เดินจิตในทางสายกลาง

ยุคของพวกเรา กว่าจะเข้าใจธรรมะขึ้นสักคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งยั่วยุมันเยอะ เมื่อก่อนสังคมมันสังคมเกษตร คนมีเวลาว่างๆ เยอะ ไม่มีอะไรทำเท่าไร ทำนาเสร็จแล้วก็ว่างแล้ว เมื่อก่อนคนมีลูกเยอะก็อยากให้ลูกไปบวช จะได้ไม่ต้องแบ่งนาให้ ตั้งแต่ พ.ศ.2504 ที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ก็มีการพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นมา สังคมก็เริ่มเปลี่ยน การผลิตมันเปลี่ยน เป็นการผลิตเพื่อจะขายไม่ใช่ผลิตเพื่อบริโภคแล้ว สังคมการผลิตมันเปลี่ยน เศรษฐกิจเปลี่ยนสังคมก็เปลี่ยน คนก็เข้าโรงงานกัน คนหลังๆ ก็ห่างวัดออกไป

แต่เดิมตอนหลวงพ่อเด็กๆ คนเข้าวัดเยอะแยะเลย อย่างวันพระคนไปอยู่ตามวัด ไปนอนที่วัดเยอะแยะ ตอนนี้ไม่ว่าง ตอนนี้หาเวลาว่างไม่ได้ เพราะสังคมมันเปลี่ยนไป การทำมาหากินเปลี่ยน วิถีชีวิตก็เปลี่ยน คนมีสิ่งที่สนใจมากมาย ความสนใจในเรื่องของตัวเอง เรื่องจิตเรื่องใจลดลงๆ อย่างมาถึงวันนี้พระแต่ละองค์ องค์ไหนที่จะบวชแบบไม่สึกไม่ได้มีกำหนด ยาก ทางบ้านไม่ค่อยยอม ไม่มีใครสืบตระกูล ไม่มีใครทำมาหากิน แล้วเราอยู่บ้าน วันๆ มีแต่เรื่องวุ่นวายเยอะแยะไปหมด ของเล่นเยอะ มีอินเทอร์เน็ตมีอะไรกันทุกบ้าน เวลาที่จะดูตัวเองก็น้อยลงไปอีก เอาเวลาไปดูจอเสียหมด

ธรรมะไม่เคยเสื่อม ธรรมะเป็นสัจธรรม แต่คนนั้นใส่ใจที่จะเรียนรู้ธรรมะน้อยลง สนใจของข้างนอกเสียเยอะเลย บางทีพระเองก็ปรับตัวไม่ได้ ท่านบวชมาแต่เด็กๆ มองไม่ออก สังคมมันเปลี่ยน คิดแต่ว่าคนเดี๋ยวนี้ไม่ยอมเข้าวัด ไม่ค่อยทำบุญ เข้าวัดก็ไปหาโชคหาลาภ อะไรที่มันไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ เข้าไปก็ไปด้วยเรื่องพวกนี้กันหมด แต่หลวงพ่อยืนยันอย่างหนึ่ง ธรรมะไม่เคยเสื่อมหรอก เพราะสัจธรรมกี่พันปีมันก็เป็นสัจธรรมอยู่อย่างนั้น ถ้าเราสนใจใส่ใจที่จะเรียนรู้ตัวเอง วันหนึ่งเราก็เข้าใจธรรมะ

 

ไม่สุดโต่งไปข้างตามใจกิเลส
ไม่สุดโต่งในข้างการกดข่มบังคับตัวเอง

การเรียนรู้ตัวเองนั้นต้องทำให้ถูกวิธี แล้วให้จิตเดินอยู่ในทางสายกลาง เบื้องต้นถือศีลไว้ก่อน การถือศีลนั้นเป็นการต่อสู้กิเลสอย่างหยาบๆ กิเลสมีกำลังมากกว่าคุณธรรมในใจเรา พยายามยั่วยุผลักดันให้เราทำผิด เราก็ตั้งใจงดเว้น การทำบาปอกุศลทางกายทางวาจา 5 ประการ คืออย่างไรก็ไม่ยอมทำชั่ว ถึงความดียังไม่สมบูรณ์ก็ไม่ทำชั่ว ฉะนั้นรักษาศีลให้ดี เป็นเกราะป้องกันตัวเราไม่ให้ตกต่ำ ลำพังถ้าเราได้ศีล 5 ไม่ได้มรรคผลอะไรหรอก ก็มีศีล 5 ให้มันเป็นประจำเป็นนิจศีลอยู่ ตายไปโอกาสที่จะกลับมาเป็นมนุษย์ เป็นไปได้ ถ้าศีลของเราไม่ดี ก็หมดแล้ว ไปอบาย

