ใช้รูปธรรมนามธรรมเป็นอารมณ์กรรมฐาน

รู้สึกตัวไว้ จิตไปข้างนอก เราจะทำกรรมฐานอยากให้พัฒนาเร็วๆ ก็ต้องดูสภาวธรรมให้ออก ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมตามยถากรรม ได้ยินว่าคนอื่นเขาหายใจ ก็หายใจ ได้ยินว่าเขาพุทโธ เราก็พุทโธ เห็นคนอื่นเขาดูพองยุบ ก็เอากับเขาด้วย หรือทำจังหวะ ขยับไม้ขยับมือ อันนั้นมันแค่เปลือก รูปแบบของการปฏิบัติ อย่างเราท่องพุทโธๆ พุทโธเป็นอารมณ์บัญญัติ เป็นเรื่องที่เราคิดขึ้นเอง ไปท่องอย่างอื่นก็ได้ ก. เอ๋ย ก. ไก่ อะไรก็ได้ ฉะนั้นลำพังทำกรรมฐาน ถ้าเราไม่เห็นตัวสภาวธรรมจริงๆ มันจะพัฒนายาก อย่างมากก็ได้แค่ความสงบ

อารมณ์กรรมฐานมีทั้งหมด 4 ชนิด อารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้ อันที่หนึ่ง เรียกอารมณ์บัญญัติ คือเรื่องราวที่เราปรุง เราคิดขึ้นเอง เราคิดเรื่องราวต่างๆ ขึ้น คือความคิดทั้งหลาย ตัวความคิดทั้งหลายมันไม่ใช่ของจริง เราเป็นผู้หญิง เราคิดว่าเราจะเป็นชายงาม หรือว่าเป็นผู้ชายอยากเป็นนางงามจักรวาล คิดได้ไหม คิดได้ แต่มันไม่ใช่ความจริง

 

ความสงบของจิต
เป็นตัวสนับสนุนการเจริญปัญญา

เพราะฉะนั้นเวลาเราจะภาวนาในขั้นของการเจริญปัญญา เราต้องพ้นออกจากโลกของความคิดความฝัน พ้นจากการจินตนาการ มารู้อารมณ์ที่เป็นสภาวะจริงๆ อารมณ์บัญญัติไม่มี ไม่เป็นสภาวธรรม ไม่มีไตรลักษณ์ อย่างร่างกายจิตใจเราเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนัตตา เราสั่งไม่ได้ สั่งว่าอย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย สั่งไม่ได้ สั่งจิตใจว่าจงมีแต่ความสุขอะไรอย่างนี้ สั่งไม่ได้ แต่อารมณ์บัญญัติ นึกว่าเรามีความสุขอย่างไรก็นึกได้ มันไม่ใช่ของจริง

การเจริญปัญญา เราต้องเห็นอารมณ์ที่เป็นของจริง คือเป็นสภาวะจริงๆ อารมณ์ที่เป็นสภาวะ ที่จะใช้เจริญปัญญามี 2 อย่าง คือรูปธรรมกับนามธรรม รูปธรรมเป็นสภาวะที่มีอยู่ ไม่ใช่เรื่องที่คิดฝัน นามธรรมก็เป็นของที่มีอยู่ เช่น ความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ความจำได้หมายรู้ ความปรุงดีปรุงชั่วอะไร นี่เป็นสภาวะที่เป็นนามธรรม การเจริญปัญญาต้องใช้อารมณ์ที่ถูกต้อง คือรูปธรรมนามธรรม

อารมณ์ชนิดที่สี่คืออารมณ์นิพพาน เอามาทำวิปัสสนาไม่ได้ นิพพานเที่ยง นิพพานเป็นบรมสุข แต่นิพพานมีลักษณะสำคัญคือเป็นอนัตตา ไม่มีใครเป็นเจ้าของ พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว นิพพานก็ยังอยู่ ไม่หาย ฉะนั้นเวลาเราจะภาวนา เราต้องดูสภาวะจริงๆ นิพพานเราไม่เคยเห็น ปุถุชนไม่เคยเห็นนิพพาน คนที่เห็นพระนิพพานครั้งแรกตอนที่ได้โสดาปัตติมรรค เป็นชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง ฉะนั้นเราไม่เคยเห็นนิพพาน เราไม่เอานิพพานมาเป็นเครื่องมือ เป็นเครื่องถูกรู้ในการทำวิปัสสนากรรมฐาน ในการเจริญปัญญา

คนจำนวนมากไม่รู้หลักตัวนี้ว่า เราเจริญปัญญาต้องใช้รูปธรรมนามธรรมเป็นอารมณ์ ของถูกรู้ถูกดู ก็ไปนั่งบังคับจิตให้นิ่งๆ ว่างๆ อะไรอย่างนี้ ไปแต่งจิต คิดว่าทำความสงบมากๆ แล้วจะเกิดปัญญา ทำความสงบมันก็ได้ความสงบ เจริญปัญญามันถึงจะได้ปัญญา มันคนละเรื่องกัน แต่การเจริญปัญญา ถ้าจิตไม่สงบ ไม่มีเรี่ยวมีแรง ก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นความสงบของจิตเป็นตัวสนับสนุนการเจริญปัญญา

