เส้นทางที่ลัดสั้น

เจริญพร ไม่ทำงานทำการกันเลยหรือ การทำบุญใส่บาตรวันนี้ เป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้า ท่านไปจำพรรษาในดาวดึงส์ ไปเทศน์โปรดแม่ของท่าน แม่ของท่านตายแต่เด็กๆ ท่านก็โปรดพ่อโปรดแม่ เวลาพวกเรามาใส่บาตร ให้นึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าไว้ ท่านมีคุณงามความดีมาก นิพพานไปตั้ง 2,500 กว่าปีแล้ว คนยังนึกถึงเลย คนทั่วๆ ไปตายไปไม่นานคนก็ลืม อย่างเมืองจีน เขาเก่งเขาชอบจดบันทึก เขามีประวัติศาสตร์ยาวนาน คนไทยไม่ค่อยจด แค่ปู่ของเราชื่ออะไรเรายังไม่ค่อยรู้เลย มองในแง่ว่าไม่ยึดถือ ได้ภูมิใจดี ที่แท้ขี้เกียจจด

คุณของพระพุทธเจ้าจนป่านนี้คนยังไม่ลืม เพราะท่านมีคุณงามความดีมาก ที่พวกเรามาทำบุญ มาใส่บาตร ลูกพระทั้งหลายยังได้อาศัย ได้มีสร้างวัด มีอาหาร มีผ้าไตรจีวรใช้ เป็นคุณของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้นเลย ตั้งแต่หลวงพ่อบวชใหม่ๆ วันแรกเลย ไปบิณฑบาตได้อาหารมา ไม่ได้คิดพิจารณาแค่ว่า เรากินอาหารเพื่อให้ร่างกายอยู่ได้ เพื่อจะได้มีแรงปฏิบัติธรรม ไม่ได้คิดแค่นั้นหรอก แต่พิจารณาลึกซึ้งลงไปอีกชั้นหนึ่ง ว่าอาหารทั้งหมดนี้ เราได้มาเพราะคนเขานับถือพระพุทธเจ้าไม่ใช่นับถือเรา เราเป็นพระบวชใหม่คนเขาไม่รู้จักหรอก แต่เขาให้อาหารมาเพราะเขาเคารพพระพุทธเจ้า เรามีกุฏิมีศาลาไว้ใช้งาน ญาติโยมก็สร้างเพราะเขาเคารพพระพุทธเจ้า กระทั่งผ้าที่ครองอยู่ ชุดแรกซื้อมาเอง คุณแม่ซื้อให้ ผ้าอื่นๆ ที่ได้มาทีหลังเพราะคนเขาให้มา เพราะเขาเคารพพระพุทธเจ้า

หลวงพ่อกำราบจิตใจตัวเอง ไม่ใช่เราดีไม่ใช่เราเก่ง แต่เป็นความดีของพระพุทธเจ้า พวกลูกพระทั้งหลายก็เลยได้ปัจจัยสี่ สามารถยังชีพสืบต่อกันมาได้ เมื่อเป็นลูกของคนดี เราก็ต้องดีด้วย ก็ต้องทำตัวให้ดี อะไรที่พระพุทธเจ้าห้ามเราต้องไม่ทำ อะไรที่ท่านบอกให้ทำเราต้องทำ แต่สิ่งที่ท่านห้ามไม่ให้เราทำบาปอกุศลทั้งหลาย ถ้าเป็นฆราวาส เราไม่ทำผิดศีล 5 ข้อ เอา 5 ข้อเท่านั้น ทำ 5 ข้อนี้ให้ได้ มันจะเป็นพื้นฐานของการภาวนาต่อไป ถ้าจิตเราไม่มีศีล สมาธิมันไม่เกิด หรือเราเคยมีศีลเกิดสมาธิแล้ว พอเราเสียศีลไป สมาธิก็เสื่อม เพราะฉะนั้นเรามีศีล เพราะเราเชื่อฟังพระพุทธเจ้า

 

