กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการ

ส่งการบ้าน ที่จริงถ้าสังเกต การส่งการบ้าน เราจะพบว่าคำถามบางทีแปลกๆ จากกัน แต่เนื้อหามันก็ใกล้เคียงกันหมด ภาษาพูดอาจจะบรรยายของตัวเองไม่เหมือนกัน แต่ว่าเนื้อหาเหมือนๆ กัน

จุดใหญ่เลยคือเรื่องที่มาถาม มันเรื่องสมาธิทั้งนั้น ทำสมาธิไม่ถูก ตึงไปบ้าง หย่อนไปบ้าง หรือทำไปแล้วก็เห็นโน่นเห็นนี่ รู้โน่นรู้นี่ จริงหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ คำถามมันก็ซ้ำๆ กัน ถ้าเราจับหลักของการปฏิบัติให้แม่นๆ มันแทบไม่ต้องถามใครเลย หลวงพ่อภาวนามา ถามครูบาอาจารย์ไม่กี่ครั้ง 6 – 7 ครั้ง ที่จริงถามน้อยกว่านั้นอีก เพราะเคยอาศัยครูบาอาจารย์จริงๆ แล้ว ที่มีปัญหา 7 ครั้งเท่านั้น ใน 7 ครั้งนั้น บางครั้งไม่ได้ถาม ครูบาอาจารย์ท่านตอบของท่านเอง ครูบาอาจารย์ปฏิบัติ ท่านมองเราก็รู้ไส้รู้พุงแล้ว รู้ว่าเราติดขัดอยู่ตรงไหน ไม่ใช่เรื่องยาก

ถ้าเราจับหลักการปฏิบัติให้แม่นๆ มันตอบคำถามของตัวเองได้ ที่เราทำอยู่มันถูก หรือมันไม่ถูก อย่างที่หลวงพ่อสอนพวกเรา หลักสำคัญๆ อย่างเรื่องอริยสัจต้องแม่น อริยสัจเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตัวทุกข์คืออะไร ก็คือรูปนามขันธ์ 5 คือกาย คือใจของเรานี่ล่ะ หน้าที่ต่อทุกข์คือรู้ ไม่ใช่ละ สมุทัยคือตัวอยาก อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี อยากบรรลุ บรรดาอยากทั้งหลาย ท่านให้ละ ท่านให้รู้ทุกข์ ละสมุทัย แต่เกือบร้อยละร้อยของผู้ปฏิบัติ มีสมุทัยที่จะละทุกข์ คืออยากละทุกข์ มันกลับหัวกลับหาง ไม่อยากรู้ทุกข์ เกลียดทุกข์มากเลย

 

เรารู้ทุกข์ หรือเราพยายามปรุงแต่ง

ฉะนั้นอย่างเราภาวนา เราก็สังเกตตัวเองไป ที่เราภาวนานี้เรารู้ทุกข์ หรือเราอยากละทุกข์ เราละสมุทัย ละความอยาก หรือเราสนองความอยาก สังเกตตัวเองแค่นี้ ง่ายๆ หัดสังเกต สังเกตที่ไหน สังเกตที่กายที่ใจของเรา สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ก็คือกายกับใจของเรา รูปนามนั้นเอง สังเกตดูไป อย่างร่างกายเรา เราอยากละไหม เราไม่อยากละ เราหวง หรือจิตใจของเรา เราก็อยากให้มันดี มันเต็มไปด้วยความอยาก แทนที่เราจะเห็นกายอย่างที่กายเป็น เราก็อยากให้มันดีตลอด อยากให้มันหนุ่มสาวตลอด ให้มันแข็งแรงตลอด มันมีความอยากแทรกอยู่

ในขั้นลงมือปฏิบัติ เราก็อยากทำให้ถูก ทำอย่างไรจะถูก เมื่อก่อนหลวงพ่อก็เป็น ตื่นนอนปุ๊บ มันจะนึกทันทีเลย วันนี้เราจะปฏิบัติอย่างไรดี นึกเลยวันนี้จะปฏิบัติอย่างไรดี เราจะได้เจริญกว่านี้อีก แล้วดูไม่ออกว่านั่นมันโลภไปเรียบร้อยแล้ว นึกว่านี่ใส่ใจในการปฏิบัติ ที่จริงก็คือ มันตกอยู่ใต้ความโลภไปเรียบร้อยแล้ว ตื่นเช้าขึ้นมาก็ถามตัวเองเลย วันนี้จะภาวนาอย่างไรดี แทนที่จะรู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตใจอย่างที่จิตใจเป็น ก็คิดแต่ว่าจะทำอย่างไร จะทำอย่างไร แทนที่จะเห็นกายเห็นใจ ทุกข์ให้รู้ แทนที่จะรู้กายรู้ใจ เรากลับคิดว่าจะทำอย่างไร จะทำอย่างไร แทนที่จะรู้กลับคิดเรื่องทำ นี่มันผิด

อาศัยความสังเกตตัวเองไป มันจะค่อยๆ รู้ เฮ้ย นี่มันไปทำขึ้นมาแล้ว คำว่า “ทำ” นั้นก็คือคำว่า “ปรุงแต่ง” นั่นเอง ความปรุงแต่ง หรือตัวสังขาร ที่เราทำถ้าเป็นคนทั่วๆ ไป ไม่ได้ปฏิบัติ ส่วนใหญ่มันก็ทำชั่ว ปรุงชั่ว อปุญญาภิสังขาร ปรุงชั่วตามกิเลสไปเรื่อยๆ พอเราเป็นนักปฏิบัติ เราจะปรุง 2 อย่าง เราปรุงดี เป็นปรุงปุญญาภิสังขาร กับพยายามจะไม่ปรุง เรียกอเนญชาภิสังขาร พยายามไม่ปรุง ทำจิตให้ว่าง วันๆ ก็คิดแต่ทำจิตให้ว่าง พยายามให้จิตเลิกปรุงแต่ง อันนั้นผิด

ฉะนั้นเราใช้ความสังเกตเอา สังเกตเอา ที่เราทำอยู่นี้ถูกหลักหรือเปล่า เรารู้ทุกข์ หรือเราพยายามปรุงแต่ง แต่งอย่างโน้น แต่งอย่างนี้ รู้ทันตัวเองไป แล้วเวลารู้ทุกข์ คือรู้กายรู้ใจแล้วจะเห็นอะไร เราจะเห็นความจริงของทุกข์ ความจริงของทุกข์คืออะไร คือไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนาไปเรื่อยๆ เราดูกาย เราดูใจ แต่ไม่เห็นไตรลักษณ์ บางทีเห็นตรงข้ามกับไตรลักษณ์เลย

