การปฏิบัติ 3 แนวทาง

หลวงพ่อดูที่ (โควิด-19) ระบาดส่วนใหญ่ๆ มันก็เรื่องของอบายมุข เรื่องกินเหล้า เที่ยวผับ เที่ยวบาร์ เที่ยวกลางคืน เต้นรำ ร้องเพลง พวกกลุ่มดูการละเล่นก็คบกันไป ชวนกันไปกินเหล้า นี่คบกันไม่อยากบอกว่าคบคนชั่วเป็นมิตร มันแรงไป

คบคนแบบเดียวกัน มีอบายมุข 6 ข้อ ตัวที่ทำให้เกิดโรคระบาด ไปดูมันก็อยู่ในกลุ่มอบายมุข เล่นการพนันมีคลัสเตอร์จากบ่อน ก็เรื่องอบายมุขอีก พวกเราชาวพุทธเราไม่ได้สนใจเรื่องอบายมุข แต่คนใกล้ตัวเราเขาสนใจ อาจจะเอามาติดพวกเราได้ คนใกล้ตัวระวังยาก อันตราย การระบาดคราวนี้ มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ก็ประเมินเอาไว้ได้อยู่แล้ว ว่าเปิดผ่อนคลายมากๆ อะไรอย่างนี้ อย่างไรโรคระบาดต้องเกิดแน่ วัคซีนก็ยังฉีดกันนิดเดียว ก็ผ่อนคลายรวดเร็ว บางคนก็โจมตีว่าตัดสินใจผิด

หลวงพ่อก็เคยทำงานระดับชาติ เรารู้อย่างหนึ่ง การตัดสินใจแต่ละเรื่องมันมีข้อมูลหลายด้าน มันไม่ใช่ว่าจะเอาใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ตลอด มันมีเหตุผลทั้งนั้นที่ต้องทำแบบนี้ ฉะนั้นไม่มีกลุ่มไหนได้ทุกอย่าง หรือกลุ่มไหนเสียทุกอย่าง อันนั้นถือว่าใช้ไม่ได้แล้ว ความจำเป็นของสถานการณ์ มันทำให้เราต้องเจออย่างนี้แหละ ก็อดทนอย่าโวยวาย โวยวายไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ข่าวสารมันจะเป็นพิษ

ฟังคนโน้นว่าอย่างนี้ ฟังคนนี้ว่าอย่างนั้น ตื่นตระหนกตกใจยิ่งโวยวาย มันดูปั่นป่วนไปหมด ก็ต้องเลือกเสพข่าว อย่างตอนนี้หมอโรงพยาบาลนั้นก็แถลง หมอโรงพยาบาลนี้ก็แถลง แถลงกันส่วนตัวกันเยอะแยะเลย ขัดกันไปขัดกันมา สุขภาพกายก็ป้องกันยากแล้ว สุขภาพจิตจะเสียเสียอีก เราก็อย่าไปฟังอะไรเลอะเทอะ ฟังที่มันเป็นทางการจริงๆ ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ จะได้ไม่เครียด ทำมาหากินยากก็เครียดอยู่แล้ว ระวังตัวไม่ให้ติดโรคก็เครียดอยู่แล้ว ฟังข่าวแล้วเครียดซ้ำเข้าไปอีก ไม่มีประโยชน์อะไร

จุดสำคัญที่สุดตอนนี้รักษาตัวเอง ไม่คลุกคลีกับใครมาก ถ้าต้องคลุกคลีก็ใส่มาสก์ ล้างมือ อยู่ห่างๆ ไว้ ก็คือไม่คลุกคลี ถ้าเรามีธรรมะ ไม่คลุกคลี เราก็ปลอดภัยตั้งเยอะแล้ว เราไม่มีอบายมุขเราก็ปลอดภัยเยอะแล้ว ฉะนั้นธรรมะทันสมัย ใช้ได้ตลอด กระทั่งเรื่องทางโลกๆ ถ้ามีธรรมะอยู่ก็ค่อนข้างปลอดภัย เว้นแต่กรรมตัดรอน ไปเจอญาติพี่น้องเพื่อนฝูง มันไม่ระวังตัวเอาเชื้อมาให้เรา อันนั้นกรรมมันตัดรอนเราแล้วล่ะ ต้องมาเจอคนอย่างนี้ ฉะนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ต้องแตกตื่นตกใจ ไม่ใช่เรื่องของชาวพุทธ ตื่นตูมอะไรอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องของชาวพุทธเรา ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีเหตุมีผลของมันทั้งหมด มันไม่ได้เป็นอย่างที่ใจเราต้องการ

กระทั่งเรื่องภาวนาก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน ไม่ใช่ตามที่เราอยาก อย่างเราภาวนาบางทีก็อยากโน้นอยากนี้ บางทีก็เสพข้อมูลเยอะไป ครูบาอาจารย์องค์นั้นสอนอย่างนี้องค์นี้สอนอย่างนั้น ฟังแล้วงง ขัดกันไปขัดกันมา ฟังมากๆ เลยภาวนาไม่เป็น ถ้าเรียนรู้หลักของธรรมะจริงๆ แล้ว มันจะไม่ตกอกตกใจ กระทั่งเรื่องภาวนาแต่ละแห่งทำไมมันไม่เหมือนกัน

การปฏิบัตินั้นมันจำแนกได้ตั้ง 3 แนวทาง ใช้สมาธินำปัญญา ใช้ปัญญานำสมาธิ ใช้สมาธิ และปัญญาควบกัน นี่ 3 แบบ

 

สมาธินำปัญญา

เราไปเจอครูบาอาจารย์บางท่าน ท่านดี ไม่ใช่ท่านไม่ดี ท่านเคยใช้สมาธินำปัญญา เวลาสอนท่านก็จะย้ำอยู่ตรงนี้ ต้องใช้สมาธินำปัญญา ทำอย่างไรสมาธินำปัญญา ขั้นแรกต้องทำสมาธิให้ได้ก่อน ให้ได้เอกัคคตาจิต เอกัคคตารมณ์ เป็นหนึ่ง คือจริงๆ ก็คือตัวผู้รู้นั่นเอง

