บุพพภาคมรรค

พรุ่งนี้มีทอดกฐิน ปีหนึ่งวัดหนึ่งก็ทอดแค่ครั้งหนึ่ง วัดจำนวนมากเขาก็หวังปัจจัยจากการทอดกฐิน ไปสร้างโน่นสร้างนี่ แต่วัดกรรมฐานจริงๆ ไม่ค่อยสนใจ มีแบบอย่างหลวงปู่มั่นไม่รับกฐิน หลวงพ่อก็อนุโลมตามโลก รับกฐิน ฝืนโลกมากก็เหนื่อย กฐินมันก็แค่ทาน เป็นการทำทาน แต่เป็นทานชนิดที่กำหนดเวลา เรียกกาลทาน เวลาเมื่อก่อนหลวงพ่อตอนเป็นโยม ไม่ไปงานทอดกฐิน ไม่ไปหรอก เวลาไปวัดก็ไปภาวนา พอเราเข้าใจการภาวนา ทำสมาธิไปจิตสงบ เกิดความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้นๆ บุญ อย่างกฐินเป็นบุญเล็กน้อย นิดเดียว เทียบกับบุญภาวนา เทียบกันไม่ได้ แต่พวกเราควรไปทำไหม ไป ทำเพื่อสงเคราะห์วัดต่างๆ

ที่วัดหลวงพ่อ ไม่ได้หิว ไม่ได้ต้องการเงินทองอะไร เจ้าภาพทอดกฐินวัดหลวงพ่อนี้สบาย เอาผ้ามาผืนหนึ่งก็พอแล้ว ตามพระวินัย ที่นี่ก็เลยไม่มีพิธีกรรมอะไร ก็ทอดกฐินปีละครั้ง อะไรอย่างอื่นไม่ได้ทำ อย่างสร้างเมรุสร้างอะไร เป็นแหล่งรายได้เลี้ยงวัดจำนวนมาก ต้องอยู่อย่างนั้น ที่นี่ก็ไม่ได้คิดจะตั้งเมรุ ตั้งแล้วยุ่ง พระก็วอกแวกจะไปสวด เอาเวลามาภาวนา ที่ๆ จะอยู่สงบ สงัด วิเวก แล้วตั้งอกตั้งใจภาวนาจริงๆ หายาก ถ้าวัดทำกิจกรรมมากๆ วัดก็วุ่นวาย ภาวนายาก หลวงพ่อก็เดินตามแนว ที่ครูบาอาจารย์ท่านทำมา หลวงปู่มั่นก็ไม่ได้ตั้งเมรุ แล้วท่านเด็ดขาดถึงขนาดไม่รับกฐิน ท่านทำได้ ท่านอยู่ป่า

วัดบูรพาราม วัดของหลวงปู่ดูลย์ก็ไม่มีเมรุ แล้วพระ ท่านอยากให้พระภาวนา แต่มันเป็นวัดกลางเมือง คนมาบวช ใครอยากบวชก็มาสมัครบวชได้ ที่นี่ใครจะบวช มาสมัคร แล้วต้องผ่านการคัดกรองหลายชั้น กว่าจะรับเข้ามา ไม่ได้รับทุกคน บางคนอินทรีย์อ่อนมากเกินไป เข้ากับกลุ่มไม่ไหว ให้ไปภาวนาเอาก่อน ไว้อินทรีย์แก่กล้าขึ้นแล้วค่อยมา ไม่อย่างนั้นมันเข้ามาแล้วก็มาเกะกะ เกะกะหมายถึงไม่ใช่ทำตัวเกะกะอะไร หมายถึงดูไม่งาม พระบวชใหม่ๆ ขนาดที่นี่คัดแล้วคัดอีก บวชมาใหม่ๆ มานั่งเข้าแถวนี่ เหมือนลิงมานั่งรวมกับคน

ก็ต้องภาวนากันช่วงหนึ่ง จิตใจถึงค่อยสงบสำรวมขึ้นมา ค่อยดูเข้ากับหมู่คณะได้ ที่ๆ จะสืบทอดธรรมะจริงๆ ตอนนี้หายาก หลวงพ่อเลยไม่ได้เน้นเรื่องการสร้างวัตถุสร้างอะไรพวกนี้ มุ่งสร้างคน สร้างพระ ตอนนี้ก็ได้สร้างพระ ภาวนาขึ้นมาได้หลายองค์ โยมที่ภาวนาเป็นก็มีจำนวนไม่ใช่น้อย เป็นวิธีที่จะรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาไว้ ศาสนาไม่ได้อยู่ที่วัตถุหรอก สร้างวัดใหญ่โตแข่งกันสร้าง แต่ว่าใจของคนไม่เข้าใจธรรมะ มันก็รักษาศาสนาไม่ได้

 

จุดตั้งต้นของอริยมรรค

ฉะนั้นที่พวกเรามาที่นี่ ยากดีมีจนอะไรก็เสมอกัน เรียนธรรมะอันเดียวกัน สอนเหมือนๆ กัน ใครฟังเข้าใจก็เอาไปทำเอา การที่จะปฏิบัติธรรมแล้วก็ได้ผล มันมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน อันหนึ่งต้องมีสิ่งที่ว่าบุพเพกตปุญญตา มีบุญมาก่อน ต้องมีพื้นฐานมาก่อน สะสมมา ถ้าไม่มีบุญมาเลย มันไม่ได้คิดจะปฏิบัติหรอก คนที่คิดปฏิบัติธรรมแล้วก็หวังความพ้นทุกข์ พวกนี้มีบุญเก่าเยอะ มีบุพเพกตปุญญตา มีบุญเก่า ก็มีมงคลของชีวิตไปส่วนหนึ่งแล้ว ถัดจากนั้นก็มาเรียนรู้วิธีต่อยอด เวลาที่หลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อรู้สึกครูบาอาจารย์ต่อยอดให้ อย่างหลวงพ่อทำสมาธิมาแต่เด็ก พอไปเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านต่อยอดให้ ท่านสอนให้เจริญปัญญา