การปฏิบัติบูชาที่ยกระดับขึ้นไป

เรามาปฏิบัติสมาธิเพราะเป็นสิ่งที่ท่านบอกให้ทำ เรามาเจริญปัญญาอันนี้ท่านก็บอกให้ทำ ถ้าเราถือตัวว่าเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเป็นสาวก จะเป็นพระเป็นเณร เป็นอุบาสกอุบาสิกาอะไรก็ตาม เราก็ต้องดูว่า อะไรที่ท่านห้ามเราต้องไม่ทำ อะไรที่ท่านให้ทำเราต้องทำ ขี้เกียจก็ต้องทำ เบื่อก็ต้องทำ เข้มแข็งไว้ หลวงพ่อสอนตัวเองมาตั้งแต่วันแรกที่บวชแบบนั้น สอนมาเรื่อยๆ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ การที่พวกเรามาใส่บาตร ก็ถือว่าเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ไม่ใช่บูชาหลวงพ่อ หลวงพ่อมีคนมาใส่บาตร เพราะหลวงพ่อใส่เครื่องแบบของพระพุทธเจ้า การที่เรามาใส่บาตรถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า แต่อันนี้เขาเรียกว่าอามิสบูชา บูชาด้วยวัตถุสิ่งของ

เราต้องยกระดับการบูชาพระพุทธเจ้าให้สูงขึ้นไป สู่การปฏิบัติบูชา การปฏิบัติบูชานั้นเป็นการบูชาที่สำคัญมาก อามิสบูชาก็จำเป็น อย่างพระถ้าไม่มีอาหาร พระก็อยู่ไม่ได้ ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้สืบทอดธรรมะ เพราะฉะนั้นอามิสบูชาก็จำเป็น แต่เราอย่าไปปรนเปรอให้พระเสียคน บางทีเราอยากทำบุญโน้นอยากทำบุญนี้ ทำจนกระทั่งพระนิสัยเสีย อย่างนั้นไม่ดี ต้องระมัดระวัง

อย่างพวกเราจะมาทำบุญที่นี่ จะทำบุญกับหลวงพ่อ บางคนบอกว่าทำยากๆ ไอ้นั่นก็ไม่เอา ไอ้นี่ก็ไม่เอา เต็มไปด้วยคำว่าไม่เอาเพราะว่ามีพอแล้ว นี้เราต้องดู อย่าทำบุญด้วยอามิสบูชา อย่าให้มันเป็นยาพิษทำลายพระ หลายที่เลยเสียหายหมด แต่เดิมพระกรรมฐานอยู่กันลำบาก หลวงพ่อสมัยออกแสวงหาธรรมะเข้าไปอยู่ตามวัดป่า อาหารการกินอัตคัดขาดแคลน แต่การภาวนาเข้มแข็งมาก มาหลังๆหลวงพ่อเห็นแต่ละวัด อาหารการกินเยอะแยะ ข้าวของเครื่องใช้เยอะแยะ แต่การภาวนามันย่อหย่อนลง สบายเกินไป ก็ภาวนายาก

เพราะฉะนั้นเราก็อย่าทำให้พระเสียคน เราอยากได้บุญ มันได้บุญหรอกแต่ว่าพระเสียคนไป พระจริงๆที่ตั้งใจภาวนาจริงๆ ไม่ได้โลภมากหรอก จะมักน้อย รับไทยทานมานั้น ก็รับเท่าที่จำเป็น อย่างหลวงพ่อได้ผ้าไตรจีวรมาแทบทุกวัน บางวันได้มาหลายผืน หลวงพ่อก็ใช้อยู่ผืนเดียว ใช้ได้หลายปี แค่นี้ที่เหลือก็แจกจ่ายออกไป ให้พื้นที่ที่เขาขาดแคลน อามิสบูชานั้นทำด้วยสติด้วยปัญญาแค่ไหนพอดีพองาม ไม่ทำจนพระเสียคน และที่สำคัญแล้วก็ไม่มีทางเสีย คือปฏิบัติบูชา ไม่เคยมีศีลก็รักษาศีล นั่นคือการปฏิบัติธรรม

