ใช้จิตประภัสสรไปเจริญปัญญา

ปฏิบัติธรรม อย่าไปดัดแปลงจิตใจของตัวเอง จิตใจเราสงบก็รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ ดีก็รู้ ชั่วก็รู้ ไม่ต้องไปดัดแปลงให้มันดูดี ให้มันดูสงบ จิตใจที่ถูกดัดแปลงมันถูกแทรกแซงด้วยอำนาจของความโลภ อยากดี อยากสุข อยากสงบ มีความอยากดี อยากสุข อยากสงบ มีกิเลสเกิดขึ้นก่อน แล้วก็ลงมือแทรกแซงจิตใจตัวเอง เป็นการกระทำกรรม วิบากก็เกิด จิตใจไม่สบาย มีความทุกข์

พระพุทธเจ้าบอกธรรมชาติเดิมของจิตนั้นประภัสสร มันผ่องใสอยู่แล้ว แต่มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่แทรกเข้ามา ถ้าเมื่อไรเราไปดัดแปลงจิตใจ จิตที่ประภัสสรก็สลายไป กลายเป็นจิตที่อยู่ใต้อำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง ฉะนั้นเราจะไม่แทรกแซงจิต เราใช้จิตธรรมดาๆ นี้ล่ะมาเรียนรู้ความจริงของร่างกายของจิตใจ

 

จิตประภัสสร

ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่าจิตผู้รู้ก็คือจิตประภัสสร จิตพวกเรามันไม่ค่อยจะเป็นผู้รู้ มันเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่งไปตามอำนาจกิเลส มันก็เลยไม่ประภัสสร ประภัสสรคือมันสว่าง มันผ่องใส มันสงบ แต่มันโง่ มันยังมีความไม่รู้อยู่ ฉะนั้นจิตประภัสสรยังไม่ใช่จิตที่บริสุทธิ์ มันสงบ สว่าง แต่มันยังไม่สะอาด

สิ่งที่จะทำให้จิตเราสะอาดก็คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่มีทางอื่น ทางอื่นอย่างมากก็แค่ทุเลาไม่ให้สกปรกมาก อย่างการถือศีล การนั่งสมาธิ ใจเราก็ไม่สกปรกมาก แต่จะให้สะอาดเด็ดขาดจริงๆ ต้องเจริญปัญญา การเจริญปัญญา เราต้องใช้จิตที่ประภัสสร จิตที่ไม่ปนเปื้อนกิเลส เอามาเป็นเครื่องมือในการเจริญปัญญา จิตเรามีกิเลสครอบงำ มันก็ไม่ต้องพูดถึงการเจริญปัญญาแล้ว มันทำไม่ได้ ถ้าจิตไม่ประภัสสร คือจิตมันถูกกิเลสครอบงำ มันเจริญปัญญาไม่ได้

ฉะนั้นเราต้องพยายามมาฝึกตัวเองให้จิตของเรากลับไปสู่สภาพเดิม ที่เป็นธรรมชาติธรรมดา ไม่ได้ไปบังคับ บีบคั้น ปรุงแต่งมัน ด้วยความอยากให้มันดี อยากให้มันสุข อยากให้มันสงบ ถ้าเราเข้าสู่ความเป็นธรรมดาได้ การภาวนาไม่ใช่เรื่องยากแล้ว อย่าไปติดอยู่ที่จิตประภัสสรเท่านั้น โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ไปเจริญปัญญา

หลวงพ่อภาวนากับหลวงปู่ดูลย์ในปี 2526 ภาวนาจนแน่ใจแล้วว่าไม่หลงทาง หลวงพ่อก็ออกดู อยากรู้ว่าสำนักต่างๆ เขาปฏิบัติกันอย่างไร แต่ไปทุกสำนักไม่ได้ ก็ไปเฉพาะสำนักใหญ่ๆ ที่เขามีชื่อเสียง มีคนปฏิบัติเยอะๆ อะไรอย่างนี้ ไปดู หลวงพ่อก็พบอย่างหนึ่ง หลายที่ครูบาอาจารย์เขาดี ครูบาอาจารย์ดี ปัญหามันอยู่ที่ลูกศิษย์ส่วนใหญ่ แต่บางที่อาจารย์ก็ไม่เป็นเหมือนกัน อาจารย์ก็ยังภาวนาไม่เป็น

ปัญหาใหญ่ก็คือไม่มีใครมีจิตประภัสสร มีแต่จิตที่ปนเปื้อนด้วยโลภะ อยากดี นั่งสมาธิกัน ก็อยากสงบ พอไม่สงบขึ้นมาก็โมโห โทสะแทรกแล้ว ทีแรกก็มีโลภะ อยากสงบ จิตมันเป็นอนัตตา มันไม่ได้สงบอย่างที่อยาก ความอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ความอยากไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดความสงบ พอจิตใจมันไม่มีความสงบ โทสะมันก็เข้ามาแทน ฉะนั้นเวลานั่งใจมันก็หลงไป

บางคนก็มีแต่ความสุข เพลินๆ แต่งจิตให้เคลิ้มๆ นิ่มๆ ทำจิตให้นิ่มๆ ละมุนละไม อันนี้โลภะแทรก บางทีทำจิตให้เคลิ้มๆ ครึ่งหลับครึ่งตื่น อันนั้นโมหะแทรก บางทีภาวนาก็เคร่งเครียด ใจเครียดไปหมดเลย อันนั้นโทสะแทรก ดูไปกี่ที่ๆ กี่คนๆ มันไม่มีจิตประภัสสร มันมีจิตที่ปนเปื้อนด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะแทบทั้งนั้นเลย ร้อยคนก็เป็นอย่างนั้นร้อยคน พันคนก็เป็นอย่างนั้นพันคน หลายๆ พันคนอาจจะมีหลุดออกมาคนหนึ่ง

