รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5

ให้รู้ทันจิตเรา มันปรุงแต่งทั้งวัน ถ้าเราไม่รู้ทันความปรุงแต่ง แล้วถูกความปรุงแต่งครอบงำ สารพัดจะปรุงวันๆ หนึ่ง ใจก็ดิ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเรารู้ทันความปรุงแต่งของจิต ความปรุงแต่งก็ค่อยอ่อนกำลังลง แล้วถ้าเราสาวลึกลงไป ทำความเข้าใจถึงรากเหง้าของความปรุงแต่งได้ เราก็จะพ้นความปรุงแต่งสิ้นเชิงได้ ฟังแล้วยาก มันก็ยากอยู่เหมือนกันล่ะ จะให้มันพ้นอย่างสิ้นเชิง ถ้าพ้นนิดๆ หน่อยๆ พอเวียนว่ายตายเกิดไปแบบทุกข์น้อยๆ อันนั้นก็ไม่ยากนัก

เราฟังธรรมะก็ปฏิบัติธรรมะ แต่ลองสำรวจใจเราเอง ธรรมะคืออะไร ตอบไม่ถูกเหมือนกัน ฟังธรรมะ ฟังอะไร ฟังครูบาอาจารย์สอนอย่างโน้นอย่างนี้ ปฏิบัติธรรมก็ไปนั่งสมาธิเดินจงกรม ทำสมถะ วิปัสสนา แล้วธรรมะจริงๆ มันคืออะไร เคยสงสัยไหม หลวงพ่อเคยสงสัย อย่างพระรัตนตรัย พระพุทธเจ้า เราก็พอนึกออก พระสงฆ์ พอนึกได้ พอถึงพระธรรม มันเป็นอย่างไร ทำไมเป็นสรณะอันหนึ่ง เป็นที่พึ่งสำคัญ ก็มีคนพยายามนิยามเหมือนกันว่าธรรมะคืออันโน้นอันนี้ แล้วก็เถียงได้ทุกเรื่อง นิยามอย่างไรก็เถียงกันได้

ถ้าไปดูอภิธรรม อภิธรรมปิฎกจะเริ่มต้นด้วย “กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากะตาธัมมา” จบ แค่นี้เอง บทที่หนึ่งในอภิธรรม ยังไม่ได้ตอบเลยว่าธรรมะคืออะไร แต่แยกธรรมะออกเป็น 3 อย่าง ธรรมที่เป็นกุศล ธรรมที่เป็นอกุศล ธรรมที่ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล บางทีก็แยกธรรมะในเรื่องจากด้านความปรุงแต่ง ถ้าแยกกุศล อกุศล ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล อันนี้แยกจากคุณสมบัติมัน ดี ไม่ดี บางทีเราก็แยกธรรมะที่ปรุงแต่งกับธรรมะที่ไม่ปรุงแต่ง ธรรมะที่ปรุงแต่งเรียกสังขตธรรม ธรรมะที่ไม่ปรุงแต่งมีอันเดียวคือพระนิพพาน เรียกอสังขตธรรม ไม่ปรุงแต่ง

พอเราแยกๆ แต่ละชิ้นออกมา คำว่า ธรรมะใหญ่ๆ อันเดียว สัมผัสแตะต้องยาก ถ้าเราแยกออกเป็นส่วนๆ มันก็จะเข้าใจง่ายขึ้น อย่างธรรมะที่เป็นอกุศล เรารู้จักไหม ธรรมะที่เป็นกุศล เรารู้จักไหม ธรรมะที่ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศลอะไรอย่างนี้ ธรรมะที่ปรุงแต่งกับธรรมะที่ไม่ปรุงแต่ง ธรรมะที่ปรุงแต่งก็คือสังขตธรรม เป็นธรรมะที่มีเหตุให้เกิด พูดง่ายๆ ก็คือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลายที่เรามีเราเป็นอยู่นี่ล่ะ มันเป็นสังขตธรรม ส่วนอสังขตธรรม ธรรมะที่พ้นความปรุงแต่ง เรายังไม่รู้จัก อันนั้นต้องได้โสดาบันขึ้นไปถึงจะเห็นพระนิพพาน

เวลาลงมือปฏิบัติ ธรรมะที่พ้นความปรุงแต่งมันไม่มีเหตุ เพราะฉะนั้นมันไม่เกิด เมื่อมันไม่เกิด มันไม่ดับ หน้าที่ของเรา กิจกรรมของเราต่อธรรมะที่ไม่ปรุงแต่ง คือการเข้าไปเห็นเท่านั้นล่ะ ทำอย่างไรเราจะเห็นพระนิพพานได้ ไม่ใช่ทำพระนิพพานให้เกิดขึ้น ส่วนธรรมะที่ปรุงแต่ง ในส่วนที่ชั่ว เราต้องละ ในส่วนที่ดีเราต้องเจริญ ในส่วนที่ไม่ดีไม่ชั่ว เป็นกลางๆ ให้เรารู้อย่างที่มันเป็นไป

 