ทุกวันนี้เราลองมองรอบๆ ตัวเรา คนหลงกับวัตถุ ลืมสนใจจิตใจตัวเอง คนผิดศีลผิดธรรมเต็มไปหมดเลย ครูบาอาจารย์ท่านเคยบอกมาหลายสิบปีแล้ว ท่านบอกว่าช่วงที่ท่านยังพูด ตอนที่ท่านพูด ท่านบอกท่านพิจารณาแล้ว ช่วงนี้สัตว์นรกมันขึ้นมามากเลย ถึงวาระที่มันขึ้นจากนรกมา แล้วเอานิสัยของสัตว์นรกมาติดตัวมาด้วย ท่านก็บอกไว้ว่าวันข้างหน้านี้ คนดีมีศีลธรรมอยู่ลำบาก มันจะเป็นสังคมของคนไม่มีศีลไม่มีธรรม พวกนี้มันโตขึ้นมา มันมีอำนาจขึ้นมา มีกำลังก็ถ่ายทอดเรื่องไม่มีศีลไม่มีธรรมออกไป เห็นเป็นเรื่องปกติที่จะทำความผิด ศีล 5 ท่านยังเคยบอก ท่านไม่ได้บอกหลวงพ่อ ท่านก็บอกคนที่ไปฟังท่านกับหลวงพ่อ บอกถ้าเราไม่ได้มรรคผล ให้ตั้งใจไว้ รักษาศีลให้ดี แล้วก็ทำความดีไป ภาวนาไป ต้องหนีต่อไป แต่เดิมศาสนาพุทธรุ่งเรืองอยู่ในประเทศหนึ่ง แล้วพวกที่อยู่ในนรกเขาก็ขึ้นมาเยอะแยะเลย ชาวพุทธเราก็ย้ายประเทศมาอยู่ที่นี่ ท่านบอกถึงเวลาต้องย้ายต่อไปอีกแล้ว

แล้วตั้งอกตั้งใจภาวนา ทำความดีไปศีล 5 รักษาไว้ ถึงแวดล้อมเราจะเต็มไปด้วยอกุศล คนทำบาปทำกรรมอะไรเยอะแยะ เราไปแก้ไขที่คนอื่นไม่ได้ แต่เราพยายามพัฒนาใจของเราให้มันพ้นออกไป เราต้องรู้จักหลักการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา ไม่ใช่เรื่องการร้องขออ้อนวอนให้เทวดาช่วย ให้ครูบาอาจารย์ช่วย หรือให้พระพุทธเจ้าช่วย เรียนรู้หลักของทางสายกลางให้ดี เราจะได้เข้าใจหลักของทางสายกลาง ก็จะเข้าสู่เส้นทางของมรรค

ธรรมะบทแรกที่พระพุทธเจ้าสอนก็คือ ธัมมจักรกัปปวตนสูตร ท่านสอนให้เราไม่สุดโต่ง 2 ข้าง ข้างตามใจกิเลส กับข้างทำตัวเองให้เดือดร้อน ให้ลำบาก ตามใจกิเลสเรียก กามสุขัลลิกานุโยค หลงโลกนั่นล่ะ หลงไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางโลก บอกนั่นไม่ใช่ทาง ถ้าเราหลงโลก แนวโน้มของเราคือไปอบาย ฉะนั้นจิตเราถ้าเราปล่อยมัน มันจะไหลไปเลย ในทางด้านกามสุขัลลิกานุโยค แนวโน้มก็คือจะไปอบาย สิ่งที่ท่านห้ามอีกอันหนึ่งก็คือ อัตตกิลมถานุโยค การทำตัวเองให้ลำบาก การบังคับกาย บังคับใจ มันเคร่งเครียด

พวกเรานักปฏิบัติไม่ค่อยหลงในโลกเท่าไรหรอก แต่ที่ผิดกันมากก็คือการบังคับกาย บังคับใจตัวเอง เข้าไปแทรกแซง คิดถึงการภาวนาเมื่อไรก็บังคับ บางทีภาวนาแล้วหลังเคล็ด คอเคล็ด ปวดหัวตัวร้อนไปเลย มันเพ่งแรง หรือบังคับใจนิ่งๆ ทื่อๆ เงียบๆ อยู่อย่างนั้น กามสุขัลลิกานุโยค พาเราไปทุคติ อัตตกิลมถานุโยค ถ้าเราทำมีโอกาสไปสุคติ เพราะเราควบคุมตัวเอง บังคับตัวเองอยู่ ไม่ได้ทำชั่วอะไร แต่ว่าไม่ฉลาด ก็ทำตัวเองให้ลำบาก โดยไม่มีประโยชน์อะไรมาก คือถ้าเราลงมือปฏิบัติเราก็เพ่งๆๆ ไป เกือบร้อยละร้อยของนักปฏิบัติคือเพ่งเอา ก็เพ่งๆ ร่างกายก็เครียด จิตใจก็เครียด ก็อยู่อย่างนั้น แต่ไปสุคติได้ไหม ก็ไปได้ เพราะว่าตอนที่นั่งเพ่งอยู่ไม่ไปทำผิดศีล 5 หรอก แล้วถ้าเพ่งเก่ง จิตใจสงบ สบาย อย่าว่าแต่เทวดาเลย ไปเป็นพรหมยังได้เลย แต่ก็ไปเป็นพรหมซื่อบื้ออยู่อย่างนั้น