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะที่ไม่เนิ่นช้า ถ้าเรารู้หลักรู้วิธีปฏิบัติได้ถูกต้อง เราจะเห็นผลในเวลาอันสั้น อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านบอกกับชาวกุรุ ถ้าเจริญสติปัฏฐาน 4 บางคนก็ 7 ปีได้พระอรหันต์ อย่างต่ำได้พระอนาคามี บางคนก็ 7 ปีนั้นยกไว้ ท่านบอกอย่างนี้ บางคนแค่ 3 ปีเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอนาคามี 3 ปีก็ยกไว้ บางคนปีเดียวเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอนาคามี บางคน 7 เดือน บางคน 3 เดือน บางคนเดือนเดียว บางคน 7 วัน บางคน 3 วัน บางคนวันเดียวเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอนาคามี

อันนั้นท่านสอนให้เจริญสติปัฏฐาน การเจริญสติปัฏฐานพัฒนาเครื่องมือสำคัญขึ้นมาคือสติ แล้วใช้สตินั้นไปเจริญปัญญา จิตที่มีสติก็ประภัสสร เพราะขณะนั้นไม่มีกิเลส จิตเป็นกุศล ผ่องใส ประภัสสร พอได้จิตที่ผ่องใสประภัสสร มีสติอยู่ ก็เอาสตินั้นล่ะ เอาจิตอันนั้นล่ะไปเจริญปัญญา ไปเรียนรู้ความจริงของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย

ถ้าทำมาถูกต้อง อันแรกเลยคือพัฒนาจิตขึ้นมาให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พัฒนาจิตขึ้นมาสู่ความประภัสสร ไม่ถูกกิเลสครอบงำ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง จิตเป็นกุศล แล้วใช้จิตนั้นไปเจริญปัญญา เกือบร้อยละ 100 ของผู้ปฏิบัติมันไม่มีจิตตัวนี้ ไม่มีจิตประภัสสร นั่งสมาธิก็เคร่งเครียด อันนั้นมีโทสะ นั่งแล้วก็ติดในความสุข ความสบาย นั่นเป็นโลภะ นั่งแล้วก็เคลิบเคลิ้ม ลืมเนื้อลืมตัว อันนั้นเป็นโมหะ มันเป็นจิตที่มีกิเลสจรมาครอบงำจิตเรียบร้อยแล้ว ก็เลยไม่มีจิตประภัสสร หรือครูบาอาจารย์ท่านเรียกว่าจิตผู้รู้

หลวงตามหาบัวท่านสรุปเลยว่าจิตผู้รู้นั่นล่ะคือจิตประภัสสร มีความสว่าง มีความสงบอยู่ในตัวเอง แต่ยังไม่สะอาด ประภัสสรแปลว่าผ่องใส ยังไม่ถึงขั้นอีกคำหนึ่งคือคำว่าบริสุทธิ์ ปริสุทธิ บริสุทธิ์ อันนั้นปราศจากกิเลส เราอาศัยพัฒนาจิตให้มันประภัสสรขึ้นมา ให้มันเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา

ใช้คำว่าจิตประภัสสร บางทีก็ตีความเพี้ยนอีกแล้ว คือไปกำหนดให้จิตมันสว่างขึ้นมา ทำได้ กำหนดให้สว่างเหมือนพระอาทิตย์ เหมือนพระจันทร์อะไรอย่างนี้ ทำได้ สว่างครอบโลก ครอบจักรวาล ทำได้ อันนั้นไม่ใช่จิตประภัสสรในความหมายอันนี้ อันนั้นจิตที่ทรงฌาน เป็นมหรคต กว้างขวาง ใหญ่โต สว่างไสว คนละตัวกัน

ธรรมะ บางทีพูดออกมา โอ๊ย ทำจิตให้ประภัสสร เราก็ตีความประภัสสรว่าสว่าง แล้วก็ทำจิตให้สว่างด้วยอำนาจของฌานสมาบัติ สว่างครอบโลกเลย อันนั้นไม่ใช่ ครูบาอาจารย์ท่านเลยเลี่ยง ไม่อยากใช้คำว่าจิตประภัสสร เดี๋ยวคนไทยแปลว่าจิตสว่าง จิตสว่าง ทำสมาธิมันก็สว่างแล้ว ท่านเลยใช้คำว่าจิตผู้รู้ จิตผู้รู้มันก็คือจิตประภัสสรนั่นเอง เป็นจิตที่ไม่เจือปนด้วยกิเลส มีสติอยู่ เป็นกุศลจิต เราจะต้องพัฒนาจิตดวงนี้ขึ้นมาให้ได้ ถ้าเราพัฒนาจิตดวงนี้ขึ้นมาไม่ได้ เราไปเจริญปัญญาไม่ได้จริง เราเอาจิตที่ปนเปื้อนด้วยกิเลสไปเจริญปัญญา ความรู้ความเห็นนั้นจะเจือปนด้วยอคติ จะมีอคติ เพราะว่ามันมีกิเลสในการมอง ฉะนั้นผลลัพธ์ที่ออกมาเลยไม่ใช่ของจริง ปนเปื้อนด้วยอคติ