หน้าที่ต่อตัวขันธ์ตัววิบากตัวนี้ คือรู้

อย่างนี้เราพอจะคลำร่องรอยว่า เราจะปฏิบัติธรรม จะทำอย่างไรบ้าง เราก็ละชั่ว ทำดี ให้จิตผ่องแผ้วขึ้นมา สะอาดหมดจด ธรรมะที่ไม่ดีไม่ชั่วก็คือพวกวิบากทั้งหลาย ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ก็เป็นธรรมะฝ่ายวิบาก เรียกวิบาก ก็เป็นผล ความดี เราทำดีก็มีวิบากดี ทำชั่วก็มีวิบากชั่ว อย่างขันธ์ 5 เราเกือบทั้งหมดเป็นวิบาก มีบางส่วนในสังขารขันธ์ ก็เป็นกุศล เป็นอกุศล นอกนั้นก็เป็นวิบากทั้งหมดเลย ร่างกายเรานี้เป็นวิบาก มันเป็นตัวทุกข์ๆ

หน้าที่ต่อตัวขันธ์ตัววิบากตัวนี้คือรู้ ตัวนี้คือตัวทุกข์ ฉะนั้นให้เรารู้กายรู้ใจของเราไป แต่ถ้ากิเลส ต้องละมัน ถ้ากุศล ต้องเจริญมัน อย่างการที่เรารักษาศีล ทำสมาธิ เจริญปัญญา เราเจริญกุศล การที่เราถือศีล ไม่ยอมไปทำผิดศีล เราทำสมาธิเพื่อข่มใจ ไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำ เราเจริญปัญญาเพื่อรู้เท่าทันกองทุกข์ทั้งหลาย อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำ ฉะนั้นบางคนพูดมักง่ายว่า ธรรมะไม่มีอะไรมาก รู้เฉยๆ พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้รู้เฉยๆ สอนให้ละชั่ว ให้ทำดี ฝึกไปจนกระทั่งจิตบริสุทธิ์หลุดพ้น

ที่มันชอบมันไม่ชอบขึ้นมา สังเกตลงไป มันชอบมันไม่ชอบเพราะมันชอบขันธ์นี่ล่ะ หรือบางทีมันก็เกลียดขันธ์นี่ล่ะ ร่างกายนี้เป็นที่รักที่หวงแหน หรือบางทีมันเจ็บป่วยมาก บางคนฆ่าตัวตายเลย มันทุกข์มาก จิตมันยินดีบ้าง มันยินร้ายบ้าง พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ไปรักมัน แล้วไม่ได้สอนให้ไปเกลียดมัน ตัวขันธ์นี้มันเป็นวิบาก เป็นผลกรรมที่เราสะสมมา เราก็ได้วิบากอย่างนี้ อย่างบางคนรักษาศีลมาดี ก็มีวิบากได้เกิดมาเป็นคน มีรูปงามอะไรอย่างนี้ บางคนมีวิบากคือเจริญปัญญามามาก ทำวิปัสสนามามาก ฟังธรรมนิดเดียวก็เข้าใจแล้ว แต่ละคนช้าเร็ว ง่ายยาก ไม่เท่ากัน เพราะวิบากมันไม่เท่ากัน

อย่างพวกเราถือว่ามีวิบากดี เราได้อัตถภาพร่างกายจิตใจของมนุษย์ เรามีของดีสะสมมาในอดีต เรามีศรัทธา เราก็พยายามแสวงหาความพ้นทุกข์ เที่ยวศึกษา เที่ยวปฏิบัติธรรมไป ฉะนั้นธรรมะไม่ใช่ว่ารู้เฉยๆ ส่วนของกิเลส อย่าไปยอมตามมัน ส่วนของกุศลทำให้มันเพิ่มขึ้น ส่วนที่เป็นวิบาก รู้อย่างที่มันเป็น จะได้ไม่ไปรักใคร่หวงแหนมัน อย่างร่างกายเป็นวิบาก บางคนเกิดมาก็พิการบ้าใบ้บอดหนวกแต่กำเนิด แต่ทำไมได้เป็นคน เขามีวิบากที่แตกต่างกับคนที่เกิดมาสมบูรณ์ อันนี้มันลงรายละเอียดเยอะไป มีคำอธิบายทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุทั้งสิ้น มีเหตุอย่างนี้ มีผลอย่างนี้

การที่เราเรียนธรรมะ ขั้นแรกเราก็รู้ก่อนธรรมะมี 2 ค่าย ค่ายที่เป็นความปรุงแต่ง ถ้าปรุงดี เราก็ต้องเจริญ ปรุงชั่ว เราก็ต้องละ ถ้ามันเป็นกลางๆ เราก็รู้อย่างที่มันเป็นไป ไม่ต้องไปทำอะไรมัน ธรรมะที่พ้นความปรุงแต่ง ถ้าเมื่อไรจิตเราพ้นความปรุงแต่ง เราค่อยไปเห็นธรรมะที่ไม่ปรุงแต่ง ไปเห็นนิพพาน ฉะนั้นไม่ต้องทำอะไรเพื่อจะเห็นนิพพาน ก็ละชั่ว ทำดี ฝึกจิตใจของตัวเองไป เดี๋ยวก็เห็น วันหนึ่งมันก็เห็น

