ความเพียรชอบ

ปฏิบัติมันไม่ได้ยากเย็นนักหรอก ถ้าจิตเรามีกำลังมากพอ ปัญหาคือจิตมันไม่มีกำลังเสียที พัฒนา มีแรงขึ้นมา เดี๋ยวก็เสื่อมลงไป ทำอีก เจริญนิดหน่อย แล้วก็เสื่อมอีก เลยเสียเวลานาน

เมื่อก่อนหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อรู้สึกมันง่าย หลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต ดูไม่นานก็เข้าใจจิต บวชใหม่ๆ ก็เลยบอกพวกเรา ง่าย ไม่มีอะไรหรอก เรารู้ทันจิตตัวเองเรื่อยๆ ครูบาอาจารย์อย่างหลวงปู่ทุย ท่านอ่านหนังสือที่หลวงพ่อเขียน ท่านบอกท่านเห็นด้วยทุกเรื่องเลยที่หลวงพ่อเขียน ไม่เห็นด้วยเรื่องเดียว ท่านว่ามันยาก หลวงพ่อบอกว่ามันง่ายๆ พอหลวงพ่อมาดูพวกเราปฏิบัติ มันยากจริง อย่างที่ท่านบอก จุดอ่อนของนักปฏิบัติคือเราไม่มีสติที่ถูกต้อง ไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง บางทีก็ไม่มีความเพียรที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้จำเป็นมาก ต้องเข้าใจ

ความเพียรไม่ใช่นั่งสมาธิเยอะๆ เรียกว่ามีความเพียรชอบ ไม่ใช่ หรือเดินจงกรมวันหนึ่งหลายๆ ชั่วโมงแล้ว เรียกว่าความเพียรชอบ อันนั้นไม่ใช่ ความเพียรชอบอยู่ที่เราเพียรลดละกิเลสที่มีอยู่หรือเปล่า เพียรปิดกั้นกิเลสใหม่ไม่ให้เกิดหรือเปล่า เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดหรือเปล่า กุศลที่เกิดแล้วรักษาไว้ได้ จะให้มันเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ ทำหรือเปล่า ถ้าเราทำในเรื่องล้างกิเลสแล้วก็พัฒนากุศลขึ้นมา อันนั้นถึงจะเรียกว่าความเพียรชอบ

นั่งสมาธิมากๆ แล้วก็มีแต่โมหะครอบ ไม่เรียกว่าความเพียรชอบ เดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ แต่ไม่ได้พัฒนาสติ ไม่มีสติก็คือไม่มีกุศลล่ะ เดินหามรุ่งหามค่ำ มันก็คืออัตตกิลมถานุโยค การทำตัวเองให้ลำบาก มันไม่ใช่ทางสายกลาง

 

หมั่นรู้ทันกิเลสในจิตในใจของเราเอง

เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งหลักให้ถูก เราภาวนา จุดหมายปลายทางเพื่อความพ้นทุกข์ แต่ก่อนจะไปถึงความพ้นทุกข์ได้ งานหลักๆ ของเราคืองานล้างกิเลส การที่เราล้างกิเลสได้ นั่นล่ะก็คือเกิดกุศลขึ้น เมื่อเช้าก็มีโยมคนหนึ่ง เจอหลวงพ่อก็ถาม เขาเห็นกิเลสตัวเอง อย่างเพื่อนมาร้องเรียกชื่อ ไม่ได้มาด่า แค่มาเรียกชื่อ ความโกรธมันพุ่งขึ้นเฉยๆ เลย พุ่งขึ้นจากกลางอก ขึ้นมาถึงหน้าเลย แล้วความโกรธก็พุ่งออกทางตา ส่งพลังทำลายล้างออกทางลูกตา

ก็ถามหลวงพ่อว่าจะตกนรกไหม โทสะแรงเหลือเกิน หลวงพ่อบอกตก ถ้าปล่อยให้กิเลสครอบงำใจอยู่ ไม่รู้จักชำระสะสาง ตายไป มันก็ไปตามกิเลสนั่นล่ะ ถ้าโทสะแรงก็ตกนรกไป เพราะเวลาเรามีโทสะ เราไม่มีความสุข เวลาจิตใจเกิดความโกรธ ตระกูลโทสะอย่างนี้ จิตใจจะไม่มีความสุข ตระกูลโทสะมันก็กว้าง อย่างโกรธ ขัดใจ อิจฉา ตระหนี่ เวลาเราเกิดความรู้สึกตระหนี่ เรานึกว่าราคะ ไม่ใช่หรอก สังเกตให้ดี เวลาเราหวงอะไรแล้วคนจะมาเอา จิตใจเราไม่มีความสุข เป็นตระกูลโทสะ ความตระหนี่

ฉะนั้นเราสังเกตใจของเราไป ถ้าโทสะเยอะ มันตกนรกตั้งแต่ยังไม่ทันจะตายเลย ตายไปมันก็ไปตกต่อ หรือถ้าเราโลภะเยอะ มันก็เป็นพวกเปรต ถ้าทิฏฐิเยอะ มานะเยอะ ก็ไปเป็นพวกอสุรกาย ตัวทิฏฐิก็อยู่ในตระกูลราคะเหมือนกัน แต่มันแยกหน้าตาออกไป กิเลสแต่ละตระกูล มันก็มีพรรคพวก มีลูกมีหลานแยกๆ ออกไป

อย่างตระกูลโลภะก็มีราคะ ตั้งแต่ราคะหยาบๆ กามราคะถึงราคะละเอียด รูปราคะ อรูปราคะ ติดอกติดใจในสมาบัติทั้งหลาย หรือตัวทิฏฐิ ตัวความคิดความเห็น ยึดถือมั่นในความเห็นผิดทั้งหลาย อันนั้นก็เป็นตระกูลโลภะเหมือนกัน พวกโลภมากก็ไปเป็นเปรต ถ้าพวกทิฏฐิมากก็ไปเป็นอสุรกาย อสุรกายไม่รับส่วนบุญส่วนกุศลของใครทั้งสิ้น ถ้าใครไปเกิดเป็นอสุรกาย ใครทำบุญให้ก็ไม่รับ เพราะว่าเซลฟ์จัด ไม่รับอะไรของใคร เปรตบางพวกก็รับ บางพวกก็รับไม่ได้