อคติมี 4 อย่าง ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะเกลียด เพราะโกรธ ลำเอียงเพราะหลง ลำเอียงเพราะกลัว บางทีเรากลัวเราก็ต้องลำเอียง จิตนี้บางทีมันกลัวผี มันก็ลำเอียง ดัดแปลงจิตตัวเองให้มันไม่รับรู้อารมณ์ข้างนอก จะได้หนีผี มันก็เลยไม่ประภัสสร

วิธีที่จะฝึกจิตให้ประภัสสร เป็นจิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เคยสอนหลายทีแล้วว่ามันมี 2 วิธี วิธีที่หนึ่ง ทำฌานที่เป็นสัมมาสมาธิ วิธีที่สอง อาศัยกำลังของสติรู้เท่าทันจิตตนเองไป

 

วิธีที่หนึ่ง ฝึกจิตด้วยการทำฌานที่เป็นสัมมาสมาธิ

วิธีที่หนึ่ง การทำฌานที่เป็นสัมมาสมาธิ ทำไมต้องย้ำว่าเป็นสัมมาสมาธิ เพราะฌานที่เป็นมิจฉาสมาธิมันมี นั่งอย่างที่คนส่วนใหญ่ทำ บอกเข้าฌานๆ จริงๆ ไม่ใช่ฌานหรอก จริงๆ เป็นการโน้มน้อมจิตให้นิ่งๆ ว่างๆ สงบๆ ไป เผลอๆ เพลินๆ ไป มีโลภะแทรกอยู่ ฉะนั้นไม่ได้เป็นกุศลจริง

วิธีที่จะทำให้จิตเป็นผู้รู้หรือประภัสสรขึ้นมา ท่านจะใช้วิธีทำสมาธิเต็มรูปแบบ เราก็เลือกสมาธิที่สามารถทำอัปปนาสมาธิได้ อย่างน้อยต้องได้ฌานถึงที่สอง ทำถึงฌานที่สอง อย่างถ้าเราบริกรรมพุทโธๆ สัมมาอะระหังอะไรนี่ อย่างมากมันได้แค่อุปจารสมาธิ มันไม่ขึ้นไปถึงฌาน เพราะฉะนั้นจะไม่ได้ตัวพุทโธ ไม่ได้ตัวผู้รู้ ไม่ได้ตัวจิตประภัสสร

เราก็ต้องเลือกกรรมฐานที่สามารถเข้าฌานได้ ยกตัวอย่างกรรมฐานที่เข้าฌานได้ อย่างอานาปานสติหรือการเจริญเมตตา อันนี้เข้าถึงฌานได้ แต่ที่สะดวกก็คือทำกรรมฐานที่ได้รูปฌาน ถ้าทำเข้าถึงอรูปฌาน พัฒนาตัวรู้ยาก ทำรูปฌาน เช่น เราทำอานาปานสติ หายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้า รู้สึกตัว

ฟังเสียงหลวงพ่อ หายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้า รู้สึกตัว หลวงพ่อไม่ได้ใช้เสียงอย่างนี้ (พูดช้าๆ) หายใจเข้า รู้สึกตัว หายใจออก รู้สึกตัว อันนี้สะกดตัวเองแล้ว หลวงพ่อใช้เสียงเพื่อสื่อให้เห็นความต่าง หายใจเข้า รู้สึกตัว หายใจออก รู้สึกตัว ไม่ใช่ (พูดช้าๆ) หายใจเข้า รู้สึกตัว หายใจออก รู้สึกตัว ไม่รู้สึกหรอก เดี๋ยวก็หลับแล้ว เพราะฉะนั้นเราหายใจไปด้วยใจปกติ

ตรงนี้สำคัญเป็นเคล็ดลับที่เราจะเข้าฌานได้เร็วคือเราต้องใช้ใจปกติ ถ้าใจเราไม่ปกติ เราไปบังคับจิต จิตไม่มีความสุข จิตไม่มีความสุข จิตไม่เข้าสมาธิ จิตที่จะเข้าสมาธิ มันจิตสบายๆ จิตมีความสุข ฉะนั้นเราหายใจเข้า หายใจออกไปด้วยจิตใจที่ปกติ ไม่เจือด้วยโลภ โกรธ หลง หายใจด้วยจิตธรรมดา หายใจด้วยจิตธรรมดาๆ เห็นร่างกายหายใจออกด้วยจิตธรรมดา เห็นร่างกายหายใจเข้า ด้วยจิตธรรมดา

พอจิตมันเริ่มสงบ ลมหายใจจะเริ่มสั้น ทีแรกเราหายใจ มันจะยาวๆ ลงไปถึงท้องน้อย พอจิตมันเริ่มสงบ ลมมันก็ตื้นๆๆ ขึ้นมา ไม่ลงไปที่ท้องแล้ว ในที่สุดลมก็มาหยุดอยู่ที่ปลายจมูก หรือตรงจะงอยปาก อยู่ตรงนี้ บางคนมาอยู่ที่ปลายจมูก บางคนอยู่ตรงจะงอยปาก มันหยุดของมันเอง เวลาหายใจ มันจะรู้สึกเหมือนไหวนิดๆ นิดๆ นิดๆ ตรงนี้