บางคนคิดว่าการปฏิบัติธรรม คือการนั่งสมาธิการเดินจงกรม การที่เราตั้งอกตั้งใจรักษาศีลนั่นล่ะก็คือการปฏิบัติธรรมแล้ว การรักษาศีลเมื่อวานหลวงพ่อก็บอกแล้ว เราไม่ได้ถือไปเพื่ออวดดีอวดเด่นอะไร เรารักษาศีลเพื่อลดละอกุศลทั้งหลาย ไม่ตามใจกิเลส ก็เพื่อเจริญกุศลให้ดีขึ้น อย่างบางคนนิสัยขี้โมโห เห็นหมาเห็นแมวอะไรขวางหน้าอะไรก็ไล่เตะเลย พอมารักษาศีล อยากเตะเคยชินที่จะเตะ เรารักษาศีลเราไม่เตะมัน สัตว์มันก็ไม่ลำบาก พอเราไม่ทำร้ายสัตว์ไม่ทำร้ายคนอื่น นานๆ ไปใจมันก็เริ่มสูงขึ้น ร่มเย็นขึ้น ต่อไปมันก็พัฒนาเป็นคุณธรรม มีความเมตตามีความกรุณาต่อสัตว์ จากคนทำร้ายสัตว์ กลายเป็นไม่ทำร้ายแล้ว

ต่อไปใจสูงขึ้นอีก ก็มีความเมตตากรุณา หรือบางคนขี้บ่น ผู้หญิงเป็นเยอะแต่ผู้ชายก็มี บ่นอะไรไม่ถูกใจก็บ่นๆ ทีแรกนานๆ บ่นทีหนึ่ง พออยู่ไปหลายๆ ปีอายุเยอะขึ้น บ่นเก่งบ่นได้ทุกเรื่องเลย เพราะว่ามันเคยตัวเคยชิน ถ้าตั้งใจรักษาศีล จะไปบ่นไปว่าไปด่าคนอื่น เสียศีลไม่ทำ สงบเสงี่ยมปิดปากไว้ ทีแรกมันก็อึดอัด ใจมันดิ้น มันอยากบ่นอยากด่าคนอื่น แต่กลัวเสียศีล รักษาศีลเอาไว้ ไม่บ่นไม่ด่า นานๆ ไปจิตมันเริ่มคุ้นเคย ไม่ว่าคนอื่นมันก็สบายดี ไปว่าเขาก็ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรขึ้นมา ใจมันก็ขึ้นมาเป็นธรรมะ มีความรู้สึกเป็นมิตรกับคนอื่นมากขึ้น คนอื่นเขาก็เป็นมิตรกับเรามากขึ้น

เพราะฉะนั้นการรักษาศีลทำไปเพื่อลดละอกุศลที่มีอยู่ เพื่อปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพื่อทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพื่อทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญขึ้น อย่างพอเรามีศีลเราก็มาภาวนา ถ้าศีลเราเสียสมาธิเราก็เสื่อม อย่าว่าแต่โยมเลยพระก็เหมือนกัน พระเวลาติดอาบัติ พระมีศีลเยอะ ติดอาบัติภาวนาไม่ได้ หลวงพ่อพุธท่านชอบเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่ง มีพระสมัยโบราณ สมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อนไม่ใช่องค์นี้ ท่านก็ตั้งใจรักษาศีลปฏิบัติธรรมด้วยดี วันหนึ่งท่านนั่งเรือไป ลงเรือ เรือโบราณ ก็เรือพาย ลำเล็กๆ พายเรือ ตัวเองไม่ได้เป็นคนพาย คนอื่นเขาพายให้ ตัวเองนั่งว่างๆ เห็นสาหร่ายอยู่ในน้ำ เกิดซนขึ้นมามันสวยดี เอามือลงไปละในน้ำ สาหร่ายก็ขาดติดมือขึ้นมา ก็คิดว่าอาบัติเล็กน้อยไม่เป็นไร ปรากฏว่าภาวนาตลอดชีวิตไม่ได้มรรคผลอะไร ลำบาก

