูจิตไม่ได้ก็ดูเวทนา ดูจิตไม่ได้ ดูเวทนาไม่ได้ ดูกายไปก่อน ถ้าดูจิตได้ดูไปเลย เพราะอะไร เพราะกิเลสอยู่ที่จิต กุศลอยู่ที่จิต มรรคผลเกิดที่จิต มีแต่เรื่องจิตทั้งนั้น แล้วการเจริญสติก็ทิ้งจิตไม่ได้ การเจริญสมาธิก็ทิ้งจิตไม่ได้ ทำสมาธิแต่จิตเคลิบเคลิ้ม ลืมเนื้อลืมตัว มันก็เป็นมิจฉาสมาธิ สัมมาๆ ทั้งหลายทั้ง 8 ตัว เวลาเกิด เกิดพร้อมกัน เกิดด้วยกัน ทำงานร่วมกัน ช่วยกันสู้กิเลส

อย่างการที่เราคอยมีสติ สังเกตจิตใจของเรา จิตใจเรามีอกุศลเกิดขึ้น เรารู้ อกุศลดับไป เรารู้ ขณะที่เรามีสติรู้ทันจิตใจตนเองนั้น กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะตัวสตินั้นเป็นองค์ธรรมฝ่ายกุศล แล้วการที่เรามีสติเนืองๆ กุศลของเราก็จะเจริญงอกงามขึ้นมา พัฒนาขึ้นมาเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา สมบูรณ์ขึ้นมา ถึงตัวปัญญาแล้ว พระพุทธเจ้าก็บอกว่า “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” เพราะฉะนั้นที่เราจะต้องการความบริสุทธิ์หลุดพ้น เราต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมา ปัญญามาจากอะไร ปัญญามาจากสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา

สัมมาสมาธิ มาจากอะไร มาจากสัมมาสติ เจริญสติปัฏฐานให้มาก นอกจากสติจะดีขึ้นแล้ว จะได้ของแถมสำคัญคือสมาธิ พอสติอัตโนมัติเกิด สมาธิอัตโนมัติก็เกิด นี่ต้องฝึก สัมมาสติเกิดจากอะไร เกิดจากการที่เราทำสติปัฏฐาน ทำสติปัฏฐานที่จะทำให้ลัดสั้น ก็ทำมาที่จิตเลย เพราะสติปัฏฐานนี้จะบริบูรณ์ได้ ถ้ามีสัมมาวายามะเนืองๆ สัมมาวายามะ คือมีความเพียรชอบ อกุศลเกิดขึ้นรู้ทัน อกุศลก็ดับไป ในขณะที่มีสติอยู่ อกุศลใหม่ก็ไม่เกิด ในขณะที่มีสตินั้น กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่สติเกิดบ่อยๆ กุศลก็จะเจริญขึ้น

เพราะฉะนั้นเราจะทำสัมมาสติได้บริบูรณ์ ต้องทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์ มีสติรู้ทันจิตตัวเองไป แล้วอกุศลที่มีอยู่จะดับ อกุศลใหม่จะไม่เกิด กุศลที่ยังไม่เกิดก็จะเกิด ที่เกิดแล้วก็จะงอกงามพัฒนาขึ้นไป จนถึงกุศลสูงสุด สิ่งที่เรียกว่ากุศลขั้นสูงสุด คือปัญญา ในบรรดากุศลทั้งหลาย ปัญญาเป็นกุศลสูงสุด พอมีปัญญา เมื่อกี้บอกแล้ว เห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย คลายความยึดถือ หลุดพ้น

บางคนไม่สามารถดูจิตดูใจได้ ยังไม่สามารถทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์ได้ อย่างไปนั่งสมาธิ ทำความสงบไป จมอยู่กับกิเลส เผลอเพลิน มีความสุข อันนั้นไม่มีสัมมาวายามะ กิเลสไม่เร่าร้อน เลยไม่ได้แผดเผากิเลส ไม่มีอาตาปี ไม่ได้แผดเผากิเลส แต่เบื้องต้นบางคนก็ต้องดูกาย ดูเวทนาไปก่อน พอทำมากๆ เข้า ชำนิชำนาญขึ้น สติดีขึ้น มันก็เริ่มสังเกตจิตใจออก ตรงที่สังเกตจิตใจออก สัมมาวายามะก็จะเจริญขึ้น สัมมาสติก็จะเจริญ สัมมาสมาธิก็จะเจริญขึ้น