พอจิตมันลงมาถึงตรงนี้แล้ว มันจะเกิดความสว่างขึ้น ร่างกายยังหายใจหรือไม่หายใจ จิตไม่รับรู้แล้ว จิตเปลี่ยนอารมณ์จากลมหายใจมาใช้แสงสว่าง ใช้อุคคหนิมิต อุคคหนิมิตเป็นแสงสว่างที่มันเกิดจากกำลังของสมาธิ อย่างการหายใจเขาเรียกบริกรรมนิมิต พอมันเป็นแสงขึ้นมา มันจะไม่รู้ว่าหายใจออกหรือหายใจเข้าแล้ว เพราะว่าจิตไม่สนแล้ว จิตมันอยู่กับความสว่าง

แล้วพอจิตมันคุ้นเคย มันก็เล่นกับความสว่างได้ ไม่ใช่สว่างแล้วเคลิ้มๆ สว่างแล้วก็ยังมีสติอยู่ กำหนดแสงสว่างให้กว้างขวางได้เท่าที่ต้องการ ใหญ่เต็มศาลาก็ได้ ใหญ่เต็มโลกก็ได้ ใหญ่ไปทั่วจักรวาล ก็แล้วแต่กำลังของสมาธิเรา หรือกำหนดแสงสว่างให้เล็กลงก็ได้ เล็กลงเท่าปลายเข็ม เวลากำหนดแสงสว่างให้เล็กเหลือเท่าปลายเข็ม แสงนั้นจะมีความเข้มมหาศาล จะเข้มข้นอย่างมหาศาล ตรงที่เราย่อแสงนี้ได้ ขยายแสงนี้ได้ตามใจชอบ เรียกว่าปฏิภาคนิมิต

เมื่อมีปฏิภาคนิมิต จิตเราก็จับอยู่ที่ปฏิภาคนิมิต เขาเรียกว่าวิตก จิตเราเคล้าเคลียอยู่กับปฏิภาคนิมิต เรียกว่าวิจาร จิตจะเกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความเป็นหนึ่งขึ้น จิตก็เข้าสู่ปฐมฌานเมื่อจิตมันเข้าปฐมฌานแล้ว ภาวนาต่อไป สติปัญญามันแก่กล้าขึ้น มันเห็นว่าการที่เรายังสนใจอยู่ที่ดวงสว่างนั้น มันเป็นภาระของจิต จิตก็วางแสง ทวนกระแสเข้ามาหาตัวรู้

ตรงที่จิตมันวางแสงสว่าง เรียกมันละวิตกละวิจาร จิตเข้าถึงความมีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง เหลืออยู่เท่านี้ ที่จริงแล้วปีติสุข ความเป็นหนึ่ง มีมาตั้งแต่ปฐมฌานแล้ว แต่ตัวที่เด่นคือตัววิตกวิจาร คือการที่จิตมันไปตรึก ไปตรอง ไปเคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่าง พอวางแสงสว่าง จิตทวนกระแสเข้าหาจิต ตรงนี้ล่ะที่จิตผู้รู้จะเกิดขึ้น พอจิตเข้าถึงฌานที่สอง ในพระไตรปิฎกพูดถึงเอโกทิภาวะ

เอโกทิภาวะ ฝ่ายปริยัติเขาก็แปล แปลว่าสมาธิ ก็เอกัคคตามีมาตั้งแต่ฌานที่หนึ่งก็ถือว่าเป็นสมาธิอยู่แล้ว ทำไมมีสมาธิซ้อนขึ้นมาอีก สมาธิตัวนี้มันต่างกับตัวแรกอย่างไร ถ้าไม่ได้ภาวนา แยกไม่ออก ที่จริงสมาธิตัวนี้ก็คือความตั้งมั่นของจิต ไม่ใช่สงบ มันตั้งมั่น แล้วฝึกไปเรื่อยๆ จิตก็เห็นว่าปีติเป็นส่วนเกิน ก็ละปีติ เหลือแต่ความสุข เหลือความสุข เหลือเอกัคคตา ความเป็นหนึ่ง แล้วก็เหลือเอโกทิภาวะ ตัวผู้รู้

ต่อมาก็ยังเห็นอีก ความสุขก็เป็นของเสียดแทง จิตก็วางความสุข เข้าถึงอุเบกขา เอกัคคตา ตัวผู้รู้ในจุดนี้จะแข็งแรงมาก เวลาเราถอยออกจากสมาธิแล้ว จิตผู้รู้ตัวนี้จะแข็งแรง อยู่ได้หลายวัน แต่ไม่เกิน 7 วัน ในตำราไม่มีหรอกเรื่องเหล่านี้ มันเป็นประสบการณ์ที่ครูบาอาจารย์ปฏิบัติกันมา ก็สอนๆ กันมา เพราะฉะนั้นจิตผู้รู้ตัวนี้จะแข็งแรงมาก

จิตผู้รู้ที่มันผ่านฌานมา มันติดใจในความสุขความสงบ มันไม่อยากเดินปัญญา ท่านถึงบอกให้โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสะ พอจิตถึงฌานที่สี่แล้ว ถอยออกมาแล้ว ให้โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ อย่าให้มันอยู่เฉย ให้มันมาเจริญปัญญา

อุบายที่จะช่วยให้มันเดินปัญญา สำหรับคนซึ่งเข้าสมาธิลึกก็คือการคิดพิจารณา อย่างถ้าสายวัดป่า ท่านก็บอกให้มาพิจารณากาย อันนี้ดี จะให้ไปพิจารณาจิต มันจะไม่มีอะไรให้เห็น เพราะจิตที่มันทรงฌาน เด่นดวง มีกำลังแก่กล้า มันก็นิ่งอยู่อย่างนั้นล่ะ จะไปให้ดูความเกิดดับของมัน ดูยากมาก ท่านเลยสอน บอกให้มาพิจารณากาย