อย่างที่หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟัง หลวงพ่อเคยทำผิด ดูกิเลสแล้วจิตมันเคลื่อนออกไป ตามกิเลสออกข้างนอกไป กิเลสดับจิตอยู่ข้างนอก จิตว่างสว่างอยู่อย่างนั้นเป็นปีเลย มีแต่ความสุขล้วนๆ เลย จนวันหนึ่งก็เฉลียวใจ เอ๊ะ พระพุทธเจ้าบอกจิตไม่เที่ยง ทำไมจิตเราเที่ยง ท่านบอกว่ามันเป็นทุกข์ ทำไมเรามีแต่สุข ท่านว่าบังคับไม่ได้ ทำไมเราบังคับได้ นี่จิตเราฝึกเก่งเลย เป็นกูเก่งซะอีก เราเก่ง เราบังคับจิตได้ นี่คือเฉลียวใจ มันผิดหลักของไตรลักษณ์ พอมันผิดหลักไตรลักษณ์ ก็แสดงว่าเราต้องทำอะไรผิดแล้ว ก็ค่อยๆ สังเกตเอา มันผิดตรงไหนคราวนั้นสังเกตไม่ออก เพราะว่าจิตมันไม่เข้าฐาน ก็เลยดูตัวเองไม่ออก

พอดีเจอหลวงตามหาบัว ถามท่าน ท่านแก้ให้ ท่านบอก “ที่ว่าดูจิตนั้น ดูไม่ถึงจิตแล้ว” ท่านให้บริกรรม ท่านว่าอย่างนี้ หลวงพ่อก็มาภาวนา แล้วก็สังเกตเอา เอ๊ะ ทำไมท่านให้บริกรรม ปกติบริกรรมมันก็คือการเพิ่มสมาธิ แสดงว่าสมาธิเราไม่พอ เพราะหลวงพ่อทำสมาธิตั้งแต่เด็ก 22 ปี แล้วมันรู้สึก มันไมได้อะไร มาเจริญปัญญาเห็นจิตเกิดดับ แล้วมันพัฒนาเร็ว ก็เลยรังเกียจสมาธิ ดูถูกการทำสมาธิ ลึกๆ ดูถูก ก็เลยไม่ยอมทำสมาธิ เดินปัญญารวดไปเลย พอสมาธิไม่พอ วิปัสสนูปกิเลสก็เกิดขึ้น จิตไปหลงอยู่ในความว่าง ในช่องว่าง ติดอยู่ในโอภาส ในแสงสว่าง ในอะไรพวกนี้ อันนี้ท่านให้ทำสมาธิขึ้นมา พอจิตมีสมาธิขึ้นมา วิปัสสนูปกิเลสก็ดับ

พวกเราจำหลักไว้เลย ถ้าเราเจริญปัญญาแล้วสมาธิไม่พอ มันจะเกิดวิปัสสนูปกิเลส แต่เมื่อเกิดวิปัสสนูปกิเลส ไม่ต้องหาทางแก้หรอก ทำความสงบเข้ามาเลย ถ้าจิตเข้าฐานได้เมื่อไร วิปัสสนูปกิเลส 10 อย่างหายหมด มี 10 ชนิดไปถาม Google ดู 10 อย่าง แต่พวกดูจิตๆ มันจะเจอตัวสำคัญเลย ตัวโอภาส ว่าง สว่าง แล้วเราก็ไปติดอยู่ในความว่าง ติดอยู่ในความสว่าง อันนี้ไม่เอา ถ้าติดอย่างนั้นมันไม่เห็นไตรลักษณ์ หรือเห็นแต่ของเที่ยง มีแต่ความสุข บังคับได้

เพราะฉะนั้นเรื่องสมาธิก็สำคัญ ทิ้งไม่ได้ ต้องทำ ฝึกทุกวันๆ แบ่งเวลาไว้เลย วันละ 2 ครั้ง 3 ครั้ง อะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเอง ว่าต้องทำก่อนนอนหรอก ตื่นนอนก็ทำได้ กลางวันกินข้าวแล้วก็ทำได้ มีเวลานิดๆ หน่อยๆ เราก็ทำได้ หลวงพ่อแต่ก่อนขึ้นรถเมล์ ขึ้นรถเมล์ได้ก็ทำ รอรถเมล์อยู่ก็ทำ ทำตลอด ฉะนั้นการภาวนามันก็เลยราบรื่น อย่างหลวงพ่อเป็นพวกภาวนาง่าย ปฏิบัติง่าย ไม่ยาก แต่ว่าเราทำทั้งวัน

 

โยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคาย
คือพิจารณาว่าถูกหลักที่พระพุทธเจ้าสอนไหม

ถ้าเราจับหลักให้แม่น แล้วเราจะวัดตัวเองได้ ตรวจสอบตัวเองได้ ว่าที่เราทำอยู่มันถูก หรือมันไม่ถูก การที่เราสามารถตรวจสอบตัวเองได้ เรียกว่าเรามีโยนิโสมนสิการ มีความแยบคาย พิจารณาอย่างแยบคาย ว่าสิ่งที่มี สิ่งที่เป็น สิ่งที่ทำอยู่นี้ มันถูกหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า อย่างเราดูตัวเองไปเรื่อย เอ๊ะ นี่เราอยากละทุกข์ เราไม่ได้อยากรู้ทุกข์ ทุกข์มานี่เราเกลียดที่สุดเลย บางทีอยากหนี เวลาจิตใจมีความทุกข์ รีบไปพุทโธๆๆ ใหญ่ ไม่คิดอะไร หนี อยากหาความสุข

วัดตัวเองได้ มันจะประคับประคองตัวเอง ก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยตัวของตัวเอง ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งครูบาอาจารย์มีไม่มากหรอก ถ้าเรามีโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการ ก็การพิจารณาโดยแยบคาย พิจารณาโดยแยบคาย ไม่ใช่พิจารณาตามใจชอบ ตามใจกิเลส อันนั้นไม่แยบคาย พิจารณาอย่างแยบคาย ก็คือพิจารณาว่ามันถูกหลักหรือเปล่า ที่เราเป็นอยู่ ที่เราทำอยู่นี้ มันถูกหลักที่พระพุทธเจ้าสอนไหม หลักสำคัญๆ ที่สุดเลย คือหลักของอริยสัจ เรารู้ทุกข์ หรือเราอยากละทุกข์ เราละสมุทัย หรือเราสนองความอยาก สังเกต 2 ตัวนี้