ฉะนั้นท่านถึงสอนให้เราเดินในทางสายกลาง ไม่สุดโต่งไปข้างกามสุขัลลิกานุโยค ตามใจกิเลส ไม่สุดโต่งในข้างอัตตกิลมถานุโยค การกดข่มบังคับตัวเอง แล้วท่านก็สอนอริยมรรคมีองค์ 8 เวลาที่ท่านสอนพระปัจจวัคคีย์ฯ ท่านสอนง่ายๆ อริยมรรคมีองค์ 8 ประการ คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สอนอย่างนี้ พระปัจจวัคคีย์ฯ ฟังก็ได้โสดาบัน ของเราฟังแล้วยังไม่ได้ นี้ธรรมะบทแรก

องค์มรรคทั้ง 8 ทำให้เราเดินในอยู่ทางสายกลาง มีทฤษฎีชี้นำที่ถูก มีความเห็นถูก ถ้ามีความเห็นถูก เวลาคิดมันก็คิดถูก เวลาพูดมันก็พูดถูก เวลาทำมันก็ทำถูก เวลาทำมาหากินเลี้ยงชีวิต ก็เลี้ยงชีวิตถูก ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น ถ้าเรามีความเห็นถูก เดินอยู่ในทางสายกลาง รักษาศีลไว้ อยู่ในทางสายกลาง เราก็จะมีความคิดถูก มีคำพูดถูก การกระทำถูก เลี้ยงชีวิตถูก ที่ถูกๆ นั้นก็คือสัมมาวายามะ ทุกสิ่งที่เราทำนั้น ทำไปเพื่อลดละกิเลส เพื่อทำกุศลให้เจริญงอกงาม นั่นคือตัวสัมมาวายามะ

 

สัมมาสติ

แล้วถ้าเราคอยสังเกตจิตใจตัวเองไป อย่างมันเกิดความคิดนอกลู่นอกทาง คิดจะเบียดเบียนคนอื่น คิดจะหลงโลก เรามีสติรู้ทันไว้ เวลามันจะพูดไม่ดี หรือมันจะทำไม่ดี เราคอยมีสติรู้ทันจิตใจตัวเองไว้ นอกจากจะเป็นการปิดกั้นอกุศล เป็นการเจริญกุศล มันทำให้สติของเราเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการที่เราคอยรู้เท่าทันจิตใจตนเอง อกุศลที่มีอยู่ก็ดับ อกุศลใหม่จะไม่เกิด กุศลที่ยังไม่มีก็จะมี กุศลที่มีแล้วก็จะเจริญงอกงามขึ้น อกุศลจะไม่เกิดเมื่อเรามีสติ อกุศลที่มีอยู่ก็จะดับไปเมื่อเรามีสติ เมื่อไรมีสติ เมื่อนั้นกุศลก็เกิด เมื่อไรสติเกิดบ่อยๆ กุศลก็เจริญ

ฉะนั้นการที่เราพากเพียรอ่านจิตอ่านใจตนเอง สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด ถ้าเรารู้ทัน กิเลสมันอยู่เบื้องหลังความคิด เราก็ไม่คิดไปในทางชั่ว เราก็จะมีสัมมาสังกัปปะ กิเลสมันอยู่เบื้องหลังคำพูด เรารู้ทันมีสติรู้ทัน เราก็ไม่พูดชั่ว มีสัมมาวาจา กิเลสมันอยู่เบื้องหลังการกระทำกับการเลี้ยงชีวิต เรารู้ทันการกระทำของเราก็จะดี การเลี้ยงชีวิตของเราก็จะดี อาศัยสติ สติมาทำงานช่วยเราให้องค์มรรคทั้งหลายเจริญขึ้นๆ พอสติเราเข้มแข็ง มีสติถูกต้อง สมาธิจะเกิดขึ้นเองอัตโนมัติ สตินั้นมันมี 2 อย่างเหมือนกัน สมาธิก็มี 2 อย่าง สมาธิมีมิจฉาสมาธิ กับสัมมาสมาธิ สติเองก็มี 2 อย่าง คือสติธรรมดากับสัมมาสติ คนที่เรียนอภิธรรมบอกว่า ไม่ต้องพูดหรอกสัมมาสติ เพราะสติอย่างไรก็สัมมา

