ภาวนาไม่ใช่มานั่งบังคับตัวเอง แค่รู้สึก ไม่บังคับ รู้สึกกายรู้สึกใจไป การมีสติรู้กายรู้ใจนั่นล่ะสำคัญมาก ถ้าไม่ได้ผ่านจุดนี้ ไม่มีทางเข้าใจธรรมะหรอก อย่างเราไม่รู้สึกตัว ใจล่องลอยไป ใจก็หลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน ไม่ใช่โลกของความเป็นจริง ไม่มีธรรมะ นั่งเพ่งนั่งบังคับอยู่ ตึงๆ นิ่งๆ ไม่เกิดปัญญา แข็งๆ เฉยๆ ธรรมะเข้าใจไม่ได้ด้วยการคิด ด้วยการอ่าน ด้วยการฟัง เข้าใจด้วยการเห็น เห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตอย่างที่จิตเป็น
คนที่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติ ร้อยละร้อย หลงทั้งวัน จิตเคยชินที่จะหลง ส่วนนักปฏิบัติพอคิดถึงการปฏิบัติทีไรก็เพ่ง บังคับกายบังคับใจ มันเลยไม่เป็นธรรมดาสักที เราอยากเห็นธรรมดาของกาย เราก็อย่าไปแทรกแซงกายให้ผิดธรรมดา แล้วก็ไม่ลืมมัน อยากเห็นจิตใจเป็นธรรมดา ดูมันไปธรรมดา อย่าไปแทรกแซงให้มันผิดธรรมดาขึ้นมา แล้วก็อย่าหลงลืมมัน ตรงที่หลงลืมมัน หลงลืมกาย หลงลืมใจ ย่อหย่อนไป ตรงที่เข้าไปแทรกแซงกาย แทรกแซงใจ ตึงเกินไป ยังไม่เห็นของจริง ไม่เห็นความจริง ฉะนั้นหัดรู้สึกตัวให้ได้ รู้สึกตัว ตื่น ภาวะแห่งความตื่นก็คือ จิตมันหลุดออกจากโลกของความฝัน อยู่ในโลกของความเป็นจริง
เห็นความจริงซ้ำแล้วซ้ำอีก
จิตจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ
จิตมันตื่นแล้วก็อย่าพาจิตเข้าไปบังคับกาย บังคับจิตใจ ตื่นขึ้นมาเฉยๆ แล้วก็เห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตใจมันอย่างที่จิตใจเป็น ร่างกายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ร่างกายมีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ เป็นสมบัติของโลก รู้สึกอย่างนี้ เรียกว่ารู้ถึงความเป็นธรรมดาของร่างกาย ธรรมดาของร่างกายไม่เที่ยง ร่างกายหายใจออกไม่เที่ยง ร่างกายหายใจเข้าไม่เที่ยง ร่างกายยืนก็ไม่เที่ยง ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน ร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด ก็ไม่เที่ยง ทำไมต้องหายใจเข้า
ทำไมต้องหายใจออก หายใจเข้าเพื่อแก้ทุกข์ของการหายใจออก หายใจออกเพื่อแก้ทุกข์ของการหายใจเข้า ทำไมต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะถ้าเราหยุดอยู่ในอิริยาบถใดนานๆ มันจะทุกข์ ที่เราเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อหนีทุกข์ ฉะนั้นเวลาร่างกายเราเมื่อย ปวดเมื่อยตรงนั้นตรงนี้ เราจะเปลี่ยนอิริยาบถ พอเปลี่ยนอิริยาบถ เราก็รู้สึกสบาย ไม่ทุกข์ แต่เดี๋ยวหนึ่งร่างกายก็ทุกข์ขึ้นมาอีก ก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถอีก มีสติเห็นความจริงของร่างกาย ไม่เที่ยง รูปหายใจออกไม่เที่ยง รูปหายใจเข้าไม่เที่ยง รูปยืน เดิน นั่ง นอนไม่เที่ยง รูปคู้รูปเหยียดไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ของมัน หายใจออกก็เพื่อหนีทุกข์ หายใจเข้าก็เพื่อหนีทุกข์ เปลี่ยนอิริยาบถก็เพื่อหนีทุกข์