 

อุบายช่วยให้จิตผู้รู้ที่ผ่านฌานมาเดินปัญญา

วิธีพิจารณากายทำได้หลายอย่าง มันไม่ใช่วิปัสสนา แต่มันเป็นการแก้อาการของจิต เมื่อวานหลวงพ่อก็บอกแล้ว อะไรที่เป็นการแก้ การรักษาเป็นเรื่องของสมถะ วิปัสสนาไม่มีแก้ ไม่มีรักษา มีแต่รู้ กิริยามันมีแต่รู้ การที่มาพิจารณาร่างกาย มันก็เป็นอุบายเพื่อจะแก้จิตที่มันติดสมาธิเฉยๆ อยู่ ไม่ยอมเดินปัญญา ไม่ยอมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ก็เป็นอุบาย

การพิจารณากายทำหลากหลาย เยอะแยะเลยวิธีการ เป็นเทคนิคเป็นแทคติกส่วนบุคคล บางคนก็พิจารณาทีละส่วน แยกส่วนของร่างกาย แยกผมออกมา กำหนดจิตไปดูผม ผมมีรูปร่างอย่างนี้ มีสีอย่างนี้ มีกลิ่นอย่างนี้ ไม่สวย ไม่งามอย่างนี้ พิจารณาเข้าไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็หลุดร่วงไป บังคับไม่ได้ ผมร่วงลงมาแล้ว เอาไปคลุกข้าวกินก็ไม่มีใครยอมกิน หม้อแกงหม้อหนึ่ง เราไปสั่งอาหาร ร้านอาหารมีผมติดมาเส้นหนึ่ง เราก็ไม่พอใจแล้ว เพราะฉะนั้นจริงๆ แหม ที่ว่าสวยว่างาม จริงๆ ไม่สวยไม่งาม

อันนี้เป็นการกระตุ้น ยังไม่ใช่วิปัสสนา พิจารณาปฏิกูลอสุภะก็ได้ พิจารณาว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาก็ได้ เป็นอนัตตา เช่น ผมเราบังคับไม่ได้ ถึงเวลามันก็ยาวขึ้น ยาวมากๆ เข้า มันรับน้ำหนักไม่ไหว มันก็หลุดออกไป หรือบางทีพออายุเยอะขึ้น มันก็เปลี่ยนสีอะไรอย่างนี้ เฝ้ารู้อย่างนี้ ดูไปทีละส่วน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ค่อยๆ ไล่ๆ ไล่ๆ เข้าไป

บางท่านก็ลีลาอีกแบบหนึ่ง ประเภทชอบความรุนแรง กำหนดจิตกระชากแขนโยนทิ้งไปเลย อาจจะดึงนิ้วก่อน ดึงนิ้ว ขว้างทิ้งไปทีละนิ้วๆๆ แล้วก็ดึงแขนทิ้ง ดึงนิ้วเท้า ดึงขาทิ้งไป ดึงมือไปหมดแล้ว เอาอะไรไปดึงเท้า มันเป็นมโนๆ เอา จินตนาการเอา แล้วดึงควักลูกตาทิ้งไป ดึงลิ้นทิ้งไป ค่อยๆ ทำลายมัน ฉีกมันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ฉีกร่างกายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย

ครูบาอาจารย์ที่ถนัดเรื่องนี้คือหลวงปู่หลุย หลวงปู่หลุยเป็นอาจารย์องค์แรกของหลวงปู่สุจินต์ หลวงปู่สุจินต์เดิมเรียนอยู่กับหลวงปู่หลุย แล้วตอนจะบวชก็อยากมาบวชกับหลวงปู่ดูลย์ ไปถามหลวงปู่หลุยว่าจะมาบวชกับหลวงปู่ดูลย์ได้ไหม ตอนนั้นหลวงปู่หลุยมีชื่อเสียง หลวงปู่ดูลย์คนไม่ค่อยรู้จัก หลวงปู่หลุยก็ตอบว่าได้สิ ไปเรียนกับอาจารย์ดูลย์ได้ ท่านเรียกอาจารย์ดูลย์ เป็นพระแท้ คนไม่รู้จัก ท่านก็เลยมาบวชกับหลวงปู่ดูลย์

หลวงปู่หลุยท่านจะใช้คำว่าม้างกาย คำว่าม้าง ถ้าแผลงออกมาเป็นคำที่พวกเรารู้จักคือคำว่ามล้าง นึกออกไหมคำว่ามล้าง ก็ยังนึกไม่ได้ ภาษาโบราณ แปลว่าทำลายล้าง อย่างนี้รู้ไหม ทำลายล้าง มันก็คือมล้าง ก็คือม้าง โคตรเหง้ารากศัพท์มันตัวเดียวกันนั่นล่ะ มันทำลายล้างด้วยการฉีกกระชากมัน

บางองค์ บางท่านใช้วิธีลัดกว่านั้นอีก กำหนดจิตใช้เตโชกสิณเผาขึ้นมา จะเผาเริ่มจาก ท้องน้อยก็ได้ บางท่านก็เผากำหนดจิตเป็นไฟลุกขึ้นตรงท้องน้อย แล้วก็แผ่ออกไป เผาทั้งตัวเลย ไฟท่วมทั้งตัวเลย จนมอดไหม้เป็นขี้เถ้าเลย อย่างนี้ก็ได้ มันเป็นอุบายให้จิตทำงาน ไม่ให้จิตติดนิ่งติดเฉย