ถ้าเราเจริญปัญญา เราก็ค่อยเข้าใจพระพุทธเจ้าสอนอะไร คำสอนของท่าน ก็อยู่ในเรื่องของอริยสัจ 4 เท่านั้น เรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่พ้นจากเรื่องเหล่านี้ ถ้าเราสามารถรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ละสมุทัยได้ จิตเห็นพระนิพพาน เข้าถึงพระนิพพาน เกิดอริยมรรคขึ้น จิตเราก็เข้าใจธรรมะแล้ว ถ้าเราเข้าใจอริยสัจแจ่มแจ้ง จิตก็จะหมดความยึดถือในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ก็จะเข้าไปสู่หัวใจในคำสอนของพระพุทธศาสนา

สิ่งที่เป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธศาสนา เคยมีคนทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พระองค์สอนธรรมะมากมายก่ายกองเลย ให้พูดเหลือประโยคเดียวได้ไหม ที่เป็นแก่นคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ ท่านบอก พูดประโยคเดียวก็ได้ ขยายความมากแค่ไหนก็ได้ เพราะว่าพระปัญญาตรัสรู้ของท่านสมบูรณ์ ประโยคเดียวที่ครอบคลุม เป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธศาสนาคือ “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” ประโยคนี้ “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” อะไรเรียกว่าธรรมะ ก็สังขารทั้งหลาย ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม และสิ่งที่พ้นจากสังขารคือพระนิพพาน ไม่ใช่ที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่น ท่านบอกให้ปล่อย

เราจะสามารถวางความยึดมั่นถือมั่นในสังขาร จนกระทั่งเข้าไปสัมผัสพระนิพพานได้ เราก็ต้องลงมือปฏิบัติ ปฏิบัติจนกระทั่งวิธี ปฏิบัติคือรู้ทุกข์ รู้ทุกข์จนกระทั่งละสมุทัย จนกระทั่งแจ้งนิโรธคือนิพพาน จนกระทั่งมรรคเกิดขึ้น เจริญขึ้น คือการปฏิบัติในกิจของอริยสัจ 4 นั่นเอง อริยสัจ 4 ก็จะสอนการปฏิบัติให้เรา อะไรเรียกว่าทุกข์ ขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อๆ คือกายกับใจ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย นี่อยู่ในขันธ์ 5 เรียกว่ากองทุกข์ ฉะนั้นท่านบอกว่ารูปคือกายนี้ทุกข์ นามธรรม จิตใจอะไรนี้คือตัวทุกข์

มันน่าประหลาด ท่านสอนว่ากายคือตัวทุกข์ จิตคือตัวทุกข์ แต่พวกเราที่บอกเป็นชาวพุทธ เราไม่เคยเห็นกายเป็นตัวทุกข์ เราไม่เคยเห็นจิตเป็นตัวทุกข์จริงหรอก อย่างมากเราก็เห็นกายนี้ทุกข์บ้างสุขบ้าง แล้วเห็นจิตนี้ทุกข์บ้างสุขบ้าง เราไม่เห็นว่ากายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือทุกข์ ฉะนั้นต้องเจริญสติ เจริญปัญญาให้มาก ศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้มาก ทำให้เจริญขึ้น ก็คือการปฏิบัติตามองค์มรรคนั่นล่ะ เมื่อปฏิบัติมากเข้าๆ ต่อไปเราก็รู้ทุกข์ การที่เราคอยรักษาศีลไว้เป็นพื้นฐาน ฝึกจิตให้ตั้งมั่น ให้จิตมีกำลัง จิตมีกำลัง จิตต้องสงบแล้วก็ตั้งมั่น แล้วก็เจริญปัญญา เรียนรู้ความจริงของกายของใจ

ความจริงของกายของใจคือไตรลักษณ์ ไม่ใช่เรื่องอื่น ถ้าเราเจริญอยู่ในแนวทางของมรรค ตรงนี้ไม่ใช่อริยมรรค การที่เราปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ยังไม่ใช่อริยมรรค เรียกบุพพภาคมรรค คือเป็นเบื้องต้นของอริยมรรค เป็นจุดตั้งต้นของอริยมรรค ฉะนั้นเราก็พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาไป ปัญญาคือการเรียนรู้ความจริงของตัวทุกข์ เรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของจิต ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จะเห็นความจริงของกายของจิต

 

ทุกข์ให้รู้

ท่านบอกทุกข์ให้รู้ ท่านไม่ได้บอกทุกข์ให้ละ ทุกข์ให้รู้ คือรู้ความจริงของกาย รู้ความจริงของจิตใจนั่นล่ะ เรียกว่ารู้ทุกข์ พอรู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็จะรู้เลยกายนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่มีทุกข์กับสุขอย่างที่เราเห็น จิตใจนี้ก็มีแต่ตัวทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่จิตใจนี้ทุกข์บ้างสุขบ้างอย่างที่เราเห็น ถ้าเราภาวนาให้เด็ดเดี่ยวลงไป ตั้งอกตั้งใจให้จริงจัง ปฏิบัติไม่ท้อถอย บางครั้งท้อ เป็นเรื่องธรรมดา แต่ท้อก็สู้ ไม่เลิกปฏิบัติ บางครั้งเบื่อ เบื่อก็ไม่เลิกปฏิบัติ เบื่อรู้ว่าเบื่อ ท้อรู้ว่าท้อ บางคราวขี้เกียจ ขี้เกียจก็ไม่เลิกปฏิบัติ เบื่อก็ได้ ท้อก็ได้ ขี้เกียจก็ได้ แต่ไม่เลิกปฏิบัติ สู้ตาย พอปฏิบัติมากเข้าๆ วันหนึ่งเราก็จะเห็นความจริง กายนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย

พอเห็นอย่างนี้ ใจมันจะคลายความอยาก ความยึด ตัวความอยาก เรียกตัวสมุทัย ตัวตัณหา ถ้าตัณหามีกำลังแรงกล้า ก็เกิดความยึดถือ เกิดอุปาทาน มันคือธรรมะอันเดียวกัน แต่ดีกรีไม่เท่ากัน อย่างตัณหา จริงๆ ก็คือตัวโลภะ ตัวโลภ ความโลภมีกำลังแรง ก็พัฒนาขึ้นมาเป็นตัณหา ตัณหามีกำลังแรง ก็พัฒนาขึ้นไปเป็นอุปาทาน ไปยึด นี่คือตัวสมุทัย แล้วรากเหง้าของตัณหาคืออวิชชา เพราะเราไม่เห็นความจริงของกาย ว่ากายนี้คือทุกข์ เราเห็นว่ากายนี้ทุกข์บ้างสุขบ้าง เราก็เกิดตัณหา อยากให้กายมีความสุข อยากให้กายไม่ทุกข์

อวิชชาเป็นปัจจัยส่งมาให้เกิดตัณหา อยาก สิ่งที่อยากนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีความจริง เป็นไปไม่ได้จริง อยากให้ร่างกายมีแต่ความสุข ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย อยากให้ร่างกายไม่มีความทุกข์ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราภาวนาจนเรารู้ความจริง ร่างกายนี้มันทุกข์ ทุกข์เพราะความแก่ เพราะความเจ็บ เพราะความตาย ร่างกายมันเป็นตัวทุกข์ นั่งอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ ยืนอยู่ก็ทุกข์ หายใจออกก็ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์ เห็นอย่างนี้ พอเห็นแล้วมันถึงจะวาง ถ้าเราไม่เห็นทุกข์ ก็ละความอยากไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องปฏิบัติ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

คีย์เวิร์ดจริงๆ คือมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง อันนั้นคือตัวรู้ทุกข์ แต่เราจะรู้ทุกข์ได้ จิตนั้นต้องมีกำลัง มีทั้งความสงบ มีแรง สงบแล้วมันจะมีกำลัง แล้วก็มีความตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคนดูคนเห็น แล้วมันถึงจะมารู้ได้ ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ ร่างกายมีแต่ทุกข์ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป ถ้าเราเห็นทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร ก็เป็นอันละสมุทัยเมื่อนั้น อย่างเรารู้แล้วร่างกายคือตัวทุกข์ ความอยากให้ร่างกายไม่ทุกข์ ไร้เดียงสา ความอยากให้ร่างกายมีแต่ความสุข ไร้เดียงสา มันรู้แล้ว มันก็ไม่ได้มีความอยากอะไรโง่ๆ อย่างนั้นขึ้นมาอีกแล้ว ถ้าไม่โง่ไม่อยากหรอก ฉะนั้นตัวโง่คือตัวอวิชชา นี้เรามาเรียนรู้ความจริงของกายของใจไปจนหายโง่

อย่างกายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ดูลงไปเรื่อยๆ จิตนี้ก็เหมือนกัน คนทั่วไปก็เห็นว่าจิตนี้สุขบ้างทุกข์บ้าง ถ้าเราภาวนาไปเรื่อย เราสังเกตจิตใจ ในขณะที่จิตใจมีความสุข จิตก็กระเพื่อมหวั่นไหว การที่มันกระเพื่อมหวั่นไหวขึ้นมา หรือการมันมีความสุขแล้ว มันก็ไล่ตะครุบความสุข มันหิวความสุข ใจมันดิ้นรน ใจมันทำงาน เพราะฉะนั้นมีความสุข ก็ยังไม่พ้นจากความทุกข์ ความสุขก็ยังไม่ใช่ที่พึ่งที่อาศัยที่แท้จริง ความสงบก็ไม่ใช่ที่พึ่งที่อาศัยที่แท้จริง ทั้งความสุข ทั้งความสงบ ความดี ก็ยังไม่ใช่ที่พึ่งที่อาศัยที่แท้จริง

ถ้าวันใดมีปัญญารู้แจ้งแทงตลอดลงที่จิต เห็นจิตไม่มีอะไรอย่างอื่น มีแต่ทุกข์ เพียงแต่บางทีก็ทุกข์มาก บางทีก็ทุกข์น้อย ตอนทุกข์น้อยคนไม่มีปัญญา เขาบอกว่ามีความสุข คนมีปัญญาก็เห็นว่ามันทุกข์ ถ้าเราภาวนาอ่านจิตอ่านใจตัวเองเรื่อยๆ เราจะพบว่าทุกคราวที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง มันเกิดความกระเพื่อมหวั่นไหวขึ้นที่จิต กระทบแล้วจิตมันกระเทือน ตากระทบรูป จิตก็กระเทือน หูกระทบเสียง จิตก็กระเทือน จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส จิตก็กระเทือน ใจกระทบความคิด จิตก็กระเทือน

เราเห็นจิตมันสั่นสะเทือนอยู่ทั้งวันทั้งคืน โอ้ มันทุกข์จริงๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ มันมีแต่ทุกข์ ไม่เห็นมันสุขตรงไหนเลย กระทั่งมีความสุขเกิดขึ้น มันก็กระเทือน มันกระเทือนเนียนๆ หน่อย ฉะนั้นความทุกข์มันเลยเห็นง่ายกว่าความสุข เพราะความทุกข์จิตใจมันกระเทือนรุนแรง แต่ความสุขมันกระเทือนเนียนๆ หน่อย

 