ทำไมคนทั่วๆ ไปมันก็อยู่กับความจริง ร่างกายนี้ก็แสดงความจริงอยู่ตลอดเวลา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในความจริงอีกมุมหนึ่ง มันเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกตลอดเวลา เช่น หายใจเข้าแล้วหายใจออก หายใจออกก็หายใจเข้า มีธาตุไหลไปไหลมา กินอาหารเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ กลืนลงไป แล้วก็ขับถ่ายออกมา ดื่มน้ำลงไปก็ปัสสาวะออกมา เป็นเหงื่อออกมา น้ำซึมทางผิวหนัง มันเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ตราบใดที่ธาตุยังไหลเวียนอยู่ ธาตุขันธ์อันนี้ ร่างกายนี้ก็ยังดำรงอยู่ ถ้าธาตุหยุดการไหลเวียนเมื่อไร ร่างกายนี้ก็แตกสลาย อย่างหายใจเข้าแล้วไม่ได้หายใจออก ร่างกายก็แตกสลาย ได้รับความร้อนเข้าไป ไม่ได้ระบายออก ร่างกายก็แตกสลาย กินอาหารแล้วไม่ได้ขับถ่าย ร่างกายก็แตกสลาย ดูไปเรื่อยๆ มันเป็นแค่วัตถุ อยู่ได้เพราะความสมดุลของธาตุที่ไหลเข้าไหลออก
ถ้าเรามีสติรู้สึกกาย เราจะเห็นร่างกายเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มันทนอยู่ในสภาวะอันใดอันหนึ่งไม่ได้ มันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันเป็นอนัตตา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ เป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่สมบัติของเรา เห็นซ้ำๆ จนจิตมันยอมรับความจริงได้ ไม่ใช่การคิดเอา แต่ต้องเห็นเอา คิดเอาไม่รู้จริง นั่งคิดว่าร่างกายเราไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ไม่ได้เห็นของจริง ไม่มีร่างกายตัวจริงมารองรับสติปัญญา ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก็จะไม่เกิดขึ้น ต้องมีของจริง คือมีร่างกายจริงๆ มารองรับ เป็นที่ลับ เหมือนมีด เหมือนหินลับมีด ลับสติปัญญา
ตัวจิตใจเราก็เหมือนกัน ความจริงของมัน คือมันไม่เที่ยง จิตใจเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ไม่สุขไม่ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็หดหู่ เดี๋ยวก็ไปรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เดี๋ยวก็ไปรู้อารมณ์ทางใจ มีแต่ของไม่เที่ยง จิตใจแต่ละอย่างๆ อยู่ได้ชั่วคราวก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย จิตใจมีความสุขเกิดขึ้น ความสุขก็ตั้งอยู่ได้ไม่นาน ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ความทุกข์ก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย กุศลอกุศลก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย แล้วจิตใจจะสุขหรือจะทุกข์ หรือจะไม่สุขไม่ทุกข์ จะดีหรือจะชั่ว จะชั่วชนิดไหน เราบังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้ เลือกไม่ได้ ห้ามไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจ เรียกว่าเห็นอนัตตา นี่ล่ะการเห็นความจริง
ความจริงของกายก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความจริงของจิตใจก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ให้เห็นความจริงซ้ำแล้วซ้ำอีก จิตมันจะเบื่อร่างกายซึ่งเป็นที่รักที่หวงแหน มีแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่น่ารัก ไม่น่าหวงแหน ใจมันเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ สุดท้ายจิตมันก็วางกายออกไป จิตพ้นจากกาย จิตพ้นจากกาย พูดแล้วฟังยาก บางคนอยากให้จิตพ้นจากกาย ก็กำหนดจิตทำสมาธิ ถอดจิตออกจากกาย เห็นร่างกายนอนอยู่นี่ จิตขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้าน หรืออยู่กลางอากาศ แล้วมองย้อนลงมาเห็นร่างกายอยู่ต่างหาก นอนอยู่ที่พื้น อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นเป็นเรื่องของกำลังสมาธิ มันพาให้เห็นไป เราเห็นกาย อย่างกายไม่ใช่ตัวเรา จิตเราไม่ต้องถอดไปอยู่ที่ไหน แต่เรารู้แจ้ง กายกับจิตมันคนละอันกัน แล้วมันก็เห็นความจริงของร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มันเห็น ไม่ใช่ถอดจิตออกไปจากร่าง