คราวนี้จิตมันเคยดูกาย เห็นความแตกสลายของกายมาแล้ว ต่อไปพอมันเจริญสติ เจริญปัญญาแท้จริง มันจะหันซ้ายหันขวา มันจะรู้สึกตัวนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก มันไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา เป็นของที่มีอยู่ชั่วคราว เรียกมันไม่เที่ยง แล้วมันก็ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา นั่งอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ กินก็ทุกข์ ขับถ่ายก็ทุกข์ ไม่มีจะกินก็ทุกข์ ขับถ่ายไม่ออกก็ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์ หายใจออกก็ทุกข์ ดูไปดูมา ตัวนี้ไม่เห็นมีตัวอะไรดีเลย

จิตเป็นผู้รู้อยู่แล้วมาเดินปัญญาแยกร่างกายออกไป แล้วไปเห็นไตรลักษณ์ของกาย ตรงนี้ขึ้นวิปัสสนาจริงแล้ว สุดท้ายมันก็เห็นร่างกายไม่ใช่ของดี ไม่ใช่ของวิเศษหรอก จิตมันก็หมดความยึดถือในร่างกาย อันนี้เป็นภูมิจิตภูมิธรรมระดับพระอนาคามีได้ เริ่มต้นก็ดูอย่างนี้ล่ะ ก็ได้มาตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคามี ได้ถึงอนาคามี ถัดจากนั้นถึงจะเข้ามาสู่การดูจิต อันนี้สายวัดป่า ดูผ่านมาทางกาย

หลวงพ่อทำสมาธิมาเยอะ หลวงปู่ดูลย์ให้หลวงพ่อดูจิตเลย หลวงพ่อดูได้ จิตโกรธขึ้นมา รู้ จิตไม่โกรธ รู้ จิตสุข รู้ จิตไม่สุขก็รู้ จิตมีความทุกข์ก็รู้ จิตไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตไม่หลงก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตสงบก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ จิตร่าเริงก็รู้ มันรู้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็เกิด จิตทุกชนิดไม่เที่ยง จิตทุกชนิดเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา

เพราะฉะนั้นการเจริญปัญญา ถนัดกาย ดูกาย ถนัดเวทนา ดูเวทนา ถนัดดูจิตก็ดูจิตเอา ฉะนั้นสติปัฏฐาน 4 เหมือนประตูเมือง 4 ทิศ ถนัดทางไหนก็เข้าประตูนั้นล่ะ ใกล้ประตูไหนก็เอาอันนั้นล่ะ ไม่ใช่เห็นครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่เข้าประตูกาย เราก็ต้องไปเริ่มที่กาย ไม่ใช่ ดูที่ตัวเองว่าเรามีกำลังที่จะเข้าประตูไหนได้ ถ้าเข้าจิตได้เร็วที่สุดเลย ครูบาอาจารย์ทุกองค์เลยที่หลวงพ่อเคยพบ เคยเห็น เคยเรียนด้วย ท่านบอกเลยการดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด พูดเหมือนกันหมด ทุกองค์ล่ะ บอกการดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุดเลย

ถ้าเราดูจิต เห็นจิตมันทำงานได้เอง จิตไม่ใช่เรา พอจิตไม่ใช่เรา ผลผลิตของจิตก็คือขันธ์ 5 วิญญาณเป็นปัจจัยของนามรูป นามรูปทั้งหมดมันออกไปจากจิตดวงเดียว ถ้าไม่มีจิตเสียอย่างเดียว นามรูปไม่ปรากฏ อย่าว่าแต่นามรูปเลย ถ้าไม่มีจิตเสียดวงเดียว โลกทั้งโลกยังไม่ปรากฏให้เรารู้เลย ถ้ามันเห็นแจ้งเห็นจริงว่าตัวจิตไม่ใช่ตัวเรา ผลงานที่จิตสร้างมันจะเป็นตัวเราได้อย่างไร อันนี้ไม่ใช่ตรรกะ แต่เป็นสิ่งที่จิตหยั่งรู้ เป็นปัญญาที่จิตหยั่งรู้ ไม่ใช่คิดด้วยเหตุผล ถ้าฟังหลวงพ่อพูดแล้ว พูดมีเหตุผลแล้วคิดตาม อันนั้นเป็นตรรกะ พระพุทธเจ้าบอกอย่าเชื่อตรรกะ ต้องเห็นด้วยตัวเอง

เพราะฉะนั้นเวลาขั้นเจริญปัญญา เรามีจิตที่เป็นผู้รู้แล้ว เราก็โน้มน้อมไปเพื่อญาณทัสสนะ ถนัดดูกายก็พิจารณากาย แล้วก็มาดูความจริงของกาย ถนัดทางจิต พิจารณาจิตแล้วก็ไปดูความจริงของจิต อาจจะต้องช่วยพิจารณาถ้าจิตไม่ยอมเดินปัญญา พิจารณาจิตอย่างไร ก็ค่อยๆ สอนมันไป เห็นไหมจิตเมื่อกี้โกรธ ตอนนี้ไม่โกรธ อ้อ จิตมันไม่เที่ยง ค่อยๆ สอนอย่างนี้ จิตเมื่อกี้มีความสุข ตอนนี้ไม่มี ความสุขก็ไม่เที่ยง จิตที่มีความสุขก็ไม่เที่ยง ค่อยๆ สอนอย่างนี้ แต่อย่าให้ติดนิสัยสอนจนกระทั่งเคยตัว เราสอนเพื่อกระตุ้นให้จิตหัดมองไตรลักษณ์เท่านั้น