ตัวผู้รู้มันมีวิธีที่ได้มา 2 วิธี วิธีที่ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าท่านทำกันมา เป็นวิธีเข้าฌาน จิตเข้าถึงอัปปนาสมาธิกัน อย่างท่านฝึกนะบางท่านก็เริ่มดูลม หายใจยาวๆ ลมไปถึงท้อง แล้วก็ค่อยๆ หายใจจนลมมันตื้นๆๆ ขึ้นมาอยู่ที่ปลายจมูก บางองค์ท่านก็เห็น สุดท้ายมันก็มาอยู่ที่จมูกนี่ ท่านก็สอนกำหนดลงที่จมูกเลย เราฟังเราก็เริ่มงงแล้ว ทำไมองค์หนึ่งหายใจยาวเชียว องค์หนึ่งมาอยู่ที่จมูกเท่านั้น ทำไมขัดกันไปขัดกันมา ฟังแล้วงงว่าเอาที่ไหนแน่ อันนั้นท่านก็เห็นว่าหายใจแล้วสุดท้ายมาลงที่จมูกนี่เอง ถ้าเรารู้อยู่ที่จมูก แล้วเราจะรู้ลมหายใจยาวได้ไหม รู้ได้ก็ลมมันไหลผ่านจมูก ถ้ามันไหลยาวๆ เราก็รู้ ไหลสั้นๆ เราก็รู้ มันเหมือนจะไม่ไหลเราก็รู้ ให้มันเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ลงไป จดจ่ออยู่ในอารมณ์อันเดียว อย่างเรารู้อยู่ที่ปลายจมูก จนกระทั่งจิตไม่วอกแวกไปที่อื่น โดยที่ไม่ต้องบังคับไว้ นี่ใจมันมีสมาธิแล้ว

ถ้าใจฝึกต่อไปอีกจนกระทั่งจิตมันรวม เกิดปีติ เกิดความสุขอะไรขึ้นมาก็ไม่หลงกับมัน เห็นเลยจิตมันจดจ่ออยู่ที่ลม จิตมันเคล้าเคลียอยู่ที่ลม ก็ยังเป็นภาระ พอลมมันระงับไปจิตมันก็วางลม วางจมูก มันทวนกระแสเข้าหาจิต อันนี้ได้ฌานที่ 2 จะได้ตัวผู้รู้ที่เข้มแข็งขึ้นมา ฌานที่ 2 3 4 5 6 7 8 จิตมีตัวผู้รู้ ถ้าจิตสงบมากเข้าๆ บางทีร่างกายหายไป โลกธาตุดับไป เหลือแต่ความรู้สึกตัวอยู่ ทีแรกก็เห็นความรู้สึกตัวอยู่ในความว่าง นั่นเข้าอรูปฌานที่ 1 ไปดูช่องว่าง มันว่าง

ภาวนาไปอีก ตัวรู้ก็ยังมีอยู่ ก็ยังเห็นเลยว่า ไอ้ว่างๆ นี้ยังถูกรู้อยู่ จิตมันก็ย้อนมาดูตัวรู้ อันนี้เป็นอรูปฌานที่ 2 ชื่อวิญญาณัญจายตนะ มันก็เห็นตัวผู้รู้กลายเป็นตัวถูกรู้ ซ้อนๆๆๆ กันไปไม่มีที่สิ้นสุด จิตนี้ไม่มีที่สิ้นสุด วิญญาณหรือจิตนั้น เป็นอนันต์ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ไม่ขาดสติ ถ้าขาดสติก็จะไปเป็นมิจฉาสมาธิ ดูต่อไปอีกก็จะเห็น จิตไปอยู่กับความว่าง ซึ่งเป็นตัวอารมณ์ ก็เป็นภาระ ย้อนมาดูตัวผู้รู้จะเกิดตัวผู้รู้ซ้อนๆๆ ก็เป็นภาระ ก็วางทั้ง 2 ด้าน วางทั้งผู้รู้ ทั้งสิ่งที่ถูกรู้ รู้อยู่โดยไม่จับทั้งผู้รู้ และสิ่งที่ถูกรู้ มันก็เข้าสู่ อากิญจัญญายตนะ เป็นอรูปฌานที่ 3 แต่ก็ไม่ขาดสติ ถัดจากนั้นสัญญามันจะอ่อนลง เหมือนจะเคลิ้มๆ ลงไปแต่ก็ไม่ขาดสติ จิตที่มันเดินตั้งแต่ฌาน เข้าฌานไป 2 3 4 5 6 7 8 มันจะได้ตัวผู้รู้ที่เข้มแข็ง พอออกจากสมาธิมาแล้ว จิตจะตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่ แต่ก็ไม่เกิน 7 วันหรอก เพราะอย่างไรมันก็ไม่เที่ยง มันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกัน

ตอนที่จิตมันถอนตัวออกมาจากสมาธิแล้ว มันตั้งมั่นเด็ดเดี่ยวขึ้นมาแล้ว ตรงนี้ท่านก็สอนให้เดินปัญญา อันนี้หลักของสมาธินำปัญญา ปัญญาที่จะดูหลังจากที่เข้าฌานแล้ว จะเจริญปัญญาด้วยการดูกายหรือเวทนา ถ้าอินทรีย์ยังไม่แก่กล้าก็ดูลงไปที่กาย เห็นว่ากายไม่ใช่เราหรอก เป็นของถูกรู้ถูกดูอยู่ ไม่มีตัวเรา ดูกายไปเรื่อยๆ ต่อไปก็เห็น ในกายไม่ได้มีแต่กาย แต่มันมีเวทนาอยู่ด้วย เดี๋ยวมันก็ทุกข์ตรงนั้น เดี๋ยวมันก็เจ็บตรงนี้ พอมันคลายออกไป แล้วก็รู้สึกเหมือนกายนี้สบาย พอเวทนามาก็รู้สึกมันทุกข์ ก็จะเห็นอีกเวทนามาแล้วก็ไป มาเองไปเอง เวทนาก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ กายก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

เส้นทางเดินของผู้ปฏิบัติที่ใช้สมาธินำปัญญา เขาเดินกันอย่างนี้ เรารู้อย่างนี้ ถ้าเราทำฌานได้เราก็ทำไป ถ้าเข้าฌานแล้วเราก็มาดูกาย ทำไมไม่ไปดูจิต ตอนที่ออกจากฌานมา จิตมันนิ่งๆ สบายๆ ว่างๆ อยู่อย่างนั้น ไม่มีอะไรให้ดูหรอก มันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ท่านถึงน้อมมาดูกาย ในตำราถึงสอนบอก “กายานุปัสสนา และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมาะกับสมถยานิก เหมาะกับคนเล่นฌาน” ฉะนั้นที่ท่านทำๆ กันอยู่ถูกตำราเป๊ะเลย แต่ถูกในด้านหนึ่งในด้านของสมาธินำปัญญา