จิตถอดออกจากร่างได้ไหม ได้ ถอดไปไหนก็ได้ เวลาจิตถอดออกจากร่างมี 2 ลักษณะ ลักษณะหนึ่งของพวกเล่นสมาธิก็คือจงใจถอด อยากไปเที่ยวที่โน่นที่นี่ก็ถอดจิตไป อยากไปนรกก็ได้ อยากไปสวรรค์ก็ได้ ถอดออกไป อีกอันหนึ่งจิตมันถอดเอง จิตมันถอดออกจากร่างเอง เราไม่ได้เจตนา แต่จิตมันไม่ใช่เรา มันอยากรู้อยากเห็น แล้วบางทีมันพุ่งออกไปรู้ ตรงนี้ก็น่ากลัว พุ่งออกไป คุมไม่อยู่ บังคับไม่ได้ หลวงพ่อเคยเป็นครั้งหนึ่ง โอ้ น่ากลัว ตอนนั้นเตี่ยของหลวงพ่อตาย เพิ่งจะตายได้ 50 วัน เขาเอาโลงศพออกมา จะมาตั้งให้พระสวดทำบุญ โกดังเก็บศพสมัยโบราณ มันไม่ได้เรียบร้อยแข็งแรงเหมือนยุคนี้ทั้งๆ ที่เป็นวัดในเมือง วัดกรุงเทพฯ นี้
หลังคามันรั่ว น้ำฝนมันหยดลงไปบนฝาโลง แล้วมันซึมเข้าไป น้ำไปขังอยู่ในโลง ศพที่ฉีดยาไว้โดนน้ำขังอยู่ น่ากลัว เวลาสัปเหร่อหามออกมาจากโกดังเก็บศพ เขาเรียกโกดังเก็บศพ เดี๋ยวนี้ไม่รู้เปลี่ยนเป็นอะไร ได้ยินเสียงน้ำจ๊องแจ๊งๆ เขาเอามาตั้ง สัปเหร่อเขาเปิดดู โอ้ เขาบอกน่ากลัว ศพนี้น่ากลัวมาก เพราะมันแช่น้ำมาตลอด ห้ามดู ไม่ให้ญาติดู เขาเจาะ เอามีดเจาะพื้นโลง น้ำก็ไหลออกไป จนน้ำแห้งแล้วก็ปิดฝา บอกอย่าดูเลย น่ากลัวเกิน หลวงพ่อเป็นคนกลัวผี เราไม่อยากดูแต่จิตมันอยากดู กลางคืนกลับมาบ้านแล้ว ทำบุญเสร็จกลับมาบ้าน ตอนที่ลงไปนอนเอนตัว หัวถึงหมอนปุ๊บ จิตมันถอดออกจากร่าง มันถอดของมันเอง ไม่ได้เจตนาเลย เจตนาถอดมันอาจจะไม่ถอดก็ได้ มันวิ่งไปที่โกดังเก็บศพ จะไปดูศพ
เราเป็นคนกลัวผี เรารู้ว่าจิตมันวิ่งพรวดไปอย่างนี้ เร็วมาก เดี๋ยวมันจะไปดูศพ เราก็รีบหายใจ หายใจแรงๆ ให้จิตมันกลับมาที่ร่างกายนี้ มันวิ่งไปได้ครึ่งทาง แล้วก็กลับมาได้ พอกลับมาได้ เฮ้อ โล่งอก โล่งอกทีเดียว พุ่งครั้งที่ 2 ด้วยกำลังที่แรงกว่าเก่า ไปหยุดอยู่ที่โกดังที่ประตู เห็นลูกกุญแจ ก็เบรกทันกลับมาที่ร่างกายได้อีก หายใจเข้าไป แล้วครั้งที่ 3 เบรกไม่อยู่แล้ว จิตถอดออกจากร่าง วิ่งเข้าไปในโกดัง ไม่รู้โลงไหน จิตมันสำรวจโลงนี้ไม่ใช่ โลงนี้ไม่ใช่ โลงนี้ไม่ใช่ มาเจอโลงที่ใช่ จิตมันพิสดารมากเลย มันพิเรนทร์ มันลงไปนอนทาบในศพ กลิ่นเหม็นแบบขมในคอเลย แล้วมันสำรวจซากศพนี้จนมันพอใจ ร้ายจริงๆ
เรากลัวแทบแย่ มันไม่กลัว จิตกับเรามันไม่ใช่คนเดียวกันแล้ว มันไม่กลัว พอมันสำรวจถูกอกถูกใจสมอยากแล้ว มันก็กลับ กลับเอง คราวนี้ไม่ต้องเชิญ รู้สึกตัวขึ้นมา หายใจออกมา โห กลิ่นติดจมูก ขมอยู่ในคอเลย จิตมันออกไป เราคุมมันไม่ได้ มันเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นเวลาภาวนา เราไม่ได้ไปบังคับมัน เพราะว่าจริงๆ เราบังคับมันไม่ได้หรอก อย่างร่างกายเราบังคับมันไม่ได้จริง สั่งว่าอย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย สั่งไม่ได้ จิตใจนี้สั่งว่าอย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้ สั่งไม่ได้ อย่ารัก อย่าโกรธ สั่งไม่ได้
โรดแม็ปของการปฏิบัติ