ถ้าเราโมหะเยอะ จิตเราหลงไปเรื่อยๆ หรือเซื่องซึม โมหะก็มีหลายแบบ ฟุ้งซ่านกับเซื่องซึม พวกโมหะ เราสังเกตให้ดี พวกสัตว์ บางทีใจมันก็ฟุ้งๆ ทะยานออกไป ลุยแหลก ไม่รู้เรื่องรู้ราว บางทีก็เซื่องซึมหงอยๆ ซึมๆ ไป ลองดูหมาที่บ้านเราก็ได้ ถ้าใครเลี้ยงหมา เวลามีอะไรมากระตุ้นก็กระโดดขึ้นมายืนผาง เห่า เอะอะโวยวาย นี่ฟุ้งซ่านรุนแรง เอะอะโวยวายออกมาก บางทีไม่มีใครมากวนก็ซึมๆ เงียบๆ นี่ตระกูลโมหะ

ถ้าเราคุ้นเคยกับกิเลสตัวไหน โอกาสที่จะไปเกิดด้วยอำนาจกิเลสตัวนั้นมันก็มี มันเป็นความคุ้นเคย จิตมันคุ้นเคยจะโลภ มันก็มักจะตายด้วยความโลภ ตอนตายจิตมักจะโลภ จิตคุ้นเคยกับความโกรธ ตอนจะตายก็มักจะไหลไปตามความโกรธ เคยชินจะหลง มันก็จะไปตามความหลง นี่กิเลส

เราจะปฏิบัติธรรม ต้องหมั่นรู้ทันกิเลสในจิตในใจของเราเอง ไม่ต้องไปรู้กิเลสคนอื่น เห็นกิเลสคนอื่น กิเลสเราจะเพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็มีทิฏฐิมานะ กูเก่งอะไรอย่างนี้ ถ้าเห็นกิเลสของตัวเอง มันก็จะลดละกิเลสลงได้ สังเกตที่จิตใจเรา สังเกตลงไปในจิตในใจเรา กิเลสไม่ได้อยู่ที่อื่น กิเลสอยู่ที่จิตเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากมีความเพียรชอบ เรามีสติสังเกตจิตใจตัวเองไป แล้วความเพียรชอบมันจะเกิดขึ้นเอง

 

การที่เราคอยสังเกตจิตใจตัวเอง จะทำให้สัมมาวายามะเจริญขึ้น

เรานั่งกระดิกเท้าเล่นอยู่ นั่งไขว่ห้างอยู่ แล้วเราเห็นว่าในใจเรากำลังเพลิดเพลิน กำลังหลงอยู่ ความหลงดับ กุศลเกิด นั่งกระดิกเท้าอยู่แท้ๆ หรือนอนกระดิกขาเล่นอยู่ เพลินๆ หลงๆ อยู่ กระดิกๆๆ เกิดระลึกได้ สติระลึกได้ เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว จิตเป็นคนรู้ขึ้นมา ความหลงก็ดับ สติมันเกิดมารู้ทันจิตใจตัวเอง จิตกำลังหลงอยู่ ความหลงจะดับ ถ้ารู้ทันจิตกำลังโกรธ ความโกรธมันก็ดับ ถ้ารู้ว่ากำลังโลภ ความโลภมันก็ดับ ฉะนั้นเราหัดสังเกตจิตใจตัวเองเนืองๆ หลวงพ่อไม่ถึงขนาดบอกว่าให้รู้ตลอดเวลา มันทำไม่ได้ เพราะเราต้องมีทีเผลอบ้าง โดยภูมิจิตภูมิธรรมอย่างไรก็ต้องเผลอ

สังเกตที่ใจเรา ราคะ มันมีลักษณะอันหนึ่งคือมันจะดึงดูดอารมณ์เข้ามาหาจิต มันจะดึงเข้ามา อย่างเราชอบแมว เราก็อยากอุ้มแมว ดึงเข้ามาหาตัว โทสะมันจะกลับข้างกัน มันจะผลักอารมณ์ออกไป ถ้าราคะอย่างนี้มันจะดึงเข้าหาจิตใจของเรา อย่างเราชอบคนนี้ เราก็อยากอยู่ใกล้เขา ถ้าชอบมาก อยากกอดเลย ถ้าโทสะจะผลัก เราสังเกตใจเรา มันมีแรงดึงดูด มีแรงผลักดัน แรงดึงดูดคือตัวราคะ แรงผลักดันคือตัวโทสะ

ส่วนตัวโมหะ มันจะหมุนๆ หมุน ไม่รู้เหนือรู้ใต้ หมุน สังเกตไหมเวลาเราฟุ้งซ่าน หัวเราหมุน ตรงนี้เคยสังเกตไหม เวลาเราฟุ้ง หัวเราหมุนอย่างนี้เลย ที่จริงจิตมันหมุน มันหมุนติ้วๆ ติ้วๆๆ เรารู้สึกหัวหมุนไปหมดแล้วเวลาฟุ้งซ่าน เราสังเกตให้ดี วิธีดูกิเลสว่ามันเป็นตระกูลไหน สังเกตเอา ถ้ามันดึงดูดอารมณ์เข้ามาหาจิต นี่พวกราคะ ถ้ามันผลักดันออกไป นี่พวกโทสะ ถ้ามันไม่ดูดไม่ผลัก แต่มันหมุนไปหมุนมา จับหลักอะไรไม่ถูก นี่พวกโมหะ