นิโรธไม่ต้องไปคิดถึงมันหรอก ยังไม่รู้จัก ส่วนมรรค เจริญ ความเจริญของเราทางจิตใจ อันนี้วัดได้ เราก็สังเกตทุกๆ ไตรมาส สังเกตดู ไตรมาสนี้ศีลของเราดีขึ้นไหม สมาธิ คือจิตใจของเราตั้งมั่น อยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้นไหม หลงสั้นลงไหม สติเร็วขึ้นไหม เราสังเกตตัวเองอย่างนี้ ตัวมรรคมันก็ย่อลงมา ก็คือศีล สมาธิ ปัญญานั่นล่ะ เราก็ใช้ความสังเกต วัดตัวเองดู ช่วงไตรมาสนี้เรารักษาศีลได้ดีขึ้นไหม

รักษาศีลทีแรกต้องข่มใจในการรักษา ข่มใจที่จะไม่ทำผิดศีล แต่พอเราฝึกไปเรื่อยๆๆ การถือศีลมันก็จะง่ายขึ้นๆ เหมือนสมาธิ ฝึกทีแรกก็ยาก พอฝึกไปเรื่อยๆ การฝึกสมาธิ การทำสมาธิก็ง่าย ไม่ยาก การเจริญปัญญาเหมือนกัน ทีแรกก็ยาก จิตมันไม่ยอมเจริญ พอเราหัดเจริญปัญญาไปช่วงหนึ่ง จิตมันเจริญปัญญาของมันเอง มันเห็นอะไร มันก็เห็นลงเป็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ เราวัดตัวเองในเรื่องของมรรค ว่าศีลเราดีขึ้นไหม ไม่ต้องวัดทุกวัน เพราะธรรมชาติของจิตเจริญแล้วเสื่อมตลอดเวลา

วัดทุกวันแล้วจะงง ให้วัดเป็นไตรมาส เหมือนสภาพัฒน์ฯ ทำอะไร ประเมินผลเศรษฐกิจ ก็ดูรายไตรมาส รายวันไม่ต้องดู เวียนหัว เหมือนดูตลาดหุ้น ไปนั่งเฝ้าทั้งวัน ประสาทกิน ไม่ต้องเฝ้าทั้งวัน นานๆ ก็ไปดูที หุ้นของเราขึ้นหรือลง ของเราสัก 3 เดือน เราก็สังเกตตัวเอง ศีลเราดีขึ้นไหม รู้ได้อย่างไรว่าศีลดีขึ้น เวลาจะทำผิดศีล มันละอายใจบ้างไหม มันอยากทำไหม อยากทำผิดศีลไหม ถ้าศีลเราดีขึ้น มันไม่อยากทำผิดศีล ถ้าจะผิดศีล มันจะรู้สึกละอายใจ แค่คิดจะทำผิดศีล ก็ละอายใจแล้ว อย่างนั้นถือว่าเราพัฒนาในการถือศีลแล้ว

สมาธิเราดีขึ้นไหม จิตใจเราเคยฟุ้งซ่านทั้งวันทั้งคืน จิตใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้นไหม เราวัดอย่างนี้ ไม่ต้องวัดเป็นวันๆ วัดเป็นช่วงๆ ช่วงเวลา สัก 3 เดือนอะไรอย่างนี้ กำลังดี นานไปเดี๋ยวขี้เกียจ ยังอีกนานกว่าจะเข้าห้องสอบ ขี้เกียจไปก่อน ถ้ามีมาตรการควบคุมตัวเอง สัก 3 เดือนคอยดู ศีลดีขึ้นไหม สมาธิ จิตใจตั้งมั่นมากขึ้นไหม ฟุ้งซ่านน้อยลงหรือเปล่า ฟุ้งซ่านลงไหม เวลาจิตฟุ้งซ่าน พอเรามีสติขึ้นมา ความฟุ้งซ่านดับไป แล้วจิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา อย่างนี้ สมาธิเราดีขึ้นแล้ว หรือปัญญาดีขึ้นไหม มองสิ่งต่างๆ ก็เห็นมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ อย่างนี้เราเจริญขึ้น

ฉะนั้นโยนิโสมนสิการสำคัญมาก หลวงพ่อมองว่าสำคัญที่สุดเลย ในยุคนี้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิบัติ ที่พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้มี 2 อัน ที่จะช่วยเราให้เข้าถึงอริยมรรค ก็คือ “กัลยาณมิตร กับโยนิโสมนสิการ” “กัลยาณมิตร” ก็คือครูบาอาจารย์เรา ไม่ใช่คนที่ชื่อ “กัลยาณมิตร” ไม่ใช่กลุ่มที่ชื่อ “กัลยาณมิตร” แล้วก็ไม่ใช่คนนามสกุล “กัลยาณมิตร” ด้วย

 

กัลยาณมิตร คือครูบาอาจารย์เรา
คือคนที่บอกทางให้เราเดินต่อไปได้

สิ่งที่เรียกว่า “กัลยาณมิตร” ก็คือคนที่บอกทางให้เราเดินต่อไปได้ สุดยอดของกัลยาณมิตร ก็คือพระพุทธเจ้า แล้วก็พระสาวกทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าท่านรับรองเอาไว้ ท่านเหล่านั้นเป็นกัลยาณมิตรแน่นอนแต่พอมาถึงวันนี้ เราไม่รู้ว่าใครคือกัลยาณมิตร ใครคือปาปมิตร ตรงข้ามกับกัลยาณมิตร คนที่พาเราตกต่ำ บางทีพาเราตกต่ำ เราคิดว่านี่คือกัลยาณมิตร เช่น เราฝึกสติอยู่ จิตเราตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวดีอยู่ ก็มาแนะนำเรา “รู้อย่างนี้ไม่ดีหรอก ต้องรู้อดีต ต้องรู้อนาคตด้วยถึงจะดี” อะไรอย่างนี้ พาเราเตลิดเปิดเปิง เสียผู้เสียคนไป มัวแต่รู้ข้างนอก ลืมรู้กายรู้ใจของตัวเอง อันนั้นไม่ใช่กัลยาณมิตร มันพาเราเตลิดเปิดเปิง พาเราอ้อมค้อม เสียเวลาไป

ในยุคนี้เราไม่รู้ว่าใครเป็นกัลยาณมิตร เราไม่รู้กระทั่งว่าใครเป็นพระอริยบุคคล ถามว่าพระอริยบุคคลมีไหม ตราบใดที่ยังมีการทำวิปัสสนากรรมฐาน การเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้องอยู่ อริยบุคคลต้องมีแน่นอน ธรรมะไม่เคยเสื่อมหรอก ธรรมะสมัยพุทธกาลกับธรรมะยุคนี้ มันก็ธรรมะอันเดียวกัน ที่เสื่อมคือคนที่จะปฏิบัติต่างหาก ฉะนั้นถ้ายังมีการเจริญสติปัฏฐานอยู่ พระอริยบุคคลก็ยังมีอยู่ แต่เราไม่รู้ว่าใครเป็นพระอริยบุคคลบ้าง ปัญหาใหญ่มันอยู่ตรงนี้ บางทีก็ขึ้นทะเบียน นี่พระอรหันต์เท่านี้ๆๆ องค์นี้เป็นพระอรหันต์ พูดเอาเองทั้งนั้น ไม่มีสิทธิ์ที่จะพยากรณ์อย่างนั้น