อย่าทิ้งสมาธิ

หลวงพ่อเคยภาวนาตอนเป็นโยม แล้วก็พบว่าขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่งทั้งหลาย เกิดความสั่นสะเทือนขึ้นในใจ สะเทือนขึ้นกลางอก แล้วสะเทือนอย่างนั้นทั้งวันทั้งคืนเลย ทำไมมันกระเทือนทั้งวันทั้งคืน เพราะผัสสะมีอยู่ตลอดเวลา การกระทบอารมณ์มันมีอยู่ตลอด กระทบทีไรจิตก็กระเทือน กระทบทีไรจิตก็กระเทือน

ต่อไปจะกระเทือนแรง หรือกระเทือนเบา ก็ทุกข์ทั้งนั้น โอ๊ย มันทุกข์ ดูไปๆ ตาเห็นรูปอะไร หูได้ยินเสียง ใจคิดอะไร จะไม่ให้จิตกระเทือนก็ไม่ได้ มันสั่นสะเทือนตลอด มันคล้ายๆ เราถูกจับไปใส่ในเครื่องจักรอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วก็สะเทือนทั้งวันทั้งคืน มันทุกข์หรือมันไม่ทุกข์ มันทุกข์มากๆ เลย พอเห็นอย่างนี้ก็ดูๆ ไปประมาณเดือนกว่าๆ กลางวันก็เห็น กลางคืนก็เห็น เวลาจิตมันฝันก็กระเทือน โอ้ มันกระเทือนทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน ทั้งตื่น ทั้งหลับ มีแต่ทุกข์ แล้วตอนนั้นจิตมันทนไม่ไหว มันก็ดิ้นรน เอ๊ะ ทำอย่างไรเราจะผ่านตัวนี้ไปได้ ผ่านด่านอันนี้ได้ จิตมันสะเทือนตลอดเวลา ตอนนั้นยังโง่อยู่ ก็คิดว่าทำอย่างไรจิตจะไม่สะเทือน แก้ด้วยตัวเองไม่สำเร็จ

พอดีขึ้นไปกราบหลวงพ่อพุธ หลวงพ่อพุธท่านก็พยายามสอนว่า “การปฏิบัติพอถึงขั้นละเอียด มันเหลือแต่การไหวยิบยับๆ” เราก็นึกในใจ เราก็เห็นแต่มันทุกข์ ทำอย่างไรมันเหนื่อยเต็มทีแล้ว เหมือนเราอ่านหนังสือหน้าเดียว หรือฟังเพลง เพลงเดียวทั้งวันทั้งคืนเป็นเดือนหนึ่ง ทุกข์ไม่ทุกข์ล่ะ ขนาดฟังเพลง ฟังซ้ำเดือนหนึ่ง ทุกข์นะ ถ้าภาวนาละเอียดขึ้นมา เห็นเลย กระเทือนทั้งวัน ทุกข์ทั้งวันเลย แล้วท่านบอกว่า “การปฏิบัติพอถึงขั้นละเอียด เหลือแต่ไหวยิบยับๆ อย่างนี้ล่ะ” ใจมันไม่ลง ใจมันเหนื่อย ท่านสอนอยู่เป็นชั่วโมง แก้กรรมฐานตัวนี้ให้ไม่ได้ ไม่ใช่ท่านไม่เก่ง แต่เพราะหลวงพ่อมันโง่ ครูบาอาจารย์สอนแล้ว ก็ยังไม่เข้าใจ สุดท้ายเลยบอก “หลวงพ่อนิมนต์ไปเทศน์เถอะ หลวงพ่อต้องไปเทศน์แล้ว เดี๋ยวผมไปหาทางแก้ไขเอาเอง” ท่านเหนื่อย ตอนนั้น เห็นแล้วสงสารท่านเลยเหนื่อยมากเลย

หลวงพ่อกลับมาบ้าน ก็มาเขียนจดหมายไปถามหลวงตามหาบัว สมัยก่อนหลวงตาท่านยังแข็งแรง เรามีปัญหาอะไรเราเขียนจดหมายไปถามท่านได้ ท่านก็ตอบให้ ท่านใจดีจริงๆ งานท่านก็เยอะ ภาระท่านเยอะ ท่านอุตส่าห์ตอบ ตอนที่หลวงพ่อภาวนามาถึงจุดที่ จิตมันไหวสะเทือนทั้งวันทั้งคืน มันทุกข์ เขียนไปถามท่านว่าจะทำอย่างไร ท่านตอบมาสั้นๆ รอบนี้ บอกว่า ท่านเพิ่งไปทำตามา คงไปผ่าต้อ ท่านอ่านหนังสือเยอะๆ ตอนนี้ไม่ได้ เขียนหนังสือเยอะๆ ไม่ได้ ให้ไปอ่านเอาเอง แล้วท่านส่งหนังสือ “ธรรมเตรียมพร้อม” มาให้เล่มหนึ่ง เล่มหนาๆ สักนิ้วหนึ่ง

เห็นแล้วท้อใจเลย โอ้ย อยากได้คำตอบนิดเดียว ได้หนังสือมาตั้งเล่มหนึ่ง ไม่รู้จะทำอย่างไร เอาหนังสือวางบนโต๊ะ ลงไปกราบคิดถึงคุณของหลวงตา ท่านเมตตาให้มา ลุกขึ้นมาก็หยิบหนังสือมาเปิด หน้าที่เปิด มันก็ตอบคำถามอันนี้ แล้วคำตอบเหมือนที่หลวงพ่อพุธบอกเลย การปฏิบัติพอถึงขั้นละเอียด เหลือแต่ไหวยิบยับๆ เอาแล้วสิ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร แก้ไม่ได้ แล้ววันหนึ่งเหนื่อย เหนื่อยมากๆ เลย เดือนกว่าแล้วที่เห็นมันไหว มีแต่ทุกข์ ไม่มีอย่างอื่นเลย