เราเรียนรู้ความจริงเรื่อยๆ พอเห็นความจริงแล้ว มันจะเบื่อ ร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร มันของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตนี้ก็ไม่ใช่ของดีของวิเศษ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว นี่เป็นเส้นทาง เป็นโรดแม็ปของการปฏิบัติ เราต้องเห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริงให้ได้ ถ้าเห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริงได้ มันก็จะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น แล้วเราก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว นี่เป็นโรดแม็ปของการปฏิบัติ
ฉะนั้นจุดที่สำคัญมาก คือการเห็นความจริงของกายของใจ เราจะเห็นความจริงของกายได้ เราต้องไม่หลงลืมกาย แล้วก็เราไม่ไปหลงคิด หลงเพ่ง วุ่นวายอะไรอยู่กับกาย รู้สึกเอา รู้สึกถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราถึงจะเห็นความจริงของกาย ถ้าเราคิดเอา มันไม่ใช่ความจริง อย่างเราคิดเอาว่าร่างกายต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย จิตมันยังไม่ยอมเชื่อ จิตกับเรามันคนละอัน จริงๆ เราไม่มี แต่เราไม่ใช่จิต จิตก็ไม่ใช่เรา
เราอยากจะเชื่อว่า ร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่จิตมันไม่เชื่อ จิตมันรู้สึกว่าร่างกายเป็นของเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา สั่งมันไม่ได้จริง เราจะต้องดัดสันดานของจิต เอาความจริงมาป้อนให้จิตมันดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ว่าร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ป้อนความจริงให้มันเรียนรู้ จนมันยอมจำนนต่อข้อเท็จจริง มันถึงจะยอม เบื่อหน่ายคลายความยึดถือ หลุดพ้น ถ้าไม่ได้เอาความจริงมาป้อนให้ดู มันไม่ยอมหรอก นึกๆ เอาเอง มันไม่ยอม
อย่างเวลาเราภาวนา ที่จะปล่อยวางกายได้ เราต้องเบื่อหน่ายคลายความยึดถือได้ ต้องเห็นความจริงของกายได้ เวลาภาวนา อย่างบางคนทรงฌาน จิตมีแรงมาก รู้ลงในกาย รู้กาย เดินปัญญาอยู่ในกาย พิจารณาอยู่ในกาย ด้วยจิตซึ่งมีสมาธิเข้มแข็ง ร่างกายมันจะแปรสภาพให้ดู ผุพัง แตกสลาย ว่างเปล่า สุดท้ายมันก็ว่างเปล่า ต้องให้จิตมันเห็น หรือบางทีอาจจะนอนอยู่ ถึงเวลาที่ต้องลุกแล้ว ร่างกายกระดิกไม่ได้ ทั้งที่ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร จิตมันแสดงธรรมให้ดู นอนอยู่ ได้เวลาตื่นขึ้นมาแล้ว กระดุกกระดิกไม่ได้เลย โอ้ ร่างกายไม่เป็นเราเลย ไม่ใช่ตัวเรา สั่งไม่ได้ กระดุกกระดิกไม่ได้ ร่างกายหาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้เลย เห็น มันเห็นด้วยใจว่าร่างกายไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เพราะจิตมันไม่ยึดแล้ว
มันคล้ายๆ มันจับร่างกายนี้ เหวี่ยงทะลุฝาผนังออกไปเลย โยนทิ้งแล้ว ไม่เอาแล้ว ไม่ใช่ของดีของวิเศษเหมือนที่เคยนึกอยู่ มันต้องอาศัยกำลังของสมาธิด้วย แล้วก็ให้จิตตั้งมั่น เห็นความจริงของร่างกายไปเรื่อยๆ ร่างกาย บางคนก็เห็นในมุมไม่เที่ยง บางคนก็เห็นในมุมเป็นทุกข์ บางคนก็เห็นในมุมเป็นอนัตตา พอเห็นตามความเป็นจริงก็เบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วสลัดคืน สลัดคืน คืนอะไร คืนร่างกายให้โลก ร่างกายมันของโลก มันเป็นวัตถุของโลก เราหน้าด้านหน้าทน ไปยึดเอามาว่าเป็นของเรา พอเห็นความจริงแล้ว โอ๊ย ของที่ยึดถือหวงแหนเหนียวแน่น เอาเข้าจริงไม่ใช่ของดีของวิเศษเลย เป็นตัวทุกข์ ทุกข์เพราะความไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เห็นตามความเป็นจริงจิตก็เบื่อ เบื่อหน่ายคลายความยึดถือออกไป ก็สลัดคืน