 

“ถ้าสังเกตจิตได้ การปฏิบัติจะสั้นนิดเดียวเลย
เพราะตรงที่เรามีสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ รู้ทันจิตใจตัวเอง ละอกุศล เจริญกุศลขึ้นมา
การที่เราคอยรู้ทันจิตใจตัวเองเนืองๆ อันนั้นคือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานอยู่แล้ว
แล้วทุกครั้งที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้น สมาธิที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น สัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ”

 

เพราะฉะนั้นถ้าเราตัดตรงเข้ามาเรียนรู้จิตใจได้ สัมมาวายามะคือความเพียรชอบ สัมมาสติ สัมมาสมาธิจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว ถ้าเรายังอ่านจิตอ่านใจตัวเองไม่ออก เดินจงกรม กำหนดไปเรื่อย เพ่งไปเรื่อย นั่งสมาธิก็นั่งเพ่งลมหายใจ เพ่งเท้าอะไรอย่างนี้ ทำไปเพราะอะไร มองไม่ออก ทำไปเพราะอยากดี อยากได้มรรคผลนิพพาน ตัวอยากนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล กลายเป็นว่าที่เรานั่งสมาธิ เดินจงกรมมากมาย ทำไปเพื่อสนองกิเลส ยังไม่ใช่ความเพียรชอบ นั่งได้นานแล้วกูเก่ง กูนั่งชนะคนอื่น กูเก่ง ไปกันใหญ่ หรือนั่งติดในความสงบ ออกมาแล้วจิตจะฟุ้งแรงกว่าคนทั่วๆ ไป

เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำอะไร สังเกตจิตของเราไว้ให้ดี ถ้าสังเกตได้ สังเกตจิตไม่ได้ ดูกายไปก่อน ดูเวทนาไปก่อน แต่ถ้าสังเกตจิตได้ การปฏิบัติจะสั้นนิดเดียวเลย เพราะตรงที่เรามีสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ รู้ทันจิตใจตัวเอง ละอกุศล เจริญกุศลขึ้นมา การที่เราคอยรู้ทันจิตใจตัวเองเนืองๆ อันนั้นคือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานอยู่แล้ว แล้วทุกครั้งที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้น สมาธิที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น สัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

เพราะฉะนั้นแค่เรามีสติ รู้ทันจิตใจของเรา กิเลสเกิดเรารู้ กิเลสดับเราก็รู้ กุศลเกิดเรารู้ กุศลดับไปเราก็รู้ ตรงนั้นเราได้ทำสติปัฏฐานด้วย ทำสัมมาวายามะด้วย แล้วตรงที่เรารู้ทันสภาวะที่มีที่เป็นอยู่นั้น สัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ อย่างที่พระอาจารย์ท่านชอบสอน หลงรู้ๆ อะไรของท่าน อันนั้นดี หลง หลงแล้วรู้ หลงเป็นกุศลหรืออกุศล หลงเป็นอกุศล เราห้ามจิตหลงได้ไหม ห้ามไม่ได้ จิตเป็นอนัตตา ห้ามไม่ได้ แต่เรามีสติรู้ได้

ค่อยๆ หัดรู้ไป ด้วยการทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตหลงไป หลงไปคิดก็รู้ ถลำลงไปเพ่งก็รู้ จิตลงไปเพ่ง ก็จิตหลงแบบหนึ่ง หลงเพ่ง แต่นักปฏิบัติชอบเพ่ง ก็เลยพอกพูนโมหะ เสร็จแล้วมานะอัตตาอะไร มันก็แรงขึ้นมาด้วย แต่ถ้าเราทำกรรมฐานไปสักอย่างหนึ่ง เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ อันอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องหายใจเข้าพุทออกโธหรอก ถนัดอะไรเอาอันนั้น แล้วคอยรู้ทันจิตใจของตัวเองไว้