 

ปัญญานำสมาธิ

คนรุ่นเรามันเข้าสมาธิไม่ค่อยได้ เป็นโรคสมาธิสั้น ใจวอกแวก หรือวันๆ ทำงานที่ต้องคิด คิดโน่นคิดนี่ทั้งวัน ใจที่ต้องคิดตลอดเวลา เมื่อฟุ้งซ่านคิดโน่นคิดนี่ คิดไปคิดมา ก็ติดอยู่ในเรื่องของความคิดความเห็น อย่างนี้ถูกอย่างนี้ผิดอะไรอย่างนี้ เจ้าความคิดเจ้าความเห็นทั้งหลาย พวกนี้ให้ไปนั่งเข้าฌานเข้าไม่ได้ ฉะนั้นอย่างคนรุ่นเรานี้ มันเข้าฌานไม่เป็น ภาวนา 100 คน 1,000 คน เข้าฌานได้สักคนหนึ่งอะไรอย่างนี้ ส่วนใหญ่มันทำไม่ได้ ทำไม่ได้ไม่ต้องตกใจ แล้วก็ไม่ต้องฝืน บางคนได้ยินว่าครูบาอาจารย์ท่านเข้าฌานกัน ก็ต้องเข้าอะไรอย่างนี้ อันนั้นเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ ไม่ใช่ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนธรรมะไว้แคบๆ อย่างนั้น ท่านสอนเรื่องปัญญานำสมาธิ

ปัญญานำสมาธิ ตอนที่เจริญปัญญาก็ต้องใช้สมาธิ แต่สมาธินั้นเป็นระดับขณิกสมาธิ ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ อย่างอยู่ในอัปปนาสมาธิ ออกจากอัปปนาสมาธิมา มาอยู่ในอุปจารสมาธิ พิจารณาลงในกายอะไรอย่างนี้ อำนาจของอุปจารสมาธิ มันจะเห็นกายมันแตกสลาย มันระเบิดมันกลายเป็นแสงสว่าง มันเป็นอะไร นี้เป็นอำนาจของอุปจารสมาธิทั้งนั้นเลย ตอนออกจากฌานมา มันก็จะลงมาอยู่ตรงนี้ แต่มันมีสมาธิอีกชนิดหนึ่ง ก็คือขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิไม่ได้เกิดจากการเข้าฌาน ขณิกสมาธิเกิดง่ายๆ ถ้าเมื่อใดเรามีสติรู้สภาวะถูกต้องตามความเป็นจริง มีสติรู้สภาวะ อย่างครูบาอาจารย์รุ่นหลังๆ นี้ท่านสอนกันหลายสำนัก

อย่างสายหลวงพ่อเทียนท่านก็ขยับมืออย่างนี้ ขยับมือไปแล้วก็ไม่ใช่ให้จิตไหลไปอยู่ที่มือ ท่านบอกว่าเขย่าธาตุรู้ ท่านก็บอกอยู่แล้วว่ามันจะต้องปลุกตัวรู้ขึ้นมา เคลื่อนไหวไป เห็นร่างกายเคลื่อนไหวใจเป็นคนรู้ อย่างนี้ ขยับไปขยับมาจิตหนีไปคิด จิตก็เป็นคนรู้อีกว่ามันหนีไปคิดแล้ว ตรงที่มันรู้ทันสภาวะที่รูปมันเคลื่อนไหว สภาวะที่จิตมันเคลื่อนไหวคือมันคิด ถ้าเรารู้สภาวะอย่างที่มันเป็น จิตจะเกิดขณิกสมาธิ จิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติขึ้นมาเลย เพราะฉะนั้นสติเกิด สมาธิก็เกิด เป็นอีกวิธีหนึ่ง เป็นวิธีซึ่งเหมาะกับคนคิดมาก

หลวงพ่อทำสมาธิมาแต่เด็กๆ ตอนหลวงพ่อมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านให้เดินปัญญาด้วยการดูจิต เพราะจริตนิสัยของหลวงพ่อไม่มีเชื่ออะไรง่ายๆ หรอก เชื่อเรื่องความคิดความเห็นอะไรนี้ก็ไม่ยอมหรอก เจ้าความคิด เจ้าความเห็นไม่น้อยหรอก ใครสอนอะไร ครูบาอาจารย์องค์นี้เขาลือว่าดีนักหนา หลวงพ่อก็ว่าท่านดี แต่จะดีสำหรับเราหรือเปล่ามันอีกเรื่องหนึ่ง ใจหลวงพ่อมันขนาดนั้น ขนาดหลวงปู่ดูลย์ถามว่าเชื่อท่านไหม บอกยังไม่เชื่อเพราะไม่เห็น บอกว่า “ผมยังไม่เห็นครับ” แต่ไม่ได้บอกท่านว่าไม่เชื่อ ท่านถามว่า “เชื่อไหม” บอก “ผมยังไม่เห็นครับ แต่ผมจะไปภาวนา”

เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เชื่อเพราะครูบาอาจารย์พูด นิสัยของพวกทิฏฐิจริตมันแรงขนาดนี้ ฉะนั้นพอมาดูจิตดูใจ มันเหมาะกับนิสัย จิตใจมันเปลี่ยนเร็ว รวดเร็วแล้วมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเราเลย เราเป็นคนเจ้าความคิดเจ้าความเห็น เห็นอะไรแปลกๆ ไม่ยอมไม่ได้ รู้สึกว่าควบคุมมันไม่ได้ก็ยอมไม่ได้ พยายามดูแล้วดูอีก มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมจิตมันเป็นอย่างนี้

ดูไปๆ บางทีจิตก็รวมเข้าไป อย่างเห็นจิตเดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว หมุนๆๆ ไปอย่างนี้ ดูไปๆ บางทีจิตก็รวม จิตรวมลงไป เคยรวมลึกเลย แบบรวมจนร่างกายหายไปเลย ดูจิตอยู่นี่ล่ะ เห็นจิตมันกังวลขึ้นมาอะไรอย่างนี้ ดูลงไปความกังวลดับ ร่างกายดับ โลกธาตุดับ เหลือแต่จิตดวงเดียว ไปกราบหลวงปู่ดูลย์ ไปบอกท่านว่า “ผมดูจิตอยู่แล้วมันก็เคลิ้มๆ ลงไป” ท่านก็บอก “จิตมันเข้าสมาธิ” หลวงพ่อก็กราบเรียนท่านบอก “หลวงปู่ครับ ผมไม่ได้นั่งสมาธินะตอนนั้น ผมดูความเปลี่ยนแปลงของจิตอยู่” ท่านบอกว่า “การดูจิตนั้นได้สมาธิอัตโนมัติ” เพราะฉะนั้นการเดินปัญญา ก็ทำให้เกิดสมาธิ แต่ว่าก่อนจะเดินปัญญาได้ ต้องมีสมาธิขั้นเบสิกก่อน คือขณิกสมาธิ