จิตก็ไม่ยึดกายต่อไปแล้ว ก็ไม่ยึดตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อไม่ยึดตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตก็ไม่ยินดีไม่ยินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะคือสิ่งที่สัมผัสร่างกาย พอจิตไม่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ละกามราคะได้ จิตไม่ยินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ละปฏิฆะได้ ละด้วยปัญญาอันยิ่ง ปัญญาในอริยมรรค ก็เปลี่ยน สภาพจิตใจจะเปลี่ยน จิตใจของเราเกิดมาในกามาวจรภูมิ จิตดวงนั้นพ้นจากกาม ถ้าตายไปในขณะนั้น ยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็จะไปเกิดในภูมิซึ่งพ้นกามคือพรหมโลก
ฉะนั้นพระอนาคามีเวลาตายแล้ว อย่างไรก็ไปพรหมโลก ถ้าไม่เป็นพระอรหันต์เสียก่อน นิพพานไป ไปเกิดในพรหมโลก นี้เราได้ยินเรื่องพรหมมีอยู่ 5 อย่าง เรียกพรหมสุทธาวาส มีอยู่ 5 ระดับ สุทธาวาส 5 ชั้น ตามความแก่อ่อนของอินทรีย์ แต่ละชั้นถ้ามีปัญญาแก่กล้า ก็เป็นพรหมสุทธาวาสชั้นสูงสุดชื่ออกนิษฐาพรหม พวกนี้ไม่มีกาม แล้วก็ไม่ใช่พระอนาคามีทุกองค์จะไปสุทธาวาส คนที่ไปสุทธาวาสได้ต้องเป็นพระอนาคามี ที่มีวสีในฌาน 4 มีอินทรีย์ที่แก่กล้า อินทรีย์ก็มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธาแก่กล้าก็เป็นสุทธาวาสชั้นที่หนึ่ง ปัญญาแก่กล้าก็เป็นสุทธาวาสสูงสุดชั้นที่ห้า
ฉะนั้นถ้าไม่ได้ทรงฌานชำนิชำนาญ ตายไปก็ไม่ไปเกิดในกามาวจร ไม่ไปเป็นมนุษย์เป็นเทวดาหรอก ไปเป็นพรหม พรหมมีทั้งหมด 16 ชั้นในรูปพรหม ก็จะได้ตั้งแต่ชั้นแรกเลย พรหม เขาเรียกปาริสัชชา พรหมลิ่วล้อ นี่ขนาดนั้น ไม่ใช่พระอนาคามีทุกองค์จะไปอยู่สุทธาวาส แต่ว่าพระอนาคามีพ้นกามแล้ว ไม่เกิดในกามาวจร ไม่เป็นเทวดา ไม่เป็นมนุษย์ เพราะว่าอะไร เพราะปัญญานั้นแก่รอบ รู้แล้วกายนี้ไม่มีของดีเลย กายนี้คือตัวทุกข์ จิตสลัดคืนกายให้โลกไปแล้ว นี้พอภาวนา พอมันคืนกายให้โลกไป การปฏิบัติมันจะบีบวงกระชับเข้ามา เรียกกระชับพื้นที่ กระชับเข้ามาที่จิต เข้ามาเรียนรู้จิต บางคนไม่ได้เริ่มจากเรียนรู้กาย เรียนรู้จิตโดยตรงเข้ามาเลย แต่เวลาจะผ่านกามคือผ่านทางกาย การปฏิบัติมันก็จะเข้ามาที่จิต ฉะนั้นการปฏิบัติในขั้นสุดท้ายนี้ มาตะลุมบอนลงที่จิตทั้งนั้นเลย
ค่อยภาวนา ก็จะเห็นจิตทุกชนิดไม่เที่ยง จิตทุกชนิดทนอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย จิตทุกชนิดไม่อยู่ในอำนาจบังคับ สั่งไม่ได้ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา จะเห็นเอง เห็นจิตอย่างที่จิตเป็นนั่นล่ะ จิตเป็นอะไร เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะรู้แจ่มแจ้ง เรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็ละสมุทัย หมดตัณหา พอหมดตัณหาก็ไม่มีการสร้างภพ เมื่อไม่มีภพ มันก็ไม่มีการเกิด คือไม่มีชาติ เวลาตายก็ไม่มีจุติ ไม่มีการตาย เรียกว่าพ้นจากความตายตั้งแต่ยังไม่ตาย ขณะจิตสุดท้ายของคนที่ยังต้องเกิดอีก มันจะมีจิตดวงหนึ่งชื่อจุติจิต เมื่อภาวนาถึงขีดสุดไปแล้ว มันไม่มีตัวนี้แล้ว ดับ สงบลงไปเฉยๆ