ถ้าไม่ต้องพูดพระพุทธเจ้าก็ไม่พูด แต่นี้พระพุทธเจ้าพูดถึงสัมมาสติ สติ เช่นเราจิตเรามีกุศล อยากฟังเทศน์ อยากทำบุญ อยากใส่บาตร เราตรึกอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกุศล จิตมันมีสติแต่มันเป็นสติธรรมดา แต่สติจะทำให้เราอยู่เหนือโลก สติในองค์มรรค ไม่ใช่สติธรรมดา แต่มันเป็นสัมมาสติ สิ่งที่เรียกว่าสัมมาสติ คือสติที่ระลึกรู้รูป รู้นาม รู้กาย รู้ใจ เพราะฉะนั้นอย่างที่เราคอยรู้ทัน กิเลสอะไรอยู่เบื้องหลังความคิด อยู่เบื้องหลังคำพูด อยู่เบื้องหลังการกระทำ อยู่เบื้องหลังการเลี้ยงชีวิต แล้วเราคอยเห็น กิเลสเกิดเราก็รู้ กิเลสดับเราก็รู้ รู้ตัวขึ้นมา จิตมีสติขึ้นมาเราก็รู้ จิตหลงไปขาดสติเราก็รู้ ตรงนี้ถึงจะเป็นสัมมาสติ เป็นสติที่รู้กายรู้ใจตัวเอง ถ้าสติอย่างอื่นรู้อารมณ์ที่เป็นกุศล เป็นสาธารณะกุศล ไม่ใช่กุศลชนิดที่รู้กายรู้ใจ ไม่เรียกว่าสัมมาสติ

ฉะนั้นสติเองก็ต้องแยกเป็น 2 ชนิดเหมือนกัน ฉะนั้นจะมาบอกว่าสติอย่างไรก็เป็นกุศล อันนั้นถูกแต่เป็นกุศลระดับที่เรียกว่าสาธารณะกุศลทั่วๆ ไป กับเป็นกุศลในระดับที่เจริญสติปัฏฐาน มันคนละชั้นกัน ลำพังเราทำบุญ ใส่บาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม ทำสังคมสงเคราะห์ ก็ไปสุคติได้ แต่ไปมรรคผลยังไม่ได้หรอก อยากได้มรรคได้ผลก็ต้องมีสติที่เป็นสัมมาสติ คือสติที่เจริญสติปัฏฐานนั่นเอง สติระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจ ทันทีที่สติระลึกรู้รูปธรรม หรือนามธรรมที่ปรากฏอยู่ สัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ สัมมาสมาธิไม่ใช่การเพ่งจ้อง นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อยที่เป็นอัตตกิลมถานุโยค คือทำสมาธิชนิดเพ่งจ้อง จ้องบังคับตัวเอง รู้ลมหายใจก็จ้อง เครียด ดูท้องพองยุบก็ดูเสียเครียดเลย ยกเท้าย่างเท้าก็ดูเสียเครียดเลย อันนั้นไม่ใช่สมาธิที่ถูกต้อง

สติถ้าสามารถใช้สติ เราใช้สติระลึกรู้รูปนามได้ สมาธิเกิดขึ้นอัตโนมัติ รูปธรรม อย่างขณะนี้ร่างกายมันนั่งอยู่ รู้สึกว่าร่างกายนั่งอยู่ กับเพ่งร่างกายที่นั่งอยู่ ไม่เหมือนกัน แค่รู้สึก แค่เห็น เห็นร่างกายมันกำลังนั่ง เห็นร่างกายมันกำลังหายใจ แต่ถ้าไปเพ่งร่างกายที่นั่ง ก็เพ่งมัน ร่างกายหายใจก็ไปเพ่งลมหายใจ มันก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิที่ดีหรอก มันเป็นสมาธิเพ่งอารมณ์ เรียกอารัมมณูปนิชฌาน ไม่เกิดปัญญา สงบเฉยๆ ไม่เกิดปัญญา ฉะนั้นเราแค่เห็น เห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นใจอย่างที่ใจเป็น เห็นอย่างที่มันกำลังเป็นอยู่ แล้วสมาธิมันจะเกิดเอง

 

“เราเจริญธรรมะอย่างที่หลวงพ่อบอก
ก็เท่ากับเราเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานอยู่ตลอดเวลา”

ครูบาอาจารย์ท่านจะชอบสอน ให้รู้ทันจิตที่หลงไปคิด ทำไมให้รู้ทันจิตที่หลงไปคิด ทำไมไม่เน้นจิตที่กำลังหลงไปโกรธ หลงไปโลภ กลับไปเน้นจิตหลงไปคิด เพราะจิตหลงไปคิดเกิดบ่อยที่สุดเลย เพราะเราหลงคิดทั้งวัน หลงคิดตลอดเวลา ถ้าจิตหลงไปคิดเรารู้ มีสติรู้ทันจิตที่หลงไปคิด สมาธิคือความตั้งมั่นของจิตก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นที่ครูบาอาจารย์ท่านย้ำลง ให้รู้ทันจิตที่หลงไปคิด เพราะว่ามันเกิดบ่อย จิตหลงไปคิดแล้วรู้ จิตหลงไปคิดแล้วรู้ สมาธิมันจะเกิดถี่ยิบขึ้นมา