นิพพานไม่ใช่อะไร นิพพานคือสันติ ความสงบ แล้วมันไม่ใช่สงบเฉยๆ ถ้าเมื่อไรจิตสัมผัสพระนิพพาน จิตจะมีความสุข ฉะนั้นนิพพานโดยตัวเองว่าง แต่สัมผัสแล้วเป็นบรมสุข ตรงนี้ไม่ต้องเรียนมาก พระพุทธเจ้าสอนไม่เยอะเรื่องนิพพาน ถ้าสอนเยอะแล้วเราจะหิวนิพพาน ก็เลยไม่นิพพานเสียที ท่านเลยสอนธรรมะที่ปรุงแต่ง ธรรมะเกือบทั้งหมดเลยจะสอนอยู่ในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องนิพพานไม่ค่อยพูดถึงเท่าไร

เพราะฉะนั้นเราตั้งอกตั้งใจ ที่เราปฏิบัติธรรม ถามว่าทำอะไรบ้าง ก็ละชั่ว ทำความดีไป ทำกุศลให้ถึงพร้อม จะละชั่วทำดีได้ ก็ต้องเห็นความจริง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่มีที่เป็นขึ้นมา เกิดแล้วดับทั้งสิ้น ไม่ควรยึดถือ อย่างร่างกายเรานี้เป็นส่วนของวิบาก เวทนาสุขทุกข์เป็นส่วนของวิบาก อย่างถ้าเราทำความดี ทำบุญ ผลที่ได้ก็คือความสุข ทำบาป ผลที่ได้ก็เป็นความทุกข์ ฉะนั้นตัวสุขทุกข์ หรือตัวเวทนา เป็นวิบาก เป็นผลของการกระทำ การกระทำทั้งหลายมันก็ผลักดัน ด้วยกุศลบ้าง ด้วยอกุศลบ้าง ผลักดันให้กระทำ

พระอรหันต์ท่านพ้นจากกุศล พ้นจากอกุศลสิ้นเชิง ก็เลยไม่มีอะไรผลักดันจิตให้เกิดการกระทำขึ้นมา ฉะนั้นจิตมันออกรู้อารมณ์ มันคิดนึกปรุงแต่งอะไรขึ้นมา มันไม่ได้ทำด้วยกิเลส มันเป็นแค่กิริยา สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าคิด แต่พวกเราสิ่งที่ผลักดัน คือกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ให้เรามาเรียนรู้ลงมา ร่างกายนี้เป็นส่วนของวิบาก อย่าไปเกลียดมัน อย่าไปรักมัน ถ้าเกลียดมันมาก ก็ต้องอยู่กับมัน รักมันมาก วันหนึ่งมันก็ทิ้งเราไปร่างกายนี้ ถ้าเรารู้ความจริง ของร่างกาย ก็แค่วิบาก เป็นผลของกรรม พอกำลังของกรรมทั้งดีและชั่วหมดไป มันก็แตกสลายไป

เวทนาคือความสุขทุกข์ มีรูป มีเวทนา เวทนาก็เป็นส่วนของวิบาก เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นอย่าไปหลงยินดียินร้ายกับมัน ความสุขเกิดขึ้นก็เป็นวิบากของบุญ ความทุกข์เกิดขึ้นก็เป็นวิบากของบาป ทำชั่วมา ได้รับวิบากคือความทุกข์ ทำบุญก็มีวิบากเป็นความดี เราไปแก้ที่ตัวผลไม่ได้ ตัววิบากเป็นตัวผล ถ้าเราอยากมีความสุข เราก็ต้องทำเหตุที่ดี สร้างคุณงามความดีไป แล้วเราจะมีความสุข ถ้าเราเกลียดทุกข์แต่เราทำชั่ว เราก็ไม่พ้นจากทุกข์ เพราะวิบากคือความทุกข์ มันจะมา

ตัวรูปมันก็เป็นวิบาก ตัวเวทนาก็เป็นวิบาก ตัวสัญญาก็เป็นวิบาก ตัววิญญาณคือจิต ก็เป็นวิบาก จิตจริงๆ แล้วมันมีทั้ง 3 ส่วน ทั้งจิตที่เป็นกุศล อกุศล และก็เป็นวิบากจิต จิตจำนวนมากเป็นวิบาก เราไม่รู้จักมัน อย่างจิตที่ไปมองเห็นรูป จิตที่ไปได้ยินเสียง เป็นวิบาก ไม่มีผล ไม่ได้มีผลอะไรเกิดขึ้น เวลาตาเราเห็นรูป ไม่ดีไม่เลว เวลาที่หูเราได้ยินเสียง ไม่มีดีไม่มีเลวอะไร มันเฉยๆ ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ด้วย แล้วจิตมันมาหลงความปรุงแต่ง มันถึงจะเกิดดีเกิดชั่ว เกิดสุขเกิดทุกข์ขึ้นมาทีหลัง

จิตมีธรรมะ 3 อย่าง ทั้งที่เป็นกุศล ทั้งที่เป็นอกุศล ทั้งที่เป็นวิบาก เรียกเป็นวิบากจิต สังขารก็เหมือนกัน มีทั้งที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศล ที่ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล ส่วนใดที่เป็นอกุศล เราก็อย่าไปยอมให้มันครอบงำเรา จิตและเจตสิก หรือสังขาร จิตและสังขารที่เป็นอกุศล เรียนรู้มันไปจนกระทั่งขุดรากถอนโคนมันได้ ตัวที่ทำให้กิเลสมันทำงานขึ้นมาได้จริงๆ คือตัวไม่รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ว่าตัวไม่รู้ ตัวอวิชชา อวิชชาคือไม่รู้อริยสัจ ไม่รู้ทุกข์

