ความสุขในโลกเป็นน้ำตาลเคลือบยาพิษ

พวกเราทุกคนมีเวลาจำกัด ถ้าตามอายุเฉลี่ยก็ประมาณ 3 หมื่นวันก็ต้องจากโลกไป บางคนไม่ถึง วันเดียวก็มี ตายในท้องก็มี ชีวิตเราไม่ได้ยาวนานอะไรนักหนาหรอก เราชาวพุทธเราก็ไม่ประมาท พระพุทธเจ้าท่านอุตส่าห์เตือนจนวาระสุดท้ายของท่านให้พวกเราไม่ประมาท ชีวิตเราไม่ยาวนาน เอามาทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เอาไว้หลงโลก มันไม่ได้อะไรขึ้นมา

คนในโลกเขาไม่มีโอกาสฟังธรรมะ ไม่มีโอกาสปฏิบัติ เขาก็ไม่เข้าใจความจริงของโลก เขาก็หลงโลกกัน เรามีสติมีปัญญา ใช้ความสังเกตดู ในชีวิตเราเราผ่านสิ่งที่เรียกว่าความสุขมาเท่าไรแล้ว เห็นไหมความสุขทั้งหลายที่ว่าดีที่ว่าวิเศษ สุดท้ายมันก็ผ่านไป ดูความทุกข์เต็มไปหมดเลย ยังดูของตัวเองไม่ออก ดูของคนรอบๆ ตัวเรา คนนั้นแก่ คนนี้เจ็บ คนนี้ตาย คนนี้พลัดพรากจากสิ่งที่รัก คนนี้ประสบกับสิ่งที่ไม่รัก

 

จมอยู่ในกองทุกข์โดยไม่มีทางออก

ถ้าเราสังเกตลงไป ในโลกผู้คนทั้งหลายน่าสงสาร มันจมอยู่ในกองทุกข์โดยไม่มีทางออก ก็ทำอะไรตามๆ กันไป ที่จะแหวกวงล้อมของวัฏฏะออกมาได้ ยาก ยากมากๆ เลย ตราบใดที่เราไม่ขวนขวาย ไม่ตั้งใจจริง เราประมาทเพลิดเพลินอยู่กับโลก โลกมันก็หยอดความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้เรา แต่ซ่อนความทุกข์อันใหญ่ไว้ให้เรา คนไม่มีปัญญาก็มองไม่ออก

อย่างเรามีความสุขแต่ละเรื่องๆ เบื้องหลังนั้นร่างกายเราถูกความแก่ ถูกความเจ็บ ถูกความตายตามบดขยี้อยู่ตลอดเวลา มีความสุขมาหลอกๆ เราให้เราละเลยที่จะรู้ความทุกข์ที่มันซ่อนอยู่ มารมันก็เอาความสุขมาหลอกเรา ความสุขอย่างโลกๆ ความสุขจากการได้เห็นรูปที่พอใจ ได้ยินเสียงที่พอใจ ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสที่พอใจ ได้คิดนึกเรื่องราวอะไรที่พอใจ เอาสิ่งเหล่านี้มาหลอกลวงเรา คนไม่มีสติ ไม่มีปัญญา จิตใจมันก็วิ่งเที่ยวแสวงหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาสัมผัส หาความสนุกสนานเพลิดเพลินทางใจ มองไม่ออกว่าความทุกข์ซ่อนอยู่ข้างหลัง หัวเราะๆ อยู่ แล้วใกล้ความตายเข้าไปตลอดเวลา

เขาน่าสงสารๆ คิดว่ากำลังมีความสุข มองไม่ออก ความทุกข์กำลังรออยู่ ตามบดขยี้เราอยู่ตลอดเวลา ความทุกข์ในร่างกายก็คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความทุกข์ทางใจเรา การพลัดพรากจากสิ่งที่เราชอบ การเจอสิ่งที่ไม่ชอบ เจอคนที่ไม่ชอบอะไรอย่างนี้ มันมีอยู่ตลอดเวลา แค่เราเข้าไปในที่ทำงาน เห็นคนนี้เราก็ชอบ เห็นคนนี้เราก็เกลียด ใจเราแกว่งขึ้นแกว่งลง อย่างเราเห็นคนที่ชอบ เราก็อยากอยู่กับเขา อยากคุยกับเขา อยากสรวลเสเฮฮากับเขา ทั้งๆ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายก็ใกล้ความตายเข้าไปเรื่อยๆ แล้ว เจอคนที่เราเกลียด เรามองไม่ออกว่าเขากำลังทุกข์อยู่ เราไปเกลียดเขา เขาก็ใกล้ความแก่ ความเจ็บ ความตายเข้าไปทุกทีแล้ว

ตัวเราเองก็ใกล้ความแก่ ความเจ็บ ความตายเข้าไปทุกที ก็ยังหลงเพลิน แสวงหาความสุขสนุกสนานอะไรต่างๆ นานา มันเป็นแค่น้ำตาลที่เคลือบยาพิษไว้ เหมือนยาพิษ จริงๆ ธาตุขันธ์มันทุกข์ทั้งนั้น เหมือนเป็นยาพิษ แต่มารก็เอาน้ำตาลมาเคลือบไว้ เอาความสุข เอากามคุณอารมณ์มาหลอกล่อเรา ถ้าเราไม่รู้ทัน ชีวิตเราก็จมกับความทุกข์ต่อไป สนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่นานก็แก่ ไม่นานก็เจ็บ ไม่นานก็ตาย