กิเลสที่ร้ายแรงที่สุดคือโมหะ พระพุทธเจ้าท่านก็สอน บอกว่าโมหะเป็นกิเลสที่ร้ายแรงที่สุด แล้วก็ละยาก ละยากที่สุดด้วย โมหะ ราคะเป็นกิเลสที่ไม่ร้ายแรง ไม่ค่อยร้ายแรง แต่ว่าละยาก โทสะเป็นกิเลสที่ร้ายแรง แต่ละง่าย มีละยากละง่าย มีโทษมากมีโทษน้อยแตกต่างกันไป ราคะมีโทษน้อย ตัวมันเองมีโทษน้อย แต่ปัญหาคือละยาก

อย่างเวลาเรานั่งสมาธิเดินจงกรม จิตใจเรามีความสุข เราเพลิดเพลินพอใจในความสุขความสงบอย่างนี้ ละยาก เราไม่เห็นทุกข์เห็นโทษ แต่อย่างใจเราโมโหโทโสอะไร เราเห็น เวลาโกรธทีไร ใจเร่าร้อน ไม่มีความสุขเลย ดูๆ ไป มันก็ดับง่าย เพราะเราไม่ชอบหรอก ตัวทุกข์เราไม่ชอบ เวลาโทสะเกิด ใจมันจะไม่ชอบ เพราะฉะนั้นมันละง่าย ราคะใจมันชอบ มันเลยละยาก สังเกตดู ถ้าเป็นราคะ ละยาก ละยากกว่าโทสะ

สังเกต ค่อยๆ เรียนรู้กิเลสในจิตในใจของเราไป ราคะมีลักษณะดึงเข้ามา เราเป็นคนไปดึงเข้ามาเอง จะให้ปล่อย ยาก มันจะรักใคร่หวงแหน ไม่ยอมปล่อย โทสะ เราอยากผลักอยู่แล้วล่ะ เพราะเราเห็นว่าโทสะเกิด มันเกิดทีไรก็มีความทุกข์เกิดขึ้นทุกที มันก็ละง่าย เพราะมันเห็นทุกข์เห็นโทษ ส่วนโมหะ ละยากที่สุด เพราะมันเนียน มันดูไม่ออกเลยว่าเรากำลังมีกิเลส

อย่างเราบางคนมีลัทธิอุดมการณ์ ยึดถือในอุดมการณ์อย่างรุนแรง ไม่รู้เหนือรู้ใต้เลย ฉันชอบประชาธิปไตย ใครที่ไม่เห็นด้วย อยากฆ่ามันให้หมดเลย ถือว่าชั่วร้ายเป็นเผด็จการ นี่พวกโมหะ คือมันยึดถืออยู่ในความเชื่อของตัวเอง ปักใจเชื่อแน่นแฟ้นอะไร ไม่ฟัง ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่พินิจพิจารณา ว่าสิ่งที่ดีสำหรับเราอาจจะไม่ได้เหมาะกับคนอื่นก็ได้ เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แก้ยาก

หรือเวลาเรานั่งสมาธิ นั่งแล้วเคลิ้ม ขาดสติ แก้ยาก นั่งแล้วเคลิ้มๆ หลับเป็นวันๆ เลย แก้ยาก หรือใจฟุ้งซ่าน อย่างเวลาใจเราฟุ้งซ่าน สั่งให้หาย หายไหม ไม่หายง่ายๆ ใช่ไหม ฟุ้งซ่านอย่างนี้ เป็นโมหะละยาก เวลาใจหดหู่ บอกเลิกหดหู่เสีย เลิกไหม ไม่เลิก เวลาใจเราหดหู่ เศร้าหมอง ซึมอย่างนั้น ยิ่งประจวบเหมาะรวมเข้ากับราคะด้วย ยิ่งไปกันใหญ่

อย่างพวกที่ชอบสวมวิญญาณนางเอก จิตใจซึมเศร้า ซึมไปด้วย ชอบไปด้วย ซึมๆ แล้วรู้สึก แหม มันสะใจดี ใครเคยเป็นไหม แบบสวมวิญญาณนางเอก ถูกนางอิจฉาว่า ถูกพระเอกว่า ถูกทอดทิ้ง หูย ชีวิตนี้เศร้าเหลือเกิน เศร้าไปชอบไป กำลังซึม ไม่รู้เรื่องเลย ละยาก นิสัยอย่างนี้ละยากมากเลย

เราค่อยๆ สังเกตจิตใจของตัวเองไป การที่เราคอยสังเกตจิตใจตัวเอง จะทำให้สัมมาวายามะเจริญขึ้น อกุศลใดๆ ที่มันมีอยู่ พอเราสังเกตเห็น อกุศลนั้นจะดับ แล้วขณะที่เรามีสติอยู่ อกุศลใหม่จะเกิดไม่ได้ แล้วอย่างเรากำลังมีกิเลสอยู่ แล้วเราเกิดสติขึ้นมา ตรงที่มีสติ อกุศลดับ กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะสติมันเป็นองค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศลทุกๆ ดวง เพราะฉะนั้นทันทีที่เราเกิดสติ กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว อกุศลได้ดับลงไปแล้ว แล้วถ้าสติเราเกิดบ่อยๆ กุศลเราก็เจริญขึ้น พัฒนางอกงามขึ้นเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา แก่รอบขึ้นมา สุดท้ายก็เข้าสู่โลกุตตระ

ฉะนั้นคอยมีสติรู้เท่าทันจิตใจของตัวเองไป จิตใจเป็นอกุศลให้รู้ทัน จิตใจเป็นกุศลให้รู้ทัน รู้บ่อยๆ การที่เราคอยรู้บ่อยๆ ทำให้สัมมาวายามะเจริญขึ้น พอมีสัมมาวายามะ เราหัดสังเกตจิตใจของตัวเองไปเรื่อยๆ สติเราก็จะดีขึ้นด้วย สติมันก็จะดีขึ้นด้วย ฉะนั้นการที่เราเจริญสัมมาวายามะให้มาก มันจะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ขึ้นมา บอกแล้ว สัมมาวายามะไม่ใช่นั่งสมาธินาน ไม่ใช่เดินนาน แต่อยู่ที่รู้ทันจิตใจของตัวเอง