อันนี้ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง ตัวหลวงพ่อพุธเอง ตอนเป็นพระหนุ่มๆ ยังภาวนาไม่เก่ง แต่พลังจิตท่านเยอะ ท่านเคยได้ยินว่าคนนี้สามารถเพ่งต้นไม้ให้หักได้ ใช้พลังจิตทำต้นไม้ให้หัก ท่านก็ลอง ลองเพ่งกิ่งไม้ กิ่งใหญ่ๆ หักลงมา ครูบาอาจารย์เห็น ดุท่าน ว่าอาบัติแล้วรู้ไหม พระมีพระวินัยอยู่ข้อหนึ่ง ไม่พรากของเขียว ต้นไม้พระไปตัดไม่ได้ อันนี้ท่านคงคิดแต่แรก แค่เป็นพระใหม่ไม่รู้เรื่อง คิดว่าท่านไม่ได้ตัด มือไม่ได้มีมีดมีไม้อะไร ใช้พลังจิตเพ่งมันขาดเลย ครูบาอาจารย์บอกไม่ได้ ต้องปลงอาบัติแล้ว ท่านก็จำไว้เลย เจอท่านก็เล่าเรื่องนี้หลายที

พอเรามีศีล ต่อไปเราก็ฝึกสมาธิ การฝึกภาวนามันมี 2 อย่าง อันหนึ่งฝึกให้จิตสงบให้จิตตั้งมั่น อันหนึ่งเอาจิตที่สงบแล้วตั้งมั่นแล้วไปเจริญปัญญา นี่คือการปฏิบัติบูชาที่ยกระดับขึ้นไป มีศีลก็เป็นการปฏิบัติบูชา ทำสมาธิก็เป็นการปฏิบัติบูชา ทำวิปัสสนาก็เป็นการปฏิบัติบูชา

พวกเราอย่าเอาแค่ทำทาน ให้วัตถุมันเป็นอามิสบูชา ดีแต่ผลที่ได้ไม่มาก อาจจะมีกินมีใช้อะไรก็จำเป็น แต่จะยกระดับจิตใจขึ้นไป ต้องปฏิบัติบูชาให้ได้ รักษาศีลไว้ให้ดี แล้วก็ฝึกจิตฝึกใจให้มันอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจเคยร่อนเร่ฟุ้งซ่านทั้งวัน อย่าปล่อยมันไป มีสติคอยดูแลจิตใจของตัวเองไว้ ทำกรรมฐานอะไรสักอย่างหนึ่งก็ได้ที่เราถนัด อะไรก็ได้ที่เราถนัด กรรมฐาน ถนัดพุทโธก็ได้ ถนัดหายใจก็ได้ ถนัดพองยุบก็ได้ ถนัดบริกรรมสวดมนต์อะไรก็ได้ แต่เคล็ดลับมันอยู่ที่ว่า ไม่ว่าทำกรรมฐานอะไร ต้องรู้เท่าทันจิตตนเอง

ส่วนใหญ่ที่หลวงพ่อเห็น บางทีนั่งสมาธิกันเป็นร้อยๆ คน นั่งไม่เป็น นั่งแล้วก็บังคับจิต จะให้สงบ เคลิ้มไปเคลิ้มมา บางทีก็นั่งคิดโน่นคิดนี่ไป นั่งกดข่มจิตใจจนเครียดก็มี บางคนคอเคล็ดหลังเคล็ด เราไม่ได้นั่งสมาธิกันแบบนั้น เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้เท่าทันจิตใจของตัวเองไว้ อย่างหลวงพ่อหายใจเข้าพุทหายใจออกโธ เคยทำมาแต่เด็ก หลวงพ่อก็ใช้ตัวนี้ล่ะ แต่ปรับแทนที่จะมุ่งหายใจเข้าพุทออกโธเพื่อให้จิตสงบ ก็ยกระดับขึ้นมาเป็นการรู้เท่าทันจิตตัวเอง หายใจเข้าพุทหายใจออกโธ จิตมันจะหลงไปคิด รู้ทัน หายใจเข้าพุทออกโธ จิตจะไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน เพ่งลมทีแรกนึกว่าดี เพ่งไปเพ่งมา ลมระงับไปกลายเป็นแสงสว่าง ก็ไปเพ่งแสงสว่างต่อไปอีก จิตก็ถลำลงไปในแสง นี้เป็นทางเล่นอะไรออกข้างนอกไป