ถามว่ารู้สภาวะอย่างอื่นได้ไหม บางคนขี้โมโห โมโหตลอดเวลาเลย ตาเห็นรูปก็โมโห หูได้ยินเสียงก็โมโห จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายสัมผัส ใจคิดนึก ก็โมโหไปหมดเลย ขี้โกรธ ขี้โกรธมีสติรู้ไป จิตโกรธขึ้นมาก็รู้ จิตหายโกรธขึ้นมาก็รู้ ตรงที่สติรู้ทันจิตโกรธขึ้นมาก็รู้ ความโกรธดับ แล้วจิตก็จะตั้งมั่นขึ้นชั่วขณะ เช่นเดียวกับจิตหลงไปคิดแล้วรู้นั่นล่ะ ขยับ ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก ถ้ารู้ไม่ใช่เพ่ง ถ้ารู้ ถ้าเห็น คำว่าเห็นมันก็มีปัญหา เดี๋ยวจะเห็นด้วยตา มันเห็นด้วยความรู้สึก รู้ด้วยความรู้สึก มันก็จะเห็นว่ารูปมันเคลื่อนไหว มันไม่ใช่เราหรอก ตรงที่เห็น รู้ อย่างเราเผลอๆ อยู่แล้วขยับ พอขยับตัวแล้วสติระลึกได้ ร่างกายเคลื่อนไหว สมาธิก็จะเกิด

เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไร สติเราสามารถระลึกรู้รูปที่กำลังปรากฏ นามที่เพิ่งปรากฏไปสดๆ ร้อนๆ สมาธิก็จะเกิดขึ้นอัตโนมัติ อันนี้เป็นสำหรับเส้นทางของคนที่ไม่ได้ฌาน ก็จะเก็บแต้มสมาธิเป็นขณะๆๆ ไป เรียกขณิกสมาธิ อย่าดูถูกขณิกสมาธิ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว ท่านที่บรรลุพระอรหันต์ส่วนใหญ่ ปฏิบัติมาด้วยขณิกสมาธิ ไม่ใช่ว่าเข้าฌานได้ทุกองค์ ฉะนั้นถ้าเรามีสติระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจบ่อยๆ สมาธิเราก็จะบริบูรณ์ขึ้นมา จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนว่า ถ้าเรามีความเห็นถูกมากๆ เห็นถูกเรื่อยๆ ไป เห็นสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป บังคับไม่ได้ มีความเห็นถูก เวลาคิดมันก็จะคิดถูก เวลาคิดถูก คำพูดมันก็จะถูก เพราะคำพูดที่ผิดมันก็เกิดจากการคิดไม่ดี คิดผิดๆ ความคิดถูก คำพูดถูก การกระทำมันก็ถูก เพราะการกระทำมันก็เกิดจากจิตบงการ จิตมันคิดไป ก็ทำดีบ้างทำชั่วบ้างตามที่มันคิดไป

ฉะนั้นตรงที่เรามีสติรู้ทันจิตที่มันคิดนึกปรุงแต่ง รู้มันไปเรื่อยๆ องค์มรรคที่เหลือมันจะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเลย ที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ดูจิตๆ คอยรู้ทันจิตตัวเองไป กุศลเกิดก็รู้ อกุศลเกิดก็รู้ไป เวลาคิดไม่ดีปุ๊บสติมันรู้ทัน เฮ้ย นี่คิดไปเพราะความโกรธ นี่คิดไปเพราะความโลภ นี่คิดไปเพราะความหลงผิด เบียดเบียนด้วยความหลงผิด ถ้าเรารู้จิตใจตัวเอง อ่านจิตใจตัวเองเรื่อยๆ ไป มรรคที่เหลืออีก 6 ตัวมันเจริญเอง พัฒนาได้เอง แล้วสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จะบริบูรณ์ขึ้นมา

ฉะนั้นครูบาอาจารย์บางองค์ หลายองค์ ผู้หลักผู้ใหญ่ ท่านบอกการดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุดเลย ดูจิตไม่ได้ดูว่าจิตเป็นอย่างโน้นอย่างนี้อะไรหรอก รู้ทันกิเลสทั้งหลายที่มันเกิดกับจิตใจของเรา รู้มันไปเรื่อยๆ จิตมันโลภก็รู้ จิตมันโกรธก็รู้ จิตมันหลงก็รู้ ถ้ารู้ตรงนี้มันก็ไม่คิดชั่ว มันก็ไม่พูดชั่ว มันก็ไม่ทำชั่ว มันก็ไม่เลี้ยงชีวิตชั่ว ถ้ารู้อย่างนี้ก็เกิดสัมมาวายามะ ความชั่วที่มีก็ดับไป ความชั่วใหม่มันก็ไม่เกิด ตรงที่เรามีสติรู้นั้นความดีมันเกิด กุศลมันเกิดแล้ว แล้วมันเกิดบ่อยๆ จิตใจก็จะมีสติเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ รู้ทัน กิเลสอะไรเกิดรู้ทันไปเรื่อยๆ