วันนั้นจะไปทำงาน ไปยืนรอรถเมล์อยู่ แล้วก็ใจนี้เหนื่อยมากเลย เพราะว่ามันทุกข์ ก็นึกขึ้นได้ว่า เอาแล้วทำสมาธิสักหน่อยก็แล้วกัน ไม่ทำสมาธิมานานแล้ว ดูถูกการทำสมาธิ นี่ผิดนะ หลวงพ่อมีเรื่องโง่ๆ มาเล่าให้พวกเราฟังเรื่อยๆ สิ่งที่หลวงพ่อทำผิดไว้ หลวงพ่อทิ้งสมาธิไป เจริญปัญญารวดไปเลย จิตมันก็ไหวสะเทือนทั้งวันทั้งคืน วันนั้นนึกทำสมาธิหน่อยก็แล้วกัน ระหว่างรอรถเมล์ ก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจไม่กี่ทีจิตก็รวม โลกธาตุหาย ร่างกายก็หายไป เหลือจิตดวงเดียว สงบ พอจิตถอยออกจากสมาธิ มันมีร่างกาย มันมีโลกข้างนอก มีทุกอย่าง อย่างที่ปกติอย่างนี้ แต่จิตนั้นมันเหมือนมันได้พักมาเต็มที่แล้ว

ตรงที่มันเข้าสมาธิ มันไปพักผ่อน มันพักเต็มที่ มันออกมาเห็นการไหวกระเทือน มันสักว่ารู้ว่าเห็น จิตใจไม่เดือดร้อนด้วยเลย เห็นความกระเพื่อมไหวของโลกของจักรวาล มีแต่ความกระเพื่อมไหว แต่จิตใจซึ่งมีพลังของสมาธิหนุนหลัง มันสงบ มันร่มเย็น แล้วมันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างกระเพื่อมไหว แต่จิตไม่เกี่ยวข้อง ตรงนี้สำคัญ อย่าทิ้งสมาธิ ถ้าทิ้งสมาธิแล้วมาถึงตรงนี้ ดีไม่ดีสติแตก มันทุกข์จนทนไม่ไหว

 

การปฏิบัติต้องมีครบทั้งศีล สมาธิ ปัญญา

ฉะนั้นการปฏิบัติต้องมีครบ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา แล้วเรียนรู้ความจริงของกายของใจเรื่อยไป ก็จะเห็นมันมีแต่ทุกข์ ไม่มีอย่างอื่นหรอก มีแต่ทุกข์ล้วนๆ เลย ทุกข์มากกับทุกข์น้อยเท่านั้น เราภาวนาแล้วจะเห็น ตัวที่ไม่ทุกข์มีตัวเดียว คือตัวจิตผู้รู้ มันไม่ทุกข์ ก็มันเป็นผู้รู้ มันก็เลยมันไม่ทุกข์ เราก็จะสำคัญมั่นหมาย ว่าจิตผู้รู้นี้เป็นที่พึ่งที่อาศัย ที่ฝากเป็นฝากตายได้ พอดีได้ยินคำสอนครูบาอาจารย์ หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยสั่งไว้ ตั้งแต่ครั้งสุดท้ายที่พบท่าน 24 กันยายน 2526 อีก 36 วันท่านมรณภาพ 30 ตุลาคม หลวงปู่ท่านเคยสอนไว้ “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” ตอนนี้เราเห็นว่าตัวจิตผู้รู้ เป็นตัวดีตัววิเศษ เป็นที่พึ่งที่อาศัย ที่ฝากเป็นฝากตาย ทำอย่างไรจะเห็น จะวางมันได้ แล้วจะทำลายผู้รู้ได้อย่างไร นึกไม่ออก

หลวงพ่อพุธท่านก็เคยบอกให้ว่า “จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่ มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง” ไอ้ลูกไก่ของเรามันลูกไก่โง่ มันไม่มีแรงเจาะเปลือก เปลือกที่ห่อหุ้มจิตเอาไว้ ก็คืออาสวกิเลสนั่นเอง จิตไม่มีกำลังจะทำลายอาสวะได้ มันก็เลยยังทำลายไม่ได้ ก็ยังวนเวียนทุกข์ไปเรื่อยๆ ก่อน

หรือบางทีอีกองค์หนึ่ง ที่ท่านพูดเรื่องนี้ไว้ดีมากๆ เลย ก็คือหลวงปู่หล้า ภูจ้อก้อ ฟังคำพูดของท่าน 2 – 3 ประโยคก็เข้าใจแล้ว ภูมิจิตภูมิธรรมท่านระดับไหน ท่านบอกว่า “จิตผู้รู้ไม่ใช่นิพพาน ฟากผู้รู้ไปจนไม่มีที่กำหนดหมาย ถ้าหมายอยู่ก็พอเหมือนๆ” ท่านสอนอย่างนี้ โอ้ เราต้องทิ้งผู้รู้ไป ถ้ายังรักษาผู้รู้ไว้แล้ว ก็คิดว่านี่คือนิพพาน อันนี้ยังหลงอยู่ หลวงตามหาบัวท่านก็สอน “จิตผู้รู้นั่นล่ะ คือจิตอวิชชา” คือพระราชาของกิเลส ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย แต่อยู่ที่จิตผู้รู้นี่เอง

แต่พวกเราอย่าเพิ่งไปทำลายผู้รู้ เราต้องมีผู้รู้ก่อน ถ้าทำลายผู้รู้เร็วเกินไป มันก็เหมือนเราทำลายเรือ ทั้งที่ยังอยู่ในทะเล เอาไว้เข้าถึงฝั่งก่อนแล้วค่อยทิ้งเรือ ค่อยทิ้งผู้รู้ทีหลัง ตอนนี้มีผู้รู้ก่อน ถ้ามีแต่ผู้หลงจะไปภาวนาอะไรได้ ฉะนั้นตอนนี้พัฒนาผู้รู้ไว้ แล้ววันหนึ่งข้างหน้า มันไม่ยึดกระทั่งตัวผู้รู้ ตัวผู้รู้ก็หนีไม่พ้น มันก็ยังตกอยู่ใต้กองทุกข์เหมือนกัน แต่มันประณีตมาก มันเนียนมาก ตัวผู้รู้ ท่านถึงเรียกว่าจิตอวิชชา มันดูยาก มันซ่อนเร้น มันปกปิดตัวเอง