ขณิกสมาธิก็เป็นสภาวะที่ อย่างจิตมันหลงไปแล้วเรารู้ว่าหลงปุ๊บ มันจะเกิดตัวรู้ขึ้นชั่วขณะ เราก็ต้องฝึกหลงแล้วรู้ๆ จนถี่ๆ ตัวรู้เกิดบ่อยๆ จนมันเหมือนตัวรู้นี่ทรงอยู่ได้ ทั้งๆ ที่จริงๆ ไม่ทรงหรอก มันเกิดดับๆๆ แล้วมันก็ไม่อยู่ถึง 7 วันหรอก อยู่ได้ 7 นาทีก็เก่งแล้ว อาศัยจังหวะที่จิตมันหลงแล้วรู้ปุ๊บ ตั้งมั่นขึ้นมา สติระลึกลงไปที่ใด มันก็จะเห็นเลยที่นั่นไม่มีเรา โดยเฉพาะความคิดมันเร็ว มันจะเกิดเร็ว เดี๋ยวจิตก็ดี เดี๋ยวจิตก็ชั่ว เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็ไม่โลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวไม่โกรธ เดี๋ยวหลง เดี๋ยวไม่หลง เดี๋ยวฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็ไม่ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวหดหู่ เดี๋ยวก็ไม่หดหู่ เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆ บางทีจิตก็มีสมาธิ บางทีจิตก็ไม่มีสมาธิ ไม่มีอุปจารสมาธิ บางทีจิตก็เข้าอัปปนาสมาธิ บางทีจิตก็ไม่เข้าอัปปนาสมาธิ

อันนี้สำหรับพวกที่ดูจิตโดยที่เคยได้ฌานมาก่อน ก็จะดูจิตช่วงท้ายๆ ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ 8 ตัวหลังนี่สำหรับคนที่ได้ฌาน เขาได้มาก่อน แล้วมาดูจิตบางทีก็เข้าถึงฌานสูงๆ ไปเลย เข้าถึงฌาน 8 อะไรอย่างนี้ก็มี ทีนี้ส่วนใหญ่ถ้าเราไม่เคยเข้าฌาน เราก็มีขณิกสมาธิรู้สึกเป็นขณะๆๆ ไป หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ไปเรื่อยเป็นขณะๆ ต่อไปพอเรารู้ๆๆๆ ถี่ๆๆๆ ขึ้น มันจะเหมือนตัวรู้นี้ทรงตัวอยู่ได้ แล้วเราก็จะเห็นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ถ้าเกิดมันระลึกหยาบลงไปอีกเห็นร่างกาย มันก็จะเห็นร่างกายนี้ก็ของถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเราอีกแล้ว ก็ดูได้ควบกันหมด ทั้งกาย ทั้งเวทนา ทั้งจิต จิตตสังขาร ฉะนั้นเราดูจิตๆ มันจะคลุมกรรมฐานทั้งหมดได้

หลวงปู่ดูลย์ท่านสอน “ธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ ออกมาจากจิตนี้เอง” ไม่ได้ออกมาจากที่อื่นหรอก ฉะนั้นถ้าเราฝึก เราเข้าฌานไม่ได้ เราฝึกกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้เวลาจิตมันหลง เช่นเราหายใจเข้าพุทออกโธอะไรอย่างนี้ จิตหลงแล้วรู้ๆ เน้นไปที่จิต ในที่สุดจิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้วก็เดินปัญญา โดยการเห็นจิตมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตนี้เดี๋ยวก็สุขแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตเฉยๆ เกิดแล้วดับ จิตโลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน หดหู่เกิดแล้วก็ดับ

ดูได้ละเอียดต่อไปอีก เห็นละเอียดขึ้นไปอีก จิตที่ไปดูเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปฟังเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปดมกลิ่น ลิ้มรส จิตที่ไปรู้สัมผัสทางกาย จิตที่ไปคิดนึกทางใจ เกิดแล้วก็ดับ เจริญปัญญาใช้วิธีนี้ ดูเป็นขณะๆๆ ไป ขณะนี้หลง ขณะนี้รู้ ขณะนี้หลง ขณะนี้รู้ ฝึกอย่างนี้ไปเรื่อย สุดท้ายจิตมันก็รวม พอกำลังศีล สมาธิ ปัญญามันพอ จิตมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ รวมเอง เราไม่เคยเข้าฌาน ถึงจุดหนึ่งมันจะเข้าฌานเองอัตโนมัติ แล้วอริยมรรคก็จะเกิดขึ้น อริยมรรคเกิดในฌานเท่านั้น ไม่เกิดข้างนอกฌานหรอก ต้องเกิดร่วมกับฌาน 1 2 3 4 5 6 7 8 นี่ล่ะ

นี่คือเส้นทางของการใช้ปัญญานำสมาธิ เดินปัญญาไปด้วยสมาธิเบสิก สมาธิธรรมดานี่เองเป็นขณะๆๆ ไปเดินปัญญา กรรมฐานที่เหมาะก็คือจิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา ขั้นแรกเราก็เอาจิตตานุปัสสนาก่อน จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตไม่หลงก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ รู้อย่างนี้ไปก่อน

 

จิตตานุปัสสนาและธัมมานุปัสสนาเหมาะกับพวกวิปัสสนายานิก ส่วนกายานุปัสสนาและเวทนานุปัสสนาเหมาะกับพวกสมถยานิก กลุ่มแรกพวกสมถยานิกจะเป็นกลุ่มที่ใช้สมาธินำปัญญา เราเข้าฌานไม่ได้เราก็ใช้สิ่งที่เรามี เรามีปัญญา เราก็ใช้ปัญญานำสมาธิ กรรมฐานที่เหมาะกับพวกปัญญานำสมาธิ ก็คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานกับธัมมานุปัสสนา

สติปัฏฐาน 2 อันนี้ต่างกัน ธัมมานุปัสสนาจะรู้ถึงกระบวนการของมัน อย่างดูนิวรณ์ ไม่ได้ดูราคะ โทสะ โมหะ เกิดแล้วก็ดับแค่นั้น มันจะเห็นเลยก่อนจะมีราคะ โทสะ มันมีนิวรณ์ นิวรณ์มันก็มีที่มาอีก รู้ลงไปถึงที่มา รู้กระบวนการทำงานขึ้นมา หรืออย่างราคะ เราไม่ใช่แค่เห็นว่าจิตมีราคะ กามราคะเกิด เราเห็นลึกลงไปอีก มันมีกามวิตกมันถึงเกิดกามราคะ แล้วมันก็มีอนุสัยของกาม มีอนุสัยอยู่มีผัสสะเข้ามา ใจหลงไปในความคิดทางกามวิตก กามราคะก็แรงขึ้นมา จะเห็นลงไปละเอียดลงไปอีก มันไม่ใช่เห็นว่าจิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วก็ดับ

บางคนเห็นแค่จิตโลภเกิดแล้วดับ จิตโกรธเกิดแล้วดับ รู้สึกไม่พอ พวกนี้ปัญญามันแก่กล้าขึ้นมา มันก็จะดูลงไปจนถึงธัมมานุปัสสนา มันไปของมันเอง อย่างกุศลเกิด อโลภะ อโทสะ อโมหะเกิด ไม่ได้ดูแค่นี้ ดูละเอียดลงไปถึงกุศลที่สำคัญเลย คือตัวโพชฌงค์ สติเพื่อการตรัสรู้ไม่เหมือนสติธรรมดา เป็นสติที่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นอย่างนี้ มันจะแตกต่างกัน ระหว่างจิตตานุปัสสนา กับธัมมานุปัสสนา พูดแล้วฟังยาก เราเอาเท่าที่เราทำได้ ที่ง่ายๆ เลย คือจิตตานุปัสสนานั่นล่ะ จิตเราเดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หาย ดูมันไปเรื่อยๆ ถ้ามันฟุ้งมากดูไม่รู้เรื่อง กลับมาทำกรรมฐาน สมถะก็ทำเข้าไปเถอะ ไม่ใช่ว่าห้ามทำ ถึงเราจะเดินด้วยปัญญา แต่การทำสมาธิเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว นั่งสมาธิ เดินจงกรมอะไร ทำในรูปแบบทำอะไรนี้ที่หลวงพ่อเรียกว่าทำในรูปแบบ หลวงพ่อกลัวพวกเราตกใจศัพท์ว่าไปนั่งสมาธิ

ทำในรูปแบบ รูปแบบของใครของมัน ทำไปเรื่อยๆ ให้จิตมันได้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้พักผ่อน แต่มันไม่ถึงขนาดเข้าฌาน ได้แค่ไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวชั่วครั้งชั่วคราวอะไรอย่างนี้ มันไม่เหมือนขนาดว่าไปนอนโรงแรมนอนค้างทั้งคืน นี่คล้ายๆ ขับรถเข้าไปจอดที่ปั๊มน้ำมันงีบสักหน่อยหนึ่ง มีแรงแล้วขับต่อ มันพักแบบนี้เท่านั้น ถามว่าต้องพักไหม ต้องพัก ถ้าจิตไม่ได้พักเลย จิตไม่มีแรงหรอก ฉะนั้นถึงบอกว่ามันก็ต้องมีสมาธิ แต่ว่าเป็นแค่สมาธิตื้นๆ เป็นขณิกสมาธิ ทีนี้พอจิตเรามีขณิกสมาธิ มีกำลังขึ้นมา มันก็จะได้ตัวรู้ขึ้นมา ฉะนั้นตัวรู้มาได้หลายอย่าง อันหนึ่งเข้าฌานไปจนฌานที่ 2 ได้ตัวรู้ อีกอันหนึ่งก็มีสติรู้สภาวะที่กำลังปรากฏในปัจจุบัน ก็จะได้ตัวรู้ขึ้นมาเหมือนกัน แต่ว่าคุณภาพไม่เท่ากัน ตัวรู้จากการทำฌานนี้ แข็งแรงอยู่ได้หลายวัน แต่ก็ไม่เกิน 7 วัน ตัวรู้จากการที่ดูเป็นขณะๆ อายุสั้น เดี๋ยวก็ตายแล้ว เดี๋ยวก็เป็นตัวหลงแล้ว ต้องฝึกให้ถี่ๆ จะได้ตัวรู้เหมือนรู้ได้ทั้งวัน ก็จะเห็นจิตใจนี้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

เวลาเราดูจิตดูใจ มันไม่ได้เห็น ในตำราเขาพูดแค่ว่าจิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ ดูจิตดูใจจริงๆ มันเห็นไปถึงจิตมีความสุข จิตมีความทุกข์ จิตไม่สุขไม่ทุกข์ มันเห็นเวทนาเข้าไปด้วย แต่มันเป็นเวทนาทางใจ เวทนาทางใจเวลาไปดูมันไม่ต้องเข้าฌานก่อน แต่เวทนาทางกายถ้าไม่มีฌานมาก่อน สติแตก มาดูกาย ดูเวทนาโดยไม่มีกำลังฌานหนุนหลังอยู่ สติแตกเอาง่ายๆ มันทุกข์ มันทนไม่ไหว ฉะนั้นมันคนละเส้นทางกัน ถามว่าเส้นทางไหนถูก เส้นทางไหนก็ถูกทั้งนั้น เพราะพระพุทธเจ้าสอนทั้งนั้น จะใช้สมาธินำปัญญาหรือปัญญานำสมาธิ พระพุทธเจ้าก็สอนนั่นล่ะ

 

สมาธิและปัญญาควบกัน

มีอีกเส้นทางหนึ่ง คือเส้นทางที่ใช้สมาธิและปัญญาควบกัน เส้นทางที่ใช้สมาธิและปัญญาควบกันนี่จะทำได้ ผู้นั้นทำฌานได้จนเป็นวสี ทำฌานได้ อันที่ 2 ชำนาญในการดูจิต เน้นไปที่จิตเพราะเวลาเข้าฌานนี่จิตมันวางกายแล้ว มันไม่มีกายจะดูแล้ว มันก็ไปอยู่ที่จิต อาจจะเหลือกายเป็นภาพแบ็คกราวน์ (background) ไว้ ยังไม่ถึงอรูปฌาน เหลือกายเป็นแบ็คกราวน์อยู่ แต่ความสำคัญอยู่ที่จิต