หลวงพ่อถนัดหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เพราะท่านพ่อลี ท่านสอนมาให้ตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ปี 2502 ทุกวันไม่เคยขาดที่จะปฏิบัติ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหลงไปคิดรู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน ที่ผิดมี 2 อันเท่านั้น หลงออกไปหาอารมณ์ภายนอก กับถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน เวลาเราหายใจเข้า พุทออกโธนั้น จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น เราหายใจชำนาญ พอจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น จังหวะการหายใจมันจะเปลี่ยนไป แล้วจะรู้สึกได้รวดเร็ว เอ้า นี่หลงไปคิดแล้ว ลืมหายใจเข้าพุท ลืมหายใจออกโธแล้ว

ตรงที่เรารู้ว่าจิตหลงนั้น จิตรู้จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จิตรู้ก็คือจิตที่ทรงสัมมาสมาธินั่นเอง แต่เมื่อกี้บอกแล้ว ถ้ามีสัมมาสมาธิก็ต้องมีสัมมาสติ ฉะนั้นจิตรู้มีทั้งสัมมาสติ สัมมาสมาธิ แล้วถ้าไม่รู้ซื่อบื้ออยู่เฉยๆ ก็จะมีสัมมาวายามะกำกับ ก็คอยรู้เท่าทันกุศล อกุศลทั้งหลาย ที่หมุนเวียนเข้ามาในจิตใจเรื่อยๆ ก็จะเห็นว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ เช่น ความโลภเกิด ความโลภก็ดับ ความโกรธเกิด ความโกรธก็ดับ ความฟุ้งซ่านเกิด ความฟุ้งซ่านก็ดับ ความหดหู่เกิด ความหดหู่ก็ดับ ความสงบเกิด ความสงบก็ดับ เฝ้ารู้เฝ้าดู มันจะเห็นแต่สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ นั่นล่ะปัญญาชั้นเลิศเลย เป็นวิปัสสนาปัญญาแล้ว

 

อ่านจิตตัวเองให้ออก

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดแล้วรู้ จิตถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานแล้วรู้ เราจะได้ครบเลย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมาเอง อย่างจิตหลงไปคิด เรารู้ว่าจิตหลงไปคิดปุ๊บ จิตที่หลงคิดดับ จิตรู้จะเกิด จิตรู้ก็คือจิตที่ทรงตัวขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมา โดยไม่ได้เจตนา ไม่ได้สั่งให้ตั้ง ถ้าอยู่ๆ เราสั่งจิตให้ตั้งมั่นขึ้นมา ทำได้ไหม ได้ แต่เป็นสมาธิธรรมดา ไม่ใช่สัมมาสมาธิ แต่ถ้าเราชำนิชำนาญแล้ว เรามีสติขึ้นมาเท่านั้นล่ะ สัมมาสมาธิเกิดเองเลย

ฉะนั้นสำหรับพวกเรา ถ้าเรามีสติปัญญาพอ อินทรีย์เราแก่กล้าพอ หลวงพ่อแนะนำให้เรามีสติ คอยรู้เท่าทันจิตใจตนเองไว้ การที่เรามีสติคอยรู้ทันจิตตนเอง อกุศลที่มีอยู่มันจะดับ อกุศลใหม่จะไม่เกิดในขณะที่มีสติ การที่เรามีสติคอยรู้ทันจิตตนเอง กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะตัวสตินั้นล่ะตัวกุศล แล้วก็ต่อไปกุศลก็เกิดถี่ขึ้นๆ อย่างหัดใหม่ๆ วันหนึ่งบางทีรู้ตัวได้ครั้งเดียว พอหัดไปเรื่อยๆ ต่อไปจิตไหลแวบ รู้สึก แวบ รู้สึก ความรู้สึกตัวมันถี่ยิบขึ้นมาเลย นั่นล่ะกุศลมันเจริญแล้ว