พอจิตมองไตรลักษณ์เป็นแล้ว ไม่ต้องมาพูด ไม่ต้องมาบรรยาย รู้ไปอย่างที่มันเป็น พูดมาก บรรยายมากก็ฟุ้งซ่าน ไม่ใช่การเจริญปัญญา นั่งคิดเอาๆ เป็นปัญญาจากการคิด เรียกจินตามยปัญญา ล้างกิเลสไม่ได้ ปัญญาจากการคิด ดีไม่ดีเป็นเครื่องมือของกิเลส เหมือนกับปัญญาจากการฟัง เรียนธรรมะมาก ท่องธรรมะได้มาก บางทีอหังการเกิด กูเก่ง ไม่เห็นหัวใครทั้งสิ้นเลย อย่างนั้นสู้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าเรามาภาวนา ปัญญาจากการภาวนาเกิด เห็นขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา คราวนี้ไม่ไปยุ่งอะไรกับใครแล้ว ตัวเรายังไม่มีแล้วตัวเขาจะมีได้อย่างไร ก็ไม่มีเรามีเขาขึ้นมา

 

วิธีที่สอง อาศัยกำลังของสติรู้เท่าทันจิตตนเองไป

ค่อยๆ ฝึก อันนี้หลวงพ่อพูดแบบปฏิบัติแบบเต็มภูมิ ฝึกจนเราได้ตัวผู้รู้ที่แข็งแรง แต่พวกเราส่วนใหญ่ในยุคนี้เราทำฌานไม่ได้ ยุคนี้เป็นยุคของคนสมาธิสั้น เราก็ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว เมื่อเราสมาธิสั้น เราก็ทำกรรมฐานแบบสมาธิสั้น

พระพุทธเจ้าเป็นธรรมราชา เป็นราชาแห่งธรรมะ เป็นเจ้าของ เป็นอะไร รอบรู้ธรรมะทั้งหมด เป็นสัพพัญญู ฉะนั้นท่านสอนธรรมะเอาไว้มากมาย สอนเผื่อพวกเราในรุ่นนี้ด้วยคือธรรมะที่เหมาะกับพวกสมาธิสั้น พวกช่างคิด กรรมฐานที่เหมาะกับพวกช่างคิดก็คือการดูจิตนั่นล่ะ จิตตานุปัสสนา ไม่ต้องทำฌานก่อน มีสติระลึกรู้ลงปัจจุบันเป็นขณะๆ ไป คอยตามรู้จิตใจตัวเองไป มีสติไว้ จิตโกรธขึ้นมาก็รู้ จิตหายโกรธก็รู้

ทีแรกจิตโกรธ โกรธไป 3 ชั่วโมงแล้วถึงจะรู้ ต่อมาเก่งขึ้นหน่อยหนึ่ง หัดรู้ โกรธแล้วรู้อย่างนี้ โกรธ 2 ชั่วโมงก็รู้แล้ว ต่อมาโกรธชั่วโมงหนึ่งก็รู้ ต่อไปพอจิตขยับตัวด้วยความหงุดหงิดก็เห็นแล้ว มันจะเห็นสภาวะได้ละเอียดๆๆ มากขึ้นๆ

วิธีฝึกให้ได้สมาธิชั่วขณะ แบบให้ได้สมาธิเต็มภูมิผ่านฌานเล่าให้ฟังแล้ว วิธีทำสมาธิชั่วขณะ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เคล็ดลับอยู่ที่รู้ทันจิตตัวเอง เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่ได้มุ่งที่สงบ ไม่ได้มุ่งเข้าฌาน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตถลำไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน รู้ทันจิตไว้ จิตมันจะดิ้นรนไปใน 2 ด้าน ด้านหนึ่งตามกิเลสไป ด้านหนึ่งบังคับกดข่มตัวเอง ก็คือกามสุขัลลิกานุโยคกับอัตตกิลมถานุโยค

ทำกรรมฐานไป เราคอยรู้เท่าทันจิต จิตหลงไปในกามสุขัลลิกานุโยค หลงคิดเพลินๆ ไป รู้ทัน จิตที่หลงคิดเพลินๆ ก็ทำไปด้วยอำนาจของโลภะ พอเรารู้ทัน โลภะดับ ความฟุ้งซ่านอันนั้นก็ดับ ดับด้วยกันเลย จิตก็สงบตั้งมั่นขึ้นมา หรือที่เราไปเพ่ง ก็ทำด้วยโลภะอีกล่ะ อยากดี อยากสุข อยากสงบ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี นั่งเพ่งๆ อย่างนั้น มีสติรู้ว่าเพ่ง รู้ลึกลงไป ที่เพ่งเพราะอยากดี พอรู้เท่าทันถึงจิตใจว่ามันอยากดี การเพ่งเป็นแค่อาการของจิต เบื้องหลังการเพ่งคืออยากดี พอรู้เข้ามาถึงจิตใจตัวเอง ความอยากดีดับ การเพ่งมันก็หายไป ทำลายต้นตอมัน