อย่างเพื่อนร่วมรุ่นหลวงพ่อตายไปตั้งเยอะแล้ว ตายไป 20 – 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว คนที่เคยรู้จัก คนที่อะไรหมดไปสิ้นไป ญาติผู้ใหญ่ของหลวงพ่อเหลืออยู่ไม่กี่คน นอกนั้นก็ตายไปหมดแล้ว ถ้าเรามองอย่างนี้ เราจะประมาทไม่ได้เลย ชีวิตของเราสั้นจริงๆ 3 หมื่นวันโดยเฉลี่ย ก็ประมาณ 75 ปี 3 หมื่นวัน เราเอาไปนอนเสียหมื่นวันแล้ว เหลืออยู่ 2 หมื่นวันๆ เอาไปเรียนหนังสือ เอาไปทำงานเสียเกือบหมดแล้ว เหลือไม่มาก เราก็เอาไปเล่นสนุกสนานเพลิดเพลินอีกเวลาที่เหลือ สุดท้ายได้อะไร 3 หมื่นวัน หมื่นวันเอาไว้นอน อีกหมื่นกว่าวันเอาไว้เรียนหนังสือ เอาไว้ทำงาน อีกไม่ถึงหมื่นวันเอาไว้หาอะไรสนุกสนานหลงๆ ไป พอผ่านวันผ่านเวลาไปแล้ว ตรงไหนที่มันมีคุณค่ากับชีวิตเราอย่างแท้จริง

 

สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี

ตั้งแต่เด็กหลวงพ่อชอบภาวนา จิตใจมันคุ้นเคยกับการปฏิบัติ ตั้งแต่เล็กๆ ยังเดินไม่ได้ ผู้ใหญ่ก็พาเข้าวัดแล้ว พาไปฟังเทศน์ เราฟังไม่รู้เรื่องหรอก มานอน ยังเด็กเล็กๆ เลย หลวงพ่อเข้าไปวัดตั้งแต่ยังไม่ได้ขวบหนึ่งเลยจนกระทั่งวิ่งได้เดินได้ ใจมันก็คุ้นเคยกับความสุข ความสงบ ความสุขที่เกิดจากความสงบ คนในโลกนี้ไม่เคยรู้จัก มีแต่สุขแบบดิ้นเร่าๆ ดูอย่างเขาเต้นเล่นคอนเสิร์ตอะไรกัน อันนั้นดิ้นเร่าๆ สำนวนโบราณบอกเหมือนไส้เดือนถูกขี้เถ้า ดิ้นไปดิ้นมา มีความสุขเหลือเกิน เขาไม่รู้จักความสุขที่เกิดจากความสงบ

พระพุทธเจ้าบอกว่า “สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี” ความสุขอื่นมันเป็นสุขที่ซ่อนความทุกข์เอาไว้ข้างใน ความสุขจากความสงบ ถ้าเราพัฒนาใจตัวเองให้เข้าถึงความสงบก็จะมีความสุขมากขึ้นๆ เวลาเรามีไม่มาก เรามีเวลาไม่มาก แทนที่จะเอาเวลาไปเล่นอะไรเพลินๆ สนุกๆ เอาเวลามาเรียนรู้ลงมาในกายในใจของเรานี้ สิ่งที่เราจะได้มาคือความสงบสุข ความสงบสูงสุดคือพระนิพพาน สิ่งที่เป็นความสุขที่สุดก็คือพระนิพพาน นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานนั้นคือบรมสุข ไม่มีอะไรเหมือน เพราะอะไร เพราะนิพพานัง ตัวนิพพาน มันสงบสันติ

ความสงบมันมีหลายระดับ สงบจากสมาธิก็เป็นอีกระดับหนึ่ง ถามว่าถ้าเราไปฝึกสมาธิจะดีกว่าเราดิ้นเร่าๆ เป็นหมาโดนน้ำร้อน หรือเป็นไส้เดือนโดนขี้เถ้าอย่างที่ชาวโลกเขาเป็น อันไหนมันจะสุขกว่ากัน สุขจากการสรวลเสเฮฮา ร้องรำทำเพลง กระโดดโลดเต้น ไม่นานก็จะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ต้องไม่สมปรารถนา ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ที่ไปกระโดดโลดเต้น เที่ยวแสวงหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาสัมผัส หรือหาเรื่องราวอะไรสนุกสนาน ก็เพื่อจะมีความสุข ฉะนั้นสิ่งที่เราแต่ละคนปรารถนาคือความสุขนั่นล่ะ คนซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมะ เขาก็หาความสุขตามๆ กันไป คิดว่ามีเงินมีความสุข ได้ดูหนัง ฟังเพลงมีความสุข มีแฟนก็มีความสุข มีลูกมีความสุข มีบ้านก็มีความสุขอะไรอย่างนี้ แล้วดูสิ คนซึ่งเคยแสวงหาความสุขแบบนั้นมา สุดท้ายก็ต้องทอดทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไป เอาไว้ไม่ได้

หลวงพ่อภาวนาแต่เด็ก ตอนเรียนจบแล้วทำงาน หัวหน้ากองยังบอกหลวงพ่อเลยว่าเธอทำไมไม่ไปเที่ยวให้ชีวิตมันมีความสุขบ้าง เธอจะมาสนใจอะไรอยู่กับวัดอย่างเดียว กับการปฏิบัติอะไรของเธอ เครียดเปล่าๆ อย่าไปทำเลย ไปเที่ยวไปเล่น เขาก็หวังดีจะให้เรามีความสุข เขาไม่รู้จักความสุขที่เหนือกว่ากามสุข สุขโลกๆ คนรุ่นเดียวกับหลวงพ่อส่วนใหญ่เขาก็หลงไปกับโลกนั่นล่ะ เที่ยวแสวงหากามสุข ในขณะที่หลวงพ่อตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ รักษาศีล ฝึกสมาธิ เจริญปัญญา ทำสม่ำเสมอ