ต้องเห็นความจริงของจิตถึงจะวางจิตได้ ถ้าเรายังไม่เห็นความจริงของจิตใจ เรียกว่าเรายังรู้ทุกข์ไม่แจ่มแจ้ง อวิชชายังเหลืออยู่ ถึงจะเห็นกายเป็นทุกข์ แต่มันไม่เห็นแจ้งว่าจิตเป็นทุกข์ อวิชชายังอยู่ ไม่ได้เห็นว่าขันธ์ 5 ทั้งหมดเป็นทุกข์ อวิชชาก็คือการที่ไม่รู้ทุกข์นั่นล่ะ ไม่รู้ว่าขันธ์ 5 ทั้งหมดคือตัวทุกข์ พอไม่รู้ว่าขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ มันก็เข้าไปยึด รักใคร่ยึดถือ มีอวิชชาปรุงสังขาร ปรุงไปเรื่อยๆ จนเกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์ ธรรมะประณีต ธรรมะลึกซึ้ง ค่อยเรียน ค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อนข้ามขั้น
เวลาหลวงพ่อเทศน์ มันก็จะมีตั้งแต่ง่ายที่สุดจนถึงยากที่สุด เพราะคนฟังมันมีหลายระดับ จะได้ประโยชน์เฉพาะส่วนที่เหมาะกับเรา อย่างเวลาฟังที่หลวงพ่อเทศน์ ส่วนที่เกินระดับที่เราจะเข้าใจ จิตมันไม่รับ จิตมันจะไม่รับ สมองพยายามจำ แต่จิตไม่รับหรอก แต่ตรงไหนธรรมะนั้นพอดี กับภูมิจิตภูมิธรรมของเรา จิตมันจะตื่นตัวขึ้นมา แล้วมันจะฟัง แล้วมันจะเข้าใจตรงนั้น เข้าใจในจุดนั้น ฉะนั้นเวลาฟังเทศน์ไม่ต้องตกใจ หลวงพ่อเทศน์อะไรฟังไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ค่อยฟังแล้วเราเข้าใจ ในระดับที่เราควรเข้าใจ ธรรมะมีประโยชน์ทั้งนั้นล่ะ
ปฏิจจสมุปบาท
หลวงพ่อไปเห็นอันหนึ่ง มีคนไปเขียนวงกลม พูดถึงปฏิจจสมุปบาท ไปวาดปฏิจจสมุปบาทเป็นวงกลม พระพุทธเจ้าไม่ได้วาดปฏิจจสมุปบาทเป็นวงกลม วาดในแนวนี้ ไม่วาดในแนวนี้ อวิชชาเป็นปัจจัยจนถึงทุกข์ ทุกข์ดับลงไปจนถึงอวิชชาดับ ขึ้นแนวนี้ มีคนไปเขียนเป็นวงกลม อธิบายฟังแล้วน่าเลื่อมใส พอไปถึงชาติ ชรา มรณะ ตัวทุกข์ ก็ต่อมรณะเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา นี่มันทำลายคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่ามรณะเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา ท่านสอนบอกอาสวะเป็นปัจจัยของอวิชชา อวิชชาก็เป็นปัจจัยของอาสวะ 2 อันนี้หล่อเลี้ยงกัน หล่อเลี้ยงกัน มันไม่ใช่แนวดิ่งอย่างนี้
ฉะนั้นธรรมะ อ่านมาแล้วก็ตีความ มันจะเหมือนที่หลวงปู่มั่นบอก “ธรรมะพอเข้าไปอยู่ในจิตปุถุชน มันกลายเป็นสัทธรรมปฎิรูปทีเดียว” เป็นธรรมะปลอม ฉะนั้นเราไม่เรียนธรรมะด้วยการอ่านๆ แล้วก็คิดๆ วิเคราะห์เอาเอง ต้องเรียนด้วยการเห็นของจริง ดูของจริงไปเรื่อยๆ
อย่างอาสวะกับอวิชชา อวิชชาเป็นความไม่รู้แจ้งอริยสัจ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ปรุงขึ้นไป จนเกิดตัณหาอุปาทานภพ ชาติ ทุกข์ อวิชชาความไม่รู้แจ้งอริยสัจ อะไรเป็นปัจจัยของอวิชชา อาสวะ อาสวะมันเป็นกิเลสชนิดหนึ่งแปลกๆ มันซึมซ่าน มันซึมซ่านเข้ามาย้อมจิตเยิ้มอยู่ ซึม เรียกว่าเป็นกิเลสที่ชุ่มอยู่ในจิต มันชุ่ม เหมือนมันน้ำซึมเข้ามา เหมือนในร่างกายเรานี้ มีความชุ่มชื้นอยู่ ร่างกายที่แห้งๆ มีน้ำอยู่ จิตมันถูกอาสวะนี้ย้อม มันคล้ายๆ ดองเอาไว้ หมักเอาไว้ ซึมซ่านอยู่