การเดินปัญญาในสมาธิ เราดูความเกิดดับขององค์ฌาน อย่างจิตไหลลงไปจับอยู่ที่จมูก เรามีสติรู้ทัน จิตที่ไหลไปที่จมูกก็ดับ เกิดจิตตั้งมั่นขึ้นมา เดี๋ยวไหลอีกก็รู้อีก หรือบางทีมันก็เคลื่อนอยู่ข้างใน มันตรึก มันเที่ยวแสวงหาอารมณ์อยู่ภายในฌาน ในสมาธิ ไหวๆ เคลื่อนๆ อยู่ข้างใน เรามีสติรู้ลงไปเรื่อยๆ แล้วมันก็กลับมาตั้งมั่นเป็นขณะๆ เดี๋ยวมันก็ออกไปเดินปัญญาข้างในอีก ก็จะเห็นวิตกเกิดแล้วก็ดับ วิจารเกิดแล้วก็ดับ ปีติเกิดแล้วก็ดับ สุขเกิดแล้วก็ดับ เอกัคคตา ตัวอุเบกขาเกิดแล้วก็ดับ มีอุเบกขาอยู่เดี๋ยวเดียวก็กลายเป็นสุขแล้วอะไรอย่างนี้ พลิกไปพลิกมาๆ มันก็คือการที่จิตมันขยับเขยื้อนอยู่ในฌานนั่นเอง ขึ้นๆ ลงๆ นี่คือการเดินปัญญาในฌาน ไม่ใช่นั่งสมาธิแล้วก็เห็นผีสางนางไม้ เห็นนรก เห็นสวรรค์อะไร นั่นไม่ใช่การเดินปัญญาในฌาน นั่นไม่ได้อยู่ในฌาน ตรงที่เที่ยวเห็นผีสาง นางไม้อะไรนี่จิตอยู่ในอุปจารสมาธิ ไม่ได้เข้าฌาน ถ้าเข้าฌานแล้วไม่ออกไปรู้อะไรหรอก ใจมันแน่วแน่อยู่ในอารมณ์ของกรรมฐาน วิธีนี้หาคนทำ ทำยากมาก ทำได้น้อยมาก

อย่างลูกศิษย์ส่วนใหญ่ของหลวงพ่อ ก็จะเป็นพวกไม่มีสมาธิ ก็จะเป็นพวกใช้ปัญญานำสมาธิ ลูกศิษย์ที่ใช้สมาธินำปัญญาก็มีแต่ว่ามีไม่มาก ถ้าชอบทางนั้นส่วนใหญ่ก็จะไปหาครูบาอาจารย์ ในสายกรรมฐานตามป่า ตามเขาอะไรนั้น ไปหัดเข้าฌานเข้าอะไรกัน ส่วนลูกศิษย์ที่ไปเดินปัญญาในฌาน มีอยู่คนเดียวที่เห็น เพราะแกมีวสี แกมีวสีในฌาน แล้วก็แกมีความชำนาญในการเจริญปัญญาในฌาน จะเห็นสภาวะภายในเกิดดับๆๆ อยู่ ทำยาก มันยากยิ่งกว่าเข้าฌานแล้วออกมาเจริญปัญญา มันยากที่สุดของในบรรดากรรมฐานทั้งหลาย

 

 

เราทำเท่าที่เราทำได้ ที่เราทำได้ส่วนใหญ่ในยุคนี้ของคนช่างคิด เจ้าความคิดเจ้าความเห็น ไปดูสิ คนยุคนี้เจ้าความคิดเจ้าความเห็นจริงไหม ลองไปดูอินเทอร์เน็ตดูเฟซบุ๊กดูอะไร เราจะเห็นคนไทยนี่เจ้าความคิดเจ้าความเห็น ประเทศอื่นไม่รู้ อ่านของมันไม่ออก อ่านที่ของคนไทยเขียน มันเจ้าความคิดเจ้าความเห็น มันทำไมรอบรู้อย่างนี้ มึงรู้ทุกเรื่องเลย ทั้งๆ ที่ไม่รู้สักเรื่องเลย มันเป็นแบบนี้

อย่างพอราชการเขาพยายามกั้น ไม่ให้คนทางตะวันตกแห่เข้ามาในเมืองไทย คนชายแดนทางบ้านเมืองเขาวุ่นวาย เขาจะหนีเข้ามาเยอะแยะเลย ขืนเข้ามานอกจากวุ่นวายแล้วก็จะเอาเชื้อมาด้วย ราชการเขาพยายามบล็อกชายแดนอยู่ ก็มีคนออกมาด่าอีก “ไม่มีมนุษยธรรม” เชื่อไหมถ้าราชการมีมนุษยธรรมปล่อยให้เข้ามา คนนี้ล่ะมันก็จะด่าอีก “ไม่รู้จักป้องกันประเทศ ไม่รู้จักเลยว่าเสียทรัพยากรเท่าไหร่ในการดูแล” มันด่าได้ทุกเรื่อง คนอย่างนี้ไม่ต้องไปฟังมันหรอก มันพูดไปตามจังหวะเสี่ยงปี่เสียงกลอง ถูกเร้าก็ลุกขึ้นเต้นเลย ก็แค่นั้นล่ะไม่มีอะไรหรอก เวลามองปัญหา มันไม่ได้มองตื้นๆ บอกแล้ว มันไม่ได้ตื้นขนาดนั้น

พวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็นถ้าจะฝึกกรรมฐาน ดูจิตไปเลย เวลาจะด่า สมมติจะด่า ด่าใครดี ด่ารัฐบาลเพราะว่าเป็นสิ่งที่ใครๆ เขาก็ชอบด่ากัน ขี้ไม่ออกก็ด่ารัฐบาลนี้แหละไม่ส่งเสริมให้ประชาชนกินผัก มันเป็นเอามากเลย ด่ารัฐบาล ดูเลย ด่าๆๆๆ ไม่รู้จะด่าใคร ไม่ด่าอยู่คนเดียว คือตัวเอง พวกนี้ศีลมันเสีย อย่ามาบอกว่าจะดูจิตเลย มันดูไม่ได้หรอกศีลมันไม่มี