การที่เราคอยรู้ทันจิตใจตัวเองบ่อยๆ มันก็จำสภาวะได้แม่น อ๋อ ราคะหน้าตาเป็นอย่างนี้เอง มันดึงดูดอารมณ์เข้ามาหาจิต โทสะหน้าตาเป็นอย่างนี้เอง มันผลักอารมณ์ออกไปจากจิต โมหะเป็นอย่างนี้เอง จับอารมณ์ได้ไม่มั่นคง สับสนวุ่นวาย พอมันจำสภาวะได้แม่น ต่อไปพอสภาวะที่จิตจำได้แม่นแล้วเกิด สติอัตโนมัติจะเกิดขึ้น ไม่ใช่สติปกติเลย ถ้าเราคอยดูกายดูใจของเราจนสติเกิด สติตัวนี้เรียกว่าสติปัฏฐาน เรียกสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้นตัวสัมมาวายามะ การที่เราคอยเพียรพยายามดูแลจิตใจของตัวเอง เป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ไป มันจะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ขึ้นมาด้วย แล้วทันทีที่สติระลึกรู้สภาวธรรมตามที่กำลังมีกำลังเป็น สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นองค์มรรคในฝ่ายของการพัฒนาจิตนั้น ทั้ง 3 คือสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ มันมาด้วยกันๆ

 

ในองค์มรรคทั้ง 8
หนีไม่พ้นการรู้เท่าทันจิตตัวเอง

ฉะนั้นเราคอยสังเกตจิตใจของตัวเองไป จิตมีราคะก็รู้ ไม่มีราคะก็รู้ มันจะทำให้อกุศลที่มีอยู่ดับไป อกุศลใหม่ไม่เกิด จะทำให้กุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น กุศลที่เกิดแล้วก็จะพัฒนาออกไป นี่สัมมาวายามะ แล้วการที่เราคอยเห็นอยู่เนืองๆ จิตใจเราเป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ นี่คือการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ขึ้นมา แล้วทันทีที่สติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม ตามที่มันกำลังมีกำลังเป็นได้ สัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เห็นไหม เรียนกับหลวงพ่อมันมีแต่คำว่าอัตโนมัติ

เวลาที่สัมมาวายามะเกิด สัมมาสติก็เกิด สัมมาสมาธิก็เกิด ในความเป็นจริง ถ้าลงรายละเอียดจริงๆ องค์มรรคทั้ง 8 เวลาเกิดเกิดพร้อมกัน ไม่ได้เกิดทีละหนึ่งๆ หรอก ทีนี้ในส่วนของการพัฒนาจิตใจ หลวงพ่อก็ชี้ให้ดู สัมมาวายามะ คอยรู้ทันจิตใจตัวเองไป กุศลหรืออกุศลมีอยู่ก็รู้ไปอย่างนี้ ก็ทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ด้วย

ทันทีที่เรารู้สภาวะ มีสติถูกต้อง สมาธิจะเกิดขึ้นเอง เช่น เรารู้ว่าจิตหลงไปคิด ทันทีที่รู้ว่าจิตหลงไปคิด จิตที่หลงคิดก็ดับ จิตที่หลงไปคิดเป็นอกุศล ตรงที่มีสติรู้ว่าจิตหลงไปคิด นั่นเรียกว่ามีสัมมาสติ แล้วถัดจากนั้น จิตจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาทันทีเลย เราไม่ต้องทำอะไร ฉะนั้นมันจะเกิดร่วมกัน พอมีสัมมาวายามะ มันก็จะมีสัมมาสติ มันก็จะมีสัมมาสมาธิ

ที่จริงมันมีครบ ทั้ง 8 มรรค ทั้ง 8 องค์มรรค มรรคมีหนึ่งแต่มันมี 8 องค์ประกอบ ฉะนั้นมรรคมันมีหนึ่ง มันก็เกิดทีเดียวกัน องค์ประกอบทั้ง 8 เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน อย่างที่หลวงพ่อเคยสอนเราเรื่อยๆ ถ้าเรามีความเห็นถูก เราก็จะมีความคิดถูก เรามีความเห็นถูกต้องทำนองคลองธรรมอย่างนี้ เวลาเราคิดอะไร เราก็คิดถูกต้องทำนองคลองธรรม มีสัมมาทิฏฐิ มันก็ทำให้มีสัมมาสังกัปปะ มีความเห็นถูก มันก็เกิดความคิดถูก พอเรามีความคิดถูก เวลาพูดก็พูดถูก เวลาทำก็ทำถูก เวลาทำมาหากิน เลี้ยงชีวิต ก็เลี้ยงชีวิตถูก นี่องค์มรรค เวลาเกิดมันเกิดด้วยกันหมด มันไม่แยกทีละองค์ๆ

บางคนเข้าใจผิด บอกวันนี้เดือนนี้จะพัฒนาสัมมาทิฏฐิด้วยการอ่านตำราให้มาก เดือนนี้จะคอยปิดวาจา ไม่ให้พูด พัฒนาสัมมาวาจา เลอะเทอะมากเลย พวกนี้ ใช้ไม่ได้หรอก จุดสำคัญในการปฏิบัติจริงๆ มีสติรู้เท่าทันจิตตัวเองไว้แล้วองค์มรรคทั้ง 8 เกิดขึ้นแน่นอนเลย อย่างเราสังเกตจิตใจของเราเรื่อยๆ เวลาช่วงไหนที่กิเลสเราแรง แล้วเราทำตามใจกิเลส มันมีผล ถัดจากนั้นจิตใจเราเศร้าหมองหดหู่เลย ตามอำนาจตามวิบากของกิเลส

อย่างช่วงไหนเราราคะแรงๆ เราสังเกตช่วงนี้จิตมีราคะแรงๆ พอผ่านช่วงราคะไปแล้ว โทสะมักจะแรง มันจะดีดกลับข้างเลย แล้วถ้าช่วงไหนฟุ้งซ่านมาก ถัดจากนั้นมันจะเซื่องซึม เราค่อยๆ สังเกตไป โอ้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีผล ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นลอยๆ หรอก ถ้าเกิดมีเหตุอย่างนี้ ก็มีผลอย่างนี้ เรารู้จักเรื่องเหตุเรื่องผล นี่ตัวสัมมาทิฏฐิ