ช่วงแรกๆ บางคนเขาก็ขำว่าทำไมเรามาเป็นตาเถรอยู่อย่างนี้ ไม่ไปเฮฮาปาร์ตี้อะไรกับใครเขาเลย พวกเขาสนุก มีความสุข ดูเราเงียบๆ นิ่งๆ ดูไม่มีความสุข น่าสงสาร เราก็สงสารเขา เขาก็สงสารเรา ใจดี มีการเตือนด้วยให้ไปเที่ยวไปเล่นบ้าง กินเหล้าบ้างอะไรบ้าง แนะนำด้วยความหวังดี ไม่ได้หวังร้ายหรอก แต่หลวงพ่อไม่เอา ผ่านวันผ่านเวลาไปเพื่อนๆ เขาก็เติบโตขึ้น หลายคนก็เป็นผู้ว่าฯ เป็นอธิบดี เป็นเอกอัครราชทูต หลวงพ่อก็ทำงาน เราก็เติบโต ไม่ใช่ไม่เติบโต เวลาทำงานเราทำจริงจัง ไม่อู้งาน ไม่เอาเวลาทำงานเบี้ยวหนีงาน บอกฉันจะปฏิบัติ ไม่ได้ทำอย่างนั้น อย่างนั้นคอร์รัปชั่น เขาจ้างเราทำงาน เราก็ทำงาน แต่พอทำงานแล้ว มีเวลาเหลือของเรา ไม่ได้เอาเวลาที่เหลือไปถลุงเล่นกับเรื่องเพลินๆ หลวงพ่อภาวนา

พอมาถึงวันนี้เพื่อนๆ ที่เคยใหญ่เคยโตหลายคนก็ตายไป พวกที่ยังไม่ตายก็เป็นอดีต ข้าราชการผู้ใหญ่ บางคนรวย ก็เป็นตาแก่อยู่บนกองเงินกองทอง ชีวิตไม่มีอะไร ว่างเปล่า สุดท้ายว่างเปล่า ในขณะที่หลวงพ่อพากเพียรมา ดูเหมือนไม่มีความสุขสนุกสนานอย่างคนอื่น มาถึงวันนี้หลวงพ่อมีความสงบสุขเยอะเลย ใจเราสบาย สงบ หายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้า รู้สึกตัวไป ใจมันมีเพื่อน

 

เพื่อนแท้ของใจ

เพื่อนแท้ของเรา สิ่งที่เป็นเพื่อนแท้คือลมหายใจนี่เอง เพื่อนอื่นๆ ของเรามันอยู่กับเราชั่วคราว โดยเฉพาะตอนที่เรารวย ตอนที่เรามีความสุข เพื่อนเยอะ ตอนเราแก่ เราเจ็บ เราตาย เราจนอะไรอย่างนี้ เพื่อนไม่ค่อยมี ฉะนั้นเพื่อนๆ ในโลกมันพร้อมจะทิ้งเราเสมอ ถ้าไม่มีผลประโยชน์ แต่ลมหายใจอยู่กับเราไปตลอดชีวิต อยู่กันจนวันตาย เลิกหายใจเมื่อไรก็ทิ้งไป ลมหายใจทิ้งเราเมื่อไร ก็ตายไปตอนนั้นเลย ลมหายใจเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์กับเรา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องใส่ใจ สนใจ มีเพื่อนที่ดีอยู่แล้ว อย่าละเลย อย่าลืมเขา มัวแต่ไปหาเพื่อนปลอม เพื่อนที่ไม่ได้เรื่องข้างนอก ลืมเพื่อนแท้ เพื่อนตาย เพราะฉะนั้นเราพยายามอยู่กับลมหายใจของเราไปเรื่อยๆ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ รู้สึกๆๆ ไป

การที่เราคอยอยู่กับลมหายใจ หรือถ้าไม่ถนัดลมหายใจ ใช้กรรมฐานอย่างอื่นก็ได้ เอาที่เราถนัด เราอยู่ในอารมณ์อันเดียว อย่างหลวงพ่อก็ใช้หายใจเข้าพุทออกโธ ถนัดอันนี้ พวกเราไม่ถนัดเราก็ใช้อย่างที่เราถนัด จะไหว้พระสวดมนต์ จะนั่งสมาธิ เดินจงกรมอะไร ถ้าเราถนัดทำแล้วก็รู้อยู่ในอารมณ์อันเดียวนั่นล่ะ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกอยู่ในอารมณ์อันเดียว คือรู้สึกกายอยู่อย่างนี้ ทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่งเป็นเพื่อนของจิต บางคนก็ดูท้องพอง ดูท้องยุบ มีท้องพอง มีท้องยุบเป็นเพื่อน จิตใจหนีไปจากเพื่อนก็รู้ทัน จิตใจอยู่กับเพื่อนก็รู้ทัน ทำกรรมฐานอันหนึ่งแล้วก็รู้ทันจิตใจของเราไปเรื่อยๆ