 

ภาวนาจนรู้เล่ห์เหลี่ยมของกิเลส รู้การทำงานของจิตใจ

ขันธ์ 5 ส่วนใหญ่เป็นตัวทุกข์ ยกเว้นจิตกับสังขารบางอย่างที่มันไม่ใช่ตัวทุกข์ เป็นตัวดีตัวชั่วขึ้นมา แต่ร่างกายเราเป็นวิบากเฉยๆ ให้เรารู้เฉยๆ เราละไม่ได้ สุขทุกข์เกิดขึ้นให้รู้ ไม่ใช่ให้ละ ความจำได้หมายรู้เกิดขึ้น ก็ให้รู้ ไม่ใช่ให้ละ ความปรุงดีปรุงชั่ว ถ้ามันปรุงชั่ว ต้องละมันเสีย ถ้ามันปรุงดี ต้องเจริญมันขึ้นมา ไม่ใช่เฉยๆ ดีแล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น ไม่ใช่

ส่วนจิตนั้น มันก็เกิดดับไป เปลี่ยนแปลงไป โดยตัวของมันเองเป็นแค่ธรรมชาติที่รู้อารมณ์เท่านั้น แต่มันดีหรือชั่ว อยู่ที่สังขารที่เข้ามาปรุง เห็นไหม ตัวความปรุงแต่ง ตัวแสบเลย ถ้าสังขารที่ดีเข้ามาปรุงจิต ก็เป็นจิตที่ดีไป เป็นจิตที่เป็นกุศลไป สังขารที่ชั่วเข้ามาปรุงจิต อย่างโลภ โกรธ หลงมาปรุงแต่งจิตเรา ก็กลายเป็นจิตที่ชั่วไป ฉะนั้นจิตโดยตัวมันเอง มันไม่ได้ดีไม่ได้ชั่วอะไร แต่มันเปลี่ยนแปลงไปตามสังขารที่เข้ามาปรุงมัน

พอเราเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เราจะเข้าใจว่าสังขารทั้งหลาย สังขตธรรมตั้งแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือรูปนามกายใจของเราทั้งหมดทั้งสิ้นนี่ล่ะ เรียกว่าสังขตธรรม มันก็ยังไม่ยั่งยืน มันไม่ยั่งยืนหรอก กุศลยั่งยืนไหม กุศลก็ไม่ยั่งยืน ดีได้ ก็ชั่วได้อีก ชั่วยั่งยืนไหม ไม่ยั่งยืน ถ้าความชั่วยั่งยืน พวกเราไม่มีวันพัฒนาจิตใจตัวเองได้เลย ฉะนั้นดีก็ไม่ยั่งยืน ชั่วก็ไม่ยั่งยืน สุขก็ไม่ยั่งยืน ทุกข์ก็ไม่ยั่งยืน ร่างกายเราก็ไม่ยั่งยืน มันมีแต่ของที่ไม่ยั่งยืน ให้เรียนรู้ลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นความจริง มันจะคลายออก

พอมันหมดความยึดถือในร่างกาย จิตใจมันก็ไม่ดิ้นรนปรุงแต่งในเรื่องที่เกี่ยวกับร่างกาย อย่างพอร่างกายเราแก่ เราไม่เข้าใจความจริงของร่างกาย เสียดายเหลือเกิน แก่แล้ว ก็ต้องหาทางทำให้มันดูไม่แก่นานาชนิด ผมหงอกก็ไปย้อม ฟันหักก็ใส่ฟันปลอม แต่ฟันปลอมก็จำเป็น ยังต้องกินข้าวอยู่ แต่ถ้าฟันปลอมประดับเพชรอะไรนี่ อันนี้ไม่ใช่แล้ว บางคนเห็นมีติดเพชรติดพลอยไว้ที่ฟัน วอบแวบๆ อะไรอย่างนี้ แปรงก็ยาก

เรียนรู้ลงไปในร่างกายนี้ มันเป็นของไม่เที่ยง มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา มันเป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา พอรู้อย่างนี้ จิตใจก็ไม่หลงยินดี ไม่หลงยินร้ายกับความมีอยู่ หรือความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย พอเราเรียนรู้เวทนา เราเห็นว่าความสุขทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป สุขเกิดแล้วก็ดับ ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ เหมือนๆ กัน จิตใจก็จะเป็นกลาง ไม่ดิ้นรน จิตไม่ปรุงแต่ง ฟุ้งซ่านไป ทำอย่างไรจะรักษาความสุข ทำอย่างไรจะให้ความสุขเกิด ทำอย่างไรจะละ ความทุกข์ ทำอย่างไรจะปิดกั้นไม่ให้ความทุกข์เกิด

ถ้าเรารู้ เราเห็นมันเสมอกัน เพราะสุขก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทุกข์ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันเสมอกัน พอเราเห็นสุขทุกข์มันเสมอกัน จิตก็ไม่ปรุงต่อแล้ว ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ที่จิตมันกระเพื่อมหวั่นไหว เพราะมันเห็นว่าสุขกับทุกข์มันไม่เท่าเทียมกัน เรารักสุข เกลียดทุกข์ เพราะฉะนั้นเวลาความทุกข์เกิดขึ้น เราก็เกลียด อยากให้หายเร็วๆ ดิ้นรนใหญ่ จิตยิ่งดิ้นใหญ่เลย