กุศลก็คือตัวสติ มันเจริญขึ้นแล้ว แล้วมันจะทำให้เกิดสมาธิที่ถูกต้อง ตัวสมาธินั้นเป็นองค์ธรรมกลางๆ เกิดขึ้นกับจิตที่ดีก็ได้ จิตที่ชั่วก็ได้ อย่างพวกทำคุณไสยอะไรพวกนี้ ก็ต้องใช้สมาธิ ทำร้ายคนอื่น สะกดจิตคนอื่น ก็ต้องใช้กำลังของสมาธิ ฉะนั้นสมาธิต่างกับสติ สติเกิดกับจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น สมาธิเกิดได้ทั้งจิตที่เป็นกุศล ทั้งจิตที่เป็นอกุศล จิตทุกดวงมีสมาธิโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิอาศัยสัมมาสติ เพราะฉะนั้นเราคอยมีสติ สิ่งที่เรียกว่าสัมมาสติก็คือสติปัฏฐาน หรือสติรู้กายรู้ใจ ไม่ใช่สติเรื่องอื่น

ถ้ารู้จิตได้ก็รู้ไปเลย ถ้ารู้ไม่ได้ก็รู้กาย รู้เวทนาไป แล้ววันหนึ่งมันก็พัฒนาขึ้นมาถึงจิตถึงใจ ตราบใดที่เรายังภาวนาแล้วเข้ามาไม่ถึงจิตถึงใจ ครูบาอาจารย์ท่านสอนเลย ยังไม่ได้แก่นสารสาระของการปฏิบัติ ถ้ายังอ่านจิตใจตัวเองไม่ออก ท่านบอกเลย ไม่ได้แก่นสารสาระของการปฏิบัติ จะนั่งสมาธิโต้รุ่ง แต่ไม่รู้เท่าทันจิตใจตัวเอง นั่งไปแล้วก็เคลิ้ม มีความสุขเผลอเพลินไป หรือโมหะครอบ มืดมัวไปหมดอะไรอย่างนี้ อันนั้นไม่ได้จิตตัวเอง โมหะครอบจิต ไม่เห็น ราคะครอบจิต ไม่เห็น หรือนั่งแล้วมันฟุ้งซ่าน ก็โมโหมัน นั่นโทสะมาแล้ว

ฉะนั้นเราอ่านจิตตัวเองไปให้ออก อย่างเราจะนั่งสมาธิ จิตมันฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน ถ้าเรารู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านจะดับทันที ไม่ต้องแก้เลย เพราะจิตฟุ้งซ่านเป็นอกุศล เมื่อไรเรามีสติรู้ทัน อกุศลต้องดับทันที แล้วจิตที่เป็นกุศล มันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ตรงที่มันตั้งมั่นขึ้นมา นั่นล่ะมันได้สมาธิขึ้นมา เพราะฉะนั้นอย่างที่เราฝึกกรรมฐาน หลงแล้วรู้ๆ ไปเรื่อยๆ หลงไปคิดก็รู้ หลงไปเพ่งก็รู้ จิตเราจะค่อยๆ ตั้งมั่นขึ้นมา ทำไปเรื่อยๆ มันจะรู้สึก จิตมันมีแรง มันจะมีกำลังขึ้นมา มันรู้ด้วยตัวเองเลย แล้วถ้าเราเคยได้จิตที่มันมีกำลังแล้ว วันใดที่จิตมันหมดแรง เราจะรู้เลยว่าตอนนี้จิตมันตกแล้ว หมดกำลังแล้ว หมดกำลังทำอย่างไร ก็ทำในรูปแบบต่อไป ทำกรรมฐานไป แล้วรู้ทันจิตไป สมาธิมันก็จะเกิดขึ้นมาอีก พอจิตมันมีแรง ต่อไปมันเห็นเลย จิตขยับไปคิดก็รู้ จิตถลำลงไปเพ่งก็รู้ ได้เจริญสัมมาสติแล้ว แล้วจิตมันก็ตั้งมั่นมากขึ้นๆ พอจิตมันตั้งมั่นได้ดีแล้ว เพราะสติมันรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ แล้วจิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็น ปัญญามันจะเกิด