พอมีการพยากรณ์อย่างนั้น คนโง่ก็พากันหลง หลง อาจจะไปโดนเขาหลอกก็ได้ ที่ผ่านมาก็มีเยอะแยะ ลองนึกย้อนไปดู คนเด่นคนดังอะไรในอดีตที่เป็นนักบวช คนก็คิดว่าพระอรหันต์ แตกตื่นกัน สุดท้ายก็ล้มเหลวไปก็มี ทำไมล้มเหลว เพราะคนนับถือมาก แห่เข้าไปหามาก ลาภสักการะมาก สาวๆ เข้าไปเยอะ สุดท้ายมันสู้กิเลสไม่ได้ เพราะฉะนั้นหลวงพ่อบอกพวกเราเลยว่า อย่าบ้าพระอรหันต์ อย่าเห่อ เราไม่รู้ว่าใครคือกัลยาณมิตร

จุดสำคัญก็คือเหลืออีกสิ่งหนึ่งคือโยนิโสมนสิการที่จะช่วยเรา พระพุทธเจ้าท่านเคยบอกว่า “กัลยาณมิตร เป็นเครื่องหมายแรกของอริยมรรค” เหมือนกับแสงเงินแสงทองตอนเช้ามืด ถ้าแสงเงินแสงทองขึ้นตรงไหน สว่างขึ้นด้านไหน เป็นเครื่องหมายแรกว่า พระอาทิตย์กำลังจะขึ้นตรงนั้น การมีกัลยาณมิตรก็เป็นเครื่องหมายแรกของการบรรลุอริยมรรค ท่านสอนอย่างนี้ แล้วต่อมาท่านก็สอนอีก “โยนิโสมนสิการ เป็นเครื่องหมายแรกของอริยมรรค” เหมือนแสงเงินแสงทองขึ้นมา แล้วพระอาทิตย์จะขึ้นตรงนี้ ถ้าเรามีโยนิโสมนสิการ ถึงวันหนึ่งอริยมรรคก็จะเกิดขึ้น

ฉะนั้นใน 2 สิ่งนี้มีความสำคัญมาก คือกัลยาณมิตรกับโยนิโสมนสิการ แต่วันนี้พิสูจน์ยากว่าใครคือกัลยาณมิตร สิ่งที่หลวงพ่อแนะนำพวกเราคือโยนิโสมนสิการ ปลอดภัยที่สุด โยนิโสมนสิการบอกแล้วไม่ใช่การพิจารณา ใคร่ครวญเอาตามใจกิเลส ต้องดูว่ามันถูกหลักของการปฏิบัติหรือเปล่า หลวงพ่อก็ไม่อยากใช้คำว่า ถูกที่พระพุทธเจ้าสอนหรือเปล่า เพราะในพระไตรปิฎก ไม่ได้มีเฉพาะคำสอนของพระพุทธเจ้า มีกระทั่งคำสอนของพระสาวกทั้งหลาย

 

พระไตรปิฎกนั้นสมบูรณ์

บางครั้งพระพุทธเจ้าท่านเหนื่อย แล้วท่านอายุมาก คนมาหาท่านทั้งวัน ท่านเหนื่อย ท่านก็บอกให้พระสาวกเทศน์แทน ท่านเมื่อยเต็มทีแล้ว ท่านจะเอนหลัง แล้วท่านก็ไปนอนพักผ่อน แต่ก็ฟังอยู่ พอสาวกเทศน์จบ ท่านก็ลุกขึ้นมาอนุโมทนา สาวกท่านเทศน์เก่ง เทศน์ดี ถูกต้อง อย่างนี้มีอีกเยอะ ในพระไตรปิฎก บางทีท่านก็ใช้ให้เทศน์แทน บางทีท่านไม่ได้ใช้ อย่างบางครั้งพระพุทธเจ้าท่านรู้ว่า ในวัดท่านตอนนี้มีพระสาวก ซึ่งมีความสามารถสูงอยู่ อย่างบางครั้งพระมหากัจจายนะ มา มาเฝ้าท่าน ท่านก็เทศน์ให้พวกพระฟัง เทศน์สั้นๆ เทศน์ประโยค 2 ประโยค แล้วท่านก็เข้ากุฏิเลย

พวกพระฟังแล้วยังไม่เข้าใจ ก็ไปถามพระมหากัจจายนะ ว่าที่พระพุทธเจ้าเทศน์นี้ มีความหมายว่าอย่างไร ส่วนใหญ่พระมหากัจจายนะ จะแจกแจงคำสอนของพระพุทธเจ้าลงในเรื่องของขันธ์ 5 จำนวนมากเลยที่ท่านอธิบายขยายความคำสอนสั้นๆ ลงในเรื่องขันธ์ 5 แจกแจง พอเช้าขึ้นมาพวกพระก็ไปเล่าถวายพระพุทธเจ้า ว่าพระมหากัจจายนะท่านพูดอย่างนี้ อธิบายอย่างนี้ ถูก ไม่ถูก พระพุทธเจ้าก็ประทาน “สาธุการ” บอกว่าถ้าให้ท่านขยายความ ท่านก็ขยายความเหมือนอย่างนี้ล่ะ ไม่มาก ไม่น้อยกว่านี้

เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎก ก็เลยมีทั้งคำสอนของพระพุทธเจ้า มีทั้งคำสอนของพระสาวก ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ก็รักษาสืบทอดกันมาจนถึงรุ่นเรา แต่ว่ารุ่นเราต้องระมัดระวัง สังเกตดูคำสอนอันนี้มันสอดคล้องกับพระไตรปิฎกไหม หรือไม่สอดคล้อง สังเกตเอา บางทีไม่สอดคล้อง แต่ถ้าไม่สอดคล้อง เราก็สังเกตต่อไปอีก มันเป็นอุบายหรือเปล่า เป็นอุบายของการปฏิบัติหรือเปล่า บางทีครูบาอาจารย์ท่านเก่ง แล้วท่านภาวนาเก่ง ท่านรู้ธรรมเห็นธรรม เวลาสอนเรา บางทีสอนภาษาไม่เหมือนพระไตรปิฎก คนละภาษาเลย แต่เนื้อในมันอันเดียวกัน ก็ต้องระมัดระวัง ฟังแล้ว ไม่เหมือนพระไตรปิฎก ผิดแน่นอนอะไรอย่างนี้