เพราะฉะนั้นเวลาเราทำกรรมฐาน ทุกคนต้องทำ หลวงพ่อขอย้ำ ต้องทำกรรมฐานในรูปแบบ อย่างใดอย่างหนึ่งที่เราถนัด แต่ไม่ได้ทำเพื่อความดี ความสุข ความสงบ ทำไปเพื่อพัฒนาสติ เพราะฉะนั้นวิธีที่จะพัฒนาสติ ให้รู้ทันจิตไว้นั่นล่ะดีที่สุดแล้ว หายใจไป จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตถลำไปเพ่งก็รู้ ดูท้องพองยุบไป จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งก็รู้ ขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียน จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งมือก็รู้ คอยรู้ทันจิตไปเรื่อยๆ

ทุกครั้งที่รู้ทันจิต จิตที่เป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง จะดับอัตโนมัติ แล้วจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หรือจิตประภัสสรจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่มันเกิดขึ้นชั่วขณะเท่านั้นเอง สั้นๆ เราก็ฝึกไปเรื่อย หลงแล้วรู้ๆ ไป ในที่สุดตัวรู้นี้ก็จะถี่ยิบขึ้นมา พอตัวรู้ถี่ยิบขึ้นมา เราจะรู้สึกว่าจิตเรามีกำลัง อย่างที่พวกเราหลายคนตอนนี้ หลายคนเลย ที่จิตมันมีกำลังขึ้นมา นี่อาศัยรู้เป็นขณะๆๆ อย่างนั้นล่ะ ได้ตัวรู้ถี่ๆ ขึ้นมา จิตมันก็ทรงพลังขึ้นมา

จิตมันทรงพลังขึ้นมา คราวนี้เราก็เดินปัญญาได้แล้ว ก็ดูลงไป สติระลึกรู้กาย ก็เห็นไตรลักษณ์ของกาย สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นไตรลักษณ์ของเวทนา สติระลึกรู้จิตที่เป็นกุศล อกุศล ก็เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกุศลอกุศล สติระลึกรู้จิต เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวไปดูรูป เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไปฟังเสียง เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไปดมกลิ่น เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไปลิ้มรส เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไหลไปทางกาย ไปรู้อารมณ์ทางกาย เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้เพ่ง อย่างนี้เราเข้ามาถึงตัวจิตจริงๆ แล้ว รู้พฤติกรรมของจิต ต่อไปมันก็จะเห็นเองล่ะ จิตนี้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

 

 

ค่อยๆ ดูไป ถ้าเรามีจิตที่ประภัสสร ตั้งมั่นเด่นดวงแล้ว มาเจริญปัญญา ดูกายดูจิตไป หรือจะดูเวทนาก่อนก็ได้ ในสติปัฏฐาน 4 ดูอันไหนก่อนก็ได้ ใช้ได้ทั้งนั้นใน 4 ด้าน แล้วมันลงไปที่เดียวกัน คือลดละ ปล่อยวาง ไม่ยึดถือ ในที่สุดก็เป็นอิสระจากโลก

สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือรูปนามกายใจนี้ เราเป็นอิสระจากมัน ร่างกายแก่ ไม่ใช่เราแก่ ร่างกายเจ็บ ไม่ใช่เราเจ็บ ร่างกายตาย ไม่ใช่เราตาย ความรู้สึกทั้งหลายผ่านมาผ่านไป ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราเหมือนฝันอยู่เท่านั้นเอง ชีวิตก็จะสะอาดหมดจด จิตใจก็จะค่อยๆ เข้าถึงความบริสุทธิ์ เพราะว่าไม่ปนเปื้อนด้วยกิเลสแล้ว เพราะมันเห็นความจริงแล้วสิ่งที่ยั่วให้เกิดกิเลสก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นั่นเอง เป็นตัวมายั่วให้เกิดกิเลส

พอเราเห็นความจริง รูป นาม กาย ใจนี้ไม่ใช่ของดี ไม่ใช่ของวิเศษ หมดความยึดถือ จิตมันก็หลุดออกจากโลก เป็นอิสระจากโลก ภูมิจิตภูมิธรรมนี้ก็เป็นพระอนาคามีแล้ว ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอย่างพวกเราแล้ว แล้วถ้ารู้จิตอย่างแจ่มแจ้ง ว่าจิตนี้คือตัวทุกข์ มันก็จะไม่เกิดที่ไหนอีกแล้ว เพราะว่าไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิใด มันมีจิต จิตเป็นตัวทุกข์ พาจิตไปเกิดในพรหมโลก มันก็ยังมีจิตอยู่ เพราะฉะนั้นไม่ต้องเกิดแล้ว เพราะว่าเกิดทีไรเป็นทุกข์ทุกที มันจะเห็นแจ่มแจ้งอย่างนี้

วันนี้เทศน์ให้ฟังพอประมาณ แปลว่าอะไรพอประมาณ คล้ายๆ งบประมาณ ภาษามันเคลื่อนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ฉะนั้นที่พระไตรปิฎกยึดภาษาบาลีไว้อันนั้นดีแล้ว เพราะภาษาบาลีมันตายแล้ว ไม่มีใครใช้ มันคงที่แล้ว อย่างภาษาที่เราใช้ทุกวันนี้ มันเคลื่อนที่ตลอดเวลา คนรุ่นเราไปอ่านหนังสือสมัยรัชการที่ 5 ก็อ่านยากแล้ว ไปอ่านหนังสือสมัยอยุธยายิ่งยากเข้าไปอีก ภาษามันเปลี่ยน

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
27 สิงหาคม 2566