พวกฤทธิ์พวกอภิญญาอะไรมันมาจากตรงนี้ล่ะ จากปฏิภาคนิมิต ภาวนาไป รู้ว่าออกไปข้างนอกไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็เลยพยายามมีสติไว้ พอจิตมันสว่างขึ้นมา จิตมันจะเคลื่อนเข้าไปในแสงด้วยความเคยชิน มีสติรู้ทัน จุดสำคัญอยู่ตรงนี้ล่ะ ภาวนาเป็นหรือไม่เป็น ก็อยู่ตรงที่ว่ารู้ทันจิตตัวเองได้ไหม อย่างเราหายใจจิตหนีไปคิด เรารู้ จิตถลำลงไปเพ่งลมหายใจ เรารู้ ลมหายใจระงับเกิดแสงสว่าง จิตถลำลงไปในแสงสว่าง เรารู้ รู้ทันจิตไว้ พอเรารู้ทันจิต จิตจะได้ทั้งความสงบได้ทั้งความตั้งมั่น ไม่สงบอย่างเดียว ถ้าจิตมันไหลไปจมไปแช่อยู่ในอารมณ์อันเดียวนานๆ มันสงบ แต่ถ้ามันไหลไปแล้ว ไปรู้โน่นรู้นี่อันนี้ไม่สงบ แต่ว่ามันไม่ตั้งมั่นเพราะมันไหลไป

 

ภาวนาเข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเองให้ได้

เพราะฉะนั้นให้เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ต้องทำถ้าอยากได้มรรคผลในชีวิตนี้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง จิตไหลไปคิด รู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน รู้ทันจิตไปเรื่อย จิตจะตั้งมั่นขึ้นมา เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานได้ พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมาได้ เราก็ทำงานที่สำคัญที่สุดคือการเจริญปัญญา ถ้าสติระลึกลงในร่างกาย จิตของเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เราจะเห็นว่าร่างกายกับจิตนั้นเป็นคนละอันกัน ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ถ้าจิตมันตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้ความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกดีชั่ว มันก็จะเห็นทั้งสุขทั้งทุกข์ทั้งดีทั้งชั่วเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา

ถ้าจิตตั้งมั่นอยู่เราจะพบอีก มันตั้งก็อยู่ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็ไม่ตั้งมั่นมันไหล มันไหลไปทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ โดยเฉพาะไหลไปคิดทางใจ ไหลบ่อย ทีแรกเราก็จิตตั้งมั่นอ้าวไหลไปคิดจิตตั้งมั่นดับ จิตหลงไปคิดเกิด พอรู้ทันจิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาอีก ตั้งมั่นไม่นาน ได้ยินเสียงอะไรแว่วๆ จิตวิ่งไปฟังเสียงอีกแล้ว จิตที่ตั้งมั่นก็ดับ เกิดจิตที่ไปฟังเสียง จิตมันเกิดดับหมุนเวียนไป แต่ถ้าเราไม่มีจิตผู้รู้ เราจะไม่รู้หรอกว่าจิตมันเกิดดับ ถ้ามีจิตผู้รู้เราจะเห็น จิตผู้รู้ก็เกิดดับ จิตผู้ไปดูรูปก็เกิดดับ จิตที่ได้ยินเสียงก็เกิดดับ จิตที่ได้กลิ่นได้รสได้สัมผัสก็เกิดดับ จิตที่คิดนึกทางใจก็เกิดดับ จิตทุกชนิดเกิดดับ ตัวนี้สำคัญ ถ้าเราภาวนาแล้วตัดเข้ามาตรงนี้ได้ การภาวนาการเจริญปัญญา สั้นนิดเดียวเลย

วันใดที่จิตยอมรับความจริงได้ ว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เราจะได้พระโสดาบัน ตรงที่เราเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็จะไม่เป็นเราไปด้วย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นแค่สิ่งที่จิตไปรู้เข้า งั้นถ้าเราสามารถตัดตรงเข้ามาเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา ตัวเดียวนี้ล่ะ ขันธ์ 5 ก็ไม่เป็นตัวเรา โลกทั้งโลกก็ไม่เป็นตัวเราแล้ว จะได้เป็นพระโสดาบัน