ชาวพุทธเรามีแต่เรื่องเหตุกับผล มีเหตุชั่ว ผลที่ได้รับก็คือทุกข์ มีเหตุดี ผลที่ได้รับก็คือความพ้นทุกข์ เหตุชั่ว อย่างเราตามใจกิเลสไปอย่างนี้ ก็มีผล จิตใจเราก็ได้รับความทุกข์ เราค่อยๆ เห็น เราจะค่อยๆ เข้าใจ มีสัมมาทิฏฐิขึ้นมา สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ มีเหตุมันก็เกิด หมดเหตุมันก็ดับ บังคับมันไม่ได้ เฝ้ารู้เฝ้าดู จะได้สัมมาทิฏฐิขึ้นมา ก็รู้กฎแห่งกรรมนั่นล่ะ รู้กฎแห่งกรรม รู้กฎของอริยสัจ อริยสัจก็เรื่องเหตุกับผล มีเหตุคือมีตัณหาก็มีผลเป็นความทุกข์ มีเหตุคือมรรค มีผลเป็นนิโรธ คือนิพพาน ความพ้นทุกข์ เป็นเรื่องเหตุกับผลทั้งสิ้นเลย เราหัดดูรายวัน เราก็จะเห็นทุกอย่างมีเหตุมีผลหมด

พอจิตเรารู้จักมีเหตุมีผลแล้ว เวลาคิด เราก็คิดอย่างมีเหตุผล มันก็เกิดสัมมาสังกัปปะ พอความคิดของเรามีเหตุมีผล คำพูดของเราก็มีเหตุผล ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดโกหก สัมมาวาจามันก็เกิด พอความคิดมันถูก ความเห็นมันถูก ความคิดมันถูก การกระทำกรรมทั้งหลายมันก็ถูก ไม่กระทำกรรมชั่วทั้งหลาย ไม่ทำปานาติบาต ไม่ทำอทินนาทาน ไม่ทำกาเมสุมิจฉาจาร จะเว้นสิ่งเหล่านี้ได้ แล้วก็การดำรงชีวิตมันก็จะถูก แล้วก็การที่เราคอยอ่านจิตอ่านใจตัวเอง นั่นก็คือการพัฒนาสัมมาวายามะ แล้วก็การที่เราคอยรู้จิตรู้ใจตัวเอง รู้เท่าทันไป สัมมาสติก็เกิด ทันทีที่สัมมาสติเกิด สัมมาสมาธิก็เกิด

เพราะฉะนั้นมรรคถึงจะมีองค์ 8 ก็จริง จริงๆ มีหนึ่งเท่านั้นเอง หลวงปู่ดูลย์ท่านสรุปง่ายๆ “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค” เห็นไหม ในองค์ธรรมทั้ง 8 มันหนีไม่พ้นการที่เรารู้เท่าทันจิตตัวเองเท่านั้นเลย อย่างเราสังเกตจิตใจตัวเองไปแล้วจะเห็นกฎแห่งกรรม ถ้าจิตเราไปทำกรรมชั่ว จิตก็ได้รับความทุกข์ จิตไปทำความดี จิตก็ได้รับความสุข เราก็เห็นทุกอย่างมีเหตุมีผล พอเรามีความเห็นถูก ความคิดมันก็ถูก คำพูดมันก็ถูก การกระทำมันก็ถูก การเลี้ยงชีวิตมันก็ถูก แล้วทั้งหมดนั่นล่ะก็คือสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ มีความเพียรที่ถูกต้อง

มีความเพียรที่ถูกต้อง มันก็มีสติคอยรู้เท่าทันจิตใจของตัวเองไว้ มันก็คือตัวสัมมาสติ แล้วทันทีที่เรารู้จิตใจของตัวเองอย่างถูกต้อง สัมมาสมาธิเกิดขึ้นอัตโนมัติ อย่างเรารู้ทันว่าจิตเราหลงไปคิด ทันทีที่รู้ว่าจิตหลงคิด จิตหลงคิดซึ่งเป็นจิตฟุ้งซ่าน เป็นจิตมีโมหะจะดับอัตโนมัติ เราไม่ต้องไปดับมัน มันดับเอง ทันทีที่จิตฟุ้งซ่านดับ จิตมีสมาธิก็เกิดขึ้นแทน จิตจะตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมาแทน

พอจิตเราตั้งมั่นแล้ว ต่อไปพอสติระลึกรู้รูปธรรม ปัญญามันก็เกิด มันเห็นรูปธรรมไม่ใช่ตัวเรา เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สติระลึกรู้เวทนา จิตเรามีสัมมาสมาธิตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้เวทนา มันก็จะเห็นเวทนาสุขทุกข์ทั้งหลาย เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เรา เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้ว่ากุศลเกิดอกุศลเกิด มันก็จะเห็นกุศลอกุศลทั้งหลายเป็นของถูกรู้ถูกดู เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของตน

ค่อยๆ ฝึก ต่อไปมันก็เห็น กระทั่งตัวจิต จิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด ตรงที่เป็นผู้คิดก็คือ มันหลงคิด เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็หลงไปดูรูป เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็หลงไปฟังเสียง เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็หลงไปดมกลิ่น เราจะเห็นจิตมันเกิดดับ บางทีเราภาวนาอยู่ เดี๋ยวจิตมันก็หลงไปคิด เดี๋ยวจิตมันก็ถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน เราก็จะเห็นจิตมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นี่จิตมันไม่เที่ยง แล้วมันเปลี่ยนแปลงของมันได้เอง มันจะรู้สึกตัวขึ้นมา มันรู้สึกเอง สั่งให้มันรู้สึกก็ไม่ได้ รู้สึกแล้วสั่งให้รู้สึกตลอด ไม่ให้หลงเลยก็ไม่ได้ จิตมันจะหลงห้ามมันก็ไม่ได้ หลงแล้วจะบอกให้หายหลงเร็วๆ มันก็ไม่เชื่อฟังคำสั่ง นี่คืออนัตตา