การที่จะฝึกจิตให้สงบ มีเรี่ยวมีแรง ตั้งมั่น เด่นดวง เรียกว่าการทำสมถกรรมฐาน เป็นงานสนับสนุนการทำวิปัสสนากรรมฐาน คือการเจริญปัญญาเป็นตัวเนื้องานที่แท้จริง จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ต้องทำวิปัสสนา พระพุทธเจ้าบอก “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” ปัญญาตัวนี้เป็นวิปัสสนาปัญญา ฉะนั้นถ้าไม่ได้เจริญวิปัสสนา ไม่ได้เจริญปัญญา เห็นความจริงของรูปธรรมนามธรรม จะไม่มีวันบรรลุมรรคผลนิพพานหรอก

ไปนั่งสมาธิ นั่งปุ๊บจิตสงบปั๊บ ก็สงบอยู่อย่างนั้นล่ะ ไปไหนไม่ได้ มีคนปฏิบัติจำนวนมากที่ไม่รู้หลักตัวนี้ ก็ไปทำความสงบและก็ไปอยู่กับความสงบ อยู่ไปกี่ปีๆ มันก็อยู่อย่างนั้นล่ะ หลวงพ่อเคยเจอคุณยายคนหนึ่งอยู่กับความสงบมาตั้งเกือบ 70 ปี แล้วก็สงบอยู่อย่างนั้น เวลากระทบอารมณ์อะไรที่ไม่ถูกใจ ไม่สบายใจ กำหนดจิตปุ๊บ โลกธาตุหายไปเลย ร่างกายก็หายไป เหลือจิตดวงเดียวสงบนิ่ง สว่างไสว มีแต่ความสุขอยู่อย่างนั้น

คนนี้แกมาขอให้หลวงพ่อแก้ให้ แกรู้ว่าไม่ใช่ทาง มาขอให้หลวงพ่อแก้ให้ หลวงพ่อแก้ไม่ไหวคนนี้ เพราะว่าติดสงบมาเกือบ 70 ปี ถ้าหลุดออกจากตรงนี้มันจะฟุ้ง ไม่รู้จะฟุ้งขนาดไหนเลย แล้วอายุมากแก้ไขไม่ทันแล้ว ถ้าตายไปด้วยจิตที่ฟุ้งซ่านก็จะไปอบาย ที่ภาวนามาหลายสิบปี เกือบ 70 ปีเลย ก็ล้มเหลวแล้ว กลายเป็นภาวนาแล้วก็ตกนรกไปได้ นี่โทษของการปฏิบัติที่ไม่รู้หลัก ไปทำแต่ความสงบอย่างเดียว

เมื่อ 2 – 3 วันนี้ก็มีโยมผู้ชายคนหนึ่งมาวัด ไปฝึกกรรมฐานอะไรมาก็ไม่รู้ เพ่งแน่นๆ อึดอัด รุนแรง เหมือนหน้าอกจะแตก มาตอนที่พระกำลังฉันข้าว จะมาพบหลวงพ่อ พระที่ข้างนอกนี้ท่านก็บอกหลวงพ่อฉันข้าวอยู่ ไม่ว่างหรอก ไม่ใช่เวลาที่จะพบ เขาเครียดจัด สุดท้ายร้องกรี๊ดขึ้นมา ผู้ชาย แต่ร้องกรี๊ด เสียงดังสนั่นหวั่นไหวเลย พอร้องกรี๊ด โล่งแล้ว สบายใจแล้ว กลับบ้านได้ ภาวนา กดตัวเอง ข่มๆ ข่มๆ ข่มจนทนไม่ไหว นี่ยังฉลาดไปร้องกรี๊ดๆ ถ้าไม่มีทางออกมันจะเป็นบ้าไป

 

หลักการภาวนา

เพราะฉะนั้นภาวนา ถ้าไม่รู้หลักว่าเราจะต้องเรียนรู้สภาวะ ดูสภาวะอย่างที่สภาวะมันเป็น นี่คืองานหลัก ก็ไปทำสมาธิที่ไม่ถูก ถ้าสมาธิที่ถูกดี คือจิตจะสงบ จิตจะตั้งมั่น มีความสุข มีความสงบ มีเรี่ยวมีแรง สดชื่น ทำสมาธิก็ยังทำไม่เป็น ไปกดไปข่มจิตเอาไว้ ไม่บ้าก็บุญแล้วล่ะ ยังบุญรักษา เพราะฉะนั้นเราจะปฏิบัติธรรมเราต้องรู้หลักให้ดี งานที่เราจะทำ งานหลักคือการทำวิปัสสนากรรมฐาน อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานคือรูปธรรมนามธรรม อย่างร่างกายเราเป็นรูปธรรม ความรู้สึกนึกคิด ความรับรู้ทั้งหลายเป็นนามธรรม ร่างกายเป็นตัวรูปธรรม เจริญปัญญานี้ก็ต้องรู้รูปธรรมรู้นามธรรม

ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรม ถัดจากนั้นรู้ถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปธรรม หรือเบื้องต้นรู้ความมีอยู่ของนามธรรม ถัดจากนั้นก็รู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของนามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจ แล้วต่อไปก็เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ร่างกายนี้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป ถูกความทุกข์บีบคั้น เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ จิตใจมีแต่ความไม่เที่ยง แปรปรวนตลอดเวลา แล้วก็บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เห็นความจริงของร่างกาย เห็นความจริงของจิตใจไป อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการเจริญปัญญา

ส่วนการทำสมถกรรมฐานจะให้จิตสงบ ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา ก็ต้องรู้หลัก ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ในชมพูทวีปคนทำสมาธิเยอะแยะเลย ฤๅษีชีไพรเยอะแยะ มีฤทธิ์มีเดช ทำอะไรได้แปลกๆ ก็นั่งสมาธิเข้าฌานกัน พระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะออกจากวังก็ไปเรียนกรรมฐานกับฤๅษี มันเป็นธรรมชาติ อย่างพวกเราเวลาคิดถึงการปฏิบัติ เราคิดถึงการนั่งสมาธิก่อนล่ะ เจ้าชายสิทธัตถะก็คิดอย่างนั้นล่ะ ออกจากวังมา อยากปฏิบัติธรรม ก็ต้องไปเรียนนั่งสมาธิ นั่งสมาธิแบบฤๅษี สงบ สงบอยู่เฉยๆ ออกจากความสงบมากิเลสเหมือนเดิม ความทุกข์เหมือนเดิม

ถ้าไปอยู่ในความสงบนานๆ กิเลสจะแรงกว่าเก่าอีก ทุกข์รุนแรง กระทบโลกปุ๊บ โลกเป็นฟืนเป็นไฟ ทนไม่ไหวเลย เจ้าชายสิทธัตถะบุญบารมีท่านมาก ท่านรู้ว่าสมาธิอย่างนี้ไม่มีประโยชน์อะไร เหมือนปวดหัวก็กินพาราเซตตามอล หายปวดไป เดี๋ยวก็ปวดอีก กินอีก วนเวียนอยู่แค่นั้นล่ะ จิตใจไม่มีความสุขก็ไปเข้าสมาธิ ออกจากสมาธิก็กลับมาไม่มีความสุข ไม่เห็นมีประโยชน์ตรงไหนเลย มันหนีทุกข์ไปวันๆ หนึ่ง ท่านก็เลยปฏิบัติสมาธิอีกแบบหนึ่ง เป็นสมาธิที่มีสติกำกับ ไม่ได้มุ่งไปที่สงบแล้ว ทำไปเพื่อมีความมีสติ

สมาธิอันนี้เคยเกิดกับท่านตอนท่านเด็กเล็กๆ เป็นบุญบารมีที่ท่านเคยสะสมมา จิตได้สมาธิตัวนี้ขึ้นมาโดยที่ไม่มีใครสอน เป็นเอง ไปนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ตามลำพัง ท่านทำอานาปานสติ หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว รู้ หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว ไม่ใช่หายใจออกยาวก็น้อมใจให้เพลินๆ หายใจเข้ายาว น้อมใจให้เพลินๆ

จุดสำคัญที่สมาธิของท่านต่างกับสมาธิฤๅษีมีคำว่า รู้ อยู่ด้วย หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว หายใจไปจนลมหายใจสงบลงไป จิตมีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งขึ้นมา ตอนเด็กๆ ท่านมาถึงตรงนี้ มีสติรู้ตลอดสาย ตอนที่ท่านออกภาวนาเอง ท่านก็ทำสมาธิอีก ที่ถูกมีตัวรู้อยู่ พอมีวิตกวิจารท่านก็วางวิตกวิจาร เข้าสู่ฌานที่สอง วางปีติ เข้าสู่ฌานที่สาม วางความสุข เข้าสู่ฌานที่สี่ จิตเป็นอุเบกขา ตั้งมั่นเป็นอุเบกขา มีสติ

สมาธิของพระพุทธเจ้า จิตมันเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หลุดออกจากโลกของความคิด ความเห็น ถ้าสมาธิอย่างเป็นมิจฉา นั่งแล้วก็เคลิ้ม ฝันๆ ไปเรื่อยๆ ก็เห็นโน่นเห็นนี่ นึกว่ามีฤทธิ์มีเดชมากมาย เห็นอดีต เห็นอนาคต เห็นผี เห็นเทวดา เห็นชาติก่อน เห็นชาติหน้า รู้ว่าคนนี้คิดอะไร รู้สารพัดจะรู้เลย ไม่รู้ตัว สิ่งเดียวที่ไม่รู้คือไม่รู้ตัวเอง ฉะนั้นสมาธิของพระพุทธเจ้าเป็นสมาธิที่ฝึกแล้วมีความรู้สึกตัวเอง ไม่หลง ไม่ลืม ไม่เผลอไป

เพราะฉะนั้นเราจะฝึกให้จิตสงบ จิตตั้งมั่น อย่าทิ้งรู้ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ ไม่ใช่หายใจออกก็เพ่งลมหายใจ หายใจเข้าก็เพ่งลมหายใจ แค่รู้ รู้อะไร รู้ว่าร่างกายหายใจออก รู้ว่าร่างกายหายใจเข้า หรือถ้าใช้อิริยาบถก็รู้ว่าร่างกายยืน รู้ว่าร่างกายเดิน นั่ง นอน รู้เอา พอจิตสงบ จิตรวมลงไป มันจะมีรู้อยู่ ไม่เคลิ้ม ลืมเนื้อลืมตัว มันสงบได้ถึงอรูปฌานเลย ดับโลกธาตุหมดเลย ตัวรู้ยังอยู่ ถ้าถึงฌานที่แปด ตัวรู้เหลือนิดเดียว เหลือแผ่วๆ นิดเดียว เพราะสัญญานี้มันเกือบจะดับ ถ้าสัญญาดับเมื่อไรจิตก็ดับเมื่อนั้น ถ้าจิตดับก็เป็นพรหมลูกฟักทันทีเลย ฉะนั้นต้องมีสติ มีความรับรู้อยู่ตลอดเวลา ค่อยฝึก พอจิตเราตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรง ก็มาถึงเวลาที่เจริญปัญญา