อย่างหลวงพ่อตั้งแต่เด็ก ก็ฝึกตามที่ท่านพ่อลีท่านสอน ท่านบอกหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 2 ท่านสอนให้นับไปถึง 10 แล้วก็นับย้อนหลัง 9, 8, 7, 6, 5 แบบปล่อยจรวด แล้วก็นับกลับขึ้นไปอีก แล้วก็นับลงมาอย่างนี้ หายใจไปนับไป หลวงพ่อมาลองทำดูตั้งแต่เล็ก 7 ขวบ เรานับไปถึง 10 เรานับได้ นับ 10 ลงมา 9, 8, 7 อะไรนี่นับไม่ถนัดแล้ว นับเลขไม่เก่ง ตอนนั้นยังเด็กๆ เรารู้จัก apply คำสอนครูบาอาจารย์ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 นับไปถึง 100 แล้วก็เริ่มนับ 1 ใหม่

เราก็ลองมาปรับกรรมฐานให้มันเหมาะกับเรา ไม่ใช่ปรับจิตใจเราให้เหมาะกับกรรมฐาน เราต้องรู้จักเลือกกรรมฐานที่เหมาะกับตัวเราเอง เหมือนเราจะซื้อเสื้อซื้อกางเกงสักตัวหนึ่ง เราก็ดูตัวที่มันพอดีกับเรา ไม่ใช่ชอบเสื้อตัวนี้ใหญ่ ชอบมาก ไปซื้อเสื้อโตๆ กางเกงโตๆ มา แล้วก็พยายามกินข้าวเยอะๆ ให้ตัวเราพอดีกับเสื้อหรือกางเกง อันนี้ไม่ฉลาดเลย

ฉะนั้นเราก็ดูเลือกกรรมฐานที่มันเหมาะกับจิตใจเรา เราอยู่กับกรรมฐานชนิดไหนแล้วจิตใจเรามีความสุข เอาอันนั้นล่ะ อยู่กับกรรมฐานอันไหนแล้วสติเกิดบ่อย เอาอันนั้นล่ะ มีความสุขอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีสติด้วย อย่างบางคนชอบหายใจ หายใจแล้วก็เคลิ้มลืมเนื้อลืมตัว สงบไหม สงบ แต่ไม่มีสติ ใช้ไม่ได้ จะต้องมีสติตลอดสายของการปฏิบัติ สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ขาดสติเมื่อไรคือขาดการปฏิบัติเมื่อนั้น มีสติ มันก็มีการปฏิบัติ

อย่างหลวงพ่อหายใจเข้าพุทออกโธ นับ 1, 2, 3 ไปถึง 100 นับ ตอนเด็กๆ พอใจมันเริ่มสงบการนับมันก็หายไป เหลือแต่หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เพราะใจมันอยู่ในอารมณ์อันเดียว มันไม่ได้ไปวิ่ง ไปพล่าน ไปหาอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาอยู่ในอารมณ์เดียว เห็นร่างกายหายใจไปเรื่อยๆ พอใจมันสงบมากขึ้น คำบริกรรมหายไป เหลือแต่ลมหายใจ ใจสงบมากขึ้น ลมหายใจหายไปกลายเป็นแสงสว่าง เราก็สงบ มีปีติ มีความสุขอยู่กับแสงสว่าง ไม่วอกแวกไปข้างนอก หรือบางครั้งไม่ได้ทำกรรมฐานแบบมีแสง กรรมฐานบางอย่างมีปฏิภาคนิมิต อย่างพวกกสิณอะไรพวกนี้ ดูไปเรื่อยมันจะมีแสง หรืออานาปนสติอย่างนี้จะมีแสง กายคตาสติจะมีแสง

ถ้าเป็นพวกอัปปมัญญา พวกพรหมวิหาร ไม่มีแสง อย่างเราแผ่เมตตาไปเรื่อยๆ ทำใจสบายๆ ไม่เป็นศัตรูกับใคร ไม่เป็นศัตรูกระทั่งกับตัวเอง ไม่เป็นศัตรูกระทั่งกิเลสของตัวเอง อย่างใจเราฟุ้งซ่าน เราก็ไม่เป็นศัตรูกับมัน เราก็เจริญเมตตาไป จะบริกรรมกำกับไปด้วยก็ได้ เมตตา คุณณัง อรหัง เมตตา อะไรอย่างนี้ก็ได้ หรือจะบทอื่นก็ได้ที่เกี่ยวกับเมตตา เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง อะไรอย่างนี้ แต่บทนี้ฟังยาก ยาวหน่อย มีเยอะแยะไปบทที่พิจารณาคำนึงถึงเมตตาอะไรอย่างนี้

หรือเราไม่ทำอะไร ไม่รู้จะท่องอะไร เมตตาๆๆ ไป เจริญเมตตาไป ทำใจปกติเลย แผ่ความรู้สึกที่เป็นมิตรออกไป เริ่มต้นก็เป็นมิตรกับจิตใจตัวเอง จิตใจฟุ้งซ่านก็อย่าไปเกลียดมัน จิตใจสงบก็อย่าไปยินดีพอใจมัน มันเป็นอย่างไรก็ได้ สงบก็ได้ ฟุ้งซ่านก็ได้ แผ่เมตตาให้จิตใจเรา ไม่ไปเคี่ยวเข็ญจิตว่าจะต้องดีตลอด แล้วถัดจากนั้นก็แผ่เมตตาลงในร่างกายนี้ ร่างกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ มองมันด้วยความรู้สึกเมตตา ร่างกายนี้มันก็คือสัตว์ตัวหนึ่งนั่นล่ะ เหมือนกับสัตว์ตัวอื่นๆ ข้างนอกนั่นล่ะ พวกเดียวกัน ก็เหมือนกับคนอื่น สัตว์สปีชีส์เดียวกัน พวกเดียวกัน