เราภาวนาต่อไปก็เรียนรู้จิตใจตัวเองไป เราเห็นทุกครั้งที่จิตมีความอยาก ทุกครั้งที่จิตมีความยึด จิตก็มีความทุกข์ จะอยากได้อารมณ์ที่ดี หรืออยากได้อยากไล่อารมณ์ที่ไม่ดีออกไป จะยึดอารมณ์ที่ดีหรือเกลียดชังอารมณ์ที่ไม่ดี เกลียดก็ยึด รักก็ยึด ทุกครั้งที่จิตมีความอยาก จิตก็มีความทุกข์ ทุกครั้งที่จิตเข้าไปยึด จิตก็มีความทุกข์ เพราะฉะนั้นจิตจะรู้เลยว่า อารมณ์ทั้งหลาย รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสทั้งหลาย ที่เขาเรียกกามคุณอารมณ์ มันทำให้จิตมีความทุกข์ ถ้าจิตไปหลงในกามคุณอารมณ์เมื่อไหร่ ไปอยากไปยึดในกามคุณอารมณ์เมื่อไหร่ คือรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสทางกาย ถ้าเราไปอยากไปยึดเมื่อไหร่ จิตเป็นทุกข์ทันทีเลย นี้สำหรับคนดูจิต

ถ้าเห็นมาตรงนี้ จิตมันจะหมดความรักใคร่ผูกพันในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เป็นภูมิจิตภูมิธรรมของพระอนาคามี รู้เลยว่ากามไม่ใช่ของดี กามคุณไม่มีจริงมีแต่กามโทษ จิตเข้าไปอยากไปยึดในกามคุณอารมณ์ คือรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสทีไร จิตมีความทุกข์ทุกทีเลย จิตก็พ้นจากกาม อันนี้เป็นภูมิจิตภูมิธรรมของพระอนาคามี สำหรับคนที่ดูจิต จะบรรลุพระอนาคามีโดยการเห็นสิ่งเหล่านี้ ถ้าเป็นพวกดูกาย จะเห็นกายเป็นตัวทุกข์ แล้วไม่ยึดกาย ก็จะพ้นกามเหมือนกัน

ถัดจากนั้นเราก็ภาวนาต่อไปอีก แต่เดิมเราเห็นว่า จิตอยากจิตยึดจิตทุกข์ จิตไม่อยากจิตไม่ยึดจิตไม่ทุกข์ ถึงวันหนึ่งเราพบว่าไม่ใช่ จิตจะอยากหรือไม่อยาก จิตจะยึดหรือไม่ยึด แค่มีจิตก็มีทุกข์แล้ว ตัวนี้ละเอียดที่สุด ประณีตที่สุด เราเห็นว่าจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ กายนี้เราเห็นเป็นตัวทุกข์มาแต่แรกแล้ว พอภาวนามาเห็นจิตเป็นตัวทุกข์ ปล่อยวางจิตได้ จิตก็จะพรากออกจากขันธ์ จิตปล่อยวางจิตแล้ว มันพ้น พ้นโลกพ้นสงสารพ้นความปรุงแต่ง มันจะเข้าถึงธรรมะอันหนึ่งที่เรียกว่าพระนิพพาน จิตมันสงบ มันไม่มีความหิวเกิดขึ้น จิตของเราหิวตลอดเวลา หิวอะไร จิตหิวอารมณ์

อยากได้อารมณ์โน้น อยากได้อารมณ์นี้ อยากเห็นรูปอยากได้ยินเสียง อยากได้กลิ่นนั้นกลิ่นนี้ จิตมันหิว แต่ถ้าเราเห็นจิตมันเป็นตัวทุกข์ ไม่รู้จะหิวไปทำไม ไม่รู้จะปรนเปรอมันทำไม มันเป็นตัวทุกข์มันไม่ใช่ของวิเศษ จิตผู้รู้ที่ว่าเป็นของดีของวิเศษ ถึงจุดหนึ่งมันเป็นตัวทุกข์ มันไม่ใช่ของวิเศษอีกต่อไปแล้ว มันถึงจะปล่อยวางจิตได้ ถ้าจิตเราปล่อยวางจิตได้ มันก็ปล่อยวางโลกทั้งโลกได้ ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่ยึดถือสิ่งใด นั่นล่ะที่สุดของทุกข์อยู่ตรงนั้นเอง