อย่างคำว่า “จิตผู้รู้” จิตผู้รู้ในพระไตรปิฎกไม่มี เพราะจิตมันคือผู้รู้ทุกตัวอยู่แล้ว คำว่า “จิตผู้รู้” ที่ครูบาอาจารย์พูดถึง มันคือมหากุศลจิต ญาณสัมปยุต อสังขาริกัง คือจิตซึ่งเป็นกุศล มีลักษณะเบา นุ่มนวล อ่อนโยน คล่องแคล่ว ว่องไว ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน ไม่เซื่องซึม ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เพราะฉะนั้นตัวจิตผู้รู้ มันเป็นตัวจิตที่เป็นกุศล แล้วตัวจิตผู้รู้ เป็นจิตที่พร้อมจะเจริญปัญญา ไม่ใช่รู้อยู่เฉยๆ ซื่อบื้ออยู่ อันนั้นเป็นผู้รู้ชั้นเลว

ผู้รู้ชั้นดี พร้อมที่จะเจริญปัญญา พร้อมจะเห็นไตรลักษณ์ แล้วก็ผู้รู้ชั้นดีเกิดขึ้นเอง โดยไม่ได้โน้มน้าวชักชวนให้เกิด นี่ลักษณะของจิตผู้รู้ บางทีครูบาอาจารย์ก็พูดสั้นๆ ถ้าพูดอีกมุมหนึ่งก็คือ จิตที่ทรงสัมมาสมาธินั่นเอง ถ้าพูดให้ภาษาใกล้เคียงปริยัติมากขึ้น คำว่าจิตผู้รู้คนไม่รู้จัก ในตำราไม่มี คือจิตที่ทรงสัมมาสมาธิ อันนี้ก็มีปัญหาต่อไปแล้ว แล้วสัมมาสมาธิเป็นอย่างไร นั่งสมาธิจิตสงบนิ่งๆ อยู่นี้ เป็นหรือยัง มันยุ่ง ท่านเลยไป แทนที่จะบอกว่าจิตทรงสัมมาสมาธิ ท่านบอกเป็นจิตที่เป็นผู้รู้ อะไรเกิดขึ้นในร่างกาย จิตเป็นคนรู้เฉยๆ ไม่เข้าไปแทรกแซง อย่างนี้เรียกจิตผู้รู้

เพราะฉะนั้นบางทีคำสอนครูบาอาจารย์ มันก็ไม่มีในพระไตรปิฎก บางทีสิ่งอยู่ในพระไตรปิฎก คนอ่านแล้วก็ไม่รู้ว่าคืออะไร อย่างในพระสูตรมีพูดถึงฌานที่ 2 ในฌานที่ 2 ที่เป็นสัมมาสมาธิ จะมีองค์ธรรมชนิดหนึ่งเกิดขึ้น เรียกว่า “เอโกทิภาวะ” เอโกทิภาวะ เป็นหมัดเด็ดเลยคำนี้ ปราบนักปริยัติหงายท้องเลย ก็อธิบายไปตามคัมภีร์บอก เอโกทิภาวะ ก็คือสมาธิ หรือเอกัคคตานั่นเอง เอ๊ะ แล้วทำไมมันต้องเกิดในฌานที่ 2 ฌานที่ 1 มันก็มีเอกัคคตา จิตหมา จิตแมว ก็มีเอกัคคตา จิตทุกดวงมีเอกัคคตาอยู่แล้ว แล้วทำไมต้องมาพูดเอโกทิภาวะ คือเอกัคคตาอยู่ในฌานที่ 2 แยกไม่ออกว่ามันคืออะไร

คนที่เรียนตำรา บางทีแยกไม่ได้เพราะไม่รู้จัก แต่พอครูบาอาจารย์ท่านพูดถึงจิตผู้รู้ บอกพวกนี้สอนผิด ไม่มีในตำรา คือถ้าท่านบอกพวกเราว่า จงพัฒนาเอโกทิภาวะ พวกเราทำถูกไหม มันคืออะไร เอโกทิภาวะ ภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง จะไปแปลว่าเอกัคคตา ก็เอกัคคตามันเป็นหนึ่ง ที่จริงมันคือตัวสัมมาสมาธินั่นเอง เป็นสัมมาสมาธิที่มีกำลังแล้ว ในปฐมฌานก็มีสัมมาสมาธิ แต่กำลังยังน้อยไปหน่อย ในฌานที่ 2 มีเอโกทิภาวะ จิตมีกำลังมากแล้ว ตัวรู้จะเด่นดวงขึ้นมาชัดเจนเลย

ทำไมตัวรู้มันเด่นดวงในฌานที่ 2 ในฌานที่ 1 ทำไมไม่เด่นดวง เพราะในฌานที่ 1 ยังมีวิตก มีวิจารอยู่ วิตกก็คือการที่จิตนั้นเข้าไปจับอารมณ์กรรมฐาน วิจารคือการที่จิตไปเคล้าเคลีย คลอเคลียอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ถ้าจิตมันสนใจ อย่างถ้าเราทำอานาปานสติ มันจะเกิดเป็นปฏิภาคนิมิต เป็นแสงสว่างขึ้นมา การที่จิตมันจับอยู่ที่แสงสว่างนั้น เรียกว่าวิตก จิตมันเคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่าง ไม่หนีไปที่อื่น อันนั้นเรียกว่าวิจาร นี้อยู่ในฌานที่ 1 มันยังไม่มีเอโกทิภาวะ แต่มีความเป็นหนึ่งไหม มี ความเป็นหนึ่งก็คือ จิตนี้สัมผัสอยู่กับแสงสว่าง โดยไม่หนีไปไหนเลย มีเอกัคคตา อยู่อย่างนั้นล่ะ

แต่ในฌานที่ 2 จิตละวิตกวิจารแล้ว มันจะทวนกระแสเข้ามาที่ตัวจิต เพราะฉะนั้นตัวจิตผู้รู้ มันจะเด่นดวงขึ้นมา ถ้าไม่ภาวนา มันอธิบายไม่ได้ มันก็ได้แต่มั่วๆ ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นในเรื่องของปริยัติกับปฏิบัติ ปริยัติช่วยซักฟอกการปฏิบัติ ปฏิบัติก็ช่วยซักฟอกปริยัติ มันหนุน มันเสริมซึ่งกันและกัน บางเรื่องปริยัติไม่มีทางเข้าใจเลย หรือว่าบางเรื่องนักปฏิบัติ ปฏิบัติมั่วๆ ไป นึกว่าถูก ปริยัติจะมาบอกเราว่าตรงนี้ผิด เพราะฉะนั้นทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติมีประโยชน์ทั้งคู่ ไม่ใช่สิ่งที่เราจะดูถูก เพียงแต่ว่าเมื่อเราลงมือปฏิบัติแล้ว เราตรวจสอบตัวเองดู อันนี้มันถูกหลักหรือไม่ถูกหลัก ถ้ามันไม่ถูกหลัก ไม่ใช่