ทำความรู้สึก ร่างกายเรากับร่างกายคนอื่นมันก็พวกเดียวกันล่ะ เสมอกัน เรารักร่างกายของเราอย่างไร เราก็รัก เมตตาต่อร่างกายคนอื่นเสมอกัน ใจก็จะไม่แกว่งขึ้นแกว่งลง ใจ เจริญเมตตาไปเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายจิตจะรวมแต่ไม่มีแสง ปฏิภาคนิมิตอะไรอย่างนี้ ไม่มี จิตจะรวมแล้วเข้าอรูปไปเลย โลกธาตุหายไป มันหายไปตั้งแต่ร่างกายเราหาย โลกทั้งโลกก็หายไป เหลือแต่จิตรู้ ตื่น เบิกบานอยู่

 

วิธีใช้จิตผู้รู้ให้เป็นประโยชน์ในการเจริญปัญญา

สมาธิๆ การที่เรามีสมาธิตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงเบื้องปลาย เบื้องต้นก็มีขณิกสมาธิ อย่างเราหัดดูกายดูใจของเราไปเรื่อยๆ บางทีก็มีความสุขผุดขึ้นมา ความสุขมันผุดขึ้นมาเอง เราไม่ได้ทำอะไรเลย อยู่ๆ มันก็มีความสุขขึ้นมา อันนั้นเป็นความสุขที่เกิดจากขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ อย่างเราหลงแล้วรู้ๆ ถึงจุดหนึ่งจิตก็มีความสุขขึ้นมา หรือมีความสุขที่ประณีตขึ้นไป เราทำกรรมฐานเกิดแสงสว่าง เราชำนิชำนาญในเรื่องของจิต สามารถประคองจิตอยู่กับแสงสว่างได้ สามารถประคองแสงสว่างเอาไว้กับจิตได้ ย่อได้ขยายได้ มีความสุข อันนั้นจิตมีอุปจารสมาธิ อุปจารสมาธิเกิดตรงที่จิตได้ปฏิภาคนิมิตแล้ว มีแสงสว่าง ย่อได้ขยายได้ จิตมันก็มีความสุข แต่ความสุขอันนั้นยังหวือหวานิดหน่อย ถ้าจิตวางแสงสว่างลงไป คราวนี้จิตจะได้ตัวรู้ที่เข้มแข็งขึ้นมา

ฉะนั้นอย่างเราทำอานาปานสติจนลมระงับไปได้เป็นแสงขึ้นมา จากแสงสว่าง เราวางแสงลงไป ทวนกระแสเข้ามาที่จิต ตัวผู้รู้จะเด่นดวงขึ้นมา ตรงนี้จะอยู่ในฌานที่สองแล้ว เป็นรูปฌานที่สอง ฉะนั้นถ้าเราทำสมาธิได้ถึงฌาน มันมีปีติ มีความสุข พอมันประณีตขึ้นไปอีก ปีติก็ดับไป ปีติที่เราว่าเคยว่ามีความสุขมันกลายเป็นตัวเสียดแทง ปีติไม่ได้นำความสุขมาให้ มันเป็นความหวือหวาของจิต จิตก็วางปีติเป็นความสุข เราก็ดู ภาวนาของเราไปเรื่อยๆ มันจะเห็นอีกว่าความสุขก็เป็นเครื่องเสียดแทง จิตก็จะวางความสุข เป็นอุเบกขา ตรงนี้เราเต็มภูมิของรูปฌาน ยังมีรูปอยู่ แต่ว่าสงบสุข จิตไม่กระเพื่อม ไม่ดิ้นไปดิ้นมา จิตไม่หิวในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ หลงโลกอะไรพวกนั้น สงบ

ฉะนั้นถ้าเราภาวนา เดินในแนวของฌาน ได้ถึงฌานที่สอง ตัวที่โดดเด่นขึ้นมา คือตัวผู้รู้ 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8 มีตัวผู้รู้ทั้งหมด ในฌานที่หนึ่งตัวผู้รู้ยังไม่เด่น ทำไมไม่เด่น มันยังมีวิตกมีวิจารอยู่ วิตกคือการที่จิตมันยังตรึกอยู่กับแสงสว่าง วิจารคือจิตมันยังเคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่าง มันยังไม่ได้สนใจเข้ามาที่จิตจริง แต่พอมันเห็นว่าการที่จิตไปตรึกในแสงสว่างไปเคล้าเคลียในแสงสว่างเป็นภาระ มันวาง มันละวิตกวิจาร มันทวนกระแสเข้ามาที่จิต มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง ตรงนี้ตัวผู้รู้จะเกิดขึ้น ในพระไตรปิฎกท่านใช้คำว่า เอโกทิภาวะ ภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง อะไรเป็นหนึ่ง จิตนั่นล่ะเป็นหนึ่ง ตัวนี้คือตัวจิตผู้รู้

ถ้าเราได้จิตผู้รู้แล้ว เราก็มีเครื่องมือสำคัญที่จะปฏิบัติ ให้เจริญปัญญาอย่างเข้มแข็งต่อไป แต่ถ้าเราไม่ได้ฌาน อาศัยขณิกสมาธินั่นล่ะ มีสมาธิทีละขณะๆ พอบ่อยๆ เข้า มันก็จะมีสภาวะเหมือนกับตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะ ทำได้เหมือนกัน ในฌานถ้าเราเข้าไปถึงอรูป วางรูปไปแล้ว โลกธาตุดับ ร่างกายดับไป มันจะมีคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่อยู่อย่างหนึ่ง เมื่อจิตถอนตัวออกจากอรูปฌานกลับมามีร่างกายปุ๊บ มันจะเห็นว่าร่างกายกับจิตเป็นคนละอันกัน ขันธ์จะแยกโดยอัตโนมัติ จะแยกขันธ์ได้โดยอัตโนมัติ