อาสวะมี 4 ชนิด กามาสวะ ความรักใคร่ผูกพันในกามคุณอารมณ์ ในของรักของชอบ ภวาสวะ ภพ จิตมันถูกภวาสวะย้อม จิตมันพร้อมจะสร้างภพ จิตถูกกามาสวะย้อม มันก็พร้อมจะหลงไปในกาม จิตถูกทิฏฐาสวะ ทิฏฐิ คือความเจ้าความคิดเจ้าความเห็น ความเห็นผิดอะไรพวกนี้ จิตก็พร้อมจะมีความคิดเห็น เซลฟ์จัดอะไรอย่างนี้ มันพร้อมจะมี เพราะว่ามันมีอาสวะนี้ย้อมอยู่ลึกๆ เชื่อมกัน แหม มันดองอยู่ อวิชชาสวะ มันย้อม ก็ทำให้เราไม่เห็นอวิชชา ที่จริงอาสวะทั้ง 4 ตัว ทำให้เราไม่เห็นอวิชชา มองไม่ออกว่าจิตมีอวิชชาอยู่ เพราะมันจะหลงเลย เพราะฉะนั้นตัวอาสวะนี้ เป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงอวิชชา แล้วอวิชชาก็เป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงอาสวะ
ถ้าเมื่อไรเรารู้แจ้งเห็นจริง รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง กายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือทุกข์ ขันธ์ 5 นี้คือทุกข์ จิตที่รู้อยู่อย่างนี้ อาสวะจะย้อมไม่ได้ อย่างพอกามาสวะ กาม ความรู้สึกในกามผุดขึ้นมา ไม่สามารถย้อมจิตได้ มันจะสลายไปทันทีเลย จิตจะหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะว่ามันรู้ทุกข์
พอจิตมันจะสร้างภพ มันเคยชินที่จะสร้างภพ ของเราจิตมันสร้างภพตลอดเวลา เราไม่เคยเห็นหรอก ค่อยภาวนาเราจะเห็นว่าจิตมันสร้างภพ พอเป็นนักปฏิบัติ ก็ต้องวางฟอร์มให้เป็นนักปฏิบัติ ทำจิตทื่อๆ แข็งๆ อะไรขึ้นมา พอจิตมันจะปรุงภพขึ้นมา อาสวะ อาสวะผลักดันจะให้ปรุงภพ เรารู้ทุกข์อยู่ กายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือทุกข์ จิตมันไม่ตั้งภพขึ้นมาแล้ว มันพ้นจากภพ
เวลาทิฏฐิมานะอะไรพวกนี้เกิดขึ้นมา เรารู้ทุกข์แจ่มแจ้งอยู่ คือมีวิชชา ไม่มีอวิชชา จิตจะไม่ไปหลงอยู่ในทิฏฐิมานะอะไรทั้งหลาย แล้วในขณะที่มีวิชชา รู้ทุกข์ รู้ว่าขันธ์ 5 เป็นทุกข์ รู้ว่ากายนี้จิตนี้คือตัวทุกข์ ในขณะนั้นความหลงของอวิชชาสวะ จะมาย้อมให้จิตหลง ไม่เป็น เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นตัวอาสวะมันผลักดันจิต ซึ่งยังไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ให้ถูกอวิชชาครอบงำ แล้วก็ปรุงแต่งจนเกิดภพ เกิดชาติ เกิดทุกข์ขึ้นมา
แต่ถ้าล้างอวิชชาออกจากจิตแล้ว อาสวะจะไม่สามารถย้อมจิตได้อีกต่อไป แล้วตัวอาสวะถ้ามันเข้ามาย้อมจิตแล้ว จิตจะไม่เห็นอวิชชา จิตจะไม่เกิดวิชชา อย่างพอมันย้อมเข้ามาปุ๊บ เราจะไม่เห็นว่ากายนี้จิตนี้คือตัวทุกข์ จะไม่เห็นแล้ว มันกลายเป็นกายเราจิตเราขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นตัวที่เป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงอวิชชาคือตัวอาสวะ แล้วตัวที่เป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงอาสวะก็คือตัวอวิชชา เวลาจะทำลาย ทำลายที่ไหน รู้ทุกข์ลงไป กายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือทุกข์ ถ้าจิตมันรู้แล้ว แจ่มแจ้งแล้ว เรียกมันทำลายอวิชชาได้ อาสวะจะย้อมไม่ได้แล้ว จิตจะพ้นจากอาสวะ เพราะความไม่ถือมั่นในกายในจิต
ในพระไตรปิฎกเขียนบอกว่า จิตพ้นจากอาสวะ เพราะความไม่ถือมั่น ไม่ถือมั่นในกายในจิตอีกต่อไปแล้ว จิตจะพ้นจากอาสวะ เพราะฉะนั้นไม่ใช่มรณะเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา คนละโลกเลย คนละเรื่องเลย แล้วเขาสาธุๆๆ กัน มันสร้างสมความคลาดเคลื่อน เกิดสัทธรรมปฎิรูปที่แรงขึ้นๆ
ดูจากของจริง
ถึงจะได้รสชาติของธรรมะที่แท้จริง