 

เจริญปัญญาด้วยการเรียนรู้กาย

เจริญปัญญาทำอย่างไร เจริญปัญญาขั้นที่หนึ่ง ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา เป็นปัญญาขั้นต้น แยกรูปแยกนามให้ได้ อย่างเวลาพวกเราฟังหลวงพ่อเทศน์ พวกเราจะเกิดสมาธิอัตโนมัติ เพราะเวลาเข้าใกล้หลวงพ่อจิตมันจะตั้งมั่นเองล่ะ มันกลัวหลวงพ่อ ไม่กล้าซ่า ใจมันก็ตั้ง ตอนนี้ใจของเราตั้งมั่นอยู่ รู้สักไหมร่างกายมันนั่งอยู่ เห็นไหม ร่างกายมันนั่งอยู่ ร่างกายที่นั่งอยู่เป็นแค่ของที่ถูกรู้ถูกดูเท่านั้นเอง นี่เราใช้รูปธรรมเป็นอารมณ์กรรมฐาน

ทีแรกเรารู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา เรารู้ว่ามีร่างกาย เราไม่ลืม ไม่หลง ไม่ให้มันหายไป แล้วก็เห็นร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู ตรงนี้มันจะเห็น เออ ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่ของที่ถูกรู้ ตรงนี้เป็นการเห็นที่ยังเจือด้วยการคิดอยู่ ยังไม่ขึ้นวิปัสสนาจริง ถ้าเราเห็นร่างกายเรื่อยๆ แล้วเราจะเห็นร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา นั่งสบายๆ เดี๋ยวเดียวก็ปวดก็เมื่อย หรือนั่งอยู่เดี๋ยวก็คัน ร่างกายมันถูกความทุกข์เบียดเบียน พอมันเมื่อยมากๆ เราก็ต้องขยับตัว ทำไมต้องขยับตัว หนีทุกข์ เราจะเห็นร่างกายมันมีแต่ตัวทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เราเริ่มมีวิปัสสนาปัญญาแล้ว เราเห็นเอา ไม่ใช่คิดเอา

ฉะนั้นเวลาจะนั่งดูกาย นั่งใจเย็นๆ ไม่ต้องดูอะไรมาก คอยดูร่างกายมันถูกความทุกข์บีบคั้นไป สังเกตไปเรื่อยๆ สั่งได้ไหม นั่งแล้วจงสบายอย่างเดียว อย่าทุกข์ ดูของจริง จะพบว่าทำไม่ได้ ร่างกายถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอด ถ้าสติสมาธิเราดีพอ ไม่ต้องรอดูร่างกาย ยืน เดิน นั่ง นอนหรอก ช้าไป เราดูร่างกายที่หายใจเข้า ลองหายใจเข้ายาวๆ ยาวที่สุดเลยสิ สุขหรือทุกข์ ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์ใช่ไหม ก็ต้องหายใจออก ตอนที่หายใจออกทีแรกก็รู้สึกสบาย แก้ทุกข์จากการที่เราหายใจเข้า หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตายเลย มันทุกข์ขนาดนั้น พอหายใจเข้าแล้วทุกข์ เราก็หายใจออกเพื่อแก้ทุกข์ของการหายใจเข้า หายใจออกนานๆ ทุกข์อีกแล้ว ต้องหายใจเข้าเพื่อแก้ทุกข์ของการหายใจออก

คอยสังเกตไป เราจะรู้เลยร่างกายนี้มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกลมหายใจ อันนี้ใจต้องมีกำลังสมาธิมากพอ ถ้ากำลังไม่พอก็นั่งดูอิริยาบถไป นั่งนานๆ ก็ทุกข์ ยืนนานๆ ก็ทุกข์ เดินนานๆ ก็ทุกข์ นอนนานๆ ก็ทุกข์ อย่างตอนเราตื่นนอน ตื่นนอนปุ๊บ อย่าเพิ่งบิดขี้เกียจ รู้สึกร่างกายก่อน โอ้ มันทุกข์ มันปวดมันเมื่อยทั้งๆ ที่นอนมาหลายชั่วโมง พอเห็นมันทุกข์เราก็บิดขี้เกียจ เพื่ออะไร เพื่อแก้ทุกข์

พอลุกขึ้นมา ไปอาบน้ำ ไปล้างหน้า ทำไมต้องอาบน้ำ ต้องล้างหน้า ร่างกายนี้มีแต่ปฏิกูลอสุภะ ไม่คอยบำบัดเยียวยาก็สกปรกโสโครก ตัวเองยังทนตัวเองไม่ได้เลย เหม็นสาบตัวเอง พอถึงเวลาต้องไปอึอีกแล้ว อาหารที่กินเข้าไปก็ดีๆ อึออกมาไม่เห็นจะดีเลย ร่างกายนี้เหมือนโรงงานชั้นเลว เอาวัตถุดิบที่ดีใส่เข้าไป ผลผลิตที่ออกมาเลวเลย ทนดูไม่ได้ แค่กลิ่นก็ไม่ไหวแล้ว ร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ

คอยรู้ไปอย่างนี้ เราเห็นร่างกาย ตรงนี้ยังไม่เป็นวิปัสสนา ตรงนี้จะทำให้จิตสงบ ตรงที่เราเห็นร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะ จิตจะสงบ ได้สมาธิอีกแบบหนึ่ง แล้วถ้าจิตมันตั้งมั่นอยู่ ใช้ได้เลย ดูร่างกายไปเรื่อยๆ เราจะเห็นร่างกายถูกความทุกข์บีบคั้นตลอดเวลา หรือบางคนก็เห็นร่างกายเป็นธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก กินอาหารเข้าไปแล้วก็ขับถ่ายออก มีธาตุเข้าไปแล้วก็มีธาตุไหลออกไป ดื่มน้ำแล้วก็ขับถ่ายออกไป ธาตุมันหมุนเวียน หายใจเข้าแล้วก็หายใจออก ธาตุมันหมุนเวียนอยู่

ร่างกายนี้ไม่ใช่อะไรเลย ร่างกายเป็นที่ประชุมของธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มารวมกันอยู่ด้วยกำลังของกรรม กรรมที่ทำให้ตัวนี้มารวมกันเรียกว่าชนกกรรม ทำให้เราเกิดมามีร่างกายอย่างนี้ พอมีร่างกายอย่างนี้ ก็คิดว่าเป็นตัวเป็นตนที่แท้จริง แต่พอมาทำวิปัสสนาเราจะเห็น ร่างกายมันเป็นแค่ก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก เฝ้ารู้เฝ้าดูไป สุดท้ายมันก็ถอดถอนความเห็นผิดว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ แล้วตัวของร่างกายเองก็เป็นตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่ของดีของวิเศษ ที่ควรรักควรหวงแหนอีกต่อไป พอเราเห็นความจริงของร่างกาย ไม่ใช่ของดีแล้วล่ะ จิตก็เบื่อหน่าย คลายความยึดถือ ถึงจุดหนึ่งจิตจะปล่อยวางร่างกาย ตรงที่จิตปล่อยวางร่างกายได้จริงๆ เป็นภูมิจิตภูมิธรรมระดับพระอนาคามี เราก็ภาวนาต่อไป เรียนรู้กายจบแล้ว เรียนรู้จิตใจไป

 

ลีลาการปฏิบัติ

ถ้าเรียนไปตามลำดับ เรียนจากกายแล้วมาเห็นเวทนา ร่างกายนี้มันเจ็บปวด ถัดจากนั้นก็เรียนรู้เข้ามาถึงจิต นี่เรียนลำดับ กาย เวทนา จิต ธรรม แต่ลีลาการปฏิบัติจริงไม่เป็นอย่างนี้หรอก จะเริ่มต้นจากกายเลยก็ได้ จะเริ่มจากเวทนาก็ได้ จะเริ่มจากจิตเลยก็ได้ จะเริ่มจากธัมมานุปัสสนาเลยก็ยังได้ ถ้าปัญญาแก่กล้าพอ

แต่ถ้าจะพูดให้เต็มรูปแบบ รู้สึกกายไป เห็นความจริงของกาย ในกายมีอะไรอยู่ ในกายมีเวทนาอยู่ ร่างกายก็ไม่ใช่เรา เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ มีเวทนาคือความทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกข์ขณะ ความทุกข์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงหรอก เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ไม่ทุกข์ในร่างกายนี้ เดี๋ยวทุกข์ตรงนั้น เดี๋ยวทุกข์ตรงนี้ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ว่าเราบังคับไม่ได้ สั่งว่าอย่าทุกข์ อย่าปวด อย่าเมื่อย อย่าหิว อย่าหนาว อย่าร้อน อย่ากระหายน้ำ อย่าปวดอึปวดฉี่ สั่งไม่ได้ เป็นอนัตตา

เราดูตัวเวทนา เราก็จะเห็นกายนี้เราก็สั่งไม่ได้ เวทนาเราก็สั่งไม่ได้ อย่าปวดอย่าเมื่อย สั่งไม่ได้ อย่าคัน สั่งไม่ได้ แล้วถัดจากนั้นถ้าดูไปตามลำดับ เราจะเห็นว่าเวลาเวทนาเกิดขึ้น พอมีความสุขเกิดขึ้น ใจมันจะยินดีพอใจ เราดูเข้ามาที่จิตตานุปัสสนาแล้ว เราเห็นราคะเกิดขึ้น เรายินดีพอใจ เวลาความทุกข์เกิดขึ้น โทสะก็แทรกเข้ามา ตรงที่เราเห็นโทสะ เป็นการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

กายานุปัสสนามีกายเป็นอารมณ์ เวทนานุปัสสนาดูเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ทางกาย ความรู้สึกสุขทุกข์ ความเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ทางใจ พอก้าวมาสู่จิตตานุปัสสนา เราจะเห็นเวลามีความสุขเกิดขึ้น จิตก็มักจะปรุงราคะขึ้นมา ยินดีพอใจ เวลามีความทุกข์เกิดขึ้น จิตก็ปรุงโทสะ ไม่พอใจ หงุดหงิด เวลาไม่สุขไม่ทุกข์ อุเบกขาเวทนา จิตมักจะเผลอๆ เพลินๆ โมหะเอาไปกินเสียส่วนใหญ่ เราสังเกต เราดูเข้ามาได้ถึงกิเลสตัวเองแล้ว