ฉะนั้นเราเจริญธรรมะอย่างที่หลวงพ่อบอก ก็เท่ากับเราเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานอยู่ตลอดเวลา จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะรู้ว่าไม่มีราคะ จิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะรู้ว่าไม่มีโทสะ จิตมีโมหะคือหลง รู้ว่ามันมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ ไม่หลง รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ รู้ว่าไม่มีโมหะ จิตฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตหดหู่รู้ว่าหดหู่หัดรู้มันไปอย่างนี้เรื่อยๆ ไป เล่นมันตรงนี้เข้าไปเลย แล้วมันจะได้ องค์มรรคทั้งหมดมันจะเกิดขึ้นมาอัตโนมัติเลย มันถึงเป็นวิธีที่ลัดสั้นมาก เหมาะกับยุคนี้ ยุคนี้เราไม่มีเวลาเหมือนคนรุ่นปู่ ย่า ตา ยายเรา สมัยก่อนหมดหน้านาเหลือเวลาเยอะแยะเลย บางคนเขาหาทางดี หมดหน้าทำนาก็เข้าวัด ฟังเทศน์ฟังธรรมอะไรไป บางทีก็ไปช่วยวัดก่อสร้างโน้นซ่อมนี้

 

อะไรที่มันเข้ากับของไม่ดีที่พระพุทธเจ้าห้าม ไม่ควรทำ

บางคนไม่รักดี มีเวลาว่างก็ไปกัดปลา ตีไก่ เข้าบ่อน เข้าบาร์ เดี๋ยวนี้เข้าบาร์ แต่ก่อนก็เข้าไปกินเหล้าเมายา เข้าบ่อนเข้าอะไรอย่างนี้ เล่นถั่ว เล่นโป สมัยก่อนเขาเล่นอย่างนั้น ว่างๆ ไม่มีอะไรทำก็สูบกัญชา เคี้ยวกระท่อม ตอนหลวงพ่อเด็กๆ ผู้ใหญ่เขาพูดอะไร ไอ้คนนี้บ้ากัญชา มันเดินหัวเราะอยู่คนเดียว แล้วพอฤทธิ์กัญชาแรงๆ เห็นเชือกกระโดดเลยนึกว่างู การหมายรู้อะไรพลาดไปหมดเลย ผู้หลักผู้ใหญ่ก็สอนอย่าไปริอ่านสูบกัญชา คนรุ่นนั้นก็เชื่อ เชื่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่บอกอย่าสูบกัญชาก็เชื่อ หันไปสูบฝิ่นกัน พอเขาปราบฝิ่น ก็มาเล่นเฮโรอีน เดี๋ยวนี้พัฒนาไปมียาบ้า ยาไอซ์ ยาอี เยอะแยะไปหมด อะไรที่ทำลายสมองได้เอาหมดเลย ทั้งๆ ที่สมองเสื่อมแล้วเสื่อมเลย ไม่มีพัฒนาขึ้นมาอีกแล้ว

คณะสงฆ์เขาออกประกาศ ห้ามวัดปลูกกัญชา ปลูกกระท่อม แล้วห้ามพระฉันกัญชา ห้ามฉันกระท่อม ห้ามสูบกัญชาด้วยฉันด้วย ใส่ในแกงว่าอร่อยนักหนากินแล้วอารมณ์ดี นั่งหัวเราะเอิ๊กอ๊ากๆ คณะสงฆ์ห้าม ตอนนี้ไม่ได้ผิดกฎหมายแล้ว แต่ผิดธรรมะผิดพระธรรม ผิดพระธรรมอย่างไร อะไรที่ทำให้กุศลเจริญก็เอาอันนั้น อะไรที่ทำให้กุศลเสื่อมก็ไม่เอา ท่านตีความเรื่องกัญชา เรื่องกระท่อม ด้วยหลักธรรมที่ชื่อมหาปเทส สมัยพุทธกาลไม่มีพระวินัยเรื่องกัญชา เรื่องกระท่อม แต่ท่านใช้หลักของมหาปเทส มหาปเทสเป็นหลักการพิจารณาที่จะอุดช่องโหว่ของพระวินัย ของธรรมะก็ยังใช้ได้เลย ทั้งพระธรรม ทั้งวินัย

ท่านบอกอะไรที่มันเข้ากับของไม่ดีที่พระพุทธเจ้าห้าม ถึงท่านไม่ได้ห้ามสิ่งนี้ตรงๆ ก็ไม่ควรทำ อย่างพระจะมานั่งเสพยาเสพติดอะไรอย่างนี้ ไม่ควร ท่านห้าม กินแล้วเมา ห้าม ท่านก็บอกว่าพวกกัญชา กระท่อมอะไรอย่างนี้ กินแล้วมันก็จิตใจไม่ปกติ ความรู้สึกนึกคิดผิดปกติไป เข้ากับสิ่งที่พระพุทธเจ้าห้าม คณะสงฆ์ก็เลยประกาศออกมา ประกาศดีนะอันนี้ ห้ามพระปลูกกัญชา ห้ามพระปลูกกระท่อม กัญชงด้วย เป็นอย่างไรหลวงพ่อยังไม่รู้จักเลย แล้วห้ามฉัน ห้ามเสพ ฉะนั้นพวกเราจะเอาอาหารมาถวายพระ ไม่ต้องใส่กัญชามา ไม่ผิดกฎหมายแต่ไม่ถูกธรรมะ เพราะทำแล้วสติไม่ค่อยจะสมบูรณ์ ครึกครื้นผิดปกติ