เทศน์ยากก็ฟังไว้ จะสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ว่าจะปฏิบัติอย่างไร รู้ทุกข์ไว้ รู้ทุกข์ไว้ อะไรคือทุกข์ กาย จิตคือทุกข์ รู้อย่างไร รู้อย่างที่มันเป็น รู้กายอย่างที่กายเป็น คือเป็นอะไร เป็นไตรลักษณ์ รู้จิตอย่างไร รู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตเป็นอย่างไร จิตเป็นไตรลักษณ์ จะรู้กายรู้จิตว่าเป็นไตรลักษณ์ได้ ไม่หลง ไม่ลืมกายลืมใจ ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน แล้วก็ไม่บังคับแทรกแซงกาย แทรกแซงจิต เรียกว่ารู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็น ไม่ลืมกาย ไม่ลืมจิต แล้วก็ไม่ไปแทรกแซงให้มันผิดจากความเป็นจริง
หัดรู้ไปเรื่อยๆ หัดรู้อย่างไร หัดหมายรู้ หัดหมายรู้ ถ้าหมายรู้ถูก ต่อไปความคิดมันก็จะถูก เมื่อความคิดถูก ความเห็นมันก็จะถูก ความเห็นถูกเขาเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั่นล่ะ เกิดขึ้นเมื่อไร อวิชชาตายไปแล้วเมื่อนั้น พออวิชชาตายไปแล้ว อาสวะก็ย้อมจิตไม่ได้ ชาติภพอะไร มันก็ไม่สามารถก่อตัวขึ้นที่จิตได้แล้ว ภพชาติไม่ได้ก่อตัวที่อื่นเลย มันก่อตัวที่จิตนี้ล่ะ เมื่อจิตยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง ภพชาติก็ก่อตัวขึ้นได้ ด้วยกำลังของอาสวะ
สรุปก็คือรู้ทุกข์ไว้ รู้สึกกายรู้สึกใจไป ทีแรกก็ช่วยมันหมายรู้ หมายรู้ลงไป คอยนึกถึงร่างกายตัวเอง ก็ดูไปเรื่อย มันเป็นของไม่สวยไม่งาม เป็นปฏิกูลอสุภะ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หมายรู้อย่างนี้ หมายรู้ไปก่อน คือจงใจมองร่างกาย ว่ามันเป็นปฏิกูลอสุภะ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พอหมายรู้อย่างนี้เรื่อยๆ จิตก็ไม่หลงไปคิดว่า ร่างกายนี้เป็นของดีของวิเศษ เป็นตัวกูของกู เวลาคิดมันก็จะคิด โดยมีสัญญาความหมายรู้ที่ถูกต้องมันชี้นำให้ พอเห็นด้วยจิตที่ไม่ไปหลงตามสัญญาที่ปรุงแต่ง ต่อไปจิตก็เกิดความเห็นถูก รู้ถูก เข้าใจถูก มันรู้ถูก แล้วมันก็เลยเข้าใจถูก
ในขั้นของการที่เราดูจิตใจก็เหมือนกัน จะเห็น หมายรู้จิตใจ จิตใจนี้ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เวลาหมายรู้กาย หมายรู้เป็นปฏิกูลอสุภะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หมายอย่างนี้ ถ้าหมายรู้จิตมีแต่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดูอย่างนี้ ก็ไม่มีปฏิกูล จิตมันไม่มีร่างกาย มันไม่มีปฏิกูล จิตตัวมันสว่างไสว พอหมายรู้ถูกเรื่อยๆ ความคิดเราก็จะถูก สุดท้ายความเห็นก็จะถูก พอความเห็นถูก ความเห็นผิดก็ถูกทำลายไป อวิชชามันเป็นความเห็นผิด ถูกทำลาย ต่อไปอาสวกิเลสอะไรก็ย้อมจิตไม่ได้ ภพชาติก็ตั้งขึ้นมาในจิตไม่ได้อีกต่อไปแล้ว สรุปง่ายๆ ก็คือรู้สึกตัวไว้ คอยดูกายไป คอยดูจิตใจของเราไป หมายรู้ให้ถูกไป แล้ววันหนึ่งธรรมะทั้งหมดที่หลวงพ่อเล่าให้ฟัง เราจะเข้าใจด้วยจิตของตนเอง
ตอนนี้คล้ายๆ สมมติว่าพวกเราไม่เคยกิน ไม่เคยกินอะไรดี ไม่เคยกินปลาแซลมอน สมมติอย่างนี้ หลวงพ่อก็มาบรรยาย ปลาแซลมอนเป็นอย่างนั้นๆ ฟังแล้วเหมือนรู้เรื่อง แต่ไม่รู้หรอก เคยเห็น เคยลองกินแล้ว ไม่เห็นต้องมาให้ใครบรรยายเลยก็รู้เอง ไม่เคยกินทุเรียน หลวงพ่อมาบรรยายว่าทุเรียนมีสีอย่างนั้น มีกลิ่นอย่างนี้ มีรสอย่างนี้ ฟังแล้วไม่เก็ต ลองกินเข้าไปแล้วถึงจะรู้ ธรรมะนี้ก็เหมือนกัน ฟังแล้วไม่รู้รสหรอก ต้องลิ้มรสด้วยตัวเอง ดูจากของจริงถึงจะได้รสชาติของธรรมะที่แท้จริง
วัดสวนสันติธรรม
13 มกราคม 2567