เพราะฉะนั้นอย่างพวกอาฬารดาบส อุทกดาบสที่เคยเป็นอาจารย์เจ้าชายสิทธัตถะ สอนให้ได้ฌานที่เจ็ด ที่แปด คือสอนท่านถึงอรูปฌาน พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้แล้ว ท่านนึกถึงคู่นี้ก่อนเลย เพราะขาดอีกนิดเดียวเองๆ ก็จะรู้แจ้งในธรรมะแล้ว เพราะพวกนี้เขาสามารถแยกรูปแยกนามได้แล้ว เขาเข้าฌานถึงอรูปได้ ร่างกายไม่มี พอกลับมามีร่างกาย มันจะเห็นทนโท่เลย ร่างกายกับจิตนี้คนละอันกัน เพราะตอนนั้นไม่มีกาย ตอนอยู่ในอรูป พอกลับมามีร่างกาย มันจะเห็นทันทีเลย กายกับจิตมันคนละอันกัน แล้วถ้าเราเคยเข้าอรูปได้ ตั้งแต่นั้นมาขันธ์เราจะแยกตลอดเลย ไม่รวมกันแล้ว แยกอัตโนมัติเลย เพราะฉะนั้นถ้าเราได้ถึงอรูปฌาน เราจะแยกขันธ์ได้

เมื่อแยกขันธ์ได้แล้ว สิ่งที่ขาดอีกอันหนึ่งก็คือการเห็นขันธ์แต่ละขันธ์แสดงไตรลักษณ์ ตรงนี้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วคิดถึงดาบส ดาบสนี้แยกขันธ์ได้แล้ว เพราะได้อรูปแล้ว ขาดอีกนิดเดียว คือการมองไตรลักษณ์ให้ออก ถ้าท่านสะกิดนิดเดียว ดาบสพวกนี้มองกายเป็นไตรลักษณ์ มองจิตใจเป็นไตรลักษณ์ เขาก็จะบรรลุธรรมในเวลาอันสั้นเลย อินทรีย์ท่านเหล่านี้ ดาบสพวกนี้แก่กล้ากว่าพระปัญจวัคคีย์อีก พระพุทธเจ้าถึงนึกถึงเป็นคู่แรกเลย แต่ว่าคู่นี้ได้อรูปฌานแล้วตาย ระหว่างตอนที่ตาย เขาก็เข้าฌานของเขาได้ เขาไปเกิดเป็นพรหมที่ไม่มีรูป

เมื่อเป็นพรหมไม่มีรูป ก็ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย มีแต่จิตอันเดียว ไม่สามารถสื่อสารกับโลกภายนอกได้ พระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถสอนได้ ท่านถึงบอกว่าคู่นี้หายนะเสียแล้ว หลวงพ่อพุทธทาสท่านใช้คำฟังง่ายๆ ชิบหายแล้วๆ ขาดอีกนิดเดียว สะกิดอีกนิดเดียวก็จะได้ธรรมะ แต่ไม่ได้ แต่เขามีความสุขไหม มีความสุข ตราบที่กำลังฌานยังไม่สิ้น ฉะนั้นเรื่องฌาน มันไม่ใช่แค่ได้เรื่องความสุขความสงบ ถ้าได้ฌานที่สองขึ้นไปจนถึงอรูป เป็นฌานที่แปด ตรงนี้เราจะได้จิตผู้รู้ขึ้นมา ถ้ามีพระพุทธเจ้าสะกิด หรือครูบาอาจารย์สะกิดนิดเดียวเท่านั้น เราจะรู้วิธีใช้จิตผู้รู้ให้เป็นประโยชน์ในการเจริญปัญญา

มันอยู่ๆ ตรงนี้นิดเดียวเอง ขอให้ได้จิตที่เป็นผู้รู้ขึ้นมา สะกิดนิดเดียว เมื่อมีจิตผู้รู้แล้ว อย่ารู้อยู่เฉยๆ มีสติระลึกรู้กาย เห็นไหมกายไม่ใช่จิต เห็นไหมกายไม่เที่ยง เห็นไหมจิตที่ไปรู้กายก็ไม่เที่ยง เห็นไหมร่างกายก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ เป็นของบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้จริง มันจะแก่ มันจะเจ็บ มันจะตาย ห้ามมันไม่ได้ สังเกตไหม จิตที่เป็นผู้รู้เองก็ไม่เที่ยง จิตที่เป็นผู้รู้เองก็เกิดดับ บังคับไว้ก็ไม่ได้ เดินปัญญาต่อ ไม่ยากเลย

พอแยกขันธ์ได้แล้ว แล้วมีจิตที่เป็นผู้รู้จริงๆ การเจริญปัญญาสั้นนิดเดียวเลย แล้วถ้าได้อรูป ขันธ์มันแยก ขันธ์แยก ตัวผู้รู้มีมาตั้งแต่ฌานที่สองแล้ว ถ้าขันธ์แยก ก็เดินนิดเดียวอย่างที่หลวงพ่อบอกนั่นล่ะ เห็นธาตุเห็นขันธ์มันแสดงไตรลักษณ์ไป ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นของถูกรู้ถูกดู ตัวที่รู้ ตัวที่ดูเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกัน ไม่มีตัวไหนไม่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไปดูอย่างนี้เรื่อยๆ ไป นี่คือการเจริญปัญญา