ร่างกายเป็นของที่นอกที่สุด เวทนาก็ลึกเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง พอถึงจิตตานุปัสสนา รู้ทันจิตที่เป็นกุศลอกุศล เป็นปฏิกิริยาต่อเวทนา ตัวนี้เข้าใกล้จิตมากขึ้นแล้ว เรียกว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าเราเห็นถึง เช่น กระทบอารมณ์ไม่ดี โทสะเกิด เราเห็นโทสะ โทสะเป็นของถูกรู้ถูกดูเหมือนกัน โทสะยังไม่ใช่จิตหรอก เราจะสามารถแยกโทสะกับจิตออกจากกันได้ จิตจะตั้งมั่นเป็นคนดู โทสะเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาแล้วก็ผ่านไป ราคะเกิดขึ้นมา ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เฉยๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป จิตเป็นแค่คนเห็น เป็นแค่ผู้รู้ผู้เห็น

แล้วเราจะรู้เลยว่าความปรุงดีปรุงชั่วทั้งหลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปทั้งสิ้น จะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องเลวเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เสมอกัน ไม่มีอะไรดีกว่าอะไร ถึงตรงนี้เรารู้แล้วว่าสังขาร หรือความปรุงดีปรุงชั่วกับจิตนี้คนละอันกัน เราจะเข้ามาเห็นตัวจิต ตัวจิตที่แท้จริง แล้วคราวนี้เราก็จะเห็นการทำงานของจิต จิตมันก็ออกไปกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอมันกระทบอารมณ์แล้ว มันก็เกิดกุศลบ้างเกิดอกุศลบ้าง สั่งไม่ได้ ควบคุมอะไรไม่ได้

เฝ้ารู้เฝ้าดูไป พอดูเราเห็นกิเลสที่ละเอียดขึ้น จะเห็นกิเลสที่ละเอียดไม่ใช่แค่โลภ โกรธ หลงเกิดแล้วผ่านหรอก เราเห็นกิเลสชั้นที่ละเอียดขึ้น คือกิเลสชนิดที่เรียกว่านิวรณ์ นิวรณ์เป็นกิเลสที่ทำหน้าที่ขวางกั้นคุณงามความดี เช่น เวลาเราตั้งอกตั้งใจภาวนา กามฉันทะนิวรณ์แทรกเข้ามาแล้ว นั่งนานแล้ว นอนดีกว่า ฝืนใจนั่งต่อไปเดี๋ยวเป็นอัตตกิลมถานุโยค แหนะ มันสอนเก่งเว้ย สอนฟังแล้วเป็นธรรมะ จะเดินจงกรมไป เดินไปๆ ตัวขี้เกียจนี้แทรกเข้ามาแล้ว ตัวพยาบาท ใจโหยหาถึงเตียงนอน เป็นกามฉันทะแทรกเข้ามา

บางทีมันฉลาดกิเลสนี่ โอ้โห ใครที่คิดจะหลอกกิเลส ไม่ได้กินหรอก นี่พูดแบบตรงไปตรงมาเลย ไม่มีใครหลอกกิเลสได้หรอก มีแต่ถูกกิเลสหลอก บางทีกิเลสมันหลอกเราสาหัสสากรรจ์ เรานั่งสมาธิ กะจะนั่ง 2 ชั่วโมง พอนั่งไปชั่วโมงหนึ่ง เมื่อยเต็มทีแล้ว ถ้านั่งต่อไปเดี๋ยวมันเป็นอัตตกิลมถานุโยค ทรมานตนเอง ไม่ใช่ทางสายกลาง นอนดีกว่าอะไรอย่างนี้ นี่มันหลอกๆ หรือบางทีภาวนา บางท่านภาวนาจะแตกหักข้ามภพข้ามชาติอยู่แล้ว มันเห็นจิตนี้ใกล้จะระเบิดแล้ว มันทนอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว จะแตกสลายแล้ว ใจก็ห้าวหาญ ตายเป็นตาย ไม่กลัว กิเลสก็หลอก เฮ้ย ถ้าระเบิดแล้วตายไม่เป็นไร คนอื่นไม่เดือดร้อน แต่ว่าถ้าระเบิดแล้วบ้า เดือดร้อน ใจสะเทือนเลย ใจอยากถอยเลย

เพราะฉะนั้นมันจะคอยหลอกเราเวลาที่เราจะสร้างคุณงามความดี กิเลสมารพวกนี้มันจะหลอกเรา อย่างเจ้าชายสิทธัตถะกำลังจะตรัสรู้แล้ว มารก็มาไล่ที่ ท่านก็คิดถึงบุญบารมีที่สร้าง ความตั้งใจ ความปรารถนาที่จะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อจะช่วยสัตว์โลก ถ้าจะตายก็ตาย ยอมตาย พอท่านยอมตาย มารก็แพ้ไปเลย ใจต้องเข้มแข็ง ไม่อย่างนั้นใจสู้กิเลสไม่ได้