อย่างหลวงพ่อ พอภาวนาแล้วจิตมันสว่าง ว่างอยู่อย่างนั้น เป็นเดือน เป็นปี เรารู้ว่ามันผิดหลักแล้ว มันผิดตรงไหน คราวนี้เราเริ่มสังเกต หลวงพ่อจะไม่นั่งคิดว่า พระไตรปิฎกไม่สมบูรณ์ สิ่งที่เราเจอพระไตรปิฎกไม่มี นั่นคิดตามกิเลสแล้ว หลายอย่างเลยที่คิดตามกิเลส หรือบางทีไปยืมศัพท์ในพระไตรปิฎกมาใช้ แล้วใช้ในความหมายที่เพี้ยนไป ตามกิเลสของตัวเองไป อย่างคำว่า “ธรรมกาย” ในพระไตรปิฎกมีคำว่า “ธรรมกาย” แต่ไม่ใช่ธรรมกาย อย่างที่คนรุ่นหลังนี้เข้าใจกัน บางทีศัพท์ในพระไตรปิฎก ถูกยืมมาใช้แล้วเพี้ยนไป ศัพท์บางอย่างในพระไตรปิฎก ตีความไม่ออกอะไรอย่างนี้ ก็มี แต่พระไตรปิฎกนั้นสมบูรณ์

 

 

อย่าไปคิดว่าพระไตรปิฎกไม่สมบูรณ์ ที่เราภาวนามีความรู้เหนือกว่าพระพุทธเจ้า เหนือกว่าพระไตรปิฎก อันนั้นเพี้ยนอย่างแรงแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาพวกเราภาวนา เราก็สังเกตตัวเองเอา สิ่งที่เราทำอยู่นี้มันถูกหลักไหม สอดคล้องกับเรื่องอริยสัจไหม เป็นการรู้ทุกข์ ละสมุทัยไหม อริยมรรคของเราได้เจริญขึ้นไหม มรรคของเราเจริญขึ้นไหม ศีลเราดีขึ้นไหม สมาธิเราดีขึ้นไหม เรามองเห็นไตรลักษณ์ได้ง่ายขึ้นไหม อย่างนี้เราวัดตัวเองไปเรื่อยๆ ตรวจสอบตัวเองไปเรื่อยๆ

หลวงปู่ดูลย์ท่านก็เก่ง ท่านภาวนา หลวงปู่มั่นสอนท่านทีแรก เจอหลวงปู่มั่นที่อุบลฯ ท่านเข้าไปเรียนกับหลวงปู่มั่น รุ่นเดียวกับหลวงปู่สิงห์ หลวงปู่สิงห์ถือว่าเป็นแม่ทัพธรรม เป็นแม่ทัพธรรมในกองทัพธรรม ของหลวงปู่มั่น หลวงปู่สิงห์คือแม่ทัพในยุคแรก แล้วก็หลวงปู่ดูลย์ก็ไปด้วยกันกับหลวงปู่สิงห์ หลวงปู่มั่นสอนท่าน พุทโธไป พุทโธพอจิตสงบแล้วพิจารณากายไป หลวงปู่ดูลย์ได้รับคำสอนแล้ว ก็ออกจากหลวงปู่มั่น ไปภาวนาตามลำพัง พุทโธแล้วก็พิจารณากายไป

ในเวลาไม่นานก็กลับมาหาหลวงปู่มั่น แล้วก็ไปรายงานหลวงปู่มั่นบอกว่า “ผมไปปฏิบัติมา ผมสังเกตตัวเองแล้ว กิเลส 4 ส่วน ผมละเด็ดขาดแล้ว 1 ส่วน ส่วนที่สอง ผมละได้ครึ่งหนึ่งแล้ว ยังไม่เด็ดขาด ละได้บ้างไม่ได้บ้าง” หลวงปู่มั่นชมว่า “ท่านดูลย์ ฉลาด รอบรู้ในจิตของตนเอง ละกิเลสได้แค่ไหนก็รู้ กิเลสเหลืออยู่เท่าไรก็รู้” ที่จริงคุณสมบัติในการที่ว่าละกิเลสได้เท่าไร ยังเหลืออยู่เท่าไร มันเป็นญาณอันหนึ่ง เรียกปัจจเวกขณญาณ

เวลาผ่านมรรคญาณ ผลญาณแล้ว จิตจะถอนออกมาสู่โลกข้างนอกนี้ แล้วมันจะเกิดปัจจเวกขณญาณ ย้อนเข้าไปพิจารณา ว่าเมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น เมื่อกี้นี้กิเลสตัวไหนถูกละแล้ว แล้วก็ละตัวไหนเด็ดขาด ตัวไหนยังละได้ไม่เด็ดขาด ตัวไหนยังเหลืออยู่ ผู้ปฏิบัติมันจะรู้เอง มันจะรู้ตัวเอง ฉะนั้นถ้าภาวนาแล้วก็ มันวัดตัวเองได้ ท่านถึงบอกว่า “วิญญูชน รู้ด้วยตนเอง” หลวงปู่ดูลย์ท่านก็วัดจิตวัดใจของท่าน ว่าท่านละกิเลสเด็ดขาดไปแล้ว 1 ส่วน 1 ใน 4 ละแล้ว ส่วนที่ 2 ละไปครึ่งหนึ่งแล้ว ยังเหลืออีกครึ่งหนึ่ง คือยังละไม่เด็ดขาด ละได้แต่ไม่เด็ดขาด

หลวงปู่มั่นชมเชย แล้วก็ให้ธรรมะต่อ ธรรมะอันที่สองที่ท่านให้หลวงปู่ดูลย์บอก “สัพเพสังขารา สัพพะสัญญา อนิจจา สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลาย ไม่เที่ยง” “สัพเพสังขารา สัพพะสัญญา อนัตตา สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลาย เป็นอนัตตา” ท่านบอกให้หลวงปู่ดูลย์ไปพิจารณาตัวนี้ สัญญานี้มันเป็นนามธรรม สังขารก็เป็นนามธรรม ท่านให้ดูตัวนี้ลงเป็นไตรลักษณ์ นั่นคือการสอนดูจิตนั่นล่ะ ฉะนั้นที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนดูจิต หลวงพ่อไปเรียนกับท่านให้ดูจิตๆ ที่จริงท่านก็เรียนมาจากหลวงปู่มั่นอีกที