เราภาวนาค่อยทำไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ รักษาศีลไว้ มีสติรู้กายรู้ใจไป แล้วก็แบ่งเวลาทำความสงบให้จิตทุกวันๆ ถ้าไม่ทำความสงบให้จิต จิตไม่มีสมาธิพอ ปัญญาจะไม่เกิด ปัญญาจะทำหน้าที่ตัด ถ้าจิตไม่มีกำลัง ไม่มีสมาธิ มันก็เหมือนมีดทื่อ ตัดอะไรไม่ขาด เพราะฉะนั้นอย่าทิ้งสมาธิ ที่หลวงพ่อพยายามสอนพวกเรามาแต่ไหนแต่ไร ให้มีสมาธิที่ถูกต้อง ลักษณะของสมาธิที่ถูกต้อง ไม่เผลอแล้วก็ไม่เพ่ง เมื่อก่อนหลวงพ่อบอกพวกเราไว้ ไม่เผลอ ไม่เพ่ง คนหัวเราะเลย ทำไมไม่สอนหายใจเข้าพุท ออกโธ มาสอนอะไรไม่เผลอ ไม่เพ่ง ถ้าหายใจไปแล้วก็เผลอ ก็ใช้ไม่ได้ หายใจไปแล้วไปเพ่งลมหายใจ ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นจะใช้ได้ ก็ต้องทำกรรมฐานไป ด้วยจิตใจที่ไม่เผลอ ลืมเนื้อลืมตัว ลืมกรรมฐาน แล้วก็ไม่ไปเพ่งไปจ้องอารมณ์กรรมฐานเอาไว้ ตราบใดที่ยังเผลอยังเพ่งอยู่ จิตไม่ได้ทรงสมาธิที่แท้จริงหรอก เพราะฉะนั้นที่หลวงพ่อบอกว่า ไม่เผลอ ไม่เพ่ง พวกเราจะได้มีสัมมาสมาธิ ไม่อย่างนั้นเราจะมีแต่มิจฉาสมาธิ นั่งเคลิ้มๆ เห็นโน่นเห็นนี่ เห็นผีสาง เทวดา เห็นอดีต เห็นอนาคต ฟุ้งซ่าน เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ในจักรวาล ไม่เห็นกาย ไม่เห็นใจตัวเอง มันใช้ไม่ได้หรอก ฉะนั้นที่บอกไม่เผลอ ถ้าเผลอมันลืมกายลืมใจ มันใช้ไม่ได้ ไม่ให้เพ่ง ไปเพ่งไปจ้อง ใจก็เคร่งเครียด ใจเคร่งเครียดใจไม่มีความสุข ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ

ฉะนั้นถ้าเราไปเพ่ง สมาธิไม่เกิดหรอก ฉะนั้นถ้าเราภาวนา ทำกรรมฐานไป เราไม่เผลอ เราไม่เพ่ง จิตเราจะมีสมาธิอย่างรวดเร็วเลย ทั้งสงบ ทั้งตั้งมั่น เมื่อมีจิตที่สงบ มีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว ก็โน้มน้อมจิตไปเจริญปัญญา ไปดูกาย ไปดูเวทนาคือสุขทุกข์ ไปดูจิตที่เป็นกุศลอกุศล สุดท้ายก็ไปรู้ทันจิตที่เกิดดับทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ค่อยๆ พัฒนา อัพเกรดความรู้ความเข้าใจขึ้นไปเป็นลำดับๆ แล้ววันหนึ่งตัวผู้รู้เราก็จะเด่นดวงมากขึ้นๆ

หลวงพ่อฝึกได้ตัวผู้รู้มา ก่อนจะเจอหลวงปู่ดูลย์ ได้มาตั้งแต่ 10 ขวบแล้ว ทีแรกก็หัดหายใจเข้าพุทออกโธนั่นล่ะ ไม่อย่างอื่นหรอก แล้วก็หลงนิมิตอยู่ช่วงหนึ่ง ต่อมาไม่เอานิมิต คอยรู้เท่าทันไม่ให้จิตหลงไป รู้สึกๆ ไป วันหนึ่งไฟไหม้ข้างบ้าน ตกใจก็วิ่งไป จะไปบอกพ่อ ก้าวที่ 1 ตกใจ ก้าวที่ 2 ตกใจ ก้าวที่ 3 จิตเหมือนเปิดสวิทช์ สว่างพรึบขึ้นมาข้างใน จิตกลายเป็นผู้รู้แล้ว ไม่ใช่ผู้ตกใจแล้ว เห็นความตกใจกระเด็นหายไปต่อหน้าต่อตา คราวนี้ไม่ตกใจ ดูร่างกายมันเดิน ดูคนอื่นตกใจ นี่ตัวผู้รู้ จิตมันเป็นผู้รู้ขึ้นมา

เคยมีพระองค์หนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังนานแล้ว ท่านบอกว่าตอนท่านเป็นวัยรุ่น ท่านไปงานลอยกระทง แล้วไม่ทันระวัง ไปยืนใกล้ๆ ที่เขาจะจุดพลุ ไม่ทันเห็นว่าตรงนี้เป็นที่จะจุดพลุ พอเขาจุดพลุเปรี้ยงขึ้นมา ท่านตกใจ พอตกใจจิตรวมพรึบเลย ตั้งมั่นเป็นผู้รู้เลย จิตไม่ตกใจแล้ว จิตเป็นแค่คนเห็น