จิตตานุปัสสนากับธัมมานุปัสสนามันจะต่างกัน จิตตานุปัสสนา เราเห็นตัวกิเลสตรงๆ เห็นราคะ โทสะ โมหะอะไรเกิดดับๆ ไป หรือกุศลเกิดแล้วดับไป ในธัมมานุปัสสนาเราจะรู้ลงไปถึงเหตุถึงผลของมัน ทำไมนิวรณ์เกิด ทำไมกามฉันทะเกิด ทำไมพยาบาทเกิด ทำไมอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจเกิด ทำไมความลังเลสงสัยเกิด ทำไมความเซื่องซึมเกิด จะรู้เหตุรู้ผลแล้วจิตก็ชนะ

หรือกุศลที่เกิดไม่ใช่อโลภะ อโทสะ อโมหะธรรมดา กุศลในธัมมานุปัสสนาสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เป็นกุศลเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น คือตัวโพชฌงค์ 7 เป็นองค์ธรรมที่จะตรัสรู้แล้ว สติสัมโพชฌงค์ เป็นสติที่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ ไม่ใช่มีสติเพื่อจะให้เกิดปัญญาอย่างที่เราทำกัน คนละแบบกัน แต่ละองค์ธรรมมันจะประณีตลึกซึ้งขึ้นไป ฉะนั้นธัมมานุปัสสนาเล่นยาก

หรือถัดจากนั้นเราก็ดูเข้าไปเห็นขันธ์ๆ เวลารู้กายนี่ 1 ขันธ์ รู้เวทนาอีกขันธ์หนึ่ง จิตตานุปัสสนาอีกขันธ์หนึ่ง มาถึงธัมมานุปัสสนารู้มัน 5 ขันธ์เลย เห็นขันธ์ 5 ทำงาน เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยง การทำงานเป็นแท็คทีมของขันธ์ แล้วก็รู้มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือเห็นธาตุ เรียนรู้ประณีตลึกซึ้งมาก อย่างเราเรียนกาย เรียนเวทนาอย่างนี้ เรียนจิตตานุปัสสนา มันลงมาที่ธาตุ ธาตุตั้ง 18 ธาตุ คืออายตนะภายใน 6 อายตนะภายนอก 6 วิญญาณธาตุมีความรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอีก 6 การทำงานของธาตุ 18 ตัว ทำงานอย่างไร ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรามีเขาเลยตรงนี้ มีแต่ธาตุ ธาตุตัวนี้ไม่ใช่ธาตุแบบโลกๆ คนละธาตุคนละชนิดกัน ชื่อมันเหมือนกัน

 

สัจจบรรพ

สูงสุดในธัมมานุปัสสนา คือปฏิจจสมุปบาท คืออริยสัจ เจ้าชายสิทธัตถะบารมีท่านเต็ม สูงกว่าพวกเราเทียบกันไม่ได้ ท่านทำความสงบของจิตด้วยอานาปานสติ แล้วท่านเจริญวิปัสสนาโดยใช้ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานอันสุดท้ายเลย สัจจบรรพ ท่านเรียนรู้อริยสัจ 4 แจกแจงรายละเอียดของอริยสัจ 4 ลงไปในปฏิจจสมุปบาท

ทุกข์มีอยู่เพราะอะไรมีอยู่ เพราะชาติมีอยู่ ชาติมี 2 ชนิด ชาติโดยการเกิดอย่างพวกเราอย่างนี้เกิดมา แล้วมันมีชาติอีกชนิด ชาติตัวจริงๆ คือการที่จิตเข้าไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมาใช้งาน นั่นล่ะคือตัวชาติที่แท้จริง แต่ตัวนี้มันประณีต พวกเรายังเรียนไม่ถึง หลวงพ่อพูดคร่าวๆ ให้ฟังไว้ ชาตินี้มันมาจากภพ ภพก็คือความปรุงแต่งของจิต ความปรุงแต่งของจิตเป็นไปด้วยอำนาจของอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น อุปาทานเป็นตัณหาที่มีกำลังแรงกล้า ตัณหามันเกิดขึ้นมาเพราะกิเลส กิเลสมันแทรกอยู่กับเวทนา เวทนาคือความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ เวทนาเกิดขึ้นจากผัสสะ อยู่ๆ เวทนาไม่เกิด ต้องมีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก่อน เวทนาถึงจะเกิด

การกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าผัสสะ มีผัสสะได้เพราะอะไร เพราะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอายตนะ อายตนะมีได้เพราะมีรูปนามนี้ล่ะ ตาเราเป็นรูปธรรม มีตาอย่างเดียว ไม่มีนามธรรมไม่มีจิตไปรับรู้ก็ทำให้เกิดผัสสะไม่ได้ ต้องมีตา มีรูป มีความรับรู้ทางตา 3 อันนี้รวมกัน ทำงานร่วมกันถึงจะเกิดคำว่าผัสสะ การกระทบอารมณ์ มีตาเฉยๆ แต่ใจไปคิดเรื่องอื่น ลืมตาอยู่ คนเดินผ่านมา เราไม่รู้ว่าใครมา เพราะใจเราไปทำงานอยู่ที่อื่น มันต้องประชุมกัน มีตา มีรูป มีจิตที่ไปรับรู้อารมณ์ทางตา เห็นไหมตัวนี้ อายตนะมันจะทำงานได้ มีจิตอยู่ข้างหลัง แล้วจิตตัวนี้อาศัยความปรุงแต่งเกิดขึ้นๆ ตรงนี้ต้องค่อยเรียนค่อยภาวนา เรียนไปฟังไปเล่นๆ ยังไม่เห็นจริง ไม่มีทางเข้าใจหรอก