ของบางอย่างถูกทั้งพระวินัย ถูกทั้งกฎหมาย ของบางอย่างถูกวินัยแต่ไม่ได้ถูกกฎหมาย ของบางอย่างไม่ถูกวินัยแต่ถูกกฎหมาย ของบางอย่างไม่ถูกวินัยด้วย ไม่ถูกกฎหมายด้วย ถ้าเป็นพระก็ต้องดู อย่างน้อยต้องไม่ผิดวินัย ถ้าผิดวินัยก็ใช้ไม่ได้แล้ว ถึงถูกกฎหมายแต่ผิดวินัยก็ไม่ใช้ ไม่เอา ใช้ไม่ได้ ก็ต้องรักษามาตรฐานพระไว้ ไม่เหมือนฆราวาส ฆราวาสไม่ผิดกฎหมายก็โอเคแล้ว อย่างฆราวาสเสพกาม ถ้ายุ่งอยู่กับสามีภรรยาตัวเองก็ไม่ได้ผิดอะไร พระทำไม่ได้ ของไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดวินัยก็มี บางอย่างผิดวินัยไม่ผิดกฎหมาย อย่างเรื่องกัญชาอย่างนี้ ฉะนั้นเราเป็นพระต้องระวัง สำรวม โยมเข้าวัดก็ต้องรู้ ไม่ใช่เอากัญชามาให้พระ

 

มีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองเนืองๆ ไว้
จิตก็จะเดินเข้าไปสู่ทางสายกลาง

เราคอยมีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเองเรื่อยๆ ไป จิตโลภขึ้นมาก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่อยู่ก็รู้ รู้มันไปเนืองๆ แล้วองค์มรรคจะเจริญขึ้นมาทั้งหมดเลย แค่รู้ทันจิตตัวเองเท่านั้น องค์มรรคทั้งหมดก็จะเจริญได้ เมื่อเจริญเต็มที่ เรียกว่าเราเดินอยู่ในทางสายกลางแล้ว ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป อย่างอกุศลเกิดในใจเรา ห้ามมันไม่ได้ แต่มันผลักดันให้เราคิดชั่วเรารู้ทัน เราก็ไม่คิดชั่ว ไม่พูดชั่ว ไม่ทำชั่ว กุศลเราก็เจริญ อกุศลมันก็ลดลงๆ ไม่ตึง ไม่ตึงเกินไป ตึงเกินไปเป็นอย่างไร จะมาบอกจิตว่าห้ามคิดชั่ว ห้ามมีกิเลส อันนี้ตึงเกินไป เพราะไม่มีใครทำได้ จิตมันเป็นอนัตตา

จิตมันจะปรุงกิเลส ใครจะไปห้ามได้ แต่เมื่อจิตมันปรุงกิเลสแล้ว ก็ใช้หลักที่พระพุทธเจ้าสอน จิตมีกิเลส มีราคะ โทสะ โมหะ มีสติรู้ทัน นี่คือทางสายกลาง ถ้าบอกว่าห้ามจิตมีกิเลส อันนี้ตึงเกินไป เป็นไปไม่ได้เลยเครียดจัดเลย อย่างบางคนหนุ่มๆ บางคนตั้งใจจะไม่เสพกาม บางคนเคร่งครัดมากจะไม่มาสเตอร์เบท ไม่สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง แล้วก็เครียดมากเลย ร่างกายมันมีฮอร์โมนเพศมันผลักดัน แล้วใช้วิธีกดข่มเอาไว้ จะเป็นคนที่เครียด อันนี้มันตึงเกินไป ถ้าหย่อนไปก็คือเกิดราคะขึ้นมาก็สนองเลย จะผิดลูกผิดเมียใครก็ไม่สนใจ นี่ยิ่งหนักเข้าไปอีก

ฉะนั้นอย่างกิเลสเกิดขึ้นในใจเรา เราต้องไม่ตึงไปแล้วก็ไม่หย่อนไป หย่อนไปคือตามใจกิเลส ตึงไปก็คือพยายามละกิเลส กิเลสนั้นไม่ต้องละ กิเลสอยู่ในสังขารขันธ์อยู่ในกองทุกข์ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ไม่ใช่การละ ฉะนั้นจิตมีราคะขึ้นมา ท่านถึงบอกว่า จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ ท่านไม่ได้สอนว่าจิตมีราคะให้ละเสีย ท่านไม่ได้สอนอย่างนั้น ถ้าให้ละเสียตึงไป เครียด แต่ท่านให้รู้ แล้วก็ไม่ได้ให้ตามใจ ถ้าตามใจก็คือหย่อนไป ถ้าพยายามไปดับกิเลส ไปละกิเลส อันนี้ตึงไป ถ้ากิเลสเกิดรู้ว่ากิเลสเกิด เห็นว่ากิเลสกับจิตมันก็คนละอันกัน เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิต อยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับไป กิเลสเองก็เกิดดับๆ ได้ นี่ทางสายกลาง ตรงที่เราเห็นกิเลสเกิดขึ้นแล้วมันดับปั๊บไป จิตมีสมาธิ แล้วเราก็เห็นไปเนืองๆ เห็นบ่อยๆ กิเลสเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ต่อไปปัญญามันก็เกิด มันจะรู้ว่าสภาวะทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเกิดได้มันก็ดับได้ ไม่ต้องไปดับมันหรอก มันดับของมันเอง เมื่อเหตุของมันหมดมันก็ดับ