อย่างเวลาที่เราภาวนาแล้วจิตเราฟุ้งซ่าน สังเกตไหม เราทำอะไร เราหาทางละความฟุ้งซ่าน ตัวความฟุ้งซ่านก็เป็นวิบาก ละไม่ได้ ให้รู้เอาๆ อย่างจิตเราหมกมุ่นในกามมาก ถัดจากนั้นจิตมันจะฟุ้งซ่านๆ ต้องรับผลกรรมของตัวเอง หน้าที่ของเราก็คือรู้มัน มันเป็นวิบาก เป็นผล ให้รู้มัน ไม่ใช่ไปละมัน เพราะฉะนั้นเวลาเรานั่งสมาธิแล้วจิตไม่สงบ โมโหตัวเอง ทำไมไม่สงบ ให้รู้ทันว่ามันโมโหตัวเอง แล้วถ้ามันไม่โมโหแล้ว มันเห็นจิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านก็สอนธรรมะเรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน รู้ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็ดับ มันมีเหตุผลักดันมา เหตุมันยังให้ผลอยู่ มันก็มีอยู่ พอเหตุดับ ตัวมันก็ดับ ความฟุ้งซ่านมันก็มีเหตุของมัน

เราภาวนา เราเห็นจิตฟุ้งซ่าน เรารู้ด้วยความเป็นกลาง ไม่ดิ้นต่อ แป๊บเดียวก็สงบแล้ว ทีนี้จิตมีความสุขเบิกบานขึ้นมา เราก็หลงยินดีอีกแล้ว จิตสงบ โอ๊ย ชอบจังเลย ทำอย่างไรจะสงบนานๆ ความโลภเกิดแล้ว พอมีความสุข ความโลภก็แทรก พอมีความทุกข์ โทสะมันก็แทรก ฉะนั้นเราก็รู้กระบวนการของมันไป รู้เล่ห์เหลี่ยม

ภาวนาจนรู้เล่ห์เหลี่ยมของกิเลส รู้การทำงานของจิตใจ พอรู้แล้วมันก็วางของมัน มันจะเห็นร่างกายนี้รักใคร่หวงแหนอย่างไร ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นมันจะแก่ เราก็ไม่ดิ้นรน จิตใจไม่ดิ้นรน ก็สบาย มีความสงบสุข มันจะเจ็บ เรารู้เท่าทันว่าความจริงมันก็เป็นอย่างนี้ล่ะ จิตใจเราก็ไม่ดิ้นรน จิตใจเราก็สงบสุข มันจะตาย เราก็รู้ความจริงว่ามันเกิดแล้ว มันก็ต้องตาย จิตใจเราก็ไม่ดิ้นรน ไม่ปรุงแต่ง อยากจะเป็นอมตะอะไรอย่างนี้ พอจิตใจมันไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตใจมันก็สงบ

 

รู้ความจริงของขันธ์ ความจริงของสังขตธรรมทั้งหลาย
ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกลงไป จนจิตยอมรับความจริง

ฉะนั้นถ้าเรารู้ความจริงของขันธ์ ความจริงของสังขตธรรมทั้งหลาย รูปนามทั้งหลาย ทั้งที่ดี ทั้งที่ชั่ว ทั้งที่เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกลงไป จนจิตมันยอมรับความจริง รูป นาม กาย ใจ ขันธ์ 5 ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งหมด พวกรูปนามกายใจ ขันธ์ 5 อายตนะ พวกนี้เป็นสังขตธรรมทั้งสิ้น เป็นธรรมะที่ปรุงแต่งทั้งสิ้น เกิดมาเพราะอำนาจของความปรุงแต่ง แล้วเราก็ปรุงไปเรื่อยๆ มันก็เกิดไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบหรอก

แต่พอเราเห็นความจริงของกาย เห็นความจริงของเวทนา ความสุขทุกข์ เห็นความจริงของสัญญา ความจำได้ความหมายรู้ เห็นความจริงของสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่ว เห็นความจริงของวิญญาณคือจิต ซึ่งเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นกลางๆ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศลบ้าง พอเราเห็นความจริงอย่างนี้แล้ว เวลาอะไรเกิดขึ้น เราจะไม่ปรุงต่อ

ฉะนั้นการที่เราเห็นไตรลักษณ์ของขันธ์ 5 นั่นล่ะ ถึงจุดหนึ่งเราเข้าใจความจริงของขันธ์ 5 นี่เรียกว่าเรารู้ทุกข์ รู้ทุกข์ เราก็ละสมุทัย จิตใจก็ไม่มีความอยาก ไม่มีความดิ้นรนต่อ จิตใจก็เข้าถึงสันติสุข เข้าถึงความสงบสุข พระนิพพานๆ พระนิพพานเป็นอสังขตธรรม ธรรมะที่ไม่ปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นเราเข้าถึงด้วยการปรุงแต่งไม่ได้ แต่เราเรียนรู้ธรรมะที่ปรุงแต่ง คือรูปนามกายใจของเรานี้ จนเห็นความจริงว่ามันเป็นไตรลักษณ์ แล้วก็หมดความยึดถือ มันก็ไม่ดิ้นรนปรุงแต่งต่อ