 

ความสุขที่พ้นเครื่องเสียดแทงทั้งหลาย

เพราะฉะนั้นความสุข ความสุขของโลกๆ ก็มี แต่เป็นความสุขที่เจือทุกข์ ความสุขของสมาธิก็มี อย่างขณิกสมาธิใช่ไหม เราดูจิตๆ ก็ความสุขผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ หรือประณีตขึ้นไป ความสุขในฌาน ในรูปฌานก็มีความสุขเป็นลำดับไป มันจะเห็นทีแรกวิตกวิจารที่ว่าดีก็ยังเป็นภาระ ปีติที่ว่าดีก็เป็นภาระ ความสุขก็ยังเป็นภาระ ไม่ใช่ของดี เป็นอุเบกขาขึ้นมา ยังมีร่างกายอยู่ ก็มีภาระ ทิ้งกายก็เข้าอรูป จิตใจก็มีความสุขมีความสงบด้วยสมาธิ

ตรงฌาน มันมีจุดที่พลิกผันนิดเดียว ถ้าได้ฌานที่สองมาแล้ว จะได้ตัวผู้รู้ ถ้าได้ฌานที่ห้า หก เจ็ด แปด ซึ่งเป็นอรูปฌาน ถอยออกจากฌานแล้วจะแยกขันธ์ได้อัตโนมัติเลย แล้วการภาวนา การเจริญปัญญามันเริ่มตรงที่เรามีผู้รู้ แล้วสามารถแยกขันธ์ได้ แล้วก็จะเห็นธาตุเห็นขันธ์แต่ละอันๆ ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ไป

เวลาเราเจริญปัญญา บางทีจิตมันเกิดความรู้ความเข้าใจอะไรบางอย่าง ยังไม่เกิดอริยมรรคหรอก เราภาวนาไป แล้วมันเกิดเข้าใจอะไรมาบางอย่าง จิตมีความสุข ฉะนั้นเวลาเจริญปัญญา ช่วงเจริญปัญญาบางทีทุกข์ เห็นแต่ทุกข์ๆๆๆๆ แล้วถึงจุดหนึ่งพอเกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูกบางอย่างขึ้น มันมีความสุขที่เกิดจากการเจริญปัญญาขึ้นมาอีก แต่มันคนละแบบกับความสุขในฌาน คนละแบบกับความสุขในขณิกสมาธิ มันผุดขึ้น ไม่เหมือนกัน แต่ว่ามีความสุขไหม มี แล้วความสุขตอนเดินปัญญา มันเป็นความอิ่มอกอิ่มใจ เป็นความอิ่มอกอิ่มใจ ไม่ใช่ความเคลิบเคลิ้ม เพลินๆ แบบความสุขของฌาน

แล้วเวลาที่เกิดอริยมรรค เกิดอริยผล บางคนจิตเข้าฌาน มีความสุขมันเด่น เวลาเกิดมรรคผล จิตต้องเข้าฌานทุกคน ถ้าเราไม่เคยเข้าฌาน ไม่เป็นไร ภาวนาของเราไปเรื่อยๆ ตอนที่จะเกิดอริยมรรค อริยผล จิตเข้าฌานโดยอัตโนมัติ ไม่ได้เจตนาเข้า เข้าเองเลย ฉะนั้นเราดูๆ ของเราอยู่ รวมปุ๊บลงไปเลย มันเข้าเอง บางทีเข้าถึงอรูปเลยก็ได้ แล้วก็เกิดกระบวนการที่จิตตัดสินความรู้ จิตแหวกอาสวกิเลสที่ห่อหุ้มอยู่ออก จิตก็หลุดจากอาสวะ จิตหลุดพ้นจากอาสวะด้วยกำลังของอริยมรรค อริยมรรคก็ไปทำลายสังโยชน์ กิเลสในเบื้องลึกที่ซ่อนเร้นอยู่ ทำลายอาสวะบางส่วนไป ทำลายสังโยชน์บางส่วนไป

ตอนที่เกิดอริยมรรคอริยผล บางทีบางคนบางท่านจิตเป็นอุเบกขา บางท่านมีความสุขประกอบด้วย เพราะฉะนั้นตอนที่เกิดมรรคผล มีเวทนา 2 ชนิด คือมีความสุข บางท่านมีความสุขเกิดขึ้น บางท่านจิตเป็นอุเบกขา ไม่เหมือนกัน เป็นลีลาเฉพาะตัว แต่การล้างกิเลสนั้นเหมือนกัน

พอเราได้มรรคได้ผลแล้ว เราจะสัมผัสพระนิพพาน ตอนที่บรรลุอริยมรรค อริยผล จิตมีนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว ไม่ใช่มีขันธ์ 5 เป็นอารมณ์ ไม่ได้มีบัญญัติเป็นอารมณ์ มีนิพพานเป็นอารมณ์ สัมผัสนิพพานครั้งแรก บางทีทรงจำไว้ไม่อยู่ สัมผัสครั้งที่สอง ที่สามอะไรนี่ ยังไม่ชำนาญ 4 ครั้งก็จะชำนาญ แล้วเวลาต้องการความสงบสุข ถ้าเป็นโสดาบัน สกิทามี อนาคามี อาจจะดูลงในขันธ์ ดูลงในกาย ดูลงในใจ เห็นไตรลักษณ์แล้วก็วาง แล้วสัมผัสพระนิพพาน