เหตุอะไรที่ทำให้จิตเรามีราคะรุนแรง กามวิตก การที่เราไปคิดในเรื่องกาม ราคะมันจะแรงขึ้นมา พอเราฉลาดเราว่องไว จิตเราจะไปคิดตามกาม เรารู้ทัน นี่มีกามวิตกแล้ว สติรู้ทันปุ๊บ ไม่มีกามวิตก กามราคะก็งอกงามไม่ได้ นี่ทางสายกลาง มันเต็มไปด้วยเหตุด้วยผล กิเลสมันเป็นอนัตตา ละมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นกิเลสเกิดท่านถึงไม่ได้บอกให้ละ แต่ท่านให้เห็น ให้รู้มัน ราคะเกิดรู้ว่ามีราคะ โทสะเกิดรู้ว่ามีโทสะ โมหะเกิดรู้ว่ามีโมหะ รู้ไปเรื่อยๆ ถ้าพยายามละ ตึงไป ถ้าตามใจมัน นี่หย่อนไป ถ้าตามใจมันก็จะไปอบาย ถ้าไปต้านมัน ไปต่อต้านมันก็ไม่ทำชั่วอะไร ไปสุคติได้ แต่ไม่ได้ไปมรรคผลนิพพาน ไม่ถึง ไม่เกิดมรรคผล เพราะไม่ใช่ทางสายกลาง

 

ฉะนั้นเราฟังที่หลวงพ่อเทศน์วันนี้ ฟังให้ดีๆ เรามีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป อกุศลอะไรเกิดให้รู้ไม่ใช่ให้ละ รู้เรื่อยๆ ไป เรารู้เรื่อยๆ ไปอกุศลก็จะค่อยๆ หมดกำลัง กุศลก็ค่อยๆ เจริญขึ้น เราสั่งกุศลให้เจริญไม่ได้ เพราะกุศลเองก็ตกอยู่ใต้คำว่าอนัตตาเหมือนกัน แต่การที่เราทำเหตุคือเรามีสติบ่อยๆ กุศลมันเจริญขึ้นเอง อกุศลมันก็เสื่อมไปเอง เพราะฉะนั้นเรามีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองเนืองๆ ไว้ จิตมันก็จะเดินเข้าไปสู่ทางสายกลาง ไม่ตึง ไม่หย่อน พอจิตเดินอยู่ในทางสายกลาง ในที่สุดองค์มรรคมันก็เต็มขึ้นมา อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น ที่เราเจริญมรรคนี่ไม่ใช่อริยมรรคหรอก เขาเรียกว่าบุพพภาคมรรค มันเป็นเบื้องต้นที่จะให้เกิดอริยมรรค

เวลาที่อริยมรรคเกิดนั้น เกิดขึ้นชั่วขณะจิตเท่านั้นเอง แวบเดียวเท่านั้น ฉะนั้นบางท่านเกิดมรรคเกิดผล ไม่รู้เลย ไม่ทันมัน เหมือนฟ้าแลบ เร็วกว่าฟ้าแลบอีก แป๊บ กิเลสมันขาดสะบั้นไปแล้ว บางท่านจิตท่านชำนาญในสมาธิ ตอนที่เกิดอริยมรรคท่านเห็นกระบวนการที่เกิดอริยมรรค อริยผล ทั้งหมดนี้ 7 ขณะ แต่ถ้าจิตไม่ทรงฌานจริงจะไม่เห็นจริงหรอก กิเลสมันขาดไปเลยไม่รู้หรอก แล้วมันจะค่อยมาสังเกตที่หลัง เขาเรียกมีปัจจเวกขณญาณ มาตามรู้ทีหลังว่า อกุศลตัวนี้ขาดไปแล้ว ขาดเด็ดขาดไปแล้ว ยังเหลือกิเลสตัวไหน เหลืออกุศลตัวไหน จะมารู้ทีหลัง หลังจากเกิดกระบวนการของอริยมรรคอริยผลไปแล้ว

สรุปก็คืออ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ อ่านใจไป จิตมีราคะก็รู้ จิตไม่มีราคะก็รู้ จิตมีโทสะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตรู้ตัวอยู่ก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตซึมเซาหดหู่ก็รู้ หัดรู้อย่างนี้เรื่อยๆ ไป แล้วมรรคทั้งหลายก็จะเจริญขึ้นมา

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
9 กรกฎาคม 2565