ตัวที่เรายังยึดถืออยู่ก็ทำให้ปรุงแต่งต่อ ความยึดถือเรียกอุปาทาน ความปรุงแต่งก็คือภพ อุปาทานก็เป็นเหตุให้เกิดภพ มีภพก็มีการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมาแล้วก็เลยมีตัวทุกข์ขึ้นมา พอตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมันเป็นตัวทุกข์ เราไปหยิบฉวยขึ้นมา คล้ายๆ ไปหยิบฉวยถ่านไฟแดงๆ ขึ้นมา มันก็ไหม้มือเราไปด้วย เมื่อไรเราเห็นความจริงของขันธ์ 5 เรียกว่าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว เราก็หมดสมุทัย เราหมดความดิ้นรน หมดความอยากๆ พอหมดความอยากก็หมดความดิ้นรน เมื่อหมดความดิ้นรน เราก็เข้าถึงความสงบ

นิพพาน บางทีก็เรียกว่าวิสังขาร วิสังขารก็คือมันไม่ปรุงแต่ง เป็นธรรมะที่พ้นความปรุงแต่ง มันเป็นวิราคะ ไม่มีความอยาก ไม่มีความหิวโหยอะไรขึ้นมา พอมีวิราคะ มันก็เป็นวิสังขาร แล้วมันก็เข้าถึงสันติ เข้าถึงความสงบ ฉะนั้นเราอยากเข้าถึงพระนิพพาน ก็เรียนรู้ความจริงของธาตุขันธ์ ของกายของใจเราไปให้ดี พอรู้ความจริงว่ามันเป็นไตรลักษณ์ ไม่คลอนแคลนสงสัยอะไรขึ้นมาอีก จิตใจก็พ้นความปรุงแต่ง จิตใจก็พ้นทุกข์ หมดความอยาก วิราคะ หมดความปรุงแต่งเรียกว่า วิสังขาร ก็เข้าถึงมรรคผลนิพพาน เป็นวิมุตติ พวกวิๆ ทั้งหลาย ทำวิปัสสนา จนกระทั่งพ้นไปตามลำดับ

ฉะนั้นเราจะเข้าใจธรรมะทั้งหมด ทั้งที่เป็นสังขตธรรม ธรรมะส่วนที่ยังปรุงแต่งอยู่ ถ้าเราเข้าใจอย่างถูกต้อง ในส่วนกิเลส โดยเฉพาะตัวตัณหาทั้งหลาย ตัวนี้ต้องละ ในส่วนของกุศล ก็ทำให้มาก เจริญให้มาก พอจิตเราฉลาด จิตก็ปล่อยวางภาระ เครื่องพะรุงพะรัง จิตก็ผ่องแผ้วขึ้นมา พอหมดความยึดถือในรูปนาม ในขันธ์ 5 จริง จิตก็หมดความปรุงแต่ง พอหมดความยึดถือ เรียกมีวิราคะ จิตก็หมดความปรุงแต่ง จิตก็ถึงพระนิพพาน อาศัยการเรียนรู้ธรรมะที่ปรุงแต่ง แล้ววันหนึ่งจะเห็นธรรมะที่ไม่ปรุงแต่ง ธรรมะที่ไม่ปรุงแต่ง เราก็อย่าไปปรุงแต่งมันขึ้นมา

ยากไปหรือเปล่า อันนี้จะตอบโจทย์เรา เราบอกเราเรียนธรรมะ เรียนอะไร ธรรมะ ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติอะไร ปฏิบัติเพื่ออะไร ปฏิบัติอย่างไร ที่หลวงพ่อเล่าให้ฟังวันนี้ มันจะตอบโจทย์พวกนี้ ในส่วนของทุกข์ให้รู้ ในส่วนของสมุทัยให้ละ ตรงที่รู้ทุกข์จนละสมุทัย นั่นล่ะเกิดอริยมรรค ขณะที่เกิดอริยมรรค นั่นล่ะเห็นนิโรธ คือพระนิพพาน ฉะนั้นเราอย่าทิ้งการรู้ทุกข์ รู้ไปเรื่อยๆ จนมันละสมุทัยได้ รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไรก็ละสมุทัยเมื่อนั้น ละสมุทัยเมื่อไรก็แจ้งนิโรธเมื่อนั้น แจ้งนิโรธเมื่อไร ตรงนั้นล่ะก็เกิดอริยมรรคขึ้นมา

เพราะฉะนั้นหน้าที่เรา ไม่ใช่ละขันธ์ ไม่ใช่ดัดแปลงขันธ์ แต่รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตใจอย่างที่จิตใจเป็น ในส่วนของจิตใจไม่ได้อยู่โดดๆ จิตใจก็ต้องอยู่กับสิ่งที่ปรุงแต่งจิตใจด้วย สุข ทุกข์ ดี ชั่ว อะไรพวกนี้ ความจำได้หมายรู้เป็นตัวที่เข้ามาปรุงแต่งจิตใจ เรียนรู้ลงไปเรื่อยๆ ถ้ามันแจ่มแจ้ง มันก็วาง