หรือจะดูร่างกายหายใจอยู่ ดูแล้วก็วาง วางกายวางจิตลงไป สัมผัสพระนิพพาน หรือดูจิตเอา เห็นตัณหาทั้งหลาย จิตวางตัณหา ละตัณหาลงไป จิตก็ถึงพระนิพพาน อันนี้ต้องเคยถึงแล้ว ถ้าไม่เคยถึงดูอย่างนี้ก็ไม่ถึงหรอก ต้องเป็นอริยบุคคล ถ้าเป็นพระอรหันต์ ต้องการสัมผัสพระนิพพานก็มนสิการถึง นึกถึง ไม่ต้องไปผ่านวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีจะนึกถึงพระนิพพาน จะต้องผ่านวิปัสสนาอีกทีหนึ่ง มีความสุขๆ เวลาจิตสัมผัสพระนิพพาน ไม่จำเป็นต้องเข้าฌาน อยู่ในโลกข้างนอกนี้ก็สัมผัสได้ ไม่มีการเข้า ไม่มีการออก ถ้ายังมีการเข้ามีการออก ยังไม่ใช่ของจริงหรอก

ฉะนั้นความสุขอะไรก็ไม่เหมือนความสุขของพระนิพพาน เป็นความสุขที่พ้นจากความอยาก พ้นตัณหา พ้นเครื่องเสียดแทงทั้งหลาย เพราะไม่มีรูป ไม่มีนามอะไร วางไปแล้ว รูปนามเป็นเครื่องเสียดแทงจิตใจ จิตใจก็สงบสุข ดูลงในกาย กายก็ว่าง ดูโลกข้างนอก โลกข้างนอกก็ว่าง ดูจิตก็ว่าง แต่จะไม่ไปหมายรู้จิต หมายรู้จิตก็ทำงานขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะว่างเสมอกันหมด

หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนหลวงพ่อไว้ว่า เมื่อไรที่เธอเห็นจิตกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกัน ก็จะเข้าถึงพระนิพพาน จิตกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ อะไรคือธรรมชาติที่แวดล้อมจิตอยู่ กายกับโลกข้างนอก ฉะนั้นจุดนั้น กายกับโลกข้างนอกก็ว่าง จิตก็ว่างเสมอกัน เป็นอันเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยกเป็นสอง เป็นภาวะที่เป็นหนึ่ง ท่านถึงเรียกว่าจิตหนึ่ง เรียกว่าธรรมหนึ่ง เป็นธรรมอันเอก เป็นความสุข

 

 

ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ภาวนา เบื้องต้นก็อย่าหลงโลก บอกแล้วว่าความสุขในโลกเป็นน้ำตาลที่เคลือบยาพิษเอาไว้ แล้วยาพิษร้ายแรง คือทำให้เราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่รอด น้ำตาลหวานๆ คืออะไร คือกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรที่น่าเพลิดเพลินทั้งหลาย ความสุขจอมปลอมทั้งหลายเอาไว้หลอกคนโง่ให้หลงอยู่ แต่ผู้รู้ไม่ติดข้อง สิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องมือของมาร เป็นอาวุธของมารในการที่จะจับพวกเราเอาไว้ในอำนาจ คือกามนี่ล่ะ เครื่องมือของมาร จะจับเราเอาไว้

แล้วสัตว์โลกก็ถูกมารนี้ล่ะจับเอาไว้ ดิ้นรนแสวงหาความสุขทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย ดิ้นแสวงหากันไป สุดท้ายทุกอย่างก็ว่างเปล่า มีเงิน สุดท้ายเงินก็เป็นของคนอื่น มีบ้านสุดท้ายบ้านก็เป็นของคนอื่น มีลูกมีเมีย สุดท้ายก็เป็นของคนอื่น ไม่ใช่ของเราอยู่ดี กระทั่งร่างกายนี้ ของเราๆ สุดท้ายก็ต้องถูกคนเอาไปเผาทิ้ง มันว่างเปล่าไปหมด เรื่องของโลกหาสาระไม่ได้

เมื่อเรามีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว ลงมือแสวงหาความสุขที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไปเป็นลำดับๆ ไป ความสุขจากการฝึกจิตให้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ความสุขของสมาธิ ความสุขจากการที่จิตมันเกิดความรู้ถูกเข้าใจถูกอะไรพวกนี้ มีความสุขผุดขึ้นมา เป็นความสุขจากการเจริญปัญญา ถ้าความสุขจากการสัมผัสพระนิพพาน อันนั้นเป็นบรมสุข เป็นความสุขที่ไม่มีเครื่องเสียดแทง ความสุขของสมาธิ ยังเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน

อย่างพรหมทั้งหลาย พรหมจำนวนมากเลย อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อรู้หรอก หลวงพ่ออ่านมา พรหมจำนวนมาก พอจะตายจากพรหมที่ว่ามีความสุข ส่วนมากไปอบาย ทำกรรมอะไรไว้ ลงมารับผล ตอนเข้าฌานตาย รอดออกไป พอหมดกำลังของฌานมักจะลงอบาย ไม่ได้ดูถูกพรหม พรหมเขาก็ดีของเขาล่ะ แต่ว่ามันยังไม่พ้นทุกข์ ที่เทศน์ให้พวกเราฟังวันนี้เพื่อจะบอกพวกเราว่าอย่าหลงโลกเลย ความสุขในโลกเป็นน้ำตาลเคลือบยาพิษ ยาพิษนั้นจะฆ่าเรา ถึงวันหนึ่งมันฆ่าเราแน่นอน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
10 กรกฎาคม 2565