เพราะฉะนั้นอย่างไอ้เที่ยวเขียนด่าอะไรโหวกเหวกๆ ทั้งวัน กูเก่งอยู่คนเดียวอะไรพวกนี้ ฟุ้งซ่าน แล้วก็ไม่มีศีล พวกนี้อย่ามาอ้างว่าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อ ดูจิตไม่เป็นหรอก มันไม่ใช่นักดูจิตหรอก ถ้านักดูจิตต้องมีศีล ต้องมีสมาธิขั้นต้น ถ้าไม่มีสักอย่าง มีแต่ความฟุ้งซ่านตลอดเวลา หงุดหงิดตลอดเวลา ไอ้โน่นก็ไม่ถูกใจ ไอ้นี่ก็ไม่ถูกใจอะไรอย่างนี้ โวยวายไปเรื่อยๆ นั่นไม่ใช่นักปฏิบัติ ก็ปล่อยเขาไป คนส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น

คนที่คิดจะปฏิบัติใช้ปัญญานำสมาธิจริงๆ ก็มีไม่มากหรอก แต่ว่ายุคนี้ก็ยังถือว่าเยอะกว่าเมื่อก่อน เมื่อ 30 กว่าปีก่อน 30 กว่าปีแล้วหลวงพ่อเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ แล้วรู้เรื่องแล้ว เข้าไปหาหลวงพ่อพุธ หลวงพ่อพุธท่านบอกเลยว่า “ให้คุณไปเผยแพร่นะ เพราะต่อไปคนซึ่งจริตนิสัยอย่างคุณ มันจะมีเยอะ ถ้าเขาไม่ได้ฟังธรรม เขาจะเสียโอกาส” เขาไม่ได้ฟังธรรมในเรื่องของปัญญานำสมาธิ เขาจะเสียโอกาส หลวงพ่อก็เลยออกมาเผยแพร่ เริ่มตั้งแต่เขียนหนังสือไปลงวารสาร ลงนิตยสารอะไรพวกนี้ เขียนอยู่ 2-3 ฉบับ เราถือว่าเราได้ทำตามที่ครูบาอาจารย์สั่งแล้ว เลิกเลย ไม่อยากยุ่งกับใครหรอก อยากภาวนาของเรา

ภาวนามาเรื่อยๆ พรรคพวกเขาก็เห็น คนใกล้ชิดก็เห็นเรา ทำไมไม่เหมือนมนุษย์ธรรมดา เราดูผ่องใส เราดูมีความสุข ใครเขาวุ่นวายเราก็ไม่เห็นจะวุ่นวายอะไร เราก็มีความสุขอยู่อย่างนี้ เขาก็สนใจ เขาก็ถาม เขาถามก็บอก อยู่ๆ ไม่ได้วิ่งไปบอกเขาเอง หลวงพ่อไม่มีนะ ประเภทเห็นหน้าใครแล้ววิ่งเข้าใส่ “จิตของคุณเป็นอย่างนี้นะ” เขาจะได้นับถือ ถ้าอย่างนี้ไม่ใช่นักปฏิบัติหรอก อยู่ๆ ก็แรดๆๆ เที่ยวไปบอกคนโน้นสอนคนนี้ เขาไม่ได้เชิญ เขาไม่ได้ถาม

ฉะนั้นสังเกตให้ดี อยู่ๆ ก็วิ่งไปบอกเขานี่ไม่ใช่หรอก เป็นพวกกิเลส มันคันในหัวใจ มันอยากพูดอยากแสดงธรรมะอะไรอย่างนี้ มันมีวิปัสสนูปกิเลสอยู่ตัวหนึ่ง มันอยากเทศน์ มันจะคันในใจมากเลย อยากสอนธรรมะมากเลย ทนไม่ได้ กระเหี้ยนกระหือ ไปนั่งสมาธิเสียให้จิตรวมก็หายแล้ว มันเป็นวิปัสสนูปกิเลสอย่างหนึ่ง เห็นหน้าใครก็ “อุ๊ย จิตเป็นอย่างนี้” นี่ยังไม่เท่าไหร่ เห็นคนนี้ “มีผีเดินตาม” ตามพ่อแกสิ มันจะมาตามทำไม อย่างนี้ไม่มีสาระแก่นสาร

ฉะนั้นคนจะดูจิตดูใจได้ ศีลต้องมี ฟุ้งซ่านแหลกลาญอะไรอย่างนี้ก็ไม่ได้ ต้องมีสมาธิ เบื้องต้นต้องมีศีลต้องรักษา ทุกวันต้องทำในรูปแบบ ฝึกให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจร่อนเร่ไปแล้วบอกว่าจะดูจิต มันจะไปดูได้อย่างไร จิตใจที่ฟุ้งซ่านมันจะไปดูอะไร มันจะไปดูรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันไม่ย้อนมาดูจิตใจตัวเองหรอก จิตใจที่ย้อนมาดูตัวเองได้ มันต้องไม่ฟุ้งซ่าน ฉะนั้นเราก็ต้องฝึก ไม่ใช่จะดูจิตแล้วไม่นั่งสมาธิ ไม่เดินจงกรม ไม่อะไรเลย แต่ถามว่านั่งสมาธิ เดินจงกรม คือการปฏิบัติหรือเปล่า อันนั้นคือเปลือก

การปฏิบัติจริงๆ คือการเจริญสติ มีสติคือมีการปฏิบัติ ขาดสติ คือขาดการปฏิบัติ ถึงจะเดินจงกรมทั้งคืนมันก็ไม่ได้ปฏิบัติ กำลังทำอัตตกิลมถานุโยคอยู่ แยกแยะให้ออก อย่างเราทำให้รูปแบบ เราเจริญสติ อย่างเอาจิตระลึกรู้ร่างกายที่หายใจออก ระลึกรู้ร่างกายที่หายใจเข้า นี่ฝึกสติ พอมันหนีไปที่อื่น ขาดสติแล้ว มันก็ลืมร่างกายที่กำลังหายใจ หรือร่างกายเดินจงกรม ให้เห็นร่างกายมันเดิน ใจเป็นคนดูอยู่ พอมันขาดสติปุ๊บ มันก็เดินส่งเดชไป ใจมันหนีไปที่อื่น รู้ทันใจตัวเอง มีสติรู้เท่าทันจิตใจตนเอง มันถึงจะเป็นการปฏิบัติจริงๆ มีสติรู้แข้ง รู้ขา รู้มือ รู้เท้า รู้ท้องอะไร ยังไม่ได้เรื่องหรอก ยังไม่ได้สาระแก่นสาร ภาวนาเข้ามาไม่ถึงจิตถึงใจ ไม่ได้สาระแก่นสารของการปฏิบัติ