ความปรุงแต่งของจิตตัวนั้นมันปรุงดีบ้างปรุงชั่วบ้าง พยายามจะไม่ปรุงบ้าง มี 3 แบบ ทั้งหมดนี้เกิดจากอวิชชา ไม่รู้แจ้งเห็นจริงว่าขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ มันก็เลยไปปรุงแต่ง บางคนก็ปรุงบุญไป บางคนก็ปรุงบาปไป บางคนพยายามไม่ปรุง อวิชชาคือไม่รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ 4 ไม่รู้ว่าขันธ์ 5 คือตัวทุกข์ก็เลยละสมุทัยไม่ได้ ก็เลยไม่แจ้งนิโรธว่ามีตัณหาอยู่ มีสมุทัยอยู่ ก็จะไม่เห็นพระนิพพาน ถ้าใจเราสิ้นตัณหาเมื่อไร เราก็จะเห็นนิพพานเมื่อนั้นเลย

แล้วอะไรทำให้อวิชชาเกิด อาสวะ อันนี้กิเลสละเอียดเลย กิเลสที่หมักดอง หมักหมมอยู่ในจิตสันดานของเรา แต่มันไม่ใช่จิตหรอก มันก็แค่สิ่งแปลกปลอมอีกอันหนึ่ง เพียงแต่ว่ามันมีธรรมชาติที่ย้อมจิตอยู่ คล้ายๆ เราเป็นทาสโดยที่ไม่รู้ว่าเรามีนายทาส เราก็เลยไม่คิดจะปลดแอก ถ้าสติปัญญาแก่กล้าพอเราจะพ้นจากอาสวะได้ ที่พ้นจากอาสวะได้เพราะว่าเรารู้แจ้งอริยสัจ 4 ฉะนั้นเราไม่ต้องรู้อะไรมากหรอก รู้เรื่องอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อริยสัจ 4 เอาอันเดียวก็พอ อันใดอันหนึ่งก็ได้

แต่โดยภูมิจิตภูมิธรรมของสาวก รู้ทุกข์ไป อยู่ๆ จะไปรู้นิโรธ ทำไม่ได้ แล้วทันทีที่รู้นิโรธ ขณะนั้นรู้ทุกข์แล้ว เข้าถึงนิโรธก็รู้ทุกข์แล้ว ละสมุทัยเรียบร้อยแล้ว เกิดอริยมรรคเรียบร้อยแล้ว ให้รู้ทุกข์ อะไรคือทุกข์ ก็ขันธ์ 5 นั่นล่ะ รูป นาม กาย ใจของเราคือตัวทุกข์ เพราะฉะนั้นรู้สึกกายรู้สึกใจไว้ ทีแรกรู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ ถัดจากนั้นก็เห็นกายใจเป็นไตรลักษณ์ ถึงจุดหนึ่งจิตจะปล่อยวางความยึดถือในกายในใจได้ อาสวกิเลสจะเข้ามาอีกไม่ได้ เพราะไม่มีอวิชชา อาสวะมีอวิชชาเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มันเกิดขึ้น อวิชชาก็มีอาสวะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น ถ้าจิตไม่มีอวิชชา อาสวะเข้ามาย้อมไม่ได้

ฉะนั้นเราค่อยภาวนา ตัวสำคัญที่เราต้องทำก็คือรู้ทุกข์ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง แต่จะรู้ได้ต้องมีกำลังสมาธิหนุนหลัง จิตที่มีกำลังสมาธิหนุนหลัง มันจะตั้งมั่นและก็เป็นกลาง ฉะนั้นเราต้องฝึก ทีแรกก็ฝึกให้มีเครื่องมือในการปฏิบัติ เครื่องมือสำคัญ 2 ตัวคือสติกับสัมมาสมาธิ สติเกิดจากการที่เราหัดรู้สภาวะเนืองๆ หัดรู้บ่อยๆ จิตจำสภาวะได้แล้วสติเกิดเอง สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต อาศัยสติทำกรรมฐานไป อาศัยสติรู้เท่าทันจิตตัวเองไป เรียกว่าจิตตสิกขา แล้วจิตจะตั้งมั่นขึ้น โดยที่ไม่ได้เจตนา

พอจิตตั้งมั่นแล้วสติระลึกรู้อารมณ์ จิตก็ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง ให้รู้ทัน จิตก็จะเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยสติ คราวนี้เราจะสามารถมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางได้ ไม่มีอคติ ไม่มี bias ก็จะเห็นความจริงของรูป นาม กาย ใจ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอเห็นความเป็นจริงก็เบื่อหน่าย คลายความยึดถือแล้วก็หลุดพ้น ตรงที่หลุดพ้นจากรูป นาม กาย ใจ สิ้นตัณหา ตรงนั้นเป็นวิมุตติ เป็นวิราคะ สิ้นความปรุงแต่ง เป็นวิสังขาร ตรงนั้นเป็นพระนิพพาน จะสัมผัสพระนิพพาน สรุป ไปทำอย่างที่บอกนั่นล่ะ

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
14 มกราคม 2567