 

จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอริยมรรค

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านถึงสอนว่าการดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด มันจะครอบคลุมการพัฒนาองค์มรรคทั้ง 8 พอองค์มรรคทั้ง 8 มันแก่กล้าสมบูรณ์ขึ้นมาแล้ว อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น การที่เราเจริญสติอ่านจิตอ่านใจตัวเอง ยังไม่ใช่การเกิดอริยมรรค มันเป็นบุพพภาคมรรค เขาเรียกบุพพภาคมรรค บุพพะก็คือมาก่อน บุพพะ อย่างทิศบูรพาเป็นทิศที่มาก่อน อันนี้อะไรมาก่อน พระอาทิตย์มาก่อน บุพพภาคมรรคก็คือมันเป็นจุดเริ่มต้นของอริยมรรค การที่เราคอยมีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง เป็นเริ่มต้นของอริยมรรค

องค์มรรคทั้ง 8 ค่อยๆ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมันสมบูรณ์ทั้ง 8 องค์มรรค ทั้ง 8 ย่อลงมาก็คือศีล สมาธิ ปัญญานั่นล่ะ พอมันสมบูรณ์ขึ้นเต็มเปี่ยมแล้ว อริยมรรคจะเกิดขึ้นเอง ไม่มีใครสั่งอริยมรรคให้เกิดได้ เช่นเดียวกับที่เราสั่งจิตว่าจงรู้สึกตัวตลอดเวลา ไม่มีใครสั่งได้หรอก จงมีสติตลอดเวลา ไม่มีใครสั่งได้หรอก ทุกอย่างเป็นไปด้วยเหตุด้วยผลทั้งสิ้นเลย ไม่มีอะไรพิสดารหรอก

ขนาดพระพุทธเจ้า เคยมีคนไปถามท่านว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์มีราคะไหม” พระองค์มีกามราคะไหม ท่านบอกว่า “เราไม่มีกามราคะ เพราะเราไม่มีกามวิตก” ท่านไม่ได้บอกว่าฉันทำลายกามราคะสำเร็จแล้ว ฉันไม่มีอีกแล้ว แต่ท่านชี้ลงมาที่เหตุของกามราคะ ก็คือกามวิตก เมื่อไม่มีเหตุ ผลมันก็ไม่มี นี่ความสมบูรณ์ของธรรมะของพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้นการที่เราสังเกตจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นเหตุกับผล นั่นได้สัมมาทิฏฐิ แล้วมันก็จะพัฒนาองค์มรรคทั้งหมดไปด้วยกันนั่นล่ะ ฉะนั้นหัดดูจิตดูใจ หลวงปู่ดูลย์ท่านถึงบอกว่า “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอริยมรรค” ฉะนั้นคอยสังเกตจิตใจตัวเองไป เดี๋ยววันหนึ่งอริยมรรคก็จะเกิดขึ้น

ในขณะที่อริยมรรคเกิดขึ้น จิตจะเข้าอัปปนาสมาธิ เข้าเอง เราไม่ต้องน้อมใจเข้าฌานหรอก จิตเข้าฌานของจิตเอง มันรวมปึ๊บเข้าไปเอง ชั่วขณะ แล้วจิตมันจะไปเดินปัญญาอยู่ภายใน 2 – 3 ขณะ ตรงที่จิตมันเข้าไปเดินปัญญาข้างใน มันไม่มีความคิดแล้ว ความคิดที่พูดออกมาแจ้วๆ เป็นภาษาต่างๆ อะไร ไม่มี มันมีแต่สภาวะที่เห็น มันเห็นกระแสบางอย่างเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป ถามว่าอะไรเกิดขึ้นอะไรดับไป ไม่รู้หรอก เพราะไม่สำคัญมั่นหมาย แต่ว่ามันเห็นแล้วล่ะ สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ จะเห็นอยู่ 2 – 3 ขณะ

ถัดจากนั้นจิตมันจะเข้าใจแจ้งแล้ว สังขารทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป มันเข้าใจแต่ไม่มีคำพูด มันก็จะวางการมองโลก สังขารก็คือตัวโลกนั่นล่ะ มันจะวางแล้วมันจะทวนกระแสเข้ามา เข้ามาหาธาตุรู้ มันทวนเข้ามาหาตัวผู้รู้ ทวนเข้ามา ตรงที่ทวนเข้ามา 1 ขณะจิตเท่านั้น วึบเดียว มันคล้ายๆ เรานั่งเรือไป ถึงฝั่งแล้ว เทียบท่าแล้ว เรากระโดดจากเรือขึ้นบนโป๊ะ เท้าหนึ่งพ้นจากเรือแล้ว เท้าพ้นจากเรือแล้ว แต่เท้ายังไม่ได้เหยียบที่โป๊ะ ตัวนี้ชั่วแวบเดียว ตัวนี้เรียกว่าโคตรภู เป็นญาณข้ามโคตร การที่เราทิ้งจากตัวสังขาร เรียกทิ้งโลกิยะ แต่มันยังไม่ทันถึงโลกุตตระ ก็เป็นรอยต่อ เป็นช่วงข้าม อันนี้เรียกว่าโคตรภู

พอข้ามเข้ามาถึงตัวจิตผู้รู้นั้น อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น มันจะแหวกอาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตผู้รู้ออก มันแหวกเอง เราไม่ต้องแหวก อย่างพวกเราภาวนา เราเคยรู้สึกไหม ภาวนาไปช่วงหนึ่งอาจจะเห็นว่าจิตนี้ถูกอะไรห่อหุ้มอยู่ ใครเคยเห็นตัวนี้ยกมือให้หลวงพ่อดูหน่อยสิ อยู่ที่บ้านก็ยกได้ ใครเคยเห็นไหม จิตมันถูกอะไรห่อหุ้มอยู่ มันถูกขังอยู่ กรงขังอันนี้ทำอย่างไรก็ไม่แตก ทำอย่างไรก็ไม่ตาย มันถูกทำลายได้ด้วยอริยมรรค หลวงพ่อเคยถามหลวงปู่ดูลย์ มันแตกแล้วมันก็ปิดๆ มันต้องแตกกี่ครั้ง ถึงจะแตกสลายไปเลย อาสวะที่ห่อหุ้ม