อยู่ที่ฝึก ค่อยๆ ฝึกเอา สะสมเอา พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา แล้วก็เรียนรู้ความจริงของกายของใจไป ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น เรียนรู้ความจริงของกายของใจไม่ได้ เวลารู้กาย จิตก็จะจมลงไปในกาย หรือไปคิดเรื่องกาย เวลาดูจิต จิตก็ไปจมลงไปในจิต หรือไปคิดเรื่องจิต อันนั้นใช้ไม่ได้ แล้วจิตต้องตั้งมั่นจริงๆ แล้วก็เรียนรู้กายเรียนรู้ใจไป แล้วมันก็จะเริ่มปล่อยวางได้ เบื้องต้นมันปล่อยวางร่างกายก่อน กายทั้งหลายไม่เห็นจะดีวิเศษตรงไหน มีแต่ทุกข์ ต่อไปมันก็ปล่อยวางจิตได้ จิตที่ไม่ดีทั้งหลาย จิตที่ดีทั้งหลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปทั้งสิ้น ใช้ไม่ได้เหมือนกัน เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้เลย ความดี ความสุข ความสงบ

ถัดจากนั้นจิตก็จะรวมเข้ามาที่จิตผู้รู้ แล้วถ้าปัญญาแก่รอบจริง ก็จะเห็นจิตผู้รู้เองก็ตกอยู่ใต้กองทุกข์ ยังเป็นสังขารอันหนึ่ง ตรงนั้น ถ้าเมื่อไรเราเห็นตัวจิตผู้รู้ ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์อย่างแท้จริง จิตก็จะปล่อยวางจิตได้ นั่นล่ะการทำลายผู้รู้ ก็คือการไม่ยึดถือตัวผู้รู้ พอเราไม่ยึดถือตัวผู้รู้ จิตสัมผัสพระนิพพาน แล้วจิตก็จะไม่ไปหลงยึดพระนิพพาน ไปยึดทำไม มันของประจำโลก ของทำตามธรรมชาติธรรมดาอยู่แล้ว ไม่ได้มีเจ้าของ

 

ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม

รวมความแล้ว สุดท้ายที่เราลงมือปฏิบัติตามหลักของอริยสัจ 4 ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ จนกระทั่งแจ้งนิโรธ เจริญมรรคขึ้นมา สุดท้ายมันจะมาลงไปประโยคที่ว่า “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรถือมั่น” รูปธรรมก็ไม่ควรถือมั่น เพราะมันคือตัวทุกข์ นามธรรม ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ก็ไม่ควรถือมั่น เพราะมันคือตัวทุกข์ จิตก็เป็นของที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะมันก็เป็นตัวทุกข์ แล้วมันก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดอีก นั่นล่ะที่สุดแห่งทุกข์ อยู่ตรงที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ถ้ายังสำคัญมั่นหมาย ว่านิพพานเป็นตัวเราของเรา อันนั้นยังยึดมั่นอยู่ ยึดมั่นในทิฏฐิอยู่ ยังมีทฤษฎี มีความคิด มีความเห็นที่ผิดอยู่ ยังใช้ไม่ได้

ค่อยๆ ฝึกไป สุดท้ายเราก็จะมาถึงประโยคที่ว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรถือมั่น” ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นั่นล่ะเรียกว่าเราหมดสงสัย สิ้นสงสัยในพระพุทธศาสนาแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านจะชอบถามกัน ถ้าเราภาวนาดีๆ บางทีท่านถาม “สิ้นสงสัยแล้วรึ” คุยกัน คนไม่ได้ภาวนาก็ฟังไม่รู้เรื่อง “สิ้นสงสัย” สิ้นสงสัยก็ต้องรู้แจ้งแทงตลอดโลกนั่นล่ะ คือรู้แจ้งแทงตลอดในรูปนาม ก็ไม่ยึดถือสิ่งใด นั่นล่ะถึงจะสิ้นสงสัยจริง

ไปปฏิบัติเอา ขั้นแรกถือศีล 5 ต้องถือ ต้องถือ ไม่ต้องถือศีลเยอะหรอก เอา 5 ข้อนั่นล่ะ ทุกวันทำในรูปแบบ แบ่งเวลาไว้เลย หนึ่งชั่วโมงก่อนนอน สมมติหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน ทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด แล้วคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป จิตใจก็จะสงบ ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา แล้ววันหนึ่งก็ไม่ได้ทำครั้งเดียว ระหว่างวันช่วงไหนมีเวลา 5 นาที 10 นาที หรือระหว่างเราขึ้นรถไฟฟ้า เราไม่มีงานอะไรทำ แทนที่จะดูมือถือเรื่อยเปื่อยไป เสียเวลา ก็มารู้สึกกายรู้สึกใจไป ทำกรรมฐานอย่างนี้ แล้วจิตมันจะได้มีกำลัง เพราะฉะนั้นการทำในรูปแบบ ไม่ใช่ทำตอนก่อนนอนทีเดียวหรอก มีเวลาเมื่อไรก็ทำเลย 5 นาทีก็ทำ 10 นาทีก็ทำ เก็บเล็กเก็บน้อยไปเรื่อย

ทำในรูปแบบก็คือการที่โน้มน้อมจิต มาอยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเราไว้ แล้วคอยรู้เท่าทันจิต ทำอย่างนั้นไปเรื่อย แล้วจิตจะมีกำลัง ถ้าไม่อย่างนั้นจิตไม่มีกำลังหรอก พอจิตมีกำลังแล้วก็เดินปัญญา มีกำลังแล้วทรงตัวอยู่เฉยๆ ใช้ไม่ได้ เหมือนชาร์จแบตเตอรีไว้เต็ม แล้วก็ไม่ได้ใช้อะไร ทิ้งไว้ให้แบตเตอรีสื่อม แล้วก็มาชาร์จอีก ไม่ได้เรื่องหรอก