อย่างพวกเราฟังหลวงพ่อเทศน์ จิตมันจะเกิดสมาธิขึ้นมา เวลาที่ฟังหลวงพ่อเทศน์ มันมีสมาธิ พอมีสมาธิ เราลองระลึกลงในร่างกายเรา เราจะเห็นเลย ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าจิตเราตั้งมั่น มันจะเห็นเอง ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น กายกับจิตก็รวมเป็นก้อนเดียวกัน แต่ถ้าจิตเราตั้งมั่นปุ๊บ มันจะเห็นเลย สติระลึกรู้กาย มันจะเห็นว่ากายกับจิตคนละอันกัน นี่ปัญญาขั้นแรกเลย ขันธ์มันแยกแล้ว พอกายกับจิตมันเป็นคนละอันกัน มันก็จะเห็น ถ้าจิตยังตั้งมั่นอยู่ มันก็จะเห็นกายเป็นของไม่เที่ยง กายมันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา

หรือเวลาจิตเราตั้งมั่นอยู่ จิตใจมันทำงานขึ้นมา เช่น มันมีความสุขขึ้นมา มีความทุกข์ขึ้นมา สติระลึกรู้ว่าตอนนี้มีความสุขเกิดขึ้น ตอนนี้มีความทุกข์เกิดขึ้น จิตยังตั้งมั่นอยู่ มันจะเห็นว่าความสุขความทุกข์กับจิต เป็นคนละอันกัน อย่างนี้ก็เรียกว่าขันธ์มันแยกเหมือนกัน พอขันธ์มันแยกได้ ต่อไปมันจะเริ่มเห็น ความสุขความทุกข์ สั่งให้ความสุขเกิดก็ไม่ได้ ห้ามความทุกข์ว่าอย่าเกิดก็ไม่ได้ ความสุขเกิดแล้ว สั่งให้อยู่นานๆ ก็ไม่ได้ ความทุกข์เกิดแล้ว สั่งให้ดับเร็วๆ ก็ไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ อันนั้นเรียกว่าอนัตตา เราเห็น เราไม่ได้คิดเอา ต้องเห็นเอา ถ้ายังคิดเอาไม่ใช่วิปัสสนา ต้องเห็นเอา เช่น เห็นจิตโลภเกิดขึ้น พอสติรู้ทันจิตโลภก็ดับ เห็นจิตหลงเกิดขึ้น พอสติรู้ทันจิตหลงก็ดับ

 

“ทำในรูปแบบก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ที่เราถนัด
แต่ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร ต้องรู้ทันจิตตนเอง ไม่อย่างนั้นสัมมาวายามะไม่เกิด”

 

การปฏิบัตินั้นเจริญสติไว้ ไม่ใช่เพื่อการล้างกิเลส ไม่ใช่เพื่อกิเลสเกิดแล้ว เรามีสติขึ้นมา เพื่อจะให้กิเลสดับ เราไม่ได้ปฏิบัติเจริญสติเพื่อละกิเลส เพราะอะไร เพราะไม่มีกิเลสจะให้ละ อย่างเวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น ตรงนั้นไม่มีสติ ทันทีที่สติเกิดขึ้น จิตเป็นกุศลแล้ว จิตที่มีโทสะเมื่อกี้ดับไปเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ละอกุศล แต่มันไม่มีอกุศลจะให้ละ เมื่อสติเกิดขึ้น ทันทีที่สติเกิด อกุศลที่มีอยู่ถูกดับไปแล้ว กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว จิตมันเป็นจิตคนละดวงกัน จิตดวงที่หลงไป หรือจิตดวงที่โลภไป จิตดวงที่โกรธไป เป็นอันหนึ่ง จิตที่รู้ว่าจิตเมื่อกี้โลภ เป็นอีกดวงหนึ่ง จิตที่รู้ว่าเมื่อกี้นี้โกรธ เมื่อกี้นี้หลง เป็นคนละดวงกับจิตที่โลภ โกรธ หลง มันเป็นจิตที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง

จิตที่โลภ โกรธ หลง เป็นอกุศลจิต จิตที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง มันเป็นมหากุศลจิต เป็นกุศล สิ่งที่เรียกว่ากุศลคืออะไร ก็อโลภะ ไม่โลภ อโทสะ ไม่โกรธ อโมหะ ไม่หลง ไม่หลงไม่ใช่แปลว่าบังคับเอาไว้ ไม่หลงคำนี้เป็นคำลึก ไม่หลงตัวนี้ ก็คือไม่หลงผิด เพราะฉะนั้นตัวอโมหะ เป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของคำว่าปัญญา ไม่หลง คือไม่หลงผิด ไม่ใช่ใจลอยแค่นั้น ตื้นไป ใจลอยเป็นความฟุ้งซ่าน เป็นความฟุ้งซ่าน ก็เป็นโมหะตัวหนึ่ง ฟุ้งซ่าน ความไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ตัวร้ายเลย ตัวมิจฉาทิฏฐิ ที่จริงตัวทิฏฐิ มันเป็นตัวโลภะ แต่เรียนเยอะนักเดี๋ยวเวียนหัว เอาแค่นี้พอ

สรุปก็คือ ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ ออกจากการทำในรูปแบบแล้ว คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ในรูปแบบทำอะไร ในรูปแบบก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ที่เราถนัด ถนัดอะไรเอาอันนั้น แต่ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร ต้องรู้ทันจิตตนเอง ไม่อย่างนั้นสัมมาวายามะไม่เกิด นั่งสมาธิโต้รุ่งก็ไม่มีสัมมาวายามะ ไม่มีความเพียรชอบ มันกลายเป็นว่ากูเก่ง คนอื่นสู้กูไม่ได้ หรือนั่งแล้วเห็นโน่นเห็นนี่ ยิ่งเตลิดเปิดเปิง ยิ่งไปกันใหญ่ เดินจงกรมเก่ง เดินได้ทน ไม่ใช่ เราไม่ได้วัดความทน เราดูว่าเรารู้ทันกิเลสตัวเองไหม

อย่างถ้าเราเดินจงกรม แล้วเรารู้สึกกูเก่ง รู้ว่ากูเก่ง รู้ทันว่าความรู้สึกว่ากูเก่งเกิด ความรู้สึกว่ากูเก่งมันจะดับทันทีเลย อันนี้เป็นตัวมานะ ตัวเทียบเขาเทียบเรา กูเก่งกว่าคนอื่น สติเกิดปุ๊บ เฮ้ย นี่มันกูเก่ง นี่มันตัวมานะ ทันทีที่รู้ มานะดับทันที ไม่มีกิเลสที่จะต้องละต่อไป กิเลสมันดับทันทีที่สติเกิดนั่นล่ะ แล้วก็เราหัดทำสติปัฏฐาน คอยรู้กาย คอยรู้ใจ รู้ไปบ่อยๆ สติจะเร็วขึ้นๆๆ แล้วสติพัฒนาเต็มที่ สมบูรณ์ สมาธิก็สมบูรณ์ แล้วปัญญามันก็เกิด วิมุตติมันก็เกิด

เพราะฉะนั้นพอมีสัมมาวายามะบริบูรณ์ สัมมาสติก็บริบูรณ์ สัมมาสมาธิก็บริบูรณ์ สัมมาญาณะ คือปัญญาหยั่งรู้ที่ถูกต้อง หยั่งรู้ไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจก็เกิดขึ้น เรียกสัมมาญาณะ เห็นตามความเป็นจริงนั่นล่ะ คราวนี้จิตมันก็จะเข้ากระบวนการ เบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น มันหลุดพ้นของมันเอง ไม่มีใครสั่งจิตให้หลุดพ้นได้ เพราะจิตเป็นอนัตตา มันหลุดของมันเอง เมื่อมันเห็นทุกข์ วันใดที่เราเห็นว่ากายนี้คือตัวทุกข์ จิตจะหลุดพ้นจากความยึดถือในกาย มันจะขาดออกจากกันเลย มันเหมือน เหมือนอะไรดี เดี๋ยวเทียบไปก็จะตีความวุ่นวาย ก็คือจิตมันสลัดกายทิ้งไปเลย มันไม่ยึดถือกายอีกแล้ว ไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นตัวกู ของกูอะไรนี้ มันไม่มีอีกแล้ว