เพราะฉะนั้นเราภาวนา เข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเองให้ได้ จะรักษาศีลก็รู้เท่าทันจิต นี่จิตอยากทำผิดศีลแล้ว ด้วยความโลภความโกรธความหลง อยากทำผิดศีลรู้ทัน มันก็ไม่ผิดศีล จะนั่งสมาธิเราก็เห็นจิตมันฟุ้งซ่าน นี้ก็กิเลสความฟุ้งซ่าน นิวรณ์ทั้งหลายบางทีก็อาลัยอาวรณ์อยากคิดถึงที่นอน ภาวนานิดเดียวคิดถึงที่นอน อันนี้ก็เป็นกาม ติดอกติดใจในการกิน ติดอกติดใจในการนอน นี่ก็กาม พอสิ่งเหล่านี้เกิด สมาธิก็เสื่อม เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ทันกิเลส รู้ทันนิวรณ์ นิวรณ์ไม่มี สมาธิมาเอง อย่างที่หลวงพ่อชอบสอน เวลาจิตมันฟุ้งซ่านให้เรารู้ว่าฟุ้งซ่าน แล้วมันสงบเอง เพราะอะไรฟุ้งซ่านเป็นกิเลส ทันทีที่มีสติกิเลสดับเลย จิตไม่ฟุ้งซ่าน จิตก็ตั้งมั่นจิตก็สงบ อาศัยการที่เรามีสติคอยรู้ทันจิตใจตัวเอง กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ก็ไม่ผิดศีล กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ก็มีสมาธิขึ้นมา

แล้วก็อ่านจิตอ่านใจไปเรื่อย จิตเดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็เลว เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ รู้เท่าทันไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็ได้มรรคได้ผล ตั้งแต่ขั้นต้นเห็นเลยจิตไม่ใช่เรา โลกไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ในขั้นสุดท้ายที่จะแตกหักข้ามภพข้ามชาติ จะเห็นเลยจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 คือทุกข์ โลกทั้งหมดคือตัวทุกข์ เรียกว่าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันละสมุทัย เกิดสัมผัส เข้าไปสัมผัส เข้าไปรู้เข้าไปเห็นพระนิพพาน เกิดอริยมรรคขึ้น นี้เป็นเส้นทางที่เราจะเดิน เป็นเส้นทางที่ลัดสั้นมากเลย ตัดตรงเข้ามาที่จิตตัวเอง แล้วบาปอกุศลทั้งหลายเราก็จะไม่ทำ กุศลทั้งหลายมันก็จะเจริญขึ้น

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ อนุโมทนาพวกเราทุกคน อุตส่าห์มาใส่บาตร วันอื่นพระก็ฉันข้าวเหมือนกัน แห่มาใส่วันเดียววันอื่นไม่ใส่ เดี๋ยวพระอาจารย์อ๊ะเขาจะนับพระให้พร วันนี้วันสำคัญ ภาวนาไปก่อน ไม่ต้องวอกแวก ภาวนาไป คนจะถวายข้าวของอะไร เชิญถวาย อนุโมทนา พวกเราทำทานกันมากมาย ทำทานเพื่อให้จิตใจของเรากว้างขวาง พวกเราทำใจ เห็นเขาทำทานอนุโมทนา แล้วเราได้บุญเหมือนเราทำเองล่ะ อย่านั่งใจลอยวอกแวกๆ ไม่ได้ประโยชน์

(พระอาจารย์อ๊านำสวดให้พร)

ขออวยพรให้มีความสุขความเจริญในธรรม เจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป ทุกข์น้อยลงๆ

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 ตุลาคม 2566