เมื่อก่อนมีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านเทียบเหมือนกับคนเอาน้ำไปใส่ในถาด แล้วเข้าช่องฟรีซ ได้น้ำแข็ง พอน้ำแข็งแล้ว ก็เอาน้ำแข็งออกจากช่องฟรีซไปอยู่ข้างนอก น้ำแข็งละลาย พอน้ำแข็งละลายหมด เอาไปใส่ช่องฟรีซอีก นั่นคือแบบทำสมาธิ สงบแล้วก็ไม่รู้จะใช้ประโยชน์อะไร ทิ้งเปล่าๆ เดี๋ยวก็ฟุ้งขึ้นมาอีก ก็ทำสมาธิอีก ไม่รู้จักจบจักสิ้นหรอก เพราะฉะนั้นทำสมาธิ ทำในรูปแบบไป แล้วจิตจะมันมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา แล้วก็เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจไป สติระลึกรู้กาย ทีแรกก็ระลึกรู้กาย ระลึกรู้เวทนา ระลึกรู้จิต ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา

ต่อมาสมาธิเราดี สติเราแข็งแรง พอสมาธิเราดีจริงๆ จิตมันตั้งมั่นเป็นคนดู สติระลึกรู้กาย มันเห็นว่ากายไม่ใช่เรา มันเห็นไตรลักษณ์ ถ้าจิตมันตั้งมั่นจริงๆ สติระลึกรู้เวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ ก็จะเห็นไตรลักษณ์ เวทนา จะสุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ถ้าจิตเราตั้งมั่นจริงๆ สติระลึกรู้กุศลอกุศลทั้งหลาย ก็จะเห็นว่ามันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ แล้วถ้าจิตเราตั้งมั่นจริงๆ เราก็จะเห็น จิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็หลงไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย มันก็ยังตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ แต่ละอย่างล้วนแต่ไม่เที่ยง ล้วนแต่บังคับไม่ได้ นั่นล่ะเรียกว่าการทำวิปัสสนา

วิปัสสนาต้องเห็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่อย่างอื่น ต้องดูไตรลักษณ์ให้เห็น ทีแรกสติระลึกรู้ร่างกาย ต่อมาปัญญาหยั่งลงไป รู้ว่าร่างกายนี้ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ปัญญาจะหยั่งลงได้ ต้องมีสมาธิหนุนหลัง สมาธิที่ถูกต้อง เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ถ้าจิตตั้งมั่น สติระลึกรู้กายปุ๊บ เห็นเลยกายไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้เวทนาปุ๊บ จะเห็นเวทนาไม่ใช่เรา อย่างขณะนี้พวกเรานั่งอยู่ แล้วเราฟังเทศน์หลวงพ่อ เวลาฟังธรรมหลวงพ่อ จิตมันมักจะมีกำลัง จิตมันมักจะมีแรง รู้สึกไหม ร่างกายนี้ที่นั่งอยู่ มันถูกรู้ มันไม่ยากเลยที่จะรู้อย่างนั้น ร่างกายที่ถูกรู้นี้ ไม่ใช่เรา ไม่ยากเลยที่จะรู้ เพราะจิตเรามีสมาธิมากพอ ปัญญามันถึงจะเกิด ถ้าจิตเราวอกแวกๆ เป็นตุ่มรั่ว ปัญญาไม่เกิดหรอก ใช้ไม่ได้

การภาวนา ต้องช่วยตัวเอง ฟังแล้วไม่ได้ลงมือทำ ไม่มีวันเข้าใจ ปฏิบัติ รักษาศีล 5 ไว้ ทุกวันทำในรูปแบบไว้ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต มีสติรู้ทัน อันนี้คือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ก็ทำให้ได้ มรรคผลนิพพานอยู่ไม่ไกล ถ้าไม่ได้ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก ค่อยไปทำต่อเอาชาติหน้าก็แล้วกัน ถ้าทำอย่างที่บอก บางทีชาตินี้อาจจะได้มรรคได้ผล

บอกแล้วว่าเราต้องมีบุญเก่า ถ้าเราไม่มีบุญเก่า เราไม่สนใจที่จะศึกษาธรรมะหรอก แสดงว่าเรามีบุพเพกตปุญญตา เรามีบุญเก่า ทำให้มานั่งอยู่ตรงนี้ มานั่งใกล้พระ มาได้ฟังธรรม ตั้งใจฟังธรรม ก็เหลือการน้อมนำเอาไปปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ใจก็จะเข้าใจธรรมะขึ้นมา เข้าใจธรรมะ ใจจะค่อยคลายความยึดมั่นถือมั่นในโลกออกไป ใจมันจะรู้สึก มันห่างโลกไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็พ้นจากโลกไป เพราะโลกไม่มีอะไรนอกจากทุกข์

ฉะนั้นฝึกเข้านะ ใจจะได้พ้นโลก ไม่ได้น่าตกใจ บางคนกลัวนิพพาน พ้นโลกไปแล้วน่าตกใจ ไม่น่าตกใจ มันคล้ายๆ คนเป็นหนอน เกิดอยู่ในกองขยะ จะทิ้งกองขยะก็เสียดาย กับคนซึ่งมีสติปัญญา โอ้ จะไปหวงมันทำไมกองขยะนี้ ขันธ์ 5 มันก็เหมือนกองขยะ จิตที่ยังไม่ฉลาด ไม่ได้รับการศึกษา มันก็เหมือนหนอน ก็เพลิดเพลินอยู่กับกองขยะ จะให้ทิ้งก็เสียดาย ถ้าฝึกจิตฝึกใจสูงขึ้นๆ มันก็ไม่เอาแล้วกองขยะนี้ มันก็วางของมันเอง ไม่ต้องเชิญชวน ฝึกเอานะ

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
4 พฤศจิกายน 2566