เพราะปัญญาเห็นแจ้งแล้วนี่คือตัวทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าท่านถามปัญจวัคคีย์ “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์” ปัญจวัคคีย์บอก “เป็นทุกข์” พระพุทธเจ้าถามต่อ “สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นควรหรือที่จะเห็นว่าเป็นตัวเรา ของเรา” ท่านบอก “ไม่ควรยึดถือ” เพราะฉะนั้นถ้าเห็นตามความเป็นจริง จิตมันไม่ยึดถือเอง ไม่ใช่เราไม่ยึดถือ มันไม่มีเรา จิตมันไม่ยึดถือเอง มันจะรู้ว่ามันไม่มีเรา

 

อย่าทิ้งจิต

ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำ ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ คือทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราคุ้นเคย แล้วรู้ทันจิตตนเอง บางคนถนัดท่อง “พุทโธๆ” หรือ “สัมมาอะระหัง” “นะมะพะทะ” ถนัดท่องอย่างนี้ได้ไหม ได้ ตรงที่ท่องอยู่เป็นวิปัสสนาไหม ไม่เป็น มันเป็นอารมณ์บัญญัติ เรื่องราวที่คิดขึ้นมา หรือการพิจารณาร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะ ไม่ใช่วิปัสสนา มันยังเป็นการคิดเอา แต่ถ้าเรามีจิตที่เป็นคนรู้คนดู อย่างเราพุทโธๆๆ แล้วจิตเราหนีปุ๊บ เรารู้ อันนั้นเราไม่ได้ใช้พุทโธเป็นวิหารธรรม แต่เราใช้จิตเป็นวิหารธรรม เรากำลังเจริญจิตตานุปัสสนาอยู่ เราใช้จิตซึ่งเป็นนามธรรม มีสภาวะ เป็นอารมณ์กรรมฐาน เพียงแต่พุทโธมาเป็นเหยื่อล่อ ตัวพุทโธเองไม่มีสภาวะ เป็นเรื่องที่คิดเอา

เพราะฉะนั้นคิดคำอื่นได้ไหม คิดคำอื่นก็ได้ เคยมีพระองค์หนึ่งบวชใหม่ หลวงพ่อพุธเล่าให้ฟัง ท่านท่องพุทโธๆๆ แล้วเผลอแวบเดียวเลย มันไปท่องชื่อแฟนเลย จิตมันเปลี่ยนไปท่องชื่อแฟน ก็รีบมาบอกหลวงพ่อพุธว่า “ผมบาปมากแล้ว หลวงพ่อให้พุทโธ มันทิ้งพุทโธไปท่องชื่อแฟน” ท่านบอก “ท่องไปเลย จิตมันชอบคำนี้ ให้มันท่องไป” ฉะนั้นจะท่องคำไหนก็ได้ แล้วจิตมันมีความสุขขึ้นมา รู้ว่ามีความสุข เข้ามาที่จิตได้แล้ว จิตสงบ รู้ว่าสงบ ก็เข้ามาที่จิตได้แล้ว

เพราะฉะนั้นอย่างใช้พวกอารมณ์บัญญัติ ในการทำกรรมฐานเบื้องต้น แต่ว่าเราคอยรู้ทันจิตไว้ มันจะขึ้นมาสู่ การรู้อารมณ์ปรมัตถ์ได้คือจิต พวกเรียนตำรามากๆ บางที โอ๊ย พุทโธใช้ไม่ได้หรอก ในขณะที่หลวงตามหาบัวบอกว่า ท่านพุทโธตั้งแต่ต้นจนจบเลย พวกเรียนมากเขาบอก โอ๊ย หลวงตามหาบัวภาวนาไม่ถูกแน่นอน ใช้อารมณ์บัญญัติ ไม่รู้ว่าท่านใช้อะไรแน่ มันได้แต่ติไปตามคำพูด ที่จริงท่านท่องพุทโธๆ พุทโธคือจิต พุทโธแล้วจิตหนีไปคิดก็รู้ จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตเป็นอารมณ์ปรมัตถ์