เรียนให้รู้ทันสัญญากับสังขาร สัญญาอย่างเช่น ตาเรามองเห็นรูป ทีแรกตามองเห็น ยังไม่รู้ว่ารูปอะไร พอสัญญามันแปล นี่ผู้หญิง สวย ตรงสเป็กขึ้นมา สังขารก็ปรุงเลย ราคะเกิดขึ้น ทำงานด้วยกัน มีสัญญาเข้าไปแปลความหมาย ไปให้ค่าขึ้นมา ไปทำงานร่วมกับจิตตัวหนึ่ง ชื่อโวฎฐัพพนจิต ชื่อจำยาก ไม่ต้องไปจำมัน แต่รวมความก็คือ ก่อนที่จะเกิดกุศล อกุศล มีการแปลความหมาย ของอารมณ์ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แปลมาก่อน ถึงจะมีเกิดการให้ค่าขึ้นมา เกิดการตีค่าขึ้นมา แล้วจิตก็เกิดเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นกุศล อกุศลขึ้นมา

เพราะฉะนั้นในขณะที่ตามองเห็นรูป จิตไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีกุศล อกุศล จิตดวงที่ไปเห็นรูปเป็นวิบาก ไม่มีสุขทุกข์ ไม่มีดีชั่ว จิตที่ได้ยินเสียงก็เป็นวิบาก ไม่มีสุขทุกข์ ไม่มีดีชั่ว มันจะมีสุขทุกข์ ดีชั่ว ตรงที่มันเข้ามาปรุงต่อ แล้วมาคิดพิจารณาแล้วว่า อารมณ์นี้คืออะไร ถูกใจไหม ไม่ถูกใจก็โทสะขึ้น ถูกใจก็ราคะขึ้น มันจะพิจารณา หลวงปู่ดูลย์ท่านมาดูๆๆ เฮ้ย จิตมันทำงานได้เอง แล้วท่านก็เลยรู้แจ้งแทงตลอด ว่า “จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอก เป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ” อันนี้ท่านพูดแบบออมๆ ออม ไม่กล้าพูดเต็มที่ เดี๋ยวคนจะว่า

ถ้าพูดเต็มยศเลยก็คือ “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นอรหัตตมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นอรหัตตผล” แต่ท่านก็พยายามเลี่ยงคำเหมือนกัน พอท่านภาวนาแล้วท่านรู้เลยว่า ทุกข์มันมีเหตุถึงเกิด เหตุดับ ทุกข์มันก็ดับ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นก็ดับ แล้วทุกข์ทางจิตใจนั้นก็มีเหตุ คือตัวสมุทัย ท่านก็รู้อริยสัจแจ่มแจ้งขึ้นมา ในเวลาไม่กี่เดือนก็กลับไปรายงานหลวงปู่มั่นแล้ว ว่าท่านเข้าใจแล้ว หลวงปู่มั่นก็ “สาธุ ท่านมีสติ มีปัญญามาก” บอกอย่างนี้

 

เนื้อหาสาระเหมือนอย่างที่เราภาวนา
เพียงแต่ศัพท์ไม่เหมือนกัน

อย่างคำว่า “จิตส่งออกนอก” ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่มันคืออะไร มันคือจิตที่ทะยานไปด้วยอำนาจของตัณหา ครูบาอาจารย์บางทีใช้ศัพท์จากที่ท่านมองเห็น ไม่ได้ใช้ศัพท์ของปริยัติ ถ้าปริยัติได้ยินปุ๊บ บอกทำผิดแล้ว เพราะพูดไม่เหมือนปริยัติ ใครจะไปพูดเหมือนปริยัติ ถ้าไม่ได้เรียนปริยัติ แต่ว่าเนื้อในมันถูกไหม จิตมีตัณหาเป็นเหตุ มีผลเป็นทุกข์ ถูกไหม ถูกเป๊ะเลย ท่านบอกให้รู้ทุกข์ ท่านไม่ได้ให้ละ ท่านบอกว่า เวลาปฏิบัติในขั้นวิปัสสนา “จงทำญาณเห็นจิต ให้เหมือนตาเห็นรูป” ให้เห็นจิตด้วยญาณ ญาณคือปัญญา มีปัญญาเห็นจิต มีปัญญาเห็นอะไร ก็เห็นไตรลักษณ์ของจิต

วิธีเห็นจิตก็คือ เห็นเหมือนกับที่ตามองเห็นรูป ตาเรามองเห็นรูป ตาไม่เคยบังคับรูป ตาสั่งได้ไหม อย่างเรามองรูปคน เราก็นึกให้รูปของคนนี้ ยกขาขึ้นข้างหนึ่ง มันทำไม่ได้ รูปมันเป็นอย่างไร เราก็เห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจิตเป็นอย่างไร เราก็เห็นอย่างนั้น เรียกว่าทำญาณเห็นจิต ให้เหมือนตาเห็นรูป ท่านสอนง่ายๆ ท่านสอนด้วยภาษาที่ท่านเข้าใจมาจากการปฏิบัติ ไม่ได้สนใจภาษาตามตำราหรอก แต่ว่าภาวนาแล้วมันลงที่เดียวกันเป๊ะเลย

เราสามารถทำได้ไหม “จงทำญาณเห็นจิต ให้เหมือนตาเห็นรูป” เวลาเราเห็นราคะเกิดขึ้น เหมือนตาเห็นรูปไหม ไม่เหมือน เราอยากให้ราคะดับ เวลาโทสะเกิดขึ้น อยากให้โทสะดับ เวลาสุขเกิดขึ้น อยากให้สุขอยู่นานๆ เวลาทุกข์เกิดขึ้น อยากให้ทุกข์ดับ เราเห็นจิตใจตัวเอง ไม่เหมือนตาเห็นรูปเลย เห็นทีไรแทรกแซงทุกทีเลย เพราะฉะนั้นท่านถึงย้ำว่า ต้องดูจิตเหมือนตาเห็นรูป ตาไม่เคยไปสั่งรูป เราก็ไม่สั่งจิต จิตเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น นี้หลักของการดูจิต ฉะนั้นเราก็ค่อยๆ สังเกตไป ภาวนาแล้ว อันไหนเรายังไม่เข้าใจ แขวนไว้ก่อน แล้วค่อยภาวนาไป แล้ววันหนึ่งจะเข้าใจว่าจริง ไม่จริง

อย่างครั้งสุดท้ายหลวงพ่อเจอหลวงปู่ดูลย์ 36 วันก่อนท่านจะมรณภาพ ในใจเราอยากพูดว่าท่านนิพพาน แต่พูดไม่ได้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้พยากรณ์ ก็เลยบอกว่า 36 วันก่อนที่หลวงปู่ดูลย์จะมรณภาพ เข้าไปกราบท่าน ท่านก็เทศน์ให้ฟังตั้งแต่บ่าย จนกระทั่งค่ำ ท่านเหนื่อยหอบเลย ท่านหอบๆๆ หลวงพ่อก็เลยบอกท่าน บอก “หลวงปู่ครับ หลวงปู่เหนื่อยมากแล้ว ผมจะกราบลาแล้ว” ท่านบอก “จะกลับแล้วเหรอ ยังกลับไม่ได้ ต้องจำก่อนนะ ต้องจำไว้ พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เข้าใจไหม” “ไม่เข้าใจครับ แต่ผมจะจำไว้” ท่านบอก “ดี จำไว้นะ” ก็เลยกราบลาท่านออกมา