หลวงปู่ดูลย์ท่านก็ยกมือขึ้นมา 4 ครั้ง ท่านบอกอย่างนี้ 4 ครั้ง ท่านก็นับจากของท่าน ท่านก็นับ 4 ครั้ง ถ้า 4 ครั้งแล้วอาสวะจะมาห่อหุ้มจิตไม่ได้อีกแล้ว ส่วนพวกเราภาวนาเราจะรู้สึกจิตเราถูกขังอยู่ มีกรงขัง แคบๆ น่าอึดอัด ตรงที่มันทำลายกรงขังออกมา เกิดอริยมรรคขึ้น 1 ขณะ แล้วถัดจากนั้นจะเกิดอริยผล สัมผัสพระนิพพาน 3 ขณะ บางคนสัมผัส 2 บางคนสัมผัส 3 ถ้าพวกอินทรีย์ ปัญญินทรีย์แก่กล้า จะสัมผัสได้ 3 ขณะ ถ้าปัญญินทรีย์ ปัญญาไม่แก่กล้า สัมผัสได้ 2 ขณะ นี่เส้นทาง

ฉะนั้นเรามีสติดูแลจิตตัวเองไป ไม่ได้มีสติไปควบคุมบังคับจิต มีสติรู้ทันจิตบ่อยๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วอริยมรรคก็จะเกิดขึ้นในวันหนึ่งข้างหน้า นี่เป็นวิธีที่ลัดสั้นที่สุดแล้ว นอกนั้นแทคติคต่างๆ เป็นกลยุทธ์ๆ เป็นรายละเอียด เป็นลูกเล่นของนักปฏิบัติแต่ละคน อย่างบางคนมีสติมาเรียนรู้จิตตัวเอง ไม่เห็น อันนี้ก็ไปทำ ไปดูกายไปก่อน ดูจิตไม่ได้ ดูกายไปก่อน เดี๋ยวมีแรงแล้วมันก็เห็นจิตเอง จะดูกาย จิตก็ฟุ้งเละเทะ ดูไม่รู้เรื่องเลย ก็ทำสมถะ

 

หนทางยังมีอยู่ 
ยากลำบากอย่างไร อดทนไว้ ต่อสู้ไว้
ก่อนที่ธรรมะอันนี้จะหายไป

เพราะฉะนั้นดูจิตได้ให้ดูจิตไปเลย นี่ลัดสั้นที่สุดแล้ว ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ดูกายเพื่ออะไร ดูกายแล้วจิตจะได้มีกำลังขึ้นมาเห็นจิตได้อีก ถ้าดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ ทำสมถะ ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย นักปฏิบัติไม่มีคำว่าไม่ทำ ชาวพุทธเราเป็นกรรมวาที เราเชื่อกิริยวาที มีการกระทำ แล้วมีกรรมก็มีผลของกรรม มีกิริยวาที ต้องลงมือทำ ไม่ใช่นอนรอให้นิพพานเกิด ให้มรรคผลเกิดอะไรอย่างนี้ นั่นไร้สาระที่สุดเลย เราไม่นอนรอ ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาใดๆ ทั้งสิ้น เราเป็นกิริยวาที การกระทำ ต้องมีการกระทำที่ถูกต้อง ชี้นำด้วยทฤษฎีชี้นำ คือสัมมาทิฏฐิ รู้เหตุรู้ผล ชีวิตเราถึงจะพัฒนาไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้

ยากไหม ถ้าอินทรีย์แก่กล้า ไม่ยาก ถ้าอินทรีย์ยังอ่อนก็ต้องอดทนเอาหน่อย แล้วคนที่เขาง่าย คนที่เขาอินทรีย์แก่กล้า ก่อนที่เขาจะแก่กล้า เขาก็ล้มลุกคลุกคลานเหมือนเรานั่นล่ะ เราอ่อนแอ เราก็อดทน พากเพียรเข้า เหมือนหลวงพ่อตอนเป็นโยม บางครั้งเราก็หดหู่ใจ ท้อแท้ใจว่าภาวนาหมู่นี้ไม่พัฒนาเลย ช่วงนี้ไม่เห็นจะพัฒนาเลย จิตใจห่อเหี่ยวลงมาเหมือนกัน เห็นครูบาอาจารย์ เข้าไปกราบครูบาอาจารย์ ทำไมท่านมีความสุข ทำไมท่านสะอาดหมดจด เมื่อก่อนท่านก็มีกิเลสเหมือนเรา เมื่อก่อนท่านก็ทุกข์เหมือนเรา ทำไมท่านทำได้

ท่านทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ เราก็ต้องเดินตามร่องรอยที่ท่านเดินมาแล้วให้เราดู หลวงพ่อถึงบอกว่า “หนทางยังมีอยู่ ผู้เดินทางก็ยังมีอยู่ ยังไม่ขาดสาย” เรารีบเดินตามไป ไม่ใช่ท่านหายไปหมดแล้ว รอยเท้าที่ท่านทิ้งไว้ก็หายไปแล้ว คราวนี้ไม่รู้จะไปทางไหนแล้ว ไม่รู้เหนือรู้ใต้แล้ว ไม่รู้จะไปทางไหนแล้ว ช่วงนี้ยังมีเส้นทางให้เห็นอยู่ เดินตามเส้นทางนี้ไป อดทน ก่อนจะมีความสุข ความสบาย มันก็ต้องทุกข์มาก่อน ต้องทนมาก่อนทั้งนั้นล่ะ

ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ ลองไปดูประวัติท่าน หรือไปดูประวัติอสีติมหาสาวก สมัยพุทธกาลนั้น ก่อนจะสบายท่านก็ลำบากมาแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็สบายตามใจชอบเมื่อไรล่ะ ตอนที่ท่านกิเลสยังแรงเหมือนที่พวกเราเป็นตอนนี้ ท่านก็ล้มลุกคลุกคลาน แต่ท่านไม่เลิก ท่านไม่ท้อถอยที่จะปฏิบัติ เจ้าชายสิทธัตถะทุกข์ทรมานอยู่ตั้ง 6 ปี บารมีขนาดนั้น ยังพากเพียรสุดฤทธิ์สุดเดชอยู่ตั้ง 6 ปี พวกเราทำอะไรเหยาะๆ แหยะๆ แล้วเมื่อไรจะดีๆ มันอยู่ที่ตัวเราเองทำหรือเปล่า

ดูตัวอย่างครูบาอาจารย์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นเบอร์หนึ่ง พระพุทธเจ้าทุกข์ทรมานค้นคว้าหาทางอยู่ตั้ง 6 ปี ลองผิดลองถูกอยู่ ลองผิดลองถูกแล้วพบทางแล้วเอามาบอกเรา ครูบาอาจารย์เดินตามท่านแต่ละองค์ เราไปดูเถอะ สู้ตายมาทั้งนั้น ประเภทฟังปุ๊บบรรลุปั๊บ มี ไม่ใช่ไม่มี บางองค์ใช้เวลาไม่มาก 2 – 3 พรรษา 3 พรรษาอะไรอย่างนี้ ก็เข้าใจธรรมะแจ่มแจ้งแล้ว ถ้าท่านระลึกไป ท่านก็จะรู้เลย ก่อนที่ท่านจะง่าย ท่านยากมาแล้วทั้งนั้น ครูบาอาจารย์บางองค์แค่ 3 พรรษา ท่านก็จบแล้ว เรียนจิตใจของตัวเองจบแล้ว รู้เท่าทันจนกระทั่งปล่อยวางจิตใจได้

เพราะฉะนั้นอย่าท้อถอย ยากลำบากอย่างไร อดทนไว้ ต่อสู้ไว้ ก่อนที่ธรรมะอันนี้จะหายไป แล้วเราจะไม่มีทางที่จะเดินต่อ จะงม ทรมานไปอีกนานแสนนาน ในชาติใดที่เจอพระพุทธศาสนา ให้อดทนต่อสู้ไป เรียนรู้จิตใจตัวเองไป แล้วชาติที่ไม่เจอพระพุทธศาสนา มันจะรู้สึกวังเวงใจ มันไม่ทุกข์ มันก็มีความสุขอย่างชาวโลก แต่สำหรับผู้ปฏิบัติที่อยู่ในจิตวิญญาณ มันจะรู้สึกเวิ้งว้าง รู้สึกวังเวง ไม่รู้จะไปทางไหน ก็ดำรงชีวิตตามๆ คนอื่นเขาไป เขาเรียนหนังสือก็เรียน เขาทำงานก็ทำ เขามีลูกมีเมียก็มีตามๆ กันไป แล้วก็ตายตามเขาไป จิตใจเหงา จิตใจว้าเหว่ แต่ชาติที่มีพระพุทธศาสนา ก็ต้องแอคทีฟ รีบภาวนาให้มันได้ดิบได้ดีไว้

อย่างพวกเราหลวงพ่อแนะนำ พยายามเข้า ให้ได้โสดาบัน ต่อไปศาสนาพุทธอาจจะไม่อยู่ เป็นไปได้สูงเลย คนทุกวันนี้บอกว่าไม่เอาศาสนาแล้ว ศาสนาพุทธก็อาจจะหายไป เหมือนอย่างยุโรป อย่างอะไรพวกนี้ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอะไรมันก็ร่อแร่ไปหมด คนไม่เอาศาสนาแล้ว ฉะนั้นวันข้างหน้า ไปเกิดต่อไป อาจจะไม่เจอศาสนาพุทธแล้ว แต่ถ้าเราได้ธรรมะไว้แล้ว จิตมันเดินต่อของมันได้เอง จิตมันจะพัฒนาของมันไปเรื่อยๆ ไม่หยุด เพราะฉะนั้นชาตินี้เอาโสดาบันให้ได้

พระโสดาบันท่านเห็นไม่มีว่าไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวตน ฉะนั้นเราก็ดูลงมา ฝึกตัวเองไป อ่านจิตอ่านใจจนจิตมันมีกำลังตั้งมั่นขึ้นมา พอสติมันระลึกรู้กาย มันก็เห็นกายไม่ใช่ตัวเรา สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นเวทนาไม่ใช่เรา สติระลึกรู้สังขาร กุศลอกุศลก็เห็นว่ามันไม่ใช่เรา สติระลึกรู้จิตก็เห็นว่าจิตไม่ใช่เรา จะเห็นอย่างนี้ได้ จิตเราต้องมีพลังตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิ ขึ้นมาถึงจะเห็นได้ เส้นทางมันก็มีเท่านี้ล่ะ

ลงมือปฏิบัติ อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป กิเลสเกิดให้รู้ทัน กุศลเกิดก็รู้ทัน เรียนรู้ไป เราจะรู้เลย สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับสิ่งนั้นก็ดับ นั่นล่ะจะได้โสดาบัน

นกกาเหว่าร้อง สายแล้วยังร้องอีก เสียงเพราะ สังเกตไหม จิตเราวิ่งไปหาเสียง ดูออกไหม หลอกนิดเดียวก็วิ่งแล้วรู้สึกไหม รู้สึกไหมเพ่งอยู่ เห็นไหม ประเดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็เพ่งเอาไว้ เดี๋ยวก็เผลอ เดี๋ยวก็เพ่ง หัดรู้ทันไปเรื่อยๆ จิตเผลอไปฟังเสียงก็รู้ จิตเผลอไปคิดก็รู้ พอรู้ทันแล้วกลับมาเพ่ง ก็รู้ รู้ไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเจริญขึ้น

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
26 กุมภาพันธ์ 2566