เพราะฉะนั้นแค่พุทโธๆ แล้วรู้ทันจิตนั่นล่ะ บรรลุมรรคผลได้ หรือจะใช้อารมณ์อื่นก็ได้ แต่หลวงพ่อแนะนำแล้ว ไม่ว่าทำกรรมฐานอะไร ก็ต้องรู้ทันจิตตัวเองไว้ มันจะขึ้นมาสู่สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิอย่างรวดเร็วเลย ฉะนั้นอย่าทิ้งจิต แล้วพอเราอยู่ในรูปแบบ ฝึกทุกวัน ละเลยไม่ได้ ต้องทำทุกวัน วันละหลายรอบก็ได้ ไม่ต้องทำก่อนนอนอย่างเดียว ตื่นนอนมาก็ทำ กินข้าวเสร็จแล้วก็ทำ อาบน้ำอยู่ก็ทำ อย่างอาบน้ำอยู่ หน้าหนาวน้ำมันเย็น อาบแล้วยังไม่ทันจะถูกน้ำเลย ใจมันสยองแล้ว รู้ว่าใจมันสยดสยอง นี่เราดูจิตแล้ว

พออาบน้ำไปสักพักหนึ่งจะเสร็จแล้ว น้ำก็ยังเย็นอยู่ แต่ร่างกายมันชินแล้ว พออาบเสร็จปุ๊บ เช็ดตัวเสร็จแล้ว ตัวอุ่นเลย แหม มีความสุขแล้ว รู้ว่ามีความสุข เห็นไหม แค่อาบน้ำก็ทำกรรมฐานได้ ไปอึ ทำได้ไหม ได้ เกิดท้องผูก อึไม่ออก กลุ้มใจ รู้ว่ากลุ้มใจ อึได้ปุ๊บ สบายใจ รู้ว่าสบายใจ เห็นไหม ถ้าดูจิตได้ ทำกรรมฐานได้ทั้งวัน นั่นล่ะคือการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน จะกินข้าว จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะคู้ จะเหยียด จะกินข้าว จะกินน้ำ จะขับถ่าย ก็สามารถปฏิบัติได้ทั้งหมดเลย

เพราะฉะนั้นจับหลักการปฏิบัติให้แม่น ส่วนรูปแบบนั้น ถนัดอย่างไรก็เอาอย่างนั้น นี่คือเคล็ดวิชา เคล็ดลับ ก่อนที่หลวงพ่อจะจับเคล็ดลับได้ หลวงพ่อก็ทำในรูปแบบมานั่นล่ะ หายใจเข้าพุทออกโธ บางวันก็สงบ บางวันก็ไม่สงบ แล้วค่อยๆ จับหลักได้ โอ้ วันไหนอยากสงบ วันนั้นไม่สงบ วันไหนไม่ได้อยากสงบ มันสงบของมันได้เอง เห็น จับหลักได้ ยิ่งเราไปเค้นจิต ไปบังคับจิตมากๆ ยิ่งไม่สงบ ใช้ใจธรรมดาๆ ทำกรรมฐานไปด้วยใจธรรมดา แป๊บเดียวก็สงบแล้ว

กว่าจะจับหลักได้ หรือทำวิปัสสนาภาวนาจนคล่องตัวแล้ว แล้วก็ค่อยๆ สังเกตไป ว่าทำอย่างอื่นได้ไหม นอกจากการดูจิต อะไรก็ได้ ดูกายก็ได้ ดูเวทนาก็ได้ ดูจิตก็ได้ ดูสภาวธรรมที่เป็นกุศล อกุศลก็ได้ ดูกระบวนการทำงานของจิต คือปฏิจจสมุปบาทก็ได้ มันเนื่องกันหมด มันไปได้ด้วยกันหมด ได้อันหนึ่งแล้ว มักจะได้อีกอันหนึ่ง ไม่ยาก ได้จิตก็จะได้เครื่องมือหลักสำคัญ ในการพัฒนาสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิขึ้นมา มรรคผลจะไม่อยู่ไกล

ถ้าภาวนาสงบซื่อบื้ออยู่ ไม่มีวันบรรลุมรรคผลเลย ภาวนาแล้วก็เครียด เคล็ดขัดยอกไปทั้งตัว ไม่ใช่ทาง ไม่มีวันบรรลุมรรคผลหรอก ทำไปแล้วรู้ทันจิตตัวเองได้จะสั้นที่สุดเลย

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
11 มีนาคม 2566