นั่นครั้งสุดท้ายที่พบท่าน “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้” คำว่า “ผู้รู้” ในคัมภีร์ก็ไม่มี ทำลายผู้รู้ทำลายอย่างไร คัมภีร์ก็ไม่ได้พูด ที่จริงก็คือ หลวงพ่อพุธ ท่านมาอธิบายให้หลวงพ่อฟังแล้ว มันก็คือการไม่ยึดถือจิต การไม่ยึดถือมัน ไม่ยึดถือจิตใจนั่นล่ะ ถ้าพูดอย่างนี้ก็ฟังรู้เรื่องแล้ว ฝ่ายปริยัติรู้เรื่องแล้ว หลวงพ่อภาวนา อ่านพระไตรปิฎก อ่านหลายรอบ ไม่ได้อ่านอภิธรรม เพราะไม่รู้เรื่อง แล้วมาภาวนา ภาวนาไปพอสมควรแล้ว ไปอ่านอภิธรรม ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย ยากที่ศัพท์เท่านั้นล่ะ เนื้อหาสาระมันก็เหมือนอย่างที่เราภาวนา เพียงแต่ศัพท์มันไม่เหมือนกัน เรียกกันไม่เหมือนเท่านั้นเอง ก็ทะเลาะกันได้

เพราะฉะนั้นหลวงพ่อไม่ดูถูกปริยัติ ปริยัติเขารักษามาได้ดี แต่ปริยัติชอบดูถูกปฏิบัติ ช่วยไม่ได้ เวรกรรม ช่วยไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราภาวนา เราวัดจิตใจตัวเองได้ วัดดู สิ่งที่เราทำนั้น สอดคล้องกับหลักอริยสัจไหม สอดคล้องกับเรื่องไตรลักษณ์ไหม สอดคล้องกับเรื่องสติปัฏฐานไหม วัดอย่างนี้ไป อย่างเราภาวนา เราบอกเราดูจิตๆ แต่ว่าจิตใจล่องลอยทั้งวัน อันนั้นไม่ใช่ ผิดหลักสติปัฏฐาน สติปัฏฐานต้องมีเครื่องอยู่ ต้องมีวิหารธรรม เริ่มต้นต้องมีวิหารธรรม แล้วก็ปฏิบัติไปเพื่อลดละกิเลส เรียกอาตาปี มีความเพียรแผดเผากิเลส ถ้าปฏิบัติแล้วสนองกิเลส ไม่ใช่แล้ว ผิดหลัก

เพราะฉะนั้นธรรมะสำคัญๆ ที่พวกเราเรียน ที่ต้องรู้ เรื่องอริยสัจ เรื่องสติปัฏฐาน เรื่องไตรลักษณ์ พวกนี้สำคัญ ต้องเรียน พอเรารู้พวกนี้แล้ว เราก็ลงมือทำ แล้วเราวัดตัวเองไป ดูว่าสิ่งที่เราทำนี้ถูกหลักเกณฑ์ไหม พอมีผลเกิดขึ้น วัดดู ผลที่เกิดขึ้นนี้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ไหม สอดคล้องกับคำสอนไหม เช่น เราภาวนาแล้วจิตเราว่างตลอดเวลา สอดคล้องไหม มีผลแล้ว แหม มีความสุข มีความสบาย ไม่มีกิเลสแล้ว ต้องดู มันสอดคล้องคำสอนไหม

เพราะฉะนั้นเหตุ เราก็ตรวจสอบเหตุที่เราทำว่าถูกหลักไหม ผลที่เกิดขึ้น ถูกหลักไหม ถ้าเราภาวนาแล้วเราก็บรรลุนิพพาน เราก็เห็นพระพุทธเจ้ามากมายอะไรอย่างนี้ ไม่ถูกหลักแล้ว นิพพานไม่มีรูป นิพพานไม่มีนาม จะมีรูปเป็นรูปๆ ขึ้นมาได้อย่างไร มันไม่มีรูป ไม่มีนาม เป็นภาวะที่สิ้นตัณหา สิ้นกิเลส เป็นอิสระ แค่ไปหมายรู้จิต แค่ไปหมายรู้จิตที่ถึงพระนิพพาน แค่นั้นก็ผิดแล้ว

 

พวกเราไปภาวนาเอา เย็นนี้ใครจะเวียนเทียน บ้านอยู่ใกล้วัดไหน ก็ไปเวียนที่วัดนั้น เวียนเทียนก็นึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ นึกถึงไป ทุกก้าวที่เดิน เดินด้วยความรู้สึกตัว ถือว่าเราปฏิบัติบูชา

การเวียนเทียนคือการปฏิบัติบูชา เพราะฉะนั้นทุกก้าวที่เดิน ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าไปเรื่อยๆ จะท่องพุทโธไปด้วยก็ได้ ไม่ท่องก็ได้ แต่ให้ใจเราระลึกถึง นึกถึงพระพุทธเจ้า นึกไม่ออก ก็นึกถึงพระพุทธรูปที่เราชอบสักองค์หนึ่ง พระพุทธรูปไม่ใช่พระพุทธเจ้าหรอก เป็นอิฐ เป็นปูน เป็นทองเหลือง ทองแดง เป็นวัตถุ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า แต่เป็นเครื่องหมาย เป็นสัญลักษณ์ เพื่อให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง

อย่างเรานึกถึงพระพุทธรูปสวยๆ สักองค์ จิตใจเรามีความสุข มีความสงบ เราได้บุญอย่างเต็มๆ แล้ว ได้บุญเยอะเลย เพราะจิตเราได้สมาธิขึ้นมา ถือว่าเราได้ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า เราได้สมาธิเป็นของตอบแทน เป็นรางวัลของความเพียรของเรา ฉะนั้นไม่ต้องมาเวียนที่นี่หรอก เวียนที่ไหนก็ได้ ไปดูที่วัดใกล้ๆ บ้าน ขี้เกียจไปวัด ก็เวียนอยู่ที่บ้านเรานั่นล่ะ นึกถึงพระพุทธเจ้า แล้วก็ก้าวเท้าไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเดินเป็นวงกลมก็ได้ เดินอย่างเดินจงกรมก็ได้ ทุกก้าวที่เดินระลึกถึงพระพุทธเจ้า ก็เหมือนกัน ฉะนั้นทำที่ไหนก็ได้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
6 มีนาคม 2566