อย่างพอเราภาวนา เราเห็นสุขเกิดแล้วก็ดับ ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ เห็นซ้ำๆๆ ไปเรื่อย ถึงวันหนึ่ง จิตมันก็หมดความยินดียินร้ายในความสุขความทุกข์ จิตก็เป็นกลาง สักว่ารู้ว่าเห็น พอสักว่ารู้ว่าเห็น ก็คือไม่ปรุงแต่งต่อ จิตก็ไม่ปรุงแต่งต่อ เมื่อจิตไม่ปรุงแต่งต่อ จิตก็เข้าถึงความสงบ เข้าถึงความสงบสุข

นี่กระบวนการตั้งแต่ธรรมะที่ปรุงแต่งจนถึงธรรมะที่ไม่ปรุงแต่ง มันปรุงแต่ง เพราะว่ามันไม่รู้อริยสัจ มันไม่รู้ว่าขันธ์ 5 มันตัวทุกข์ มันก็เลยปรุงไม่เลิก เลยส่งเสริมกำลังของสมุทัย คือกิเลสตัณหาให้รุนแรงขึ้น ถ้าเรารู้ความจริงของขันธ์ 5 ความอยากมันจะไม่เกิด ตัณหา อุปาทานไม่เกิด ถ้าตัณหาอุปาทานไม่เกิด ภพก็ไม่มี เราก็ไม่ต้องไปเกิดอีกแล้ว เพราะภพไม่มี ภพคืออะไร คือความปรุงแต่ง พอเราพ้นความปรุงแต่ง เราก็เจอธรรมะที่ไม่ปรุงแต่งคืออสังขตธรรม คือพระนิพพาน

นี่เป็นธรรมะทั้งหมดเลยในภาพรวมๆ กว้างๆ เราปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ธรรมะฝ่ายชั่ว ละเสีย ธรรมะฝ่ายดี เจริญขึ้นมา แต่ธรรมะทั้งชั่วทั้งดี ทั้งเป็นกลางๆ ให้รู้อย่างที่มันเป็น ถ้ารู้อย่างธรรมะฝ่ายชั่ว ถ้าเรารู้ มันดับ มันก็ดับ อย่างโทสะเกิด เรารู้ มันก็ดับ วิธีดับกิเลส รู้ทันมัน

 

 

ยากไปไหม ฟังเอาไว้ก่อนก็ได้ ตอนหลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ครั้งสุดท้ายที่ไปหาท่าน 24 กันยายน ปี 2526 อีก 36 วันท่านมรณภาพ ไปอยู่กับท่านตั้งแต่กลางวัน อยู่จนค่ำเลย ท่านก็สอนไปเรื่อยๆ คล้ายๆ ทิ้งทวน สอนตั้งแต่กำเนิดของจักรวาล กำเนิดของโลก กำเนิดของจิตวิญญาณ ท่านสอนละเอียดยิบไปหมดเลย สอนจนถึงกระบวนการเข้าพระนิพพาน

ตอนนั้นก็ฟังเฉยๆ ล่ะ ฟังอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง ก็จำๆ เอาไว้เท่านั้นเอง จนท่านเหนื่อย ตอนค่ำแล้ว ท่านเหนื่อย หอบ หลวงพ่อก็เลยบอกท่าน หลวงปู่ครับ หลวงปู่เหนื่อยมากแล้ว ผมจะกราบลาแล้ว ท่านบอก “จะกลับแล้วหรือ ยังกลับไม่ได้ ต้องจำธรรมะอันนี้ไว้ พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” ท่านสอนอย่างนี้ ธรรมะอันนี้ ท่านสอน 2 คน สอนหลวงพ่อพุธก่อนที่จะสอนหลวงพ่อ 7 วัน หลวงพ่อพุธเข้าไปกราบท่านก่อนหลวงพ่อ 7 วัน สอนบทเดียวกันนี้ “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิตจึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง”

สิ่งที่ท่านสอนใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีในการภาวนา สิ่งที่พวกเราฟังหลวงพ่อไว้ บางคนอาจจะใช้เวลาไม่นานเข้าใจ บางคนอาจจะใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี ที่จะเข้าใจ ขออย่างเดียว ปฏิบัติไม่เลิก อดทนภาวนาของเราไปทุกวันๆ เรียนรู้ขันธ์ 5 ของเราไป รู้กายรู้ใจของเราไปทุกวันๆ จนมันเข้าใจความเป็นจริงของรูปนาม ขันธ์ 5 จิตมันจะเป็นกลาง เวลามันระลึกรู้รูป ก็สักว่ารู้ ระลึกรู้นาม ก็สักว่ารู้ เช่น ความสุขเกิดขึ้น ก็สักว่ารู้ว่าความสุขเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้น สักว่ารู้

พวกเราจะได้ยินเรื่อยๆ ชอบสอนกัน สักว่ารู้ สักว่าเห็น มันสักว่าได้ ต่อเมื่อสติปัญญามันแก่กล้ามากแล้ว เห็นขันธ์เป็นไตรลักษณ์ นั่นล่ะถึงจะสักว่ารู้ว่าเห็นได้ สักว่ารู้ว่าเห็นก็คือรู้แล้วจบลงที่รู้ ไม่ปรุงต่อ ถ้ายังไม่รู้แจ้งเห็นจริงในขันธ์ 5 พอรู้แล้วก็ปรุงต่อ ไม่ยอมสักว่ารู้ว่าเห็น กระทั่งแกล้งทำเป็นสักว่ารู้ว่าเห็น ก็คือความปรุงแต่งอีกอย่างหนึ่ง ทำเป็นว่าสักว่ารู้ว่าเห็น ก็คือมายา ปรุงแต่งต่อไปอีก