ฉะนั้นเราทำในรูปแบบ ก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเองไป หายใจไปแล้วจิตหนีไปก็รู้ จิตไปเพ่งลมหายใจก็รู้ เดินจงกรมอยู่จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งเท้าอยู่ก็รู้ อะไรอย่างนี้ เราแค่รู้สึกสบายๆ ไม่เพ่ง รู้สึกสบายทั้งตัว เห็นตัวนี้มันเดินอย่างนี้ถึงจะดี แต่ถ้าเห็นเท้า จิตจดจ่อลงไป concentrate อยู่ที่เท้าอะไรอย่างนี้ ส่วนใหญ่ก็คือหลงเพ่ง หลงเพ่งก็คือหลง แต่หลงอย่างดี หลงดีหน่อย เรียกหลงเพ่ง เลิกเพ่งเมื่อไหร่ นิสัยร้ายๆ มันจะออกมาเยอะเลย เพราะมันเพ่งมานานแล้ว มันเก็บกด เพราะฉะนั้นเราต้องทำ ถือศีลต้องรักษา พวกที่ว่าจะดูจิตๆ จะใช้ปัญญานำสมาธิ ศีล 5 ต้องมี ไม่พูดเพ้อเจ้ออะไร พูดเพ้อเจ้อเสียศีล ออกความเห็นทางการเมือง หรือทางเรื่องโน้นเรื่องนี้ ออกความเห็นทุกเรื่อง เสียศีล ฟุ้งซ่าน ไม่ใช่หน้าที่

ฉะนั้นเราพยายามฝึก รักษาศีลให้ดี ทำในรูปแบบแล้วรู้ทันจิตตนเองไว้ สมาธิที่ดีมันจะเกิดขึ้น อาจจะไม่เข้าฌาน แต่สิ่งที่ได้คือขณิกสมาธิที่ชำนาญขึ้น อย่างเราหายใจเข้าพุท ออกโธ แล้วจิตมันหนีแล้วรู้ จิตมันหนีแล้วรู้ ต่อไปพอจิตหนีปุ๊บรู้ปั๊บ ขณิกสมาธิมันจะเกิด ฉะนั้นทำในรูปแบบนี่ มันจะทำให้ขณิกสมาธิเกิดเร็วขึ้นๆๆ มันเร็วจนกระทั่งเหมือนต่อเนื่องเป็นเส้นเลย สิ่งที่เราเห็นเป็นเส้นตรง เอาดินสอมาลากๆ เส้นไป เรารู้สึกว่ามันต่อกันหมดเลยเป็นอันเดียว เอาแว่นขยาย ขยายเยอะๆ หน่อย ขยายหลายๆ เท่าหน่อยไปส่อง จะเห็นมันเป็นแค่จุดๆๆๆ เป็นรอยเลอะตรงนั้น เลอะตรงนี้ไม่ได้ต่อกันหรอก ขณิกสมาธิแต่ละจุดๆ พอมันถี่ๆ แล้วมันจะรู้สึกว่าต่อ จะรู้สึกเหมือนมีสมาธิต่อกัน

ฉะนั้นในรูปแบบนี้จะทำให้เราได้สิ่งนี้ขึ้นมา ถัดจากนั้นเราเดินปัญญาไปเลย จิตจะสุข จะทุกข์ จะดี จะชั่ว เฝ้ารู้ เฝ้าดูความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไป จิตตานุปัสสนาเหมาะกับพวกทิฏฐิจริตเหมาะกับวิปัสสนายานิก คนที่เดินปัญญาโดยที่ไม่ได้เข้าฌานก่อน แล้วสุดท้ายจะเข้าฌานแน่นอน ถ้าศีล สมาธิ ปัญญาของเราพอละก็ ถึงจุดหนึ่งจิตรวมเข้าอัปปนาสมาธิเอง รวมเอง แล้วอริยมรรคก็จะเกิดขึ้น ไม่ใช่ไม่เกิด แต่ว่าถามว่าจะชำนิชำนาญในฌานสมาบัติ ในอภิญญาอะไรอย่างนี้ อย่างที่ท่านทั้งหลายทำมาทางฌาน ก็ไม่ได้อย่างนั้นหรอก ยกเว้นแต่ว่าได้ฌานมาแต่ชาติก่อนๆ แล้วมาเดินปัญญาในสมาธิอะไรอย่างนี้ พวกนี้ก็อาจจะมีของเล่นเยอะหน่อย

แต่ถ้าดูเป็นขณะๆ อย่างพวกเรานี่ แค่เอาตัวรอดก็ดีถมไปแล้ว ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็เป็นสุกขวิปัสสกะส่วนใหญ่ แต่บางท่านท่านเคยสะสมของท่านมา ท่านก็ได้เยอะกว่านั้น พระอรหันต์ในอดีต ในสมัยพุทธกาล ส่วนใหญ่ก็คือพระสุกขวิปัสสกะ ไม่ใช่พระอภิญญา พระเตวิชโช ฉฬภิญโญ วิชชา 3 อภิญญา 6 อะไรอย่างนี้ไม่ใช่หรอก ส่วนใหญ่ก็คือคนอย่างพวกเรานี้เอง เราก็ใช้ปัญญานำสมาธิไป

ถ้าเราเข้าใจภาพอย่างนี้ เราจะรู้การปฏิบัติมี 3 แนวทางหลักๆ ใช้สมาธินำปัญญา ใช้ปัญญานำสมาธิ ใช้สมาธิและปัญญาควบไปด้วยกัน มี 3 แนวทาง

ฉะนั้นเวลาเราไปเจอครูบาอาจารย์องค์นี้ท่านสอนอย่างนี้ เรา เอ๊ะ ทำไมสอนไม่เหมือนองค์นี้อะไรอย่างนี้ ก็สอนกันคนละเรื่อง สอนคนละเส้นทาง ท่านมาทางไหนท่านก็ชอบสอนทางนั้น ถนัดอย่างไรก็สอนอย่างนั้น ฉะนั้นถ้าเราภาวนาเป็นเราก็จะไม่สงสัย เราฟังเราก็เข้าใจ แต่ถ้าเราเรียนของเราแคบๆ ก็ไม่เข้าใจของคนอื่น

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
10 เมษายน 2564