ฉะนั้นคำว่า สักว่ารู้ว่าเห็น เป็นคำสูง มันเกิดจากที่เราเจริญวิปัสสนาจนเกิดวิปัสสนาปัญญาแก่กล้าขึ้นมา เห็นสังขารธรรม สังขตธรรม เห็นความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ตั้งแต่รูปธรรม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือตัวจิต ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ถ้าเห็นแจ้ง มันถึงจะสักว่ารู้ว่าเห็น ไม่ปรุงต่อ เมื่อสักว่ารู้ว่าเห็น ก็หมดความอยาก หมดความอยากก็หมดความยึดถือ หมดความดิ้นรนปรุงแต่ง แล้วก็พ้นจากความปรุงแต่งสิ้นเชิง เป็นอสังขตธรรมไป

ฉะนั้นหน้าที่เรา รู้ไปเรื่อยๆ เรียนรู้ขันธ์ 5 ของตัวเองไป ขันธ์ 5 ในส่วนของวิบาก รู้มันไปอย่างที่มันเป็น นี่เป็นผลของกรรม ส่งมาเป็นอย่างนี้ ขันธ์ 5 ในส่วนของกิเลส ก็อย่าไปตามใจมัน กิเลสเกิดให้สักว่ารู้ว่าเห็น ให้รู้ไป กิเลสเกิด แต่ถ้ารู้ไม่ทัน มันจะเกิดตัณหาขึ้น ตัณหาคือตัวสมุทัย ต้องละ ตัวกิเลสเฉยๆ ยังไม่ได้มีอิทธิพลผลักดันจิตใจของเราให้ดิ้นรนหรอก มีกิเลสแล้วมันเลยเกิดตัณหา ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ คือทำให้จิตใจเราดิ้นรน

ฉะนั้นที่ท่านให้ละคือตัวตัณหา กิเลสเกิด อย่างตัวโทสะเกิด รู้มันเข้าไปเฉยๆ ล่ะ ไม่ต้องไปคิดละมันหรอก ทันทีที่รู้ โทสะดับอัตโนมัติเลย ไม่ต้องละ ไม่มีให้ละ เพราะมันดับทันที โลภะเกิด ให้เรารู้ แล้วมันก็ดับทันที แต่ถ้าเรารู้ไม่ทัน มันจะผลักดันจนกระทั่งเกิดเป็นความอยากขึ้น อย่างพอราคะมันแรง เราก็อยากไปฉุดลูกสาวชาวบ้านเขา เกิดความอยากขึ้นมา พอมีความอยากเกิดขึ้นมาก็เกิดความปรุงแต่ง เกิดการกระทำขึ้นมา ก็ไปไล่ฉุดเขามา แล้วอะไรเกิดขึ้น ก็ไปติดตะราง เป็นทุกข์

ถ้าเรารู้ลงไป กิเลสเกิดหรือกุศลเกิดก็ตามเถอะ หรือร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ รู้สึก สุข ทุกข์เกิด รู้สึก ดี ชั่วเกิด รู้สึก ถ้าเรามีสติรู้ทัน มันจะไม่ปรุงตัณหาขึ้นมาหรอก เมื่อไม่ปรุงความอยากขึ้น ตามอำนาจของกิเลส จิตใจก็จะไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตใจเราไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตใจเราก็พ้นจากความปรุงแต่ง บางทีพ้นชั่วคราว ถ้าอย่างเรายังทำอยู่อย่างนี้ ก็พ้นชั่วคราว แต่มันจะพ้นถาวรได้ ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5 ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดแล้ว ขันธ์ 5 ทั้งหมดตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ตัณหาจะไม่เกิดอีก ความปรุงของจิตจะไม่มี จิตก็จะพ้นจากความปรุงแต่งไป

พอเข้าใจไหม อธิบายซ้ำหลายทีแล้ว น่าจะพอรู้เรื่องแล้ว สังเกตไหมขณะนี้จิตของพวกเราเริ่มสงบแล้ว เริ่มสงบ พอบอกก็เริ่มฟุ้งเลย พอบอกว่าเริ่มสงบ เริ่มคิดใหญ่ สงบอย่างไร ไปดูขันธ์ 5 ให้เห็นไตรลักษณ์ ถนัดดูกายก่อน ก็ดูกายไป ถนัดดูเวทนาก็ดูเวทนาไปก่อน ถนัดดูความปรุงแต่งของจิตก็ดูมันไปก่อน ถนัดตัวไหนเอาตัวนั้นไปก่อน แล้วต่อไปจะรู้ทั้งหมด จะรู้ทั้งขันธ์ 5 นั่นล่ะ รู้หมด แต่จะเริ่มจากตัวไหนก่อน เอาตัวที่ถนัดนั่นล่ะ ทางใครทางมัน สุดท้ายมันก็พ้นความปรุงแต่งเหมือนๆ กัน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
12 มีนาคม 2566